ร้านบิ๊กเต้ จากโชห่วย สู่ค้าปลีกเพื่อชุมชน

ร้านบิ๊กเต้เป็นร้านโชห่วยเล็กๆ ตั้งอยู่ในแหล่งหอพักของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ความน่าสนใจของร้านบิ๊กเต้ไม่ได้อยู่ที่การตกแต่งหน้าร้าน หรือการเลือกสินค้ามาวางจำหน่ายในร้าน หากแต่อยู่ที่วิธีการสื่อสารเพื่ออธิบายคุณสมบัติหรือวิธีการใช้งานของสินค้าให้กับลูกค้าในร้านที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว จนเมื่อสื่อโซเชียลมีเดียได้รับความนิยม ร้านบิ๊กเต้ก็มีแฟนคลับทั้งจาก Facebook, Instagram และ Twitter ร่วมแสนคนจากทั่วประเทศ แม้ว่าหลายคนจะยังไม่มีโอกาสมาซื้อสินค้า

ถึงวันนี้ เต้-ศตวัสส์ ฝ่ายรีย์ เจ้าของร้านบิ๊กเต้ มองว่าร้านบิ๊กเต้สามารถเป็นมากกว่าร้านโชห่วยทั่วไป คือเป็นทั้งมีเดียในการโฆษณาสินค้า หรือแม้กระทั่งเป็นร้านค้าชุมชน เป็นพื้นที่สร้างงานและรายได้ให้กับคนที่เดือดร้อนจาก COVID-19

 

SME One : จุดเริ่มต้นของร้านบิ๊กเต้ เกิดขึ้นมาได้อย่างไร

ศตวัสส์ : จุดเริ่มต้นของธุรกิจมาจากแม่ยายแนะนำว่าเจอร้านโชห่วยที่กำลังจะเซ้งธุรกิจอยู่ในทำเลที่ดี ใกล้ ๆ ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต พอได้มาดูทำเลก็สนใจ เพราะอยู่ใกล้กับมหาวิทยาลัยแล้วก็มีหอพักหลายอาคาร ร้านโชห่วยนี้อยู่ในหอพักก็คิดว่าน่าจะพอจะทำธุรกิจได้ นี่คือจุดเริ่มต้นเลยจริงๆ

ก่อนหน้าที่จะมาเซ้งร้านก็เป็นพนักงานกินเงินเดือน และใช้เวลาว่างหลังเลิกงานทำร้านอาหารเล็ก ๆ เป็น Kiosk ก่อนจะออกมาขายอาหารเต็มตัว จนได้มาทำร้านขายของก็เลยต้องหยุดทำร้านอาหารไป เพราะว่าอยู่ค่อนข้างไกลกันต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อเปรียบเทียบแล้วร้านอาหารที่ทำเป็นร้านแบบ Kiosk มองแล้วว่าไม่สามารถเติบโตได้ แต่ร้านโชห่วย

คิดว่าเป็นธุรกิจที่โตกว่าเดิม ก็ถือว่าเป็นการขยับขยาย

 

SME One : วันที่เซ้งร้านมองเห็นโอกาสจากธุรกิจอย่างไร เพราะตลาดร้านสะดวกซื้อมีการแข่งขันรุนแรง

ศตวัสส์ : เนื่องจากวันที่เข้ามาในธุรกิจนี้ เข้ามาแบบที่ไม่มีความรู้ใด ๆ เลย เข้ามาแบบความรู้เป็นศูนย์ ตอนนั้นมองว่าขายของไม่น่าจะยาก คิดแบบนี้จริง ๆ ว่าแค่ซื้อมาแล้วก็ขายไป อันนั้นคือการมองในแว็บแรก แต่ก็ปรากฏว่าตอนต่อมาสิ่งที่มองมันผิด ร้านโชห่วยไม่ใช่แค่ซื้อมาขายไป

พอได้ลงมือทำจริงๆ ช่วงแรกดราม่ามาก เพราะเราไม่มีประสบการณ์การขายเลย มันไม่ใช่ว่าของซื้ออะไรมาแล้วจะขายได้ ทำให้ในช่วงแรกต้องเรียกว่าขาดทุนอยู่หลายเดือนจนจะไม่ไหวแล้ว ก็เลยมานั่งคิดกันว่าเราพอจะปรับปรุงอะไรได้บ้าง  ปรับปรุงในที่นี้ คือปรับปรุงร้าน ปรับปรุงการทำงาน ปรับปรุงแนวคิด ก็เริ่มอันดับแรก ยังจำได้ดีเลย วันนั้นเริ่มจากเสิร์ชหาคำว่าโชห่วยในอินเทอร์เน็ต ที่เจอข้อมูลเยอะ ๆ ก็คือ Pantip.com ในเว็บบอร์ดจะมีคนพูดถึงร้านโชห่วยมากมาย เราก็เอามารวบรวมดูว่าคนพูดถึงโชห่วยในมุมไหนบ้าง มันก็แบ่งออกได้เป็น 2 หมวด ก็คือที่แบบที่ดี ที่รู้สึกประทับใจ กับที่ไม่ดี

แล้วเราก็มาดูว่าส่วนที่คนบ่นที่บอกว่าไม่ดีร้านเรามีแบบนี้บ้างไหม หรือว่าถ้าไม่ได้มีอะไรที่ไม่ดี เราจะป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบที่คนไม่ชอบได้อย่างไร ตัวอย่างเช่น ลูกค้าจะไม่พอใจถ้าไม่มีเงินทอน เงินทอนไม่พอ การได้มาศึกษาหาข้อมูลอย่างเป็นระบบมันช่วยได้ค่อนข้างเยอะทีเดียว ผลจากการศึกษาในครั้งนั้นทำให้เรารู้ว่าร้านมีจุดไหนบ้างที่ต้องปรับปรุง มีจุดไหนบ้างที่เราควรจะเอาอย่าง คือบางคนเขาก็จะมาแชร์ว่าร้านโชห่วยที่เขาประทับใจ เขาประทับใจตรงไหน แล้วเราก็ทำตาม อันนี้คือจุดที่เรียกว่าเป็นจุดพลิกของธุรกิจ จากที่เมื่อสักครู่นี้บอกว่าขาดทุนติด ๆ กันหลายเดือนจนเกือบจะเจ๊ง ก็พลิกกลับมามีกำไรได้

เราเคยทำอะไรแบบเรียกว่าพลาดแบบคนที่ไม่มีประสบการณ์ เช่น เคยมีเซลส์เข้ามาติดต่อวางขายแชมพูยี่ห้อหนึ่ง เป็นแชมพูที่คนรู้จัก เขามาบอกว่ามีแชมพูสูตรใหม่ออกมา แล้วก็ปกติแล้วแชมพูสูตรใหม่ก็จะมี Promotion เพื่อดึงดูดให้ร้านค้า ซื้อ เราก็สั่งเข้ามาตามโปรไม่ได้คิดอะไร ปรากฏว่าแชมพูตัวนั้นสั่งมาแค่ 12 ขวด 1 ปีขายไปได้แค่ขวดเดียว ทั้ง ๆ ที่เป็นยี่ห้อที่ Mass ยี่ห้อแบรนด์ดัง แต่ที่ขายไม่ออกก็เพราะลูกค้าเราเกือบจะ 100 เปอร์เซ็นต์เป็นนักศึกษา แต่แชมพูนี้เป็นสูตรผมดำ

อันนี้ก็เป็นบทเรียนว่ามันไม่ใช่ว่าอะไรก็ขายได้ เราจะต้องรู้ว่าลูกค้าเราคือใคร แล้วก็ลูกค้าเราเขาต้องการอะไร นี่คือเบสิกเบื้องต้น พอเราเริ่มเรียนรู้จากจุดผิดพลาดทั้งของตัวเองแล้วก็ของคนอื่น  เราก็ค่อย ๆ ปรับ ก็ค่อย ๆ พลิกมาจนเริ่มมีกำไร แล้วก็พออยู่ได้

 

SME One : ปัจจุบันร้านบิ๊กเต้มีอยู่ทั้งหมดกี่สาขา

ศตวัสส์ : มี 2 สาขา ซึ่งแม้ว่าจะอยู่ใกล้กันแต่กลุ่มลูกค้าก็ยังแตกต่างกัน เนื่องจาก 2 หอพักนี้ก็มี Target Group ที่ต่างกัน หอนึงจะเป็นหอแบบทั่วไป ส่วนอีกหอนึงคนที่อยู่จะค่อนข้างจะมีฐานะ เพราะค่าหอแพงคนที่อยู่ได้ก็ค่อนข้างจะมีฐานะ เพราะฉะนั้นของบางอย่างขายที่สาขานึงได้ อีกสาขานึงอาจจะขายไม่ได้ ในขณะที่บางอย่างสาขานึงขายได้ อีกสาขานึงขายไม่ได้ อย่างเช่นมีครั้งหนึ่งที่มหัศจรรย์ใจมาก คือเราซื้อน้ำแร่ขวดละร้อยกว่าบาทมาตั้งโชว์ในร้านเพราะขวดสวย ไม่ได้คิดจะขาย เพราะไม่คิดว่าจะมีคนซื้อ แต่เอาจริงๆ มีลูกค้าหลายคนถามว่าขายไหมเพราะอยากได้ อันนี้ก็เป็นความแตกต่างของในกลุ่มลูกค้าที่เราบอกว่าเป็นนักศึกษาเหมือนกันแต่ก็ยังมีความแตกต่างกัน

 

SME One : มาถึงไฮไลท์ที่ทำให้คนรู้จักเราเพิ่มขึ้น เราชอบใช้แก๊กโปรโมทสินค้าที่อินกับกระแส ตรงนี้เกิดขึ้นมาได้อย่างไร

ศตวัสส์ : เกิดจากการที่เราต้องการสื่อสารกับลูกค้า Concept ไม่มีอะไรเลย คือชอบมีคนมาถามคำถามเดิมบ่อย ๆ แล้วร้านเรามี 2 สาขา เพราะฉะนั้นก็จะมีพนักงานประจำอยู่ที่ร้าน ซึ่งผมก็ไม่ได้อยู่ที่หน้าร้านอยู่ตลอดเวลา ซึ่งบางทีลูกค้ามีข้อสงสัย แต่พนักงานก็อาจจะตอบได้ไม่ลึกซึ้งมากพอ ดังนั้นก็เลยแก้ปัญหาด้วยการเขียนป้ายบอกไว้ อีกจุดนึงที่เป็นความแตกต่างของลูกค้าเรากับที่อื่น คือว่าลูกค้าเราส่วนใหญ่ที่เป็นนักศึกษาที่ไม่ได้อยู่กับคุณพ่อคุณแม่ ซึ่งถ้าเขาอยู่บ้าน เขาก็จะถามแม่ แต่พอมาอยู่หอไม่ได้อยู่กับพ่อกับแม่ เขาก็จะถามคนที่พอจะถามได้ ซึ่งก็คือเรา

เราเริ่มต้นจากการตอบคำถามที่เรียกว่า FAQ (คำถามที่พบบ่อย) เขียนป้ายแบบ FAQ ป้ายแรกที่เขียนคือ ป้ายวิธีใช้ผงสลายท่อตัน อันนี้เป็นป้ายแรกที่เกิดขึ้นในร้านซึ่งเป็นแบบวิธีใช้ธรรมดา เราบอกแค่ว่าเทลงไปแล้วก็เอาน้ำราด แต่พอเวลาผ่านไป เราก็มีพยายามแทรกมุขตลกอะไรไปเรื่อย จุดประสงค์ไม่มีอะไร ก็เพื่อให้ของมันดูน่าสนใจและขายได้

ตรงนี้ช่วยแก้ปัญหาการระบายสินค้าที่ซื้อมาแล้วขายช้าได้ด้วย เพราะสินค้าบางอย่างมันไม่ได้ขายได้ด้วยตัวมันเอง เราก็เลยจำเป็นที่จะต้องทำอะไรสักอย่างให้ของมันอยู่ในสายตาของลูกค้า สิ่งที่ตอบโจทย์ตรงนี้ก็คือป้าย  ซึ่งมันเหมือนกับมีพนักงานคอยมาเชียร์สินค้าตามห้าง ที่มาคอยเชียร์ว่าสินค้าตัวนี้มันดี มันจะทำให้ลูกค้ารู้สึกว่าน่าลอง ลองสักหน่อยก็ดี นี่คือฟังก์ชั่นของป้ายที่สื่อสารในลำดับถัดมา

SME One : มีวิธีรักษาระดับการสื่อสารไว้ในระดับไหนถึงจะพอดี ไม่ดูแรงเกินไป

ศตวัสส์ : เรามี Concept มีแนวของเราอยู่  คือในอินเทอร์เน็ตมันจะมีเรื่องดราม่ามาเรื่อย ๆ จากประสบการณ์เราเคยเขียนแซวที่เกี่ยวกับบุคคล เป็นความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ทีนี้คือพอเราเขียนแซวไป ตอนแซว Feedback ก็ไม่เลว แต่สิ่งที่ทำให้เราเสียใจก็คือ เวลาต่อมา 2 คนนี้เลิกกัน อันนี้ก็เป็นบทเรียนให้รู้ว่าเราจะไม่เขียนแซวเกี่ยวกับลักษณะความสัมพันธ์ของคน 2 คน เพราะว่าเขียนไปแล้ว ป้ายหรือว่าโพสต์มันจะอยู่ในอินเทอร์เน็ต แล้วถ้าวันหนึ่งคู่นี้เขากลับมาเห็นข้อความมันอาจจะทำให้เขาสะเทือนใจ อันนี้เรียกว่าเรามีบทเรียน แล้วเราก็ตั้งเกณฑ์ไว้ว่าเราจะไม่ทำแบบนี้ จะไม่เขียนป้ายในลักษณะนี้อีก

เราจะมีเป้าหมายของการเขียน Content คือต้องยอมรับว่าการที่เขียน Content ที่อิงกับกระแสมันได้ Engagement ที่ดี คนสนใจ แต่ว่าสิ่งที่เราพยายามจะทำให้มันเหนือไปกว่านั้น ก็คือพยายามที่จะให้ Content นั้น มีคนมาอ่านในเวลาต่อมาแล้วคนก็ยังรู้สึกว่ายังเข้าใจ หรืออินอยู่ อันนี้ก็เป็น Guideline ที่วางไว้ให้ตัวเอง เช่น เราเคยเขียนโพสต์ขายยางลบว่า “เขียนด้วยมือ อย่าลบด้วยเท้า พี่เต้มียางลบจำหน่าย” ซึ่ง Content นี้ ณ วันนั้นก็เขียนเพื่อจะแซวคน คนหนึ่ง แต่ว่าถ้ามาอ่านในปัจจุบันคนที่เห็นก็เชื่อว่าก็ยังจะเก็ทมุขนี้ แต่อาจจะไม่ได้เก็ทในบริบท ณ วันนั้นที่เป็น Viral หรือเป็นกระแสอยู่

เราอยากให้ Content มันแบบขำไม่ใช่เฉพาะเวลานั้น แต่ว่าจะต้องอยู่ได้ยาว อยากจะให้มีชีวิตที่ยาวกว่าเป็นไวรัลสั้น ๆ นี่คือแนวทางในการคิด Content 

 

SME One : ช่วง COVID-19 นักศึกษาก็เรียนออนไลน์ บางคนก็กลับไปอยู่บ้าน ร้านกระทบกระเทือนแค่ไหน

ศตวัสส์ : กระทบมากเลย COVID-19 เฟสแรกเรากระทบทันทีที่มหาวิทยาลัยประกาศให้เรียนออนไลน์ ยอดขายเราลดลงเหลือประมาณ 25% ประกอบกับสถานการณ์ความไม่แน่นอนของสิ่งที่เราไม่รู้จักมาก่อน ชีวิตนี้เราไม่เคยเจอโรคระบาด ก็ไม่รู้ว่าในอนาคตสภาพมันจะเป็นอย่างไร ดังนั้นเราก็มานั่งวางแผนว่าจะทำอย่างไรดี เรามองไปถึง Worst Case คือ กรณี Failed State กรณีที่รัฐล้มเหลว เราจะทำอย่างไร ซึ่งมันก็ยังไม่ถึงขั้นนั้น 

ทีนี้เราก็จะแบ่งการแก้ปัญหาออกเป็นขั้นๆ ไป ว่าถ้ามาถึงขั้นนี้แล้วเราต้องทำแบบนี้ ในช่วงแรกสิ่งที่เราทำทันที คือลดค่าใช้จ่าย ตอนแรกเรามองว่าอาจจะต้องไปนั่งเฝ้าร้านเองแทนพนักงาน แต่ก็มีเหตุที่ทำให้เราต้องเปลี่ยนใจ เพราะว่าทันทีที่มีการล็อกดาวน์ ปรากฏว่ามีน้อง ๆ จำนวนมากเลยที่ติดต่อเข้ามาถามว่ามีงานให้ทำหรือไม่ คือหลายคนน่าเห็นใจมาก มีคนหนึ่งที่เราจำได้ดีเลย คือเขาเล่าให้ฟังว่าคุณพ่อเขาเป็นไกด์ แล้วก็คุณพ่อก็เป็นคนที่ทำงานหาเงินคนเดียวในบ้าน คุณพ่อตอนนั้นไม่มีงานทำแล้ว เขาก็เลยอยากจะทำงานเพื่อช่วยค่าใช้จ่ายที่บ้าน อันนี้เป็นตัวอย่างแค่คนเดียว ยังมีเคสอื่น ๆ มากมายที่ทำให้เราคิดว่าการลดค่าใช้จ่ายในการจ้างคน เราคงทำไม่ได้ เพราะว่าน้อง ๆ พนักงานก็ต้องการเงินเหมือนกัน เราก็เลยไปลดค่าใช้จ่ายทางอื่น ก็คือปิดแอร์ในร้าน ซึ่งตรงนี้เราก็เขียนคำอธิบาย เขียนป้ายเอาไว้เพื่อบอกลูกค้าตรง ๆ ว่า ช่วงนี้ยอดขายตกจำเป็นที่จะต้องขอปิดแอร์เพื่อลดค่าใช้จ่าย เราก็ดีใจที่มีลูกค้าเข้าใจ พนักงานหน้าร้านเล่าให้ฟังว่า ลูกค้าบางคนมาอ่านป้ายแล้วก็หันมาบอกให้กำลังใจพนักงานว่า “สู้ ๆ นะครับ” 

จากเดิมที่เคยคิดว่าจะลดค่าใช้จ่ายในส่วนพนักงานก็เปลี่ยนมาเป็นค่าใช้จ่ายในส่วนอื่น ๆ อย่างเช่นหลัก ๆ เลยเนี่ย คือค่าไฟที่ร้าน เนื่องจากว่าเราเปิดแอร์ตลอดเวลาที่เปิดร้าน พอปิดแอร์ค่าใช้จ่ายส่วนก็เลยลดไปได้เยอะอยู่เหมือนกัน อันนี้ก็ส่วนหนึ่ง 

อีกส่วนหนึ่งเรียกว่าเราโชคดีแล้วกัน เราโชคดีอยู่ 2 เรื่อง เรื่องแรกก็คือ ปีที่แล้วมีแคมเปญชิม ช้อป ใช้ ซึ่งโครงการนี้ ทำให้เราพอจะมีเงินสดในมืออยู่จำนวนหนึ่ง โชคดีเรื่องที่ 2 ก็คือนอกจากเราประหยัดค่าไฟแล้ว เจ้าของหอที่เราเช่าก็ช่วยเรื่องลดค่าเช่าก็ช่วงพยุงเราไปได้หลายเดือนอยู่เหมือนกัน พอมาถึงเดือนสิงหาคมปี 2563 มหาวิทยาลัยเปิดเทอมก็เริ่มมีคนกลับมา ซึ่งเงินสดในมือของเราตอนนั้นเหลือใช้ถึงแค่เดือนกรกฎาคม ก็ถือว่าเฉียดฉิวมาก

พอเราโชคดีที่ได้รับความช่วยเหลือจากเจ้าของหอ ตอนนั้นก็เลยคิดว่าเราก็อยากจะส่งความโชคดีนี้ไปให้คนอื่นที่เขาตัวเล็กกว่าเรา ช่วงนั้นเป็นที่ทราบกันดีว่าคนได้รับผลกระทบเรื่องงานจำนวนมาก เราก็เลยพยายามที่จะเปิดรับสินค้าฝากขายที่เป็นสินค้าโฮมเมด เล่าให้ฟังก่อนว่าปกติเรามีรับเฉพาะสินค้าโฮมเมดของนักศึกษาธรรมศาสตร์มาวางขายเท่านั้น 

เราตัดสินใจว่าเราคงจะช่วยได้ในมุมนี้ ก็เลยเปิดรับสินค้าที่เอามาฝากขายแบบที่เราพอจะเป็นหน้าร้านให้ได้ ซึ่งในช่วงนั้นก็มีคนติดต่อเข้ามาเพื่อขอฝากขายที่ร้านวันหนึ่งประมาณ 5 เจ้า ทุกวัน มีคนโทรเข้ามาทุกวัน คนที่โทรเข้ามาเขาก็เดือดร้อนและพยายามช่วยเหลือตัวเอง พยายามดิ้นรนหารายได้ ซึ่งหลาย ๆ เจ้าเราก็ไม่รู้จะช่วยอย่างไร เช่นเป็นสินค้าขนมโฮมเมดทองม้วนพื้นบ้านที่ติดต่อมาจากภูเก็ตเพื่อขอมาฝากวางขายที่ร้าน ดีลนี้ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ เพราะพอคุยลงไปในรายละเอียดแล้วเขาไม่สามารถส่งของจากภูเก็ตมาโดยที่ไม่แตกหักได้ หรือเป็นเคสเครื่องดื่มขวดแก้วที่ติดต่อมาจากจากเชียงใหม่ เชียงราย ซึ่งในทางปฏิบัติน่าจะมีปัญหาในการขนส่งก็เลยดีลกันไม่ได้

ส่วนเคสที่ประสบความสำเร็จก็มี เช่นมีขนมเบเกอรี บราวนี่ของเจ้าหนึ่งที่คนทำเป็นคุณแม่ฟูลไทม์ที่สามีโดน Layoff จากบริษัท แล้วก็สามีก็เป็นเสาหลักของบ้าน เพราะฉะนั้นภรรยาก็เลยต้องหารายได้ เพราะมีลูกเล็กด้วย ก็ติดต่อมาขอฝากขาย ทำบราวนี่มาขายที่ร้าน ครั้งแรกจำได้ว่าเอามาลง 10 กล่อง แล้วยอดขายก็ค่อย ๆ เติบโตขึ้นเรื่อย ๆ จนทุกวันนี้เนี่ยบราวนี่เจ้านี้มาลงทีครั้งละประมาณ 40 กล่องแล้ว ยังไม่รวมกับขนมอย่างอื่น มีเอแคลร์ มีทอฟฟี่เค้ก ซึ่งตรงนี้เราถือว่า Success Case ที่เราเห็นแล้วเราก็ดีใจที่มีส่วนช่วยในการเป็นหน้าร้านให้กับเจ้าเล็ก ๆ ที่เจอปัญหา

 

SME One : ที่ผ่านมาเคยเข้าไปขอคำปรึกษาจากหน่วยงานของภาครัฐบ้างหรือไม่

ศตวัสส์ : เราเคยเข้าไปขอคำปรึกษาจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เราเข้าไปอบรมสัมมนา และสมัครเข้าโครงการพัฒนาร้านค้าปลีก เราสมัครเข้าไปแล้วผ่านการคัดเลือก การที่เราทำร้านโดยที่ไม่มีความรู้เลย ตรงนี้ช่วยได้เยอะมาก ทางโครงการเขาจะมีทีมที่ปรึกษา ส่งทีมงานมาดูที่ร้านแล้วก็ให้คำแนะนำว่า ร้านของเราควรจะปรับปรุงตรงไหนอย่างเช่น เมื่อปีที่แล้วก็มีที่ปรึกษาเป็นอาจารย์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในโครงการของกระทรวงพาณิชย์ เข้ามาให้คำปรึกษาที่ร้าน ซึ่งตรงนี้ช่วยได้เยอะมากสำหรับคนที่ทำธุรกิจแบบลูกทุ่งอย่างเรา

 

SME One : ถ้าทุกอย่างกลับมาเป็นปกติจะขยายธุรกิจอย่างไร

ศตวัสส์ : มี 2 แนวคิด หนึ่งคืออยากจะขยายสาขา ซึ่งตรงนี้ก็ขึ้นกับเงินทุน การขยายสาขามันใช้เงินทุนค่อนข้างเยอะ กับอีกทางหนึ่ง คือเรามองไปถึงการต่อยอดธุรกิจไปทำในลักษณะอื่น ซึ่งจริง ๆ เราก็เริ่มทำมาสักพักแล้ว คือการ Tie-in สินค้าในโซเชียลมีเดียของเรา เหมือนเวลาที่ลูกค้าเข้าไปในซูเปอร์มาร์เก็ต เดิน ๆ อยู่ก็จะได้ยินเสียงตามสาย เสียงโฆษณาสินค้า ซึ่งเป็นที่ทราบกันว่าเจ้าของสินค้าที่โฆษณาต้องจ่ายเงินให้กับร้านเพื่อโฆษณาสินค้า หรือว่าตามร้านใหญ่ ๆ เขาจะมีการคิดค่าหัวชั้น ซึ่งการจะทำแบบนั้นได้มันจะต้องเป็นร้านที่ใหญ่ ๆ และมี Traffic มีจำนวนคนเดิน ถ้าเป็นร้านเล็ก ๆ อย่างร้านเราก็คงไม่มีใครมาสนใจจ้างแบบ หรือเราจะไปคิดค่าหัวชั้นเขาก็คงไม่เอา

แต่ว่าในปัจจุบันเราสามารถสร้าง Traffic แบบออนไลน์ได้ หมายถึงว่าถ้าเรามีร้าน เหมือนเป็นหน้าร้านที่เป็นออนไลน์ เราสามารถที่จะดึงดูดคนให้มาเห็นตัวสินค้า มาเห็นในร้านออนไลน์ที่ไม่ใช่มาจากทั่วประเทศ แต่มาจากทั่วโลกด้วยซ้ำ แล้วมันไม่มีข้อจำกัดในแง่ของหน้าร้านอีกต่อไป เรามองตรงจุดนี้ มองว่าถ้าเกิดว่าร้านใหญ่ ๆ เขาคิดค่าหัวชั้นเพื่อโฆษณาสินค้า ร้านเราก็สร้างเป็น Virtual Traffic ขึ้นมาบนร้านออนไลน์ของเรา เราก็น่าจะทำแบบนั้นได้เหมือนกัน ดังนั้นตอนนี้เราก็จะมีรับ Tie-in สินค้าซึ่งอยู่ในช่วงเริ่มต้น ก็เป็นวิธีนึงที่เราพยายามหารายได้เพิ่มซึ่งก็ยังไม่รู้ว่าผลจะเป็นอย่างไร แต่ก็คิดว่าอันนี้ก็เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่พอจะขยับขยายไปได้ โดยรายได้ส่วนนี้จะมาจากค่ามีเดียไม่ได้มาจากยอดขาย

 

SME One : จากนี้ไปอะไรคือความท้าทายของร้านบิ๊กเต้

ศตวัสส์ : ความตั้งใจของเรา คือเราตั้งใจว่าเราอยากจะเป็นร้านค้าชุมชน อยากได้รับการยอมรับให้เป็นส่วนหนึ่งของชุมชน ต้องบอกแบบนี้ว่าผมกับภรรยายังไม่มีลูก เพราะฉะนั้นเราก็ไม่ได้คาดหวังว่าจะต้องสร้างธุรกิจไว้เป็นมรดก คือเรื่องเงินอาจจะไม่ใช่เรื่องหลัก แต่ว่าสิ่งที่คิดว่าอยากจะให้มันเกิดขึ้นในช่วงชีวิตของเรา ตอนที่เรายังทำงานได้ก็คืออยากจะได้รับการยอมรับว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของคนแถวนี้ อย่างเช่น นักศึกษาธรรมศาสตร์ถ้านึกถึงโชห่วย ต้องนึกถึงร้านบิ๊กเต้ คือมีอะไรก็ขอให้นึกถึงเรา อันนี้ถ้าเกิดทำได้ก็ถือว่าเราประสบความสำเร็จทางธุรกิจแล้ว

 

SME One : ถ้าอยากให้คุณเต้ช่วยให้คำแนะนำกับคนที่อยากจะเปิดร้านโชห่วยจะให้คำแนะนำอะไรดี

ศตวัสส์ : อยากให้เรียนรู้จากสิ่งที่เราเคยพลาดมา เพราะว่าเรายังรู้จักลูกค้าไม่ดีพอ เพราะฉะนั้นอันดับแรกอยากจะแนะนำว่าต้องทำความรู้จักลูกค้าซึ่งมันมีรายละเอียดเยอะขึ้นไปอีก ลูกค้าที่เรารู้จักในวันนี้อนาคตเขาก็อาจจะเปลี่ยนไป อธิบายให้เห็นภาพ ก็คือ เด็ก 10 ขวบถ้าได้เงินมา 100 บาท เวลาเดินเข้าร้านโชห่วยก็อาจจะซื้อขนม พออายุ 20 ปีมีเงิน 100 บาทเดินเข้าร้านโชห่วยก็อาจจะไม่ได้ซื้อของแบบเดิมอีกต่อไปแล้ว ต่อไปถ้าอายุ 30 ปีก็จะไม่ได้ซื้อของแบบเดิมอีกเหมือนกัน เพราะฉะนั้นพอเราทำความรู้จักกับลูกค้าแล้วเราต้องหมั่นอัพเดตด้วย ไม่ใช่ว่าพอได้ข้อมูลมาแล้วจะเป็นอย่างนั้นไปตลอดกาล ยิ่งสมัยนี้ กระแสอะไรต่าง ๆ มันมาเร็ว เรียกว่าต้องอัพเดตกันแบบวันต่อวัน

เรื่องที่ 2 ก็คือต้องทำใจยอมรับข้อวิจารณ์ ข้อเสียของตัวเรา ของธุรกิจเราให้ได้ แล้วเอามาปรับปรุง อย่าลืมว่าความเห็นหรือข้อตำหนิของลูกค้า คือข้อมูลที่สำคัญที่สุด ที่ทำให้เรารู้ว่าจะต้องปรับปรุงตรงไหน อย่างไร

 

บทสรุป

ความสำเร็จของร้านบิ๊กเต้อยู่ที่การรับฟังความต้องการของลูกค้าแล้วนำข้อมูลดังกล่าวมาปรับปรุงธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นการเลือกสินค้าที่ตรงกับความต้องการมาขาย หรือเพิ่มการให้บริการใหม่ๆ ที่สร้างความสะดวกสบายกับลูกค้า เช่นการเขียนป้ายอธิบายสรรพคุณ หรือวิธีการใช้งาน ซึ่งในเวลาต่อมาป้ายโฆษณาดังกล่าวได้พัฒนาจนกลายมาเป็นเครื่องมือสื่อสารที่ทรงประสิทธิภาพ สามารถกระจายไปสู่คนทั่วประเทศได้ 

จากร้านโชห่วยเล็กๆ ใต้หอพัก ร้านบิ๊กเต้จึงกลายเป็นออนไลน์ มีเดียที่หลายแบรนด์เลือกใช้เป็นช่องทางในการโปรโมทสินค้า

บทความแนะนำ

บิ๊กซ้ง ซุปเปอร์สโตร์ จากธุรกิจครอบครัวสู่ห้างท้องถิ่นใน จ.สมุทรสาคร

ตลาดค้าปลีกในประเทศไทยมีมูลค่ากว่า 3.6 ล้านล้านบาท ในจำนวนนี้จะมีผู้ประกอบการค้าปลีกรายใหญ่ เช่นกลุ่มเซ็นทรัล, เดอะมอลล์, ซีพี, BJC ที่มีส่วนแบ่งตลาดรวมกันประมาณ 32% อีกส่วนที่น่าสนใจก็คือ
กลุ่มผู้ประกอบการที่เรียกว่า Local Modern Trade หรือผู้ประกอบการค้าปลีกท้องถิ่นที่กระจายอยู่ทั่วประเทศไทย กลุ่มผู้ประกอบการเหล่านี้มีตั้งแต่ขนาดกลางไปจนถึงขนาดใหญ่ มีรายได้ตั้งแต่หลักร้อยล้านไปจนถึงหลายพันล้านบาทต่อปี นอกจากเรื่องยอดขายแล้วอีกหนึ่งหน้าที่ของ Local Modern Trade ก็คือการรักษาสมดุลย์ให้ตลาดค้าปลีกไทยไม่ผูกขาดโดยใครคนใดคนหนึ่ง ซึ่ง “บิ๊กซ้ง ซุปเปอร์สโตร์” ร้านค้าปลีกเก่าแก่ในจังหวัดสมุครสาครก็เป็นหนึ่งในนั้น 

วันนี้ คุณฉัตรชัย ทิพยทยารัตน์ ทายาทรุ่นที่ 3 ของ บิ๊กซ้ง ซุปเปอร์สโตร์ จะให้สัมภาษณ์แนวคิดในการดำเนินธุรกิจที่มีตั้งแต่รุ่นอากงจนถึงปัจจุบัน รวมระยะเวลากว่า 50 ปี

 

SME One : ร้านบิ๊กซ้งเกิดขึ้นมาได้อย่างไร

ฉัตรชัย : บิ๊กซ้ง เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2516 เป็นธุรกิจครอบครัวหรือกงสี มาตั้งแต่รุ่นอากง “บิ๊กซ้ง” บุกเบิกจากตึกแถวในตลาดเปิดเป็นร้านขายส่งเล็ก ๆ หรือที่เรียกว่ายี่ปั๊ว ดำเนินกิจการเรื่อยมาเป็น 10 ปีจนกระทั่งกิจการไปในทิศทางที่ดีขึ้น
จึงซื้อที่ดินเพิ่มทำเป็นโกดังเก็บสินค้า ต่อมารุ่นที่ 2 คือ อาแปะ อาป๊า หม่าม้าและอาโกวที่คอยสนับสนุน “อาแปะ” จะเรียกว่าเป็นหัวเรือหลักในการทำธุรกิจต่อจากรุ่นแรก พอมารับช่วงต่อก็เริ่มมีการเพิ่มพื้นที่การขาย คือแต่เดิมเราทำขายส่ง จะมีกลุ่มลูกค้าที่เข้ามาแล้วอยากได้สินค้าแพ็คเล็กมากขึ้น เราก็ตอบสนองตรงนี้ จึงเริ่มจากมีการวางขายสินค้าชนิดปลีกให้เป็นระบบระเบียบมากขึ้น
และนำเอาเครื่องมือที่ทันสมัยเข้ามาใช้ เช่น ระบบ POS เป็นระบบจัดการหลังร้าน ในรุ่นที่สองจะเริ่มทำทั้งค้าปลีกแบบซูเปอร์มาร์เก็ต และค้าส่งแบบยี่ปั๊วไปพร้อมกันอีกด้วย

พอมาถึงรุ่นผมที่เป็นรุ่นที่ 3 ได้เข้ามามีส่วนช่วยกิจการครอบครัวในช่วงปี พ.ศ.2561 - ปัจจุบัน บิ๊กซ้งได้เปลี่ยนจากยี่ปั๊วที่ขายปลีกด้วยมาเป็นซูเปอร์มาร์เก็ตแบบเต็มรูปแบบ ซึ่งตอนที่รุ่นที่ 2 ทำก็เกือบจะสมบูรณ์แล้ว ผมเข้ามาปรับปรุงในส่วนการจัดร้านให้เป็นระบบและเพิ่มความสะดวกสบายให้ลูกค้ามากขึ้น และจัดเก็บฐานข้อมูลที่จำเป็นจากหลังร้านเพิ่มขึ้นเท่านั้นเอง

 

SME One : สัดส่วนการขายค้าปลีกกับค้าส่งเป็นอย่างไร

ฉัตรชัย : รุ่นอากง สัดส่วนระหว่างค้าปลีกกับค้าส่ง แทบจะเรียกว่าเป็นค้าส่ง 100% โดยในช่วงต้นของการทำธุรกิจ
จะเน้นค้าส่ง จนมาถึงในช่วงท้ายของรุ่นอากงก็คิดว่าน่าจะเป็นสัดส่วนค้าส่งประมาณ 80% และค้าปลีก 20% แต่พอถึงรุ่นที่ 2 ได้เปิดหน้าร้านเพื่อทำค้าปลีกเพิ่มขึ้น และในถึงปัจจุบันสัดส่วนค้าปลีกก็น่าจะมากกว่า 90% แล้ว ซึ่งในความเป็นจริงแล้วนั้นการวัดสัดส่วนค้าปลีกและค้าส่งจะเป็นไปได้ยาก เพราะถึงแม้ว่าบิ๊กซ้งจะจัดร้านแบบค้าปลีก แต่ด้วยความที่เราขายราคาส่ง เพราะฉะนั้นก็จะมีคนเข้ามาหยิบน้ำมันพืชครั้งละ 3 ลัง 5 ลังก็ยังมีไม่น้อย เพียงแต่เราเปลี่ยนรูปแบบและให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการอยู่กับที่เพื่อเอื้อให้ลูกค้ามาเดินเลือกซื้อสินค้าภายในร้านด้วยตนเอง  จริงๆเรียกบิ๊กซ้งว่าเป็นร้านค้าปลีก ก็ไม่ถูกทีเดียวนะ ต้องเรียกว่าเป็นซูเปอร์มาเก็ตค้าส่งน่าจะเหมาะสม

 

SME One : การเข้ามารับช่วงเป็นรุ่นที่ 3 อะไรต้องสร้างเพิ่ม

ฉัตรชัย : สร้างความเชื่อครับ ตรงนี้คือสิ่งที่คนรุ่นผมมองว่าเป็นจุดเปลี่ยน เพราะเราต้องพิสูจน์ผลงานจริงๆ ถามว่ายากหรือเปล่า ผมเชื่อว่ายากหมด เพราะมันต้องอาศัยความเข้าใจ อาศัยช่วงจังหวะชีวิตที่มันดีด้วย แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือ เราต้องให้ความสำคัญให้ถูกทาง ถามว่าการเข้ามารับช่วงต่อต้องพัฒนาส่วนไหน ส่วนตัวมองว่า เดิมทีเคยคิดว่าธุรกิจที่บ้านเป็นอะไรที่ทำยากแล้วก็ไม่น่าทำ ขายของได้กำไรนิดเดียว แล้วต้องยกของ ต้องส่งของ ต้องรับสาย มันเป็นอะไรที่เด็กรุ่นใหม่ดูแล้วมันก็ยาก จุดที่เราต้องเปลี่ยนจุดหนึ่งคือเราต้องคิดว่าเราชอบอะไร แล้วธุรกิจเราจะดำเนินไปได้ตามที่เราคิดชอบแบบนั้นได้รึเปล่า เอาความฝันของเรามารวมและจินตนาจาร แต่ว่ามันต้องอยู่ในพื้นฐานของความเป็นไปได้ด้วยนะครับ และก็พื้นฐานของระยะเวลาที่เราสามารถที่จะทำได้ด้วย

สิ่งที่เราฝันไว้มีมากกว่านี้ และเราก็ได้ขยับเข้าใกล้สิ่งที่เราฝันขึ้นเรื่อยๆ คือมองว่าในยุคของเรา เราอยากจะทำให้ร้านของครอบครัวให้น่าเข้าหา เป็นซูเปอร์มาร์เก็ตค้าปลีกค้าส่งที่มีคนเข้ามาแล้วก็สามารถที่จะเดินไปหยิบสินค้าได้อย่างสะดวกสบาย ตอนเด็กๆเวลามีลูกค้าเดินเข้าร้านมา จะจำได้ว่าต้องเดินมาหาเราก่อน ต้องสั่งของกับเรา และเราก็จะเป็นคนหยิบหรือบอกให้พนักงานไปหยิบอีกทีหนึ่ง เพราะว่าเราวางของไม่ได้เป็นระบบระเบียบมาก ต่อมาร้านก็เริ่มได้รับการพัฒนาจากรุ่นสอง และส่งต่อมาที่รุ่นเราพัฒนาต่อ หน้าที่หลักของเราก็คือพัฒนาต่อแหละครับ จนสามารถพัฒนาจนลูกค้าที่เดินไม่ต้องมาหาเราเหมือนก่อนๆ เข้ามาในร้านสามารถที่จะรู้ได้เลยว่า ต้องเดินไปตรงไหนเพื่อหยิบสินค้าอะไร รู้สึกไม่กดดันจากการที่เดิมเจ้าของร้านหยิบสินค้าให้ สามารถเลือกยี่ห้อ เลือกราคาได้ตามสะดวก นี่คือหนึ่งในหลายๆจุดที่ บิ๊กซ้ง ได้พัฒนามานะครับ และก็จะพัฒนาต่อไปครับ

ข้อได้เปรียบของร้านเรา ก็คือจากเดิมที่เป็นร้านค้าส่ง ทำให้ไม่ต้องกังวลเรื่องการจัดหาสินค้า เราใช้พื้นฐานที่มีอยู่แล้วพัฒนาและเพิ่มจำนวนสินค้า (Stock Keeping Unit : SKU) เพิ่มความหลากหลายให้มากยิ่งขึ้น จากเดิมที่มีสินค้าจำหน่ายอยู่ประมาณหลักร้อย ปัจจุบันทางร้านได้คัดสรรสินค้าคุณภาพมากว่า 20,000 SKU มาจำหน่ายแล้ว

ทุกวันนี้ บิ๊กซ้ง ซุปเปอร์สโตร์ มีทั้งหมด 4 สาขา คือ มหาชัย บ้านแพ้ว เอกชัย และพระราม 2 โดยมีสาขาใหญ่ 2 สาขา พื้นที่ขายรวมกันประมาณ 5,000 ตารางเมตร แล้วก็บวกอีก 2 สาขาย่อย สาขาละประมาณ 1,000 ตารางเมตร ก็รวมเป็น 7,000 ตารางเมตร

 

SME One : ปัจจุบันมีร้านเก่าแก่หลายร้านที่ทำธุรกิจต่อไปไม่ไหว คิดว่าจุดอ่อนของร้านโชห่วยหรือร้านยี่ปั๊วของไทยคืออะไร 

ฉัตรชัย : พูดในมุมมองส่วนตัว จุดที่จะทำให้ไปต่อได้หรือไม่ อาจจะเป็นเรื่องรอยต่อในการดำเนินธุรกิจระหว่างรุ่น ยกตัวอย่างเช่น รุ่นก่อนเราเตรียมพร้อมและยอมรับในการที่จะให้เข้ามาปรับเปลี่ยนได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งประเด็นเหล่านี้ก็จะส่งผลถึงรุ่นเรา ผมโชคดีที่รุ่นก่อนผมยอมรับ รับฟัง และพร้อมส่งเสริมเสมอ สิ่งเหล่านี้จึงเปรียบเสมือนพลัง แรงผลักดันที่จะต่อยอดเนื้องานได้อย่างเต็มที่และรวดเร็ว แต่อย่างไรก็แล้วแต่เราก็ต้องมีหลักเหตุผลที่เพียงพอที่จะให้เขาเชื่อสิ่งที่เราทำเหมือนกัน และที่สำคัญมากสำหรับเรา คือการที่ได้รับโอกาส ใช้โอกาสนั้นสร้างความเชื่อมั่น ความเชื่อใจให้ได้

เมื่อไหร่ก็ตามที่เรามองเข้ามาในธุรกิจของตัวเอง เราก็จะเห็นจุดบกพร่องของธุรกิจ ในจุดดีอยู่แล้ว เราก็ต้องพัฒนาต่อไปให้ได้ เพราะฉะนั้นคนที่จะรับช่วงต่อจะต้องมองธุรกิจของตัวเองให้ออกก่อนว่าข้อดีข้อด้อยอยู่ตรงไหน ให้ความสำคัญให้ถูกจุดและถูกเวลาครับ

 

SME One : ทุกวันนี้บิ๊กซ้งรายล้อมไปด้วยค้าปลีกจากส่วนกลาง อะไรที่ทำให้เราแข่งขันได้ 

ฉัตรชัย : คิดว่าเป็นความเข้าใจในลูกค้าและการสร้างฐานลูกค้าให้มั่นคง เราได้รับความร่วมมือจากบริษัทคู่ค้า  (Supplier) ซึ่งมีความผูกพันกันอยู่ตั้งแต่รุ่นอากงก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้เราแข่งขันได้ บางบริษัทกับเราก็รู้จักกันมาอย่างยาวนาน เรามองว่า Supplier ทุกรายที่เข้ามาคือพันธมิตร คือทีมเดียวกัน ที่ต้องช่วยกันทำให้สินค้าออกไปสู่ตลาดให้ได้ เรามีพื้นที่ให้เขาจำหน่ายสินค้า เขาก็ต้องช่วยดูแลคุณภาพและราคาที่เหมาะสมให้เรา เราทำงานแบบพันธมิตร จากรุ่นสู่รุ่น บริษัทคู่ค้าถือว่าเป็นซัพพอร์ตส่วนตัวเราเอง เราก็ต้องไม่หยุดที่จะพัฒนาตนเอง ซึ่งในเรื่องของการทำความเข้าใจในความต้องการลูกค้า เราจะทำการบ้านโดยการสำรวจพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอย การหาข้อมูลภายใน รวมทั้งการพัฒนาในด้านอื่นๆอีกมากครับ

 

SME One : ทุกวันนี้ยังคงเสียเปรียบเรื่องอำนาจการต่อรองกับ Supplier เมื่อเทียบกับค้าปลีกรายใหญ่

ฉัตรชัย : แน่นอนอยู่แล้ว เราต้องเข้าใจตรงนี้ มันเป็นธรรมชาติ ใครที่ซื้อสินค้าจำนวนมากกว่าราคาที่ได้ต่อก็จะต่ำกว่าคนที่ซื้อในจำนวนน้อย ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาอยู่แล้ว แต่เราต้องเข้าใจตัวเองว่าเราสามารถทำอะไรได้ ต้องดูว่าเราอยู่ตรงจุดไหน เรื่องของราคาถามว่าค้าปลีกรายใหญ่มีอำนาจต่อรองที่ดีกว่าเราใช่ไหม ก็ตอบว่าใช่ แต่ถามว่าเขามีปัจจัยในด้านการบริหารหรือค่าใช้จ่ายมากกว่าเราหรือเปล่า ก็ใช่อีก เพราะฉนั้นทุกอย่างมันมีช่องว่างของมันอยู่ อยู่ที่ว่าเราจะไปมองจากมุมไหน เพราะฉะนั้นเราก็สามารถเอาค่าบริหารซึ่งเรามีต้นทุนน้อยกว่าเอามาเป็นเติมเต็มในส่วนรายได้ก็ได้เหมือนกัน ผมถึงบอกว่ามันไม่ตายตัวว่าใครที่ได้สินค้าในราคาที่ต่ำกว่าหรือสูงกว่าแล้วจะสามารถอยู่ในตลาดได้ 

ส่วนทางบริษัทคู่ค้าของเองก็เชื่อว่าเขาก็ต้องหาช่องทางในการจำหน่ายมากที่สุดที่เขาจะทำได้อยู่แล้ว ซึ่งร้านค้าท้องถิ่นก็เป็นทางเลือกที่ดีที่จะเลือกเป็นในช่องทางจำหน่ายสินค้าช่องทางหนึ่งเช่นเดียวกัน 

ผมมองว่าร้านค้าท้องถิ่นสมัยใหม่จะต้องใช้ข้อมูลมาวิเคราะห์ ไม่ได้ใช้ความรู้สึก ยุคนี้ข้อมูลสำคัญมาก ต้องขยันดู ขยันเก็บ อย่างเช่นว่าการที่เราขายอะไรได้ ขายอะไรไม่ได้ สินค้าตัวนี้ที่สั่งมาประมาณการเท่านี้ ขายออกได้ในระยะเวลาเท่าไหร่ เรื่องพวกนี้อันนี้สำคัญมาก ๆ เพราะมันจะไปเกี่ยวพัน และมีผลโดยตรงกับผลประกอบการด้วย 

 

SME One : ทุกวันนี้ร้านค้าท้องถิ่นก็ยังสู้แบบมวยวัดใช้หรือไม่

ฉัตรชัย : ความเห็นส่วนตัวนะครับ จริงๆร้านค้าท้องถิ่นก็ไม่ใช่ขึ้นชกแบบไม่มีเชิงนะครับ ผมเชื่อว่าร้านท้องถิ่นก็มีเชิงครับ จริงๆแล้วต้องบอกว่า อย่าเอาร้านค้าท้องถิ่นไปขึ้นเวทีเลยจะดีกว่า ร้านค้าท้องถิ่นมีวิธีการของตัวเอง ไม่ได้หนี หรือจะต้องต่อสู้กับใคร แล้วก็ไม่คิดว่ามีใครตั้งใจมาสู้กับร้านค้าท้องถิ่น ต่างคนต่างมีช่องทางของตัวเองครับ ดังนั้นจะบอกว่าร้านค้าท้องถิ่นสู้แบบมวยวัดก็คงจะไม่ถูกต้องทีเดียว  

อย่างทุกวันนี้เราก็ไม่ได้ไปมองปัจจัยภายนอกในทางนั้น ใครจะมาเปิดกิจการคล้ายเรา ถามว่ารู้หรือไม่ ก็ตอบว่ารู้ แต่ว่าความหมายคือเราก็ไม่ได้ไปให้ความสำคัญขนาดนั้น เพราะแค่เราจะให้ความสำคัญในส่วนการพัฒนาต่อยอดของธุรกิจเราเอง ผมคิดว่ามันก็เพียงพอแล้ว ยังมีอะไรที่ต้องทำ ต้องพัฒนาอยู่อีกเยอะมากอยู่แล้ว พูดง่าย ๆ ก็คือเราแข่งกับตัวเองดีกว่า เราเน้นที่จะ ”บรรลุเป้าหมายของตัวเอง” มากกว่าที่จะต้องไปชนะใครดีกว่า 

 

SME One : COVID-19 ที่ผ่านมา บิ๊กซ้งเจอผลกระทบบ้างหรือไม่ แล้วแก้ปัญหาอย่างไร

ฉัตรชัย : โดยรวมจะกระทบทุกธุรกิจค่อนข้างแน่นอน จะมียกเว้นบ้าง แต่ซูเปอร์มาร์เก็ตถือว่าเป็นธุรกิจที่โชคดี เพราะว่าก็ไม่ได้ถูกปิดอะไร แต่ถามว่าการบริโภคของคนเปลี่ยนไปหรือเปล่า ก็ค่อนข้างที่จะเปลี่ยน ถามว่าซื้อของเยอะขึ้นรึเปล่า บริโภคเยอะขึ้นหรือไม่ ก็มีแบบซื้อเก็บ ซื้อตุน แต่ว่ายอดขายมันจะวิเคราะห์ได้ยากมาก เพราะมาๆ หายๆ แล้วกลุ่มสินค้าก็จะขายได้จะเป็นเฉพาะกลุ่ม ตรงนี้แหละที่เราต้องปรับตัว 

เพราะฉะนั้นถามว่ากระทบไหม กระทบแน่นอน แต่ว่าเมื่อไหร่ที่เรารู้ว่ากระทบอะไรอะ เราก็พยายามที่จะปิดตรงนั้นให้เยอะที่สุด เพื่อให้กระทบเราน้อยที่สุด

 

SME One : ที่ร้านมีการเอาระบบ Data ระบบ IT มาใช้ในการเก็บข้อมูลลูกค้าหรือสมาชิกหรือไม่

ฉัตรชัย : มีครับ เราได้นำเอาความเป็นเทคโนโลยีเข้ามาใช้งานบ้าง เรานำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ได้ เราเลือกใช้เฉพาะที่จำเป็นจริงๆ เข้ามาใช้งาน ต้องใช้ทรัพยากรเทคโนโลยีอย่างมีคุณค่าที่สุดครับ 

 

SME One : อยากให้ช่วยวิเคราะห์เหตุผลว่าทำไมลูกหลานที่เป็นคนรุ่นใหม่หลายคนปฎิเสธที่จะทำธุรกิจต่อจากรุ่นพ่อแม่

ฉัตรชัย : ผมมองว่าเป็นเรื่องปกติ มันอยู่ที่ตัวบุคคลด้วย อย่างธุรกิจของที่บ้าน ชอบไม่ชอบในตัวธุรกิจที่จะได้สืบสานหรือไม่ ผมโชคดีที่ที่บ้านจะบอกข้อมูลของธุรกิจมาโดยตลอด มีการคุยกัน สอบถามกันว่าอยากจะทำไหม แล้วรุ่นก่อนพยายามบอกปัจจัยว่ามันลำบากยากง่ายอย่างไร เรารับได้หรือไม่อย่างไร และวิธีการดำเนินต่อในมุมมองของรุ่นก่อนคืออะไร ถามว่าทำไมมีคนไม่อยากสืบทอดกิจการ คนที่เขามีความคิดแบบนี้ผมมองเป็นเรื่องธรรมดา เพราะผมมองว่าส่วนใหญ่การที่จะทำธุรกิจใดๆก็ตามให้ดำเนินไปได้ด้วยดีนั้นเริ่มต้นมาจากความชอบและจะก่อให้เกิดความมุ่งมั่นและตั้งใจตามมาครับ

 

SME One : บิ๊กซ้งเริ่มจากระบบกงสี เอาญาติพี่น้องมาช่วยทำ มาถึงปัจจุบันยังคงบริหารงานแบบระบบกงสีหรือเป็นระบบองค์กรแล้ว

ฉัตรชัย : เราก็พยายามที่จะเปลี่ยนนะครับ แต่เรื่องพวกนี้มันใช้เวลา ก็อยู่ในช่วงเวลาของการเปลี่ยนผ่าน เรื่องนี้มันซับซ้อน และเกี่ยวข้องกับเรื่องของความรู้สึกในครอบครัว ตอนนี้เราใช้ระบบสิทธิ์ในหุ้นส่วน เรียกว่าเป็นรูปแบบบริษัท 100% แล้ว แต่ว่ายังมีความรู้สึกของกงสีปนอยู่ข้างในบ้าง

 

SME One : อยากให้ช่วยแนะนำหลักการบริหาร วิธีการทำธุรกิจให้กับคนที่อยากเปิดร้านโชห่วย

ฉัตรชัย : ขอเรียกว่าเป็นการบอกกล่าวในสิ่งที่เราทำดีกว่านะครับ เริ่มจากการที่ต้องมีจุดมุ่งหมาย แล้วก็มีหลักการเหตุผล ต้องมองให้ออกว่ากลุ่มลูกค้าแล้วก็ธุรกิจของเรา มีตรงไหนที่สามารถที่จะพัฒนาได้อีก ใส่ใจในการทำสิ่งนั้น ๆ และต้องมีความเข้าใจในสิ่งที่เรากำลังทำ และสม่ำเสมอครับ ผมมองว่าไม่ได้เป็นหลักการเฉพาะผู้ที่อยากเปิดซูเปอร์มาเก็ตอย่างเดียวนะครับ แต่เป็นพื้นฐานสำหรับผู้ที่อยากจะทำธุรกิจทุกธุรกิจครับ

 

บทสรุป

บิ๊กซ้ง ซุปเปอร์สโตร์ บริหารธุรกิจโดยใช้จุดแข็งผ่านงานบริการ ความหลากหลายของสินค้าในร้าน ให้ความสำคัญของการบริหารข้อมูล เพื่อนำมาพัฒนาให้ร้านแข็งแกร่งมากขึ้น รวมถึงใช้วิธีการผูกเป็นพันธมิตรบริษัทคู่ค้าเพื่อหาทางเพิ่มยอดขายและเติบโตไปพร้อมกัน 

นอกจากนี้ในส่วนของงานบริหาร บิ๊กซ้ง ซุปเปอร์สโตร์ ใช้การบริหารงานด้วยรูปแบบของธุรกิจครอบครัวสมัยใหม่ที่แบ่งงานกันรับผิดชอบแบบชัดเจนที่เน้นความคล่องตัว แต่ยังมีการตัดสินใจในลักษณะของกงสี
หรือธุรกิจครอบครัว ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของหลักการและเหตุผลเสมอ

บทความแนะนำ

Kokoonic โปรตีนแมลงแห่งอนาคต

“แมลง” คำที่หลายๆ คนฟังแล้วอาจจะรู้สึกกลัว แต่รู้หรือไม่ว่า แมลงมีคุณค่าโภชนาการสูงมาก และมีส่วนสำคัญเกี่ยวข้องกับความยั่งยืนของโลก คุณประโยชน์จากแมลงเหล่านี้ ทำให้ Kokoonic เกิดความสนใจและเริ่มศึกษา จนสามารถต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์โปรตีนจาก “ดักแด้ไหมอีรี่” ได้สำเร็จ

.

ดักแด้ไหมอีรี่ที่ถูกเลือก

เดิมทีทางแบรนด์ต้องการสรรหาวัตถุดิบจากธรรมชาติ เพื่อนำมาผลิตเส้นใยในวงการอุตสาหกรรมสิ่งทอ ทำให้มีโอกาสได้รู้จักกับดักแด้ไหมอีรี่ ที่มีความน่าสนใจ นั่นก็คือ ดักแด้ไหมอีรี่มีอาหารหลักเป็นใบมันสำปะหลัง ประกอบกับประเทศไทยมีการปลูกมันสำปะหลังเป็นจำนวนมาก ซึ่งจะมีเพียงแค่หัวมันสำปะหลังที่ถูกนำไปใช้ประโยชน์ ส่วนของใบมันสำปะหลังจะถูกนำไปทิ้ง ทางแบรนด์จึงเห็นว่านี่คือหนทางในการช่วยเหลือเกษตรกรให้เกิดรายได้ และยังเป็นการช่วยลดขยะด้วยเช่นกัน จึงคิดที่จะลองเลี้ยงดักแด้ไหมอีรี่เพื่อให้ผลิตเส้นไหมสด แต่กลับพบว่าดักแด้ไหมอีรี่นั้นผลิตเส้นไหมได้เพียงอัตราส่วน 1 ต่อ 10 ซึ่งก็คือรังไหม 1 รัง จะมี เส้นไหมสด เพียง 1 ส่วน และเป็นไฟเบอร์อีก 9 ส่วนที่ไม่ถูกนำไปใช้ประโยชน์ต่อ ดังนั้นทางแบรนด์จึงเริ่มทำการศึกษาวิจัยหาวิธีการนำไฟเบอร์เหล่านี้มาใช้ จุดประกายความคิดใหม่ขึ้นว่ามา หากนำดักแด้ไหมอีรี่มาทำเป็นอาหารจะเป็นอย่างไร

.

โปรตีนสะอาด คือคำตอบแห่งอนาคต

หลังจากค้นคว้าข้อมูลก็พบว่า ดักแด้ไหมอีรี่ คือสิ่งมีชีวิตมหัศจรรย์ เพราะเป็นแหล่งโปรตีนสูง ที่สะอาด และกำลังอยู่ในความสนใจของกระแสโลก ที่จะทำฟาร์มแมลง เพื่อใช้เป็นแหล่งโปรตีนสำหรับโลกอนาคต จึงเป็นจุดเริ่มต้นในการลุกขึ้นมาทำเรื่องอาหารอย่างจริงจัง

สิ่งสำคัญอันดับหนึ่งสำหรับการทำผลิตภัณฑ์อาหาร คือเรื่องรสชาติ ไม่ว่าผลิตภัณฑ์ของคุณจะดีแค่ไหน แต่ถ้ารสชาติไม่ดี ไม่อร่อย ก็ยากที่จะขายได้ ส่วนที่สำคัญต่อมาคือเรื่องการตลาด จะทำอย่างไรเพื่อให้ผลิตภัณฑ์นั้นไปต่อได้ ซึ่งสำหรับทาง Kokoonic เริ่มต้นจากการทำธุรกิจแบบ Business to Business (B2B) ก่อน เพราะยังเป็นเรื่องใหม่เกินกว่าที่คนทั่วไปจะยอมรับได้ โดยเริ่มเจาะตลาดกลุ่มลูกค้าเอเชีย ด้วยผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มโปรตีนและพลังงานทดแทน ที่จะเปลี่ยนความคิดเรื่องการกินแมลง โดยใช้เรื่องความอร่อยเป็นจุดแข็งหลัก เพื่อเปิดใจผู้บริโภคให้มีความรู้ ความเข้าใจว่า ถึงผลิตภัณฑ์ของ Kokoonic จะเป็นโปรตีนที่ทำมาจากแมลงก็จริง แต่มีคุณค่าทางอาหารสูงมาก สะอาด และรสชาติอร่อย จนเริ่มมีกลุ่มผู้ประกอบการให้ความสนใจ เกิดเป็นการทำงานพัฒนาสินค้าใหม่ๆ จากโปรตีนแมลงร่วมกัน แล้วจึงวางแผนต่อไปสู่กลุ่มเป้าหมายผู้บริโภคทั่วไปแบบ Business to Customer (B2C) สร้างฐานลูกค้าขึ้นเพื่อรองรับสินค้าโปรตีนจากแมลงเหล่านี้ เป็นวงจรที่ขับเคลื่อนเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน

.

ส่งเสริมทีมงาน ให้เข้มแข็ง

นอกจากการสร้างวงจรทางธุรกิจให้เกิดขึ้นแล้ว ในฝั่งของทีมงานเอง ทาง Kokoonic ก็มีความตั้งใจมาตั้งแต่เริ่มแรก ที่จะได้เป็นส่วนหนึ่งที่สามารถเปลี่ยนชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรให้ดีขึ้น โดยมีการส่งเสริมเกษตรกรที่เลี้ยงไหมให้โตไปพร้อมกัน ด้วยการสร้างคุณค่าในอาชีพให้พวกเขามีรายได้ เมื่อพวกเขาอยู่ได้เติบโตได้ แบรนด์ก็จะเติบโตไปพร้อมกันกับเขา ผลปรากฎว่าเมื่อเกษตรกรเลี้ยงชีพด้วยอาชีพนี้ได้ พวกเขาก็ยังเป็นแรงสำคัญในการกระจายความรู้ที่ได้จากชุมชนหนึ่งไปสู่ไปอีกชุมชนหนึ่งอย่างรวดเร็ว จากตำบลนี้ทำได้ ขยายไปเป็นอำเภอนี้ทำได้ด้วย ทำให้ตรงนี้เป็นจุดหนึ่งที่เป็นแรงขับเคลื่อนในมุมของเกษตรกรอีกด้วย และเป็นแรงขับเคลื่อนให้แบรนด์มุ่งหน้าทำต่อไป
.

ความตั้งใจเพื่อทุกคนบนโลก

สิ่งที่แบรนด์มุ่งมั่นจะทำให้ถึงที่สุด คือ การทำโปรตีนสะอาดจากดักแด้ไหมอีรี่ให้เกิดขึ้น และทำให้ทุกคนบนโลกสามารถยอมรับได้ โดยมีคำที่ Kokoonic ใช้เตือนตัวเองเสมอว่า Remember why you start it จดจำไว้อยู่เสมอว่า ได้เริ่มทำสิ่งนี้เพราะอะไร ไม่ว่าจะสำเร็จบ้าง ล้มเหลวบ้าง ก็ต้องยืนหยัดที่จะสู้ต่อไป ความอดทนไม่ย่อท้อต่อความลำบากหรือความพ่ายแพ้ในจิตใจ คือสิ่งที่ทำให้เห็นหนทางเดินไปต่อได้

.

สามารถติดตาม Kokoonic ได้ที่
Kokoonic Company Limited
เลขที่ 21 ชั้นที่ 5 ซอยราษฎร์บูรณะ 44 แขวงราษฎร์บูรณะ เขตราษฎร์บูรณะ กรุงเทพมหานคร 10140
Tel: 096-924-1545
Email: admin@kokoonic.com
Website : kokoonic.com
Facebook: kokoonicofficial
Instagram: Kokoonic_official

สำหรับช่องทาง SME ONE เพิ่มเติม
Facebook: SMEONE
Youtube: SMEONE
Line: @smeone

บทความแนะนำ

 

PDM เสื่อพลาสติกพลิกวงการเสื่อไทย

“เสื่อผืนหมอนใบ” คือคำติดหูที่ได้ยินมาตลอด เป็นจุดเริ่มต้นธุรกิจของแบรนด์ PDM (Product Design Matters) ที่มองเห็นความสำคัญในประโยชน์จากเสื่อผืนเดียว แต่กลับรองรับกิจกรรมได้หลากหลายอิริยาบถ ไม่ว่าจะใช้สำหรับต้อนรับแขก ใช้ปูรองนั่งขณะรับประทานอาหารร่วมกัน หรือแม้แต่ใช้สำหรับนอน เสื่อจึงเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับวิถีชีวิตของคนไทยมาอย่างยาวนาน ทางแบรนด์จึงนำมาทำการพัฒนาต่อยอด จนกลายเป็นเสื่อจากพลาสติก Recycle ล้างภาพเสื่อคุ้นตารูปแบบเดิม เพิ่มการออกแบบใหม่ สร้างภาพลักษณ์ให้บ้านสวยขึ้นทันตาได้ด้วยเสื่อผืน

.

สินค้า PDM ชูรสชาติให้พื้นที่ชีวิต

สิ่งที่จุดประกายให้กับแบรนด์ มาจากเพื่อนชาวต่างชาติที่พูดขึ้นว่า เสื่อไทยสามารถใช้แทนพรมได้เลย ในต่างประเทศพรมคือสิ่งที่ช่วยประดับบ้าน เพื่อสร้างความอบอุ่นให้กับบ้าน ช่วยเสริมภาพลักษณ์ให้กับพื้นที่นั้นๆ ทำให้บ้านดูอิ่ม สดชื่น และสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น แต่สภาพอากาศร้อนชื้นในประเทศไทยนั้นไม่เหมาะกับการใช้พรม จึงทำให้ทางแบรนด์มองหาวัสดุใหม่ที่จะตอบโจทย์กับสภาพอากาศ อีกทั้งยังต้องสามารถเช็ดล้างทำความสะอาดได้ง่าย และมีความเป็นไทย โจทย์นี้จึงเป็นจุดเริ่มต้นในการเกิดเป็นเสื่อพลาสติก PDM 

ทางแบรนด์พัฒนาคุณสมบัติของพลาสติกที่นำมาใช้เป็นวัสดุหลักของเสื่อ ให้ป้องกันไฟลุกลาม เลือกวิธีการทอให้สามารถใช้งานได้ทั้ง 2 ด้าน มีการทอพรมที่แน่นเพื่อความทนทาน และเลือกพื้นผิวแบบด้านเพื่อให้เวลาปูห้องแล้วไม่สะท้อนแสงไฟเช่นเดียวกับการปูพรม ด้วยวัสดุที่เป็นพลาสติก ทำให้มีน้ำหนักเบาและสามารถทำความสะอาดได้ง่าย 

ส่วนที่สำคัญที่สุดคือความตั้งใจออกแบบลวดลายของเสื่อ โดยกำหนดเกณฑ์ไว้ว่า ถ้าลูกค้าจะมองหาพรมประดับบ้าน จะต้องมีชื่อ PDM เป็น 1 ในตัวเลือก สินค้าแต่ละชิ้นต้องผ่านการทดสอบความทนทาน ไปจนถึงความเข้ากันได้กับเฟอร์นิเจอร์รูปแบบต่าง ๆ ในบ้าน จนทำให้มั่นใจได้ว่า เมื่อใครก็ตามที่นำเสื่อ PDM ไปใช้ จะทำให้บ้านดูสวยหรูขึ้นทันตา ดั่งสโลแกนของแบรนด์ว่า “PDM สวยเฉียบพลัน แค่ปูก็จบแล้ว”

PDM มองว่าเสื่อเปรียบเสมือนผงชูรส หน้าที่ของมันคือเป็นสิ่งที่ไปเติมเต็มให้กับสินค้าอื่น ทางแบรนด์จึงคิดสร้างสรรค์เสื่อหลากหลายรูปแบบ เพื่อสนองรสนิยมที่แตกต่างกันของลูกค้า โดยมีทั้งแบบเรียบง่ายสำหรับใช้ในชีวิตประจำวัน แบบลายพิเศษที่จำหน่ายเป็นวาระ หรือแม้แต่เสื่อรูปทรงต่าง ๆ ที่เป็นมากกว่าทรงสี่เหลี่ยม ให้สินค้าดูทันสมัย ในแบบที่ไม่ว่าจะผ่านไปอีกหลายปี แล้วมองกลับมาเมื่อใด สินค้าก็จะยังดูทันสมัยอยู่ ไม่ตกยุค เป็นสิ่งที่ใช้งานต่อไปได้เป็นเวลานาน

.

ต่างกลุ่มเป้าหมาย แต่ใจเดียวกัน

กลุ่มลูกค้าเป้าหมายแรกของ PDM คือ กลุ่มดารานักแสดง นักศึกษา รวมถึงเจ้าของธุรกิจรีสอร์ต ที่นิยมตกแต่งบ้านด้วยงานออกแบบ แต่เนื่องจากการใช้ช่องทางหลักในโลกออนไลน์ ทำให้กลุ่มเป้าหมายของแบรนด์ถูกขยายวงกว้างขึ้น จนไม่สามารถจำกัดกลุ่มลูกค้าได้อีกต่อไป เพราะลูกค้าของ PDM กลายเป็นกลุ่มคนที่มีความชอบ หรือมีรสนิยมที่คล้ายกัน ทางแบรนด์จึงพยายามเก็บข้อมูล ความชอบ ความต้องการ ของกลุ่มลูกค้า เพื่อนำมาออกแบบสินค้ามาให้ตอบสนองความต้องการของลูกค้าจริงๆ ผ่านการใช้ Digital Marketing ทำให้ PDM เป็นธุรกิจที่เรียกได้ว่าไม่มีสต๊อกสินค้า (Zero Stock) เพราะ PDM ผลิตสินค้าตามความต้องการของลูกค้า คือ Demand กับ Supply บวกลบกันเท่ากับ 0 ยิ่งเป็นการช่วยลดการสร้างขยะในปัจจุบัน

.

Enhance The Living

PDM อยากเห็นคนไทยมีบ้านสวย เหมือนที่หลายๆ คนชอบดูภาพบ้านต่างประเทศตามนิตยสาร แต่ถ้าหากมาลองดูให้ลึกแล้ว ของแต่งบ้านหลายอย่างนั้นมีแหล่งผลิตอยู่ใกล้ตัวเราทั้งนั้น ทางแบรนด์จึงอยากเข้ามาเป็นผู้ช่วยในการหาสินค้า รวบรวมของแต่งบ้านดีไซน์สวย มีคุณภาพที่ดี และมีราคาที่สมเหตุสมผล ส่งตรงจากผู้ผลิตถึงมือลูกค้าโดยไม่ผ่านคนกลางใด ๆ ด้วยช่องทางออนไลน์ที่แบรนด์มี

.

New Normal, New Opportunities

สถานการณ์โควิด-19 นี้ หลายๆ คนได้มีโอกาสอยู่บ้านมากขึ้น ทำให้มีความสนใจเกี่ยวกับที่อยู่อาศัยมากขึ้น ประจวบเหมาะกับที่ PDM เป็นสินค้าตกแต่งบ้าน ทำให้ลูกค้าเชื่อมโยงกับ PDM ได้ง่ายขึ้น ในช่องทางออนไลน์ต่างๆ ทางแบรนด์จึงได้ใช้โอกาสนี้ ในการทดลองสื่อสารกับลูกค้ามากขึ้น ด้วยการทำสินค้าใหม่ ๆ ที่จะตอบโจทย์คนรักการแต่งบ้าน เช่น โต๊ะเตี้ยที่สามารถแขวนผนังเป็นภาพศิลปะได้ เพื่อช่วยสร้างบรรยากาศภายในบ้าน ให้สามารถปรับเปลี่ยนได้อย่างไม่จำเจ ในขณะที่ผู้คนต้อง Work From Home กันอยู่เป็นเวลานาน

แนวคิดในการเป็นแบรนด์ที่ไม่เคยหยุดคิด ของ PDM คือ ต้องเดินไปพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคนี้ จึงทำให้มีรูปแบบการทำงาน คือ ทำไปด้วย คิดไปด้วย ไม่ใช่คิดก่อนแล้วค่อยทำแบบสมัยก่อนอีกต่อไป แบรนด์เชื่อว่าไม่มีผลงานใดที่สมบูรณ์ 100% ในการออกแบบผลิตภัณฑ์ต้องมีการแก้ไขและพัฒนาผลงานอยู่เสมอ แต่ต้องรักษาระดับมาตรฐานให้ถึงเกณฑ์ที่จะตอบโจทย์ความต้องการให้ได้ ทำให้แบรนด์เลือกที่จะไม่ยึดติดกับการทำผลิตภัณฑ์เพียงชิ้นใดชิ้นหนึ่งจนเต็ม 100% ถึงค่อยวางขาย แต่เป็นการเรียนรู้ แก้ไข และพัฒนาไปในทุกกระบวนการมากกว่า ให้ดีขึ้นทุกครั้งที่ออกสินค้ารุ่นใหม่ ยังมีคำพูดที่ติดปากกันเองคือคำว่า “เอาไงต่อ” เพื่อขับเคลื่อนให้แบรนด์เรียนรู้และพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะล้มเหลวหรือสำเร็จก็จะไม่หยุด

.

สามารถติดตาม PDM Brand ได้ที่
บริษัท พีดีเอ็ม แบรนด์ จำกัด
8 ซ.พัฒนาการ 20 แยก 4 แขวงสวนหลวง เขตสวนหลวง กรุงเทพมหานคร 10250
Tel: 02-318-2566, 094-976-3883
Email: info@pdmbrand.com
Website : www.pdmbrand.com
Facebook: PDMBRAND
Instagram: pdmbrand
Line: @pdmbrand

สำหรับช่องทาง SME ONE เพิ่มเติม
Facebook: SMEONE
Youtube: SMEONE
Line: @smeone

บทความแนะนำ

Moreloop หมุนเวียนคุณค่า ชุบชีวิตผ้าเหลือใช้

จากความสนใจส่วนตัวที่เกิดขึ้นเพื่อต้องการแก้ปัญหาเรื่องผ้าเหลือใช้จากโรงงาน ที่มีจำนวนหนึ่งพันล้านหลาต่อปี เกิดเป็นแพลตฟอร์มออนไลน์ที่รวบรวมผ้าเหลือ เพื่อทรัพยากรกลับมาหมุนเวียนใหม่ให้เป็นประโยชน์ รวมทั้งเป็นสื่อกลางสำหรับส่งต่อวัตถุดิบเหลือใช้จากที่หนึ่งไปสู่อีกที่หนึ่ง
.
เห็นของเหลือให้เป็นวัตถุดิบ

จุดเริ่มต้นจากการเปลี่ยนความคิดเรื่องขยะเศษผ้า มองให้เห็นคุณค่าในรูปแบบวัตถุดิบ หลังจากเห็นโอกาสนี้แล้ว จึงเกิดความคิดขึ้นว่าการจะซื้อขายวัตถุดิบเหล่านี้ ควรจะต้องมีตลาดมาเป็นกลไกรองรับ ซึ่งในปัจจุบันสามารถที่จะสร้างตลาดออนไลน์ขึ้นมาได้ไม่ยาก

หลังจากศึกษาหาข้อมูล ก็พบว่าเหล่าโรงงานผลิตเสื้อผ้านั้นมักจะมีผ้าเหลือใช้ จากการสั่งผ้ามาสำรองในการผลิต เป็นผ้าใหม่เต็มม้วนที่ยังไม่ถูกใช้งาน ซึ่งในประเทศไทยมีผ้าเหลือจำนวนไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านหลาในแต่ละปี ถ้าคำนวนออกมาแล้วสามารถผลิตเสื้อได้มากถึง 700 ล้านตัว เป็นแรงบันดาลใจในการสร้างแพล็ตฟอร์มเชื่อมโยงให้เกิดการหมุนเวียนของเหลือใช้จากที่หนึ่ง ไปยังผู้ที่มีความต้องการใช้งานในอีกที่หนึ่งขึ้น ช่วยแก้ปัญหากับผ้าเหลือจากทางโรงงาน ให้มาพบกับผู้ที่ต้องการผ้าเหล่านั้น

.

รู้จักกลุ่มเป้าหมาย เห็นโอกาสที่ตอบโจทย์

เริ่มแรกของ Moreloop ในการเป็นตัวกลางออนไลน์รวบรวมผ้าเหลือใช้ให้ถึงมือผู้ใช้ โจทย์ยากก็คือ ความมั่นใจในคุณภาพสินค้า เนื่องจากการซื้อผ้าตามปกติลูกค้ามักจะต้องเลือกดูเนื้อผ้าก่อน เมื่อรู้ในจุดนี้จึงได้ทำการเพิ่มข้อมูลทั้งในส่วนของรายละเอียดเนื้อผ้า และตัวอย่างการทำเป็นผลิตภัณฑ์ นอกจากนั้นยังมีส่วนที่ให้ลูกค้าสามารถขอชิ้นส่วนตัวอย่างผ้าไปส่งถึงที่ได้ รวมถึงเปิดให้ลูกค้าสามารถเข้ามาเลือกดูผ้าที่โรงงานได้อีกด้วย 

การเป็นตัวกลางเชื่อมโยงทุกฝ่าย สิ่งสำคัญคือ ความเชื่อใจ และการเข้าถึงง่าย ต้องสร้างความมั่นใจให้กับทุกฝ่าย เข้าถึงแบรนด์ได้สะดวก รวดเร็ว และง่ายที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการเข้าถึงผ่านทางเว็บไซต์ ติดต่อผ่านทางโทรศัพท์ หรือทางไลน์ของทางแบรนด์

เพราะมีหลากหลายช่องทางให้เข้าถึงง่าย ทำให้ได้รับความสนใจจากทางลูกค้าเป็นอย่างมาก โดยจุดหนึ่งที่ช่วยแก้ปัญหาตอบโจทย์จนได้ใจลูกค้า คือ คนทำแบรนด์เสื้อผ้า SME เพราะว่าเวลาสั่งวัตถุดิบส่วนมากต้องมีขั้นต่ำ ซึ่งไม่ใช่ SME ทุกคนจะสามารถสั่งผ้าจนถึงขั้นต่ำไหว ทาง Moreloop จึงเป็นตัวเชื่อมโยงเพื่อให้ร้านค้าเข้าถึงแหล่งวัตถุดิบคุณภาพดีได้ โดยไม่ต้องคำนึงเรื่องปริมาณการสั่ง
.
สรรค์สร้างอย่างสร้างสรรค์
นอกจากเป็นแพลตฟอร์มการขายผ้าแล้ว ทางแบรนด์ก็ยังมีช่องทางสร้างรายได้ จากผลิตภัณฑ์ในแบรนด์ “Moreloop” เป็นของตัวเอง โดยเน้นไปที่การผลิตเสื้อผ้ายั่งยืนหรือของใช้ที่ทำมาจากผ้าเหลือใช้ ทั้งยังมีการร่วมงานกับเหล่าดีไซน์เนอร์เพื่อเพิ่มความหลากหลายให้กับผลิตภัณฑ์
.
ปรับตัวอยู่กับ Next Normal

สถานการณ์โควิด-19 เป็นสิ่งที่ต้องเผชิญกันทั่วหน้า ทางแบรนด์ก็ได้มีการปรับตัวเช่นกัน โดย เน้นไปทางการทำสินค้าขายปลีก เช่น ทำหน้ากากผ้า หรือพัฒนามาทำเสื้อ Zerospace ที่เป็นชุด PPE แบบเล็ก เพื่อสวมใส่ออกไปนอกบ้าน นอกเหนือจากการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ทางแบรนด์ก็ได้ใช้เวลาในการพัฒนาระบบหลังบ้านของตัวเอง ให้หน้าเว็บไซต์ใช้งานได้ง่ายขึ้น มีฟังก์ชันที่ตอบสนองลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น 

 Moreloop ไม่หยุดแต่เพียงเท่านี้ ยังคอยส่งไอเดียของตัวเองไปประกวดในหลายๆ ที่ เป็นการวางแผนอนาคตของแบรนด์ให้สามารถปรับตัว และโตไปกับ Next Normal ต่อไปได้

.

มุ่งสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)

ความตั้งใจสูงสุดของ Moreloop คือการหมุนเวียนทรัพยากร เน้นการใช้สิ่งของที่เหลือและไม่ผลิตของใหม่ ด้วยคตินี้ทำให้ทางแบรนด์ช่วยทำให้โรงงานผ้าเกิดรายได้จากการขายผ้าเหลือ และได้ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมไปควบคู่กัน เมื่อไม่ผลิตของใหม่ ก็ทำให้ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ อีกทั้งความใส่ใจของแบรนด์ที่ตระหนักถึงเรื่องนี้ ทำให้ทุกๆ ผลิตภัณฑ์ของ Moreloop จะผ่านการคำนวณเรื่องขั้นตอนที่ไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อมมาทั้งหมด โดยปัจจุบันทางแบรนด์สามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไปได้ถึง 420 ตันต่อปี และมีเป้าหมายภายในปี 2024 คือ ช่วยลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 1,000 ตันต่อปี

.

Moreloop Happy Loop

พลังบวกในการทำธุรกิจของ Moreloop ที่ทำให้แบรนด์มีกำลังใจในการเดินต่อในเส้นทางนี้ คือ คำตอบรับจากทั้งคู่ค้าและลูกค้า คู่ค้าได้ขอบคุณ Moreloop ที่ช่วยเพิ่มรายได้ให้เข้ามามากขึ้น มีความสุขที่ได้ทำงานร่วมกัน ส่วนลูกค้าก็มีบางคนที่ชอบ ผลิตภัณฑ์ของ Moreloop และยกให้เป็นแบรนด์โปรด หรือแม้กระทั่งลูกค้าที่ซื้อผ้า แล้วนำไปใช้ในการประกวดที่เกี่ยวกับเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน ได้ชนะการประกวดและถูกติดต่องานไปขายที่ต่างประเทศ ทางแบรนด์ก็ดีใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในความสำเร็จของลูกค้า เปรียบเสมือนว่า แบรนด์สามารถแก้ปัญหาให้กับคนได้หลายๆ คน และยังมีความยั่งยืนเกิดขึ้นไปพร้อมกันด้วย

.

สามารถติดตาม Moreloop ได้ที่
Website: https://moreloop.ws/
Facebook: www.facebook.com/moreloopws/
Instagram: moreloop.ws
Line: @moreloop
Tel: 081-559-9855
Email: contact@moreloop.ws

 

สำหรับช่องทาง SME ONE เพิ่มเติม
Facebook: SMEONE
Youtube: SMEONE
Line: @smeone

บทความแนะนำ