บิ๊กซ้ง ซุปเปอร์สโตร์ จากธุรกิจครอบครัวสู่ห้างท้องถิ่นใน จ.สมุทรสาคร

ตลาดค้าปลีกในประเทศไทยมีมูลค่ากว่า 3.6 ล้านล้านบาท ในจำนวนนี้จะมีผู้ประกอบการค้าปลีกรายใหญ่ เช่นกลุ่มเซ็นทรัล, เดอะมอลล์, ซีพี, BJC ที่มีส่วนแบ่งตลาดรวมกันประมาณ 32% อีกส่วนที่น่าสนใจก็คือ
กลุ่มผู้ประกอบการที่เรียกว่า Local Modern Trade หรือผู้ประกอบการค้าปลีกท้องถิ่นที่กระจายอยู่ทั่วประเทศไทย กลุ่มผู้ประกอบการเหล่านี้มีตั้งแต่ขนาดกลางไปจนถึงขนาดใหญ่ มีรายได้ตั้งแต่หลักร้อยล้านไปจนถึงหลายพันล้านบาทต่อปี นอกจากเรื่องยอดขายแล้วอีกหนึ่งหน้าที่ของ Local Modern Trade ก็คือการรักษาสมดุลย์ให้ตลาดค้าปลีกไทยไม่ผูกขาดโดยใครคนใดคนหนึ่ง ซึ่ง “บิ๊กซ้ง ซุปเปอร์สโตร์” ร้านค้าปลีกเก่าแก่ในจังหวัดสมุครสาครก็เป็นหนึ่งในนั้น 

วันนี้ คุณฉัตรชัย ทิพยทยารัตน์ ทายาทรุ่นที่ 3 ของ บิ๊กซ้ง ซุปเปอร์สโตร์ จะให้สัมภาษณ์แนวคิดในการดำเนินธุรกิจที่มีตั้งแต่รุ่นอากงจนถึงปัจจุบัน รวมระยะเวลากว่า 50 ปี

 

SME One : ร้านบิ๊กซ้งเกิดขึ้นมาได้อย่างไร

ฉัตรชัย : บิ๊กซ้ง เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2516 เป็นธุรกิจครอบครัวหรือกงสี มาตั้งแต่รุ่นอากง “บิ๊กซ้ง” บุกเบิกจากตึกแถวในตลาดเปิดเป็นร้านขายส่งเล็ก ๆ หรือที่เรียกว่ายี่ปั๊ว ดำเนินกิจการเรื่อยมาเป็น 10 ปีจนกระทั่งกิจการไปในทิศทางที่ดีขึ้น
จึงซื้อที่ดินเพิ่มทำเป็นโกดังเก็บสินค้า ต่อมารุ่นที่ 2 คือ อาแปะ อาป๊า หม่าม้าและอาโกวที่คอยสนับสนุน “อาแปะ” จะเรียกว่าเป็นหัวเรือหลักในการทำธุรกิจต่อจากรุ่นแรก พอมารับช่วงต่อก็เริ่มมีการเพิ่มพื้นที่การขาย คือแต่เดิมเราทำขายส่ง จะมีกลุ่มลูกค้าที่เข้ามาแล้วอยากได้สินค้าแพ็คเล็กมากขึ้น เราก็ตอบสนองตรงนี้ จึงเริ่มจากมีการวางขายสินค้าชนิดปลีกให้เป็นระบบระเบียบมากขึ้น
และนำเอาเครื่องมือที่ทันสมัยเข้ามาใช้ เช่น ระบบ POS เป็นระบบจัดการหลังร้าน ในรุ่นที่สองจะเริ่มทำทั้งค้าปลีกแบบซูเปอร์มาร์เก็ต และค้าส่งแบบยี่ปั๊วไปพร้อมกันอีกด้วย

พอมาถึงรุ่นผมที่เป็นรุ่นที่ 3 ได้เข้ามามีส่วนช่วยกิจการครอบครัวในช่วงปี พ.ศ.2561 - ปัจจุบัน บิ๊กซ้งได้เปลี่ยนจากยี่ปั๊วที่ขายปลีกด้วยมาเป็นซูเปอร์มาร์เก็ตแบบเต็มรูปแบบ ซึ่งตอนที่รุ่นที่ 2 ทำก็เกือบจะสมบูรณ์แล้ว ผมเข้ามาปรับปรุงในส่วนการจัดร้านให้เป็นระบบและเพิ่มความสะดวกสบายให้ลูกค้ามากขึ้น และจัดเก็บฐานข้อมูลที่จำเป็นจากหลังร้านเพิ่มขึ้นเท่านั้นเอง

 

SME One : สัดส่วนการขายค้าปลีกกับค้าส่งเป็นอย่างไร

ฉัตรชัย : รุ่นอากง สัดส่วนระหว่างค้าปลีกกับค้าส่ง แทบจะเรียกว่าเป็นค้าส่ง 100% โดยในช่วงต้นของการทำธุรกิจ
จะเน้นค้าส่ง จนมาถึงในช่วงท้ายของรุ่นอากงก็คิดว่าน่าจะเป็นสัดส่วนค้าส่งประมาณ 80% และค้าปลีก 20% แต่พอถึงรุ่นที่ 2 ได้เปิดหน้าร้านเพื่อทำค้าปลีกเพิ่มขึ้น และในถึงปัจจุบันสัดส่วนค้าปลีกก็น่าจะมากกว่า 90% แล้ว ซึ่งในความเป็นจริงแล้วนั้นการวัดสัดส่วนค้าปลีกและค้าส่งจะเป็นไปได้ยาก เพราะถึงแม้ว่าบิ๊กซ้งจะจัดร้านแบบค้าปลีก แต่ด้วยความที่เราขายราคาส่ง เพราะฉะนั้นก็จะมีคนเข้ามาหยิบน้ำมันพืชครั้งละ 3 ลัง 5 ลังก็ยังมีไม่น้อย เพียงแต่เราเปลี่ยนรูปแบบและให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการอยู่กับที่เพื่อเอื้อให้ลูกค้ามาเดินเลือกซื้อสินค้าภายในร้านด้วยตนเอง  จริงๆเรียกบิ๊กซ้งว่าเป็นร้านค้าปลีก ก็ไม่ถูกทีเดียวนะ ต้องเรียกว่าเป็นซูเปอร์มาเก็ตค้าส่งน่าจะเหมาะสม

 

SME One : การเข้ามารับช่วงเป็นรุ่นที่ 3 อะไรต้องสร้างเพิ่ม

ฉัตรชัย : สร้างความเชื่อครับ ตรงนี้คือสิ่งที่คนรุ่นผมมองว่าเป็นจุดเปลี่ยน เพราะเราต้องพิสูจน์ผลงานจริงๆ ถามว่ายากหรือเปล่า ผมเชื่อว่ายากหมด เพราะมันต้องอาศัยความเข้าใจ อาศัยช่วงจังหวะชีวิตที่มันดีด้วย แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือ เราต้องให้ความสำคัญให้ถูกทาง ถามว่าการเข้ามารับช่วงต่อต้องพัฒนาส่วนไหน ส่วนตัวมองว่า เดิมทีเคยคิดว่าธุรกิจที่บ้านเป็นอะไรที่ทำยากแล้วก็ไม่น่าทำ ขายของได้กำไรนิดเดียว แล้วต้องยกของ ต้องส่งของ ต้องรับสาย มันเป็นอะไรที่เด็กรุ่นใหม่ดูแล้วมันก็ยาก จุดที่เราต้องเปลี่ยนจุดหนึ่งคือเราต้องคิดว่าเราชอบอะไร แล้วธุรกิจเราจะดำเนินไปได้ตามที่เราคิดชอบแบบนั้นได้รึเปล่า เอาความฝันของเรามารวมและจินตนาจาร แต่ว่ามันต้องอยู่ในพื้นฐานของความเป็นไปได้ด้วยนะครับ และก็พื้นฐานของระยะเวลาที่เราสามารถที่จะทำได้ด้วย

สิ่งที่เราฝันไว้มีมากกว่านี้ และเราก็ได้ขยับเข้าใกล้สิ่งที่เราฝันขึ้นเรื่อยๆ คือมองว่าในยุคของเรา เราอยากจะทำให้ร้านของครอบครัวให้น่าเข้าหา เป็นซูเปอร์มาร์เก็ตค้าปลีกค้าส่งที่มีคนเข้ามาแล้วก็สามารถที่จะเดินไปหยิบสินค้าได้อย่างสะดวกสบาย ตอนเด็กๆเวลามีลูกค้าเดินเข้าร้านมา จะจำได้ว่าต้องเดินมาหาเราก่อน ต้องสั่งของกับเรา และเราก็จะเป็นคนหยิบหรือบอกให้พนักงานไปหยิบอีกทีหนึ่ง เพราะว่าเราวางของไม่ได้เป็นระบบระเบียบมาก ต่อมาร้านก็เริ่มได้รับการพัฒนาจากรุ่นสอง และส่งต่อมาที่รุ่นเราพัฒนาต่อ หน้าที่หลักของเราก็คือพัฒนาต่อแหละครับ จนสามารถพัฒนาจนลูกค้าที่เดินไม่ต้องมาหาเราเหมือนก่อนๆ เข้ามาในร้านสามารถที่จะรู้ได้เลยว่า ต้องเดินไปตรงไหนเพื่อหยิบสินค้าอะไร รู้สึกไม่กดดันจากการที่เดิมเจ้าของร้านหยิบสินค้าให้ สามารถเลือกยี่ห้อ เลือกราคาได้ตามสะดวก นี่คือหนึ่งในหลายๆจุดที่ บิ๊กซ้ง ได้พัฒนามานะครับ และก็จะพัฒนาต่อไปครับ

ข้อได้เปรียบของร้านเรา ก็คือจากเดิมที่เป็นร้านค้าส่ง ทำให้ไม่ต้องกังวลเรื่องการจัดหาสินค้า เราใช้พื้นฐานที่มีอยู่แล้วพัฒนาและเพิ่มจำนวนสินค้า (Stock Keeping Unit : SKU) เพิ่มความหลากหลายให้มากยิ่งขึ้น จากเดิมที่มีสินค้าจำหน่ายอยู่ประมาณหลักร้อย ปัจจุบันทางร้านได้คัดสรรสินค้าคุณภาพมากว่า 20,000 SKU มาจำหน่ายแล้ว

ทุกวันนี้ บิ๊กซ้ง ซุปเปอร์สโตร์ มีทั้งหมด 4 สาขา คือ มหาชัย บ้านแพ้ว เอกชัย และพระราม 2 โดยมีสาขาใหญ่ 2 สาขา พื้นที่ขายรวมกันประมาณ 5,000 ตารางเมตร แล้วก็บวกอีก 2 สาขาย่อย สาขาละประมาณ 1,000 ตารางเมตร ก็รวมเป็น 7,000 ตารางเมตร

 

SME One : ปัจจุบันมีร้านเก่าแก่หลายร้านที่ทำธุรกิจต่อไปไม่ไหว คิดว่าจุดอ่อนของร้านโชห่วยหรือร้านยี่ปั๊วของไทยคืออะไร 

ฉัตรชัย : พูดในมุมมองส่วนตัว จุดที่จะทำให้ไปต่อได้หรือไม่ อาจจะเป็นเรื่องรอยต่อในการดำเนินธุรกิจระหว่างรุ่น ยกตัวอย่างเช่น รุ่นก่อนเราเตรียมพร้อมและยอมรับในการที่จะให้เข้ามาปรับเปลี่ยนได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งประเด็นเหล่านี้ก็จะส่งผลถึงรุ่นเรา ผมโชคดีที่รุ่นก่อนผมยอมรับ รับฟัง และพร้อมส่งเสริมเสมอ สิ่งเหล่านี้จึงเปรียบเสมือนพลัง แรงผลักดันที่จะต่อยอดเนื้องานได้อย่างเต็มที่และรวดเร็ว แต่อย่างไรก็แล้วแต่เราก็ต้องมีหลักเหตุผลที่เพียงพอที่จะให้เขาเชื่อสิ่งที่เราทำเหมือนกัน และที่สำคัญมากสำหรับเรา คือการที่ได้รับโอกาส ใช้โอกาสนั้นสร้างความเชื่อมั่น ความเชื่อใจให้ได้

เมื่อไหร่ก็ตามที่เรามองเข้ามาในธุรกิจของตัวเอง เราก็จะเห็นจุดบกพร่องของธุรกิจ ในจุดดีอยู่แล้ว เราก็ต้องพัฒนาต่อไปให้ได้ เพราะฉะนั้นคนที่จะรับช่วงต่อจะต้องมองธุรกิจของตัวเองให้ออกก่อนว่าข้อดีข้อด้อยอยู่ตรงไหน ให้ความสำคัญให้ถูกจุดและถูกเวลาครับ

 

SME One : ทุกวันนี้บิ๊กซ้งรายล้อมไปด้วยค้าปลีกจากส่วนกลาง อะไรที่ทำให้เราแข่งขันได้ 

ฉัตรชัย : คิดว่าเป็นความเข้าใจในลูกค้าและการสร้างฐานลูกค้าให้มั่นคง เราได้รับความร่วมมือจากบริษัทคู่ค้า  (Supplier) ซึ่งมีความผูกพันกันอยู่ตั้งแต่รุ่นอากงก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้เราแข่งขันได้ บางบริษัทกับเราก็รู้จักกันมาอย่างยาวนาน เรามองว่า Supplier ทุกรายที่เข้ามาคือพันธมิตร คือทีมเดียวกัน ที่ต้องช่วยกันทำให้สินค้าออกไปสู่ตลาดให้ได้ เรามีพื้นที่ให้เขาจำหน่ายสินค้า เขาก็ต้องช่วยดูแลคุณภาพและราคาที่เหมาะสมให้เรา เราทำงานแบบพันธมิตร จากรุ่นสู่รุ่น บริษัทคู่ค้าถือว่าเป็นซัพพอร์ตส่วนตัวเราเอง เราก็ต้องไม่หยุดที่จะพัฒนาตนเอง ซึ่งในเรื่องของการทำความเข้าใจในความต้องการลูกค้า เราจะทำการบ้านโดยการสำรวจพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอย การหาข้อมูลภายใน รวมทั้งการพัฒนาในด้านอื่นๆอีกมากครับ

 

SME One : ทุกวันนี้ยังคงเสียเปรียบเรื่องอำนาจการต่อรองกับ Supplier เมื่อเทียบกับค้าปลีกรายใหญ่

ฉัตรชัย : แน่นอนอยู่แล้ว เราต้องเข้าใจตรงนี้ มันเป็นธรรมชาติ ใครที่ซื้อสินค้าจำนวนมากกว่าราคาที่ได้ต่อก็จะต่ำกว่าคนที่ซื้อในจำนวนน้อย ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาอยู่แล้ว แต่เราต้องเข้าใจตัวเองว่าเราสามารถทำอะไรได้ ต้องดูว่าเราอยู่ตรงจุดไหน เรื่องของราคาถามว่าค้าปลีกรายใหญ่มีอำนาจต่อรองที่ดีกว่าเราใช่ไหม ก็ตอบว่าใช่ แต่ถามว่าเขามีปัจจัยในด้านการบริหารหรือค่าใช้จ่ายมากกว่าเราหรือเปล่า ก็ใช่อีก เพราะฉนั้นทุกอย่างมันมีช่องว่างของมันอยู่ อยู่ที่ว่าเราจะไปมองจากมุมไหน เพราะฉะนั้นเราก็สามารถเอาค่าบริหารซึ่งเรามีต้นทุนน้อยกว่าเอามาเป็นเติมเต็มในส่วนรายได้ก็ได้เหมือนกัน ผมถึงบอกว่ามันไม่ตายตัวว่าใครที่ได้สินค้าในราคาที่ต่ำกว่าหรือสูงกว่าแล้วจะสามารถอยู่ในตลาดได้ 

ส่วนทางบริษัทคู่ค้าของเองก็เชื่อว่าเขาก็ต้องหาช่องทางในการจำหน่ายมากที่สุดที่เขาจะทำได้อยู่แล้ว ซึ่งร้านค้าท้องถิ่นก็เป็นทางเลือกที่ดีที่จะเลือกเป็นในช่องทางจำหน่ายสินค้าช่องทางหนึ่งเช่นเดียวกัน 

ผมมองว่าร้านค้าท้องถิ่นสมัยใหม่จะต้องใช้ข้อมูลมาวิเคราะห์ ไม่ได้ใช้ความรู้สึก ยุคนี้ข้อมูลสำคัญมาก ต้องขยันดู ขยันเก็บ อย่างเช่นว่าการที่เราขายอะไรได้ ขายอะไรไม่ได้ สินค้าตัวนี้ที่สั่งมาประมาณการเท่านี้ ขายออกได้ในระยะเวลาเท่าไหร่ เรื่องพวกนี้อันนี้สำคัญมาก ๆ เพราะมันจะไปเกี่ยวพัน และมีผลโดยตรงกับผลประกอบการด้วย 

 

SME One : ทุกวันนี้ร้านค้าท้องถิ่นก็ยังสู้แบบมวยวัดใช้หรือไม่

ฉัตรชัย : ความเห็นส่วนตัวนะครับ จริงๆร้านค้าท้องถิ่นก็ไม่ใช่ขึ้นชกแบบไม่มีเชิงนะครับ ผมเชื่อว่าร้านท้องถิ่นก็มีเชิงครับ จริงๆแล้วต้องบอกว่า อย่าเอาร้านค้าท้องถิ่นไปขึ้นเวทีเลยจะดีกว่า ร้านค้าท้องถิ่นมีวิธีการของตัวเอง ไม่ได้หนี หรือจะต้องต่อสู้กับใคร แล้วก็ไม่คิดว่ามีใครตั้งใจมาสู้กับร้านค้าท้องถิ่น ต่างคนต่างมีช่องทางของตัวเองครับ ดังนั้นจะบอกว่าร้านค้าท้องถิ่นสู้แบบมวยวัดก็คงจะไม่ถูกต้องทีเดียว  

อย่างทุกวันนี้เราก็ไม่ได้ไปมองปัจจัยภายนอกในทางนั้น ใครจะมาเปิดกิจการคล้ายเรา ถามว่ารู้หรือไม่ ก็ตอบว่ารู้ แต่ว่าความหมายคือเราก็ไม่ได้ไปให้ความสำคัญขนาดนั้น เพราะแค่เราจะให้ความสำคัญในส่วนการพัฒนาต่อยอดของธุรกิจเราเอง ผมคิดว่ามันก็เพียงพอแล้ว ยังมีอะไรที่ต้องทำ ต้องพัฒนาอยู่อีกเยอะมากอยู่แล้ว พูดง่าย ๆ ก็คือเราแข่งกับตัวเองดีกว่า เราเน้นที่จะ ”บรรลุเป้าหมายของตัวเอง” มากกว่าที่จะต้องไปชนะใครดีกว่า 

 

SME One : COVID-19 ที่ผ่านมา บิ๊กซ้งเจอผลกระทบบ้างหรือไม่ แล้วแก้ปัญหาอย่างไร

ฉัตรชัย : โดยรวมจะกระทบทุกธุรกิจค่อนข้างแน่นอน จะมียกเว้นบ้าง แต่ซูเปอร์มาร์เก็ตถือว่าเป็นธุรกิจที่โชคดี เพราะว่าก็ไม่ได้ถูกปิดอะไร แต่ถามว่าการบริโภคของคนเปลี่ยนไปหรือเปล่า ก็ค่อนข้างที่จะเปลี่ยน ถามว่าซื้อของเยอะขึ้นรึเปล่า บริโภคเยอะขึ้นหรือไม่ ก็มีแบบซื้อเก็บ ซื้อตุน แต่ว่ายอดขายมันจะวิเคราะห์ได้ยากมาก เพราะมาๆ หายๆ แล้วกลุ่มสินค้าก็จะขายได้จะเป็นเฉพาะกลุ่ม ตรงนี้แหละที่เราต้องปรับตัว 

เพราะฉะนั้นถามว่ากระทบไหม กระทบแน่นอน แต่ว่าเมื่อไหร่ที่เรารู้ว่ากระทบอะไรอะ เราก็พยายามที่จะปิดตรงนั้นให้เยอะที่สุด เพื่อให้กระทบเราน้อยที่สุด

 

SME One : ที่ร้านมีการเอาระบบ Data ระบบ IT มาใช้ในการเก็บข้อมูลลูกค้าหรือสมาชิกหรือไม่

ฉัตรชัย : มีครับ เราได้นำเอาความเป็นเทคโนโลยีเข้ามาใช้งานบ้าง เรานำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ได้ เราเลือกใช้เฉพาะที่จำเป็นจริงๆ เข้ามาใช้งาน ต้องใช้ทรัพยากรเทคโนโลยีอย่างมีคุณค่าที่สุดครับ 

 

SME One : อยากให้ช่วยวิเคราะห์เหตุผลว่าทำไมลูกหลานที่เป็นคนรุ่นใหม่หลายคนปฎิเสธที่จะทำธุรกิจต่อจากรุ่นพ่อแม่

ฉัตรชัย : ผมมองว่าเป็นเรื่องปกติ มันอยู่ที่ตัวบุคคลด้วย อย่างธุรกิจของที่บ้าน ชอบไม่ชอบในตัวธุรกิจที่จะได้สืบสานหรือไม่ ผมโชคดีที่ที่บ้านจะบอกข้อมูลของธุรกิจมาโดยตลอด มีการคุยกัน สอบถามกันว่าอยากจะทำไหม แล้วรุ่นก่อนพยายามบอกปัจจัยว่ามันลำบากยากง่ายอย่างไร เรารับได้หรือไม่อย่างไร และวิธีการดำเนินต่อในมุมมองของรุ่นก่อนคืออะไร ถามว่าทำไมมีคนไม่อยากสืบทอดกิจการ คนที่เขามีความคิดแบบนี้ผมมองเป็นเรื่องธรรมดา เพราะผมมองว่าส่วนใหญ่การที่จะทำธุรกิจใดๆก็ตามให้ดำเนินไปได้ด้วยดีนั้นเริ่มต้นมาจากความชอบและจะก่อให้เกิดความมุ่งมั่นและตั้งใจตามมาครับ

 

SME One : บิ๊กซ้งเริ่มจากระบบกงสี เอาญาติพี่น้องมาช่วยทำ มาถึงปัจจุบันยังคงบริหารงานแบบระบบกงสีหรือเป็นระบบองค์กรแล้ว

ฉัตรชัย : เราก็พยายามที่จะเปลี่ยนนะครับ แต่เรื่องพวกนี้มันใช้เวลา ก็อยู่ในช่วงเวลาของการเปลี่ยนผ่าน เรื่องนี้มันซับซ้อน และเกี่ยวข้องกับเรื่องของความรู้สึกในครอบครัว ตอนนี้เราใช้ระบบสิทธิ์ในหุ้นส่วน เรียกว่าเป็นรูปแบบบริษัท 100% แล้ว แต่ว่ายังมีความรู้สึกของกงสีปนอยู่ข้างในบ้าง

 

SME One : อยากให้ช่วยแนะนำหลักการบริหาร วิธีการทำธุรกิจให้กับคนที่อยากเปิดร้านโชห่วย

ฉัตรชัย : ขอเรียกว่าเป็นการบอกกล่าวในสิ่งที่เราทำดีกว่านะครับ เริ่มจากการที่ต้องมีจุดมุ่งหมาย แล้วก็มีหลักการเหตุผล ต้องมองให้ออกว่ากลุ่มลูกค้าแล้วก็ธุรกิจของเรา มีตรงไหนที่สามารถที่จะพัฒนาได้อีก ใส่ใจในการทำสิ่งนั้น ๆ และต้องมีความเข้าใจในสิ่งที่เรากำลังทำ และสม่ำเสมอครับ ผมมองว่าไม่ได้เป็นหลักการเฉพาะผู้ที่อยากเปิดซูเปอร์มาเก็ตอย่างเดียวนะครับ แต่เป็นพื้นฐานสำหรับผู้ที่อยากจะทำธุรกิจทุกธุรกิจครับ

 

บทสรุป

บิ๊กซ้ง ซุปเปอร์สโตร์ บริหารธุรกิจโดยใช้จุดแข็งผ่านงานบริการ ความหลากหลายของสินค้าในร้าน ให้ความสำคัญของการบริหารข้อมูล เพื่อนำมาพัฒนาให้ร้านแข็งแกร่งมากขึ้น รวมถึงใช้วิธีการผูกเป็นพันธมิตรบริษัทคู่ค้าเพื่อหาทางเพิ่มยอดขายและเติบโตไปพร้อมกัน 

นอกจากนี้ในส่วนของงานบริหาร บิ๊กซ้ง ซุปเปอร์สโตร์ ใช้การบริหารงานด้วยรูปแบบของธุรกิจครอบครัวสมัยใหม่ที่แบ่งงานกันรับผิดชอบแบบชัดเจนที่เน้นความคล่องตัว แต่ยังมีการตัดสินใจในลักษณะของกงสี
หรือธุรกิจครอบครัว ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของหลักการและเหตุผลเสมอ

บทความแนะนำ

Kokoonic โปรตีนแมลงแห่งอนาคต

“แมลง” คำที่หลายๆ คนฟังแล้วอาจจะรู้สึกกลัว แต่รู้หรือไม่ว่า แมลงมีคุณค่าโภชนาการสูงมาก และมีส่วนสำคัญเกี่ยวข้องกับความยั่งยืนของโลก คุณประโยชน์จากแมลงเหล่านี้ ทำให้ Kokoonic เกิดความสนใจและเริ่มศึกษา จนสามารถต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์โปรตีนจาก “ดักแด้ไหมอีรี่” ได้สำเร็จ

.

ดักแด้ไหมอีรี่ที่ถูกเลือก

เดิมทีทางแบรนด์ต้องการสรรหาวัตถุดิบจากธรรมชาติ เพื่อนำมาผลิตเส้นใยในวงการอุตสาหกรรมสิ่งทอ ทำให้มีโอกาสได้รู้จักกับดักแด้ไหมอีรี่ ที่มีความน่าสนใจ นั่นก็คือ ดักแด้ไหมอีรี่มีอาหารหลักเป็นใบมันสำปะหลัง ประกอบกับประเทศไทยมีการปลูกมันสำปะหลังเป็นจำนวนมาก ซึ่งจะมีเพียงแค่หัวมันสำปะหลังที่ถูกนำไปใช้ประโยชน์ ส่วนของใบมันสำปะหลังจะถูกนำไปทิ้ง ทางแบรนด์จึงเห็นว่านี่คือหนทางในการช่วยเหลือเกษตรกรให้เกิดรายได้ และยังเป็นการช่วยลดขยะด้วยเช่นกัน จึงคิดที่จะลองเลี้ยงดักแด้ไหมอีรี่เพื่อให้ผลิตเส้นไหมสด แต่กลับพบว่าดักแด้ไหมอีรี่นั้นผลิตเส้นไหมได้เพียงอัตราส่วน 1 ต่อ 10 ซึ่งก็คือรังไหม 1 รัง จะมี เส้นไหมสด เพียง 1 ส่วน และเป็นไฟเบอร์อีก 9 ส่วนที่ไม่ถูกนำไปใช้ประโยชน์ต่อ ดังนั้นทางแบรนด์จึงเริ่มทำการศึกษาวิจัยหาวิธีการนำไฟเบอร์เหล่านี้มาใช้ จุดประกายความคิดใหม่ขึ้นว่ามา หากนำดักแด้ไหมอีรี่มาทำเป็นอาหารจะเป็นอย่างไร

.

โปรตีนสะอาด คือคำตอบแห่งอนาคต

หลังจากค้นคว้าข้อมูลก็พบว่า ดักแด้ไหมอีรี่ คือสิ่งมีชีวิตมหัศจรรย์ เพราะเป็นแหล่งโปรตีนสูง ที่สะอาด และกำลังอยู่ในความสนใจของกระแสโลก ที่จะทำฟาร์มแมลง เพื่อใช้เป็นแหล่งโปรตีนสำหรับโลกอนาคต จึงเป็นจุดเริ่มต้นในการลุกขึ้นมาทำเรื่องอาหารอย่างจริงจัง

สิ่งสำคัญอันดับหนึ่งสำหรับการทำผลิตภัณฑ์อาหาร คือเรื่องรสชาติ ไม่ว่าผลิตภัณฑ์ของคุณจะดีแค่ไหน แต่ถ้ารสชาติไม่ดี ไม่อร่อย ก็ยากที่จะขายได้ ส่วนที่สำคัญต่อมาคือเรื่องการตลาด จะทำอย่างไรเพื่อให้ผลิตภัณฑ์นั้นไปต่อได้ ซึ่งสำหรับทาง Kokoonic เริ่มต้นจากการทำธุรกิจแบบ Business to Business (B2B) ก่อน เพราะยังเป็นเรื่องใหม่เกินกว่าที่คนทั่วไปจะยอมรับได้ โดยเริ่มเจาะตลาดกลุ่มลูกค้าเอเชีย ด้วยผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มโปรตีนและพลังงานทดแทน ที่จะเปลี่ยนความคิดเรื่องการกินแมลง โดยใช้เรื่องความอร่อยเป็นจุดแข็งหลัก เพื่อเปิดใจผู้บริโภคให้มีความรู้ ความเข้าใจว่า ถึงผลิตภัณฑ์ของ Kokoonic จะเป็นโปรตีนที่ทำมาจากแมลงก็จริง แต่มีคุณค่าทางอาหารสูงมาก สะอาด และรสชาติอร่อย จนเริ่มมีกลุ่มผู้ประกอบการให้ความสนใจ เกิดเป็นการทำงานพัฒนาสินค้าใหม่ๆ จากโปรตีนแมลงร่วมกัน แล้วจึงวางแผนต่อไปสู่กลุ่มเป้าหมายผู้บริโภคทั่วไปแบบ Business to Customer (B2C) สร้างฐานลูกค้าขึ้นเพื่อรองรับสินค้าโปรตีนจากแมลงเหล่านี้ เป็นวงจรที่ขับเคลื่อนเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน

.

ส่งเสริมทีมงาน ให้เข้มแข็ง

นอกจากการสร้างวงจรทางธุรกิจให้เกิดขึ้นแล้ว ในฝั่งของทีมงานเอง ทาง Kokoonic ก็มีความตั้งใจมาตั้งแต่เริ่มแรก ที่จะได้เป็นส่วนหนึ่งที่สามารถเปลี่ยนชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรให้ดีขึ้น โดยมีการส่งเสริมเกษตรกรที่เลี้ยงไหมให้โตไปพร้อมกัน ด้วยการสร้างคุณค่าในอาชีพให้พวกเขามีรายได้ เมื่อพวกเขาอยู่ได้เติบโตได้ แบรนด์ก็จะเติบโตไปพร้อมกันกับเขา ผลปรากฎว่าเมื่อเกษตรกรเลี้ยงชีพด้วยอาชีพนี้ได้ พวกเขาก็ยังเป็นแรงสำคัญในการกระจายความรู้ที่ได้จากชุมชนหนึ่งไปสู่ไปอีกชุมชนหนึ่งอย่างรวดเร็ว จากตำบลนี้ทำได้ ขยายไปเป็นอำเภอนี้ทำได้ด้วย ทำให้ตรงนี้เป็นจุดหนึ่งที่เป็นแรงขับเคลื่อนในมุมของเกษตรกรอีกด้วย และเป็นแรงขับเคลื่อนให้แบรนด์มุ่งหน้าทำต่อไป
.

ความตั้งใจเพื่อทุกคนบนโลก

สิ่งที่แบรนด์มุ่งมั่นจะทำให้ถึงที่สุด คือ การทำโปรตีนสะอาดจากดักแด้ไหมอีรี่ให้เกิดขึ้น และทำให้ทุกคนบนโลกสามารถยอมรับได้ โดยมีคำที่ Kokoonic ใช้เตือนตัวเองเสมอว่า Remember why you start it จดจำไว้อยู่เสมอว่า ได้เริ่มทำสิ่งนี้เพราะอะไร ไม่ว่าจะสำเร็จบ้าง ล้มเหลวบ้าง ก็ต้องยืนหยัดที่จะสู้ต่อไป ความอดทนไม่ย่อท้อต่อความลำบากหรือความพ่ายแพ้ในจิตใจ คือสิ่งที่ทำให้เห็นหนทางเดินไปต่อได้

.

สามารถติดตาม Kokoonic ได้ที่
Kokoonic Company Limited
เลขที่ 21 ชั้นที่ 5 ซอยราษฎร์บูรณะ 44 แขวงราษฎร์บูรณะ เขตราษฎร์บูรณะ กรุงเทพมหานคร 10140
Tel: 096-924-1545
Email: admin@kokoonic.com
Website : kokoonic.com
Facebook: kokoonicofficial
Instagram: Kokoonic_official

สำหรับช่องทาง SME ONE เพิ่มเติม
Facebook: SMEONE
Youtube: SMEONE
Line: @smeone

บทความแนะนำ

 

PDM เสื่อพลาสติกพลิกวงการเสื่อไทย

“เสื่อผืนหมอนใบ” คือคำติดหูที่ได้ยินมาตลอด เป็นจุดเริ่มต้นธุรกิจของแบรนด์ PDM (Product Design Matters) ที่มองเห็นความสำคัญในประโยชน์จากเสื่อผืนเดียว แต่กลับรองรับกิจกรรมได้หลากหลายอิริยาบถ ไม่ว่าจะใช้สำหรับต้อนรับแขก ใช้ปูรองนั่งขณะรับประทานอาหารร่วมกัน หรือแม้แต่ใช้สำหรับนอน เสื่อจึงเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับวิถีชีวิตของคนไทยมาอย่างยาวนาน ทางแบรนด์จึงนำมาทำการพัฒนาต่อยอด จนกลายเป็นเสื่อจากพลาสติก Recycle ล้างภาพเสื่อคุ้นตารูปแบบเดิม เพิ่มการออกแบบใหม่ สร้างภาพลักษณ์ให้บ้านสวยขึ้นทันตาได้ด้วยเสื่อผืน

.

สินค้า PDM ชูรสชาติให้พื้นที่ชีวิต

สิ่งที่จุดประกายให้กับแบรนด์ มาจากเพื่อนชาวต่างชาติที่พูดขึ้นว่า เสื่อไทยสามารถใช้แทนพรมได้เลย ในต่างประเทศพรมคือสิ่งที่ช่วยประดับบ้าน เพื่อสร้างความอบอุ่นให้กับบ้าน ช่วยเสริมภาพลักษณ์ให้กับพื้นที่นั้นๆ ทำให้บ้านดูอิ่ม สดชื่น และสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น แต่สภาพอากาศร้อนชื้นในประเทศไทยนั้นไม่เหมาะกับการใช้พรม จึงทำให้ทางแบรนด์มองหาวัสดุใหม่ที่จะตอบโจทย์กับสภาพอากาศ อีกทั้งยังต้องสามารถเช็ดล้างทำความสะอาดได้ง่าย และมีความเป็นไทย โจทย์นี้จึงเป็นจุดเริ่มต้นในการเกิดเป็นเสื่อพลาสติก PDM 

ทางแบรนด์พัฒนาคุณสมบัติของพลาสติกที่นำมาใช้เป็นวัสดุหลักของเสื่อ ให้ป้องกันไฟลุกลาม เลือกวิธีการทอให้สามารถใช้งานได้ทั้ง 2 ด้าน มีการทอพรมที่แน่นเพื่อความทนทาน และเลือกพื้นผิวแบบด้านเพื่อให้เวลาปูห้องแล้วไม่สะท้อนแสงไฟเช่นเดียวกับการปูพรม ด้วยวัสดุที่เป็นพลาสติก ทำให้มีน้ำหนักเบาและสามารถทำความสะอาดได้ง่าย 

ส่วนที่สำคัญที่สุดคือความตั้งใจออกแบบลวดลายของเสื่อ โดยกำหนดเกณฑ์ไว้ว่า ถ้าลูกค้าจะมองหาพรมประดับบ้าน จะต้องมีชื่อ PDM เป็น 1 ในตัวเลือก สินค้าแต่ละชิ้นต้องผ่านการทดสอบความทนทาน ไปจนถึงความเข้ากันได้กับเฟอร์นิเจอร์รูปแบบต่าง ๆ ในบ้าน จนทำให้มั่นใจได้ว่า เมื่อใครก็ตามที่นำเสื่อ PDM ไปใช้ จะทำให้บ้านดูสวยหรูขึ้นทันตา ดั่งสโลแกนของแบรนด์ว่า “PDM สวยเฉียบพลัน แค่ปูก็จบแล้ว”

PDM มองว่าเสื่อเปรียบเสมือนผงชูรส หน้าที่ของมันคือเป็นสิ่งที่ไปเติมเต็มให้กับสินค้าอื่น ทางแบรนด์จึงคิดสร้างสรรค์เสื่อหลากหลายรูปแบบ เพื่อสนองรสนิยมที่แตกต่างกันของลูกค้า โดยมีทั้งแบบเรียบง่ายสำหรับใช้ในชีวิตประจำวัน แบบลายพิเศษที่จำหน่ายเป็นวาระ หรือแม้แต่เสื่อรูปทรงต่าง ๆ ที่เป็นมากกว่าทรงสี่เหลี่ยม ให้สินค้าดูทันสมัย ในแบบที่ไม่ว่าจะผ่านไปอีกหลายปี แล้วมองกลับมาเมื่อใด สินค้าก็จะยังดูทันสมัยอยู่ ไม่ตกยุค เป็นสิ่งที่ใช้งานต่อไปได้เป็นเวลานาน

.

ต่างกลุ่มเป้าหมาย แต่ใจเดียวกัน

กลุ่มลูกค้าเป้าหมายแรกของ PDM คือ กลุ่มดารานักแสดง นักศึกษา รวมถึงเจ้าของธุรกิจรีสอร์ต ที่นิยมตกแต่งบ้านด้วยงานออกแบบ แต่เนื่องจากการใช้ช่องทางหลักในโลกออนไลน์ ทำให้กลุ่มเป้าหมายของแบรนด์ถูกขยายวงกว้างขึ้น จนไม่สามารถจำกัดกลุ่มลูกค้าได้อีกต่อไป เพราะลูกค้าของ PDM กลายเป็นกลุ่มคนที่มีความชอบ หรือมีรสนิยมที่คล้ายกัน ทางแบรนด์จึงพยายามเก็บข้อมูล ความชอบ ความต้องการ ของกลุ่มลูกค้า เพื่อนำมาออกแบบสินค้ามาให้ตอบสนองความต้องการของลูกค้าจริงๆ ผ่านการใช้ Digital Marketing ทำให้ PDM เป็นธุรกิจที่เรียกได้ว่าไม่มีสต๊อกสินค้า (Zero Stock) เพราะ PDM ผลิตสินค้าตามความต้องการของลูกค้า คือ Demand กับ Supply บวกลบกันเท่ากับ 0 ยิ่งเป็นการช่วยลดการสร้างขยะในปัจจุบัน

.

Enhance The Living

PDM อยากเห็นคนไทยมีบ้านสวย เหมือนที่หลายๆ คนชอบดูภาพบ้านต่างประเทศตามนิตยสาร แต่ถ้าหากมาลองดูให้ลึกแล้ว ของแต่งบ้านหลายอย่างนั้นมีแหล่งผลิตอยู่ใกล้ตัวเราทั้งนั้น ทางแบรนด์จึงอยากเข้ามาเป็นผู้ช่วยในการหาสินค้า รวบรวมของแต่งบ้านดีไซน์สวย มีคุณภาพที่ดี และมีราคาที่สมเหตุสมผล ส่งตรงจากผู้ผลิตถึงมือลูกค้าโดยไม่ผ่านคนกลางใด ๆ ด้วยช่องทางออนไลน์ที่แบรนด์มี

.

New Normal, New Opportunities

สถานการณ์โควิด-19 นี้ หลายๆ คนได้มีโอกาสอยู่บ้านมากขึ้น ทำให้มีความสนใจเกี่ยวกับที่อยู่อาศัยมากขึ้น ประจวบเหมาะกับที่ PDM เป็นสินค้าตกแต่งบ้าน ทำให้ลูกค้าเชื่อมโยงกับ PDM ได้ง่ายขึ้น ในช่องทางออนไลน์ต่างๆ ทางแบรนด์จึงได้ใช้โอกาสนี้ ในการทดลองสื่อสารกับลูกค้ามากขึ้น ด้วยการทำสินค้าใหม่ ๆ ที่จะตอบโจทย์คนรักการแต่งบ้าน เช่น โต๊ะเตี้ยที่สามารถแขวนผนังเป็นภาพศิลปะได้ เพื่อช่วยสร้างบรรยากาศภายในบ้าน ให้สามารถปรับเปลี่ยนได้อย่างไม่จำเจ ในขณะที่ผู้คนต้อง Work From Home กันอยู่เป็นเวลานาน

แนวคิดในการเป็นแบรนด์ที่ไม่เคยหยุดคิด ของ PDM คือ ต้องเดินไปพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคนี้ จึงทำให้มีรูปแบบการทำงาน คือ ทำไปด้วย คิดไปด้วย ไม่ใช่คิดก่อนแล้วค่อยทำแบบสมัยก่อนอีกต่อไป แบรนด์เชื่อว่าไม่มีผลงานใดที่สมบูรณ์ 100% ในการออกแบบผลิตภัณฑ์ต้องมีการแก้ไขและพัฒนาผลงานอยู่เสมอ แต่ต้องรักษาระดับมาตรฐานให้ถึงเกณฑ์ที่จะตอบโจทย์ความต้องการให้ได้ ทำให้แบรนด์เลือกที่จะไม่ยึดติดกับการทำผลิตภัณฑ์เพียงชิ้นใดชิ้นหนึ่งจนเต็ม 100% ถึงค่อยวางขาย แต่เป็นการเรียนรู้ แก้ไข และพัฒนาไปในทุกกระบวนการมากกว่า ให้ดีขึ้นทุกครั้งที่ออกสินค้ารุ่นใหม่ ยังมีคำพูดที่ติดปากกันเองคือคำว่า “เอาไงต่อ” เพื่อขับเคลื่อนให้แบรนด์เรียนรู้และพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะล้มเหลวหรือสำเร็จก็จะไม่หยุด

.

สามารถติดตาม PDM Brand ได้ที่
บริษัท พีดีเอ็ม แบรนด์ จำกัด
8 ซ.พัฒนาการ 20 แยก 4 แขวงสวนหลวง เขตสวนหลวง กรุงเทพมหานคร 10250
Tel: 02-318-2566, 094-976-3883
Email: info@pdmbrand.com
Website : www.pdmbrand.com
Facebook: PDMBRAND
Instagram: pdmbrand
Line: @pdmbrand

สำหรับช่องทาง SME ONE เพิ่มเติม
Facebook: SMEONE
Youtube: SMEONE
Line: @smeone

บทความแนะนำ

Moreloop หมุนเวียนคุณค่า ชุบชีวิตผ้าเหลือใช้

จากความสนใจส่วนตัวที่เกิดขึ้นเพื่อต้องการแก้ปัญหาเรื่องผ้าเหลือใช้จากโรงงาน ที่มีจำนวนหนึ่งพันล้านหลาต่อปี เกิดเป็นแพลตฟอร์มออนไลน์ที่รวบรวมผ้าเหลือ เพื่อทรัพยากรกลับมาหมุนเวียนใหม่ให้เป็นประโยชน์ รวมทั้งเป็นสื่อกลางสำหรับส่งต่อวัตถุดิบเหลือใช้จากที่หนึ่งไปสู่อีกที่หนึ่ง
.
เห็นของเหลือให้เป็นวัตถุดิบ

จุดเริ่มต้นจากการเปลี่ยนความคิดเรื่องขยะเศษผ้า มองให้เห็นคุณค่าในรูปแบบวัตถุดิบ หลังจากเห็นโอกาสนี้แล้ว จึงเกิดความคิดขึ้นว่าการจะซื้อขายวัตถุดิบเหล่านี้ ควรจะต้องมีตลาดมาเป็นกลไกรองรับ ซึ่งในปัจจุบันสามารถที่จะสร้างตลาดออนไลน์ขึ้นมาได้ไม่ยาก

หลังจากศึกษาหาข้อมูล ก็พบว่าเหล่าโรงงานผลิตเสื้อผ้านั้นมักจะมีผ้าเหลือใช้ จากการสั่งผ้ามาสำรองในการผลิต เป็นผ้าใหม่เต็มม้วนที่ยังไม่ถูกใช้งาน ซึ่งในประเทศไทยมีผ้าเหลือจำนวนไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านหลาในแต่ละปี ถ้าคำนวนออกมาแล้วสามารถผลิตเสื้อได้มากถึง 700 ล้านตัว เป็นแรงบันดาลใจในการสร้างแพล็ตฟอร์มเชื่อมโยงให้เกิดการหมุนเวียนของเหลือใช้จากที่หนึ่ง ไปยังผู้ที่มีความต้องการใช้งานในอีกที่หนึ่งขึ้น ช่วยแก้ปัญหากับผ้าเหลือจากทางโรงงาน ให้มาพบกับผู้ที่ต้องการผ้าเหล่านั้น

.

รู้จักกลุ่มเป้าหมาย เห็นโอกาสที่ตอบโจทย์

เริ่มแรกของ Moreloop ในการเป็นตัวกลางออนไลน์รวบรวมผ้าเหลือใช้ให้ถึงมือผู้ใช้ โจทย์ยากก็คือ ความมั่นใจในคุณภาพสินค้า เนื่องจากการซื้อผ้าตามปกติลูกค้ามักจะต้องเลือกดูเนื้อผ้าก่อน เมื่อรู้ในจุดนี้จึงได้ทำการเพิ่มข้อมูลทั้งในส่วนของรายละเอียดเนื้อผ้า และตัวอย่างการทำเป็นผลิตภัณฑ์ นอกจากนั้นยังมีส่วนที่ให้ลูกค้าสามารถขอชิ้นส่วนตัวอย่างผ้าไปส่งถึงที่ได้ รวมถึงเปิดให้ลูกค้าสามารถเข้ามาเลือกดูผ้าที่โรงงานได้อีกด้วย 

การเป็นตัวกลางเชื่อมโยงทุกฝ่าย สิ่งสำคัญคือ ความเชื่อใจ และการเข้าถึงง่าย ต้องสร้างความมั่นใจให้กับทุกฝ่าย เข้าถึงแบรนด์ได้สะดวก รวดเร็ว และง่ายที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการเข้าถึงผ่านทางเว็บไซต์ ติดต่อผ่านทางโทรศัพท์ หรือทางไลน์ของทางแบรนด์

เพราะมีหลากหลายช่องทางให้เข้าถึงง่าย ทำให้ได้รับความสนใจจากทางลูกค้าเป็นอย่างมาก โดยจุดหนึ่งที่ช่วยแก้ปัญหาตอบโจทย์จนได้ใจลูกค้า คือ คนทำแบรนด์เสื้อผ้า SME เพราะว่าเวลาสั่งวัตถุดิบส่วนมากต้องมีขั้นต่ำ ซึ่งไม่ใช่ SME ทุกคนจะสามารถสั่งผ้าจนถึงขั้นต่ำไหว ทาง Moreloop จึงเป็นตัวเชื่อมโยงเพื่อให้ร้านค้าเข้าถึงแหล่งวัตถุดิบคุณภาพดีได้ โดยไม่ต้องคำนึงเรื่องปริมาณการสั่ง
.
สรรค์สร้างอย่างสร้างสรรค์
นอกจากเป็นแพลตฟอร์มการขายผ้าแล้ว ทางแบรนด์ก็ยังมีช่องทางสร้างรายได้ จากผลิตภัณฑ์ในแบรนด์ “Moreloop” เป็นของตัวเอง โดยเน้นไปที่การผลิตเสื้อผ้ายั่งยืนหรือของใช้ที่ทำมาจากผ้าเหลือใช้ ทั้งยังมีการร่วมงานกับเหล่าดีไซน์เนอร์เพื่อเพิ่มความหลากหลายให้กับผลิตภัณฑ์
.
ปรับตัวอยู่กับ Next Normal

สถานการณ์โควิด-19 เป็นสิ่งที่ต้องเผชิญกันทั่วหน้า ทางแบรนด์ก็ได้มีการปรับตัวเช่นกัน โดย เน้นไปทางการทำสินค้าขายปลีก เช่น ทำหน้ากากผ้า หรือพัฒนามาทำเสื้อ Zerospace ที่เป็นชุด PPE แบบเล็ก เพื่อสวมใส่ออกไปนอกบ้าน นอกเหนือจากการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ทางแบรนด์ก็ได้ใช้เวลาในการพัฒนาระบบหลังบ้านของตัวเอง ให้หน้าเว็บไซต์ใช้งานได้ง่ายขึ้น มีฟังก์ชันที่ตอบสนองลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น 

 Moreloop ไม่หยุดแต่เพียงเท่านี้ ยังคอยส่งไอเดียของตัวเองไปประกวดในหลายๆ ที่ เป็นการวางแผนอนาคตของแบรนด์ให้สามารถปรับตัว และโตไปกับ Next Normal ต่อไปได้

.

มุ่งสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)

ความตั้งใจสูงสุดของ Moreloop คือการหมุนเวียนทรัพยากร เน้นการใช้สิ่งของที่เหลือและไม่ผลิตของใหม่ ด้วยคตินี้ทำให้ทางแบรนด์ช่วยทำให้โรงงานผ้าเกิดรายได้จากการขายผ้าเหลือ และได้ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมไปควบคู่กัน เมื่อไม่ผลิตของใหม่ ก็ทำให้ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ อีกทั้งความใส่ใจของแบรนด์ที่ตระหนักถึงเรื่องนี้ ทำให้ทุกๆ ผลิตภัณฑ์ของ Moreloop จะผ่านการคำนวณเรื่องขั้นตอนที่ไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อมมาทั้งหมด โดยปัจจุบันทางแบรนด์สามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไปได้ถึง 420 ตันต่อปี และมีเป้าหมายภายในปี 2024 คือ ช่วยลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 1,000 ตันต่อปี

.

Moreloop Happy Loop

พลังบวกในการทำธุรกิจของ Moreloop ที่ทำให้แบรนด์มีกำลังใจในการเดินต่อในเส้นทางนี้ คือ คำตอบรับจากทั้งคู่ค้าและลูกค้า คู่ค้าได้ขอบคุณ Moreloop ที่ช่วยเพิ่มรายได้ให้เข้ามามากขึ้น มีความสุขที่ได้ทำงานร่วมกัน ส่วนลูกค้าก็มีบางคนที่ชอบ ผลิตภัณฑ์ของ Moreloop และยกให้เป็นแบรนด์โปรด หรือแม้กระทั่งลูกค้าที่ซื้อผ้า แล้วนำไปใช้ในการประกวดที่เกี่ยวกับเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน ได้ชนะการประกวดและถูกติดต่องานไปขายที่ต่างประเทศ ทางแบรนด์ก็ดีใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในความสำเร็จของลูกค้า เปรียบเสมือนว่า แบรนด์สามารถแก้ปัญหาให้กับคนได้หลายๆ คน และยังมีความยั่งยืนเกิดขึ้นไปพร้อมกันด้วย

.

สามารถติดตาม Moreloop ได้ที่
Website: https://moreloop.ws/
Facebook: www.facebook.com/moreloopws/
Instagram: moreloop.ws
Line: @moreloop
Tel: 081-559-9855
Email: contact@moreloop.ws

 

สำหรับช่องทาง SME ONE เพิ่มเติม
Facebook: SMEONE
Youtube: SMEONE
Line: @smeone

บทความแนะนำ

Getnature ธรรมชาตินิรันดร์ในเครื่องประดับ

จากศิลปะเรซิ่นทำมือชิ้นเล็กๆ ในงานออกร้านของมหาวิทยาลัย พัฒนามาเป็นจุดเริ่มต้นของธุรกิจออนไลน์ Getnature เครื่องประดับ ของขวัญ และของตกแต่ง จากดอกไม้ธรรมชาติ และต่อยอดสู่การรวบรวมผู้เชี่ยวชาญในสายงานคราฟต์ มาเปิดคลาสสอนงานฝีมือออนไลน์ในชื่อว่า Handexp.com 

.

เก็บเสน่ห์ธรรมชาติไว้ใกล้ตัว

จากความรู้ความสนใจในการทำดอกไม้แห้ง สู่ไอเดียที่จะทำผลิตภัณฑ์ที่สามารถเก็บรักษาความงามจากธรรมชาตินี้ไว้ให้คงอยู่นิรันดร์ วัตถุดิบดอกไม้ที่ทาง Getnature คัดสรรนำมาเป็นส่วนประกอบนั้นจึงไม่ได้มีเพียงแต่ความสวยงามของดอกไม้ที่นำมาใช้ แต่ล้วนต้องมีความหมายที่ดีในตัวเองด้วย การนำดอกไม้มาใช้ในงานเรซิ่น ต้องมีความรู้ ความเข้าใจในธรรมชาติของดอกไม้แต่ละชนิด รวมถึงความใส่ใจในขั้นตอนรายละเอียดอย่างแท้จริง เพื่อให้ดอกไม้ได้ผ่านกระบวนการทำดอกไม้แห้งที่เหมาะสมในแต่ละดอก ก่อนที่จะหยิบมาใช้สร้างสรรค์ผลงาน 

ผลิตภัณฑ์ของ Getnature จึงมีเอกลักษณ์และดูสดใหม่เหมือนหยุดเวลาของดอกไม้เอาไว้ให้คงความสดใสเหมือนยังอยู่ในธรรมชาติ ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่ถูกปล่อยออกมาในแต่ละช่วง จะเกี่ยวข้องกับฤดูกาลของดอกไม้แต่ละชนิด Collection ต่าง ๆ จึงถูกคิดและออกแบบมาด้วยความพิถีพิถัน เอาใจใส่ เพื่อให้ผลิตภัณฑ์แต่ละชิ้นมีความเป็นเอกลักษณ์ ซึ่งมีคำที่ใช้เรียกกันในแบรนด์ว่า ฤดูดอกไม้ ฤดูปล่อยของ

ดอกไม้ที่ทางร้านนิยมนำมาใช้ เป็นดอกไม้ที่มีปลูกในประเทศไทย สีสันสวยงาม และมีความหมายในทางที่ดี โดยสามารถถือเป็นการใช้ธรรมชาติบำบัด ตัวอย่างดอกไม้ที่ได้รับความนิยม ได้แก่ ดอกเอมมี่มาจัส คือ ดอกไม้แห่งความมีเสน่ห์, ดอกไฮเดรนเยีย คือ ดอกไม้แห่งความมั่งคั่งร่ำรวยและความอุดมสมบูรณ์ เพราะใช้ช่องทางออนไลน์เป็นหลัก แบรนด์จึงสามารถเข้าถึงผู้คนและได้รับความสนใจจากลูกค้าจากทั่วโลก โดยเป็นชาวต่างชาติประมาณ 70% และคนไทยประมาณ 30% นอกจากนี้ยังได้มีการร่วมงานกับดีไซเนอร์ชาวต่างชาติ โดยทางแบรนด์รับบทบาทเป็นผู้ผลิต เพื่อผลิตผลงานให้กับแบรนด์ในต่างประเทศ 

ในปัจจุบัน Getnature สามารถตอบโจทย์ลูกค้าที่ต้องการหาสินค้าเครื่องประดับตกแต่ง ของขวัญ และกำลังทำตลาดแตกออกไปในกลุ่ม Hi-end โดยเน้นไปที่การทำสิ่งของที่ตกแต่งบนโต๊ะอาหารสไตล์ยุโรป

แม้ว่าทางแบรนด์จะมีการใช้เครื่องจักรมาช่วยในการผลิต แต่ก็ยังไม่ใช่ทั้งหมด เพราะสำหรับงาน ฝีมือแล้ว ทุกชิ้นงานยังต้องใช้กำลังคนในการทำ ผลิตภัณฑ์ของทาง Getnature จึงเป็นงานหัตถศิลป์ที่ผสมผสานการใช้เครื่องจักรเข้าด้วยกันไว้อย่างลงตัว

.

ทำทุกก้าว ให้เป็นก้าวแห่งการเติบโต

Getnature เรียนรู้ที่จะไม่หยุดปรับตัว เพื่อเตรียมพร้อมกับทุกสถานการณ์ จากเดิมที่เคยไปออกตามงานแสดงสินค้าเล็ก ๆ ก็พยายามขยับขยายเดินหน้าสู่งานแสดงสินค้าที่ใหญ่ขึ้น และสุดท้ายคือกล้าที่จะก้าวออกไปสู่ตลาดต่างประเทศ เพราะทางแบรนด์ต้องการครองใจลูกค้าทุกกลุ่มให้ “เมื่อนึกถึงงานเรซิ่น ต้องนึกถึง Getnature”
.

ปรับตัวให้กับเข้ากับ New Normal

แม้ต้องพบเจอกับสถานการณ์วิกฤติโควิด-19 ทาง Getnature ได้พยายามปรับรูปแบบของผลิตภัณฑ์ขึ้นใหม่ เพื่อให้เข้ากับรูปแบบการใช้ชีวิตของผู้คนที่เปลี่ยนไปในสถานการณ์นี้ โดยจากเดิมที่เน้นผลิตสินค้ากลุ่มเครื่องประดับตกแต่ง แต่ปัจจุบันได้มีการพัฒนาแบรนด์ให้มาผลิตสินค้ากลุ่มตกแต่งบ้านเพิ่มเติม เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าส่วนมากที่จำเป็นต้องใช้ชีวิตอยู่บ้านมากขึ้น 

.

กักตัวแต่ไม่กักฝีมือ 

นอกจากนั้นยังมีอีกหนึ่งโปรเจกต์ที่ทางแบรนด์คิดขึ้นมาในช่วงสถานการณ์โควิด-19 คือการเปิดคลาสงานฝีมือออนไลน์ในชื่อ Handexp ซึ่งเป็นการรวบรวมผู้เชี่ยวชาญด้านงานฝีมือในอุตสาหกรรมเดียวกันมาสอนให้กับผู้ที่สนใจในงานฝีมือผ่านทางเว็ปไซต์ www.handexp.com

.

เห็นคุณค่าจากวัตถุดิบที่ถูกมองข้าม

สิ่งที่ทางแบรนด์มองไปในอนาคต คือการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ออกมา จากวัสดุทั่วไปที่คนไม่เห็นความสำคัญนำมาทำให้มีคุณค่ามากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการหยิบเศษแก้วที่แตก ถ่านหิน ชาโคล หรือเศษอัญมณีต่าง ๆ มาพัฒนาและสรรสร้างเป็นของตกแต่งใหม่ ๆ ให้เหล่านักสะสมผู้ชื่นชอบในงานฝีมือนี้ได้ติดตามกันต่อไป

.

ผู้ที่สนใจสามารถติดตาม Getnature ได้ที่
155/25 หมู่บ้าน นฤรัตน์ ต.ศาลายา อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม 73170
Tel: 098-196-9466
Email: getnature.house@gmail.com
Website: http://th.pinkoi.com/store/getnaturehouse
Facebook: https://www.facebook.com/getnature.house/

Instagram: getnature.house
Line: @getnature

สำหรับช่องทาง SME ONE เพิ่มเติม
Facebook: SMEONE
Youtube: SMEONE
Line: @smeone

 

บทความแนะนำ