เส้นทางความสำเร็จของชีวิต ไม่ได้หยุดแค่วัยเกษียณ และความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่อาจเริ่มต้นใหม่ เหมือน “ผู้พันแซนเดอร์ส” ที่เริ่มต้นธุรกิจไก่ทอดแบรนด์ KFC ในวัย 62 ปี!!!
ในปี 2564 หรืออีกแค่เพียง 2 ปี ประเทศไทยจะเป็นประเทศที่ 2 ของภูมิภาคอาเซียน รองจากสิงคโปร์ ที่ก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ (Complete aged society) โดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ประมาณการว่า ประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป จะมีจำนวนไม่น้อยกว่า 13 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด และในอีก 20 ปีข้างหน้าหรือปี 2583 จำนวนผู้สูงอายุจะเพิ่มเป็น 20 ล้านคน หรือ 1 ใน 3 ของคนไทย ทั้งนี้ จะมีผู้สูงอายุวัย 80 ปีขึ้นไปมากถึง 3.5 ล้านคน
เมื่อผู้สูงวัยครองเมือง
คำถามตามมาคือ เมื่อมีผู้สูงวัยเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากแล้ว ประเทศจะเป็นอย่างไร ในแง่หนึ่งย่อมส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวม เนื่องจาก
- มีผู้สูงวัยเพียง 40% ที่มีรายได้เพียงพอเลี้ยงดูตัวเองหลังเกษียณ
- รายได้ต่อหัวของไทยต่ำกว่าประเทศอื่นที่เข้าสู่สังคมสูงวัยแล้ว โดยอยู่ที่ 5,700 ดอลลาร์สหรัฐ/คน/ปี
- รายได้หลักของผู้สูงวัยส่วนใหญ่มาจากบุตร ร้อยละ 34.7 รองลงมาคือการทำงานของผู้สูงวัยเอง ร้อยละ 31
- ประชากรวัยทำงาน ต้องรับภาระประชากรสูงวัยและวัยเด็ก ร้อยละ 51 และคาดว่าจะเพิ่มเป็นร้อยละ 64 ในปี 2570
5 เทรนด์ธุรกิจสำหรับผู้สูงวัย ไฟยังไม่มอด
เชื่อว่าผู้สูงวัยหลายคนแม้จะเกษียณอายุแล้วแต่ก็ยังไม่หมดไฟ ยังมีความสามารถทำธุรกิจได้มากกว่าการเลี้ยงหลานอยู่กับบ้านเฉยๆ ทั้งนี้ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ได้ทำการศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูล พบว่า การเลือกอาชีพหลังเกษียณของกลุ่มผู้สูงวัย สิ่งสำคัญที่ต้องพิจารณาคือ ควรเลือกทำในสิ่งที่ถนัด มีความเสี่ยงต่ำ ใช้เงินลงทุนไม่มาก ทำแล้วมีความสุข โดยมี 5 เทรนด์ธุรกิจที่น่าสนใจมาแนะนำดังนี้
แฟรนไชส์ เป็นหนึ่งในอาชีพที่ง่ายต่อผู้สูงวัย เพราะเป็นธุรกิจที่มาพร้อมกับการบริหารจัดการแบบเบ็ดเสร็จ หลายแบรนด์มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จัก มีเครื่องหมายการค้าได้รับการยอมรับอยู่แล้ว มีการโฆษณาและสนับสนุนการขายร่วมกับเจ้าของแฟรนไชส์ (แฟรนไชส์ซอร์) ได้รับการฝึกอบรมและถ่ายทอดความเชี่ยวชาญ และได้รับความช่วยเหลือแนะนำและให้บริการต่างๆ จากแฟรนไชส์ซอร์ตามข้อตกลง จึงช่วยย่นระยะเวลาการเรียนรู้ในการทำธุรกิจ ทำให้มีโอกาสประสบความสำเร็จสูง
เป็นอีกหนึ่งอาชีพที่ผู้สูงวัยสามารถสร้างเป็นธุรกิจทำเงินได้ สำหรับ Influencer หรือผู้ทรงอิทธิพลบนโลกออนไลน์ที่มีผู้ติดตามจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น บล็อกเกอร์ ยูทูปเปอร์ อินสตราแกรมเมอร์ ซึ่งผลการวิจัยทางการตลาด The power of influencer marketing บ่งชี้ว่า จากสถิติการใช้ Influencer เพียงจำนวน 3% สามารถสร้างผลกระทบและการรับรู้บนโซเชียลมีเดียได้มากถึง 90% และการเลือกใช้ Influencer สามารถสร้างผลตอบแทนให้กับแบรนด์ได้มากถึง 65% โดยเฉพาะคนยุค Millennial (อายุ 24-35 ปี) และ Gen Z (อายุ 16-23 ปี) จะค่อนข้างเชื่อถือในตัว Influencer มากกว่าแคมเปญโฆษณาราคาแพง ทำให้บริษัทโฆษณาหรือคนที่อยากทำการตลาดในกลุ่ม Gen Z Millennial หันมาจ้าง Influencer มากขึ้น เช่น กูรูความงามและแฟชั่น คนที่ชอบท่องเที่ยวและชิมอาหาร ตลอดจนผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเกม ดนตรี ภาพยนตร์ รวมไปถึง Celebrity ด้วย
- ธุรกิจฟรีแลนซ์ / ที่ปรึกษาให้กับองค์กรต่างๆ
ด้วยประสบการณ์ของผู้สูงวัยที่สั่งสมมายาวนาน โดยเฉพาะงานที่ต้องอาศัยความชำนาญเฉพาะด้านและมีความน่าเชื่อถือ เช่น แพทย์ นักบัญชี นักการเงิน-การธนาคาร นักเขียน นักแปล ฯลฯ เป็นงานที่สามารถทำที่บ้าน หรือทำได้ตามเวลาที่ต้องการ นอกจากนี้หลายๆ องค์กรมักจะเชิญผู้เกษียณอายุที่มีความเชี่ยวชาญกลับทำงานเป็นที่ปรึกษาในด้านต่างๆ เพราะมีประสบการณ์ในการทำงานและการแก้ไขปัญหาได้ดีกว่า ซึ่งการจ้างงานลักษณะนี้ เป็นหนึ่งในวิธีบริหารต้นทุนแรงงานของธุรกิจในปัจจุบัน เพราะช่วยลดค่าใช้จ่ายเมื่อเทียบกับพนักงานประจำ
- ธุรกิจค้าขาย ทั้ง Online และ Offline
เรื่องของวัยอาจไม่ใช่อุปสรรคสำหรับธุรกิจค้าขาย ไม่ว่าจะเป็นการเปิดร้านขายของ ร้านอาหาร ร้านกาแฟ งานประดิษฐ์ งานเย็บปัก-ถักร้อย ผู้สูงวัยสามารถที่จะทำได้ เพียงแต่ต้องเลือกขายสินค้าที่ตนเองมีความรู้หรือสนใจ ซึ่งการเปิดร้านขายของมีข้อดีตรงที่ทำให้ผู้สูงอายุ มีโอกาสพบปะพูดคุยกับลูกค้า ช่วยให้ไม่เหงา ดีต่อสุขภาพกายและใจ ขณะที่การขายของออนไลน์ก็สามารถเริ่มต้นง่าย ใช้เงินลงทุนไม่มาก แถมมีโอกาสทำเงินได้สูง ยิ่งหากมีลูกหลาน เข้ามาช่วยพัฒนาช่องทางออนไลน์ ยิ่งเป็นโอกาสให้งานดังกล่าวประสบความสำเร็จมากขึ้น
การปลูกต้นไม้ ปลูกผัก เลี้ยงปลาสวยงาม ฯลฯ งานอดิเรกเหล่านี้สามารถพัฒนาไปเป็นธุรกิจสำหรับผู้สูงอายุได้ อาจเริ่มตั้งแต่ปลูกไว้กินเองเมื่อเหลือก็นำออกขาย ซึ่งเป็นการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์สูงสุด ปัจจุบันมีผู้สูงวัยจำนวนไม่น้อยที่พัฒนาจากงานอดิเรก จนกลายเป็นอาชีพสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ
ปั้นผู้สูงวัยให้เป็นผู้ประกอบการ SME
สำหรับผู้สูงวัยที่อยากเริ่มต้นอาชีพใหม่แบบมีความมั่นใจมากขึ้น สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ได้วางแนวทางในการส่งเสริมเพื่อสร้างผู้ประกอบการสูงวัย ภายใต้กิจกรรม Born@50 Plus ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหนึ่งภายใต้โครงการพัฒนาผู้ประกอบการใหม่ (Early Stage) โดยจะมุ่งพัฒนากลุ่มเป้าหมายที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป ให้มีความพร้อมจะริเริ่มและสามารถเลือกทำธุรกิจที่สนใจได้ตามศักยภาพตัวเอง โดย สสว. จะวางแผนล่วงหน้าให้คนกลุ่มนี้ก่อน 10 ปี เพื่อสร้างให้เข้าใจกลไกธุรกิจก่อนวัยเกษียณ เรียนรู้การใช้ประสบการณ์ ความรู้ความเชี่ยวขาญในสิ่งที่ตนมีพัฒนาให้กลายเป็นธุรกิจที่สามารถสร้างรายได้ที่มั่นคงได้ต่อไป
สำหรับการดำเนินงานในปี 2562 มีกลุ่มผู้สูงวัยเข้าร่วมกิจกรรม 141 ราย ขณะนี้อยู่ระหว่างการอบรมเชิงลึก จำนวน 97 ราย ซึ่งมีทั้งส่วนที่เป็นผู้ประกอบการอยู่แล้วที่เข้ารับการพัฒนา เพื่อเพิ่มศักยภาพให้กับตัวเอง และกลุ่มที่จะออกมาเป็นผู้ประกอบการใหม่ต่อไป

ยกตัวอย่าง คุณอมราวดี สงวนศักดิ์ หรือป้าตา วัย 65 ปี ถึงแม้จะเกษียนอายุจากพนักงานของธนาคารออมสินแล้ว แต่ไม่ได้หยุดชีวิตการทำงาน โดยไปเรียนรู้ด้านแพทย์แผนไทย จากมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช จนสามารถนำสมุนไพรพื้นบ้านมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เกือบ 30 ชนิด อาทิ น้ำมันนวดเข่า แชมพู ฯลฯ วางจำหน่ายผ่านร้านของฝาก และช่องทาง Facebook (อัมรา ยาไทย) รวมถึงขยายตลาดไปที่ญี่ปุ่น ภายใต้แบรนด์ PINYAHERB อีกด้วย นอกจากนี้ยังเข้ารับการส่งเสริมจาก สสว. เพื่อเข้าสู่การค้าออนไลน์ ภายใต้โครงการ SME Online
เช่นเดียวกับคุณพรชัย จินตโนทัยถาวร ที่ไม่ขอหยุดพักความสามารถของตัวเองไว้ในวัย 64 ปี ด้วยการอัพเดตความรู้ให้แน่นขึ้นกับโครงการพัฒนาผู้ประกอบการใหม่ (Early Stage) ปี 2562 กลุ่ม Born@50+ ของ สสว. จนสามารถลับคมฝีมือประดิษฐ์งานกัดกระจก โดยนำมาแกะลายและนำไปพ่นทรายในเครื่อง และทำการลงสีตามลักษณะของชิ้นงาน สร้างงานที่เป็นเอกลักษณ์ จนได้รับความไว้วางใจจากทั้งร้านอาหาร ร้านของตกแต่ง บ้านจัดสรรและคอนโดที่นำไปตกแต่งภายในบ้าน
นี่เป็นส่วนหนึ่งของผู้ที่ไม่ยอมปล่อยให้ตัวเลขกำหนดชะตาชีวิต แต่เลือกที่จะลิขิตชีวิตในแบบฉบับที่เขาเป็นผู้กำหนดขึ้นเอง
Published on 1 August 2019
SMEONE "ทุกเรื่องครบ...จบในที่เดียว"