อุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา – ยกระดับผู้ประกอบการด้วยนวัตกรรมชุมชน

อุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา – ยกระดับผู้ประกอบการด้วยนวัตกรรมชุมชน

งบประมาณที่จำกัดเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถพัฒนารูปแบบกระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์ให้เป็นไปตามมาตรฐานได้ รวมมไปถึงการขาดความรู้ที่จะทำให้มองเห็นภาพรวมของโอกาสในช่องทางการตลาดใหม่ ๆ ทำให้ขาดการปรับปรุงด้านผลิตภัณฑ์ ให้มีความแตกต่างจากผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่ก่อนแล้วในท้องตลาด ส่งผลให้ไม่ได้รับความสนใจจากกลุ่มผู้บริโภคอย่างที่ควรจะเป็น

.

จับนวัตกรรม ใส่ลงผลิตภัณฑ์

อุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา จึงต้องการที่จะเป็นจุดเชื่อมโยงระหว่างผู้ประกอบการให้เข้าถึงความรู้ ไปจนถึงผลงานวิจัยและเทคโนโลยีต่าง ๆ เพื่อนำไปใช้สร้างผลิตภัณฑ์ให้สามารถจัดจำหน่ายต่อไปได้ในเชิงพาณิชย์ ซึ่งโดยส่วนมากจะเป็นการมุ่งเน้นไปที่ผู้ประกอบการด้านแปรรูปอาหาร ที่ใช้ทรัพยากรทางการเกษตรมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ในรูปแบบต่าง ๆ 

เมื่อผู้ประกอบการส่วนใหญ่ในพื้นที่จังหวัด ต่างเป็นผู้ประกอบการขนาดเล็กที่มีข้อจำกัดในการยกระดับมาตรฐานให้กับกระบวนการในด้านต่าง ๆ ทั้งในด้านกำลังทรัพย์ กำลังการผลิต การออกแบบผลิตภัณฑ์ให้มีความแตกต่าง ตลอดจนความรู้ความเข้าใจในด้านเทคโนโลยีและการตลาด ทางอุทยานจึงมีบทบาทในการเข้ามาช่วยสนับสนุนให้ผู้ประกอบการมีความเข้มแข็งขึ้น

.

เสริมความพร้อมให้ผู้ประกอบการ

บริการที่ทางอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา มีให้กับผู้ประกอบการ ได้แก่

การพัฒนาและบ่มเพาะธุรกิจ เป็นบริการต้องการให้ความรู้ แก่ผู้คนมากมายกลับมาพัฒนาธุรกิจที่ภูมิลำเนา เพื่อเป็นการเสริมสร้างอาชีพและช่องทางสร้างรายได้ใหม่ ๆ ให้แก่ผู้ประกอบการ ทางสถาบันจึงเปิดอบรมบ่มเพาะธุรกิจและให้คำปรึกษาให้มีการนำเทคโนโลยีเข้าไปใช้ในธุรกิจ

การเชื่อมโยงองค์ความรู้งานวิจัย เป็นประตูให้กับผู้ประกอบการที่ต้องการใช้บริการทั้งในด้านขององค์ความรู้ในงานวิจัย ไปจนถึงการเชื่อมโยงผู้ประกอบการเข้ากับนักวิจัยเพื่อหาช่องทางในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ร่วมกัน ให้ตอบโจทย์ตรงกับความต้องการของผู้ประกอบการทุกคนที่เดินเข้ามา

ห้องปฏิบัติการวิเคราะห์ทดสอบ ทางอุทยานฯเปิดพื้นที่ให้ผู้ประกอบการสามารถเข้ามาใช้ห้องปฏิบัติการในการพัฒนาสูตร ตลอดจนทดสอบคุณสมบัติหาส่วนประกอบ เพิ่มสรรพคุณให้ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ซึ่งสามารถที่จะทำการจับคู่ร่วมกันพัฒนาสินค้าไปพร้อมกับผู้ประกอบการด้านต่าง ๆ ในชุมชนได้

บริการทรัพย์สินทางปัญญา ถ้าผู้ประกอบการต้องการทราบข้อมูลงานวิจัยที่มีอยู่ก่อนแล้ว ก็สามารถเข้ามาขอใช้บริการในส่วนนี้ เพื่อนำงานวิจัยหรืองานต้นแบบที่มีทรัพย์สินทางปัญญา ไปพัฒนาต่อยอดให้สามารถออกไปเป็นสินค้าในเชิงพาณิชย์ได้ต่อไป

.

อุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา พร้อมที่จะให้การต้อนรับและสนับสนุนในด้านนวัตกรรมเทคโนโลยีให้กับผู้ประกอบการ ได้นำไปพัฒนาธุรกิจให้เติบโตอย่างมีมาตรฐาน ด้วยปณิธานว่า “ปัญญา เพื่อความเข้มแข็งของชุมชน” เพื่อตอบสนองต่อวิสัยทัศน์ที่จะนำนวัตกรรมชุมชนออกไปสู่ระดับสากลให้เป็นที่รู้จัก โดยมุ่งเน้นความสำคัญไปที่การพัฒนาวิสาหกิจที่เกื้อกูลต่อสังคม นึกถึงประโยชน์ต่อคนรอบข้างและคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

.

ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อได้ที่
อุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา / University of Phayao Science Park (UPSP)
ที่อยู่ : สำนักงานอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา ชั้น 1 อาคาร 99 ปี พระอุบาลีคุณูปมาจารย์
(ปวง ธมฺมปญฺโญ) 19 หมู่ 2 ต.แม่กา อ.เมือง จ.พะเยา 56000
โทรศัพท์: 054 466 666 ต่อ 3711 - 3714
Website : www.upsp.up.ac.th
E-mail: upscipark@outlook.com
Facebook: UPSciencePark

สำหรับช่องทาง SME ONE เพิ่มเติม
Facebook: SMEONE
Youtube: SMEONE
Line: @smeone

บทความแนะนำ

ห้องปฏิบัติการกลาง (Central Lab Thai) – ทดสอบให้มั่นใจว่าปลอดภัย

ห้องปฏิบัติการกลาง (Central Lab Thai) – ทดสอบให้มั่นใจว่าปลอดภัย

ผู้ประกอบการส่วนมากนั้น เมื่อได้ทำการผลิตสินค้าหรือนำเข้าสินค้าเข้ามาจำหน่าย มักไม่ทราบถึงข้อกำหนดทางกฎหมายว่าสินค้าเหล่านั้น ต้องได้รับการตรวจสอบคุณภาพมาตรฐานในด้านใดก่อนบ้าง เพื่อให้ได้การรับรองเป็นสินค้าที่มีคุณภาพ และปลอดภัยพอที่จะจัดจำหน่ายต่อไปจนถึงผู้บริโภคทั้งในประเทศไปจนถึงต่างประเทศ

.

มั่นใจปลอดภัย ทั้งสินค้านำเข้าและส่งออก

เมื่อจำเป็นต้องมีการตรวจสอบคุณภาพมาตรฐานสินค้าที่จัดจำหน่ายภายในประเทศไทย จึงมีการจัดตั้งบริษัท ห้องปฏิบัติการกลาง (ประเทศไทย) จำกัด ขึ้น เพื่อทำหน้าที่ช่วยเหลือผู้ประกอบการ SME โอท็อป วิสาหกิจชุมชน อย่างเต็มรูปแบบ ในการวิเคราะห์และทดสอบคุณสมบัติของส่วนผสมภายในสินค้า ทั้งที่เป็นผลผลิตการเกษตร อาหาร ไปจนถึงผลิตภัณฑ์ที่ไม่ใช่อาหาร ผ่านกระบวนการวิเคราะห์ด้วยเครื่องมือที่ทันสมัยได้การรับรองมาตรฐานในระดับโลก 

ซึ่งภายในห้องปฏิบัติการกลาง จะแบ่งการให้บริการเป็น 2 การให้บริการใหญ่ ๆ ดังนี้ 

1.ด้านการตรวจวิเคราะห์ผลทางห้องปฏิบัติการ ซึ่งเป็นการตรวจวิเคราะห์คุณสมบัติของผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ภายในห้องแล็บทดสอบ ซึ่งแบ่งแยกย่อยออกไปได้อีกหลากหลายห้องปฏิบัติการ

 

  • ห้องเคมี 1 ตรวจหาสารเคมีตกค้าง
  • ห้องเคมี 2 ตรวจหายาปฏิชีวนะ ตกค้างในกลุ่มปศุสัตว์ ไปจนถึงกลุ่มประมง 
  • ห้องเคมี 3 ตรวจสารปรุงแต่งในอาหาร ไปจนถึงการตรวจฉลากโภชนาการ
  • ห้องเคมี 4 ตรวจหาแร่ธาตุและสารปนเปื้อนโลหะหนักอันตราย
  • ห้องเคมี 5 ตรวจหาเชื้อจุลินทรีย์ ทั้งที่ก่อโรคและไม่ก่อโรค
  • ห้องเคมี 6 ตรวจด้านชีวโมเลกุล อาทิ DNA, สินค้าเกษตรตัดต่อพันธุกรรม (GMO) เป็นต้น
  • ห้องเคมี 7 ตรวจหาสิ่งปลอมปน และกายภาพในอาหาร อาทิ ปีกแมง เส้นขน เป็นต้น
  • ห้องตรวจสอบทางด้านสิ่งแวดล้อม วิเคราะห์คุณภาพปัจจัยการผลิตทางการเกษตร เช่น คุณภาพ ปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยเคมี เป็นต้น
  • การตรวจรับรองมาตรฐานสอบเทียบเครื่องมือ เช่น มาตรฐานของเครื่องเป่าแอลกอฮอล์ เครื่องชั่งตวงวัด เป็นต้น

 

2.ด้านบริการตรวจรับรองมาตรฐานนอกห้องปฏิบัติการ ส่วนมากจะเป็นการลงพื้นที่ตรวจสอบกระบวนการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำ โดยมุ่งเน้นพัฒนามาตรฐานและรับรองกระบวนการผลิต ไปจนถึงผลผลิตของภาคเกษตรกรรมให้มีความปลอดภัยทั้งในด้านสภาพแวดล้อมในการทำงาน ตลอดจนคุณภาพของผลผลิตต่าง ๆ ให้มีความปลอดภัยจากสารปนเปื้อน เพื่อให้เกิดความมั่นใจในการส่งออกไปยังผู้บริโภคที่ปลายน้ำ

.

ยังมีกิจกรรมอื่น ๆ อีกมากมายที่ห้องปฏิบัติการกลาง (ประเทศไทย) พร้อมให้ความช่วยเหลือกับทั้งทางด้านผู้ประกอบการ SME โอท็อป วิสาหกิจชุมชน  รวมถึงมุ่งมั่นที่จะเป็นแรงผลักดันให้สินค้าของทุกภาคส่วนในกระบวนการตั้งแต่ต้นน้ำ-กลางน้ำ-ปลายน้ำ มีความปลอดภัยในคุณภาพของสินค้าและสามารถที่จะไปแข่งขันในเวทีโลกได้อย่างมั่นใจ 

.

ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อได้ที่
บริษัท ห้องปฏิบัติการกลาง (ประเทศไทย) จำกัด
สาขา กรุงเทพมหานคร (ในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน)
2179 ถ.พหลโยธิน แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900
เลขประจำตัวผู้เสียภาษี 0105546096453
โทร. 02940 5993, 02940 6881-3
โทรสาร: 02579 8527, 02940 5993 ต่อ 209, 268
E-mail: supportsale@centrallabthai.com
Facebook: centrallabthai
Line: centrallabthai

สำหรับช่องทาง SME ONE เพิ่มเติม
Facebook: SMEONE
Youtube: SMEONE
Line: @smeone

บทความแนะนำ

สำนักบ่มเพาะวิชาการเพื่อวิสาหกิจในชุมชน ม.ทักษิณ – พัฒนาเศรษฐกิจจังหวัดจากผลิตภัณฑ์

สำนักบ่มเพาะวิชาการเพื่อวิสาหกิจในชุมชน ม.ทักษิณ – พัฒนาเศรษฐกิจจังหวัดจากผลิตภัณฑ์ 

พื้นที่บริเวณจังหวัดพัทลุง รวมถึงจังหวัดโดยรอบ ถูกเรียกว่าเป็น อู่ข้าว อู่น้ำ ของภาคใต้ ถึงแม้ว่าจะมีการสร้างผลิตภัณฑ์ประจำชุมชนหรือสินค้าโอท็อปขึ้นมาอย่างมากมาย แต่สินค้าเหล่านั้นก็ยังมีโจทย์สำคัญที่ต้องการการปรับปรุงอยู่ว่า จะมีวิธีการพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ชุมชนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้ไปไกลกว่าที่เป็นอยู่ได้อย่างไรบ้าง ทั้งในด้านการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการผลิต การลดต้นทุน การสร้างมูลค่าเพิ่มในสินค้าให้ผู้ประกอบการ การดูแลรักษามาตรฐานสินค้า เหล่านี้เป็นต้น

.

บ่มเพาะความรู้ พัฒนาชุมชน

มหาวิทยาลัยทักษิณ เห็นความสำคัญในการพัฒนาผลิตภัณฑ์เหล่านี้ ตลอดทั้งวงจรอายุของผลิตภัณฑ์ ซึ่งต้องมีการบ่มเพาะให้ความรู้ เข้าไปปรับปรุงกระบวนการผลิต สร้างช่องทางส่งเสริมการตลาดให้แก่ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในทุกภาคส่วนตั้งแต่ต้นน้ำ-กลางน้ำ-ปลายน้ำ ทั้งที่เป็นผู้ประกอบการ SME ไปจนถึงวิสาหกิจชุมชน

นอกเหนือไปจากการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพมาตรฐานเพิ่มขึ้นแล้วนั้น สิ่งหนึ่งที่สามารถต่อยอดออกไปได้ก็คือ การที่สินค้าสามารถสร้างจุดขายและช่วยเพิ่มความน่าสนใจให้กับจังหวัด จนสามารถยกระดับไปเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวให้เกิดขึ้นได้อีกต่อหนึ่ง ซึ่งสอดคล้องกับช่วงหลังมานี้ที่จังหวัดพัทลุงมีการเติบโตอย่างรวดเร็วในด้านการท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น ทางมหาวิทยาลัยทักษิณได้ดำเนินการพัฒนาสินค้าชุมชนให้ช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวตั้งแต่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ ยกระดับงานออกแบบสร้างจุดขายให้กับสินค้า ไปจนถึงการสร้างช่องทางการขายให้ไปถึงผู้บริโภคด้วยระบบออนไลน์ และมีการทำฐานข้อมูลสนับสนุนอย่างครบถ้วน เพื่อทำให้นักท่องเที่ยวได้เห็นว่าจังหวัดพัทลุงเป็นจุดหมายปลายทางที่ต้องมาท่องเที่ยวให้ได้สำหรับพวกเขา จะเห็นได้ว่าเป็นสิ่งที่ช่วยยกระดับเศรษฐกิจให้กับทั้งจังหวัด จากการเข้าไปพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพมาตรฐานที่เห็นผลได้อย่างชัดเจน

.

บริการที่ทางสำนักบ่มเพาะวิชาการเพื่อวิสาหกิจในชุมชนมหาวิทยาลัยทักษิณ เปิดให้บริการแก่ผู้ประกอบการ ได้แก่

บริการให้คำปรึกษาด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อช่วยหาวิธีแก้ไขปัญหาทางธุรกิจให้กับทั้งผู้ประกอบการและวิสาหกิจชุมชน โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

บริการบ่มเพาะธุรกิจที่มาจากฐานนวัตกรรม เปิดให้ผู้ประกอบการสมัครเข้ามาอบรมรับความรู้จากวิทยากรไปจนถึงขั้นตอนการทำชิ้นงานต้นแบบ

บริการอุทยานวิทยาศาสตร์ ห้องปฏิบัติการวิเคราะห์คุณภาพ คุณสมบัติต่าง ๆ ภายในผลิตภัณฑ์ พร้อมให้การรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ได้ รวมถึงการร่วมมือกับภาคเอกชนในการทำงานวิจัยในเรื่องต่าง ๆ

ศูนย์ออกแบบนวัตกรรม ช่วยให้ผู้ประกอบการ ทั้งในภาคเอกชน ชุมชน รวมทั้งอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ได้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบ โดยยึดแนวคิดการเป็นนวัตกรรมเพื่อสังคมเป็นสำคัญ

หน่วยขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อสังคม โดยการสนับสนุนจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) ช่วยเหลือชุมชนให้มีผลิตภัณฑ์ต้นแบบใหม่ ๆ จากสินค้าที่มีอยู่เดิม ซึ่งมีทั้งทีมที่ปรึกษาและงบประมาณให้สำหรับการผลิตเพื่อพัฒนาสินค้าต้นแบบขึ้น

.

สำนักบ่มเพาะวิชาการเพื่อวิสาหกิจในชุมชน มหาวิทยาลัยทักษิณ มุ่งมั่นที่จะพัฒนาผู้ประกอบการทุกภาคส่วนภายในพื้นที่จังหวัดพัทลุง และจังหวัดใกล้เคียง ให้เห็นภาพโอกาส เห็นความเป็นไปได้ใหม่ ๆ จากต้นทุนที่มี เพื่อพัฒนาระบบเศรษฐกิจของจังหวัด สร้างให้เป็นระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนให้เกิดขึ้น และพร้อมที่จะเป็นจุดเชื่อมโยงระหว่างภาคเอกชน ชุมชน และภาคอุตสาหกรรม ให้มีความมั่นใจและก้าวไปข้างหน้าจนประสบความสำเร็จได้ในอนาคต 

.

ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อได้ที่
สำนักบ่มเพาะวิชาการเพื่อวิสาหกิจในชุมชน มหาวิทยาลัยทักษิณ
222 หมู่ 2 ตำบลบ้านพร้าว อำเภอป่าพะยอม จังหวัดพัทลุง 93210
โทร. 07-431-7600, 074-609600 ต่อ 7262
E-mail : tsu_direct@scholar.tsu.ac.th
Website : https://ubi.tsu.ac.th
Facebook: ICEI-TSU

สำหรับช่องทาง SME ONE เพิ่มเติม
Facebook: SMEONE
Youtube: SMEONE
Line: @smeone

บทความแนะนำ

ไอเดียการฟื้นฟูกิจการหลัง COVID-19 ทางออก และทางรอด จากกรณีศึกษาธุรกิจญี่ปุ่น

สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ที่ยังคงดำเนินต่อไปโดยไม่มีทีท่าว่าจะจบลงเมื่อใด และได้ส่งผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจ และธุรกิจน้อยใหญ่ทั่วโลกทำให้ต้องปรับตัวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งมีกรณีศึกษาที่น่าสนใจของธุรกิจในประเทศญี่ปุ่น ที่สะท้อนภาพการปรับตัวไปตามความเปลี่ยนแปลงของตลาด 

โดยเป็นข้อมูลจากการสัมมนาออนไลน์ของ สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) หรือ ส.ส.ท. บรรยายโดย ผศ.ดร.กฤตินี พงษ์ธนเลิศ อาจารย์ประจำภาควิชาการตลาด คณะพาณิชย์ศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อดีตนักเรียนทุนรัฐบาลญี่ปุ่น ที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก จากมหาวิทยาลัยโกเบ ประเทศญี่ปุ่น ปัจจุบันเป็นเจ้าของเพจ “เกตุวดี Marumura” ที่มีผู้ติดตามมากกว่า 1 แสนคน

แม้ว่าวันนี้ สถานการณ์ของ COVID-19 ในประเทศญี่ปุ่นอาจไม่แตกต่างจากประเทศไทย ซึ่งธุรกิจส่วนใหญ่ยังไม่ฟื้นฟูอย่างเต็มที่ แต่จากตัวอย่างที่นำเสนอก็พอมองเห็นไอเดียในการฟื้นฟูกิจการในสไตล์ญี่ปุ่น ที่กลายเป็นทางออก หรืออาจเป็นทางรอด เพื่อทำให้ธุรกิจสามารถเดินหน้าต่อไปได้ ทั้งในช่วงที่ COVID-19 ยังอยู่ และหลังวิกฤต COVID-19 สงบลง แม้จะเป็นช่วงการ Work from Home ก็สามารถสร้างดีมานด์ใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นได้จากวิถีการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไป

ผศ.ดร.กฤตินี พงษ์ธนเลิศ กล่าวถึง ข้อมูลจากนิตยสารโตโยเคไซในประเทศญี่ปุ่น ที่ระบุถึงธุรกิจที่มียอดขายจากผลประกอบการตกลงเป็นอย่างมาก คือ ธุรกิจสายการบิน และธุรกิจโรงแรม ในทางกลับกันธุรกิจที่มียอดขายเติบโตอย่างน่าสนใจ คือ ธุรกิจแฟชั่นเสื้อผ้าอย่าง Shimamura และ Uniqlo ที่สามารถเติบโตต่อไปได้แม้อยูในช่วง COVID-19 ด้วยเพราะมองเห็นโอกาส และมีการสร้างดีมานด์ใหม่ให้เกิดขึ้น จากการสังเกตพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ต้องอยู่บ้านมากขึ้น ว่าอะไรคือสิ่งที่ผู้บริโภคต้องการในช่วงเวลานี้

SHIMAMURA เป็นเสื้อผ้าแฟชั่นราคาประหยัด และมีสาขาอยู่นอกเมืองที่เน้นการทำตลาดในระดับ Mass เป็นหลัก ก่อนหน้านี้เพิ่งมีการ Re-positioning Brand โดยปรับภาพลักษณ์จากการที่ถูกมองว่าเป็นแบรนด์เสื้อผ้าสำหรับคุณป้า มาเป็นเสื้อผ้าแฟชั่นสำหรับวัยรุ่น ด้วยการใช้รูปแบบการสื่อสารผ่าน Influencer ที่เป็นดารานักแสดง เน้นการนำเสนอไอเดียการ Mixed & Match เสื้อผ้าอย่างฉลาดและลงตัว มีการ Collaboration กับบล็อกเกอร์ และอินฟลูเอนเซอร์ในเรื่องการออกแบบ รวมถึงการมี Controller ประมาณ 80 คน คอยเก็บข้อมูลในร้านเพื่อนำข้อมูลไปปรับปรุงร้านอย่างต่อเนื่อง  

สำหรับการปรับตัวในช่วง COVID – 19 แม้ว่าคนจะอยู่บ้านกันมากขึ้นแต่ยอดขายของ Shimamuru ยังคงเติบโต เพราะ Shimamura เน้นการทำตลาดภายใต้คอนเซ็ปต์ของคำว่า Su-komori แปลตรงตัว คือ การอยู่ในรัง หมายถึง การ Work from Hone โดย Shimamura มองว่า Su-komori เป็นตลาดใหญ่ที่มีดีมานด์สูง และจากการวิเคราะห์ความต้องการของคนที่อยู่บ้านว่าต้องการเสื้อผ้าแบบไหน ก็พบว่า ตรงกับแนวของเสื้อผ้าที่ตนเองมีอยู่ ซึ่งก็คือเสื้อผ้าในกลุ่ม Room ware หรือชุดอยู่บ้าน จึงให้ความสำคัญด้วยการออกคอลเลกชั่นใหม่เพื่อสร้างความหลากหลาย และเน้นการดีไซน์ที่มีความน่ารัก สวมใส่สบายแต่ราคาไม่แพงออกสู่ตลาดมากขึ้น 

UNIQLO เป็นแบรนด์แฟชั่นเสื้อผ้าอีกหนึ่งแบรนด์ที่มียอดขายเติบโตเพิ่มขึ้นในช่วง COVID-19 โดย Uniqlo ได้มีการออกคอลเลกชั่นใหม่ คือ Uniqlo at Home ซึ่งโดยปกติเสื้อผ้าของ Uniqlo ก็สวมใส่สบายอยู่แล้ว แต่ในคอลเลกชั่นนี้ได้มีการนำเสื้อผ้ามา Mixed & Match ให้เหมาะสำหรับการใส่อยู่บ้านมากขึ้น มีการสร้างบรรยากาศในร้านด้วยการจัดดิสเพลย์ที่ให้ความรู้สึกเหมือนอยู่ในบ้าน 

ในส่วนของการสื่อสารบนออนไลน์ จะเน้นการสื่อสารผ่านภาพที่กำลังทำกิจกรรมต่างๆ ในขณะที่สวมใส่เสื้อผ้าในคอลเลกชั่นที่วางจำหน่ายอยู่ เพื่อสะท้อนภาพคำว่า Uniqlo at Home ทำให้การอยู่บ้านเป็นเรื่องเพลิดเพลิน เป็นวิธีการสื่อสารที่ทำให้คนเห็นว่า ช่วงเวลาที่ต้องอยู่กับบ้านเป็นเวลานานๆ ก็สามารถทำให้เป็นช่วงเวลาที่มีคุณภาพได้ เป็นการสร้างอารมณ์ร่วมที่จะทำให้ผู้คนรู้สึกอยากช้อปปิ้งเสื้อผ้า รวมถึงของใช้ในบ้านไอเท็มต่างๆ ของ Uniqlo อีกด้วย

“บทเรียนที่ได้จากแบรนด์ Shimamura และ Uniqlo คือ การสร้างดีมานด์ใหม่ให้กับตลาดจากการสังเกตพฤติกรรมของคนเมื่อต้องอยู่บ้านมากขึ้นว่า อะไรคือสิ่งที่ผู้บริโภคต้องการ และในฐานะของร้านเสื้อผ้าจะตอบโจทย์ความต้องการเหล่านั้นได้อย่างไรบ้าง”

ผศ.ดร.กฤตินี ยังยกตัวอย่างธุรกิจเครื่องดื่มในกลุ่มเบียร์อย่างแบรนด์ KIRIN และ ASAHI ก็มีการวางกลยุทธ์ด้านการวางตลาดผลิตภัณฑ์ใหม่ เพื่อเอาใจกลุ่มเป้าหมายที่ต้อง Work from Home ด้วยเช่นกัน ซึ่งทั้ง KIRIN และ ASAHI ต่างพยายามสร้างดีมานด์ใหม่ให้กับตลาดเพื่อตอบโจทย์ในเรื่อง Work from Home เพื่อให้คนยังรู้สึกกับการดื่มเบียร์ โดยใช้เทคโนโลยีมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย

KIRIN ได้เปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาสจากการที่คนไปนั่งดื่มเบียร์สดที่ร้านไม่ได้ โดยเล่นกับสถานะการ Work from Home มาเป็น Drink from Home จากแนวคิดจะทำอย่างไรให้คนอยู่ที่บ้านสามารถดื่มเบียร์สดได้ KIRIN จึงออกผลิตภัณฑ์ในรูปแบบ Drink from Home ซึ่งเป็นเครื่องทำเบียร์สดในรูปทรงกระติก และมีคันโยกในลักษณะเหมือนถังเบียร์ สด ภายในบรรจุด้วยขวดเบียร์รูปทรงอ้วนป้อมที่เป็นเสมือนรีฟิลของเบียร์สด เมื่อกดคันโยกก็ได้เบียร์ที่มีฟองนุ่มๆ ออกมา ให้รสชาติเหมือนเบียร์สดจริงๆ   

โดย KIRIN เน้นการทำตลาดบนช่องทางออนไลน์เพราะเข้าถึงลูกค้ากลุ่มเป้าหมายได้โดยไม่ต้องเสียค่าการตลาดให้กับร้านค้าปลีก มี 2 แพ็กเกจ แบบรายเดือนให้ลูกค้าได้เลือกซื้อ และไม่เสียค่าเครื่องทำเบียร์สด โดยแพ็กเกจแรก จะส่งเบียร์ให้เดือนละ 1 ครั้ง ขนาด 1 ลิตร จำนวน 2 ขวด ในราคา 3,190 เยน และแพ็กเกจที่ 2 จัดส่งเดือนละ 2 ครั้ง ในราคา 5,060 เยน ได้เบียร์ขนาด 1 ลิตร จำนวน 4 ขวด เฉลี่ยราคาเพียงแก้วละ 421 เยน ถูกกว่าการไปนั่งดื่มตามร้านนั่งดื่มนอกบ้าน ที่ส่วนใหญ่มีราคาประมาณ 500 - 1,000 เยนต่อแก้ว 

นอกจากนี้ KIRIN ยังต่อยอดด้วยการสร้างความหลากหลายของรสชาติในฤดูกาลที่แตกต่างกัน ก็ยิ่งจะทำให้ลูกค้าผูกพันอยู่กับรสชาติของเบียร์ KIRIN โดยไม่เปลี่ยนใจไปดื่มเบียร์ยี่ห้ออื่นๆ อีก

ASAHI เป็นแบรนด์คู่แข่งของ KIRIN มีการซุ่มพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่มานานกว่า 4 ปี และได้จังหวะเปิดตัวในช่วง COVID-19 จากแนวคิดที่ว่า จะทำอย่างไรให้ลูกค้าสามารถดื่มเบียร์ที่บ้านได้ด้วยความรู้สึกที่ตื่นเต้น และสิ่งที่ ASAHI ทำ คือ การทำให้ลูกค้าได้ดื่มเบียร์จากกระป๋องในอารมณ์เหมือนได้ดื่มเบียร์สดที่มีฟองนุ่มๆ ไหลออกมาทันทีที่เปิดกระป๋อง 

ในการออกแบบกระป๋อง ASAHI ต้องพยายามลบความคมของขอบกระป๋อง ทำให้ไม่บาดปากเวลาดื่มเบียร์จากกระป๋อง ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากแก้วไวน์ Sparkling เมื่อเวลาเทไวน์ลงไปในแก้วจะมีพรายฟองผุดขึ้นมา จึงเกิดความคิดต่อยอดว่า จะมีอะไรที่ใส่ลงไปในกระป๋องเบียร์แล้วสามารถทำให้เกิดฟองได้เมื่อเวลาเปิดกระป๋อง โดย ASAHI วางขายผลิตภัณฑ์ตัวนี้ที่ร้านสะดวกซื้อจนกลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่ขายดีมาก เพราะโปรโมทว่าเป็นเบียร์กระป๋องที่ให้ความรู้สึกเหมือนดื่มเบียร์สดจริงๆ 

“ทั้งสองแบรนด์มีการทำตลาดที่แตกต่างกัน KIRIN เน้นความพรีเมียมด้วยการสร้างพฤติกรรมการดื่มเบียร์แบบใหม่ นำเสนอเบียร์สดที่สามารถนั่งดื่มที่บ้านได้ทุกวัน ส่วน ASAHI ไม่ได้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคมากนัก แต่นำเสนอความเป็นเบียร์สดแบบกระป๋องที่เน้นเจาะกลุ่ม Mass สร้างความรู้สึกแปลกใหม่เพียงแค่เปิดกระป๋อง โดยทั้ง KIRIN และ ASAHI มีการสร้างดีมานด์ใหม่ให้กับตลาดเพื่อตอบโจทย์เรื่อง Work from Home ทำให้ผู้บริโภครู้สึกสนุกกับการดื่มเบียร์ที่บ้าน โดยใช้เทคโนโลยีมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย”

ยังมีกรณีศึกษาของ เบนโตะมีฉากกั้น จากร้านข้าวกล่องรายหนึ่งที่มีทำเลที่ตั้งร้านอยู่หน้าสถานีรถไฟฟ้าแถบคันไซ แต่มียอดขายที่ลดลงเนื่องจากคนใช้รถไฟฟ้ากันน้อยลงจากการ Work from Home ทางร้านจึงสร้างแรงจูงใจให้เบนโตะของตนดูมีคุณค่า และน่าซื้อมากขึ้น โดยสร้างกิมมิกเล็กๆ จากการดีไซน์กล่องที่ฝาปิดด้านบนสามารถกางออกเป็นเหมือนฉากกั้นด้านข้าง เพื่อป้องกันเชื้อโรคจากละอองฝอยที่ลอยปนเปื้อนอยู่ในอากาศ หรือจากคนที่นั่งข้างๆ แม้จะป้องกันอะไรไม่ได้มาก แต่อย่างน้อยก็ทำให้ลูกค้าเกิดความสบายใจมากขึ้น

เป็นการปรับเปลี่ยนจากสิ่งที่มีอยู่ ด้วยความใส่ใจ และพยายามทำความเข้าใจในสิ่งที่ผู้บริโภคต้องการ นั่นหมายถึงว่า ต่อไปนี้สิ่งที่ผู้บริโภคต้องการอาจไม่ใช่แค่ข้าวกล่องที่มีรสชาติอร่อย แต่ยังต้องเป็นผลิตภัณฑ์ที่แฝงด้วยคุณค่าในเรื่องอื่นๆ เหมือนเช่นข้าวกล่องที่มีฉากกั้นกล่องด้านข้างก็ย่อมจะน่าหยิบมากกว่าข้าวกล่องธรรมดาในแบบเดิมๆ ทั่วไป

ข้าวสารที่กลายเป็นของขวัญล้ำค่า เป็นอีกหนึ่งกรณีศึกษาที่น่าสนใจ เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ จากโจทย์ที่ว่า จะทำอย่างไรให้คนซื้อข้าวสารมากขึ้นในยุค COVID-19 แบบนี้ แม้ว่าคนจะอยู่บ้านหุงข้าวกันมากขึ้น แต่ในแง่การทำตลาดก็มีคู่แข่งเกิดขึ้นมากมาย และส่วนใหญ่จะมีจุดขายในเรื่องของความอร่อย และคุณประโยชน์ของข้าว แต่ทางร้านก็สร้างความแตกต่างเพื่อทำให้ลูกค้าอยากซื้อข้าวสารเกรดพรีเมียมราคาแพงของทางร้าน

โดยร้านสร้างไอเดียเปลี่ยนคุณค่าของข้าวให้เป็นของขวัญสำหรับครอบครัวที่มีเด็กเกิดใหม่ ซึ่งข้าวทุกถุงจะมีปริมาณเท่ากับน้ำหนักของเด็กที่เพิ่งคลอดของครอบครัวนั้นๆ และมีการสร้างกิมมิกด้วยการนำภาพของเด็กมาทำเป็นกราฟิกน่ารักๆ บนถุงข้าว พร้อมระบุรายละเอียดชื่อเด็ก วัน เดือน ปีเกิด และน้ำหนักตัวของเด็กไว้บนถุงข้าวนั้นด้วย ซึ่งธีมการดีไซน์บนหน้าถุงก็จะแตกต่างกันไปตามฤดูกาล เพื่อเพิ่มความสนุกสนานให้กับลูกค้ามากยิ่งขึ้น

ผศ.ดร.กฤตินี ยังมองว่า วิกฤต COVID-19 เป็นความน่ากลัวกว่าภัยธรรมชาติอื่นๆ เพราะเกิดขึ้นแล้วอยู่นาน ไม่รู้ว่าจะจบเมื่อไหร่ ดังนั้นธุรกิจต้องสร้างโอกาสที่จะชนะในระยะยาว ไม่ใช่แค่รอดจากวิกฤตครั้งนี้แต่เป็นการเตรียมตัวที่จะสามารถอยู่รอดได้อย่างยั่งยืน 

“การจะอยู่รอดได้อย่างยั่งยืน ยังต้องมีองค์ประกอบสำคัญหลายเรื่อง เช่น ต้องสร้างแฟนคลับ ต้องพยายามรักษาแฟนคลับไว้ และทำให้เขาเกิดความเชื่อมั่นในแบรนด์ ต้องสังเกตความต้องการใหม่ๆ อยู่เสมอ เพื่อดูว่า พฤติกรรมลูกค้ามีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ เพื่อสามารถปรับตัวไปตามความต้องการใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น ต้องมีการพัฒนาสินค้า และเทคโนโลยีต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถชนะได้ในระยะยาว สามารถหนีวิกฤต หรือหนีการดิสรัปจากสถานการณ์ต่างๆ” ผศ.ดร.กฤตินี กล่าว 

บทความแนะนำ

Bangkok Rooftop Farming จากเศษอาหารสู่ฟาร์ม..ภารกิจสร้างอาหารปลอดภัยและยั่งยืน

หากจะเรียกกรุงเทพว่าเป็นป่าคอนกรีตคงไม่ผิดนัก เพราะมองไปทางไหนเห็นแต่ตึกรามบ้านช่องแนวตั้งที่นับวันจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ถ้ารวมพื้นที่เฉพาะดาดฟ้าของตึกเหล่านั้นเชื่อได้ว่าน่าจะกินพื้นที่หลายร้อยไร่ จะดีแค่ไหนหากพื้นที่เหล่านั้นกลายเป็นฟาร์มดาดฟ้าสมัยใหม่ที่เป็นแหล่งผลิตอาหารปลอดภัยให้กับคนเมือง

Bangkok Rooftop Farming (BRF) เป็นธุรกิจที่อยู่ในรูปแบบของ Social Business ที่มุ่งดำเนินธุรกิจโดยใช้แนวคิด Circular Economy เป็นตัวขับเคลื่อน เน้นการจัดการขยะเศษอาหารแล้วนำมาเพิ่มมูลค่าแปลงเป็นฟาร์มเกษตรอินทรีย์บนดาดฟ้า สร้างอาหารที่ปลอดภัยให้คนในพื้นที่ นำร่องที่ห้างสรรพสินค้าเซ็นเตอร์วัน ย่านอนุสาวรีย์ โดยมีทีมงานที่เชี่ยวชาญในแค่ละเรื่องและมีหัวใจสีเขียวมาร่วมภารกิจด้วยกันไม่ว่าจะเป็น คุณปารีณา ประยุกต์วงศ์ พัฒนาบุคลากร คุณวิฑูรย์ ปัญญากุล ผู้ชำนาญการด้านเกษตรอินทรีย์ คุณธนกร เจียรกมลชื่น ผู้ชำนาญการด้านการแปลงเศษอาหาร คุณสุขสันต์ เขียนภาพ การตลาดและการควบคุมคุณภาพ คุณกฤษฎา น้อยบุดดี วิจัยและพัฒนา คุณอรรถพล นิพัทธ์โรจน์ ฝ่ายขาย คุณพร้อมทรัพย์ ซื่อสัตยวงศ์ กลยุทธ์ และคุณสมทรัพย์ รัตนมนตรีชัย บัญชีและการเงิน

“เราทำงานกับเซ็นเตอร์วันมากว่า 10 ปีแล้ว ซึ่งเราในที่นี้คือกลุ่มคนรักอนุสาวรีย์ที่รวมตัวกันและทำงานกับเครือข่ายรอบๆอนุสาวรีย์ ที่มีเครือข่ายทั้ง ห้างสรรพสินค้าเซ็นเตอร์วัน มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ภัตคารพงหลี ร้านสยามคอมพิวเตอร์ เป็นต้น ส่วนของเซ็นเตอร์วันเนื่องจากเป็นภาคเอกชนจึงต้องการให้เราเข้าไปช่วยทำเรื่องของสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่เรื่องของการจัดการขยะ การเลิกใช้กล่องโฟม ตอนที่เขาสร้างตึกใหม่ก็มีพื้นที่ดาดฟ้า แล้วเขามองว่าเรื่องของเศษอาหารเป็นปัญหาของเขาเนื่องจากมีร้านอาหารมากขึ้น เราจึงหาทางจัดการโดยคิดเรื่องของโมเดลการทำฟาร์มบนดาดฟ้าสมัยใหม่” คุณปารีณา ประยุกต์วงศ์ พัฒนาบุคลากร เล่าให้เราฟังถึงจุดเริ่มต้น

กระบวนการทำงานของ Bangkok Rooftop Farming เริ่มต้นด้วยการจัดการขยะจากเศษอาหาร ซึ่งมาจากศูนย์อาหาร โดยก่อนจะนำมาใช้กับฟาร์มต้องมีกระบวนการคัดแยกขยะเศษอาหารก่อน ทั้งที่เป็นขยะเศษอาหารก่อนปรุงและขยะเศษอาหารหลังปรุง 

“เมื่อแยกขยะแล้วจะนำขึ้นมาบนฟาร์มโดยเราจะจัดการส่วนหนึ่งด้วยเครื่องผลิตปุ๋ยและก๊าซชีวภาพจากขยะเศษอาหารด้วยเทคโนโลยีเครื่อง Cow Tech เพื่อให้กลายเป็นน้ำหมักและกากคล้ายขี้วัวซึ่งเราก็นำมาใช้หมักเป็นปุ๋ยหมัก อีกส่วนหนึ่งคือเรานำเศษอาหารมาปั่นและหมักเป็นปุ๋ยหมักเลย ซึ่งปัจจุบันเราจัดการขยะเศษอาหารได้ 30-50 กิโลกรัมต่อวัน” คุณธนกร เจียรกมลชื่น ผู้ชำนาญการด้านการแปลงเศษอาหาร เล่าให้ฟังถึงขั้นตอนเริ่มต้นในการทำฟาร์ม 

หลังจากได้ต้นทุนซึ่งเป็นปุ๋ยหมักแล้ว ขั้นตอนต่อไปจะเป็นขั้นของการปลูกผัก ซึ่งคุณวิฑูรย์ ปัญญากุล ผู้ชำนาญการด้านเกษตรอินทรีย์ เสริมให้ฟังว่าการทำเกษตรอินทรีย์เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมได้ 

“การที่เรานำขยะเศษอาหารมาใช้ให้เป็นประโยชน์จะช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมได้ เพราะทุกวันนี้ปัญหาโลกร้อนเป็นปัญหาที่ใหญ่และส่งผลกระทบต่อทุกคนบนโลกค่อนข้างมาก การที่เรานำเอาเศษอาหารมาทำเป็นปุ๋ยเป็นการแปลงขยะที่อาจจะก่อมลพิษให้กับโลกมาใช้ให้เป็นประโยชน์ แต่เราต้องดูแลการหมักให้ดีเพื่อไม่ให้มีกลิ่นรบกวนมากนัก ส่วนของการกำจัดแมลงข้อดีของการปลูกผักในเมืองคือแมลงศัตรูพืชหรือนกมีไม่มากนัก พันธุ์ผักที่นำมาปลูกส่วนใหญ่จะเลือกที่เหมาะกับอากาศร้อน อย่าง กลุ่มผักสลัด ที่ปลูกง่ายและที่สำคัญต้องตรงตามความต้องการของตลาด”

เมื่อได้ผลผลิตกระบวนการสำคัญต่อมาก็คือเรื่องของการตลาดและการขาย ซึ่งคุณสุขสันต์ เขียนภาพ การตลาดและการควบคุมคุณภาพ มองว่าก่อนที่จะไปถึงเรื่องของการขายจำเป็นต้องทำเรื่องของการตลาดก่อนตั้งแต่เริ่มต้นที่จะปลูกผัก 

“เราจะปลูกสิ่งที่ตลาดต้องการ หรือปลูกแบบ On Demand ดังนั้นเราจะเริ่มทำการตลาดตั้งแต่เริ่มปลูก โดยการวางแผนการปลูก ทำ Story Telling ด้วยการเริ่มเล่าตั้งแต่ตอนแรกเพื่อให้เห็นความโปร่งใส ให้คนมีส่วนร่วมกับเรา กระบวนการเริ่มต้นเราทำเรื่องของ Food Waste ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมที่คนสมัยนี้ให้ความสนใจมากขึ้น เราดึงจุดนี้มาเป็นจุดขายสำคัญในการขายผักของเราด้วย ให้เขาเห็นว่าสิ่งที่เราทำมีคุณค่า และผักที่ออกมามีประโยชน์ต่อคนและสิ่งแวดล้อม เราพยายามจะสร้างฐานแฟนคลับซึ่งหลงใหลสิ่งเดียวกับเราเพื่อให้เขามาสนับสนุนเรา เมื่อสร้างฐานแฟนได้การทำการตลาดของเราก็จะง่ายขึ้น ซึ่งตอนนี้พอผักเราออกมาก็ขายได้ทั้งหมด”

กลุ่มเป้าหมายของ Bangkok Rooftop Farming แบ่งเป็นหลักๆ 2 ส่วนคือกลุ่มลูกค้า End User และ กลุ่มโครงการที่สนใจ คุณสมทรัพย์ รัตนมนตรีชัย บัญชีและการเงิน อธิบายให้ฟังเพิ่มเติมว่า

“ในส่วนของผู้บริโภคในเมืองปัจจุบันอาหารที่เขารับประทานโดยเฉพาะผักมีสารพิษค่อนข้างมาก ผู้บริโภคไม่สามารถเลี่ยงตรงนี้ได้มากนัก เราจึงนำเรื่องราวตรงนี้มานำเสนอว่าเราแปลงขยะเศษอาหารมาทำเป็นวัสดุปลูกผักปลอดสารให้เขาทานได้ ซึ่งเราใช้ทั้งช่องทางออนไลน์และออฟไลน์ในการสื่อสาร เรามีสินค้าที่เป็นผัก วัสดุปลูกสำหรับกลุ่มลูกค้าที่ชอบปลูกผัก ปลูกต้นไม้ สำหรับกลุ่มโครงการที่มีพื้นที่ว่างเปล่าเราสามารถให้คำปรึกษาว่าเรามีองค์ความรู้ตรงนี้ถ้าหากว่าเขาสนใจก็สามารถที่จะทำตรงนี้เพื่อเป็นการสร้างรายได้เสริมและช่วยสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน” 

การเติบโตของ Bangkok Rooftop Farming คือการเพิ่มพื้นที่สีเขียวด้วยการทำฟาร์มโดยวิธีการ Circular Economy คือการนำขยะเศษอาหารมา Upcycle เพื่อเพิ่มมูลค่า ดังนั้นกลยุทธ์ของ Bangkok Rooftop Farming ก็คือการเพิ่มพื้นที่การทำฟาร์มที่เน้นเอาขยะมาแปลงเป็นปุ๋ยหมักให้ได้มากที่สุด

“เราไม่ได้ต้องการแค่สร้างแหล่งอาหารที่ปลอดภัยแต่เราต้องการให้ลดคาร์บอน ฟุตพริ้นต์ที่จะเกิดขึ้นจากการทิ้งขยะด้วย รวมทั้งสร้างรายได้ให้กับเจ้าของพื้นที่ ถึงแม้ว่าจะไม่ได้เป็นธุรกิจมั่งคั่งแต่จะเป็นธุรกิจที่หล่อเลี้ยงตัวมันเองได้และสามารถที่จะดูแลโลกใบนี้ได้ เราเน้นการเป็นธุรกิจเพื่อสังคมจริงๆ การเพิ่มพื้นที่ฟาร์ม การให้การอบรม การเข้าไปช่วยหรือให้คำปรึกษาแก่คนที่สนใจคือการ Scale Up ของเรา นอกจากนั้นยังทำให้คนในชุมชนใกล้ฟาร์มได้ทานผักที่ปลอดภัย เขามีส่วนร่วมในการจัดการขยะ รักษ์โลกด้วย”

ปัจจุบัน Bangkok Rooftop Farming กำลังวางแผนขยายพื้นที่ฟาร์มเพิ่มอีก 5 แห่งทั่วเมือง โดยแต่ละพื้นที่จะเป็น Social Business หรือการทำธุรกิจเพื่อสังคม ซึ่งตอนนี้อยู่ในช่วงของการพัฒนาโครงการและจะเสร็จช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายนที่จะถึงนี้

เป้าหมายในปีแรกที่เราจะทำเราต้องการทำทั้งหมด 3 ฟาร์ม จากนั้นภายใน 5 ปีเราต้องการเพิ่มทั้งหมด 12 ฟาร์ม แต่ปีแรกเรากำลังจะขยายไป 5 ฟาร์ม ซึ่งถือว่าเกินเป้าหมาย หากทั้ง 5 ฟาร์มสำเร็จเราก็มองว่า Bangkok Rooftop Farming ประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง ตอนนี้ตัว Prototype ของเราที่เป็น Wastegetable ค่อนข้างสมบูรณ์แล้ว สามารถนำไปสเกลต่อได้ 

คุณปารีณา เสริมว่า ตอนนี้กรุงเทพมหานครมีตึกประมาณ 1,280 แห่ง และจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หากลองคำนวณพื้นที่จากตึกเหล่านั้นประมาณ 10% จะมีพื้นที่ทำฟาร์มประมาณ 56 ไร่ มีผักต่อวันประมาณ 2,800 กิโล เราจะจัดการขยะได้ประมาณ 1,000 ตันต่อวัน

“ตอนนี้ในกรุงเทพฯต้องจ่ายค่าจัดการเศษขยะหรือเศษอาหารเป็นจำนวนมาก หากเรามีการจัดการขยะที่ดีเราจะช่วยประหยัดงบประมาณตรงนี้ ธุรกิจฟาร์มของเราจะมีส่วนช่วยในการทำให้ขยะเศษอาหาร ไม่ต้องไปอยู่ใน Landfill เพื่อนำงบประมาณที่ต้องนำมาจัดการกับขยะไปพัฒนาอย่างอื่นได้”

แม้วันนี้ Bangkok Rooftop Farming จะยังเป็นธุรกิจเล็กๆที่มุ่งมั่นทำให้โลกนี้ดีขึ้นแต่เชื่อได้ว่าความตั้งใจและความมุ่งมั่นนี้จะสร้างแรงกระเพื่อมจากวงเล็กๆให้กระจายออกไปเป็นวงกว้างได้ โดยเฉพาะเมื่อประเด็นสิ่งแวดล้อมเป็นประเด็นที่ภาคธุรกิจในปัจจุบันต้องให้ความสำคัญมากยิ่งขึ้นในอนาคต

สนใจธุรกิจฟาร์มเกษตรอินทรีย์บนดาดฟ้าสามารถเข้าไปศึกษาหรือติดต่อไปยัง Bangkok Rooftop Farming ได้ตามเว็บไซต์ https://bangkokrooftopfarming.com 

 

บทความแนะนำ