บีโอไอติดปีก SMEs เพิ่มสิทธิประโยชน์ อัพเกรดผู้ประกอบการสู่ดิจิทัล

รากฐานเศรษฐกิจที่มั่นคงมีกลไกสำคัญหนึ่งที่ขาดไม่ได้คือ ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SMEs สำหรับประเทศไทยปัจจุบันมีผู้ประกอบการ SMEs ประมาณ 3 ล้านราย มีการจ้างงานเกือบ 12 ล้านคน ซึ่งการจะพัฒนา SMEs ไทยให้มีศักยภาพ และกลายเป็นฐานรากของเศรษฐกิจไทยได้นั้น จะต้องมีการสนับสนุนให้เกิดการลงทุนจากภาครัฐด้วย 

นฤตย์ เทอดสถีรศักดิ์ รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวถึงภารกิจในการสนับสนุน SMEs ไทยในปัจจุบันว่า หลายคนอาจจะเข้าใจว่าบทบาทของบีโอไอคือส่งเสริมบริษัทต่างชาติเป็นหลัก แต่นั่นคือความเข้าใจผิด เพราะความจริงที่ผ่านมาบีโอไอให้ความสำคัญและส่งเสริมผู้ประกอบการไทยเป็นจำนวนมาก และส่วนใหญ่เป็นโครงการ SMEs  

โครงการลงทุนของ SMEs ไทย ส่วนใหญ่เป็นกิจการด้านดิจิทัล อาทิ การพัฒนาซอฟต์แวร์ ดิจิทัลคอนเทนต์ และการให้บริการด้านดิจิทัล รองลงมาเป็นกิจการแปรรูปสินค้าเกษตร การผลิตอาหาร การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน อุตสาหกรรมสนับสนุน อาทิ ชิ้นส่วนยานยนต์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนเครื่องจักร และผลิตภัณฑ์โลหะ นอกจากนี้ ในช่วง 5 ปีหลัง เริ่มมี SMEs ในกลุ่มกิจการด้านเทคโนโลยีมากขึ้น อาทิ การวิจัยและพัฒนา การออกแบบทางวิศวกรรม เทคโนโลยีชีวภาพ และบริการทดสอบทางวิทยาศาสตร์เป็นต้น

สำหรับปีนี้ บีโอไอเน้นส่งเสริมให้ SMEs ยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน มีมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพในด้านต่างๆ อาทิ การใช้พลังงานทดแทน การปรับเปลี่ยนมาใช้เครื่องจักรทันสมัยหรือระบบอัตโนมัติ การยกระดับอุตสาหกรรมเกษตรไปสู่มาตรฐานสากล อาทิ GAP, FSC, ISO 22000  

ในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 มีจำนวนคำขอตามมาตรการนี้ 83 โครงการ เงินลงทุน 12,270 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 13 จากปีก่อน” 

รองเลขาธิการบีโอไอ ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า เมื่อเร็วๆ นี้ บีโอไอได้ออกมาตรการเพิ่มเติมด้านการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพ โดยส่งเสริมให้ผู้ประกอบการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการบริหารจัดการองค์กร และการผลิต หรือการให้บริการให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น ซึ่งมาตรการนี้จะช่วยกระตุ้นให้เกิดความต้องการใช้ดิจิทัล ทำให้เกิดการพัฒนาและการขยายตัวของอุตสาหกรรมดิจิทัลในประเทศตามมา  

ทั้งนี้ โครงการที่ขอรับการส่งเสริมตามมาตรการนี้ ต้องมีเงินลงทุนในการปรับปรุงประสิทธิภาพไม่น้อยกว่า 1 ล้านบาท แต่สำหรับ SMEs จะลดเหลือเพียง 5 แสนบาท โดยต้องเสนอแผนลงทุนที่จะนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ยกระดับการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นการนำซอฟต์แวร์ ระบบ ERP หรือระบบ IT อื่นๆ เข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพขององค์กร หรือใช้ในการเชื่อมโยงข้อมูลกับระบบออนไลน์ของภาครัฐ อาทิ National E–Payment หรือการประยุกต์ใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) Machine Learning การใช้ Big Data หรือการวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analytics) โดยจะได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี ในสัดส่วนร้อยละ 50 ของเงินลงทุน   

นฤตย์ กล่าวอีกว่า บีโอไอยังมีการสนับสนุน SMEs ในอีก 5 ด้านที่สำคัญ ประกอบด้วย

1.การให้สิทธิประโยชน์เพิ่มเติมสำหรับการลงทุนอื่นๆ ที่ไม่ใช่การปรับปรุงประสิทธิภาพ โดย SMEs ที่มีหุ้นไทยข้างมาก จะได้รับการผ่อนปรนเงื่อนไขเงินลงทุนขั้นต่ำเหลือเพียง 5 แสนบาท อนุญาตให้ใช้เครื่องจักรใช้แล้วในประเทศได้บางส่วนเพื่อลดต้นทุน และจะได้รับวงเงินยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็น 2 เท่าของเกณฑ์ทั่วไป เพื่อเป็นแต้มต่อให้กับ SMEs    

  1. มาตรการกระตุ้นให้ SMEs เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (MAI) เพื่อระดมทุนไปพัฒนาศักยภาพและขยายกิจการ โดยจะได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมจากการเพิ่มวงเงินยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็น 2 เท่าของเกณฑ์ทั่วไป   

3.มาตรการส่งเสริมให้ผู้ประกอบรายใหญ่ช่วยรายเล็ก โดยให้สิทธิประโยชน์เพิ่มเติมสำหรับกิจการที่ช่วยพัฒนา Local Suppliers ที่ส่วนใหญ่เป็น SMEs และมาตรการส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก โดยสนับสนุนให้นำวัตถุดิบในท้องถิ่นมาแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม และพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชนอย่างยั่งยืน โดยสนับสนุนหรือร่วมดำเนินการกับสหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  

  1. เชื่อมโยง SMEs กลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนกับผู้ผลิตสินค้าสำเร็จรูปต่างชาติ ทั้งกลุ่มยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ หรือเครื่องจักร เพื่อช่วยลดการนำเข้าชิ้นส่วนจากต่างประเทศ และสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับ SMEs ไทย ได้เข้าไปอยู่ใน Supply Chain ระดับโลก รวมทั้งเกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยี โดยบีโอไอจัดกิจกรรมที่หลากหลาย เช่น งาน Subcon Thailand ซึ่งเป็นงานใหญ่ที่จัดประจำทุกปี ตลาดกลางซื้อขายชิ้นส่วน งานผู้ซื้อพบผู้ขาย แต่ละปีกิจกรรมเหล่านี้จะก่อให้เกิดมูลค่าเชื่อมโยงอุตสาหกรรมกว่า 6-7 หมื่นล้านบาท  
  2. สร้างองค์ความรู้และเครือข่ายให้ SMEs ทั้งการจัดสัมมนาให้ความรู้เรื่องการลงทุนที่เป็นประโยชน์ต่อSMEs การจัดคณะศึกษาดูงานกิจการที่ประสบความสำเร็จ เปิดมุมมองใหม่ๆ ด้านการบริหารธุรกิจและเทคโนโลยีการผลิต และสร้างเครือข่ายกับนักธุรกิจท้องถิ่นตามภูมิภาคต่างๆ รวมทั้งจัดหลักสูตรฝึกอบรม SMEs ที่ต้องการออกไปลงทุนในต่างประเทศด้วย  

“บีโอไอจะร่วมกับเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชนผลักดันมาตรการเหล่านี้อย่างเข้มข้นมากขึ้น และขยายให้ครอบคลุม SMEs กลุ่มต่างๆ ทั้งภาคการผลิตและภาคบริการ โดยหวังว่าบีโอไอจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยเสริมศักยภาพให้ SMEs ไทยเข้มแข็งและเติบโตอย่างยั่งยืน” นฤตย์กล่าวทิ้งท้าย

บทความแนะนำ

วว. หุ้นส่วนความสำเร็จของผู้ประกอบการไทย สนับสนุน BCG Model และจุลินทรีย์เพิ่มมูลค่าสินค้ารับเทรนด์สุขภาพ

การแข่งขันในอนาคตไม่ได้แข่งกันที่ค่าแรงอีกต่อไป แต่แข่งกันบนพื้นฐานความคิดสร้างสรรค์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมที่สามารถเพิ่มมูลค่าสินค้าให้แตกต่างจากคู่แข่ง และสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย หรือ วว. ก็ถือเป็นหน่วยงานชั้นนำในการบูรณาการงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรม หรือ วทน. สนับสนุนผู้ประกอบการ วิสาหกิจชุมชน ไปจนถึงเกษตรกรนำนวัตกรรมมาพัฒนาเพื่อยกระดับสินค้าให้มีมูลค่าเพิ่ม 

 ศ.(วิจัย) ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การดำเนินงานของ วว. มุ่งเน้นการบูรณาการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) ภายใต้การดำเนินงานที่เรียกว่า 4 Guiding Principles ประกอบด้วย 

วทน. เพื่อเศรษฐกิจฐานชีวภาพ (Bio based Value Creation) วว.วิจัยและพัฒนาบนฐานของทรัพยากรชีวภาพ โดยมุ่งเน้นไปที่คลัสเตอร์เป้าหมายของประเทศ เริ่มตั้งแต่คลัสเตอร์เกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ ซึ่งจัดว่าเป็นอาชีพหลักของคนไทย ตามด้วยการแปรรูปอาหารเพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิตทางการเกษตร วิจัยและพัฒนาเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ พัฒนาด้านการแพทย์ครบวงจร รวมไปถึงพื้นที่สงวนชีวมณฑล 

เทคโนโลยีที่เหมาะสม (Appropriate Technology) วว.ได้พัฒนาเทคโนโลยี ที่สามารถนำไปใช้ในการแก้ไขปัญหาหรือตอบสนองต่อความต้องการของผู้ใช้ประโยชน์ โดยเป็นเทคโนโลยีที่มีรูปแบบและเงื่อนไขในการใช้งานที่เหมาะกับการใช้งานได้จริง ทั้งในด้านต้นทุนและความซับซ้อนของเทคโนโลยี ที่สำคัญที่สุดคือ เหมาะสมกับสภาพแวดล้อม ในการเอื้อประโยชน์ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม สามารถสร้างอาชีพและยกระดับคุณภาพมาตรฐานให้กับผู้ประกอบการได้จริง 

วทน.แก้ปัญหาเบ็ดเสร็จครบวงจร (STI (Science Technology and Innovation) for Total Solution) ให้บริการวิจัยและพัฒนาแก่ผู้ประกอบการ เอสเอ็มอี โอทอป วิสาหกิจชุมชน ตลอดจนเกษตรกรที่ต้องการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ หรือเพิ่มมูลค่าและแก้ไขปัญหาให้กับผลิตภัณฑ์เดิมที่มีอยู่แล้ว การดำเนินงานส่วนนี้ครอบคลุมความต้องการของผู้ประกอบการ ผ่านการรับฟังแนวคิด และปัญหาของผู้ประกอบการก่อน แล้วจึงนำมาวิจัยและพัฒนา ทั้งการสร้างและออกแบบผลิตภัณฑ์ต้นแบบ และแก้ไขปัญหาของผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่แล้ว รวมถึงให้บริการวิเคราะห์ ทดสอบ สอบเทียบ ผ่านศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมที่สร้างขึ้นเพื่อรองรับการวิจัย พัฒนาและบริการอุตสาหกรรม ที่ตอบสนองต่อความต้องการของภาคเอกชนและชุมชน 

วทน. เพื่อชุมชน (STI for Area Based) มุ่งตอบโจทย์ความต้องการของชุมชนในพื้นที่ต่าง ๆ ด้วยการสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาเชิงพื้นที่ ช่วยเหลือผู้ประกอบการอย่างทั่วถึง สร้างเครือข่ายความร่วมมือกับหน่วยงานการศึกษาต่าง ๆ ในพื้นที่ นับเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน  

เพื่อรองรับเทรนด์สุขภาพและการพัฒนาอย่างยั่งยืน วว. ได้มีการขับเคลื่อนโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมทางด้านจุลินทรีย์โพรไบโอติกส์ และ BCG Model เพื่อสร้างธุรกิจใหม่ให้แก่ผู้ประกอบการ 

เริ่มจากนวัตกรรมทางด้านจุลินทรีย์โพรไบโอติกส์ ที่ผ่านมา วว. ได้มีการจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมการผลิตหัวเชื้อจุลินทรีย์เพื่ออุตสาหกรรมอาหาร (ICPIM) ทำหน้าที่วิจัยและพัฒนาสายพันธุ์จุลินทรีย์ ล่าสุดได้มีการพัฒนา “โพรไบโอติก” จุลินทรีย์สัญชาติไทยได้เป็นครั้งแรก เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมสามารถนำโพรไบโอติกสายพันธุ์ต่างๆ ของ ICPIM ไปเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับธุรกิจตนเองเพิ่มขึ้นไปอีกขั้น  

สายันต์ ตันพานิช รองผู้ว่าการวิจัยและพัฒนาด้านอุตสาหกรรมชีวภาพ กล่าวว่า ICPIM ได้นำความหลากหลายทางชีวภาพของจุลินทรีย์ที่ถูกจัดเก็บอยู่ในคลังหัวเชื้อกว่า 10,000 ชนิด มาพัฒนาขยายผลในระดับห้องปฎิบัติการ ด้วยกระบวนการคัดสรรจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ต่อระบบทางเดินอาหาร กระทั่งพัฒนาให้เป็นโพรไบโอติกคุณภาพสูง และเป็นสายพันธุ์ที่โดดเด่นได้ถึง 15 สายพันธุ์ จาก 24 สายพันธุ์ที่เป็นที่นิยมใช้ในภาคอุตสาหกรรมอาหาร อาหารเสริม และเสริมความงามทั่วโลก และได้รับการขึ้นทะเบียนและใบอนุญาตจากองค์การอาหารและยา (อย.) เป็นสถานที่ผลิตประเภทวัตถุเจือปนอาหาร
  ในช่วงที่ผ่านมา ICPIM ได้รับงบประมาณจากแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 จำนวน 154.13 ล้านบาท เพื่อนำมาใช้ในการลงทุนขยายกำลังการผลิตหัวเชื้อจุลินทรีย์ให้มีปริมาณมากเพียงพอต่อการสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมชีวภาพ ตามแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ของประเทศ   

การได้รับเงินลงทุนเพิ่มขึ้นนี้ทำให้ ICPIM สามารถขยายการผลิตจุลินทรีย์เพิ่มขึ้นได้ถึง 25,000 ลิตรต่อปี จากเดิมที่ผลิตได้เพียง 15,000 ลิตรต่อปี ซึ่งเพียงพอต่อการสนับสนุนภาคอุตสาหกรรม ช่วยผู้ประกอบการลดต้นทุนจากการนำเข้าจุลินทรีย์จากต่างประเทศเพื่อนำมาพัฒนาผลิตภัณฑ์

“สินค้าที่มีส่วนผสมโพรไบโอติกกำลังเป็นเทรนด์ของผู้บริโภคในอนาคต หลังจากเกิดวิกฤต COVID-19 ทำให้ผู้คนหันมาเสริมสร้างภูมิคุ้มกันความแข็งแรงทางร่ายกาย ซึ่งโพรไบโอติกเป็นจุลินทรีย์ที่มีขนาดเล็กจัดเป็นกลุ่มจุลินทรีย์ชนิดดี สามารถพบได้ในอาหารหลายชนิด เช่น นมเปรี้ยว โยเกิร์ต กิมจิ ซุปมิโซะ เป็นต้น มีประโยชน์โดยตรงในการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกายให้ดีขึ้นแล้ว ยังสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย ครอบคลุมอุตสาหกรรมอาหาร เครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพื่อสุขภาพ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหารในการต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่ม และพัฒนาผลิตภัณฑ์ได้หลากหลายประเภท เช่น น้ำผลไม้น้ำตาลต่ำที่ดีต่อสุขภาพโดยไม่สูญเสียคุณภาพด้านรสชาติ น้ำตาลสุขภาพ เครื่องปรุงรส ขนมขบเคี้ยว ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากนม ฯลฯ ซึ่งมีประโยชน์ต่อการสร้างเสริมสุขภาวะที่ดีขึ้น” สายันต์ กล่าว  

นอกจากนี้ วว. ยังนำความสำเร็จจากการใช้เทคโนโลยี การวิจัยและพัฒนาจากศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ (Expert Center of Innovative Agriculture: InnoAg) มาต่อยอดในโครงการ BCG โมเดล ให้กับเกษตรกร และวิสาหกิจชุมชนยกระดับสู่การเกษตรแบบยั่งยืนด้วยนวัตกรรมและสารชีวภัณฑ์ ยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกร ทั้งในด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมให้ปลอดภัยจากการใช้สารเคมี รวมถึงช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตทางการเกษตรและอุตสาหกรรมอาหารของไทยให้แข็งแกร่ง พร้อมแข่งขันในตลาดโลกได้อีกด้วย 

ศ.(วิจัย) ดร.ชุติมา กล่าวว่า เกษตรกรในพื้นที่ส่วนใหญ่ประสบปัญหาคล้าย ๆ กัน โดยปัญหาหลักของเกษตรกรในพื้นที่มาจาก 3 ปัจจัย ได้แก่ ปัญหาด้านปัจจัยและฐานทรัพยากรการผลิต - ที่ดินทำกิน การเข้าถึงทรัพยากรน้ำ เกษตรกรรายย่อยขาดศักยภาพการผลิต ปัญหาเรื่องสุขภาวะของผู้ผลิตและผู้บริโภค - เกิดการตกค้างในสภาพแวดล้อม ในดิน รวมถึงตกค้างในผลผลิต ขาดความรู้ความเข้าใจเรื่องสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่ถูกต้อง และปัญหาด้านการตลาด – ปัญหาการส่งออกพืชผลทางการเกษตร ราคาผลผลิตตกต่ำ 

“เราต้องการขับเคลื่อนเกษตรไทยให้เป็นเกษตรยั่งยืน วว. จึงเข้าไปพัฒนา BCG โมเดล ประกอบด้วย เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy)  4 จังหวัดในเขตภาคกลางตะวันตกเป็นพื้นที่นำร่อง ได้แก่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี นครปฐม และกาญจนบุรี โดยเปิดโอกาสให้เกษตรเข้าสมัครในโครงการ เพื่อร่วมกันทดลองใน 3 กลุ่มสินค้าเกษตร ทั้งพืชไร่ พืชสวน และพืชผัก รวม 7 ชนิด ได้แก่ ข้าว อ้อย มันสำปะหลัง กล้วย ส้มโอ มะพร้าวน้ำหอม และ มะนาว  สร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าเกษตรตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ”

ต้นน้ำ วว. จัดหาสารชีวภัณฑ์ให้เกษตรกรใช้สำหรับป้องกันกำจัดศัตรูพืช สร้างความปลอดภัยต่อสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อม เนื่องจากไม่มีสารพิษตกค้าง สามารถนำมาใช้เพิ่มผลผลิตพืชเศรษฐกิจการเกษตร ลดต้นทุนจากการใช้ปุ๋ยสารเคมี

กลางน้ำ ใช้เทคโนโลยีแปรรูปทางการเกษตร อาทิ ผลิตภัณฑ์ชงดื่มบำรุงกระดูกจากมะพร้าวน้ำหอม ซึ่งได้รับการทดสอบประสิทธิภาพของน้ำมะพร้าวในการกระตุ้นการสร้างคอลลาเจนใต้ผิวหนัง และการเสริมสร้างกระดูกในเซลล์กระดูกอ่อน , ไซรัปจากอ้อย น้ำตาลอ้อยชนิดก้อน และน้ำตาลอ้อยชนิดผง  จากผลิตภัณฑ์จากอ้อย และเทคโนโลยีการผลิตผลิตภัณฑ์เวชสำอางจากกล้วยไข่ กล้วยหอม ส้มโอ และข้าว ที่มีคุณสมบัติยับยั้งการเกิดอนุมูลอิสระและการสร้างเม็ดสีผิว (กระ ฝ้า) เป็นต้น

ปลายน้ำ  เป็นการนำของเสียมาเพิ่มมูลค่าให้กับเกษตรกร โดยพัฒนาบรรจุภัณฑ์ธรรมชาติจากขยะเหลือทิ้งทางการเกษตร เช่น ถาดเพาะกล้าอ้อยจากชานอ้อย ผลิตภัณฑ์กันกระแทกจากกาบกล้วย สร้างโอกาสและเพิ่มรายได้ให้กับผู้ประกอบการ ลดความเหลื่อมล้ำของเศรษฐกิจฐานราก  

สำหรับผู้ประกอบการ SMEs วิสาหกิจชุมชน และเกษตรกร ที่สนใจสามารถขอคำปรึกษา และรับการสนับสนุนด้านงานวิจัย และเทคโนโลยี จาก วว. ได้หลากหลายช่องทางทั้งคอลเซ็นเตอร์ 02-5779300 เว็บไซต์ www.tistr.co.th ช่องทางเฟสบุ๊ค และ LINE Official Account 

บทความแนะนำ

อยากจะเป็น “เสือนอนกิน” อสังหาปล่อยเช่า ต้องรู้จักแพลตฟอร์มบริหารจัดการ HORGANICE

หนึ่งในธุรกิจที่คนมีงบลงทุนสนใจอยากเป็นเจ้าของธุรกิจอันดับต้นๆ คือ ธุรกิจอสังหาปล่อยเช่า หรือการให้เช่าที่อยู่อาศัย ทั้งในรูปแบบหอพัก อพาร์ทเมนต์ แมนชั่น ไปจนถึงห้องชุดในคอนโดมิเนียม เพราะถือเป็นธุรกิจที่จะทำให้เจ้าของธุรกิจเปรียบดั่งเป็นเสือนอนกินระยะยาว ด้วยการลงทุนในครั้งแรกก็สามารถเก็บดอกผลได้อย่างต่อเนื่อง 

โดยความเป็นจริงแล้วก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเสียทีเดียวที่จะทำธุรกิจนี้ได้อย่างราบรื่น เพราะหากตัดเรื่องเงินลงทุนก้อนโตออกไป อีกเรื่องที่ต้องคำนึงถึงเพราะมักก่อให้เกิดปัญหากวนใจอยู่เป็นระยะ ก็คือเรื่องของการบริหารจัดการหอพักอพาร์ทเม้นต์ เนื่องจากการดูแลหอพักอพาร์ทเม้นต์ เป็นงานที่มีปัญหาจุกจิกมากมาย เริ่มตั้งแต่การทำสัญญาผู้เช่า การคิดบิลค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเช่าห้อง การทำเอกสาร ส่งใบแจ้งหนี้ รวมถึงปัญหาอุปกรณ์ชำรุดเสียหาย และอีกร้อยแปดปัญหาที่จะทำให้เจ้าของธุรกิจไม่สามารถปลีกตัวออกจากงานที่ต้องทำประจำเหล่านี้ได้เลย

“ฮอร์แกไนซ์” (Horganice) เป็นโปรแกรมที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อมาแก้ไขปัญหา และสะสางภารกิจต่างๆ ที่เกิดจากการบริหารจัดการอสังหาปล่อยเช่าในทุกรูปแบบ โดย Horganice ทำหน้าที่เป็นเสมือนตัวกลางที่เชื่อมต่อระหว่างผู้ประกอบการ (เจ้าของธุรกิจ) และผู้เช่า ช่วยให้เกิดการติดต่อสื่อสารกันได้เร็วขึ้น และช่วยให้การบริหารจัดการหอพักอพาร์ทเม้นท์ทำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น 

ธนวิชญ์ ต้นกันยา Founder & CEO บริษัท ฮอร์แกไนซ์ จำกัด กล่าวว่า เป้าหมายของการทำธุรกิจอสังหาปล่อยเช่าในยุคปัจจุบัน เจ้าของธุรกิจส่วนใหญ่ต้องการทำธุรกิจในแบบที่มีรายได้เข้ามาอย่างต่อเนื่องในทุกๆ เดือนโดยไม่ต้องทำอะไรมาก ซึ่งเปรียบเสมือนเป็น “เสือนอนกิน” แต่ในความเป็นจริงการจะเป็นเสือนอนกินในธุรกิจหอพักอพาร์ทเม้นต์ได้นั้นอาจต้องมีการจ้างคนจำนวนมากเพื่อมาดูแลงานในส่วนต่างๆ และเกิดเป็นต้นทุนมหาศาลในเรื่องของการจัดการ เพื่อจะทำให้ตัวเองได้ดูแลธุรกิจแบบเสือนอนกินอย่างแท้จริง 

“เป้าหมายของการจัดตั้ง Horganice ขึ้นมาก็เพื่อที่จะทำให้เจ้าของธุรกิจอสังหาปล่อยเช่าทุกคนได้เป็นเสือนอนกินจริงๆ ทำให้เขาไม่ต้องแบกรับต้นทุนทั้งในเรื่องของคนจำนวนมากที่อยู่หน้างาน เราจึงสร้างแพลตฟอร์มที่มีดิจิทัลเข้ามาช่วยทำงาน เช่น การทำใบแจ้งหนี้ การส่งใบแจ้งหนี้ การตรวจสอบการรับเงินผ่านระบบเพย์เมนต์ หรือแม้แต่ระบบทวงหนี้ รวมถึงการเชื่อมต่อกับพาร์ทเนอร์ในด้านต่างๆ เช่น งานช่าง งานแม่บ้าน หรืองานระบบบัญชี เป็นต้น” 

Horganice คือ Process Innovation ที่เข้ามาช่วยเรื่องการบริหารจัดการในสิ่งที่เจ้าของหอพักอพาร์ทเมนต์ต้องเจอในแต่ละวัน มีองค์ประกอบด้านเทคโนโลยี 4 ตัวหลัก ได้แก่ Software เป็นส่วนกลางในการจัดการ Iot (Internet of Thing) เป็นฮาร์ดแวร์ที่เกิดจากการร่วมมือกับพาร์ทเนอร์เพื่อช่วยให้การบริหารจัดการดีขึ้น Payment Solution ที่เชื่อมต่อกับทางธนาคารตอบโจทย์การบริหารจัดการเรื่องเงิน และ Service ที่ต้องใช้ Man Power ในการบริหารจัดการ เช่น งานแม่บ้าน งานช่าง เป็นต้น

Horganice อำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้งาน โดยเฉพาะการสร้างระบบงานเอกสาร เช่น บิลค่าเช่า (ใบแจ้งหนี้) การส่งบิลในรูปแบบออนไลน์ที่มองเห็นได้ทันที อีกทั้งยังมีฟังก์ชั่นการใช้งานที่หลากหลาย อาทิ กระดานข่าวสาร การวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ บันทึกรายรับ รายจ่าย สถิติกำไร เป็นต้น เพื่อการวางแผน และบริหารงานอย่างมืออาชีพ ตลอดจนช่วยสร้างมาตรฐานธุรกิจให้เติบโตมั่นคงในระยะยาว

Horganice จึงกลายเป็นผู้ช่วยคนสำคัญ ที่จะทำให้งานบริหารจัดการหอพัก อพาร์ทเม้นต์ แมนชั่น ห้องชุด กิจการบ้านเช่า ไปจนถึงร้านค้าให้เช่า หรือกิจการที่เก็บค่าเช่ารายวันและรายเดือน ทั้งขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ เป็นเรื่องง่ายไม่ซับซ้อนยุ่งยาก เนื่องจาก Horganice มีข้อดีหลากหลายประการ อาทิ

1.มีฟังก์ชั่นการใช้งานมาตรฐาน คือ การสร้างบิลค่าเช่า การสร้างสัญญาเช่า การแสดงสถานะห้องว่าง ห้องมีคนจอง ห้องมีผู้เช่า การออกใบเสร็จรับเงิน การจดมิเตอร์น้ำและมิเตอร์ไฟ การแจ้งข่าวสารหอพัก และฟีเจอร์ต่างๆ ครบถ้วน อาทิ การกำหนดสิทธิพนักงาน บันทึกรายรับ-รายจ่าย ผลสถิติกำไร ขาดทุน ผลสถิติ กราฟ ข้อมูลต่างๆ 

2.สามารถทำงาน และบริหารงานได้ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน เรียกดูข้อมูลได้ตามความต้องการในทุกที่ทุกเวลา เพียงแค่มีอินเตอร์เน็ตโดยไม่จำเป็นต้องทำงานอยู่กับที่ จึงสามารถเดินเดินทางไกลไปต่างจังหวัด ไปต่างประเทศ หรือบริหารจัดการร่วมกับงานอื่นๆ ไปพร้อมกันก็สามารถทำได้อย่างคล่องตัว

3.มีระบบจัดเก็บข้อมูลของลูกค้าที่มาเช่าพักอาศัย ในกรณีฉุกเฉิน หรือมีความจำเป็นที่จะต้องค้นหาข้อมูลผู้เช่า  ก็สามารถค้นประวัติของผู้เข้าพักในแต่ละห้องได้จากโปรแกรม การจัดเก็บข้อมูลถือเป็นเรื่องสำคัญ โดย Horganice มีระบบเก็บฐานข้อมูลไว้ที่ Amazon Web Service เป็นมาตรฐานสากล และมีเพียงเจ้าของธุรกิจเท่านั้นที่รู้รหัสเข้าดูข้อมูล

4.ใช้งานได้ง่าย ผ่านอุปกรณ์ที่สามารถเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตได้ เช่น คอมพิวเตอร์ โน้ตบุค แท็ปเล็ต หรือแม้แต่สมาร์ทโฟน ไม่ต้องติดตั้งระบบเพียงดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่น หรือเข้าผ่านหน้าเว็บไซต์ ระบบยังรองรับงานเอกสารที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการออกใบแจ้งหนี้ การแจ้งค่าเช่า ใบเสร็จรับเงินค่าเช่า ใบกำกับภาษี ใบจองห้องพัก ใบรับเงินประกัน ใบย้ายออก รวมถึงเอกสารใบเสร็จรับเงินอื่นๆ ก็สามารถทำได้เช่นกัน 

5.ติดต่อกับผู้เช่าได้อย่างสะดวกสบาย สามารถเลือกได้ว่าจะแจ้งข่าวสารแบบรายห้อง หรือโดยรวม อีกทั้งยังมีโหมดการแจ้งเรื่องจากผู้เช่า เช่น การแจ้งซ่อม การทำความสะอาด การย้ายออก เพื่อให้ทางเจ้าของธุรกิจสามารถทราบเรื่องได้อย่างรวดเร็ว 

6.มีบริการหลังการขาย ที่จะช่วยในการดูแลระบบต่างๆ ของหอพักได้ดียิ่งขึ้น มีการให้ข้อมูลวิธีการใช้ และให้ความรู้เกี่ยวกับการใช้งานระบบโปรแกรมหอพักให้กับผู้ใช้ได้เข้าใจมากยิ่งขึ้น สามารถใช้งานอย่างถูกวิธี และมีประสิทธิภาพคุ้มค่ามากที่สุดกับค่าบริการที่ต้องจ่ายออกไป

7.ระบบทันสมัย ตอบโจทย์การดำเนินชีวิตในยุคดิจิทัล ช่วยให้การบริหารงานมีประสิทธิภาพ จัดการข้อมูลต่างๆ เป็นระเบียบมากยิ่งขึ้น มีผลการวิเคราะห์ข้อมูลที่ให้ความถูกต้องแม่นยำ ช่วยให้ผู้ประกอบการมองเห็นความเคลื่อนไหวต่างๆ ของธุรกิจได้ง่ายขึ้น รู้ผลกำไร ขาดทุน รู้ข้อบกพร่องได้เร็ว และต่อยอดในเรื่องการวางแผนการตลาดได้อีกด้วย

ปัจจุบัน Horganice ได้รับความไว้วางใจจากเจ้าของหอพัก และอพาร์ทเม้นต์ ทั่วประเทศกว่า 10,000 แห่ง ที่นำแพลตฟอร์มของ Horganice มาช่วยบริหารจัดการธุรกิจ โดยที่ผ่านมา มีจำนวนห้องพักที่เข้าสู่ระบบของ Horganice แล้วกว่า 500,000 ห้อง มีการออกบิลใบแจ้งหนี้จากระบบไปแล้วกว่า 2,150,000 ใบ (ข้อมูลอัพเดท: 18 มกราคม 2564)

สำหรับผู้ที่สนใจสามารถเลือกใช้บริการแพลตฟอร์ม Horganice ได้ตามรูปแบบแพ็คเกจที่เหมาะกับขนาดของธุรกิจที่ทำอยู่ ซึ่งมีทั้งแบบฟรี และเสียค่าบริการ โดยแบ่งรูปแบบการใช้บริการออกเป็น 3 ระดับ ประกอบด้วย

1.Basic ฟีเจอร์พื้นฐาน ฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย เหมาะกับธุรกิจที่มีขนาด 1 อาคาร จำนวนห้องพักไม่จำกัด ผู้ใช้งาน 1 คน ผ่านการใช้งานบนมือถือ และคอมพิวเตอร์

2.Business ฟีเจอร์บริหารงานแบบมืออาชีพ ค่าบริการ 497 บาท/เดือน ส่วนลด 5% เมื่อชำระค่าบริการเป็นรายปีในราคา 5,665 บาท/อาคาร เหมาะกับธุรกิจขนาด 1 อาคาร จำนวนห้องพักไม่จำกัด ผู้ใช้งานสูงสุด 5 คน ผ่านการใช้งานบนมือถือ และคอมพิวเตอร์ สามารถทดลองใช้งานฟรี 30 วัน

3.Professional ฟีเจอร์ขั้นสูง พร้อมการเติบโตแบบไม่จำกัด ค่าบริการ 979 บาท/เดือน ส่วนลด 5% เมื่อชำระค่าบริการรายปีในราคา 11,160 บาท/อาคาร เหมาะกับธุรกิจขนาด 1 อาคาร จำนวนห้องพักไม่จำกัด ไม่จำกัดจำนวนผู้ใช้งานในระบบ ผ่านการใช้งานบนมือถือ และคอมพิวเตอร์ สามารถทดลองใช้งานฟรี 30 วัน

นอกจากนี้ ยังมีบริการเสริมอื่นๆ อาทิ บริการมิเตอร์ไฟฟ้าดิจิทัล และประปา ที่เชื่อมต่อระบบแบบไม่ต้องเดินจดเลข เรียกดูออนไลน์ตลอด 24 ชั่วโมง (ทั้งรูปแบบการอ่านค่าธรรมดา และสั่งตัดไฟฟ้าจากแอปพลิเคชั่น) พร้อมบริการตรวจสอบการชำระเงินของผู้เช่า การอัพเดทการชำระเงิน หรือค้างชำระ สรุปรายงานทุกวัน และมีทีมงานคอยให้คำปรึกษา

ธนวิชญ์ ยังมีคำแนะนำสำหรับผู้ที่อยากทำธุรกิจปล่อยเช่าอสังหา ข้อแรก ต้องตั้งเป้าหมายให้ชัดว่า ต้องการสร้างรายได้จากอะไร เช่น Capital gain, Yield หรือเป็นมรดก พร้อมปรับ  Mindset การทำธุรกิจในปัจจุบันไม่จำเป็นต้องนั่งเฝ้า โดยมองว่า จะบริหารงานอย่างไรที่จะสามารถขยายได้ และทำซ้ำได้ 

รวมถึง การมองหาเทคโนโลยีที่สามารถนำมาช่วยบริหารจัดการธุรกิจ ให้สามารถใช้เวลากับการทำงานได้อย่างคุ้มค่ามากที่สุด ซึ่งเป็นจุดที่ Horganice เข้าไปตอบโจทย์

ปัจจุบัน Horganice ยังต่อยอดไปสู่การพัฒนาแพลตฟอร์มที่เป็นแหล่งรวมหอพัก อพาร์ทเม้นต์ในชื่อ “Rentini” เพื่อช่วยคนทำธุรกิจหอพักไม่ต้องวุ่นวายกับการหาคนเข้าพัก โดยโจทย์ของ Horganice คือการไปช่วยลดต้นทุนในการบริหารจัดการ ส่วน Rentini จะช่วยเพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้ให้กับธุรกิจ ซึ่งปัจจุบันมีการเปิดตัวไปแล้ว และอยู่ในระหว่างการทำ Sandbox Test เพื่อการเรียนรู้ และเก็บข้อมูล 

“เรามีทีมโอเปอเรชั่นที่สามารถดูแลอาคารได้นับหมื่นอาคาร เราไม่ได้ขายซอฟต์แวร์แต่ขายเซอร์วิสที่มีคนคอยช่วยอยู่ข้างหลังเพื่อจะทำให้เขาเป็นเสือนอนกินได้ดีขึ้น ซอฟต์แวร์จึงเป็นแค่เครื่องมือหนึ่งที่เชื่อมต่อระหว่างลูกค้าที่เป็นผู้เช่า กับเจ้าของหอพัก หรืออพาร์ทเม้นต์ โดยเทคโนโลยีเป็นเพียงสะพานเชื่อมต่อ แต่หัวใจสำคัญคือการโอเปอเรชั่นด้านหลัง ซึ่งจุดแข็งของ Horganice คือ ความเชี่ยวชาญบริหารจัดการงานระบบที่ต้องทำเป็นประจำทุกวัน” 

ดังนั้น การนำแพลตฟอร์ม Horganice มาช่วยงาน จะทำให้รูปแบบการบริหารจัดการเป็นระบบมากขึ้น และช่วยลดการเกิดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นให้น้อยลง ส่งผลให้เกิดการลดต้นทุนทางธุรกิจที่ดียิ่งขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ประกอบการ SME เพราะสิ่งที่ Horganice พยายามทำ คือ การจัดการกับงานระบบที่จะทำให้เกิดต้นทุนในด้านต่างๆ เช่น ต้นทุนกระดาษจากงานเอกสาร หรือต้นทุนเรื่องคนที่เกินความจำเป็นให้ลดลงได้ ส่งผลให้การบริหารธุรกิจของผู้ประกอบการให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น 

อีกทั้งยังช่วยสร้างให้เกิดมาตรฐานในการทำธุรกิจ และทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจหอพัก หรืออพาร์ทเมนต์อยู่ในสถานะของ “เสือนอนกิน” ได้อย่างแท้จริงอีกด้วย

บทความแนะนำ

CMED พัฒนาวีลแชร์ ปรับยืน อนาคตเครื่องมือแพทย์ไทย ช่วยลดการนำเข้า

จากจุดเริ่มต้นที่ทำโครงงานวิจัยในมหาวิทยาลัยกับโครงการพัฒนาวีลแชร์ยืนได้ (Standing Wheelchair) รถวีลแชร์ปรับยืนที่ใช้สำหรับผู้ป่วยอัมพาตครึ่งท่อน อัมพาตครึ่งซีก (โรคหลอดเลือดสมอง) กล้ามเนื้ออ่อนแรง และอาการทางระบบประสาทอื่นๆ รวมถึง ผู้ป่วยที่ไม่มีแรงขาหรือขาไม่มีความรู้สึก วีลแชร์สามารถช่วยพยุงให้ผู้ป่วยสามารถที่จะยืนได้ โดยไม่ต้องใช้มอเตอร์ไฟฟ้า ธีรพงศ์ สมุทรอัษฎงค์ ผู้ก่อตั้ง บริษัทซีเมด เมดิคอล จำกัด อดีตนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงได้นำงานวิจัยของตนเอง พัฒนามาสู่รถเข็นนั่ง-ยืน หนึ่งในเครื่องมือแพทย์ของไทยและสามารถช่วยลดการนำเข้าจากต่างประเทศ

“จากจุดเริ่มต้นที่ไม่อยากให้โปรเจ็กที่ทำมาสู่จุดเริ่มต้นของบริษัท บริษัทเริ่มต้นมาจากการทำโครงการวิจัย จากนั้นจึงได้พัฒนาสู่สตาร์ทอัพ เป็นสตาร์ทอัพที่เริ่มต้นมาจากสถาบันการศึกษา จุดเริ่มต้นมาจากการที่ผมเองเมื่อสมัยเรียนวิศวกรรม เครื่องกลกับการเรียนทางด้านการออกแบบเครื่องมือแพทย์ ได้พัฒนาโครงการรถเข็นนั่ง-ยืน (วีลแชร์ปรับยืน) สิ่งที่ทำมันจะสูญเปล่า ถ้าเกิดว่าเราจบแล้วไปทำงานบริษัทหรือไปทำอย่างอื่น และสิ่งที่ทำมาจะเป็นงานวิจัยขึ้นหิ้ง เลยคิดว่าอยากจะทำอะไรซักอย่างเพื่อเอาของที่พัฒนาส่งต่อไปให้ใช้ได้ และคนด้อยโอกาสสามารถที่จะเข้าถึงงานนวตกรรมได้ เลยออกมาทำและตั้งบริษัทเมื่อ 4 ปีที่ผ่านมา” ธีรพงศ์ กล่าวและว่า 

บริษัท ซีเมด เมดิคอล นับว่าเป็นสตาร์ทอัพกลุ่มแรกๆของไทยที่เกิดจากรั้วมหาวิทยาลัย เนื่องจากได้รับการบ่มเพาะจากโครงการสนับสนุนสตาร์ทอัพของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ที่สนับสนุนให้มีศูนย์บ่มเพาะในมหาวิทยาลัยและยังได้รับทุน Research Gab Fund มาช่วยในการปรับปรุงการผลิตทั้งหมดของระบบการปรับยืนให้มีประสิทธิภาพและมีมาตรฐาน

“เราได้รับโอกาสค่อนข้างดี ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลในการดำเนินธุรกิจปลอดภาษี 5 รอบปีบัญชี เราทำธุรกิจโดยไม่ต้องเสียภาษี 5 ปี โดยสินค้ารายการแรก คือ รถเข็นนั่ง-ยืนเป็นรถเข็นที่ออกแบบเฉพาะบุคคล โดยบริษัทจะคุยรายละเอียดการใช้งานกับลูกค้าก่อน จากนั้นจะผลิตให้กับลูกค้าตามความต้องการรถเข็นนั่ง-ยืน เป็นรถเข็นที่ใช้สามารถรองรับผู้ใช้งานที่มีน้ำหนักไม่เกิน 90 กิโลกรัม ผู้ใช้งานสามารถปรับรถเข็นให้สามารถยืนได้ ช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถทำกายภาพบำบัดได้สะดวกมากยิ่งขึ้น” ธีรพงศ์

ด้าน ผศ.ดร.บรรยงค์ รุ่งเรืองด้วยบุญ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล  คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อาจารย์ที่ปรึกษาโครงวีลแชร์ปรับยืน กล่าวว่า ปรกติรถเข็นคนพิการที่ปรับยืนได้ จะใช้มอเตอร์ไฟฟ้า ซึ่งมีราคาแพงมากประมาณ 150,000-200,000 บาท ซึ่งผู้ป่วยน้อยรายที่จะหาซื้อมาได้ ดังนั้นเพื่อเพิ่มโอกาสให้แก่ผู้ป่วยได้ใช้ชีวิตที่ง่ายขึ้น นักศึกษาได้ประดิษฐ์รถเข็นปรับยืนซึ่งมีราคาที่สามารถซื้อได้

ธีรพงศ์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังได้พัฒนาเครื่องยก-เคลื่อนย้ายผู้ป่วย ที่สามารถใช้เคลื่อนย้ายผู้ป่วยจากเตียงมานั่งบนรถวีลแชร์ หรือยานพาหนะได้ เป็นต้น 

“ถึงคุณจะทำรถเข็นดีที่สุดในโลก หากคุณไม่สามารถเคลื่อนย้ายผู้ป่วยจากเตียงมานั่งบนวิลแชร์ หรือย้ายผู้ป่วยจากวิลแชร์ไปนั่งในรถหรือพาหนะอื่นๆ ก็ไม่มีประโยชน์ที่จะเป็นรถเข็นที่ดี เราเลยทำอุปกรณ์เชื่อมกับรถเพื่อเคลื่อนย้ายผู้ป่วย หรือเครื่องยก-เคลื่อนย้ายผู้ป่วย” ธีรพงศ์ กล่าว

เพื่อรองรับการใช้งานที่ได้ประโยชน์สูงสุด บริษัทได้พัฒนารถเข็นนั่ง-ยืน และเครื่องยก-เคลื่อนย้ายผู้ป่วยด้วยอุปกรณ์ที่มีคุณภาพและคุณสมบัติเดียวกับสินค้าจากยุโรป เพื่อรองรับการใช้งานทั้งในโรงพยาบาลและลูกค้าผู้ป่วยทั่วไป มีโรงพยาบาลที่มีการใช้วีลแชร์ของบริษัทดูแลผู้ป่วย อาทิ โรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลสวนดอก มากกว่า 20 ตัว วีลแชร์ของบริษัทมีราคาจำหน่ายที่ 37,450 บาท พร้อมรับประกันรถเข็น 2 ปี และเครื่องยก-เคลื่อนย้ายผู้ป่วยมีราคาจำหน่ายที่ 48,150 บาทพร้อมรับประกัน 1 ปี โดยนับตั้งแต่ผลิตสินค้าสู๋ตลาดบริษัทสามารถจำหน่ายรถเข็นได้ประมาณ 700 ตัว และเครื่องยก-เคลื่อนย้ายผู้ป่วยมากกว่า 300 ตัว 

“จนถึงปัจจุบันรถเข็นปรับยืนใช้เวลาในการพัฒนาต่อเนื่องมากกว่า 14 ปี และได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้ใช้งานและผู้ป่วย ก่อนที่ผู้ซื้อจะซื้อของเราไป ผู้ใช้จะต้องมั่นใจว่า เค้าซื้อไปแล้วใช้ได้จริง” ธีรพงศ์ กล่าว และอธิบายเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมาการทำตลาดเครื่องยกเคลื่อนย้ายผู้ป่วยและวีลแชร์ปรับยืน บริษัทจะทำตลาดในรูปแบบลูกค้าติดต่อมาโดยตรงผ่านช่องทางออนไลน์ บริษัทมีแผนที่จะปรับช่องทางการตลาดใหม่โดยเพิ่มจำนวนดีลเลอร์ในการทำตลาด และยังมีแผนที่จะให้บริการเช่ารถเข็นเพื่อไปใช้ตามบ้านด้วย โดยคาดว่าจะสามารถทำธุรกิจในรูแบบเช่าในต้นปีหน้า

นอกจากนี้ในช่วง COVID-19 บริษัทยังได้พัฒนาเครื่องทำกายภาพบำบัดสำหรับผู้ป่วย เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถทำกายภาพบำบัดได้เองที่บ้านโดยไม่ต้องไปทำกายภาพบำบัดที่โรงพยาบาลหรือศูนย์กายภาพบำบัด 

“ผมมองว่า จนถึงปีหน้า ครอบครัวผู้ป่วยก็ยังไม่สามารถที่จะพาผู้ป่วย ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ไปทำกายภาพบำบัดที่ศูนย์กายภาพบำบัดต่างๆได้ เราต้องพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสมากยิ่งขึ้นเราก็ต้องทำอุปกรณ์สำหรับฝึกกายภาพบำบัดที่บ้านในท่ายืน เพื่อที่จะดูแลผู้ป่วยให้ได้มากยิ่งขึ้น โดยคนในครอบครัวสามารถช่วยทำกายภาพบำบัดเองได้ คาดว่าอุปกรณ์กายภาพบำบัดจะออกสู่ตลาดได้ในไตรมาสสี่ปีนี้ และบริษัทมีแผนที่จะต่อยอดการพัฒนาอุปกรณ์กายภาพบำบัดอื่นๆด้วย และผู้ป่วยยังคงต้องการทำกายภาพบำบัดอย่างต่อเนื่อง” ธีรพงศ์ กล่าว

CMED ถือเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้ประเทศไทยดีขึ้น เพราะว่าถ้าไม่มีโควิดประเทศไทยก็กำลังจะเป็น Medical hub เนื่องจากประเทศไทยมีหมอที่เก่ง ปัจจุบันบริษัทเป็นคนไทยที่มีนวัตกรรมของตนเอง เป็นส่วนหนึ่งในความยั่งยืนของอุตสาหกรรม ความยั่งยืนทางการแพทย์ที่นอกเหนือจากการนำเข้า และมีทีมงาน R&D ที่มีศักยภาพมากในการพัฒนาและผลิตให้มากขึ้นนอกจากนี้บริษัทมีแผนที่จะให้บริการเช่า วีลแชร์ สำหรับผู้ป่วยด้วย คาดว่าจะเริ่มทดลองโครงการในไตรมาสสี่ปีนี้ก่อนที่จะให้บริการอย่างเป็นทางการในปีหน้าเพื่อเป็นทางเลือกสำหรับผู้ป่วย

ธีรพงศ์ กล่าวว่านอกจากจำหน่ายอุปกรณ์ทางการแพทย์ให้กับผู้ป่วยในประเทศไทยแล้ว ยังมีลูกค้าจากต่างประเทศที่ซื้อไปใช้ด้วย อาทิ ลูกค้าจากประเทศกัมพูชา มาเลเชีย และบริษัทอยู่ระหว่างการหานักลงทุนและพันธมิตรเพื่อที่จะมาลงทุนและช่วยขยายธุรกิจไปยังตลาดต่างประเทศโดยจะเน้นที่ประเทศ ลาว กัมพูชาและมาเลเชีย

ทั้งนี้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รายงานว่า ข้อมูล ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2563 ที่ผ่านมาประเทศไทยมีประชากรจำนวนทั้งสิ้น 66.18 ล้านคน และเป็นคนพิการที่ได้รับการออกบัตรประจำตัวคนพิการจำนวน 2,076,313 คนคิดเป็นร้อยละ 3.05 ของประชากรทั้งประเทศ โดยความพิการใน 3 อันดับแรกคือ ทางการเคลื่อนไหวหรือทางร่างกายมากที่สุดมากที่สุด จำนวน 1,032,455 คน คิดเป็นร้อยละ 49.73 รองลงมาเป็นความพิการทางการได้ยินหรือสื่อความหมาย จำนวน 391,785 คน หรือ คิดเป็นร้อยละ 18.8 และความพิการทางการเห็นจำนวน 191,020 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 9.20 

โดยผู้พิการส่วนใหญ่กว่า 1.1 ล้านคน เป็นผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป รองลงมาคือวัยทำงาน อายุ 15-59 ปี ซึ่งทั้งสองกลุ่มนี้มีความพิการทางการเคลื่อนไหวหรือทางร่างกายมากที่สุด

 

บทความแนะนำ

ก.ล.ต.เร่งปลดล็อกเพิ่มโอกาส SMEs เข้าถึงแหล่งเงินทุน

ปัญหาสำคัญตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันของผู้ประกอบการ SMEs คือการเข้าถึงแหล่งเงินทุน สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) จึงมีนโยบายส่งเสริมและสนับสนุนให้เอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินทุนในตลาดทุนได้ และในภาวะวิกฤตที่เกิดขึ้น ตลาดทุนเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับเอสเอ็มอีในการหาแหล่งเงินทุนเพื่อเสริมสภาพคล่องให้กิจการ

“ก.ล.ต.ริเริ่มให้การส่งเสริมและสนับสนุนให้เอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินทุนในตลาดทุนได้ตั้งแต่ปี 2562 ตามนโยบายของนางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ ก.ล.ต. ที่ต้องการให้ตลาดทุนเป็นของกิจการทุกประเภท โดยเฉพาะเอสเอ็มอีสามารถใช้ประโยชน์จากตลาดทุนได้เหมือนกิจการขนาดใหญ่” ไพบูลย์ ดำรงวารี ผู้อำนวยการฝ่ายจดทะเบียนหลักทรัพย์ 2 ก.ล.ต. กล่าวถึงนโยบายสนับสนุนเอสเอ็มอีในช่วงที่ผ่านมา

 

3 ช่องทางระดมทุนเอสเอ็มอี-สตาร์ทอัพ

ปัจจุบันก.ล.ต.ได้พัฒนาช่องทางการระดมทุนสำหรับเอสเอ็มอี และสตาร์ทอัพ ใน 3 ช่องด้วยกัน ได้แก่

  1. การระดมทุนจากผู้ลงทุนในวงจำกัด หรือ Private Placement (PP) 
  2. การระดมทุนจากประชาชนผ่าน Crowdfunding (CF) ผ่าน Funding portal ที่ได้รับอนุญาตจาก ก.ล.ต.  
  3. การระดมทุนจากผู้ลงทุนในวงกว้าง โดยมีตลาดรองเพื่อรองรับการซื้อขายหุ้นเอสเอ็มอีโดยเฉพาะ ซึ่งแนวทางที่ 3 อยู่ระหว่างการทำประชาพิจารณ์

ไพบูลย์ กล่าวว่า ที่ผ่านมา ก.ล.ต. พยายามแก้ไขข้อจำกัด กฎเกณฑ์ต่าง ๆ ในแต่ละช่องทาง เพื่อปลดล็อกให้เอสเอ็มอีสามารถระดมทุนผ่านช่องทางต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น อย่างกรณี Crowdfunding ก.ล.ต.เปิดให้เอสเอ็มอีระดมทุนในรูปแบบหุ้นหรือหุ้นกู้ได้ ซึ่งได้รับความสนใจและเติบโตสูงในช่วงที่ผ่านมา และล่าสุดคือตลาดรองการระดมทุนสำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ที่มีการผ่อนคลายกฎเกณฑ์ต่าง ๆ เพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายให้กับเอสเอ็มอี เช่น ไม่ต้องมีที่ปรึกษาทางการเงิน ไม่ต้องรายงานงบการเงินทุก 3 เดือน 6 เดือน แต่ต้องเปิดเผยข้อมูลให้นักลงทุนรับทราบ เป็นต้น

สำหรับเงื่อนไขการระดมทุนในแต่ละช่องทาง มีดังนี้ 

  1. ช่องทาง PP ผู้ระดมทุน เป็นบริษัทจำกัด ที่ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการส่งเสริมการระดมทุนผ่านตลาดทุนกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ผู้ลงทุน เป็นทั้งนักลงทุนสถาบัน ธุรกิจร่วมลงทุน (VC) หรือ นักลงทุนอิสระ (Angel Investor) รวมถึงกรรมการและพนักงานของบริษัท และนักลงทุนรายย่อย ไม่เกิน 10 ราย และมูลค่าไม่เกิน 20 ล้านบาท
  2. การระดมทุนผ่านระบบ Crowdfunding ซึ่งเป็นเทคโนโลยีทางการเงิน ที่เปิดให้ทั้งบริษัทจำกัด และบริษัทมหาชนจำกัด สามารถระดมทุนจากประชาชนได้ผ่าน Funding portal ที่ได้รับอนุญาตจากสำนักงาน ก.ล.ต. ในรูปของหุ้น หรือหุ้นกู้ให้แก่ผู้ลงทุนเป็นสิ่งตอบแทน ซึ่งภายหลังการระดมทุนสำเร็จ ผู้เสนอขายจะต้องรายงานการใช้เงินลงทุนและความคืบหน้าของโครงการธุรกิจอย่างต่อเนื่อง
  3. การระดมทุนจากผู้ลงทุนในวงกว้างผ่าน SME Board โดยผู้ระดมทุนจะต้องเป็นเอสเอ็มอีหรือสตาร์ทอัพที่เป็นบริษัทมหาชนจำกัด ที่มีผลการดำเนินงานมาเป็นระยะเวลาหนึ่ง หรือมีมูลค่ากิจการระดับหนึ่งแล้ว เช่น เอสเอ็มอีขนาดกลางตามคำนิยามของสสว. ส่วนผู้ลงทุน จะต้องมีความรู้และประสบการ์ระดับหนึ่งและสามารถรองรับความเสี่ยงได้ ซึ่งก.ล.ต.จะสรุปขั้นตอนการดำเนินงานของ SME Board ภายในปีนี้ และเริ่มซื้อขายได้ในปี 2565 เป็นต้นไป

 

กระตุ้น SMEs ใช้ช่องทางระดมทุนเสริมสภาพคล่อง

การระดมทุนผ่านช่องทางต่าง ๆ ของตลาดทุน เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ช่วยเอสเอ็มอีลดต้นทุน โดยไม่ต้องเสียดอกเบี้ย ยิ่งในภาวะวิกฤตโควิดที่เกิดขึ้น เอสเอ็มอีมีปัญหาสภาพคล่อง การระดมทุนถือเป็นสิ่งจำเป็น โดยช่องทางแหล่งทุนของก.ล.ต.สามารถเข้าไปเป็นอีกทางเลือกให้กับผู้ประกอบการได้ ขึ้นอยู่กับผู้ประกอบการอยู่ในลักษณะกิจการแบบใด ขนาดกิจการ ที่เหมาะสมกับช่องทางการระดมทุนแบบใด

สำหรับยอดการระดมทุนของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในช่องทางต่าง ๆ ของก.ล.ต. ตั้งแต่ปี 2562 – สิงหาคม 2564 มีดังนี้ การระดมทุนแบบวงแคบ (SME-PP) มีมูลค่ารวม 204.08 ล้านบาท การระดมทุนผ่านระบบคราวด์ฟันดิง มูลค่ารวม 479.97 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นการระดมทุนแบบหุ้นกู้ถึง 421.89 ล้านบาท ถือเป็นช่องทางที่ได้รับความนิยมและเติบโตเพิ่มขึ้นตามลำดับ

“เราพยายามอัพเดทสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ พยายามหาช่องทางใหม่ ๆ ผ่อนคลายกฎเกณฑ์ต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้สะดวก และง่ายมากขึ้น โดยไม่สร้างภาระทางการเงินให้ผู้ประกอบการ อย่างการออกโปรดักส์ใหม่ล่าสุด Real Estate-backed ICO หรือโทเคนดิจิทัล ที่มีอสังหาริมทรัพย์เป็นหลักทรัพย์อ้างอิง” ไพบูลย์กล่าว

Real Estate-backed ICO เป็นการสนับสนุนให้นำเทคโนโลยีมาใช้ในตลาดทุนเพื่อเพิ่มช่องทางในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการ และเพิ่มทางเลือกให้กับผู้ลงทุน Real Estate-backed ICO เป็นการระดมทุนที่มีสินทรัพย์รองรับ โดยผู้ออก Real Estate-backed ICO สามารถนำเงินที่ระดมทุนได้จากการออก ICO ไปลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ ได้ 3 วิธี คือ 

  1. ซื้ออสังหาริมทรัพย์นั้นโดยตรง 
  2. ซื้อหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงไม่น้อยกว่า 75% ของบริษัทที่ถือครองอสังหาริมทรัพย์นั้น
  3. ลงทุนในสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์

นี่เป็นตัวอย่างของนวัตกรรมการลงทุนใหม่ ๆ ที่สำนักงาน ก.ล.ต. พยายามพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ก้าวทันเทคโนโลยีและการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในโลกปัจจุบัน เพื่อเพิ่มโอกาสและทางเลือกใหม่ ๆ ในการระดมทุน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการสนับสนุนกิจการขนาดต่าง ๆ รวมถึง SMEs ให้เติบโต และเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันในอนาคต โดยยังคงให้ความสำคัญกับการคุ้มครองผู้ลงทุนอย่างเพียงพอเหมาะสม ซึ่งถือเป็นพันธกิจสำคัญที่ ก.ล.ต. ยึดมั่นมาโดยตลอด

บทความแนะนำ