พญาเย็นแดรี่ ฟาร์มโคนมยุคใหม่ จัดระบบได้ด้วยนวัตกรรม

พญาเย็นแดรี่ ฟาร์มโคนมยุคใหม่ จัดระบบได้ด้วยนวัตกรรม

พญาเย็นแดรี่ คือ ธุรกิจฟาร์มโคนม และเป็นศูนย์รับซื้อน้ำนมดิบ รวมทั้งโรงงานแปรรูปนมพาสเจอร์ไรส์ ในอำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา เป็นฟาร์มโคนมต้นแบบในด้านการนำนวัตกรรมเข้ามาช่วยจัดเก็บบันทึกข้อมูลภายในฟาร์ม เพื่อใช้ในการบริหารจัดการฟาร์มทุกส่วนให้มีประสิทธิภาพ

จากจุดเริ่มต้นที่เป็นเพียงธุรกิจฟาร์มโคนมขนาดใหญ่ แต่เมื่อเกิดภาวะความมั่นคงทางการเงินของศูนย์รับซื้อน้ำนมเอกชน ทำให้เกิดปัญหาการจ่ายเงินช้า จ่ายเงินไม่ครบ พญาเย็นแดรี่จึงคิดที่จะปรับเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจจากฟาร์มโคนมมาเป็นศูนย์รับซื้อน้ำนมดิบ และได้ดำเนินการลดบทบาทและลดขนาดของฟาร์มโคนมลงเพื่อเป็นการลดต้นทุน และเวลาที่ต้องใช้ในฟาร์ม มามุ่งเน้นที่การพัฒนาและดูแลศูนย์รับซื้อน้ำนมดิบมากขึ้น 

การปรับเปลี่ยนบทบาทมาเป็นศูนย์รับซื้อน้ำนมของพญาเย็นแดรี่ ช่วยแก้ปัญหาให้กับเกษตรกรในพื้นที่มีทางเลือกที่ดีขึ้น เพราะในตลาดมีที่รับซื้อเพิ่มขึ้น เกษตรกรจึงมีตัวเลือก ทั้งด้านของการเดินทางมาขายน้ำนมได้ใกล้บ้านมากขึ้น ช่วยลดต้นทุน เวลา และลดปัญหาจากการขนส่ง มีตัวเลือกในด้านราคารับซื้อที่พึงพอใจ ไปจนถึงมีตัวเลือกในด้านบริการอื่น ๆ จากศูนย์รับซื้อที่แตกต่างกัน

พญาเย็นแดรี่ ยังได้ทำการปล่อยวัวภายในฟาร์มให้เกษตรกรสามารถเช่าเลี้ยงและรีดน้ำนมกลับมาขายให้กับทางศูนย์ได้ ซึ่งเป็นการช่วยในด้านภาระต้นทุนและเป็นการสร้างรายได้ที่มั่นคงให้กับเกษตรกร ในขณะเดียวกัน พญาเย็นแดรี่เอง ก็สามารถนำเวลาที่เคยต้องใช้ในการเลี้ยงวัวมาใช้ในการพัฒนารูปแบบการให้บริการของศูนย์รับซื้อน้ำนมได้อย่างเต็มที่มากขึ้น นับเป็นวงจรที่ส่งเสริมและเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน

ในช่วงปีพ.ศ.2557-2558 ทางรัฐบาลได้มีนโยบายในการเปิดประเทศให้เป็นเขตการค้าเสรี ทำให้อุตสาหกรรมนมต้องมีการพัฒนาคุณภาพให้ได้มาตรฐานสูงขึ้น เพื่อให้สามารถเข้าไปค้าขายในตลาดได้ ทางพญาเย็นแดรี่เอง ก็มีการลงไปช่วยส่งเสริมเกษตรกรในด้านต่าง ๆ เพื่อให้เกษตรกรมีการปรับตัวในการทำฟาร์มให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น 

ในระหว่างที่กำลังช่วยพัฒนาคุณภาพฟาร์มโคนมขนาดเล็กให้กับเกษตรกรอยู่นั้น คุณ อานนท์ จุมพลอานันท์ กรรมการบริษัท พญาเย็นแดรี่ จำกัด ได้เกิดคำถามขึ้นในใจว่า แล้วถ้าเป็นฟาร์มโคนมขนาดใหญ่จะทำให้นมมีคุณภาพได้หรือไม่ จะต้องมีการจัดการอย่างไร ลงทุนในส่วนไหนเพิ่มเติมบ้าง

 

นวัตกรรมที่ช่วยจัดการฟาร์มโคนมให้มีประสิทธิภาพ

เมื่อหาข้อมูลจากฟาร์มโคนมขนาดใหญ่ทั่วโลกและศึกษาความแตกต่างไปจนถึงข้อจำกัดของฟาร์มโคนมของตนเองแล้วนั้น พบว่าการจะนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยบริหารจัดการฟาร์มเดิมที่มีอยู่ไม่สามารถทำได้ เพราะมีพื้นที่จำกัด ไม่เพียงพอต่อการลงเครื่องจักรและระบบเทคโนโลยี จึงตัดสินใจว่าจะเปิดฟาร์มแห่งใหม่ เริ่มก่อสร้างใหม่ทั้งหมด เพื่อทดลองนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการจัดการฟาร์มเต็มรูปแบบว่าจะเป็นอย่างไร และเป็นฟาร์มต้นแบบให้เกษตรกรได้ศึกษาต่อไป

ในการทำฟาร์มใหม่ มีการตั้งเป้าหมายไว้ 2 ส่วนอย่างชัดเจน คือ 1. นมต้องได้คุณภาพ และ 2. การจัดการฟาร์มต้องได้กำไร หลังจากทดลองเก็บข้อมูลบันทึกผลอยู่ 1 ปี เห็นได้เลยว่าวัวในฟาร์มให้น้ำนมที่มีคุณภาพสูงกว่านมในตลาด มีความเสถียรของคุณภาพนมสม่ำเสมอ โดยมีการใช้โปรแกรมจัดการฟาร์ม เพื่อเก็บข้อมูลน้ำนมวัว ข้อมูลสุขภาพวัว ไปจนถึงข้อมูลการใช้ยารักษาโรคในวัว ทำให้มีข้อมูลสำหรับนำมาใช้วิเคราะห์ฟาร์มได้อย่างแม่นยำ แก้ไขได้ตรงปัญหาที่เกิดขึ้น 

อีกส่วนหนึ่งคือโปรแกรมบัญชี ซึ่งเป็นกุญแจที่ทำให้ พญาเย็นแดรี่ สามารถทราบต้นทุน สามารถวางแผนการลงทุน และวิเคราะห์ปัญหาการใช้จ่ายในฟาร์มได้ชัดเจน

โดยคุณภาพของน้ำนมนั้นขึ้นอยู่กับการจัดการใน 3 ระบบด้วยกัน ได้แก่การจัดการอาหารที่วัวได้รับให้ได้รับโภชนาการที่เหมาะสม การจัดการที่พักความสะอาดให้กับวัวลดการปนเปื้อนเชื้อ และ การรีดนมวัวที่ต้องรีดให้ดี มีขั้นตอนที่ถูกวิธี จะทำให้ได้น้ำนมที่สะอาด ทั้งหมดส่งผลให้นมมีคุณภาพดี มีองค์ประกอบบของแคลเซียม ไขมัน และโปรตีนครบถ้วน จึงทำให้น้ำนมที่ผลิตได้จากฟาร์มนี้นั้นสามารถจัดให้อยู่ในระดับพรีเมียมได้

ในช่วงของการพัฒนาวางระบบของฟาร์ม ให้เป็นฟาร์มโคนมนวัตกรรม ได้มีหน่วยงานที่เข้ามาให้การสนับสนุน ตั้งแต่ กรมปศุสัตว์ได้เข้ามาช่วยสนับสนุนข้อมูล โภชนาการอาหารสัตว์ ข้อมูลน้ำเชื้อพ่อพันธุ์ เพื่อใช้ปรับปรุงพันธุ์ในฟาร์ม และเป็นกำลังหลักในการดูแลเรื่องวัคซีนโรคระบาดในวัว เพราะการเป็นฟาร์มขนาดใหญ่ การควบคุมโรคเป็นเรื่องสำคัญ
นอกจากนั้น ยังมีกรมพัฒนาพลังงาน ที่เข้ามาช่วยสนับสนุนในการวางระบบติดตั้งโซลาร์เซลล์ภายในฟาร์ม ซึ่งช่วยลดการใช้พลังงานไฟฟ้า และช่วยลดต้นทุนให้กับฟาร์มได้เป็นอย่างมาก

ในส่วนของงานวิจัย พัฒนาและควบคุมคุณภาพนม ได้มีการร่วมมือกับโครงการ ITAP (โปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย) ของสวทช. ซึ่งช่วยในด้านให้คำปรึกษา ปรับปรุง วิจัย ในเรื่องการสร้างคุณภาพมาตรฐานของฟาร์ม รวมไปถึงการขอรับรองมาตรฐานจากหน่วยงานต่าง ๆ

นอกจากการปรับปรุงคุณภาพภายในฟาร์มแล้ว ยังมีการสนับสนุนเกษตรกรด้านอื่น ๆ ในชุมชนอีกด้วย เช่น การรับซื้อข้าวโพดสำหรับนำมาเป็นอาหารจากฟาร์มในชุมชนเพื่อให้เกษตรกรมีรายได้ที่มั่นคง ซึ่งทางฟาร์มได้ซื้อข้าวโพดจากเกษตรกรเป็นจำนวนถึง 5,000ตันต่อปี เพื่อให้วัวได้รับอาหารที่มีสามารถรักษาคุณภาพได้อย่างสม่ำเสมอ

สำหรับแนวคิดในการทำธุรกิจของ คุณ อานทนท์ นั้นเชื่อว่า ทุกคนสามารถที่จะทำธุรกิจได้ ถ้ามีการศึกหาเตรียมความพร้อมในทุกเรื่องที่เกี่ยวกับธุรกิจที่จะทำ ไว้เป็นอย่างดี และมองจุดแข็งของตัวเองให้ออก หาจุดเด่นในธุรกิจของตัวเองให้ได้ ก็จะสามารถเริ่มธุรกิจได้มั่นคง

ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อได้ที่

บริษัท พญาเย็นแดรี่ จำกัด

ที่อยู่: 59 ตำบล พญาเย็น อำเภอปากช่อง นครราชสีมา 30320

โทร: 08 8541 4691

สำหรับช่องทาง SME ONE เพิ่มเติม
Facebook: SMEONE
Youtube: SMEONE
Line: @smeone

บทความแนะนำ

DIPROM เสริมศักยภาพเอสเอ็มอีตามกระแส BCG Model

DIPROM เสริมศักยภาพเอสเอ็มอีตามกระแส BCG Model

ที่ผ่านมากรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ DIPROM ทำหน้าที่เสริมสร้างศักยภาพผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมและวิสาหกิจชุมชนให้มีความเข้มแข็ง ยิ่งเมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ภัยพิบัติ มาตรการทางการค้า ข้อกฎหมายใหม่ ๆ เทคโนโลยีที่เจริญรุดหน้าอย่างรวดเร็ว หรือโรคระบาดที่ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจในวงกว้างก็ยิ่งเป็นโอกาสที่ต้องเข้าไปช่วยเหลือผู้ประกอบการในทุกสถานการณ์เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถก้าวข้ามปัญหาต่างๆสามารถแข่งขันและยืนหยัดบนเวทีระดับภูมิภาค และระดับโลกได้

เรามีหน้าที่หลายเรื่องเกี่ยวกับการสนับสนุนเอสเอ็มอีไทยในด้านต่างๆโดยนโยบายของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมในปี 2565 ดร.ณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ได้วางแนวนโยบายโดยเน้นให้ความช่วยเหลือภาคอุตสาหกรรมเพื่อบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์โควิดและสถานการณ์ต่างๆอย่างต่อเนื่องโดยกำหนดแนวทางในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมภายใต้นโยบาย “DIProm CARE: ดีพร้อม แคร์คุณเจตนิพิฐ รอดภัย รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมอธิบายถึงบทบาทของ DIPROM ในการสนับสนุนเอสเอ็มอีไทย

โดย DIPROM จะออกสตาร์ทภาคธุรกิจ เปิดนโยบาย “ดีพร้อมแคร์ : DIPROM CARE” หนุนทุกปัจจัยการเติบโต คาดปี 65 สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 7,000 ลบ.

สำหรับนโยบาย “ดีพร้อมแคร์ : DIPROM CARE” เป็นแนวทางในการยกระดับและฟื้นฟูผู้ประกอบการหลังจากได้รับผลกระทบด้านเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา ด้วยการสำรวจปัญหาที่แท้จริง ศึกษาความต้องการ และรับฟังความคิดเห็นของผู้ประกอบการ เพื่อนำไปสู่การปรับเปลี่ยนการส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการให้ตอบโจทย์ความต้องการให้ในทุกมิติและสอดรับกับบริบททั้งในเชิงเศรษฐกิจและสังคมผ่านแนวทางการดำเนินงานในปีงบประมาณ 2565 ดังนี้

Customization การวิเคราะห์ปัจจัยเชิงสาเหตุที่มีผลต่อการเติบโตทางธุรกิจ พร้อมทั้งสนับสนุนการทำแผนเศรษฐกิจอุตสาหกรรมในเชิงพื้นที่และจัดหาเครื่องมือที่เหมาะสมให้กับสถานประกอบการ

Accessibility ขยายช่องทางการเข้าถึงความช่วยเหลือทั้งในส่วนของเครื่องมือ บุคลากรที่ให้คำปรึกษา รวมถึงโครงการต่าง ๆ

Reformation การปฏิรูปกลไกการดำเนินงานในภาพรวมของทุกกิจกรรม/โครงการ และการดำเดินงานให้มีรูปแบบการทำงานที่สอดคล้องกับยุคเศรษฐกิจวิถีใหม่

Engagement การบูรณาการร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายเพื่อช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการให้มีการเติบโตที่ดียิ่งขึ้น ในรูปแบบต่าง ๆ ได้แก่ การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ การเชื่อมโยงพันธมิตรเพื่อจัดกิจกรรมกระตุ้นเศรษฐกิจ ตลอดจนผสานความร่วมมือกับนานาชาติเพื่อร่วมพัฒนาภาคอุตสาหกรรมในไทยอีกด้วย

ซึ่งภายใต้นโยบายดังกล่าว DIPROM ได้วางรูปแบบและโปรแกรมสนับสนุนภาคธุรกิจ 4 ด้านประกอบด้วย

1.ด้านการสนับสนุนปัจจัยเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ซึ่งประกอบด้วย โครงการ CIV+ การยกระดับสินค้าและบริการในชุมชนท่องเที่ยวให้มีมูลค่าและเป็นที่ยอมรับในระดับประเทศรวมถึงสามารถดึงดูดการจ้างงานได้ โครงการถุงดีพร้อมช่วยธุรกิจชุบชีวิตชุมชน ซึ่งเป็นการทดสอบตลาดผ่านถุงดีพร้อมและช่วยผู้ได้รับผลกระทบในวิกฤต การส่งเสริม E-Commerce 3.0 ในการยกระดับการบริหารจัดการระบบฐานข้อมูล เพื่อนำไปสู่การวิเคราะห์

พัฒนาผู้ประกอบการให้เติบโตอย่างก้าวกระโดด รวมทั้งโครงการ Logistics-for-เกษตรอุตสาหกรรม เป็นการพัฒนาระบบควบคุมคุณภาพสินค้าเกษตรตั้งแต่ต้นทางสู่ปลายทาง อีกทั้งยังจะมีการดึงเทคโนโลยีที่จำเป็นต่อการนดำเนินธุรกิจด้วยการนำ Digital SI-for-SME โดยการเชื่อมโยงผู้ประกอบการที่มีศักยภาพด้านออโตเมชั่นมาสนับสนุนการประกอบการของเอสเอ็มอีเพื่อเป็นการสร้างธุรกิจชที่ตอบโจทย์อุตสาหกรรมแห่งอนาคตภายใต้ S curve-for-SME 

2.ด้านการสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐาน จะมีการยกระดับ  ITC-2-OEM ศูนย์ปฏิรูปเกษตรอุตสาหกรรมสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ OEM  โดยจะเชื่อมโยงผู้รับจ้างผลิตเพื่อให้ผู้ประกอบการที่พัฒนาต้นแบบผลิตภัณฑ์ผ่านศูนย์ ITC สามารถนำไปผลิตเพื่อจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ได้จริง รวมถึงการขยายเครือข่าย IDC-2-Thai เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงสร้างสรรค์สู่เชิงพาณิชย์ทั่วประเทศ ตลอดจนศูนย์ทดสอบคุณภาพมาตรฐานและรับรองแหล่งกำเนิดในกลุ่มอุตสาหกรรมสิ่งทอ อาหาร สินค้าฮาลาล กาแฟ ผลิตภัณฑ์พืชเศรษฐกิจใหม่ 3ก (กัญชง กัญชา กระท่อม) เครื่องเรือน และเซรามิก

3.การสนับสนุนมาตรฐานและสินเชื่อ ผ่าน 2 มาตรการ ได้แก่ มาตรการส่งเสริมธุรกิจในไทย ในโครงการ MIT และ SME-GP เพื่อทำให้กลุ่มธุรกิจขนาดเล็กและขนาดย่อมมีโอกาสเข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ และโครงการ Thailand Textile Tag ซึ่งเป็นการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ผ้าที่ผลิตในประเทศไทย รวมถึงสินเชื่อดีพร้อมเปย์เพื่อให้ธุรกิจ SME มีเงินทุนหมุนเวียน และปรับปรุงคุณภาพของสินค้าและบริการ

4.การสนับสนุนศักยภาพบุคลากร ผ่านการปั้นนักธุรกิจวิถีใหม่ในโครงการNEC วิถีใหม่ โครงการ “ปลูกปั้น” คอร์สอบรมคนดีพร้อม และโครงการพัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจอุตสาหกรรม หรือ คพอ.+ : Diprom mini MBA

ทั้งนี้ ในปี 2565 จะดำเนินงานภายใต้งบประมาณการทำงาน 527.68 ล้านบาท โดยตั้งเป้าพัฒนาศักยภาพบุคลากรในภาคธุรกิจอุตสาหกรรมไม่น้อยกว่า 16,000 ราย และคาดการณ์ว่าจะสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 7,000 ล้านบาท

ปัจจุบันรัฐบาลขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย โดยปรับเปลี่ยนรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทยไปสู่รูปแบบใหม่ ที่เรียกว่า BCG Economy Model หรือ Bio-Circular-Green Economy ดังนั้นกิจกรรมที่ DIPROM จะสนับสนุนเอสเอ็มอีไทยให้เติบโตที่จะเกิดขึ้นต่อจากนี้จึงจะเกิดขึ้นภายใต้นโยบาย BCG
ดร.กิตติโชติ ศุภกำเนิด ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมมาตรฐานเทคโนโลยีการผลิตและผลิตภัณฑ์ กองพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีอุตสาหกรรม อธิบายว่า

สำหรับการสนับสนุนนโยบาย BCG ของทางกรมในส่วนของ Bio จะมีเรื่องเกี่ยวกับการดำเนินงานโครงการในกลุ่มของ New S-curve ที่เราทำนอกเหนือจาก S-curve จะมีในกลุ่มของไบโอชีวภาพซึ่งเป็นผู้ประกอบที่ทางกรมดูแลโดยเฉพาะทางกองพัฒนานวัตกรรมจะมีสาขาของผู้ประกอบการ New S-curve ค่อนข้างมาก ยกตัวอย่างเช่นผู้ประกอบการที่อยู่ในกลุ่ม Bio ผู้ผลิตพลาสติกจากเดิมที่เขาจะทำเม็ดพลาสติกที่ใช้แล้วย่อยสลายไม่ได้เมื่อมีเทรนด์ BCG มามีการดำเนินงานปรับกิจกรรมที่เราทำอยู่เช่นการส่งเสริมผู้ประกอบการที่ทำเม็ดพลาสติกจากที่ย่อยสลายไม่ได้มาเพิ่ม Know How ให้เขาปรับเป็นเม็ดพลาสติกที่ย่อยสลายได้ โดยเราจะมีเครื่องจักร เครื่องไม้เครื่องมือต่างๆเข้ามาช่วย ซึ่งถ้าเทรนด์มาแล้วเราไม่นำเครื่องไม้เครื่องมือเข้ามาช่วยพัฒนาสินค้าให้ผู้ประกอบการ เขาก็อาจจะไม่สามารถไปต่อได้ ดังนั้นในเรื่องของการปรับตัวเราจะมีการถ่ายทอดองค์ความรู้เหล่านี้ไปให้กับผู้ประกอบการ

ส่วนของ Circular อย่างเช่นถุงพลาสติกที่เราเอาไว้ใช้ใส่ของเราก็มีการมาคุยคอนเซ็ปต์กันโดยร่วมกับสถาบันพลาสติกทดลองขึ้นรูปตัวถุงพลาสติกให้มีความหนาจากเดิมใช้อยู่ที่ 35 ไมครอนให้มีความหนามากขึ้นเพื่อให้สามารถนำกลับมาใช้ได้หลายครั้งเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในด้านการแข่งขันแก่ผู้ประกอบการซึ่งทั้ง Bio และ Circular จะอยู่ภายใต้ Green Economy ที่ทั้งกระบวนการจะต้องลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ลดการใช้ทรัพยากรให้ได้มากที่สุด ตอนนี้ผู้ประกอบให้ความสนใจเรื่อง BCG เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆเนื่องจากบริบทสังคมเปลี่ยนถ้าผู้ประกอบการไม่เปลี่ยนตอนนี้สังคมก็จะบังคับให้เขาต้องเปลี่ยนภายหลัง ผู้ประกอบการจึงต้องปรับตัวให้อยู่ในคอนเซปท์ของ BCG มากขึ้น

นายวิจักขณ์ รัตนสุวรรณ ผู้อำนวยการกองพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวเสริมว่า เป้าหมายด้าน BCG ของทาง DIPROM จะเข้มข้นขึ้นตั้งแต่ปีนี้โดยจะเป็นองค์ประกอบในทุกกิจกรรมที่ทางกรมทำต่อจากนี้เป็นต้นไป

เรื่องของ BCG จะเป็นองค์ประกอบย่อยที่แฝงไปในทุกกิจกรรม แต่ในปี 2566 จะมีการตั้งเป้าหมายที่ชัดเจนมากขึ้นเนื่องจากมีการจัดงบประมาณของ BCG โดยเฉพาะซึ่งตรงนั้นเป้าหมายก็จะแปรผันตามงบประมาณที่ได้มา แต่แน่นอนว่ากิจกรรมของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมนอกเหนือจากการขับเคลื่อนตามงบประมาณแล้ว เรายังใช้ศักยภาพของเครือข่ายซึ่งถือเป็น Ecosystem ซึ่งโดยรวมแล้วจะทำจริงจังได้ในปี 2565"

ผู้ประกอบการสามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้จาก Facebook Live ใน Facebook Fanpage @DIPromindustry : กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม DIProm (https://fb.watch/aMCpRUrSwn) หรือ ผ่านทางสถานีวิทยุ FM 106 MHz และ FB.Fanpage วิทยุครอบครัวข่าว ส.ทร. FM 106 MHz และ https://www.facebook.com/106familynews/videos/401289501765050

 

บทความแนะนำ

“ธปท.” สร้างกลไกช่วยเหลือเอสเอ็มอี แก้หนี้อย่างยืดหยุ่นพร้อมดึงดิจิตัลแก้ปัญหาระยะยาว

สถานการณ์โควิดลากยาวมาถึงปีที่ 3 ทว่าแต่ละช่วงเวลามีความหนักเบาแตกต่างกันไป ธปท. ในฐานะผู้ที่ดูแลเศรษฐกิจ สถาบันการเงิน และระบบการเงินของประเทศให้มีเสถียรภาพ จึงให้ความสำคัญกับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีซึ่งถือเป็นกระดูกสันหลังทางเศรษฐกิจไทย ด้วยการปรับมาตรการความช่วยเหลือเพื่อสอดรับกับสถานกาณ์ต่างๆ อย่างใกล้ชิด

คุณสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายและกำกับสถาบันการเงิน 2 ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ผู้ที่ได้รับผลกระทบส่วนใหญ่ยังคงเป็นกลุ่มเปราะบาง ประกอบด้วยกลุ่มลูกค้ารายย่อย และกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอี ซึ่ง ธปท. ได้มีการประเมินและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด นับตั้งแต่ช่วงล็อคดาวน์ครั้งแรกตอนต้นปี 2563 ที่คาดการณ์ว่า แม้สถานการณ์โรคและผลกระทบจะรุนแรง แต่จะสามารถคลี่คลายได้ในระยะสั้น มาตรการที่ออกมาในช่วงแรกจึงมีลักษณะปูพรม (broad-based) เพื่อลดผลกระทบอย่างเร่งด่วน มุ่งเน้นให้ครอบคลุมทั้งการพักชำระหนี้ระยะสั้น และการเสริมสภาพคล่อง จึงได้มีการตราพระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 เพื่อป้องกันมิให้เกิดสภาวะการขาดสภาพคล่องของภาคธุรกิจและการผิดนัดชำระหนี้ของภาคธุรกิจเป็นวงกว้าง โดยมีมาตรการเพื่อเติมเงินใหม่ให้กับภาคธุรกิจผ่านมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (สินเชื่อซอฟท์โลน) และมาตรการเพื่อแก้หนี้เดิม โดยกำหนดให้สถาบันการเงินพักหนี้ในระยะสั้นให้กับผู้ประกอบธุรกิจที่มีวงเงินสินเชื่อรวมทั้งกลุ่มธุรกิจกับสถาบันการเงินแต่ละแห่งไม่เกิน 100 ล้านบาท เป็นระยะเวลา 6 เดือน รวมถึงมีนโยบายให้สถาบันการเงินพักชำระหนี้สำหรับลูกค้ารายย่อยเป็นระยะเวลา 3-6 เดือน 

อย่างไรก็ดี จากสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างรุนแรง ยืดเยื้อยาวนาน เป็นวงกว้าง และมีความไม่แน่นอนสูง ประกอบกับการฟื้นทางเศรษฐกิจมีความไม่เท่าเทียม (เป็นลักษะ K-shape) ธปท. จึงได้ปรับมาตรการการแก้หนี้เดิมให้มีความเฉพาะเจาะจง (targeted) มากขึ้น เพื่อให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ให้เหมาะสม ตรงจุด และยืดหยุ่นยิ่งขึ้น รวมถึงไม่สร้างแรงจูงใจที่ไม่เหมาะสม จนถึงในช่วงปลายปี 2564 ธปท. จึงได้ออกมาตรการแก้หนี้ระยะยาว โดยเน้นให้สถาบันการเงินและผู้ประกอบธุรกิจทางการเงินภายใต้การกำกับช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบผ่านการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ระยะยาวอย่างยืดหยุ่น สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ภายใต้สถานการณ์ที่มีความไม่แน่นอนสูง 

นอกจากนี้สำหรับในเรื่องการเสริมสภาพคล่องให้กับ SMEs ธปท. ได้ออกมาตรการให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ซึ่งประกอบด้วย 2 โครงการ ได้แก่ มาตรการ “สินเชื่อฟื้นฟู” ซึ่งเป็นการปรับปรุงข้อจำกัดของมาตรการสินเชื่อซอฟท์โลนเพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจโดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอีสามารถเข้าถึงความช่วยเหลือได้ครอบคลุมยิ่งขึ้น โดยเปิดโอกาสให้ลูกค้ารายใหม่ที่ไม่มีวงเงินกับสถาบันการเงินมาก่อน ให้สามารถยื่นขอสินเชื่อเพื่อฟื้นฟูกิจการได้ และขยายระยะเวลาของเงินกู้ให้ยาวขึ้นเป็น 5 ปี กำหนดอัตราดอกเบี้ยที่สะท้อนความเสี่ยงของลูกหนี้ได้ดียิ่งขึ้น รวมถึงเพิ่มกลไกการค้ำประกันสินเชื่อผ่านบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) และ โครงการ “พักทรัพย์ พักหนี้” เพื่อเป็นอีกทางเลือกในการแก้ไขปัญหาหนี้ให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบหนัก

คุณสุวรรณี กล่าวถึงกลไกลของโครงการพักทรัพย์ พักหนี้ ว่าเป็นทางเลือกในการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบธุรกิจที่มีศักยภาพ มีทรัพย์สินเป็นหลักประกันและได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ยืดเยื้อ ซึ่งต้องใช้เวลานานกว่ากลุ่มอื่นในการฟื้นตัว โดยจุดเด่นของโครงการพักทรัพย์ พักหนี้คือ การช่วยลดภาระต้นทุนทางการเงินชั่วคราวให้กับผู้ประกอบธุรกิจ พร้อมกับเอื้อให้ยังสามารถประคองกิจการและช่วยพยุงการจ้างงานต่อไป และช่วยให้ลูกหนี้ไม่ถูกบังคับขายทรัพย์สิน หรือถูกกดราคาทรัพย์สินในภาวะวิกฤต เพื่อให้สามารถกลับมาประกอบธุรกิจได้ตามปกติในอนาคต ภายใต้โครงการนี้ ลูกหนี้สามารถตีโอนทรัพย์สินเพื่อชำระหนี้แก่ธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ภายใต้เงื่อนไขซื้อคืนในเวลา 3 - 5 ปี ในราคาที่ตกลงไว้ โดยในระหว่างนั้น ลูกหนี้สามารถเช่าทรัพย์สินกลับคืนเพื่อใช้ในการประกอบธุรกิจต่อได้ ทั้งนี้ ภาครัฐจะสนับสนุนสิทธิประโยชน์ทางภาษีและค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้อง และ ธปท. จะสนับสนุนสภาพคล่องดอกเบี้ยต่ำให้กับธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ โดยมีวงเงินภายใต้โครงการไม่เกิน 100,000 ล้านบาท 

“โครงการพักทรัพย์ พักหนี้ ถูกออกแบบให้เข้ามาช่วยเหลือกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบหนัก โดยไม่ได้จำกัดประเภทธุรกิจที่สามารถเข้าร่วมโครงการ ซึ่งจากข้อมูลความคืบหน้าของโครงการในปัจจุบันพบว่าผู้เข้าร่วมโครงการส่วนใหญ่เป็นธุรกิจที่อยู่ในภาคการท่องเที่ยว ซึ่งเป็น sector ที่ได้รับผลกระทบหนักจากสถานการณ์ในครั้งนี้ นอกจากนี้ยังมีผู้ประกอบธุรกิจในกลุ่มอื่นด้วย อาทิ โรงงาน โรงพยาบาลที่เน้นให้บริการรับเฉพาะนักท่องเที่ยวต่างชาติ  รวมถึงสปาและ ร้านอาหาร เป็นต้น”

สำหรับเงื่อนไขการรับโอน การเช่า และการซื้อคืนทรัพย์สินหลักประกัน ผู้ประกอบธุรกิจหรือเจ้าของทรัพย์สินหลักประกันมีสิทธิซื้อทรัพย์สินหลักประกันคืนได้ภายในระยะเวลา 3 - 5 ปี นับแต่วันที่สถาบันการเงินรับโอนทรัพย์สินหลักประกัน โดยสถาบันการเงินจะไม่นำทรัพย์สินไปขายแก่บุคคลอื่นหากผู้ประกอบธุรกิจไม่ยินยอม

ในช่วงระยะเวลาภายใต้โครงการ ผู้ประกอบธุรกิจมีสิทธิเช่าทรัพย์สินนั้นจากสถาบันการเงินเพื่อใช้ในการประกอบธุรกิจต่อไปได้ ตามอัตราค่าเช่าที่จะตกลงกัน โดยต้องแจ้งความประสงค์เช่าทรัพย์ให้สถาบันการเงินทราบภายใน 15 วันนับแต่วันที่โอนทรัพย์สิน หากผู้ประกอบธุรกิจไม่ประสงค์เช่าทรัพย์สิน สถาบันการเงินอาจนำทรัพย์สินไปให้บุคคลอื่นเช่าได้

สำหรับราคาทรัพย์สินที่สถาบันการเงินจะขายคืนให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจหรือเจ้าของทรัพย์สินหลักประกันต้องไม่สูงกว่าราคาที่รับโอนไว้รวมกับค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาอีกไม่เกิน 1% ต่อปีของราคาที่รับโอนและค่าใช้จ่ายอื่นที่สถาบันการเงินได้จ่ายไปเพื่อดูแลรักษาทรัพย์สิน หักด้วยค่าเช่าที่ผู้ประกอบธุรกิจจ่ายระหว่างสัญญาเช่า

ในส่วนของ “สินเชื่อฟื้นฟู” ถูกออกแบบมาเพื่อแก้ไขข้อจำกัดของมาตรการสินเชื่อซอฟท์โลนอันจะช่วยเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบธุรกิจเข้าถึงสินเชื่อได้ในวงกว้างและทั่วถึงมากยิ่งขึ้นโดยคุณสมบัติของผู้ประกอบธุรกิจที่สามารถเข้าโครงการนี้ต้องเป็นผู้ที่มีวงเงินสินเชื่อ ณ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 ไม่เกิน 500 ล้านบาท ซึ่งไม่ถูกจัดชั้นเป็น NPL ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 หรือเป็นผู้ที่ไม่มีวงเงินสินเชื่อกับสถาบันการเงินทุกแห่ง ณ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 และเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลที่จดทะเบียนในประเทศไทย ที่มีสถานประกอบการและประกอบธุรกิจในประเทศไทย ที่ไม่ใช่บริษัทที่มีหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เว้นแต่เป็นบริษัทที่มีหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ และไม่เป็นผู้ประกอบธุรกิจทางการเงิน 

“จุดเด่นของมาตรการนี้อีกอย่างคือ กลไกการค้ำประกันผ่านบสย. ที่กำหนดอัตราการค้ำประกันไว้สูงถึง 40% ของหนี้เสียที่จะเกิดขึ้น ซึ่งเราเชื่อว่ากลไกการค้ำประกันนี้จะช่วยให้ไมโครเอสเอ็มอีที่อยู่ในภาคธุรกิจที่เสี่ยงสูง โดยเฉพาะธุรกิจท่องเที่ยวและการขนส่ง สามารถเข้าถึงสภาพคล่องเพื่อช่วยประคับประคองและฟื้นฟูธุรกิจให้ดำเนินต่อไป รวมถึงฟื้นตัวได้ในระยะถัดไป”

สำหรับความคืบหน้าของวงเงินภายใต้โครงการพักทรัพย์ พักหนี้ที่ ในเดือนเมษายน 2565 มีมูลค่าสินทรัพย์ที่รับโอนภายใต้โครงการแล้วประมาณ 43,600 ล้านบาท หรือคิดเป็น 44% ของวงเงิน โดยมีลูกหนี้ที่ได้รับความช่วยเหลือรวม 333 ราย ซึ่งผู้ที่สนใจสามารถแจ้งความประสงค์ขอเข้าร่วมโครงการกับสถาบันการเงินที่ใช้บริการอยู่ได้ภายในวันที่ 9 เมษายน 2566 แม้ว่าในปัจจุบันจะมีปัจจัยความไม่แน่นอนจากสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน เข้ามาเพิ่มเติม อย่างไรก็ดี เนื่องจากโครงการนี้ได้รับการออกแบบให้ยืดหยุ่นเพื่อรองรับความไม่แน่นอน ดังนั้น หากพิจารณาสถานการณ์ในช่วงเวลานั้นแล้วพบว่ามีเหตุอันสมควร ธปท. โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีสามารถขยายระยะเวลาดังกล่าวออกไปอีกได้ไม่เกิน 1 ปี โดยไม่ต้องออกพระราชบัญญัติฉบับใหม่ 

อย่างไรก็ดี หากไม่มีสถานการณ์โควิดหรือสงครามรัสเซีย-ยูเครน เข้ามา เอสเอ็มอีโดยเฉพาะขนาดเล็กก็ยังมีปัญหาหลักคือ การเข้าไม่ถึงสินเชื่อ หรือหากเข้าถึงแต่มีต้นทุนดอกเบี้ยสูงกว่าอยู่ดี ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ธปท. จึงพยายามปิดช่องว่างด้วยการนำ Digital factoring มาเป็นเครื่องมือให้เอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ ปลอดภัย และลดต้นทุนยิ่งขึ้น

คุณสุรวุฒิ พฤกษ์บำรุง ผู้อำนวยการ รักษาการผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ที่ผ่านมา ธปท. ได้พัฒนาระบบนิเวศด้านดิจิทัล เพื่อยกระดับการให้บริการ Factoring ให้เป็นรูปแบบดิจิทัลแบบ end-to-end ในลักษณะของ Open Architecture ร่วมกับภาคเอกชนและหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ ส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของ SMEs 

รายเล็ก ๆ และลดความเสี่ยงที่เป็นอุปสรรคต่อการทำธุรกรรม Factoring ที่มีอยู่เดิมโดยเฉพาะในเรื่อง double financing

เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว ธปท. ได้พัฒนาระบบฐานข้อมูลกลาง Central Web Service (CWS) 

ที่มีต้นทุนต่ำและปลอดภัย เพื่อทำหน้าที่บันทึกและตรวจสอบสถานะของใบแจ้งหนี้ที่นำมาใช้ขอสินเชื่อ Factoring ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงในการขอสินเชื่อซ้ำซ้อน อีกทั้งระบบดังกล่าวยังเปิดกว้างให้ผู้ให้บริการ factoring สามารถเข้ามาเชื่อมต่อ ซึ่งรวมถึงแพลตฟอร์มที่ทำหน้าที่เป็น Marketplace สำหรับสินเชื่อ Factoring ด้วย ซึ่งถือเป็นการส่งเสริมให้มีการแข่งขันของผู้ให้บริการอย่างเสรีทั้งด้านราคาและเงื่อนไขการให้สินเชื่อ นอกจากนี้ ธปท. ยังผลักดันให้ผู้ให้บริการ Factoring และแพลตฟอร์มมีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ตามความเหมาะสมในกระบวนการสำคัญ เช่น การสร้างใบแจ้งหนี้ดิจิทัลที่เป็นมาตรฐาน การรับส่งเอกสารผ่านช่องทางดิจิทัล และการใช้ Digital signature ในการรับรองความถูกต้องของเอกสาร เพื่อลดความเสี่ยงที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงข้อมูล ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำธุรกรรมต่าง ๆ ให้มีความสะดวกและรวดเร็ว และช่วยลดต้นทุนการดำเนินงานได้ในระยะยาว 

คุณสุรวุฒิ กล่าวว่า นอกจากการผลักดันธุรกรรม Digital Factoring แล้ว ธปท. ยังมีแนวคิดที่จะส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของ SMEs อย่างยั่งยืนในมิติต่าง ๆ ผ่านภูมิทัศน์ทางการเงินใหม่ (Financial landscape) ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาเชิงระบบอย่างบูรณาการ ซึ่งรวมถึงการผลักดันให้สถาบันการเงินใช้ประโยชน์จากข้อมูลและพัฒนาการด้านเทคโนโลยีทางการเงินได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เพื่อลดต้นทุนและให้มีข้อมูลเพียงพอในการประเมินความเสี่ยง หรือสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ ผ่านนวัตกรรมและบริการทางการเงินได้ดียิ่งขึ้น ในขณะที่ผู้ประกอบการจะได้รับประโยชน์จากการมีแหล่งเงินทุนทางเลือกใหม่ รวมถึง อาจมีการพิจารณาให้มีผู้ให้บริการรูปแบบใหม่ ๆ เช่น Virtual bank เพื่อช่วยแก้ Pain points ที่เอสเอ็มอีรายย่อยเผชิญอยู่ เพราะ Virtual bank จะมีต้นทุนการดำเนินงานต่ำ มีเทคโนโลยีหรือข้อมูลในมิติอื่นที่สถาบันการเงินแบบดั้งเดิมอาจไม่มี ทำให้สามารถประเมินความเสี่ยงและเข้าใจพฤติกรรมของลูกหนี้ SMEs ขนาดเล็กได้ดีกว่า 

ในขณะนี้ ธปท. อยู่ระหว่างการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินดิจิทัลที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ ได้แก่  

(1) โครงการ PromptBizเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่พัฒนาในลักษณะ End to end ครอบคลุมการทำธุรกรรมดิจิทัลตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ทั้งข้อมูลการซื้อขายสินค้า การออกใบแจ้งหนี้ ใบสั่งซื้อ การชำระเงิน การจ่ายคืนภาษี และอาจพัฒนาถึงการให้สินเชื่อในอนาคต ซึ่งรวมถึงการเชื่อมโยงระบบ CWS ธุรกรรม digital factoring กับ PromptBizในอนาคตด้วย 

(2) ส่งเสริมให้มีกลไกการค้ำประกันเครดิตในรูปแบบต่าง ๆ ที่ครอบคลุมทั้งสินเชื่อ การร่วมทุน การออกตราสารหนี้และตราสารทุน เป็นต้น 

(3) โครงการ Open data ที่สนับสนุนการเชื่อม แชร์ และใช้ข้อมูลทั้งจากภายนอกและภายในภาคการเงิน  เพื่อประโยชน์ในการวิเคราะห์สินเชื่อหรือการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินรูปแบบใหม่ ๆ

นอกจากนี้ การส่งเสริมให้ผู้ประกอบการทางธุรกิจตระหนักและเห็นถึงความสำคัญในการปรับตัวให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อม ก็จะเป็นอีกหนึ่งจิ๊กซอร์ที่สำคัญที่จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันและป้องกันการถูกกีดกันทางการค้าจากนานาประเทศได้ในระยะยาว 

ภายใต้ภูมิทัศน์ทางการเงินใหม่นี้  ธปท. มั่นใจว่าจะช่วยแก้ไขปัญหาเชิงระบบ โดยเฉพาะในด้านการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทั้งขนาดกลางและขนาดเล็กของประเทศไทยสามารถแข่งขันและเติบโตได้อย่างยั่งยืน

บทความแนะนำ

SME D Bank พร้อมเคียงข้าง SMEs ทุกสถานการณ์

จากสถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้น ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank ในฐานะสถาบันการเงินของรัฐ พร้อมเคียงข้างผู้ประกอบการเอสเอ็มอีตลอดเส้นทางธุรกิจ ออกมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อย่างใกล้ชิดตามนโยบายของรัฐบาล ผ่านมาตรการปรับเงื่อนไขการชำระหนี้ และปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถประคับประคองธุรกิจ และรักษาการจ้างงานไว้ได้ โดยปี 2564 ช่วยเหลือจำนวน 37,953 ราย วงเงิน 66,000 ล้านบาท  และไตรมาสแรก ปี 2565 ช่วยเหลือไปแล้ว 8,087 ราย วงเงิน 14,550 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ประมาณ  23%

                อย่างไรก็ดี ผลกระทบของสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในหลายกลุ่มธุรกิจ  เมื่อสถานการณ์เริ่มคลี่คลายและมีสัญญาณการฟื้นตัวต่อเนื่อง ธนาคารพร้อมสนับสนุนธุรกิจเอสเอ็มอีให้กลับมาเดินหน้ากิจการได้อีกครั้ง ผ่านมาตรการด้าน “การเงิน” และ “การพัฒนา” เช่น การชำระหนี้ ที่ได้ปรับความยืดหยุ่นให้สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ของผู้ประกอบการ โดยนำมาตรการแก้หนี้อย่างยั่งยืนตามแนวทางของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มาใช้  ทำให้สามารถบริหารจัดการหนี้เป็นไปอย่างเหมาะสม และมีประสิทธิภาพ

ขณะที่ การเติมทุนใหม่ได้ออกผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่ครอบคลุมทุกกลุ่มธุรกิจมากขึ้น ช่วยให้ธุรกิจเอสเอ็มอีได้รับการเติมทุนได้อย่างเหมาะสม ขานรับนโยบายเปิดประเทศของรัฐบาล โดยที่ผ่านมา ธนาคารได้ออกผลิตภัณฑ์ “สินเชื่อ 3D” วงเงินรวมเป็น 19,000 ล้านบาท เกณฑ์เปิดกว้าง กู้ได้ทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล หากหลักประกันไม่พอ สามารถใช้ บสย. ค้ำประกันได้

“สินเชื่อ 3D”  ครอบคลุมทุกความต้องการของทุกกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอี วงเงินกู้สูงสุดถึง 50 ล้านบาทต่อราย อัตราดอกเบี้ยเริ่มต้น 4.5% ต่อปี  ผ่อนนานสูงสุด 10 ปี  ประกอบด้วย “สินเชื่อ SMEs D Plus” วงเงิน 7,000 ล้านบาท รับรีไฟแนนซ์จากสถาบันการเงินเดิม และเป็นทุนหมุนเวียน ช่วยลดต้นทุนธุรกิจ “สินเชื่อ SMEs D เพื่อการลงทุน” วงเงิน 5,000 ล้านบาท สำหรับลงทุน ขยาย ปรับปรุงกิจการ รวมถึงปรับเปลี่ยนธุรกิจ   และ “สินเชื่อ SMEs D เสริมสภาพคล่อง” วงเงิน 7,000 ล้านบาท เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียน เสริมสภาพคล่อง 

พร้อมเสริมด้วยการสนับสนุน “งานพัฒนา” ช่วยยกระดับกิจการ เพิ่มศักยภาพให้เอสเอ็มอีเติบโตอย่างยั่งยืน ด้วยการจัดโปรแกรมพัฒนา เช่น  “E-learning SME D Academy” เติมองค์ความรู้ ตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมช่วยโปรโมทสินค้าผ่านสื่อของธนาคาร เป็นต้น สามารถสมัครใช้บริการได้ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย

                และจากการที่รัฐบาลได้เริ่มคลายล็อคมาตรการต่างๆ และเปิดประเทศ SME D Bank ไม่รอช้าที่จะขานรับนโยบายรัฐบาลเพื่อฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยวทันทีเพราะมองว่าจะเป็นปัจจัยสำคัญช่วยให้เศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว โดยออกโครงการ “สินเชื่อ SMEs Re-Start” วงเงินรวม 2,000 ล้านบาท สนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยว และเกี่ยวเนื่อง (Supply Chain)  เช่น โรงแรม ร้านอาหาร บริษัทนำเที่ยว ร้านขายของที่ระลึก ฯลฯ  รวมถึง เอสเอ็มอีทุกประเภทที่เป็นคู่ค้ากับกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยว ได้เข้าถึงแหล่งเงินทุน นำไปเสริมสภาพคล่อง ลงทุน ขยาย ปรับปรุงกิจการ หรือสำรองเป็นค่าใช้จ่าย  คุณสมบัติเปิดกว้าง กู้ได้ทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล ทั้งลูกค้าเก่าและลูกค้าใหม่ อัตราดอกเบี้ยเริ่มต้น 5.5% ต่อปี วงเงินกู้สูงสุด 5 ล้านบาท ระยะเวลาผ่อนชำระนานสูงสุด 10 ปี พร้อมปลอดชำระคืนเงินต้น (Grace Period) สูงสุดไม่เกิน 24 เดือน โดยเปิดรับคำขอกู้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป จนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2566 หรือจนกว่าจะหมดวงเงินโครงการ แล้วแต่อย่างหนึ่งอย่างใดจะถึงก่อน

ขณะเดียวกัน ธนาคารได้สนับสนุนภาคการท่องเที่ยว และเกี่ยวเนื่อง ผ่านกิจกรรมด้านการ "พัฒนา"  ควบคู่ด้วย โดยมีโครงการหลากหลาย ผ่านความร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตรต่าง ๆ เช่น สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย จัดโปรแกรมเติมความรู้และยกระดับเอสเอ็มอีภาคการท่องเที่ยว เตรียมพร้อมรับเทรนด์ท่องเที่ยววิถีใหม่หลังโควิด-19 คลี่คลาย  ผ่านทั้งระบบออนไลน์ และลงพื้นที่จัดโฟกัสกรุ๊ปทั่วประเทศ มีผู้ประกอบการตั้งแต่ขนาดย่อม (SE)  และขนาดกลาง (ME) ซึ่งธนาคารยังจะจัดต่อเนื่องในอีกหลายพื้นที่ ระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายน 2565 เช่น ยโสธร  ร้อยเอ็ด  สุรินทร์ นครราชสีมา  เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ เป็นต้น   

นอกจากนั้น  ยังช่วยส่งเสริมการตลาด พาทูตการท่องเที่ยวและทูตการกีฬา ลงพื้นที่โปรโมทสินค้าหรือบริการให้เอสเอ็มอีไทยทั่วประเทศ เช่น ขนมบ้านคุณย่า จ.นครราชสีมา  บริษัท แม่กลองไทยเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด  จ.สมุทรสงคราม และ เฌอ บุรีโฮมสเตย์ จันทบุรี จ.จันทบุรี เป็นต้น

                หากสรุปตัวเลขสินเชื่อฟื้นฟูที่ SME D Bank ให้การสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ซึ่งเป็นลูกค้าของธนาคาร เพื่อให้ได้รับการเติมทุน เสริมสภาพคล่องธุรกิจ หรือใช้เป็นค่าใช้จ่ายในกิจการ ประคับประคองธุรกิจ และรักษาการจ้างงาน นับตั้งแต่เริ่มโครงการ เมื่อเดือน เมษายน 2564 จนถึงวันที่ 13 พฤษภาคม 2565  รวมเป็นงบประมาณทั้งสิ้น25,000 ล้านบาทโดยมีลูกค้าที่ธนาคารให้ความช่วยเหลือในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนแล้ว จำนวน 5,254 ราย คิดเป็นวงเงิน 13,041 ล้านบาท

                เพื่อขยายความช่วยเหลือเอสเอ็มอีให้ไกลและกว้างมากยิ่งขึ้น SME D Bankยังได้ร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน ผนึกกำลังให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เช่น ความร่วมมือกับบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) สนับสนุนธุรกิจเอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินทุน ผ่านผลิตภัณฑ์สินเชื่อของธนาคาร นำไปยกระดับธุรกิจ เพิ่มศักยภาพกิจการ สามารถใช้ บสย.ร่วมค้ำประกัน ขณะที่ ความร่วมมือกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) จะดำเนินการร่วมกัน เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย ผ่านความร่วมมือของ 2 หน่วยงาน เช่น การช่วยเหลือผู้ประกอบการให้เข้าถึงบริการด้านเงินทุน จาก SME D Bank วงเงินสูงสุด 50 ล้านบาท  รวมทั้งสนับสนุนด้านการยกระดับความสามารถ เพิ่มทักษะความรู้ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง และได้วางแผนขยายตลาดผ่านช่องทางออฟไลน์และออนไลน์ รองรับความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่  ช่วยให้เอสเอ็มอีก้าวข้ามวิกฤตโควิด-19 ไปได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน

สำหรับแผนการดำเนินงานปี 2565 ธนาคารกำหนดทิศทางการดำเนินงานให้สอดคล้องกับภารกิจและเป็นไปตามแนวนโยบายภาครัฐ มุ่งเน้นการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เพิ่มขีดความสามารถธุรกิจให้เข้มแข็งและยั่งยืน ด้วยการสนับสนุนการดำเนินธุรกิจอย่างครบวงจร “เงินทุน” ผ่านผลิตภัณฑ์สินเชื่อครอบคลุมทุกกลุ่มธุรกิจ วงเงินกู้สูงสุด 50 ล้านบาท ควบคู่ “การพัฒนา” ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร ทั้งภาครัฐและเอกชน ส่งเสริมและสนับสนุนเข้าสู่ BCG Model ตามนโยบายรัฐบาล สนับสนุนเข้าถึงแหล่งทุนไม่ต่ำกว่า 53,000 ล้านบาท

ขณะที่ ด้านการพัฒนาศักยภาพSME D Bank ในฐานะธนาคารเพื่อการพัฒนา ยกระดับการให้บริการ ตอบโจทย์ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี จัดทำ “โครงการ SME D-Care” สร้าง “SME D Coach” ที่เป็นเจ้าหน้าที่ธนาคาร หน่วยงานภาครัฐและเอกชน ที่ผ่านการอบรมและเพิ่มทักษะ จนมีความเชี่ยวชาญในแต่ละด้านมาให้คำปรึกษา เช่น การตลาดออนไลน์ การสร้างมาตรฐาน การผลิต จับคู่ธุรกิจ เทคโนโลยี-นวัตกรรม บัญชี-การเงิน สนับสนุนเงินทุน และบ่มเพาะผู้ประกอบการ พร้อมกระบวนการติดตามผลหลังจากได้รับคำปรึกษา เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมผู้ประกอบการเอสเอ็มอีตลอดเส้นทางธุรกิจ ตั้งเป้าหมายพัฒนาผู้ประกอบการกว่า 20,000 ราย

บทความแนะนำ

I Love Flower Farm สวนดอกไม้ที่มอบความเบ่งบานสู่ชุมชน

I Love Flower Farm สวนดอกไม้ที่มอบความเบ่งบานสู่ชุมชน

 

“I love flower farm อยากเป็นการสร้างความฝัน ให้กับเด็กรุ่นใหม่และชุมชน มันเป็นความฝันเล็กๆ ที่เราสามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชนได้” ปุ้ย ณวิศาร์ มูลภา ผู้ก่อตั้ง I love flower farm

จุดเริ่มต้นของ I love flower farm เกิดจากการเป็นผู้ผลิตไม้ดอก เพื่อส่งให้กับออแกไนซ์ทั่วประเทศ ที่กำลังมองหาโอกาสใหม่ๆ จะทำให้ลูกค้ารู้จักพวกเขามากขึ้น โดยไม่ใช่แค่การทำออนไลน์

คุณปุ้ย พยายามมองหาโอกาสเหล่านั้นจนได้พบว่า มีกลุ่มลูกค้ามากมายที่น่าสนใจสำหรับ I love flower farm โดยเธอมองว่านอกจากเป็นผู้ผลิตแล้ว I love flower farm ยังต้องการเข้าหาและต้องการผู้บริโภครายย่อยให้เข้าถึงแบรนด์เพิ่มมากขึ้น อีกด้วย

จากที่พื้นฐานเป็นคนจังหวัดเชียงใหม่ จึงทำให้ I love flower farm เล็งเห็นถึงความน่าสนใจในระดับการท่องเที่ยว และการท่องเที่ยวที่น่าสนใจและตอบโจทย์ที่สุดสำหรับการทำดอกไม้ ก็คงหนีไม้พ้นการเปิดให้ชมความสวยงามของมันอย่างใกล้ชิด

 

เริ่มต้น พัฒนา ส่งต่อโอกาส

ด้วยความคิดถึงโอกาสในการทำธุรกิจ ร่วมกับการมองเห็นแนวทางในการพัฒนาชุมชนให้ดีขึ้น คุณปุ้ย จึงได้เริ่มชักชวนผู้ที่ประกอบกิจการทำสวนดอกไม้ในชุมชน มาเริ่มสร้างและพัฒนาการท่องเที่ยวสวนดอกไม้ จนได้เกิดขึ้นมาเป็น I love flower farm

“I love flower farm เริ่มเข้าสู่เส้นทางสายเกษตรการท่องเที่ยวอย่างเต็มตัว โดยได้สร้างเครือข่ายขยายออกไปเป็นวงกว้างในระดับชุมชน”

แม้จะเป็นคนริเริ่ม แต่คุณปุ้ย ก็ไม่สามารถดำเนินการแนวคิดนี้ให้เติบโตได้เพียงลำพัง หรืออำนาจการตัดสินใจจะต้องเป็นของคุณปุ้ยเพียงคนเดียวเท่านั้น คุณปุ้ยยังได้ปรึกษากับคนในชุมชน ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกร ผู้บริโภค จนถึงผู้ผลิต หรืเจ้าของสวน เพื่อนำสิ่งเหล่านั้นมาเป็นแนวทาง อีกด้วย 

ปัจจุบัน I love flower farm เรียกได้ว่าเป็นเจ้าของกิจการที่ได้รับการช่วยเหลือจากรัฐบาลอย่างเต็มตัว โดยได้มีผู้เข้าร่วม ที่เป็นส่วนหนึ่ง ในการร่วมหารือกับสิ่งที่กำลังจะเกิด รวมกว่า 30 ครอบครัว ซึ่ง I love flower farm ไม่ได้สนใจเพียงในเรื่องธุรกิจและการช่วยเหลือชุมชนเท่านั้น แต่ยังมองลึกลงไปถึงกลุ่มผู้สูงอายุ ที่ทางแบรนด์มองว่ามีศักยภาพและองค์ความรู้ที่เหมาะสม สามารถถ่ายทอดไปยังผู้อื่นได้ ตลอดจนเล็งเห็นถึงการร่วมมือ ร่วมใจเป็นอันหนึ่ง อันเดียวกัน

I love flower farm ยังได้ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมในชุมชน ด้วยการใช้วัสดุ อุปกรณ์ต่างๆ ที่ผลิตจากทำธรรมชาติ เช่น หลอดที่ผลิตจากต้นข้าว หรือเรื่องที่คนอาจะไม่ได้สนใจ คือ การทำลานจอดรถนอกพื้นที่ เพื่อลดโอกาสปล่อยของเสียทำลายมลพิษในชุมชน เป็นต้น

อีกหนึ่งความน่าสนใจของ I love flower farmในชุมชนเหมืองแก้ว คือ การผลิตดอกไม้ได้ตลอด 365 วัน โดยนักท่องเที่ยวไม่ต้องคาดหวังว่าจะได้เจอดอกไม้หรือไม่ และยังมีการเรียนรู้เทรนด์ของตลาดดอกไม้โลก เพื่อนำมาปรับใช้ในธุรกิจ พัฒนาและเพิ่มมูลค่าดอกไม้ที่ปลูกจาก I love Flower Farm ให้มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับในระดับสากล และสามารถส่งออกไปยังหลายประเทศได้แก่ อินเดีย ญี่ปุ่น และกัมพูชา เป็นต้น

I love flower farm เริ่มต้นจากการวางแผนการทำงานร่วมกันตั้งแต่ เกษตรกรผู้ผลิต จนถึงผู้บริโภค โดยผ่านการทดลอง ในทุกแง่มุม เพื่อผลลัพธ์ที่ดีที่สุด 

 

ก้าวสู่เกษตรดิจิทัล อย่างเต็มตัว

ด้วยการที่ I love flower farm มีลูกค้าเป็นกลุ่มคนที่จะจัดงานและการท่องเที่ยว ทำให้ I love flower ได้ผลกระทบอย่างหนัก ในช่วงการแพร่ระบาดนี้ ทำให้ I love flower farm ได้วางแผนธุรกิจใหม่ โดยมองว่าจะแปรรูปผลิตภัณฑ์ ให้อยู่ทนและอยู่ได้นานขึ้น ไม่เพียงแต่เท่านี้ I love flower farm ยังได้รับคำปรักษาจากหน่วยงานรัฐชั้นนำเป็นอย่างดี 

หลายธุรกิจกว่าจะพบทางออกที่เหมาะสมกับคาแรคเตอร์ของธุรกิจตัวเอง ก็อาจจะต้องเรียนผิดเรียนถูก กันมากมาย แต่จะดีกว่าหรือไม่ถ้าเราเจอที่ปรึกษาที่ดี ในทุกกการทำการตลาด จะเห็นได้ว่าได้มีองค์มากมายเกิดขึ้นเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือภาคธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็น สสว. อุทยานวิทยาศาสตร์หรือกระทรวงต่าง ๆ  อีกมากมาย ทั้งนี้หากผู้ประกอบการ หรือผู้ที่อยากทำธุรกิจ มีความริเริ่มสร้างสรรค์ ก็สามารถเข้าร่วมโครงการฯ ที่เกิดขึ้นตามองค์กรต่างๆ ได้เช่นกัน

 

ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อได้ที่

I love flower Farm

ที่อยู่ : 33 ตำบล เหมืองแก้ว อำเภอแม่ริม เชียงใหม่ 50180 

โทร: 082 897 2679

สำหรับช่องทาง SME ONE เพิ่มเติม
Facebook: SMEONE
Youtube: SMEONE
Line: @smeone

บทความแนะนำ