Mister Box
สร้างธุรกิจกล่องส่งอาหารจาก Pain Point
Mister Box เป็นผู้ผลิตและจําหน่ายกล่องส่งอาหารที่มีลูกค้าเป็นผู้ประกอบการร้านค้ามากมาย ทั้ง SMEs และแบรนด์ขนาดใหญ่ แต่หลายคนอาจจะไม่เคยรู้มาก่อนว่าเบื้องหลังความสำเร็จของ Mister Box เกิดมาจาก Pain Point ตอนเป็นแม่ค้าออนไลน์ของคุณออย นริศรา รวีจารุดล
คุณนริศรา พยายามหาทางออกเรื่องการส่งสินค้าให้ถึงมือลูกค้าโดยสินค้าไม่เสียหายให้กับตัวเองอยู่พักใหญ่ และเริ่มมองเห็นโอกาสที่ซ่อนตัวอยู่ในปัญหาดังกล่าว จนเป็นที่มาของการพัฒนากล่องใส่สินค้าสำหรับไรเดอร์ และเกิดเป็นธุรกิจใหม่อย่าง Mister Box ในที่สุด
SME ONE : Mister Box เกิดขึ้นมาได้อย่างไร
นริศรา : ช่วงนั้นเป็นวิกฤตปี 2540 เศรษฐกิจเมืองไทยค่อนข้างแย่ บ้านออยก็เป็นหนึ่งในนั้นก็เลยเริ่มทำธุรกิจหลายอย่าง แต่เป็นธุรกิจเล็กๆ ก็มีไปขายของที่ตลาดนัด ขายรองเท้า เครื่องสำอางก็รับเขามาขาย ก็คือทำเล็กๆ น้อยๆ ไป แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ เมื่อก่อนการทำเดลิเวอรี่ด้วยมอเตอร์ไซค์แทบจะไม่มีคนรู้จักเลย แล้วก็จะมีแบรนด์ที่ทำพวกนี้น้อยมาก แล้วออยก็จะมีจุดเด่นว่าจะส่งของให้ลูกค้าเร็วกว่าคู่แข่ง เพราะส่วนใหญ่เขานิยมส่งสินค้าทางไปรษณีย์กัน
ออยใช้วิธีเรียกมอเตอร์ไซค์ไปส่ง แล้วไรเดอร์ที่เรียกไปร้อยละ 90 ไม่มีกล่อง ออยก็เลยถามเขาว่าทำไม เพราะเมื่อก่อนคนเวลาสั่งของจะสั่งจำนวนค่อนข้างเยอะ เราก็เป็นห่วงสินค้าของเราก็เลยอยากจะทำเพื่อแก้ปัญหาตรงนี้ เพราะเวลาที่เราให้ไรเดอร์เอาของไปส่งลูกค้า เราก็กลัวเขาเกิดอันตรายด้วย ตรงนี้ก็เลยเป็นจุดเริ่มต้นของการศึกษาว่าเราอยากจะทำกล่องใส่สินค้า ก็เลยถามไรเดอร์ทุกคนที่มาว่าเขาต้องการกล่องแบบไหน แล้วทำไมเขาถึงหาไม่ได้ มีจุดไหนที่เขามองว่าเป็นปัญหา
สิ่งที่เราเห็นก็คือ ถ้าเราสามารถทำกล่องให้เขาให้เขาสามารถซื้อได้ 1) เจ้าของแบรนด์หรือเจ้าของสินค้าก็จะมีความสุขมากเพราะว่าสินค้าไปถึงลูกค้าอย่างปลอดภัย 2) ไรเดอร์ก็จะขับรถได้อย่างปลอดภัย เพราะไม่ต้องแขวนถุง 3) เวลาที่ลูกค้าได้สินค้าของเราไป เขาก็จะแฮปปี้ เรียกว่าเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่มีคนทำ ก็เลยคิดว่าจะทำกล่องใส่สินค้าที่สามารถขายครั้งละ 1 กล่อง โดยไม่ต้องทำวอลุ่มใหญ่ เพื่อที่ไรเดอร์จะสามารถซื้อได้
SME ONE : ตอนนั้นมองเห็นโอกาสอะไร
นริศรา : อย่างแรก ไรเดอร์เขาต้องการซื้อกล่องจำนวนน้อย คือครั้งละ 1 ใบ อันนี้คือปัญหาของไรเดอร์ที่หาซื้อไม่ได้ อย่างที่สองคือ เขาต้องการสีที่เขาอยากได้ เพราะพวกนี้เป็น Branding ด้วย ซึ่งมันจะต้องสั่งผลิตเยอะ ไม่อย่างนั้นจะไม่ได้สีที่เขาอยากได้
สิ่งแรกที่ออยทำก็คือ ไปดีลกับโรงงานที่รู้จักกันก่อน เราขอเขาเอาของมาสต๊อกไว้ แล้วขายทีละใบ เพราะตอนนั้นไม่มีคนยอมทำจำนวนน้อยอยู่แล้ว จนถึงปัจจุบันนี้ก็ไม่มีคนยอมทำน้อยอยู่ดี เราก็เลยเอามาจำนวนนึงแล้วเอามาลองขายไปก่อน เราลองขายสีที่นิยมที่สุดคือ สีดำ เพราะสีดำสามารถติดโลโก้สีอะไรก็ได้ เป็นสีมาตรฐาน แล้วพอคนเริ่มบอกปากต่อปาก เราก็เริ่มรู้ปัญหาแล้วเราก็เอามาแก้ทีละจุดๆ ทำไปเรื่อยๆ สีของเราก็จะเริ่มเพิ่มขึ้น
ตอนแรกๆ แทบไม่ได้กำไรก็มีคิดจะล้มเลิกหลายรอบ แต่มันมีเสียงกลับมาว่า ขอบคุณที่เราทำขึ้นมา เขาสามารถหาเงินจากกล่องนี้ได้มากขึ้น ช่วยให้เขาประหยัดค่าน้ำมัน มันทำให้เรารู้ว่ามีประโยชน์จริงๆ ก็เลยทำต่อ เพราะเราเห็นว่าถ้าคนรู้จักเราเยอะขึ้นก็น่าจะมีประโยชน์ในวงกว้างมากขึ้น เราก็เริ่มยิงโฆษณาให้คนเห็นเราเยอะขึ้น ด้วยความที่ตอนแรกเราไม่ได้มีทีมงาน เราไม่สามารถหาเซลส์วิ่งไปหาลูกค้าได้ เราก็เลยใช้วิธียิงโฆษณาผ่านออนไลน์เอา
SME ONE : กว่าจะมาเป็นกล่อง Mister Box แบบนี้ ผ่านการลองผิดลองถูกมาขนาดไหน
นริศรา : นานค่ะ เพราะเราเริ่มต้นจากศูนย์เลย เอาตั้งแต่ช่วงที่เรากำลังพัฒนา ช่วง 3 ปีแรกเราโฟกัสที่ไรเดอร์ก่อน เพราะเขาเป็นคนใช้งานจริง เราก็จะรู้แล้วว่าปัญหาของไรเดอร์เวลาใช้งานจริงเวลาติดตั้งคืออะไร พอเราทำไปสักพัก เราก็เริ่มรู้ว่าคนที่ต้องการใช้กล่องจริงๆ คือผู้ประกอบการ ตัวเราเองก็เลยสามารถนำความรู้ที่เรารู้ทั้ง 2 ฝั่งมาประยุกต์ให้ตอบโจทย์ทั้งกับคนใช้งานจริง และคนที่เป็นเจ้าของธุรกิจ
ปัจจุบันเรามีโรงงานผลิตของเราเอง และจ้าง Supplier ผลิต เพราะบางอย่างทาง Supplier เขาเก่งกว่า และบางอย่างทางเราชำนาญกว่า เมื่อก่อนเราอาจจะทำแค่ที่ไทย แต่ปัจจุบันนี้เราเอาของเมืองนอกมาด้วย เราก็มีการทำให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน
SME ONE : คุณนริศราค้าขายและทำกล่องด้วย ถึงจุดหนึ่งที่ต้องตัดสินใจเลือกธุรกิจหลัก ในวันนั้นคิดอย่างไร
นริศรา : เป็นการตัดสินใจที่ใหญ่มาก มันมี 2 สเต็ป สเต็ปการขายจากออฟไลน์มาเป็นออนไลน์แล้วก็สเต็ปออนไลน์ที่เป็นสินค้าตัวอื่นมาเป็นกล่อง Mister Box สเต็ปแรก เมื่อก่อนออยขายของตามตลาดนัด ขายรองเท้า เราเห็นว่าทำไมแม่ค้าแย่งกันขาย แต่ทำไมคนซื้อไม่มีเลย ทุกวันที่เราไป ค่าที่แพงขึ้นเรื่อยๆ แม่ค้าแย่งกันเรื่อยๆ แต่คนน้อยลง เพราะเมื่อก่อนเขาก็จะเปิดหลายที่ คนก็กระจายกัน คนก็เลยน้อยลง เราก็เลยคิดว่าจะไปในออนไลน์ดีกว่า พอเราเอารองเท้าเข้าออนไลน์ สินค้าที่มีสต๊อกเยอะเวลาอยู่ในออนไลน์จะต้องใช้เงินเยอะมาก
พอมาขายออนไลน์เต็มตัว ก็ขายเครื่องสำอางด้วย ตอนแรกเลือกเครื่องสำอางที่เป็นตัวแทน ตอนนั้นเราทำออนไลน์ไม่เป็น ก็เลยคิดว่าเข้าไปเป็นตัวแทนจะได้รู้เคล็ดลับว่าขายอย่างไร จะได้เอามาขายรองเท้า พอเราได้ไปขายครีมจึงรู้ว่าครีม 1 กระปุกสามารถใช้ได้กับลูกค้าหลายช่วงอายุ เป็นผู้ชาย ผู้หญิงก็ได้ ดังนั้นสต็อกก็เลยน้อย แต่พอเราเอารองเท้าไปลองขายบ้าง ด้วยความที่เงินเราน้อย เราไม่มีทางรู้เลยว่าคนจะซื้อรองเท้าไซส์อะไร ชอบสีอะไร ช่วงนั้นที่ขายครีมก็เริ่มมีรายได้เพิ่ม รองเท้าก็ค่อยๆ ลดลงไปเรื่อยๆ จนเรารู้สึกว่าครีมขายได้เยอะกว่ารองเท้า เราก็เลยเปลี่ยนมาขายครีม
เราเข้าออนไลน์แรกๆ ก็เหมือนเด็กใหม่ ช่วงนั้นยังยิงโฆษณากันง่าย แต่ก็มาเจอวิกฤตคือ มีครีมที่มีปัญหาออกข่าวกัน แม้จะไม่ใช่ครีมของเรา แต่ส่งผลให้ลูกค้าตกใจแล้วก็ไม่ซื้อครีมไปเลย ในตอนนั้นเราก็เริ่มคิดแล้วว่าถ้าเป็นแบบนี้ต่อไป ก็ไม่รู้ว่าครีมตัวนี้จะกลับขึ้นมาได้อีกไหม เราไม่รู้ว่าเจ้าของแบรนด์เขาจะสู้ไหม ระหว่างนั้นที่เราเรียกรถมารับสินค้าไปส่งก็เริ่มเห็นปัญหาของกล่อง ตอนนั้นเราทำกล่องควบคู่กับขายครีมแล้ว ในจังหวะที่ครีมกำลังลดลง ถึงจุดหนึ่งก็ตัดสินใจเปลี่ยนมาทำกล่องเต็มตัว
เพราะเราเป็นตัวแทนสินค้า วันหนึ่งเราก็อยากเป็นเจ้าของ แต่ว่าออยไม่ได้อยากเป็นเจ้าของครีม แล้วการสร้างอาชีพของคนเป็นเรื่องที่สร้างแรงบันดาลใจให้ออยมากกว่า บางคนอาจจะชอบความสวยงาม แต่ออยชอบเรื่องการช่วยให้คนมีอาชีพ เราทำอันนี้เราชอบมากกว่า แม้ว่าเงินจะได้น้อยกว่าในตอนแรกๆ เพราะกว่าที่เราจะทำจนมีรายได้จริงๆ ก็เกือบ 2-3 ปี ก่อนหน้านั้นก็แค่รันธุรกิจได้ ยังไม่ได้กำไรอะไรเลย
SME ONE : ช่วงที่เปลี่ยนมาทำ Mister Box เต็มตัว เจอปัญหาอุปสรรคอะไร และแก้ปัญหาอย่างไร
นริศรา : เจอปัญหาเยอะมาก อย่างแรกคือมันเป็นเรื่องใหม่มาก เราหาความรู้จากอินเตอร์เน็ตไม่ได้เลย เพราะไม่ค่อยมีคนทำ เพราะฉะนั้นเราก็ต้องออกมาหน้างานเองหมดเลย ออกไปคุยกับลูกค้าว่าเขาอยากได้อะไร แล้วเราก็ไปดีไซน์กัน เพราะจริงๆ แล้วเราจบวิศวะมาด้วย เราดีไซน์แล้วกลับไปถามเขาว่าแบบนี้ใช้ได้ไหม
อย่างที่สองคือ โนว์ฮาวเรายังไม่มี ในมุมมองของออยคิดว่ามันเหมือนการออกกำลังกาย ช่วงแรกที่เราออกกำลังกาย ทำอะไรเราก็เหนื่อย เพราะว่าแรงเราไม่มี ประสบการณ์ท่าทางเรายังไม่เป็นก็จะล้มบ้างเจ็บบ้าง การทำธุรกิจก็เหมือนกัน เรายังไม่มีพาร์ทเนอร์ ไม่มีทีมงาน ไม่มีเงินทุน ออยก็แก้ทีละอย่าง เรื่องเงินทุนก็คือค่อยๆ เก็บ ไม่ได้ทำแบบใหญ่โตทีเดียว พอมีเงินก็ค่อยๆ ขยาย เราก็ค่อยๆ เจอพาร์ทเนอร์ที่เขาต้องการทำแบบนี้เหมือนกัน มีคนที่อยากทำเพื่อ SMEs ไทย แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนคิดเห็นเหมือนเรา
เรื่องต่อมาก็คือ การเรียนรู้ เรื่องนี้สำคัญ ตอนแรกที่เรายังไม่มีเงินทุนก็อาศัยเรียนฟรีไปก่อน พอเราเริ่มมีเงินก็เลยเริ่มลงทุนกับการเรียนมากขึ้น พอเราเรียนเยอะขึ้นก็จะเริ่มรู้จักคนเยอะขึ้น มันก็ทำให้โลกของเราเริ่มกว้างขึ้น ได้เห็นว่าอะไรจะมาช่วยให้บริการและสินค้าของเราดีมากขึ้น
SME ONE : พอธุรกิจเริ่มเดินได้ มีวิธีการพัฒนาสินค้าเพื่อเพิ่มมูลค่าเข้าไปในสินค้าอย่างไร
นริศรา : Mister Box เริ่มต้นด้วยกล่องเก็บอาหารก่อน เพราะว่าทางไรเดอร์เขาคุ้นชินแบบนั้น เขาอยากได้กล่องแบบนั้น เราก็เลยทำขึ้นมา แต่พอเราเริ่มทำไปสักพัก เรารู้ว่ามีธุรกิจที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับอาหารอีกมากมาย เราก็เลยเริ่มทำกล่องส่งสินค้าเฉพาะทางมากขึ้น เมื่อก่อนกล่องที่ไรเดอร์ติดกับมอเตอร์ไซค์ มันจะมีฉนวนเล็กๆ ถามว่ามันเก็บอุณหภูมิได้ไหมก็เก็บได้นิดหน่อย แต่จุดประสงค์ของเราคือ ต้องการทำกล่องที่กันน้ำกันฝน ปลอดภัย สินค้าจากเราไปถึงลูกค้า ลูกค้าแฮปปี้ สินค้าไม่เสียหาย ซึ่งไรเดอร์เมื่อก่อนส่งหลายอย่าง เขาไม่ได้ส่งของเราคนเดียว บางทีเขาส่งอาหารด้วย เราก็เลยทำกล่องที่จะไปส่งอาหารก็ส่งได้ หรือจะส่งของก็ส่งได้
พอ Mister Box เริ่มกระจายจากไรเดอร์ไปสู่ผู้ประกอบการ เพราะไรเดอร์เขาจะเริ่มบอกผู้ประกอบการว่าให้ซื้อร้าน Mister Box ผู้ประกอบการเขาก็เริ่มมีความต้องการที่ต่างออกไป เขาก็เลยเริ่มมาคุยกับเรา แล้วก็เรียกเราไป Visit ช่วงแรกๆ เรายังไม่ได้ไปให้คำปรึกษาเขา แต่ว่าเราไปเป็นทีมงานให้เขา เหมือนไปคุยกันว่าเราทำแบบนี้กันดีไหม พอเราทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ ก็เหมือนเป็นการบ้านให้เราไปทำเป็น Customize
โดยปกติแล้วไรเดอร์แต่ละที่จะไม่เหมือนกัน แต่ส่วนใหญ่ไรเดอร์เขาจะติดเรื่องค่าใช้จ่ายเป็นอย่างแรก สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ กล่องมันก็จะดีไม่ได้ มันก็จะดีได้แค่ระดับนึงที่ต้นทุนมันได้ แต่ถ้าบริษัทไหนเขาต้องการรักษาสินค้าของเขาจริงๆ กล่องที่เป็น Standard ก็จะใช้ไม่ได้ คราวนี้ทางบริษัทเขาก็ต้องสั่งเอง
SME ONE : ปัญหา COVID-19 ส่งผลกระทบต่อ Mister Box ในเชิงบวกหรือเชิงลบ
นริศรา : ถ้าถามในธุรกิจของ Mister Box บวกอยู่แล้ว เพราะว่าเราเริ่มธุรกิจก่อน COVID-19 ซึ่งตอนนั้นออยก็มีลูกค้าจำนวนหนึ่งอยู่แล้ว แต่ COVID-19 กลายเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาให้คนมาทำเดลิเวอรี่มากขึ้น โดยที่บริษัทก็ไม่ได้ตั้งตัว ซึ่งโอกาสก็มาพร้อมความเสี่ยง COVID-19 ทำให้เรารู้ว่าระบบหลังบ้านมีความสำคัญมาก เรื่องนี้สอนเรามาก ถ้าลูกค้าเข้ามาหาเรา แล้วเราไม่สามารถ Flow standard ได้เหมือนที่เราเคยทำ มันจะทำให้เกิดความเสียหายกับบริษัท ถึงแม้ว่าจะขายดี แต่การบริการเราไม่สามารถทำได้ตามความต้องการลูกค้า รวมถึงความรวดเร็ว ไลน์การผลิตของเราก็จะเกิดปัญหา
ถามว่ารอดมาได้ยังไงตอนนั้น ตอนนั้นถึงขั้นต้องหยุดแล้วก็คุยกับทีมงานเลยว่า เรามีปัญหาอะไรหลังบ้านบ้าง เราก็คุยกันว่าจะผลิตแค่นี้ก่อน ไม่อย่างนั้นปัญหาจะไม่หยุด แล้วก็ลองมาดูว่าอะไรที่เราพลาดไปบ้าง เราก็ไปตามเก็บในสิ่งที่เราผิดพลาดไป ออยคิดว่า COVID-19 ทำให้เราแกร่งขึ้น จากตอนแรกที่เรา Look forward อย่างเดียว SMEs ส่วนใหญ่น่าจะเป็นเหมือนกัน พอขายดีก็ขายอย่างเดียว ออกไปเจอลูกค้าอย่างเดียว แต่เราลืมดูหลังบ้านว่าการบริการของเรายังเป็นมาตรฐานเดิมหรือเปล่า
จริงๆ ปัญหามีอยู่แล้วแต่มันอยู่ใต้พรม เราไม่เคยเห็น แต่พอมีปริมาณมากๆ มันเลยเกิดปัญหา เราถึงเห็นปัญหา ทำให้ทีมงานเราตระหนักหลายอย่างเลย เพราะมันเป็นอะไรที่เราไม่เคยเห็น COVID-19 รอบแรกก็ค่อนข้างรุนแรง เพราะว่าทุกคนตกใจ แต่พอมันมีรอบที่ 2 เราก็มีการเตรียมการที่ดีขึ้นแล้ว การตกใจมันก็น้อยลงแล้ว มันก็เลยราบรื่นขึ้น
อีกด้านบวกของ COVID-19 ก็คือ มีคนมาทำเดลิเวอรี่มากขึ้น และคิดว่าผู้บริโภคคงไม่กลับไปเหมือนเดิมแล้ว เพราะมันสะดวกกว่า คนก็จะทำเดลิเวอรี่กันไปเรื่อยๆ
SME ONE : Mister Box เคยปรึกษาหรือขอความร่วมมือจากหน่วยงานรัฐบ้างหรือไม่
นริศรา : เคยเข้าอบรมกับกรมอุตสาหกรรม เกี่ยวกับการตลาดอยู่ครั้งหนึ่ง คือยื่นสมัครไปแล้วเขาคัดเลือกมา 30 ผู้ประกอบการซึ่ง Mister Box ได้รับการคัดเลือก แต่ถ้าเป็นเรื่องขอคำปรึกษา ยอมรับว่าออยไม่ค่อยมีความรู้ว่าต้องไปปรึกษาใครหรือช่องทางไหน ถ้า สสว. อยากให้ออยเป็นกระบอกเสียงประชาสัมพันธ์ ออยช่วยตรงนี้ได้ เพราะออยเชื่อว่าคนที่เป็นกลุ่มลูกค้าของออยเป็น SMEs ทั้งนั้น ก็จะเป็นประโยชน์กับพวกเขาด้วย ออยสามารถบอกข้อมูลพวกนี้ได้ เพราะอย่างน้อยทำให้ SMEs ได้ประโยชน์
SME ONE : ในเชิงการแข่งขัน กลัวสินค้าจากจีนจะมาแย่งลูกค้าหรือไม่
นริศรา : เราทราบอยู่แล้วว่ามีพวกนี้ ไม่ต้องถึงจีนก็ได้ เวลาเราทำธุรกิจอะไรก็ตามก็จะมีธุรกิจที่มาแย่งลูกค้าเราเป็นเรื่องปกติ แต่ถามว่าเรามีเทคโนโลยีอะไรไหม จริงๆ แล้ว Mister Box ก็จะมีสินค้าที่เป็นเฉพาะทางที่เพิ่งเปิดตัวไปไม่นานเป็นกล่องที่สามารถเก็บอุณหภูมิติดลบได้ แล้วก็มีการจดสิทธิบัตรการดีไซน์ แต่สุดท้ายประเด็นก็คือ ถ้ามีคนทำได้ เลียนแบบเราได้ เราก็ต้องยอมแพ้ไปมันก็ถูกต้องแล้ว คือถ้าออยไม่สามารถเดินหน้านำเขาไปได้ แล้วเขาตามมาตัดราคา แล้วทำทุกอย่างได้เหมือนเราแถมราคาถูกกว่า ทางลูกค้าออยก็สมควรจะไปเลือกสิ่งที่ดีกว่าสำหรับเขา ซึ่งก็โอเค เพราะว่าเราทำได้ไม่ดีจริง
SME ONE : ในอนาคตอยากจะต่อยอดธุรกิจอย่างไร ถ้าสถานการณ์ทุกอย่างกลับมาเป็นปกติ
นริศรา : เราเชื่อว่าสุดท้ายเดลิเวอรี่ไม่หายไป แต่อาจจะเปลี่ยนรูปแบบ เพราะว่าคุณได้ของเร็วแล้ว ให้เขากลับมาได้ของช้า เขาไม่โอเคอยู่แล้ว ตอนนี้เดลิเวอรี่อาจจะเด่นที่อาหารเป็นส่วนใหญ่ เพราะว่าคนออกไปทานอาหารไม่ค่อยได้อยู่แล้ว แต่จริงๆ แล้วยังมีธุรกิจอีกเยอะที่กำลังจะเข้าสู่เดลิเวอรี่ ด้วยความที่เรามีประสบการณ์ตรงนี้มา เราก็จะมาทำธุรกิจที่เฉพาะทางมากขึ้น
อันที่สองคือ เราจะมีธุรกิจที่เป็นกลุ่มลูกค้าเดียวกัน แต่เป็นธุรกิจคนละตัวกัน สมมติร้านอาหาร เขาอาจจะต้องมีกล่องเดลิเวอรี่ แล้วก็มีอุปกรณ์เครื่องครัว เพราะในหนึ่งธุรกิจจะมีการใช้สินค้าหลายอย่าง ตอนนี้เรามีพาร์ทเนอร์ที่เป็นกลุ่มลูกค้าเดียวกัน เพื่อให้มีสินค้าที่หลากหลายขึ้น และตอบโจทย์ลูกค้ากลุ่มเดียวกัน ข้อดีคือเราไม่ต้องลงทุนเองทั้งหมด แล้ว Mister Box จะชอบไปร่วมมือกับแบรนด์อื่นๆ เพราะจะช่วยเรื่องการลดต้นทุน ลูกค้าก็จะได้รับความสะดวกสบายเพิ่มขึ้น อีกส่วนที่เราไม่ลืมก็คือ เราต้องออกไปสัมมนา ไปหาความรู้ต่างๆ เพื่อที่เราจะได้ไปเจอ Connection ในด้านอื่นๆ เพิ่มมากขึ้น เพราะว่าตอนนี้เราทำของเราคนเดียวมันไม่ทันโลกที่วิ่งเร็วมากๆ
ตอนนี้เรามีการพัฒนาที่วางแก้ว เราดีไซน์เอง เราจดสิทธิบัตรการดีไซน์ คือเราดูปัญหาที่เกิดขึ้น เราคิดว่าคนที่ขายน้ำ ถ้าเกิดเขามีที่วางแก้วที่มั่นคง เวลาเขาส่งน้ำ 6 แก้ว อยู่ๆ ก็ส่งแค่ 3 แก้ว ที่ก็หายไปอีก 3 แก้ว พื้นที่ที่เหลือก็จะใช้ไม่ได้ เราทำที่วางแก้วที่ไรเดอร์ไม่ต้องจับแก้ว ป้องกันเกี่ยวกับเรื่องความสะอาด เพราะไม่อย่างนั้นไรเดอร์ก็ต้องจับแก้วไปให้ลูกค้า อันนี้เราก็ถือไป อย่างที่สองก็คือเรื่องถุงหิ้วที่ไม่ต้องใช้ อย่างที่สามคือถ้าคุณไม่ใช้คุณเก็บคุณพับได้ คุณก็ใส่อย่างอื่นได้
SME ONE : มองตลาดต่างประเทศไว้บ้างหรือไม่
นริศรา : จริงๆ อยากไปมาก แต่พอ COVID-19 มา เรารู้ว่าหลังบ้านเรายังไม่แน่น เราก็เลยพยายามทำหลังบ้านเราก่อน ก็เป็นความโชคดีที่ COVID-19 เข้ามาก่อน ไม่อย่างนั้นถ้าเราไปต่างประเทศ งานจะเข้าเราทันที ความจริงตอนนี้เราก็มีส่งต่างประเทศบ้างประปราย แต่ยังไม่ได้เน้น ต่อไปก็อาจจะเน้นเป็นจุดๆ เป็นประเทศไป
SME ONE : อะไรคือความท้าทายของ Mister Box นับจากนี้ไป
นริศรา : ความท้าทายก็คือสิ่งที่ถามมาตอนต้นว่าไม่กลัวถูกลอกเลียนแบบหรือ สุดท้ายแล้วเราต้องเปลี่ยนแปลงตลอด เพราะเทคโนโลยีมันไปเร็วมาก รวมถึงช่องทางการขายมันไปเร็วมาก เมื่อก่อนอาจจะมี Facebook Google Shopee Lazada ต่อไปก็ TikTok เรื่องช่องทางการขายเราต้องปรับตัว และในส่วนของลูกค้าเราก็ต้องปรับตัวเพื่อกลุ่มลูกค้าของเขาเหมือนกัน
อีกอย่างก็คือ จะหาพาร์ทเนอร์มาร่วมงานกับเราอย่างไร ที่มองเห็นเหมือนกันมาร่วมมือกัน อันนี้ก็เป็นความยากอย่างหนึ่งของ Mister Box ที่จะต้องตอบโจทย์ทุกอย่างสำหรับระบบ SMEs ของเมืองไทย อย่างเช่น บางโรงงานก็ยังไม่ปรับตัว บางทีเราอยากจะทำน้อย เขาไม่ยอม อนาคตโรงงานเขาก็จะอยู่ยาก เพราะจะโดนจีนแย่งตลาด
SME ONE : ถ้าจะให้ฝากถึงคนที่จะมาเป็นผู้ประกอบการ SMEs จะให้คำแนะนำอย่างไร
นริศรา : เบื้องต้นอาจจะต้องลองทำเลย บางทีเราได้แต่คิดแต่เราไม่ทำสักที จริงๆ ถ้าได้ลงมือทำ เราจะค่อยๆ เก่งขึ้นเองเมื่อเราเจอปัญหา แต่ต้องเริ่มต้นจากง่ายๆ ก่อน ทุกธุรกิจยากตอนเริ่มนี่แหละ พอเริ่มแล้วมันจะเดินไปเรื่อยๆ แล้วมันจะไปไกลกว่าที่เราคิด หรืออาจจะไม่เป็นอย่างที่เราคิด แต่ถ้าเราเริ่มแล้วมันไม่ใช่ เราก็จะได้รู้ว่ามันไม่ใช่ ก็ดีกว่าเราไม่เริ่ม แล้วเราก็ไม่รู้อะไรเลย
ถ้าเราทำธุรกิจ อยากจะบอกว่าทุกองค์ประกอบของการทำธุรกิจไม่ใช่แค่การขายแต่มันเป็นทุกอย่าง เลยไม่อยากให้มองข้าม ส่งสินค้าก็มีผล คุยกับลูกค้าก็มีผล เพราะว่าเราคุยกับเขาโดยตรง เวลาเราส่งของ เราส่งแค่กล่องไป ลูกค้าเห็นของก็มีผล การเขียนคอนเทนต์ก็มีผล การบริหารจัดการทุกอย่างมีผลกับธุรกิจทั้งหมด เวลาทำธุรกิจแรกๆ จะมีปัญหาว่าเราเน้นแต่เรื่องการขาย โดยลืมดูอย่างอื่นไป บางทีการขายเราอาจจะดีแล้วก็ได้ แต่ข้างหลังต่างหากที่ยังไม่ดี หรืออะไรรอบข้างที่ไม่ดีมันก็ทำให้เราขายไม่ดี ก็เลยอยากให้มองรอบๆ ด้วย
สุดท้ายอยากให้ SMEs ลองคิดในมุมที่เราเป็นลูกค้า สมมติถ้าออยเป็นไรเดอร์ออยจะทำอย่างไร จะเสิร์ชหาอย่างไร เราจะรู้เลยว่า เวลาที่เราเป็นคนซื้อกับตอนที่เราเป็นคนขายมันต่างกัน เราต้องลองเปลี่ยนบทบาทเราดูบ้าง เราจะได้เข้าใจลูกค้าเราจริงๆ เพราะมันจะมีอะไรที่ลูกค้าติดปัญหาแต่ไม่กล้าพูด เพราะว่าคนไทยเป็นคนขี้เกรงใจ ถ้าถามตรงๆ เขาไม่พูด ดังนั้นเราต้องไปหาเอง
บทสรุป
ความสำเร็จของ Mister Box มาจากการสังเกตความต้องการของไรเดอร์ ซึ่งเป็น Pain Point ใหญ่ของธุรกิจขายสินค้าออนไลน์ ในยุคที่คุณนริศรายังเป็นแม่ค้าขายเครื่องสำอาง โดยคุณนริศรามองเห็นโอกาสที่มาพร้อมกับปัญหาการส่งสินค้า และหยิบเอาปัญหามาพัฒนากล่องใส่สินค้าสำหรับไรเดอร์ที่ตอบโจทย์ความต้องการ 3 ด้าน คือ 1. มีราคาที่ไรเดอร์สามารถซื้อหาไปใช้ได้ 2. สินค้ามีคุณภาพ ติดตั้งง่าย มีหลายสี หลายขนาดให้เลือก 3. การจำหน่ายแบบค้าปลีกในปริมาณน้อย 1 ชิ้นก็ยังขาย จนทำให้ Mister Box เป็นที่ยอมรับและบอกต่อแบบปากต่อปากจากไรเดอร์ด้วยกัน
สำหรับช่องทาง SME ONE เพิ่มเติม
Facebook: SMEONE
Youtube: SMEONE
Line: @smeone
พญาเย็นแดรี่ ฟาร์มโคนมยุคใหม่ จัดระบบได้ด้วยนวัตกรรม
พญาเย็นแดรี่ คือ ธุรกิจฟาร์มโคนม และเป็นศูนย์รับซื้อน้ำนมดิบ รวมทั้งโรงงานแปรรูปนมพาสเจอร์ไรส์ ในอำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา เป็นฟาร์มโคนมต้นแบบในด้านการนำนวัตกรรมเข้ามาช่วยจัดเก็บบันทึกข้อมูลภายในฟาร์ม เพื่อใช้ในการบริหารจัดการฟาร์มทุกส่วนให้มีประสิทธิภาพ
จากจุดเริ่มต้นที่เป็นเพียงธุรกิจฟาร์มโคนมขนาดใหญ่ แต่เมื่อเกิดภาวะความมั่นคงทางการเงินของศูนย์รับซื้อน้ำนมเอกชน ทำให้เกิดปัญหาการจ่ายเงินช้า จ่ายเงินไม่ครบ พญาเย็นแดรี่จึงคิดที่จะปรับเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจจากฟาร์มโคนมมาเป็นศูนย์รับซื้อน้ำนมดิบ และได้ดำเนินการลดบทบาทและลดขนาดของฟาร์มโคนมลงเพื่อเป็นการลดต้นทุน และเวลาที่ต้องใช้ในฟาร์ม มามุ่งเน้นที่การพัฒนาและดูแลศูนย์รับซื้อน้ำนมดิบมากขึ้น
การปรับเปลี่ยนบทบาทมาเป็นศูนย์รับซื้อน้ำนมของพญาเย็นแดรี่ ช่วยแก้ปัญหาให้กับเกษตรกรในพื้นที่มีทางเลือกที่ดีขึ้น เพราะในตลาดมีที่รับซื้อเพิ่มขึ้น เกษตรกรจึงมีตัวเลือก ทั้งด้านของการเดินทางมาขายน้ำนมได้ใกล้บ้านมากขึ้น ช่วยลดต้นทุน เวลา และลดปัญหาจากการขนส่ง มีตัวเลือกในด้านราคารับซื้อที่พึงพอใจ ไปจนถึงมีตัวเลือกในด้านบริการอื่น ๆ จากศูนย์รับซื้อที่แตกต่างกัน
พญาเย็นแดรี่ ยังได้ทำการปล่อยวัวภายในฟาร์มให้เกษตรกรสามารถเช่าเลี้ยงและรีดน้ำนมกลับมาขายให้กับทางศูนย์ได้ ซึ่งเป็นการช่วยในด้านภาระต้นทุนและเป็นการสร้างรายได้ที่มั่นคงให้กับเกษตรกร ในขณะเดียวกัน พญาเย็นแดรี่เอง ก็สามารถนำเวลาที่เคยต้องใช้ในการเลี้ยงวัวมาใช้ในการพัฒนารูปแบบการให้บริการของศูนย์รับซื้อน้ำนมได้อย่างเต็มที่มากขึ้น นับเป็นวงจรที่ส่งเสริมและเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน
ในช่วงปีพ.ศ.2557-2558 ทางรัฐบาลได้มีนโยบายในการเปิดประเทศให้เป็นเขตการค้าเสรี ทำให้อุตสาหกรรมนมต้องมีการพัฒนาคุณภาพให้ได้มาตรฐานสูงขึ้น เพื่อให้สามารถเข้าไปค้าขายในตลาดได้ ทางพญาเย็นแดรี่เอง ก็มีการลงไปช่วยส่งเสริมเกษตรกรในด้านต่าง ๆ เพื่อให้เกษตรกรมีการปรับตัวในการทำฟาร์มให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น
ในระหว่างที่กำลังช่วยพัฒนาคุณภาพฟาร์มโคนมขนาดเล็กให้กับเกษตรกรอยู่นั้น คุณ อานนท์ จุมพลอานันท์ กรรมการบริษัท พญาเย็นแดรี่ จำกัด ได้เกิดคำถามขึ้นในใจว่า แล้วถ้าเป็นฟาร์มโคนมขนาดใหญ่จะทำให้นมมีคุณภาพได้หรือไม่ จะต้องมีการจัดการอย่างไร ลงทุนในส่วนไหนเพิ่มเติมบ้าง
นวัตกรรมที่ช่วยจัดการฟาร์มโคนมให้มีประสิทธิภาพ
เมื่อหาข้อมูลจากฟาร์มโคนมขนาดใหญ่ทั่วโลกและศึกษาความแตกต่างไปจนถึงข้อจำกัดของฟาร์มโคนมของตนเองแล้วนั้น พบว่าการจะนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยบริหารจัดการฟาร์มเดิมที่มีอยู่ไม่สามารถทำได้ เพราะมีพื้นที่จำกัด ไม่เพียงพอต่อการลงเครื่องจักรและระบบเทคโนโลยี จึงตัดสินใจว่าจะเปิดฟาร์มแห่งใหม่ เริ่มก่อสร้างใหม่ทั้งหมด เพื่อทดลองนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการจัดการฟาร์มเต็มรูปแบบว่าจะเป็นอย่างไร และเป็นฟาร์มต้นแบบให้เกษตรกรได้ศึกษาต่อไป
ในการทำฟาร์มใหม่ มีการตั้งเป้าหมายไว้ 2 ส่วนอย่างชัดเจน คือ 1. นมต้องได้คุณภาพ และ 2. การจัดการฟาร์มต้องได้กำไร หลังจากทดลองเก็บข้อมูลบันทึกผลอยู่ 1 ปี เห็นได้เลยว่าวัวในฟาร์มให้น้ำนมที่มีคุณภาพสูงกว่านมในตลาด มีความเสถียรของคุณภาพนมสม่ำเสมอ โดยมีการใช้โปรแกรมจัดการฟาร์ม เพื่อเก็บข้อมูลน้ำนมวัว ข้อมูลสุขภาพวัว ไปจนถึงข้อมูลการใช้ยารักษาโรคในวัว ทำให้มีข้อมูลสำหรับนำมาใช้วิเคราะห์ฟาร์มได้อย่างแม่นยำ แก้ไขได้ตรงปัญหาที่เกิดขึ้น
อีกส่วนหนึ่งคือโปรแกรมบัญชี ซึ่งเป็นกุญแจที่ทำให้ พญาเย็นแดรี่ สามารถทราบต้นทุน สามารถวางแผนการลงทุน และวิเคราะห์ปัญหาการใช้จ่ายในฟาร์มได้ชัดเจน
โดยคุณภาพของน้ำนมนั้นขึ้นอยู่กับการจัดการใน 3 ระบบด้วยกัน ได้แก่การจัดการอาหารที่วัวได้รับให้ได้รับโภชนาการที่เหมาะสม การจัดการที่พักความสะอาดให้กับวัวลดการปนเปื้อนเชื้อ และ การรีดนมวัวที่ต้องรีดให้ดี มีขั้นตอนที่ถูกวิธี จะทำให้ได้น้ำนมที่สะอาด ทั้งหมดส่งผลให้นมมีคุณภาพดี มีองค์ประกอบบของแคลเซียม ไขมัน และโปรตีนครบถ้วน จึงทำให้น้ำนมที่ผลิตได้จากฟาร์มนี้นั้นสามารถจัดให้อยู่ในระดับพรีเมียมได้
ในช่วงของการพัฒนาวางระบบของฟาร์ม ให้เป็นฟาร์มโคนมนวัตกรรม ได้มีหน่วยงานที่เข้ามาให้การสนับสนุน ตั้งแต่ กรมปศุสัตว์ได้เข้ามาช่วยสนับสนุนข้อมูล โภชนาการอาหารสัตว์ ข้อมูลน้ำเชื้อพ่อพันธุ์ เพื่อใช้ปรับปรุงพันธุ์ในฟาร์ม และเป็นกำลังหลักในการดูแลเรื่องวัคซีนโรคระบาดในวัว เพราะการเป็นฟาร์มขนาดใหญ่ การควบคุมโรคเป็นเรื่องสำคัญ
นอกจากนั้น ยังมีกรมพัฒนาพลังงาน ที่เข้ามาช่วยสนับสนุนในการวางระบบติดตั้งโซลาร์เซลล์ภายในฟาร์ม ซึ่งช่วยลดการใช้พลังงานไฟฟ้า และช่วยลดต้นทุนให้กับฟาร์มได้เป็นอย่างมาก
ในส่วนของงานวิจัย พัฒนาและควบคุมคุณภาพนม ได้มีการร่วมมือกับโครงการ ITAP (โปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย) ของสวทช. ซึ่งช่วยในด้านให้คำปรึกษา ปรับปรุง วิจัย ในเรื่องการสร้างคุณภาพมาตรฐานของฟาร์ม รวมไปถึงการขอรับรองมาตรฐานจากหน่วยงานต่าง ๆ
นอกจากการปรับปรุงคุณภาพภายในฟาร์มแล้ว ยังมีการสนับสนุนเกษตรกรด้านอื่น ๆ ในชุมชนอีกด้วย เช่น การรับซื้อข้าวโพดสำหรับนำมาเป็นอาหารจากฟาร์มในชุมชนเพื่อให้เกษตรกรมีรายได้ที่มั่นคง ซึ่งทางฟาร์มได้ซื้อข้าวโพดจากเกษตรกรเป็นจำนวนถึง 5,000ตันต่อปี เพื่อให้วัวได้รับอาหารที่มีสามารถรักษาคุณภาพได้อย่างสม่ำเสมอ
สำหรับแนวคิดในการทำธุรกิจของ คุณ อานทนท์ นั้นเชื่อว่า ทุกคนสามารถที่จะทำธุรกิจได้ ถ้ามีการศึกหาเตรียมความพร้อมในทุกเรื่องที่เกี่ยวกับธุรกิจที่จะทำ ไว้เป็นอย่างดี และมองจุดแข็งของตัวเองให้ออก หาจุดเด่นในธุรกิจของตัวเองให้ได้ ก็จะสามารถเริ่มธุรกิจได้มั่นคง
ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อได้ที่
บริษัท พญาเย็นแดรี่ จำกัด
ที่อยู่: 59 ตำบล พญาเย็น อำเภอปากช่อง นครราชสีมา 30320
โทร: 08 8541 4691
สำหรับช่องทาง SME ONE เพิ่มเติม
Facebook: SMEONE
Youtube: SMEONE
Line: @smeone
DIPROM เสริมศักยภาพเอสเอ็มอีตามกระแส BCG Model
ที่ผ่านมากรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ DIPROM ทำหน้าที่เสริมสร้างศักยภาพผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมและวิสาหกิจชุมชนให้มีความเข้มแข็ง ยิ่งเมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ภัยพิบัติ มาตรการทางการค้า ข้อกฎหมายใหม่ ๆ เทคโนโลยีที่เจริญรุดหน้าอย่างรวดเร็ว หรือโรคระบาดที่ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจในวงกว้างก็ยิ่งเป็นโอกาสที่ต้องเข้าไปช่วยเหลือผู้ประกอบการในทุกสถานการณ์เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถก้าวข้ามปัญหาต่างๆสามารถแข่งขันและยืนหยัดบนเวทีระดับภูมิภาค และระดับโลกได้
“เรามีหน้าที่หลายเรื่องเกี่ยวกับการสนับสนุนเอสเอ็มอีไทยในด้านต่างๆโดยนโยบายของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมในปี 2565 ดร.ณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ได้วางแนวนโยบายโดยเน้นให้ความช่วยเหลือภาคอุตสาหกรรมเพื่อบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์โควิดและสถานการณ์ต่างๆอย่างต่อเนื่องโดยกำหนดแนวทางในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมภายใต้นโยบาย “DIProm CARE: ดีพร้อม แคร์” คุณเจตนิพิฐ รอดภัย รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมอธิบายถึงบทบาทของ DIPROM ในการสนับสนุนเอสเอ็มอีไทย
โดย DIPROM จะออกสตาร์ทภาคธุรกิจ เปิดนโยบาย “ดีพร้อมแคร์ : DIPROM CARE” หนุนทุกปัจจัยการเติบโต คาดปี 65 สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 7,000 ลบ.
สำหรับนโยบาย “ดีพร้อมแคร์ : DIPROM CARE” เป็นแนวทางในการยกระดับและฟื้นฟูผู้ประกอบการหลังจากได้รับผลกระทบด้านเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา ด้วยการสำรวจปัญหาที่แท้จริง ศึกษาความต้องการ และรับฟังความคิดเห็นของผู้ประกอบการ เพื่อนำไปสู่การปรับเปลี่ยนการส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการให้ตอบโจทย์ความต้องการให้ในทุกมิติและสอดรับกับบริบททั้งในเชิงเศรษฐกิจและสังคมผ่านแนวทางการดำเนินงานในปีงบประมาณ 2565 ดังนี้
Customization การวิเคราะห์ปัจจัยเชิงสาเหตุที่มีผลต่อการเติบโตทางธุรกิจ พร้อมทั้งสนับสนุนการทำแผนเศรษฐกิจอุตสาหกรรมในเชิงพื้นที่และจัดหาเครื่องมือที่เหมาะสมให้กับสถานประกอบการ
Accessibility ขยายช่องทางการเข้าถึงความช่วยเหลือทั้งในส่วนของเครื่องมือ บุคลากรที่ให้คำปรึกษา รวมถึงโครงการต่าง ๆ
Reformation การปฏิรูปกลไกการดำเนินงานในภาพรวมของทุกกิจกรรม/โครงการ และการดำเดินงานให้มีรูปแบบการทำงานที่สอดคล้องกับยุคเศรษฐกิจวิถีใหม่
Engagement การบูรณาการร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายเพื่อช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการให้มีการเติบโตที่ดียิ่งขึ้น ในรูปแบบต่าง ๆ ได้แก่ การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ การเชื่อมโยงพันธมิตรเพื่อจัดกิจกรรมกระตุ้นเศรษฐกิจ ตลอดจนผสานความร่วมมือกับนานาชาติเพื่อร่วมพัฒนาภาคอุตสาหกรรมในไทยอีกด้วย
ซึ่งภายใต้นโยบายดังกล่าว DIPROM ได้วางรูปแบบและโปรแกรมสนับสนุนภาคธุรกิจ 4 ด้านประกอบด้วย
1.ด้านการสนับสนุนปัจจัยเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ซึ่งประกอบด้วย โครงการ CIV+ การยกระดับสินค้าและบริการในชุมชนท่องเที่ยวให้มีมูลค่าและเป็นที่ยอมรับในระดับประเทศรวมถึงสามารถดึงดูดการจ้างงานได้ โครงการถุงดีพร้อมช่วยธุรกิจชุบชีวิตชุมชน ซึ่งเป็นการทดสอบตลาดผ่านถุงดีพร้อมและช่วยผู้ได้รับผลกระทบในวิกฤต การส่งเสริม E-Commerce 3.0 ในการยกระดับการบริหารจัดการระบบฐานข้อมูล เพื่อนำไปสู่การวิเคราะห์
พัฒนาผู้ประกอบการให้เติบโตอย่างก้าวกระโดด รวมทั้งโครงการ Logistics-for-เกษตรอุตสาหกรรม เป็นการพัฒนาระบบควบคุมคุณภาพสินค้าเกษตรตั้งแต่ต้นทางสู่ปลายทาง อีกทั้งยังจะมีการดึงเทคโนโลยีที่จำเป็นต่อการนดำเนินธุรกิจด้วยการนำ Digital SI-for-SME โดยการเชื่อมโยงผู้ประกอบการที่มีศักยภาพด้านออโตเมชั่นมาสนับสนุนการประกอบการของเอสเอ็มอีเพื่อเป็นการสร้างธุรกิจชที่ตอบโจทย์อุตสาหกรรมแห่งอนาคตภายใต้ S curve-for-SME
2.ด้านการสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐาน จะมีการยกระดับ ITC-2-OEM ศูนย์ปฏิรูปเกษตรอุตสาหกรรมสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ OEM โดยจะเชื่อมโยงผู้รับจ้างผลิตเพื่อให้ผู้ประกอบการที่พัฒนาต้นแบบผลิตภัณฑ์ผ่านศูนย์ ITC สามารถนำไปผลิตเพื่อจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ได้จริง รวมถึงการขยายเครือข่าย IDC-2-Thai เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงสร้างสรรค์สู่เชิงพาณิชย์ทั่วประเทศ ตลอดจนศูนย์ทดสอบคุณภาพมาตรฐานและรับรองแหล่งกำเนิดในกลุ่มอุตสาหกรรมสิ่งทอ อาหาร สินค้าฮาลาล กาแฟ ผลิตภัณฑ์พืชเศรษฐกิจใหม่ 3ก (กัญชง กัญชา กระท่อม) เครื่องเรือน และเซรามิก
3.การสนับสนุนมาตรฐานและสินเชื่อ ผ่าน 2 มาตรการ ได้แก่ มาตรการส่งเสริมธุรกิจในไทย ในโครงการ MIT และ SME-GP เพื่อทำให้กลุ่มธุรกิจขนาดเล็กและขนาดย่อมมีโอกาสเข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ และโครงการ Thailand Textile Tag ซึ่งเป็นการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ผ้าที่ผลิตในประเทศไทย รวมถึงสินเชื่อดีพร้อมเปย์เพื่อให้ธุรกิจ SME มีเงินทุนหมุนเวียน และปรับปรุงคุณภาพของสินค้าและบริการ
4.การสนับสนุนศักยภาพบุคลากร ผ่านการปั้นนักธุรกิจวิถีใหม่ในโครงการNEC วิถีใหม่ โครงการ “ปลูกปั้น” คอร์สอบรมคนดีพร้อม และโครงการพัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจอุตสาหกรรม หรือ คพอ.+ : Diprom mini MBA
ทั้งนี้ ในปี 2565 จะดำเนินงานภายใต้งบประมาณการทำงาน 527.68 ล้านบาท โดยตั้งเป้าพัฒนาศักยภาพบุคลากรในภาคธุรกิจอุตสาหกรรมไม่น้อยกว่า 16,000 ราย และคาดการณ์ว่าจะสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 7,000 ล้านบาท
ปัจจุบันรัฐบาลขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย โดยปรับเปลี่ยนรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทยไปสู่รูปแบบใหม่ ที่เรียกว่า BCG Economy Model หรือ Bio-Circular-Green Economy ดังนั้นกิจกรรมที่ DIPROM จะสนับสนุนเอสเอ็มอีไทยให้เติบโตที่จะเกิดขึ้นต่อจากนี้จึงจะเกิดขึ้นภายใต้นโยบาย BCG
ดร.กิตติโชติ ศุภกำเนิด ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมมาตรฐานเทคโนโลยีการผลิตและผลิตภัณฑ์ กองพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีอุตสาหกรรม อธิบายว่า
“สำหรับการสนับสนุนนโยบาย BCG ของทางกรมในส่วนของ Bio จะมีเรื่องเกี่ยวกับการดำเนินงานโครงการในกลุ่มของ New S-curve ที่เราทำนอกเหนือจาก S-curve จะมีในกลุ่มของไบโอชีวภาพซึ่งเป็นผู้ประกอบที่ทางกรมดูแลโดยเฉพาะทางกองพัฒนานวัตกรรมจะมีสาขาของผู้ประกอบการ New S-curve ค่อนข้างมาก ยกตัวอย่างเช่นผู้ประกอบการที่อยู่ในกลุ่ม Bio ผู้ผลิตพลาสติกจากเดิมที่เขาจะทำเม็ดพลาสติกที่ใช้แล้วย่อยสลายไม่ได้เมื่อมีเทรนด์ BCG มามีการดำเนินงานปรับกิจกรรมที่เราทำอยู่เช่นการส่งเสริมผู้ประกอบการที่ทำเม็ดพลาสติกจากที่ย่อยสลายไม่ได้มาเพิ่ม Know How ให้เขาปรับเป็นเม็ดพลาสติกที่ย่อยสลายได้ โดยเราจะมีเครื่องจักร เครื่องไม้เครื่องมือต่างๆเข้ามาช่วย ซึ่งถ้าเทรนด์มาแล้วเราไม่นำเครื่องไม้เครื่องมือเข้ามาช่วยพัฒนาสินค้าให้ผู้ประกอบการ เขาก็อาจจะไม่สามารถไปต่อได้ ดังนั้นในเรื่องของการปรับตัวเราจะมีการถ่ายทอดองค์ความรู้เหล่านี้ไปให้กับผู้ประกอบการ
ส่วนของ Circular อย่างเช่นถุงพลาสติกที่เราเอาไว้ใช้ใส่ของเราก็มีการมาคุยคอนเซ็ปต์กันโดยร่วมกับสถาบันพลาสติกทดลองขึ้นรูปตัวถุงพลาสติกให้มีความหนาจากเดิมใช้อยู่ที่ 35 ไมครอนให้มีความหนามากขึ้นเพื่อให้สามารถนำกลับมาใช้ได้หลายครั้งเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในด้านการแข่งขันแก่ผู้ประกอบการซึ่งทั้ง Bio และ Circular จะอยู่ภายใต้ Green Economy ที่ทั้งกระบวนการจะต้องลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ลดการใช้ทรัพยากรให้ได้มากที่สุด ตอนนี้ผู้ประกอบให้ความสนใจเรื่อง BCG เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆเนื่องจากบริบทสังคมเปลี่ยนถ้าผู้ประกอบการไม่เปลี่ยนตอนนี้สังคมก็จะบังคับให้เขาต้องเปลี่ยนภายหลัง ผู้ประกอบการจึงต้องปรับตัวให้อยู่ในคอนเซปท์ของ BCG มากขึ้น”
นายวิจักขณ์ รัตนสุวรรณ ผู้อำนวยการกองพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวเสริมว่า เป้าหมายด้าน BCG ของทาง DIPROM จะเข้มข้นขึ้นตั้งแต่ปีนี้โดยจะเป็นองค์ประกอบในทุกกิจกรรมที่ทางกรมทำต่อจากนี้เป็นต้นไป
“เรื่องของ BCG จะเป็นองค์ประกอบย่อยที่แฝงไปในทุกกิจกรรม แต่ในปี 2566 จะมีการตั้งเป้าหมายที่ชัดเจนมากขึ้นเนื่องจากมีการจัดงบประมาณของ BCG โดยเฉพาะซึ่งตรงนั้นเป้าหมายก็จะแปรผันตามงบประมาณที่ได้มา แต่แน่นอนว่ากิจกรรมของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมนอกเหนือจากการขับเคลื่อนตามงบประมาณแล้ว เรายังใช้ศักยภาพของเครือข่ายซึ่งถือเป็น Ecosystem ซึ่งโดยรวมแล้วจะทำจริงจังได้ในปี 2565"
ผู้ประกอบการสามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้จาก Facebook Live ใน Facebook Fanpage @DIPromindustry : กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม DIProm (https://fb.watch/aMCpRUrSwn) หรือ ผ่านทางสถานีวิทยุ FM 106 MHz และ FB.Fanpage วิทยุครอบครัวข่าว ส.ทร. FM 106 MHz และ https://www.facebook.com/106familynews/videos/401289501765050
สถานการณ์โควิดลากยาวมาถึงปีที่ 3 ทว่าแต่ละช่วงเวลามีความหนักเบาแตกต่างกันไป ธปท. ในฐานะผู้ที่ดูแลเศรษฐกิจ สถาบันการเงิน และระบบการเงินของประเทศให้มีเสถียรภาพ จึงให้ความสำคัญกับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีซึ่งถือเป็นกระดูกสันหลังทางเศรษฐกิจไทย ด้วยการปรับมาตรการความช่วยเหลือเพื่อสอดรับกับสถานกาณ์ต่างๆ อย่างใกล้ชิด
คุณสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายและกำกับสถาบันการเงิน 2 ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ผู้ที่ได้รับผลกระทบส่วนใหญ่ยังคงเป็นกลุ่มเปราะบาง ประกอบด้วยกลุ่มลูกค้ารายย่อย และกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอี ซึ่ง ธปท. ได้มีการประเมินและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด นับตั้งแต่ช่วงล็อคดาวน์ครั้งแรกตอนต้นปี 2563 ที่คาดการณ์ว่า แม้สถานการณ์โรคและผลกระทบจะรุนแรง แต่จะสามารถคลี่คลายได้ในระยะสั้น มาตรการที่ออกมาในช่วงแรกจึงมีลักษณะปูพรม (broad-based) เพื่อลดผลกระทบอย่างเร่งด่วน มุ่งเน้นให้ครอบคลุมทั้งการพักชำระหนี้ระยะสั้น และการเสริมสภาพคล่อง จึงได้มีการตราพระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 เพื่อป้องกันมิให้เกิดสภาวะการขาดสภาพคล่องของภาคธุรกิจและการผิดนัดชำระหนี้ของภาคธุรกิจเป็นวงกว้าง โดยมีมาตรการเพื่อเติมเงินใหม่ให้กับภาคธุรกิจผ่านมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (สินเชื่อซอฟท์โลน) และมาตรการเพื่อแก้หนี้เดิม โดยกำหนดให้สถาบันการเงินพักหนี้ในระยะสั้นให้กับผู้ประกอบธุรกิจที่มีวงเงินสินเชื่อรวมทั้งกลุ่มธุรกิจกับสถาบันการเงินแต่ละแห่งไม่เกิน 100 ล้านบาท เป็นระยะเวลา 6 เดือน รวมถึงมีนโยบายให้สถาบันการเงินพักชำระหนี้สำหรับลูกค้ารายย่อยเป็นระยะเวลา 3-6 เดือน
อย่างไรก็ดี จากสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างรุนแรง ยืดเยื้อยาวนาน เป็นวงกว้าง และมีความไม่แน่นอนสูง ประกอบกับการฟื้นทางเศรษฐกิจมีความไม่เท่าเทียม (เป็นลักษะ K-shape) ธปท. จึงได้ปรับมาตรการการแก้หนี้เดิมให้มีความเฉพาะเจาะจง (targeted) มากขึ้น เพื่อให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ให้เหมาะสม ตรงจุด และยืดหยุ่นยิ่งขึ้น รวมถึงไม่สร้างแรงจูงใจที่ไม่เหมาะสม จนถึงในช่วงปลายปี 2564 ธปท. จึงได้ออกมาตรการแก้หนี้ระยะยาว โดยเน้นให้สถาบันการเงินและผู้ประกอบธุรกิจทางการเงินภายใต้การกำกับช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบผ่านการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ระยะยาวอย่างยืดหยุ่น สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ภายใต้สถานการณ์ที่มีความไม่แน่นอนสูง
นอกจากนี้สำหรับในเรื่องการเสริมสภาพคล่องให้กับ SMEs ธปท. ได้ออกมาตรการให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ซึ่งประกอบด้วย 2 โครงการ ได้แก่ มาตรการ “สินเชื่อฟื้นฟู” ซึ่งเป็นการปรับปรุงข้อจำกัดของมาตรการสินเชื่อซอฟท์โลนเพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจโดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอีสามารถเข้าถึงความช่วยเหลือได้ครอบคลุมยิ่งขึ้น โดยเปิดโอกาสให้ลูกค้ารายใหม่ที่ไม่มีวงเงินกับสถาบันการเงินมาก่อน ให้สามารถยื่นขอสินเชื่อเพื่อฟื้นฟูกิจการได้ และขยายระยะเวลาของเงินกู้ให้ยาวขึ้นเป็น 5 ปี กำหนดอัตราดอกเบี้ยที่สะท้อนความเสี่ยงของลูกหนี้ได้ดียิ่งขึ้น รวมถึงเพิ่มกลไกการค้ำประกันสินเชื่อผ่านบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) และ โครงการ “พักทรัพย์ พักหนี้” เพื่อเป็นอีกทางเลือกในการแก้ไขปัญหาหนี้ให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบหนัก
คุณสุวรรณี กล่าวถึงกลไกลของโครงการพักทรัพย์ พักหนี้ ว่าเป็นทางเลือกในการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบธุรกิจที่มีศักยภาพ มีทรัพย์สินเป็นหลักประกันและได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ยืดเยื้อ ซึ่งต้องใช้เวลานานกว่ากลุ่มอื่นในการฟื้นตัว โดยจุดเด่นของโครงการพักทรัพย์ พักหนี้คือ การช่วยลดภาระต้นทุนทางการเงินชั่วคราวให้กับผู้ประกอบธุรกิจ พร้อมกับเอื้อให้ยังสามารถประคองกิจการและช่วยพยุงการจ้างงานต่อไป และช่วยให้ลูกหนี้ไม่ถูกบังคับขายทรัพย์สิน หรือถูกกดราคาทรัพย์สินในภาวะวิกฤต เพื่อให้สามารถกลับมาประกอบธุรกิจได้ตามปกติในอนาคต ภายใต้โครงการนี้ ลูกหนี้สามารถตีโอนทรัพย์สินเพื่อชำระหนี้แก่ธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ภายใต้เงื่อนไขซื้อคืนในเวลา 3 - 5 ปี ในราคาที่ตกลงไว้ โดยในระหว่างนั้น ลูกหนี้สามารถเช่าทรัพย์สินกลับคืนเพื่อใช้ในการประกอบธุรกิจต่อได้ ทั้งนี้ ภาครัฐจะสนับสนุนสิทธิประโยชน์ทางภาษีและค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้อง และ ธปท. จะสนับสนุนสภาพคล่องดอกเบี้ยต่ำให้กับธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ โดยมีวงเงินภายใต้โครงการไม่เกิน 100,000 ล้านบาท
“โครงการพักทรัพย์ พักหนี้ ถูกออกแบบให้เข้ามาช่วยเหลือกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบหนัก โดยไม่ได้จำกัดประเภทธุรกิจที่สามารถเข้าร่วมโครงการ ซึ่งจากข้อมูลความคืบหน้าของโครงการในปัจจุบันพบว่าผู้เข้าร่วมโครงการส่วนใหญ่เป็นธุรกิจที่อยู่ในภาคการท่องเที่ยว ซึ่งเป็น sector ที่ได้รับผลกระทบหนักจากสถานการณ์ในครั้งนี้ นอกจากนี้ยังมีผู้ประกอบธุรกิจในกลุ่มอื่นด้วย อาทิ โรงงาน โรงพยาบาลที่เน้นให้บริการรับเฉพาะนักท่องเที่ยวต่างชาติ รวมถึงสปาและ ร้านอาหาร เป็นต้น”
สำหรับเงื่อนไขการรับโอน การเช่า และการซื้อคืนทรัพย์สินหลักประกัน ผู้ประกอบธุรกิจหรือเจ้าของทรัพย์สินหลักประกันมีสิทธิซื้อทรัพย์สินหลักประกันคืนได้ภายในระยะเวลา 3 - 5 ปี นับแต่วันที่สถาบันการเงินรับโอนทรัพย์สินหลักประกัน โดยสถาบันการเงินจะไม่นำทรัพย์สินไปขายแก่บุคคลอื่นหากผู้ประกอบธุรกิจไม่ยินยอม
ในช่วงระยะเวลาภายใต้โครงการ ผู้ประกอบธุรกิจมีสิทธิเช่าทรัพย์สินนั้นจากสถาบันการเงินเพื่อใช้ในการประกอบธุรกิจต่อไปได้ ตามอัตราค่าเช่าที่จะตกลงกัน โดยต้องแจ้งความประสงค์เช่าทรัพย์ให้สถาบันการเงินทราบภายใน 15 วันนับแต่วันที่โอนทรัพย์สิน หากผู้ประกอบธุรกิจไม่ประสงค์เช่าทรัพย์สิน สถาบันการเงินอาจนำทรัพย์สินไปให้บุคคลอื่นเช่าได้
สำหรับราคาทรัพย์สินที่สถาบันการเงินจะขายคืนให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจหรือเจ้าของทรัพย์สินหลักประกันต้องไม่สูงกว่าราคาที่รับโอนไว้รวมกับค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาอีกไม่เกิน 1% ต่อปีของราคาที่รับโอนและค่าใช้จ่ายอื่นที่สถาบันการเงินได้จ่ายไปเพื่อดูแลรักษาทรัพย์สิน หักด้วยค่าเช่าที่ผู้ประกอบธุรกิจจ่ายระหว่างสัญญาเช่า
ในส่วนของ “สินเชื่อฟื้นฟู” ถูกออกแบบมาเพื่อแก้ไขข้อจำกัดของมาตรการสินเชื่อซอฟท์โลนอันจะช่วยเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบธุรกิจเข้าถึงสินเชื่อได้ในวงกว้างและทั่วถึงมากยิ่งขึ้นโดยคุณสมบัติของผู้ประกอบธุรกิจที่สามารถเข้าโครงการนี้ต้องเป็นผู้ที่มีวงเงินสินเชื่อ ณ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 ไม่เกิน 500 ล้านบาท ซึ่งไม่ถูกจัดชั้นเป็น NPL ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 หรือเป็นผู้ที่ไม่มีวงเงินสินเชื่อกับสถาบันการเงินทุกแห่ง ณ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 และเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลที่จดทะเบียนในประเทศไทย ที่มีสถานประกอบการและประกอบธุรกิจในประเทศไทย ที่ไม่ใช่บริษัทที่มีหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เว้นแต่เป็นบริษัทที่มีหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ และไม่เป็นผู้ประกอบธุรกิจทางการเงิน
“จุดเด่นของมาตรการนี้อีกอย่างคือ กลไกการค้ำประกันผ่านบสย. ที่กำหนดอัตราการค้ำประกันไว้สูงถึง 40% ของหนี้เสียที่จะเกิดขึ้น ซึ่งเราเชื่อว่ากลไกการค้ำประกันนี้จะช่วยให้ไมโครเอสเอ็มอีที่อยู่ในภาคธุรกิจที่เสี่ยงสูง โดยเฉพาะธุรกิจท่องเที่ยวและการขนส่ง สามารถเข้าถึงสภาพคล่องเพื่อช่วยประคับประคองและฟื้นฟูธุรกิจให้ดำเนินต่อไป รวมถึงฟื้นตัวได้ในระยะถัดไป”
สำหรับความคืบหน้าของวงเงินภายใต้โครงการพักทรัพย์ พักหนี้ที่ ในเดือนเมษายน 2565 มีมูลค่าสินทรัพย์ที่รับโอนภายใต้โครงการแล้วประมาณ 43,600 ล้านบาท หรือคิดเป็น 44% ของวงเงิน โดยมีลูกหนี้ที่ได้รับความช่วยเหลือรวม 333 ราย ซึ่งผู้ที่สนใจสามารถแจ้งความประสงค์ขอเข้าร่วมโครงการกับสถาบันการเงินที่ใช้บริการอยู่ได้ภายในวันที่ 9 เมษายน 2566 แม้ว่าในปัจจุบันจะมีปัจจัยความไม่แน่นอนจากสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน เข้ามาเพิ่มเติม อย่างไรก็ดี เนื่องจากโครงการนี้ได้รับการออกแบบให้ยืดหยุ่นเพื่อรองรับความไม่แน่นอน ดังนั้น หากพิจารณาสถานการณ์ในช่วงเวลานั้นแล้วพบว่ามีเหตุอันสมควร ธปท. โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีสามารถขยายระยะเวลาดังกล่าวออกไปอีกได้ไม่เกิน 1 ปี โดยไม่ต้องออกพระราชบัญญัติฉบับใหม่
อย่างไรก็ดี หากไม่มีสถานการณ์โควิดหรือสงครามรัสเซีย-ยูเครน เข้ามา เอสเอ็มอีโดยเฉพาะขนาดเล็กก็ยังมีปัญหาหลักคือ การเข้าไม่ถึงสินเชื่อ หรือหากเข้าถึงแต่มีต้นทุนดอกเบี้ยสูงกว่าอยู่ดี ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ธปท. จึงพยายามปิดช่องว่างด้วยการนำ Digital factoring มาเป็นเครื่องมือให้เอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ ปลอดภัย และลดต้นทุนยิ่งขึ้น
คุณสุรวุฒิ พฤกษ์บำรุง ผู้อำนวยการ รักษาการผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ที่ผ่านมา ธปท. ได้พัฒนาระบบนิเวศด้านดิจิทัล เพื่อยกระดับการให้บริการ Factoring ให้เป็นรูปแบบดิจิทัลแบบ end-to-end ในลักษณะของ Open Architecture ร่วมกับภาคเอกชนและหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ ส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของ SMEs
รายเล็ก ๆ และลดความเสี่ยงที่เป็นอุปสรรคต่อการทำธุรกรรม Factoring ที่มีอยู่เดิมโดยเฉพาะในเรื่อง double financing
เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว ธปท. ได้พัฒนาระบบฐานข้อมูลกลาง Central Web Service (CWS)
ที่มีต้นทุนต่ำและปลอดภัย เพื่อทำหน้าที่บันทึกและตรวจสอบสถานะของใบแจ้งหนี้ที่นำมาใช้ขอสินเชื่อ Factoring ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงในการขอสินเชื่อซ้ำซ้อน อีกทั้งระบบดังกล่าวยังเปิดกว้างให้ผู้ให้บริการ factoring สามารถเข้ามาเชื่อมต่อ ซึ่งรวมถึงแพลตฟอร์มที่ทำหน้าที่เป็น Marketplace สำหรับสินเชื่อ Factoring ด้วย ซึ่งถือเป็นการส่งเสริมให้มีการแข่งขันของผู้ให้บริการอย่างเสรีทั้งด้านราคาและเงื่อนไขการให้สินเชื่อ นอกจากนี้ ธปท. ยังผลักดันให้ผู้ให้บริการ Factoring และแพลตฟอร์มมีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ตามความเหมาะสมในกระบวนการสำคัญ เช่น การสร้างใบแจ้งหนี้ดิจิทัลที่เป็นมาตรฐาน การรับส่งเอกสารผ่านช่องทางดิจิทัล และการใช้ Digital signature ในการรับรองความถูกต้องของเอกสาร เพื่อลดความเสี่ยงที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงข้อมูล ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำธุรกรรมต่าง ๆ ให้มีความสะดวกและรวดเร็ว และช่วยลดต้นทุนการดำเนินงานได้ในระยะยาว
คุณสุรวุฒิ กล่าวว่า นอกจากการผลักดันธุรกรรม Digital Factoring แล้ว ธปท. ยังมีแนวคิดที่จะส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของ SMEs อย่างยั่งยืนในมิติต่าง ๆ ผ่านภูมิทัศน์ทางการเงินใหม่ (Financial landscape) ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาเชิงระบบอย่างบูรณาการ ซึ่งรวมถึงการผลักดันให้สถาบันการเงินใช้ประโยชน์จากข้อมูลและพัฒนาการด้านเทคโนโลยีทางการเงินได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เพื่อลดต้นทุนและให้มีข้อมูลเพียงพอในการประเมินความเสี่ยง หรือสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ ผ่านนวัตกรรมและบริการทางการเงินได้ดียิ่งขึ้น ในขณะที่ผู้ประกอบการจะได้รับประโยชน์จากการมีแหล่งเงินทุนทางเลือกใหม่ รวมถึง อาจมีการพิจารณาให้มีผู้ให้บริการรูปแบบใหม่ ๆ เช่น Virtual bank เพื่อช่วยแก้ Pain points ที่เอสเอ็มอีรายย่อยเผชิญอยู่ เพราะ Virtual bank จะมีต้นทุนการดำเนินงานต่ำ มีเทคโนโลยีหรือข้อมูลในมิติอื่นที่สถาบันการเงินแบบดั้งเดิมอาจไม่มี ทำให้สามารถประเมินความเสี่ยงและเข้าใจพฤติกรรมของลูกหนี้ SMEs ขนาดเล็กได้ดีกว่า
ในขณะนี้ ธปท. อยู่ระหว่างการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินดิจิทัลที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ ได้แก่
(1) โครงการ PromptBizเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่พัฒนาในลักษณะ End to end ครอบคลุมการทำธุรกรรมดิจิทัลตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ทั้งข้อมูลการซื้อขายสินค้า การออกใบแจ้งหนี้ ใบสั่งซื้อ การชำระเงิน การจ่ายคืนภาษี และอาจพัฒนาถึงการให้สินเชื่อในอนาคต ซึ่งรวมถึงการเชื่อมโยงระบบ CWS ธุรกรรม digital factoring กับ PromptBizในอนาคตด้วย
(2) ส่งเสริมให้มีกลไกการค้ำประกันเครดิตในรูปแบบต่าง ๆ ที่ครอบคลุมทั้งสินเชื่อ การร่วมทุน การออกตราสารหนี้และตราสารทุน เป็นต้น
(3) โครงการ Open data ที่สนับสนุนการเชื่อม แชร์ และใช้ข้อมูลทั้งจากภายนอกและภายในภาคการเงิน เพื่อประโยชน์ในการวิเคราะห์สินเชื่อหรือการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินรูปแบบใหม่ ๆ
นอกจากนี้ การส่งเสริมให้ผู้ประกอบการทางธุรกิจตระหนักและเห็นถึงความสำคัญในการปรับตัวให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อม ก็จะเป็นอีกหนึ่งจิ๊กซอร์ที่สำคัญที่จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันและป้องกันการถูกกีดกันทางการค้าจากนานาประเทศได้ในระยะยาว
ภายใต้ภูมิทัศน์ทางการเงินใหม่นี้ ธปท. มั่นใจว่าจะช่วยแก้ไขปัญหาเชิงระบบ โดยเฉพาะในด้านการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทั้งขนาดกลางและขนาดเล็กของประเทศไทยสามารถแข่งขันและเติบโตได้อย่างยั่งยืน
จากสถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้น ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank ในฐานะสถาบันการเงินของรัฐ พร้อมเคียงข้างผู้ประกอบการเอสเอ็มอีตลอดเส้นทางธุรกิจ ออกมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อย่างใกล้ชิดตามนโยบายของรัฐบาล ผ่านมาตรการปรับเงื่อนไขการชำระหนี้ และปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถประคับประคองธุรกิจ และรักษาการจ้างงานไว้ได้ โดยปี 2564 ช่วยเหลือจำนวน 37,953 ราย วงเงิน 66,000 ล้านบาท และไตรมาสแรก ปี 2565 ช่วยเหลือไปแล้ว 8,087 ราย วงเงิน 14,550 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ประมาณ 23%
อย่างไรก็ดี ผลกระทบของสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในหลายกลุ่มธุรกิจ เมื่อสถานการณ์เริ่มคลี่คลายและมีสัญญาณการฟื้นตัวต่อเนื่อง ธนาคารพร้อมสนับสนุนธุรกิจเอสเอ็มอีให้กลับมาเดินหน้ากิจการได้อีกครั้ง ผ่านมาตรการด้าน “การเงิน” และ “การพัฒนา” เช่น การชำระหนี้ ที่ได้ปรับความยืดหยุ่นให้สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ของผู้ประกอบการ โดยนำมาตรการแก้หนี้อย่างยั่งยืนตามแนวทางของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มาใช้ ทำให้สามารถบริหารจัดการหนี้เป็นไปอย่างเหมาะสม และมีประสิทธิภาพ
ขณะที่ การเติมทุนใหม่ได้ออกผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่ครอบคลุมทุกกลุ่มธุรกิจมากขึ้น ช่วยให้ธุรกิจเอสเอ็มอีได้รับการเติมทุนได้อย่างเหมาะสม ขานรับนโยบายเปิดประเทศของรัฐบาล โดยที่ผ่านมา ธนาคารได้ออกผลิตภัณฑ์ “สินเชื่อ 3D” วงเงินรวมเป็น 19,000 ล้านบาท เกณฑ์เปิดกว้าง กู้ได้ทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล หากหลักประกันไม่พอ สามารถใช้ บสย. ค้ำประกันได้
“สินเชื่อ 3D” ครอบคลุมทุกความต้องการของทุกกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอี วงเงินกู้สูงสุดถึง 50 ล้านบาทต่อราย อัตราดอกเบี้ยเริ่มต้น 4.5% ต่อปี ผ่อนนานสูงสุด 10 ปี ประกอบด้วย “สินเชื่อ SMEs D Plus” วงเงิน 7,000 ล้านบาท รับรีไฟแนนซ์จากสถาบันการเงินเดิม และเป็นทุนหมุนเวียน ช่วยลดต้นทุนธุรกิจ “สินเชื่อ SMEs D เพื่อการลงทุน” วงเงิน 5,000 ล้านบาท สำหรับลงทุน ขยาย ปรับปรุงกิจการ รวมถึงปรับเปลี่ยนธุรกิจ และ “สินเชื่อ SMEs D เสริมสภาพคล่อง” วงเงิน 7,000 ล้านบาท เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียน เสริมสภาพคล่อง
พร้อมเสริมด้วยการสนับสนุน “งานพัฒนา” ช่วยยกระดับกิจการ เพิ่มศักยภาพให้เอสเอ็มอีเติบโตอย่างยั่งยืน ด้วยการจัดโปรแกรมพัฒนา เช่น “E-learning SME D Academy” เติมองค์ความรู้ ตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมช่วยโปรโมทสินค้าผ่านสื่อของธนาคาร เป็นต้น สามารถสมัครใช้บริการได้ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย
และจากการที่รัฐบาลได้เริ่มคลายล็อคมาตรการต่างๆ และเปิดประเทศ SME D Bank ไม่รอช้าที่จะขานรับนโยบายรัฐบาลเพื่อฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยวทันทีเพราะมองว่าจะเป็นปัจจัยสำคัญช่วยให้เศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว โดยออกโครงการ “สินเชื่อ SMEs Re-Start” วงเงินรวม 2,000 ล้านบาท สนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยว และเกี่ยวเนื่อง (Supply Chain) เช่น โรงแรม ร้านอาหาร บริษัทนำเที่ยว ร้านขายของที่ระลึก ฯลฯ รวมถึง เอสเอ็มอีทุกประเภทที่เป็นคู่ค้ากับกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยว ได้เข้าถึงแหล่งเงินทุน นำไปเสริมสภาพคล่อง ลงทุน ขยาย ปรับปรุงกิจการ หรือสำรองเป็นค่าใช้จ่าย คุณสมบัติเปิดกว้าง กู้ได้ทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล ทั้งลูกค้าเก่าและลูกค้าใหม่ อัตราดอกเบี้ยเริ่มต้น 5.5% ต่อปี วงเงินกู้สูงสุด 5 ล้านบาท ระยะเวลาผ่อนชำระนานสูงสุด 10 ปี พร้อมปลอดชำระคืนเงินต้น (Grace Period) สูงสุดไม่เกิน 24 เดือน โดยเปิดรับคำขอกู้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป จนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2566 หรือจนกว่าจะหมดวงเงินโครงการ แล้วแต่อย่างหนึ่งอย่างใดจะถึงก่อน
ขณะเดียวกัน ธนาคารได้สนับสนุนภาคการท่องเที่ยว และเกี่ยวเนื่อง ผ่านกิจกรรมด้านการ "พัฒนา" ควบคู่ด้วย โดยมีโครงการหลากหลาย ผ่านความร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตรต่าง ๆ เช่น สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย จัดโปรแกรมเติมความรู้และยกระดับเอสเอ็มอีภาคการท่องเที่ยว เตรียมพร้อมรับเทรนด์ท่องเที่ยววิถีใหม่หลังโควิด-19 คลี่คลาย ผ่านทั้งระบบออนไลน์ และลงพื้นที่จัดโฟกัสกรุ๊ปทั่วประเทศ มีผู้ประกอบการตั้งแต่ขนาดย่อม (SE) และขนาดกลาง (ME) ซึ่งธนาคารยังจะจัดต่อเนื่องในอีกหลายพื้นที่ ระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายน 2565 เช่น ยโสธร ร้อยเอ็ด สุรินทร์ นครราชสีมา เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ เป็นต้น
นอกจากนั้น ยังช่วยส่งเสริมการตลาด พาทูตการท่องเที่ยวและทูตการกีฬา ลงพื้นที่โปรโมทสินค้าหรือบริการให้เอสเอ็มอีไทยทั่วประเทศ เช่น ขนมบ้านคุณย่า จ.นครราชสีมา บริษัท แม่กลองไทยเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด จ.สมุทรสงคราม และ เฌอ บุรีโฮมสเตย์ จันทบุรี จ.จันทบุรี เป็นต้น
หากสรุปตัวเลขสินเชื่อฟื้นฟูที่ SME D Bank ให้การสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ซึ่งเป็นลูกค้าของธนาคาร เพื่อให้ได้รับการเติมทุน เสริมสภาพคล่องธุรกิจ หรือใช้เป็นค่าใช้จ่ายในกิจการ ประคับประคองธุรกิจ และรักษาการจ้างงาน นับตั้งแต่เริ่มโครงการ เมื่อเดือน เมษายน 2564 จนถึงวันที่ 13 พฤษภาคม 2565 รวมเป็นงบประมาณทั้งสิ้น25,000 ล้านบาทโดยมีลูกค้าที่ธนาคารให้ความช่วยเหลือในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนแล้ว จำนวน 5,254 ราย คิดเป็นวงเงิน 13,041 ล้านบาท
เพื่อขยายความช่วยเหลือเอสเอ็มอีให้ไกลและกว้างมากยิ่งขึ้น SME D Bankยังได้ร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน ผนึกกำลังให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เช่น ความร่วมมือกับบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) สนับสนุนธุรกิจเอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินทุน ผ่านผลิตภัณฑ์สินเชื่อของธนาคาร นำไปยกระดับธุรกิจ เพิ่มศักยภาพกิจการ สามารถใช้ บสย.ร่วมค้ำประกัน ขณะที่ ความร่วมมือกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) จะดำเนินการร่วมกัน เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย ผ่านความร่วมมือของ 2 หน่วยงาน เช่น การช่วยเหลือผู้ประกอบการให้เข้าถึงบริการด้านเงินทุน จาก SME D Bank วงเงินสูงสุด 50 ล้านบาท รวมทั้งสนับสนุนด้านการยกระดับความสามารถ เพิ่มทักษะความรู้ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง และได้วางแผนขยายตลาดผ่านช่องทางออฟไลน์และออนไลน์ รองรับความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่ ช่วยให้เอสเอ็มอีก้าวข้ามวิกฤตโควิด-19 ไปได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน
สำหรับแผนการดำเนินงานปี 2565 ธนาคารกำหนดทิศทางการดำเนินงานให้สอดคล้องกับภารกิจและเป็นไปตามแนวนโยบายภาครัฐ มุ่งเน้นการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เพิ่มขีดความสามารถธุรกิจให้เข้มแข็งและยั่งยืน ด้วยการสนับสนุนการดำเนินธุรกิจอย่างครบวงจร “เงินทุน” ผ่านผลิตภัณฑ์สินเชื่อครอบคลุมทุกกลุ่มธุรกิจ วงเงินกู้สูงสุด 50 ล้านบาท ควบคู่ “การพัฒนา” ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร ทั้งภาครัฐและเอกชน ส่งเสริมและสนับสนุนเข้าสู่ BCG Model ตามนโยบายรัฐบาล สนับสนุนเข้าถึงแหล่งทุนไม่ต่ำกว่า 53,000 ล้านบาท
ขณะที่ ด้านการพัฒนาศักยภาพSME D Bank ในฐานะธนาคารเพื่อการพัฒนา ยกระดับการให้บริการ ตอบโจทย์ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี จัดทำ “โครงการ SME D-Care” สร้าง “SME D Coach” ที่เป็นเจ้าหน้าที่ธนาคาร หน่วยงานภาครัฐและเอกชน ที่ผ่านการอบรมและเพิ่มทักษะ จนมีความเชี่ยวชาญในแต่ละด้านมาให้คำปรึกษา เช่น การตลาดออนไลน์ การสร้างมาตรฐาน การผลิต จับคู่ธุรกิจ เทคโนโลยี-นวัตกรรม บัญชี-การเงิน สนับสนุนเงินทุน และบ่มเพาะผู้ประกอบการ พร้อมกระบวนการติดตามผลหลังจากได้รับคำปรึกษา เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมผู้ประกอบการเอสเอ็มอีตลอดเส้นทางธุรกิจ ตั้งเป้าหมายพัฒนาผู้ประกอบการกว่า 20,000 ราย