รากฐานสำคัญที่จะทำให้แบรนด์ และสินค้าได้รับความไว้วางใจจากผู้บริโภค จากตลาดไม่ว่าจะในประเทศ หรือต่างประเทศ และสามารถดำรงอยู่ได้อย่างยั่งยืน คือ มาตรฐานคุณภาพ และความปลอดภัยในด้านต่างๆ
ดังนั้นเพื่อให้แน่ใจได้ว่าสินค้า จะผ่านมาตรฐานในประเทศ และมาตรฐานระดับสากล เพื่อส่งออกได้หรือไม่นั้น ต้องได้รับการตรวจสอบ และประเมินผลจากห้องปฏิบัติการที่มีความพร้อมทั้งด้านผู้เชี่ยวชาญ, องค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ และการตรวจวิเคราะห์, เครื่องมือทันสมัย และความแม่นยำ
ด้วยเหตุนี้แล็บด้านการตรวจสอบ จึงมีบทบาทสำคัญต่อสินค้า ซึ่งในประเทศไทยหนึ่งในผู้ให้บริการด้านนี้คือ “บริษัท ศูนย์ห้องปฏิบัติการและวิจัยทางการแพทย์และการเกษตรแห่งเอเซีย จำกัด” (Asia Medical and Agricultural Laboratory and ResearchCenter) หรือเรียกว่า “AMARC” (เอมาร์ค) แล็บตรวจสอบ วิเคราะห์ รายงาน และรับรองผลในด้านอาหาร เกษตรกรรม ยา สมุนไพร สุขภาพและสิ่งแวดล้อม ครอบคลุมทั้งมาตรฐานในประเทศ และระดับสากล
ทำความรู้จัก “AMARC” แล็บครบวงจรของไทย
“AMARC” ก่อตั้งขึ้นในปี 2551 โดยกลุ่มแพทย์ และนักวิทยาศาสตร์ของโรงพยาบาลลาดพร้าว ให้บริการตรวจสอบวิเคราะห์ และรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์อาหาร การเกษตร และยา เพื่อสร้างความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัย และคุณภาพชีวิตของผู้บริโภค ขณะเดียวกันเป็นส่วนหนึ่งของพัฒนาคุณภาพในอุตสาหกรรมอาหาร การเกษตร และยา ในฐานะเป็นแล็บผู้ให้บริการครบวงจรใน 6 ด้านหลัก ประกอบด้วย
ด้วยความหลากหลายของบริการที่ครบวงจร ทำให้ AMARC มีห้องปฏิบัติการที่ครอบคลุม ไม่ว่าจะเป็น ห้องปฏิบัติการเคมี, ห้องปฏิบัติการจุลชีววิทยา, ห้องปฏิบัติการอณูชีววิทยา, ห้องปฏิบัติการสิ่งปลอมปน, ห้องปฏิบัติการทางการแพทย์, ห้องปฏิบัติการทางเภสัช, ห้องปฏิบัติการทางสมุนไพร, ห้องปฏิบัติการเกี่ยวกับปัจจัยผลิตทางการเกษตร, ห้องปฏิบัติการวัตถุอันตราย, ปุ๋ย และยาฆ่าแมลง
รศ.นพ.วิรัตน์ วงศ์แสงนาคประธานกรรมการบริษัทและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท ศูนย์ห้องปฏิบัติการและวิจัยทางการแพทย์และการเกษตรแห่งเอเซีย จำกัดให้สัมภาษณ์ว่าลูกค้า AMARC มีหลายหลาย โดยหลักประกอบด้วย
“AMARC เป็น Third Party ไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียใดๆ เราทำหน้าที่ตรวจสอบ วิเคราะห์ และรับรองผล เช่น ผู้ประกอบการส่งสินค้ามาให้เราตรวจสอบคุณภาพ และมาตรฐาน เมื่อทดสอบเสร็จ เราจะออกเป็น Certificate of Analysis คือ ใบรายงานผลการทดสอบ จากนั้นผู้ประกอบการจะนำใบรายงานผลนี้ ไปดำเนินการต่อตามวัตถุประสงค์ของเขา
ยกตัวอย่างผู้ประกอบการต้องการทำตลาดผลิตภัณฑ์อาหารกระป๋อง จะส่งผลิตภัณฑ์มาให้เราทดสอบ ทาง AMARC ทำการทดสอบ และตรวจสอบตามที่กฎหมายกำหนดเช่น อาหารในภาชนะปิดสนิท ต้องมีความปลอดภัยอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นโลหะหนัก, สารเคมี, สิ่งปนเปื้อน, วัสดุที่ใช้ทำบรรจุภัณฑ์ เมื่อทดสอบและวิเคราะห์เสร็จ เราจะรายงานผลกลับไป แต่ถ้าผู้ประกอบการต้องการส่งสินค้าไปยังตลาดต่างประเทศ กฎหมายแต่ละประเทศ มีค่ากำหนดแตกต่างกัน เราก็จะให้คำแนะนำ และรายงานผลตามการทดสอบ”
“ผัก - ผลไม้ไทย” โดดเด่นในตลาดโลก
หนึ่งในเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย คือ ภาคการส่งออก แต่จากสถานการณ์ COVID-19 ที่กระทบทั่วโลก มีผลให้ภาพรวมการส่งออกของไทยหดตัวอย่างรุนแรง
จากรายงานนโยบายการเงิน ฉบับเดือนธันวาคม 2563 ธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าคาดว่าจะหดตัว 7.4% ในปี 2563 ขณะที่ปี 2564 และปี 2565 คาดการณ์ว่าการส่งออกมีแนวโน้มขยายตัว 5.7% และ 5% ตามลำดับ
โดยล่าสุดกระทรวงพาณิชย์ รายงานตัวเลขการส่งออกเดือนมิถุนายน 2564 มูลค่าอยู่ที่ 23,699.43 ล้านเหรียญสหรัฐฯหรือคิดเป็น 738,135.34 ล้านบาท ขยายตัว 43.82% ถือว่าเป็น New High ในรอบ 11 ปี โดยสินค้าที่ขยายตัวสูง อันดับหนึ่งคือ อาหาร และสินค้าการเกษตร เช่น ผัก, ผลไม้ ทั้งสด แช่แข็ง แช่เย็น และแปรรูป
ตลาดหลักคือ จีน, ญี่ปุ่น, สหรัฐฯ, สหภาพยุโรป และอาเซียน ส่วนตลาดรองลงมา เช่น ตลาดแถบเอเชียใต้, ตลาดตะวันออกกลาง, แอฟริกา, ลาติน และออสเตรเลีย
“สินค้าอาหาร และการเกษตรของไทย ถือว่าทำได้ดีในตลาดโลก ที่ผ่านมาลูกค้ารายใหญ่ของประเทศไทย คือ สหรัฐฯ, สหภาพยุโรป (EU) และญี่ปุ่น นอกจากนี้ในปัจจุบันอาเซียน และจีน ยังเป็นตลาดส่งออกสำคัญของไทย ในอาเซียน กำลังมีการประชุมกันถึงเรื่องการออกกติกามาตรฐานด้านอาหารในกลุ่มประเทศอาเซียนด้วยกันเอง ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคนี้ร่วมกันกำหนดขึ้น
ดังนั้นผู้ประกอบการ SMEs ถ้าจะไปตลาดต่างประเทศ อย่าเพิ่งมองไกล ควรมองตลาดในกลุ่มอาเซียนก่อน เช่น ลาว, กัมพูชา, เวียดนาม, อินโดนีเซีย เพื่อพยายามผลักดันธุรกิจให้เติบโตมากกว่าการบริโภคเฉพาะภายในประเทศ (InternalConsumption)” รศ.นพ.วิรัตน์ฉายภาพโอกาสธุรกิจอาหาร - สินค้าการเกษตรของไทยในตลาดต่างประเทศ
ตั้งเป้าเป็น “แล็บชั้นนำของเอเชีย”
เป้าหมายระยะยาวของ AMARC คือ มุ่งสู่การเป็นแล็บชั้นนำของเอเชีย ให้สมกับชื่อ “Asia Medical and Agricultural Laboratory and ResearchCenter” ด้วยจุดแข็งการเป็นแล็บครบวงจร จึงสามารถให้บริการลูกค้าได้หลายกลุ่ม
“เราอยากขึ้นไปยืนในระดับภูมิภาคเอเชีย ไม่ใช่แค่เป็นหนึ่งเฉพาะในประเทศ ซึ่งเราให้บริการครบวงจรทั้งการทดสอบ สอบเทียบเครื่องมือ มีหน่วยตรวจ หน่วยรับรอง ที่ครอบคลุมทั้งยา อาหาร การเกษตร และความหลากหลายของมาตรฐานสินค้า เช่น GMP, HACCP, GAP
เพราะฉะนั้นการเติบโตของ AMARC จะไปในแนวทางการให้บริการที่หลากหลาย และกว้างขวาง รวมไปถึงสร้างความน่าเชื่อถือของการทดสอบในระดับภูมิภาค” รศ.นพ.วิรัตน์ สรุปทิ้งท้ายถึงเป้าหมาย
ปัจจุบันประเทศไทย ให้ความสำคัญกับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SMEs เป็นอย่างมาก เนื่องจาก SMEs เป็นรากฐานของธุรกิจไทย และยังเป็นรากฐานทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนของประเทศ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ สสว. รายงานว่าตัวเลขผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและย่อมในปัจจุบันมีประมาณ 3.15 ล้านราย หรือประมาณ 99.5 เปอร์เซ็นต์ของธุรกิจรวมทั้งประเทศ และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมห่งชาติ ยังรายงานตัวเลขรายได้ของธุรกิจ SMEs โดยรวม เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาว่า ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมสามารถทำรายได้ให้กับประเทศมากกว่า 1.41 ล้านล้านบาทคิดเป็นสัดส่วนต่อ GDP รวมทั้งประเทศเท่ากับ 34.7 เปอร์เซ็นต์
เพื่อพัฒนาผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SMEs ให้มีศักยภาพสามารถแข่งขันและสร้างผู้ประกอบการที่เข้มแข็งให้สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ ISMED เป็นหนึ่งในหน่วยงานภาครัฐที่มีภารกิจหลักในการสนับสนุน SMEs มากกว่า 10,000 ราย ต่อปีจึงพร้อมตั้งเป้าพา SMEs รุกตลาดต่างประเทศ อาทิ จีน อาเซียน และ ตะวันออกกลาง
ธนนนทน์ พรายจันทร์ ผู้อำนวยการ สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ ISMEDกล่าวว่า ISMED เป็นสถาบันเครือข่าย เป็นหน่วนงานวิชาการที่ให้คำปรึกษา แนะนำเชิงวิชาการให้กับ SMEs โดยมุ่งเน้นการสนับสนุนในเรื่องของการปรับแผนธุรกิจ รวมถึง เป็นศูนย์ให้คำปรึกษาแนะนำทางวิชาการเพื่อที่จะทำให้ SMEs อยู่รอดและเติบโตได้อย่างยั่งยืน
“เราทำหลายเรื่องการจัดอบรมเป็นภาพที่คนเห็น แต่งานเรา เราทำแทบจะครบทุกด้านเลย ตั้งแต่เรื่องของการเสริมสร้างระบบบริหารจัดการให้กับธุรกิจ ที่ต้องการพัฒนาเรื่องการตลาด พัฒนาเรื่องผลิตภัณฑ์ กระบวนการผลิต พัฒนาบุคลากรภายใน เป็นต้น นอกจากนี้ยังสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการกับเครือข่ายของการพัฒนาที่ปรึกษาทางธุรกิจและเผยแพร่องค์ความรู้ให้ทันกับผู้ประกอบการหรือบุคคลทั่วไปที่สนใจ” ธนนนทน์ กล่าวและว่า
ISMED ในส่วนของการให้การสนับสนุนผู้ประกอบการใหม่ (New entrepreneur) นั้น จะเริ่มต้นจากการสอนทำแผนธุรกิจ การหาแหล่งทุน และดำเนินการบ่มเพาะธุรกิจ โดยให้คำปรึกษาและติดตาม เพื่อช่วยแนะนำผู้ประกอบการระหว่างทางจนผู้ประกอบการสามารถที่จะดำเนินธุรกิจด้วยตนเองได้
นอกจากนี้ ISMED ยังมีการทำงานร่วมกับพันธมิตรใน 4 ด้านเพื่อให้เกิดผลและประสิทธิภาพมากที่สุด ประกอบด้วย กลุ่มผู้ประกอบการ กลุ่มที่ปรึกษาธุรกิจ หรือโค้ชธุรกิจ ผู้สนับสนุน และกลุ่มหน่วยงานภาครัฐ
ในส่วนของกลุ่มผู้ประกอบการนั้น ISMED จะเป็นการให้คำปรึกษาผู้ประกอบการใหม่และผู้ประกอบการที่อยู่ในตลาดอยู่แล้ว
สำหรับกลุ่มที่ปรึกษาธุรกิจหรือโค้ชธุรกิจนั้น ISMED ได้จัดทำเครือข่ายที่ปรึกษาธุรกิจเฉพาะสาขาเพื่อรองรับและสนับสนุนผู้ประกอบ โดยปัจจุบันมีโค้ช ที่พร้อมจะให้กับปรึกษากับผู้ประกอบการมากกว่า 3,000 รายโดยที่ปรึกษาธุรกิจหรือ โค้ชธุรกิจมี 3 รูปแบบ คือ Business Transformer หรือ ผู้บริหารระดับสูงที่มาถ่ายทอดประสบการณ์การทำธุรกิจให้กับผู้ประกอบการ Business Mentor หรือ ที่ปรึกษาธุรกิจ ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เช่น ที่ปรึกษาทางด้านการตลาด การพัฒนาผลิตภัณฑ์ การพัฒนาแพคเกจจิ้ง เป็นต้น และ กลุ่ม Technology expert หรือ ผู้เชี่ยวชาญทางด้านเทคโนโลยีและดิจิทัล เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับผู้ประกอบการได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น เทคโนโลยี Internet of thing ที่ช่วยให้การทำงานในส่วนของกระบวนการผลิตมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ทางด้านผู้สนับสนุน อาทิ สถาบันการเงิน หรือกลุ่มสมาคมที่เกี่ยวข้อง เช่น หากมีการจัดอบรม สัมมนา กลุ่มผู้สนับสนุนสามารถมาร่วมให้การสนับสนุนการอบรมหรือสัมมนาให้กับ SMEs และกลุ่มหน่วยงานภาครัฐ คือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับ SMEs และส่วนงานที่รับผิดชอบและดูแล SMEs อยู่แล้ว เช่น โครงการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย กระทรวงพานิชย์ เป็นต้น
“วิธีการทำงานของ ISMED เราเป็น Aggregate คือเราเป็นคนเชื่อมและอำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการ เราต้องอาศัย ผู้เชี่ยวชาญ มีลักษณะการทำงานแบบเครือข่าย อยากให้ SMEs ขายได้ทำให้ธุรกิจเค้าประสบความสำเร็จหาตลาดได้ สามารถผลิตสินค้าออกมามีคุณภาพ วิธีการทำงานของเรา เราจะใช้ที่ปรึกษาหรือโค้ช เข้าไปศึกษาปัญหาของเค้า แล้วมาวิเคราะห์ ว่าถ้าจะทำให้บรรลุเป้าหมายจะต้องทำอย่างไร และเราก็จะมีทีมที่ปรึกษาและโค้ชหลายๆด้าน ไปช่วยปรับปรุง ช่วยแนะนำ หากเค้าต้องการสนับสนุน งบประมาณ เราจะเชื่อมโยงกับสถาบันการเงินให้ เราจะช่วย SMEs รายย่อยให้มีความเข้มแข็ง มีความเป็นมืออาชีพเนื่องจากการพัฒนาธุรกิจเป็นเรื่องของระยะเวลา และความต่อเนื่อง” ธนนนทน์ กล่าว
สำหรับภาคอุตสาหกรรมที่ ISMED มีความเชี่ยวชาญและได้ให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่องคือ ธุรกิจบริการที่เกี่ยวข้องการท่องเที่ยว การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว เป็นต้น โดยเข้าไปร่วมสนับสนุนและช่วยพัฒนาในลักษณะการทำแผนยุทธศาสตร์เพื่อการปฎิบัติจริง มีการพัฒนาเครือข่ายผู้ประกอบการ พัฒนาท่องเที่ยวมูลค่าสูง เช่น ธุรกิจสปา เป็นต้น
“เราช่วยผู้ประกอบการพัฒนาธุรกิจให้อยู่รอดและดีขึ้น การที่จะทำให้เค้าอยู่รอดและดีขึ้น มันมีหลายองค์ประกอบ หากเค้ามีความตั้งใจก็ประสบความสำเร็จ เราจะเป็นคนช่วยติดกระดุมเม็ดแรกให้ถูก ความสำเร็จมันเริ่มต้นจากกระดุมเม็ดแรก และที่เหลือจะต้องอาศัยองค์ประกอบอื่นๆตามมา ที่ผ่านมา ISMED มองว่าเราเป็นตัวช่วยที่ทำให้การติดกระดุมเม็ดแรกถูก” ธนนนทน์ กล่าว
ISMED ยังมีเป้าหมายที่จะส่งเสริมผู้ประกอบการสร้างสินค้ามูลค่าสูง ผลักดันผู้ประกอบการนำเอาเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ให้เป็นประโยชน์สูงสุด และส่งเสริมผู้ประกอบการขยายตลาดไปยังตลาดต่างประเทศเพื่อการเติบโตและความยั่งยืนของผู้ประกอบการด้วย เนื่องจากผู้ประกอบการจต้องเติมทักษะทางด้านการทำตลาดต่างประเทศ เช่น การเข้าใจวัฒนธรรม และการลาดของแต่ละประเทศ รวมถึงเสริมทักษะทางด้านดิจิทัล เพื่อให้สามารถทำตลาดให้สามารถสร้างรายได้จากผู้บริโภคที่อยู่บ้าน หรือ Work from home ด้วย เนื่องจากผู้ประกอบการไทยมีศักยภาพสูง และมีโอกาสที่จะสามาถขยายตลาดไปยังต่างประเทศได้อย่างมากด้วยสินค้าที่มีการเพิ่มมูลค่า เช่น สินค้าเกษตร มีการนำไปเพิ่มคุณภาพและคุณค่าโดยการนำไปสกัดทำเครื่องสำอาง และเครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น
นอกจากนี้ในแต่ละปี ISMED จะให้บริการผู้ประกอบการประมาณ 10,000 ราย และยังมีนโยบายในการนำพาผู้ประกอบการของไทยขยายธุรกิจไปยังตลาดต่างประเทศด้วย เช่น จีน มาเลเชีย อาเซียน และบาเรน เป็นต้น เพื่อรองรับการเติบโตของผู้ประกอบการไทย
นโยบายเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy: BCG Model)ถือเป้าหมายสำคัญของรัฐบาลชุดนี้ ล่าสุดเดือนกรกฎาคม2564 คณะกรรมการบริหารการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว ได้เคาะโมเดลขับเคลื่อน BCG พ.ศ. 2564-2570 รวม 13 มาตรการหลัก ตั้งเป้าพลิกโฉมเศรษฐกิจทุกด้านใน 7 ปี เน้นสร้างเศรษฐกิจสีเขียว ท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ
สำหรับ 13 มาตรการ อาทิ พัฒนาคลังข้อมูลดิจิทัลของทุนความหลากหลายทางชีวภาพ ทุนวัฒนธรรม และทุนทางปัญญา พัฒนาระเบียงเศรษฐกิจ BCG พัฒนาสินค้าและบริการด้วยหลักการ BCG เชื่อมโยงการเกษตรทางเลือก/เกษตรสมัยใหม่ พัฒนาคุณภาพและความปลอดภัยของอาหารริมทาง และอาหารท้องถิ่นด้วยการยกระดับด้วยเครื่องจักรผลิตอาหาร สร้างตลาดเพื่อรองรับนวัตกรรมของสินค้าและบริการ BCG อาทิ การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ส่งเสริมฉลากที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว เช่น ฉลากคาร์บอนฟุตพรินต์ ฉลากสีเขียว ยกระดับสินค้าและบริการ BCG สู่มาตรฐานการผลิตยั่งยืนด้วยการส่งเสริมการใช้นวัตกรรมสีเขียว และระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน ยกระดับมาตรฐานสินค้าและบริการ BCG สู่มาตรฐานสากลด้วยการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทั้งระบบ
จะเห็นว่าจาก 13 มาตรการหลัก การจะขับเคลื่อนให้สำเร็จได้ จะต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย ทั้งหน่วยงานรัฐ เอกชน และประชาชนทุกภาคส่วน อาทิ การสนับสนุนให้ผูู้ประกอบการผลิตสินค้าภายใต้มาตรฐาน BCG เพื่อรับฉลากที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว อย่างฉลากคาร์บอนฟุตพรินต์ ฉลากสีเขียว
วันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม(สมอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะหน่วยงานผู้กำหนดมาตรฐานสินค้า BCG กล่าวถึงบทบาทสมอ.ต่อนโยบาย BCG ของรัฐบาล ว่า ในบริบทของสมอ.นั้น มีหน้าที่ดำเนินการให้ประสบผลสำเร็จ ปัจจุบันสมอ.อยู่ระหว่างจัดทำมาตรฐานที่เกี่ยวกับบีซีจี เน้นมาตรฐานที่จำเป็นลำดับแรกๆ โดยเฉพาะเรื่องความปลอดภัยของผู้บริโภค แต่หากมาตรฐานใดไม่เกี่ยวกับความปลอดภัย จะดำเนินการในช่วงท้ายๆ เพราะต้องดูตามความจำเป็นเร่งด่วนก่อน
ล่าสุด สมอ. ได้จัดทำมาตรฐานผลิตภัณฑ์สินค้าแล้ว 434 มาตรฐาน แบ่งเป็น ผลิตภัณฑ์ชีวภาพ 301 มาตรฐาน อาทิ พลาสติกใช้ครั้งเดียว ถุง หลอดดูด ผลิตภัณฑ์วัสดุหมุนเวียน 65 มาตรฐาน อาทิ กระดาษเช็ดหน้า ยางล้อแบบสูบลมหล่อดอกซ้ำ และผลิตภัณฑ์เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 68 มาตรฐาน อาทิ มาตรฐานน้ำมันยูโร 4 มาตรฐานน้ำมันยูโร 5 ผู้ประกอบการที่สนใจสามารถสอบถามข้อมูลมาที่สมอ.ได้
"ทั้งหมดที่สมอ.ประกาศไป มีเป้าหมายเพื่อชี้นำผู้ประกอบการให้ผลิตสินค้ามาตรฐาน BCG คือ ผลิตสินค้าให้ได้ฉลากเขียว เน้นไบโอ เน้นกรีน การจะทำผลิตภัณฑ์ สมอ.มีมาตรฐานใช้อ้างอิง ผู้ประกอบการต้องทำให้ได้ตามนี้ มาตรการที่ออกมาตอนนี้ส่วนใหญ่เป็นมาตรฐานทั่วไป มีบางประเภทที่กำหนดเป็นมาตรฐานบังคับ เพราะมาตรฐานเหล่านี้ต้องให้เวลาผู้ประกอบการในการปรับตัวด้วย" เลขาธิการสมอ.ระบุ
กลุ่มที่กำหนดเป็นมาตรฐานบังคับ ส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มสินค้ากรีน ซึ่งมีหลายประเภท เพราะกรีนจะเกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม อาทิ น้ำมันยูโร4 ยูโร5 ยางล้อ ก๊อกน้ำ โถส้วม แม้ไม่เกี่ยวกับความปลอดภัยซะทีเดียว แต่เนื่องจากเกี่ยวข้องกับการประหยัดน้ำ เครื่องปรับอากาศหรือแอร์ ต้องประหยัดไฟเบอร์5 โดยคณะรัฐมนตรี(ครม.) มีมติให้บังคับ
ขณะที่ปัจจุบันบางประเทศเริ่มมีมาตรการ BCG อย่างจริงจัง อาทิ ประเทศญี่ปุ่น สินค้าพลาสติกที่จะส่งไปขาย รัฐบาลญี่ปุ่นกำหนดแล้วว่าสินค้าจะต้องระบุชัดเจนว่ามีส่วนประกอบการการรีไซเคิลกี่เปอร์เซ็นต์ หากไม่มีส่วนประกอบการของการรีไซเคิลเลย บางชนิดทางญี่ปุ่นไม่อนุญาตให้ส่งออกไปญี่ปุ่นแล้ว
นอกจากนี้ในประเทศยุโรปบางประเทศ ล่าสุดมีการกำหนดว่า ถ้าสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าไม่มีส่วนประกอบรีไซเคิลตามที่กำหนด หรือมีวัสดุที่ทำลายไม่ได้ด้วยธรรมชาติตามที่กำหนด ประเทศเหล่านั้นก็จะไม่อนุญาตให้ส่งสินค้าไปขายเช่นกัน
“เวลานี้มาตรฐานเหล่านั้นยังไม่รุนแรงมากนัก คาดว่าอีก 3-5 ปีข้างหน้าจะแรงขึ้นเรื่อยๆ ถึงตอนนั้นประเทศไทยจะตื่นตัวกันมากขึ้นเอง เมื่อเทียบกับตอนนี้ที่ยังไม่ค่อยมีคนทำ ทั้งหน่วยงานรัฐและผู้ประกอบการ ประกอบกับเวลานี้เกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา2019 หรือโควิด-19 จึงถือเป็นอุปสรรคที่สำคัญเลยทีเดียว”
วันชัย กล่าวว่า แม้จะมีอุปสรรคในการช่วยเหลือผู้ประกอบการผลิตสินค้าตามมาตรฐานBCG จากปัจจัยแวดล้อมต่างๆ แต่สมอ.ก็ต้องเดินหน้าสนับสนุนต่อไป อย่างปีงบประมาณ 2564 สมอ.ได้งบประมาณมาสนับสนันผู้ประกอบการประมาณ 2 ล้านกว่าบาท แต่จนถึงปัจจุบันยอมว่ายังไม่มีการใช้งบประมาณดังกล่าวเลย เพราะผู้ประกอบการไม่พร้อม
ในปีงบประมาณ 2565 ที่จะถึงนี้ สมอ.จึงปรับแนวการทำงาน โดยจะเดินหน้าสนับสนุนผู้ประกอบการเข้าสู่มาตรฐานบีซีจีให้เข้มข้นขึ้น เบื้องต้นมีแนวคิดว่าจะเชิญผู้ผลิตสินค้าแบรนด์ดัง อาทิ เครือเอสซีจี เครือปตท. ให้ช่วยมานำร่อง เป็นตัวอย่างให้ผู้ประกอบการที่ส่วนใหญ่เป็นขนาดกลางและขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอี หวังว่าจะช่วยสร้างแรงจูงใจ เพราะกลุ่มบริษัทเหล่านี้มีศักยภาพ พร้อมในทุกด้าน ทั้งเงินทุน เทคโนโลยี องค์ความรู้ น่าจะให้คำแนะนำที่ดี สร้างโอกาสในการผลิตสินค้าตามมาตรฐานBCG มากขึ้น
ขณะเดียวกัน สมอ.จะเดินหน้าหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดทำอินเซนทีฟของภาครัฐที่เป็นรูปธรรม เพื่อแรงจูงใจให้กับผู้ประกอบการ เชื่อว่าถ้าแรงสนับสนุนมาจากทุกฝ่าย ทั้งแกนบน แกนกลาง และแกนล่าง จะทำให้การกำหนดมาตรฐานสินค้าภายใต้นโยบายBCG ของไทยมีความคืบหน้ามากขึ้น และสำเร็จตามเป้าหมายของรัฐบาล
“ปัจจุบันประเทศชั้นนำอย่างยุโรป สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ต่างตั้งเป้าหมายสู่ BCG ในช่วงปี 2573-75 นั่นแสดงว่าทุกประเทศรู้ว่าไม่ใช่เรื่องง่าย นโยบายนี้ต้องใช้เวลาดำเนิน ภายใต้ความร่วมมือจากทุกภาคส่วนจริงๆ”เลขาธิการสมอ.กล่าวทิ้งท้าย
รากฐานเศรษฐกิจที่มั่นคงมีกลไกสำคัญหนึ่งที่ขาดไม่ได้คือ ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SMEs สำหรับประเทศไทยปัจจุบันมีผู้ประกอบการ SMEs ประมาณ 3 ล้านราย มีการจ้างงานเกือบ 12 ล้านคน ซึ่งการจะพัฒนา SMEs ไทยให้มีศักยภาพ และกลายเป็นฐานรากของเศรษฐกิจไทยได้นั้น จะต้องมีการสนับสนุนให้เกิดการลงทุนจากภาครัฐด้วย
นฤตย์ เทอดสถีรศักดิ์ รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวถึงภารกิจในการสนับสนุน SMEs ไทยในปัจจุบันว่า หลายคนอาจจะเข้าใจว่าบทบาทของบีโอไอคือส่งเสริมบริษัทต่างชาติเป็นหลัก แต่นั่นคือความเข้าใจผิด เพราะความจริงที่ผ่านมาบีโอไอให้ความสำคัญและส่งเสริมผู้ประกอบการไทยเป็นจำนวนมาก และส่วนใหญ่เป็นโครงการ SMEs
โครงการลงทุนของ SMEs ไทย ส่วนใหญ่เป็นกิจการด้านดิจิทัล อาทิ การพัฒนาซอฟต์แวร์ ดิจิทัลคอนเทนต์ และการให้บริการด้านดิจิทัล รองลงมาเป็นกิจการแปรรูปสินค้าเกษตร การผลิตอาหาร การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน อุตสาหกรรมสนับสนุน อาทิ ชิ้นส่วนยานยนต์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนเครื่องจักร และผลิตภัณฑ์โลหะ นอกจากนี้ ในช่วง 5 ปีหลัง เริ่มมี SMEs ในกลุ่มกิจการด้านเทคโนโลยีมากขึ้น อาทิ การวิจัยและพัฒนา การออกแบบทางวิศวกรรม เทคโนโลยีชีวภาพ และบริการทดสอบทางวิทยาศาสตร์เป็นต้น
สำหรับปีนี้ บีโอไอเน้นส่งเสริมให้ SMEs ยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน มีมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพในด้านต่างๆ อาทิ การใช้พลังงานทดแทน การปรับเปลี่ยนมาใช้เครื่องจักรทันสมัยหรือระบบอัตโนมัติ การยกระดับอุตสาหกรรมเกษตรไปสู่มาตรฐานสากล อาทิ GAP, FSC, ISO 22000
“ในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 มีจำนวนคำขอตามมาตรการนี้ 83 โครงการ เงินลงทุน 12,270 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 13 จากปีก่อน”
รองเลขาธิการบีโอไอ ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า เมื่อเร็วๆ นี้ บีโอไอได้ออกมาตรการเพิ่มเติมด้านการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพ โดยส่งเสริมให้ผู้ประกอบการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการบริหารจัดการองค์กร และการผลิต หรือการให้บริการให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น ซึ่งมาตรการนี้จะช่วยกระตุ้นให้เกิดความต้องการใช้ดิจิทัล ทำให้เกิดการพัฒนาและการขยายตัวของอุตสาหกรรมดิจิทัลในประเทศตามมา
ทั้งนี้ โครงการที่ขอรับการส่งเสริมตามมาตรการนี้ ต้องมีเงินลงทุนในการปรับปรุงประสิทธิภาพไม่น้อยกว่า 1 ล้านบาท แต่สำหรับ SMEs จะลดเหลือเพียง 5 แสนบาท โดยต้องเสนอแผนลงทุนที่จะนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ยกระดับการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นการนำซอฟต์แวร์ ระบบ ERP หรือระบบ IT อื่นๆ เข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพขององค์กร หรือใช้ในการเชื่อมโยงข้อมูลกับระบบออนไลน์ของภาครัฐ อาทิ National E–Payment หรือการประยุกต์ใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) Machine Learning การใช้ Big Data หรือการวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analytics) โดยจะได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี ในสัดส่วนร้อยละ 50 ของเงินลงทุน
นฤตย์ กล่าวอีกว่า บีโอไอยังมีการสนับสนุน SMEs ในอีก 5 ด้านที่สำคัญ ประกอบด้วย
1.การให้สิทธิประโยชน์เพิ่มเติมสำหรับการลงทุนอื่นๆ ที่ไม่ใช่การปรับปรุงประสิทธิภาพ โดย SMEs ที่มีหุ้นไทยข้างมาก จะได้รับการผ่อนปรนเงื่อนไขเงินลงทุนขั้นต่ำเหลือเพียง 5 แสนบาท อนุญาตให้ใช้เครื่องจักรใช้แล้วในประเทศได้บางส่วนเพื่อลดต้นทุน และจะได้รับวงเงินยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็น 2 เท่าของเกณฑ์ทั่วไป เพื่อเป็นแต้มต่อให้กับ SMEs
3.มาตรการส่งเสริมให้ผู้ประกอบรายใหญ่ช่วยรายเล็ก โดยให้สิทธิประโยชน์เพิ่มเติมสำหรับกิจการที่ช่วยพัฒนา Local Suppliers ที่ส่วนใหญ่เป็น SMEs และมาตรการส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก โดยสนับสนุนให้นำวัตถุดิบในท้องถิ่นมาแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม และพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชนอย่างยั่งยืน โดยสนับสนุนหรือร่วมดำเนินการกับสหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
“บีโอไอจะร่วมกับเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชนผลักดันมาตรการเหล่านี้อย่างเข้มข้นมากขึ้น และขยายให้ครอบคลุม SMEs กลุ่มต่างๆ ทั้งภาคการผลิตและภาคบริการ โดยหวังว่าบีโอไอจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยเสริมศักยภาพให้ SMEs ไทยเข้มแข็งและเติบโตอย่างยั่งยืน” นฤตย์กล่าวทิ้งท้าย
การแข่งขันในอนาคตไม่ได้แข่งกันที่ค่าแรงอีกต่อไป แต่แข่งกันบนพื้นฐานความคิดสร้างสรรค์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมที่สามารถเพิ่มมูลค่าสินค้าให้แตกต่างจากคู่แข่ง และสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย หรือ วว. ก็ถือเป็นหน่วยงานชั้นนำในการบูรณาการงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรม หรือ วทน. สนับสนุนผู้ประกอบการ วิสาหกิจชุมชน ไปจนถึงเกษตรกรนำนวัตกรรมมาพัฒนาเพื่อยกระดับสินค้าให้มีมูลค่าเพิ่ม
ศ.(วิจัย) ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การดำเนินงานของ วว. มุ่งเน้นการบูรณาการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) ภายใต้การดำเนินงานที่เรียกว่า 4 Guiding Principles ประกอบด้วย
วทน. เพื่อเศรษฐกิจฐานชีวภาพ (Bio based Value Creation) วว.วิจัยและพัฒนาบนฐานของทรัพยากรชีวภาพ โดยมุ่งเน้นไปที่คลัสเตอร์เป้าหมายของประเทศ เริ่มตั้งแต่คลัสเตอร์เกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ ซึ่งจัดว่าเป็นอาชีพหลักของคนไทย ตามด้วยการแปรรูปอาหารเพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิตทางการเกษตร วิจัยและพัฒนาเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ พัฒนาด้านการแพทย์ครบวงจร รวมไปถึงพื้นที่สงวนชีวมณฑล
เทคโนโลยีที่เหมาะสม (Appropriate Technology) วว.ได้พัฒนาเทคโนโลยี ที่สามารถนำไปใช้ในการแก้ไขปัญหาหรือตอบสนองต่อความต้องการของผู้ใช้ประโยชน์ โดยเป็นเทคโนโลยีที่มีรูปแบบและเงื่อนไขในการใช้งานที่เหมาะกับการใช้งานได้จริง ทั้งในด้านต้นทุนและความซับซ้อนของเทคโนโลยี ที่สำคัญที่สุดคือ เหมาะสมกับสภาพแวดล้อม ในการเอื้อประโยชน์ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม สามารถสร้างอาชีพและยกระดับคุณภาพมาตรฐานให้กับผู้ประกอบการได้จริง
วทน.แก้ปัญหาเบ็ดเสร็จครบวงจร (STI (Science Technology and Innovation) for Total Solution) ให้บริการวิจัยและพัฒนาแก่ผู้ประกอบการ เอสเอ็มอี โอทอป วิสาหกิจชุมชน ตลอดจนเกษตรกรที่ต้องการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ หรือเพิ่มมูลค่าและแก้ไขปัญหาให้กับผลิตภัณฑ์เดิมที่มีอยู่แล้ว การดำเนินงานส่วนนี้ครอบคลุมความต้องการของผู้ประกอบการ ผ่านการรับฟังแนวคิด และปัญหาของผู้ประกอบการก่อน แล้วจึงนำมาวิจัยและพัฒนา ทั้งการสร้างและออกแบบผลิตภัณฑ์ต้นแบบ และแก้ไขปัญหาของผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่แล้ว รวมถึงให้บริการวิเคราะห์ ทดสอบ สอบเทียบ ผ่านศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมที่สร้างขึ้นเพื่อรองรับการวิจัย พัฒนาและบริการอุตสาหกรรม ที่ตอบสนองต่อความต้องการของภาคเอกชนและชุมชน
วทน. เพื่อชุมชน (STI for Area Based) มุ่งตอบโจทย์ความต้องการของชุมชนในพื้นที่ต่าง ๆ ด้วยการสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาเชิงพื้นที่ ช่วยเหลือผู้ประกอบการอย่างทั่วถึง สร้างเครือข่ายความร่วมมือกับหน่วยงานการศึกษาต่าง ๆ ในพื้นที่ นับเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน
เพื่อรองรับเทรนด์สุขภาพและการพัฒนาอย่างยั่งยืน วว. ได้มีการขับเคลื่อนโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมทางด้านจุลินทรีย์โพรไบโอติกส์ และ BCG Model เพื่อสร้างธุรกิจใหม่ให้แก่ผู้ประกอบการ
เริ่มจากนวัตกรรมทางด้านจุลินทรีย์โพรไบโอติกส์ ที่ผ่านมา วว. ได้มีการจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมการผลิตหัวเชื้อจุลินทรีย์เพื่ออุตสาหกรรมอาหาร (ICPIM) ทำหน้าที่วิจัยและพัฒนาสายพันธุ์จุลินทรีย์ ล่าสุดได้มีการพัฒนา “โพรไบโอติก” จุลินทรีย์สัญชาติไทยได้เป็นครั้งแรก เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมสามารถนำโพรไบโอติกสายพันธุ์ต่างๆ ของ ICPIM ไปเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับธุรกิจตนเองเพิ่มขึ้นไปอีกขั้น
สายันต์ ตันพานิช รองผู้ว่าการวิจัยและพัฒนาด้านอุตสาหกรรมชีวภาพ กล่าวว่า ICPIM ได้นำความหลากหลายทางชีวภาพของจุลินทรีย์ที่ถูกจัดเก็บอยู่ในคลังหัวเชื้อกว่า 10,000 ชนิด มาพัฒนาขยายผลในระดับห้องปฎิบัติการ ด้วยกระบวนการคัดสรรจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ต่อระบบทางเดินอาหาร กระทั่งพัฒนาให้เป็นโพรไบโอติกคุณภาพสูง และเป็นสายพันธุ์ที่โดดเด่นได้ถึง 15 สายพันธุ์ จาก 24 สายพันธุ์ที่เป็นที่นิยมใช้ในภาคอุตสาหกรรมอาหาร อาหารเสริม และเสริมความงามทั่วโลก และได้รับการขึ้นทะเบียนและใบอนุญาตจากองค์การอาหารและยา (อย.) เป็นสถานที่ผลิตประเภทวัตถุเจือปนอาหาร
ในช่วงที่ผ่านมา ICPIM ได้รับงบประมาณจากแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 จำนวน 154.13 ล้านบาท เพื่อนำมาใช้ในการลงทุนขยายกำลังการผลิตหัวเชื้อจุลินทรีย์ให้มีปริมาณมากเพียงพอต่อการสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมชีวภาพ ตามแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ของประเทศ
การได้รับเงินลงทุนเพิ่มขึ้นนี้ทำให้ ICPIM สามารถขยายการผลิตจุลินทรีย์เพิ่มขึ้นได้ถึง 25,000 ลิตรต่อปี จากเดิมที่ผลิตได้เพียง 15,000 ลิตรต่อปี ซึ่งเพียงพอต่อการสนับสนุนภาคอุตสาหกรรม ช่วยผู้ประกอบการลดต้นทุนจากการนำเข้าจุลินทรีย์จากต่างประเทศเพื่อนำมาพัฒนาผลิตภัณฑ์
“สินค้าที่มีส่วนผสมโพรไบโอติกกำลังเป็นเทรนด์ของผู้บริโภคในอนาคต หลังจากเกิดวิกฤต COVID-19 ทำให้ผู้คนหันมาเสริมสร้างภูมิคุ้มกันความแข็งแรงทางร่ายกาย ซึ่งโพรไบโอติกเป็นจุลินทรีย์ที่มีขนาดเล็กจัดเป็นกลุ่มจุลินทรีย์ชนิดดี สามารถพบได้ในอาหารหลายชนิด เช่น นมเปรี้ยว โยเกิร์ต กิมจิ ซุปมิโซะ เป็นต้น มีประโยชน์โดยตรงในการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกายให้ดีขึ้นแล้ว ยังสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย ครอบคลุมอุตสาหกรรมอาหาร เครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพื่อสุขภาพ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหารในการต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่ม และพัฒนาผลิตภัณฑ์ได้หลากหลายประเภท เช่น น้ำผลไม้น้ำตาลต่ำที่ดีต่อสุขภาพโดยไม่สูญเสียคุณภาพด้านรสชาติ น้ำตาลสุขภาพ เครื่องปรุงรส ขนมขบเคี้ยว ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากนม ฯลฯ ซึ่งมีประโยชน์ต่อการสร้างเสริมสุขภาวะที่ดีขึ้น” สายันต์ กล่าว
นอกจากนี้ วว. ยังนำความสำเร็จจากการใช้เทคโนโลยี การวิจัยและพัฒนาจากศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ (Expert Center of Innovative Agriculture: InnoAg) มาต่อยอดในโครงการ BCG โมเดล ให้กับเกษตรกร และวิสาหกิจชุมชนยกระดับสู่การเกษตรแบบยั่งยืนด้วยนวัตกรรมและสารชีวภัณฑ์ ยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกร ทั้งในด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมให้ปลอดภัยจากการใช้สารเคมี รวมถึงช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตทางการเกษตรและอุตสาหกรรมอาหารของไทยให้แข็งแกร่ง พร้อมแข่งขันในตลาดโลกได้อีกด้วย
ศ.(วิจัย) ดร.ชุติมา กล่าวว่า เกษตรกรในพื้นที่ส่วนใหญ่ประสบปัญหาคล้าย ๆ กัน โดยปัญหาหลักของเกษตรกรในพื้นที่มาจาก 3 ปัจจัย ได้แก่ ปัญหาด้านปัจจัยและฐานทรัพยากรการผลิต - ที่ดินทำกิน การเข้าถึงทรัพยากรน้ำ เกษตรกรรายย่อยขาดศักยภาพการผลิต ปัญหาเรื่องสุขภาวะของผู้ผลิตและผู้บริโภค - เกิดการตกค้างในสภาพแวดล้อม ในดิน รวมถึงตกค้างในผลผลิต ขาดความรู้ความเข้าใจเรื่องสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่ถูกต้อง และปัญหาด้านการตลาด – ปัญหาการส่งออกพืชผลทางการเกษตร ราคาผลผลิตตกต่ำ
“เราต้องการขับเคลื่อนเกษตรไทยให้เป็นเกษตรยั่งยืน วว. จึงเข้าไปพัฒนา BCG โมเดล ประกอบด้วย เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) 4 จังหวัดในเขตภาคกลางตะวันตกเป็นพื้นที่นำร่อง ได้แก่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี นครปฐม และกาญจนบุรี โดยเปิดโอกาสให้เกษตรเข้าสมัครในโครงการ เพื่อร่วมกันทดลองใน 3 กลุ่มสินค้าเกษตร ทั้งพืชไร่ พืชสวน และพืชผัก รวม 7 ชนิด ได้แก่ ข้าว อ้อย มันสำปะหลัง กล้วย ส้มโอ มะพร้าวน้ำหอม และ มะนาว สร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าเกษตรตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ”
ต้นน้ำ วว. จัดหาสารชีวภัณฑ์ให้เกษตรกรใช้สำหรับป้องกันกำจัดศัตรูพืช สร้างความปลอดภัยต่อสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อม เนื่องจากไม่มีสารพิษตกค้าง สามารถนำมาใช้เพิ่มผลผลิตพืชเศรษฐกิจการเกษตร ลดต้นทุนจากการใช้ปุ๋ยสารเคมี
กลางน้ำ ใช้เทคโนโลยีแปรรูปทางการเกษตร อาทิ ผลิตภัณฑ์ชงดื่มบำรุงกระดูกจากมะพร้าวน้ำหอม ซึ่งได้รับการทดสอบประสิทธิภาพของน้ำมะพร้าวในการกระตุ้นการสร้างคอลลาเจนใต้ผิวหนัง และการเสริมสร้างกระดูกในเซลล์กระดูกอ่อน , ไซรัปจากอ้อย น้ำตาลอ้อยชนิดก้อน และน้ำตาลอ้อยชนิดผง จากผลิตภัณฑ์จากอ้อย และเทคโนโลยีการผลิตผลิตภัณฑ์เวชสำอางจากกล้วยไข่ กล้วยหอม ส้มโอ และข้าว ที่มีคุณสมบัติยับยั้งการเกิดอนุมูลอิสระและการสร้างเม็ดสีผิว (กระ ฝ้า) เป็นต้น
ปลายน้ำ เป็นการนำของเสียมาเพิ่มมูลค่าให้กับเกษตรกร โดยพัฒนาบรรจุภัณฑ์ธรรมชาติจากขยะเหลือทิ้งทางการเกษตร เช่น ถาดเพาะกล้าอ้อยจากชานอ้อย ผลิตภัณฑ์กันกระแทกจากกาบกล้วย สร้างโอกาสและเพิ่มรายได้ให้กับผู้ประกอบการ ลดความเหลื่อมล้ำของเศรษฐกิจฐานราก
สำหรับผู้ประกอบการ SMEs วิสาหกิจชุมชน และเกษตรกร ที่สนใจสามารถขอคำปรึกษา และรับการสนับสนุนด้านงานวิจัย และเทคโนโลยี จาก วว. ได้หลากหลายช่องทางทั้งคอลเซ็นเตอร์ 02-5779300 เว็บไซต์ www.tistr.co.th ช่องทางเฟสบุ๊ค และ LINE Official Account