5 เทคนิคกระตุ้นลูกค้าให้รีวิวสินค้า

หัวข้อ : Customer Journey สร้างจับจุดจับใจ ให้ลูกค้ายอมจ่าย
อ่านเพิ่มเติม : https://www.kasikornbank.com/th/business/sme/KSMEKnowledge/k-sme-inspired/Inspired/Inspired-Aug-2018.aspx

 

 

การรีวิวสินค้า หมายถึง คำชมสั้น ๆ แต่มีคุณค่าจากลูกค้าที่เขียนถึงประสบการณ์ในการใช้ผลิตภัณฑ์ของเรา เป็นคำชมที่มาจากลูกค้าที่ซื้อสินค้าหรือบริการไปใช้ ต่อให้คุณจะตะโกนว่าของคุณดีแค่ไหน ก็ดังไม่เท่าเสียงกระซิบว่า “แย่” ที่ลูกค้าบอกกันเอง ในทางตรงข้ามแค่ลูกค้ากระซิบกันเองว่า “เยี่ยม” ยอดขายของคุณก็เพิ่มขึ้นได้ 

ในเชิงจิตวิทยา เมื่อนักชอปได้อ่านหรือเห็นรีวิวจากลูกค้า “ตัวจริง” ที่ซื้อสินค้าไปใช้จากบนเว็บไซต์ของคุณ พวกเขารู้สึกว่า เขาสามารถไว้ใจแบรนด์ของคุณได้ ซึ่งสอดคล้องกับหลักการขายพื้นฐานที่ว่า “เมื่อผู้คนชอบคุณ เขาจะคุยกับคุณ และเมื่อเขาเชื่อคุณ เขาจะซื้อของคุณ” 

รายงานวิจัยทางการตลาดส่วนใหญ่ยังให้ผลลัพธ์ตรงกันว่า ลูกค้าส่วนใหญ่ตัดสินใจซื้อจากรีวิวที่พวกเขาอ่าน  ถ้าธุรกิจออนไลน์ของคุณได้รับ รีวิวเชิงบวกจากลูกค้า = ยอดขายที่เพิ่มขึ้น ประเด็นคือ ทำอย่างไรถึงจะได้รีวิวดี ๆ จากลูกค้า? เพราะนั่นหมายถึง การทำให้ลูกค้าลุกขึ้นมาช่วยทำการตลาดให้กับธุรกิจ

 

1. ขอให้ลูกค้าช่วยรีวิวผลิตภัณฑ์ของคุณ

การขอลูกค้าตรง ๆ ให้ช่วยแสดงความคิดเห็นต่อผลิตภัณฑ์เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในการที่จะได้รีวิว ซึ่งข้อมูลระบุว่า 70% ของลูกค้าจะให้รีวิวเมื่อได้รับการร้องขอ

  • ขอร้องลูกค้าอย่างจริงใจว่า “รีวิวของคุณลูกค้าสำคัญมาก ขอบคุณค่ะ” พวกเขาจะเข้าใจ และหากพวกเขาพอใจในคุณภาพสินค้าของเรา มีโอกาสที่เขาจะช่วยรีวิวให้คุณ
  • ควรร้องขอรีวิวหลังจากลูกค้าได้รับสินค้าทิ้งระยะเวลาไม่นานนัก เพราะหากคุณร้องขอช้าไป เช่น 1 เดือนไปแล้ว ลูกค้าอาจจะไม่ตื่นเต้นกับสินค้าของคุณเหมือนวันแรก ๆ (ขึ้นอยู่กับสินค้า เช่น ใช้ให้ผลเร็วแค่ไหน) 
  • อาจกระตุ้นให้พวกเขาให้รีวิวเร็วขึ้นได้ด้วยของกำนัลเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น ส่วนลดในการซื้อครั้งหน้า เป็นต้น

 

2. เพิ่มภาพรีวิวสินค้าจากลูกค้า

ภาพถ่ายจากลูกค้าที่กำลังมีความสุขกับการใช้ผลิตภัณฑ์มีมูลค่าทางการตลาดมาก

  • หากลูกค้าโพสต์ภาพกำลังใช้ผลิตภัณฑ์ของคุณบนโซเชียลมีเดีย ให้คุณรีบติดต่อพวกเขา และขออนุญาตนำภาพของเขาไปใช้บนช่องทางโซเชียลมีเดียของคุณทันที มันเป็นหลักฐานที่น่าเชื่อถือที่สุด 
  • แนะนำให้ลองค้นหาและรวบรวมคอนเทนต์ หรือภาพที่มีการพูดถึงผลิตภัณฑ์ของเราบนอินสตาแกรม แล้วขออนุญาตจากเจ้าของเพื่อขอใช้ภาพนั้น เป็นวิธีที่น่าสนใจและได้ผลมาก

 

3. เสนอให้ตัวอย่างไปใช้ฟรี ๆ

เริ่มต้นด้วยการระบุกลุ่มเป้าหมายที่สนใจอยากใช้สินค้ามาก แล้วร้องขอให้พวกเขาถ่ายรูปคู่กับสินค้า พร้อมรีวิว และอย่าลืมที่จะทำการวิจัยตลาดจากผู้ใช้กลุ่มนี้ด้วย เช่น 

  • ถามพวกเขาว่า ชอบไหม รู้สึกอย่างไร 
  • มีเหตุผลอะไรบ้างที่ทำให้พวกเขาไม่ซื้อผลิตภัณฑ์ตัวนี้ของเรา 
  • พวกเขาซื้อผลิตภัณฑ์ที่คล้ายกันนี้ บ้างหรือไม่?

คำตอบที่ได้จะช่วยให้คุณสามารถนำไปใช้ปรับแต่งหน้าร้านออนไลน์ ตลอดจนโพสต์เฟซบุ๊กที่ช่วยให้ปิดการขายได้มากขึ้นอีกด้วย

 

4. อย่าสร้างรีวิวปลอม

การเขียนรีวิวปลอมเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำที่สุด ซึ่งต้องขอย้ำว่า มันดูแย่มากและส่งผลกระทบร้ายแรงกับแบรนด์ อีกทั้งยังทำให้ความน่าเชื่อถือของแบรนด์ลดลง หรืออาจจะหายไปพร้อมกับยอดขาย ซ้ำร้ายคือ ธุรกิจอาจไปไม่รอดกันเลยทีเดียว เชื่อว่าพวกเราเองก็สังเกตเห็นอยู่ว่า อันไหนเป็นรีวิวปลอม แต่บ่อยครั้งที่ลูกค้าไม่ทันสังเกตเห็น

 

5. ทำให้การให้รีวิวเป็นเรื่องง่ายที่สุด

ระบบอี-คอมเมิร์ซของคุณควรจะสามารถส่งอีเมลอัตโนมัติ เพื่อขอคอมเมนต์ และถ้าจะให้ง่ายขึ้นไปอีก ควรให้ลูกค้าสามารถคอมเมนต์ผ่านการตอบอีเมลได้เลย (ไม่ต้องคลิกลิงก์มากรอกบนเว็บ) หรือการให้ลูกค้าสามารถอัปโหลดรูปภาพที่รีวิวได้โดยง่าย ดังนั้น การทำระบบให้ลูกค้ารีวิวได้ง่ายเป็นการลงทุนที่ไม่ควรมองข้าม


Published on 28 August 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

บทความแนะนำ

ตลาดกลุ่มผู้สูงอายุ ที่เอสเอ็มอีควรจับตามอง

หัวข้อ : Aging Society กับวิถี New Normal
อ่านเพิ่มเติม :https://www.bangkokbanksme.com/en/aging-society-and-the-new-normal

 

 

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้พฤติกรรมของคนทั่วโลกและคนไทยจะเปลี่ยนแปลงไปสิ้นเชิงจนกลายเป็น New Normal หรือ ชีวิตวิถีใหม่ ในทุกด้านของการดำรงชีวิต โดยเฉพาะสังคมกลุ่มผู้สูงอายุ (Aging Society) ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงในการติดเชื้อโควิดมากที่สุด

การเว้นว่างระยะห่างทางสังคมทำให้กลุ่มผู้สูงวัยต้องอยู่กับบ้านมากขึ้น จากวิถีชีวิตเดิมต้องออกไปทำกิจกรรมนอกบ้านพบปะเพื่อนฝูงในกลุ่มวัยเดียวกันเพื่อคลายความเหงา แต่หลังจากนี้ความตระหนักด้านสุขอนามัยสำคัญมากขึ้น ทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจากเดิม

อินเทอร์เน็ตกลายเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นจนแทบขาดไม่ได้ ทุกอย่างจะทำงานผ่านระบบดิจิทัลทั้งหมด ทั้งการจ่าย การโอน หรือ การทำธุรกรรมต่าง ๆ ผ่านออนไลน์จะกลายเป็นเรื่องปกติแทนที่การใช้เงินสด ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้สูงอายุแต่เดิมถูกมองว่าเป็นกลุ่มที่มีความเชื่องช้าในการเข้าถึงเทคโนโลยี แต่ปัจจุบันภายหลังล็อกดาวน์กลับปรากฏว่าผู้สูงอายุในเมืองใหญ่มีความสามารถในการเข้าถึง และใช้เทคโนโลยีไม่ต่างจากคนกลุ่มอื่นเท่าไหร่นัก หรือจะเรียกได้ว่าเป็นวิถีใหม่สำหรับกลุ่มผู้สูงอายุเลยก็ว่าได้

 

 

ตลาดผู้สูงวัยมีศักยภาพสูง กำลังซื้อสูง

ประเทศไทยกำลังจะเข้าสู่สังคมสูงวัยโดยแท้จริง ปัจจุบันประเทศไทยมีประชากรทั้งหมด 66.5 ล้านคน เป็นประชากรที่สูงอายุเกิน 60 ขึ้นไปจำนวน 9.4 ล้านคน หรือคิดเป็น 14% ของประชากรทั้งหมด และจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นปีละประมาณ 5 แสนคน ซึ่งคาดว่าในปี 2568 จะมีจำนวนประชากรผู้สูงอายุเกิน 20% ของประชากรทั้งหมด นั่นหมายความว่ามูลค่าตลาดกลุ่มผู้สูงวัยจะมีกำลังซื้อขนาดใหญ่และกลุ่มมีกำลังซื้อสูง นักการตลาดและแบรนด์ไม่ควรมองข้าม 

  • สินค้าอุปโภคบริโภคเพื่อสุขภาพที่สามารถตอบโจทย์กลุ่มผู้สูงวัย ในช่วงชีวิตเปลี่ยนผ่านจากโควิด เป็นกลุ่มสินค้าที่น่าสนใจอย่างมาก
  • อาหารแปรรูป, เฟอร์นิเจอร์, สินค้าไลฟ์สไตล์, เครื่องมือที่ใช้ทางการแพทย์ และวัสดุก่อสร้างตกแต่งบ้าน เป็นกลุ่มสินค้าคาดว่าจะขายดีเป็นพิเศษ
  • ผู้สูงอายุจะเน้นการซื้อด้วยเหตุผลไม่ใช้อารมณ์ แต่ก็ให้ความสำคัญกับความพึงพอใจเป็นหลักด้วย
  • การเจาะเข้าการขายตรงทางโทรทัศน์ โดยใช้กลยุทธ์ของถูกและดี คุ้มค่า ที่สำคัญคือการใช้คำว่า ‘จำเป็น’ สามารถสร้างแรงจูงใจจากกลุ่มลูกค้าผู้สูงอายุได้อย่างมาก
  • ตลาดผู้สูงอายุ มีแนวโน้มการเติบโตในกลุ่มธุรกิจที่สอดคล้องกับความต้องการผู้สูงอายุ อาทิ ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ, ธุรกิจการท่องเที่ยวสำหรับผู้สูงอายุ, ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์, ธุรกิจเนอร์สซิ่งโฮมและโฮมแคร์, ธุรกิจความงาม ธุรกิจการวางแผนทางการเงิน เป็นต้น

นับตั้งแต่ปี 2562 ประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงวัยอย่างสมบูรณ์ และในอีก 20 ปีข้างหน้าสังคมผู้สูงอายุจะเติบโตเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าของจำนวนประชากร ตลาดผู้สูงอายุในประเทศไทยจึงยังมีโอกาสในการทำธุรกิจได้อีกมากแบบคาดไม่ถึง ผู้ประกอบการจึงต้องตอบโจทย์ความต้องการของผู้สูงอายุในการใช้ชีวิตประจำวันให้ได้

 

Published on 28 August 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

บทความแนะนำ

กลยุทธ์ Omni Channel ปรับรายได้เพิ่มยอดขายจากตลาด 2 ยุค

หัวข้อ : จากหน้าร้านสู่ตลาดออนไลน์ กระชากยอดนิ่งให้วิ่งเป็นยอดล้าน(1) , Omni Channel ผสานดิจิทัลกับธุรกิจเอสเอ็มอี (2)
อ่านเพิ่มเติม :https://www.kasikornbank.com/th/business/sme/KSMEKnowledge/k-sme-inspired/Inspired/Inspired-Jul-2018.aspx, https://scbsme.scb.co.th/sme-inspiration-detail/SCB_Omni

 

โลกออนไลน์เป็นช่องทางการทำธุรกิจที่ทรงอิทธิพลมากในปัจจุบัน ส่งผลให้อีคอมเมิร์ซกลายเป็น 1 ใน 5 กิจกรรมของพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตของคนไทย และมีมูลค่าสูงถึง 2.9 ล้านล้านบาท ในขณะที่การเติบโตของช่องทางการขายหน้าร้าน (Offline) ยังคงบทบาทมีสำคัญ เพราะเปรียบเหมือนโชว์รูมให้ลูกค้าได้มาสัมผัส ทดลองสินค้าจริง สร้างความเชื่อมั่นก่อนตัดสินใจซื้อ 

กลยุทธ์ออมนิชาแนล (Omni Channel) รวมตลาดออฟไลน์และออนไลน์ จึงไม่เพียงเสริมจุดเด่นลดจุดด้อย แต่ยังไปเติมเต็มความพึงพอใจของผู้บริโภคทุกกลุ่มได้อย่างมีประสิทธิภาพออมนิชาแนล (Omni Channel) ถือว่าเป็นเทรนด์สำคัญที่ผู้ประกอบการควรให้ความสนใจ

 

ออนไลน์เข้าถึงคน มีผลต่อการตัดสินใจ

เมื่อมือถือทำให้การซื้อสินค้าสะดวกง่าย สื่อออนไลน์กลายเป็นเครื่องมือที่เข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้อย่างไร้พรมแดน ด้วยต้นทุนที่ต่ำ สามารถขายของได้ 24 ชั่วโมง และมีผลต่อการตัดสินใจซื้อสินค้าของผู้บริโภคในปัจจุบันถึง 80%  ทุกวันนี้เอสเอ็มอีไทยมากกว่า 50% จึงใช้เฟซบุ๊ก (Facebook) เป็นช่องทางในการเริ่มต้นธุรกิจ และใช้เป็นช่องทางประชาสัมพันธ์ธุรกิจสูงถึง 90%

หน้าร้านโชว์รูมที่มีผลทางใจ

หลายธุรกิจการคิดว่าการมีหน้าร้านเป็นต้นทุนที่ไม่จำเป็นจึงหวังพึ่งออนไลน์เพียงอย่างเดียว แต่การแข่งขันที่รุนแรงสินค้ามีการตัดราคา การทำตลาดออนไลน์อย่างเดียวจึงไม่ได้สร้างธุรกิจที่ยั่งยืน เพราะธุรกิจที่ยั่งยืนอยู่ได้มักเป็นธุรกิจที่มีทั้งออนไลน์และมีหน้าร้านเพื่อเติมเต็มความต้องการของลูกค้า โดยเฉพาะธุรกิจที่ขายสินค้าราคาแพงยอดบิลส่วนใหญ่มักมาจบที่หน้าร้าน เพราะลูกค้ามักต้องการเห็นสินค้า อยากมาทดสอบสินค้าจริงก่อนตัดสินใจซื้อ

 

 

แม้วันนี้ตัวเลขของตลาดออนไลน์ทั่วโลกเติบโตแบบก้าวกระโดดอย่างต่อเนื่อง แต่การจะเข้ามาแชร์ส่วนแบ่งรายได้จากตลาดออนไลน์อาจไม่ง่ายอย่างที่คิด การทำตลาดออนไลน์เพียงอย่างเดียวอาจเสี่ยงเกินไป ตลาดเก่าอย่างออฟไลน์ที่ช่วยสร้างความน่าเชื่อถือแต่อาจจะมีต้นทุนค่าใช้จ่าย การมีหน้าร้านจำนวนมากเพื่อขยายตลาดอาจไม่ใช่คำตอบของการทำธุรกิจวันนี้

 

การผสมผสานช่องทางออฟไลน์และออนไลน์เข้าด้วยกันอย่างลงตัว จะนำพาธุรกิจไปสู่จุดหนึ่งเป้าหมายสำคัญคือกำไรที่เพิ่มขึ้นได้ การก้าวสู่ออมนิชาแนล (Omni Channel) จึงจำเป็นสำหรับการทำธุรกิจ ซึ่งสิ่งที่จะต้องดำเนินการในการทำออมนิชาแนล (Omni Channel) สำหรับเอสเอ็มอี มีด้วยกัน 4 ประการได้แก่

  1. การเชื่อมโยงข้อมูลจากทุกช่องทางเป็นหนึ่งเดียว 

โดยเชื่อมโยงข้อมูลจากออนไลน์ โซเชียลมีเดีย หน้าร้าน และช่องทางอื่น ๆ ให้เป็นฐานข้อมูลเดียวกัน เพื่อให้บริการลูกค้าได้อย่างต่อเนื่องในทุกช่องทาง

  1. การสื่อสารแบบต่อเนื่อง 

เป็นการเชื่อมโยงการสื่อสารในทุกช่องทางให้ต่อเนื่อง เช่น มีข้อมูลร้านค้ารองรับในช่องทางออนไลน์ มีแผนที่ กูเกิลแมพ (Google Map) ให้ลูกค้าสามารถเดินทางมาที่ร้านค้า รวมถึงมีเบอร์ติดต่อ หรือปุ่มสั่งซื้อสินค้าบนหน้าออนไลน์ได้

  1. เชื่อมโยงระบบสต๊อกสินค้าเข้าด้วยกัน 

ลูกค้าสามารถซื้อสินค้าจากทุกช่องทาง และไปรับสินค้าได้จากทุกช่องทางที่สะดวกเช่นกัน

  1. เชื่อมโยงระบบชำระเงิน 

นอกจากซื้อสินค้าได้หลากหลายช่องทางแล้ว ยังต้องสามารถชำระเงินได้หลากหลายช่องทางเช่นกัน เช่น ผ่านออนไลน์ ผ่านสาขาธนาคาร และผ่านหน้าร้านสะดวกซื้อ เป็นต้น

 

ประโยชน์ที่ได้รับจากการทำออมนิชาแนล (Omni Channel)

  • สามารถให้ข้อมูลกับผู้ซื้อ ช่วยในการตัดสินใจได้อย่างรวดเร็ว
  • สร้างภาพลักษณ์และการบอกต่อให้กับแบรนด์
  • มีช่องทางจำหน่ายเพิ่มขึ้นและเชื่อมต่อกัน ทำให้มีโอกาสขายสินค้าได้ดีขึ้น
  • เพิ่มความสะดวกในการขายและบริการ
  • สร้างประสบณ์การที่ดีแบบส่วนตัวให้กับผู้ซื้อ
  • ช่วยเชื่อมต่อข้อมูลเพื่อเป็นประโยชน์กับเจ้าของธุรกิจมากขึ้น
  • นำเสนอโปรโมชั่นส่วนบุคคลได้อย่างมีคุณภาพ

 

Published on 28 August 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

บทความแนะนำ

"บีโอไอ" ช่วยสนับสนุนเอสเอ็มอีอย่างไร

หัวข้อ : มาตราการบีไอโอ ทางออก SMEsไทย ปีที่ 3 ฉบับที่ 5
อ่านเพิ่มเติม : https://www.boi.go.th/upload/ejournal/2020/05/files/extfile/DownloadURL.pdf

 

 

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ให้การสนับสนุนธุรกิจทุกขนาด หากผ่านหลักเกณฑ์ตามที่กำหนด โดยให้การส่งเสริมด้านการลงทุนทั้งในประเทศ และช่วยเหลือธุรกิจไทยที่จะไปลงทุนต่างประเทศด้วยเช่นกัน อย่างธุรกิจที่ต้องการย้ายฐานการผลิตไปยังต่างประเทศ บีโอไอจะเข้าไปมีบทบาทในการสนับสนุนช่วยเหลือ ศึกษาเรื่องกฏระเบียบการลงทุนในประเทศต่าง ๆ พร้อมให้คำปรึกษา เข้าเจรจากับภาครัฐของประเทศนั้น ๆ และหลายคนอาจเข้าใจผิดว่าบีโอไอให้การส่งเสริมเฉพาะธุรกิจขนาดใหญ่หรือธุรกิจจากต่างชาติ แต่อันที่จริงแล้วมีธุรกิจเอสเอ็มอีได้รับการสนับสนุนอยู่ถึงร้อยละ 60 – 70 ทีเดียว

การส่งเสริมการลงทุนโดยให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอากร เช่น

  • การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลในเวลาหนึ่ง โดยทั่วไปสูงสุดไม่เกิน 8 ปี
  • การยกเว้นอากรนำเข้าของเครื่องจักรและวัตถุดิบ

การส่งเสริมการลงทุนสิทธิประโยชน์ที่ไม่เกี่ยวกับภาษีอากร เน้นให้สิทธิประโยชน์แก่บริษัทต่างชาติ เช่น

  • สิทธิในการถือครองที่ดิน
  • การอำนวยความสะดวกในเรื่องการนำเข้าแรงงานฝีมือจากต่างประเทศ

 

คุณสมบัติเอสเอ็มอีตามมาตรการของบีโอไอ

  1. เอสเอ็มอีจะต้องอยู่ในประเภทกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล (ประเภทกิจการในกลุ่ม A) และประเภทกิจการบางส่วนที่ไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล (ประเภทกิจการในกลุ่ม B1) ตามประกาศ กกท. ที่ 2/2557
  2. เอสเอ็มอีจะต้องเป็นบุคคลธรรมดาสัญชาติไทย ถือหุ้นไม่น้อยกว่า 51% ของทุนจดทะเบียน
  3. รายได้รวมของเอสเอ็มอีทั้งที่ได้รับการส่งเสริมฯ และไม่ได้รับการส่งเสริมฯ ต้องไม่เกิน 500 ล้านบาทต่อปี ในช่วง 3 ปีแรก
  4. เอสเอ็มอีจะต้องมีเงินลงทุนในโครงการไม่น้อยกว่า 500,000 บาท โดยไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียน (จากปกติที่กำหนดไว้ที่ 1 ล้านบาท)
  5. กำหนดให้มีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนไม่เกิน 4 : 1 (จากปกติที่กำหนดไว้ที่ 3 : 1)

 

สิทธิประโยชน์บีโอไอ เพิ่มศักยภาพเอสเอ็มอีโดยเฉพาะ

แม้ว่าบีโอไอจะครอบคลุมธุรกิจทุกขนาด แต่สำหรับธุรกิจเอสเอ็มอีจะมีหลายมาตรการที่ได้ตั้งข้อกำหนดพิเศษเอาไว้ เพื่อเปิดโอกาสให้เอสเอ็มอีเข้าถึงสิทธิประโยชน์ได้ง่ายขึ้น เช่น

- สิทธิประโยชน์พื้นฐานตามประเภทกิจการ และเพิ่มเติมวงเงินยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็น 200 % ของเงินลงทุน โดยไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียน

- ได้รับยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับเครื่องจักร

- อนุญาตให้นำเครื่องจักรใช้แล้วของโครงการเดิม มาใช้ในโครงการที่ขอรับการส่งเสริมฯได้ โดยมีมูลค่าไม่เกิน 10 ล้านบาท แต่จะต้องลงทุนใหม่ในเครื่องจักรหลักเพิ่มเติมเป็นสัดส่วนไม่น้อยกว่า 50% ของมูลค่าเครื่องจักรทั้งหมดที่ใช้ในโครงการ

- สิทธิประโยชน์เพิ่มเติมเพื่อพัฒนาความสามารถในการแข่งขัน หากเอสเอ็มอีลงทุนหรือมีค่าใช้จ่ายในกิจกรรมที่จะช่วยเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขัน จะสามารถขยายสิทธิประโยชน์ได้มากขึ้น เช่น

  • การวิจัยพัฒนาเพื่อให้เกิดนวัตกรรมใหม่ ๆ
  • การฝึกอบรมบุคคลากรหรือรับนักศึกษาฝึกงานระยะยาว
  • การซื้องานวิจัยในประเทศที่น่าสนใจมาใช้ประโยชน์ในเชิงพานิชย์
  • การอบรมเทคโนโลยีขั้นสูง
  • การออกแบบผลิตภัณฑ์หรือบรรจุภัณฑ์

 

สิทธิและประโยชน์พิเศษเพิ่มเติม 

  • กรณีเอสเอ็มอีตั้งสถานประกอบการในจังหวัดที่มีรายได้ต่อหัวต่ำ 20 จังหวัด ได้แก่ กาฬสินธุ์ ชัยภูมิ นครพนม น่าน บึงกาฬ บุรีรัมย์ แพร่ มหาสารคาม มุกดาหาร แม่ฮ่องสอน ยโสธร ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ สกลนคร สระแก้ว สุโขทัย สุรินทร์ หนองบัวลำภู อุบลราชธานี และอำนาจเจริญ ให้ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติม 3 ปี แต่รวมกันแล้วไม่เกิน 8 ปี ทั้งนี้หากเป็นประเภทกิจการในกลุ่ม A1 และ A2 จะให้ได้รับการลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล 50% เพิ่มเติมอีก 5 ปี นับจากวันที่กำหนดระยะเวลาการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสิ้นสุดลง
  • กรณีเอสเอ็มอีตั้งสถานประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมหรือเขตอุตสาหกรรมที่ได้รับการส่งเสริมฯ ให้ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติมอีก 1 ปี แต่รวมกันแล้วไม่เกิน 8 ปี ยกเว้นประเภทกิจการที่มีเงื่อนไขบังคับว่า จะต้องตั้งในนิคมอุตสาหกรรมหรือเขตอุตสาหกรรมที่ได้รับการส่งเสริมฯและประเภทกิจการในกลุ่ม B
  • กรณีเอสเอ็มอีตั้งสถานประกอบการในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน (SEZ) จะได้รับวงเงินภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติม 200% ของเงินลงทุน โดยไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียนเพิ่มเติมจากสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับพิเศษตามมาตรการส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน

บีโอไอได้เปิดช่องทางเผยแพร่ข้อมูลและคำแนะนำแก่เอสเอ็มอีหลายช่องทางด้วยกัน

  • เว็บไซต์ www.boi.go.th ช่องทางหลักในการสื่อสาร เป็นพื้นที่ที่รวบรวมข้อมูลเอาไว้ทั้งหมด
  • อีเมล head@bot.go.th สามารถส่งคำถามผ่านทางอีเมลได้
  • ติดต่อ ศูนย์บริการลงทุน ที่บีโอไอสำนักงานใหญ่ หรือจามจุรีสแควร์
  • เฟซบุ๊ก BOI News
  • ไลน์แอด @boinews
  • โทรศัพท์ 025538111

 

Published on 27 August 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

บทความแนะนำ

5 เหตุผล ขายของออนไลน์ทำไมต้องมีรีวิว

หัวข้อ : วารสารกรมพัฒนาธุรกิจการค้า (DBD) ฉบับที่ 51 ปีที่ 9 
อ่านเพิ่มเติม :https://www.dbd.go.th/download/article/article_20190902105049.pdf

 

การมี รีวิว” (Review) แสดงประกอบรายละเอียดสินค้าในเว็บไซต์ หรือร้านค้าของคุณบนแพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ นั้นจะช่วยเสริมการพิจารณาของลูกค้าที่กำลังดูร้านค้าอยู่ เพราะสิ่งหนึ่งที่ลูกค้าในยุคนี้มองหาเมื่อสนใจสินค้าหรือบริการก่อนจะตัดสินใจซื้อนั่นก็คือรีวิวจากลูกค้าก่อนหน้านี้นั่นเอง นอกจากนี้ความสำคัญอื่นๆ ที่เราได้รับจากการมีรีวิวสินค้าหรือรีวิวบริการก็คือ

 

ความน่าเชื่อถือ

เพราะก่อนเราจะเสียเงินไปซื้อของอะไรก็ตาม หากดูแล้วร้านค้าที่เรากำลังสนใจมีรายละเอียดสินค้าที่ไม่น่าเชื่อถือ ไม่มีรีวิวจากลูกค้าว่าสั่งซื้อแล้วได้รับของมาสภาพไหน , การจัดส่งไวหรือไม่ , ตอบคำถามลูกค้าดีไม่ดีอย่างไร หากเป็นอย่างนี้ความเชื่อมั่นต่อร้านค้าก็ไม่เกิดขึ้น

 

ได้รับความคิดเห็นโดยตรงจากลูกค้า

บ่อยครั้งมักจะมีความคิดเห็นดี ๆ เพื่อนำไปพัฒนาปรับปรุงสินค้าและบริการ มักมาจากลูกค้าโดยตรง หลังจากที่พวกเขาได้ทดลองใช้สินค้าของเราแล้ว ซึ่งเป็นประสบการณ์จากผู้ใช้งานจริง ๆ ที่มีคุณค่า อาจช่วยให้เราได้พัฒนาสินค้าที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้มากที่สุด

 

ช่วยให้ค้นหาสินค้าเจอได้ง่ายขึ้น

เครื่องมือค้นหาเสิร์ซเอนจิ้นที่เราคุ้นเคยกันดีอย่างกูเกิ้ล (Google) มักดึงเอาสินค้าที่มีคนรีวิวมาแสดงให้นักท่องเว็บฯ เห็นด้วย ยิ่งสินค้าของเราได้รับการรีวิวหรือพูดถึงจากลูกค้ามีจำนวนมาก ยิ่งเป็นตัวชี้วัดถึงความน่าเชื่อถือและความน่าสนใจของสินค้าของเรามากตามไปด้วย จนทำอยากคลิกเข้าไปดูเว็บไซต์เพิ่มขึ้น

 

รีวิวด้านลบบางครั้งส่งผลดี 

ความผิดพลาดเป็นสิ่งที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้เสมอ หากเจ้าของร้านรับมือกับบางรีวิวที่ตำหนิการให้บริการได้ดีและแสดงออกถึงความจริงใจในการขออภัยลูกค้า รับผิดชอบในความผิดพลาดอย่างเหมาะสม ลูกค้าที่เข้ามาอ่านรีวิวจะรู้สึกถึงความน่าเชื่อถือ ช่วยเพิ่มการตัดสินใจในการใช้บริการมากขึ้น เพราะได้เห็นถึงการบริการหลังการขายอีกมุมหนึ่ง หากร้านค้ามีแต่คำชมอย่างเดียว มักทำให้ความรู้สึกน่าสงสัยมากกว่าเกิดความไว้วางใจ

 

สินค้ามีรีวิว คนยิ่งสนใจ

เมื่อลูกค้ารายใหม่ ๆ เข้ามาเห็นรีวิวก่อนหน้านี้ จะเกิดแรงจูงใจและความกล้าที่จะแชร์ความเห็นเพิ่มเติมทิ้งไว้ให้คนอื่น ๆ ได้รับรู้ต่อไป ยิ่งสินค้าชิ้นไหนมีรีวิวใหม่ ๆ เพิ่มเติมสม่ำเสมอ คนมักให้ความสนใจเพิ่มตามไปด้วย

 

Published on 26 August 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

บทความแนะนำ