9 ขั้นตอนแก้ปัญหา เมื่อถูกลูกค้า Complain

1. ทำความเข้าใจลูกค้า

ในการทำธุรกิจ สิ่งสำคัญที่มากกว่าการขาย คือ การรู้จักเอาใจลูกค้ามาใส่ใจเรา ดังนั้น เมื่อถูกลูกค้า Complain สิ่งที่เจ้าของกิจการควรทำคือ การแสดงถึงความเข้าใจในสิ่งที่ลูกค้าได้เจอ ลองคิดในมุมกลับกันว่า ถ้าเราได้รับบริการแบบนี้ เราจะบ่นแบบเดียวกันหรือไม่

 

2. รับฟัง

เมื่อถูกลูกค้าต่อว่า สิ่งที่ดีที่สุดคือการรับฟัง อย่าเพิ่งไปขัดจังหวะ และควรใช้สายตาที่แสดงถึงการตั้งใจฟัง เพื่อทำให้ลูกค้ารู้ว่า คุณพร้อมที่จะให้การช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างจริงใจ

 

3. ประเมินสถานการณ์

หากการ Complain ยังคงดำเนินต่อไป คุณควรทำการประเมินสถานการณ์ พยายามเกลี้ยกล่อมให้ลูกค้าใจเย็นลง และหากจำเป็นควรทำการจำกัดบริเวณ เพื่อไม่ให้กระทบไปยังลูกค้าคนอื่น เช่น หากลูกค้ามีอารมณ์ฉุนเฉียวมาก พูดจาเสียงดัง คุณควรพูดด้วยน้ำเสียงที่นุ่มนวลอย่างช้าๆ เพราะโดยธรรมชาติแล้วคนมักจะเลียนแบบพฤติกรรมของผู้อื่น วิธีนี้จะช่วยให้ลูกค้าใจเย็นลง หรืออาจจะถามเขาว่าต้องการที่จะรับน้ำดื่มไหม หรือต้องการที่จะไปคุยกันในที่เงียบๆ กว่านี้ไหม

 

4. ระวังการใช้คำพูด

อย่าใช้คำพูดที่จะทำให้สถานการณ์ที่เป็นอยู่แย่ลงไปกว่าเดิม เช่น “ไม่” หรือ “ทำไม่ได้” โดยเฉพาะอย่าบอกว่า “ไม่มีปัญหา” เพราะว่าปัญหาได้เกิดขึ้นมาแล้วและลูกค้าก็ไม่พอใจ หรืออาจเป็นคำพูดอื่นๆ ที่จะยิ่งทำให้สถานการณ์แย่ลง เช่น ทางเราไม่มีความจำเป็นที่จะต้องรับผิดชอบ หรือในส่วนนี้ลูกค้าต้องเป็นคนรับผิดชอบเอง เป็นต้น

 

5. รับทราบข้อร้องเรียน

เพราะคุณไม่สามารถให้ในสิ่งที่ทุกคนต้องการได้ ดังนั้น หากเกิดกรณีคอมเพลนขึ้น อย่างน้อยที่สุดที่ต้องทำคือ การรับทราบในข้อร้องเรียนของลูกค้า โดยเฉพาะถ้าเรื่องที่ถูกคอมเพลนนั้นถูกโพสต์บนโลกออนไลน์ ลูกค้าก็ยิ่งต้องการให้ทางเจ้าของยอมรับให้เร็วที่สุด

 

6. ย้ำให้เห็นว่ารับทราบ

เมื่อได้รับทราบข้อร้องเรียนแล้ว เจ้าของกิจการควรแสดงให้ลูกค้าเห็นว่าทางร้านรับรู้และเข้าใจในสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว ที่สำคัญอย่าลืมตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อมูลต่างๆ เพื่อป้องกันไม่ให้เหตุการณ์บานปลายมากกว่าเดิม

 

7. ตอบกลับพร้อมวิธีจัดการปัญหา

ทุกครั้งในการพูดคุย ทางร้านต้องมีความชัดเจน ต้องบอกให้เคลียร์ว่าจะมีวิธีการจัดการกับปัญหาอย่างไร เมื่อไรที่จะแก้ปัญหานั้นได้ เช่น ในกรณีที่ทางร้านให้รองเท้าลูกค้าผิดไซส์ เมื่อเกิดการ Complain ต้องมีการจัดการ ซึ่งอาจทำการเปลี่ยนรองเท้าที่ถูกต้องให้ทันทีหากลูกค้าอยู่ที่ร้าน หรืออาจทำการจัดส่งให้ในเวลาต่อไป ซึ่งทางร้านต้องทำการแจ้งให้ลูกทราบอย่างชัดเจน

 

8. ติดตามผล

หลังจากที่ได้ทำความเข้าใจกันแล้ว ทางร้านควรมีการติดตามผล เช่น ถ้าลูกค้า Complain เรื่องไม่ได้รับสินค้าหรือได้รับสินค้าไม่ถูกต้อง ซึ่งทางร้านได้มีการเปลี่ยนให้แล้ว ควรตรวจสอบให้แน่ใจอีกทีว่า ลูกค้าได้รับสิ่งที่ต้องการแล้ว เพื่อเป็นการแสดงให้เห็นถึงความใส่ใจ ซึ่งจะทำให้ลูกค้ารู้สึกดีขึ้น มีทัศนคติต่อร้านไปในทางบวกมากขึ้น เพราะเห็นว่าทางร้านให้ความสำคัญ

 

9. กล่าวคำขอบคุณ

สุดท้ายการกล่าวคำขอบคุณออกไป จะช่วยให้อารมณ์ขุ่นหมองที่มีอยู่ในใจของลูกค้าลดลงไปได้ อย่างน้อยก็ทำให้รู้สึกว่าทางร้านยังให้เกียรติกันอยู่ แม้บางร้านอาจจะไม่ได้ยึดคติที่ว่าลูกค้าคือพระเจ้า แต่ยังไงก็ต้องถือว่าผู้บริโภคเหล่านี้คือคนสำคัญต่อการทำกิจการ นอกจากนี้ อย่าลืมที่จะทำการเก็บรวบรวมข้อมูลให้ได้มากที่สุดว่า การคอมเพลนครั้งนี้เกิดจากอะไร เพื่อที่จะได้ไม่เกิดเหตุการณ์แบบเดิมขึ้นอีก หรือถ้าเกิดขึ้นอีก ทางร้านจะได้มีวิธีในการรับมือกับสถานการณ์ได้ดีขึ้น

 

 

Published on 22 September 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

 

 

 

บทความแนะนำ

ข้อควรรู้จาก สคบ. ฉลากสินค้าแบบไหนที่เรียกว่า “ดี”

สิ่งสำคัญสำหรับผู้บริโภคหรือลูกค้าในการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้า คือความมั่นใจว่าสินค้านั้นมีคุณภาพจริง ๆ และสิ่งที่จะทำให้เกิดความั่นใจได้ นั่นคือการได้รับข้อมูลที่เพียงพอ ด้วยเหตุนี้ ฉลากสินค้าจึงมีความสำคัญกับผู้ประกอบการ ไม่ว่าจะเป็นสินค้าที่ผลิตโดยโรงงาน หรือนำเข้ามาจำหน่าย ถือเป็นสินค้าที่ต้องควบคุมฉลาก

โดย พ.ร.บ. คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 กำหนดว่า “ฉลาก” หมายถึง รูป รอยประดิษฐ์ กระดาษหรือสิ่งอื่นใดที่ทำให้ปรากฏข้อความเกี่ยวกับสินค้า ซึ่งแสดงไว้ที่สินค้า หรือภาชนะบรรจุ หรือหีบห่อบรรจุสินค้า หรือสอดแทรก หรือรวมไว้กับสินค้า และยังรวมถึงเอกสารหรือคู่มือสำหรับใช้ประกอบสินค้า ป้ายที่ติดตั้งหรือแสดงไว้ที่สินค้าหรือภาชนะบรรจุหรือหีบห่อบรรจุสินค้านั้นด้วย

ดังนั้นมาดูกันว่า ฉลากสินค้าที่ดีควรเป็นอย่างไร ซึ่งข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) บอกไว้ว่า ในการจัดทำฉลากสินค้า ผู้ประกอบการต้องบอกรายละเอียดที่สำคัญและจำเป็นต่อการตัดสินใจซื้อและใช้งาน

โดยฉลากสินค้าต้องระบุข้อความดังนี้

  • ยี่ห้อ และประเภทหรือชนิดของสินค้า
  • ชื่อ-ที่อยู่ของผู้จัดจำหน่ายหรือนำเข้าที่สามารถติดต่อได้จริง
  • กรณีสั่ง/นำเข้าให้ระบุประเทศที่ผลิต
  • ชื่อหรือเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียน
  • ขนาด มิติ ปริมาณ ปริมาตร น้ำหนัก
  • วิธีใช้ ข้อแนะนำในการใช้ หรือห้ามใช้ หรือคำเตือน (ถ้ามี)
  • วันเดือนปีที่ผลิต หรือหมดอายุ หรือที่ควรใช้ก่อน
  • ราคา พร้อมระบุหน่วยบาท

นอกจากนี้ สิ่งสำคัญที่ผู้ประกอบการควรรู้เพิ่มเติมสำหรับลักษณะของฉลากสินค้า นั่นคือ

1. ข้อมูลในฉลากต้องตรงกับความเป็นจริง ไม่ทำให้เกิดความเข้าใจผิดเกี่ยวกับสาระสำคัญของสินค้า

2. ต้องเป็นภาษาไทย หรือภาษาไทยกำกับภาษาต่างประเทศ ซึ่งสามารถเห็นและอ่านได้ชัดเจน

3. ต้องแสดงไว้ที่ตัวสินค้า ภาชนะบรรจุ หีบห่อ หรือสอดแทรกรวมไว้กับสินค้า รวมไปถึงคู่มือ เอกสารประกอบสินค้า ป้ายที่ติดตั้งหรือแสดงไว้ที่สินค้า

 

 

ที่มา

http://www.ocpb.go.th/images/banner/Info/1544200783703.jpg

http://www.ocpb.go.th/images/banner/Info/1544200781027.jpg

 

Published on 22 September 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

 

 

บทความแนะนำ

จดเครื่องหมายการค้าด้วยตัวเอง ทำง่ายใน 3 ขั้นตอน

ในการดำเนินธุรกิจนั้น นอกเหนือจากการจดทะเบียนบริษัทแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ผู้ประกอบการควรดำเนินการให้ถูกต้อง นั่นก็คือ การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า (Trademark) กับกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์

ถามว่า ทำไมผู้ประกอบการควรจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า นั่นเพราะว่า เครื่องหมายการค้าจะมีประโยชน์ทั้งทางธุรกิจและทางกฎหมาย กล่าวคือ ในแง่ประโยชน์ทางธุรกิจ ผู้ประกอบการสามารถใช้เครื่องหมายการค้านี้ช่วยสร้างการจดจำให้แก่ผู้บริโภคได้ รวมถึงใช้เครื่องหมายการค้าเป็นตัวแยกแยะความแตกต่างของสินค้าที่มีอยู่มากมายในท้องตลาดได้อีกด้วย และสิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งที่ผู้ประกอบการ SME และคนทั่วไปยังไม่ค่อยรู้คือ “เครื่องหมายการค้า” เป็นทรัพย์สินที่สามารถนำไปเป็นหลักประกันสินเชื่อธุรกิจกับสถาบันการเงินได้ ขณะที่ประโยชน์ในทางกฎหมาย ผู้ประกอบการที่จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าแล้ว จะมีสิทธิ์ใช้เครื่องหมายการค้านั้นๆ ได้เพียงผู้เดียว กรณีที่ถูกผู้อื่นละเมิดสิทธิ์ ผู้ประกอบการสามารถฟ้องร้องดำเนินคดีได้

ก่อนที่ผู้ประกอบการจะดำเนินการยื่นจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ควรรู้และเข้าใจถึงขั้นตอนของการจดทะเบียนฯ ทั้งหมด ซึ่งจะมีอยู่ด้วยกัน 8 ขั้นตอน คือ 1. ผู้ประกอบการตรวจค้นเครื่องหมายการค้า เพื่อตรวจสอบว่ามีความเหมือนหรือคล้ายกับของผู้อื่นหรือไม่ด้วยตัวเอง 2. ยื่นคำขอจดทะเบียน 3. เจ้าหน้าที่ตรวจสอบเบื้องต้น 4. นายทะเบียนตรวจสอบเครื่องหมายการค้า 5. การประกาศโฆษณา 6. การคัดค้าน 7. ชำระค่าธรรมเนียม และ 8. กรมทรัพย์สินทางปัญญารับจดทะเบียนเครื่องหมาย ทั้งนี้ โดยภาพรวมจะใช้ระยะเวลาดำเนินการอยู่ที่ประมาณ 16 เดือนด้วยกัน

จากขั้นตอนที่กล่าวมา ผู้ประกอบการจะดำเนินการเพียงแค่ 3 ขั้นตอนเท่านั้น คือ 1. การตรวจค้นด้วยตัวเอง 2. การยื่นคำขอจดทะเบียน และ 3. การชำระค่าธรรมเนียม ซึ่งดำเนินการได้ง่ายๆ ด้วยตัวเอง เริ่มจาก…

 

 

1. ตรวจสอบเครื่องหมายการค้า

ในขั้นตอนแรกของการตรวจค้น ผู้ประกอบการจะต้องทำการตรวจสอบเครื่องหมายการค้าที่ยื่นขอจดทะเบียนว่าเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายของผู้อื่นที่จดทะเบียนไปแล้วหรือไม่ หรืออยู่ระหว่างการขอจดทะเบียนหรือไม่ ซึ่งการตรวจค้นด้วยตัวเอง สามารถทำได้ 2 ทาง คือ ตรวจค้นที่กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ชั้น 3 โดยต้องชำระค่าธรรมเนียมในการตรวจค้น 100 บาทต่อชั่วโมง หรือผู้ประกอบการสามารถตรวจค้นผ่านทางอินเทอร์เน็ต โดยเข้าไปที่เว็บไซต์กรมทรัพย์สินทางปัญญา (คลิกตรวจสอบเครื่องหมายการค้า) ซึ่งจะไม่มีค่าใช้จ่าย

ทั้งนี้ การตรวจค้นเครื่องหมายด้วยตนเอง เป็นเพียงการตรวจสอบเบื้องต้นเท่านั้น ซึ่งเครื่องหมายการค้าใดจะได้รับการจดทะเบียนหรือไม่ นายทะเบียนจะต้องพิจารณาตามข้อเท็จจริงและรายละเอียดของเครื่องหมายการค้าที่ยื่นขอจดทะเบียน เปรียบเทียบกับเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนไว้แล้ว โดยการพิจารณาเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า

 

 

2. ยื่นคำขอจดทะเบียน

ขั้นตอนต่อมาที่ผู้ประกอบการต้องดำเนินการ คือ การยื่นขอจดทะเบียน โดยผู้ประกอบการจะต้องเตรียมเอกสารตามที่กฎหมายกำหนด พร้อมกับกรอกข้อความให้สมบูรณ์ ซึ่งเอกสารที่จะใช้สำหรับการขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ประกอบไปด้วย

  • คำขอจดทะเบียน (แบบ ก. 01) ดาวน์โหลด แบบ ก.01 โดยจะต้องกรอกแบบฟอร์มดังกล่าวให้ครบถ้วน พร้อมติดรูปเครื่องหมายการค้าขนาดไม่เกิน 5 X 5 เซนติเมตร ต้นฉบับ 1 ชุด และถ่ายสำเนาอีกจำนวน 5 ชุด
  • รูปเครื่องหมายการค้า ที่เหมือนกับรูปที่ติดในคำขอจดทะเบียน จำนวน 5 รูป
  • สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน (กรณีเป็นบุคคลธรรมดา) หรือต้นฉบับหนังสือรับรองนิติบุคคลฉบับนายทะเบียนรับรองและออกให้ไม่เกิน 6 เดือน (กรณีเป็นนิติบุคคล) ทั้งนี้ ในกรณีการมอบอำนาจ จะต้องใช้หนังสือมอบอำนาจ (แบบ ก.18) ดาวน์โหลด แบบ ก.18 พร้อมปิดอากรแสตมป์ 30 บาท ต่อผู้รับมอบอำนาจ 1 คน

สำหรับการยื่นจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า สามารถดำเนินการได้ที่ชั้น 3 กรมทรัพย์สินทางปัญญา หรือสำนักงานพาณิชย์จังหวัด หรือทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ หรือทางเว็บไซต์กรมทรัพย์สินทางปัญญา (คลิกจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาทางอิเล็กทรอนิกส์)

 

 

3. ชำระค่าธรรมเนียม รอรับหนังสือสำคัญ

สำหรับขั้นตอนการชำระค่าธรรมเนียมนั้น จะแบ่งเป็น 2 ช่วง คือ ตอนยื่นจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ผู้ประกอบการจะต้องชำระค่าธรรมเนียมการยื่นคำขอจดทะเบียน รายการสินค้าหรือบริการอย่างละ 500 บาท และกรณีที่รูปเครื่องหมายการค้าเกินกว่าที่กำหนด 5 เซนติเมตร ต้องชำระค่าธรรมเนียมเฉพาะส่วนที่เกิน เซนติเมตรละ 100 บาท

หลังจากยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเรียบร้อยแล้ว เจ้าหน้าที่จะดำเนินการตรวจสอบและพิจารณา หากเครื่องหมายการค้าของท่านได้รับการจดทะเบียน นายทะเบียนจะมีหนังสือแจ้งให้ผู้ประกอบการดำเนินการชำระค่าธรรมเนียมรับจดทะเบียน ภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้ง โดยต้องชำระค่าธรรมเนียมสินค้าหรือบริการ อย่างละ 300 บาท ตามช่องทางเดียวกันกับตอนยื่นขอจดทะเบียนนั่นเอง

จากนั้นผู้ประกอบการจะได้รับหนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียน โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญาจะจัดส่งให้ตามที่อยู่ที่ระบุไว้ในคำขอจดทะเบียนภายใน 2 สัปดาห์ นับตั้งแต่วันที่ได้ชำระค่าธรรมเนียม

เพียงเท่านี้ ผู้ประกอบการจะเป็นผู้มีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวที่จะใช้เครื่องหมายการค้านั้นๆ กับสินค้าที่ได้จดทะเบียนไว้ และกรณีถ้ามีผู้มาละเมิดสิทธิในเครื่องหมายการค้าที่จดทะบียนไว้ ท่านสามารถฟ้องร้องดำเนินคดีและเรียกค่าสินไหมทดแทนความเสียหายจากบุคคลนั้นได้

แต่มีสิ่งหนึ่งที่ผู้ประกอบการต้องรู้ไว้ นั่นคือ เครื่องหมายการค้า จดที่ประเทศไหน คุ้มครองเฉพาะประเทศนั้น หากธุรกิจของท่านมีแผนที่จะขยายไปทำตลาดในประเทศอื่นๆ จำเป็นต้องมีการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า เพื่อคุ้มครองสิทธิด้วยเช่นกัน

 

 

Published on 22 September 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

 

บทความแนะนำ

3 ขั้นตอนจดทะเบียนบริษัทได้ง่ายๆ ด้วยตัวเอง

ในการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทสำหรับผู้ประกอบการหลายๆ คนมองมักว่าเป็นเรื่องที่ยุ่งยากลำบาก เพราะต้องมีขั้นตอนที่ซับซ้อนและต้องเตรียมเอกสารมากมาย แต่ปัจจุบันกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ได้มีการพัฒนาระบบการจดทะเบียนนิติบุคคลทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Registration) ผ่านทาง www.dbd.go.th เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการ สามารถดำเนินการจดทะเบียนนิติบุคคลได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น ดังนั้น มาดูกันว่าหากผู้ประกอบการจะจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทด้วยตนเองต้องทำอย่างไรบ้าง

 

1. จองชื่อบริษัท

สิ่งแรกที่ผู้ประกอบการต้องดำเนินการ คือ จองชื่อบริษัท ด้วยการเข้าไปยื่นจองชื่อนิติบุคคลผ่านทางระบบอินเทอร์เน็ตที่เว็บไซต์ www.dbd.go.th คลิกที่เมนู จองชื่อนิติบุคคล ซึ่งชื่อที่จะใช้นั้นต้องไม่ซ้ำ หรือใกล้เคียงกับบริษัทที่เคยจดทะเบียนไปแล้ว โดยจะทำการจองได้ครั้งละ 1 ชื่อเท่านั้น จากนั้นให้ดำเนินการจองชื่อและนายทะเบียนจะทำการตรวจสอบ เมื่อจองชื่อได้แล้วจะต้องยื่นจดทะเบียนภายใน 30 วัน ไม่เช่นนั้นต้องทำการจองชื่อใหม่

 

2. จัดเตรียมข้อมูลให้พร้อม

ในการจดทะเบียนบริษัท ผู้ประกอบการจำเป็นต้องเตรียมข้อมูลสำหรับจดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิและการจดจัดตั้งบริษัท ซึ่งหนังสือบริคณห์สนธิ คือ หนังสือที่แสดงความต้องการในการจัดตั้งบริษัท มีไว้เพื่อระบุขอบเขตต่างๆ ของธุรกิจ โดยผู้ประกอบการสามารถจดทะเบียนบริษัทและจดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิไปในคราวเดียวกันได้ แต่จะต้องมีการเตรียมข้อมูลให้พร้อมเพื่อความถูกต้องและรวดเร็ว

สำหรับข้อมูลที่ต้องเตรียมไว้ให้พร้อมมีดังนี้

  1. ชื่อบริษัทตามที่ได้จองไว้
  2. รายละเอียดที่ตั้งสำนักงานใหญ่ หากไม่ได้เป็นเจ้าของสถานที่เอง ต้องมีหนังสือยินยอมให้ใช้เป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่
  3. วัตถุประสงค์ของบริษัทต้องไม่ขัดต่อกฎหมาย ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรม
  4. ทุนจดทะเบียน เป็นการจำกัดความรับผิดชอบความเสียหายที่บริษัทอาจก่อขึ้น ส่วนใหญ่นิยมจดกันที่ 1 ล้านบาท
  5. ข้อมูลผู้เริ่มก่อการ หากอธิบายง่ายๆ ก็คือ ผู้ก่อตั้งธุรกิจนั่นเอง จะต้องมีอย่างน้อย 3 คน และต้องจองซื้อหุ้นอย่างน้อยคนละ 1 หุ้น
  6. ข้อมูลผู้ถือหุ้น ชื่อ-สกุล ที่อยู่ สัญชาติ และจำนวนหุ้นของผู้ถือหุ้นแต่ละคน
  7. ข้อมูลพยาน ต้องมี 2 คน โดยกรอก ชื่อ-นามสกุล เลขบัตรประชาชน วันเกิด ที่อยู่ อาชีพ
  8. รายละเอียดการประชุมจัดตั้งบริษัท เช่น ข้อมูลกรรมการบริษัท ชื่อ-สกุล ที่อยู่ และวันเกิดของกรรมการบริษัทแต่ละคน ข้อมูลผู้สอบบัญชี โดยกรอกชื่อ-นามสกุล เลขทะเบียนผู้สอบบัญชี และค่าตอบแทน และอำนาจกรรมการ ระบุจำนวนกรรมการที่มีอำนาจลงชื่อแทนบริษัท และระบุว่าต้องมีตราประทับหรือไม่ ถ้าเลือกต้องมีตราประทับก็จะต้องจัดทำตรายางด้วย เป็นต้น

 

3. ยื่นคำขอจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทผ่านระบบออนไลน์

การยื่นขอจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท สามารถดำเนินการผ่าน ระบบจดทะเบียนนิติบุคคลทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Registration) ในเว็บไซต์ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า โดยสามารถยื่นจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ทั้งในรูปแบบของห้างหุ้นส่วน หรือบริษัทจำกัด

เริ่มจากลงทะเบียนเพียงครั้งเดียว เพื่อขอรับ Username และ Password สำหรับใช้งานระบบ e-Registration ได้ที่ส่วนจดทะเบียนธุรกิจกลาง กรมพัฒนาธุรกิจการค้า และสำนักงานพัฒนาธุรกิจการค้าเขต 1-6 หรือ สำนักงานพาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศ โดยผู้ประกอบการต้องไปแสดงตัวตนต่อหน้านายทะเบียน หรือจะมอบอำนาจให้ผู้อื่นดำเนินการแทนก็ได้ เท่านี้ก็จะมีรายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์สำหรับจดทะเบียนนิติบุคคลแล้ว

จากนั้นให้ผู้ประกอบการเข้าสู่ระบบ e-Registration เพื่อยื่นคำขอจดทะเบียน และชำระค่าธรรมเนียม หากผู้ประกอบการชำระค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนบริษัทครบถ้วนแล้ว นายทะเบียนจะทำการรับเรื่องจดทะเบียน และแจ้งผลการจดทะเบียนผ่านอีเมล์  เมื่อท่านได้รับอีเมล์ ถือเป็นที่สิ้นสุดการจดทะเบียนบริษัทออนไลน์ จากนั้นรอรับหนังสือรับรองการจดทะเบียนบริษัท ซึ่งจะถูกจัดส่งให้กับท่านทางไปรษณีย์ตามที่อยู่ ซึ่งได้ระบุไว้ในระบบการลงทะเบียน e-Registration นั่นเอง

 

 

 

Published on 22 September 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

 

 

 

บทความแนะนำ

บุคคลธรรมดา VS นิติบุคล ความต่างเรื่องภาษี...ที่คนทำธุรกิจต้องรู้!!

การจะเข้าสู่วงจรธุรกิจเพื่อเป็นผู้ประกอบการมืออาชีพ ประเด็นแรกๆ ที่ควรให้ความสำคัญ คือจะทำธุรกิจแบบ “บุคคลธรรมดา” หรือ “นิติบุคคล” เพราะ 2 รูปแบบนี้มีความต่างกันทั้งในเรื่องข้อดี ข้อเสีย รวมถึงการจัดทำบัญชี และภาษี ที่ต้องดำเนินการให้ถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งจะตัดสินใจเลือกดำเนินธุรกิจในรูปแบบใด ควรศึกษาข้อมูลเหล่านี้ให้ดีก่อน

 

ทำธุรกิจรูปแบบ “บุคคลธรรมดา”

รูปแบบนี้ส่วนมากจะเป็นกิจการขนาดเล็ก เจ้าของลงทุนคนเดียว หรือในลักษณะของห้างหุ้นส่วนสามัญ (ไม่ได้จดทะเบียน) ซึ่งมีบุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป ตกลงทำธุรกิจและแบ่งปันผลประโยชน์ร่วมกัน แต่มีสภาพเป็นบุคคลธรรมดา

กิจการรูปแบบนี้แม้ไม่ต้องจัดทำบัญชีตามมาตรฐานบัญชี แต่จะต้องจัดทำรายงานเงินสดรับ จ่าย เพื่อให้ผู้ประกอบการทราบถึงรายได้ รายจ่าย ผลกําไรหรือขาดทุนจากการดำเนินธุรกิจ และใช้เป็นหลักฐานประกอบการยื่นขอสินเชื่อจากสถาบันการเงิน และยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

การดำเนินธุรกิจในรูปแบบนี้จัดตั้งง่าย มีความคล่องตัวสูง แต่ความน่าเชื่อถือจะมีน้อยกว่าเนื่องจากมีความเสี่ยงสูงในแง่ความรับผิดในหนี้สิน เพราะเจ้าของธุรกิจต้องรับผิดชอบหนี้สินที่เกิดขึ้นเองทั้งหมด

 

ทำธุรกิจรูปแบบ “นิติบุคคล”

ธุรกิจในรูปแบบ “นิติบุคคล” จะมีทั้งห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล ห้างหุ้นส่วนจำกัด และบริษัทจำกัด ซึ่งจดทะเบียนจัดตั้งที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์  รูปแบบนี้จะต้องมีการจัดทำบัญชีตามมาตรฐานบัญชี พร้อมทั้งมีผู้ตรวจสอบและรับรองบัญชี แน่นอนว่า ธุรกิจในรูปแบบนี้ย่อมมีความน่าเชื่อถือมากกว่า ส่งผลให้การขยายกิจการ การติดต่อกับลูกค้า หรือแม้แต่การเข้าถึงแหล่งเงินทุน สามารถทำได้ง่ายกว่าเช่นกัน เพราะมีข้อมูลทางบัญชีที่น่าเชื่อถือ ทำให้ธนาคารรู้ฐานะที่แท้จริงของกิจการ ขณะเดียวกัน สามารถนำไป วางแผนบริหารจัดการธุรกิจได้

นอกจากนี้ หากมองความเสี่ยงในแง่ความรับผิดในหนี้สิน ก็จะมีความเสี่ยงน้อยกว่า  เพราะธุรกิจจะถูกแยกจากตัวเจ้าของกิจการอย่างชัดเจน หนี้สินของกิจการจะเกี่ยวข้องกับผู้ถือหุ้น จำกัดเฉพาะมูลค่าหุ้นที่เป็นเจ้าของเท่านั้น

 

ความแตกต่างด้านภาษี ระหว่าง “บุคคลธรรมดา” กับ “นิติบุคคล”

เมื่อพิจารณาในด้านภาษีระหว่างผู้ประกอบการในรูปแบบ “บุคคลธรรมดา” กับ “นิติบุคคล” พบว่ามีความแตกต่าง เริ่มจาก…

 

การเสียภาษี

บุคคลธรรมดา : สำหรับ “ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา” อัตราภาษีสูงสุดอยู่ที่ 35% โดยการคำนวณภาษีมี 2 วิธี

วิธีที่ 1 เงินได้สุทธิ x อัตราภาษีก้าวหน้า (เงินได้สุทธิ = รายได้ – รายจ่าย – ค่าลดหย่อน)

วิธีที่ 2 รายได้นอกเหนือจากเงินเดือน หรือค่าจ้างแรงงานก่อนหักค่าใช้จ่าย x 0.5%

ทั้งนี้ หากคำนวณภาษีตามวิธีที่ 2 แล้วไม่เกิน 5,000 บาท ให้เสียภาษีตามวิธีที่ 1

นิติบุคคล : ผู้ประกอบการจะเสียภาษีจากกำไรสุทธิ (รายได้-รายจ่าย) อัตราภาษี หากเป็นนิติบุคคลทั่วไปอยู่ที่ 20% สำหรับ SME มีการยกเว้น/ลดพหย่อน อัตราภาษีในลักษณะขั้นบันได สูงสุดไม่เกิน 20%  ในกรณีขาดทุน ไม่ต้องเสียภาษีและยังสามารถนำผลขาดทุนไปหักกำไรปีต่อไปได้สูงสุดถึง 5 ปีด้วย

(สำหรับ บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีทุนจดทะเบียนชำระแล้วไม่เกิน 5 ล้านบาท และมีรายได้จากการขายสินค้าและบริการไม่เกิน 30 ล้านบาทต่อปี)

จะเห็นได้ว่า ระหว่างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและนิติบุคคล จะแตกต่างกันตามรูปแบบของธุรกิจ ลองย้อนกลับมาดูว่าธุรกิจของท่านอยู่ในรูปแบบใด แล้วทำให้ถูกต้อง เพื่อประโยชน์โดยตรงต่อตัวธุรกิจของท่านเอง

 

การคำนวณค่าใช้จ่าย

บุคคลธรรมดา : สามารถเลือกหักค่าใช้จ่าย ได้ 2 วิธี คือ 1. หักแบบเหมา ซึ่งไม่ต้องมีหลักฐานพิสูจน์รายจ่าย จึงสะดวกและง่าย แต่ส่วนใหญ่จะหักได้น้อยกว่าหักค่าใช้จ่ายตามจริง และ 2. หักตามจริง ซึ่งต้องมีหลักฐานพิสูจน์รายจ่ายนั้นๆ

 

การหักค่าใช้จ่าย

สำหรับผู้ประกอบการ SME ที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล สามารถนำรายการค่าใช้จ่ายบางประเภทมากหักได้มากกว่าค่าใช้จ่ายจริง เช่น การจ้างผู้สูงอายุทำงาน หักค่าใช้จ่ายได้ 2 เท่า การจ้างนักศึกษาทำบัญชี หักค่าใช้จ่ายได้ 2 เท่า การทำวิจัยและพัฒนา หักค่าใช้จ่ายได้ 3 เท่า การลงทุนซื้อเครื่องจักร หักค่าใช้จ่ายได้ 1.5 เท่า เป็นต้น

 

การหักค่าสึกหรอและ ค่าเสื่อมราคาในอัตราเร่ง

สามารถหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาทรัพย์สินบางประเภทในอัตราเร่งได้ (นับจากวันที่ได้มา) เช่น อาคารชั่วคราว หักได้ 100% เครื่องจักร คอมพิวเตอร์ และโรงงาน หักได้ 40% เป็นต้น (สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีทรัพย์สินถาวรไม่รวมที่ดินไม่เกิน 200 ล้านบาทและจ้างงานไม่เกิน 200 คน)

 

 

 

Published on 22 September 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

 

 

บทความแนะนำ