ห้องปฏิบัติการกลาง (Central Lab Thai) – ทดสอบให้มั่นใจว่าปลอดภัย
ผู้ประกอบการส่วนมากนั้น เมื่อได้ทำการผลิตสินค้าหรือนำเข้าสินค้าเข้ามาจำหน่าย มักไม่ทราบถึงข้อกำหนดทางกฎหมายว่าสินค้าเหล่านั้น ต้องได้รับการตรวจสอบคุณภาพมาตรฐานในด้านใดก่อนบ้าง เพื่อให้ได้การรับรองเป็นสินค้าที่มีคุณภาพ และปลอดภัยพอที่จะจัดจำหน่ายต่อไปจนถึงผู้บริโภคทั้งในประเทศไปจนถึงต่างประเทศ
.
มั่นใจปลอดภัย ทั้งสินค้านำเข้าและส่งออก
เมื่อจำเป็นต้องมีการตรวจสอบคุณภาพมาตรฐานสินค้าที่จัดจำหน่ายภายในประเทศไทย จึงมีการจัดตั้งบริษัท ห้องปฏิบัติการกลาง (ประเทศไทย) จำกัด ขึ้น เพื่อทำหน้าที่ช่วยเหลือผู้ประกอบการ SME โอท็อป วิสาหกิจชุมชน อย่างเต็มรูปแบบ ในการวิเคราะห์และทดสอบคุณสมบัติของส่วนผสมภายในสินค้า ทั้งที่เป็นผลผลิตการเกษตร อาหาร ไปจนถึงผลิตภัณฑ์ที่ไม่ใช่อาหาร ผ่านกระบวนการวิเคราะห์ด้วยเครื่องมือที่ทันสมัยได้การรับรองมาตรฐานในระดับโลก
ซึ่งภายในห้องปฏิบัติการกลาง จะแบ่งการให้บริการเป็น 2 การให้บริการใหญ่ ๆ ดังนี้
1.ด้านการตรวจวิเคราะห์ผลทางห้องปฏิบัติการ ซึ่งเป็นการตรวจวิเคราะห์คุณสมบัติของผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ภายในห้องแล็บทดสอบ ซึ่งแบ่งแยกย่อยออกไปได้อีกหลากหลายห้องปฏิบัติการ
2.ด้านบริการตรวจรับรองมาตรฐานนอกห้องปฏิบัติการ ส่วนมากจะเป็นการลงพื้นที่ตรวจสอบกระบวนการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำ โดยมุ่งเน้นพัฒนามาตรฐานและรับรองกระบวนการผลิต ไปจนถึงผลผลิตของภาคเกษตรกรรมให้มีความปลอดภัยทั้งในด้านสภาพแวดล้อมในการทำงาน ตลอดจนคุณภาพของผลผลิตต่าง ๆ ให้มีความปลอดภัยจากสารปนเปื้อน เพื่อให้เกิดความมั่นใจในการส่งออกไปยังผู้บริโภคที่ปลายน้ำ
.
ยังมีกิจกรรมอื่น ๆ อีกมากมายที่ห้องปฏิบัติการกลาง (ประเทศไทย) พร้อมให้ความช่วยเหลือกับทั้งทางด้านผู้ประกอบการ SME โอท็อป วิสาหกิจชุมชน รวมถึงมุ่งมั่นที่จะเป็นแรงผลักดันให้สินค้าของทุกภาคส่วนในกระบวนการตั้งแต่ต้นน้ำ-กลางน้ำ-ปลายน้ำ มีความปลอดภัยในคุณภาพของสินค้าและสามารถที่จะไปแข่งขันในเวทีโลกได้อย่างมั่นใจ
.
ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อได้ที่
บริษัท ห้องปฏิบัติการกลาง (ประเทศไทย) จำกัด
สาขา กรุงเทพมหานคร (ในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน)
2179 ถ.พหลโยธิน แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900
เลขประจำตัวผู้เสียภาษี 0105546096453
โทร. 02940 5993, 02940 6881-3
โทรสาร: 02579 8527, 02940 5993 ต่อ 209, 268
E-mail: supportsale@centrallabthai.com
Facebook: centrallabthai
Line: centrallabthai
สำหรับช่องทาง SME ONE เพิ่มเติม
Facebook: SMEONE
Youtube: SMEONE
Line: @smeone
สำนักบ่มเพาะวิชาการเพื่อวิสาหกิจในชุมชน ม.ทักษิณ – พัฒนาเศรษฐกิจจังหวัดจากผลิตภัณฑ์
พื้นที่บริเวณจังหวัดพัทลุง รวมถึงจังหวัดโดยรอบ ถูกเรียกว่าเป็น อู่ข้าว อู่น้ำ ของภาคใต้ ถึงแม้ว่าจะมีการสร้างผลิตภัณฑ์ประจำชุมชนหรือสินค้าโอท็อปขึ้นมาอย่างมากมาย แต่สินค้าเหล่านั้นก็ยังมีโจทย์สำคัญที่ต้องการการปรับปรุงอยู่ว่า จะมีวิธีการพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ชุมชนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้ไปไกลกว่าที่เป็นอยู่ได้อย่างไรบ้าง ทั้งในด้านการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการผลิต การลดต้นทุน การสร้างมูลค่าเพิ่มในสินค้าให้ผู้ประกอบการ การดูแลรักษามาตรฐานสินค้า เหล่านี้เป็นต้น
.
บ่มเพาะความรู้ พัฒนาชุมชน
มหาวิทยาลัยทักษิณ เห็นความสำคัญในการพัฒนาผลิตภัณฑ์เหล่านี้ ตลอดทั้งวงจรอายุของผลิตภัณฑ์ ซึ่งต้องมีการบ่มเพาะให้ความรู้ เข้าไปปรับปรุงกระบวนการผลิต สร้างช่องทางส่งเสริมการตลาดให้แก่ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในทุกภาคส่วนตั้งแต่ต้นน้ำ-กลางน้ำ-ปลายน้ำ ทั้งที่เป็นผู้ประกอบการ SME ไปจนถึงวิสาหกิจชุมชน
นอกเหนือไปจากการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพมาตรฐานเพิ่มขึ้นแล้วนั้น สิ่งหนึ่งที่สามารถต่อยอดออกไปได้ก็คือ การที่สินค้าสามารถสร้างจุดขายและช่วยเพิ่มความน่าสนใจให้กับจังหวัด จนสามารถยกระดับไปเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวให้เกิดขึ้นได้อีกต่อหนึ่ง ซึ่งสอดคล้องกับช่วงหลังมานี้ที่จังหวัดพัทลุงมีการเติบโตอย่างรวดเร็วในด้านการท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น ทางมหาวิทยาลัยทักษิณได้ดำเนินการพัฒนาสินค้าชุมชนให้ช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวตั้งแต่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ ยกระดับงานออกแบบสร้างจุดขายให้กับสินค้า ไปจนถึงการสร้างช่องทางการขายให้ไปถึงผู้บริโภคด้วยระบบออนไลน์ และมีการทำฐานข้อมูลสนับสนุนอย่างครบถ้วน เพื่อทำให้นักท่องเที่ยวได้เห็นว่าจังหวัดพัทลุงเป็นจุดหมายปลายทางที่ต้องมาท่องเที่ยวให้ได้สำหรับพวกเขา จะเห็นได้ว่าเป็นสิ่งที่ช่วยยกระดับเศรษฐกิจให้กับทั้งจังหวัด จากการเข้าไปพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพมาตรฐานที่เห็นผลได้อย่างชัดเจน
.
บริการที่ทางสำนักบ่มเพาะวิชาการเพื่อวิสาหกิจในชุมชนมหาวิทยาลัยทักษิณ เปิดให้บริการแก่ผู้ประกอบการ ได้แก่
บริการให้คำปรึกษาด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อช่วยหาวิธีแก้ไขปัญหาทางธุรกิจให้กับทั้งผู้ประกอบการและวิสาหกิจชุมชน โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
บริการบ่มเพาะธุรกิจที่มาจากฐานนวัตกรรม เปิดให้ผู้ประกอบการสมัครเข้ามาอบรมรับความรู้จากวิทยากรไปจนถึงขั้นตอนการทำชิ้นงานต้นแบบ
บริการอุทยานวิทยาศาสตร์ ห้องปฏิบัติการวิเคราะห์คุณภาพ คุณสมบัติต่าง ๆ ภายในผลิตภัณฑ์ พร้อมให้การรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ได้ รวมถึงการร่วมมือกับภาคเอกชนในการทำงานวิจัยในเรื่องต่าง ๆ
ศูนย์ออกแบบนวัตกรรม ช่วยให้ผู้ประกอบการ ทั้งในภาคเอกชน ชุมชน รวมทั้งอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ได้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบ โดยยึดแนวคิดการเป็นนวัตกรรมเพื่อสังคมเป็นสำคัญ
หน่วยขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อสังคม โดยการสนับสนุนจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) ช่วยเหลือชุมชนให้มีผลิตภัณฑ์ต้นแบบใหม่ ๆ จากสินค้าที่มีอยู่เดิม ซึ่งมีทั้งทีมที่ปรึกษาและงบประมาณให้สำหรับการผลิตเพื่อพัฒนาสินค้าต้นแบบขึ้น
.
สำนักบ่มเพาะวิชาการเพื่อวิสาหกิจในชุมชน มหาวิทยาลัยทักษิณ มุ่งมั่นที่จะพัฒนาผู้ประกอบการทุกภาคส่วนภายในพื้นที่จังหวัดพัทลุง และจังหวัดใกล้เคียง ให้เห็นภาพโอกาส เห็นความเป็นไปได้ใหม่ ๆ จากต้นทุนที่มี เพื่อพัฒนาระบบเศรษฐกิจของจังหวัด สร้างให้เป็นระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนให้เกิดขึ้น และพร้อมที่จะเป็นจุดเชื่อมโยงระหว่างภาคเอกชน ชุมชน และภาคอุตสาหกรรม ให้มีความมั่นใจและก้าวไปข้างหน้าจนประสบความสำเร็จได้ในอนาคต
.
ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อได้ที่
สำนักบ่มเพาะวิชาการเพื่อวิสาหกิจในชุมชน มหาวิทยาลัยทักษิณ
222 หมู่ 2 ตำบลบ้านพร้าว อำเภอป่าพะยอม จังหวัดพัทลุง 93210
โทร. 07-431-7600, 074-609600 ต่อ 7262
E-mail : tsu_direct@scholar.tsu.ac.th
Website : https://ubi.tsu.ac.th
Facebook: ICEI-TSU
สำหรับช่องทาง SME ONE เพิ่มเติม
Facebook: SMEONE
Youtube: SMEONE
Line: @smeone
สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ที่ยังคงดำเนินต่อไปโดยไม่มีทีท่าว่าจะจบลงเมื่อใด และได้ส่งผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจ และธุรกิจน้อยใหญ่ทั่วโลกทำให้ต้องปรับตัวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งมีกรณีศึกษาที่น่าสนใจของธุรกิจในประเทศญี่ปุ่น ที่สะท้อนภาพการปรับตัวไปตามความเปลี่ยนแปลงของตลาด
โดยเป็นข้อมูลจากการสัมมนาออนไลน์ของ สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) หรือ ส.ส.ท. บรรยายโดย ผศ.ดร.กฤตินี พงษ์ธนเลิศ อาจารย์ประจำภาควิชาการตลาด คณะพาณิชย์ศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อดีตนักเรียนทุนรัฐบาลญี่ปุ่น ที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก จากมหาวิทยาลัยโกเบ ประเทศญี่ปุ่น ปัจจุบันเป็นเจ้าของเพจ “เกตุวดี Marumura” ที่มีผู้ติดตามมากกว่า 1 แสนคน
แม้ว่าวันนี้ สถานการณ์ของ COVID-19 ในประเทศญี่ปุ่นอาจไม่แตกต่างจากประเทศไทย ซึ่งธุรกิจส่วนใหญ่ยังไม่ฟื้นฟูอย่างเต็มที่ แต่จากตัวอย่างที่นำเสนอก็พอมองเห็นไอเดียในการฟื้นฟูกิจการในสไตล์ญี่ปุ่น ที่กลายเป็นทางออก หรืออาจเป็นทางรอด เพื่อทำให้ธุรกิจสามารถเดินหน้าต่อไปได้ ทั้งในช่วงที่ COVID-19 ยังอยู่ และหลังวิกฤต COVID-19 สงบลง แม้จะเป็นช่วงการ Work from Home ก็สามารถสร้างดีมานด์ใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นได้จากวิถีการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไป
ผศ.ดร.กฤตินี พงษ์ธนเลิศ กล่าวถึง ข้อมูลจากนิตยสารโตโยเคไซในประเทศญี่ปุ่น ที่ระบุถึงธุรกิจที่มียอดขายจากผลประกอบการตกลงเป็นอย่างมาก คือ ธุรกิจสายการบิน และธุรกิจโรงแรม ในทางกลับกันธุรกิจที่มียอดขายเติบโตอย่างน่าสนใจ คือ ธุรกิจแฟชั่นเสื้อผ้าอย่าง Shimamura และ Uniqlo ที่สามารถเติบโตต่อไปได้แม้อยูในช่วง COVID-19 ด้วยเพราะมองเห็นโอกาส และมีการสร้างดีมานด์ใหม่ให้เกิดขึ้น จากการสังเกตพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ต้องอยู่บ้านมากขึ้น ว่าอะไรคือสิ่งที่ผู้บริโภคต้องการในช่วงเวลานี้
SHIMAMURA เป็นเสื้อผ้าแฟชั่นราคาประหยัด และมีสาขาอยู่นอกเมืองที่เน้นการทำตลาดในระดับ Mass เป็นหลัก ก่อนหน้านี้เพิ่งมีการ Re-positioning Brand โดยปรับภาพลักษณ์จากการที่ถูกมองว่าเป็นแบรนด์เสื้อผ้าสำหรับคุณป้า มาเป็นเสื้อผ้าแฟชั่นสำหรับวัยรุ่น ด้วยการใช้รูปแบบการสื่อสารผ่าน Influencer ที่เป็นดารานักแสดง เน้นการนำเสนอไอเดียการ Mixed & Match เสื้อผ้าอย่างฉลาดและลงตัว มีการ Collaboration กับบล็อกเกอร์ และอินฟลูเอนเซอร์ในเรื่องการออกแบบ รวมถึงการมี Controller ประมาณ 80 คน คอยเก็บข้อมูลในร้านเพื่อนำข้อมูลไปปรับปรุงร้านอย่างต่อเนื่อง
สำหรับการปรับตัวในช่วง COVID – 19 แม้ว่าคนจะอยู่บ้านกันมากขึ้นแต่ยอดขายของ Shimamuru ยังคงเติบโต เพราะ Shimamura เน้นการทำตลาดภายใต้คอนเซ็ปต์ของคำว่า Su-komori แปลตรงตัว คือ การอยู่ในรัง หมายถึง การ Work from Hone โดย Shimamura มองว่า Su-komori เป็นตลาดใหญ่ที่มีดีมานด์สูง และจากการวิเคราะห์ความต้องการของคนที่อยู่บ้านว่าต้องการเสื้อผ้าแบบไหน ก็พบว่า ตรงกับแนวของเสื้อผ้าที่ตนเองมีอยู่ ซึ่งก็คือเสื้อผ้าในกลุ่ม Room ware หรือชุดอยู่บ้าน จึงให้ความสำคัญด้วยการออกคอลเลกชั่นใหม่เพื่อสร้างความหลากหลาย และเน้นการดีไซน์ที่มีความน่ารัก สวมใส่สบายแต่ราคาไม่แพงออกสู่ตลาดมากขึ้น
UNIQLO เป็นแบรนด์แฟชั่นเสื้อผ้าอีกหนึ่งแบรนด์ที่มียอดขายเติบโตเพิ่มขึ้นในช่วง COVID-19 โดย Uniqlo ได้มีการออกคอลเลกชั่นใหม่ คือ Uniqlo at Home ซึ่งโดยปกติเสื้อผ้าของ Uniqlo ก็สวมใส่สบายอยู่แล้ว แต่ในคอลเลกชั่นนี้ได้มีการนำเสื้อผ้ามา Mixed & Match ให้เหมาะสำหรับการใส่อยู่บ้านมากขึ้น มีการสร้างบรรยากาศในร้านด้วยการจัดดิสเพลย์ที่ให้ความรู้สึกเหมือนอยู่ในบ้าน
ในส่วนของการสื่อสารบนออนไลน์ จะเน้นการสื่อสารผ่านภาพที่กำลังทำกิจกรรมต่างๆ ในขณะที่สวมใส่เสื้อผ้าในคอลเลกชั่นที่วางจำหน่ายอยู่ เพื่อสะท้อนภาพคำว่า Uniqlo at Home ทำให้การอยู่บ้านเป็นเรื่องเพลิดเพลิน เป็นวิธีการสื่อสารที่ทำให้คนเห็นว่า ช่วงเวลาที่ต้องอยู่กับบ้านเป็นเวลานานๆ ก็สามารถทำให้เป็นช่วงเวลาที่มีคุณภาพได้ เป็นการสร้างอารมณ์ร่วมที่จะทำให้ผู้คนรู้สึกอยากช้อปปิ้งเสื้อผ้า รวมถึงของใช้ในบ้านไอเท็มต่างๆ ของ Uniqlo อีกด้วย
“บทเรียนที่ได้จากแบรนด์ Shimamura และ Uniqlo คือ การสร้างดีมานด์ใหม่ให้กับตลาดจากการสังเกตพฤติกรรมของคนเมื่อต้องอยู่บ้านมากขึ้นว่า อะไรคือสิ่งที่ผู้บริโภคต้องการ และในฐานะของร้านเสื้อผ้าจะตอบโจทย์ความต้องการเหล่านั้นได้อย่างไรบ้าง”
ผศ.ดร.กฤตินี ยังยกตัวอย่างธุรกิจเครื่องดื่มในกลุ่มเบียร์อย่างแบรนด์ KIRIN และ ASAHI ก็มีการวางกลยุทธ์ด้านการวางตลาดผลิตภัณฑ์ใหม่ เพื่อเอาใจกลุ่มเป้าหมายที่ต้อง Work from Home ด้วยเช่นกัน ซึ่งทั้ง KIRIN และ ASAHI ต่างพยายามสร้างดีมานด์ใหม่ให้กับตลาดเพื่อตอบโจทย์ในเรื่อง Work from Home เพื่อให้คนยังรู้สึกกับการดื่มเบียร์ โดยใช้เทคโนโลยีมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย
KIRIN ได้เปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาสจากการที่คนไปนั่งดื่มเบียร์สดที่ร้านไม่ได้ โดยเล่นกับสถานะการ Work from Home มาเป็น Drink from Home จากแนวคิดจะทำอย่างไรให้คนอยู่ที่บ้านสามารถดื่มเบียร์สดได้ KIRIN จึงออกผลิตภัณฑ์ในรูปแบบ Drink from Home ซึ่งเป็นเครื่องทำเบียร์สดในรูปทรงกระติก และมีคันโยกในลักษณะเหมือนถังเบียร์ สด ภายในบรรจุด้วยขวดเบียร์รูปทรงอ้วนป้อมที่เป็นเสมือนรีฟิลของเบียร์สด เมื่อกดคันโยกก็ได้เบียร์ที่มีฟองนุ่มๆ ออกมา ให้รสชาติเหมือนเบียร์สดจริงๆ
โดย KIRIN เน้นการทำตลาดบนช่องทางออนไลน์เพราะเข้าถึงลูกค้ากลุ่มเป้าหมายได้โดยไม่ต้องเสียค่าการตลาดให้กับร้านค้าปลีก มี 2 แพ็กเกจ แบบรายเดือนให้ลูกค้าได้เลือกซื้อ และไม่เสียค่าเครื่องทำเบียร์สด โดยแพ็กเกจแรก จะส่งเบียร์ให้เดือนละ 1 ครั้ง ขนาด 1 ลิตร จำนวน 2 ขวด ในราคา 3,190 เยน และแพ็กเกจที่ 2 จัดส่งเดือนละ 2 ครั้ง ในราคา 5,060 เยน ได้เบียร์ขนาด 1 ลิตร จำนวน 4 ขวด เฉลี่ยราคาเพียงแก้วละ 421 เยน ถูกกว่าการไปนั่งดื่มตามร้านนั่งดื่มนอกบ้าน ที่ส่วนใหญ่มีราคาประมาณ 500 - 1,000 เยนต่อแก้ว
นอกจากนี้ KIRIN ยังต่อยอดด้วยการสร้างความหลากหลายของรสชาติในฤดูกาลที่แตกต่างกัน ก็ยิ่งจะทำให้ลูกค้าผูกพันอยู่กับรสชาติของเบียร์ KIRIN โดยไม่เปลี่ยนใจไปดื่มเบียร์ยี่ห้ออื่นๆ อีก
ASAHI เป็นแบรนด์คู่แข่งของ KIRIN มีการซุ่มพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่มานานกว่า 4 ปี และได้จังหวะเปิดตัวในช่วง COVID-19 จากแนวคิดที่ว่า จะทำอย่างไรให้ลูกค้าสามารถดื่มเบียร์ที่บ้านได้ด้วยความรู้สึกที่ตื่นเต้น และสิ่งที่ ASAHI ทำ คือ การทำให้ลูกค้าได้ดื่มเบียร์จากกระป๋องในอารมณ์เหมือนได้ดื่มเบียร์สดที่มีฟองนุ่มๆ ไหลออกมาทันทีที่เปิดกระป๋อง
ในการออกแบบกระป๋อง ASAHI ต้องพยายามลบความคมของขอบกระป๋อง ทำให้ไม่บาดปากเวลาดื่มเบียร์จากกระป๋อง ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากแก้วไวน์ Sparkling เมื่อเวลาเทไวน์ลงไปในแก้วจะมีพรายฟองผุดขึ้นมา จึงเกิดความคิดต่อยอดว่า จะมีอะไรที่ใส่ลงไปในกระป๋องเบียร์แล้วสามารถทำให้เกิดฟองได้เมื่อเวลาเปิดกระป๋อง โดย ASAHI วางขายผลิตภัณฑ์ตัวนี้ที่ร้านสะดวกซื้อจนกลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่ขายดีมาก เพราะโปรโมทว่าเป็นเบียร์กระป๋องที่ให้ความรู้สึกเหมือนดื่มเบียร์สดจริงๆ
“ทั้งสองแบรนด์มีการทำตลาดที่แตกต่างกัน KIRIN เน้นความพรีเมียมด้วยการสร้างพฤติกรรมการดื่มเบียร์แบบใหม่ นำเสนอเบียร์สดที่สามารถนั่งดื่มที่บ้านได้ทุกวัน ส่วน ASAHI ไม่ได้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคมากนัก แต่นำเสนอความเป็นเบียร์สดแบบกระป๋องที่เน้นเจาะกลุ่ม Mass สร้างความรู้สึกแปลกใหม่เพียงแค่เปิดกระป๋อง โดยทั้ง KIRIN และ ASAHI มีการสร้างดีมานด์ใหม่ให้กับตลาดเพื่อตอบโจทย์เรื่อง Work from Home ทำให้ผู้บริโภครู้สึกสนุกกับการดื่มเบียร์ที่บ้าน โดยใช้เทคโนโลยีมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย”
ยังมีกรณีศึกษาของ เบนโตะมีฉากกั้น จากร้านข้าวกล่องรายหนึ่งที่มีทำเลที่ตั้งร้านอยู่หน้าสถานีรถไฟฟ้าแถบคันไซ แต่มียอดขายที่ลดลงเนื่องจากคนใช้รถไฟฟ้ากันน้อยลงจากการ Work from Home ทางร้านจึงสร้างแรงจูงใจให้เบนโตะของตนดูมีคุณค่า และน่าซื้อมากขึ้น โดยสร้างกิมมิกเล็กๆ จากการดีไซน์กล่องที่ฝาปิดด้านบนสามารถกางออกเป็นเหมือนฉากกั้นด้านข้าง เพื่อป้องกันเชื้อโรคจากละอองฝอยที่ลอยปนเปื้อนอยู่ในอากาศ หรือจากคนที่นั่งข้างๆ แม้จะป้องกันอะไรไม่ได้มาก แต่อย่างน้อยก็ทำให้ลูกค้าเกิดความสบายใจมากขึ้น
เป็นการปรับเปลี่ยนจากสิ่งที่มีอยู่ ด้วยความใส่ใจ และพยายามทำความเข้าใจในสิ่งที่ผู้บริโภคต้องการ นั่นหมายถึงว่า ต่อไปนี้สิ่งที่ผู้บริโภคต้องการอาจไม่ใช่แค่ข้าวกล่องที่มีรสชาติอร่อย แต่ยังต้องเป็นผลิตภัณฑ์ที่แฝงด้วยคุณค่าในเรื่องอื่นๆ เหมือนเช่นข้าวกล่องที่มีฉากกั้นกล่องด้านข้างก็ย่อมจะน่าหยิบมากกว่าข้าวกล่องธรรมดาในแบบเดิมๆ ทั่วไป
ข้าวสารที่กลายเป็นของขวัญล้ำค่า เป็นอีกหนึ่งกรณีศึกษาที่น่าสนใจ เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ จากโจทย์ที่ว่า จะทำอย่างไรให้คนซื้อข้าวสารมากขึ้นในยุค COVID-19 แบบนี้ แม้ว่าคนจะอยู่บ้านหุงข้าวกันมากขึ้น แต่ในแง่การทำตลาดก็มีคู่แข่งเกิดขึ้นมากมาย และส่วนใหญ่จะมีจุดขายในเรื่องของความอร่อย และคุณประโยชน์ของข้าว แต่ทางร้านก็สร้างความแตกต่างเพื่อทำให้ลูกค้าอยากซื้อข้าวสารเกรดพรีเมียมราคาแพงของทางร้าน
โดยร้านสร้างไอเดียเปลี่ยนคุณค่าของข้าวให้เป็นของขวัญสำหรับครอบครัวที่มีเด็กเกิดใหม่ ซึ่งข้าวทุกถุงจะมีปริมาณเท่ากับน้ำหนักของเด็กที่เพิ่งคลอดของครอบครัวนั้นๆ และมีการสร้างกิมมิกด้วยการนำภาพของเด็กมาทำเป็นกราฟิกน่ารักๆ บนถุงข้าว พร้อมระบุรายละเอียดชื่อเด็ก วัน เดือน ปีเกิด และน้ำหนักตัวของเด็กไว้บนถุงข้าวนั้นด้วย ซึ่งธีมการดีไซน์บนหน้าถุงก็จะแตกต่างกันไปตามฤดูกาล เพื่อเพิ่มความสนุกสนานให้กับลูกค้ามากยิ่งขึ้น
ผศ.ดร.กฤตินี ยังมองว่า วิกฤต COVID-19 เป็นความน่ากลัวกว่าภัยธรรมชาติอื่นๆ เพราะเกิดขึ้นแล้วอยู่นาน ไม่รู้ว่าจะจบเมื่อไหร่ ดังนั้นธุรกิจต้องสร้างโอกาสที่จะชนะในระยะยาว ไม่ใช่แค่รอดจากวิกฤตครั้งนี้แต่เป็นการเตรียมตัวที่จะสามารถอยู่รอดได้อย่างยั่งยืน
“การจะอยู่รอดได้อย่างยั่งยืน ยังต้องมีองค์ประกอบสำคัญหลายเรื่อง เช่น ต้องสร้างแฟนคลับ ต้องพยายามรักษาแฟนคลับไว้ และทำให้เขาเกิดความเชื่อมั่นในแบรนด์ ต้องสังเกตความต้องการใหม่ๆ อยู่เสมอ เพื่อดูว่า พฤติกรรมลูกค้ามีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ เพื่อสามารถปรับตัวไปตามความต้องการใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น ต้องมีการพัฒนาสินค้า และเทคโนโลยีต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถชนะได้ในระยะยาว สามารถหนีวิกฤต หรือหนีการดิสรัปจากสถานการณ์ต่างๆ” ผศ.ดร.กฤตินี กล่าว
หากจะเรียกกรุงเทพว่าเป็นป่าคอนกรีตคงไม่ผิดนัก เพราะมองไปทางไหนเห็นแต่ตึกรามบ้านช่องแนวตั้งที่นับวันจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ถ้ารวมพื้นที่เฉพาะดาดฟ้าของตึกเหล่านั้นเชื่อได้ว่าน่าจะกินพื้นที่หลายร้อยไร่ จะดีแค่ไหนหากพื้นที่เหล่านั้นกลายเป็นฟาร์มดาดฟ้าสมัยใหม่ที่เป็นแหล่งผลิตอาหารปลอดภัยให้กับคนเมือง
Bangkok Rooftop Farming (BRF) เป็นธุรกิจที่อยู่ในรูปแบบของ Social Business ที่มุ่งดำเนินธุรกิจโดยใช้แนวคิด Circular Economy เป็นตัวขับเคลื่อน เน้นการจัดการขยะเศษอาหารแล้วนำมาเพิ่มมูลค่าแปลงเป็นฟาร์มเกษตรอินทรีย์บนดาดฟ้า สร้างอาหารที่ปลอดภัยให้คนในพื้นที่ นำร่องที่ห้างสรรพสินค้าเซ็นเตอร์วัน ย่านอนุสาวรีย์ โดยมีทีมงานที่เชี่ยวชาญในแค่ละเรื่องและมีหัวใจสีเขียวมาร่วมภารกิจด้วยกันไม่ว่าจะเป็น คุณปารีณา ประยุกต์วงศ์ พัฒนาบุคลากร คุณวิฑูรย์ ปัญญากุล ผู้ชำนาญการด้านเกษตรอินทรีย์ คุณธนกร เจียรกมลชื่น ผู้ชำนาญการด้านการแปลงเศษอาหาร คุณสุขสันต์ เขียนภาพ การตลาดและการควบคุมคุณภาพ คุณกฤษฎา น้อยบุดดี วิจัยและพัฒนา คุณอรรถพล นิพัทธ์โรจน์ ฝ่ายขาย คุณพร้อมทรัพย์ ซื่อสัตยวงศ์ กลยุทธ์ และคุณสมทรัพย์ รัตนมนตรีชัย บัญชีและการเงิน
“เราทำงานกับเซ็นเตอร์วันมากว่า 10 ปีแล้ว ซึ่งเราในที่นี้คือกลุ่มคนรักอนุสาวรีย์ที่รวมตัวกันและทำงานกับเครือข่ายรอบๆอนุสาวรีย์ ที่มีเครือข่ายทั้ง ห้างสรรพสินค้าเซ็นเตอร์วัน มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ภัตคารพงหลี ร้านสยามคอมพิวเตอร์ เป็นต้น ส่วนของเซ็นเตอร์วันเนื่องจากเป็นภาคเอกชนจึงต้องการให้เราเข้าไปช่วยทำเรื่องของสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่เรื่องของการจัดการขยะ การเลิกใช้กล่องโฟม ตอนที่เขาสร้างตึกใหม่ก็มีพื้นที่ดาดฟ้า แล้วเขามองว่าเรื่องของเศษอาหารเป็นปัญหาของเขาเนื่องจากมีร้านอาหารมากขึ้น เราจึงหาทางจัดการโดยคิดเรื่องของโมเดลการทำฟาร์มบนดาดฟ้าสมัยใหม่” คุณปารีณา ประยุกต์วงศ์ พัฒนาบุคลากร เล่าให้เราฟังถึงจุดเริ่มต้น
กระบวนการทำงานของ Bangkok Rooftop Farming เริ่มต้นด้วยการจัดการขยะจากเศษอาหาร ซึ่งมาจากศูนย์อาหาร โดยก่อนจะนำมาใช้กับฟาร์มต้องมีกระบวนการคัดแยกขยะเศษอาหารก่อน ทั้งที่เป็นขยะเศษอาหารก่อนปรุงและขยะเศษอาหารหลังปรุง
“เมื่อแยกขยะแล้วจะนำขึ้นมาบนฟาร์มโดยเราจะจัดการส่วนหนึ่งด้วยเครื่องผลิตปุ๋ยและก๊าซชีวภาพจากขยะเศษอาหารด้วยเทคโนโลยีเครื่อง Cow Tech เพื่อให้กลายเป็นน้ำหมักและกากคล้ายขี้วัวซึ่งเราก็นำมาใช้หมักเป็นปุ๋ยหมัก อีกส่วนหนึ่งคือเรานำเศษอาหารมาปั่นและหมักเป็นปุ๋ยหมักเลย ซึ่งปัจจุบันเราจัดการขยะเศษอาหารได้ 30-50 กิโลกรัมต่อวัน” คุณธนกร เจียรกมลชื่น ผู้ชำนาญการด้านการแปลงเศษอาหาร เล่าให้ฟังถึงขั้นตอนเริ่มต้นในการทำฟาร์ม
หลังจากได้ต้นทุนซึ่งเป็นปุ๋ยหมักแล้ว ขั้นตอนต่อไปจะเป็นขั้นของการปลูกผัก ซึ่งคุณวิฑูรย์ ปัญญากุล ผู้ชำนาญการด้านเกษตรอินทรีย์ เสริมให้ฟังว่าการทำเกษตรอินทรีย์เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมได้
“การที่เรานำขยะเศษอาหารมาใช้ให้เป็นประโยชน์จะช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมได้ เพราะทุกวันนี้ปัญหาโลกร้อนเป็นปัญหาที่ใหญ่และส่งผลกระทบต่อทุกคนบนโลกค่อนข้างมาก การที่เรานำเอาเศษอาหารมาทำเป็นปุ๋ยเป็นการแปลงขยะที่อาจจะก่อมลพิษให้กับโลกมาใช้ให้เป็นประโยชน์ แต่เราต้องดูแลการหมักให้ดีเพื่อไม่ให้มีกลิ่นรบกวนมากนัก ส่วนของการกำจัดแมลงข้อดีของการปลูกผักในเมืองคือแมลงศัตรูพืชหรือนกมีไม่มากนัก พันธุ์ผักที่นำมาปลูกส่วนใหญ่จะเลือกที่เหมาะกับอากาศร้อน อย่าง กลุ่มผักสลัด ที่ปลูกง่ายและที่สำคัญต้องตรงตามความต้องการของตลาด”
เมื่อได้ผลผลิตกระบวนการสำคัญต่อมาก็คือเรื่องของการตลาดและการขาย ซึ่งคุณสุขสันต์ เขียนภาพ การตลาดและการควบคุมคุณภาพ มองว่าก่อนที่จะไปถึงเรื่องของการขายจำเป็นต้องทำเรื่องของการตลาดก่อนตั้งแต่เริ่มต้นที่จะปลูกผัก
“เราจะปลูกสิ่งที่ตลาดต้องการ หรือปลูกแบบ On Demand ดังนั้นเราจะเริ่มทำการตลาดตั้งแต่เริ่มปลูก โดยการวางแผนการปลูก ทำ Story Telling ด้วยการเริ่มเล่าตั้งแต่ตอนแรกเพื่อให้เห็นความโปร่งใส ให้คนมีส่วนร่วมกับเรา กระบวนการเริ่มต้นเราทำเรื่องของ Food Waste ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมที่คนสมัยนี้ให้ความสนใจมากขึ้น เราดึงจุดนี้มาเป็นจุดขายสำคัญในการขายผักของเราด้วย ให้เขาเห็นว่าสิ่งที่เราทำมีคุณค่า และผักที่ออกมามีประโยชน์ต่อคนและสิ่งแวดล้อม เราพยายามจะสร้างฐานแฟนคลับซึ่งหลงใหลสิ่งเดียวกับเราเพื่อให้เขามาสนับสนุนเรา เมื่อสร้างฐานแฟนได้การทำการตลาดของเราก็จะง่ายขึ้น ซึ่งตอนนี้พอผักเราออกมาก็ขายได้ทั้งหมด”
กลุ่มเป้าหมายของ Bangkok Rooftop Farming แบ่งเป็นหลักๆ 2 ส่วนคือกลุ่มลูกค้า End User และ กลุ่มโครงการที่สนใจ คุณสมทรัพย์ รัตนมนตรีชัย บัญชีและการเงิน อธิบายให้ฟังเพิ่มเติมว่า
“ในส่วนของผู้บริโภคในเมืองปัจจุบันอาหารที่เขารับประทานโดยเฉพาะผักมีสารพิษค่อนข้างมาก ผู้บริโภคไม่สามารถเลี่ยงตรงนี้ได้มากนัก เราจึงนำเรื่องราวตรงนี้มานำเสนอว่าเราแปลงขยะเศษอาหารมาทำเป็นวัสดุปลูกผักปลอดสารให้เขาทานได้ ซึ่งเราใช้ทั้งช่องทางออนไลน์และออฟไลน์ในการสื่อสาร เรามีสินค้าที่เป็นผัก วัสดุปลูกสำหรับกลุ่มลูกค้าที่ชอบปลูกผัก ปลูกต้นไม้ สำหรับกลุ่มโครงการที่มีพื้นที่ว่างเปล่าเราสามารถให้คำปรึกษาว่าเรามีองค์ความรู้ตรงนี้ถ้าหากว่าเขาสนใจก็สามารถที่จะทำตรงนี้เพื่อเป็นการสร้างรายได้เสริมและช่วยสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน”
การเติบโตของ Bangkok Rooftop Farming คือการเพิ่มพื้นที่สีเขียวด้วยการทำฟาร์มโดยวิธีการ Circular Economy คือการนำขยะเศษอาหารมา Upcycle เพื่อเพิ่มมูลค่า ดังนั้นกลยุทธ์ของ Bangkok Rooftop Farming ก็คือการเพิ่มพื้นที่การทำฟาร์มที่เน้นเอาขยะมาแปลงเป็นปุ๋ยหมักให้ได้มากที่สุด
“เราไม่ได้ต้องการแค่สร้างแหล่งอาหารที่ปลอดภัยแต่เราต้องการให้ลดคาร์บอน ฟุตพริ้นต์ที่จะเกิดขึ้นจากการทิ้งขยะด้วย รวมทั้งสร้างรายได้ให้กับเจ้าของพื้นที่ ถึงแม้ว่าจะไม่ได้เป็นธุรกิจมั่งคั่งแต่จะเป็นธุรกิจที่หล่อเลี้ยงตัวมันเองได้และสามารถที่จะดูแลโลกใบนี้ได้ เราเน้นการเป็นธุรกิจเพื่อสังคมจริงๆ การเพิ่มพื้นที่ฟาร์ม การให้การอบรม การเข้าไปช่วยหรือให้คำปรึกษาแก่คนที่สนใจคือการ Scale Up ของเรา นอกจากนั้นยังทำให้คนในชุมชนใกล้ฟาร์มได้ทานผักที่ปลอดภัย เขามีส่วนร่วมในการจัดการขยะ รักษ์โลกด้วย”
ปัจจุบัน Bangkok Rooftop Farming กำลังวางแผนขยายพื้นที่ฟาร์มเพิ่มอีก 5 แห่งทั่วเมือง โดยแต่ละพื้นที่จะเป็น Social Business หรือการทำธุรกิจเพื่อสังคม ซึ่งตอนนี้อยู่ในช่วงของการพัฒนาโครงการและจะเสร็จช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายนที่จะถึงนี้
เป้าหมายในปีแรกที่เราจะทำเราต้องการทำทั้งหมด 3 ฟาร์ม จากนั้นภายใน 5 ปีเราต้องการเพิ่มทั้งหมด 12 ฟาร์ม แต่ปีแรกเรากำลังจะขยายไป 5 ฟาร์ม ซึ่งถือว่าเกินเป้าหมาย หากทั้ง 5 ฟาร์มสำเร็จเราก็มองว่า Bangkok Rooftop Farming ประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง ตอนนี้ตัว Prototype ของเราที่เป็น Wastegetable ค่อนข้างสมบูรณ์แล้ว สามารถนำไปสเกลต่อได้
คุณปารีณา เสริมว่า ตอนนี้กรุงเทพมหานครมีตึกประมาณ 1,280 แห่ง และจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หากลองคำนวณพื้นที่จากตึกเหล่านั้นประมาณ 10% จะมีพื้นที่ทำฟาร์มประมาณ 56 ไร่ มีผักต่อวันประมาณ 2,800 กิโล เราจะจัดการขยะได้ประมาณ 1,000 ตันต่อวัน
“ตอนนี้ในกรุงเทพฯต้องจ่ายค่าจัดการเศษขยะหรือเศษอาหารเป็นจำนวนมาก หากเรามีการจัดการขยะที่ดีเราจะช่วยประหยัดงบประมาณตรงนี้ ธุรกิจฟาร์มของเราจะมีส่วนช่วยในการทำให้ขยะเศษอาหาร ไม่ต้องไปอยู่ใน Landfill เพื่อนำงบประมาณที่ต้องนำมาจัดการกับขยะไปพัฒนาอย่างอื่นได้”
แม้วันนี้ Bangkok Rooftop Farming จะยังเป็นธุรกิจเล็กๆที่มุ่งมั่นทำให้โลกนี้ดีขึ้นแต่เชื่อได้ว่าความตั้งใจและความมุ่งมั่นนี้จะสร้างแรงกระเพื่อมจากวงเล็กๆให้กระจายออกไปเป็นวงกว้างได้ โดยเฉพาะเมื่อประเด็นสิ่งแวดล้อมเป็นประเด็นที่ภาคธุรกิจในปัจจุบันต้องให้ความสำคัญมากยิ่งขึ้นในอนาคต
สนใจธุรกิจฟาร์มเกษตรอินทรีย์บนดาดฟ้าสามารถเข้าไปศึกษาหรือติดต่อไปยัง Bangkok Rooftop Farming ได้ตามเว็บไซต์ https://bangkokrooftopfarming.com
สตาร์ทอัพเป็นหนึ่งในผู้ประกอบการในยุคดิจิทัล ที่นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาเป็นเครื่องมือและสร้างแพลตฟอร์มให้สามารถพัฒนาบริการให้มีการใช้งานอย่างแพร่หลาย จะมีการเติบโตแบบก้าวกระโดด การก้าวผ่านจุดเริ่มต้นของสตาร์ทอัพนับว่าต้องใช้แรงสนับสนุนจากหลายฝ่ายเพื่อให้สามารถยืนหยัดต่อการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมบริการใหม่เพื่อการเติบโตที่ยั่งยืน สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า เป็นหนึ่งในหน่วยงานภาครัฐที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนและสนับสนุนสตาร์ทอัพ และระบบนิเวศของสตาร์ทอัพ เพื่อให้ประเทศไทยก้าวสู่สตาร์ทอัพ ฮับ ในภูมิภาค
ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า (Depa) กล่าวว่า ดีป้ามีนโยบายที่จะส่งเสริมและสนับสนุนดิจิทัลสตาร์ทอัพ และช่วยสร้างระบบนิเวศของสตาร์อัพ (Startup ecosystem) เพื่อรองรับอุตสาหกรรมดิจิทัลยุคใหม่ (New S-Curve) รวมถึงเพื่อรองรับการเติบโตที่ยั่งยืนของประเทศไทย ผ่าน 4 โครงการหลัก ประกอบด้วย โครงการ Thailand Digital Valley โครงการให้ทุนสนับสนุนเกษตรกรและธุรกิจเอสเอ็มอีที่ต้องการใช้บริการดิจิทัลของสตาร์ทอัพเพื่อการปรับเปลี่ยนธุรกิจในรูปแบบเดิม (Transform) สู่ดิจิทัล โครงการให้ทุนสนับสนุนสตาร์อัพ Depa Digital Startup Fund ในรูปแบบของ Angel Fund และโครงการ dSURE ซึ่งเป็นโครงการกำหนดมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ไอที นอกจากนี้ยังอยู่ระหว่างร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดทำบัญชีบริการดิจิทัล เพื่อให้หน่วยงานรัฐสามารถใช้บริการดิจิทัล จากสตาร์ทอัพได้ คาดว่าบริการดิจิทัลจะสามารถเริ่มดำเนินการในกรอบระยะสั้นได้ในปีหน้า
โครงการ Thailand Digital Valley เป็นโครงการที่ดีป้า จะร่วมดำเนินการกับธุรกิจดิจิทัลชั่นนำระดับโลก เพื่อให้บริการโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยีดิจิทัลที่สำคัญ เพื่อพัฒนา วิเคราะห์ ทดลอง และขับเคลื่อนการพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูง (Deep Technology) อาทิ เทคโนโลยี Internet of thing, Data Science, บล็อกเชน, ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial intelligence), หุ่นยนต์ (Robotic), 5G, บริการดิจิทัล คลาวน์ และ ซอฟต์แวร์ คอนเวอร์เจนซ์ เป็นต้น และมีการพัฒนา Digital Ecosystem ที่เชื่อมบริษัทด้าน เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลชั้นนำของโลก กับดิจิทัลสตาร์ทอัพ โดยเฉพาะกลุ่มด้าน FinTech, AgriTech, TourismTech, HealthTech, EduTech และ GovTechในการออกแบบพัฒนา เทคโนโลยีและนวัตกรรมแบบก้าวกระโดด โดยมีอุปสงค์ของพื้นที่ที่ต้องการพัฒนาอุตสาหกรรมและธุรกิจประยุกต์ใช้เทคโนโลยีหรือนวัตกรรมดิจิทัลชั้นสูง เช่น พื้นที่ Smart City ในจังหวัดต่างๆ สำหรับเป็นตลาดรองรับสินค้าและบริการ ก่อนที่จะขยายตลาดในเชิงพาณิชย์ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อรองรับการเป็น ASEAN Digital Hub บนพื้นที่ 30 ไร่ ที่อำเภอ ศรีราชา จังหวัด ชลบุรี และสามารถสร้างเศษฐกิจดิจิทัล หรือ Economy S-Curve ในประเทศเทศไทยได้อย่างมีศักยภาพและเป็นกลไลในการขับเคลื่อนประเทศสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างยั่งยืน โดยขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2566
“ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ดิจิทัลสตาร์ทอัพในเมืองไทยมีมูลค่า 200,000 ล้านบาท มีการเติบโตแบบก้าวกระโดด ในบางกลุ่ม อนาคตเราคิดว่าสตาร์ทอัพไทยมีศักยภาพในการแข่งขันได้ ในกลุ่มสตาร์ทอัพจะมีหลายเรื่องที่ ดีป้า ไม่ได้ทำคนเดียว แต่จะทำงานในเชิงของ National agenda หมายความว่า เราจะทำอย่างไรดีที่จะทำให้สตาร์ทอัพเติบโตได้” ดร. ณัฐพล กล่าว
สำหรับโครงการให้ทุนสนับสนุนเกษตรกร และธุรกิจ SMEs ดีป้าจะให้เงินสนับสนุนเกษตรกร ธุรกิจ SMEs ที่ต้องการปรับปรุงกระบวนการทำงานหรือการทำธุรกิจแบบเดิมสู่การทำงานหรือการทำธุรกิจในรูปแบบใหม่โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อเพิ่มศักยภาพของการทำงานและธุรกิจที่ทำอยู่ให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นด้วยวงเงินมูลค่า 100,000 บาท และสำหรับธุรกิจ SMEs หรือนิติบุคคลที่มีพนักงาน 50 คนขึ้นไป ดีป้าให้การสนับสนุนเงินช่วยลดความเสี่ยงในการใช้บริการของสตาร์ทอัพจำนวนเงิน 200,000 บาท ทั้งนี้เพื่อเป็นการช่วยลดความเสี่ยงในการใช้บริการเทคโนโลยีและนวัตกรรมของสตาร์อัพ
“เราส่งเสริมสตาร์ทอัพ สตาร์ทอัพถือว่าเป็นหนึ่งธุรกิจของประเทศไทย ที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับดิจิทัลเซอร์วิส ซึ่งเค้าเป็นผู้ให้บริการเกี่ยวกับบริการที่เรียกว่า Software as a Service (SaaS) เช่น ระบบการศึกษา (Education) ระบบส่งอาหาร (Delivery) การเกษตร (AgriTech) เป็นต้น”
อย่างไรก็ตามในส่วนของสตาร์ทอัพ ที่จะเป็นผู้ให้บริการเทคโนโลยีและนวัตกรรมกับเกษตรกรและธุรกิจเอสเอ็มอี จะต้องเป็นสตาร์ทอัพที่ขึ้นทะเบียนและได้ผ่านการรับรองจาก ดีป้า และได้มาตรฐาน ISO 29110 ด้วย เพื่อให้เกิดความมั่นใจในการใช้บริการกับสตาร์ทอัพ
“สตาร์ทอัพเป็นกลุ่มที่อาจจะเป็นเครื่องมือ กลไกสำคัญที่จะลงไปช่วย ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เราพยายามจัดให้คนที่เป็นผู้ให้บริการที่เรียกว่า สตาร์ทอัพผู้ใช้บริการ Software as a Service ไปเจอกับผู้ประกอบการ SMEs ที่ต้องการจะ Transform ตัวเอง หรือแม้แต่ เกษตรกร หรือชุมชนที่ต้องการจะ Transform ตัวเองวิธีการของดีป้า คือ ทำอย่างไรให้ SMEs กับชุมชนหรือเกษตรกร มีความสามารถในการที่จะวิเคราะห์และเลือกใช้บริการดิจิทัลบนฐานเสี่ยงที่ตนเองจะต้องยอมรับด้วย ทั้งนี้สตาร์ทอัพจะต้องผ่านการลงทะเบียน มาตรฐาน และการรับรองจากดีป้า เพื่อทำให้เกิดการสร้างงาน และสร้างความเชื่อมั่นใจการใช้งานกับสตาร์ทอัพที่ขึ้นทะเบียนด้วยตอนนี้มีสตาร์ทอัพที่ขึ้นทะเบียนผู้ให้บริการดิจิทัลในพอร์ตประมาณ 200-300 ราย” ผู้อำนวยการใหญ่ กล่าว
สำหรับโครงการให้ทุนสนับสนุนสตาร์อัพ Depa Digital Startup Fund ในรูปแบบของ Angel Fundนั้น ดีป้ามีนโยบายให้ทุนสนับสนุนสตาร์ทอัพในรูปแบบของเงินทุนให้เปล่า (Angelfund) สำหรับสตาร์ทอัพที่อยู่ในก่อตั้งธุรกจ และมีการจดทะเบียนนิติบุคคลจัดตั้งบริษัทจำกัดแล้วไม่เกิน 3 ปี เมื่อผ่านการพิจารณาจะได้รับเงินสนับสนุนไม่เกิน 1 ล้านบาท
ทั้งนี้ดีป้า มีเป้าหมายที่จะสนับสนุนสตาร์ทอัพในระยะก่อตั้งธุรกิจจำนวน 50 รายต่อปี ปัจจุบันมีสตาร์ทอัพที่ให้การสนับสนุนมากกว่า 100 ราย สำหรับสตาร์ทอัพที่อยู่ในระยะเติบโต จดทะเบียนนิติบุคคลตั้งบริษัทจำกัดแล้วไม่เกิน 5 ปี ในสาขาเกษตรกรรม การศึกษา การเงิน สุขภาพ การท่องเที่ยว เมืองอัจฉริยะ และการจัดการระบบข้อมูล ดีป้าจะให้ทุนสนับสนุนไม่เกิน 5 ล้านบาท และแปลงสัดส่วนการถือหุ้นในสตาร์ทอัพอยู่ที่ 2.5 ล้านบาท
“กว่าที่สตาร์ทอัพจะเติบโตได้เค้าจะต้องมีเงินทุน การมีเงินทุนเข้าสู่ระบบของธนาคาร ไม่เพียงพอ เพราะว่า สตาร์ทไม่ได้มีสินทรัพย์ ในการค้ำประกันในการขอสินเชื่อ หรือการดำเนินการต่างๆ แต่สตาร์ทอัพจะเป็นการระดมทุน (Raise fund) และผู้ลงทุน จะต้องลงไปความเสี่ยงกับการเติบโตสตาร์ทอัพ บางรายเป็น Developer แต่ไม่มี Perspective ไม่มีมุมมองทางด้านธุรกิจ เป็นต้น นี่คือปัญหา ปัญหาที่สอง ก็คือ เก่งในเรื่องพัฒนาซอฟต์แวร์และบริการ แต่ไม่มีมุมมองทางด้านธุรกิจก็ต้องหา นักลงทุนที่มีมุมมองการขยายธุรกิจมาช่วย เค้า เรื่องแรก คือเรื่องทุน เรื่องที่สอง เป็นเรื่องประสบการณ์ทำธุรกิจ และ เรื่องที่สาม เป็นเรื่อง ระเบียบ กฎ ข้องบังคับต่างๆ การสร้างตลาดของภาครัฐที่จะเป็นตัวสนับสนุนให้กับสตาร์ทอัพ นี่ก็เป็นข้อจำกัดอยู่” ดร. ณัฐพล กล่าว
ปัจจุบันสตาร์ทอัพที่อยู่ในไปป์ (Pipe) ของดีป้าก็ประมาณ 100 สตาร์ทอัพที่อยู่ในระดับที่จะโต ต่อไป หมายความว่า มีศักยภาพ (Potential) ที่จะโตต่อไปถึงระดับ 1,000 ล้านบาท ที่เรียกว่า Series A ตอนนี้มีอยู่ประมาณ 5 บริษัท ที่อยู่ในไปป์ที่อยู่ในกลุ่ม EdTech HealthTech หรือกลุ่มผู้ให้บริการเซอร์วิสต่างๆ เช่น บริษัท คิวคิว เป็นต้น
อย่างไรก็ตามรัฐจะต้องแก้ไข ข้อกฎหมาย กฎระเบียบต่างๆ เพื่อรองรับการเข้ามาจากนักลงทุนต่างชาติในฐานบริษัทที่จะมาลงทุนในสตาร์ทอัพด้วย เช่น รายละเอียดเรื่องภาษีในการลงทุน (Capital gain tax) เป็นต้น
ในส่วนของโครงการ dSURE เป็นโครงการที่มุ่งส่งเสริมสตาร์ทอัพ ที่ผลิตและพัฒนาผลิตภัณฑ์ไอที หรือฮาร์ดแวร์ ที่ผลิตโดยสตาร์ทอัพในประเทศ สำหรับใช้ในการทำงานและธุรกิจ โดยโครงการ dSURE เป็นตัวช่วยของผู้บริโภคและกลไกยกระดับอุปกรณ์ดิจิทัลของไทย โดยอุปกรณ์ไอที ที่จะได้รับมาตรฐาน dSURE จะต้องผ่านการทดสอบใน 3 รายการหลัก ประกอบด้วย การคำนึงถึงเรื่องการป้องกัยนความเสี่ยงด้านความปลอดภัยของข้อมูล (Security) ความปลอดภัยในการใช้งาน (Safety) และความสามารถในการทำงาน (Functionality) โดยสตาร์ทอัพหรือผู้ประกอบการที่จะขอรับรองเครื่องหมาย dSURE จะต้องส่งผลิตภัณฑ์เข้าทดสอบที่ห้องปฎิบัติการทดสอบที่ดีป้ารับรอง สำหรับผลิตภัณฑ์นำร่องที่ดีป้าจะให้การรับรอง อาทิ กล้องวงจรปิด (IP Camera) ที่ควบคุมด้วยโมยานแอพพลิเคชั่น เป็นต้นและภายในปีนี้คาดว่าจะสามารถรับรองผลิตภัณฑ์ 10-15 รายการ
“มาตรฐาน dSURE เป็นมาตรฐานที่สนับสนุนให้คนไทยได้รู้ว่า อุปกรณ์ไอที เหล่านี้ไม่ถูกหลอก มีความปลอดภัยในข้อมูล และมีความปลอดภัยในเชิงการใช้งาน แบบมาตรฐานอุตสาหกรรม ก็จะเป็นมาตรฐานที่เรียกว่าโดยสมัครใจ ไม่ได้ เป็นภาคบังคับ ดีป้า มุ่งหวังจะให้ dSUREเป็นเครื่องหมายรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์ดิจิทัลที่ได้รับการยอมรับในระดับประเทศและระดับสากล ซึ่งจะช่วยยกระดับสินค้าดิจิทัลที่วางขายในประเทศ และยังสามารถใช้เป็นกลไกในการส่งเสริมผู้ประกอบการไทยให้พัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในตลาดสากลอีกด้วย
เพราะฉะนั้นคนไทยจะต้องเลือกเอาเองว่าเลือกสินค้าที่มีรับรองในราคาที่ใกล้เคียงกัน เราพยายามทำให้ผู้ประกอบการ เอสเอ็มอี ที่เป็นผู้ให้บริการ หรือผู้ขายฮาร์ดแวร์ มีความสามารถทางการค้า ทางการตลาด จากความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ในส่วนของผู้ใช้เป็นการส่งเสริมให้คนไทยได้เลือกใช้สินค้า ที่มีคุณภาพโดยความรู้จักเทคโนโลยีและประยุกต์ใช้เป็น และเลือกใช้เป็นด้วย เลือกในสิ่งที่มีคุณภาพ ทำให้สินค้าไทย ที่จัดตั้งหรือประกอบการในเมืองไทย ได้รับความเป็นธรรมมากขึ้นในการค้าขาย” ดร. ณัฐพล กล่าว
ผู้อำนวยการใหญ่ กล่าวถึง นโยบายที่จะสนับสนุนให้บริการดิจิทัลของสตาร์ทให้สามารถเป็นบริการที่ภาครัฐสามารถจัดสรรงบประมาณในการจัดซื้อจัดจ้างว่า ดีป้า อยู่ระหว่างการเจาจรากับสำนักงบประมาณ กรมบัญชีกลาง และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องในการจัดทำบริการดิจิทัล เพื่อให้ภาครัฐสามารถใช้บริการดิจิทัลจากสตาร์ทอัพได้ โดยคาดว่าในเป้าหมายระยะสั้นจะสามารถบรรลุผลให้ภาครัฐสามารถใช้บริการภาคดิจิทัลจากสตาร์ทอัพได้ในปีหน้า
ส่วนในระยะยาวจะมีการสร้างกลไกที่จะมีการผลักดันให้สตาร์ทอัพสามารถให้บริการดิจิทัลกับภาครัฐที่มีการกระดับการผลักดันให้มีการใช้บริการเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้เพื่อเป็นการส่งเสริมและสร้างอีโครซิสเต็มส์สตาร์ทอัพของไทยให้มีศักยภาพมากยิ่งขึ้น สามารถแข่งขันกับตลาดสากลได้อย่างยั่งยืน