SHOPLINE Platform ช่วยสร้างธุรกิจออนไลน์แบบครบวงจร

ปัญหาการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้นที่ผู้ประกอบการ SMEs ไทยกำลังเผชิญอยู่ ผนวกกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ทำให้การค้าขายในช่องทางเดิมๆ ประสบปัญหามากมาย ส่งผลให้ผู้ประกอบการจำนวนมากได้เปลี่ยนช่องทางการทำธุรกิจ โดยผันตัวเข้าสู่ตลาดออนไลน์กันมากขึ้น เป็นสาเหตุให้ตลาด E-Commerce เติบโตมาอย่างต่อเนื่องในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา

ภายใต้ความคาดหวังว่า จะประสบความสำเร็จทางด้านยอดขายอย่างรวดเร็ว แต่ผู้ประกอบการ SMEs ส่วนใหญ่กลับมีปัญหาการขาดความเชี่ยวชาญในการทำตลาดออนไลน์ ขาดทรัพยากร และเวลาในเรื่องการบริหารจัดการ จึงเป็นเรื่องจำเป็น ที่ผู้ประกอบการไทยต้องมีผู้ช่วยเข้ามาให้การสนับสนุน และจัดการกับ Pain Point ที่มีอยู่ และวันนี้เรื่องของการบริหารจัดการธุรกิจออนไลน์ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป ด้วยเพราะวันนี้มี Solution Platform มาช่วยตอบโจทย์ความต้องการให้กลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ไทย 

วันนี้เราขอกล่าวถึง แพลตฟอร์มการจัดการร้านค้าออนไลน์ในชื่อของ SHOPLINE เป็นผู้ให้บริการด้านระบบจัดร้านค้าบน E-Commerce และ Social Commerce แบบครบวงจรจากประเทศฮ่องกง ได้แก่ ระบบการจัดการออเดอร์ การจัดการสต็อกสินค้า ระบบการชำระเงิน และการทำ CRM รวมถึงการเป็นผู้ช่วยในการสร้างเว็บไซด์ของร้านค้าที่สามารถทำได้เพียงไม่กี่นาที พร้อมมีระบบเชื่อมโยงกับแพลตฟอร์มต่างๆ เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถเริ่มต้นการทำธุรกิจ E-Commerce หรือสร้างร้านค้าบนออนไลน์ได้อย่างง่ายดายภายใต้งบประมาณ และทรัพยากรอันจำกัด 

ที่ผ่านมา SHOPLINE มีส่วนสนับสนุนการเติบโตของผู้ประกอบการ SME มากกว่า 250,000 รายทั่วโลก และมีการเข้าถึงลูกค้ามากกว่า 200 ล้านคนทั่วโลก จากการเปิดให้บริการใน 7 ประเทศ ได้แก่ ไต้หวัน ฮ่องกง มาเลเซีย เวียดนาม จีน สิงคโปร์ และไทย

ชนนันท์ ปัญจทรัพย์ ผู้จัดการประจำประเทศไทย SHOPLINE ประเทศไทย กล่าวว่า SHOPLINE เป็นแพลตฟอร์มการจัดการร้านค้าออนไลน์ที่พัฒนาขึ้นเพื่อผู้ประกอบการไทยโดยเฉพาะ ตอบโจทย์การใช้งานของธุรกิจทุกขนาด ด้วยขั้นตอนการใช้บริการที่ง่าย และสะดวกรวดเร็ว เปรียบเสมือนการให้บริการแพลตฟอร์ม DIY สำหรับร้านค้าและธุรกิจออนไลน์ทุกประเภท ซึ่งร้านค้าไม่จำเป็นต้องมีความรู้ทางด้านเทคนิคเกี่ยวกับการสร้างเว็บไซต์ แต่สามารถสร้างและจัดการร้านค้าออนไลน์ของตัวเองได้อย่างรวดเร็วและง่ายดาย ขณะเดียวกัน SHOPLINE ยังมีทีมงานที่ปรึกษาด้านอีคอมเมิร์ซคอยให้คำแนะนำและความช่วยเหลือในการเปิดร้านค้าออนไลน์อย่างต่อเนื่อง

สำหรับประเทศไทย SHOPLINE เปิดให้บริการเมื่อช่วงปลายปี 2563 โดยวางเป้าหมายในการทำหน้าที่เพื่อให้การสนับสนุนบริษัทที่เป็นสตาร์ทอัพ ไมโครสตาร์ทอัพ และผู้ประกอบการ SMEs ให้ประสบความสำเร็จในการธุรกิจบนโลกออนไลน์ เนื่องจากปัจจุบันธุรกิจออนไลน์มีหลายรูปแบบ และผู้ประกอบการก็มีการขายอยู่ในหลายแพลตฟอร์ม ซึ่ง SHOPLINE มองว่า แพลตฟอร์มที่สามารถตอบโจทย์ผู้ประกอบการออนไลน์ได้ดีที่สุดมี 2 แพลตฟอร์ม คือ 

E-Commerce Website ในรูปแบบ DIY สำหรับการทำ Direct to Consumer ผ่านการสร้างเว็บไซต์ของแบรนด์ เพื่อทำให้แบรนด์สามารถอัตลักษณ์ และตัวตนที่ชัดเจนของแบรนด์ได้ อีกทั้งยังเป็นช่องทางที่แบรนด์สามารถคุยกับลูกค้าของตัวเองได้โดยตรง รวมถึงการเก็บข้อมูลต่างๆ บนเว็บไซต์เพื่อนำไปต่อยอดในเรื่องการทำการตลาดต่อได้ 

Social Commerce มีความเหมาะสมกับผู้บริโภคในแถบเอเชียที่นิยมใช้โซเชียลมีเดีย เช่น Facebook โดย SHOPLINE จะช่วยทำให้การใช้แพลตฟอร์มนี้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ด้วยการใช้ Social Commerce Solution เพื่อช่วยบริหารจัดการในเรื่องงานหลังบ้าน เช่น การตอบคำถามที่เกิดขึ้นในหลากหลายช่องทาง หรือการบริหารจัดการหลังการ Livestream จบลง เช่น การจัดการกับคอมเมนท์ การสั่งซื้อ การจ่ายเงิน เป็นต้น

จุดเด่นอีกเรื่องหนึ่งของ SHOPLINE คือ การกำหนดอัตราค่าบริการในระดับที่สามารถเข้าถึงได้ง่าย โดย SHOPLINE เปิดให้บริการร้านค้าออนไลน์ และธุรกิจในประเทศไทยด้วยบริการ 3 รูปแบบ ได้แก่

  1. E-Commerce Solution สำหรับร้านค้า และธุรกิจที่เน้นการทำตลาดผ่านเว็บไซต์ ด้วยระบบจัดการหลังบ้านที่สามารถเข้าถึงได้ง่าย ใช้งานสะดวก มีอัตราค่าบริการ 599 บาทต่อเดือน และ 4,999 บาทต่อปี 
  2. Social Commerce Solution สำหรับร้านค้า และธุรกิจที่ต้องการขายผ่าน Social Platform มีอัตราค่าบริการ 599 บาทต่อเดือน และ 4,999 บาทต่อปี 
  3. All-in-One สำหรับร้านค้า และธุรกิจที่ต้องการทำตลาดผ่านเว็บไซต์ และ Social Platform ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำตลาดจากการเชื่อมโยงการทำงานของ 2 แพลตฟอร์ม ด้วยอัตราค่าบริการ 1,199 บาทต่อเดือน และ 7,999 บาทต่อปี 

“เรานำโซลูชั่นที่เรียกว่า Social Commerce จะเข้ามาช่วยจัดการกับ Pain Point จากคำถามเดิมๆ ที่เกิดขึ้นใน หลายๆ ช่องทาง ด้วยเครื่องมือที่เรียกว่า Message Center โดยทุกข้อความไม่ว่าจาก LINE, Facebook หรือจากเว็บไซต์ จะถูกรวมเข้ามาอยู่ในหนึ่งช่องทาง ทำให้เราสามารถจัดการกับออเดอร์ได้ ซึ่งเป็นโซลูชั่นที่สามารถซัพพอร์ตการทำงานของ SMEs ได้ดี ซึ่งปัจจุบันอาจมีโซลูชั่นที่คล้ายกับเราอยู่บ้าง แต่ยังไม่มีใครที่เป็น One Stop Service ได้เท่ากับ SHOPLINE”

SHOPLINE มี Live Commerce ที่มาช่วยขายสินค้าผ่านไลฟ์สดได้โดยไม่ต้องใช้คนจำนวนมาก และเป็นวิธีการที่ร้านค้าให้ความนิยมกันมากโดยใช้สมาร์ทโฟนเพียงเครื่องเดียว รวมถึงบริการ Conversational Commerce ที่มีตัวช่วยสำหรับร้านค้าออนไลน์ที่เปิดทำการตลอด 24 ชั่วโมง ใน 7 วัน จึงสามารถเพิ่มยอดขาย และเปลี่ยนผู้เข้าชมให้กลายเป็นลูกค้าตัวจริง และทำให้โซเชียลมีเดียเป็นส่วนหนึ่งของการขาย ไม่ว่าจะเป็น Facebook หรือ LINE ด้วยเครื่องมือทั้งในรูปแบบ Livestream, Chatbot และ Message Center 

นอกจากนี้ ยังมีฟีเจอร์ที่โดดเด่น และใช้งานได้อย่างหลากหลาย อาทิ การจัดการร้านค้าและสินค้าคงคลัง รายงานผลแบบเรียลไทม์ การเชื่อมต่อการชำระเงินและการจัดส่ง ภาษาและสกุลเงินที่หลากหลาย การบริการลูกค้าสัมพันธ์และเครื่องมือทางการตลาด แผนกบริหารความสำเร็จของลูกค้า บริการช่วยเหลือด้านการโฆษณาออนไลน์ และชุมชน SHOPLINE เป็นต้น โดย SHOPLINE เปิดให้ทดลองใช้งานฟรี 14 วัน พร้อมทีมงานที่ปรึกษาด้าน E-Commerce คอยให้คำแนะนำ และความช่วยเหลือในการเปิดร้านค้าออนไลน์

ชนนันท์ กล่าวเสริมว่า ท่ามกลางสถานการณ์ของตลาดออนไลน์ที่กำลังขยายตัว SHOPLINE คาดหวังว่า จะมีส่วนผลักดัน และสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับผู้ประกอบการในกลุ่ม SME ไทยได้เติบโตขึ้นอย่างแท้จริง โดยตั้งเป้าหมายจนถึงสิ้นปีนี้จะมีลูกค้าเข้ามาใช้บริการประมาณ 3,000 ราย 

“จุดแข็งของ SHOPLINE คือ การเป็น End to End Service พร้อมการให้ความรู้ คำแนะนำ หรือให้ข้อมูล เพื่อผลักดันให้ธุรกิจเกิดการเติบโต โดยก่อนหน้านี้จะเน้นการจัดสัมมนาเพื่ออบรมกลุ่มลูกค้า หรือผู้ที่สนใจเพื่อแชร์ข้อมูลเกี่ยวกับการทำธุรกิจออนไลน์ในด้านต่างๆ แต่ด้วยสถานการณ์ของโควิด-19 ในช่วงนี้จึงได้เปลี่ยนรูปแบบมาเป็นการสัมมนาแบบ Webinar เพื่อซัพพอร์ตกลุ่มลูกค้าของเราให้สามารถทำธุรกิจ และเติบโตต่อไปได้แบบไม่สะดุด”

นอกเหนือจากการนำเสนอการบริการแบบครบวงจร SHOPLINE ยังมีจุดเด่นในเรื่องของการออกแบบโซลูชั่นที่พัฒนามาเพื่อผู้ประกอบการไทยโดยเฉพาะ ทั้งแบบ E-Commerce และ Social Commerce ที่สามารถตอบโจทย์การใช้งานของธุรกิจทุกขนาดที่ต้องการเปิดร้านค้าออนไลน์ ด้วยการใช้งานได้ที่ง่าย สะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย อีกทั้งยังเป็นตัวช่วยผลักดันให้ผู้ประกอบการไทยสามารถขยายตลาดบนโลกออนไลน์ได้กว้างมากขึ้น นำไปสู่โอกาสในการสร้างยอดขายที่เติบโตขึ้นในที่สุด

ปัจจุบัน SHOPLINE มีกลุ่มลูกค้าที่ค่อนข้างหลากหลายทั้งในกลุ่ม SMEs และธุรกิจที่เป็นแบรนด์ใหญ่ๆ เนื่องจากตัวระบบสามารถซัพพอร์ตในเรื่อง Customer Relation Management ให้กับธุรกิจได้ดี ซึ่งสัดส่วนของกลุ่มลูกค้าในปัจจุบันประมาณ 70% เป็นกลุ่ม SMEs โดยสินค้าหลักมากกว่า 50% เป็นสินค้ากลุ่มแฟชั่นเสื้อผ้า รองลงมาเป็นสินค้าแม่และเด็ก 20% ส่วนที่เหลืออีกประมาณ 30% จะเป็นกลุ่มสินค้าเพื่อสุขภาพ อาหาร และนูทริชั่น เป็นต้น

Hello Sunshine เป็นตัวอย่างของธุรกิจขนาดเล็ก ซึ่งเป็นแบรนด์เสื้อผ้าเด็กของคุณแม่ลูกสองที่เป็นอดีตพนักงานประจำ และไม่ค่อยมีเวลาว่าง แต่สามารถสร้างความสำเร็จด้านยอดขายที่เพิ่มขึ้น 30 – 40% จากการเข้ามาใช้ E-Commerce Platform ด้วยการอสร้างเว็บไซต์ที่มีเอกลักษณ์ จนสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายคุณแม่ลูกอ่อนทั้งในประเทศ และต่างประเทศ

Glassaholic เป็นธุรกิจร้านแว่นตาแบรนด์เนมที่มีหน้าร้านอยู่ในห้างสรรพสินค้า แต่เมื่อมีการล็อกดาวน์จึงต้องเปลี่ยนมาทำตลาดออนไลน์ และได้จ้างโปรดักต์ชั่นเฮ้าส์ให้พัฒนาเว็บไซต์ในงบประมาณ 2 ล้านบาท แต่ก็ไม่สามารถใช้งานเว็บไซต์บนอุปกรณ์ต่างๆ ได้อย่างเชื่อมต่อกันได้ จึงได้เปลี่ยนมาใช้แพลตฟอร์ม Direct to Consumer ของ SHOPLINE ในอัตราค่าบริการ 7,999 บาทต่อปี ควบคู่ไปกับการให้บริการไปตรวจวัดสายตาถึงบ้านลูกค้า หลังจากทำตลาดได้ประมาณ 2 เดือน ก็ประสบความสำเร็จกับยอดขายที่เพิ่มมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม การเข้ามาเปิดตลาดของ SHOPLINE จึงเหมือนเป็นตัวเชื่อมต่อเพื่อสร้างโอกาสทางการตลาดให้กับ SMEs ไทย สามารถเติบโตบนช่องทางออนไลน์ได้อย่างรวดเร็ว และสอดคล้องกับเทรนด์ของ Social Commerce ที่กำลังมา อีกทั้งยังเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับ SMEs ไทยที่ยังขาดความเข้าใจในการทำตลาดออนไลน์ที่ค่อนข้างมีรายละเอียดทั้งในเรื่องการดีลกับโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์ม และการดีลกับบริษัทขนส่ง เพื่อให้ได้อัตราค่าบริการที่สามารถเข้าถึงได้ง่าย และประหยัดต้นทุนการจัดการ รวมถึงการสนับสนุนในเรื่องของระบบ Payment จากพันธมิตรระดับโลก

  “เราเป็น One Stop Service ที่ผู้ประกอบการ SMEs สามารถเดินเข้ามาหาได้ โดยเริ่มต้นจากการทำเว็บไซต์ E-Commerce หรือ Social Commerce ไปจนถึงการทำ Membership Management เรามั่นใจว่า จะมีส่วนผลักดันให้ผู้ประกอบการไทยประสบความสำเร็จในการก้าวสู่ตลาด E-Commerce ที่ยังเติบโตได้อีกมาก และสร้างความพร้อมในการขยายตลาดไปสู่ภูมิภาคอาเซียน และตลาดโลกต่อไปในอนาคต” ชนนันท์ กล่าว

บทความแนะนำ

AMARC ตรวจสอบ-รับรองคุณภาพสินค้า ผลักดันสินค้าไทยสู่ตลาดโลกด้วยมาตรฐานสากล

รากฐานสำคัญที่จะทำให้แบรนด์ และสินค้าได้รับความไว้วางใจจากผู้บริโภค จากตลาดไม่ว่าจะในประเทศ หรือต่างประเทศ และสามารถดำรงอยู่ได้อย่างยั่งยืน คือ มาตรฐานคุณภาพ และความปลอดภัยในด้านต่างๆ

ดังนั้นเพื่อให้แน่ใจได้ว่าสินค้า จะผ่านมาตรฐานในประเทศ และมาตรฐานระดับสากล เพื่อส่งออกได้หรือไม่นั้น ต้องได้รับการตรวจสอบ และประเมินผลจากห้องปฏิบัติการที่มีความพร้อมทั้งด้านผู้เชี่ยวชาญ, องค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ และการตรวจวิเคราะห์, เครื่องมือทันสมัย และความแม่นยำ 

ด้วยเหตุนี้แล็บด้านการตรวจสอบ จึงมีบทบาทสำคัญต่อสินค้า ซึ่งในประเทศไทยหนึ่งในผู้ให้บริการด้านนี้คือ “บริษัท ศูนย์ห้องปฏิบัติการและวิจัยทางการแพทย์และการเกษตรแห่งเอเซีย จำกัด” (Asia Medical and Agricultural Laboratory and ResearchCenter) หรือเรียกว่า “AMARC” (เอมาร์ค) แล็บตรวจสอบ วิเคราะห์ รายงาน และรับรองผลในด้านอาหาร เกษตรกรรม ยา สมุนไพร สุขภาพและสิ่งแวดล้อม ครอบคลุมทั้งมาตรฐานในประเทศ และระดับสากล

ทำความรู้จัก “AMARC” แล็บครบวงจรของไทย 

“AMARC” ก่อตั้งขึ้นในปี 2551 โดยกลุ่มแพทย์ และนักวิทยาศาสตร์ของโรงพยาบาลลาดพร้าว ให้บริการตรวจสอบวิเคราะห์ และรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์อาหาร การเกษตร และยา เพื่อสร้างความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัย และคุณภาพชีวิตของผู้บริโภค ขณะเดียวกันเป็นส่วนหนึ่งของพัฒนาคุณภาพในอุตสาหกรรมอาหาร การเกษตร และยา ในฐานะเป็นแล็บผู้ให้บริการครบวงจรใน 6 ด้านหลัก ประกอบด้วย 

  1. เกษตรกรรมและอาหาร ตรวจวิเคราะห์ และรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์เกษตร และอาหาร 
  2. ผลิตภัณฑ์ยา ตรวจวิเคราะห์ส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์
  3. สุขภาพและสิ่งแวดล้อม ตรวจวิเคราะห์คุณภาพ และความปลอดภัยของอากาศ ดิน ตะกอน น้ำ และน้ำเสีย
  4. การสอบเทียบเครื่องมือ ให้บริการสอบเทียบเครื่องมือแล็บ​ โรงงาน และโรงพยาบาล
  5. ตรวจและรับรองฟาร์ม และโรงงาน ในกลุ่มเกษตร ประมง ปศุสัตว์ และอาหาร เพื่อออกใบรับรองมาตรฐานต่างๆ
  6. ให้คำปรึกษาและฝึกอบรม ด้านการตรวจและรับรอง การจัดทำระบบมาตรฐาน 

ด้วยความหลากหลายของบริการที่ครบวงจร ทำให้ AMARC มีห้องปฏิบัติการที่ครอบคลุม ไม่ว่าจะเป็น ห้องปฏิบัติการเคมี, ห้องปฏิบัติการจุลชีววิทยา, ห้องปฏิบัติการอณูชีววิทยา, ห้องปฏิบัติการสิ่งปลอมปน, ห้องปฏิบัติการทางการแพทย์, ห้องปฏิบัติการทางเภสัช, ห้องปฏิบัติการทางสมุนไพร, ห้องปฏิบัติการเกี่ยวกับปัจจัยผลิตทางการเกษตร, ห้องปฏิบัติการวัตถุอันตราย, ปุ๋ย และยาฆ่าแมลง

รศ.นพ.วิรัตน์ วงศ์แสงนาคประธานกรรมการบริษัทและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท ศูนย์ห้องปฏิบัติการและวิจัยทางการแพทย์และการเกษตรแห่งเอเซีย จำกัดให้สัมภาษณ์ว่าลูกค้า AMARC มีหลายหลาย โดยหลักประกอบด้วย 

  1. ผู้ประกอบการโรงงานต่างๆ รวมถึงโรงงานยา ทั้งของรัฐ และเอกชน
  2. หน่ายงานภาครัฐ เช่น อย. กรมวิชาการเกษตร กรมประมง กรมปศุสัตว์ 
  3. ธุรกิจเอกชนขนาดใหญ่ เช่น ไฮเปอร์มาร์เก็ต 
  4. อื่นๆ เช่น ลูกค้ากลุ่มโรงพยาบาล 

“AMARC เป็น Third Party ไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียใดๆ เราทำหน้าที่ตรวจสอบ วิเคราะห์ และรับรองผล เช่น ผู้ประกอบการส่งสินค้ามาให้เราตรวจสอบคุณภาพ และมาตรฐาน เมื่อทดสอบเสร็จ เราจะออกเป็น Certificate of Analysis คือ ใบรายงานผลการทดสอบ จากนั้นผู้ประกอบการจะนำใบรายงานผลนี้ ไปดำเนินการต่อตามวัตถุประสงค์ของเขา 

ยกตัวอย่างผู้ประกอบการต้องการทำตลาดผลิตภัณฑ์อาหารกระป๋อง จะส่งผลิตภัณฑ์มาให้เราทดสอบ ทาง AMARC ทำการทดสอบ และตรวจสอบตามที่กฎหมายกำหนดเช่น อาหารในภาชนะปิดสนิท ต้องมีความปลอดภัยอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นโลหะหนัก, สารเคมี, สิ่งปนเปื้อน, วัสดุที่ใช้ทำบรรจุภัณฑ์ เมื่อทดสอบและวิเคราะห์เสร็จ เราจะรายงานผลกลับไป แต่ถ้าผู้ประกอบการต้องการส่งสินค้าไปยังตลาดต่างประเทศ กฎหมายแต่ละประเทศ มีค่ากำหนดแตกต่างกัน เราก็จะให้คำแนะนำ และรายงานผลตามการทดสอบ” 

 

“ผัก - ผลไม้ไทย” โดดเด่นในตลาดโลก 

หนึ่งในเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย คือ ภาคการส่งออก แต่จากสถานการณ์ COVID-19 ที่กระทบทั่วโลก มีผลให้ภาพรวมการส่งออกของไทยหดตัวอย่างรุนแรง 

จากรายงานนโยบายการเงิน ฉบับเดือนธันวาคม 2563 ธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าคาดว่าจะหดตัว 7.4% ในปี 2563 ขณะที่ปี 2564 และปี 2565 คาดการณ์ว่าการส่งออกมีแนวโน้มขยายตัว 5.7% และ 5% ตามลำดับ 

โดยล่าสุดกระทรวงพาณิชย์ รายงานตัวเลขการส่งออกเดือนมิถุนายน 2564 มูลค่าอยู่ที่ 23,699.43 ล้านเหรียญสหรัฐฯหรือคิดเป็น 738,135.34 ล้านบาท ขยายตัว 43.82% ถือว่าเป็น New High ในรอบ 11 ปี โดยสินค้าที่ขยายตัวสูง อันดับหนึ่งคือ อาหาร และสินค้าการเกษตร เช่น ผัก, ผลไม้ ทั้งสด แช่แข็ง แช่เย็น และแปรรูป 

ตลาดหลักคือ จีน, ญี่ปุ่น, สหรัฐฯ, สหภาพยุโรป และอาเซียน ส่วนตลาดรองลงมา เช่น ตลาดแถบเอเชียใต้, ตลาดตะวันออกกลาง, แอฟริกา, ลาติน และออสเตรเลีย 

“สินค้าอาหาร และการเกษตรของไทย ถือว่าทำได้ดีในตลาดโลก ที่ผ่านมาลูกค้ารายใหญ่ของประเทศไทย คือ สหรัฐฯ, สหภาพยุโรป (EU) และญี่ปุ่น นอกจากนี้ในปัจจุบันอาเซียน และจีน ยังเป็นตลาดส่งออกสำคัญของไทย ในอาเซียน กำลังมีการประชุมกันถึงเรื่องการออกกติกามาตรฐานด้านอาหารในกลุ่มประเทศอาเซียนด้วยกันเอง ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคนี้ร่วมกันกำหนดขึ้น 

ดังนั้นผู้ประกอบการ SMEs ถ้าจะไปตลาดต่างประเทศ อย่าเพิ่งมองไกล ควรมองตลาดในกลุ่มอาเซียนก่อน เช่น ลาว, กัมพูชา, เวียดนาม, อินโดนีเซีย เพื่อพยายามผลักดันธุรกิจให้เติบโตมากกว่าการบริโภคเฉพาะภายในประเทศ (InternalConsumption)” รศ.นพ.วิรัตน์ฉายภาพโอกาสธุรกิจอาหาร - สินค้าการเกษตรของไทยในตลาดต่างประเทศ 

 

ตั้งเป้าเป็น “แล็บชั้นนำของเอเชีย”

เป้าหมายระยะยาวของ AMARC คือ มุ่งสู่การเป็นแล็บชั้นนำของเอเชีย ให้สมกับชื่อ “Asia Medical and Agricultural Laboratory and ResearchCenter” ด้วยจุดแข็งการเป็นแล็บครบวงจร จึงสามารถให้บริการลูกค้าได้หลายกลุ่ม 

“เราอยากขึ้นไปยืนในระดับภูมิภาคเอเชีย ไม่ใช่แค่เป็นหนึ่งเฉพาะในประเทศ ซึ่งเราให้บริการครบวงจรทั้งการทดสอบ สอบเทียบเครื่องมือ มีหน่วยตรวจ หน่วยรับรอง ที่ครอบคลุมทั้งยา อาหาร การเกษตร และความหลากหลายของมาตรฐานสินค้า เช่น GMP, HACCP, GAP 

เพราะฉะนั้นการเติบโตของ AMARC จะไปในแนวทางการให้บริการที่หลากหลาย และกว้างขวาง รวมไปถึงสร้างความน่าเชื่อถือของการทดสอบในระดับภูมิภาค” รศ.นพ.วิรัตน์ สรุปทิ้งท้ายถึงเป้าหมาย 

บทความแนะนำ

ISMED สนับสนุนผู้ประกอบการสร้างมูลค่า ขยายธุรกิจสู่ตลาดต่างประเทศ

ปัจจุบันประเทศไทย ให้ความสำคัญกับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SMEs เป็นอย่างมาก เนื่องจาก SMEs เป็นรากฐานของธุรกิจไทย และยังเป็นรากฐานทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนของประเทศ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ สสว. รายงานว่าตัวเลขผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและย่อมในปัจจุบันมีประมาณ 3.15 ล้านราย หรือประมาณ 99.5 เปอร์เซ็นต์ของธุรกิจรวมทั้งประเทศ และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมห่งชาติ ยังรายงานตัวเลขรายได้ของธุรกิจ SMEs โดยรวม เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาว่า ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมสามารถทำรายได้ให้กับประเทศมากกว่า 1.41 ล้านล้านบาทคิดเป็นสัดส่วนต่อ GDP รวมทั้งประเทศเท่ากับ 34.7 เปอร์เซ็นต์

เพื่อพัฒนาผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SMEs ให้มีศักยภาพสามารถแข่งขันและสร้างผู้ประกอบการที่เข้มแข็งให้สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ ISMED เป็นหนึ่งในหน่วยงานภาครัฐที่มีภารกิจหลักในการสนับสนุน SMEs มากกว่า 10,000 ราย ต่อปีจึงพร้อมตั้งเป้าพา SMEs รุกตลาดต่างประเทศ อาทิ จีน อาเซียน และ ตะวันออกกลาง 

ธนนนทน์ พรายจันทร์ ผู้อำนวยการ สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ ISMEDกล่าวว่า ISMED เป็นสถาบันเครือข่าย เป็นหน่วนงานวิชาการที่ให้คำปรึกษา แนะนำเชิงวิชาการให้กับ SMEs โดยมุ่งเน้นการสนับสนุนในเรื่องของการปรับแผนธุรกิจ รวมถึง เป็นศูนย์ให้คำปรึกษาแนะนำทางวิชาการเพื่อที่จะทำให้ SMEs อยู่รอดและเติบโตได้อย่างยั่งยืน

“เราทำหลายเรื่องการจัดอบรมเป็นภาพที่คนเห็น แต่งานเรา เราทำแทบจะครบทุกด้านเลย  ตั้งแต่เรื่องของการเสริมสร้างระบบบริหารจัดการให้กับธุรกิจ ที่ต้องการพัฒนาเรื่องการตลาด พัฒนาเรื่องผลิตภัณฑ์ กระบวนการผลิต พัฒนาบุคลากรภายใน เป็นต้น นอกจากนี้ยังสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการกับเครือข่ายของการพัฒนาที่ปรึกษาทางธุรกิจและเผยแพร่องค์ความรู้ให้ทันกับผู้ประกอบการหรือบุคคลทั่วไปที่สนใจ” ธนนนทน์ กล่าวและว่า 

ISMED ในส่วนของการให้การสนับสนุนผู้ประกอบการใหม่ (New entrepreneur) นั้น จะเริ่มต้นจากการสอนทำแผนธุรกิจ การหาแหล่งทุน และดำเนินการบ่มเพาะธุรกิจ โดยให้คำปรึกษาและติดตาม เพื่อช่วยแนะนำผู้ประกอบการระหว่างทางจนผู้ประกอบการสามารถที่จะดำเนินธุรกิจด้วยตนเองได้

นอกจากนี้ ISMED ยังมีการทำงานร่วมกับพันธมิตรใน 4 ด้านเพื่อให้เกิดผลและประสิทธิภาพมากที่สุด ประกอบด้วย กลุ่มผู้ประกอบการ กลุ่มที่ปรึกษาธุรกิจ หรือโค้ชธุรกิจ ผู้สนับสนุน และกลุ่มหน่วยงานภาครัฐ

ในส่วนของกลุ่มผู้ประกอบการนั้น ISMED จะเป็นการให้คำปรึกษาผู้ประกอบการใหม่และผู้ประกอบการที่อยู่ในตลาดอยู่แล้ว

สำหรับกลุ่มที่ปรึกษาธุรกิจหรือโค้ชธุรกิจนั้น ISMED ได้จัดทำเครือข่ายที่ปรึกษาธุรกิจเฉพาะสาขาเพื่อรองรับและสนับสนุนผู้ประกอบ โดยปัจจุบันมีโค้ช ที่พร้อมจะให้กับปรึกษากับผู้ประกอบการมากกว่า 3,000 รายโดยที่ปรึกษาธุรกิจหรือ โค้ชธุรกิจมี 3 รูปแบบ คือ Business Transformer หรือ ผู้บริหารระดับสูงที่มาถ่ายทอดประสบการณ์การทำธุรกิจให้กับผู้ประกอบการ Business Mentor หรือ ที่ปรึกษาธุรกิจ ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เช่น ที่ปรึกษาทางด้านการตลาด การพัฒนาผลิตภัณฑ์ การพัฒนาแพคเกจจิ้ง เป็นต้น และ กลุ่ม Technology expert หรือ ผู้เชี่ยวชาญทางด้านเทคโนโลยีและดิจิทัล  เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับผู้ประกอบการได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น เทคโนโลยี Internet of thing ที่ช่วยให้การทำงานในส่วนของกระบวนการผลิตมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ทางด้านผู้สนับสนุน อาทิ สถาบันการเงิน หรือกลุ่มสมาคมที่เกี่ยวข้อง เช่น หากมีการจัดอบรม สัมมนา กลุ่มผู้สนับสนุนสามารถมาร่วมให้การสนับสนุนการอบรมหรือสัมมนาให้กับ SMEs และกลุ่มหน่วยงานภาครัฐ คือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับ SMEs และส่วนงานที่รับผิดชอบและดูแล SMEs อยู่แล้ว เช่น โครงการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย กระทรวงพานิชย์ เป็นต้น 

“วิธีการทำงานของ ISMED เราเป็น Aggregate คือเราเป็นคนเชื่อมและอำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการ เราต้องอาศัย ผู้เชี่ยวชาญ มีลักษณะการทำงานแบบเครือข่าย อยากให้ SMEs ขายได้ทำให้ธุรกิจเค้าประสบความสำเร็จหาตลาดได้ สามารถผลิตสินค้าออกมามีคุณภาพ วิธีการทำงานของเรา เราจะใช้ที่ปรึกษาหรือโค้ช เข้าไปศึกษาปัญหาของเค้า แล้วมาวิเคราะห์ ว่าถ้าจะทำให้บรรลุเป้าหมายจะต้องทำอย่างไร  และเราก็จะมีทีมที่ปรึกษาและโค้ชหลายๆด้าน ไปช่วยปรับปรุง ช่วยแนะนำ หากเค้าต้องการสนับสนุน งบประมาณ เราจะเชื่อมโยงกับสถาบันการเงินให้ เราจะช่วย SMEs รายย่อยให้มีความเข้มแข็ง มีความเป็นมืออาชีพเนื่องจากการพัฒนาธุรกิจเป็นเรื่องของระยะเวลา และความต่อเนื่อง” ธนนนทน์ กล่าว  

สำหรับภาคอุตสาหกรรมที่ ISMED มีความเชี่ยวชาญและได้ให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่องคือ ธุรกิจบริการที่เกี่ยวข้องการท่องเที่ยว การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว เป็นต้น โดยเข้าไปร่วมสนับสนุนและช่วยพัฒนาในลักษณะการทำแผนยุทธศาสตร์เพื่อการปฎิบัติจริง มีการพัฒนาเครือข่ายผู้ประกอบการ พัฒนาท่องเที่ยวมูลค่าสูง เช่น ธุรกิจสปา เป็นต้น

“เราช่วยผู้ประกอบการพัฒนาธุรกิจให้อยู่รอดและดีขึ้น การที่จะทำให้เค้าอยู่รอดและดีขึ้น มันมีหลายองค์ประกอบ หากเค้ามีความตั้งใจก็ประสบความสำเร็จ เราจะเป็นคนช่วยติดกระดุมเม็ดแรกให้ถูก ความสำเร็จมันเริ่มต้นจากกระดุมเม็ดแรก และที่เหลือจะต้องอาศัยองค์ประกอบอื่นๆตามมา ที่ผ่านมา ISMED มองว่าเราเป็นตัวช่วยที่ทำให้การติดกระดุมเม็ดแรกถูก” ธนนนทน์ กล่าว

ISMED ยังมีเป้าหมายที่จะส่งเสริมผู้ประกอบการสร้างสินค้ามูลค่าสูง ผลักดันผู้ประกอบการนำเอาเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ให้เป็นประโยชน์สูงสุด และส่งเสริมผู้ประกอบการขยายตลาดไปยังตลาดต่างประเทศเพื่อการเติบโตและความยั่งยืนของผู้ประกอบการด้วย เนื่องจากผู้ประกอบการจต้องเติมทักษะทางด้านการทำตลาดต่างประเทศ เช่น การเข้าใจวัฒนธรรม และการลาดของแต่ละประเทศ รวมถึงเสริมทักษะทางด้านดิจิทัล เพื่อให้สามารถทำตลาดให้สามารถสร้างรายได้จากผู้บริโภคที่อยู่บ้าน หรือ Work from home ด้วย เนื่องจากผู้ประกอบการไทยมีศักยภาพสูง และมีโอกาสที่จะสามาถขยายตลาดไปยังต่างประเทศได้อย่างมากด้วยสินค้าที่มีการเพิ่มมูลค่า เช่น สินค้าเกษตร มีการนำไปเพิ่มคุณภาพและคุณค่าโดยการนำไปสกัดทำเครื่องสำอาง และเครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น 

นอกจากนี้ในแต่ละปี ISMED จะให้บริการผู้ประกอบการประมาณ 10,000 ราย และยังมีนโยบายในการนำพาผู้ประกอบการของไทยขยายธุรกิจไปยังตลาดต่างประเทศด้วย เช่น จีน มาเลเชีย อาเซียน และบาเรน เป็นต้น เพื่อรองรับการเติบโตของผู้ประกอบการไทย

 

บทความแนะนำ

เปิดแผนสมอ.หนุนธุรกิจผลิตสินค้าตามมาตรฐาน BCG

นโยบายเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy: BCG Model)ถือเป้าหมายสำคัญของรัฐบาลชุดนี้  ล่าสุดเดือนกรกฎาคม2564 คณะกรรมการบริหารการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว ได้เคาะโมเดลขับเคลื่อน BCG พ.ศ. 2564-2570 รวม 13 มาตรการหลัก ตั้งเป้าพลิกโฉมเศรษฐกิจทุกด้านใน 7 ปี เน้นสร้างเศรษฐกิจสีเขียว ท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ  

สำหรับ 13 มาตรการ อาทิ พัฒนาคลังข้อมูลดิจิทัลของทุนความหลากหลายทางชีวภาพ ทุนวัฒนธรรม และทุนทางปัญญา พัฒนาระเบียงเศรษฐกิจ BCG พัฒนาสินค้าและบริการด้วยหลักการ BCG เชื่อมโยงการเกษตรทางเลือก/เกษตรสมัยใหม่ พัฒนาคุณภาพและความปลอดภัยของอาหารริมทาง และอาหารท้องถิ่นด้วยการยกระดับด้วยเครื่องจักรผลิตอาหาร สร้างตลาดเพื่อรองรับนวัตกรรมของสินค้าและบริการ BCG อาทิ การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ส่งเสริมฉลากที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว เช่น ฉลากคาร์บอนฟุตพรินต์ ฉลากสีเขียว ยกระดับสินค้าและบริการ BCG สู่มาตรฐานการผลิตยั่งยืนด้วยการส่งเสริมการใช้นวัตกรรมสีเขียว และระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน ยกระดับมาตรฐานสินค้าและบริการ BCG สู่มาตรฐานสากลด้วยการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทั้งระบบ   

จะเห็นว่าจาก 13 มาตรการหลัก การจะขับเคลื่อนให้สำเร็จได้ จะต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย ทั้งหน่วยงานรัฐ เอกชน และประชาชนทุกภาคส่วน อาทิ การสนับสนุนให้ผูู้ประกอบการผลิตสินค้าภายใต้มาตรฐาน BCG เพื่อรับฉลากที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว อย่างฉลากคาร์บอนฟุตพรินต์ ฉลากสีเขียว   

วันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม(สมอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะหน่วยงานผู้กำหนดมาตรฐานสินค้า BCG กล่าวถึงบทบาทสมอ.ต่อนโยบาย BCG ของรัฐบาล ว่า ในบริบทของสมอ.นั้น มีหน้าที่ดำเนินการให้ประสบผลสำเร็จ ปัจจุบันสมอ.อยู่ระหว่างจัดทำมาตรฐานที่เกี่ยวกับบีซีจี เน้นมาตรฐานที่จำเป็นลำดับแรกๆ โดยเฉพาะเรื่องความปลอดภัยของผู้บริโภค แต่หากมาตรฐานใดไม่เกี่ยวกับความปลอดภัย จะดำเนินการในช่วงท้ายๆ เพราะต้องดูตามความจำเป็นเร่งด่วนก่อน  

ล่าสุด สมอ. ได้จัดทำมาตรฐานผลิตภัณฑ์สินค้าแล้ว 434 มาตรฐาน แบ่งเป็น ผลิตภัณฑ์ชีวภาพ 301 มาตรฐาน อาทิ พลาสติกใช้ครั้งเดียว ถุง หลอดดูด ผลิตภัณฑ์วัสดุหมุนเวียน 65 มาตรฐาน อาทิ กระดาษเช็ดหน้า ยางล้อแบบสูบลมหล่อดอกซ้ำ และผลิตภัณฑ์เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 68 มาตรฐาน อาทิ มาตรฐานน้ำมันยูโร 4 มาตรฐานน้ำมันยูโร 5 ผู้ประกอบการที่สนใจสามารถสอบถามข้อมูลมาที่สมอ.ได้  

"ทั้งหมดที่สมอ.ประกาศไป มีเป้าหมายเพื่อชี้นำผู้ประกอบการให้ผลิตสินค้ามาตรฐาน BCG  คือ ผลิตสินค้าให้ได้ฉลากเขียว เน้นไบโอ เน้นกรีน การจะทำผลิตภัณฑ์ สมอ.มีมาตรฐานใช้อ้างอิง ผู้ประกอบการต้องทำให้ได้ตามนี้ มาตรการที่ออกมาตอนนี้ส่วนใหญ่เป็นมาตรฐานทั่วไป มีบางประเภทที่กำหนดเป็นมาตรฐานบังคับ เพราะมาตรฐานเหล่านี้ต้องให้เวลาผู้ประกอบการในการปรับตัวด้วย"  เลขาธิการสมอ.ระบุ

กลุ่มที่กำหนดเป็นมาตรฐานบังคับ ส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มสินค้ากรีน ซึ่งมีหลายประเภท เพราะกรีนจะเกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม อาทิ น้ำมันยูโร4 ยูโร5 ยางล้อ ก๊อกน้ำ โถส้วม แม้ไม่เกี่ยวกับความปลอดภัยซะทีเดียว แต่เนื่องจากเกี่ยวข้องกับการประหยัดน้ำ เครื่องปรับอากาศหรือแอร์ ต้องประหยัดไฟเบอร์5 โดยคณะรัฐมนตรี(ครม.) มีมติให้บังคับ  

ขณะที่ปัจจุบันบางประเทศเริ่มมีมาตรการ BCG อย่างจริงจัง อาทิ ประเทศญี่ปุ่น สินค้าพลาสติกที่จะส่งไปขาย รัฐบาลญี่ปุ่นกำหนดแล้วว่าสินค้าจะต้องระบุชัดเจนว่ามีส่วนประกอบการการรีไซเคิลกี่เปอร์เซ็นต์  หากไม่มีส่วนประกอบการของการรีไซเคิลเลย บางชนิดทางญี่ปุ่นไม่อนุญาตให้ส่งออกไปญี่ปุ่นแล้ว   

นอกจากนี้ในประเทศยุโรปบางประเทศ ล่าสุดมีการกำหนดว่า ถ้าสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าไม่มีส่วนประกอบรีไซเคิลตามที่กำหนด หรือมีวัสดุที่ทำลายไม่ได้ด้วยธรรมชาติตามที่กำหนด ประเทศเหล่านั้นก็จะไม่อนุญาตให้ส่งสินค้าไปขายเช่นกัน  

“เวลานี้มาตรฐานเหล่านั้นยังไม่รุนแรงมากนัก คาดว่าอีก 3-5 ปีข้างหน้าจะแรงขึ้นเรื่อยๆ ถึงตอนนั้นประเทศไทยจะตื่นตัวกันมากขึ้นเอง เมื่อเทียบกับตอนนี้ที่ยังไม่ค่อยมีคนทำ ทั้งหน่วยงานรัฐและผู้ประกอบการ ประกอบกับเวลานี้เกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา2019 หรือโควิด-19 จึงถือเป็นอุปสรรคที่สำคัญเลยทีเดียว”  

วันชัย กล่าวว่า แม้จะมีอุปสรรคในการช่วยเหลือผู้ประกอบการผลิตสินค้าตามมาตรฐานBCG จากปัจจัยแวดล้อมต่างๆ แต่สมอ.ก็ต้องเดินหน้าสนับสนุนต่อไป อย่างปีงบประมาณ 2564 สมอ.ได้งบประมาณมาสนับสนันผู้ประกอบการประมาณ 2 ล้านกว่าบาท แต่จนถึงปัจจุบันยอมว่ายังไม่มีการใช้งบประมาณดังกล่าวเลย เพราะผู้ประกอบการไม่พร้อม

ในปีงบประมาณ 2565 ที่จะถึงนี้ สมอ.จึงปรับแนวการทำงาน โดยจะเดินหน้าสนับสนุนผู้ประกอบการเข้าสู่มาตรฐานบีซีจีให้เข้มข้นขึ้น เบื้องต้นมีแนวคิดว่าจะเชิญผู้ผลิตสินค้าแบรนด์ดัง อาทิ เครือเอสซีจี เครือปตท. ให้ช่วยมานำร่อง เป็นตัวอย่างให้ผู้ประกอบการที่ส่วนใหญ่เป็นขนาดกลางและขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอี หวังว่าจะช่วยสร้างแรงจูงใจ เพราะกลุ่มบริษัทเหล่านี้มีศักยภาพ พร้อมในทุกด้าน ทั้งเงินทุน เทคโนโลยี องค์ความรู้ น่าจะให้คำแนะนำที่ดี สร้างโอกาสในการผลิตสินค้าตามมาตรฐานBCG มากขึ้น  

ขณะเดียวกัน สมอ.จะเดินหน้าหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดทำอินเซนทีฟของภาครัฐที่เป็นรูปธรรม เพื่อแรงจูงใจให้กับผู้ประกอบการ เชื่อว่าถ้าแรงสนับสนุนมาจากทุกฝ่าย ทั้งแกนบน แกนกลาง และแกนล่าง จะทำให้การกำหนดมาตรฐานสินค้าภายใต้นโยบายBCG ของไทยมีความคืบหน้ามากขึ้น และสำเร็จตามเป้าหมายของรัฐบาล   

“ปัจจุบันประเทศชั้นนำอย่างยุโรป สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ต่างตั้งเป้าหมายสู่ BCG ในช่วงปี 2573-75 นั่นแสดงว่าทุกประเทศรู้ว่าไม่ใช่เรื่องง่าย นโยบายนี้ต้องใช้เวลาดำเนิน ภายใต้ความร่วมมือจากทุกภาคส่วนจริงๆ”เลขาธิการสมอ.กล่าวทิ้งท้าย 

บทความแนะนำ

บีโอไอติดปีก SMEs เพิ่มสิทธิประโยชน์ อัพเกรดผู้ประกอบการสู่ดิจิทัล

รากฐานเศรษฐกิจที่มั่นคงมีกลไกสำคัญหนึ่งที่ขาดไม่ได้คือ ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SMEs สำหรับประเทศไทยปัจจุบันมีผู้ประกอบการ SMEs ประมาณ 3 ล้านราย มีการจ้างงานเกือบ 12 ล้านคน ซึ่งการจะพัฒนา SMEs ไทยให้มีศักยภาพ และกลายเป็นฐานรากของเศรษฐกิจไทยได้นั้น จะต้องมีการสนับสนุนให้เกิดการลงทุนจากภาครัฐด้วย 

นฤตย์ เทอดสถีรศักดิ์ รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวถึงภารกิจในการสนับสนุน SMEs ไทยในปัจจุบันว่า หลายคนอาจจะเข้าใจว่าบทบาทของบีโอไอคือส่งเสริมบริษัทต่างชาติเป็นหลัก แต่นั่นคือความเข้าใจผิด เพราะความจริงที่ผ่านมาบีโอไอให้ความสำคัญและส่งเสริมผู้ประกอบการไทยเป็นจำนวนมาก และส่วนใหญ่เป็นโครงการ SMEs  

โครงการลงทุนของ SMEs ไทย ส่วนใหญ่เป็นกิจการด้านดิจิทัล อาทิ การพัฒนาซอฟต์แวร์ ดิจิทัลคอนเทนต์ และการให้บริการด้านดิจิทัล รองลงมาเป็นกิจการแปรรูปสินค้าเกษตร การผลิตอาหาร การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน อุตสาหกรรมสนับสนุน อาทิ ชิ้นส่วนยานยนต์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนเครื่องจักร และผลิตภัณฑ์โลหะ นอกจากนี้ ในช่วง 5 ปีหลัง เริ่มมี SMEs ในกลุ่มกิจการด้านเทคโนโลยีมากขึ้น อาทิ การวิจัยและพัฒนา การออกแบบทางวิศวกรรม เทคโนโลยีชีวภาพ และบริการทดสอบทางวิทยาศาสตร์เป็นต้น

สำหรับปีนี้ บีโอไอเน้นส่งเสริมให้ SMEs ยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน มีมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพในด้านต่างๆ อาทิ การใช้พลังงานทดแทน การปรับเปลี่ยนมาใช้เครื่องจักรทันสมัยหรือระบบอัตโนมัติ การยกระดับอุตสาหกรรมเกษตรไปสู่มาตรฐานสากล อาทิ GAP, FSC, ISO 22000  

ในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 มีจำนวนคำขอตามมาตรการนี้ 83 โครงการ เงินลงทุน 12,270 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 13 จากปีก่อน” 

รองเลขาธิการบีโอไอ ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า เมื่อเร็วๆ นี้ บีโอไอได้ออกมาตรการเพิ่มเติมด้านการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพ โดยส่งเสริมให้ผู้ประกอบการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการบริหารจัดการองค์กร และการผลิต หรือการให้บริการให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น ซึ่งมาตรการนี้จะช่วยกระตุ้นให้เกิดความต้องการใช้ดิจิทัล ทำให้เกิดการพัฒนาและการขยายตัวของอุตสาหกรรมดิจิทัลในประเทศตามมา  

ทั้งนี้ โครงการที่ขอรับการส่งเสริมตามมาตรการนี้ ต้องมีเงินลงทุนในการปรับปรุงประสิทธิภาพไม่น้อยกว่า 1 ล้านบาท แต่สำหรับ SMEs จะลดเหลือเพียง 5 แสนบาท โดยต้องเสนอแผนลงทุนที่จะนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ยกระดับการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นการนำซอฟต์แวร์ ระบบ ERP หรือระบบ IT อื่นๆ เข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพขององค์กร หรือใช้ในการเชื่อมโยงข้อมูลกับระบบออนไลน์ของภาครัฐ อาทิ National E–Payment หรือการประยุกต์ใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) Machine Learning การใช้ Big Data หรือการวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analytics) โดยจะได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี ในสัดส่วนร้อยละ 50 ของเงินลงทุน   

นฤตย์ กล่าวอีกว่า บีโอไอยังมีการสนับสนุน SMEs ในอีก 5 ด้านที่สำคัญ ประกอบด้วย

1.การให้สิทธิประโยชน์เพิ่มเติมสำหรับการลงทุนอื่นๆ ที่ไม่ใช่การปรับปรุงประสิทธิภาพ โดย SMEs ที่มีหุ้นไทยข้างมาก จะได้รับการผ่อนปรนเงื่อนไขเงินลงทุนขั้นต่ำเหลือเพียง 5 แสนบาท อนุญาตให้ใช้เครื่องจักรใช้แล้วในประเทศได้บางส่วนเพื่อลดต้นทุน และจะได้รับวงเงินยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็น 2 เท่าของเกณฑ์ทั่วไป เพื่อเป็นแต้มต่อให้กับ SMEs    

  1. มาตรการกระตุ้นให้ SMEs เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (MAI) เพื่อระดมทุนไปพัฒนาศักยภาพและขยายกิจการ โดยจะได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมจากการเพิ่มวงเงินยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็น 2 เท่าของเกณฑ์ทั่วไป   

3.มาตรการส่งเสริมให้ผู้ประกอบรายใหญ่ช่วยรายเล็ก โดยให้สิทธิประโยชน์เพิ่มเติมสำหรับกิจการที่ช่วยพัฒนา Local Suppliers ที่ส่วนใหญ่เป็น SMEs และมาตรการส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก โดยสนับสนุนให้นำวัตถุดิบในท้องถิ่นมาแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม และพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชนอย่างยั่งยืน โดยสนับสนุนหรือร่วมดำเนินการกับสหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  

  1. เชื่อมโยง SMEs กลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนกับผู้ผลิตสินค้าสำเร็จรูปต่างชาติ ทั้งกลุ่มยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ หรือเครื่องจักร เพื่อช่วยลดการนำเข้าชิ้นส่วนจากต่างประเทศ และสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับ SMEs ไทย ได้เข้าไปอยู่ใน Supply Chain ระดับโลก รวมทั้งเกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยี โดยบีโอไอจัดกิจกรรมที่หลากหลาย เช่น งาน Subcon Thailand ซึ่งเป็นงานใหญ่ที่จัดประจำทุกปี ตลาดกลางซื้อขายชิ้นส่วน งานผู้ซื้อพบผู้ขาย แต่ละปีกิจกรรมเหล่านี้จะก่อให้เกิดมูลค่าเชื่อมโยงอุตสาหกรรมกว่า 6-7 หมื่นล้านบาท  
  2. สร้างองค์ความรู้และเครือข่ายให้ SMEs ทั้งการจัดสัมมนาให้ความรู้เรื่องการลงทุนที่เป็นประโยชน์ต่อSMEs การจัดคณะศึกษาดูงานกิจการที่ประสบความสำเร็จ เปิดมุมมองใหม่ๆ ด้านการบริหารธุรกิจและเทคโนโลยีการผลิต และสร้างเครือข่ายกับนักธุรกิจท้องถิ่นตามภูมิภาคต่างๆ รวมทั้งจัดหลักสูตรฝึกอบรม SMEs ที่ต้องการออกไปลงทุนในต่างประเทศด้วย  

“บีโอไอจะร่วมกับเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชนผลักดันมาตรการเหล่านี้อย่างเข้มข้นมากขึ้น และขยายให้ครอบคลุม SMEs กลุ่มต่างๆ ทั้งภาคการผลิตและภาคบริการ โดยหวังว่าบีโอไอจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยเสริมศักยภาพให้ SMEs ไทยเข้มแข็งและเติบโตอย่างยั่งยืน” นฤตย์กล่าวทิ้งท้าย

บทความแนะนำ