บีโอไอออกมาตรการด้านเทคโนโลยี เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันให้ SMEs

บีโอไอออกมาตรการด้านเทคโนโลยี

เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันให้ SMEs

การที่ภาครัฐมีนโยบายส่งเสริมการลงทุนของบริษัทต่างชาติผ่านมาตรการด้านสิทธิประโยชน์ด้านต่างๆ ส่วนหนึ่งก็เพื่อให้เกิดการถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีจากบริษัทต่างชาติสู่ภาคเอกชนของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบการ SMEs ได้มีโอกาสพัฒนาและเพิ่มศักยภาพให้ทั้งตนเองและอุตสาหกรรมโดยรวม

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอ ในฐานะหน่วยงานที่มีภารกิจในการส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในกิจการที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศ โดยการให้สิทธิและประโยชน์ในการลงทุน การเสริมสร้างปัจจัยเกื้อหนุนต่อการลงทุน การส่งเสริมการลงทุนและการบริการลงทุนจึงให้ความสำคัญและส่งเสริมผู้ประกอบการไทยเป็นจำนวนมาก และส่วนใหญ่เป็นโครงการ SMEs  เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบเศรษฐกิจและสังคมโดยรวมของประเทศ

ที่ผ่านมา โครงการลงทุนของ SMEs ไทย ส่วนใหญ่เป็นกิจการด้านดิจิทัล อาทิ การพัฒนาซอฟต์แวร์ ดิจิทัลคอนเทนต์ และการให้บริการด้านดิจิทัล รองลงมาเป็นกิจการแปรรูปสินค้าเกษตร การผลิตอาหาร การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน อุตสาหกรรมสนับสนุน อาทิ ชิ้นส่วนยานยนต์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนเครื่องจักร และผลิตภัณฑ์โลหะ นอกจากนี้ ในช่วง 5 ปีหลัง เริ่มมี SMEs ในกลุ่มกิจการด้านเทคโนโลยีมากขึ้น อาทิ การวิจัยและพัฒนา การออกแบบทางวิศวกรรม เทคโนโลยีชีวภาพ และบริการทดสอบทางวิทยาศาสตร์เป็นต้น

สำหรับปีนี้ บีโอไอเน้นส่งเสริมให้ SMEs ยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน มีมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพในด้านต่างๆ อาทิ การใช้พลังงานทดแทน การปรับเปลี่ยนมาใช้เครื่องจักรทันสมัยหรือระบบอัตโนมัติ การยกระดับอุตสาหกรรมเกษตรไปสู่มาตรฐานสากล อาทิ GAP, FSC, ISO 22000  

อย่างไรก็ดี จากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทมากขึ้น บีโอไอได้ออกมาตรการเพิ่มเติมด้านการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพ โดยส่งเสริมให้ผู้ประกอบการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการบริหารจัดการองค์กร และการผลิต หรือการให้บริการให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น ซึ่งมาตรการนี้จะช่วยกระตุ้นให้เกิดความต้องการใช้ดิจิทัล ทำให้เกิดการพัฒนาและการขยายตัวของอุตสาหกรรมดิจิทัลในประเทศตามมา  

ทั้งนี้ โครงการที่ขอรับการส่งเสริมตามมาตรการนี้ ต้องมีเงินลงทุนในการปรับปรุงประสิทธิภาพไม่น้อยกว่า 1 ล้านบาท แต่สำหรับ SMEs จะลดเหลือเพียง 5 แสนบาท โดยต้องเสนอแผนลงทุนที่จะนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ยกระดับการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นการนำซอฟต์แวร์ ระบบ ERP หรือระบบ IT อื่นๆ เข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพขององค์กร หรือใช้ในการเชื่อมโยงข้อมูลกับระบบออนไลน์ของภาครัฐ อาทิ National E–Payment หรือการประยุกต์ใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) Machine Learning การใช้ Big Data หรือการวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analytics) โดยจะได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี ในสัดส่วนร้อยละ 50 ของเงินลงทุน   

บีโอไอยังมีการสนับสนุน SMEs ในอีก 5 ด้านที่สำคัญ ประกอบด้วย

  1. การให้สิทธิประโยชน์เพิ่มเติมสำหรับการลงทุนอื่นๆ ที่ไม่ใช่การปรับปรุงประสิทธิภาพ โดยSMEs ที่มีหุ้นไทยข้างมาก จะได้รับการผ่อนปรนเงื่อนไขเงินลงทุนขั้นต่ำเหลือเพียง 5 แสนบาท อนุญาตให้ใช้เครื่องจักรใช้แล้วในประเทศได้บางส่วนเพื่อลดต้นทุน และจะได้รับวงเงินยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็น 2 เท่าของเกณฑ์ทั่วไป เพื่อเป็นแต้มต่อให้กับ SMEs    

 

  1. มาตรการกระตุ้นให้SMEs เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (MAI) เพื่อระดมทุนไปพัฒนาศักยภาพและขยายกิจการ โดยจะได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมจากการเพิ่มวงเงินยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็น 2 เท่าของเกณฑ์ทั่วไป   
  2. มาตรการส่งเสริมให้ผู้ประกอบรายใหญ่ช่วยรายเล็ก โดยให้สิทธิประโยชน์เพิ่มเติมสำหรับกิจการที่ช่วยพัฒนาLocal Suppliers ที่ส่วนใหญ่เป็น SMEs และมาตรการส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก โดยสนับสนุนให้นำวัตถุดิบในท้องถิ่นมาแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม และพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชนอย่างยั่งยืน โดยสนับสนุนหรือร่วมดำเนินการกับสหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  
  3. เชื่อมโยงSMEs กลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนกับผู้ผลิตสินค้าสำเร็จรูปต่างชาติ ทั้งกลุ่มยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ หรือเครื่องจักร เพื่อช่วยลดการนำเข้าชิ้นส่วนจากต่างประเทศ และสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับ SMEs ไทย ได้เข้าไปอยู่ใน Supply Chain ระดับโลก รวมทั้งเกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยี โดยบีโอไอจัดกิจกรรมที่หลากหลาย เช่น งาน Subcon Thailand ซึ่งเป็นงานใหญ่ที่จัดประจำทุกปี ตลาดกลางซื้อขายชิ้นส่วน งานผู้ซื้อพบผู้ขาย แต่ละปีกิจกรรมเหล่านี้จะก่อให้เกิดมูลค่าเชื่อมโยงอุตสาหกรรมกว่า 6-7 หมื่นล้านบาท  
  4. สร้างองค์ความรู้และเครือข่ายให้SMEs ทั้งการจัดสัมมนาให้ความรู้เรื่องการลงทุนที่เป็นประโยชน์ต่อSMEs การจัดคณะศึกษาดูงานกิจการที่ประสบความสำเร็จ เปิดมุมมองใหม่ๆ ด้านการบริหารธุรกิจและเทคโนโลยีการผลิต และสร้างเครือข่ายกับนักธุรกิจท้องถิ่นตามภูมิภาคต่างๆ รวมทั้งจัดหลักสูตรฝึกอบรม SMEs ที่ต้องการออกไปลงทุนในต่างประเทศด้วย  

ทั้งหมดนี้บีโอไอหวังว่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยเสริมศักยภาพให้ SMEs ไทยเข้มแข็งและเติบโตอย่างยั่งยืน 

 

สำหรับช่องทาง SME ONE เพิ่มเติม
Facebook: SMEONE
Youtube: SMEONE
Line: @smeone

บทความแนะนำ

DITP เร่งติดปีก SMEs ไทย ให้บินไกลไปตลาดโลก  

DITP เร่งติดปีก SMEs ไทย

ให้บินไกลไปตลาดโลก

 

SMEs ในประเทศไทยถือเป็นฟันเฟืองหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศมาโดยตลอด จากรายงานสถานการณ์วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ประจำ 2564 ระบุว่ามี SMEs มากกว่า 300,000 ราย สร้างรายกว่า 90% ของธุรกิจในประเทศไทยทั้งหมด สำหรับส่วนของการส่งออกก็เช่นเดียวกัน สัดส่วนผู้ส่งออกรายใหญ่มีอยู่ 10% ในขณะที่รายย่อยมีถึง 90% ดังนั้นกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ หรือ DITP จึงเล็งเห็นช่องว่างในการสร้างผู้ประกอบการที่พร้อมส่งออกให้เพิ่มมากขึ้นเพื่อขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจไทยเติบโตมากยิ่งขึ้นในอนาคต

คุณอารดา เฟื่องทอง รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ อธิบายว่าภารกิจในการการช่วยเหลือ SMEsไทยถือเป็นนโยบายหลักที่คุณจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์มอบหมายไว้ให้กับกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ โดยมีภารกิจหลัก 4 ด้านที่เรียกว่า 3P 1S เข้ามาช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้กับ SMEsไทยมีโอกาสก้าวไกลไปค้าขายในต่างประเทศได้ ซึ่งทั้ง 4 ด้านประกอบด้วย

People พัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการด้านการค้าระหว่างประเทศ

Product สร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าและบริการ

Places การพัฒนาช่องทางการตลาดเพื่อผลักดันให้สินค้าและบริการของไทยสามารถเจาะตลาดโลกได้

Services การให้บริการทั้งข้อมูล คำปรึกษา การเชื่อมโยงธุรกิจ

สำหรับภารกิจข้อแรก People พัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการด้านการค้าระหว่างประเทศ จะเห็นได้ว่าหลังจากเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 โลกธุรกิจมีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างมาก การพบปะเจอกันแบบ Face to Face เพื่อทำ Business Matchingไม่สามารถทำได้การติดต่อสื่อสารจึงเปลี่ยนมาสู่ช่องทางออนไลน์และใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยมากขึ้นเพื่อให้ธุรกิจเดินหน้าต่อได้ DITP จึงมุ่งพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการโดยเฉพาะอย่างยิ่ง 2 กลุ่มหลักคือกลุ่ม Traditional Exporter ผู้ประกอบการรุ่นเก่าที่มากประสบการณ์มีความเชี่ยวชาญในการประกอบธุรกิจระหว่างประเทศแต่ไม่คุ้นชินกับการใช้เทคโนโลยีหรือช่องทางออนไลน์กับ New Exporter ผู้ประกอบรุ่นใหม่ที่เกิดมาพร้อมกับเทคโนโลยีมีความเชี่ยวชาญในด้านดิจิตัลแต่ขาดประสบการณ์ในการประกอบธุรกิจระหว่างประเทศ

“ผู้ประกอบการณ์ 2 กลุ่มนี้เป็น 2 กลุ่มที่กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศเน้นย้ำและพยายามมากที่จะช่วยเหลือเขาในช่วงที่ผ่านมา เราได้มอบหมายให้สถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ หรือ NEA ทำหน้าที่ช่วยเหลือ นอกจากนั้นเรายังมีโครงการที่มีชื่อว่าปั้นเจนซี ให้เป็นซีอีโอ From Gen Z to be CEO ซึ่งจะช่วยสร้างผู้ส่งออกรุ่นใหม่เพื่อที่จะเพิ่มจำนวนผู้ประกอบการผู้ส่งออกให้เข้ามาอยู่ในระบบการค้าระหว่างประเทศซึ่งที่ผ่านมาเราพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่มีความสนใจทำธุรกิจต้องการไปเป็น CEO ในอนาคตไปแล้วกว่า 20,000 คนในปี 2564และปี 2565 เราจะเดินหน้าร่วมมือทำต่อกับ 95 มหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษาทั่วประเทศไทยโดยเราตั้งเป้าหมายว่าเราจะพัฒนาผู้ประกอบการให้ได้เพิ่มอีก 20,000 รายเพื่อให้ผู้ประกอบการรุ่นใหม่เหล่านี้มีส่วนช่วยให้ระบบเศรษฐกิจของไทยเข้มแข็งมากขึ้น”

                อีกกลุ่มที่ DITP ให้ความสำคัญคือผู้ประกอบการในท้องถิ่นที่เกิดขึ้นค่อนข้างมากในช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19และคุณอารดามองว่ามีความรู้ความสามารถรวมถึงความคิดสร้างสรรค์ทำธุรกิจแบบใหม่ในพื้นถิ่นตัวเอง

“เรามองเห็นศักยภาพของคนกลุ่มนี้เราจึงมีโครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ Salesman จังหวัด Go-Inter ขึ้นมา โดยเรามีสำนักงานพาณิชย์จังหวัดอยู่ในทุกจังหวัดทั่วประเทศ เราเห็นว่าเริ่มมีการไปเริ่มต้นธุรกิจใหม่ในทุกจังหวัดจึงพยายามไปค้นหาดวงดาวเหล่านี้เพื่อพัฒนาศักยภาพของเขาและให้เขาสามารถทำการค้าไปยังต่างประเทศได้โดยที่เขาไม่จำเป็นต้องมาอยู่เมืองใหญ่ ให้เขาสามารถเข้าร่วมกิจกรรม Online Matching กับเราได้สามารถใช้ศักยภาพวัตถุดิบในพื้นถิ่นของเขาแล้วนำมาสร้างจุดเด่น สร้างอัตลักษณ์และส่งออกไปยังต่างประเทศได้ เรามีการนำเอาพาร์ทเนอร์มาช่วยเหลือในหลายด้านทั้งการนำแพลตฟอร์ม e-commerce มาใช้ เชื่อมต่อเครือข่ายที่นำเข้าในต่างประเทศมาทำ Online Business Matching รวมถึงเรายังมีการพัฒนาเจ้าหน้าที่ของเราให้มีประสิทธิภาพเพื่อเข้าไปช่วยให้คำแนะนำผู้ประกอบการได้”

ภารกิจส่วนของ Product การสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าและบริการ คุณอารดา อธิบายว่าสมัยก่อนผู้ประกอบการไทยมักจะผลิตสินค้าที่ตัวเองถนัดเมื่อได้รับความสนใจก็จะทำตามกันซึ่งการค้าในยุคปัจจุบันไม่สามารถทำแบบนี้ได้แล้ว การพัฒนาเพิ่มมูลค่าสินค้าและบริการเป็นสิ่งสำคัญและผู้ประกอบการไทยก็เริ่มทำได้ดีขึ้นผู้ประกอบการเริ่มมีความคิดสร้างสรรค์ มีการนำนวัตกรรมมาใช้ สร้างจุดเด่นให้กับสินค้าไทย

“เราพยายามจับจุดแข็งของสินค้าและบริการของไทยออกมาโชว์เพื่อสร้างความแตกต่างพื้นฐานประเทศเราเป็นประเทศเกษตรกรรม เราเป็นประเทศที่เรียกว่า Kitchen of the world สินค้าอาหารและเกษตรของเรามีภาพลักษณ์ที่ดีเราจึงมุ่งสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการเหล่านี้”

โดยเป้าหมายของ DITP คือกลุ่มสินค้าที่เป็น Future Food ประกอบไปด้วย 1. Function Food 2. Novel Food อาหารนวัตกรรม 3.Medical Food 4.Oganic Food กลุ่มสินค้าที่ตอบโจทย์เมกกะเทรนด์โลกเช่น สินค้าที่เป็นมิตรต่อผู้สูงอายุ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สินค้า BCG สินค้าที่เกี่ยวข้องกับ Work From Home สินค้าสำหรับสัตว์เลี้ยง ธุรกิจบริการด้านสุขภาพและความงามซึ่งเป็นธุรกิจที่โดดเด่นอีกหนึ่งธุรกิจในประเทศไทย และอุตสาหกรรม Digital Content ซึ่งในประเทสไทยมีคนเก่งอยู่มาก กลุ่มสุดท้ายคือโลจิสติกส์ซึ่งต้องมีการปรับให้การขนส่งเป็นในลักษณะ Multimodal คือการขนส่งที่ใช้วิธีการขนส่งที่หลากหลายไม่ว่าจะเป็นการขนส่งทางรถ ทางเรือ และ ทางอากาศให้มีความ Seamless เพื่อขนส่งสินค้าไปยังตลาดโลกอย่างปลอดภัยและเร็วที่สุดด้วยต้นทุนต่ำซึ่งประเทศไทยมีศักยภาพค่อนข้างมาก

ภารกิจในส่วนของ Places การพัฒนาช่องทางการตลาดเพื่อผลักดันให้สินค้าและบริการของไทยสามารถเจาะตลาดโลกได้ซึ่งคุณอารดามองว่าผู้ประกอบการต้องมองช่องทางที่หลากหลายและต้องมองตลาดที่มีความเฉพาะมากขึ้น

“เราต้องมอง Niche Market มากขึ้น ต้องเจาะตลาดเชิงลึกซึ่งแน่นอนว่าในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ได้รับความร่วมมืออย่างดีจากกระทรวงที่ทำหน้าที่ผลิต ยกตัวอย่างเช่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เราทำหน้าที่เป็นตลาดเขาทำหน้าที่ผลิต เราจึงมียุทธศาสตร์ร่วมกันที่เรียกว่าตลาดนำการผลิตหรือ Demand divan ซึ่งเราสามารถทำงานด้วยกันอย่างไร้รอยต่อ เช่น ตลาดเดิมที่เราพูดกันเสมอซึ่งเป็นตลาดสำคัญของประเทศไทย มีสัดส่วนการส่งออกสูงยกตัวอย่างสหรัฐอเมริกา จีน อาเซียน ยุโรป ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย กลุ่มนี้เรายังต้องรักษาไว้และยังต้องสร้างความน่าเชื่อถือเพื่อให้ลูกค้าเก่าของเราไม่หายไป นอกจากนี้เรายังมุ่งเจาะเมืองรองในตลาดเดิมนั้นๆด้วยอย่างที่จีนแต่ละมณฑลมีความต้องการสินค้าและบริการของไทยแตกต่างกันเราต้องตอบโจทย์ความต้องการนั้นให้ได้และขายในแพลตฟอร์มที่เหมาะกับแต่ละประเทศ เช่น ในอเมริกาและยุโรปเราก็ร่วมมือกันกับ Amazon ในตลาดจีนเราก็ร่วมมือกับ Alabama Tencent TMALL  ฮ่องกงก็ร่วมมือกับ TMALL Global เราต้องเจาะไปในแต่ละตลาดให้ถูกช่องทาง ในส่วนของตลาดใหม่ที่มีศักยภาพ มีการเติบโตสูง เช่น อินเดีย ตะวันออกกลาง ลาตินอเมริกา ยังต้องใช้ความร่วมมือระหว่างรัฐกับรัฐอยู่และต้องอาศัยกลยุทธ์ในการจัดคณะผู้แทนการค้าเพื่อบุกไปเจาะตลาดเหล่านี้ สุดท้ายคือตลาดที่เราเพิ่งกลับมารื้อฟื้น อย่าง ซาอุดิอาระเบียซึ่งเราเพิ่งกลับมารื้อฟื้นความสัมพันธ์ทางการทูตและกระทรวงพาณิชย์ของเราก็ไม่รอช้ารื้อฟื้นความสัมพันธ์ทางการค้าทันที”

ภารกิจสุดท้ายคือ Services การให้บริการทั้งข้อมูล คำปรึกษา การเชื่อมโยงธุรกิจ ทาง DITP มี สำหรับสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ หรือ NEA ถือเป็นอีกหนึ่งกลไกสำคัญที่จะเข้ามาเสริมประสิทธิภาพให้ผู้ประกอบเข้าสู่การประกอบธุรกิจระหว่างประเทศโดยการสรรหาองค์ความรู้ที่ได้มาจากสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ 58 แห่งทั่วโลกซึ่งมีทูตพาณิชย์ที่จะนำข้อมูลความต้องการซื้อของลูกค้า พฤติกรรมผู้บริโภคในประเทศปลายทาง มาพัฒนาเป็นหลักสูตรกว่า 70 หลักสูตรบรรจุไว้เป็น e-learning เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถเข้ามาเรียนรู้ได้ตลอดเวลา นอกจากนี้ยังพัฒนาแพลตฟอร์มการเชื่อมโยงธุรกิจระหว่างผู้ประกอบการด้วยเช่นกันเพื่อให้ผู้ประกอบการร่วมกันสร้าง Business Plan และพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ เรื่องสุดท้ายที่ NEA เข้ามามีบทบาทการสร้างกิจกรรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศเชื่อมต่อให้ผู้ประกอบการได้เจอผู้ซื้อจริง ซึ่งหากผู้ประกอบการสนใจสามารถไปดูรายละเอียดได้บนเว็บไซต์ของสถาบัน NEA คือ https://nea.ditp.go.th รวมถึง Mobile Application อย่าง DITP ONE ให้บริการสำหรับธุรกิจส่งออกครอบคลุมครบทุกมิติทั้งหมด 13 บริการในหนึ่งเดียว

คุณอารดา เสริมว่าในแง่ของความท้าทายสำคัญสำหรับผู้ประกอบการ SMEsในการออกไปทำการค้าต่างประเทศ คือ ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว

“เรื่องบางเรื่อง กฎหมายบางข้อกินเวลาเกือบ 10 ปีในการเปลี่ยนแปลงแต่โควิด-19 มาเร่งให้เรื่องเหล่านี้เกิดเร็วขึ้นแต่ก็จะเป็นในแง่ของอุปสรรคด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการที่จีนมีนโยบาย Zero COVID ซึ่งส่งผลให้สินค้าเข้าประเทศเขายากขึ้น สินค้าต้องสะอาดจริงๆ หรืออย่างในยุโรปหรืออเมริกาก็จะมีเรื่องของ Carbon Credit ก่อนหน้านี้ใช้เวลาเกือบ 10 ปีกว่าข้อตกลงปารีสจะเกิดผล แต่พอโลกร้อนขึ้น เผชิญกับวิกฤตอุณหภูมิที่แปรปรวนอย่างรุนแรงเป็นตัวเร่งให้ประเทศคู่ค้าออกกฎระเบียบใหม่จึงเป็นความท้าทายของผู้ประกอบการของเรา เพราะถ้าเขาไม่สามารถปรับเปลี่ยนวิธีคิด การผลิต วิธีการทำธุรกิจให้สอดรับสิ่งเหล่านี้เราก็จะค้าขายกับเขาไม่ได้อีกเลย ส่วนของ DITP ก็เช่นกัน เราต้องปรับตัวให้รวดเร็วและก้าวข้ามกฎระเบียบมาตรฐานที่เราทำการค้าในต่างประเทศ รวมถึงกฏระเบียบของเราเองด้วยเพื่อเท่าทันสถานการณ์โลกและสามารถช่วยเหลือผู้ประกอบการได้” คุณอารดากล่าวปิดท้าย

 

สำหรับช่องทาง SME ONE เพิ่มเติม
Facebook: SMEONE
Youtube: SMEONE
Line: @smeone

บทความแนะนำ

Normal Shop Lifestyle Shop ที่มุ่งสร้าง Zero Waste Community

Normal Shop

Lifestyle Shop ที่มุ่งสร้าง Zero Waste Community

 

                การทำธุรกิจภายใต้แนวคิด “รักษ์โลก” หรือเพื่อสิ่งแวดล้อม ได้รับความสนใจมากขึ้น และกลายมาเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลต่อความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในมุมของการสร้าง “ความแตกต่าง” (Differentiate) เพื่อสร้างความโดดเด่นภายใต้แนวคิดใหม่ๆ และยิ่งเป็นแนวคิดที่ส่งผลต่อภาพรวมของสังคม ธุรกิจนั้นๆ ก็จะยิ่งได้รับความสนใจมากยิ่งขึ้นไปอีก

Normal Shop คือตัวอย่างหนึ่งของธุรกิจที่มีจุดเด่นเรื่องสิ่งแวดล้อม โดย Normal Shop เป็นร้านค้าในรูปแบบ “ร้านไลฟ์สไตล์ช้อป” ที่ต้องการสร้างสังคมให้เป็น “Zero Waste Community” จากการลดการทิ้งขยะ ด้วยการสร้างแนวคิดการให้บริการ “รีฟิล” ในกลุ่มของใช้ในชีวิตประจำวัน อาทิ สบู่ แชมพู ครีมนวด น้ำยาทำความสะอาดเสื้อผ้า ไปจนถึงน้ำยากทำความสะอาดพื้น โดยให้ลูกค้านำขวดมาเติมผลิตภัณฑ์ที่ต้องการใช้ และคิดราคาตามน้ำหนัก ซึ่งผลิตภัณฑ์ทั้งหมดเป็นสูตรธรรมชาติที่ผลิตโดยกลุ่มวิสาหกิจชุมชนต่างๆ

ด้วยจุดเด่นดังกล่าว ยังส่งผลให้ MUJI” ซึ่งเป็น Lifestyle Brand รายใหญ่จากประเทศญี่ปุ่นที่มีสาขาหน้าร้านอยู่ในประเทศไทย เกิดความสนใจ และขอเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับ Normal Shop ในที่สุด

คุณกรวรรณ คันโธ (ต้อง) ผู้ก่อตั้ง Normal Shop: Zero Waste Community กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของแนวคิดการทำร้าน Normal Shop จากความต้องการอยากทำร้านขายของใช้ในชีวิตประจำวันในชุมชนที่มีแนวคิดการลดขยะตั้งแต่ต้นทาง เพื่อให้การลดขยะเกิดขึ้นตั้งแต่ต้นทาง และเป็นเรื่องปกติที่สามารถทำได้ทุกวัน จึงเป็นจุดเริ่มต้นของ Normal Shop ที่เกิดจากการรวมตัวกันของกลุ่มเพื่อน 3 คน ที่มีไลฟ์สไตล์ชอบใช้สินค้าที่สามารถช่วยลดขยะได้ และชื่นชอบผลิตภัณฑ์ทางเลือก เช่น ผลิตภัณฑ์โฮมเมดประเภทต่างๆ

“เป็นความชอบส่วนตัวว่าอยากมีร้านแบบนี้เป็นของตัวเอง เราเคยเห็นไอเดียของร้านค้าประเภทนี้เกิดขึ้นในต่างประเทศ แต่ในประเทศไทยยังไม่ชัดเจนและยังไม่ตอบโจทย์เรา ซึ่งเราอยากทำให้ไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตในรูปแบบ Zero Waste เกิดได้ง่ายขึ้น และมองว่า น่าจะมีคนที่มีความสนใจแบบเดียวกันกับเราเพราะเรื่องสิ่งแวดล้อมกำลังมา จึงไอเดียในการทำร้านที่ทำให้เกิดการใช้ชีวิตประจำวันในแบบ Zero Waste โดยคัดเลือกสินค้าที่เป็นผลิตภัณฑ์แนวโฮมเมดและวิสาหกิจชุมชนที่ไม่ได้มีวางจำหน่ายทั่วไป เพื่อส่งเสริมให้ตลาดของผลิตภัณฑ์ในกลุ่มนี้เป็นที่รู้จักและเปิดกว้างมากขึ้น”

เนื่องจาก คุณกรวรรณ อยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ ดังนั้นจึงเริ่มต้นคัดเลือกผลิตภัณฑ์จากวิสาหกิจชุมชนต่างๆ ที่อยู่ในจังหวัดเชียงใหม่เป็นหลัก และเชียงใหม่ได้ชื่อว่ามีแหล่งผลิตสินค้าโฮมเมดคุณภาพดีอยู่เป็นจำนวนมาก ทำให้ได้มีโอกาสพบกับผู้ผลิตโดยตรง และสามารถคัดเลือกผลิตภัณฑ์ที่มีความแตกต่างจากตลาดทั่วไปได้ด้วยตัวเอง 

จุดเด่นของ Normal Shop คือการจำหน่ายผลิตภัณฑ์สำหรับเติม (Refillable Goodies) ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดประเภทต่างๆ โดยภายในร้านจะมีมุมเติมน้ำยาที่ใช้ในชีวิตประจำวัน จัดวางเรียงกันและแยกเป็นหมวดหมู่ อาทิ สบู่ แชมพู ครีมนวด น้ำยาล้างจาน น้ำยาทำความสะอาดเสื้อผ้า ซึ่งลูกค้าที่ต้องการซื้อสินค้าจะนำขวดมาเติมน้ำยาที่ต้องการในปริมาณที่ต้องการ และทางร้านจะคิดราคาตามน้ำหนักที่ลูกค้าเติมไป โดยน้ำยาทุกสูตรเป็นสูตรธรรมชาติจากวิสาหกิจชุมชน บางสูตรเป็นการพัฒนาสูตรร่วมกันโดยลดการใช้สารเคมี และปลอดภัยสำหรับคนที่เป็นภูมิแพ้

สำหรับผลิตภัณฑ์ที่มีจำหน่ายอยู่ภายในร้าน Normal Shop จะคัดเลือกมาจากเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนจากภูมิภาคต่างๆ และจำหน่ายภายใต้แบรนด์ของวิสาหกิจชุมชนนั้นๆ เป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีส่วนผสมของน้ำหอม ซิลิโคน และสารเคมีต่างๆ ได้แก่ กลุ่ม Body Care เช่น เจลอาบน้ำ แชมพูและครีมนวดผม กลุ่ม Household เช่น น้ำยาล้างจาน น้ำยาซักผ้า น้ำยาซักชุดกีฬา น้ำยาซักชุดชั้นใน น้ำยาปรับผ้านุ่ม น้ำยาล้างห้องน้ำ น้ำยาถูพื้น เป็นต้น บางซึ่งบางผลิตภัณฑ์เป็นการพัฒนาสูตรร่วมกัน และมีวางจำหน่ายเฉพาะที่ Normal Shop เท่านั้น

“การผลิตจะผลิตเป็นล็อตไม่ต้องมีบรรจุภัณฑ์ เช่น ลิปสติกที่ส่งมาเป็นก้อนไม่ใช่แท่ง โดยเน้นหลักการการออกแบบที่มุ่งตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มเป้าหมายที่เป็นคนเมือง หรืออยู่ในกรุงเทพฯเป็นหลัก เป็นการทำงานที่ Win-Win ทั้งสองฝ่าย คือ ถ้าหน้าร้านขายดี ทางชุมชนก็จะได้ออเดอร์เพิ่มไปด้วย”

 นอกจากของใช้ประจำวัน ที่ Normal Shop ยังมีสินค้าในกลุ่มผลไม้อบแห้ง เช่น มะม่วง มะละกอ สตรอเบอร์รี่ กลุ่มเครื่องเทศและสมุนไพร เช่น เกลือชมพูป่น เกลือดำป่น ผงอบเชย ข่าฝานอบแห้ง ตะไคร้ซอยอบแห้ง ชุดต้มยำอบแห้ง กลุ่มข้าวและธัญพืช เช่น ข้าวหอมมะลิอินทรีย์ ข้าวกล้องหอมมะลิอินทรีย์ ข้าวไรซ์เบอร์รี่อินทรีย์ เมล็ดกาแฟคั่ว เป็นต้น

นอกจากการนำภาชนะมาเติมผลิตภัณฑ์ได้ที่ Normal Shop สาขาถนนนางลิ้นจี่ ลูกค้า หรือผู้ที่สนใจผลิตภัณฑ์ยังสามารถสั่งสินค้าผ่านช่องทาง LineOA @normalshoprefill  หรืออินบ็อกซ์มาที่ Facebook, Instagram Direct message โดยการจัดส่งทางร้านจะบรรจุสินค้าประเภทของเหลวใส่ภาชนะ Reused ที่ล้างสะอาดแล้ว ส่งให้ลูกค้าในส่วนของการขนส่งทางไกล และบรรจุสินค้าประเภทของแห้งในถุงกระดาษ โดยทางร้านยังมีช่องทางการสื่อสารผ่าน facebook.com/NormalshopRefill

ด้วยพื้นฐานความรู้ของการเป็นนักออกแบบ คุณกรวรรณ ได้ออกแบบ Normal Shop ให้ภาพรวมของร้านสะท้อนความเป็นโปรเฟสชันนอล ขณะเดียวกันก็สร้างความประทับใจด้วยบรรยากาศที่ทำให้เกิดความรู้สึกอบอุ่นน่ารัก เข้ามาในร้านแล้วรู้สึกสบายใจ เป็นกันเอง มองดูภายนอกอาจคิดว่าเป็นร้านกาแฟ แต่เมื่อเข้ามาแล้วก็จะเกิดการรับรู้เรื่องสิ่งแวดล้อมและเปิดใจรับข้อมูลข่าวสาร ทำให้คนที่ไม่เคยสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนมาให้ความสนใจมากขึ้น 

                อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันเรื่องของสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวกับ Zero Waste เป็นแนวทางการสื่อสารที่โดดเด่นและองค์กรขนาดใหญ่ให้ความสนใจเพิ่มมากขึ้น และเพื่อให้แนวคิดการสร้าง Zero Waste Community เป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น จึงมีแผนจะปรับ Business Model ไปสู่รูปแบบการเป็น “สตาร์ทอัพ” โดยจะลดบทบาทการขายปลีกที่หน้าร้านให้น้อยลง โดยเน้นการขายสินค้าเป็นล็อตใหญ่ เช่น การส่งสินค้าเข้าไปจำหน่ายใน MUJI และเพิ่ม Product Line ให้มีความหลากหลายมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์วางจำหน่ายอยู่ใน MUJI เป็นจำนวน 16 รายการ

“ตลอดระยะเวลาที่เราทำตลาดภายใต้แนวคิด Zero Waste มานานกว่า 4 ปี จนถึงวันนี้ผู้คนเริ่มรับรู้กับแนวคิดนี้กันมากขึ้น แต่ที่ผ่านมา เราการเน้นขายปลีกหน้าร้านมากเกินไป ทำให้การช่วยเหลือชุมชนทำได้ไม่เต็มที่นัก เราจึงอยากปรับรูปแบบการดำเนินธุรกิจให้มีความชัดเจนมากขึ้น เพื่อเป็นการต่อยอดแนวคิดเริ่มแรกของการก่อตั้ง Normal Shop ขึ้นมา จากที่เคยมีแนวคิดของการเป็นร้านม็อกอัพเพื่อให้กลุ่มเป้าหมายมองเห็นถึงแนวคิดในความเป็น Zero Waste ดังกล่าว และหลังการปรับโมเดลจะมีการพูดคุยกับคู่ค้ามากขึ้นเพื่อการนำเสนอคอนเทนท์ให้สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้มากขึ้น และเพื่อให้สอดรับกับแนวทางการทำตลาดในช่องทางอีคอมเมิร์ชมากขึ้นอีกด้วย”

ภายใต้ Business Model ใหม่ จะมีแผนงานใหม่ๆ เกิดขึ้นหลายอย่าง คือ 1) การพัฒนาแพลตฟอร์มในรูปแบบ Marketplace เพื่อเป็นช่องทางการพบปะกันระหว่างผู้ขายและผู้ซื้อ เช่น LINE OA ซึ่งเป็นช่องทางที่มีกลุ่มลูกค้าและสมาชิกของร้านจำนวนมาก ซึ่งเป็นกลุ่มสายแข็งในเรื่องของสิ่งแวดล้อมอยู่แล้ว 2) การให้บริการในฐานะที่ปรึกษาทางธุรกิจ (Business Consult) สำหรับองค์กรที่สนใจแนว Zero Waste เพื่อทำให้องค์กรนั้นๆ สามารถวางแผนงานได้ง่ายยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันยังสามารถสร้างการเติบโตให้กับ Normal Shop ได้ดียิ่งขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีบริการวางระบบหน้าร้านให้กับร้านเล็กๆ ที่ต้องการจำหน่ายผลิตภัณฑ์สำหรับเติม (Refillable Goodies) ซึ่งปัจจุบัน Normal Shop ยังมีลูกค้าที่เป็นร้านค้าในลักษณะคอนเซ็ปต์เดียวกันกับ MUJI อีกหลายแห่ง คือ ที่จังหวัดนครปฐม เชียงใหม่ ภูเก็ต และชลบุรี โดยภายในร้านจะมีมุมที่เป็นผลิตภัณฑ์สำหรับเติมโดยเฉพาะ รวมถึงการเดินหน้าสร้าง Zero Waste Community ผ่านการทำ Content เพื่อการสื่อสารในวงกว้าง และในอนาคตจะพัฒนาไปสู่การรับทำแคมเปญการสื่อสารสำหรับธุรกิจที่มีแนวคิดเรื่อง Zero Waste เหมือนกัน

คุณกรวรรณ ย้ำว่า การปรับตัวครั้งนี้ จะส่งผลต่อรูปแบบการสร้างรายได้ที่เปลี่ยนไป จากเดิมเป็นการสร้างรายได้จากการเป็นร้านค้าปลีกแบบการซื้อมาขายไป ไปสู่การสร้างรายได้จากการขายสินค้าเป็นล็อตใหญ่ และรายได้ที่มาจากการเป็นที่ปรึกษาทางธุรกิจ รวมถึงการพัฒนาโปรเจ็กต์เพื่อขอทุนสนับสนุนในรูปแบบสตาร์ทอัพ

            “ปัจจุบัน ประเทศไทยยังไม่มีองค์กรที่ทำเกี่ยวกับเรื่องรีฟิลอย่างชัดเจน จึงเป็นแนวทางที่น่าสนใจเพราะเรามีข้อมูลอยู่ในมือแล้ว ดังนั้นเป้าหมายต่อไปหลังการปรับเปลี่ยนโมเดลธุรกิจไปเป็นสตาร์ทอัพ เราก็จะมีการสร้างเครือข่ายภายใต้แนวคิด Zero Waste Community ให้มั่นคงยิ่งขึ้น ในส่วนของพฤติกรรมผู้บริโภคก็มีการยอมรับกับแนวคิดนี้กันมากขึ้น วันนี้เราจึงต้องมีการปรับแนวทางธุรกิจเพื่อให้สอดคล้องกับการวิถีการดำเนินชีวิตประจำวันของผู้คนยุคใหม่ให้มากขึ้นด้วย ทำให้รู้สึกว่าเรื่องของ Zero Waste ทำได้ไม่ยากอย่างที่คิด” คุณกรวรรณ กล่าว 

 

               

บทความแนะนำ

ก.ล.ต.เปิดประตูสู่ตลาดทุน เพิ่มโอกาสแก่ SMEs และ Start up  

ก.ล.ต.เปิดประตูสู่ตลาดทุน

เพิ่มโอกาสแก่ SMEs และ Start up

 

การเข้าถึงแหล่งเงินทุนถือเป็นปัญหาสำคัญของผู้ประกอบการ SMEs และ Start up มาโดยตลอด สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) มองเห็นปัญหาตรงนี้จึงวางนโยบายส่งเสริมและสนับสนุนให้ SMEs และ Start up ไทยสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในตลาดทุนได้เพื่อขยายการเติบโตและสร้างสภาพคล่องให้กับธุรกิจ

“อุปสรรคที่ SMEs และ Start up ของเราเจอคือการไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในตลาดทุนได้ เราจึงมีการตั้งคณะการทำงานขึ้นมาเพื่อวิเคราะห์กันว่าอุปสรรคที่ทำให้ SMEs และ Start up ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในตลาดทุนได้คืออะไรและมากำหนดเป็นแผนในการทำงานซึ่งเราเจอว่าหลักๆมี 2 เรื่อง หนึ่งคือเรื่องเกี่ยวกับความรู้ความเข้าใจว่าตลาดทุนคืออะไร การระดมทุนทำอย่างไร กับเรื่องที่สองคือเครื่องมือในตลาดทุนไม่รองรับกับการระดมทุนของ SMEs และ Start up มีข้อจำกัดอยู่มากพอสมควร ก.ล.ต.จึงต้องเข้ามาให้ความรู้ ประชาสัมพันธ์ในเรื่องการระดมทุนของ SMEs และ Start up ในตลาดทุนให้มากขึ้นเพื่อให้ SMEs และ Start up ทราบว่ามีเครื่องมือในการระดมทุนนอกเหนือจากการกู้ยืมสถาบันทางการเงิน

นอกจากนี้ยังพยายามปลดล็อกอุปสรรคในเรื่องของกฏเกณฑ์ ไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตามที่เป็นอุปสรรคที่ทำให้ SMEs และ Start up เข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุนในตลาดทุนได้” คุณไพบูลย์ ดำรงวารี ผู้อำนวยการฝ่ายจดทะเบียนหลักทรัพย์ 2 สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต.อธิบายถึงอุปสรรคในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในตลาดทุนของ SMEs และ Start up

โดยตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมาก.ล.ต.สร้างช่องทางระดมทุนให้กับ SMEs และ Start up ขึ้นมา 3 ช่องทางเพื่อช่วยเหลือ SMEs และ Start up ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายมากขึ้น ได้แก่

การระดมทุนจากผู้ลงทุนในวงจำกัด หรือ Private Placement (PP)

การระดมทุนจากประชาชนผ่าน Crowdfunding (CF) ผ่าน Funding portal ที่ได้รับอนุญาตจาก ก.ล.ต. 

การระดมทุนจากผู้ลงทุนในวงกว้าง โดยมีตลาดรองเพื่อรองรับการซื้อขายหุ้น SMEs โดยเฉพาะ มีการร่วมมือกับตลาดหลักทรัพย์ออกตลาดหลักทรัพย์ใหม่ที่ชื่อว่า LiVE Exchange

“แผนตั้งแต่ปีพ.ศ. 2562 จนถึงปัจจุบันจะเป็นการที่เราออกเครื่องมือต่างๆในเรื่องการระดมทุนให้เหมาะกับ SMEs และ Start up รวมถึงประชาสัมพันธ์เรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง หลังจากที่เราพยายามปลอดล็อกในหลายช่องทางแล้วแผนในปีนี้หลังจากที่ออกตัว LiVE Exchange แล้วเราจะมีการเดินสายให้ความรู้และข้อมูลแก่สมาชิกและผู้เกี่ยวข้องว่ามีการระดมทุนอะไรบ้างแล้วผู้ประกอบการต้องเตรียมตัวอย่างไร มีคำแนะนำหรือสามารถดำเนินการอย่างไรเพื่อให้การจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เป็นไปอย่างราบรื่น”

สำหรับเงื่อนไขการระดมทุนของแต่ละช่องทาง คือ  

ในช่องทาง PP ผู้ระดมทุนจะต้องเป็นบริษัทจำกัดที่ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการส่งเสริมการระดมทุนผ่านตลาดทุนกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ผู้ลงทุนเป็นได้ทั้งนักลงทุนสถาบัน ธุรกิจร่วมลงทุน หรือ VC นักลงทุนอิสระ หรือ Angel Investor รวมถึงกรรมการและพนักงานของบริษัทและนักลงทุนรายย่อย ไม่เกิน 10 ราย และมูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาท ซึ่งกิจการที่ต้องการทำตรงนี้สามารถยื่น Fact Sheet หรือข้อมูลสรุปเกี่ยวกับตัวกิจการให้ผู้ลงทุนเพื่อประกอบการตัดสินใจลงทุน ซึ่งปัจจุบันมีผู้ประกอบการมาใช้ช่องทางนี้ 16 บริษัท ระดมทุนได้ 270 ล้านบาท

การระดมทุนผ่านระบบ Crowdfunding เปิดให้ทั้งบริษัทจำกัด และบริษัทมหาชนจำกัด สามารถระดมทุนจากประชาชนได้ผ่าน Funding portal ที่ได้รับอนุญาตจากสำนักงาน ก.ล.ต. ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 7 แห่ง ในรูปของหุ้น หรือหุ้นกู้ให้แก่ผู้ลงทุนเป็นสิ่งตอบแทน ซึ่งภายหลังการระดมทุนสำเร็จ ผู้เสนอขายจะต้องรายงานการใช้เงินลงทุนและความคืบหน้าของโครงการธุรกิจอย่างต่อเนื่อง โดยข้อมูลล่าสุดสิ้นเดือนเมษายน 2565 มีผู้ระดมมทุนได้สำเร็จประมาณ 170 ดีล ระดมทุนได้ประมาณ 2,300 ล้านบาท

การระดมทุนจากผู้ลงทุนในวงกว้าง หรือ SME PO ที่จดทะเบียนใน LiVE Exchange จะต้องเป็น SMEs และ Start up ที่เป็นบริษัทมหาชนจำกัดมีผลการดำเนินงานมาเป็นระยะเวลาหนึ่ง หรือมีมูลค่ากิจการระดับหนึ่งแล้ว เช่น เอสเอ็มอีขนาดกลางตามคำนิยามของสสว. ส่วนผู้ลงทุนจะต้องมีความรู้และประสบการณ์ระดับหนึ่งและสามารถรองรับความเสี่ยงได้

เมื่อระดมทุนสำเร็จแล้ว สามารถนำหุ้นเข้าจดทะเบียนซื้อขายในตลาดรอง หรือ LiVE Exchange ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจ และเป็นก้าวสำคัญในการต่อยอดเข้าสู่การเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ หรือ mai ในอนาคตซึ่งปีนี้ก.ล.ต.จะเน้นที่ช่องทางนี้เป็นหลัก ซึ่ง SMEs และ Start up สามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลการระดมทุนในตลาดทุนได้ผ่านเว็บไซต์ https://starttogrow.sec.or.th/

นอกจากนี้ คุณไพบูลย์ ยังให้คำแนะนำว่าปัจจุบันนักลงทุนให้ความสนใจกับกิจการที่นำแนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาขององค์กรอย่างยั่งยืนหรือ ESG ย่อมาจาก Environment, Social, และ Governance มาใช้ ดังนั้นผู้ประกอบการเองอาจจะต้องหันมาให้ความสนใจกับเรื่องเหล่านี้ด้วยเช่นกัน

“ตอนนี้การลงทุนในเรื่องของ ESG เป็นเรื่องที่นักลงทุนสนใจ ก.ล.ต.เองก็สนับสนุนบริษัทที่ทำเรื่องเหล่านี้พอสมควร จึงมองว่าอันนี้อาจจะเป็นโจทย์ที่ SMEs และ Start up ส่วนใหญ่ต้องมองเรื่องของ ESG มากขึ้น ต้องดูว่ากิจการของเราเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สังคม อย่างไร อันนี้เป็นโจทย์ที่ SMEs และ Start up จะต้องคำนึงถึงและเตรียมพร้อมเพราะเรื่องนี้ในอนาคตจะเป็นกระแสที่อยู่ตลอดไป

ส่วนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนไม่ว่าจะเป็นการจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ตลาดทุนหรือธนาคารการเตรียมตัวของ SMEs และ Start up ที่สำคัญคือการเตรียมตัวในเรื่องของการจัดทำระบบบัญชีและระบบควบคุมภายในคือการบริหารจัดการในบริษัท เช่นการจัดซื้อจัดจ้างมีเอกสารอะไรมาประกอบบ้าง ใครอนุมัติ การกำหนดราคาเป็นอย่างไร เป็นต้น ต้องโฟกัสที่สองเรื่องนี้ให้มากเพราะจะทำให้งบการเงินหรือตัวเลขบัญชีมีความน่าเชื่อถือ ทำให้นักลงทุนเชื่อมั่นและการระดมทุนจะทำได้เร็วและง่ายขึ้น”

สำหรับความท้าทายของ SMEs และ Start up ในปัจจุบัน คุณไพบูลย์ มองว่าเมื่อเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ขึ้นเรื่องของดิจิตัลและเทคโนโลยีเข้ามาเป็นสิ่งจำเป็นดังนั้น SMEs และ Start up ต้องปรับตัวเข้าหาเทคโนโลยีให้ทันด้วยเช่นกัน

 

สำหรับช่องทาง SME ONE เพิ่มเติม
Facebook: SMEONE
Youtube: SMEONE
Line: @smeone

บทความแนะนำ

EXIM BANK เร่งภารกิจติดปีก SMEs พร้อมรุกตลาดส่งออกเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย

EXIM BANK เร่งภารกิจติดปีก SMEs

พร้อมรุกตลาดส่งออกเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย

 

สถานการณ์การส่งออกของไทยในขณะนี้เปรียบไปแล้วก็เหมือนสภาพอากาศที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ปัจจุบันสภาพอากาศทั่วไปท้องฟ้ายังสดใส เช่นเดียวกันกับภาพรวมมูลค่าส่งออกของไทยที่ประกาศออกมาล่าสุดเมื่อเดือนมีนาคม 2565 มีมูลค่าการส่งออกสูงสุดเป็นประวัติการณ์อยู่ที่ 28,860 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 19.5% ส่งผลให้มูลค่าส่งออกในไตรมาส 1 ของปี 2565 แตะระดับ 73,601 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 14.9%

ในระยะถัดไป สถานการณ์การส่งออกเริ่มมีปัจจัยเสี่ยงมากขึ้น เปรียบได้กับสภาพอากาศที่เริ่มมีเมฆฝน

ปกคลุม จากสภาพเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ผลกระทบสงครามรัสเซีย-ยูเครน เร่งให้เกิดความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อในหลายประเทศ ผนวกกับเศรษฐกิจจีนชะลอตัวจากนโยบาย Zero-COVID ที่ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจของจีนหยุดชะงัก ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยไปตลาดจีน ซึ่งจีนเป็นตลาดส่งออกเป็นอันดับ 2 ของไทย รวมถึงปัญหา Supply Chain Disruption จากการขาดแคลนชิปและตู้คอนเทนเนอร์ยังมีอยู่

แม้การส่งออกในช่วงที่เหลือของปีจะมีปัจจัยเสี่ยงอยู่บ้าง แต่ถ้าผู้ส่งออกไทยมีการเตรียมตัวที่ดี มีแผนมีเครื่องมือที่ดี ก็ยังมีหลายโอกาสที่ซ่อนอยู่ จะทำให้ฟ้าหลังฝนสดใสมากขึ้น และช่วยสร้างโอกาสให้กับ SMEs ไทยได้อีกมาก

ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) กล่าวว่า ในส่วนของ EXIM BANK เป็นหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญเสมือนเป็นลมใต้ปีกที่คอยผลักดัน SMEs ไทยให้โผบินสู่ตลาดส่งออกได้อย่างเต็มที่ โดย EXIM BANK ได้ตระเตรียมความพร้อมในการเป็นกัปตันนำกองเรือเล็กหรือ SMEs ไทยลุยตลาดส่งออก โดยให้บริการตอบโจทย์ความต้องการตลอดวงจรการค้าในมิติต่าง ๆ คือ

ตกแต่งเรือ เตรียมความพร้อมก่อนออกลุยน่านน้ำ ด้วย Grooming Program ผ่านการ Training บ่มเพาะความรู้/ทักษะการส่งออก เจาะลึกข้อมูลตลาดส่งออก เช่น กฎระเบียบการค้า สิทธิประโยชน์ รวมถึงข้อมูลคู่ค้า พฤติกรรมผู้บริโภค ในแต่ละประเทศ และการจัดทำ SME Export Studio เสมือนเป็นห้องแต่งตัวปั้นสินค้าไทยให้พร้อมส่งออกอย่างครบวงจร โดยพร้อมเป็นที่ปรึกษาและช่วยสนับสนุน/พัฒนาสินค้าไทยในด้านต่างๆ

ติดหางเสือ ให้เรือแล่นถูกทิศ ผ่าน Market & Network Seeking Program โดยใช้ช่องทางหรือหน่วยงานพันธมิตรต่าง ๆ ในการช่วยชี้ตลาดหรือเชื่อมโยงเครือข่ายคู่ค้าในต่างประเทศ เช่น EXIM Thailand Pavilion ร้านค้าออนไลน์ของ EXIM BANK บน Alibaba ที่ให้ SMEs วางขายสินค้าฟรี 1 ปี พร้อมทีมงานให้บริการครบวงจร เพื่อเป็น Shortcut ให้ SMEs เข้าถึงผู้ซื้อทั่วโลกได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว สำนักงานผู้แทนของ EXIM BANK ใน CLMV ช่วยวิเคราะห์และจับคู่คู่ค้าที่มีศักยภาพอย่างถูกฝาถูกตัว เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยเข้าถึงคู่ค้ารายสำคัญ พร้อมกับสามารถหาพันธมิตรธุรกิจท้องถิ่นเพื่อช่วยเข้าถึงตลาดได้มากขึ้น

Team Thailand จะช่วยเข้าถึงตลาดและข้อมูลเชิงลึกต่าง ๆ โดยเฉพาะในประเทศที่ EXIM BANK ยังไม่มีสำนักงานผู้แทน ตลอดจนใช้เครือข่ายที่เข้มแข็งของ Team Thailand พาผู้ประกอบการไทยไปเจาะตลาดผ่านหลายกิจกรรม เช่น Business Matching การไปเยี่ยมชมโรงงานเพื่อสร้างโอกาสในการเชื่อมต่อ Supply Chain การประชุมร่วมกับผู้ซื้อรายใหญ่ของแต่ละประเทศ” ดร.รักษ์ กล่าว

เสริมเครื่องยนต์สุดแรง ไปได้ไกล ไม่สะดุด ด้วย Exclusive Financial Program มี Product Program รองรับทุกวิกฤตและโอกาส สินเชื่อเอ็กซิมเพื่อซัพพลายเออร์ส่งออก วงเงินสูงสุด 5 ล้านบาทต่อราย ดอกเบี้ย Prime Rate (เท่ากับ 5.75% ต่อปี ณ ปัจจุบัน) ตลอดอายุโครงการ 5 ปี สินเชื่อ EXIM Logistics วงเงินสูงสุด 20 ล้านบาทต่อราย ดอกเบี้ยต่ำสุด 5.0% ต่อปีในปีแรก สินเชื่อเอ็กซิม ลุยตลาด RCEP วงเงินสูงสุด 50 ล้านบาทต่อราย ดอกเบี้ยต่ำสุด 2.75% ในปีแรก และสินเชื่อสำหรับผู้ส่งออกหน้าใหม่อย่าง สินเชื่อเพื่อผู้ส่งออกป้ายแดง ที่ผู้ส่งออกหน้าใหม่เข้าถึงเงินทุนได้ง่ายขึ้น วงเงินสูงสุด 5 ล้านบาทต่อราย ดอกเบี้ยต่ำสุด 5% ใน 2 ปีแรก โดยใช้เพียงบุคคลค้ำประกันหรือหนังสือค้ำประกันจากบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.)

นอกจากนี้ ยังมี EXIM Biz Transformation Loan วงเงินสูงสุด 100 ล้านบาท ดอกเบี้ยต่ำสุด 2% ต่อปี ในปีแรก สำหรับอัพเกรดธุรกิจ ด้วยการซื้อเทคโนโลยี เครื่องจักร ซอฟต์แวร์ใหม่ๆ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า

เรือยางพร้อมชูชีพ อุ่นใจ ไร้กังวล ด้วย Risk Protection Program อาทิ บริการประกันการส่งออกและบริการวิเคราะห์ข้อมูลผู้ซื้อ/ธนาคารผู้ซื้อ FX Forward ป้องกันความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน

EXIM BANK ยังมีบริการด้านการลงทุน อาทิ สินเชื่อโครงการลงทุนในต่างประเทศ โดย EXIM BANK สามารถสนับสนุนเงินทุนได้หลายสกุลเงิน ซึ่งขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้ประกอบการและเงื่อนไขในการลงทุน ซึ่งที่ผ่านมา EXIM BANK สนับสนุนโครงการลงทุนในต่างประเทศจำนวนมาก เช่น สปป.ลาว (โรงไฟฟ้าพลังน้ำ) เวียดนาม (โรงไฟฟ้าพลังงานลม) ญี่ปุ่น (โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนใต้พิภพและพลังงานแสงอาทิตย์) และบริการประกันการลงทุน คุ้มครองความเสี่ยงทางการเมืองแก่โครงการลงทุนของผู้ประกอบการไทยในต่างประเทศ

                ปัจจุบัน EXIM BANK เดินหน้าสู่ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย ภายใต้บทบาทใน 3 เรื่องหลัก  

1) รับความเสี่ยงได้มากกว่าธนาคารพาณิชย์ เพื่อช่วยเติมเต็มช่องว่างทางการเงินแก่ธุรกิจไทยในช่วงที่ธนาคารพาณิชย์ไม่สามารถรับความเสี่ยงได้ เช่น โครงการโรงไฟฟ้าที่ญี่ปุ่น ในช่วง Early Stage ที่เป็นการก่อสร้างและพัฒนาโครงการ ถือว่าเป็นช่วงที่มีความเสี่ยงสูงและยังไม่มีรายได้ EXIM BANK ได้เข้าไปสนับสนุนเงินทุนในช่วงแรก เพื่อให้โครงการเดินหน้าต่อได้ จากนั้นเมื่อโครงการเริ่ม COD (Commercial Operation Date) ก็พร้อมส่งต่อให้ธนาคารพาณิชย์ เพื่อให้ลูกค้ามีต้นทุนทางการเงินต่ำลง

2) ให้กำเนิดอุตสาหกรรมใหม่ พัฒนาอุตสาหกรรมสู่อนาคตและสร้างอุตสาหกรรมใหม่ ๆ ที่เป็น Growth Engine ตัวใหม่ในการขับเคลื่อนประเทศ เช่นเดียวกับที่ IFCT เคยทำมาแล้ว

3) หนุนทุนไทยไปต่างแดนทั้งค้าและลงทุน พร้อมพาธุรกิจไทยติดปีกและสร้าง Foothold ไปทั่วโลก ทั้งการค้าและลงทุน เหมือนที่ JBIC, China EXIM และ Development Bank อื่นๆ เป็นแรงส่งสำคัญ หรือมีส่วนในการพาผู้ประกอบการของชาติตัวเองไปยึดหัวหาดในต่างแดน และประสบความสำเร็จมาแล้วนับไม่ถ้วน

อีกเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กัน คือการสานต่อนโยบาย “ซ่อม สร้าง เสริม และสานพลัง” เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการไทยของ EXIM BANK โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้

ซ่อม อุตสาหกรรมที่ป่วยแต่มีอนาคต โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบรุนแรงจาก COVID-19 เช่น สายการบิน ซึ่งมีมาตรการช่วยเหลือทั้งการพักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ย ปรับตารางผ่อนชำระ และสนับสนุนวงเงินสินเชื่อเพิ่มเติม (New Money) รวมถึงพาณิชยนาวี และวิกฤตขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ ซึ่ง EXIM BANK เข้าไปช่วยบรรเทาปัญหาด้วยการสนับสนุนทางการเงิน

สร้าง อุตสาหกรรมใหม่ เพื่อเป็น Growth Engine ขับเคลื่อนประเทศอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มสูงและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น BCG (Bio-Circular-Green) รวมถึง Future Industry อื่นๆ EXIM BANK เดินหน้าสนับสนุนอุตสาหกรรมแห่งอนาคต รวมถึงอุตสาหกรรม S-Curve เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ อุตสาหกรรมดิจิทัลและอุตสาหกรรมในกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับเมกะเทรนด์ GDH ได้แก่ Green เช่น Electric Vehicles, Bio-plastic Product Digital ตั้งแต่ Hardware ไม่ว่าจะเป็นระบบโครงข่าย ไปจนถึง Cloud Service, Telecom Network, Software และ Digital Content ซึ่งมีมูลค่าเพิ่มสูง และ Health เช่น อุปกรณ์ทันตกรรมทดแทน, Plant-based Food (อาหารในกลุ่มเนื้อสัตว์และอื่นๆ ที่ใช้วัตถุดิบจากพืช), Functional Food เป็นต้น

เสริม อาวุธ SMEs ให้ก้าวเป็นนักรบเศรษฐกิจได้อย่างแข็งแกร่งด้วยบริการครบวงจร รวมถึงสร้าง Indirect Exporters ให้ก้าวขึ้นเป็นผู้ส่งออกด้วย EXIM Thailand Pavilion ร้านค้าออนไลน์ของ EXIM BANK บนแพลตฟอร์ม E-Commerce ระดับโลก พร้อมทีมงานช่วยดูแลอย่างครบวงจร SME Export Studio ห้องแต่งตัวสำหรับสินค้าไทยให้มีความพร้อมสำหรับส่งออก ตั้งแต่การ Design & Packaging ออกแบบผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ Photoshoot การถ่ายรูปสินค้า/วิดีโออย่างมืออาชีพ และ Training ตั้งแต่พื้นฐานไปจนถึงขั้นสูง เช่น Export101, Digital Marketing, Risk Management เป็นต้น

สานพลัง กับหน่วยงานพันธมิตร โดย EXIM BANK จะไม่ไปเพียงลำพัง แต่จะไปพร้อมพันธมิตรทั้งในประเทศ เช่น ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการต่างประเทศ และพันธมิตรต่างประเทศ เช่น Team Thailand, Japan Bank for International Cooperation, The Export-Import Bank of China เพื่อพาผู้ประกอบการไทยสู่เวทีโลก

“ทุกครั้งที่เกิดวิกฤต หรือมีโอกาสใหม่ๆ เข้ามา EXIM BANK จะพัฒนา Product Program เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้ประกอบการทุกกลุ่ม ทั้ง EXIM Biz Transformation Loan ยกระดับธุรกิจและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตด้วยดอกเบี้ยต่ำสุด 2% ต่อปี สินเชื่อเอ็กซิมลุยตลาด RCEP สินเชื่อ EXIM Logistics สำหรับผู้ประกอบการในธุรกิจโลจิสติกส์ที่เป็นฟันเฟืองสำคัญของภาคส่งออกไทย และสินเชื่อเอ็กซิมเพื่อซัพพลายเออร์ส่งออก เพื่อให้วงจรการค้าไม่สะดุด”

                อย่างไรก็ตาม ความท้าทายสำคัญของเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมไทย คือ การที่บริบทโลกต้องการการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงเพื่อแก้ปัญหาโลกร้อนและการสร้างสังคมที่ยั่งยืน ไปจนถึงต้องการความร่วมมือและการแบ่งปันความเชี่ยวชาญเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง

CHANGE for the FUTURE จึงเป็นสิ่งที่ EXIM BANK โฟกัสในปัจจุบัน เพื่อเปลี่ยนไปสู่อนาคตที่ดีกว่าทั้งสำหรับอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจไทยไปจนถึงสังคมที่ดี ประกอบด้วย Move On เดินหน้าเพื่อสร้างเศรษฐกิจไทยให้ยั่งยืนเข้มแข็ง และ Move Out เดินออกเพื่อขยายธุรกิจไทยให้ไปได้ไกลกว่าเดิม โดยการขยายการลงทุนใน CLMV

กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK ย้ำว่า EXIM BANK จะเป็นกลไกสำคัญในการสนับสนุนทางการเงินให้กับโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งจะช่วยผลักดันเศรษฐกิจของประเทศเพื่อนบ้านเติบโตได้อย่างแข็งแรง และจะเอื้อให้กับผู้ประกอบการไทยในการทำการค้าและการลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านได้อย่างมั่นคงยิ่งขึ้น โดย EXIM BANK ยังเป็นธนาคารผู้นำด้านสินเชื่อพลังงานหมุนเวียนในกลุ่ม CLMV อีกด้วย

“การให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนของ EXIM BANK ทำให้ SMEs สามารถขยายการค้าและการลงทุนไปยังประเทศต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อการส่งออกและการลงทุน ไปจนถึงการจัดคอร์สอบรมความรู้ด้านการส่งออก และการจัดกิจกรรม Business Matching ให้กับผู้ประกอบการ SMEs ได้พบเจอให้นักธุรกิจในประเทศเพื่อนบ้าน เป็นต้น โดย EXIM BANK มีสำนักงานผู้แทน ใน CLMV ครบทุกประเทศ เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกด้านการค้าและการลงทุนให้แก่ผู้ประกอบการไทยได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ” ดร.รักษ์ กล่าว

 

สำหรับช่องทาง SME ONE เพิ่มเติม
Facebook: SMEONE
Youtube: SMEONE
Line: @smeone

บทความแนะนำ