“TCFF ศาสตร์ความหอม สร้างคุณค่าจากสมุนไพร”
เมื่อมองเห็นคุณค่า จึงมองเห็นโอกาส สิ่งนี้เองที่ทำให้ TCFF ได้เริ่มต้นบุกเบิกธุรกิจเครื่องหอม จากการมองเห็นโอกาสในประเทศ ที่เป็นแหล่งพืชพรรณที่มีความหลากหลายทางชีวภาพติดอันดับโลก แต่กลับมีจุดอ่อนตรงที่ยังไม่มีการแปรรูปสินค้าเกษตรให้มีมูลค่าเพิ่ม เพื่อส่งออกหรือเพื่อนำมาใช้เชิงของธุรกิจ จึงนำไปสู่การใช้สมุนไพรที่เป็นจุดแข็งของประเทศมาผนวกเข้ากับเทคโนโลยีในการแปรรูปเป็นเครื่องหอม เพื่อสร้างให้เป็นมูลค่าเพิ่ม
.
มองหาช่องทาง สร้างความเป็นไปได้
เมื่อมองเห็นโอกาสตั้งต้นที่จะทำธุรกิจแล้ว จึงเริ่มตั้งโจทย์ เพื่อเสริมจุดแข็งให้ธุรกิจ โดยมีแนวคิดว่า จะเป็นธุรกิจที่มีคนทำตามยาก ไม่อยากให้มีคนทำตามหรือมีผู้เล่นที่จะเข้ามาลงในสนามนี้เยอะ จึงคิดหาช่องทางที่จะนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้เพื่อสร้างจุดแข็ง
TCFF จึงได้มีการร่วมทุนระหว่างประเทศไทยและประเทศจีน ในการนำเอาเทคโนโลยีพร้อมด้วยองค์ความรู้เกี่ยวกับการปรุงน้ำหอมเข้ามาดำเนินกิจการ เป็นแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทย ที่มีการทำตั้งแต่วัตถุดิบไปจนถึงเครื่องหอมสำเร็จรูป นับตั้งแต่ปี 2532 เป็นต้นมา
.
ผิดก้าวแรกไม่เป็นไร พัฒนาก้าวต่อไปให้มั่นคง
ความตั้งใจแรกของ TCFF จะเลือกใช้มะลิ แต่ปรากฏว่า มะลิ มีต้นทุนวัตถุดิบที่สูงมาก อีกทั้งยังไม่สามารถแข่งขันราคากับตลาดจีนและอินเดียได้ จึงกลับมาตั้งต้นใหม่ คัดสรรพืชที่มีศักยภาพ ที่จะแข่งเรื่องราคาและเรื่องคุณภาพได้ รวมถึงตลาดที่เราขายต้องไม่มีวัตถุดิบตัวนี้ภายในประเทศ จึงเลือกเป็นพืชสมุนไพร พืชสวนครัว แล้วจึงค่อย ๆ พัฒนาในส่วนของดอกไม้เพิ่มเติมเข้ามา
.
ขยายคุณค่า จากทุกความเป็นไปได้
ปัจจุบัน TCFF หรือ บริษัท อุตสาหกรรมเครื่องหอมไทย-จีน จำกัด ดำเนินธุรกิจด้านเครื่องหอม สำหรับการผลิตสินค้าอุปโภคและบริโภคแบบครบวงจร เป็นแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทย ที่มีการทำตั้งแต่วัตถุดิบไปจนถึงเครื่องหอมสำเร็จรูป ด้วยแนวคิด Circular Economy คือการใช้คุณค่าจากทุกส่วนของพืชพรรณอย่างหมดจดให้เกิดประโยชน์สูงสุด แล้วมีการหมุนเวียนกลับของตัววัตถุดิบ ด้วยการประยุกต์ใช้ภูมิปัญญาดั้งเดิมที่มาผนวกเข้ากับเทคโนโลยีการแปรรูป เพื่อตอบรับกับการใช้งานที่หลากหลาย ทั้งในอุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมเครื่องสำอาง ยา วงการสปา รวมถึง ผลิตภัณฑ์สำหรับใช้ในครัวเรือน เช่น ผลิตภัณฑ์ถนอมเนื้อผ้า น้ำหอมประดับบ้าน เป็นต้น
โดยในปัจจุบัน TCFF มีกลุ่มผลิตภัณฑ์ ดังนี้
.
นอกเหนือจากกลุ่มผลิตภัณฑ์ ยังมีการขยายขอบเขตเชิงศักยภาพ ผ่านงานบริการด้านอื่น ๆ ดังนี้
.
คำที่ใช้เป็นแรงบันดาลใจของ TCFF คือ “ดินเดิมไร้ทาง หมั่นย่างทางมี” คือถ้าทางเป็นป่าหรือเป็นหญ้าขึ้น ให้เรามีความพยายามที่จะเดินไปเรื่อย ๆ ก็จะเป็นช่องทางเดิน จากทางเดินเท้าเป็นทางลูกรังเป็นทางคอนกรีตแล้วถูกพัฒนาขึ้นไปเรื่อย ๆ ขอเพียงอย่าหยุดเดิน
TCFF ยังมองว่า การทำธุรกิจไม่มีใครจะเป็นผู้ชนะหรือผู้แพ้ แต่ทุกคนต้องชนะไปด้วยกัน เพื่อที่จะเกิดความยั่งยืนและไปได้ไกล
.
ผู้ที่สนใจผลิตภัณฑ์และบริการของ TCFF สามารถติดต่อได้ที่
บริษัท อุตสาหกรรมเครื่องหอมไทย-จีน จำกัด
ที่อยู่ : 59/65-69 หมู่ 2 ตำบลบางรักพัฒนา อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี 11110
โทร. : (+66) 2952-5380-4
โทรสาร : (+66) 2952-5385
อีเมล : info@tcff-thailand.com
ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ปล่อยขยะพลาสติกลงสู่มหาสมุทรมากเป็นลำดับต้นๆ ของโลก และจากมาตรการล็อกดาวน์ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ผู้บริโภคหันมาใช้บริการ Food Delivery กันมากขึ้น ก็ยิ่งส่งผลให้ขยะบรรจุภัณฑ์พลาสติกเพิ่มปริมาณมากขึ้นจากช่วงปกติ 5,500 ตัน เป็น 6,300 ตันต่อวัน
สถานการณ์เช่นนี้จะส่งผลให้ประเทศไทยต้องเร่งกำหนดแนวทางการปรับตัว เพื่อให้ผู้ประกอบการ และผู้บริโภค เข้าถึงบรรจุภัณฑ์ทางเลือกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น
ในช่วงปลายปี 2563 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุถึงมูลค่าตลาดบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมยังเติบโตเฉลี่ย 25% คิดเป็นมูลค่าราว 2,100-2,400 ล้านบาท โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังคาดหวังว่า ในปี 2568 มูลค่าบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจะขยายตัวเพิ่มขึ้นถึง 13,000-16,000 ล้าน
ทำให้มองเห็นแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงในตลาดโลก ทั้งด้านมาตรฐานบรรจุภัณฑ์ที่เข้มข้นขึ้นทั่วโลก และมุ่งไปสู่การใช้ Recycled PET Recycled PP รวมถึงการลงทุนเพื่อผลิตไบโอพลาสติก (PLA) ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมยิ่งขึ้น
ทางด้าน เต็ดตรา แพ้ค ผู้นำเสนอโซลูชั่นการแปรรูปอาหารและบรรจุภัณฑ์อาหารชั้นนำของโลก ได้เผยแพร่รายงาน Trendipedia ประจำปี 2564 เป็นการศึกษาเทรนด์ความเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภคที่ส่งผลต่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคได้ดีที่สุด
โดยมองว่า ท่ามกลางสถานการณ์ที่เป็น New Normal พฤติกรรมผู้บริโภค และรูปแบบการใช้จ่ายกำลังเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มจึงจำเป็นต้องมีความคล่องตัวมากพอที่จะเข้าถึงผู้บริโภคที่มีความรู้ความเข้าใจมากขึ้น ต้องสร้างสรรค์เทคโนโลยีเชิงนวัตกรรมที่มีวิวัฒนาการอย่างต่อเนื่องที่จะสามารถรับมือกับความท้าทายที่แท้จริงได้ นั่นคือ เรื่องของสุขภาพและความปลอดภัยทางอาหาร
สุภนัฐ รัตนทิพ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท เต็ดตรา แพ้ค (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า รายงาน Trendipedia ในปี 2564 ระบุถึงเทรนด์หลัก 8 เรื่อง ได้แก่ สุขภาพคือเรื่องแรก (Health First) การบริโภคอย่างมีความรับผิดชอบ (Responsible Consumption) ความสะดวกสบายภายในบ้าน (Convenience In-Home) ประสบการณ์อาหารอิเล็กทรอนิกส์ (e-Food Experience) การเชื่อมสัมพันธ์ทางสังคม (Social Reconnect) ต้นกำเนิดและแหล่งที่มา (Heritage and Provenance) ความดื่มด่ำที่ตั้งใจ (Intentional indulgence) และข้อมูลส่วนบุคคล (Personal Data)
โดย เต็ดตรา แพ้ค ให้ความสำคัญกับ 4 เทรนด์แรกเป็นพิเศษ ได้แก่
สุขภาพคือเรื่องแรก (Health First) ซึ่งมีความชัดเจนมาอย่างต่อเนื่องจากสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 เมื่อสุขภาพร่างกายและจิตใจกำลังกลายเป็นเรื่องสำคัญสำหรับผู้บริโภค ผู้คนจึงต่างมองหาผลิตภัณฑ์ที่มีวิตามินเสริมหรือคุณค่าทางโภชนาการเฉพาะด้านเพื่อบำรุงสุขภาพและความสุขของตนเอง โดยอาหารที่ช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันและวิตามินดีกำลังเป็นที่นิยม เช่นเดียวกับอาหารที่ช่วยส่งเสริมสุขภาพจิตใจ
การบริโภคอย่างมีความรับผิดชอบ (Responsible Consumption) เป็นความวิตกกังวลเกี่ยวกับโลก ผู้คน และชุมชน แบรนด์ต่างๆ จึงได้สร้างสรรค์วิธีการใหม่ๆ เพื่อเพิ่มความโปร่งใสของผลิตภัณฑ์ กระบวนการผลิต และผลกระทบทางสังคม โดยผลิตภัณฑ์อาหารได้รับการคาดหวังให้มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ และไม่สร้างขยะ ในขณะที่บรรจุภัณฑ์จะต้องติดฉลากข้อมูลอย่างชัดเจน และเข้าใจได้ง่าย
ความสะดวกสบายภายในบ้าน (Convenience In-Home) การต้องอยู่บ้านมากขึ้นทำให้ผู้บริโภคต้องการความสะดวกสบายของการใช้ชีวิตประจำวันภายในบ้านทั้งการทำอาหาร และความต้องการที่จะบริโภคเมื่อไหร่ก็ได้ นิยมซื้ออาหารและเครื่องดื่ม และชำระเงินผ่านระบบออนไลน์แบบไร้การสัมผัส ขณะที่อาหารปรุงสำเร็จ และเครื่องดื่มสำเร็จรูปพร้อมบรรจุภัณฑ์มีนวัตกรรมที่ดียิ่งขึ้น เพื่อความสะดวกสบายในการจัดเก็บในบ้าน
ประสบการณ์อาหารอิเล็กทรอนิกส์ (e-Food Experience) ที่เชื่อมโยงมาจากความนิยมด้านความสะดวกสบายที่เพิ่มมากขึ้น เมื่อชีวิตเปลี่ยนเข้าสู่ระบบออนไลน์และข้อมูลเสมือนจริงเริ่มกลายเป็นความเป็นจริงรูปแบบใหม่ที่ไม่จำกัดเฉพาะเรื่องของความบันเทิงเท่านั้น แต่ยังรวมถึงอาหารและเครื่องดื่มด้วย ตัวอย่างของเทรนด์เรื่องนี้คือการสแกน AR Code บนตัวบรรจุภัณฑ์ที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อสร้างสรรค์ประสบการณ์ในด้านต่างๆ
วันนี้บรรจุภัณฑ์จึงไม่ได้มีบทบาทเป็นเพียงแค่วัสดุห่อหุ้มและปกป้องอาหาร หรือช่วยปกป้องโลกจากความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งหากมีเรื่องของการดีไซน์ใส่เข้าไปบนตัวบรรจุภัณฑ์ ก็จะช่วยสร้างความแตกต่างๆ และโดดเด่นเมื่อต้องไปประชันกันอยู่ในตู้แช่เย็นของร้านสะดวกซื้อ
สุภนัฐ กล่าวเสริมว่า เต็ดตรา แพ้ค ตามติดเรื่องการพัฒนามาโดยตลอด เนื่องจากปัจจุบันบรรจุภัณฑ์ไม่ใช่สิ่งที่มีไว้เพียงแค่ห่อหุ้ม หรือปกป้องอาหารเพียงอย่างเดียว แต่ยังต้องมีความสามารถในการ Connect หรือสามารถสร้าง Engagement กับผู้บริโภคได้อีกด้วย ซึ่งเทรนด์ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้มากที่สุด คือ e-Food Experience เพราะการสร้างประสบการณ์ในเรื่องอาหารกับผู้บริโภคต้องสร้างผ่านแพ็คเกจจิ้ง ต้องดูเรื่องของ Painting Design และ Painting Effect
“นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของการนำ QR Code มาใช้โดยการสแกนโค้ดเพื่อทำเรื่องของโปรโมชั่น การให้ข้อมูลของสินค้า ไปจนถึงการทำ Traceability เหล่านี้ยังเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมาอย่างต่อเนื่อง และต้องยอมรับว่าในเมืองไทยยังเห็นไม่มากแต่ก็เริ่มมีมากขึ้น เริ่มเห็นว่า ผู้ผลิตได้นำแพ็คเกจจิ้งมาเป็นตัวเชื่อมอีกจุดหนึ่งเข้ากับผู้บริโภคไม่ใช่แค่ตัวสินค้าที่อยู่ภายในบรรจุภัณฑ์เท่านั้น”
สำหรับเรื่องของ Traceability เป็นการเข้าถึงข้อมูล หรือต้นกำเนิดของผลิตภัณฑ์มาว่าจากไหน น้ำนม น้ำผลไม้ ถูกนำมาจากฟาร์มใด ผลิตเมื่อไหร่ เข้ามาวันที่เท่าไหร่ มีข้อมูลสารอาหารอะไรบ้าง เป็นต้น แต่เป็นเรื่องที่ต้องมีการลงทุนในเรื่องของ Infrastructure ทั้งเครือข่าย ซึ่งต้องใช้เวลา
ในขณะที่เรื่องของ QR Code ได้ถูกหยิบมาสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับตัวบรรจุภัณฑ์ได้ค่อนข้างเร็ว และชัดเจน ซึ่งในต่างประเทศเริ่มใช้กันมาระยะหนึ่งแล้ว เช่น การนำ QR Code มาเล่นกับฝาขวด หรือการนำ AR มาเล่นกับฉลากบนกล่อง เมื่อสแกนแล้วมีตัวการ์ตูนออกมาเต้น ถือเป็นการทำ Interaction ทั้งในแง่ของการให้ข้อมูล หรือการโปรโมชั่น และทำให้บรรจุภัณฑ์ให้มีความสนุกสนานมากขึ้น
ปัจจุบัน QR Code ที่นิยมนำมาใช้งานบนบรรจุภัณฑ์มี 2 รูปแบบ คือ Static QR Code ที่เชื่อมต่อไปสู่หน้าเพจ หรือหน้าเว็บไซต์ของสินค้านั้นๆ และ Dynamic QR Code เป็น Unique QR Code ที่แต่ละโค้ดจะมีความแตกต่างกันสามารถนำไปใช้งานหลากหลาย เช่น การนำเสนอข่าวประจำวัน มีความยืดหยุ่นในการใช้งานสูงกว่า Static QR Code โดยปัจจุบันการใช้งานส่วนใหญ่ยังเป็น Static QR Code
ยกตัวอย่าง ผลิตภัณฑ์นมแบรนด์หนึ่งในประเทศจีน มีการนำ QR Code มาสร้างการเชื่อมต่อ หรือการปฏิสัมพันธ์ (Customer Engagement) ระหว่างผลิตภัณฑ์กับผู้บริโภค ซึ่งผลิตภัณฑ์นมมีแหล่งผลิตมาจากประเทศอังกฤษ เมื่อผู้บริโภคสแกน QR Code บนตัวบรรจุภัณฑ์ ก็จะมองเห็นภาพเคลื่อนไหวเสมือนได้เข้าไปอยู่ใน British Museum เพื่อเชื่อมโยงว่า ผลิตภัณฑ์นมนี้มาจากประเทศอังกฤษ และผู้บริโภคก็เหมือนได้ไปท่องเที่ยวอยู่ใน British Museum ทำให้ผู้บริโภครู้สึกรีเลทเข้ากับตัวสินค้าได้เร็ว และง่ายขึ้น
เป็นตัวอย่างที่ทำให้รู้สึกว่า ผู้ผลิตรู้จักที่จะนำกิมมิคเหล่านี้มาเล่นกับผู้บริโภคโดยสื่อข้อความผ่าน QR Code เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์ได้ลึกขึ้น
นอกจากนี้ “จัสท์ดริ้งค์” (JUSTDRINK) หรือ ชานม “ฉุน ชุ่ย เฮอ” (Chun Cui He) ของเถ้าแก่น้อย ก็เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนถึงบทบาทใหม่ของตัวบรรจุภัณฑ์ จากการใส่ลูกเล่นบนบรรจุภัณฑ์ด้วยการนำเทคโนโลยี AR (Augmented Reality) มาผนวกกับ Music Marketing เพื่อสร้าง Customer Engagement ให้กับผลิตภัณฑ์ที่เป็น Limited Edition เพื่อสะท้อนภาพไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ในด้านการท่องเที่ยว ดนตรี แฟชั่น เกม เป็นต้น
โดยแคมเปญ JUSTDRINK, Just Be The Original You จะใช้ Music Marketing เป็นกลยุทธ์ในการสื่อสารผนวกกับเทคโนโลยี AR ที่ลิงค์ไปถึงโซเชียลมีเดียได้อย่างน่าสนใจ เพราะดนตรีช่วยให้เข้าถึงได้ง่ายยิ่งขึ้น โดยผ่านขั้นตอนต่างๆ เพียงไม่กี่ขึ้นตอนก็จะทำให้ผู้บริโภคมีประสบการณ์ความสนุกในรูปแบบใหม่
เริ่มจากการใช้สมาร์ทโฟนสแกน QR Code ข้างขวด เพื่อลิงก์ไปที่ IG Filter และสแกนจับภาพขวด JUSTDRINK หน้าจอก็จะโชว์ภาพ AR ที่เป็นลวดลายตามไลฟ์สไตล์ต่างๆ พร้อมเล่นเพลง JUSTDRINK Just Be You
ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์นมจากประเทศจีน หรือชานม JUSTDRINK ของเถ้าแก่น้อย ก็ล้วนเป็นรูปแบบการสื่อสารแนวใหม่ ที่ช่วยสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ ด้วยการทำให้ผู้บริโภคมีส่วนร่วม หรือมีการปฏิสัมพันธ์ไปกับแบรนด์ ซึ่งการใช้ QR Code นอกจากจะช่วยสร้างความน่าสนใจ ทำให้ผู้บริโภคเกิดความสนุกสนาน QR Code ยังสามารถวัดผลความสำเร็จในแง่การทำ Engagement หรือการสร้างยอดขายให้กลับคืนมาได้อีกด้วย
Age of Personalized Omni-channel Experiences หรือยุคของการทำตลาดที่ตอบโจทย์ลูกค้าแบบปัจเจกบุคคล ผ่านการผสมผสานเครื่องมือทางการตลาดและช่องทางขายทั้งออฟไลน์และออนไลน์เข้าด้วยกันอย่างลงตัว เป็นอีกหนึ่งแนวโน้มทางการตลาดที่มีการเติบโตแบบน่าสนใจ เพราะเป็นความพยายามในการเข้าถึงผู้บริโภคโดยตรงของแบรนด์และบริษัทต่างๆ
การตลาดในยุค Age of Personalized Omni-channel Experiences จะถูกขับเคลื่อนด้วยดาต้า เพราะการที่จะสามารถตอบโจทย์ผู้บริโภคได้แบบลงลึกเฉพาะบุคคลนั้น จำเป็นต้องมีของข้อมูลที่ทำให้เข้าใจพฤติกรรมของลูกค้าอย่างลึกซึ้งเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่นเดียวกับต้องเลือกใช้วิธีการเข้าถึงที่ไม่มีเส้นแบ่งระหว่างออนไลน์กับออฟไลน์ แต่เป็น Omni – channel ซึ่งผสมผสานทั้ง 2 ช่องทางได้อย่างกลมกลืนแบบไร้รอยต่อ
ในเรื่องของ Omni-channel Experiences นี้ ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในเรื่องของช่องทางขายสินค้าเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการสื่อสารกับลูกค้าที่วันนี้ ดิจิทัล มาร์เก็ตติ้ง เข้ามามีบทบาทสำคัญอย่างมาก เพราะจะเป็นเครื่องมือที่เข้าถึงตัวผู้บริโภคโดยตรง แต่ละแบรนด์จึงให้น้ำหนักกับการทำดิจิทัล มาร์เก็ตติ้ง มากขึ้น
การเข้าสู่โลกการตลาดที่เป็น Age of Personalized Omni-channel Experiences นี้ ทำให้เกิดความพยายามในการเข้าถึงผู้บริโภคโดยตรงของแบรนด์และบรรษัทต่างๆ ที่เรียกว่า Direct to Customer ซึ่งเป็นอีก 1 เทรนด์ ที่จะมีออกมาให้เห็นมากยิ่งขึ้นในช่วงเวลาถัดจากนี้ไป
หากมองเข้ามาที่ความหมายของกลยุทธ์ Personalized Marketing ที่ถูกใช้เป็นกลยุทธ์สำคัญของโลกการตลาดที่อยู่ในยุคของAge of Personalized Omni-channel Experiences จะหมายถึงกลยุทธ์ในรูปแบบที่ผู้ประกอบการ สามารถจดจำความชอบเฉพาะของลูกค้า หรือพฤติกรรมการซื้อสินค้าได้
ขณะเดียวกัน การเข้าถึงพวกเขา ก็ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ช่องทางเดิมๆ แต่เป็นการผสมผสานช่องทางทั้งออนไลน์ และออฟไลน์เข้าด้วยกัน ซึ่งในปัจจุบัน เทคโนโลยีดิจิทัล ทำให้เราสามารถเลือกที่จะสื่อสารกับเขาโดยตรง รวมถึงสร้างเนื้อหาที่ตรงกับเขามากที่สุดได้
เช่นเดียวกับการพัฒนาช่องทางขาย ที่วันนี้ต้องเป็นการผสมผสานระหว่างช่องทางขายแบบออฟไลน์หรือร้านค้าปลีกในรูปแบบดั้งเดิม กับช่องทางขายผ่านออนไลน์ เข้าด้วยกันแบบไร้รอยต่อ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการซื้อที่เกิดขึ้นได้ทุกที่ ทุกเวลา โดยไม่มีข้อจำกัด
ตัวอย่างในเรื่องนี้ก็คือ การทำตลาดของท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต ที่สามารถจดจำลูกค้าแต่ละคนได้ว่ามีพฤติกรรมการซื้ออย่างไร ชอบซื้อสินค้าประเภทไหนเป็นประจำ และซื้อเวลาไหน เมื่อถึงเวลาก็สามารถสื่อสารโดยตรงเพื่อกระตุ้นการซื้อ พร้อมด้วยการมอบสิทธิประโยชน์พิเศษอื่นๆ เข้าไปเพื่อช่วยกระตุ้นให้เกิดการซื้อเพิ่มมากขึ้น สิ่งเหล่านี้ จะเกิดจากการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย
แนวคิดในเรื่องของการทำ Personalized Marketing หรือกลยุทธ์ที่เข้าถึงเฉพาะบุคคล ถูกพูดถึงมาระยะเวลาหนึ่งแล้ว แต่มีแนวโน้มที่ถูกนำมาใช้มากขึ้น เนื่องจากลูกค้าในปัจจุบันมีความต้องการเสพประสบการณ์ที่ตัวเองสร้างขึ้นมามากกว่าการที่สินค้าหรือแบรนด์มอบให้ เรียกได้ว่า ลูกค้าเป็นคนคุมประสบการณ์ด้วยตัวเอง
แนวโน้มดังกล่าวนี้ ยังน่าจะมาแรงในปัจจุบันและอนาคตอันใกล้ เป็นผลมาจากการเติบโตของเทคโนโลยีสมาร์ทโฟน โซเชียลมีเดีย และคลาวด์ ที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค ทำให้มีความคาดหวังต่อสินค้าและบริการในระดับที่สูงขึ้น
แน่นอนว่า เขาต้องการอะไรที่เป็นเรื่องเฉพาะหรือสามารถตอบโจทย์เขาได้ ทำให้การตลาดแนวนี้ ทวีบทบาทมากยิ่งขึ้น โดยมีเรื่องของดาต้าเข้ามาเป็นตัวขับเคลื่อนที่จะทำให้เข้าใจความต้องการต่างๆของพวกเขา ยิ่งในยุคนี้มีเรื่องของสื่อดิจิทัลเข้ามาเกี่ยวข้อง ก็ยิ่งจะทำให้สามารถเข้าถึงความต้องการเฉพาะบุคคลเหล่านั้นได้ง่ายขึ้น
ประกอบกับตัว AI หรือ Artificial Intelligence ถูกพัฒนาให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทำให้นักการตลาดเข้าถึงและช่วยเหลือลูกค้าแต่ละรายได้เร็วขึ้น
สิ่งที่ตามมาอย่างหนึ่งก็คือ ความพยายามในการเข้าตรงถึงลูกค้าด้วยการสร้างแพล็ตฟอร์การขายผ่านออนไลน์ของตัวเองขึ้นมา ซึ่งไม่เพียงแค่การมองถึงการสร้างยอดขายเท่านั้น แต่ยังเป็นตัวช่วยในการเข้าถึงดาต้าของลูกค้าได้เป็นอย่างดี
ถือเป็นการสร้างประสบการณ์การช้อปแบบ Omni- channel อย่างในกรณีของไนกี้ ที่ยุติการขายบนแพลตฟอร์มอะเมซอน ในอเมริกา แล้วหันมาพัฒนาแพลตฟอร์มของตัวเองขึ้นมา
ส่วนในบ้านเรา บรรดาผู้ประกอบการที่เป็นเจ้าของแบรนด์สินค้าใหญ่ๆ ต่างสร้างรูปแบบการขายที่เข้าตรงถึงลูกค้าทั้งทางเว็บไซต์ และการขายผ่าน Social Commerce ซึ่งในปัจจุบัน อาจจะไม่ใช่ข้อจำกัดของแบรนด์เล็กๆ หรือผู้ประกอบการ SMEs อีกต่อไปแล้ว เพราะมีสตาร์ทอัพจากต่างประเทศเข้ามาสร้างแพล็ตฟอร์มสำเร็จรูปเพื่อให้บริการประกอบการเหล่านั้น โดยสร้างเป็นอีโคซิสเท็มที่ครบวงจรทั้งเรื่องของการทำแบรนด์ การขาย ขนส่งสินค้า ตลอดจน การเก็บดาต้าของลูกค้า ซึ่งมีค่าใช้จ่ายหรือต้องใช้เงินลงทุนไม่มากนัก
อย่างในกรณีของ SHOPLINE สตาร์ทอัพสัญชาติฮ่องกง ที่ให้บริการแพลตฟอร์ม DIY สำหรับร้านค้าและธุรกิจออนไลน์ทุกประเภท โดยร้านค้าไม่จำเป็นต้องมี ความรู้ทางเทคนิคเกี่ยวกับการสร้างเว็บไซต์ แต่สามารถสร้างและจัดการร้านค้าออนไลน์ของตัวเองได้อย่างรวด เร็วและง่ายดาย โดย SHOPLINE เปิดให้ทดลองใช้ฟรี 14 วัน เพื่อให้ร้านค้าและธุรกิจทำความรู้จักกับแพลต ฟอร์มและฟังก์ชั่นต่างๆ โดยมีทีมงานที่ปรึกษาด้านอีคอมเมิร์ซคอยให้คำแนะนำและความช่วยเหลือในการเปิด ร้านค้าออนไลน์ โดยในช่วงเวลาทดลองสามารถใช้งานคุณสมบัติได้ทั้งหมด
SHOPLINE คิดค่าบริการรายเดือนสำหรับคนที่สนใจจะทำในรูปแบบอีคอมเมิร์ซอยู่ที่ 599 บาท ส่วนในรูปแบบของ Social Commerce จะคิดค่าบริการในราคาเท่ากัน และหากต้องการทำทั้ง 2 แบบจะคิดราคาที่ 1,199 บาท แต่ถ้าเป็นแบบรายปี จะคิดราคาที่ 4,999 บาทสำหรับแพล็ตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ และ 4,999 บาท สำหรับแพล็ตฟอร์ม Social Commerce และหากต้องการใช้ทั้ง 2 แพล็ตฟอร์มจะมีราคาอยู่ที่ 7,999 บาท สนใจเข้าไปดูรายละเอียดได้ที่ https://shopline.co.th
นอกจากการสร้างแพล็ตฟอร์มสำเร็จรูปแบบ อีกรูปแบบที่นิยมทำก็คือ การเข้าไปเปิดร้านในแพล็ตฟอร์มอีคอมเมิร์ซชื่อดังทั้งลาซาด้าช้อปปี้ และเจ.ดี.ดอทคอม เป็นต้น ซึ่งแม้จะมีต้นทุนในการเข้าไปเปิดร้านในแพล็ตฟอร์มอีคอมเมิร์ซค่อนข้างสูงกว่าการซื้อใช้แพล็ตฟอร์มสำเร็จรูป แต่สิ่งที่ได้กลับคืนมาถือว่าค่อนข้างคุ้ม เพราะจะทำให้มองเห็นดาต้าที่เป็นพฤติกรรมการซื้อของลูกค้าอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะในช่วงของการจัดโปรโมชั่น Double Day Sales ที่ช่วยกระตุ้นการซื้อได้อย่างมาก
ยิ่งไปกว่านั้นพวกเขายังต้องการประสบการณ์ที่มีความลื่นไหลไม่สะดุดให้รำคาญใจ ดังนั้น การสร้างประสบการณ์ผู้บริโภคจึงกลายเป็นสนามแข่งขันทางการตลาดของธุรกิจหลายองค์กร ที่จะสร้างความได้เปรียบทางการค้าด้วยการพยายามดึงดูดและรักษาลูกค้าเอาไว้กับแบรนด์ของตนเองได้เป็นอย่างดีนั่นเอง
ทั้งหมดนี้คืออีกหนึ่งเทรนด์ในการทำธุรกิจที่ SMEs ต้องตามให้ทัน.....
หลายปีที่ผ่านมาโลกต้องเผชิญกับปัญหาทรัพยากรถูกใช้อย่างฟุ่มเฟือยจนทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ลดลงก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ทวีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งสภาวะโลกร้อน การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ขยะล้นโลก โดยเฉพาะขยะพลาสติกในท้องทะเลซึ่งส่งผลกระทบทั้งกับสัตว์และมนุษย์ นี่จึงกลายเป็นโจทย์ใหญ่ที่ธุรกิจทั่วโลกต้องเร่งแก้ปัญหาก่อนที่โลกจะถูกทำร้ายจนเกินเยียวยา
ช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมา แนวคิด Circular Economy หรือ เศรษฐกิจหมุนเวียน จึงถูกนำมาพูดถึงในวงกว้าง องค์กรธุรกิจขนาดใหญ่นำแนวคิดนี้มาเป็นตัวขับเคลื่อนให้องค์กรเติบโตอย่างยั่งยืนควบคู่ไปกับสังคมและสิ่งแวดล้อม
เดิมทีเราจะคุ้นชินกับ เศรษฐกิจแบบเส้นตรง หรือ Linear Economy ซึ่งเป็นแนวคิดแบบ ผลิต-ใช้-ทิ้ง (Make-Use-Dispose) คือ ใช้ทรัพยากรมาผลิตเป็นสินค้าเมื่อเลิกใช้แล้วก็จะถูกทิ้งเป็นขยะไม่ถูกนำกลับมาใช้ใหม่ ซึ่งเศรษฐกิจแบบเส้นตรงส่งผลกระทบต่อโลกและสิ่งแวดล้อมอย่างมาก จึงนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงมาใช้แนวคิดCircular Economy หรือ เศรษฐกิจหมุนเวียน ที่เน้นใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ภายใต้แนวคิด “ผลิต-ใช้-นำกลับมาใช้ใหม่” (Make-Use-Return)
โดยแนวคิด Circular Economy ถือเป็น 1 ใน 3 ของนโยบาย BCG ซึ่งรัฐบาลจะใช้เป็นเรือธงในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต โดยมีเรื่องของ Bio Economy (เศรษฐกิจชีวภาพ) และ Green Economy (เศรษฐกิจสีเขียว) ร่วมอยู่ด้วย เพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรในการผลิตอย่างคุ้มค่า และสามารถนำทรัพยากรที่ใช้แล้วมาสร้างมูลค่าให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถกลับมาใช้ใหม่ โดยปล่อยของเสียออกสู่สภาพแวดล้อมให้น้อยที่สุด
หลักสำคัญของ Circular Economy คือ การนำเข้าสู่กระบวนการผลิตใหม่ Re-process ผ่านการออกแบบใหม่ Re-design การสร้างคุณค่าใหม่ Added value โดยใช้ Innovation และ Collaboration ทั้งที่เกี่ยวข้องและไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจเพื่อให้เกิดการใช้ซ้ำReuse ซึ่งหลักการทั้งหมดจะช่วยให้มีการใช้ทรัพยากรใหม่น้อยแต่เกิดประโยชน์สูงสุด ลดปริมาณขยะจากการนำกลับเข้ามาสู่วงจรการผลิตได้
แม้องค์กรใหญ่จะเป็นผู้จุดประกายเรื่องของ Circular economy แต่องค์กรเล็กอย่าง SMEs หลายรายก็เริ่มหันมาทำธุรกิจบนแนวคิด เศรษฐกิจหมุนเวียน มากขึ้นเพื่อสร้างความแตกต่าง ลดต้นทุนในการผลิต และแน่นอนว่าเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในระบบการผลิตที่ช่วยลดการใช้ทรัพยากรอย่างฟุ่มเฟือย
Nornnorn หรือ นอนนอน ถือเป็นหนึ่งในธุรกิจที่ใช้ความเชี่ยวชาญจากธุรกิจเดิมคือการผลิตและจัดจำหน่ายที่นอนมาต่อยอดเป็นบริการเช่าที่นอนบนแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยบริการของนอนนอน คือ การจัดหาที่นอนใหม่คุณภาพสูงเพื่อให้ธุรกิจที่พักสามารถเข้าถึงที่นอนคุณภาพดีผ่านการชำระเป็นรายเดือน เริ่มต้นเพียง 65 บาท/ชิ้น/เดือน ระยะเวลาเช่าจะอยู่ที่ 60-120 เดือน ซึ่งโมเดลธุรกิจของ นอนนอน นอกจากช่วยลดปริมาณขยะที่เกิดจากที่นอนเสื่อมสภาพหลังการใช้งานแล้วยังมีบริการรับที่นอนเหล่านั้นกลับคืนมารีไซเคิลและอัพไซเคิลฟองนำด้วยวิธีการย่อยสลายฟองน้ำให้กลายเป็นโมเลกุลพื้นฐาน หรือ โฟลิโอโมโนเมอร์ ก่อนส่งขายต่อให้กับอุตสาหกรรมปิโตรเคมีต่อไป
“เราทำธุรกิจเกี่ยวข้องกับที่นอนมากว่า 10 ปี จึงเห็นปัญหาว่าธุรกิจที่พักขนาดย่อมส่วนใหญ่เข้าไม่ถึงที่นอนที่มีคุณภาพ เพราะไม่มีงบประมาณเพียงพอ ปัญหาอีกส่วนก็คือไม่มีวิธีการจัดการกับที่นอนที่ไม่ใช้แล้ว เนื่องจากที่นอนเป็นสินค้าชิ้นใหญ่ ทิ้งยาก ซึ่งสุดท้ายที่นอนเหล่านี้จะถูกนำไปฝังกลบหรือเผาในที่โล่งแจ้ง ในฝั่งของการรีไซเคิลเองก็ยังไม่มีใครทำ ในไทยมีการประเมินว่ามีการทิ้งที่นอน 10 ล้านชิ้นต่อปี อ้างอิงจากที่ UK ซึ่งมีการทิ้งที่นอน 7-8 ล้านชิ้นต่อปี ซึ่งทำให้เกิดปัญสิ่งแวดล้อม เราจึงนำ Pain point ของฝั่งธุรกิจมาบวกกับ Pain point ทางด้านของสิ่งแวดล้อม เกิดเป็นธุรกิจให้เช่าที่นอนใหม่จากแบรนด์ชั้นนำ เมื่อเช่าเสร็จเราจะช่วยรับที่นอนกลับมาแล้วแยกชิ้นส่วนไปรีไซเคิล หรือ อัพไซเคิล ต่อไป” นพพล เตชะพันธ์งาม ผู้ก่อตั้งและ CEO บริษัท เซอร์คิวลาร์ริตี จำกัด กล่าวถึงนอนนอนธุรกิจเช่าที่นอนหนึ่งเดียวในโลกซึ่งใช้แนวคิด Circular economy มาพัฒนาธุรกิจ
ปัญหาขยะล้นโลกโดยเฉพาะขยะพลาสติกส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมค่อนข้างมาก การจัดการขยะที่ดีเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยให้สามารถนำขยะพลาสติกกลับมารีไซเคิลหรืออัพไซเคิลได้ รีฟัน เป็นแพลตฟอร์มเพื่อการจัดการขยะ ทำให้การจัดการขยะรีไซเคิลที่คัดแยกไว้สามารถส่งต่อไปเข้าสู่วงจรการรีไซเคิลได้ง่ายขึ้น ผ่านนวัตกรรมของรีฟัน 3 ส่วน คือ รีฟัน แมชชีน ตู้รับซื้อขยะรีไซเคิลอัตโนมัติ เปลี่ยนขยะรีไซเคิลเป็นเงินในรูปแบบต่างๆ แอปพลิเคชั่นรีฟันแบงค์ โปรแกรมจัดการธนาคารขยะรีไซเคิลแบบออนไลน์ และแอปพลิเคชั่นรีฟันมี รีฟันแมน โมบายแอพลิเคชั่นที่ช่วยเป็นตัวกลางระหว่างคนขายขยะและคนซื้อขยะ
“ปัญหาขยะเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องเจอ บ้านเราไม่มีการจัดการขยะที่สามารถนำมารีไซเคิลได้ดี ไม่มีวิธีการที่ทำให้การแยกขยะสะดวกหรือง่าย เราพยายามสรรหาโซลูชั่นต่างๆที่จะทำให้การรีไซเคิลง่ายขึ้น นี่คือที่มาของการที่เราพยายามสร้างนวัตกรรมที่จะเข้ามาตอบโจทย์ตรงนี้” อนน เชาวกุล co-founder บริษัท รีฟัน จำกัด อธิบายถึงปัญหาการจัดการขยะที่นำมาสู่การพัฒนารีฟันแพลตฟอร์ม
“รีฟัน มาจากคำว่า Recycling is Fun เป็นการเปลี่ยนพฤติกรรมของคนที่อยากจะรีไซเคิลให้รู้สึกว่าง่ายขึ้น หันกลับมารักษ์โลกมากขึ้น เพราะฉะนั้นการเติบโตของเราเท่ากับปริมาณขยะที่มี เรามีหน้าที่เก็บแล้วหมุนเวียนขยะเหล่านี้ให้โลกใบนี้ยังอยู่ไปได้ เทรนด์รีไซเคิลหรือเรื่องของสิ่งแวดล้อมอยู่กับเรามานาน จนถึงวันนี้เรื่องนี้จึงกลายเป็นความจำเป็น เพราะฉะนั้นโอกาสเติบโตทางธุรกิจของเราก็ยังคงมีโอกาสต่อไปในอนาคต”
Bangkok Rooftop Farming ธุรกิจ Social Enterprise ซึ่งพัฒนาโมเดลการสร้างฟาร์มสมัยใหม่ในเมืองและต่อยอดพัฒนาธุรกิจด้วยแนวคิด Circular Economy หรือหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน
Model ธุรกิจของ Bangkok Rooftop Farming เกิดขึ้นโดยการสร้างโซลูชั่นที่ช่วยให้เกิดไลฟ์สไตล์ใหม่ของคนเมืองตั้งแต่การจัดการขยะเศษอาหาร นำเศษอาหารมาทำปุ๋ย บริหารจัดการฟาร์มสร้างแปลงผักไร้สารพิษพร้อมสร้างตลาดจากจุดกำเนิดเพื่อลดการขนส่ง
“ชื่อเราก็บอกด้วยตัวเองอยู่แล้วว่าเราทำฟาร์มบนดาดฟ้าเราทำ Circular Urban Farming Business model เรามองว่าวันนี้เราต้องเป็น Global Citizen จะเป็น Thai Citizen ไม่ได้แล้วเพราะเราสูญเสียทรัพยากรอย่างมากมายในช่วงเวลาที่ผ่านมาในส่วนของธรรมชาติเราสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพจนก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม ในขณะที่เรามีปริมาณขยะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ”
ในช่วงที่ผ่านมามีขยะที่เกิดจากเดลิเวอรี่เพิ่มขึ้นจำนวนมาก แต่ละปีกรุงเทพมหานครต้องจ่ายค่าจัดการเศษขยะหรือเศษอาหาร 1.1 พันล้านบาท ซึ่งถือเป็นอันดับ 2 ของงบประมาณของกรุงเทพมหานคร นั่นทำให้ Bangkok Rooftop Farming มองว่าวันนี้เรื่องของการแยกขยะเป็นเรื่องจำเป็น
“ในต่างประเทศมีการแยกขยะมาแล้วกว่า 25 ปี ในขณะที่ประเทศไทยวันนี้เรายังไม่ได้ทำอะไรเลยขยะเศษอาหารเรามีถึง 55% แต่เราสามารถหมักได้แค่ 5% ที่เหลือไปอยู่ที่ Landfill ธุรกิจฟาร์มของเราจะเข้าสร้างประโยชน์ในแง่ของการทำพื้นที่ว่างมาสร้างให้เกิดประโยชน์ เราสามารถทำให้ขยะเศษอาหาร ไม่ต้องไปอยู่ใน Landfill และนำงบประมาณที่ต้องนำมาจัดการกับขยะเหล่านี้ไปพัฒนาอย่างอื่น นอกจากนี้เรายังส่งเสริมเศษฐกิจสีเขียวรวมถึงทำให้เกิดความมั่นคงทางอาหารด้วย”
ถ้าตามหลักการของ Circular Economy คือ การนำเข้าสู่กระบวนการผลิตใหม่ Re-process ผ่านการออกแบบใหม่ Re-design เพื่อสร้างคุณค่าใหม่ Added value ให้เกิดการใช้ซ้ำ Reuse ความร่วมมือจากทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นองค์กรภาครัฐ เอกชนทั้งรายเล็กและรายใหญ่เป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งธุรกิจรายเล็กเองก็เริ่มมองเห็นโอกาสจากการทำธุรกิจสีเขียวเพิ่มมากขึ้นไม่ใช่แค่สร้างการเติบโตให้กับธุรกิจแต่ยังหมายถึงการสร้างความยั่งยืนให้กับสังคมและสิ่งแวดล้อมด้วย
หลายสิ่งหลายอย่างที่เคยเป็นข้อจำกัดในการทำธุรกิจ โดยเฉพาะกับการมองหาโอกาสใหม่ๆ ทางการตลาดในการก้าวข้ามจากพื้นที่เดิมๆ ที่เคยทำอยู่ ซึ่งดูเหมือนจะยาก หรือต้องใช้เงินทุนจำนวนมาก กำลังถูกทำลายข้อจำกัดลงด้วยการ มอบหน้าที่การผลิตให้กับโรงงานที่รับจ้างผลิต โดยไม่ต้องเสียเวลาไปลงทุนด้านการผลิต ทำให้มีเวลาในการทำตลาดได้อย่างเต็มที่
การเข้าตลาดใหม่ๆ ในรูปแบบนี้ กำลังเป็นแนวทางที่หลายๆ แบรนด์หรือบริษัทนิยมทำ โดยมีโรงงานที่ทำหน้าที่ OEM ให้ ซึ่ง “OEM” ย่อมาจาก Original Equipment Manufacturer หมายถึงการรับจ้างผลิตสินค้าให้กับแบรนด์ต่าง ๆ ตามแบบที่ลูกค้ากำหนด มักจะเป็นโรงงานเปิดใหม่ ๆ หรือโรงงานที่ไม่เน้นการสร้างแบรนด์ของตังเอง และโรงงานที่ไม่มีความชำนาญในการออกแบบผลิตภัณฑ์ แต่บางครั้งก็มีข้อยกเว้น ตรงที่ผู้รับจ้างผลิตบางราย เป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนี้ เพราะทำมานาน
ข้อจำกัดที่ถูกทลายลงนี้ ทำให้ผู้ประกอบการหรือแบรนด์สินค้า สามารถหันไปโฟกัสในเรื่องของการตลาดและการสร้างแบรนด์ได้อย่างเต็มที่โดยไม่ต้องมาพะวงกับเรื่องของการผลิต โดยมีหลายแบรนด์ที่นิยมขยายตลาดในรูปแบบที่ว่านี้ เหมือนกับที่ครั้งหนึ่ง “เถ้าแก่น้อย” พยายามที่จะขยายฐานธุรกิจเข้าไปสู่ตลาดโยเกิร์ตที่ผสมเวย์โปรตีนด้วยการออกแบรนด์ My Whey เพื่อเล่นกับกระแสของคนที่ออกกำลังกาย และต้องการเสริมสร้างกล้ามเนื้อ ในครั้งนั้น เถ้าแก่น้อยเลือกใช้วิธีการจ้างโรงงานที่ผลิตสินค้าแดรี่โปรดักท์เป็นคนผลิตให้ โดยพัฒนาสูตรขึ้นมาเอง แต่นำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ พร้อมกับเลือกวิธีการขายผ่านช่องทางออนไลน์
ส่วนที่เป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจก็คือ การเข้าตลาดของลูกอมเพลย์มอร์ของ SMEs อย่างบริษัท เอเวอร์มอร์ จำกัด ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีในช่องทางขายผ่านร้านเซเว่น อีเลฟเว่น ลูกอมแบรนด์นี้ เลือกวางตัวสินค้าด้วยแนวคิดที่แตกต่างจากลูกอมแบรนด์ยักษ์ใหญ่ทั้งหลายในตลาด นั่นคือ การสร้างตลาด ด้วยจินตนาการ และความสนุก ตามชื่อของแบรนด์ ซึ่งหมายถึงความสนุกที่มากกว่า
การเข้ามาของเพลย์มอร์ถือเป็นการสร้างดีมานด์ให้กับผู้บริโภคในตลาดลูกอม ซึ่งเดิมตลาดจะเน้นเรื่องฟังก์ชั่นเป็นหลัก โดยผลิตภัณฑ์ตัวแรกที่ออกมา คือขนมประเภทกัมมี่ (Gummy) ในรูปแบบ 3 มิติ เรียกว่าเป็นครั้งแรกในโลกก็ว่าได้ที่มีผลิตภัณฑ์ประเภทนี้ ซึ่งเกิดจากจินตนาการอันไม่สิ้นสุด จากนั้นขนม ลูกอม ในรูปแบบต่างๆ ที่ไม่เคยมีมาก่อน ถูกคิดค้นขึ้นไม่ต่ำกว่า 100 รายการ เช่น ช็อกโกแลตที่มีเมล็ดกาแฟอยู่ข้างใน ลูกอมส้ม ลูกอมแตงโม ลูกอมแบบเทป
ด้วยเหตุผลของการเลือกนำเสนอสินค้าที่มีความหลากหลายเพื่อเติมเต็มความสนุกในการอมลูกอมให้กับลูกค้าทุกวัย ทำให้บริษัท เอเวอร์มอร์ เลือกใช้วิธีการจ้างโรงงานต่างๆ ผลิตสินค้าให้ถึง 15 โรงงาน เพื่อให้ได้ความหลากหลายของสินค้า โดยปัจจุบันมีสินค้าที่วางอยู่ในตลาดมากกว่า 40 รายการเลยทีเดียว
ถือเป็นการทลายข้อจำกัดในการทำตลาดลูกอมที่ไม่ต้องใช้เงินทุนจำนวนมากในการสร้างโรงงาน แต่เลือกใช้วิธีการสร้างโอกาสจากการให้โรงงานที่รับจ้างผลิตเป็นคนผลิตให้ โดยเอเวอร์มอร์ จะเข้าไปควบคุมคุณภาพเพื่อให้ได้ตามคอนเซ็ปต์ที่วางไว้ในแต่ละครั้งที่ออกสินค้าใหม่
Nike คืออีกตัวอย่างของเรื่องนี้ เพราะโกลบอลแบรนด์รายนี้มีโมเดลธุรกิจที่ Outsourcing การผลิต และมุ่งสร้างแบรนด์-ทำมาร์เก็ตติ้ง โดย Nike ไม่มีโรงงานผลิตเป็นของตัวเอง วิธีที่ Nike ทำธุรกิจคือการ Outsource การผลิตให้โรงงานในประเทศแถบเอเชีย ซึ่งสามารถผลิตรองเท้าและสินค้าอื่นๆ ในต้นทุนต่ำกว่าการลงทุนด้วยตัวเอง เพราะสามารถย้ายฐานการผลิตได้ไม่ยากในกรณีที่เห็นว่าต้นทุนมีเพิ่มขึ้น
สิ่งที่ Nike ปฏิบัติทั่วโลกคือ การสร้างแบรนด์และทำมาร์เก็ตติ้ง ภายใต้สโลแกน Just do it ของ Nike ถือเป็นทัศนคติที่เข้าไปอยู่ในใจผู้บริโภคทั่วโลก
ตรงกับที่ปรมาจารย์ด้านการตลาดอย่าง ฟิลิป คอตเลอร์ เคยเขียนเรื่อง Outsourcing ในหนังสือ Marketing Insights From A to Z ว่า ในปัจจุบันเจ้าของแบรนด์ควร Outsource ทุกอย่างให้หน่วยงานที่สามารถทำได้ดีกว่า และถูกกว่า เพราะสามารถที่จะทำสินค้าในราคาต่ำและผลลัพธ์ที่ดีเนื่องจากมีสเกล และความเชี่ยวชาญที่มากกว่า โดยเจ้าของแบรนด์จะมีข้อดีตรงที่ไม่ต้องลงทุนในการทำโรงงานของตัวเองขึ้นมา เช่นเดียวกับการช่วยลดต้นทุนการผลิต โดยสามารถย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศที่มีต้นทุนการผลิตต่ำได้ เจ้าของแบรนด์ไม่จำเป็นต้องมีโรงงานเป็นของตัวเอง ซึ่งทำให้เกิดความคล่องตัวหากต้องเปลี่ยนลักษณะหรือกลยุทธ์ทางธุรกิจ
ขณะที่ข้อดีของโรงงานผู้ผลิตที่รับจ้างผลิตสินค้านั้น ทำให้โรงงานที่รับจ้างผลิต ไม่ต้องลงทุนด้านการวิจัยและออกแบบผลิตภัณฑ์ รวมถึงการออกแบบตราสินค้า ขณะเดียวกันก็ประหยัดค่าใช้จ่ายในการโฆษณาและประชาสัมพันธ์สินค้า รวมถึงลดความเสี่ยงทางด้านการหาตลาดเอง
แต่สิ่งที่ผู้ประกอบการ SMEs ที่เป็นโรงงานต้องคำนึงถึงก็คือ การเรียนรู้โนว์ ฮาว ในการการผลิตที่ผู้จ้างผลิตแนะนำให้ เช่นเดียวกับความพยายามในการมองหาแนวโน้มของตลาด ตลอดจนความต้องการใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นของผู้บริโภค ซึ่งไม่เพียงแค่ตลาดในประเทศเท่านั้น แต่ยังรวมถึงตลาดในระดับภูมิภาค หรือระดับโลก ที่แบรนด์ผู้ว่าจ้างทำตลาดอยู่
สิ่งที่เรียนรู้ได้จากการรับจ้างผลิตเหล่านั้น ในอนาคตจะสามารถนำมาต่อยอดได้ในกรณีที่ต้องการจะก้าวข้ามจากเส้นแบ่งของการเป็นแค่ผู้รับจ้างผลิต มาสู่การเป็นเจ้าของแบรนด์ควบคู่กันไปด้วย
เพราะการมีแบรนด์ของตัวเอง จะสามารถช่วยสร้างมูลค่าเพิ่ม หรือต่อยอดเข้าไปสู่โอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ได้อีกมหาศาล
อย่างไรก็ตาม แนวโน้มในเรื่องของการ Outsource การผลิตมาให้กับโรงงานที่รับจ้างผลิต ยังคงมีทิศทางการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งขึ้นอยู่ที่ว่า จะสามารถควบคุมต้นทุนการผลิตให้ได้ตามที่ผู้จ้างวานต้องการหรือไม่
ทั้งนี้ก็เพราะว่า การ Outsource การผลิตเป็นอีกหนึ่งการทำลายข้อจำกัดในการทำตลาดของ SMEs ได้เป็นอย่างดีนั่นเอง.......