
พาคาเมี่ยนต่อยอดสินค้าพื้นบ้านด้วยดีไซน์
การ “ต่อยอด” ทางธุรกิจ คือ การสร้างแนวคิดในเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวกับการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ขึ้นมาใหม่จากพื้นฐานของธุรกิจเดิมที่เคยทำอยู่ก่อนแล้ว อาจมีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับธุรกิจเดิม หรือไม่เกี่ยวข้องกันเลยก็เป็นได้ “พาคาเมี่ยน” (Pakamian) เป็นตัวอย่างหนึ่งของธุรกิจที่เกิดขึ้นจากไอเดียการต่อยอดธุรกิจดั้งเดิมของครอบครัว โดยใช้แนวคิดในเรื่องของการออกแบบดีไซน์มาปรับเปลี่ยนรูปลักษณ์ของผลิตภัณฑ์ดั้งเดิมที่คนเริ่มเสื่อมความนิยม ให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีความทันสมัย มีมูลค่าสูงขึ้น และสามารถทำให้คนกลับมาให้ความสนใจได้อีกครั้ง
ความน่าสนใจของ “พาคาเมี่ยน” คือ การเป็นผลิตภัณฑ์จาก “ผ้าขาวม้าไทย” ที่เริ่มทำตลาดมานานกว่า 10 ปี จากไอเดียต่อยอดทางธุรกิจของอดีตเออีสาวจากเอเยนซีโฆษณาอย่าง “ณัฐวรรณ โกมลกิตติพงศ์” ผู้เป็นทายาทรุ่นที่ 3 ของโรงงานทอผ้าขาวม้าเก่าแก่แห่งหนึ่งในจังหวัดราชบุรี
เพราะในขณะที่โรงงานทอผ้าขาวม้ารายอื่นๆ เริ่มทยอยปิดตัวลงตามวิกฤตเศรษฐกิจ และสภาพของสังคมไทยที่มีการใช้งานผ้าขาวม้ากันลดน้อยลง แต่ที่โรงงานทอผ้าขาวม้า “ยิ่งเจริญ” ของครอบครัว “โกมลกิตติพงศ์” กลับมีการแตกหน่อธุรกิจใหม่จากฐานการผลิตเดิม ด้วยการนำผ้าขาวม้ามาปรับเปลี่ยนรูปลักษณ์ทั้งในเรื่องสีสัน และการดีไซน์ จนได้ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่มีหน้าตาแตกต่างไปจากเดิม แต่ยังคงไว้ซึ่งกลิ่นอายของความเป็นผ้าขาวม้า ที่มุ่งเจาะกลุ่มเป้าหมายใหม่ในสังคมยุคใหม่ที่ต้องมีเรื่องของดีไซน์ และไลฟ์สไตล์เข้ามาเป็นองค์ประกอบหลัก
“พาคาเมี่ยนเปิดตัวในเดือนตุลาคม ปี 2550 ที่งาน BIG&BIH หลังจากที่จบการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ฟิสิกส์ และเข้าทำงานในบริษัทโฆษณาอยู่ประมาณ 6 ปี จึงเริ่มอยากทำธุรกิจเป็นของตัวเอง แต่เมื่อได้ลองทำมาหลายอย่างก็ยังรู้สึกว่าไม่ใช่สิ่งที่ต้องการ จึงเริ่มมองหาจากสิ่งรอบตัว และเมื่อเห็นว่าที่บ้านทำเป็นโรงงานทอผ้าขาวม้าอยู่แล้วจึงเป็นสิ่งที่ลงทุนได้ง่ายจากเงินเก็บที่มีอยู่เพียงเล็กน้อย โดยเริ่มจากการทำแค่ธุรกิจแบบยี่ปั๊ว คือ ซื้อมาขายไป ด้วยการนำผ้าขาวม้าจากโรงงานของครอบครัวไปเสนอขายตามร้านค้าในสวนจตุจักร”
คุณณัฐวรรณ โกมลกิตติพงศ์ (แอน) ผู้ก่อตั้งแบรนด์ “พาคาเมี่ยน” (Pakamian) เกริ่นนำถึงจุดเริ่มต้นของการทำธุรกิจในครั้งนี้ โดยให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า เมื่อได้ทำการศึกษาเทรนด์ของตลาด เริ่มเห็นการเติบโตของที่อยู่อาศัยในกลุ่มคอนโดมิเนียม จึงเกิดไอเดียทำสินค้าในกลุ่มของตกแต่งบ้าน เช่น หมอน และตุ๊กตา ออกจำหน่าย และจากการได้ไปออกร้านที่งาน BIG&BIH ก็ได้รับการตอบรับที่ดีมาก เพราะเป็นสินค้าที่ทำจากผ้าขาวม้า 100% ทำให้มองเห็นว่า ยังมีคนอีกจำนวนมากที่ชื่นชอบผ้าขาวม้า ก็เริ่มรู้สึกสนุกกับการทำธุรกิจมากขึ้น
ด้วยประสบการณ์จากเมื่อครั้งเป็นเออีในบริษัทเอเยนซีโฆษณา ทำให้ คุณแอน เกิดการพัฒนาในเรื่องของแนวคิดการดีไซน์ และการทำตลาด ที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการทำธุรกิจของตนเองได้เป็นอย่างดี พร้อมกับการทำวิจัยตลาดเพื่อศึกษาแนวโน้มของตลาด และเรียนรู้มุมมองของกลุ่มเป้าหมายที่ยังมองว่า ผ้าขาวม้า มีความเก่า เชย ล้าสมัย แม้จะมีประโยชน์ด้านการใช้งานอย่างหลากหลายรูปแบบก็ตาม
เมื่อรับรู้ว่า จุดอ่อนของผ้าขาวม้า คือ ความเก่า เชย ไม่ทันสมัย และรูปแบบการใช้งานยังไม่ถูกใจ พาคาเมี่ยนจึงถูกพัฒนาขึ้นด้วยการสร้างคาแรกเตอร์ใหม่ให้มีความทันสมัย เพื่อให้เข้ากับไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ โดยสร้างความโดดเด่นด้วยสีสัน และลายผ้า ในแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เช่น การสร้างแพทเทิร์นใหม่ที่ไม่ใช่แค่ลายตารางหมากรุก และเพิ่มการใช้สีจากเดิมที่มีการใช้สีหลักเพียง 5 สี คือ ขาว ดำ แดง เหลือง และกรมท่า
“จากข้อมูลที่รวบรวมได้ เราพบว่า คนจะติในเรื่องสีสันของผ้าขาวม้าเป็นอันดับแรก เพราะผ้าขาวม้าไม่เคยได้รับการพัฒนาในเรื่องของสีสัน และแพทเทิร์นบนลายผ้ามาเป็นเวลานาน เราจึงนำสีสันมาเล่นบนลายผ้า เช่น สีฟ้า สีชมพู ส้ม ม่วง สีพาสเทล หรือสีที่ไม่เคยมีอยู่บนผ้าขาวม้า จนกลายเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นที่ทำให้ลูกค้าจดจำความเป็นพาคาเมี่ยนได้มากขึ้น และยังมีการปรับแพทเทิร์นจากเดิมที่เคยเป็นตารางหมากรุกขนาดใหญ่ 2x2 นิ้ว ก็ทำให้ลวดลายดูมีความสนุกสนานมากขึ้น ด้วยการใส่เส้นสายเล็กๆ เพิ่มเข้าไป หรือมีการทำด้ายพุ่งที่แตกต่างไปจากเดิม
แต่เดิมการออกแบบผ้าขาวม้าที่มีขนาด 90x 200 ซ.ม. จะมีลวดลายเชิงตรงชายผ้าทั้งสองด้าน เราก็เปลี่ยนด้วยการนำลายเชิงมาไว้ตรงกลางผืนผ้า แล้วนำลายตารางไปไว้ตรงปลายผ้า เป็นสไตล์การทอแบบใหม่ที่ทำให้มีความเป็นโมเดิร์นมากขึ้น และดูแปลกตา และสร้างความแตกต่างที่ไม่เหมือนใคร ซึ่งเป็นการออกแบบใหม่ทั้งหมด 100%
ที่ผ่านมา เราออกแบบแพทเทิร์นใหม่มาประมาณ 30 ลาย แต่มีการใช้หลักๆ 15 ลาย”
คุณณัฐวรรณ กล่าวเสริมว่า พาคาเมี่ยน เน้นการทำตลาดกับกลุ่มคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะในกลุ่มนักศึกษาจบใหม่ที่เพิ่งเริ่มทำงาน และเริ่มมองหาความเป็นตัวตนของตนเอง จึงต้องการแสดงออกแบบ 100% ซึ่งการทำธุรกิจในช่วงแรกเป็นช่วงที่คอนโดมิเนียมเริ่มได้รับความนิยมมากขึ้น จงสอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมายเดิมที่ตั้งไว้ จากสินค้าตกแต่งบ้านก็เริ่มขยายไลน์ผลิตภัณฑ์ออกไปสู่กลุ่มอื่นๆ จนถึงปัจจุบันมีสินค้าทำตลาดอยู่ 6 กลุ่มหลัก ได้แก่ผ้าขาวม้า ผ้าพันคอ กระเป๋า สเตชันนารี่ ตุ๊กตา เบาะหมอน และเสื้อผ้า รวมกว่า 30 รายการ
โดยชื่อแบรนด์ “พาคาเมี่ยน” (Pakamian) มีความหมายที่สะท้อนภาพของกลุ่มเป้าหมายที่เป็น “ชุมชนคนรักผ้าขาวม้า” นั่นเอง
ที่ผ่านมา ก็มีปัญหาการลอกเลียนแบบรูปแบบสินค้าอยู่บ้าง แต่ก็ทำได้เพียงการพัฒนาตัวเองให้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการดีไซน์ต่อไปเรื่อยๆ เพื่อวิ่งหนีให้เร็วยิ่งขึ้น แต่อย่างน้อยสินค้าแต่ละชิ้นก็มีความเป็นตัวตนของพาคาเมี่ยนแฝงอยู่ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้ลอกเลียนแบบได้ยาก
“เพราะสินค้าลอกเลียนแบบกันได้ แต่ในเรื่องของสไตล์ และการดีไซน์ลอกเลียนแบบกันไม่ได้ เช่น กางเกงที่เราออกแบบมา ถ้าจับกางออกแล้ววาดแพทเทิร์นตามนั้นก็ทำตามได้แล้ว แต่สิ่งที่ไม่เหมือน คือ สีสัน และแพทเทิร์นของลายผ้าที่ไม่สามารถดึงไปจากพาคาเมี่ยนได้ หรือจะทอลอกเลียนแบบก็ทำได้ค่อนข้างยาก เพราะเราใช้ฟันหวีที่แตกต่างจากการทอผ้าขาวม้าทั่วไป”
สำหรับผ้าขาวม้าทอของพาคาเมี่ยน ผลิตจากใยฝ้าย 100% จากแหล่งวัตถุดิบที่มีอยู่ภายในประเทศ โดยเริ่มจากการผลิตเส้นด้ายจากการย้อมสีขึ้นใหม่ทั้งหมด เพื่อให้ได้เฉดสีที่ต้องชัดเจนไม่เพี้ยน โดยผ่านกระบวนการออกแบบสีด้วยคอมพิวเตอร์แล้วจึงนำมาเทียบกับแพนโทนสี หรืออาจผสมสีขึ้นใหม่ในแล็ปเพื่อให้ได้สีที่ต้องการ ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ต้องการความแม่นยำ โดยเฉพาะการสั่งซื้อสินค้าจากลูกค้าองค์กรที่ต้องการสินค้าจำนวนมาก และต้องการสเปคพิเศษ
ปัจจุบัน พาคาเมี่ยน มีกำลังการผลิตที่แยกต่างหากจากโรงงานดั้งเดิมที่มีน้องชายมารับช่วงต่อในการดูแลกิจการของครอบครัวต่อจากคุณพ่อ โดยสายการผลิตของพาคาเมี่ยนจะมีกำลังการผลิตประมาณ 1,000 ผืนต่อวัน จากเครื่องทอผ้าจำนวน 25 ตัว
สำหรับการทำธุรกิจในช่วงที่ผ่านมา คุณณัฐวรรณ มองว่า อุปสรรคส่วนใหญ่เป็นเรื่องของการเรียนรู้เสียมากกว่า โดยเฉพาะการเรียนรู้ในเรื่องของกระบวนการทอผ้า และการเรียนรู้เรื่องวัตถุดิบ เพราะแม้ว่าจะคลุกคลีอยู่กับธุรกิจทอผ้าขาวม้ามาตั้งแต่เด็ก แต่ก็เป็นเรื่องที่ตนไม่เคยให้ความสนใจที่จะเรียนรู้มาก่อน แต่เมื่อต้องออกแบบลายผ้าเองจึงต้องมีการเรียนรู้ในเรื่องเหล่านี้ เพื่อให้สามารถสั่งงานกับช่างทอผ้าได้ ซึ่งก็เป็นอีกเรื่องที่ทำได้ค่อนยากเนื่องจากช่างทอยังทำงานบนวิถีแบบเดิมๆ
“เราทำธุรกิจมานานกว่า 10 ปี ทำให้มองเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง ในส่วนของพาคาเมี่ยนเรามีความรู้จักวัตถุดิบของเรามากขึ้น วันนี้ถ้าลูกค้าลูกค้าโยนโจทย์อะไรมาให้ทำเราก็สามารถบอกได้ทันทีว่า ทำได้ หรือไม่ได้ ใช้เวลาประมาณกี่วัน และในแง่ของตลาดผ้าขาวม้าโดยรวม เรามองว่าเราเป็นส่วนหนึ่งในการทำให้ ผ้าขาวม้ากลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง ทำให้มุมมองของคนยุคใหม่มองผ้าขาวม้าด้วยความรู้สึกที่ดีขึ้น และกล้าที่จะใช้มากขึ้น”
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าพาคาเมี่ยนจะทำตลาดมานานกว่า 10 ปี แต่ คุณณัฐวรรณ ก็ยอมรับว่า ธุรกิจเพิ่งเริ่มตั้งหลักได้ดีในช่วง 5 ปีที่ผ่าน โดยการทำธุรกิจในช่วงแรกๆ ตลาดขยายตัวได้ดีมาก เพราะมีลูกค้าต่างประเทศให้ความสนใจค่อนข้างมาก จึงมีการส่งออกไปยังประเทศต่างๆ เช่น สเปน ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น ไต้หวัน เป็นต้น
กระทั่งเกิดวิกฤตเศรษฐกิจโลก ทำให้กระทบต่อตลาดส่งออก ปัจจุบันจึงหันมาเน้นการทำตลาดในประเทศเป็นหลัก โดยมีตลาดหลักในกลุ่มลูกค้าองค์กรประมาณ 60% และลูกค้าทั่วไปประมาณ 20% มีจุดขายที่กระจายอยู่ตามแหล่งท่องเที่ยว และศูนย์การค้าต่างๆ ค้า อาทิ เซ็นทรัล เอ็มบาสซี่ หอศิลป์ ลอฟท์ ไอคอนสยาม ศูนย์ศิลปาชีพ อยุธยา และร้านเอกชัย สาลีสุพรรณ อีกทั้งยังมีการทำตลาดในช่องทางออนไลน์ที่สามารถสร้างยอดขายได้กว่า 70% ของรายได้
“หลังจากนี้ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ จะเน้นไปที่การออกแบบผลิตภัณฑ์ที่เข้ากับยุคสมัย และไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่เป็นหลัก เช่น แมสผ้า ที่ใช้เทคนิคการเคลือบผ้าแบบสะท้อนน้ำ โดยพัฒนาร่วมกับกรมพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ เพื่อให้แมสผ้าขาวม้าของพาคาเมี่ยนมีคุณภาพที่สามารถสู้กับแมสผ้าในท้องตลาดได้
ถือเป็นความท้าทายครั้งใหม่ ที่จะทำอย่างไรให้สินค้าของเราผลิตออกมาได้ในต้นทุนที่ไม่สูงมาก เป็นการบ้านที่เราต้องคิดต่อไปอีก นอกจากนี้ ยังมีกระเป๋าผ้าอเนกประสงค์ ที่สามารถใส่แมสผ้าได้ รวมถึงตลาดเสื้อผ้าก็มีความน่าสนใจ เพราะเสื้อผ้าเป็นสินค้าในกลุ่มแฟชั่นที่คนให้ความสนใจ และซื้อเพื่อเปลี่ยนใหม่อยู่ตลอดเวลา”
นอกจากวิกฤติเศรษฐกิจและสถานการณ์ในเรื่องโควิด-19 ยังมีเรื่องของโครงการผ้าขาวม้าประชารัฐที่กำลังมีการรณรงค์ให้เกิดการใช้ผ้าขาวม้าทอมือ ในอีกแง่มุมหนึ่งก็ได้ส่งผลกระทบต่อการทำตลาดของพาคาเมี่ยนอยู่บ้าง ทำให้ต้องพลาดการสั่งซื้อจากลูกค้าองค์กรอยู่หลายครั้ง เนื่องจากลูกค้าองค์กรหลายแห่งระบุประเภทของผ้าขาวม้าที่ใช้ต้องมาจากการทอมือเพื่อให้เข้ากับคอนเซ็ปต์ของโครงการนี้ ซึ่งพาคาเมี่ยนไม่ได้ใช้กระบวนการผลิตแบบทอมือ เนื่องจากการทอมือไม่ตอบโจทย์การผลิตจำนวนมากๆ ในเวลาที่จำกัด เพราะการทอมือต้องใช้เวลามากกว่าการผลิตโดยเครื่องจักร
อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ที่สนใจอยากมีธุรกิจเป็นของตัวเอง คุณณัฐวรรณ ย้ำว่า ควรเริ่มจากสิ่งที่อยู่ใกล้ตัว และเป็นสิ่งที่รู้จักมากที่สุดก่อนที่จะไปมองอย่างอื่น เนื่องจากการทำธุรกิจในประเภทที่ไม่มีความรู้ หรือไมคุ้นเคย อาจถูกผู้อื่นหาช่องทางเอาเปรียบได้
“เราควรหันไปมองว่า สิ่งรอบตัวที่เรารู้จักเขาดีที่สุดคืออะไร สามารถนำมาต่อยอด ปรับเปลี่ยน และพัฒนาให้กับยุคสมัยได้หรือไม่ น่าจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด และการที่ได้ทำอะไรด้วยใจรักจะทำให้ทำได้อย่างสนุกสนาน และคนที่จะมาซื้องานของเราไปจะสามารถรับรู้ความรู้สึกตรงนี้ได้ รวมถึงการเรียนรู้ในสิ่งที่จะทำ ต้องศึกษาเพื่อให้รู้จักสิ่งนั้นอย่างแท้จริง เหมือนอย่างที่แอนต้องมาเรียนรู้กระบวนการทอผ้าว่ามีอะไรบ้าง เพื่อให้เราเรียนรู้รากของเราให้ลึกมากขึ้น และสามารถต่อยอดออกไปให้ไกลได้มากขึ้น” คุณณัฐวรรณ กล่าว
Published on 3 September 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย
"มาตรวิทยา" เสริมแกร่งผู้ประกอบการด้วยการวัด
มาตรวิทยา เป็นเรื่องของการวัดและการกำหนดมาตรฐานการวัด โดยประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์ทุกแขนงเพื่อให้สามารถทำการวัดได้อย่างแม่นยำ และถูกต้อง นอกจากนี้ยังสามารถประเมินค่าความไม่แน่นอนของการวัด ส่งผลให้ผลการวัดเป็นไปตามมาตรฐานสากล เพื่อให้ผลการวัดเป็นที่ยอมรับทั้งในประเทศ และระหว่างประเทศ
ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีและ นวัตกรรมในการยกระดับธุรกิจ
1) วิจัย/พัฒนานวัตกรรมการวัด เครื่องมือวัด มาตรฐานอ้างอิง และซอฟท์แวร์ ที่เหมาะสม และจำเพาะกับธุรกิจท่าน
2) ให้คำปรึกษา ข้อแนะนำ เพื่อการพัฒนา และปรับปรุงกระบวนการวัด ให้ถูกต้อง มีประสิทธิภาพ และเป็นไปตามมาตรฐานสากล
3) ศูนย์เครื่องมือวัดขั้นสูงเพื่อการตรวจสอบผลิตภัณฑ์ต้นแบบ ผลิตภัณฑ์นวัตกรรม เพื่อรับรองลักษณะเฉพาะ ติดต่อขอใช้บริการได้ที่ https://forms.gle/mo2ztxCoYBkYPnuS8
4) ให้คำปรึกษา ข้อแนะนำ เพื่อการพัฒนา และปรับปรุงกระบวนการผลิต เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุน และปรับปรุงคุณภาพ ด้วยเทคโนโลยีมาตรวิทยา
5) ประเมินความคุ้มค่า และให้คำแนะนำในการนำระบบอัตโนมัติมาใช้ในกระบวนการ
อ่านเพิ่มเติม : http://smes.nimt.or.th/
Published on 3 September 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย
หัวข้อ : Customer Journey สร้างจับจุดจับใจ ให้ลูกค้ายอมจ่าย
อ่านเพิ่มเติม : https://www.kasikornbank.com/th/business/sme/KSMEKnowledge/k-sme-inspired/Inspired/Inspired-Aug-2018.aspx
การรีวิวสินค้า หมายถึง คำชมสั้น ๆ แต่มีคุณค่าจากลูกค้าที่เขียนถึงประสบการณ์ในการใช้ผลิตภัณฑ์ของเรา เป็นคำชมที่มาจากลูกค้าที่ซื้อสินค้าหรือบริการไปใช้ ต่อให้คุณจะตะโกนว่าของคุณดีแค่ไหน ก็ดังไม่เท่าเสียงกระซิบว่า “แย่” ที่ลูกค้าบอกกันเอง ในทางตรงข้ามแค่ลูกค้ากระซิบกันเองว่า “เยี่ยม” ยอดขายของคุณก็เพิ่มขึ้นได้
ในเชิงจิตวิทยา เมื่อนักชอปได้อ่านหรือเห็นรีวิวจากลูกค้า “ตัวจริง” ที่ซื้อสินค้าไปใช้จากบนเว็บไซต์ของคุณ พวกเขารู้สึกว่า เขาสามารถไว้ใจแบรนด์ของคุณได้ ซึ่งสอดคล้องกับหลักการขายพื้นฐานที่ว่า “เมื่อผู้คนชอบคุณ เขาจะคุยกับคุณ และเมื่อเขาเชื่อคุณ เขาจะซื้อของคุณ”
รายงานวิจัยทางการตลาดส่วนใหญ่ยังให้ผลลัพธ์ตรงกันว่า ลูกค้าส่วนใหญ่ตัดสินใจซื้อจากรีวิวที่พวกเขาอ่าน ถ้าธุรกิจออนไลน์ของคุณได้รับ รีวิวเชิงบวกจากลูกค้า = ยอดขายที่เพิ่มขึ้น ประเด็นคือ ทำอย่างไรถึงจะได้รีวิวดี ๆ จากลูกค้า? เพราะนั่นหมายถึง การทำให้ลูกค้าลุกขึ้นมาช่วยทำการตลาดให้กับธุรกิจ
1. ขอให้ลูกค้าช่วยรีวิวผลิตภัณฑ์ของคุณ
การขอลูกค้าตรง ๆ ให้ช่วยแสดงความคิดเห็นต่อผลิตภัณฑ์เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในการที่จะได้รีวิว ซึ่งข้อมูลระบุว่า 70% ของลูกค้าจะให้รีวิวเมื่อได้รับการร้องขอ
2. เพิ่มภาพรีวิวสินค้าจากลูกค้า
ภาพถ่ายจากลูกค้าที่กำลังมีความสุขกับการใช้ผลิตภัณฑ์มีมูลค่าทางการตลาดมาก
3. เสนอให้ตัวอย่างไปใช้ฟรี ๆ
เริ่มต้นด้วยการระบุกลุ่มเป้าหมายที่สนใจอยากใช้สินค้ามาก แล้วร้องขอให้พวกเขาถ่ายรูปคู่กับสินค้า พร้อมรีวิว และอย่าลืมที่จะทำการวิจัยตลาดจากผู้ใช้กลุ่มนี้ด้วย เช่น
คำตอบที่ได้จะช่วยให้คุณสามารถนำไปใช้ปรับแต่งหน้าร้านออนไลน์ ตลอดจนโพสต์เฟซบุ๊กที่ช่วยให้ปิดการขายได้มากขึ้นอีกด้วย
4. อย่าสร้างรีวิวปลอม
การเขียนรีวิวปลอมเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำที่สุด ซึ่งต้องขอย้ำว่า มันดูแย่มากและส่งผลกระทบร้ายแรงกับแบรนด์ อีกทั้งยังทำให้ความน่าเชื่อถือของแบรนด์ลดลง หรืออาจจะหายไปพร้อมกับยอดขาย ซ้ำร้ายคือ ธุรกิจอาจไปไม่รอดกันเลยทีเดียว เชื่อว่าพวกเราเองก็สังเกตเห็นอยู่ว่า อันไหนเป็นรีวิวปลอม แต่บ่อยครั้งที่ลูกค้าไม่ทันสังเกตเห็น
5. ทำให้การให้รีวิวเป็นเรื่องง่ายที่สุด
ระบบอี-คอมเมิร์ซของคุณควรจะสามารถส่งอีเมลอัตโนมัติ เพื่อขอคอมเมนต์ และถ้าจะให้ง่ายขึ้นไปอีก ควรให้ลูกค้าสามารถคอมเมนต์ผ่านการตอบอีเมลได้เลย (ไม่ต้องคลิกลิงก์มากรอกบนเว็บ) หรือการให้ลูกค้าสามารถอัปโหลดรูปภาพที่รีวิวได้โดยง่าย ดังนั้น การทำระบบให้ลูกค้ารีวิวได้ง่ายเป็นการลงทุนที่ไม่ควรมองข้าม
Published on 28 August 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย
หัวข้อ : Aging Society กับวิถี New Normal
อ่านเพิ่มเติม :https://www.bangkokbanksme.com/en/aging-society-and-the-new-normal
การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้พฤติกรรมของคนทั่วโลกและคนไทยจะเปลี่ยนแปลงไปสิ้นเชิงจนกลายเป็น New Normal หรือ ชีวิตวิถีใหม่ ในทุกด้านของการดำรงชีวิต โดยเฉพาะสังคมกลุ่มผู้สูงอายุ (Aging Society) ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงในการติดเชื้อโควิดมากที่สุด
การเว้นว่างระยะห่างทางสังคมทำให้กลุ่มผู้สูงวัยต้องอยู่กับบ้านมากขึ้น จากวิถีชีวิตเดิมต้องออกไปทำกิจกรรมนอกบ้านพบปะเพื่อนฝูงในกลุ่มวัยเดียวกันเพื่อคลายความเหงา แต่หลังจากนี้ความตระหนักด้านสุขอนามัยสำคัญมากขึ้น ทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจากเดิม
อินเทอร์เน็ตกลายเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นจนแทบขาดไม่ได้ ทุกอย่างจะทำงานผ่านระบบดิจิทัลทั้งหมด ทั้งการจ่าย การโอน หรือ การทำธุรกรรมต่าง ๆ ผ่านออนไลน์จะกลายเป็นเรื่องปกติแทนที่การใช้เงินสด ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้สูงอายุแต่เดิมถูกมองว่าเป็นกลุ่มที่มีความเชื่องช้าในการเข้าถึงเทคโนโลยี แต่ปัจจุบันภายหลังล็อกดาวน์กลับปรากฏว่าผู้สูงอายุในเมืองใหญ่มีความสามารถในการเข้าถึง และใช้เทคโนโลยีไม่ต่างจากคนกลุ่มอื่นเท่าไหร่นัก หรือจะเรียกได้ว่าเป็นวิถีใหม่สำหรับกลุ่มผู้สูงอายุเลยก็ว่าได้
ประเทศไทยกำลังจะเข้าสู่สังคมสูงวัยโดยแท้จริง ปัจจุบันประเทศไทยมีประชากรทั้งหมด 66.5 ล้านคน เป็นประชากรที่สูงอายุเกิน 60 ขึ้นไปจำนวน 9.4 ล้านคน หรือคิดเป็น 14% ของประชากรทั้งหมด และจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นปีละประมาณ 5 แสนคน ซึ่งคาดว่าในปี 2568 จะมีจำนวนประชากรผู้สูงอายุเกิน 20% ของประชากรทั้งหมด นั่นหมายความว่ามูลค่าตลาดกลุ่มผู้สูงวัยจะมีกำลังซื้อขนาดใหญ่และกลุ่มมีกำลังซื้อสูง นักการตลาดและแบรนด์ไม่ควรมองข้าม
นับตั้งแต่ปี 2562 ประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงวัยอย่างสมบูรณ์ และในอีก 20 ปีข้างหน้าสังคมผู้สูงอายุจะเติบโตเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าของจำนวนประชากร ตลาดผู้สูงอายุในประเทศไทยจึงยังมีโอกาสในการทำธุรกิจได้อีกมากแบบคาดไม่ถึง ผู้ประกอบการจึงต้องตอบโจทย์ความต้องการของผู้สูงอายุในการใช้ชีวิตประจำวันให้ได้
Published on 28 August 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย
หัวข้อ : จากหน้าร้านสู่ตลาดออนไลน์ กระชากยอดนิ่งให้วิ่งเป็นยอดล้าน(1) , Omni Channel ผสานดิจิทัลกับธุรกิจเอสเอ็มอี (2)
อ่านเพิ่มเติม :https://www.kasikornbank.com/th/business/sme/KSMEKnowledge/k-sme-inspired/Inspired/Inspired-Jul-2018.aspx, https://scbsme.scb.co.th/sme-inspiration-detail/SCB_Omni
โลกออนไลน์เป็นช่องทางการทำธุรกิจที่ทรงอิทธิพลมากในปัจจุบัน ส่งผลให้อีคอมเมิร์ซกลายเป็น 1 ใน 5 กิจกรรมของพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตของคนไทย และมีมูลค่าสูงถึง 2.9 ล้านล้านบาท ในขณะที่การเติบโตของช่องทางการขายหน้าร้าน (Offline) ยังคงบทบาทมีสำคัญ เพราะเปรียบเหมือนโชว์รูมให้ลูกค้าได้มาสัมผัส ทดลองสินค้าจริง สร้างความเชื่อมั่นก่อนตัดสินใจซื้อ
กลยุทธ์ออมนิชาแนล (Omni Channel) รวมตลาดออฟไลน์และออนไลน์ จึงไม่เพียงเสริมจุดเด่นลดจุดด้อย แต่ยังไปเติมเต็มความพึงพอใจของผู้บริโภคทุกกลุ่มได้อย่างมีประสิทธิภาพออมนิชาแนล (Omni Channel) ถือว่าเป็นเทรนด์สำคัญที่ผู้ประกอบการควรให้ความสนใจ
ออนไลน์เข้าถึงคน มีผลต่อการตัดสินใจ
เมื่อมือถือทำให้การซื้อสินค้าสะดวกง่าย สื่อออนไลน์กลายเป็นเครื่องมือที่เข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้อย่างไร้พรมแดน ด้วยต้นทุนที่ต่ำ สามารถขายของได้ 24 ชั่วโมง และมีผลต่อการตัดสินใจซื้อสินค้าของผู้บริโภคในปัจจุบันถึง 80% ทุกวันนี้เอสเอ็มอีไทยมากกว่า 50% จึงใช้เฟซบุ๊ก (Facebook) เป็นช่องทางในการเริ่มต้นธุรกิจ และใช้เป็นช่องทางประชาสัมพันธ์ธุรกิจสูงถึง 90%
หน้าร้านโชว์รูมที่มีผลทางใจ
หลายธุรกิจการคิดว่าการมีหน้าร้านเป็นต้นทุนที่ไม่จำเป็นจึงหวังพึ่งออนไลน์เพียงอย่างเดียว แต่การแข่งขันที่รุนแรงสินค้ามีการตัดราคา การทำตลาดออนไลน์อย่างเดียวจึงไม่ได้สร้างธุรกิจที่ยั่งยืน เพราะธุรกิจที่ยั่งยืนอยู่ได้มักเป็นธุรกิจที่มีทั้งออนไลน์และมีหน้าร้านเพื่อเติมเต็มความต้องการของลูกค้า โดยเฉพาะธุรกิจที่ขายสินค้าราคาแพงยอดบิลส่วนใหญ่มักมาจบที่หน้าร้าน เพราะลูกค้ามักต้องการเห็นสินค้า อยากมาทดสอบสินค้าจริงก่อนตัดสินใจซื้อ
แม้วันนี้ตัวเลขของตลาดออนไลน์ทั่วโลกเติบโตแบบก้าวกระโดดอย่างต่อเนื่อง แต่การจะเข้ามาแชร์ส่วนแบ่งรายได้จากตลาดออนไลน์อาจไม่ง่ายอย่างที่คิด การทำตลาดออนไลน์เพียงอย่างเดียวอาจเสี่ยงเกินไป ตลาดเก่าอย่างออฟไลน์ที่ช่วยสร้างความน่าเชื่อถือแต่อาจจะมีต้นทุนค่าใช้จ่าย การมีหน้าร้านจำนวนมากเพื่อขยายตลาดอาจไม่ใช่คำตอบของการทำธุรกิจวันนี้
การผสมผสานช่องทางออฟไลน์และออนไลน์เข้าด้วยกันอย่างลงตัว จะนำพาธุรกิจไปสู่จุดหนึ่งเป้าหมายสำคัญคือกำไรที่เพิ่มขึ้นได้ การก้าวสู่ออมนิชาแนล (Omni Channel) จึงจำเป็นสำหรับการทำธุรกิจ ซึ่งสิ่งที่จะต้องดำเนินการในการทำออมนิชาแนล (Omni Channel) สำหรับเอสเอ็มอี มีด้วยกัน 4 ประการได้แก่
โดยเชื่อมโยงข้อมูลจากออนไลน์ โซเชียลมีเดีย หน้าร้าน และช่องทางอื่น ๆ ให้เป็นฐานข้อมูลเดียวกัน เพื่อให้บริการลูกค้าได้อย่างต่อเนื่องในทุกช่องทาง
เป็นการเชื่อมโยงการสื่อสารในทุกช่องทางให้ต่อเนื่อง เช่น มีข้อมูลร้านค้ารองรับในช่องทางออนไลน์ มีแผนที่ กูเกิลแมพ (Google Map) ให้ลูกค้าสามารถเดินทางมาที่ร้านค้า รวมถึงมีเบอร์ติดต่อ หรือปุ่มสั่งซื้อสินค้าบนหน้าออนไลน์ได้
ลูกค้าสามารถซื้อสินค้าจากทุกช่องทาง และไปรับสินค้าได้จากทุกช่องทางที่สะดวกเช่นกัน
นอกจากซื้อสินค้าได้หลากหลายช่องทางแล้ว ยังต้องสามารถชำระเงินได้หลากหลายช่องทางเช่นกัน เช่น ผ่านออนไลน์ ผ่านสาขาธนาคาร และผ่านหน้าร้านสะดวกซื้อ เป็นต้น
ประโยชน์ที่ได้รับจากการทำออมนิชาแนล (Omni Channel)
Published on 28 August 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย