ยังจำประโยคจากภาพยนตร์ดังเรื่อง Forrest Gump ที่ว่า “Life is like a box of chocolates. You never know what you are going to get.” กันได้ไหม คำพูดนี้สื่อความหมายว่า คนเรามักจะไม่รู้โชคชะตาของตัวเองจนกว่าจะเปิดใจและลองใช้ชีวิตไปกับมัน ซึ่งก็ไม่ต่างอะไรกับเส้นทางชีวิตของภูริชญ์ ฐานะวุฑฒ์ ที่วันหนึ่งชะตาชีวิตกำหนดให้เขาเดินมาเจอแรงบันดาลใจจากเมล็ดโกโก้ จนเป็นที่มาของการก่อตั้งโรงงานช็อกโกแลตเล็กๆ อย่าง PARADai Crafted Chocolate & Cafe เพื่อปรุงช็อกโกแลตแบบไทยๆ ให้คนทั่วโลกรู้จัก
SME One : แรงบันดาลในในการทำโรงงานช็อกโกแลต เริ่มต้นอย่างไร
ภูริชญ์ : ส่วนตัวเป็นคนชอบทานช็อกโกแลตอยู่แล้ว จุดเริ่มต้นมาจากมีโอกาสไปกิน Crafted Chocolate ในต่างประเทศ แล้วรู้สึกว่ารสชาติมันต่างกับช็อกโกแลตที่เรากินจากที่ขายตามห้างจนรู้สึกประทับใจ เพื่อนที่ไปด้วยกันก็ชักชวนให้กลับไปเปิดร้าน Crafted Chocolate เพราะที่ประเทศไทยยังไม่ค่อยมี กลับมาก็ลองคิดลองศึกษาอยู่พักหนึ่งจึงตัดสินใจซื้อเครื่องมาทดลองทำ
ทดลองทำอยู่เกือบ 2 ปี ก็พบว่าก็เมืองไทยมีปลูกโกโก้อยู่หลายจังหวัด ก็เริ่มทดลองเอาเมล็ดโกโก้ไทยมาทำดู ทดลองไปดูที่จันทบุรี ไปดูที่นครศรีธรรมราช เพราะว่าที่นครศรีธรรมราชเกษตรเขาปลูกโกโก้มานานแล้ว และบางส่วนก็โค่นทิ้งไปซะเยอะตอนที่ลงพื้นที่ จึงทดลองซื้อผลโกโก้จากสวนชาวบ้านมาหมักเอง เพราะเคยลองซื้อจากที่ชาวสวนหมักสำเร็จมาแล้วรู้สึกว่ารสชาติไม่ค่อยดี
ช่วงทดลองก็พยายามหาข้อมูลจากต่างประเทศว่าใช้เมล็ดโกโก้พันธุ์ไหนมาทำ Crafted Chocolate แล้วก็ลองสั่งจากอินเทอร์เน็ตมาทดลอง เพราะตอนนั้นในไทยยังไม่มีใครสอนทำ คือแทบจะไม่มีอะไรเกี่ยวกับ Crafted Chocolate เลย
SME One : พอทุกอย่างเริ่มเป็นรูปเป็นร่างจนเป็นโรงงานขึ้นมา ชื่อ PARADAi มาจากอะไร
ภูริชญ์ : PARADAi มาจากชื่อของหุ้นส่วนที่เป็นคนนครศรีธรรมราช ชื่อจริงเขาคือ นายภราดัย ซึ่งมีความหมายว่าเพื่อนพวกพ้อง ความหมายดี มันเหมือนผมกับเพื่อนที่เป็นหุ้นส่วนก็เป็นเพื่อนกันตั้งแต่สมัยเรียนมหาวิทยาลัย และชื่อก็มีความเป็นไทย เขียนเป็นภาษาอังกฤษก็อ่านไม่ยาก
SME One : มองตลาด Crafted Chocolate ในประเทศไทยเป็นอย่างไร
ภูริชญ์ : ตอนเราเริ่มศึกษาในอเมริกาพบว่ามีร้านลักษณะนี้มาประมาณเกือบ 20 ปีแล้ว ถ้าเป็น Crafted Chocolate ที่แรกแถว ๆ Mexico ก็ประมาณ 20 ปี พอ ๆ กับอเมริกา เราจึงมองว่าทำไมที่อเมริการ้าน Crafted Chocolate เติบโตมาก ญี่ปุ่นก็โต ต่างประเทศก็โต เรามองว่าร้านกาแฟเมืองไทยก็พัฒนาไป Specialty Coffee แล้ว ร้านชานำเข้าที่มีเรื่องเล่าก็เห็นเยอะแล้ว เลยรู้สึกว่า Crafted Chocolate ต้องเกิดได้
SME One : จากที่เล่ามา PARADai Crafted Chocolate & Cafe ให้ความสำคัญกับแหล่งปลูกค่อนข้างมาก
ภูริชญ์ : แหล่งปลูกของเรา เราตั้งใจแต่แรกว่าจะดีลกับเกษตรกรตรงไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง เราซื้อจากเกษตรกร แล้วมาหมักเอง เพราะต้องควบคุมคุณภาพตั้งแต่การหมัก เราต้องการทำธุรกิจอย่างยั่งยืนจึงรู้สึกว่าการซื้อผ่านพ่อค้าคนกลางอาจจะเจอสินค้าคุณภาพไม่ดี แล้วราคามันจะไปอยู่ที่พ่อค้าคนกลาง ตอนที่เราเริ่มทำราคาโกโก้สดอยู่ที่กิโลกรัมละ 6 บาท เราก็ซื้อในที่ราคาสูงกว่า
ตอนนี้วัตถุดิบเรายังไปไม่ถึงขั้น Organic เพราะเกษตรยังไม่ได้เรียนรู้ว่าปลูกอย่างไร ดูแลอย่างไร การเปลี่ยนมาทำ Organic เป็นเรื่องที่ยากมาก เรื่องนี้เป็นเทรนด์ของโลกก็จริง แต่ด้วยโครงสร้างราคาของสินค้าที่เป็น Organic ราคาจะสูงขึ้น แต่ว่าผู้บริโภคทุกคนไม่ได้มีกำลังซื้อพอที่จะต้องจ่ายตรงนั้น
SME One : ออกมาเป็น SMEs ช่วงแรก ๆ เจอปัญหา หรืออุปสรรคอะไรบ้าง
ภูริชญ์ : เปิดร้านช่วงแรก ๆ ก่อนที่จะเราจะส่งประกวดและได้รับรางวัล 3 เดือนแรก คือแทบไม่มีลูกค้าเข้าเลย เดือนหนึ่งขายได้ไม่ถึง 8,000 บาท แต่พอเราส่งช็อกโกแลตไปประกวดในเวทีระดับโลก* แล้วได้รางวัลกลับมาก็เริ่มมีสื่อมาสัมภาษณ์ PARADai Crafted Chocolate & Cafe ก็เริ่มมีคนรู้จัก เริ่มมีลูกค้าเพิ่มขึ้น มีคนบอกต่อกันมากขึ้น
การทำธุรกิจร้านอาหาร ผมเชื่อเรื่องการบอกต่อๆ กันโดยผู้บริโภคเอง ถ้าเราโฆษณาอย่างเดียว หรือต้องจ่ายเงินไปจ้าง Blogger จะเพิ่มต้นทุน เพราะค่าใช้จ่ายในการเปิดร้านก็สูงแล้ว เราเลยไม่ได้ใช้วิธีนั้น
(*PARADai Crafted Chocolate & Cafe ชนะการประกวด International Chocolate Awards 2018 ประเภทช็อกโกแลตนมที่มีสัดส่วนเปอร์เซ็นต์โกโก้เกิน 50% ที่ผลิตด้วยโกโก้จากแหล่งเดียว (Plain/Origin Dark Milk Chocolate Bars) สำหรับโกโก้จากประเทศเบลีซ 63% ได้รางวัลระดับเหรียญเงิน และโกโก้จากนครศรีธรรมราช 58% ได้รางวัลระดับเหรียญทองแดง และระดับเวทีโลก ได้เหรียญเงินสำหรับโกโก้จากนครศรีธรรมราช และคว้ารางวัลพิเศษเป็นรางวัลเหรียญทองสำหรับ “ช็อกโกแลตจากประเทศที่ปลูกเอง” หรือ Growing Country)
SME One : คิดว่าเสน่ห์ของ Crafted Chocolate คืออะไร
ภูริชญ์ : ต้องอธิบายก่อนว่าช็อกโกแลตในอุตสาหกรรมที่เรากินในห้าง ปกติจะเป็นช็อกโกแลตที่หมักมาไม่ดี แล้วจะมีกลิ่นที่ไม่ดีอยู่เพราะต้องคั่วค่อนข้างลึกเพื่อกลบกลิ่น เสร็จแล้วก็จะเอามาแต่งกลิ่นวานิลลาใส่เข้าไป ใส่ไขมันพืชตัวอื่นที่ไม่ใช่ไขมันโกโก้เข้าไป หรืออาจจะใส่ผงโกโก้เพื่อไม่ให้มีรสเปรี้ยวจะได้กินง่าย แต่พอมาเป็น Crafted Chocolate กรรมวิธีการผลิตจะไม่มีการแต่งกลิ่นสังเคราะห์ จะมีก็จะมีแบบใส่ฝักวานิลลาธรรมชาติทั่วไป ไม่มีการใส่ไขมันพืชอย่างอื่นผสมเข้าไป จะใส่ไขมันโกโก้อย่างเดียวทำให้มีรสชาติดีกว่า ส่วน Flavour ก็จะมาจากการหมัก เราก็ต้อง Control คุณภาพการหมักให้ดีเพื่อให้ได้ Flavour ที่ดี
พอคนทั่วไปมาได้มาลองกินนี่จะรู้สึกได้ถึงความแตกต่าง แต่เรื่องความชอบก็ต้องขึ้นอยู่กับว่าชอบช็อกโกแลตแบบขม ช็อกโกแลตแบบมีกลิ่นวานิลลา หรือว่าชอบช็อกโกแลตแบบมีไขมัน ถ้าเป็น Crafted Chocolate ก็จะมีหลากหลาย มีทั้งรสแบบถั่ว มีความเปรี้ยว มีแบบกลิ่นไวน์ แบบรสผลไม้
ถ้าถามว่าคนไทยชอบกินช็อกโกแลตแบบไหน ส่วนใหญ่ก็ยังติดช็อกโกแลตนมอยู่ แต่ถ้าเป็นโซนคนแบบในกรุงเทพ หรือคนรักษาสุขภาพหน่อยก็จะเป็น Dark Chocolate
SME One : กลุ่มเป้าหมายหลักของร้าน PARADai Crafted Chocolate & Cafe คือใคร
ภูริชญ์ : ตอนแรกที่เราวางไว้หลักๆ จะเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ หรือกลุ่มเด็ก แต่ปรากฏว่าลูกค้าจริง ๆ กลับกลายเป็นคนไทยเกือบ 98-99% แล้วก็จะเป็นแบบกลุ่มคนทำงานเป็นส่วนใหญ่ประมาน 90% ข้อดีคือคนกลุ่มนี้มีกำลังซื้อ ถ้าเป็นกลุ่มเด็กก็จะมองว่าราคาสูงนาน ๆ ถึงจะมาซื้อไปชิ้นสองชิ้น เพราะต้องเจียดค่าขนมออกมา ซึ่งเราก็เข้าใจ
SME One : อยากให้อธิบายแนวคิดการทำช็อกโกแล็ตที่มีความเป็นไทย
ภูริชญ์ : ตอนแรกเราทำ Concept ของ Product เราต้องการช็อกโกแลตแบบสื่อความเป็นไทยในทุกอย่าง หมายความว่าแพ็กเกจก็ต้องมีลักษณะแบบของไทย เหมือนเวลาเราไปต่างประเทศ เราจะเห็นวัฒนธรรมแบบญี่ปุ่น หรือยุโรปก็จะมีแพ็กเกจที่สื่อเป็นลายแบบลักษณะของชาติเขา แพ็กเกจของเราก็เลยสื่อเรื่องราวของรามเกียรติ์ ส่วนตัวช็อกโกแลตตอนที่ขึ้นรูป เราไม่ได้อยากขึ้นแบบชื่อร้านอย่างเดียว แต่เราอยากมีลายกนกเข้าไป ให้มีความเป็นไทย มีเอกลักษณ์พอเปิดมาก็ประทับใจ
ส่วนรสชาติตัวเมล็ดโกโก้ เราก็เน้นเมล็ดไทยที่เราปรับให้มีคุณภาพออกมา เรามีทำ Chocolate Bon Bon ที่เป็นช็อกโกแลตสอดไส้ เราก็จะเอารสชาติแบบไทย ๆ หรือตะวันออกใส่เข้าไปในช็อกโกแลต เพราะว่าเรามักจะเห็นช็อกโกแลตทั่วไป จะนิยมใส่ถั่ว ใส่สตรอเบอร์รี่อะไรแบบนี้ เรามองว่าน่าจะมีรสเขียวหวาน รสต้มยำ รสอะไรที่มีความเป็นไทยเข้าไป
SME One : สินค้าที่ขายดีของเราตอนนี้คืออะไร
ภูริชญ์ : ตอนนี้จะเป็น Dark Chocolate 75% นครศรีธรรมราช แล้วมี Chocolate Bon Bon ส้มฉุน Chocolate Bon Bon เมี่ยงคำ จริง ๆ เรามีช็อกโกแลตรสชาติแบบไทยหลายรส แต่บางตัวผู้บริโภคก็จะมี Question เช่น Chocolate Bon Bon เมี่ยงคำ เราก็จะผสมมะพร้าว มะนาว และพืขสมุนไพรเข้าไป
ส่วนสินค้า Seasoning เรามีทำในช่วงเทศกาลปีใหม่ วาเลนไทน์ แล้วก็วันแม่ เราทำมา 2 ปีแล้ว ถ้าเป็นช่วงวันวาเลนไทน์ก็จะมีลูกค้าผู้ชายโทรมาสั่งกับที่ร้านให้เราไปส่งให้แฟน แล้วก็จะฝากเราเขียนการ์ด ถ้าเป็นช่วงปีใหม่ก็จะเป็นลูกค้าบริษัทสั่งไปแจกพนักงานในออฟฟิศ หรือไม่ก็สั่งสินค้าแบบ Custom พิเศษไปเลย
SME One : PARADai Crafted Chocolate & Cafe วางแผนธุรกิจไว้อย่างไร
ภูริชญ์ : พอเราเปิดร้านได้เกือบปีจนถึงช่วงได้รางวัล ก็มีห้างสรรพสินค้าติดต่อให้เราไปเปิดสาขา แต่ตอนแรกเราก็ไม่มั่นใจ ทางห้างฯ ก็ให้ลองเปิดบูธแบบ Pop-up Store ที่หน้าซูเปอร์มาร์เก็ตในสยาม พารากอน แล้วทางเซ็นทรัลก็ชวนไปเปิดที่ Food Hall แบบเป็น Event เราก็ไปลองดูเพราะอยากรู้ว่าลูกค้าเป็นอย่างไร เพราะตอนนั้นเรายังใหม่มากไม่มีคนรู้จัก และพอดีเราไปเจอว่าหอศิลป์กรุงเทพประกาศให้เช่าพื้นที่เราก็สนใจ แม้จะแพงกว่าเช่าห้าง แต่รวมๆ แล้วเราได้พื้นที่มากกว่า
PARADai Crafted Chocolate & Cafe ที่หอศิลป์กรุงเทพก็ขายดี เพราะส่วนใหญ่คนที่เดินหอศิลป์จะเป็นนักเรียน แล้วก็มีคนทำงานแถวนั้นมาซื้อ เพราะใกล้รถไฟฟ้าสามารถเดินทางมาซื้อได้สะดวก แต่ร้านที่สาขาตะนาวค่อนข้างไกลจากกลางเมือง ไม่มีที่จอดรถ นอกจากนี้ก็เราก็ยังมีไปร่วมมือกับร้านกาแฟในจังหวัดนครศรีธรรมราช และภูเก็ตโดยเราเอาสินค้าไปวางเป็นแบบ Co-Brand
SME One : เคยมีคนติดต่อให้เราไปขายที่ต่างประเทศบ้างหรือไม่
ภูริชญ์ : มีในลักษณะของการเอา Product ไปวางขายที่ปารีส ประเทศฝรั่งเศสตั้งแต่ 2 ปีที่แล้ว เจ้าแรกคือพอดีเราเอาช็อกโกแลตไปประกวดที่อิตาลี แล้วเราก็แวะหาผู้ค้าจากฝรั่งเศสเพื่อเอาสินค้าไปให้ทดลองวางขาย ซึ่งเขาก็ยังไม่ได้ Appreciate เท่าไหร่ ด้วยความที่เราไม่ได้ผลิตเยอะแล้วเขาต้องการซื้อในราคาครึ่งหนึ่งของที่เราผลิต ทำให้เราก็ต้องแบกรับภาระเอง ซึ่งท้าทายมากสำหรับเรา
ส่วนที่รายใหม่ที่ติดต่อมา จะเป็นร้านขายเฉพาะ Crafted Chocolate หลาย ๆ ยี่ห้อจากทั่วโลก เขาพยายามหาช็อกโกแลตที่ได้รางวัลไปขาย แต่ก็เหมือนเดิมคือทางร้านจะกำหนดราคามา แถมเราต้องแบกรับค่าขนส่ง คือลำบากมาก เพราะว่าเราไม่ได้ผลิตจำนวนมากแบบส่งสินค้าทีละครึ่งตู้คอนเทนเนอร์ ปกติที่เราเห็น Crafted Chocolate บางแบรนด์เขาส่งที 1 ตู้ ครึ่งตู้ แต่เราไม่ได้ผลิตเยอะขนาดนั้น
SME One : ปัญหา COVID-19 ได้รับผลกระทบมากน้อยเพียงใด
ภูริชญ์ : ยอดขายโดยรวมเราหายไป 80% ช่วงเดือนแรกนี่คือ 90% เลย ร้านที่หอศิลป์ก็ปิด ที่สยาม พารากอนก็ปิด เหลือสาขาเดียว พอหลังจากเดือนมิถุนาปีที่แล้วตัวเลขก็เริ่มกลับมาแต่ก็ไม่ได้ดีมาก เหลือยอดขายประมาณ 30% ตอนนี้ยอดขายก็เหลือประมาณ 15-20% ต่อเดือน
โชคดีของเราคือ เราพยายามทำเองให้มาก เราไม่ได้จ้างคนเยอะตั้งแต่แรกอยู่แล้ว ผลกระทบเรื่องค่าใช้จ่ายของพนักงานก็เลยไม่ได้สูงมากเท่าไหร่ ที่เราทำตอนนี้คือ 1. พยายามลด Budget ลด Cost ต่าง ๆ ลง 2. ทำองค์กรให้ Lean มากขึ้น
ส่วนช่องทางขายทุกวันนี้เราขายผ่านช่องทาง E-Marketplace ใน Lazada แต่ก็ยังมีปัญหาค่าขนส่ง เพราะว่าช็อกโกแลตเป็นสินค้าที่เก็บอุณหภูมิต่ำ ค่าขนส่งแบบเย็นจะสูงกว่า รายได้จากช่องทาง Lazada ถือว่ายังไม่สูงมาก เราแค่ทดลองขายดูว่าลูกค้าต่างจังหวัดจะยอมรับค่าขนส่งได้หรือไม่ นอกจากนี้เราก็มีขายผ่าน LINEMAN Wongnai แล้วก็มีแบบที่เป็นลูกค้าประจำที่โทรมาสั่งแล้วก็ให้เราส่งผ่านไรเดอร์เอง
SME One : ถ้า COVID-19 จบลง อยากจะต่อยอดธุรกิจอย่างไร
ภูริชญ์ : ที่ผ่านมาเราพยายามว่าทำความเข้าใจลูกค้าว่าชอบอะไร เพราะว่าคนไทยไม่ได้กินช็อกโกแลตเยอะขนาดนั้น สิ่งที่คนไทยเข้าใจช็อกโกแลต คือโกโก้ พาวเดอร์ ซึ่งมันต้องใช้เวลา เราก็พยายามทำให้สินค้าเรามีคุณภาพและแตกต่างจากเจ้าอื่น
ถ้าถามว่าอะไรคือ Key Success ของร้านเรา ผมว่ามันเป็นความพยายามที่จะเรียนรู้ทุกอย่างตลอดเวลา เราไม่ได้แบบได้รางวัลมาแล้วมี Ego เพราะทุกครั้งที่เราส่งประกวด เราไม่ได้ส่งทีเดียว แต่เราส่งทุกปี บางทีเราก็ส่งตัวเดิม เพราะเราอยากรู้ว่าคุณภาพช็อกโกแลตของเราพัฒนาขึ้นหรือไม่
การทำร้านช็อกโกแลตต้องขึ้นอยู่กับความเข้าใจของผู้บริโภคด้วย แล้วยังมีปัจจัยด้านราคา สมมติว่าทำเลในกรุงเทพฯ กำลังซื้อมันจะค่อนข้างสูง แต่พอออกไปต่างจังหวัด ถ้าไม่ใช่หัวเมืองใหญ่ ๆ หรือเมืองที่มีค่าครองชีพสูง ผู้บริโภคก็ยังมี Question กับช็ฮกโกแลตอยู่
ความท้าทายของ PARADai Crafted Chocolate & Cafe ตั้งแต่วันแรกจนวันนี้ คือความเข้าใจลูกค้า เพราะว่าสุดท้ายเรายังไม่เข้าใจผู้บริโภคทั้งหมด สมมติเป็นคนไทยในหลาย ๆ กลุ่ม เขาต้องการอะไร ความเข้าใจของช็อกโกแลต ของโกโก้เขาคืออะไร ส่วนลูกค้าต่างชาติ แต่ละชาติความต้องการ Flavour ของช็อกโกแลตก็ไม่เหมือนกันอีก ที่เหมือนกันคือเขาจะมีมาตรฐานที่สูงกว่าคนไทย
SME One : อยากจะให้ฝากคำแนะนำถึงผู้ประกอบการ SME ไทย
ภูริชญ์ : สิ่งแรกคือ จะต้องศึกษาทำความเข้าใจธุรกิจที่จะทำก่อน แล้วก็ต้องเข้าใจลูกค้า แล้วจึงทดลองทำเป็นแบบ Prototype ออกมาให้คนลองใช้หรือบริโภค สิ่งที่อยากให้เน้นคือคุณภาพของสินค้าเทียบกับราคาที่ตั้ง คุณภาพจะต้องได้มากกว่าราคาที่ผู้บริโภคยอมจ่าย แม้ว่าเราจะทำสินค้าราคาถูก แต่ก็ต้องทำให้มีคุณภาพมากกว่าราคา หรือมีความคุ้มค่าทางราคา และคุ้มค่าทางจิตใจด้วย เพราะมันจะมีผลต่อความพึงพอใจลูกค้า และกลายเป็น Loyalty ในอนาคต
บทสรุป
หัวใจสำคัญของช็อกโกแลตไม่ได้อยู่แค่ขั้นตอนการปรุง หากแต่เริ่มต้นตั้งแต่การคัดสรรค์สายพันธุ์ คัดเลือกพื้นที่ปลูก การหมัก การคั่ว ไปจนถึงขั้นตอนสุดท้ายคือการปรุง เมื่อเอากระบวนการผลิตที่ดีมารวมกับความคิดสร้างสรรค์ของภูริชญ์ ที่พยายามใส่ความเป็นไทยเข้าไปในอาหารสากลอย่างช็อกโกแลต จึงทำให้ PARADai Crafted Chocolate & Cafe สามารถครองใจ Chocolate Lover ในเวลาอันรวดเร็ว
สมัยก่อนเมื่อพูดถึงเทคโนโลยี AI (Artificial Intelligence) SMEs ส่วนใหญ่อาจคิดว่าเป็นเรื่องของธุรกิจองค์กรขนาดใหญ่ที่มีบุคลากรและเงินทุนเต็มไม้เต็มมือเท่านั้นที่จะเป็นเจ้าของได้ แต่วันนี้หลายอย่างกำลังเปลี่ยนไป เพราะ AI เป็นเทคโนโลยีที่เข้าถึงได้ง่ายกว่าเดิมแถมราคายังถูกลงด้วย ที่สำคัญ AI กำลังจะเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของเรามากขึ้นทั้งแบบรู้ตัวและไม่รู้ตัวแล้ว จึงเป็นเรื่องที่ SMEs จะมองข้ามไม่ได้เด็ดขาด
ปีที่แล้วการใช้งานปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ หันมองไปในวงการไหนก็จะเห็นว่าการนำ AI มาใช้กันทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจสุขภาพ การศึกษา อุตสาหกรรมยานยนต์ที่หลายค่ายกำลังพัฒนารถยนต์ขับเคลื่อนด้วยตนเอง หรือแม้กระทั่งภาคเกษตรกรรมที่เลือกใช้โดรนอัจฉริยะในการหว่านเมล็ดพันธุ์ ไปจนถึงการใส่ปุ๋ยและพ่นยาฆ่าแมลง
Global Forecast to 2022 ของเว็บไซต์ marketsandmarkets.com เผยว่า ภายในปี 2022 มูลค่าการตลาดธุรกิจ AI จะมากถึง 1.7 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐในขณะที่หัวเว่ยคาดการณ์ว่า ภายในปี 2025 จะมีอุปกรณ์สมาร์ทส่วนตัวสูงถึง 4 หมื่นล้านชิ้น และ 90% ของผู้ใช้อุปกรณ์จะมีผู้ช่วยดิจิทัลที่ฉลาด การใช้ข้อมูลจะสูงขึ้น 86% และจะมีบริการ AI ให้ใช้งานทั่วไปแพร่หลายเหมือนอากาศที่เราหายใจเลยทีเดียว นั่นเท่ากับว่า AI จะกลายเป็นเทคโนโลยีสำหรับการใช้งานของทุกคน
เห็นไหมว่า AI กำลังเข้ามามีบทบาทในทุกอุตสาหกรรมไม่เว้นแม้แต่ธุรกิจเล็กๆ ประกอบกับพฤติกรรมของผู้บริโภคยุคใหม่ที่เปลี่ยนไป ชอบใช้เครื่องบริการตนเองอัตโนมัติ (Self Service) ผ่านหน้าจอหรือหุ่นยนต์ และเพื่อเป็นการแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน หรือแม้แต่ค่าแรงที่เพิ่มสูงขึ้นทุกปี ถึงเวลาแล้วที่ SMEs ต้องเรียนรู้เทรนด์นี้เพื่อนำมาปรับใช้บริหารจัดการกระบวนการผลิตไปจนถึงด้านการตลาดเพื่อเพิ่มมูลค่าให้สินค้าและบริการ ลดขั้นตอนการทำงานบางส่วน และลดช่วยต้นทุน พร้อมสร้างแต้มต่อในการแข่งขันยุคดิจิตัล
เพราะหลักการการทำงานของ AI มีความสามารถในการคิด วิเคราะห์ เก็บข้อมูล สรุปผลตรงตามเป้าหมายและสามารถสั่งการ หรือการพยากรณ์ที่แม่นยำได้ดีกว่ามนุษย์ ตอบสนองได้ตรงจุด ตรงตามวัตถุประสงค์ ไม่มีความรู้สึก สภาพอารมณ์ และความเหนื่อยล้าที่จะทำให้เกิดข้อผิดพลาด ทั้งนี้ AI มีหลายรูปแบบ เช่น
Internet of Things (IoT) เป็นเทคโนโลยีการเก็บบันทึกและแลกเปลี่ยนข้อมูลจากอุปกรณ์หนึ่งไปยังอีกอุปกรณ์ เหมือนเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านที่เริ่มสื่อสารกันเอง เมื่อถูกผสานเข้ากับเทคโนโลยี AI ในการเก็บข้อมูลและวิเคราะห์สถานการณ์ก็ยิ่งเพิ่มความสามารถยิ่งขึ้นไปอีก เพราะสามารถเข้าใจคำสั่งที่ซับซ้อนได้มากขึ้น
ระบบการเรียนรู้อัตโนมัติ (Automated Machine Learning) คือสมองของ AI ที่สามารถเรียนรู้ได้เองจากข้อมูลที่ถูกเก็บรวบรวมเป็น Big Data ยกตัวอย่างการทำงานของ Siri ใน iOS หรือ Google Assistant ที่เรียนรู้ภาษาและการโต้ตอบกับมนุษย์ได้ และยิ่งหากใช้บ่อยๆ ที่สามารถรับคำสั่งด้วยเสียงที่แม่นยำมากขึ้น หรือแม้กระทั่งNetflix ที่ใช้ Machine Learning ในการประมวลผลข้อมูลเพื่อแนะนำวีดีโอที่ผู้ใช้งานอาจชอบ เกิดจากการเรียนรู้จากพฤติกรรมการรับชมของผู้ใช้งานทั้งสิ้น
ระบบการทำงานอัตโนมัติ (Automation) ซึ่งอยู่ในรูปของเครื่องมือ หรือหุ่นยนต์ สามารถลดแรงงานมนุษย์ แต่ที่สำคัญมากไปกว่านั้น คือการทำงานได้เร็วและมีความแม่นยำ ช่วยลด Human Error ได้เป็นอย่างดี
เทคโนโลยีจดจำใบหน้า (Facial Recognition) ระบุตัวตนของลูกค้าและให้บริการเฉพาะบุคคลได้ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังสามารถจับอารมณ์และความพึงพอใจของลูกค้า นำไปเป็นข้อมูลในการพัฒนาบริการต่อไปได้
ปัจจุบันเราเริ่มเห็น SMEs นำเทคโนโลยี AI เข้าไปใช้ดำเนินธุรกิจกันบ้างแล้ว
อย่างในกรณีของ Class Café แม้จะเป็นร้านกาแฟแต่เบื้องหลังการทำงานนั้นเต็มไปด้วย AI และ Machine Learning ที่นำมาช่วยวิเคราะห์ข้อมูลจาก Big Data ที่ได้มาจากช่องทางโซเชียลมีเดียของลูกค้า เพื่อคาดเดาพฤติกรรมว่าวันนี้จะสั่งเครื่องดื่มอะไร โดยหาแนวโน้มจากปัจจัยต่าง ๆ เช่น สภาพดินฟ้าอากาศ ซึ่งมีผลต่อการสั่งซื้อเครื่องดื่มประเภทต่างๆ ที่เหมาะกับอากาศ การนำข้อมูลจากอดีตยังสามารถทำนายดีมานด์ในอนาคตได้อีกด้วยว่า 7 วันข้างหน้าจะมีลูกค้าเข้ามาที่ร้านกี่คน ทำให้ง่ายต่อการบริหารจัดการสต๊อกวัตถุดิบ
นอกจากนี้ Data Analytics ยังทำให้ Class Cafe บริการลูกค้าได้ลึกขึ้น ตรงจุดมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงวิกฤต COVID-19 ทำให้ทางร้านออกโปรโมชันได้อย่างโดนใจลูกค้า
ล่าสุดเมื่อ Class Cafe แก้ปัญหาจากมาตรการล็อคดาวน์ด้วยการออกตู้ AI CLASS GO มาให้บริการตามย่านธุรกิจในเมือง เพียงแค่สแกน เปิดตู้ จากนั้นก็หยิบสินค้าได้เลย (Scan – Take – Go) แต่ตู้นี้มีความพิเศษตรงนี้มีการติดตั้งกล้อง AI และเซนเซอร์ต่างๆ ภายในตู้ เพื่อใช้ส่งข้อมูลแบบเรียลไทม์ จากนั้นก็จะนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์ความต้องการและพฤติกรรมของลูกค้าคนนั้นๆ เพื่อทำแผนการตลาดต่อไป
เมื่อเห็นประโยชน์อย่างนี้แล้ว ผู้ประกอบการ SMEs ต้องมีแผนประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอย่างเหมาะสม สำหรับบางรายที่มีงบประมาณการลงทุนด้านเทคโนโลยีไม่มากนัก สามารถเข้าถึงบริการจากแอปพลิเคชั่น AI เจ้าต่างๆ ได้ฟรีในฟีเจอร์เบื้องต้น หรืออาจต้องแลกด้วยค่าบริการบ้าง แต่เครื่องมือเหล่านี้จะลดขั้นตอนการทำงาน และลดแรงงานได้มากทีเดียว เช่น
ARIS เป็น AI Chatbot ผู้ช่วยขายอัตโนมัติตั้งแต่ต้นจนจบ ตั้งแต่การเลือกสินค้าไปจนถึงรายละเอียดการจัดส่ง เหมาะกับ SMEs ที่ทำค้าปลีกออนไลน์
Backyard รวบรวมและวิเคราะห์ Big Data ผ่านการเรียนรู้ของเครื่องจักรและการประผลภาษาธรรมชาติ (Natural Language Processing : NLP) ให้ข้อมูลการวิเคราะห์ในแดชบอร์ดบนเว็บที่ใช้ประโยชน์จากประสิทธิภาพของฟังก์ชั่นการขายและการตลาดของลูกค้า
Primo แพลตฟอร์มการโปรโมทข้ามออนไลน์ที่ช่วยให้ผู้ปลีกสามารถหาลูกค้าใหม่และเพิ่มความภักดีในกลุ่มลูกค้าเดิมด้วยการโปรโมทข้ามกัน
Ricult โซลูชั่นดิจิตัลทางการเกษตร เก็บวิเคราะห์ข้อมูลคาดการณ์สภาพภูมิอากาศ ตัวช่วยให้เกษตรกรสามารถทำการเกษตรแบบแม่นยำ ลดต้นทุน และเพิ่มผลผลิต
Alto Energy Edge ช่วยเจ้าของโรงแรมจัดการทรัพยากรภายในโรงแรมอย่างมีประสิทธิภาพ ลดขั้นตอนการทำงาน ช่วยประหยัดค่าไฟฟ้า 30% โดยระบบ AI จะทำการเปิด-ปิด หรือปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมโดยอัตโนมัติ ทั้งยังสามารถเช็กสถานะและควบคุมอุปกรณ์ด้วย IoT
AIYA เป็นแพลตฟอร์มแชตบอต (Chatbot) สำหรับร้านค้าออนไลน์ที่มีฐานลูกค้าในเฟซบุ๊ก และไลน์ รวมถึงกลุ่มลูกค้าองค์กร ช่วยให้ร้านค้าออนไลน์ บริหารลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพสูง และดูแลลูกค้าได้ตลอด 24 ชั่วโมง
สำหรับ SMEs ที่ยังไม่ยังคิดว่าเรื่องของ AI เป็นสิ่งไกลตัว อยากให้รีบเปลี่ยนความคิดและลองมองหาตัวช่วยด้วยเทคโนโลยี AI แล้วจะพบว่าสามารถเพิ่มยอดขาย และลดต้นทุนได้จริงๆ แถมยังลดขั้นตอนการทำงาน ทำให้ผู้ประกอบการมีเวลามากขึ้นเพื่อพัฒนา หรือขยายธุรกิจได้ดียิ่งขึ้นไปกว่าเดิม
Knight Black Horse Winery ไวน์ผลไม้จากเพื่อนบ้าน สู่ไวน์ระดับสากล
เพราะต้องการแก้ปัญหาราคาผลไม้ตกต่ำจากสภาวะผลไม้ล้นตลาด จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่กลุ่มแม่บ้านสหกรณ์คลองสอง คิดที่จะเพิ่มมูลค่าให้แก่ผลิตผลทางการเกษตร สู่การมุ่งมั่นพัฒนาจนมาเป็น Knight Black Horse Winery ไวน์คุณภาพมาตรฐานสากล จนสามารถเพิ่มยอดขาย สร้างอาชีพให้กับคนพื้นที่ มีร้านค้าจำหน่ายสินค้าของตนเองกระจายไปทั่วประเทศจนสามารถส่งออกไปต่างประเทศได้
.
สุ่มหากลุ่มเป้าหมาย
จากจุดเริ่มต้นที่เป็นการชักชวนเพื่อนบ้านมาเป็นหุ้นส่วนกัน จนสามารถรวมเป็นกลุ่มแม่บ้านโดยมีสมาชิกเป็นจำนวน 25 คน ได้นำผลไม้มาลองหมักเป็นสาโทตามแบบวิถีชาวบ้าน และทำการทดลองขายในชุมชน ปรากฏว่าได้ผลตอบรับเป็นอย่างดี และได้รับการสนับสนุนจากกรมส่งเสริมสหกรณ์ จึงรวมกลุ่มกันขึ้นเป็นสหกรณ์คลองสอง เริ่มพัฒนาสินค้าเป็นไวน์จำหน่าย
ด้วยปัจจัยด้านเงินทุนที่ต้องหมุนเงินสดเพื่อซื้อวัตถุดิบ การตลาดช่วงแรกเริ่มจึงเป็นการตระเวนออกร้านทุกประเภทเพื่อกระจายสินค้า จนได้มีโอกาสไปออกร้านที่งานหนึ่งในพัทยาและพบว่านักท่องเที่ยวต่างชาติชื่นชอบในตัวสินค้าไวน์ผลไม้มาก จึงหันมาจับกลุ่มเป้าหมายนี้อย่างจริงจัง พร้อมเปลี่ยนไปเน้นการตลาดตามจุดท่องเที่ยวต่าง ๆ ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี จนทำให้ได้เงินสดมาใช้จ่ายให้ธุรกิจดำเนินต่อไปได้
.
ขยายกิจการด้วยคนในพื้นที่
หลังจากสินค้าได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี จึงได้มีการเพิ่มกำลังการผลิตและทำการจัดตั้งเป็นบริษัทขึ้น ทั้งนี้ได้มีการกระจายสินค้าโดยการไปเช่าร้านตามสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ และจ้างคนในพื้นที่มาเป็นพนักงานขายประจำร้าน เมื่อยอดขายเติบโตและเห็นผลกำไรคุ้มค่า จึงส่งต่อร้านให้ผู้ที่สนใจลงทุนรับไปบริหารต่อ โดยทางกลุ่ม Knight Black Horse Winery เปลี่ยนหน้าที่มาเป็นผู้จัดส่งสินค้าให้เท่านั้น ซึ่งข้อดีคือเมื่อได้คนที่สนใจมาเป็นเจ้าของร้านเองก็พบว่ายอดขายโตมากขึ้น จนปัจจุบันสามารถขยายไป 57 สาขาทั่วประเทศ โดยมีเพียง 14 สาขาเท่านั้นที่ทางบริษัทบริหารเอง
.
สร้างโมเดลธุรกิจที่เหมาะกับสินค้าของตน
การตลาดของ Knight Black Horse Winery ถือว่ามีแนวคิดที่แตกต่าง เพราะไม่ฝากวางตามร้านอื่น ๆ หรือวางจำหน่ายตามห้างสรรพสินค้าใด ๆ แต่ลงทุนเปิดร้านด้วยตัวเอง เพราะมองว่าระบบการวางของในห้างสรรพสินค้าไม่ตอบโจทย์ต่อธุรกิจของตน เช่น การจ่ายเงินแบบเครดิต ซึ่งเป็นปัญหากับธุรกิจที่ต้องใช้เงินหมุนเวียนซื้อวัตถุดิบ อีกทั้งสินค้าประเภทแอลกอฮอล์ในห้างสรรพสินค้ามีระยะเวลาการขายจึงมองว่าการขายเองข้างนอกได้เปรียบมากกว่า และที่สำคัญที่สุดคือความตั้งใจที่อยากทำสินค้าที่มีคุณภาพให้ผู้บริโภคได้รับประทานในราคาถูก เพราะการไปวางสินค้าตามห้างสรรพสินค้าต่างๆ จะมีการคิดกำไรเพิ่มเข้าไป ทำให้การนำมาขายเองนั้นสามารถลดต้นทุนแฝงในสินค้าลงได้
นอกจากจะไม่มีการฝากวางขายแล้ว Knight Black Horse Winery ทำการตลาดแบบไม่มีฝ่ายขาย ใช้วิธีบอกกันปากต่อปากจึงมองว่าที่กิจการเดินหน้ามาได้ทุกวันนี้มาจากคุณภาพของสินค้าที่แท้จริง
.
เพิ่มความรู้สู่มาตรฐานสากล
จากจุดเริ่มต้นจนมาเป็นแบรนด์ Knight Black Horse Winery ในทุกวันนี้ ส่วนหนึ่งมาจากการหมั่นเสาะแสวงหาความรู้เพื่อที่จะพัฒนาให้ผลิตภัณฑ์เทียบเท่าสากล นอกจากการศึกษาในประเทศแล้ว ยังมีการไปศึกษาหาข้อมูลในต่างประเทศ โดยไปเรียนรู้จากไร่หรือเมืองที่มีชื่อเสียงด้านการทำไวน์โดยตรง เช่น นาปาวัลเล่ย์ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย ฝรั่งเศส ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการทำไวน์ หรือความรู้ด้านอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ได้มาตรฐาน มีการติดต่อสั่งซื้อวัตถุดิบจากต่างประเทศ เพราะสายพันธุ์เหมาะกับการทำไวน์มากกว่า และสั่งซื้ออุปกรณ์ เช่น ถังไม้โอ๊กจากฝรั่งเศสเข้ามาเพื่อใช้เก็บไวน์ โดยทางบริษัทใช้วิธีค่อย ๆ ปันผลกำไรเพื่อมาพัฒนาสินค้าและอุปกรณ์ จนสามารถขยายขึ้นเป็นโรงงานที่ได้มาตรฐาน HACCP ที่ทำการส่งออกได้ นอกจากสินค้าส่งออกแล้ว ด้วยความมีคุณภาพและมาตรฐาน จึงได้รับการติดต่อการรับจ้างผลิตสินค้า (OEM) อย่างสม่ำเสมอ
.
ผลิตภัณฑ์ของ Knight Black Horse Winery ปัจจุบันมี 28 ชนิด ซึ่งผลไม้ที่ทำไวน์จะเน้นเป็นผลไม้ไทย ส่วนไวน์องุ่นจะใช้องุ่นที่นำเข้า โดยมีสินค้าที่เป็นที่นิยมดังนี้
.
เพราะปรับตัวและเรียนรู้อยู่เสมอ ทาง Knight Black Horse Winery ได้เล็งเห็นกลุ่มเป้าหมายเพิ่ม เป็นกลุ่มคนที่ไม่ดื่มแอลกอฮอล์และกลุ่มรักสุขภาพ เกิดการคิดค้นและผลักดันเครื่องดื่ม Sparkling ที่เป็นน้ำผลไม้ 100% โดยมีการนำเทคโนโลยีมาจากอิตาลี มาทำให้รสชาติเหมือนเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่ไม่มีแอลกอฮอล์ และทำการตลาดวางขายในราคาไม่แพง นอกจากนี้ยังมีการปรับตัวเข้ามาสู่โลกออนไลน์มากขึ้นโดยนำสินค้ามาขายตามแพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ อีกช่องทางหนึ่ง
ด้วยความมุ่งมั่นในการทำไวน์ให้มีคุณภาพดี และราคาที่ผู้บริโภคทั่วไปสามารถจับต้องได้ ทำให้ปัจจุบัน Knight Black Horse Winery ประสบความสำเร็จในวงการไวน์ผลไม้ไทย ผลิตสินค้าออกได้ 10 ล้านขวดต่อปี มีร้านจำหน่ายไวน์ตามสถานที่ท่องเที่ยวหลากหลายสาขา
.
ผู้ที่สนใจผลิตภัณฑ์ของ Knight Black Horse Winery และสนใจการเยี่ยมชมโรงบ่มไวน์สามารถติดต่อได้ที่
Knight Black Horse Winery
21/9 หมู่5 ซ.บงกช45 ต.คลองสอง อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี 12120
Tel: 089 501 9124, 083-544-7179
Email: kbhwinery@live.com
Facebook: Knight Black Horse Winery
Website : www.winemakerpop.com
Line: @KBH789
สำหรับช่องทาง SME ONE เพิ่มเติม
Facebook: SMEONE
Youtube: SMEONE
Line: @smeone
อาณาจักรวังรี เปลี่ยนเกษตรเคมีเป็นเกษตรอินทรีย์
คลินิกเทคโนโลยี สถาบันพัฒนาอาชีพวังรี มุ่งมั่นที่จะส่งเสริมให้เกษตรกรเปลี่ยนรูปแบบการเพาะปลูกจากเกษตรเคมีเป็นเกษตรอินทรีย์ โดยให้สนับสนุนในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งการถ่ายทอดความรู้ในการเพาะปลูก วางแผนและพัฒนาพื้นที่เพาะปลูกให้มีสัดส่วนที่เหมาะสมกับพืชผักผลไม้ รวมถึงช่วยหาช่องทางการจัดจำหน่ายผลิตผลการเกษตรที่เกิดขึ้น เพื่อช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรให้มีกินมีใช้
.
ตั้งยุทธศาสตร์ เพื่อช่วยแก้ปัญหาการเกษตร
หน้าที่หลักของสถาบันพัฒนาอาชีพวังรี คือ การเข้าไปช่วยเหลือเหล่าเกษตรกร ให้สามารถสร้างรายได้ที่มากขึ้น ทางสถาบันจึงได้เข้าไปช่วยวางยุทธศาสตร์ในการปลูกผักผลไม้ การทำสวนต่าง ๆ เพื่อเป็นแนวทางแก้ปัญหาให้กับเกษตรกร ให้เห็นว่านอกจากการขายผลผลิตแบบสดแล้ว ต้องมีการแบ่งผลผลิตออกไปแปรรูปเป็นอย่างอื่นเอาไว้ด้วยเพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่า ตลอดจนกระบวนการหาช่องทางการขาย โดยมีแนวคิดว่า ผลผลิตที่เป็นผักผลไม้สดนั้นควรปลูกตรงไหน ขายตรงนั้น ไม่ต้องมีการขนส่ง เพื่อคงความสดใหม่ และช่วยลดปัญหาเรื่องของคนกลางลงได้
.
วังรี คลีน ผักอินทรีย์สดจากสวนถึงมือคุณ
เมื่อมีผลผลิต ก็จำเป็นต้องมีช่องทางการกระจายสินค้า จึงได้มีการทำเป็น วังรี คลีน ขึ้นเป็นแพล็ตฟอร์มการขายสินค้าพืชผลการเกษตรออนไลน์ ผ่านช่องทาง Facebook: Wangree Clean และเว็บไซต์ www.wangreefresh.com รวมถึงเปิดให้มีช่องทางให้สามารถโทรศัพท์หรือส่งข้อความผ่านทาง Line Official Account ไปสั่งจองผักผลไม้สดได้ จากนั้นทางร้านจะจัดส่งผักผลไม้สดจากสวนไปถึงมือลูกค้า อีกช่องทางหนึ่งคือ การกระจายสินค้าไปตามร้านค้าใหญ่ ๆ โดยมีรูปแบบการขายเป็นระบบสมาชิก
ซึ่งผักที่ทางวังรี คลีน จำหน่ายนั้นไม่เพียงแต่สด ใหม่ รสชาติอร่อย แต่ยังมีแนวคิดในการปลูกให้เป็น Functional Food ด้วยการปรับวิธีการปลูกให้เข้ากับคนบางกลุ่มที่มีความต้องการทางโภชนาการแบบพิเศษ เช่น ไม่สามารถรับสารอาหารบางชนิดโดยตรงได้ ทำให้มีกลุ่มลูกค้าที่สั่งสินค้ารูปแบบนี้เป็นประจำ คือ กลุ่มโรงพยาบาล องค์กรต่าง ๆ ที่ต้องการผักปลอดสารพิษ ไปจนถึงกลุ่มลูกค้าที่ซื้อไปขายต่อ และลูกค้าทั่วไป
.
Plant Factory ปลูกผักอัจฉริยะ สร้างรายได้อย่างยั่งยืน
ทางสถาบันเองยังได้มีการนำเทคโนโลยี เพื่อช่วยควบคุมคุณภาพของผลผลิต และช่วยแก้ปัญหาสภาพอากาศให้กับเกษตรกร ด้วยการเปิด Plant Factory คือ โรงปลูกผักอัจฉริยะที่สามารถควบคุมสภาพแวดล้อมได้ด้วยระบบเทคโนโลยี เพื่อสร้างรายได้อย่างยั่งยืนให้กับเกษตรกร ประหยัดพื้นที่เพราะใช้พื้นที่ปลูกเรียงขึ้นไปเป็นชั้นๆ การทำ Plant Factory จะประกอบไปด้วย โรงเรือนระบบปิดสำหรับกักเก็บความเย็นและกันความร้อน สำหรับช่วยควบคุมแสงและอุณหภูมิการเพาะปลูก จึงทำให้ควบคุมแสงอาทิตย์ได้เหมือนปิดสวิตช์ดวงอาทิตย์ และมีการคิดสูตรคำนวณสัดส่วนการใช้น้ำและปุ๋ยที่เหมาะสมกับพันธุ์พืชแต่ละชนิด ทางสถาบันได้ทำการศึกษาจนได้ผลลัพธ์ที่ลงตัว Plant Factory สามารถช่วยลดระยะเวลาในการเพราะปลูกลงได้จากเดิมถึง 65-75% พืชผักปลอดภัยจากภัยธรรมชาติ และผลผลิตที่ได้ออกมานั้นล้วนแล้วแต่ปลอดสารเคมี แต่เนื่องจากต้นทุนในการทำ Plant Factory มีมูลค่าหลักล้านบาทขึ้นไป ทางสถาบันจึงส่งเสริมให้เหล่าเกษตรกรรวมตัวกันเพื่อลดจำนวนเงินในการลงทุนและเป็นเจ้าของร่วมกัน
.
Bistro ปลอดสารพิษ
สถาบันวังรียังมองไปถึงอนาคตว่า เชียงใหม่ เป็นหนึ่งในจุดหมายแห่งการท่องเที่ยว จึงต้องการนำเสนอความใส่ใจในสุขภาพที่ถูกผสมผสานเข้ากับสถานที่ท่องเที่ยว ด้วยแผนการเปิดร้าน Bistro ปลอดสารพิษ จากการนำผักผลไม้เกษตรอินทรีย์มาทำปรุงเป็นอาหาร ให้กับนักท่องเที่ยวที่ไปใช้เวลาพักผ่อน รวมถึงเปิดให้สามารถซื้อผักผลไม้สดกลับบ้านได้ เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่เป็นความตั้งใจของทางสถาบัน ที่ต้องรอให้สถานการณ์โควิด-19 ดีขึ้นเสียก่อน จึงจะได้พบกับร้านอาหารที่เน้นเรื่องการใส่ใจสุขภาพเกิดขึ้นอย่างแน่นอน
เพราะแนวคิดของสถาบันวังรี คือ หาความแตกต่างให้กับผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ก่อให้เกิดความคิดใหม่ๆ (Innovation) แล้วทำการต่อยอด (implement) เพื่อให้วันนี้แตกต่างจากเมื่อวานเสมอ
.
สามารถติดตาม คลินิกเทคโนโลยี สถาบันพัฒนาอาชีพวังรี ได้ที่
บริษัท วังรี คลีน จำกัด
183/1 ซอย 4 หมู่บ้านนวธานี ถ. เสรีไทย แขวง รามอินทรา เขตคันนายาว กรุงเทพมหานคร 10230
โทร. 080 993 9492
อีเมล: supako_san@yahoo.co.th
Website : www.wangreeorganicfarm.com
Facebook: WangreeOrganic
สำหรับช่องทาง SME ONE เพิ่มเติม
Facebook: SMEONE
Youtube: SMEONE
Line: @smeone
หลายคนคงเคยคุ้นหูกับคำว่า ‘Data’ ที่ถูกพูดถึงกันอย่างมากในช่วงหลายปีมานี้ ที่หลาย ๆ บริษัทหันมาให้ความสำคัญกับการนำ Data มาใช้เป็นอันดับต้น ๆ จนมีประโยคที่ออกมาว่า ‘Data is the New Oil’ แสดงให้เห็นว่าข้อมูลเป็นสินทรัพย์ที่มีมูลค่ามากที่สุดสำหรับบริษัทนั่นเอง
แต่ถ้าหากพูดถึง Data หลาย ๆ คนก็อาจจะมองภาพไม่เห็นว่าจะนำมันมาใช้ได้อย่างไร มีประโยชน์อย่างไร และอาจจะคิดว่าการใช้ Data นั้นก็คงสำหรับบริษัทขนาดใหญ่เท่านั้น แต่จริง ๆ แล้ว บริษัทขนาดเล็กอาจจะได้เปรียบในเชิงของการนำ Data มาปรับใช้และทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็วมากกว่าบริษัทขนาดใหญ่เสียอีก แต่ก็มีหลาย ๆ ธุรกิจที่ยังไม่กล้าและยังไม่เห็นความสำคัญของการใช้ Data ลองมาดูถึงเหตุผลกันว่าทำไมเราถึงต้องปรับตัว และเริ่มที่จะนำ Data เข้ามาใช้กับธุรกิจกัน โดยจะมีอยู่ 4 ข้อหลัก ๆ ด้วยกัน
Data จะช่วยทำให้เราสามารถเห็นภาพรวมของลูกค้าได้มากขึ้น ว่าอะไรที่ทำให้พวกเขาชอบ ทำไมถึงเลือกที่จะซื้อ มีรูปแบบการซื้ออย่างไร ทำไมเปลี่ยนไปซื้อกับเจ้าอื่น และปัจจัยใดที่ทำให้พวกเขาแนะนำเรากับคนอื่น
เจ้าของธุรกิจยังสามารถที่จะนำ Data มาวิเคราะห์ได้ว่าการสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าแบบใดที่จะสามารถทำเราปิดการขายได้ดีขึ้น หรือทำให้ลูกค้ากลับมาซื้อกับธุรกิจของเราในครั้งต่อไป
Data ที่หาได้แบบไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย อย่างแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียในปัจจุบัน มีฟังก์ชันให้เราสามารถดู Data ได้แบบเรียลไทม์ ทำให้เห็นว่าการทำการตลาดหรือคอนเทนต์แบบไหนที่ดึงดูดลูกค้าได้มากกว่ากัน ทำให้ธุรกิจสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความต้องการของลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว
ปัจจุบันเทรนด์ต่าง ๆ ปรับเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว การที่เราสามารถรับรู้เทรนด์ได้ทันจะช่วยทำให้คาดการณ์ว่าทิศทางของธุรกิจจะเป็นไปในทางใด ความต้องการของลูกค้าจะเปลี่ยนไปอย่างไร และอะไรเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนั้น การใช้ Data ทำให้การคาดการณ์นั้นแม่นยำขึ้น พร้อมกับการช่วยลดความเสี่ยงในการลงทุนให้กับธุรกิจ
อย่างธุรกิจขายปลีก ไม่ว่าจะเป็นออฟไลน์หรือออนไลน์ เราสามารถวัดผลไปถึงรายละเอียดได้ อย่างการนำมาเปรียบเทียบกับข้อมูลภายนอกว่า ช่วงเวลาไหนของปีที่ลูกค้ามักจะเข้ามาซื้อสินค้ามากที่สุด สภาพอากาศมีผลหรือไม่ที่ทำให้สินค้าขายดีขึ้น หรือมีปัจจัยอื่น ๆ อย่างเทรนด์ หรือปัจจัยทางเศรษฐกิจที่ทำให้สินค้าเป็นที่ต้องการมากขึ้นหรือลดลง ทำให้ธุรกิจสามารถดูเรื่องความต้องการทางการผลิตสินค้าได้อย่างทันท่วงที
ในอดีตการประเมินคู่แข่งค่อนข้างมีข้อจำกัดมาก แต่ปัจจุบัน เราสามารถหาข้อมูลคู่แข่งในหลาย ๆ ด้านได้จากบนเว็บไซต์ และแพลตฟอร์มอื่น ๆ ทำให้เราสามารถเข้าถึงข้อมูลเชิงลึกต่าง ๆ อย่างความนิยมของแบรนด์และสินค้า การมีส่วนร่วมกับโซเชียลมีเดีย หรือจะเป็นการพูดถึงของลูกค้าต่อแบรนด์นั้น ๆ และมากไปกว่านั้น เรายังสามารถนำข้อมูลเหล่านี้มาวิเคราะห์เชิงเปรียบเทียบกับธุรกิจของเราได้อีกด้วย ทำให้เราสามารถประเมินได้ว่าปัจจัยอะไรที่ทำให้ธุรกิจของเรามีความนิยมมากหรือน้อยกว่าแบรนด์คู่แข่ง และเราสามารถปรับปรุงส่วนไหนให้ดีขึ้นได้บ้าง
Data นั้นยังถูกนำมาใช้ในการปรับปรุงกระบวนการทำงานทางธุรกิจอย่างแพร่หลาย ในปัจจุบันเราสามารถที่จะเข้าไปดูข้อมูลการทำงานของระบบ เครื่องมือหรือเครื่องจักรได้ อย่างเช่น เครื่องผลิต ระบบการขนส่ง หรือระบบการสั่งสินค้าของลูกค้า ทำให้เราสามารถที่จะนำข้อมูลเหล่านี้มาวิเคราะห์ แก้ไขและพัฒนากระบวนการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
สำหรับธุรกิจออนไลน์ที่มีเว็บไซต์เป็นของตัวเอง เราก็อาจจะดูได้ว่า Customer Journey ของลูกค้าเป็นอย่างไร มีอุปสรรคทางด้านระบบอะไรหรือไม่ที่ทำให้ลูกค้าเลือกที่จะไม่ซื้อสินค้า ทำให้เราสามารถที่จะเข้ามาปรับเปลี่ยนระบบการสั่งสินค้า เพื่อที่จะสามารถปิดการขายได้มากขึ้น
ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการขนส่ง ก็สามารถที่จะนำข้อมูลมาใช้ในการปรับเส้นทางขนส่งให้มีความคุ้มค่ามากขึ้น ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงทางด้านต่าง ๆ ของการขนส่งสินค้า และยังเสริมประสิทธิภาพการขนส่งให้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น
ปัจจุบันธุรกิจใหญ่ ๆ พยายามที่จะผสาน Data กับการทำงานมากขึ้นในทุก ๆ ด้าน อย่าง Google, Facebook, Apple และ Amazon ธุรกิจเหล่านี้ล้วนแต่ใช้ Data กันทั้งหมด หลากหลายธุรกิจไม่สามารถที่จะดำเนินและพัฒนารูปแบบการทำงานโดยปราศจากข้อมูลเหล่านี้ได้เลย เรียกได้ว่าข้อมูลทำให้ทุก ๆ การตัดสินใจเกี่ยวกับธุรกิจมีความน่าเชื่อถือมากขึ้นและแม่นยำมากยิ่งขึ้น สำหรับองค์กรเล็ก ๆ ก็สามารถนำมาใช้ได้เช่นกัน เพราะ Data มีบทบาทสำคัญมากที่จะทำให้เราก้าวได้เร็วและแม่นยำมากขึ้น ภายใต้โลกธุรกิจที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเช่นนี้
อ่านเพิ่มเติมได้ที่: