กลยุทธ์ Omni Channel ปรับรายได้เพิ่มยอดขายจากตลาด 2 ยุค

หัวข้อ : จากหน้าร้านสู่ตลาดออนไลน์ กระชากยอดนิ่งให้วิ่งเป็นยอดล้าน(1) , Omni Channel ผสานดิจิทัลกับธุรกิจเอสเอ็มอี (2)
อ่านเพิ่มเติม :https://www.kasikornbank.com/th/business/sme/KSMEKnowledge/k-sme-inspired/Inspired/Inspired-Jul-2018.aspx, https://scbsme.scb.co.th/sme-inspiration-detail/SCB_Omni

 

โลกออนไลน์เป็นช่องทางการทำธุรกิจที่ทรงอิทธิพลมากในปัจจุบัน ส่งผลให้อีคอมเมิร์ซกลายเป็น 1 ใน 5 กิจกรรมของพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตของคนไทย และมีมูลค่าสูงถึง 2.9 ล้านล้านบาท ในขณะที่การเติบโตของช่องทางการขายหน้าร้าน (Offline) ยังคงบทบาทมีสำคัญ เพราะเปรียบเหมือนโชว์รูมให้ลูกค้าได้มาสัมผัส ทดลองสินค้าจริง สร้างความเชื่อมั่นก่อนตัดสินใจซื้อ 

กลยุทธ์ออมนิชาแนล (Omni Channel) รวมตลาดออฟไลน์และออนไลน์ จึงไม่เพียงเสริมจุดเด่นลดจุดด้อย แต่ยังไปเติมเต็มความพึงพอใจของผู้บริโภคทุกกลุ่มได้อย่างมีประสิทธิภาพออมนิชาแนล (Omni Channel) ถือว่าเป็นเทรนด์สำคัญที่ผู้ประกอบการควรให้ความสนใจ

 

ออนไลน์เข้าถึงคน มีผลต่อการตัดสินใจ

เมื่อมือถือทำให้การซื้อสินค้าสะดวกง่าย สื่อออนไลน์กลายเป็นเครื่องมือที่เข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้อย่างไร้พรมแดน ด้วยต้นทุนที่ต่ำ สามารถขายของได้ 24 ชั่วโมง และมีผลต่อการตัดสินใจซื้อสินค้าของผู้บริโภคในปัจจุบันถึง 80%  ทุกวันนี้เอสเอ็มอีไทยมากกว่า 50% จึงใช้เฟซบุ๊ก (Facebook) เป็นช่องทางในการเริ่มต้นธุรกิจ และใช้เป็นช่องทางประชาสัมพันธ์ธุรกิจสูงถึง 90%

หน้าร้านโชว์รูมที่มีผลทางใจ

หลายธุรกิจการคิดว่าการมีหน้าร้านเป็นต้นทุนที่ไม่จำเป็นจึงหวังพึ่งออนไลน์เพียงอย่างเดียว แต่การแข่งขันที่รุนแรงสินค้ามีการตัดราคา การทำตลาดออนไลน์อย่างเดียวจึงไม่ได้สร้างธุรกิจที่ยั่งยืน เพราะธุรกิจที่ยั่งยืนอยู่ได้มักเป็นธุรกิจที่มีทั้งออนไลน์และมีหน้าร้านเพื่อเติมเต็มความต้องการของลูกค้า โดยเฉพาะธุรกิจที่ขายสินค้าราคาแพงยอดบิลส่วนใหญ่มักมาจบที่หน้าร้าน เพราะลูกค้ามักต้องการเห็นสินค้า อยากมาทดสอบสินค้าจริงก่อนตัดสินใจซื้อ

 

 

แม้วันนี้ตัวเลขของตลาดออนไลน์ทั่วโลกเติบโตแบบก้าวกระโดดอย่างต่อเนื่อง แต่การจะเข้ามาแชร์ส่วนแบ่งรายได้จากตลาดออนไลน์อาจไม่ง่ายอย่างที่คิด การทำตลาดออนไลน์เพียงอย่างเดียวอาจเสี่ยงเกินไป ตลาดเก่าอย่างออฟไลน์ที่ช่วยสร้างความน่าเชื่อถือแต่อาจจะมีต้นทุนค่าใช้จ่าย การมีหน้าร้านจำนวนมากเพื่อขยายตลาดอาจไม่ใช่คำตอบของการทำธุรกิจวันนี้

 

การผสมผสานช่องทางออฟไลน์และออนไลน์เข้าด้วยกันอย่างลงตัว จะนำพาธุรกิจไปสู่จุดหนึ่งเป้าหมายสำคัญคือกำไรที่เพิ่มขึ้นได้ การก้าวสู่ออมนิชาแนล (Omni Channel) จึงจำเป็นสำหรับการทำธุรกิจ ซึ่งสิ่งที่จะต้องดำเนินการในการทำออมนิชาแนล (Omni Channel) สำหรับเอสเอ็มอี มีด้วยกัน 4 ประการได้แก่

  1. การเชื่อมโยงข้อมูลจากทุกช่องทางเป็นหนึ่งเดียว 

โดยเชื่อมโยงข้อมูลจากออนไลน์ โซเชียลมีเดีย หน้าร้าน และช่องทางอื่น ๆ ให้เป็นฐานข้อมูลเดียวกัน เพื่อให้บริการลูกค้าได้อย่างต่อเนื่องในทุกช่องทาง

  1. การสื่อสารแบบต่อเนื่อง 

เป็นการเชื่อมโยงการสื่อสารในทุกช่องทางให้ต่อเนื่อง เช่น มีข้อมูลร้านค้ารองรับในช่องทางออนไลน์ มีแผนที่ กูเกิลแมพ (Google Map) ให้ลูกค้าสามารถเดินทางมาที่ร้านค้า รวมถึงมีเบอร์ติดต่อ หรือปุ่มสั่งซื้อสินค้าบนหน้าออนไลน์ได้

  1. เชื่อมโยงระบบสต๊อกสินค้าเข้าด้วยกัน 

ลูกค้าสามารถซื้อสินค้าจากทุกช่องทาง และไปรับสินค้าได้จากทุกช่องทางที่สะดวกเช่นกัน

  1. เชื่อมโยงระบบชำระเงิน 

นอกจากซื้อสินค้าได้หลากหลายช่องทางแล้ว ยังต้องสามารถชำระเงินได้หลากหลายช่องทางเช่นกัน เช่น ผ่านออนไลน์ ผ่านสาขาธนาคาร และผ่านหน้าร้านสะดวกซื้อ เป็นต้น

 

ประโยชน์ที่ได้รับจากการทำออมนิชาแนล (Omni Channel)

  • สามารถให้ข้อมูลกับผู้ซื้อ ช่วยในการตัดสินใจได้อย่างรวดเร็ว
  • สร้างภาพลักษณ์และการบอกต่อให้กับแบรนด์
  • มีช่องทางจำหน่ายเพิ่มขึ้นและเชื่อมต่อกัน ทำให้มีโอกาสขายสินค้าได้ดีขึ้น
  • เพิ่มความสะดวกในการขายและบริการ
  • สร้างประสบณ์การที่ดีแบบส่วนตัวให้กับผู้ซื้อ
  • ช่วยเชื่อมต่อข้อมูลเพื่อเป็นประโยชน์กับเจ้าของธุรกิจมากขึ้น
  • นำเสนอโปรโมชั่นส่วนบุคคลได้อย่างมีคุณภาพ

 

Published on 28 August 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

บทความแนะนำ

"บีโอไอ" ช่วยสนับสนุนเอสเอ็มอีอย่างไร

หัวข้อ : มาตราการบีไอโอ ทางออก SMEsไทย ปีที่ 3 ฉบับที่ 5
อ่านเพิ่มเติม : https://www.boi.go.th/upload/ejournal/2020/05/files/extfile/DownloadURL.pdf

 

 

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ให้การสนับสนุนธุรกิจทุกขนาด หากผ่านหลักเกณฑ์ตามที่กำหนด โดยให้การส่งเสริมด้านการลงทุนทั้งในประเทศ และช่วยเหลือธุรกิจไทยที่จะไปลงทุนต่างประเทศด้วยเช่นกัน อย่างธุรกิจที่ต้องการย้ายฐานการผลิตไปยังต่างประเทศ บีโอไอจะเข้าไปมีบทบาทในการสนับสนุนช่วยเหลือ ศึกษาเรื่องกฏระเบียบการลงทุนในประเทศต่าง ๆ พร้อมให้คำปรึกษา เข้าเจรจากับภาครัฐของประเทศนั้น ๆ และหลายคนอาจเข้าใจผิดว่าบีโอไอให้การส่งเสริมเฉพาะธุรกิจขนาดใหญ่หรือธุรกิจจากต่างชาติ แต่อันที่จริงแล้วมีธุรกิจเอสเอ็มอีได้รับการสนับสนุนอยู่ถึงร้อยละ 60 – 70 ทีเดียว

การส่งเสริมการลงทุนโดยให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอากร เช่น

  • การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลในเวลาหนึ่ง โดยทั่วไปสูงสุดไม่เกิน 8 ปี
  • การยกเว้นอากรนำเข้าของเครื่องจักรและวัตถุดิบ

การส่งเสริมการลงทุนสิทธิประโยชน์ที่ไม่เกี่ยวกับภาษีอากร เน้นให้สิทธิประโยชน์แก่บริษัทต่างชาติ เช่น

  • สิทธิในการถือครองที่ดิน
  • การอำนวยความสะดวกในเรื่องการนำเข้าแรงงานฝีมือจากต่างประเทศ

 

คุณสมบัติเอสเอ็มอีตามมาตรการของบีโอไอ

  1. เอสเอ็มอีจะต้องอยู่ในประเภทกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล (ประเภทกิจการในกลุ่ม A) และประเภทกิจการบางส่วนที่ไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล (ประเภทกิจการในกลุ่ม B1) ตามประกาศ กกท. ที่ 2/2557
  2. เอสเอ็มอีจะต้องเป็นบุคคลธรรมดาสัญชาติไทย ถือหุ้นไม่น้อยกว่า 51% ของทุนจดทะเบียน
  3. รายได้รวมของเอสเอ็มอีทั้งที่ได้รับการส่งเสริมฯ และไม่ได้รับการส่งเสริมฯ ต้องไม่เกิน 500 ล้านบาทต่อปี ในช่วง 3 ปีแรก
  4. เอสเอ็มอีจะต้องมีเงินลงทุนในโครงการไม่น้อยกว่า 500,000 บาท โดยไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียน (จากปกติที่กำหนดไว้ที่ 1 ล้านบาท)
  5. กำหนดให้มีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนไม่เกิน 4 : 1 (จากปกติที่กำหนดไว้ที่ 3 : 1)

 

สิทธิประโยชน์บีโอไอ เพิ่มศักยภาพเอสเอ็มอีโดยเฉพาะ

แม้ว่าบีโอไอจะครอบคลุมธุรกิจทุกขนาด แต่สำหรับธุรกิจเอสเอ็มอีจะมีหลายมาตรการที่ได้ตั้งข้อกำหนดพิเศษเอาไว้ เพื่อเปิดโอกาสให้เอสเอ็มอีเข้าถึงสิทธิประโยชน์ได้ง่ายขึ้น เช่น

- สิทธิประโยชน์พื้นฐานตามประเภทกิจการ และเพิ่มเติมวงเงินยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็น 200 % ของเงินลงทุน โดยไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียน

- ได้รับยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับเครื่องจักร

- อนุญาตให้นำเครื่องจักรใช้แล้วของโครงการเดิม มาใช้ในโครงการที่ขอรับการส่งเสริมฯได้ โดยมีมูลค่าไม่เกิน 10 ล้านบาท แต่จะต้องลงทุนใหม่ในเครื่องจักรหลักเพิ่มเติมเป็นสัดส่วนไม่น้อยกว่า 50% ของมูลค่าเครื่องจักรทั้งหมดที่ใช้ในโครงการ

- สิทธิประโยชน์เพิ่มเติมเพื่อพัฒนาความสามารถในการแข่งขัน หากเอสเอ็มอีลงทุนหรือมีค่าใช้จ่ายในกิจกรรมที่จะช่วยเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขัน จะสามารถขยายสิทธิประโยชน์ได้มากขึ้น เช่น

  • การวิจัยพัฒนาเพื่อให้เกิดนวัตกรรมใหม่ ๆ
  • การฝึกอบรมบุคคลากรหรือรับนักศึกษาฝึกงานระยะยาว
  • การซื้องานวิจัยในประเทศที่น่าสนใจมาใช้ประโยชน์ในเชิงพานิชย์
  • การอบรมเทคโนโลยีขั้นสูง
  • การออกแบบผลิตภัณฑ์หรือบรรจุภัณฑ์

 

สิทธิและประโยชน์พิเศษเพิ่มเติม 

  • กรณีเอสเอ็มอีตั้งสถานประกอบการในจังหวัดที่มีรายได้ต่อหัวต่ำ 20 จังหวัด ได้แก่ กาฬสินธุ์ ชัยภูมิ นครพนม น่าน บึงกาฬ บุรีรัมย์ แพร่ มหาสารคาม มุกดาหาร แม่ฮ่องสอน ยโสธร ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ สกลนคร สระแก้ว สุโขทัย สุรินทร์ หนองบัวลำภู อุบลราชธานี และอำนาจเจริญ ให้ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติม 3 ปี แต่รวมกันแล้วไม่เกิน 8 ปี ทั้งนี้หากเป็นประเภทกิจการในกลุ่ม A1 และ A2 จะให้ได้รับการลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล 50% เพิ่มเติมอีก 5 ปี นับจากวันที่กำหนดระยะเวลาการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสิ้นสุดลง
  • กรณีเอสเอ็มอีตั้งสถานประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมหรือเขตอุตสาหกรรมที่ได้รับการส่งเสริมฯ ให้ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติมอีก 1 ปี แต่รวมกันแล้วไม่เกิน 8 ปี ยกเว้นประเภทกิจการที่มีเงื่อนไขบังคับว่า จะต้องตั้งในนิคมอุตสาหกรรมหรือเขตอุตสาหกรรมที่ได้รับการส่งเสริมฯและประเภทกิจการในกลุ่ม B
  • กรณีเอสเอ็มอีตั้งสถานประกอบการในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน (SEZ) จะได้รับวงเงินภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติม 200% ของเงินลงทุน โดยไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียนเพิ่มเติมจากสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับพิเศษตามมาตรการส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน

บีโอไอได้เปิดช่องทางเผยแพร่ข้อมูลและคำแนะนำแก่เอสเอ็มอีหลายช่องทางด้วยกัน

  • เว็บไซต์ www.boi.go.th ช่องทางหลักในการสื่อสาร เป็นพื้นที่ที่รวบรวมข้อมูลเอาไว้ทั้งหมด
  • อีเมล head@bot.go.th สามารถส่งคำถามผ่านทางอีเมลได้
  • ติดต่อ ศูนย์บริการลงทุน ที่บีโอไอสำนักงานใหญ่ หรือจามจุรีสแควร์
  • เฟซบุ๊ก BOI News
  • ไลน์แอด @boinews
  • โทรศัพท์ 025538111

 

Published on 27 August 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

บทความแนะนำ

5 เหตุผล ขายของออนไลน์ทำไมต้องมีรีวิว

หัวข้อ : วารสารกรมพัฒนาธุรกิจการค้า (DBD) ฉบับที่ 51 ปีที่ 9 
อ่านเพิ่มเติม :https://www.dbd.go.th/download/article/article_20190902105049.pdf

 

การมี รีวิว” (Review) แสดงประกอบรายละเอียดสินค้าในเว็บไซต์ หรือร้านค้าของคุณบนแพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ นั้นจะช่วยเสริมการพิจารณาของลูกค้าที่กำลังดูร้านค้าอยู่ เพราะสิ่งหนึ่งที่ลูกค้าในยุคนี้มองหาเมื่อสนใจสินค้าหรือบริการก่อนจะตัดสินใจซื้อนั่นก็คือรีวิวจากลูกค้าก่อนหน้านี้นั่นเอง นอกจากนี้ความสำคัญอื่นๆ ที่เราได้รับจากการมีรีวิวสินค้าหรือรีวิวบริการก็คือ

 

ความน่าเชื่อถือ

เพราะก่อนเราจะเสียเงินไปซื้อของอะไรก็ตาม หากดูแล้วร้านค้าที่เรากำลังสนใจมีรายละเอียดสินค้าที่ไม่น่าเชื่อถือ ไม่มีรีวิวจากลูกค้าว่าสั่งซื้อแล้วได้รับของมาสภาพไหน , การจัดส่งไวหรือไม่ , ตอบคำถามลูกค้าดีไม่ดีอย่างไร หากเป็นอย่างนี้ความเชื่อมั่นต่อร้านค้าก็ไม่เกิดขึ้น

 

ได้รับความคิดเห็นโดยตรงจากลูกค้า

บ่อยครั้งมักจะมีความคิดเห็นดี ๆ เพื่อนำไปพัฒนาปรับปรุงสินค้าและบริการ มักมาจากลูกค้าโดยตรง หลังจากที่พวกเขาได้ทดลองใช้สินค้าของเราแล้ว ซึ่งเป็นประสบการณ์จากผู้ใช้งานจริง ๆ ที่มีคุณค่า อาจช่วยให้เราได้พัฒนาสินค้าที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้มากที่สุด

 

ช่วยให้ค้นหาสินค้าเจอได้ง่ายขึ้น

เครื่องมือค้นหาเสิร์ซเอนจิ้นที่เราคุ้นเคยกันดีอย่างกูเกิ้ล (Google) มักดึงเอาสินค้าที่มีคนรีวิวมาแสดงให้นักท่องเว็บฯ เห็นด้วย ยิ่งสินค้าของเราได้รับการรีวิวหรือพูดถึงจากลูกค้ามีจำนวนมาก ยิ่งเป็นตัวชี้วัดถึงความน่าเชื่อถือและความน่าสนใจของสินค้าของเรามากตามไปด้วย จนทำอยากคลิกเข้าไปดูเว็บไซต์เพิ่มขึ้น

 

รีวิวด้านลบบางครั้งส่งผลดี 

ความผิดพลาดเป็นสิ่งที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้เสมอ หากเจ้าของร้านรับมือกับบางรีวิวที่ตำหนิการให้บริการได้ดีและแสดงออกถึงความจริงใจในการขออภัยลูกค้า รับผิดชอบในความผิดพลาดอย่างเหมาะสม ลูกค้าที่เข้ามาอ่านรีวิวจะรู้สึกถึงความน่าเชื่อถือ ช่วยเพิ่มการตัดสินใจในการใช้บริการมากขึ้น เพราะได้เห็นถึงการบริการหลังการขายอีกมุมหนึ่ง หากร้านค้ามีแต่คำชมอย่างเดียว มักทำให้ความรู้สึกน่าสงสัยมากกว่าเกิดความไว้วางใจ

 

สินค้ามีรีวิว คนยิ่งสนใจ

เมื่อลูกค้ารายใหม่ ๆ เข้ามาเห็นรีวิวก่อนหน้านี้ จะเกิดแรงจูงใจและความกล้าที่จะแชร์ความเห็นเพิ่มเติมทิ้งไว้ให้คนอื่น ๆ ได้รับรู้ต่อไป ยิ่งสินค้าชิ้นไหนมีรีวิวใหม่ ๆ เพิ่มเติมสม่ำเสมอ คนมักให้ความสนใจเพิ่มตามไปด้วย

 

Published on 26 August 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

บทความแนะนำ

กระตุ้นยอดขายร้านอาหารด้วยมาตรฐาน Thai SELECT

หัวข้อ : วารสารกรมพัฒนาธุรกิจการค้า (DBD) ฉบับที่ 61 ปีที่ 11 
อ่านเพิ่มเติม :www.dbd.go.th/download/article/article_20200626145341.pdf

เมื่อถึงเวลาที่สถานการณ์โควิดทั่วโลกคลี่คลาย และการท่องเที่ยวของไทยกลับมาคึกคักอีกครั้ง ธุรกิจร้านอาหารไทยต้องเตรียมความพร้อม เพื่อรองรับกลุ่มนักท่องเที่ยวทั้งคนไทยและชาวต่างชาติที่จะหลั่งไหลเข้ามาใช้บริการ และดึงดูดลูกค้าเข้าร้านด้วยตราสัญลักษณ์ที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลกอย่าง Thai SELECT

Thai SELECT เป็นมาตรฐานรับรองสินค้าร้านอาหารไทย ทั้งในเรื่องของคุณภาพและรสชาติความอร่อยแบบไทย ๆ และเป็นที่ยอมรับของชาวต่างชาติมากว่า 20 ปี กรมพัฒนาธุรกิจการค้า จึงเกิดแนวคิดในการนำตราสัญลักษณ์ Thai SELECT มาต่อยอดส่งเสริมให้ร้านอาหารในประเทศไทย โดยคัดสรรร้านอาหารที่มีรสชาติไทยแท้และคุณภาพที่ได้มาตรฐาน เน้นความใส่ใจด้านคุณภาพ รสชาติ และการบริการ 

นอกจากนี้ตราสัญลักษณ์ Thai SELECT ยังช่วยสร้างการจดจำ ได้เป็นอย่างดีเป็นการขยายโอกาสและเพิ่มช่องทางการตลาดให้ร้านอาหารไทยสามารถเข้าถึงกลุ่มนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติได้มากยิ่งขึ้น โดยตราสัญลักษณ์ Thai SELECT ในประเทศไทยมี 3 ประเภท คือ

 

 

สำหรับเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกเพื่อให้ได้รับตราสัญลักษณ์ Thai SELECT ร้านอาหารจะต้องมีคุณสมบัติที่สำคัญดังนี้

1) ต้องมีรายการอาหารไทยไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของรายการอาหารทั้งหมด ตกแต่งบรรยากาศ และใช้วัตถุดิบเครื่องปรุงอาหารแบบไทย

2) ปรุงอาหารได้ตามมาตรฐานกรรมวิธีการปรุงแบบไทยใช้วัตถุดิบและเครื่องปรุงของไทย 

3) เปิดให้บริการมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน 

4) อายุการใช้ตราสัญลักษณ์ Thai SELECT นาน 3 ปี หากร้านประสงค์จะต่ออายุต้องยื่นใบสมัครขอต่อก่อนวันหมดอายุ 3 เดือน 

5) ผู้ที่ได้ตราสัญลักษณ์ Thai SELECT จะได้รับประกาศนียบัตรที่ลงนามโดยอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พร้อมระบุปีที่ได้รับ 

6) ร้านอาหารไทยที่มีมากกว่า 1 สาขา แต่ละสาขาต้องยื่นใบสมัครขอใช้หรือต่ออายุการใช้ตราสัญลักษณ์

Thai SELECT แยกจากสาขาอื่น

7) ผู้สมัครต้องผ่านการตรวจสอบและให้คะแนนโดยกรรมการ หรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า

 

ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://dbd.go.th/images/relation_pic/info%20Thai%20SELECT.pdf

 

 

Published on 26 August 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

 

 

บทความแนะนำ

เอสเอ็มอีพัฒนาสินค้าอย่างไรให้โดนใจตลาดผู้หญิงที่เติบโตไม่หยุด

หัวข้อ : Hersumers สายเปย์แห่งวงการนักชอป 
อ่านเพิ่มเติม :https://www.kasikornbank.com/th/business/sme/KSMEKnowledge/k-sme-inspired/Inspired/Inspired-Sep-2019.aspx

ผู้หญิง เรียกได้ว่าเป็น มหาอำนาจกำลังซื้อตัวจริงของโลก เพราะด้วยศักยภาพด้านการจับจ่ายของตลาดผู้หญิงที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ อีกทั้งผู้หญิงยังมีส่วนในการตัดสินใจซื้อถึง 78% แต่ใช่ว่าการทำตลาดให้โดนเหล่าสาว ๆ นักชอปจะง่ายไปซะหมด หากไม่รู้จักรู้ใจกันจริง ๆ ก็อาจกลายเป็นงานหินได้
แม้แต่แบรนด์ใหญ่อย่างไนกี้ยังมีการปรับตัว เพื่อให้รับความหลากหลายและเจาะตลาดของผู้หญิง อย่างผ้าคลุมศีรษะที่เอาไว้ใช้ในการเล่นกีฬา "โปร ฮิญาบ" ไปจนถึงหุ่นจำลองเสื้อผ้าตัวแทนของสาวพลัสไซส์ หรือกระทั่งสินค้าผู้ชายแมนๆ อย่างตลาดมอเตอร์ไซค์ก็ปรับตัวรับยุคนักบิดสาว เช่น การทำเกียร์ ให้เหมาะสมกับผู้หญิง

เพราะอะไร? ผู้หญิงถึงเป็นมหาอำนาจของตลาดยุคใหม่ 
ตลาดผู้หญิงมีทิศทางที่จะเติบโตไปได้เรื่อยๆ เนื่องจากผู้หญิงเป็นกำลังหลักในการตัดสินใจซื้อ และเป็นเพศที่ซื้อของโดยมีเรื่องของอารมณ์ (Emotional) เข้ามาร่วมด้วยค่อนข้างสูง ไม่ว่าจะเป็นในโลกของออนไลน์หรือออฟไลน์ ผู้หญิงมักได้สินค้ามากกว่าที่ตั้งใจซื้อไว้ตั้งแต่แรก ในขณะที่ผู้ชายจะมีเป้าหมายว่าจะซื้ออะไรและพุ่งตรงไปยังสิ่งนั้นๆ

ในภาพรวมผู้หญิงมีส่วนในการตัดสินใจซื้อถึงประมาณ 78% ของตลาด โดยในช่วง 2-3 ปีหลังมานี้จะเห็นว่า การแบ่งตลาดของผู้หญิง (Segmentation) ค่อนข้างจะละเอียด เช่น

- กลุ่มผู้หญิงโสด เป็นกลุ่มที่น่าจับตามอง เพราะมีการตัดสินใจซื้อที่ค่อนข้างง่ายกว่ากลุ่มอื่น ๆ และจะเป็นการซื้อเพื่อตัวเอง ลงทุนเพื่อตัวเอง

- กลุ่มผู้หญิงที่แต่งงานมีครอบครัว จะคิดมากขึ้น โดยจะนึกถึงคนในครอบครัวก่อนและคิดถึง

รายได้โดยรวมเป็นหลัก ทำให้ผู้หญิงกลุ่มนี้ค่อนข้างจะใช้เวลาในการศึกษาและตัดสินใจซื้อนานกว่า

 

เจาะพฤติกรรมลูกค้าผู้หญิง

- ผู้หญิงปัจจุบันใช้เวลาในการตัดสินใจซื้อค่อนข้างสั้น ภายในเวลา 5 นาที หากเจอสินค้าที่ใช่ ตรงใจ ก็ยินดีที่จะจ่ายเลยในทันที

- ส่วนใหญ่ซื้อเพราะต้องการทันโลก ทันกระแส จึงเป็นที่มาของคำว่า “ของมันต้องมี”

- การตัดสินใจซื้อมีเรื่องของอารมณ์มาเกี่ยวข้องอย่างมาก ราคาไม่ใช่ประเด็นหลักของการตัดสินใจ ถึงแม้สินค้านั้น ๆ จะไม่ใช่สิ่งที่จำเป็นก็ตาม

- การจัดส่งที่สะดวกรวดเร็ว สั่งเช้าได้บ่าย ยิ่งเป็นตัวกระตุ้นให้ผู้หญิงตัดสินใจซื้อได้ง่ายขึ้นไปอีก

 

ถึงไม่ใช่สินค้าสำหรับสาว ๆ แต่ขายผู้หญิงได้

ด้วยกระแสของตลาดผู้หญิงที่ค่อนข้างมาแรง ทำให้หลายแบรนด์ด์เริ่มทำสินค้าออกมาตอบโจทย์ผู้หญิงมากขึ้น แม้ไม่ใช่สินค้าที่ทำเพื่อผู้หญิงโดยเฉพาะก็ตาม เพราะผู้หญิงไม่ได้ใช้จ่ายไปกับผลิตภัณฑ์หรือบริการ

ที่ทำมาเพื่อเฉพาะผู้หญิงเท่านั้น แต่อาจจะซื้อสินค้าอื่น ๆ เพื่อคนใกล้ตัวอีกด้วย จึงเป็นโอกาสสำหรับทุกธุรกิจที่สามารถเจาะเข้าถึงตลาดกลุ่มนี้ เพียงแค่ผู้ประกอบการหรือเจ้าของแบรนด์ต้องสื่อสารอย่างชัดเจนว่าคุณกำลังสื่อสารอยู่กับลูกค้ากลุ่มผู้หญิงนั่นเอง

ตัวอย่างการทำตลาดเจาะกลุ่มผู้หญิง เช่น

- แบรนด์น้ำดื่ม เริ่มหันมาทำตลาดและสื่อสารกับผู้หญิงมากขึ้น เพราะเขาเห็นว่าจริง ๆ แล้วผู้หญิงเป็นคนตัดสินใจซื้อของจากซูเปอร์มาร์เก็ต

- รองเท้าแตะผู้ชาย ก็มีการทำตลาดกับผู้หญิงเช่นกัน เพราะผู้ซื้อตัวจริงคือผู้หญิงที่ซื้อให้แฟนตัวเอง

- แบรนด์สบู่สำหรับผู้ชายในต่างประเทศ ก็พบว่า พฤติกรรมของผู้ชายจะเน้นอะไรง่าย ๆ มาก่อน คือใช้สบู่ของผู้หญิงในการอาบน้ำ ทางแบรนด์จึงออกมาทำการสื่อสารไปในทางที่ว่า อยากให้แฟนกลิ่นเหมือนตัวเองหรือทำไมไม่ใช้สบู่ที่สมกับการเป็นผู้ชายหน่อย ซึ่งจริง ๆ แล้ว นั่นคือการสื่อสารกับผู้หญิง เพราะแบรนด์รู้ว่าผู้หญิงเป็นผู้ซื้อตัวจริง

 

 

อยากพัฒนาสินค้าให้ตรงใจผู้หญิง เอสเอ็มอีควรรู้อะไร? สิ่งสำคัญคือ ต้องหาปัญหา (Pain Point) ของผู้หญิงที่มีอยู่ให้เจอ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาสินค้าหรือบริการ ให้ออกมาตอบโจทย์ลูกค้าผู้หญิงมากที่สุด


Published on 21 August 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

บทความแนะนำ