เปิดร้านค้าออนไลน์ ทำอย่างไรให้คนกล้าซื้อ

 

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าปัจจุบันการซื้อขายสินค้าทางออนไลน์เป็นที่นิยมมาก ยิ่งในประเทศไทยมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องทุกปี โดยเฉพาะเมื่อเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไปอย่างเห็นได้ชัด จากผลสำรวจพฤติกรรมผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทย ปี 2563 พบว่า 67.3% ของผู้ตอบแบบสำรวจ เคยสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ แม้ว่าสัดส่วนจะเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมากว่า 10% แต่ยังมีคนจำนวนหนึ่งถึง 32.7% ที่ยังไม่ซื้อสินค้าทางออนไลน์ ผลสำรวจออนไลน์ของ CIGI-Ipsos จากกลุ่มตัวอย่าง 24 ประเทศทั่วโลก พบว่า 22% ของคนทั่วโลกบอกว่าพวกเขาไม่เคยซื้อของออนไลน์ เพราะ ‘ขาดความเชื่อมั่นในการซื้อของออนไลน์’

ความเชื่อมั่นในการซื้อขายสินค้าทางออนไลน์เป็นสิ่งสำคัญมากกว่าการซื้อขายสินค้าทางหน้าร้าน  เพราะผู้บริโภคไม่ได้พบหน้าผู้ขายโดยตรง ไม่ได้เห็นสินค้าและบริการของจริงก่อนชำระเงิน ทำให้ผู้บริโภคต้องประเมินความน่าเชื่อถือของผู้ขายจากข้อมูลที่อาจไม่ครบถ้วน

 

ทำอย่างไรถึงจะสร้างความมั่นใจให้ร้านค้าออนไลน์ของคุณ?

การทำให้ลูกค้าเชื่อมั่นและเชื่อใจในร้านค้าออนไลน์ของคุณนั้น ยังมีความท้าทายมากมายที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นนี้ โดยได้มีการแบ่งความท้าทายตามลำดับของพฤติกรรมผู้ซื้อเป็น 3 ขั้นตอน ได้แก่ “ก่อนการซื้อ” “การซื้อ” และ “หลังการซื้อ” สินค้าและบริการ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการควรศึกษาแล้วนำไปปรับปรุงแก้ไข

ก่อนการซื้อ

  1. การได้รับข้อมูลที่ไม่ครบถ้วน (Information asymmetry) : การที่ผู้ซื้อและผู้ขายมีข้อมูลไม่เท่ากัน เช่น ผู้ซื้ออาจจะไม่ทราบตัวตนและที่อยู่ของผู้ขายทางออนไลน์ เป็นผลทำให้ขาดความเชื่อมั่น หรือการให้รายละเอียดของสินค้าไม่ชัดเจนทำให้ผู้ซื้อเกิดความลังเลใจ
  2. การปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม (Unfair commercial practices) : ผู้ขายมักจะมีการใช้เทคนิคทางการตลาดหลากหลายรูปแบบ ซึ่งบางครั้งมีความกำกวม รวมถึงการให้ข้อมูลไม่ครบถ้วน และการโฆษณาที่อาจจะทำให้เข้าใจผิดได้
  3. การส่งโฆษณาโดยมิได้ร้องขอหรือสแปม (Unsolicited electronic commercial communications [spam]) : การโฆษณาที่บ่อยเกินไปผ่านทางช่องทางต่าง ๆ เช่น อีเมล กล่องข้อความ โซเชียลมีเดีย อาจกระทบต่อความเป็นส่วนตัว ก่อให้เกิดความรำคาญใจ และมีผลต่อความเชื่อมั่นของผู้ซื้อ

 การซื้อ

  1. ความสับสนในตัวผู้ขาย สถานที่ตั้ง และสถานะ (Confusion on seller location and status) : หากผู้ขายไม่แจ้งให้ชัดเจน ในบางกรณีผู้ซื้ออาจสับสนว่าตนเองกำลังซื้อสินค้ากับแพลตฟอร์มโดยตรง หรือกับทางผู้จัดหาสินค้า (Supplier)
  2. การมีช่วงเวลาระหว่างยกเลิก หรือเปลี่ยนแปลงคำสั่งซื้อ (Cooling-off period) : ด้วยพฤติกรรมของผู้ซื้อที่ต้องการเปลี่ยนแปลง ยกเลิกคำสั่งซื้อที่ผิดพลาด จึงควรต้องกำหนดระยะเวลาที่สามารถเปลี่ยนแปลง และยกเลิกคำสั่งซื้อได้
  3. ความปลอดภัยในการชำระเงินออนไลน์ (Online payment security) : ผู้ซื้อส่วนใหญ่มีความกังวลเรื่องความปลอดภัยในการชำระเงิน จึงเป็นสิ่งสำคัญมากในการสร้างความเชื่อมั่นสำหรับเรื่องนี้
  4. การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Personal data protection) : การใช้ข้อมูลส่วนบุคคลผิดวัตถุประสงค์ หรือการขอข้อมูลมากเกินความจำเป็น ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้ซื้อ

หลังการซื้อ

  1. กฎความรับผิด (Liability rules) : หลังการซื้อต้องมีกฎ มาตรการ การรับผิดเมื่อเกิดข้อผิดพลาด เช่น คุณภาพของสินค้าที่ถูกจัดส่งเสียหาย การจัดส่งล่าช้า
  2. การระงับข้อพิพาท (Dispute resolution) : แจ้งให้ทราบว่าเป็นการควบคุมดูแลของภาครัฐ หรือเอกชนสามารถจัดการได้ด้วยตนเอง

 

แนวทางเพิ่มความเชื่อมั่นในการทำการค้าออนไลน์

  1. การสร้างความน่าเชื่อถือให้แก่ร้านค้าออนไลน์ : กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ได้มีการออกเครื่องหมายการค้าทางออนไลน์ เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้แก่ร้านค้าออนไลน์ อย่าง เครื่องหมาย DBD Registered และ เครื่องหมาย DBD Verified สามารถดูรายละเอียดและขอเครื่องหมายได้ที่  https://www.trustmarkthai.com/th
  2. การคุ้มครองผู้บริโภค : ปัจจุบันมีหน่วยงานภาครัฐมากมายที่คอยช่วยเหลือ รับเรื่องร้องเรียนทางออนไลน์สำหรับผู้ซื้อที่มีปัญหาจากการซื้อสินค้าและบริการ รวมถึงการหลอกลวงผู้บริโภคทางออนไลน์
  3. แนวทางการลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Signature Guideline) : ในการทำการค้าออนไลน์หากต้องมีการทำสัญญาทางการค้า การทำธุรกรรมออนไลน์ต่าง ๆ ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ จำเป็นจะต้องมีแนวทางและสามารถเลือกใช้วิธีลงลายมืออิเล็กทรอนิกส์ที่เหมาะสมกับธุรกรรมตามมาตรฐานของ ETDA
  4. การบังคับใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 : การให้ข้อมูลส่วนบุคคลเป็นสิ่งที่ผู้ซื้อส่วนใหญ่มีความกังวล การบังคับใช้กฎหมายจะมีส่วนช่วยให้ผู้ซื้อมีความเชื่อมั่นในการให้ข้อมูลมากยิ่งขึ้น ส่งผลต่อการเพิ่มความเชื่อมั่นในการทำการค้าออนไลน์มากขึ้นเช่นกัน

การสร้างความเชื่อมั่นในการทำการค้าออนไลน์จำเป็นต้องใช้เวลาในการปรับตัวของทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย ในการใช้เทคโนโลยี การปฏิบัติตามกฎหมาย มาตรการ นโยบายต่าง ๆ ที่เข้ามาช่วยส่งเสริมสร้างความเชื่อมั่น รวมถึงวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เข้ามาเป็นตัวช่วยกระตุ้นเร่งให้เกิดการพัฒนาและปรับตัวให้เร็วมากยิ่งขึ้น

 


 

หัวข้อ : สร้างความเชื่อมั่นอย่างไร? ให้คนหันมา ‘ซื้อออนไลน์’ มากขึ้น
อ่านเพิ่มเติม : https://www.bangkokbanksme.com/en/how-to-build-confidence-shop-online

 

Published on 8 July 2021
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

 

 

บทความแนะนำ

"ปรับโครงสร้างหนี้" ทางออกธุรกิจติดลบ ที่ไม่สายเกินแก้

 

ถ้าไม่ไหวอย่าฝืนจะดีกว่า การปรับโครงสร้างหนี้ช่วยให้ธุรกิจไปต่อ และไม่ได้แปลว่าคุณไร้ความสามารถ หรือบริหารงานผิดพลาดจนธุรกิจล้มเหลวเสมอไป บางครั้งด้วยสถานการณ์ เป็นเหตุทำให้ธุรกิจต้องสะดุดลง แน่นอนว่าในวิกฤตย่อมต้องมีคนที่เจ็บหนัก ฉะนั้นในเวลาแบบนี้ ถ้าเจ็บจนไม่ไหวจริง ๆ อย่ารอจนสายกลายเป็นหนี้เสีย จนต้องเสียประวัติทางการเงิน คุณสามารถเลือกใช้วิธีปรับโครงสร้างหนี้เป็นทางออกให้กับธุรกิจในเวลานี้ได้

 

เอสเอ็มอีควรรู้! ก่อนปรับโครงสร้างหนี้

1. ทบทวนอนาคตธุรกิจว่าไปต่อไปหรือไม่

ก่อนจะปรับโครงสร้างหนี้ สิ่งแรกที่ผู้ประกอบการต้องมองให้ออก คือ อนาคตของธุรกิจที่กำลังทำอยู่นั้น ยังมีทางรอดต่อไปได้หรือไม่? ต้องยอมรับว่าปัจจุบันพฤติกรรมของคนเปลี่ยนไปในหลายเรื่อง ถ้ามองแล้วว่าพฤติกรรมผู้บริโภคไม่ซื้อสินค้าชิ้นนี้อีกต่อไป นั่นเรียกว่าไม่มีทางรอดแล้ว อาจถึงเวลาที่ผู้ประกอบการอาจต้องเลิกกิจการแล้วมองหาโอกาสใหม่แทน แต่ถ้าในธุรกิจยังสามารถไปต่อได้ การปรับโครงสร้างหนี้เพื่อรอเวลาให้กระแสเงินสด (Cash Flow) ของธุรกิจกลับมา ถือเป็นทางออกหนึ่งที่จะช่วยให้ธุรกิจสามารถเดินต่อไปได้

 

2. เช็กกระแสเงินสด

กระแสเงินสด (Cash Flow) เป็นตัวชี้ชัดได้เป็นอย่างดีว่า ธุรกิจจำเป็นต้องปรับโครงสร้างหนี้หรือไม่ หากธุรกิจมีเงินหมุนเวียนไม่เพียงพอ ผู้ประกอบการต้องกลับมามองว่าทำไมเงินหมุนเวียนถึงไม่พอ ผู้ประกอบการต้องมอง 2 ด้านนี้ประกอบกัน คือ

  • กระแสเงินสดที่ได้รับเข้ามา (Cash Inflow) รายได้มีเข้ามาน้อยไปหรือไม่ ถ้ารายได้มาน้อยไปควรต้องทำอย่างไรเพื่อเพิ่มรายได้
  • กระแสเงินสดที่ต้องจ่ายออกไป (Cash Outflow) รายจ่ายมากเกินไปหรือเปล่า หรือยังคงมีอยู่เหมือนเดิมไม่ลดลง มีแต่จะมากขึ้น

สองสิ่งนี้เป็นสาเหตุที่ทำให้ธุรกิจขาดสภาพคล่องและไม่สามารถชำระหนี้ได้ จำเป็นที่ผู้ประกอบการต้องเข้ามาพูดคุยเจรจากับทางธนาคาร เพื่อหาทางออกร่วมกัน

 

3. ใช้วิธีการปรับโครงสร้างหนี้ที่เหมาะสม

วิธีการที่หลายคนคุ้นเคย คงหนีไม่พ้นการขยายระยะเวลาการผ่อนชำระหนี้ หรือการปล่อยเงินกู้ใหม่ ซึ่งในแต่ละวิธีการนั้นก็จะมีรายละเอียดปลีกย่อยลงไปอีก ยกตัวอย่าง

- การขยายเทอมแบบที่เป็น Debt Holiday คือ ไม่ต้องจ่ายทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย แต่วิธีการนี้ดอกเบี้ยจะสะสมไปเรื่อย ๆ 

- การขยายเทอมในรูปแบบผ่อนจ่ายเฉพาะดอกเบี้ย เงินต้นจ่ายทีหลัง

- การเปลี่ยนประเภทสินเชื่อ เพื่อให้ได้อัตราดอกเบี้ยที่ถูกลง

วิธีการเหล่านี้เป็นการปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งวัตถุประสงค์ก็เพื่อช่วยทำให้ กระแสเงินสดที่ต้องจ่ายออกไปของธุรกิจลดลง หรือทำให้สอดคล้องกับกระแสเงินสดที่ได้รับเข้ามาในสถานการณ์ปัจจุบันนั่นเอง การปรับโครงสร้างหนี้แบบไหนที่จะเหมาะกับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี อาจจะต้องพิจารณาเป็นราย ๆ ไป เพื่อหารูปแบบของการปรับโครงสร้างที่เหมาะสมกับธุรกิจนั้น ๆ 

 

4. ปรับโครงสร้างหนี้ไม่ได้แปลว่า “เครดิตไม่ดี” 

หลายคนมักคิดว่าหากมีการปรับโครงสร้างหนี้แล้ว อาจทำให้ธุรกิจมีตำหนิหรือเครดิตไม่ดี แต่แท้ที่จริงแล้ว ในมุมของธนาคารจะพิจารณาจากกระแสเงินสดของลูกค้าเป็นหลัก การที่กระแสเงินสดไม่มี ต้องไปดูต่อว่าเกิดจากสาเหตุอะไร ซึ่งในภาวะปัจจุบันคงเป็นไปไม่ได้ที่จะบอกว่าการที่ธุรกิจไม่มีกระแสเงินสด เป็นเพราะผู้ประกอบการบริหารงานไม่ดี ธนาคารจะพิจารณาเรื่องดังกล่าวจากเหตุและผลประกอบกันอย่างหลาย ๆ ธุรกิจในอดีตที่เคยผ่านการปรับโครงสร้างหนี้ในช่วงวิกฤตปี พ.ศ.2540 ก็ยังสามารถเติบโตกลายเป็นบริษัทใหญ่ในทุกวันนี้ได้

 

 


 

หัวข้อ : ไม่ไหวอย่าฝืน “ปรับโครงสร้างหนี้” ช่วยธุรกิจไปต่อ
อ่านเพิ่มเติม : www.kasikornbank.com/th/k-sme-inspired

Published on 8 July 2021
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

 

 

 

 

 

บทความแนะนำ

ผู้ช่วยร้านอาหาร เพิ่มโอกาสการขายในยุคดิจิทัลด้วย LINE MyRestaurant

 

แนะนำตัวช่วยเพิ่มโอกาสทางการขายให้ผู้ประกอบการร้านอาหารที่มี LINE Official Account อยู่แล้ว ด้วย MyRestaurant ผลิตภัณฑ์ใหม่ที่  LINE MAN และ Wongnai ร่วมกันพัฒนาขึ้น ช่วยจัดการหน้าร้านอาหาร บริหารข้อมูลลูกค้า จัดการข้อมูลลูกค้าได้บนแพลตฟอร์มเดียว คือบน LINE Official Account อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

LINE MyRestaurant เป็นเครื่องมือฟรีที่เหมาะสำหรับร้านอาหารทุกขนาดตั้งแต่ขนาดเล็กแบบร้านริมทาง ไปจนถึงร้านขนาดใหญ่ มาดูกันว่ามีฟีเจอร์ใช้งานอะไรได้บ้าง


 

 

3 ฟีเจอร์หลักของ MyRestaurant

 

1. เมนูออนไลน์สั่งง่ายด้วยสมาร์ทเมนู (Smart Menu) : เมนูอิเล็กทรอนิกส์บน LINE เชื่อมต่อกับระบบรับออเดอร์ของร้านอาหารได้โดยตรง ลูกค้าสามารถสแกน QR Code เพื่อดูเมนูพร้อมกดสั่งอาหารแบบกินที่ร้านผ่าน LINE ได้ทันที สั่งง่าย ไม่ต้องวุ่นวายบอกเบอร์โต๊ะ แถมรวดเร็ว ทันใจ ไม่ต้องกลัวออเดอร์ผิดพลาด 

 

2. หน้าร้านออนไลน์ออกแบบเองได้ตามต้องการผ่านริชเมนู (Rich Menu) : เมนูบาร์ที่รวมบริการและโปรโมชั่นต่าง ๆ ของร้านอาหาร นำเสนอให้ลูกค้ากดเลือกดูได้ตามใจใน LINE Official Account โดยร้านสามารถออกแบบคอนเทนต์ นำเสนอบริการ โปรโมชั่นต่าง ๆ แบบปรับแต่งเองได้ตลอดเวลา เช่น ให้ลูกค้ากดดูเมนูอาหารออนไลน์ หรือกดสั่งอาหารเดลิเวอรี่ผ่าน LINE MAN Wongnai ได้ทันที

 

3. สื่อสาร ทำการตลาดได้ดีกว่าเดิมด้วยระบบรีพอร์ท (Report) : รวบข้อมูลสำคัญทั้งรายงานกลุ่มลูกค้า (Customer Report) และรายงานยอดขาย (Sale Report) ช่วยให้ร้านอาหารสามารถดูข้อมูลเชิงลึกมาวิเคราะห์ต่อยอดกลยุทธ์การตลาดได้ดีและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็น

  • ข้อมูลกลุ่มลูกค้าที่สั่งอาหารและกดติดตาม LINE Official Account
  • ข้อมูลยอดขาย รายละเอียดการสั่งซื้อ เมนูที่ลูกค้าสั่ง ความถี่ในการสั่ง 
  • ข้อมูลจะแสดงผลแยกตามประเภทต่าง ๆ ให้ร้านสามารถนำไปพัฒนาต่อยอดธุรกิจได้เต็มที่

 

ผู้ประกอบการร้านอาหารที่สนใจ สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมเพื่อเข้าใช้งานได้แล้ววันนี้ที่ 

https://lineforbusiness.com/myrestaurant

 


 

หัวข้อ : มีอะไรใหม่ใน LINE MyRestaurant ผู้ช่วยร้านอาหาร
อ่านเพิ่มเติม : 

https://www.bangkokbanksme.com/en/line-myrestaurant-assistant

https://lineforbusiness.com/myrestaurant/

 

Published on July 2021
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

 

 

 

 

 

บทความแนะนำ

เสริมแกร่งให้แบรนด์ปัง ด้วยการฟังเสียงลูกค้าบนโลกออนไลน์

 

หลายครั้งที่การเริ่มต้นทำธุรกิจหรือการพัฒนาสิ่งใหม่ ๆ ของผู้ประกอบการ มักเริ่มต้นจากการฟังเสียงของตัวเอง ที่เกิดจากความชอบและความเชี่ยวชาญ แต่นั่นอาจไม่ใช่ “สิ่งที่ลูกค้าต้องการ” เสียงจากลูกค้าตัวจริงสามารถดันให้ธุรกิจปังได้ในชั่วข้ามคืน หรือพังธุรกิจลงได้ในพริบตาเดียว 

การฟังเสียงลูกค้า เป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่ช่วยสร้างโอกาสทางธุรกิจ ยิ่งในปัจจุบันที่การเข้าถึงข้อมูลต่าง ๆ ของลูกค้าเป็นเรื่องง่ายขึ้น เพราะมีข้อมูลมากมายบนโลกออนไลน์ ที่สะท้อนความคิดความรู้สึก และความต้องการจากลูกค้าตัวจริง เช่น 

  • การแสดงความคิดเห็น (Comment)
  • การแท็กเพื่อน (@) (Mentions)
  • การติด # Hashtag

 

การฟังเสียงของลูกค้าบนสื่อสังคมออนไลน์ หรือ Social Listening จึงกลายเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการยุคนี้มองข้ามไม่ได้ ด้วย 4 เหตุผลนี้

  1. ทำให้รู้ว่ามีการพูดถึงสินค้าหรือบริการของแบรนด์อย่างไร เพื่อจะนำไปพัฒนาต่อยอดในอนาคตได้
  2. ทำให้รู้ว่าคู่แข่งเป็นอย่างไร และกำลังทำสิ่งใดอยู่บ้าง
  3. ทำให้รู้ว่าตอนนี้คนส่วนใหญ่กำลังสนใจเรื่องอะไร หรือเทรนด์ไหนกำลังมา
  4. ธุรกิจสามารถจัดการวิกฤต (Crisis Management) ได้ทันที หากเกิดดราม่าหรือมีการพูดถึงแบรนด์ในด้านลบ

 

เป็นเอสเอ็มอีเล็ก ๆ แบรนด์ไม่ดัง ไม่มีใครพูดถึง จะฟังเสียงลูกค้าได้อย่างไร?

แม้คุณเป็นแบรนด์เล็ก ๆ ก็สามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูล หรือเสียงของลูกค้าบนออนไลน์ได้ ด้วยการประยุกต์ใช้ข้อมูลจากแบรนด์ธุรกิจที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกับธุรกิจของคุณ หรือมองหาแบรนด์ที่มีจุดขายเดียวกับคุณแต่เขาถูกลูกค้าพูดถึง ดูว่าเขาทำอะไร ลูกค้าบ่นอะไร ชอบหรือไม่ชอบอะไร โดยสิ่งที่เอสเอ็มอีสามารถประยุกต์ใช้ข้อมูลของแบรนด์ใหญ่ได้ คือ

  1. แบรนด์ใหญ่โดนบ่นเรื่องอะไร คุณก็ทำตรงนั้นให้ดีกว่าเขา
  2. ลูกค้าถามหาอะไรจากแบรนด์ใหญ่ ความต้องการของลูกค้าที่อยากได้นั่นอยากได้นี่ บางครั้งแบรนด์ใหญ่ ๆ อาจจะไม่ทำ เอสเอ็มอีสามารถดึงเอาความต้องการเหล่านั้นมาปรับใช้กับธุรกิจของคุณแทนได้

 

เนื่องจากข้อมูลบนโลกออนไลน์นั้นมีมากมาย ปัจจุบันมีเครื่องมือที่ช่วยในการฟังเสียงผู้บริโภคและการวิเคราะห์ข้อมูลได้ง่ายขึ้น โดยมีทั้งแบบฟรีและมีค่าใช้จ่าย ให้ผู้ประกอบการได้เลือกใช้ตามความต้องการทางธุรกิจ

Google Trend

เครื่องมือช่วยค้นหาข้อมูลฟรีของ Google เพื่อดูว่าในปัจจุบันหรือช่วงเวลานั้น ๆ มีเรื่องอะไรที่คนบนโลก

ออนไลน์อยากรู้ และมีเรื่องอะไรที่กำลังเป็นเทรนด์

- สามารถพิมพ์ Keyword หรือคำค้นหาที่ต้องการลงไปในช่องแถบค้นหา 

- เครื่องมือจะแสดงผลลัพธ์ออกมาให้เห็น ในรูปแบบสถิติที่ผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตค้นหาคำนั้น ๆ บนแพลตฟอร์ม Google Search Engine 

ลองใช้งานได้ที่ >> https://trends.google.co.th

Zanroo

หนึ่งใน Social Listening Tool หรือเครื่องมือในการจับข้อมูลที่อยู่บนเว็บไซต์และบทสนทนาที่เกิดขึ้นบน Social Media เช่น Facebook, Twitter, Instagram ได้แบบเรียลไทม์ ราคาเริ่มต้นอยู่ที่เดือนละประมาณ 3,000 - 50,000 บาทขึ้นไป

ลองใช้งานได้ที่ >> https://enterprise.zanroo.com/

Wisesight

เครื่องมือช่วยในการเก็บข้อมูลบนโซเชียลจากช่องทางต่าง ๆ แล้วนำมาวิเคราะห์ เพื่อทำให้รู้ว่าตอนนี้คนบนโลกออนไลน์กำลังพูดถึงเรื่องอะไร มีข้อความ คอมเมนต์อะไรเกิดขึ้นบ้าง โดยมีค่าบริการเดือนละประมาณ 30,000 บาท

ลองใช้งานได้ที่ >> https://wisesight.com/

หรือค้นหาเทรนด์ฮิตติดกระแสแบบไม่เสียค่าใช้จ่ายได้ที่ >> https://trend.wisesight.com/

 


 

หัวข้อ : SOCIAL LISTENING ปรับธุรกิจปัง ฟังเสียงลูกค้า
อ่านเพิ่มเติม : www.kasikornbank.com/k-sme-inspired-Nov

 

Published on 08 July 2021
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

 

บทความแนะนำ

📢งานสัมมนา สาระดี ๆ มาเพิ่มความรู้ให้กันอีกแล้วค่าาา 👍 กับโครงการขยายการค้าการลงทุนสู่สากลเรื่อง “ผ่าแนวคิด นักธุรกิจรุ่นใหม่ กับการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้า” 🥳

📢งานสัมมนา สาระดี ๆ มาเพิ่มความรู้ให้กันอีกแล้วค่าาา 👍 กับโครงการขยายการค้าการลงทุนสู่สากลเรื่อง “ผ่าแนวคิด นักธุรกิจรุ่นใหม่ กับการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้า” 🥳
.
โดยวิทยากรมากด้วยความรู้ ความสามารถ และประสบความสำเร็จในการประกอบธุรกิจ ด้วยการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้า
🎥 โดยการสัมมนาในรูปแบบ Video Conference ผ่านระบบ Zoom หรือ Webinar วันที่ 22 มิถุนายน 2564 โดยจะเป็นการสัมมนา Online ในระบบปิด 💻
👍 ผู้ที่สนใจสามารถลงทะเบียน ฟรี!! ได้เลย
.
👏 แล้วมาสร้างโอกาสขยายธุรกิจให้ก้าวไกลในตลาดต่างประเทศกันนะคะ ✈️
จัดโดย จากกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ และสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เบอร์ : 📞 094-986-6111
#SMEone

บทความแนะนำ