10 ตัวช่วยเอสเอ็มอีการเกษตร อัพเกรดสู่การเป็น Smart Farmer

ทำเกษตรยุคนี้มีตัวช่วยมากมายที่จะมาแปลงโฉมเกษตรกรบ้าน ๆ ให้กลายเป็น Smart Farmer ได้ในพริบตา มาดูกันว่ามีเทคโนโลยี Solution หรือเครื่องไม้เครื่องมืออะไรบ้างที่เกษตรกรจะหยิบจับเอาไป ใช้ให้เกิดประสิทธิภาพและลดต้นทุนให้กับธุรกิจเกษตรของคุณได้

 

  1. Ricult แอปฯ เพื่อเกษตรกรยุค 4.0

รีคัลท์ (Ricult) แอปพลิเคชันช่วยในการให้ข้อมูลและคำแนะนำต่างๆ สำหรับเกษตรกรแบบเฉพาะบุคคล

  • ใช้เทคโนโลยี Machine Learning และ Big Data ข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียม ในการวิเคราะห์ข้อมูลสภาพอากาศ ปริมาณน้ำฝน
  • สามารถพยากรณ์ล่วงหน้าได้ทั้งรายวัน รายสัปดาห์ และรายเดือน พยากรณ์ล่วงหน้าได้สูงสุดถึง 9 เดือน 
  • สามารถให้ข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมรายแปลง ช่วยให้รู้ว่าในแปลงปลูกนั้นมีการเจริญเติบโตดีอยู่หรือไม่
  • มีข้อมูลต่าง ๆ ด้านการเพาะปลูกให้ด้วย เช่น วันที่ควรปลูก ใส่ปุ๋ย และเก็บเกี่ยว เป็นต้น

เหมาะสำหรับเกษตรกรที่ต้องการคำแนะนำด้านการเพาะปลูก สามารถช่วยเพิ่มผลผลิต และลดความเสี่ยงจากสภาพอากาศที่แปรปรวนได้

ดาวน์โหลดได้ที่ Google Play : https://play.google.com/store/apps/details?id=io.ionic.ricultprod&hl=th

 

  1. Eden AgriTech นวัตกรรมยืดอายุผัก-ผลไม้

Eden AgriTech นวัตกรรมสารเคลือบยืดอายุผักและผลไม้จากธรรมชาติ ช่วยเกษตรกรได้ ดังนี้

  • ช่วยลดปัญหาการสูญเสีย รวมถึงการเสื่อมคุณภาพอย่างรวดเร็วของวัตถุดิบ
  • มีคุณสมบัติยืดอายุการเก็บรักษาผัก-ผลไม้ ได้ยาวนานมากขึ้น 2-3 เท่า 
  • ช่วยคงคุณภาพและคุณค่าสารอาหารอย่างเป็นธรรมชาติ 
  • ปลอดภัยต่อผู้บริโภค เพราะผลิตจากวัตถุดิบที่มาจากธรรมชาติ

เหมาะสำหรับผู้ประกอบการผักและผลไม้ตัดแต่งสด โรงงานอาหาร เพราะจะช่วยขยายโอกาสทางการตลาดได้กว้างขึ้น ทั้งในรูปการส่งออกตลาดต่างประเทศ หรือวางจำหน่ายในห้างสรรพสินค้า

ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://edenagri.co.th/

 

  1. GetzTrac แอปฯ จองรถเกี่ยวข้าวและอุปกรณ์การเกษตร

แอปพลิเคชันที่จะช่วยให้เกษตรกรหมดปัญหาขาดแคลนเครื่องมือในฤดูเก็บเกี่ยว

  • สามารถเลือกประเภทของรถที่ต้องการ ระบุขนาด และที่ตั้งแปลงนา 
  • เลือกวันและช่วงเวลาที่ต้องการ สามารถจองล่วงหน้าได้ 1 เดือน
  • ระบบจะทำการจับคู่รถตามความเหมาะสม พร้อมแจ้งเตือนสถานะของรถทุกขั้นตอน เพื่อเพิ่มความ

มั่นใจว่าจะไม่มีการผิดนัดเกิดขึ้น

เหมาะสำหรับเกษตรกรที่ต้องการใช้บริการรถเกี่ยวข้าวหรือรถพรวนดิน พร้อมคนขับมืออาชีพ โดยอัตราค่าบริการจะคิดตามขนาดที่นา และพันธุ์ข้าวที่จะต้องเกี่ยว

ดูข้อมูลเพิ่มเติมและดาวน์โหลดได้ที่ : https://getztrac.com/

 

  1. Easy Rice เครื่องตรวจคุณภาพข้าวอัตโนมัติ

เทคโนโลยีประมวลผลภาพและปัญญาประดิษฐ์ (AI) ด้วยการติดตั้งซอฟต์แวร์ประมวลผลภาพ (Image Processing) และ Deep Learning รูปร่างเหมือนเครื่องสแกน มีการทำงานดังนี้

  • นำตัวอย่างข้าว 25 กรัม วางลงบนถาดด้านบน ปิดฝาเครื่อง และกดปุ่มเริ่มทำงาน 
  • ตัวเครื่องจะวิเคราะห์เมล็ดข้าวเป็นข้อมูลดิจิทัล และจัดเก็บบนระบบ Cloud โดยอัตโนมัติ และส่งกลับมาภายในเวลาแค่ 30 วินาที
  • AI สามารถตรวจสอบคุณลักษณะทางกายภาพของเมล็ดได้ทั้งขนาด ความยาว สัดส่วนการแตกหักของเมล็ด การปนเปื้อนของตัวอย่างข้าว และข้อบกพร่องอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นจากกระบวนการผลิต 

เหมาะสำหรับผู้ส่งออกข้าวหรือโรงสี ช่วยแก้ปัญหาความผิดพลาดของการใช้แรงงานคนสุ่มตรวจคุณภาพข้าว สร้างความเป็นธรรมแก่ทั้งผู้ปลูกข้าวโรงสี และผู้ส่งออกที่จะได้ข้าวคุณภาพดี มีมาตรฐาน

ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://easyrice.ai/th

 

  1. Gaorai บริการโดรนฉีดพ่นพืช

แอปพลิเคชันจ้างโดรน สำหรับการฉีดพ่นสารป้องกันผลผลิตทางการเกษตรจากศัตรูพืช โดยฟังก์ชันของเก้าไร่ มีดังนี้

  • บันทึกข้อมูลและระบบ Data Analytics เพื่อช่วยแนะนำการฉีดพ่นให้คุ้มค่าสูงสุด 
  • ช่วยลดปัญหาการจ้างแรงงานเดินฉีดพ่น ซึ่งส่วนใหญ่ไม่สามารถควบคุมตำแหน่งการฉีดพ่นได้อย่างแม่นยำ ส่งผลให้พืชเติบโตไม่เต็มประสิทธิภาพ หรือเกิดสารตกค้างในพืชผล

เหมาะสำหรับเกษตรกรที่มีพื้นที่เกษตร 30 ไร่ขึ้นไป โดยเฉพาะในกลุ่มเกษตรกรที่ปลูกข้าว มันสำปะหลัง ข้าวโพด อ้อย เป็นต้น เป็นตัวช่วยให้สามารถลดต้นทุน และเพิ่มประสิทธิภาพในการเพาะปลูกได้ดียิ่งขึ้น

ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://gaorai.io

 

  1. UpSquare แพลตฟอร์มบริหารฟาร์มไก่ไข่อัจฉริยะ

เป็นการนำเทคโนโลยี IoT เข้ามาช่วยควบคุมการเลี้ยงไก่ไข่แบบอัตโนมัติ มีการทำงาน ดังนี้

  • นำเซ็นเซอร์ไปติดตั้งในโรงเรือน เพื่อบันทึกข้อมูลรายละเอียดต่าง ๆ ในฟาร์ม
  • นำข้อมูลมาวิเคราะห์ หากเกิดความผิดปกติระบบจะแจ้งเตือนทันที เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรคระบาดไปทั้งฟาร์ม

เหมาะสำหรับฟาร์มเลี้ยงไก่ไข่ในโรงเรือนแบบปิด ซึ่งนวัตกรรมนี้สร้างขึ้นเพื่อใช้ตรวจสอบสภาวะของโรงเรือน และตรวจสอบสถานะของอุปกรณ์ทุกตัวในโรงเรือน เช่น หากเกิดไฟดับแค่ภายใน 20 นาที โดยเจ้าของฟาร์มไม่รู้ตัว โอกาสไก่ที่เลี้ยงไว้อาจตายหมดได้ เป็นต้น

 

  1. FARMTO แพลตฟอร์มขายสินค้าเกษตรรูปแบบใหม่

ช่องทางการขายผลผลิตเกษตรรูปแบบใหม่ เชื่อมเกษตรกรและผู้บริโภคเข้าหากัน ผ่านวิธีการ “ร่วมเป็นเจ้าของผลผลิตการเกษตร”

  • ผู้บริโภคสามารถจองสินค้าจากฟาร์มเกษตรกรไว้ได้
  • สามารถเดินทางมาเยี่ยมชมผลผลิต เช็กพิกัดพื้นที่การเพาะปลูกได้จากในระบบ 
  • เมื่อถึงฤดูกาลเก็บเกี่ยวเกษตรกรจะจัดส่งผลผลิตให้ผู้บริโภค ตามที่อยู่ที่ได้ลงทะเบียน หรือนัดรับผลผลิตบริเวณพื้นที่การเพาะปลูก

เหมาะสำหรับเกษตรกรที่ต้องการขายสินค้าแบบไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง สามารถตั้งราคาขายด้วยตัวเองเพื่อแก้ปัญหาภาระหนี้สิน และราคาผลผลิตตกต่ำ และยังสามารถสร้างแบรนด์สินค้าของตัวเองได้ในอนาคต

ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ : https://farmto.co.th/

 

  1. Freshket ตลาดสดออนไลน์ เพื่อร้านอาหาร-โรงแรม

ศูนย์รวมสินค้าเกษตรจากเกษตรกรและซัพพลายเออร์ สำหรับลูกค้าทั้งกลุ่มร้านอาหาร โรงแรม และครัวเรือน

  • คัดสรรสินค้าคุณภาพดี สดจากฟาร์มวันต่อวัน ผ่านกระบวนการคัด ตัดแต่ง เพื่อให้ตรงตามสเปกและคัดส่วนเน่าเสียออก เพื่อให้ลูกค้าสามารถนำไปใช้ได้มากที่สุด
  • มีการจัดส่งทุกวัน ไม่มีวันหยุด และสามารถเลือกเวลารับสินค้าได้ทุกชั่วโมง

เหมาะสำหรับเกษตรกรและผู้ผลิตอาหารที่ต้องการเข้าถึงข้อมูล รวมถึงขายสินค้าได้ในราคาที่ดีขึ้น และกลุ่มผู้ประกอบการร้านอาหารโรงแรม ตลอดจนผู้บริโภค ที่จะได้ซื้อวัตถุดิบคุณภาพในราคาที่เหมาะสม

ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ : https://www.freshket.co

 

  1. Naturefood ตัวกลางซื้อ-ขายข้าวอินทรีย์-สินค้าเกษตรปลอดภัย

แอปพลิเคชันสำหรับการซื้อ-ขายข้าวอินทรีย์และสินค้าเกษตรปลอดภัย ตัวกลางที่จะช่วยจัดจำหน่ายสินค้าถึงผู้บริโภคได้โดยตรง

  • เกษตรกรและผู้บริโภคสามารถสร้างบัญชีได้ฟรี เพื่อติดต่อซื้อ-ขายสินค้าเกษตร
  • มีบริการจัดส่ง ทั้งภายในประเทศและส่งออกไปต่างประเทศ

เหมาะสำหรับเกษตรกรที่ต้องการเพิ่มช่องทางในการจัดจำหน่าย ทั้งตลาดในประเทศและการส่งออกไปทั่วโลกด้วยบริการแบบ One Stop Service

ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ : https://www.naturefoods.co

 

  1. MeZ เสิร์ฟผลไม้สดจากสวนส่งตรงถึงผู้บริโภค

ระบบการซื้อ-ขายผ่านช่องทางออนไลน์ แหล่งรวมสวนคุณภาพที่พร้อมเสิร์ฟผลไม้สดส่งตรงจากเกษตรกรถึงผู้บริโภค

  • เกษตรกรสามารถกำหนดราคาผลไม้ได้เอง และเข้าถึงฐานลูกค้าจำนวนมากได้ทั่วประเทศ
  • มีทีมวางแผนโฆษณาให้ทั้งในช่องทางออนไลน์และออฟไลน์
  • มีระบบการจัดการเชื่อมโยงระหว่างเกษตรกรกับผู้ซื้อไว้ด้วยกัน ทั้งในด้านการรับออร์เดอร์และประสานงานกับลูกค้า

เหมาะสำหรับชาวสวนผลไม้ที่ต้องเพิ่มช่องทางการขายผ่านทางออนไลน์ โดยชาวสวนจะทำหน้าที่คัดคุณภาพผลไม้ แพ็กสินค้า และจัดส่งทางบริษัทขนส่งชั้นนำ หรือแจ้งทีมงานมีแซ่ดให้ติดต่อบริษัทขนส่งไปรับที่สวน โดยที่ทางมีแซ่ดจะช่วยวางแผนการตลาดให้

ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ : https://mezfruit.com



อ่านเพิ่มเติมได้ที่ : https://www.apptodaygroup.com/dipin2101/

บทความแนะนำ

HempThai วิถีชาวม้งในเส้นใยกัญชง

กัญชง พืชเศรษฐกิจที่ผูกพันกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชาวม้งมาอย่างยาวนาน อารยธรรมที่สวยงามบวกกับคุณสมบัติที่น่าสนใจของกัญชงนี้เอง ทำให้ HempThai หันมาสนใจและทำการศึกษาทดลองเพื่อเฟ้นหาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ จากกัญชง โดยมีเป้าหมายเพื่อเผยแพร่วัฒนธรรมชาวม้ง ผ่านสินค้าแปรรูปจากกัญชง และพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรในชุมชนไปพร้อม ๆ กัน

.

อารยธรรมชาวม้ง วิถีชีวิตและภูมิปัญญาด้านกัญชง

ชาวม้งมีความผูกพันกับกัญชงในทุกช่วงเวลาของชีวิต นอกจากจะเป็นพืชเศรษฐกิจที่เพาะปลูกเพื่อสร้างรายได้แล้ว เส้นใยกัญชงยังถูกนำมาถักทอเป็นเปลสำหรับเด็กแรกเกิด เสื้อผ้าสำหรับสวมใส่ในชีวิตประจำวัน และในบั้นปลายของชีวิต ชุดจากใยกัญชงจะช่วยคุ้มครองดวงวิญญาณของชาวม้งเมื่อพวกเขาหมดลมหายใจ  ดังนั้น ชาวม้งจึงมีความผูกพันกับกัญชงอย่างเหนียวแน่น ภูมิปัญญาของชาวม้งที่ใช้ในการเพาะปลูก เก็บเกี่ยว และผลิตเส้นใยกัญชงนี้เอง ที่ทำให้กัญชงไทย มีคุณสมบัติที่แตกต่างจากกัญชงประเทศอื่น ๆ

.

วิธีการที่แตกต่าง นำมาซึ่งคุณสมบัติที่แตกต่าง

คุณสมบัติของเส้นใยกัญชงนั้นแตกต่างกันไปตามกระบวนการปลูกและการผลิต รูปแบบการปลูกเชิงอุตสาหกรรมหรือการเร่งปลูกจะทำให้คุณสมบัติของกัญชงหายไป ซึ่งการปลูกกัญชงของชาวม้งจะเป็นแบบออร์แกนิค ไม่มีการใช้สารเคมี จุดนี้เองที่ทำให้คุณสมบัติของกัญชงไทยยังคงอยู่อย่างครบถ้วน เส้นใยกัญชงสามารถป้องกันแบคทีเรีย เชื้อรา ไรฝุ่น ยูวี และยังระบายอากาศได้ดีอีกด้วย กัญชงไทยจึงเป็นที่ชื่นชอบของชาวญี่ปุ่นและชาวยุโรป เนื่องจากมีความแข็งแรงและมีคุณสมบัติที่ดี และเขามองเห็นและให้คุณค่ากับสินค้าเชิงวัฒนธรรม จึงทำให้กัญชงไทยสามารถเพิ่มมูลค่าได้

.

ผลิตภัณฑ์และชุมชน ต้องพัฒนาไปพร้อม ๆ กัน

เป้าหมายของ HempThai นอกจากการทำให้กัญชงไทยเป็นที่รู้จักและได้รับการยอมรับจากต่างประเทศแล้ว การที่ HempThai นำเอาสินค้าแปรรูปจากกัญชงมาพัฒนาต่อยอดให้มีความหลายหลาย ยังเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับชุมชน สิ่งที่ตามมาคือการพัฒนาอุปกรณ์เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกในการทำงาน เช่น มีกี่ทอมือจำนวนมากขึ้น เพิ่มจำนวนกี่ที่ทำงานได้หลากหลายมากขึ้น  มีการสอนเทคนิคการทอผ้า ปักผ้า พัฒนาฝีมือของคนในชุมชน และนำเอาเครื่องจักรมาช่วยทุ่นแรงในการแยกเปลือกกับตัวแกนของต้นกัญชง เพื่อให้ทำงานได้เร็วขึ้น สิ่งเหล่านี้ทำให้ชุมชนเติบโต 

.

การยอมรับจากเด็กรุ่นใหม่ในชุมชนคือสิ่งสำคัญ

ทุกวันนี้ มีเด็กรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อยที่ไปทำงานในเมืองเพื่อหารายได้ ด้วยความหลากหลายทางอาชีพที่มากกว่า และโอกาสในการสร้างรายได้ที่มากกว่า แต่เมื่อสินค้าจากชุมชนมีการพัฒนาและมีมูลค่าที่เพิ่มขึ้น สิ่งนี้จะเป็นแรงกระตุ้นให้เด็กรุ่นใหม่หันกลับมามองชุมชนของตัวเอง มองเห็นคุณค่าของสิ่งที่พ่อแม่ตัวเองทำและเกิดความรู้สึกอยากพัฒนาต่อยอดในรูปแบบที่เขาถนัด ซึ่งจะช่วยให้ชุมชนขยายไปเรื่อย ๆ HempThai จึงพยายามจัดกิจกรรมที่หลากหลายให้กับเด็ก ๆ ในชุมชน เพื่อให้พวกเขาได้เรียนรู้ว่า ไม่ว่าพวกเขาจะมีความสามารถหรือถนัดด้านใดก็ตาม พวกเขาก็สามารถมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนได้

.

นวัตกรรมที่ช่วยเพิ่มมูลค่า และการพัฒนาต่อยอดอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

ด้วยคติของแบรนด์ที่ไม่หยุดอยู่กับที่ และทดลองสิ่งใหม่ ๆ อยู่เสมอ ปัจจุบัน HempThai ได้มีการนำเอานวัตกรรมมาใช้ในการพัฒนาผ้าใยกัญชง ทำให้มีคุณสมบัติพิเศษ ทั้งการเติมนาโนแคปซูลให้ผ้าปล่อยกลิ่นหอม การเพิ่มคุณสมบัติในการกันน้ำ กันไฟ เพื่อใช้ในการทำเป็นเฟอร์นิเจอร์ภายในบ้าน และมีการทดลองเพื่อแปรรูปทุกส่วนของต้นกัญชงให้มีประโยชน์มากที่สุด ทั้ง เส้นใย แกน ราก ใบ และเมล็ด ซึ่งอยู่ระหว่างการพัฒนาเพื่อใช้เป็น ฝ้า ไม้อัด หลังคา หรือนำมารับแรงกระแทกในกระดานโต้คลื่น โดยทำการวิจัยร่วมกับหน่วยงานอื่น ๆ อาทิ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

.

เลือกตลาดที่เหมาะกับสินค้า

นอกจากการพัฒนาสินค้าด้วยนวัตกรรมและงานออกแบบแล้ว การเลือกกลุ่มลูกค้าก็สำคัญไม่แพ้กัน มีกรณีศึกษาจากผลิตภัณฑ์ของ  HempThai ที่อาจไม่ตอบโจทย์ชาวไทย แต่ถูกใจชาวต่างชาติสุด ๆ

 

  • พรมกันไฟ – ชาวต่างชาติ มักจะปูพื้นบ้านด้วยพรม และการสูบบุหรี่ในบ้านก็มีโอกาสทำให้เกิดไฟไหม้ ซึ่งพรมจากผ้าใยกัญชงสามารถแก้ปัญหานี้ได้ จึงเป็นที่ชื่นชอบของชาวต่างชาติเป็นอย่างมาก
  • กระเป๋าเป้ Everyday Reuse – กระเป๋าที่ออกแบบมาสำหรับใช้ทุกวัน มีช่องใส่ขวดน้ำ เก็บง่าย พับได้ เปลี่ยนรูปทรงได้ ใบเดียวใช้ได้กับทั้งชุดสูท ชุดลำลอง และชุดออกกำลังกาย สินค้านี้ไม่ค่อยตอบโจทย์คนไทย เนื่องจากคนไทยชอบที่จะเปลี่ยนกระเป๋าไปเรื่อย ๆ แต่เมื่อนำไปวางขายในตลาดญี่ปุ่นกลับได้ผลตอบรับที่ดีมาก เนื่องจากตอบโจทย์ lifestyle ของเขา

 

.

การปรับตัวเพื่ออยู่รอดในช่วงวิกฤต

ทุกธุรกิจที่ทำผ้าผืน ต่างเอาตัวรอดด้วยการผลิตหน้ากากอนามัยเพื่อจำหน่ายในช่วงโควิด-19 ทาง HempThai ได้ทำการหาข้อมูลและพบว่าผ้าคอตตอนหรือผ้าชนิดอื่นที่ใช้สีเคมีในการย้อม เมื่อสูดดมเข้าไปสามารถสะสมและส่งผลเสียต่อร่างกายได้ จึงมุ่งสื่อสารที่จุดแข็งของ HempThai คือ กระบวนการผลิตที่เป็นออร์แกนิคทั้งหมด ใช้สีธรรมชาติที่ไม่ส่งผลเสียต่อร่างกายในระยะยาว รวมถึงคุณสมบัติที่ระบายอากาศได้ดี ทำให้ได้รับความสนใจจากต่างประเทศมากมาย ไม่ว่าจะเป็น แคนาดา ญี่ปุ่น หรือสหรัฐอเมริกา

.

จากจุดเริ่มต้นที่ต้องการช่วยเหลือชาวบ้านและพัฒนาชุมชน ควบคู่กับการนำเสนอสินค้าไทยเพื่อให้ต่างชาติได้ประจักษ์ นำมาสู่การพัฒนาต่อยอดจนเป็นสินค้าที่ได้รับการยอมรับและเป็นที่ชื่นชอบของผู้คนจำนวนมาก ด้วยความมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมวัฒนธรรมของชาวม้ง สิ่งนี้เองที่สร้างให้ HempThai เป็น HempThaiอย่างทุกวันนี้

.

ผู้ที่สนใจผลิตภัณฑ์ของ HempThai สามารถติดต่อได้ที่
Hemp Thai by DD NATURE CRAFT CO., LTD
ที่อยู่ : 68/57 หมู่ 5 ถ.กิ่งแก้ว ซ กิ่งแก้ว 40/2 ต.ราชาเทวะ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ 10540

โทร. : (+66) 819110147, (+66) 654310863
อีเมล : info@hempthai.com

Website : www.hempthai.com
Facebook: hempthaishop

Instagram: hempthai
Line Official: HempThai

สำหรับช่องทาง SME ONE เพิ่มเติม
Facebook: SMEONE
Youtube: SMEONE
Line: @smeone

บทความแนะนำ

เทคนิคทำ Search Marketing ให้ปัง ร้านตั้งอยู่ที่ไหนลูกค้าก็หาเจอ

การทำการตลาดบน Google Search ทั้งแบบ SEM กับ SEO มีความคล้ายคลึงกัน โดยทั้งคู่ทำงานบนระบบเดียวกันนั่นก็คือ Search Marketing ซึ่งจะต้องอิงผ่านเว็บไซต์ค้นหา แต่ทั้งสองมีหลักในการทำงานที่ต่างกันออกไป

 

SEM (Search Engine Marketing)

การทำ SEM คือการทำการตลาดออนไลน์บน Search Result Page หรือหน้าแสดงผลการค้นหา เพื่อให้ลูกค้าได้รู้จักสินค้าและบริการของธุรกิจเรามากขึ้น อีกทั้งการทำ SEM จะช่วยให้การทำการตลาดของเรานั้นมีประสิทธิภาพและเป้าหมายอย่างที่ตรงกับความต้องการของธุรกิจมากที่สุดอีกด้วย โดยจะประกอบด้วย

 

Paid Search หรือ Search Advertising: คือการทำโฆษณาโดยมีค่าใช้จ่าย เมื่อมีการคลิกเข้าไปดูที่เว็บไซต์ ซึ่งจ่ายในรูปแบบการคลิกเรียกว่า PPC (Pay Per Click)

 

Organic Search หรือ Natural Search: เป็นการที่เว็บไซต์ของคุณจะถูกแสดงผลจากการค้นหาอย่างธรรมชาติ ไม่ต้องเสียค่าทำโฆษณา ซึ่งเป็นการตลาดในส่วนของ SEO ที่ช่วยเพิ่มอันดับในการค้นหา โดยใช้เทคนิคต่าง ๆ เพื่อดันให้เว็บไซต์ของคุณขึ้นไปอยู่ในอันดับต้น ๆ บน Search Result Page

 

เทคนิคทำโฆษณาเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดกับธุรกิจ ประกอบด้วย 3 ส่วน คือ

ส่วนที่ 1 : การกำหนด Keyword โดยกำหนดจากสิ่งที่เราคาดการณ์ว่าลูกค้าจะ Search คำว่าอะไรเป็นคำแรก ซึ่ง Keyword ก็คือ คำทั่ว ๆ ไป เป็นคำที่ลูกค้าเลือกใช้ในการค้นหาสินค้าชนิดนั้น ๆ 

ส่วนที่ 2 : การออกแบบโฆษณาที่น่าสนใจและดึงดูด ข้อความโฆษณาต้องมีความแตกต่าง น่าสนใจ ดึงดูด และชูจุดขายของสินค้าหรือร้านค้า

ส่วนที่ 3 : Landing page หรือเว็บไซต์ เป็นหน้าแรกที่โชว์ขึ้นมาหลังจากคลิกโฆษณา ซึ่งจะนำทางลูกค้าเข้าไปในเว็บไซต์หรือเข้าไปในหน้า ที่เขาต้องการค้นหาจริง ๆ

 

ทั้ง 3 ส่วนนี้คือหัวใจสำคัญของ Search Engine เพราะว่าหากลูกค้าค้นหา Search Keyword แล้วเจอข้อความโฆษณาที่ไม่ตรงกับสิ่งที่ต้องการ ลูกค้าก็ไม่คลิกลิงก์เรา แต่เลือกไปคลิกที่อื่น ทำให้เสียโอกาสในการขายสินค้า 

ในทางกลับกันถ้ามีคำโฆษณาที่โดนใจและตรงความต้องการ ก็สามารถดึงดูดให้ลูกค้าคลิกเข้ามาที่เว็บไซต์ เมื่อเข้ามาในเว็บไซต์แล้วพบว่ามีข้อมูลที่ต้องการค้นหา หรือขายสินค้าที่ลูกค้ากำลังต้องการ ก็ทำให้มีโอกาสที่จะขายสินค้าได้



อ่านเพิ่มเติม : www.bangkokbanksme.com/techniques-search-marketing-customers-find-your-shop

บทความแนะนำ

ธุรกิจท่องเที่ยวยั่งยืน + สะอาดปลอดภัย Next Normal การท่องเที่ยวในอนาคตที่SMEs ควรรู้

วิกฤต COVID-19 ส่งผลกระทบต่อธุรกิจท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก จากธุรกิจที่เคยเป็นฮีโร่กลับต้องมาเจอศึกหนัก โดยมีการคาดการณ์ว่าการท่องเที่ยวทั่วโลกจะฟื้นตัวในปี 2567 โดยจีนน่าจะฟื้นก่อนในช่วงปี 2566 โดยรูปแบบการเดินทางท่องเที่ยวเพื่อการพักผ่อนจะมาก่อนการเดินทางแบบธุรกิจ ขณะที่การฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยจะค่อยๆ ตามมา โดยคาดว่าธุรกิจสายการบินจะฟื้นตัวในปี 2569 ส่วนภาคธุรกิจโรงแรมที่พัก คาดว่าจะฟื้นตัวประมาณปี 2571 และธุรกิจทัวร์จะฟื้นตัวในปี 2573

นั่นหมายความว่า ภาคธุรกิจท่องเที่ยวทั้งหมดของไทยยังคงต้องอยู่กับไวรัสโควิด-19 ไปอีกระยะหนึ่ง ดังนั้นวันนี้นอกจากผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวต้องหยุดเลือดเพื่อรักษาอาการบาดเจ็บให้องค์กรอยู่รอดแล้ว คงต้องหันมาถอดบทเรียนจากสิ่งที่เกิดขึ้นเพื่อมองไกลไปในอนาคตหลังพ้นวิกฤตครั้งนี้ ว่าจะปรับตัวสู่การทำธุรกิจแบบ New Normal กันอย่างไร เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าเหตุการณ์การแพร่ระบาดจากเชื้อไวรัสส่งต่อเชิงนโยบาย โครงสร้างธุรกิจ รวมถึงรูปแบบการท่องเที่ยว ทั้งยังเปลี่ยนพฤติกรรมการท่องเที่ยวของผู้บริโภคไปด้วย

และนี่คือ 5 แนวทางการปรับตัวไปสู่ธุรกิจท่องเที่ยวยั่งยืน และสะอาดปลอดภัยซึ่งจะเป็นเทรนด์การท่องเที่ยวในยุค Next Normal

  1. Hygiene & Wellness 

นับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาด COVID-19 ก็ยิ่งทำให้ทุกคนใส่ใจในเรื่องสุขภาพกันมากขึ้นกว่าเดิม ฉะนั้นเพื่อสร้างความมั่นใจแก่นักท่องเที่ยวผู้ประกอบการต้องปรับปรุงมาตรฐานเพื่อให้ผ่านเกณฑ์ด้านสุขอนามัยของกระทรวงสาธารณสุขสำหรับใช้ตราสัญลักษณ์ SHA Plus+ ถือเป็นการยืนยันความพร้อมของบุคลากรที่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกัน COVID-19 แล้ว นอกเหนือจากมาตรการความปลอดภัยด้านอื่น เช่น การคัดกรองลงทะเบียนผู้รับบริการ จัดให้รักษาระยะห่าง ระบายอากาศที่ดี จัดที่ล้างมือ/เจลแอลกอฮอล์ ทำความสะอาดพื้น เน้นทำความสะอาดจุดสัมผัสร่วมและห้องน้ำ เพิ่มรอบทำความสะอาด มีการจัดการกำจัดขยะอย่างถูกวิธี และการสื่อสารแจ้งข้อปฏิบัติ สำหรับผู้ใช้บริการและผู้ให้บริการต้องสวมหน้ากากตลอดเวลา ล้างมือ รักษาระยะห่าง ลดการสัมผัส/งดใช้ของร่วมกัน จัดอาหารเฉพาะบุคคล และขอความร่วมมือให้ลงทะเบียนผ่านแพลตฟอร์มไทยชนะสำหรับการติดตามตัว เมื่อใช้บริการในสถานที่ต่าง ๆ

  1. New Segment Market 

หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดเริ่มคลี่คลาย น่านฟ้าเปิด นักท่องเที่ยวเริ่มกลับมาท่องโลกอีกครั้ง แต่การท่องเที่ยวครั้งนี้จะไม่เหมือนเดิม เพราะพฤติกรรมที่เคยชินจากการหลีกเลี่ยงการอยู่ร่วมกับคนแปลกหน้าเป็นระยะเวลานาน แนวโน้มการท่องเที่ยวแบบกลุ่มทัวร์จะลดน้อยลงหรือหากเที่ยวเป็นกลุ่มเพื่อนก็จำกัดจำนวนให้น้อยลง เหลือแค่เพียงคนใกล้ตัวเท่านั้น เพื่อลดความเสี่ยงการเกิดโรคและคาดว่านักท่องเที่ยวในกลุ่มธุรกิจจะเป็นนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติกลุ่มแรกที่เดินทางมาท่องเที่ยว นี่จึงเป็นโอกาสดีในการสร้างการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ด้วยการปรับตัวจากการแข่งขันด้านราคา (Red Ocean) หรือกรุ๊ปทัวร์ที่เน้นปริมาณ ยกระดับสู่การท่องเที่ยวคุณภาพ (Blue Ocean) เช่น การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Wellness Tourism) การท่องเที่ยวด้านการแพทย์ (Medical Tourism) เพื่อเจาะกลุ่มนักท่องเที่ยวมีคุณภาพใช้เวลาอยู่ในประเทศไทยนานมากขึ้น และเพิ่มค่าใช้จ่ายต่อหัวให้สูงขึ้น

  1. Sustainable Tourism

แนวโน้มการท่องเที่ยวในอนาคตอีกอย่างหนึ่งที่ผู้ประกอบการต้องรู้ก็คือ นักท่องเที่ยวจะหลีกเลี่ยงการไปเที่ยวสถานที่สำคัญ หรือสถานที่มีชื่อเสียง เพื่อลดความเสี่ยงในการเผชิญกับผู้คนจำนวนมาก ประกอบกับความเคยชินจากการรักษาระยะห่างทางสังคม ดังนั้นสถานที่ยอดนิยมในอดีตจึงกลายเป็นเป้าหมายรอง โดยการท่องเที่ยวแบบสำรวจธรรมชาติอย่างเช่น การเดินป่า ปีนเขา การดำน้ำลึก และการท่องเที่ยวชุมชนจะเข้ามามีบทบาทมากยิ่งขึ้น เนื่องจากกิจกรรมเหล่านี้เป็นการท่องเที่ยวที่มีผู้คนจำนวนไม่มาก ทำให้ความเสี่ยงด้านโรคภัยไข้เจ็บจะลดน้อยตามไปด้วย ผู้ประกอบการควรใช้ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวมาสร้างโอกาสทางธุรกิจ ดัวยการพัฒนาสู่การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ซึ่งแบ่งออกเป็น การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ธรรมชาติสิ่งแวดล้อม (Green Ocean) พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำ และการท่องเที่ยวชุมชนเพื่อตอบโจทย์สังคม (White Ocean) ด้วยการชูอัตลักษณ์ของแต่ละพื้นที่ เชื่อมโยงกับจุดแข็งของประเทศ เช่น การส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงเกษตร และการท่องเที่ยวเชิงความรู้ 

  1. Collaboration

แสวงหาความร่วมมือสร้างพันธมิตรเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับการท่องเที่ยว หรือยกระดับการบริการ โดยผู้ประกอบการอาจจะจับมือกับหน่วยงานภาครัฐ หรือชุมชนในการจัดการธุรกิจท่องเที่ยว ยกตัวอย่างสร้างความเข้าใจให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างมีคุณภาพ ใช้วัฒนธรรมท้องถิ่นสร้างเอกลักษณ์การท่องเที่ยวเฉพาะพื้นที่ และให้ความสำคัญในการดูแลและรักษาทรัพยากรธรรมชาติ หรือผู้ประกอกบการธุรกิจโรงแรมอาจร่วมมือกับธุรกิจด้านสุขภาพ หรือสตาร์ทอัพผู้พัฒนาแอปพลิเคชันจองที่พักเพื่อให้ลูกค้าสามารถรับสิทธิพิเศษในการเข้าพัก ถือเป็นการเพิ่มโอกาสในการเข้าพักมากขึ้น หรือแอปพลิเคชั่นในการดำเนินงานทั้งการจ่ายเงิน รับสลิป การเปิดปิดประตูห้องเพื่อลดการสัมผัส เป็นต้น

  1. Digitalization

การใช้เทคโนโลยีและข้อมูลมาเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการ โดยการสร้างแพลตฟอร์มที่ทำให้นักท่องเที่ยวสามารถวางแผน เดินทาง ใช้จ่าย ได้ตั้งแต่ต้นจนจบ และได้รับประสบการณ์ที่ดีที่สุดและนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์ให้เกิดประโยชน์ในการวางแผนธุรกิจหรือทำการตลาดส่วนบุคคล (Personalization) เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวแต่หากผู้ประกอบการรายเล็กที่ไม่มีบุคลากรด้านไอที ก็สามารถซื้อแพ็กเกจซอฟท์แวร์โซลูชั่นจากบริษัทผู้ให้บริการ Software as a Service ได้

จากแนวทางดังกล่าว น่าจะเป็นหนทางที่ทำให้ผู้ประกอบได้ปรับตัวเพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ต่อไป เพราะการส่งมอบคุณค่าให้นักท่องเที่ยวได้มากขึ้น จะนำไปสู่การกลับมาเที่ยวซ้ำ ส่งผลให้ธุรกิจการท่องเที่ยวเติบโตได้ในระยะยาว

  สำหรับ SMEs ที่ทำธุรกิจเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยว การนำเอา 5 เทรนด์การท่องเที่ยวไปประยุกต์ใช้นั้น ไม่จำเป็นต้องทำทีเดียวพร้อมกันหากยังไม่พร้อม แต่จะต้องดูว่าเทรนด์ใด เหมาะกับรูปแบบธุรกิจของตัวเองมากที่สุด และสามารถทำได้เร็วและได้ผลตอบรับดีที่สุด

บทความแนะนำ

การตลาด New Normal สู่ Next Normal SMEs ควรปรับตัวอย่างไร?

วิกฤติCOVID-19ส่งผลกระทบใหญ่หลวงต่อธุรกิจ SMEsในหลายมิติไม่ว่าจะเป็นผลกระทบจากมาตรการรัฐ ผู้บริโภคกำลังซื้อถดถอย นักท่องเที่ยวหดหายและธุรกิจมีรายได้ลดลง, ในท่ามกลางทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด การปรับตัวของ SMEs จึงเป็นหัวใจสำคัญของการอยู่รอด

รศ.ดร.กฤตินี ณัฏฐวุฒิสิทธิ์ผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านงานวิจัยและอาจารย์ประจำสาขาการตลาด สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า หลังจากวิกฤติโควิด SMEs ต้องปรับองค์กรให้ Lean และมีประสิทธิภาพรวมถึงต้องทำงานแบบมีโฟกัส

“SMEs ที่เคยทำงานแบบเหวี่ยงแห เพราะก่อนโควิดมีโอกาสหลายทาง แต่ในภาวะที่จะก้าวผ่านวิกฤติได้ จะต้องทำตัวให้ Lean เพื่อให้เกิดความคล่องตัว และไป Spot ดูว่าตลาดที่แท้จริงอยู่ตรงไหนบ้าง และทำเข้าไปตรงนั้น แทนที่จะเหวี่ยงแหเข้าหาโอกาส จะทำตัวแบบเดิมไม่ได้ดร.กฤตินีกล่าว

สำหรับธุรกิจที่มีข้อจำกัดทางด้านทรัพยากร ต้องหันมามองว่าจุดแข็งอยู่ตรงไหน ซึ่งจุดแข็งของ SME ก็คือ การปรับตัวพลิกแพลงได้อย่างรวดเร็วฉับไว

กรณีธุรกิจร้านอาหาร ท่องเที่ยว โรงแรม ต้องอาศัยจุดแข็งเรื่องการปรับตัวให้รวดเร็ว เช่น โรงแรมขนาดเล็กต้องพลิกตัวเองมาทำธุรกิจอาหารเดลิเวอรี่ แทนที่จะต้องรอรับนักท่องเที่ยวอย่างเดียว และกลยุทธ์สำคัญคือต้อง Localize ให้ได้มากขึ้น โดยใช้ความได้เปรียบของตัวเองที่อยู่ในบริบทของพื้นที่ เข้าไปทำความเข้าใจตลาดเฉพาะพื้นที่ ซึ่งเป็นธรรมชาติของเศรษฐกิจยุคโควิด ที่ต้องมองเศรษฐกิจท้องถิ่น (Local economy) มากขึ้น SMEs ต้องกลับมาถามตัวเองว่า เข้าใจ Local market, Local economy และปรับตัวสู่ท้องถิ่นได้แล้วหรือไม่

 

SMEsต้องบริหารจัดการข้อมูล

ดร.กฤตินียกตัวอย่าง CJ Supermarket ซึ่งเป็นซูเปอร์มาร์เก็ตกึ่งร้านสะดวกซื้อ มีจุดกำเนิดที่จังหวัดกาญจนบุรี และขยายไปหลายจังหวัด SMEs นี้มีจุดเด่นอยู่ที่การ Localize จนสามารถแข่งขันกับคู่แข่งรายใหญ่ได้

เขาสามารถเข้าไปดึงสินค้าท้องถิ่นมาในร้าน ทำให้คนเลือกเข้าไปใช้บริการที่ร้าน โดยที่การทำ Localization จะทำให้เกิดข้อมูลเยอะแยะ SMEs ก็ต้องรู้จักการบริหารจัดการข้อมูล ในกรณีของ CJ Supermarketได้ทำการบริหารจัดการข้อมูล (Data management) ทุกธุรกรรมที่มีการค้าขายในแต่ละวัน ไม่ใช่ว่าปล่อยผ่านแบบ SME ยุคโบราณ แต่ว่ามีการจัดการฐานข้อมูล และวิเคราะห์เพื่อให้เห็นว่า ความต้องการของพื้นที่A เทียบกับพื้นที่ B ต่างกันอย่างไร

กลยุทธ์ Localize ทำได้ทั้งชนิดสินค้า และการจัด Category managementให้สอดคล้องกับความต้องการของแต่ละท้องถิ่น ซึ่งจะเพิ่มความน่าสนใจและโอกาสขายมากขึ้น

การบริหารจัดการข้อมูลต้องอาศัยเทคโนโลยี SMEs จึงต้องเรียนรู้เทรนด์เทคโนโลยีและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและซอฟแวร์ต่างๆเพื่อประโยชน์ทางธุรกิจ

หัวใจของบริหารจัดการข้อมูลอยู่ที่การตั้งโจทย์ให้ถูก เพราะเครื่องมือมีเยอะไปหมด เราไม่ต้องตั้งต้นจากศูนย์ โค้ชหรือบริษัทที่ปรึกษาที่มาทำงานด้วยก็เยอะไปหมด รวมถึงฟรีแลนซ์ในด้านนี้ก็มีจำนวนมาก แต่ความท้าทายคือ ตั้งโจทย์ให้เขาได้ถูกหรือไม่ เพราะคนอื่นไม่สามารถจะมากำหนดโจทย์ให้เราได้ โจทย์ของมันอย่างเช่น เอาโปรแกรม Excel มาทำ A cross กันกับ B เพื่อดูว่าเซ็กเมนต์ของอายุและไลฟ์สไตล์ มีความต่างกันอย่างไร คนที่จะกำหนดโจทย์นี้ต้องเป็นตัวผู้ประกอบการเอง และไม่จำเป็นต้องวิเคราะห์ทุกเรื่อง เพราะจะเกิดความสับสน ดร.กฤตินีกล่าว

การจะรู้ว่าควรตั้งโจทย์แบบไหน SMEs จำเป็นต้องเข้าใจโจทย์ธุรกิจตัวเอง เข้าใจว่าในสถานการณ์ปัจจุบัน ควรขับเคลื่อนธุรกิจในทิศทางใด หากธุรกิจอิ่มตัวแล้ว สาเหตุของการอิ่มตัวคืออะไร เช่น การไม่สามารถหาลูกค้าใหม่ได้ มีแต่ลูกค้าเก่าหน้าเดิมที่ซื้อจำนวนเท่าเดิม หากโจทย์เป็นแบบนี้ การบริการข้อมูลก็ต้องมุ่งทำความเข้าใจธุรกรรมใหม่ที่เข้ามา (new transaction) และวิเคราะห์ต่อไปว่าธุรกรรมใหม่เป็นใคร สนใจสินค้าอะไร เป็นต้น

 

การเชื่อมโยง Value chain

นอกจากเรื่องการจัดการข้อมูลแล้ว Localization ยังหมายถึงการต่อเชื่อมของซัพพลายเชนสำหรับธุรกิจร้านอาหาร การเชื่อมโยงValue chainนับว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งเพราะเป็นการสร้างมูลค่าทางการตลาด สร้างความแตกต่าง และสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภคในโลกยุคหลังโควิด

ผู้บริโภคอยากรู้ว่า วัตถุดิบอาหารมีองค์ประกอบอะไร โดยโควิดก็มาหนุนเรื่องนี้ด้วย ทำให้อยากรู้ว่าสิ่งที่จะกินมีคุณสมบัติและประโยชน์อะไรบ้าง ผู้บริโภคยังอยากรู้ว่า แหล่งที่มามาจากไหน ฉะนั้นการสร้างความแตกต่างของธุรกิจอาหาร การทำ Localize และเชื่อมโยงกับชุมชน ควรจะรู้ว่า ตัวเองรับวัตถุดิบมาจากใคร และใช้ตรงนั้นเป็นจุดขาย เพราะว่าตรงกับสิ่งที่ผู้บริโภคต้องการ ทั้งนี้พฤติกรรมในอดีตที่เคยไปซื้อเหมามา ไม่สนใจว่าของมาจากไหน และคิดว่าผู้บริโภคคงพอใจแค่ตรงปลายทาง มันไม่ใช่แล้ว

การทำความเข้าใจซัพพลายเชน และการรู้จักแหล่งต้นทาง เช่น เกษตรกรในชุมชน จะกลายเป็นจุดขายที่พลิกธุรกิจ ทำให้เกิดความแตกต่างในสนามการแข่งขันการทำเรื่องเหล่านี้ยังตอบโจทย์เรื่องความปลอดภัย การตรวจสอบย้อนกลับ และสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภคอีกด้วย

ท่ามกลางตลาดที่แยกส่วนและการแข่งขันที่รุนแรง การสร้างพันธมิตรนับเป็นอีกเรื่องที่สำคัญ เพราะการปรับตัวและขยายตัวของ SMEs ต้องอาศัยพันธมิตรหรือพาร์ทเนอร์

วิธีคิดของ Business model จะเปลี่ยนไป เป็นการมองตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของ Ecosystem ใหญ่ และตัวเองเชื่อมกับใครได้บ้าง และสร้างประโยชน์ต่างตอบแทนกันตรงไหน ดร.กฤตินียกตัวอย่างเรื่องร้านอาหารว่า ต้องมีพาร์ทเนอร์เรื่องการขนส่ง ทั้งเกษตรกรและแหล่งผลิตวัตถุดิบ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้ธุรกิจ

การมีพาร์ทเนอร์ที่เกื้อหนุนให้ธุรกิจแข็งแกร่งขึ้นจึงนับว่าเป็นหัวใจ ยิ่งการแข่งขันดุเดือดรุนแรง การสร้างความต่างไม่ใช่เรื่องง่าย พาร์ทเนอร์จึงเป็นหนึ่งในตัวแปรที่สามารถทำให้ SME โดดเด่นเหนือคู่แข่ง และเมื่อผสานจุดแข็งเข้ากันแล้วก็สมประโยชน์ทั้งสองฝ่าย (Win-Win Situation)

บทความแนะนำ