การตลาด New Normal สู่ Next Normal SMEs ควรปรับตัวอย่างไร?

วิกฤติCOVID-19ส่งผลกระทบใหญ่หลวงต่อธุรกิจ SMEsในหลายมิติไม่ว่าจะเป็นผลกระทบจากมาตรการรัฐ ผู้บริโภคกำลังซื้อถดถอย นักท่องเที่ยวหดหายและธุรกิจมีรายได้ลดลง, ในท่ามกลางทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด การปรับตัวของ SMEs จึงเป็นหัวใจสำคัญของการอยู่รอด

รศ.ดร.กฤตินี ณัฏฐวุฒิสิทธิ์ผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านงานวิจัยและอาจารย์ประจำสาขาการตลาด สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า หลังจากวิกฤติโควิด SMEs ต้องปรับองค์กรให้ Lean และมีประสิทธิภาพรวมถึงต้องทำงานแบบมีโฟกัส

“SMEs ที่เคยทำงานแบบเหวี่ยงแห เพราะก่อนโควิดมีโอกาสหลายทาง แต่ในภาวะที่จะก้าวผ่านวิกฤติได้ จะต้องทำตัวให้ Lean เพื่อให้เกิดความคล่องตัว และไป Spot ดูว่าตลาดที่แท้จริงอยู่ตรงไหนบ้าง และทำเข้าไปตรงนั้น แทนที่จะเหวี่ยงแหเข้าหาโอกาส จะทำตัวแบบเดิมไม่ได้ดร.กฤตินีกล่าว

สำหรับธุรกิจที่มีข้อจำกัดทางด้านทรัพยากร ต้องหันมามองว่าจุดแข็งอยู่ตรงไหน ซึ่งจุดแข็งของ SME ก็คือ การปรับตัวพลิกแพลงได้อย่างรวดเร็วฉับไว

กรณีธุรกิจร้านอาหาร ท่องเที่ยว โรงแรม ต้องอาศัยจุดแข็งเรื่องการปรับตัวให้รวดเร็ว เช่น โรงแรมขนาดเล็กต้องพลิกตัวเองมาทำธุรกิจอาหารเดลิเวอรี่ แทนที่จะต้องรอรับนักท่องเที่ยวอย่างเดียว และกลยุทธ์สำคัญคือต้อง Localize ให้ได้มากขึ้น โดยใช้ความได้เปรียบของตัวเองที่อยู่ในบริบทของพื้นที่ เข้าไปทำความเข้าใจตลาดเฉพาะพื้นที่ ซึ่งเป็นธรรมชาติของเศรษฐกิจยุคโควิด ที่ต้องมองเศรษฐกิจท้องถิ่น (Local economy) มากขึ้น SMEs ต้องกลับมาถามตัวเองว่า เข้าใจ Local market, Local economy และปรับตัวสู่ท้องถิ่นได้แล้วหรือไม่

 

SMEsต้องบริหารจัดการข้อมูล

ดร.กฤตินียกตัวอย่าง CJ Supermarket ซึ่งเป็นซูเปอร์มาร์เก็ตกึ่งร้านสะดวกซื้อ มีจุดกำเนิดที่จังหวัดกาญจนบุรี และขยายไปหลายจังหวัด SMEs นี้มีจุดเด่นอยู่ที่การ Localize จนสามารถแข่งขันกับคู่แข่งรายใหญ่ได้

เขาสามารถเข้าไปดึงสินค้าท้องถิ่นมาในร้าน ทำให้คนเลือกเข้าไปใช้บริการที่ร้าน โดยที่การทำ Localization จะทำให้เกิดข้อมูลเยอะแยะ SMEs ก็ต้องรู้จักการบริหารจัดการข้อมูล ในกรณีของ CJ Supermarketได้ทำการบริหารจัดการข้อมูล (Data management) ทุกธุรกรรมที่มีการค้าขายในแต่ละวัน ไม่ใช่ว่าปล่อยผ่านแบบ SME ยุคโบราณ แต่ว่ามีการจัดการฐานข้อมูล และวิเคราะห์เพื่อให้เห็นว่า ความต้องการของพื้นที่A เทียบกับพื้นที่ B ต่างกันอย่างไร

กลยุทธ์ Localize ทำได้ทั้งชนิดสินค้า และการจัด Category managementให้สอดคล้องกับความต้องการของแต่ละท้องถิ่น ซึ่งจะเพิ่มความน่าสนใจและโอกาสขายมากขึ้น

การบริหารจัดการข้อมูลต้องอาศัยเทคโนโลยี SMEs จึงต้องเรียนรู้เทรนด์เทคโนโลยีและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและซอฟแวร์ต่างๆเพื่อประโยชน์ทางธุรกิจ

หัวใจของบริหารจัดการข้อมูลอยู่ที่การตั้งโจทย์ให้ถูก เพราะเครื่องมือมีเยอะไปหมด เราไม่ต้องตั้งต้นจากศูนย์ โค้ชหรือบริษัทที่ปรึกษาที่มาทำงานด้วยก็เยอะไปหมด รวมถึงฟรีแลนซ์ในด้านนี้ก็มีจำนวนมาก แต่ความท้าทายคือ ตั้งโจทย์ให้เขาได้ถูกหรือไม่ เพราะคนอื่นไม่สามารถจะมากำหนดโจทย์ให้เราได้ โจทย์ของมันอย่างเช่น เอาโปรแกรม Excel มาทำ A cross กันกับ B เพื่อดูว่าเซ็กเมนต์ของอายุและไลฟ์สไตล์ มีความต่างกันอย่างไร คนที่จะกำหนดโจทย์นี้ต้องเป็นตัวผู้ประกอบการเอง และไม่จำเป็นต้องวิเคราะห์ทุกเรื่อง เพราะจะเกิดความสับสน ดร.กฤตินีกล่าว

การจะรู้ว่าควรตั้งโจทย์แบบไหน SMEs จำเป็นต้องเข้าใจโจทย์ธุรกิจตัวเอง เข้าใจว่าในสถานการณ์ปัจจุบัน ควรขับเคลื่อนธุรกิจในทิศทางใด หากธุรกิจอิ่มตัวแล้ว สาเหตุของการอิ่มตัวคืออะไร เช่น การไม่สามารถหาลูกค้าใหม่ได้ มีแต่ลูกค้าเก่าหน้าเดิมที่ซื้อจำนวนเท่าเดิม หากโจทย์เป็นแบบนี้ การบริการข้อมูลก็ต้องมุ่งทำความเข้าใจธุรกรรมใหม่ที่เข้ามา (new transaction) และวิเคราะห์ต่อไปว่าธุรกรรมใหม่เป็นใคร สนใจสินค้าอะไร เป็นต้น

 

การเชื่อมโยง Value chain

นอกจากเรื่องการจัดการข้อมูลแล้ว Localization ยังหมายถึงการต่อเชื่อมของซัพพลายเชนสำหรับธุรกิจร้านอาหาร การเชื่อมโยงValue chainนับว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งเพราะเป็นการสร้างมูลค่าทางการตลาด สร้างความแตกต่าง และสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภคในโลกยุคหลังโควิด

ผู้บริโภคอยากรู้ว่า วัตถุดิบอาหารมีองค์ประกอบอะไร โดยโควิดก็มาหนุนเรื่องนี้ด้วย ทำให้อยากรู้ว่าสิ่งที่จะกินมีคุณสมบัติและประโยชน์อะไรบ้าง ผู้บริโภคยังอยากรู้ว่า แหล่งที่มามาจากไหน ฉะนั้นการสร้างความแตกต่างของธุรกิจอาหาร การทำ Localize และเชื่อมโยงกับชุมชน ควรจะรู้ว่า ตัวเองรับวัตถุดิบมาจากใคร และใช้ตรงนั้นเป็นจุดขาย เพราะว่าตรงกับสิ่งที่ผู้บริโภคต้องการ ทั้งนี้พฤติกรรมในอดีตที่เคยไปซื้อเหมามา ไม่สนใจว่าของมาจากไหน และคิดว่าผู้บริโภคคงพอใจแค่ตรงปลายทาง มันไม่ใช่แล้ว

การทำความเข้าใจซัพพลายเชน และการรู้จักแหล่งต้นทาง เช่น เกษตรกรในชุมชน จะกลายเป็นจุดขายที่พลิกธุรกิจ ทำให้เกิดความแตกต่างในสนามการแข่งขันการทำเรื่องเหล่านี้ยังตอบโจทย์เรื่องความปลอดภัย การตรวจสอบย้อนกลับ และสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภคอีกด้วย

ท่ามกลางตลาดที่แยกส่วนและการแข่งขันที่รุนแรง การสร้างพันธมิตรนับเป็นอีกเรื่องที่สำคัญ เพราะการปรับตัวและขยายตัวของ SMEs ต้องอาศัยพันธมิตรหรือพาร์ทเนอร์

วิธีคิดของ Business model จะเปลี่ยนไป เป็นการมองตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของ Ecosystem ใหญ่ และตัวเองเชื่อมกับใครได้บ้าง และสร้างประโยชน์ต่างตอบแทนกันตรงไหน ดร.กฤตินียกตัวอย่างเรื่องร้านอาหารว่า ต้องมีพาร์ทเนอร์เรื่องการขนส่ง ทั้งเกษตรกรและแหล่งผลิตวัตถุดิบ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้ธุรกิจ

การมีพาร์ทเนอร์ที่เกื้อหนุนให้ธุรกิจแข็งแกร่งขึ้นจึงนับว่าเป็นหัวใจ ยิ่งการแข่งขันดุเดือดรุนแรง การสร้างความต่างไม่ใช่เรื่องง่าย พาร์ทเนอร์จึงเป็นหนึ่งในตัวแปรที่สามารถทำให้ SME โดดเด่นเหนือคู่แข่ง และเมื่อผสานจุดแข็งเข้ากันแล้วก็สมประโยชน์ทั้งสองฝ่าย (Win-Win Situation)

บทความแนะนำ

ติดอาวุธให้ผู้ประกอบการ SMEs ด้วย Business Model Canvas

อาจจะกล่าวได้ว่า การแข่งขันทางธุรกิจก็เหมือนกับการทำสงครามในสนามรบ สิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึงก็คือ การมีกลยุทธ์ที่ดีในการที่จะนำพาทัพธุรกิจของตัวเอง ให้สามารถแข่งขันได้ เพราะการทำธุรกิจไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่ใช่เรื่องยากหากมีโมเดลในการทำที่ชัดเจน และโมเดลการทำธุรกิจที่เรียกว่า Business Model Canvas คือ 1 ในคำตอบของเรื่องนี้ 

Business Model Canvas เป็นแนวคิดพัฒนาขึ้นมาโดย Alex Osterwalder ที่ตั้งใจนำมาเป็นเครื่องมือทางการตลาดสำหรับคนที่ยังค้นหาแนวทางหรือตัวตนยังไม่เจอ เครื่องมือดังกล่าวจะช่วยในการตีกรอบความคิดการทำธุรกิจให้ผู้ประกอบการมองธุรกิจของตนเองได้อย่างชัดเจน ไม่หลงประเด็น และทำให้ทีมงานรับรู้แนวทางและวิธีการปัญหาการทำธุรกิจไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งจะนำไปสู่ความรวดเร็วในการแก้ปัญหาและระดมความคิด เพราะมองเห็นจุดเด่นจุดด้อยของตัวเองได้ผ่านโมเดลนี้  

Alex Osterwalder ได้อธิบายหลักการง่ายๆ ในการเขียนแผนผ่าน Business Model Canvas โดยย้ำให้เจ้าของธุรกิจหรือนักการตลาดต้องมององค์ประกอบสำคัญ 9 เรื่อง คือ 

1.ลูกค้าของธุรกิจที่เราทำอยู่คือใคร หรือ Customer Segment ซึ่งเป็นพื้นฐานแรกของการทำธุรกิจที่จะทำให้รู้หน้าตาของลูกค้าของเราเป็นอย่างไร และจะทำอะไรเพื่อออกมาตอบสนองความต้องการของพวกเขา 

2.คุณค่า หรือ Value Proposition ที่เป็นจุดขายของสินค้าหรือบริการ ในส่วนนี้ อาจจะมีทั้งในเรื่องของคุณค่าทางกายภาพ และคุณค่าทางอารมณ์ ซึ่งการวาง Value Proposition จะเชื่อมโยงกับ Customer Segment อย่างแยกไม่ออก ตัวอย่างในเรื่องนี้ก็คือ การวาง Value Proposition ของชาเขียวโออิชิ ภายใต้แนวคิด “มีโออิชิ ชีวิตโอจัง” ซึ่งในความหมายของคำว่า “โอจัง” จะลงรายละเอียดไปตามกลุ่มเป้าหมายในแต่ละวัยของชาเขียวแบรนด์นี้ โดยมีการพัฒนาสินค้าออกมาเพื่อให้สอดรับกัน อย่างกลุ่มเป้าหมายผู้ใหญ่วัยทำงาน ต้องการในเรื่องสุขภาพ หรือกลุ่มเป้าหมายวัยรุ่นคำว่า “โอจัง” อาจจะหมายถึงความสนุกสนานที่แบรนด์มอบให้ 

3.ช่องทาง หรือ Channel ซึ่งในที่นี้จะหมายถึงช่องทางในการซื้อขาย และช่องทางในการติดต่อสื่อสารกับลูกค้า ลูกค้าเราเป็นแบบไหน ลักษณะธุรกิจเราเป็นอย่างไร การซื้อขายผ่านช่องทางใดจึงจะสะดวกมากที่สุด นอกจากนี้ช่องทางในการติดต่อสื่อสารกับลูกค้าก็ต้องเลือกให้ถูกต้องตรงจุด ลูกค้าเราอยู่กับสื่อชนิดใด เราจะแจ้งข้อมูลสินค้า หรือบอกโปรโมชั่นกับลูกค้าผ่านสื่อใดจึงจะเกิดประสิทธิภาพสูงสุด เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่คนทำธุรกิจจำเป็นต้องรู้  

4.ความสัมพันธ์กับลูกค้าตลอดจนวิธีการรักษาความสัมพันธ์กับลูกค้า (Customer Relationship

5.กระแสรายได้หลักของธุรกิจมาจากไหน (Revenue Streams)

6.ทรัพยากรหลัก (Key Resources) สิ่งที่ต้องมีในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งเป็นทรัพยากรที่สำคัญกับธุรกิจทรัพยากรในที่นี้หมายรวมทั้ง คน เครื่องจักร เงินทุน ทรัพย์สินทางปัญญา ที่ดิน ฯลฯ สิ่งที่เราควรเขียนในช่องนี้ควรจะแยกเป็น 2 ส่วนคือ ทรัพยากรส่วนที่มีอยู่ และ ทรัพยากรส่วนที่ต้องมี การมองหาทรัพยากรต้องย้อนกลับไปดูว่าลูกค้าของเราคือใคร อะไรคือคุณค่าที่เราจะนำเสนอแก่ลูกค้า และทรัพยากรของเราจะสามารถสร้างคุณค่านั้นๆได้หรือไม่ อย่างไร

7.กิจกรรมหลัก (Key Activities) หรือกิจกรรมที่ต้องทำเพื่อให้ธุรกิจอยู่รอด 

8.พันธมิตรหลัก (Key Partners) ซึ่งเป็นพันธมิตรที่เกี่ยวข้องทั้งในเรื่องของการช่วยป้อนวัตถุดิบ และช่วยขาย 

9.โครงสร้างต้นทุน (Cost Structure) ที่หมายรวมถึงต้นทุนทั้งหมดในการทำธุรกิจ อาจจะแบ่งออกได้เป็น ต้นทุนคงที่ (fixed cost) เป็นรายจ่ายคงที่ จ่ายประจำ เช่น ค่าจ้างพนักงาน ค่าเช่าต้นทุนผันแปร (variable cost) จ่ายมากจ่ายน้อยขึ้นอยู่กับปริมาณการใช้ เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าน้ำมันต้นทุนผลิตมากแล้วราคาถูกลง (economy of scale) เช่น สั่งผลิตขวดโหลใส่อาหารจำนวน 1,000 ใบขึ้นไป จะได้ราคาต่อชิ้นถูกกว่าปกติ และต้นทุนซื้อรวมกันแล้วถูกลง (economy of scope) เช่น ซื้อเครื่องใช้สำนักงานพร้อมกัน และจัดส่งทีเดียวจะได้ส่วนลดมากกว่า และได้รับบริการส่งฟรี

จะเห็นได้ชัดเจนว่าทั้ง 9 เรื่องที่กล่าวมาจะสอดรับกันทั้งหมด ซึ่งการขับเคลื่อนธุรกิจผ่านแนวคิดของ Business Model Canvas นี้ แม้จะถูกยกย่องว่าเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้การดำเนินธุรกิจมีประสิทธิภาพ แต่สิ่งที่ไม่ควรมองข้ามก็คือ การสรุปผลการดำเนินการในแต่ละแคมเปญ เพื่อตรวจสอบว่าสิ่งที่ทำลงไปได้ผลมากน้อยแค่ไหน

Business Model Canvas นี้ ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นธุรกิจขนาดใหญ่เท่านั้น แต่ผู้ประกอบการ SMEs ก็สามารถนำมาปรับใช้ในการดำเนินธุรกิจได้ ตัวอย่างที่ใช้โมเดลนี้ในการเข้ามาช่วยทำธุรกิจก็คือ “อารมณ์ดิน” สตูดิโอด้านงานออกแบบผลิตภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผาหรือเซรามิกที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวแห่งจังหวัดลำปาง 

อรรถเทพ สมัครธัญกิจ ผู้ก่อตั้ง เคยให้สัมภาษณ์ว่า  การเริ่มต้นในการทำธุรกิจของตัวเองนั้น มีเป้าหมายที่อยากเห็นธุรกิจเครื่องปั้นดินเผาในจังหวัดลำปางเป็นมากกว่าสินค้าทั่วไปผ่านการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ด้วยดีไซน์ และนวัตกรรมต่างๆ 

อย่างไรก็ตาม ในช่วงแรกของการเริ่มทำธุรกิจคือปี 2547 ซึ่งอรรถเทพ บอกว่า ช่วงเวลานั้นยังใหม่มากสำหรับวงการทำธุรกิจ ก็เลยกลับมามองภาพรวมของตัวเองก่อนว่าควรเรียงลำดับความสำคัญอะไรบ้าง ตอนเริ่มต้นจะเริ่มโดยใช้ความรู้แบบบ้านๆ คือถ้ามีออกบูธที่ไหน ก็จะวิ่งไปแสดงงานที่นั่น ทำให้เริ่มมีคนรู้จักว่าเราทำสิ่งนี้อยู่แล้วก็พัฒนามาเรื่อยๆ จนมาถึงจุดที่คิดว่า ถ้ายังทำแบบเดิมๆ คงไม่ได้แล้ว และต้องเอาความรู้ที่จะช่วยพัฒนาธุรกิจเข้ามาใช้บ้าง จนได้มีการศึกษาโมเดลการทำธุรกิจที่เรียกว่า Business Model Canvas มาใช้ โดยเข้าไปศึกษาว่าปัญหาธุรกิจของตนเองคืออะไร และเริ่มปรับปรุง จนได้แพทเทิร์นในการออกแบบดีไซน์ชิ้นงานพร้อมกับวางกลุ่มเป้าหมายใหม่ ว่าใครคือกลุ่มเป้าหมายหลัก

ไม่เพียงเท่านั้น ยังศึกษาจนรู้ว่าจุดอ่อน - จุดแข็งของธุรกิจที่ทำคืออะไร สิ่งที่ได้เรียนรู้จากการใช้ Model นี้ก็คือ ถ้าวางกลุ่มเป้าหมายไว้ตั้งแต่ตอนแรก จะทำให้รู้ว่าจะดีไซน์สินค้าออกมาอย่างไร อาทิ สินค้าขายคนที่มีกำลังซื้อสูง หรือแม้แต่การวางกลุ่มเป้าหมายขายในต่างประเทศ สินค้าควรจะเป็นอะไร พอได้แพทเทิร์นแล้ว ก็ลองดีไซน์ออกมาและลองขายดู ลองเจาะกลุ่มเป้าหมายนั้นดู ทำให้ได้เสียงตอบรับกลับคืนมาค่อนข้างดี ซึ่งอรรถเทพ กล่าวว่า ต้องเข้าใจถึง Value Proposition ที่จะส่งมอบให้กับลูกค้าว่าควรจะสร้างออกมาอย่างไรเพื่อให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการของพวกเขาได้ รวมถึงจะเลือกใช้ช่องทางสื่อสาร และช่องทางขายอย่างไรในการส่างมอบ Value Proposition ที่นำเสนอออกมา

นอกเหนือจากการเลือกใช้ Canvas Model แล้ว ยังมีการนำเรื่องของ Marketing เข้าไปช่วยผสมผสานให้การดำเนินงานมีประสิทธิผลมากยิ่งขึ้นจนช่วยผลักดันให้ “อารมณ์ดิน” สามารถก้าวขึ้นมาเป็นแถวหน้าของผู้ประกอบการเซรามิกที่ใช้เรื่องของดีไซน์เป็นตัวนำได้อย่างเต็มภาคภูมิ จากเดิมที่เริ่มต้นธุรกิจโดยคิดแต่เพียงว่า เมื่อผลิตสินค้าคุณภาพที่มีดีไซน์ที่ดีจะช่วยให้ขายสินค้าได้ แต่ผลที่พิสูจน์ออกมามันไม่เป็นเหมือนที่คิด จนมาได้ตัวช่วยในการทำธุรกิจที่เป็นคำตอบว่า แม้จะเป็นเพียงแค่ผู้ประกอบการ SMEs แต่เมื่อมีการกำหนดกรอบกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจที่ชัดเจน ก็สามารถประสบความสำเร็จได้ไม่ยาก

อารมณ์ดินจึงถือเป็นอีก1 ตัวอย่างของการนำ Canvas Model เข้ามาปรับใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

บทความแนะนำ

ดาริน แล็บบอราทอรี่ส์ โซลูชั่น OEM Cosmetic ตอบโจทย์คนอยากมีแบรนด์

“ธุรกิจเครื่องสำอาง” เป็นตัวเลือกอันดับต้นๆ ที่คนรุ่นใหม่ใฝ่ฝันอยากจะสร้างแบรนด์ และทำตลาดด้วยผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่เกิดขึ้นภายใต้ชื่อแบรนด์ของตัวเองสักครั้ง แต่ในกระบวนการสร้างผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางขึ้นมาสักหนึ่งตัวเพื่อนำมาวางจำหน่าย ก็ไม่ใช่เรื่องที่จะทำกันได้ง่ายๆ ด้วยเพราะมีขั้นตอนที่มากมาย และเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาสูตร การจัดหาวัตถุดิบ ขั้นตอนการผลิต การหาบรรจุภัณฑ์ ไปจนเรื่องของการจดแจ้งเลขทะเบียน และการขอเลขทะเบียนอย. 

ยังไม่นับรวมเรื่องของการวางแผนการตลาด และการสร้างช่องทางการขาย ที่วันนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่า การตลาดออนไลน์ คือ คำตอบที่น่าสนใจของธุรกิจในยุคนี้  ดังนั้น จึงเป็นเรื่องที่น่ายินดีหากเราสามารถสร้างแบรนด์เครื่องสำอางเป็นของตัวเองได้ไม่ยากจากธุรกิจที่ให้บริการสร้างแบรนด์เครื่องสำอางแบบครบวงจร อีกทั้งยังเป็นผู้ช่วยที่จะทำให้ขั้นตอนต่างๆ เป็นเรื่องง่ายขึ้น พร้อมวางแผนงานในด้านอื่นๆ ให้แบบเบ็ดเสร็จ ภายใต้งบประมาณที่ไม่เกินเอื้อม 

บริษัท ดาริน แล็บบอราทอรี่ส์ จำกัด เป็นบริษัทที่ถูกจัดตั้งขึ้นในปี 2019 โดยมีเป้าหมายเพื่อมุ่งเน้นการแก้ปัญหาต่างๆ ของผู้ประกอบการ SMEs ที่ต้องการมีแบรนด์เครื่องสำอางเป็นของตนเอง ด้วยรูปแบบบริการแบบรับจ้างผลิต (OEM) พร้อมให้คำปรึกษาในเรื่องการสร้างแบรนด์เครื่องสำอางให้กับผู้ที่สนใจ โดยสร้างจุดขายด้วยนวัตกรรมสารสกัด และการพัฒนาสินค้าจากสมุนไพรภายใต้คอนเซ็ปต์ของผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ ด้วยทีมผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ และมาตรฐานสากล โดยการส่งเสริมการพัฒนาสินค้านวัตกรรมบนพื้นฐานของงานวิจัยที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ

ดร.จุรัญญา อ่อนล้อม กรรมการผู้จัดการ บริษัท ดาริน แล็บบอราทอรี่ส์ จำกัด กล่าวว่า ดาริน แล็บบอราทอรี่ส์ เกิดจากการรวมตัวกันของผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการผลิตเครื่องสำอาง โดยส่วนตัวศึกษามาทางด้านงานวิจัยนวัตกรรม การวิจัยในเชิงลึกทางด้านสมุนไพร และเครื่องสำอาง จึงมองเห็นโอกาสในการทำธุรกิจจากการรวมความเชี่ยวชาญของแต่คนมาไว้ด้วยกัน และเป็นจังหวะที่คนรุ่นใหม่เริ่มสนใจกับการทำธุรกิจเครื่องสำอางด้วยการสร้างแบรนด์ และเน้นการทำตลาดบนออนไลน์กันมากขึ้น 

“ทางบริษัทจึงนำเสนอนวัตกรรมที่เป็น OEM Solution สำหรับการพัฒนาสินค้า และการสร้างแบรนด์เครื่องสำอางแบบครบวงจร เพื่อตอบสนองความต้องการของกลุ่มลูกค้าที่ในช่วงแรกจะเป็นคนที่อยากมีแบรนด์เครื่องสำอางเป็นของตนเอง แต่อยากเริ่มต้นด้วยงบน้อยๆ ไม่ต้องลงทุนมาก ซึ่งการเข้าหาบริษัทใหญ่ๆ ต้องมีการผลิตจำนวนมากๆ ทำให้ต้นทุนการผลิตสูง จึงเป็นช่องทางให้เรามาจับกลุ่มลูกค้าที่ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นที่มีงบประมาณไม่มาก แต่สามารถได้ผลิตภัณฑ์คุณภาพที่ผลิตจากผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์ด้านเครื่องสำอางโดยตรง”

จุดเด่นที่ทำให้ ดาริน แล็บบอราทอรี่ส์ มีความแตกต่างจากโรงงานผลิต OEM ทั่วไป คือ การเป็น เป็น One Stop Service ของ OEM Cosmetics ที่การมุ่งเน้นความเป็นผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับการวิจัย และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ผนวกกับบริการให้คำปรึกษาในเรื่องการสร้างแบรนด์ และการดูแลด้านการตลาดที่ทำให้ลูกค้าเกิดความมั่นใจในการมาใช้บริการ ภายใต้มาตรฐานการส่งออก มีการควบคุมคุณภาพ ประสิทธิภาพ และความปลอดภัย รวมถึงการบริการจดทะเบียนเครื่องสำอางอย่างถูกต้อง มีการออกแบบ จัดหาบรรจุภัณฑ์ พร้อมให้คำปรึกษาด้านการตลาดออนไลน์ และออฟไลน์

“สิ่งสำคัญ คือ ลูกค้าสามารถผลิตสินค้าด้วยจำนวนขั้นต่ำที่ค่อนข้างน้อยกว่าที่อื่นๆ ทำให้ผู้ประกอบการไม่ต้องใช้เงินลงทุนที่สูงมาก ด้วยรูปแบบการให้บริการแบบ One Stop Service และการเป็นบริษัทที่ไม่ได้มีขนาดใหญ่มาก ทำให้ขั้นตอนในการให้บริการลูกค้ามีความรวดเร็วเมื่อเทียบกับบริษัทขนาดใหญ่ที่ต้องมีขั้นตอนการทำงานที่มากกว่า” 

สำหรับการคิดค่าบริการของ ดาริน แล็บบอราทอรี่ส์ จะมี 2 รูปแบบ คือ 

1)การผลิตแบบแพ็คเกจโปรโมชั่น ด้วยสูตรมาตรฐานของทางโรงงาน เช่น การผลิตสบู่ 500 ก้อน ราคา 9,900 บาท ในแพ็คเกจจะกำหนดจำนวนสารสกัดที่สามารถเพิ่มได้ สามารถเปลี่ยนสี และกลิ่นได้ตามความชอบ พร้อมการยื่นจดแจ้งการขึ้นทะเบียน ลูกค้าสามารถเลือกผลิตสินค้าชนิดอื่นๆ ได้ เช่น เซรั่ม ลิปสติก แชมพูและครีมนวดผม เป็นต้น

ตัวอย่าง การทำโปรโมชั่นที่ลูกค้าเข้าถึงได้ง่าย เช่น การสั่งผลิตสบู่ขั้นต่ำเริ่มต้นที่ 100 ชิ้น หรือการผลิตลิปสติกอย่าง ลิปปาล์ม หรือลิปแม็ชท์ เริ่มต้นที่ 500 ชิ้น คละสีได้ 10 สี เป็นต้น

2)การพัฒนาสูตรตามความต้องการของลูกค้า จะมีการคิดค่าบริการเป็นแต่ละขั้นตอน เช่น การพัฒนาสินค้าใหม่ การยื่นจดแจ้งเครื่องสำอาง การผลิตขั้นต่ำ เป็นต้น โดยลูกค้าสามารถเลือกได้ตามความต้องการว่าจะใช้บริการเฉพาะขั้นตอนไหนบ้าง 

“ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการจดแจ้งเลขทะเบียนไปแล้วไม่ต่ำกว่า 50 แบรนด์ รวมสินค้ากว่า 100 รายการ ซึ่งลูกค้าหลักส่วนใหญ่จะเป็นเจ้าของแบรนด์ หรือแม่แบรนด์ที่เน้นการทำตลาดออนไลน์เป็นหลัก มีทั้งที่อยู่ในจังหวัดพิษณุโลก และจากกรุงเทพฯ ลูกค้ากลุ่มนี้จะมีความเชี่ยวชาญในด้านการขายเป็นหลัก แต่ไม่มีความเชี่ยวชาญในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ จึงมาขอคำปรึกษาจากทางแล็บ เราก็จะช่วยในการแนะนำเทรนด์ใหม่ๆ ให้กับลูกค้า และแม้ว่าแล็บของเราจะอยู่พิษณุโลกแต่ลูกค้าอยู่กรุงเทพฯ ก็ไม่ใช่อุปสรรคในเรื่องการติดต่อคุยงาน เพราะปัจจุบันสามารถคุยงานผ่านระบบออนไลน์ หรือวิดีโอคอลได้ ส่วนการส่งตัวอย่างสินค้าก็สามารถส่งผ่านบริษัทขนส่งที่มีในปัจจุบันได้ง่ายๆ”  

ดร.จุรัญญา ยังกล่าวเสริมถึงเทรนด์เครื่องสำอางที่กำลังได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการ SME ที่ก่อนหน้านี้จะเน้นผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเมคอัพ เช่น ลิปสติก และบลัชออน ที่ติดทนนาน แต่ปัจจุบันจะให้ความสนใจกับผลิตภัณฑ์ในกลุ่มอโรม่าที่ช่วยผ่อนคลาย และทำให้หลับสบาย รวมถึงผลิตภัณฑ์ในกลุ่มทำความสะอาดฆ่าเชื้อโรคเพื่อสุขอนามัยมากขึ้น รวมถึงเรื่องของสารสกัดสมุนไพรต่างๆ ที่ได้รับความนิยมมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะสารสกัดจากสมุนไพรไทย จากเดิมที่จะเน้นแต่สารสกัดจากต่างประเทศ 

ตัวอย่าง ผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาจาก ดาริน แล็บบอราทอรี่ส์  อาทิ ผลิตภัณฑ์เจลแต้มสิวจากสารสกัดเปลือกมังคุดเข้มข้น ครีมขัดผิวผสมสารสกัดจากดอกตะบองเพชร และผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางจากกัญชง (Hemp) เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่ควรคำนึงถึงก่อนตัดสินใจเลือกโรงงานเพื่อผลิตสินค้า และสร้างแบรนด์เครื่องสำอาง มีหลักในการพิจารณาง่ายๆ ดังนี้ คือ

        1.โรงงานต้องจดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายได้มาตรฐาน และได้รับอนุญาตให้เป็นสถานที่ผลิตเครื่องสำอางจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข โดยจดทะเบียนนิติบุคคลรูปแบบบริษัทจำกัด เพื่อการชำระภาษีอย่างถูกต้องตามกฎหมาย

2. มีสถานที่ตั้งโรงงาน หรือสำนักงานที่ชัดเจน มีตัวตนอยู่จริง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นทั้งในเรื่องคุณภาพ มาตรฐาน และความปลอดภัยในกระบวนการผลิต

3. มีบริการแบบครบวงจร One Stop Service เพื่อผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ ได้อย่างรวดเร็ว และสามารถให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการผลิต การวิจัย และการสร้างแบรนด์ได้อย่างมืออาชีพ

โดย บริษัท ดาริน แล็บบอราทอรี่ส์ จำกัด มีสำนักงาน และสถานที่ตั้งของห้องปฏิบัติการวิจัย อยู่ภายในอาคารมหาธรรมราชา มหาวิทยาลัยนเรศวร จังหวัดพิษณุโลก ส่วนตัวโรงงานตั้งอยู่ในอำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก มีทีมงานที่พร้อมให้บริการในทุกขั้นตอน หากลูกค้าต้องการคำปรึกษา หรือต้องการต่อยอดเพื่อการวิจัยเฉพาะด้าน ทางบริษัทก็มีบริการวางแผนโครงการร่วมขอทุนกับภาครัฐจากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เพื่อเพิ่มศักยภาพ และความน่าเชื่อถือให้แก่ผลิตภัณฑ์ รวมไปถึงการวางแผนตลาด การสร้างภาพลักษณ์แบรนด์ให้สามารถทำตลาดได้จริง

ดร.จุรัญญา ให้คำแนะนำ สำหรับผู้ที่สนใจอยากสร้างแบรนด์เครื่องสำอาง ควรมีการศึกษากลุ่มลูกค้าของตัวเองว่า มีความต้องการสินค้าที่จะผลิตและนำไปจำหน่ายจริงๆ หรือไม่ รวมถึงศึกษาข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อให้สามารถต่อยอดทางด้านความคิดต่อไปได้ง่ายยิ่งขึ้น 

ในส่วนของงบการลงทุนในด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ หากมีเงินทุน 10,000 บาท ก็สามารถผลิตสินค้าได้แล้ว แต่ในเรื่องของค่าทำตลาดเบื้องต้นอาจต้องมีทุนสำรองอีกประมาณ 10,000  20,000 บาท ขึ้นอยู่กับรูปแบบ และวิธีการทำตลาด ซึ่งโอกาสทางการตลาดของเครื่องสำอางไทยสามารถแข่งขันในระดับโลกได้ แต่ต้องให้ความสำคัญกับเรื่องของคุณภาพ ความปลอดภัย และเพิ่มในเรื่องของนวัตกรรมให้มากขึ้นกว่าเดิม

“เราจะช่วยคิด และวางคอนเซ็ปต์ให้กับลูกค้าตั้งแต่เริ่มต้นที่เข้ามาบอกว่าอยากทำแบรนด์ โดยดูเทรนด์ในช่วงนั้นเพื่อคิดคอนเซ็ปต์ออกมาให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมายของลูกค้า มีการทำเซอร์เวย์เพื่อปรู๊ฟคอนเซ็ปต์ที่คิดไว้ว่าจะไปได้ดีในกลุ่มลูกค้าเป้าหมายหรือไม่ จากนั้นจึงเข้าสู่กระบวนการวิจัยและพัฒนาสูตร การออกแบบผลิตภัณฑ์ และบรรจุภัณฑ์ให้สอดคล้องกับคอนเซ็ปต์ที่วางไว้ ไปจนถึงการจัดหาตัวบรรจุภัณฑ์ให้กับลูกค้า เราสามารถยื่นจดแจ้งเครื่องสำอางให้ได้หากลูกค้าต้องการ และยังมีการแนะนำการตลาดเบื้องต้นให้กับลูกค้าที่ยังไม่มีความรู้ด้านการตลาด เป็นการคิดด้วยกัน และทำงานร่วมกันตั้งแต่ต้นจนจบ ลูกค้าสามารถเดินเข้ามาแบบตัวเปล่าได้เลยถ้าอยากสร้างแบรนด์” ดร.จุรัญญา กล่าว

ปัจจุบัน ทางบริษัทเน้นการสื่อสารผ่านช่องทางออนไลน์ เช่น Facebook Page และเว็บไซต์ www.darinlab.com และสำหรับแผนงานในปีนี้ ทางบริษัทจะเน้นการสร้างมาตรฐาน GMP และ ISO เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้กับองค์กร และแบรนด์ พร้อมวางแผนเพิ่มกำลังการผลิตให้มากขึ้นจากเดิมอีกประมาณ 3 เท่าตัว

บทความแนะนำ

EXIM BANK พร้อมติดปีก SMES บุกตลาดส่งออก

แม้ประเทศไทยยังคงเผชิญกับสถานการณ์ระบาดของ COVID-19 ที่รุนแรง แต่เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ค่อนข้างดี ล่าสุด IMF คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกในปีนี้จะเติบโตได้ถึง 6% โดยเฉพาะประเทศยักษ์ใหญ่อย่างอเมริกา ยุโรป และจีน ซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจรวมกันกว่า 50% ของจีดีพีโลก ดังนั้น ในปีนี้ พระเอกที่เศรษฐกิจไทยจะหวังพึ่งได้ ก็คือ “การส่งออก”

ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) ได้ฉายภาพสถานการณ์เศรษฐกิจโลก และความหวังของไทยจากการส่งออก โดย EXIM BANK พร้อมที่จะสนับสนุน “พระเอก” ไปให้สุดทาง โดยเฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอี

หากดูตัวเลขการส่งออกของไทยล่าสุดในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2564 พบว่า ขยายตัวได้ถึง 15.5% โดยเฉพาะ 2 เดือนล่าสุดคือเดือน พ.ค. และ มิ.ย. ที่การส่งออกไทยขยายตัวได้กว่า 40% สูงสุดในรอบ 11 ปีที่สำคัญคือหากไปดูตลาดส่งออกของไทย 50 อันดับแรกพบว่า ขยายตัวถึง 47 ตลาด และแต่ละตลาดก็ขยายตัวเป็นตัวเลขสองหลัก (Double Digits) แทบทั้งสิ้น

“โดยเฉพาะตลาดที่ฉีควัคซีนได้ไว อย่างสหรัฐฯ ยุโรปและจีน (คิดเป็นสัดส่วน 40% ของมูลค่าส่งออกรวมของไทย) ที่ฉีดวัคซีนไปแล้วกว่า 50% ของประชากร กิจกรรมทางเศรษฐกิจของเค้ากลับมาฟื้นตัวได้เร็ว และทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า Pent-up Demand หรืออุปสงค์ที่อั้นมาจากในช่วงที่ Lockdown ทั้งการจับจ่ายใช้สอย ความต้องการท่องเที่ยว รับประทานอาหารนอกบ้าน กิจกรรมสันทนาการต่างๆ ปัจจัยดังกล่าวหนุนให้ความต้องการสินค้าทั้งอุปโภคบริโภค อาทิ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ผลไม้ อาหารสัตว์เลี้ยง รถยนต์และจักรยานยนต์ ตลอดจนสินค้าเพื่อการผลิต อาทิ เครื่องจักรกล ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ สินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับราคาน้ำมัน (เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ยาง) ที่กลับมาฟื้นตัวได้โดดเด่น” ดร.รักษ์ระบุ

นอกจากนี้ ผู้ส่งออกไทยยังได้ ลมใต้ปีกอีกแรงหนึ่ง นั่นคือเงินบาทที่อ่อนค่าลงราว 10% นับจากต้นปี ที่จะช่วยให้ผู้ส่งออก Pricing ได้เปรียบคู่แข่ง ขณะเดียวกันก็ทำให้รายรับเมื่อแลกกลับมาในรูปเงินบาทเพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวนี้ ไม่ได้เกิดมาหลายปีแล้ว ปัจจัยดังกล่าว ทำให้ EXIMBANK คาดว่าการส่งออกไทยทั้งปี 2564 จะขยายตัวได้ 2-digits หรือมากกว่า 10% ขึ้นไป จากที่หดตัวถึง 5.9% ในปี 2563

 

โอกาสของ SMEs ไทย

ขณะเดียวกัน สถานการณ์การส่งออกของ SMEs ไทยในปี 2564 เริ่มมีสัญญาณดีขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มฟื้นตัวจากหลายปัจจัยดังที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น ส่งผลให้ล่าสุดการส่งออกของ SMEs ในช่วง
5 เดือนแรกปี 2564 ขยายตัวถึง 23.5% ขณะที่ในช่วงที่เหลือของปี 2564 การส่งออกของ SMEs ยังมีโอกาสเปิดกว้างในหลายตลาด และหลายสินค้า ได้แก่ ตลาดที่ COVID-19 ยังระบาด อาทิ หลายประเทศในอาเซียน ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย แบ่งเป็น 4 กลุ่มหลักๆ ดังนี้

  1. ผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับการรักษาความสะอาด-ดูแลสุขภาพและสุขอนามัยเช่น ถุงมือยาง ชุด PPE กระดาษชำระ-ผ้าเปียก ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด-ฆ่าเชื้อ รวมถึงอาหารที่ช่วยเสริมสุขภาพและเสริมภูมิคุ้มกัน เช่น เครื่องดื่มที่เสริมวิตามินซี (Functional Drink) และยาสมุนไพร
  2. อาหารสำหรับรับประทานในช่วงกักตัวเช่น อาหารกระป๋อง-อาหารสำเร็จรูป ที่เก็บได้นาน รวมถึงอาหารที่รับประทานแก้เหงาเมื่อต้องอยู่บ้านนานๆ อาทิ ขนมขบเคี้ยว ตลอดจนอาหารสัตว์เลี้ยง ที่มีความต้องการเพิ่มขึ้นหลังจากหลายครอบครัวหันมาเลี้ยงสัตว์เลี้ยงไว้คลายเหงา 
  3. สินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับการ WFH อาทิ เฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น โทรศัพท์และอุปกรณ์ Tablet ส่วนประกอบคอมพิวเตอร์ (จอภาพ กล้อง ชุดไมโครโฟน เครื่องพิมพ์ ฯลฯ) รวมถึงเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ช่วยอำนวยความสะดวกในบ้านอย่างเครื่องปรับอากาศ 
  4. สินค้า-บริการเกี่ยวกับการทำกิจกรรมในบ้านเช่น เครื่องเล่นเกม(บอร์ดเกม เครื่องเล่นเกมคอนโซล) เครื่องครัว-อุปกรณ์ทำอาหาร อุปกรณ์ออกกำลังกายภายในบ้าน

ด้านตลาดที่ COVID-19 คลี่คลายในระดับหนึ่งอาทิสหรัฐฯ และจีนเมื่อประชาชนเริ่มกลับมาใช้ชีวิตปกติ จะทำให้สินค้า-บริการหลายอย่างที่ความต้องการเคยลดลงในช่วงก่อนหน้ากลับมาเป็นที่ต้องการอีกครั้ง

สินค้า Lifestyleจำพวกเสื้อผ้า เครื่องสำอาง และเครื่องประดับที่ราคาไม่สูงเนื่องจากผู้คนเริ่มออกไปทำงานอีกครั้ง และยังมีความไม่มั่นใจว่าโรคระบาดจะกลับมาอีกครั้งหรือไม่ จึงยังไม่ต้องการใช้สินค้าที่มีราคาแพงจนเกินไป 

สินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับการทำกิจกรรมนอกบ้านเช่น การรับประทานอาหารนอกบ้าน การไปออกกำลังกายหรือชมกีฬา ทำให้มีความต้องการอาหารในลักษณะที่เป็นวัตถุดิบของร้านอาหาร/ภัตตาคาร จำพวกอาหารแช่แข็งและแปรรูป อาทิ ไก่แช่แข็ง สับปะรดกระป๋อง และน้ำผลไม้ รวมทั้งคาดว่าจะมีคำสั่งซื้อเสื้อกีฬาเพิ่ม (ไทยเป็นฐานการผลิตเสื้อกีฬารายสำคัญของโลก)

สินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับการเดินทาง-ท่องเที่ยวโดยคาดว่านักท่องเที่ยวจะเริ่มจากออกเดินทางในประเทศก่อน ทำให้มีความต้องการ เครื่องใช้ในการเดินทาง อาทิ กระเป๋าเดินทาง เพิ่มขึ้น ขณะที่โรงแรมต่างๆ จะมีแนวโน้มสั่งซื้อของใช้ในโรงแรมเพิ่มขึ้น อาทิ สบู่ แชมพู และปลอกหมอน เพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยว

ยานยนต์และชิ้นส่วนอาทิ ยางล้อ เบาะนั่ง และอุปกรณ์ตกแต่ง เนื่องจากได้รับผลดีจากกำลังซื้อที่เริ่มฟื้นตัวขึ้น และความต้องการซื้อที่เลื่อนมาจากปีก่อนหน้า รวมทั้งมีหลายประเทศที่ประชาชนต้องการซื้อรถยนต์ส่วนตัวเพื่อหลีกเลี่ยงการใช้รถสาธารณะ 

“หากผู้ประกอบการ SMEs ผลิตสินค้าที่ตรงกับความต้องการของตลาดและผลิตสินค้าได้ตามมาตรฐานที่ประเทศคู่ค้ากำหนดก็มีโอกาสส่งออกได้ไม่ต่างจากผู้เล่นรายใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นอาหาร เสื้อผ้า เครื่องประดับ เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน” ดร.รักษ์กล่าว

 

EXIM BANK พร้อมหนุนผู้ประกอบการ

ปัจจุบัน EXIM BANK มีมาตรการช่วยเหลือลูกค้าผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 สองส่วนสำคัญ พักหนี้และเติมทุน สำหรับมาตรการพักหนี้ ประกอบด้วยสินเชื่อฟื้นฟู และมาตรการสนับสนุนการรับโอนทรัพย์สินหลักประกันเพื่อชำระหนี้ หรือ Asset Warehousingเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ธุรกิจที่มีทรัพย์สินที่สามารถตีโอนชำระหนี้ได้ ด้วยการพักทรัพย์ พักหนี้ 3-5 ปี โดยผู้ประกอบการไม่ต้องรับภาระต้นทุนทางการเงินชั่วคราว และมีโอกาสกลับมาทำธุรกิจในอนาคต และไม่ถูกกดราคาทรัพย์สิน 

สำหรับมาตรการเติมทุนของ EXIM BANK ร่วมกับภาครัฐอื่นๆ ในการเติมทุนให้กับผู้ประกอบการ ได้แก่ 

1) สินเชื่อเอ็กซิมส่งเสริมการจ้างงานระยะ 2 (ร่วมกับสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน) เป็นโครงการที่ช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ขาดสภาพคล่องจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ยังคงต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2563 โดยโครงการนี้จะช่วยเติมทุนให้ผู้ประกอบการให้มีสภาพคล่อง และรักษาการจ้างงานไว้ได้

2) สินเชื่อ EXIM Biz Transformation Loan (อยู่ระหว่างการพิจารณาขยายโครงการจากกระทรวงการคลัง)EXIM BANK มีนโยบายสนับสนุนเงินทุนแก่ผู้ประกอบการที่ต้องการลงทุนเครื่องจักร หรือโรงงานเพื่อปรับตัวกับ New Normal และรองรับการเติบโตของเศรษฐกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศโดย EXIM BANK อนุมัติไปทั้งสิ้นเต็มวงเงินมากกว่า 5,000 ล้านบาท วงเงินต่อรายสูงสุดถึง 100 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 2 ปีแรกเพียง 2% ต่อปี

3) สินเชื่อ Global อุ่นใจ เป็นวงเงินสินเชื่อระยะยาว เพื่อใช้สำหรับหมุนเวียนในกิจการ สำหรับผู้ประกอบการที่มีธุรกรรมการค้าทั่วไป ตลอดจนเพื่อรองรับผู้ประกอบการที่มีธุรกรรมการค้าไปกลุ่มประเทศ CLMV และสำหรับผู้ประกอบการที่ดำเนินงานในต่างประเทศ วงเงินต่อรายสูงสุดถึง 100 ล้านบาท

4) สินเชื่อเอ็กซิมเพื่อผู้ส่งออกป้ายแดง(Brand New Export Financing) เป็นมาตรการตามพันธกิจของธนาคาร ที่ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการกลุ่ม Start Up ให้มีเงินทุนหมุนเวียนเพื่อเริ่มต้นส่งออกได้ โดยมีหลักประกันเพียง บสย. หรือบุคคลค้ำประกันเท่านั้นวงเงินกู้สูงสุด1.5 ล้านบาท

“นอกจากนี้ เพื่อเน้นย้ำบทบาทของธนาคารเพื่อการพัฒนา EXIM BANKมุ่งเน้นการเป็นพี่เลี้ยงให้คนตัวเล็กมีพื้นที่ในเวทีการค้าโลก โดยตั้งเป้าจะสร้างผู้ส่งออก SMEs รายใหม่ๆ ด้วย One Stop Trading Facilitator for SMEs หรือศูนย์บริการครบวงจรเพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างประเทศผ่านกลยุทธ์ 2 เติมเติมองค์ความรู้พัฒนาศักยภาพ SMEs ภายใต้หลักการ “บ่มเพาะ ต่อยอด และสร้างโอกาส”และ เติมทุน สนับสนุนทางการเงินตลอดวงจรธุรกิจและบริการป้องกันความเสี่ยงครบวงจร” ดร.รักษ์กล่าวทิ้งท้าย

 

ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถติดต่อ EXIM BANK ได้ 6 ช่องทาง ดังนี้

  1. Hot Line : 02 037 6099
  2. Call Center :02 271 3700
  3. E-mail : info@exim.go.th
  4. Website : เข้ามาแชทกับ Mr. EXIM ได้ที่ www.exim.go.th
  5. Facebook : ท่านสามารถ Comment ใต้โพสหรือส่งข้อความเข้ามาใน Inbox เพจ EXIM Bank of Thailand
  6. Line Official : @eximthailand

บทความแนะนำ

ร้านบิ๊กเต้ จากโชห่วย สู่ค้าปลีกเพื่อชุมชน

ร้านบิ๊กเต้เป็นร้านโชห่วยเล็กๆ ตั้งอยู่ในแหล่งหอพักของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ความน่าสนใจของร้านบิ๊กเต้ไม่ได้อยู่ที่การตกแต่งหน้าร้าน หรือการเลือกสินค้ามาวางจำหน่ายในร้าน หากแต่อยู่ที่วิธีการสื่อสารเพื่ออธิบายคุณสมบัติหรือวิธีการใช้งานของสินค้าให้กับลูกค้าในร้านที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว จนเมื่อสื่อโซเชียลมีเดียได้รับความนิยม ร้านบิ๊กเต้ก็มีแฟนคลับทั้งจาก Facebook, Instagram และ Twitter ร่วมแสนคนจากทั่วประเทศ แม้ว่าหลายคนจะยังไม่มีโอกาสมาซื้อสินค้า

ถึงวันนี้ เต้-ศตวัสส์ ฝ่ายรีย์ เจ้าของร้านบิ๊กเต้ มองว่าร้านบิ๊กเต้สามารถเป็นมากกว่าร้านโชห่วยทั่วไป คือเป็นทั้งมีเดียในการโฆษณาสินค้า หรือแม้กระทั่งเป็นร้านค้าชุมชน เป็นพื้นที่สร้างงานและรายได้ให้กับคนที่เดือดร้อนจาก COVID-19

 

SME One : จุดเริ่มต้นของร้านบิ๊กเต้ เกิดขึ้นมาได้อย่างไร

ศตวัสส์ : จุดเริ่มต้นของธุรกิจมาจากแม่ยายแนะนำว่าเจอร้านโชห่วยที่กำลังจะเซ้งธุรกิจอยู่ในทำเลที่ดี ใกล้ ๆ ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต พอได้มาดูทำเลก็สนใจ เพราะอยู่ใกล้กับมหาวิทยาลัยแล้วก็มีหอพักหลายอาคาร ร้านโชห่วยนี้อยู่ในหอพักก็คิดว่าน่าจะพอจะทำธุรกิจได้ นี่คือจุดเริ่มต้นเลยจริงๆ

ก่อนหน้าที่จะมาเซ้งร้านก็เป็นพนักงานกินเงินเดือน และใช้เวลาว่างหลังเลิกงานทำร้านอาหารเล็ก ๆ เป็น Kiosk ก่อนจะออกมาขายอาหารเต็มตัว จนได้มาทำร้านขายของก็เลยต้องหยุดทำร้านอาหารไป เพราะว่าอยู่ค่อนข้างไกลกันต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อเปรียบเทียบแล้วร้านอาหารที่ทำเป็นร้านแบบ Kiosk มองแล้วว่าไม่สามารถเติบโตได้ แต่ร้านโชห่วย

คิดว่าเป็นธุรกิจที่โตกว่าเดิม ก็ถือว่าเป็นการขยับขยาย

 

SME One : วันที่เซ้งร้านมองเห็นโอกาสจากธุรกิจอย่างไร เพราะตลาดร้านสะดวกซื้อมีการแข่งขันรุนแรง

ศตวัสส์ : เนื่องจากวันที่เข้ามาในธุรกิจนี้ เข้ามาแบบที่ไม่มีความรู้ใด ๆ เลย เข้ามาแบบความรู้เป็นศูนย์ ตอนนั้นมองว่าขายของไม่น่าจะยาก คิดแบบนี้จริง ๆ ว่าแค่ซื้อมาแล้วก็ขายไป อันนั้นคือการมองในแว็บแรก แต่ก็ปรากฏว่าตอนต่อมาสิ่งที่มองมันผิด ร้านโชห่วยไม่ใช่แค่ซื้อมาขายไป

พอได้ลงมือทำจริงๆ ช่วงแรกดราม่ามาก เพราะเราไม่มีประสบการณ์การขายเลย มันไม่ใช่ว่าของซื้ออะไรมาแล้วจะขายได้ ทำให้ในช่วงแรกต้องเรียกว่าขาดทุนอยู่หลายเดือนจนจะไม่ไหวแล้ว ก็เลยมานั่งคิดกันว่าเราพอจะปรับปรุงอะไรได้บ้าง  ปรับปรุงในที่นี้ คือปรับปรุงร้าน ปรับปรุงการทำงาน ปรับปรุงแนวคิด ก็เริ่มอันดับแรก ยังจำได้ดีเลย วันนั้นเริ่มจากเสิร์ชหาคำว่าโชห่วยในอินเทอร์เน็ต ที่เจอข้อมูลเยอะ ๆ ก็คือ Pantip.com ในเว็บบอร์ดจะมีคนพูดถึงร้านโชห่วยมากมาย เราก็เอามารวบรวมดูว่าคนพูดถึงโชห่วยในมุมไหนบ้าง มันก็แบ่งออกได้เป็น 2 หมวด ก็คือที่แบบที่ดี ที่รู้สึกประทับใจ กับที่ไม่ดี

แล้วเราก็มาดูว่าส่วนที่คนบ่นที่บอกว่าไม่ดีร้านเรามีแบบนี้บ้างไหม หรือว่าถ้าไม่ได้มีอะไรที่ไม่ดี เราจะป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบที่คนไม่ชอบได้อย่างไร ตัวอย่างเช่น ลูกค้าจะไม่พอใจถ้าไม่มีเงินทอน เงินทอนไม่พอ การได้มาศึกษาหาข้อมูลอย่างเป็นระบบมันช่วยได้ค่อนข้างเยอะทีเดียว ผลจากการศึกษาในครั้งนั้นทำให้เรารู้ว่าร้านมีจุดไหนบ้างที่ต้องปรับปรุง มีจุดไหนบ้างที่เราควรจะเอาอย่าง คือบางคนเขาก็จะมาแชร์ว่าร้านโชห่วยที่เขาประทับใจ เขาประทับใจตรงไหน แล้วเราก็ทำตาม อันนี้คือจุดที่เรียกว่าเป็นจุดพลิกของธุรกิจ จากที่เมื่อสักครู่นี้บอกว่าขาดทุนติด ๆ กันหลายเดือนจนเกือบจะเจ๊ง ก็พลิกกลับมามีกำไรได้

เราเคยทำอะไรแบบเรียกว่าพลาดแบบคนที่ไม่มีประสบการณ์ เช่น เคยมีเซลส์เข้ามาติดต่อวางขายแชมพูยี่ห้อหนึ่ง เป็นแชมพูที่คนรู้จัก เขามาบอกว่ามีแชมพูสูตรใหม่ออกมา แล้วก็ปกติแล้วแชมพูสูตรใหม่ก็จะมี Promotion เพื่อดึงดูดให้ร้านค้า ซื้อ เราก็สั่งเข้ามาตามโปรไม่ได้คิดอะไร ปรากฏว่าแชมพูตัวนั้นสั่งมาแค่ 12 ขวด 1 ปีขายไปได้แค่ขวดเดียว ทั้ง ๆ ที่เป็นยี่ห้อที่ Mass ยี่ห้อแบรนด์ดัง แต่ที่ขายไม่ออกก็เพราะลูกค้าเราเกือบจะ 100 เปอร์เซ็นต์เป็นนักศึกษา แต่แชมพูนี้เป็นสูตรผมดำ

อันนี้ก็เป็นบทเรียนว่ามันไม่ใช่ว่าอะไรก็ขายได้ เราจะต้องรู้ว่าลูกค้าเราคือใคร แล้วก็ลูกค้าเราเขาต้องการอะไร นี่คือเบสิกเบื้องต้น พอเราเริ่มเรียนรู้จากจุดผิดพลาดทั้งของตัวเองแล้วก็ของคนอื่น  เราก็ค่อย ๆ ปรับ ก็ค่อย ๆ พลิกมาจนเริ่มมีกำไร แล้วก็พออยู่ได้

 

SME One : ปัจจุบันร้านบิ๊กเต้มีอยู่ทั้งหมดกี่สาขา

ศตวัสส์ : มี 2 สาขา ซึ่งแม้ว่าจะอยู่ใกล้กันแต่กลุ่มลูกค้าก็ยังแตกต่างกัน เนื่องจาก 2 หอพักนี้ก็มี Target Group ที่ต่างกัน หอนึงจะเป็นหอแบบทั่วไป ส่วนอีกหอนึงคนที่อยู่จะค่อนข้างจะมีฐานะ เพราะค่าหอแพงคนที่อยู่ได้ก็ค่อนข้างจะมีฐานะ เพราะฉะนั้นของบางอย่างขายที่สาขานึงได้ อีกสาขานึงอาจจะขายไม่ได้ ในขณะที่บางอย่างสาขานึงขายได้ อีกสาขานึงขายไม่ได้ อย่างเช่นมีครั้งหนึ่งที่มหัศจรรย์ใจมาก คือเราซื้อน้ำแร่ขวดละร้อยกว่าบาทมาตั้งโชว์ในร้านเพราะขวดสวย ไม่ได้คิดจะขาย เพราะไม่คิดว่าจะมีคนซื้อ แต่เอาจริงๆ มีลูกค้าหลายคนถามว่าขายไหมเพราะอยากได้ อันนี้ก็เป็นความแตกต่างของในกลุ่มลูกค้าที่เราบอกว่าเป็นนักศึกษาเหมือนกันแต่ก็ยังมีความแตกต่างกัน

 

SME One : มาถึงไฮไลท์ที่ทำให้คนรู้จักเราเพิ่มขึ้น เราชอบใช้แก๊กโปรโมทสินค้าที่อินกับกระแส ตรงนี้เกิดขึ้นมาได้อย่างไร

ศตวัสส์ : เกิดจากการที่เราต้องการสื่อสารกับลูกค้า Concept ไม่มีอะไรเลย คือชอบมีคนมาถามคำถามเดิมบ่อย ๆ แล้วร้านเรามี 2 สาขา เพราะฉะนั้นก็จะมีพนักงานประจำอยู่ที่ร้าน ซึ่งผมก็ไม่ได้อยู่ที่หน้าร้านอยู่ตลอดเวลา ซึ่งบางทีลูกค้ามีข้อสงสัย แต่พนักงานก็อาจจะตอบได้ไม่ลึกซึ้งมากพอ ดังนั้นก็เลยแก้ปัญหาด้วยการเขียนป้ายบอกไว้ อีกจุดนึงที่เป็นความแตกต่างของลูกค้าเรากับที่อื่น คือว่าลูกค้าเราส่วนใหญ่ที่เป็นนักศึกษาที่ไม่ได้อยู่กับคุณพ่อคุณแม่ ซึ่งถ้าเขาอยู่บ้าน เขาก็จะถามแม่ แต่พอมาอยู่หอไม่ได้อยู่กับพ่อกับแม่ เขาก็จะถามคนที่พอจะถามได้ ซึ่งก็คือเรา

เราเริ่มต้นจากการตอบคำถามที่เรียกว่า FAQ (คำถามที่พบบ่อย) เขียนป้ายแบบ FAQ ป้ายแรกที่เขียนคือ ป้ายวิธีใช้ผงสลายท่อตัน อันนี้เป็นป้ายแรกที่เกิดขึ้นในร้านซึ่งเป็นแบบวิธีใช้ธรรมดา เราบอกแค่ว่าเทลงไปแล้วก็เอาน้ำราด แต่พอเวลาผ่านไป เราก็มีพยายามแทรกมุขตลกอะไรไปเรื่อย จุดประสงค์ไม่มีอะไร ก็เพื่อให้ของมันดูน่าสนใจและขายได้

ตรงนี้ช่วยแก้ปัญหาการระบายสินค้าที่ซื้อมาแล้วขายช้าได้ด้วย เพราะสินค้าบางอย่างมันไม่ได้ขายได้ด้วยตัวมันเอง เราก็เลยจำเป็นที่จะต้องทำอะไรสักอย่างให้ของมันอยู่ในสายตาของลูกค้า สิ่งที่ตอบโจทย์ตรงนี้ก็คือป้าย  ซึ่งมันเหมือนกับมีพนักงานคอยมาเชียร์สินค้าตามห้าง ที่มาคอยเชียร์ว่าสินค้าตัวนี้มันดี มันจะทำให้ลูกค้ารู้สึกว่าน่าลอง ลองสักหน่อยก็ดี นี่คือฟังก์ชั่นของป้ายที่สื่อสารในลำดับถัดมา

SME One : มีวิธีรักษาระดับการสื่อสารไว้ในระดับไหนถึงจะพอดี ไม่ดูแรงเกินไป

ศตวัสส์ : เรามี Concept มีแนวของเราอยู่  คือในอินเทอร์เน็ตมันจะมีเรื่องดราม่ามาเรื่อย ๆ จากประสบการณ์เราเคยเขียนแซวที่เกี่ยวกับบุคคล เป็นความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ทีนี้คือพอเราเขียนแซวไป ตอนแซว Feedback ก็ไม่เลว แต่สิ่งที่ทำให้เราเสียใจก็คือ เวลาต่อมา 2 คนนี้เลิกกัน อันนี้ก็เป็นบทเรียนให้รู้ว่าเราจะไม่เขียนแซวเกี่ยวกับลักษณะความสัมพันธ์ของคน 2 คน เพราะว่าเขียนไปแล้ว ป้ายหรือว่าโพสต์มันจะอยู่ในอินเทอร์เน็ต แล้วถ้าวันหนึ่งคู่นี้เขากลับมาเห็นข้อความมันอาจจะทำให้เขาสะเทือนใจ อันนี้เรียกว่าเรามีบทเรียน แล้วเราก็ตั้งเกณฑ์ไว้ว่าเราจะไม่ทำแบบนี้ จะไม่เขียนป้ายในลักษณะนี้อีก

เราจะมีเป้าหมายของการเขียน Content คือต้องยอมรับว่าการที่เขียน Content ที่อิงกับกระแสมันได้ Engagement ที่ดี คนสนใจ แต่ว่าสิ่งที่เราพยายามจะทำให้มันเหนือไปกว่านั้น ก็คือพยายามที่จะให้ Content นั้น มีคนมาอ่านในเวลาต่อมาแล้วคนก็ยังรู้สึกว่ายังเข้าใจ หรืออินอยู่ อันนี้ก็เป็น Guideline ที่วางไว้ให้ตัวเอง เช่น เราเคยเขียนโพสต์ขายยางลบว่า “เขียนด้วยมือ อย่าลบด้วยเท้า พี่เต้มียางลบจำหน่าย” ซึ่ง Content นี้ ณ วันนั้นก็เขียนเพื่อจะแซวคน คนหนึ่ง แต่ว่าถ้ามาอ่านในปัจจุบันคนที่เห็นก็เชื่อว่าก็ยังจะเก็ทมุขนี้ แต่อาจจะไม่ได้เก็ทในบริบท ณ วันนั้นที่เป็น Viral หรือเป็นกระแสอยู่

เราอยากให้ Content มันแบบขำไม่ใช่เฉพาะเวลานั้น แต่ว่าจะต้องอยู่ได้ยาว อยากจะให้มีชีวิตที่ยาวกว่าเป็นไวรัลสั้น ๆ นี่คือแนวทางในการคิด Content 

 

SME One : ช่วง COVID-19 นักศึกษาก็เรียนออนไลน์ บางคนก็กลับไปอยู่บ้าน ร้านกระทบกระเทือนแค่ไหน

ศตวัสส์ : กระทบมากเลย COVID-19 เฟสแรกเรากระทบทันทีที่มหาวิทยาลัยประกาศให้เรียนออนไลน์ ยอดขายเราลดลงเหลือประมาณ 25% ประกอบกับสถานการณ์ความไม่แน่นอนของสิ่งที่เราไม่รู้จักมาก่อน ชีวิตนี้เราไม่เคยเจอโรคระบาด ก็ไม่รู้ว่าในอนาคตสภาพมันจะเป็นอย่างไร ดังนั้นเราก็มานั่งวางแผนว่าจะทำอย่างไรดี เรามองไปถึง Worst Case คือ กรณี Failed State กรณีที่รัฐล้มเหลว เราจะทำอย่างไร ซึ่งมันก็ยังไม่ถึงขั้นนั้น 

ทีนี้เราก็จะแบ่งการแก้ปัญหาออกเป็นขั้นๆ ไป ว่าถ้ามาถึงขั้นนี้แล้วเราต้องทำแบบนี้ ในช่วงแรกสิ่งที่เราทำทันที คือลดค่าใช้จ่าย ตอนแรกเรามองว่าอาจจะต้องไปนั่งเฝ้าร้านเองแทนพนักงาน แต่ก็มีเหตุที่ทำให้เราต้องเปลี่ยนใจ เพราะว่าทันทีที่มีการล็อกดาวน์ ปรากฏว่ามีน้อง ๆ จำนวนมากเลยที่ติดต่อเข้ามาถามว่ามีงานให้ทำหรือไม่ คือหลายคนน่าเห็นใจมาก มีคนหนึ่งที่เราจำได้ดีเลย คือเขาเล่าให้ฟังว่าคุณพ่อเขาเป็นไกด์ แล้วก็คุณพ่อก็เป็นคนที่ทำงานหาเงินคนเดียวในบ้าน คุณพ่อตอนนั้นไม่มีงานทำแล้ว เขาก็เลยอยากจะทำงานเพื่อช่วยค่าใช้จ่ายที่บ้าน อันนี้เป็นตัวอย่างแค่คนเดียว ยังมีเคสอื่น ๆ มากมายที่ทำให้เราคิดว่าการลดค่าใช้จ่ายในการจ้างคน เราคงทำไม่ได้ เพราะว่าน้อง ๆ พนักงานก็ต้องการเงินเหมือนกัน เราก็เลยไปลดค่าใช้จ่ายทางอื่น ก็คือปิดแอร์ในร้าน ซึ่งตรงนี้เราก็เขียนคำอธิบาย เขียนป้ายเอาไว้เพื่อบอกลูกค้าตรง ๆ ว่า ช่วงนี้ยอดขายตกจำเป็นที่จะต้องขอปิดแอร์เพื่อลดค่าใช้จ่าย เราก็ดีใจที่มีลูกค้าเข้าใจ พนักงานหน้าร้านเล่าให้ฟังว่า ลูกค้าบางคนมาอ่านป้ายแล้วก็หันมาบอกให้กำลังใจพนักงานว่า “สู้ ๆ นะครับ” 

จากเดิมที่เคยคิดว่าจะลดค่าใช้จ่ายในส่วนพนักงานก็เปลี่ยนมาเป็นค่าใช้จ่ายในส่วนอื่น ๆ อย่างเช่นหลัก ๆ เลยเนี่ย คือค่าไฟที่ร้าน เนื่องจากว่าเราเปิดแอร์ตลอดเวลาที่เปิดร้าน พอปิดแอร์ค่าใช้จ่ายส่วนก็เลยลดไปได้เยอะอยู่เหมือนกัน อันนี้ก็ส่วนหนึ่ง 

อีกส่วนหนึ่งเรียกว่าเราโชคดีแล้วกัน เราโชคดีอยู่ 2 เรื่อง เรื่องแรกก็คือ ปีที่แล้วมีแคมเปญชิม ช้อป ใช้ ซึ่งโครงการนี้ ทำให้เราพอจะมีเงินสดในมืออยู่จำนวนหนึ่ง โชคดีเรื่องที่ 2 ก็คือนอกจากเราประหยัดค่าไฟแล้ว เจ้าของหอที่เราเช่าก็ช่วยเรื่องลดค่าเช่าก็ช่วงพยุงเราไปได้หลายเดือนอยู่เหมือนกัน พอมาถึงเดือนสิงหาคมปี 2563 มหาวิทยาลัยเปิดเทอมก็เริ่มมีคนกลับมา ซึ่งเงินสดในมือของเราตอนนั้นเหลือใช้ถึงแค่เดือนกรกฎาคม ก็ถือว่าเฉียดฉิวมาก

พอเราโชคดีที่ได้รับความช่วยเหลือจากเจ้าของหอ ตอนนั้นก็เลยคิดว่าเราก็อยากจะส่งความโชคดีนี้ไปให้คนอื่นที่เขาตัวเล็กกว่าเรา ช่วงนั้นเป็นที่ทราบกันดีว่าคนได้รับผลกระทบเรื่องงานจำนวนมาก เราก็เลยพยายามที่จะเปิดรับสินค้าฝากขายที่เป็นสินค้าโฮมเมด เล่าให้ฟังก่อนว่าปกติเรามีรับเฉพาะสินค้าโฮมเมดของนักศึกษาธรรมศาสตร์มาวางขายเท่านั้น 

เราตัดสินใจว่าเราคงจะช่วยได้ในมุมนี้ ก็เลยเปิดรับสินค้าที่เอามาฝากขายแบบที่เราพอจะเป็นหน้าร้านให้ได้ ซึ่งในช่วงนั้นก็มีคนติดต่อเข้ามาเพื่อขอฝากขายที่ร้านวันหนึ่งประมาณ 5 เจ้า ทุกวัน มีคนโทรเข้ามาทุกวัน คนที่โทรเข้ามาเขาก็เดือดร้อนและพยายามช่วยเหลือตัวเอง พยายามดิ้นรนหารายได้ ซึ่งหลาย ๆ เจ้าเราก็ไม่รู้จะช่วยอย่างไร เช่นเป็นสินค้าขนมโฮมเมดทองม้วนพื้นบ้านที่ติดต่อมาจากภูเก็ตเพื่อขอมาฝากวางขายที่ร้าน ดีลนี้ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ เพราะพอคุยลงไปในรายละเอียดแล้วเขาไม่สามารถส่งของจากภูเก็ตมาโดยที่ไม่แตกหักได้ หรือเป็นเคสเครื่องดื่มขวดแก้วที่ติดต่อมาจากจากเชียงใหม่ เชียงราย ซึ่งในทางปฏิบัติน่าจะมีปัญหาในการขนส่งก็เลยดีลกันไม่ได้

ส่วนเคสที่ประสบความสำเร็จก็มี เช่นมีขนมเบเกอรี บราวนี่ของเจ้าหนึ่งที่คนทำเป็นคุณแม่ฟูลไทม์ที่สามีโดน Layoff จากบริษัท แล้วก็สามีก็เป็นเสาหลักของบ้าน เพราะฉะนั้นภรรยาก็เลยต้องหารายได้ เพราะมีลูกเล็กด้วย ก็ติดต่อมาขอฝากขาย ทำบราวนี่มาขายที่ร้าน ครั้งแรกจำได้ว่าเอามาลง 10 กล่อง แล้วยอดขายก็ค่อย ๆ เติบโตขึ้นเรื่อย ๆ จนทุกวันนี้เนี่ยบราวนี่เจ้านี้มาลงทีครั้งละประมาณ 40 กล่องแล้ว ยังไม่รวมกับขนมอย่างอื่น มีเอแคลร์ มีทอฟฟี่เค้ก ซึ่งตรงนี้เราถือว่า Success Case ที่เราเห็นแล้วเราก็ดีใจที่มีส่วนช่วยในการเป็นหน้าร้านให้กับเจ้าเล็ก ๆ ที่เจอปัญหา

 

SME One : ที่ผ่านมาเคยเข้าไปขอคำปรึกษาจากหน่วยงานของภาครัฐบ้างหรือไม่

ศตวัสส์ : เราเคยเข้าไปขอคำปรึกษาจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เราเข้าไปอบรมสัมมนา และสมัครเข้าโครงการพัฒนาร้านค้าปลีก เราสมัครเข้าไปแล้วผ่านการคัดเลือก การที่เราทำร้านโดยที่ไม่มีความรู้เลย ตรงนี้ช่วยได้เยอะมาก ทางโครงการเขาจะมีทีมที่ปรึกษา ส่งทีมงานมาดูที่ร้านแล้วก็ให้คำแนะนำว่า ร้านของเราควรจะปรับปรุงตรงไหนอย่างเช่น เมื่อปีที่แล้วก็มีที่ปรึกษาเป็นอาจารย์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในโครงการของกระทรวงพาณิชย์ เข้ามาให้คำปรึกษาที่ร้าน ซึ่งตรงนี้ช่วยได้เยอะมากสำหรับคนที่ทำธุรกิจแบบลูกทุ่งอย่างเรา

 

SME One : ถ้าทุกอย่างกลับมาเป็นปกติจะขยายธุรกิจอย่างไร

ศตวัสส์ : มี 2 แนวคิด หนึ่งคืออยากจะขยายสาขา ซึ่งตรงนี้ก็ขึ้นกับเงินทุน การขยายสาขามันใช้เงินทุนค่อนข้างเยอะ กับอีกทางหนึ่ง คือเรามองไปถึงการต่อยอดธุรกิจไปทำในลักษณะอื่น ซึ่งจริง ๆ เราก็เริ่มทำมาสักพักแล้ว คือการ Tie-in สินค้าในโซเชียลมีเดียของเรา เหมือนเวลาที่ลูกค้าเข้าไปในซูเปอร์มาร์เก็ต เดิน ๆ อยู่ก็จะได้ยินเสียงตามสาย เสียงโฆษณาสินค้า ซึ่งเป็นที่ทราบกันว่าเจ้าของสินค้าที่โฆษณาต้องจ่ายเงินให้กับร้านเพื่อโฆษณาสินค้า หรือว่าตามร้านใหญ่ ๆ เขาจะมีการคิดค่าหัวชั้น ซึ่งการจะทำแบบนั้นได้มันจะต้องเป็นร้านที่ใหญ่ ๆ และมี Traffic มีจำนวนคนเดิน ถ้าเป็นร้านเล็ก ๆ อย่างร้านเราก็คงไม่มีใครมาสนใจจ้างแบบ หรือเราจะไปคิดค่าหัวชั้นเขาก็คงไม่เอา

แต่ว่าในปัจจุบันเราสามารถสร้าง Traffic แบบออนไลน์ได้ หมายถึงว่าถ้าเรามีร้าน เหมือนเป็นหน้าร้านที่เป็นออนไลน์ เราสามารถที่จะดึงดูดคนให้มาเห็นตัวสินค้า มาเห็นในร้านออนไลน์ที่ไม่ใช่มาจากทั่วประเทศ แต่มาจากทั่วโลกด้วยซ้ำ แล้วมันไม่มีข้อจำกัดในแง่ของหน้าร้านอีกต่อไป เรามองตรงจุดนี้ มองว่าถ้าเกิดว่าร้านใหญ่ ๆ เขาคิดค่าหัวชั้นเพื่อโฆษณาสินค้า ร้านเราก็สร้างเป็น Virtual Traffic ขึ้นมาบนร้านออนไลน์ของเรา เราก็น่าจะทำแบบนั้นได้เหมือนกัน ดังนั้นตอนนี้เราก็จะมีรับ Tie-in สินค้าซึ่งอยู่ในช่วงเริ่มต้น ก็เป็นวิธีนึงที่เราพยายามหารายได้เพิ่มซึ่งก็ยังไม่รู้ว่าผลจะเป็นอย่างไร แต่ก็คิดว่าอันนี้ก็เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่พอจะขยับขยายไปได้ โดยรายได้ส่วนนี้จะมาจากค่ามีเดียไม่ได้มาจากยอดขาย

 

SME One : จากนี้ไปอะไรคือความท้าทายของร้านบิ๊กเต้

ศตวัสส์ : ความตั้งใจของเรา คือเราตั้งใจว่าเราอยากจะเป็นร้านค้าชุมชน อยากได้รับการยอมรับให้เป็นส่วนหนึ่งของชุมชน ต้องบอกแบบนี้ว่าผมกับภรรยายังไม่มีลูก เพราะฉะนั้นเราก็ไม่ได้คาดหวังว่าจะต้องสร้างธุรกิจไว้เป็นมรดก คือเรื่องเงินอาจจะไม่ใช่เรื่องหลัก แต่ว่าสิ่งที่คิดว่าอยากจะให้มันเกิดขึ้นในช่วงชีวิตของเรา ตอนที่เรายังทำงานได้ก็คืออยากจะได้รับการยอมรับว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของคนแถวนี้ อย่างเช่น นักศึกษาธรรมศาสตร์ถ้านึกถึงโชห่วย ต้องนึกถึงร้านบิ๊กเต้ คือมีอะไรก็ขอให้นึกถึงเรา อันนี้ถ้าเกิดทำได้ก็ถือว่าเราประสบความสำเร็จทางธุรกิจแล้ว

 

SME One : ถ้าอยากให้คุณเต้ช่วยให้คำแนะนำกับคนที่อยากจะเปิดร้านโชห่วยจะให้คำแนะนำอะไรดี

ศตวัสส์ : อยากให้เรียนรู้จากสิ่งที่เราเคยพลาดมา เพราะว่าเรายังรู้จักลูกค้าไม่ดีพอ เพราะฉะนั้นอันดับแรกอยากจะแนะนำว่าต้องทำความรู้จักลูกค้าซึ่งมันมีรายละเอียดเยอะขึ้นไปอีก ลูกค้าที่เรารู้จักในวันนี้อนาคตเขาก็อาจจะเปลี่ยนไป อธิบายให้เห็นภาพ ก็คือ เด็ก 10 ขวบถ้าได้เงินมา 100 บาท เวลาเดินเข้าร้านโชห่วยก็อาจจะซื้อขนม พออายุ 20 ปีมีเงิน 100 บาทเดินเข้าร้านโชห่วยก็อาจจะไม่ได้ซื้อของแบบเดิมอีกต่อไปแล้ว ต่อไปถ้าอายุ 30 ปีก็จะไม่ได้ซื้อของแบบเดิมอีกเหมือนกัน เพราะฉะนั้นพอเราทำความรู้จักกับลูกค้าแล้วเราต้องหมั่นอัพเดตด้วย ไม่ใช่ว่าพอได้ข้อมูลมาแล้วจะเป็นอย่างนั้นไปตลอดกาล ยิ่งสมัยนี้ กระแสอะไรต่าง ๆ มันมาเร็ว เรียกว่าต้องอัพเดตกันแบบวันต่อวัน

เรื่องที่ 2 ก็คือต้องทำใจยอมรับข้อวิจารณ์ ข้อเสียของตัวเรา ของธุรกิจเราให้ได้ แล้วเอามาปรับปรุง อย่าลืมว่าความเห็นหรือข้อตำหนิของลูกค้า คือข้อมูลที่สำคัญที่สุด ที่ทำให้เรารู้ว่าจะต้องปรับปรุงตรงไหน อย่างไร

 

บทสรุป

ความสำเร็จของร้านบิ๊กเต้อยู่ที่การรับฟังความต้องการของลูกค้าแล้วนำข้อมูลดังกล่าวมาปรับปรุงธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นการเลือกสินค้าที่ตรงกับความต้องการมาขาย หรือเพิ่มการให้บริการใหม่ๆ ที่สร้างความสะดวกสบายกับลูกค้า เช่นการเขียนป้ายอธิบายสรรพคุณ หรือวิธีการใช้งาน ซึ่งในเวลาต่อมาป้ายโฆษณาดังกล่าวได้พัฒนาจนกลายมาเป็นเครื่องมือสื่อสารที่ทรงประสิทธิภาพ สามารถกระจายไปสู่คนทั่วประเทศได้ 

จากร้านโชห่วยเล็กๆ ใต้หอพัก ร้านบิ๊กเต้จึงกลายเป็นออนไลน์ มีเดียที่หลายแบรนด์เลือกใช้เป็นช่องทางในการโปรโมทสินค้า

บทความแนะนำ