จากผลการสำรวจของ Nielsen พบว่า 54% ของคน Gen Z มีความฝันตั้งมั่นอยากเป็นเจ้าของกิจการ ปราศจากหนี้ มีเป้าหมายในการใช้ชีวิตในแบบของตัวเอง และอาชีพในฝันของคนกลุ่มนี้ก็คือ การเป็นผู้ประกอบการสตาร์ทอัพ แต่ก็ยังมีอีกหลายคนที่ยังตีโจทย์ธุรกิจไม่แตก ไม่รู้ว่าจะเข้าไปอยู่ใน Startup Ecosystem อย่างไร และอาจเข้าไม่ถึงเครือข่ายแหล่งทุนที่จะทำให้สเกลอัพได้
วันนี้เรามีหน่วยงานสนับสนุนสตาร์ทอัพในทุกๆ มิติมานำเสนอ นั่นคือ AIS The StartUp ตัวช่วยที่จะทำให้สตาร์ทอัพไทยเดินไปสู่ฝันที่เป็นจริงได้ ดร.ศรีหทัย พราหมณี ผู้จัดการด้านเอไอเอส สตาร์อัพ บริษัท แอดว๊านซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า AIS The StartUp เป็นหน่วยงานของเอไอเอสที่เข้ามาเติมเต็มศักยภาพ ต่อยอด และให้การสนับสนุนสตาร์ทอัพในเมืองไทยให้มีความแข็งแกร่งเติบโต และพัฒนาไปสู่ระดับโลก โดยเปิดกว้างสตาร์ทอัพในทุกๆ สเตจ
เริ่มจากระยะเริ่มต้น Early Stage หรือ Idea Stage เพิ่งเริ่มสร้างธุรกิจยังไม่มี Business Model ชัดเจน ส่วนใหญ่กลุ่มนี้มาด้วยไอเดียและ Passion ดังนั้น AIS The StartUp จะเข้ามาสร้างความรู้ความเข้าใจของการทำธุรกิจสตาร์ทอัพ และให้มุมมองการพัฒนาไปสู่โมเดลการสร้างรายได้
Growth Stage ระยะการเติบโตซึ่งเป็นสตาร์ทอัพที่มี Business Model แล้ว แต่ต้องการทดสอบตลาด ทาง AIS The StartUp จะมีโปรแกรม Go to Market Program เพื่อร่วมทำกิจกรรมการตลาดด้วยกัน โดยจะได้รับสิทธิ์เข้าถึงลูกค้าทั้งหมดของเอไอเอสที่มีกว่า 34 ล้านรายในปัจจุบัน โดยการเชื่อมต่อ API อาทิ การชำระเงิน ยืนยันตัวตน หรือทำโปรโมชั่นต่าง ๆ เพื่อเป็นการทดสอบตลาดกับลูกค้าโดยตรง และหากกลุ่มนี้ต้องการสเกลอัพไปอีกเลเวลหนึ่ง AIS The StartUp จะยิ่งเข้ามามีบทบาทอย่างมากในการสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) เพื่อช่วยธุรกิจของสตาร์ทอัพในกลุ่มนี้เติบโตได้ ผ่านการจัดหา (Provide) โซลูชั่นต่างๆ ได้ อาทิ โซลูชั่นทางด้านเชื่อมต่อเข้ากับโครงข่ายโทรคมนาคมของเอไอเอส เพื่อเพิ่มศักยภาพของผลิตภัณฑ์, การจัดเก็บข้อมูลบนคลาวด์ , เทคโนโลยี IoT และระบบรักษาความปลอดภัย (Cyber Security) ซึ่งจะมีความสำคัญมากขึ้นหลังจากพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 จะเริ่มมีผลบังคับใช้เต็มฉบับในวันที่ 1 มิถุนายน 2565 นอกจากนี้สิ่งที่สตาร์ทอัพจะได้รับยังเป็นเรื่องเงินทุนสนับสนุน การฝึกอบรมกลยุทธ์และเทคนิคการทำตลาด ให้คำปรึกษาด้านการเงิน และโอกาสการเข้าพบนักลงทุนต่างประเทศ และเข้าถึงเครือข่าย VC ชั้นนำทั่วโลก ซึ่งปัจจุบันมีความสนใจลงทุนในธุรกิจ Digital อย่างไม่จำกัด
ดร.ศรีหทัย กล่าวว่า AIS The StartUp วางตำแหน่งเป็น Market Gateway หรือแพลตฟอร์มการสร้างพันธมิตรทางธุรกิจ โดยทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการเชื่อมโยงระหว่างสตาร์ทอัพและลูกค้าเอไอเอส ซึ่งประกอบไปด้วยองค์ธุรกิจทุกขนาด ตั้งแต่ธุรกิจขนาดใหญ่ จนมาถึง SMEs ตรงนี้ก็จะเป็นประโยชน์ต่อสตาร์ทอัพในการขยายฐานลูกค้าเช่นกัน
“เมื่อสตาร์ทอัพเข้ามาใช้ Infrastructure ของเอไอเอสแล้ว ก็จะทำให้เรามีความเข้าใจในธุรกิจของเขาเพิ่มเติม พอที่จะเป็นช่องทางการขาย หรือช่องทางการตลาดให้กับสตาร์ทอัพได้เหมือนกัน ทั้งนี้ช่องทางการตลาดและช่องทางการขายมีหลากหลายรูปแบบ อันแรกคือ SAS Service หรือซอฟท์แวร์ที่สามารถซื้อทางออนไลน์ได้ โดยสตาร์ทอัพสามารถขยายฐานลูกค้าผ่านการเรียกเก็บเงินผ่านบิลค่าโทรศัพท์มือถือ ที่ผ่านมามีสตาร์ทอัพบางรายที่ทำพาร์ทเนอร์ชิพกับเราตรงนี้ แล้วทำให้รายได้ของเขา 20-25% มาจากช่องทางดังกล่าว ช่องทางที่สอง คือ การที่เรามีฐานลูกค้าองค์กรขนาดเล็กใหญ่ และ SMEs ที่มี Requirement แตกต่างกันไป พอเรารู้ความต้องการของเขา และรู้ศักยภาพของสตาร์ทอัพ ก็สามารถนำสองฝั่งนี้มาแมชชิ่งกันได้”
ในเวลาเดียวกัน หากสตาร์ทอัพรายไหนที่สามารถตอบโจทย์ธุรกิจภายในของเอไอเอสได้ ไม่ว่าจะเป็นเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานภายในให้สูงขึ้น เพื่อเพิ่มมูลค่าการบริการให้ลูกค้า หรือมอบประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้า ก็จะได้รับการทาบทามให้มาเป็นพันธมิตรกับเอไอเอส ด้วย Business Model ที่ถูกออกแบบมาเป็นพิเศษเพื่อกลุ่มสตาร์ทอัพ
และเนื่องจากเอไอเอสเป็นโอเปอร์เรเตอร์เจ้าแรกๆ ที่เข้ามาสนับสนุนสตาร์ทอัพมานานมากกว่า 10 ปี จุดนี้จึงเป็นอีกหนึ่งจุดต่างที่ทำให้สตาร์ทอัพที่เข้ามาร่วมโครงการมีโอกาสในการเข้ามาอยู่ในสังคมสตาร์ทอัพที่มีความช่วยเหลือเกื้อกูลกันจากรุ่นสู่รุ่น
“เมื่อสตาร์ทอัพเข้ามาอยู่ในโครงการ AIS The StartUp แล้วเราจะดูแลกันไปอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่เข้ามาปีนี้แล้วปีหน้าก็หายกันไป แต่จะจูงมือแล้วโตกันไปในแต่ละสเตจ พอปีนี้สตาร์ทอัพรุ่นพี่เริ่มโต ปีหน้ามีสตาร์ทอัพน้องใหม่เข้ามา มันกลายเป็นคอมมิวนิตี้ และ Ecosystem ที่แข็งแกร่ง เพราะไม่เพียงแต่เอไอเอสจะกรูมมิ่งน้องใหม่ แต่รุ่นพี่ที่เคยได้รับโอกาสจากเรา เขาก็กลับมาแบ่งปับประสบการณ์ หรือช่วยกรูมน้องใหม่อีกทางหนึ่งด้วย”
มากไปกว่านั้น อีกหนึ่งจุดต่างที่ไม่เหมือนใครก็คือ โอกาสการเข้าไปอยู่ในเครือข่าย Singtel Group ที่มีฐานลูกค้า 400 ล้านราย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสตาร์ทอัพที่ต้องการที่จะเติบโตในต่างประเทศ นี่จะเป็นอีกความได้เปรียบที่สตาร์ทอัพจะได้รับการพิจารณาเป็นเจ้าแรก
มาถึงตรงนี้แล้วหากสตาร์ทอัพรายไหนสนใจที่จะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของ AIS The StartUp สามารถส่งผลงานเข้ามาในเว็บไซต์ www.ais.co.th/thestartup หรือ facebook/aisthestartup เพื่อเข้าร่วม Monthly Online Pitching ได้ทุกเดือน และต้องบอกว่า AIS The StartUp ไม่เพียงแต่เปิดกว้างสตาร์ทอัพทุกสเตจเท่านั้น แต่ยังเปิดกว้างสตาร์ทอัพทุกประเภทธุรกิจ และทุกประเภทเทคโนโลยีอีกด้วย
“สำหรับหลักเกณฑ์ในการคัดเลือกนั้นจะขึ้นอยู่กับสเตจ ดังนั้นการเตรียมความพร้อมของสตาร์ทอัพที่จะเข้ามาในโครงการนี้ต้องถามตัวเองก่อนว่า วันนี้คุณมีความพร้อมของธุรกิจจริงไหม และมีความพร้อมด้านบุคลากรแค่ไหน เช่น เป็น FinTech หรือ HealthTech ก็ตามคุณมีบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญตรงนี้จริง นี่คือเกณฑ์การตัดสินอันดับแรกที่เรามอง ต่อมาเราจะมองความพร้อมของคน เพราะเราเชื่อว่าบางครั้งเทคโนโลยีเปลี่ยนธุรกิจเปลี่ยน แต่สิ่งที่ไม่เปลี่ยนคือคน มีสตาร์ทอัพหลายรายเหมือนกันที่เข้ามาอยู่กับเรา จนถึงวันนี้ทิศทางการเติบโตของเขาต่างไปจากเดิมมาก เพราะเขามี Mindset การปรับตัวและมองหาโอกาสอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นตอนที่เขาเข้ามาในโครงการ เราจะไม่ได้มองว่าวันนี้เขาเป็นยังไง แต่สิ่งที่เราพยายามมองคือ อีก 3 ปีเขาจะเป็นยังไง ข้อสุดท้ายเราจะมองตลาดว่ามีความพร้อมแค่ไหนในช่วงเวลานี้และอีก 3 ปีข้างหน้า”
อย่างไรก็ตาม AIS The StartUp ถือเป็นอีกช่องทางการแจ้งเกิด เติบโต และขยายธุรกิจในระดับสากลให้กับสตาร์ทอัพ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้กับประเทศด้วยดิจิตัล
ยิ่งสถานการณ์ COVID-19 ลากยาวมากเท่าไหร่ ยิ่งทำให้ SMEs หมดแรงมากเท่านั้น SMEs จำนวนไม่น้อยทยอยปิดตัว ส่วนที่เหลือ 70-80% ขาดสภาพคล่องประสบปัญหาด้านยอดขาย หรือเมื่อนำส่งสินค้าหรือบริการไปแล้วก็ยังต้องมาเจอกับเครดิตเทอม 45-60 วัน กว่าจะได้เงินมาหมุนยิ่งซ้ำเติมปัญหาสภาพคล่องเข้าไปอีก เมื่อ SMEs อ่อนแอจนไม่สามารถผลิตและส่งสินค้าหรือบริการให้ได้ตามข้อตกลง ก็ย่อมส่งผลกระทบลูกโซ่ไปยังคู่ค้ารายใหญ่ที่ทำธุรกิจกับSMEs รายย่อยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ที่ผ่านมารัฐบาลจึงออกมาตรการอนุมัติสินเชื่อซอฟท์โลนหวังเป็นออกซิเจนที่จะหล่อเลี้ยง SMEs เพื่อป้องกันไม่ให้ SMEs ต้องหันมากู้เงินนอกระบบที่มีดอกเบี้ยสูงลิบลิ่ว แต่วันนี้ SMEs กำลังจะมีช่องทางเสริมของแหล่งเงินทุนอีกช่องทางหนึ่ง หลังจากที่ธนาคารไทยพาณิชย์ผนึกกำลังดิจิทัลเวนเจอร์สพัฒนาแพลตฟอร์ม PayZave มาตรฐานใหม่ในการชำระเงินระหว่างคู่ค้าให้รับ-จ่ายทันทีแบบไม่ต้องมีเครดิตเทอม อีกหนึ่งทางรอดที่จะช่วยให้ SMEs มีสภาพคล่องมากขึ้น และไม่ต้องไปกู้เงินนอกระบบ
ทั้งนี้แพลตฟอร์ม PayZave ที่พัฒนาขึ้นโดยดิจิทัลเวนเจอร์ส จะทำหน้าที่เป็นตัวกลางให้คู่ค้าระหว่างบายเออร์และซัพพลายเออร์ได้มาเจอกัน และดำเนินการรับ-จ่ายค่าสินค้าระหว่างกันทันทีโดยไม่ต้องรอเครดิตเทอม โดยทั้งสองฝ่ายจะทำข้อตกลงให้ส่วนลดการขายในลักษณะเปอร์เซ็นต์ส่วนลดตามความพอใจของทั้งสองฝ่าย เพื่อแลกกับการได้รับชำระค่าสินค้าก่อนครบรอบบิล ในกรณีที่บายเออร์บางรายอยากเก็บเงินสดไว้มากกว่า ธนาคารไทยพาณิชย์ก็ยังมีออพชั่นเพิ่มโดยให้การสนับสนุนทางการเงินกับบายเออร์ในการชำระเงินให้คู่ค้าได้เร็วขึ้นด้วยการปล่อยวงเงินโอดี ในอัตราดอกเบี้ยพิเศษ
เท่ากับว่า PayZave เป็นโมลเดล Win-Win เพราะทำให้บายเออร์ได้สินค้าที่มีต้นทุนถูกลง และลดภาระในการตอบคำถามเรื่องรอบชำระเงิน ในขณะที่ซัพพลายเออร์หรือผู้ขายก็ได้เงินค่าสินค้าทันทีโดยไม่ต้องไปหากู้จากแหล่งเงินทุนอื่น จึงเป็นการบริหารสภาพคล่องที่ทั้งสองฝ่ายต่างได้รับประโยชน์อย่างลงตัว
ธนวัฒน์ กิตติสุวรรณ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน GTS and Ecosystems ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยถึงแพลตฟอร์ม PayZave ว่าเป็นการต่อยอดแนวคิด “รายใหญ่ช่วยรายเล็ก" ของธนาคาร โดยพลิกไอเดียจากระบบซื้อก่อนจ่ายทีหลังสู่ทางเลือกใหม่ “จ่ายก่อนเซฟกว่า” ด้วยข้อตกลงส่วนลดการขายเมื่อจ่ายเงินทันทีผู้ซื้อเซฟต้นทุนค่าใช้จ่าย ผู้ขายได้เงินเร็ว สามารถทำธุรกิจต่อได้โดยไม่ต้องพึ่งสินเชื่อนอกระบบสร้างสมดุลสภาพคล่องแบบวินวินสำหรับทุกคู่ค้า
ในขณะที่อรพงศ์ เทียนเงิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดิจิทัลเวนเจอร์ส จำกัด กล่าวเสริมว่าแพลตฟอร์ม PayZave เกิดจากความต้องการช่วยเหลือซัพพลายเชนในช่วง COVID-19 ด้วยโจทย์ว่าทำอย่างไรจึงจะลดปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินทุนให้กับซัพพลายเออร์รายเล็กๆ แล้วคนที่รู้จักซัพพลายเออร์ที่ดีสุดคือบายเออร์ ในขณะที่ซัพพลายเออร์ก็อยากรักษาลูกค้า ดังนั้นเทคโนโลยีจึงเข้ามาเป็นตัวกลางเพื่อให้ทั้งสองฝ่ายได้ประโยชน์ที่คุ้มค่าเปลี่ยนแนวคิดจากระบบ “ซื้อก่อนจ่ายทีหลัง” เป็น “จ่ายก่อนเซฟกว่า” นำผู้ซื้อและผู้ขายมาเจอกันโดยตรงเพื่อสร้างข้อตกลงการชำระเงินโดยไม่ต้องมีข้อจำกัดทางด้านเครดิตเทอม 45-60 วัน
เมื่อไม่มีเครดิตเทอมจึงไม่จำเป็นต้องพึ่งคนกลางหรือสถาบันทางการเงินจึงช่วยให้ประหยัดต้นทุนทางธุรกิจได้ทั้งสองฝ่ายผู้ซื้อได้ส่วนลดของสินค้า ผู้ขายได้รับเงินทันทีประหยัดเวลาด้วยขั้นตอนที่รวดเร็วสะดวกทำรายการออนไลน์ได้ตลอด 24 ชั่วโมง ลดปัญหาการติดตามเอกสารแบบเดิมๆ และทันสมัยด้วยระบบ Reconciliation (กระทบยอด) อัตโนมัติแบบเรียลไทม์
สำหรับขั้นตอนการสมัครแพลตฟอร์ม Payzave ในฝั่งของบายเออร์หรือผู้ซื้อ
ส่วนขั้นตอนการสมัครของซัพพลายเออร์หรือผู้ขาย จะเกิดขึ้นได้หลังจากผู้ซื้อส่งอีเมลเชิญใช้บริการ PayZave จากนั้น
1 . สมัคร
- กดที่ไอคอน Payzave เพื่อเปิดแอป
- กรอกเบอร์มือถือเพื่อเริ่มต้นการใช้งาน
- อ่านและยอมรับเงื่อนไขการใช้บริการและนโยบายความเป็นส่วนตัว
- ใส่รหัส OTP ที่ได้รับใน SMS จาก Payzave
- กรอกชื่อและนามสกุลให้ถูกต้อง
- กดปุ่มลงทะเบียนเพื่อไปหน้าต่อไป
- ตั้งรหัส PIN 6 หลัก
- ใส่รหัส PIN 6 หลักอีกครั้ง ให้เหมือนครั้งแรก
- กดปุ่ม บันทึก เพื่อเริ่มต้นใช้งาน
- เลือกใบแจ้งหนี้ที่ต้องการขอรับเงินล่วงหน้า พร้อมให้ส่วนลดกับผู้ซื้อ
- รับเงินล่วงหน้าผ่านบัญชีที่ได้ลงทะเบียนไว้
นอกจาก PayZave ถูกออกแบบมาให้มีจุดเด่นในเรื่องใช้งานง่าย สะดวก รวดเร็วแล้ว ยังเป็นแพลตฟอร์มที่เปิดกว้างให้บริการสำหรับคู่ค้าซัพพลายเชนทุกรายในประเทศไทยเข้าใช้งานได้แม้ไม่ใช่ลูกค้าสินเชื่อธนาคารไทยพาณิชย์ เพียงแค่มีบัญชีธนาคารไทยพาณิชย์เท่านั้น ซึ่งที่ผ่านมามีคู่ค้าในธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง และธุรกิจค้าปลีกเข้ามาใช้บริการแล้วจำนวนมาก และเพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระในช่วงวิกฤต COVID-19 ทางธนาคารเปิดให้ใช้บริการฟรีโดยไม่มีค่าธรรมเนียมการใช้แพลตฟอร์มจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564
และนี่จะเป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะทำให้ซัพพลายเออร์มีสภาพคล่องสามารถประคองธุรกิจต่อไปได้ เมื่อซัพพลายเออร์แข็งแรง ก็จะเป็นรากฐานสำคัญให้ระบบซัพพลายเชนแข็งแกร่งทั้งระบบ
Influencer Marketing เป็นหนึ่งในการตลาดออนไลน์ที่ถูกพูดถึงมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยเพราะเป็นรูปแบบการสื่อสารในช่องทางใหม่ๆ ที่ผู้คนในยุคดิจิทัลให้ความสนใจ ยิ่งไปกว่านั้น Influencer Marketing ยังเป็นช่องทางการสื่อสารที่สามารถช่วยในเรื่องการโปรโมทได้ดี และสร้างยอดขายได้จริง ในลักษณะการสื่อสารที่เรียกกันว่า "ปากต่อปาก"
กลไกสำคัญของ Influencer Marketing ก็คือ Influencer… แล้ว Influencer คือใคร? …
อินฟลูเอนเซอร์ (Influencer) คือ ผู้มีอิทธิพลทางความคิดบนโซเชียลมีเดีย ทำคอนเทนท์อยู่บนแพลตฟอร์มต่างๆ เช่น Facebook, Instagram, YouTube และ Blog และมีคนสนใจติดตามเป็นแฟนคลับ ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ตั้งแต่เด็กไปจนถึงวัยทำงาน และมักคล้อยตามเนื้อหาที่อินฟลูเอนเซอร์นำเสนอ เพราะรู้สึกถึงความใกล้ชิด เหมือนเป็นเพื่อน
เทลสกอร์ (Tellscore) คือ ผู้ให้บริการ Influencer Marketing Automation Platform ที่เชื่อมต่ออินฟลูเอนเซอร์เข้ากับแบรนด์ผ่านโซเชียลมีเดีย โดยอินฟลูเอนเซอร์ถือเป็นหนึ่งในหัวใจสำคัญที่มีส่วนช่วยส่งต่อเรื่องราวข่าวสารให้ทันเหตุการณ์ และตรงกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งปัจจุบันเทลสกอร์มีอินฟลูเอนเซอร์อยู่ในเครือข่ายกว่า 65,000 คน ซึ่งหากนับรวมผู้ติดตามของอินฟลูเอนเซอร์ทั้งหมดรวมกัน อาจมีจำนวนไม่น้อยกว่า 200 ล้านผู้ติดตาม
ที่ผ่านมา เทลสกอร์ ร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ จัดทำโครงการที่เกี่ยวกับ SMEs มากมาย เพื่อเป็นสื่อกลางในการเผยแพร่ข้อมูลผ่านอินฟลูเอ็นเซอร์ พร้อมให้ความรู้ และเคล็ดลับกับผู้ประกอบการในการพัฒนาธุรกิจของตนเองมาอย่างต่อเนื่อง เช่น การร่วมกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ช่วยผู้ประกอบการรายย่อยให้ได้เข้าถึงตลาดจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐได้อย่างสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น ด้วยการเข้าร่วมมาตรการขยายโอกาสทางธุรกิจของสสว.
สุวิตา จรัญวงศ์ ประธานกรรมการบริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง Tellscore กล่าวว่า ทางบริษัทร่วมมือกับ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(สสว.) ในการผลักดัน SMEs โดยได้นำทีมอินฟลูเอนเซอร์ผู้คร่ำหวอดในสายการตลาด และการทำธุรกิจร่วมโปรโมท และเผยแพร่ข้อมูลเพื่อเชิญชวนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทั่วประเทศ ลงทะเบียนเพื่อให้ได้เข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ ผ่านเว็บไซต์ www.thaismegp.com เพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงตลาดที่มีมูลค่ากว่า 1.3 ล้านล้านบาทต่อปี ได้อย่างสะดวกรวดเร็วมากขึ้น
“ในแต่ละปีภาครัฐจะมีงบจัดซื้อจัดจ้างอยู่จำนวนหนึ่ง แต่ SMEs ทั่วไปไม่รู้ข้อมูล และไม่รู้วิธีการที่จะเข้าถึงงบดังกล่าว บางคนเข้าใจว่า ต้องเป็น SMEs ระดับโรงงานเท่านั้นที่สามารถเข้าถึงได้ ในขณะที่ภาครัฐมีงบประมาณในส่วนนี้มากถึง 1.3 ล้านล้านบาทต่อปี ซึ่งเป็นเงินที่ถูกกันไว้เพื่อมาอุดหนุน SMEs อยู่แล้ว แต่ SMEs ส่วนใหญ่ไม่ค่อยทราบข่าว เราจึงเข้ามาช่วยโปรโมท โดยทำผ่านอินฟลูเอนเซอร์ และเลือกใช้อินฟลูเอนเซอร์ที่เป็นผู้ประกอบการ เพื่อทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงในการขยายการรับรู้”
ก่อนหน้านี้ ทางเทลสกอร์ ยังได้ร่วมมือกับสสว. และอินฟลูเอนเซอร์ที่มีประสบการณ์ด้านการทำธุรกิจ มาให้ความรู้เกี่ยวกับการทำการตลาดโดยใช้อินฟลูเอนเซอร์ เพื่อเป็นส่วนช่วยในการเติมเต็ม และทำให้การสื่อสารทางการตลาดมีประสิทธิภาพและประสบความสำเร็จมากยิ่งขึ้น
“โครงการดังกล่าวเป็นการโปรโมท SMEs ที่เป็นสินค้า OTOP 5 ดาว บางรายเป็นสินค้าที่รางวัลจากต่างประเทศมากมาย แต่ยังขาดเรื่องราวในประเทศ เราจึงอาสาด้วยการนำอินฟลูเอนเซอร์มาช่วยโปรโมท แต่ก่อนอื่นเราต้องติดอาวุธในเรื่องการตลาดออนไลน์ให้เขาก่อน เพราะเราเคยให้แพ็คเกจอินฟลูเอนเซอร์กับเขาแล้วแต่ใช้ไม่เป็น เลยต้องเริ่มใหม่ตั้งแต่ให้เขาสร้างอินสตาแกรม จัดเป็นคลาสที่เริ่มจากความรู้เบื้องต้น ซึ่งทางเทลสกอร์ได้มีการเซ็น MOU กับทางสสว.โดยจะมีสิทธิพิเศษให้กับทางสสว. 2-3 เรื่อง คือ การร่วมเป็นวิทยากรให้ความรู้กับผู้ประกอบการ การให้แพ็คเกจอินฟลูเอนเซอร์ราคาพิเศษแก่ผู้ประกอบการที่อยู่ในความดูแลของสสว.เป็นต้น”
นอกจากนี้ เทลสกอร์ ยังเดินหน้าสนับสนุนส่งเสริมธุรกิจ SMEs ด้วยการร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ผ่านทางความร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ที่มีเป้าหมายเดียวกัน คือการมุ่งฟื้นฟูธุรกิจการท่องเที่ยวให้กลับมาเดินหน้าได้อีกครั้ง อาทิ โครงการ TAT GYM 2020 ยิมเพื่อการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และบริษัท แอร์เอเชีย จำกัด โครงการ SCB IEP BOOTCAMP The Hospitality Survival โดยธนาคารไทยพาณิชย์ และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) โครงการ The FinLab โดยธนาคารยูโอบี และโครงการ Cherish Krabi ที่ร่วมกับจังหวัดกระบี่ มูลนิธิเอ็นไลฟ มูลนิธิเพื่อคนไทย ชุมชน และสมาคมผู้ประกอบการโรงแรมจังหวัดกระบี่
การได้ลงพื้นที่หลังการล็อกดาวน์ช่วงแรกๆ เพื่อไปให้ความรู้กับผู้ประกอบการท้องถิ่น โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจโรงแรม ทำให้สุวิตา ได้รับทราบข้อมูลว่า ผู้ประกอบการบางรายไม่ได้มองกลุ่มเป้าหมายนักท่องเที่ยวที่เป็นคนไทย หรือคนในท้องถิ่นเดียวกันเลย และเมื่อนำกลยุทธ์การสื่อสารผ่านอินฟลูเอนเซอร์ไปปรับใช้ ผู้ประกอบการก็เริ่มให้ความสนใจ และเริ่มต้นง่ายๆ ด้วยการให้คนรอบข้าง หรือพนักงานของตัวเองทำหน้าที่เป็นอินฟลูเอนเซอร์เพื่อโพสต์เรื่องราวของทางโรงแรม ซึ่งก็ได้ผลตอบรับที่ดีเพราะจากเดิมที่ไม่มีนักท่องเที่ยวเข้าพัก ก็กลายเป็นว่าห้องพักเต็มทุกคืนในช่วงเวลานั้น
สำหรับแผนงานในปีนี้ เทลสกอร์จะมุ่งเน้นในลักษณะของงาน In Process มากขึ้น เช่น การออกแพ็คเกจอินฟลูเอนเซอร์ราคาพิเศษเพื่อช่วยเหลือ SMEs เพราะมองว่า การอบรมให้ความรู้ทำได้เพียงบางครั้งคราว ไม่ต่อเนื่องจึงขยายต่อได้ยาก และไม่เกิดความยั่งยืน ขณะที่การจัดอบรมก็ไม่สามารถทำในจำนวนมากๆ ได้ภายในครั้งเดียว
“ในมุมมองของเราก็อยากจะขยาย แต่ถ้ามาจำนวนมากๆ ก็รับไม่ไหว วิธีการที่ดีที่สุด คือการเตรียมแพ็คเกจอินฟลูเอนเซอร์ราคาพิเศษให้กับ SMEs ได้มีโอกาสเข้ามาทดลองใช้งานจริงจะเห็นภาพมากกว่า ตอนนี้เริ่มทำแพ็คเกจร่วมกับบางหน่วยงานไปบ้างแล้ว เพราะมองว่าการเรียนรู้ที่ดีที่สุดคือการตั้งแคมเปญเลย และเราทำให้ในราคาไม่แพง เช่น ราคา 1 หมื่นบาท จะได้อินฟลูเอนเซอร์ 5 คน จะทำให้เขามีประสบการณ์ว่า การเป็นกระบอกเสียงของอินฟลูเอนเซอร์ทำอย่างไร หรือมีกระบวนการใช้งานในแพลตฟอร์มอย่างไรบ้าง ความรู้เหล่านี้มองไม่เห็นภาพถ้าเราไปพูดให้ฟังเพียงอย่างเดียว”
การสร้างโอกาสให้ SMEs ได้เข้ามาใช้แพลตฟอร์ม Influencer Marketing ยังเสมือนเป็นทางลัดให้กับผู้เริ่มทำธุรกิจได้มีโอกาสเรียนรู้การตลาดออนไลน์ในมุมมองใหม่ๆ เพราะหากไม่ใช่คนในแวดวงมีเดียก็จะไม่รู้จัก และไม่เข้าใจว่าจะใช้งานอินฟลูเอนเซอร์ได้อย่างไร และเลือกใช้ใครดี แต่เมื่อได้เข้าไปในแพลตฟอร์มจะได้เห็นว่ามีใครบ้าง และใครมีผลงานในเรื่องใดบ้าง ทำให้สามารถเลือกใช้งานอินฟลูเอนเซอร์ได้ตรงกับกลุ่มเป้าหมายของสินค้า หรือแบรนด์ที่ทำอยู่
สุวิตา อธิบายเพิ่มเติมให้ฟังว่า นอกจากอินฟลูเอนเซอร์จะช่วยเพิ่มยอดขาย ยังสามารถช่วยลดต้นทุนค่าโฆษณาได้อีกด้วย ซึ่งโดยปกติเจ้าของสินค้าสามารถจ้างงานอินฟลูเอนเซอร์ได้โดยตรง แต่ข้อแตกต่างของการที่มีเทลสกอร์เข้ามาช่วย คือ
1) การใช้งานอินฟลูเอนเซอร์ผ่านแพลตฟอร์มของเทลสกอร์จะได้ในราคาที่ถูก เนื่องจากทางเทลสกอร์มีการดีลงานมาเป็นวอลุ่มใหญ่ เช่น อินฟลูเอนเซอร์ 5 คน ในราคา 10,000- 15,000 บาท แต่ถ้าไปติดต่อเองเป็นรายบุคคลจะใช้งบมากกว่า เพราะราคาต่อคนประมาณ 5,000 บาท ถ้าใช้งาน 5 คน ต้องใช้งบถึง 25,000 บาท
2) เทลสกอร์มีระบบการทำงานแบบพี่เลี้ยงที่ช่วยบรีฟงาน และดูแลงานอินฟลูเอนเซอร์แต่ละคนให้สื่อสารออกไปแนวทางที่ลูกค้าต้องการได้
3) แพลตฟอร์มของเทลสกอร์สามารถเก็บผลงานให้ลูกค้าได้ทันที มีความถูกต้อง แม่นยำ ไม่สามารถโกงสถิติได้ ทำให้ผู้ประกอบการหมดความกังวลเรื่องการวัดผล
การใช้งานอินฟลูเอนเซอร์ ยังสามารถช่วยประหยัดงบโฆษณา หรือการยิงแอดบนเฟสบุ๊ค เพราะจากงานวิจัยยังพบว่า โดยปกติผู้ประกอบการมีจะใช้งบการตลาดประมาณ 30,000 บาทต่อเดือน หรือ 360,000 บาทต่อปี แต่ปัจจุบันเริ่มมีผู้ประกอบการโยกงบการตลาดบางส่วนมาใช้งานอินฟลูเอนเซอร์
วันนี้ถ้าหากผู้ประกอบการอยากลดต้นทุนจะเข้ามาหาเทลสกอร์ และแบ่งงบการตลาดบางส่วนมาใช้กับอินฟลูเอนเซอร์ ซึ่งเดือนถัดมางบการตลาดที่เคยจ่ายเป็นค่าโฆษณา 300,000 บาท จะลดลงมาเหลือ 200,000 บาท เพราะการทำตลาดแบบ Influencer Marketing สามารถช่วยขายของได้ ทำให้โฆษณาในช่องทางอื่นๆ น้อยลง ซึ่งมีนัยสำคัญของเทลสกอร์ คือการสร้างการบอกต่อ ดังนั้น Influencer Marketing เป็นลูกครึ่งระหว่างการตลาดกับการโฆษณา
“โดย 0.5-1% ของจำนวนคนที่คลิก/ไลท์/คอมเมนท์/แชร์ จากการ Engagement จะเทิร์นเป็นยอดขาย เพราะทุกคลิก/ไลท์/คอมเมนท์/แชร์ ก็คือคนที่ไม่ได้แค่เห็นโฆษณา ไม่ได้แค่เห็นรีวิว แต่เห็นแล้วเกิดความสนใจติดตามไปอ่านอะไรบางอย่างต่อ ดังนั้นคนกลุ่มนี้เตรียมที่จะเปิดกระเป๋าตังค์อยู่แล้ว หน้าที่เราคือหาคนที่จะแง้มกระเป๋าตังค์ให้กับลูกค้า แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่จะแง้มกระเป๋าตังค์ง่ายๆ ซึ่งสถิติที่เราเก็บได้จะเป็นตัววัดค่าความสำเร็จ” สุวิตา กล่าวทิ้งท้าย
ในช่วงการระบาดของโควิด 19 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ออกมาตรการทางการเงินเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการธุรกิจ ผ่าน 2 โครงการ ได้แก่ 1.สินเชื่อฟื้นฟู และ 2.พักทรัพย์ พักหนี้ ซึ่งพักทรัพย์ พักหนี้ ถือเป็นมาตรการใหม่ ซึ่งมีการนำมาใช้ในหลายประเทศในช่วงสถานการณ์วิกฤตที่เกิดขึ้น
สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า โครงการพักทรัพย์ พักหนี้ หรือ Asset Warehousing มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยลดต้นทุนทางการเงินของผู้ประกอบการ ให้มีโอกาสดำเนินธุรกิจได้ในอนาคต และไม่ถูกกดราคาทรัพย์สินในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ ซึ่งในต่างประเทศมีการตั้งกองทุนขึ้นมาเพื่อซื้อสินทรัพย์ในราคาถูก โดยธปท.พยายามสร้างกลไกนี้ขึ้นมาเพื่อช่วยให้ลูกหนี้สามารถรักษาสินทรัพย์ไว้ได้
เงื่อนไขสำคัญของโครงการพักทรัพย์ พักหนี้ คือ
ตั้งวงเงินช่วยเหลือแสนล้าน
สำหรับประเทศไทย ธปท.จะให้สถาบันการเงินกู้ยืมเงินเพื่อสนับสนุนการรับโอนทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันเพื่อชำระหนี้ที่ค้างอยู่กับสถาบันการเงิน โดยเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบธุรกิจโอนทรัพย์สินชำระหนี้แก่สถาบันการเงินโดยมีเงื่อนไขซื้อคืนในราคาที่โอนไป และมีสิทธิเช่าทรัพย์สินนั้นกลับมาใช้ประกอบธุรกิจได้ตามปกติ โดยธปท.กำหนดวงเงินช่วยเหลือตามมาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ รวม 100,000 ล้านบาท
ที่ผ่านมา โครงการพักทรัพย์ พักหนี้ ได้รับความสนใจไม่มากนัก เพราะรอมาตรการสนับสนุนการรับโอนทรัพย์สินหลักประกัน เพื่อชำระหนี้ ซึ่งล่าสุดกรมสรรพากร ได้ออกประกาศหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขกรณีหนี้ที่ต้องดำเนินการตามมาตรการสนับสนุนการรับโอนทรัพย์สินหลักประกัน เพื่อชำระหนี้ โดยสาระสำคัญ คือลูกหนี้ของสถาบันการเงิน หรือเจ้าของทรัพย์สินและสถาบันการเงินจะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์
ล่าสุด จากการติดตามความคืบหน้าโครงการของธปท. พบว่ามีลูกหนี้ติดต่อเข้าร่วมโครงการและได้รับการอนุมัติเป็นการภายในของสถาบันการเงินแต่ละแห่งรวมกว่า 10 ราย มูลค่าสินทรัพย์หลักหมื่นล้านบาท โดยสินทรัพย์ส่วนใหญ่ที่ขอเข้าร่วมโครงการเป็นอสังหาริมทรัพย์ เช่น โรงแรม อาคารพาณิชย์ โรงพยาบาล สปา โรงงานแปรรูป ฯลฯ
อย่างไรก็ตาม ในกรณีลูกหนี้ที่สนใจเข้าร่วมโครงการพักทรัพย์ พักหนี้ มีความกังวลว่าจะถูกยึดทรัพย์เมื่อครบกำหนดสัญญานั้น ในทางปฏิบัติลูกหนี้และเจ้าหนี้ต้องทำสัญญาเพื่อกำหนดเงื่อนไขต่าง ๆ ร่วมกัน และทั้งสองฝ่ายต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด โดย ธปท. จะเข้าไปร่วมพิจารณาสัญญาให้เป็นธรรมโดยการกำหนดถ้อยคำในสัญญามาตรฐาน และให้สถาบันการเงินที่ขอเข้าร่วมโครงการส่งสัญญาตีโอนให้ ธปท. พิจารณาก่อนที่สถาบันการเงินจะเข้าร่วมโครงการนี้
เร่งเครื่องดิจิทัลแฟคตอริ่ง
นอกจากนี้ ธปท.ยังมีโครงการพัฒนาบริการทางการเงินเพื่อช่วยเหลือ SMEs อย่างต่อเนื่อง อย่างการพัฒนา Digital Factoringให้เป็นทางเลือกเพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับ SMEs
“ปัญหาสำคัญของ SMEs คือการเข้าถึงสภาพคล่องทางการเงิน ปัญหานี้เป็น pain point สำคัญของผู้ประกอบการที่มักจะขาดเงินทุนหมุนเวียน แม้มีคำสั่งซื้อ ผลิตสินค้าและบริการได้ แต่กว่าจะเรียกเก็บเงินได้มีเครดิตเทอมตั้งแต่ 2 เดือน ถึง 6 เดือนก็มี ขณะที่มีค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ทั้งวัตถุดิบ ค่าแรงงาน ทำให้เกิดปัญหาสภาพคล่อง ยิ่งในภาวะเช่นนี้สถานการณ์ยิ่งหนักขึ้น” ธรรมรักษ์ หมื่นจักร์ ผู้อำนวยการ ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน ธปท.เล่าถึงที่มาของการพัฒนาโครงการ Digital Factoring สำหรับผู้ประกอบการ SMEs
สำหรับบริการ Factoring ที่มีอยู่เดิม เปิดโอกาสให้ผู้ขาย (SMEs) สามารถใช้ใบแจ้งหนี้ที่ออกให้ผู้ซื้อ (คู่ค้าที่เป็นBuyer) มาใช้เป็นเอกสารในการขอสินเชื่อได้ โดยมีรายรับที่จะเกิดขึ้นในอนาคตเป็นหลักประกัน แต่การใช้งานยังไม่แพร่หลายนัก เนื่องจากผู้ให้บริการ Factoringมีความกังวลเรื่องการปลอมแปลงเอกสาร และการยื่นขอสินเชื่อที่ซ้ำซ้อน
ธปท.จึงพัฒนาระบบนิเวศดิจิทัล (Digital Ecosystem) สำหรับให้บริการ Digital Factoring ร่วมกับภาคเอกชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) โดยยึดหลักการสำคัญ 2 ข้อที่จะทำให้โครงการสำเร็จ ได้แก่
“ในช่วงสถานการณ์โควิดที่เกิดขึ้น จะเป็นแรงผลักดันให้ทั้งผู้ซื้อ ผู้ขาย และผู้ให้บริการ เร่งดำเนินการในเรื่อง Digital Factoring เพื่อช่วยเหลือเรื่องสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการ SMEs อยากเข้ามาขอสินเชื่อได้ง่ายขึ้น ขณะที่ช่วยลดความเสี่ยงให้ผู้ประกอบการ Factorสิ่งสำคัญต้องสร้างแรงจูงใจฝั่งผู้ซื้อให้เขามาช่วยคอนเฟิร์มใบแจ้งหนี้ดิจิทัล จะช่วยเอสเอ็มอีได้มากขึ้น สะดวกขึ้น ในภาวะเช่นนี้ยิ่งต้องเร่งช่วยเหลือ SMEs ที่เป็นซัพพลายเออร์ให้อยู่รอดได้” ธรรมรักษ์ ระบุ
ปัจจุบัน มี SMEs ใช้บริการสินเชื่อ Factoring อยู่ประมาณ 3 หมื่นราย วงเงินสินเชื่อประมาณ 2 แสนล้านบาท ขณะที่มีผู้ประกอบการที่ใช้งานระบบ ERP อยู่ประมาณ 9 หมื่นราย ที่สามารถเชื่อมโยงข้อมูลดิจิทัลเพื่อขอสินเชื่อได้ ปัจจุบันทั้งผู้ซื้อ ผู้ขาย และผู้ให้บริการ Factoringอยู่ระหว่างการปรับระบบหน้าบ้าน หลังบ้านให้สามารถเชื่อมต่อกันได้มากขึ้น ขณะที่ธปท.อยู่ระหว่างการพูดคุยกับหน่วยงานภาครัฐ เช่น กรมบัญชีกลาง เพื่อยืนยันข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างสำหรับผู้ประกอบการ SMEs ซึ่งจะช่วยให้การดำเนินงานเร็วขึ้น คาดว่าจะเริ่มเห็นการทำธุรกรรมชัดเจนขึ้นในปลายปีนี้
“ธนาคารแห่งประเทศไทย มุ่งพัฒนาบริการทางการเงิน การสร้างระบบนิเวศที่เป็นดิจิทัลมากขึ้น ให้สอดรับกับทิศทางของโลก เทคโนโลยีที่เกิดขึ้นจะเข้ามาช่วยลดต้นทุนการดำเนินงานให้กับทุกคน ทำให้คนเข้าถึงบริการทางการเงินได้สะดวก รวดเร็ว มีต้นทุนที่ถูกลง และเป็นธรรมมากขึ้น” ธรรมรักษ์ กล่าวทิ้งท้ายถึงภารกิจของธปท.ที่จะมุ่งต่อไปในอนาคต
ภายใต้แผนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย มีการประเมินว่า อุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเกมจะช่วยสร้างรายได้ และอาชีพให้กับประเทศอย่างมหาศาล อุตสาหกรรมเกมจึงมีบทบาทสำคัญ และเป็นเป้าหมายในการพัฒนาเพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้แก่บุคลากรในภาคอุตสาหกรรมเกมมาอย่างต่อเนื่อง
เมื่อตลาดเกมยังคงขยายตัวอย่างมีนัยสำคัญ อาชีพ “นักพัฒนาเกม” (Game Developer) จึงเป็นอีกหนึ่งสายงานอาชีพที่คนรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อยให้ความสนใจ และอยากก้าวไปให้ถึงฝั่งฝัน แต่การพัฒนาเกมก็ไม่ใช่เรื่องที่คนทั่วไปจะสามารถทำได้ง่ายๆ เพราะต้องอาศัยเงินทุนเนื่องจากทรัพยากรการสร้างเกมยังมีราคาสูงเกินไป อีกทั้งการพัฒนาเกมยังต้องใช้ระยะเวลา ซึ่งบางเกมที่ทำเพียงคนเดียวอาจต้องใช้เวลานานถึง 4-5 ปี กันเลยทีเดียว
จาก Pain Point ดังกล่าว เป็นที่มาของนวัตกรรม Campfire Engine ที่ถูกพัฒนาขึ้นโดย Software House อย่าง “อิมเมจ เอนจิน” เป็นแพลตฟอร์มที่ช่วยเปิดโลกทัศน์ และมุมมองใหม่ๆ ให้กับนักพัฒนาเกม โดย Campfire Engine เป็นชุดคำสั่งอัตโนมัติ (Game Automated System) สำหรับระบบงานหลังบ้านในการพัฒนาเกม ช่วยสร้างโอกาสให้คนที่อยากสร้างเกมได้มีต้นแบบเกมเป็นของตัวเองโดยใช้เวลาเพียงแค่ไม่กี่นาที
พลวัต ดีอันกอง ผู้ก่อตั้ง และกรรมการผู้จัดการ บริษัท อิมเมจ เอนจิน จำกัด กล่าวว่า บริษัททำธุรกิจเกี่ยวกับการพัฒนาเกมคอมพิวเตอร์ และซอฟต์แวร์ประยุกต์ ในส่วน Campfire Engine ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อตอบโจทย์ความต้องการนักพัฒนาเกมทั่วไป โดยเฉพาะกลุ่มที่ต้องการพัฒนาเกมแต่ขาดความรู้การเขียนโปรแกรม และคนที่ต้องการใช้งาน Library เพื่อลดความยุ่งยากในการพัฒนาเกม รวมถึงกลุ่มผู้ที่ต้องการสร้างเกมแต่ยังขาดฮาร์ดแวร์ที่ดีพอ เพราะ Campfire Engine สามารถสร้างเกมได้อัตโนมัติผ่านแพลตฟอร์มโดยใช้เวลาเพียง 5 นาที
“Campfire เป็นตัวสร้าง Asset เป็นเหมือนตัวสร้าง Ingredient ในเกม ปกติต้องใช้คนจำนวนมากในการทำขึ้นมาทำให้มีต้นทุนที่แพง แต่เราใช้ Campfire ในการสร้าง Ingredient ขึ้นมาเพื่อมาสร้างเกมอีกที ซึ่งตัว Ingredient หมายถึง Code หรือไฟล์ 3 D สำหรับการ Programming หรืออาจเป็นตัวละคร ต้นไม้ แม่น้ำ ที่เป็นส่วนประกอบต่างๆ ในเกม”
ในมุมของ SME หรือผู้ประกอบการทางด้านการผลิตและการพัฒนาเกม รวมถึงนักพัฒนาโปรแกรมประยุกต์ ยังสามารถนำแพลตฟอร์ม Campfire Engine มาใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาและสร้างสรรค์งาน ด้วยเพราะ Campfire Engine มีข้อดีที่น่าสนใจอยู่หลายเรื่องด้วยกัน ได้แก่
1.มีราคาถูกที่สุดในตลาด Game Engine ทำให้นักพัฒนาเกมที่เพิ่งเริ่มเรียนรู้สามารถสร้างเกมได้โดยที่ไม่ต้องลงทุนมาก ช่วยประหยัดงบ และช่วยลดต้นทุนการพัฒนาเกม เนื่องจาก Campfire Engine มีการทำตลาดแบบ Freemium คือให้ผู้ที่สนใจสามารถใช้งานได้ฟรีไม่มีค่าใช้จ่ายในระดับ Education แต่หากต้องการในระดับ Advance ที่สูงขึ้นไปก็จะมีแพ็คเกจเสียเงินให้เลือกใช้ตามลำดับ ตั้งแต่ไม่กี่ร้อยบาทไปจนถึงหลักหมื่นบาท ในขณะที่ Game Engine ของต่างประเทศอย่างประเทศจีน หรือสหรัฐอเมริกา จะมีราคาเริ่มต้นที่ประมาณ 30 – 40 เหรียญขึ้นไป
2.เป็นแพลตฟอร์มที่ใช้งานได้ง่าย มีการทำงานที่รวดเร็ว จึงช่วยลดต้นทุนในเรื่องเวลา เพราะสามารถนำชุดคำสั่ง หรือไฟล์ 3D มาใช้ได้ทันทีโดยไม่ต้องปรับแต่ง ซึ่งการเป็นแพลตฟอร์มที่ทำงานในแบบชุดคำสั่งอัตโนมัติ ทำให้นักพัฒนาเกม หรือผู้ใช้งานแพลตฟอร์มไม่ต้องยุ่งยากกับการเขียนโค๊ดที่ซับซ้อน ไม่ต้องเสียเวลากับการสร้างโปรเจ็ควัตถุที่ต้องใช้เวลาอย่างมากมาย เพียงแค่ใช้ “Procedural Generator” ของตัวแพลตฟอร์ม
“Campfire Engine จึงตอบโจทย์ได้ดีในเรื่องของการออกแบบเกม เพราะทำให้การทำงานง่ายขึ้นโดยไม่จำเป็นต้องเริ่มจากศูนย์ ถือเป็นข้อได้เปรียบ เพราะคนที่ชื่นชอบการเล่นเกม และอยากก้าวสู่การเป็นนักพัฒนาเกมมักจะติดปัญหาการขาดความรู้เชิงเทคนิค ทำให้เขียนโค้ดไม่ได้ เมื่อเขียนโค้ดไม่ได้ก็ไม่สามารถทำภาพ 3D ได้ โดย Campfire Engine จะเข้ามาจัดการเรื่องเหล่านี้ทั้งหมด ด้วยหลักการทำงานแบบการต่อเลโก้ คือ นำชิ้นส่วนมาใส่ที่ละชิ้น ต่อกันไปเรื่อยๆ จนออกมาเป็นเกมๆ หนึ่ง”
3.เป็นแพลตฟอร์มภาษาไทย ที่พัฒนาขึ้นเพื่อนักพัฒนาเกมคนไทยโดยเฉพาะ เนื่องจากหนึ่งในอุปสรรคของนักพัฒนาเกมคนไทยก็คือเรื่องภาษา ซึ่ง Game Engine ที่มีให้เลือกใช้งานก่อนหน้านี้ล้วนเป็นภาษาต่างประเทศ และภาษาเทคนิคที่ยากต่อการทำความเข้าใจ
Library Assets จำนวนมากที่อยู่ใน Campfire Engine ยังถูกออกแบบมาสำหรับคนไทยโดยเฉพาะ ทำให้การสร้างเกมเป็นเรื่องง่าย และทำให้นักพัฒนาเกมสามารถสร้างเกมที่มีเอกลักษณ์ในแบบฉบับของตัวเองได้ง่ายไม่ยาก
“โดยCampfire Engine มีการนำเทคโนโลยี AI มาประยุกต์ใช้ จึงสามารถปรับเปลี่ยนตัวละครในเกมได้อัตโนมัติตามขีดความสามารถของผู้เล่น และยังทำให้ต้นทุนการพัฒนาเกมถูกลงแต่ทำงานได้เร็วยิ่งขึ้น และยังเปิดโอกาสให้กับนักพัฒนามือใหม่ หรือผู้ที่ไม่มีทักษะด้านไอทีสามารถสร้างเกมเป็นของตัวเองได้ โดยไม่ต้องเขียนโค้ดแม้แต่บรรทัดเดียว”
4.สามารถต่อยอดงานออกแบบได้มากมาย โดยเฉพาะการสร้างสรรค์งานออกแบบโปรแกรมต่างๆ นั่นหมายถึงโอกาสในการสร้างรายได้ของผู้ประกอบการในกลุ่มนักพัฒนาเกม และโปรแกรมประยุกต์ ด้วยการสร้างโปรแกรมประยุกต์จากภาพจำลองของไฟล์ 3D ตัวอย่างเช่น
โปรแกรมด้านทันตกรรม DigiproSmile ที่สามารถวิเคราะห์ข้อมูลภายในช่องปากของคนไข้ ทำให้การรักษามีประสิทธิภาพ แม่นยำ และประหยัดกว่าการรักษาในแบบเดิม
โปรแกรม Web Based AR ของกระทรวงการท่องเที่ยว และกีฬาที่ทำให้นักท่องเที่ยวทั่วโลกสามารถเข้าถึงข้อมูลการท่องเที่ยวภายในประเทศได้ทันทีโดยไม่ต้องร้องขอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ สามารถทำงานได้ผ่านมือถือทุกเครื่องโดยที่ไม่ต้องดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่น
นอกจากนี้ ยังสามารถพัฒนาไปสู่โปรแกรมต่างๆ อีกมากมาย อาทิ โปรแกรมทางการแพทย์ด้านการผ่าตัด โปรแกรมด้านการผลิตชิ้นส่วนในอุตสาหกรรมยานยนต์ โปรแกรมประยุกต์ด้านเกษตรกรรมในระบบปิด เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม วันนี้ อาชีพ “นักพัฒนาเกม” กลายเป็นตัวเลือกแรกๆ ที่คนรุ่นใหม่อยากทำเป็นอาชีพเสริม และอาชีพหลัก โดย พลวัต ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันประชากร 1 ใน 3 ของโลก ชอบการเล่นเกม และในประเทศไทยก็มีเกมเมอร์เป็นจำนวนไม่น้อย ซึ่งคนที่หลงใหลการเล่นเกมมากๆ เมื่อไปถึงจุดหนึ่งก็อยากพัฒนาเกมเป็นของตัวเอง เพราะบางสิ่งที่ต้องการระหว่างการเล่นเกมไม่มีอยู่ในเกมที่กำลังเล่น จึงอยากพัฒนาเกมในแบบฉบับของตนเองขึ้นมา
แม้ว่าแรงบันดาลในการอยากเป็นนักพัฒนาเกม จะมาจากอินไซต์ที่เป็นความหลงใหลในเกม แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า รายได้จากการพัฒนาเกม หรือส่วนประกอบอื่นๆ ในเกมก็มีค่าตอบแทนที่ค่อนข้างสูง จึงเป็นความท้าทายที่ทำให้หลายคนอยากพัฒนาไปสู่การสร้างเป็นอาชีพ นั่นจึงเป็นเหตุผลว่า ตลาดผู้ผลิต และพัฒนาเกมจึงยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง
โดยผู้ประกอบการในกลุ่มนักพัฒนาเกมสามารถสร้างรายได้ในหลายรูปแบบ เริ่มตั้งแต่การออกแบบตัวละคร การออกแบบสภาพแวดล้อม การออกแบบเนื้อเรื่อง ไปจนถึงการออกแบบ Template Game ปัจจุบันจึงมีคนจำนวนไม่น้อยเข้ามาเป็นนักพัฒนาเกม เพราะมีตลาดรองรับงานเหล่านี้อยู่เป็นจำนวนมาก
“ตัวอย่าง รายได้จากการออกแบบตัวละครในระดับมือสมัครเล่นที่ยังไม่ได้ทำเป็นอาชีพ หากเป็นตัวละครดีๆ ตัวหนึ่งราคาจะอยู่ที่ 15,000 บาท ใช้เวลาทำประมาณ 14 วัน หรือถ้าทำช้าไม่ค่อยมีเวลาก็ประมาณ 1 เดือน ซึ่งหากเป็นเด็กนักเรียน นักศึกษา ถือว่าเป็นรายได้ที่เยอะอยู่ หรือถ้าไม่ใช่ตัวละครอาจเป็นภาพ 2D, 3D ก็ยังสามารถขายได้แต่ราคาอาจจะลดลงมาเพราะทำง่ายกว่าการออกแบบตัวละคร”
สำหรับ อิมเมจ เอนจิน วางแผนต่อยอดการพัฒนาตัว Asset ใน Campfire Engine เพื่อบุกตลาดเกมทั่วโลกในช่วงปลายปี 2564 รวมถึงการตั้งเป้ารายได้ให้มีรายได้ไหลกลับเข้าองค์กรในจำนวน 100,000 บาทต่อวัน และหากบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ ก็จะเดินหน้าสร้างงานในลักษณะของ Social Enterprise เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมเกมต่อไปในอนาคต