“เคยนิคะ” เอากะปิออกจากกระปุก ความคิดนอกกรอบจากสินค้าดั้งเดิม สู่การเป็นผู้ส่งออกได้

การเป็นทายาทรุ่นที่ 3 ของครอบครัวที่ทำธุรกิจผลิตกะปิขายในแบรนด์ “กะปิแม่ยินดี” กะปิขึ้นชื่อในจังหวัดพัทลุง ทำให้คุณสุขศิริ ฤทธิเดช มีความตั้งใจที่จะสานต่อกิจการจากรุ่นแม่อยู่แล้ว แต่ประสบการณ์การทำงานในประเทศอังกฤษนาน 7 ปี ได้เปลี่ยนความคิดและทำให้เธอตัดสินใจที่จะต่อยอดธุรกิจให้ไปไกลกว่าเดิม 

หลังกลับมาจากอังกฤษสิ่งแรกที่เธอทำคือ การเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายด้วยการเข้าสู่โมเดิร์นเทรด แต่ก็ต้องพบว่าเจอโจทย์หิน เพราะการเอากะปิเข้าห้างสรรพสินค้านั้นเต็มไปด้วยเงื่อนไข และข้อจำกัดมากมายที่กะปิแบบเดิมๆ ไม่สามารถเข้าไปทำตลาดได้ ไหนจะมีคู่แข่งที่อยู่ในชั้นวางของอยู่แล้ว ซ้ำยังมีราคาถูกกว่ากะปิแม่ยินดี นั่นหมายความว่า หากลูกค้าที่ไม่เคยรู้จักรสชาติกะปิแม่ยินดีมาก่อน ย่อมไม่เลือกซื้อกะปิที่ราคาแพงกว่า  

การเพิ่มช่องทางการจำหน่ายที่เคยวางไว้เป็นตัวตั้งในการทำงานจึงถูกตีตกไป ในเมื่อการเปลี่ยนใจลูกค้าที่เคยใช้กะปิในกระปุกแบบเดิมเป็นเรื่องยาก เลยหันมาสร้างฐานลูกค้าใหม่ด้วยวิธีการใช้กะปิแบบใหม่ซะเลย 

สุขศิริ ฤทธิเดช ผู้จัดการฝ่ายขาย ห้างหุ้นส่วนจำกัด เคยนิคะ กล่าวว่า กลุ่มคนรุ่นใหม่เป็นเป้าหมายที่ใหม่ที่เธอตั้งใจที่จะสร้างฐานขึ้นมา ซึ่งจากการสำรวจพฤติกรรมในกลุ่มนี้พบว่ามีทัศนคติว่าอาหารเมนูกะปิทำยาก หากอยากกินต้องไปที่ร้านอาหารเท่านั้น  ประกอบกับพฤติกรรมผู้บริโภครุ่นใหม่ที่ไม่ชอบกะปิเพราะกลิ่นเหม็น เลยนำโจทย์นี้มาคิดเป็นของที่มีนวัตกรรมให้ง่ายต่อการใช้งานรองรับความต้องการของคนรุ่นใหม่

“เราวางกลุ่มลูกค้าเป้าหมายเป็นกลุ่มวัยรุ่นทั่วประเทศอายุ 22 ปีขึ้นไป โดยไม่เน้นภาคใดภาคหนึ่ง หลังทำการวิจัยแล้วพบว่า แม้คนใต้จะเป็นกลุ่มกินกะปิที่มากที่สุดเมื่อเทียบกับภาคอื่นซึ่งยังนิยมใช้กะปิแบบเดิมอยู่ดี ดังนั้นจึงตั้งใจเจาะคนรุ่นใหม่ที่ชอบลองของใหม่ และอยากทำกับข้าวด้วยวิธีไม่ยุ่งยาก”

แน่นอนว่าการทำกับข้างด้วยวิธีที่ไม่ยุ่งยากจำเป็นต้องเอากะปิออกจากประปุก มาเป็นผลิตภัณฑ์กะปิแบบใหม่ 

เพื่อให้สะดวกต่อการใช้งาน ทีมงานจึงทดลองเปลี่ยนรูปแบบเป็นก้อนกะปิคล้ายซุปก้อน และกะปิแบบผงปรุงรส แต่ก็พบว่าทั้ง 2 อย่างนี้ยังได้ผลไม่เป็นที่พอใจ เพราะรสชาติไม่อร่อยเท่าเดิม จนสุดท้ายเปลี่ยนมาอยู่ในรูปแบบซอสกะปิปรุงรส ซึ่งนอกจากจะสามารถรักษาต้นตำรับความอร่อยไว้ได้แล้ว ยังตอบโจทย์ด้านความสะดวกต่อการใช้งาน เหมาะกับการใช้ชีวิตในเมืองที่ทำกับข้าวไม่เป็นก็สามารถเทซอสปรุงอาหารในเมนูกะปิได้ง่ายๆ 

 “ซอสกะปิ “เคยนิคะ” ถือได้ว่าเป็นนวัตกรรมครั้งแรกในตลาดซอสปรุงรสที่ทำมาจากกะปิ โดยนำกะปิซึ่งเป็นอัตลักษณ์ของคนใต้มาผ่านกระบวนการการย่อยสลายโดยเอนไซม์ ย่อยโปรตีนและไขมันจากกุ้งเคย ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเคมี และจุลินทรีย์ในกระบวนการหมักโดยธรรมชาติ ช่วยทำให้เกิดกลิ่นหอมและรสชาติกลมกล่อมคงเอกลักษณ์การเป็นกะปิไว้ สามารถใช้งานในรูปแบบซอสเหมือนกับซอสมะเขือเทศ และซอสพริก แก้ปัญหาการใช้งานกะปิในรูปแบบเก่าที่ใช้งานยุ่งยากและต้องมีขั้นตอนการเตรียมและการชั่งตวงที่ยุ่งยาก ไม่เหมาะกับในยุคสมัยปัจจุบัน และยังลดปัญหาการปนเปื้อนจากการผลิตกะปิในปัจจุบัน เหมาะกับการนำไปใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมที่มีการใช้กะปิเป็นตัวชูรสอาหารให้กลมกล่อม และทำให้ทานอาหารได้อร่อยขึ้น ซึ่งสามารถใช้เป็น Base Sauce หรือเครื่องปรุงรสพื้นฐานแทนการใช้หรือร่วมใช้กับซอสปรุงรส ซอสหอยนางรม น้ำปลาร้า และน้ำปลา จึงเป็นซอสที่ทำอาหารได้หลากหลายเมนู ทั้งผัด ยำ และน้ำพริก”

สุขศิริ เน้นย้ำว่า เนื่องจากซอสกะปิแบบนี้ไม่เคยมีในไทยมาก่อน เคยนิคะจึงวางตำแหน่งซอสกะปิเป็นเครื่องปรุงรสพื้นฐานที่สามารถไปใช้กับซอสอื่นได้ แม้จะตีตลาดในซอสผัด แต่ไม่ขอไม่แข่งกับใคร เพราะอยากให้ซอสกะปิเคยนิคะไปช่วยให้อาหารอร่อยขึ้น 

สุดท้ายนี้สุขศิริ มีแนวคิดการต่อยอดกิจการครอบครัวมาฝากว่า การต่อยอดด้วยวิธีคิดนอกกรอบเป็นสิ่งที่ดี แต่ต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ในอีกทางหนึ่งทายาทต้องกลับไปหา Core Value ของธุรกิจรุ่นพ่อรุ่นแม่ให้เจอ เพื่อนำมรดกเหล่านั้นมาพัฒนาและเพิ่มมูลค่าสินค้าให้ดียิ่งขึ้น

“ทายาทผู้รับไม้ต่อต้องคุยกับรุ่นพ่อแม่ และเข้าใจเขาเยอะๆ อาจจะเหนื่อยในการอธิบายในสิ่งใหม่ที่เรากำลังจะทำ ก็ต้องมาทำความเข้าใจร่วมกันโดยใช้เหตุผล หรือผลการสำรวจต่างๆ มาอธิบาย ซึ่งการทำธุรกิจครอบครัว ข้อดีคือทายาทไม่ต้องมานับศูนย์ใหม่ แต่ต้องหาแวลูเพื่อต่อยอด สำหรับซอสกะปิเคยนิคะ เรามีคอนเซ็ปต์การพัฒนาโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง หลังจากที่เรามั่นใจว่ารสชาติกะปิของครอบครัวอร่อยไม่แพ้ใคร เราจึงขยายฐานหาคนกลุ่มลูกค้าใหม่ และใช้ความได้เปรียบที่เราเข้าใจลูกค้ากลุ่มนี้มากกว่ารุ่นพ่อแม่ แล้วหาทางพัฒนาสินค้าแบบใหม่ที่มีรสชาติความอร่อยแบบกะปิแม่ยินดีเหมือนเดิม และช่องทางจัดจำหน่ายให้โดนใจกลุ่มนี้”     

คอนเซ็ปต์ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังยังถูกนำมาใช้กับการตั้งชื่อแบรนด์ “เคยนิคะ” ด้วย

“ตั้งใจไว้ตั้งแต่แรกแล้วว่าจะใช้ชื่อที่ทำให้คนจำง่าย จึงเลือกที่จะใช้ชื่ออื่นแทน “กะปิแม่ยินดี” ซึ่งเป็นแบรนด์เดิม แต่ในเวลาเดียวกันแบรนด์นั้นก็ต้องแสดงให้เห็นถึงอัตลักษณ์ของภาคใต้ด้วย จึงนำคำว่า “เคย” ซึ่งแปลว่ากะปิในภาษาใต้ แล้วกะปิก็ทำมาจากกุ้งเคยมาเป็นตัวตั้ง แล้วหาคำที่เรียกแล้วเข้าปาก เลยเป็นที่มาของเคยนิคะ สร้างการจดจำได้ทันที เพราะคนใต้ที่รู้จักคำว่า “เคย” อยู่แล้วก็เข้าใจว่ามันคือกะปิ ส่วนใครที่ไม่รู้จักคำนี้อาจจะคิดว่าเป็นแบรนด์ญี่ปุ่นหรือเปล่า ซึ่งการตั้งข้อสังเกตในลักษณะนี้ก็ช่วยให้คนจดจำแบรนด์ได้เร็วขึ้นในอีกทางหนึ่ง”

สำหรับช่องทางการจำหน่ายนั้น ปัจจุบันซอสกะปิเคยนิยะขนาด 290 กรัม ราคาขวดละ 79 บาท มีจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์ และช่องทางโมเดิร์นเทรดอย่างโฮมเฟรชมาร์ท ห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์ และวิลล่า มาร์เก็ต ส่วนแผนต่อไปจะเป็นการส่งออกไปต่างประเทศ ทั้งในยุโรป และ CLMV ปัจจุบันอยู่ในระหว่างการพัฒนาซอสกะปิสูตรใหม่ ที่ยังคงคอนเซ็ปต์เดิม คือการนำอาหารใต้สู่อาหารโลก โดยใช้นวัตกรรมผสมผสานกับรากเหง้าของอาหารท้องถิ่นมาเป็นจุดขาย คาดว่าภายในปีหน้าจะสร้างปรากฎการณ์ให้กับวงการซอสได้อีกครั้ง

บทความแนะนำ

ถูกดี มีมาตรฐาน ร้านโชวห่วยโมเดลใหม่ที่เป็นมากกว่าร้านค้าปลีก

หากมองเข้ามาที่ตัวเลขร้านค้าปลีกขนาดเล็กในรูปแบบดั้งเดิมที่เรียกว่าโชวห่วยแล้ว จะพบว่า ปัจจุบันมีตัวเลขอยู่ราว กว่า 4 แสนร้าน ตัวเลขนี้ เป็นตัวเลขที่ไม่ขึ้นลงมานานหลายปี เพราะขณะที่มีร้านโชวห่วยหลายรายต้องปิดกิจการไป แต่ก็มี SMEs ที่สนใจเปิดร้านโชวห่วยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ตัวเลขรวมอยู่ในระดับนี้มาหลายปี 

ร้านโชวห่วย ถือเป็นช่องทางขายสำคัญของสินค้าอุปโภคและบริโภค เพราะนอกจากจะเข้าถึงกลุ่มคนได้อย่างลงลึกในระดับหมู่บ้านแล้ว ยังถือเป็นช่องทางขายของสินค้าโดยเฉพาะกับแบรนด์เล็กๆ ที่มีอำนาจต่อรองกับเชนค้าปลีกโมเดิร์นเทรดขนาดใหญ่ไม่มากนัก ได้ใช้เป็นช่องทางในการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าระดับรากหญ้า

ด้วยการที่ เป็นช่องทางขายที่เข้าถึงคนทั่วประเทศได้เป็นอย่างดี ทำให้มีการมองเห็นโอกาสทางธุรกิจที่หากสามารถร้อยเรียงร้านค้าพวกนี้เข้ามาอยู่ในซัพพลายเชนที่สร้างขึ้น โอกาสที่จะมีเครือข่ายการขายที่ครอบคลุมกลุ่มลูกค้าก็มีมากตามไปด้วย ทำให้หากสามารถรวบรวมตัวเลขร้านโชวห่วยเข้ามาอยู่ในเชนที่สร้างขึ้น โอกาสที่จะพัฒนาหรือต่อยอดให้เป็นมากกว่าร้านขายสินค้า แต่เป็นศูนย์รวมของการให้บริการรูปแบบต่างๆ ก็ไม่ใช่เรื่องที่เกินเลยไปนัก

การสร้างโมเดลร้านโชวห่วยในรูปของ “คอนวีเนียนสโตร์ ท้องถิ่น” ภายใต้ชื่อแบรนด์ “ถูกดี มีมาตรฐาน” ของเจ้าพ่อคาราบาวแดง เสถียร เศรษฐสิทธิ์ ที่ทำในนามบริษัท บริษัท ทีดี ตะวันแดง จำกัด คือภาพสะท้อนที่ชัดเจนในเรื่องนี้ เพราะเป้าหมายสำคัญของการขยับตัวทางธุรกิจครั้งนี้ ไม่ได้มองแค่การมีร้านค้าปลีก แต่มองถึงการเป็น Point of Everything ที่สามารถนำมาต่อยอดธุรกิจได้มากมาย

ร้านถูกดี มีมาตรฐาน ถูกส่งเข้ามาในตลาดครั้งแรกเมื่อ 2 ปีที่แล้ว โดยมองถึงการเข้ามาจับมือกับผู้ประกอบการร้านโชวห่วยที่มีประมาณกว่า 400,000 ร้านค้าทั่วประเทศ เพื่อเปลี่ยนเป็นร้านถูกดี มีมาตรฐาน โดยทีดี ตะวันแดง จะเป็นคนเข้าไปช่วยวางระบบบริหารจัดการค้าปลีกรูปแบบใหม่ รวมถึงการบริหารจัดการ และการทำรายการส่งเสริมการขายเพื่อให้สามารถยกระดับการทำธุรกิจให้มีมาตรฐานเหมือนกันทั่วประเทศได้ ซึ่งถือเป็นโมเดลการทำร้านโชวห่วยที่ค่อนข้างน่าสนใจ

ทั้งนี้ก็เพราะว่า ทีดี ตะวันแดง ตั้งใจจะให้ SMEs ที่เป็นผู้ประกอบการร้านโชวห่วยเข้ามาร่วมอยู่ในเชนด้วยการไม่คิดค่าแฟรนไชส์ แต่เป็นการแชร์กำไรร่วมกัน โดยร้านโชวห่วยที่สนใจต้องเสียเงินค่ามัดจำสินค้าจำนวน 2 แสนบาท และเงินจำนวนนี้จะได้คืนเมื่อเลิกทำ 

ขณะที่ ทีดี ตะวันแดง จะจัดหาสินค้าหมุนเวียนเข้ามาขายในร้านให้ และจะใช้วิธีแบ่งผลกำไรกันโดยเจ้าของร้านโชวห่วยจะได้ 85% ส่วนทีดี ตะวันแดง จะได้ 15% ซึ่งถือเป็นเงื่อนไขที่ค่อนข้างดี เพราะเงินลงทุนที่ต้องควัก หากไม่มีเงินก้อน ก็สามารถขอสินเชื่อกับสถาบันการเงินอย่างธนาคารกสิกรไทยในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำได้ 

หลังจากตกลงร่วมเป็นพาร์ทเนอร์แล้ว จะต้องมีการตกแต่งร้านให้ออกมาในมาตรฐานเดียวกัน โดยทีดี ตะวันแดงจะเป็นคนวางระบบบริหารจัดการให้ โดยจะมีการลงเครื่อง P.O.S หรือ Point of Sales ให้ ซึ่งเจ้าเครื่องดังกล่าวนี้ จะเป็นตัวเชื่อมโยงระบบการขายมาที่บริษัทแม่ ทำให้สามารถรู้ข้อมูลว่าสินค้าตัวไหนขายดี ไม่ดีอย่างไร 

ทีดี ตะวันแดง เริ่มทดลองทำร้านถูกดี มีมาตรฐาน ด้วยการลงทุนเองเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา โดยทดลองเปิดร้านในจังหวัดนครปฐม อุดรธานี ขอนแก่น และพิษณุโลก พบว่า ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี จึงเดินหน้าหาพันธมิตรเพื่อเข้ามาร่วมอยู่ในเชน โดยเสถียร เศรษฐสิทธิ์ ประธานกรรมการ บริษัท ทีดี ตะวันแดง จำกัด ย้ำว่า ไม่ได้ต้องการแข่งกับร้านโชวห่วยที่มีอยู่ แต่ต้องการเข้าไปช่วยยกระดับให้โชวห่วยมีความเข้มแข็งมากขึ้น เพราะปัญหาที่ผ่านมาของการทำร้านโชวห่วยก็คือ การขาดการบริหารจัดการที่ดี รวมถึงขาดเทคโนโลยีที่เป็นเรื่องสำคัญของการบริหารจัดการร้านค้าปลีกในปัจจุบัน

ตามเป้าหมายที่วางไว้ จะมีการเปิดร้านถูกดี มีมาตรฐานให้ครบ 6,000 ร้านภายในปีนี้ ส่วนในปีนี้ จะขยับขึ้นไปเป็น 30,000 ร้าน และจะเพิ่มเป็น 50,000 ร้านค้าภายในปี 2566 ซึ่งการมีจำนวนสาขาที่มากขนาดนั้น จะทำให้ร้านถูกดี มีมาตรฐาน ก้าวขึ้นมาเป็นเชนค้าปลีกขนาดใหญ่ที่สามารถเข้าถึงลูกค้าระดับรากหญ้าได้แบบลงลึกทั่วประเทศ ซึ่งนั่นจะทำให้สามารถต่อยอดไปสู่การเป็น Point of Every Thing หรือเป็นเครือข่ายที่ทำได้ทุกสิ่งอย่าง ทั้งในเรื่องของการให้บริการจ่ายบิล ลงทะเบียน หรือแม้แต่การสร้างรายได้จากค่าโฆษณา ณ จุดขาย 

สิ่งที่น่าสนใจอย่างหนึ่งก็คือ เสถียรเลือกโมเดลการทำธุรกิจแบบ Sharing โดยยืนยันว่า นอกจากการดึงร้านโชวห่วยเข้ามาร่วมกันพัฒนาธุรกิจแล้ว ยังจะเป็นช่องทางในการช่วยเหลือเจ้าของสินค้าโดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs รายเล็กๆ ในพื้นที่ที่สามารถใช้เป็นช่องทางขายได้ โดยเริ่มทำบ้างแล้วกับสินค้าในกลุ่มน้ำปลาร้าที่มีผู้ผลิตในพื้นที่ภาคอีสานเข้ามาเป็นพันธมิตร นำสินค้ามาวางขายในสาขาต่างๆ 

ปัญหาใหญ่ของเจ้าของสินค้าที่เป็นผู้ประกอบการ SMEs ในการนำสินค้าเข้าไปวางขายในเชนร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ก็คือ การมีต้นทุนในการขายค่อนข้างมาก จากค่าเรียกเก็บต่างๆ ทำให้ผู้ประกอบการ SMEs บางรายต้องเลือกที่จะธุรกิจในรูปแบบของผู้รับจ้างผลิตสินค้าเฮ้าส์แบรนด์ให้กับเชนค้าปลีกแทน ขณะที่มีไม่น้อย ต้องยอมที่จะแบกรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นนี้ เพื่อให้มีที่ยืนในร้านค้าปลีกที่เป็นเชนขนาดใหญ่

ขณะที่ การมียอดสั่งซื้อจำนวนมากจากการทำร้านซี เจ เอ็กซ์เพรส ที่เป็นซูเปอร์ คอนวีเนียนสโตร์ในเครือของทีดี ตะวันแดงที่มีอยู่มากกว่า 600 สาขาในปัจจุบัน ทำให้มีวอลุ่มการสั่งซื้ออยู่แล้ว ส่งผลให้ได้ต้นทุนสินค้าที่ค่อนข้างต่ำ จึงสามารถขายสินค้าในราคาถูกได้ ซึ่งเสถียรบอกว่า จากการทดลองทำร้านของตัวเอง สามารถมียอดขายออกมาเฉลี่ย 10,000 บาทต่อวัน ซึ่งมากกว่าที่โชวห่วยทั่วไปที่ทำได้เฉลี่ยวันละ 2,000 – 3,000 บาท ทำให้แต่ละร้านที่ร่วมเป็นพาร์ทเนอร์ สามารถมีรายได้เฉลี่ย 2 – 3 หมื่นบาทต่อเดือน ซึ่งเป็นรายได้ที่สามารถอยู่ได้อย่างสบายในต่างจังหวัด

เสถียร ย้ำให้เห็นภาพว่า ธุรกิจค้าปลีกมีมาร์จิ้นค่อนข้างต่ำ หักค่าบริหารจัดการแล้วเหลือแค่ 2% การวางเป้าหมายให้ร้านถูกดี มีมาตรฐานเป็น Point of Everything จึงถือเป็นตัวช่วยที่จะทำให้สามารถสร้างรายได้จากธุรกิจอื่นๆ ตามมาในอนาคต 

อย่างไรก็ตาม ปัญหาใหญ่ของการทำค้าปลีกในลักษณะของการเป็นเชนที่มีจำนวนสาขามากๆ นั้น ระบบหลังบ้านต้องดี ซึ่งการทำร้านซีเจ เอ็กซ์เพรสมาก่อน ทำให้มีการลงทุนเรื่องของระบบและได้คนรุ่นใหม่เข้ามาช่วยเป็นพลังขับเคลื่อน ส่วนเรื่องของคลังสินค้าที่จะเข้ามาดูแลการกระจายสินค้าเข้าร้านนั้น ปัจจุบันมีอยู่ 8 แห่งทั่วประเทศ เป็นคลังสินค้าในรูปแบบเช่าซึ่งเป็นการทดสอบตลาดก่อนที่จะมีแผนการลงทุนทำคลังสินค้าของตัวเอง 15 แห่งในปีหน้านี้ ใช้เงินลงทุนเฉลี่ยต่อแห่ง 3,000 ล้านบาท

ถูกดี มีมาตรฐาน ถือเป็นอีกการขยับตัวเพื่อปูทางไปสู่การเป็นร้านโชวห่วยโมเดลใหม่ที่มีเครือข่ายที่เข้มแข็งทั่วประเทศ ซึ่งทำให้คนที่อยากจะเข้ามาเป็นผู้ประกอบการ SMEs ร้านโชวห่วย แม้จะไม่มีประสบการณ์ก็สามารถทำได้ทันที 

ถูกดี มีมาตรฐานจึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจของผู้ประกอบ SMEs ที่วันนี้สามารถสร้างธุรกิจร้านค้าปลีกขนาดเล็กของตัวเองโดยมีระบบการบริหารจัดการค้าปลีกสมัยใหม่เข้ามาช่วยสนับสนุนในวงเงินลงทุนที่ไม่สูงมากนัก 

สำหรับผู้ที่สนใจสามารถติดต่อเพื่อขอข้อมูลหรือขอร่วมเป็นพันธมิตรได้หลากหลายช่องทาง ทั้งโทรศัพท์ที่หมายเลข 02 023 8888 เว็บไซต์ www.ร้านถูกดีมีมาตรฐาน.com เฟสบุ๊กร้านถูกดีมีมาตรฐานพาร์ทเนอร์ และ Line official @tdofficial หรือสมัครโดยตรงที่สำนักงานใหญ่ อาคาร 393 สีลม ชั้นที่ 3 เลขที่ 393 ถนนสีลม แขวงสีลม เขตบางรัก กรุงเทพฯ 10500 

บทความแนะนำ

จิตตะ เวลธ์ แพลตฟอร์มการลงทุนยุคดิจิทัล ช่วยเพิ่มศักยภาพการลงทุน

ภาพที่คุ้นเคยที่เราเห็นนักลงทุน นั่งจ้องกระดานหุ้นเพื่อดูตัวเลขการลงทุนของหุ้นที่ปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลาในช่วงที่ตลาดหุ้นเปิด จนกระทั่งตลาดหุ้นปิดในแต่ละวัน ภาพที่เคยชินจะค่อยๆลดจำนวนลง เมื่อบริษัทสตาร์อัพทางด้านการเงิน (FinTech)ได้ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงหรือ Deep technology เช่นเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial intelligence) หรือ เอไอ เข้ามาช่วยในการวิเคราะห์การลงทุนบริษัทในตลาดหลักทรัพย์เพื่อให้การลงทุนมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยมีเทคโนโลยีมาช่วยในการวิเคราะห์การลงทุนให้การลงทุนมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เช่นเดียวกับ จิตตะ เวลธ์ หนึ่งในสตาร์ทอัพทางด้านการเงิน หรือ FinTech ที่เล็งเห็นประสิทธิภาพของการใช้เทคโนโลยีที่ช่วยเพิ่มโฮกาสในการลงทุนและทำให้กาลงทุนในยุคดิจิทัลมีความเสี่ยงลดน้อยลง มีประสิทธิภาพในการลงทุนมากยิ่งขึ้นกว่า

จิตตะ เวลธ์ เป็นหนึ่งอีกแฟลตฟอร์มทางการเงินที่เกิดจากสตาร์ทอัพฝีมือคนไทย ซึ่งเคยเป็นอดีตผู้บริหารระดับสูงของบริษัทเทคโนโลยีระดับโลกอย่าง Google ในประเทศไทย

จุดเริ่มต้นของแพลตฟอร์มจิตตะ เวลธ์ มาจากความต้องการที่จะคนทั่วไปได้เข้าถึงการวางแผนทางการเงิน การลงทุนได้มากที่สุด เนื่องจากคนไทยมีอัตราของคนที่มีพอร์ตลงทุนหรือพอร์ตกองทุนเพื่อวัตถุประสงค์ต่างๆ อาทิ การวางแผนเพื่อที่จะเกษียณอายุน้อยมาก คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 11% ของประชากรทั้งหมด จึงเห็นโอกาสที่คนไทยยังมีเงินจำนวนมากกว่า 6 ล้านล้านบาทที่ยังไม่มีการลงทุน

“จิตตะ เป็นแพลตฟอร์มเทคโนโลยีทางด้านการเงิน หรือ FinTech ที่ช่วยให้นักลงทุนได้กำไรที่ดีกว่าด้วยวิธีการที่ง่ายกว่า จิตตะใช้เอไอในการคัดเลือกวิเคราะห์คัดเลือกหุ้นที่มีระสิทธิภาพการลงทุนมาให้อัตโนมัติ ที่เรียกว่า automated system ก็คือทำงานอัตโนมัติจะเน้นเรื่องของการใช้เทคโนโลยีมาทำงานแทนคน โดยมีเทคโนโลยีเอไอ เป็นอันดับแรกอันดับที่สองเทคโนโลยีที่เรียกว่า automated investing technology การจัดการการลงทุนโดยอัตโนมัติ ระบบจะปรับพอร์ตการลงทุนให้อัตโนมัติ ทำให้เพิ่มโอกาสในการลงทุนในยุค New Normal” นางสาวพรทิพย์ กองชุน Co-founder บลจ. จิตตะ เวลธ์ จำกัด กล่าวและว่า 

 ความตั้งใจตในการทำแพลตฟอร์มนี้คืออยากนำเทคโนโลยี ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial intelligence) หรือ AI มาช่วยในการบริหารจัดการกองทุนหุ้นแบบอัตโนมัติ ซึ่งเป็นกองทุนส่วนบุคคลเพื่อการลงทุนระยะยาว สามารถปรับพอร์ตการลงทุนเป็นระบบด้วยเทคโนโลยีอัตโนมัติ นอกจากนี้ยังช่วยบริหารจัดการให้นักลงทุนรายย่อยด้วยเทคโนโลยีอัตโนมัติ (Automated investing) จัดสรรเงินลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆทั่วโลกให้เหมาะสมกับผู้ลงทุน เพื่อให้นักลงทุนทั่วไปสามารถลงทุนได้อย่างถูกต้อง สร้างผลตอบแทนที่ดีอย่างยั่งยืน

ปัจจุบัน Jitta Wealth ให้บริการ 3 รูปแบบได้แก่ Jitta Ranking, Global ETF และ Thematic 

โดยในส่วนของ Jitta Ranking คือ อัลกอริทึมวิเคราะห์หุ้นด้วยเทคโนโลยี AIเป็นการจัดอันดับหุ้นน่าลงทุน ในราคาที่เหมาะสม น่าลงทุนที่สุดในระยะยาว ตามหลักกการลงทุนเน้นคุณค่าของวอร์เรน บัฟเฟตต์ 

สำหรับ Global ETF (Exchange Trade Fund) เป็นกองทุนส่วนบุคคล เพื่อรองรับการลงทุนต่างประเทศด้วยการนำเทคโนโลยีจัดพอร์ตลงทุนอัตโนมัติ (Automated Investing) ในรูปแบบของการกระจายลงทุนจัดพอร์ตให้เหมาะสมด้วยหุ้น หุ้นกู้ และพันธบัตร กระจายความเสี่ยง ครอบคลุมสินทรัพย์รอบโลก ส่วนของ Thematic เป็นนโยบายจัดพอร์ตการลงทุนตามกลุ่มธุรกิจอนาคตที่มีโอกาสเติบโตสูงในตลาดเกิดใหม่ เช่น จีน เวียดนาม สหรัฐ หรือลงทุนในอุตสาหกรรมที่มาแรง เช่น อีคอมเมิร์ซ เทคโนโลยี สุขภาพ เกม หรือ E-sport โดยปัจจุบันให้บริการรองรับ 16 รูปแบบ (Themes)

สำหรับนักลงทุนที่ต้องการลงทุนกับ จิตตะ สามารถที่จะใช้เงินลงทุนเริ่มต้นที่ 100,000 บาท และยังสามารถเพิ่มทุนได้ตลอดเวลา มีการถือครองหุ้นอย่างน้อย 1 ปี ปัจจุบัน จิตตะ มีลูกค้านักลงทุนประมาณ 20,000 ราย แบ่งเป็นลูกค้าคนไทย 90 % และลูกค้าต่างชาติที่อยู่ในไทย 10 %โดยนักลงทุนมีการลงทุนในหุ้น 80 %และอีก 20 % เป็นการลงทุนในรูปแบบของกองทุน Global ETF ตามหลักการของ วอร์เรน บัฟเฟตต์

จิตตะ ก่อตั้งมา 9 ปีแล้วและมุ่งเน้นในการทำธุรกิจที่ตลาดไทยก่อนเนื่องจากตลาดไทยถือว่าเป็นตลาดที่มี่ขนาดใหญ่มาก คนที่มีเงินแล้วยังไม่ได้ลงทุนในประเทศไทย มีเม็ดเงินมูลค่าประมาณ 6 ล้านล้านบาท จิตตะตั้งเป้าที่จะช่วยนักลงทุนมีการลงทุนผ่านจิตตะ ที่ 1 % หรือมีมูลค่าประมาณ 60,000 ล้านบาทในอีก 2-3 ปีข้างหน้านอกจากนี้ยังมีแผนที่จะเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่อย่างต่อเนื่อง อาทิ การวางแผนการเงินที่เป็นสินทรัพย์อื่นๆที่ไม่ใช่หุ้นเพียงอย่างเดียว เช่น มีเรื่องของพันธบัตรประกันสุขภาพประกันชีวิต เป็นต้น

“เรามองว่าประเทศไทยก็ยังเป็นประเทศที่ยังมี Opportunity เรียกว่าจะโตได้อีก โปรดักส์ของประเทศไทยตั้งแต่ต้นปีเป็นต้นมา เราได้กำไรอยู่ประมาณ 40% ถ้าเป็นของ Global ETF ก็ประมาณ 20%ตลาดสหรัฐก็ประมาณ 20% ขณะที่ตลาดเวียดนามมีกำไรจากการลงทุนมากกว่า 100 % ถ้าลงทุนกับจิตตะก็ถือว่าชนะ Index ของตลาดการลงทุน” พรทิพย์ กล่าว

นอกจากนี้ในส่วนของจุดเด่นของจิตตะ เมื่อเทียบกับ บลจ.อีก ประมาณ 30 รายในตลาดแล้ว จิตตะ เป็น บลจ. ที่มีการนำเทคโนโลยีมาช่วยในการบริหารจัดการ พอร์ตให้ลูกค้าเกือบทั้งหมด มีการใช้เทคโนโลยีช่วยในการจัดการทุกกระบวนการ ใช้คนและสามารถขยายการทำงาน (Scale) ด้วยต้นทุนที่ต่ำลง

พรทิพย์ กล่าวว่า ปัจจุบันมีทีมงานประมาณ 50 คน และอยู่ระหว่างเพิ่มจำนวนพนักงานเพื่อรองรับการเติบโตประมาณ 4 เท่า หรือ 400 %ในปีนี้ เนื่องจากบริษัทได้เปิดบริการใหม่ ในช่วง COVID-19 เพื่อรองรับความต้องการของนักลงทุนอย่างต่อเนื่อง 

“ในช่วงไตรมาส 3 ปี 2563 เราได้เปิดบริการ Thematic รองรับการลงทุนที่หลากหลาย อาทิ การลงทุนในหุ้นของกลุ่มธุรกิจอีคอมเมิร์ซ สุขภาพ เกม รวมถึงไปเปิดตลาดการลงทุนในประเทศจีน เวียดนาม ทำให้ได้รับความสนใจจากลูกค้านักลงทุนรายใหม่จำนวนมาก แม้ว่าสถานการณ์ COVID-19 ยังมีนักลงทุน ลงทุนอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากจิตตะ พัฒนาโปรดักส์ใหม่ที่ตอบโจทย์ความต้งการ เราออกโปรดักส์ใหม่ที่เร็ว เราเห็นโอกาสเปิดโลกแห่งการลงทุนให้นักลงทุนมากขึ้น 

ถ้าเราจะมุ่งลงทุนในประเทศไทยอย่างเดียว ลูกค้าหายหมดเราจะเป็น Startup ที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19  คือไม่มีคนซื้อขายกับเรา คือไม่มีใครใช้บริการดังนั้นทุกอย่างก็ต้องรีบพัฒนาเพื่อให้ การรับลูกค้ามีความรวดเร็ว มีการให้บริการเปิดบัญชีผ่านออนไลน์ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง ระบบยืนยันตัวตนผ่านอิเล็กทรอนิกส์ e-KYC (Know Your Customer)ระบบลายเซ็นต์อิเล็กทรอนิกส์ e-Signature ก็จะทำให้มันง่าย ลูกค้าเยอะขึ้น มีผลตอบแทนที่สูง คนก็บอกต่อ เราเปลี่ยนวิกฤต เป็นโอกาสโควิดเป็นโอกาสที่ทำให้มีลูกค้าเยอะมากขึ้น เป็นโอกาสที่ออกสินค้าใหม่และมีลูกค้าใหม่มากขึ้น บริษัทที่เกี่ยวเนื่องกับเทคโนโลยีได้อานิสงส์จากช่วงโควิดเยอะมาก พวกคลาวน์ พวกอีคอมเมิร์ซ ยอดขายกระฉูดมาก ทุกคนย้ายมาใช้คลาวน์กันหมด” พรทิพย์ กล่าว

สำหรับเคล็ดลลับในการทำธุรกิจนั้น พรทิพย์ กล่าวว่า สิ่งแรกมองวิกฤตให้เป็นโอกาสให้มากที่สุด 

สองคือยืดหยุ่นให้ได้มาก ไม่ยึดติด ไม่ต้องคิดว่าทุกอย่างจะต้องสมบูรณ์ ทุกอย่างจะต้องดี เพราะมีปรากฏการณ์ว่าลูกค้าจะชอบหรือไม่ชอบสินค้าขนาดไหน ช่วงโควิด คุณตอบไม่ได้ และสามคุณช้าไม่ได้ ต้องออกสินค้าใหม่ให้เร็ว เนื่องจากในยุคโควิดคนชอบลงทุนคุณไม่ต้องพิสูจน์อะไรมาก

เนื่องจากพฤติกรรมของคนเปลี่ยนไปค่อนข้างเยอะ และเมื่ออยู่ในภาวะ New normal แล้วการให้บริการในรูปแบบเดิมอาจจะไม่กลับมาเป็นเหมือนก่อนเช่นลูกค้าเดิมที่อาจจะต้องการเดินไปธนาคารไปคุยกับผู้แนะนำการลงทุนเปลี่ยนพฤติกรรมเป็นการทำธุรกรรมผ่านออนไลน์ เป็นต้น

สำหรับเทรนด์ของอุตสาหกรรมทางด้านการเงินของประเทศไทยนั้น พรทิพย์ กล่าวว่า กลุ่มอุตสาหกรรมฟินเทคจะมุ่งเน้นในเครื่องสังคมไร้เงินสด (Cashless society) การทำธุรกรรมผ่านออนไลน์มากขึ้น มีการนำเทคโนโลยีและระบบมาช่วยในการจัดการเพื่ออำนวยความสะดวกและความโปร่งใสมากขึ้น 

พรทิพย์ กล่าวว่า ในอนาคตอีก 2-3 ปี จิตตะ มีแผนที่จะขยายธุรกิจไปยังตลาดต่างประเทศ อาทิ ตลาดประเทศอินเดีย สิงคโปร์ ไต้หวัน และยุโรป โดยร่วมกับพันธมิตรในการขยายตลาดเพื่อให้บริการในต่างประเทศ เนื่องจากมีข้อกำหนดในเรื่องของหน่วยงานกำกับดูแล (Regulator)ในการขออนุญาตในการให้บริการ ซึ่งเป็นปัจจัยหลักสำคัญอย่างไรก็ตามที่ผ่านมาจิตตะได้รับการลงทุนจาก Angle Investor รวมถึงได้รับการลงทุนจาก Beacon VC ซึ่งเป็นธุรกิจเงินร่วมลงทุน (Venture Capital) หรือ VC ในเครือของธนาคารกสิกรไทยด้วยเงินลงทุน 100 ล้านบาท และล่าสุดได้รับการลงทุนจากนักลงทุนประมาณ 200 ล้านบาท และมีแผนที่จะรับการลงทุนจากต่างประเทศเพื่อรองรับการขยายตลาดไปยังต่างประเทศในอนาคตด้วย

บทความแนะนำ

ดิจิโอ สร้างฐานการชำระเงินผ่านมือถือสู่สังคมไร้เงินสด

การเข้ามาของเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการเงินในปัจจุบันนอกจากจะมุ่งสู่สังคมไร้เงินสด (Cashless society) เพื่อรองรับพฤติกรรมของผู้บริโภคในยุคดิจิทัลที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว นโยบายการช่วยเหลือทางด้านการเงินของรัฐบาลผ่านการชำระเงินด้วยระบบ QR Code และการระบาดของโควิด-19 เป็นปัจจัยที่เร่งและกระตุ้นให้การใช้เงินสดลดลงอย่างมาก ขณะที่การชำระเงินการผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ และมือถือที่มีความสะดวก รวดเร็ว เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด บริษัท ดิจิโอ (ประเทศไทย) จำกัด หรือ Digio Thailandผู้พัฒนาแพลตฟอร์มการชำระเงินผ่านมือถือ ภายใต้ชื่อ ดิจิโอ (Digio) เป็นหนึ่งในบริษัทผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ทางด้านการเงินหรือฟินเทค (FinTech) สัญชาติไทยเป็นหนึ่งในผู้อยู่เบื้องหลังการรับชำระเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือ ออนไลน์ของธนาคารต่างๆ มีการทำธุรกรรมผ่านระบบการชำระเงินของดิจิโอมากกว่า 60,000 ล้านบาท ต่อปีมีผู้ใช้งานมากกว่า 1 ล้านคน

นพพร ด่านชัยนาม ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้งบริษัท ดิจิโอ (ประเทศไทย) จำกัดกล่าวว่า บริษัทได้พัฒนาระบบการชำระเงินผ่านมือถือ เมื่อ 9 ปีที่ผ่านมา เกิดจากแรงบันดาลใจในการอ่านข่าวเจอ Jack Dorsey ซีอีโอ Twitter และบริษัท Square ผู้ให้บริการระบบการชำระเงินผ่านมือถือ เปิดตัวการรับชำระเงินด้วยมือถือ ผ่านระบบการชำระเงินของ Square จึงได้ลาออกจาก บริษัท Freewill FX ผู้พัฒนาระบบไดร์ฟเทสวัดคุณภาพสัญญาณมือถือ ซึ่งเป็นบริษัทที่ร่วมตั้งกับเพื่อน และก่อนหน้านั้นตนเองก็เป็นผู้พัฒนาภาษาไทยสำหรับระบบปฎิบัตรการซิมเบียน ของมือถือโนเกียด้วย 

“โดยส่วนตัวเคยเจอปัญหาเรื่องระบบธนาคารทำไมเป็นอะไรที่ยากมากหากต้องการจะไปคุยกับธนาคาร ใครจะเชื่อมระบบธนาคาร ใครจะทำอะไรเกี่ยวกับเรื่องการเงินเป็นเรื่องที่เข้าถึงไม่ได้ในสมัยนั้น เพราะติดระบบ เราถูกธนาคารผลักใสมาตลอด ถูกบอกว่าทำไม่ได้ ทำยากเพราะมีระบบรักษาความปลอดภัย มีปัญหาเยอะก็เลยติดอยู่ในใจมานาน จนถึงประมาณปี 2012 เป็นปีที่ได้อ่านข่าว เห็นอเมริกา มีบริษัทชื่อ Square เปิดบริกาให้สมาร์ทโฟนสารถรับชำระเงินรับชำระบัตรเครดิตได้ แล้วทำไมเราจะทำบ้างไม่ได้ ตรงนั้นเป็นจุดประกายเลยลาออกจากที่เดิมเลยมาทำบริษัทดิจิโอ” นพพร กล่าวและว่า

ดิจิโอใช้เวลา ในการพัฒนาต้นแบบระบบการชำระเงินผ่านมือถือ (Prototype) ประมาณ 1-2 ปี และธนาคาร กสิกรไทย เป็นลูกค้าที่ใช้งานระบบการชำระเงินของ ดิจิโอ ซึ่งมีชื่อมาจากคำว่า Digital และ เลขดิจิทัล01 เป็นรายแรก

“ตอนนั้นใช้เวลาอีกปีนึงปีกว่าเกือบสองปีจนกว่าจะได้ทำจริงๆจะมีลูกค้าก็เกือบสองปี จากวันแรกที่เดินเข้าไปคุยกับแบงค์ตอนนั้นที่ไปก็มีเคแบงค์กับกรุงศรีฯเคแบงค์เป็นลูกค้ารายแรกของดิจิโอ” นพพร กล่าวและว่าจากระบบการชำระเงินโดยใช้มือถือในการรับชำระเงิน หรือ mPos  (Mobile Point of Sale) บริษัทได้มีการพัฒนาระบบการรับชำระเงินอย่างต่อเนื่อง จนถึงปัจจุบัน ดิจิโอ ได้ให้บริการระบบรับชำระเงินและบริการที่เกี่ยวข้อง 8 บริการหลักอาทิการรับชำระเงินผ่านมือถือ (mPos) การรับชำระเงินผ่านระบบคิวอาร์โค้ด (QR Code payment) ระบบแลกแต้ม (Redeem) ระบบยืนยันตัวตน (Personal Identification) ระบบชำระเงินด้วยบัตรเครดิต ระบบผ่อนชำระ และระบบขำระเงินออนไลน์ (Online payment gateway) เป็นต้น

“mPOS เป็นโปรดักส์tแรกที่บริษัททำแต่ถ้าถามว่า ณ วันนั้นจนถึงวันนี้มันก็มา9ปีวันนี้โปรดักส์ mPos ทำรายได้10เปอร์เซ็นต์ ของธุรกิจของบริษัทที่ทำอยู่ที่เรายังมีอีก 70- 80เปอร์เซ็นต์ ที่เราทำที่แตกต่างจากเดิม แต่ว่ามันก็ยังอยู่ในเรื่องของธนาคารระบบชำระเงินระบบธนาคารระบบเปเม้นท์มันอาจจะเปลี่ยนกับการเป็นการรับบัตรโดยใช้มือถือมาเป็นคิวอาร์เพลย์เม้นทุกวันนี้ สิ่งที่ดิจีโอทำคือเราเป็นคนสร้างถนนแต่เป็นเกี่ยวกับเรื่องเงินสร้างถนนสร้างอินฟราสตรักเจอร์ให้คนสามารถพัฒนาธุรกิจให้ดีขึ้น (Efficiency) มีความโปร่งใส (Transparency)ขึ้นมีความปลอดภัย (Safety) มีระบบรักษาความปลอดภัย (Security) ทำให้การทำธุรกิจมันง่ายขึ้นคือสิ่งหนึ่งที่เราเป็นความภูมิใจเล็กๆว่าเราเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างอินฟราสตรักเจอร์ของประเทศให้มันดีขึ้น” นพพร กล่าว

สำหรับรายได้จากการให้บริการนับตั้งแต่บริการรับชำระเงินผ่านมือถือจนถึงการรับชำระเงินที่หลากหลายนั้น นพพร กล่าวว่า บริษัทมีรายได้จากการให้บริการ mPos ที่ 10 เปอร์เซ็นต์ของรายได้รวมของบริษัท ที่เหลทอ เป็นบริการใหม่ที่เกี่ยวเนื่องกับระบบการรับชำระเงินที่แตกต่างจากเดิมเพื่อรองรับระบบสังคมไร้เงินสด (Cashless society)

นพพร กล่าวต่อว่า ปัจจุบัน บริษัทมีลูกค้าทุกธนาคารในประเทศไทย แต่ละธนาคารมีการใช้บริการที่แตกต่างกัน มีการทำธุรกรรมผ่านระบบการชำระเงินของดิจิโออยู่ที่ประมาณ 60,000 ล้านบาทต่อปีและมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากพฤติกรรมของลูกค้ามีการลดการใช้เงินสดและเปลี่ยนมาเป็นการชำระเงินผ่านออนไลน์มากขึ้น โดยมีสัดส่วนการเติบโตที่เพิ่มขึ้น 10-20 เปอร์เซ็นต์ต่อเดือน

“ตัวเลขการเติบโตของการใช้ Cashless มันสูงขึ้นมากในปีสองปีที่ผ่านมาไปดูตัวเลขของแบงค์ชาติพอจะเห็นภาพว่ามันโต10 –20เปอร์เซ็นต์ ต่อเดือน ของเราก็คล้ายๆกันมันก็แล้วแต่เซอร์วิสด้วย เช่นเซอร์วิสการเอาบัตรไปรูดที่ร้านค้ามันลดลงจาก 100 เหลือ 10 เหลือ 20 แต่มันก็ไปโตที่เป็นออนไลน์เปเม้นมากขึ้นมันก็กลับกัน” นพพร กล่าวและว่า

สำหรับการขยายบริการใหม่ บริษัทมีการพัฒนาเทคโนโลยีที่รองรับระบบต้นน้ำที่เกี่ยวเนื่องกับบริการ การรับชำระเงินมากขึ้น เช่น ระบบลายเซ็นอิเล็กทรอนิกส์ (e-Signature) ระบบสัญญาอิเล็กทรอนิกส์ (e-Contract) ระบบออกไปกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax) ระบบเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ (e-Document) และระบบการภาษีหัก ณ ที่จ่าย (e-Withholding Tax) เป็นต้น 

ทางด้านผลกระทบในช่วงโควิด-19 นพพร ยอมรับว่า ดิจิโอ ได้รับผลกระทบจากภาวะโควิด-19 บ้างแต่ยังโชคดีที่ได้รับการลงทุน 4 ล้านเหรียญสหรัฐในรอบการลงทุนซีรี่ส์บี เพื่อนำเงินไปใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และการให้บริการโดยนักลงทุน ประกอบด้วย บริษัท PCC ผู้ให้บริการเครือข่ายธุรกรรมระหว่างธนาคาร และ บริษัท บีคอน เวนเจอร์ แคปิทัล จำกัด 

“จริงๆต้องบอกว่าผมโชคดีด้วยโชคดีที่ปีที่แล้วผมได้นักลงทุนมาลงทุนเพิ่มนึกถึงว่าถ้าผมไม่มีเหตุการณ์นั้นเมื่อปีที่แล้วผมก็ถือได้ว่าโชคดีในจังหวะเวลาที่มันพอดีมากๆจริงๆถ้ามองตออนนี้ก็เปลี่ยนแปลงจากวันแรกอยู่แล้วจากเดิมที่เป็นบริษัทเล็กๆมีคนไม่ถึง 10 คนผ่านมาเก้าปีเราก็มีคน 100 กว่าคนแล้วคนเราเยอะขึ้นการเปลี่ยนแปลงถามว่าเทคโนโลยีเราก็ Move ตามไปหมายถึงว่าวันนี้เราทำเท่านี้ปีหน้ามันก็ต้องทำมากขึ้นจำเป็นต้องมีเทคโนโลยีใหม่ๆหรือมีอินโนเวชั่นใหม่ๆ เราเป็นคนอยู่ข้างหน้าของอุตสาหกรรม เราก็ต้องค่อยๆ เตรียมตัวเตรียมโครงสร้างเตรียมโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) เตรียมระบบต่างๆเตรียมคอนเน็คทิวิตี้ต่างๆเพื่อให้คนมาใช้ ส่วนในมิติของธุรกิจของบริษัทมันก็เราก็เปลี่ยนจากบริษัทเล็กๆเป็นบริษัทที่ใหญ่ขึ้นมันก็จากวันแรกจนถึงปัจจุบันเรียกว่าเราค่อยๆ โตแบบ 30 – 40%” นพพร กล่าวและว่า สถานการณ์โควิด-19 ธุรกิจมีความจำเป็นอย่างมากในการดูแลกระแสเงินสด (Cash flow) และบริษัทจะขยายบริการใหม่ๆ เพื่อรองรับการเติบโตที่ยังยืน (Sustainability growth) ด้วย

“เราทำอะไรที่มีประโยชน์ทำแล้วลูกค้ารักเรา รักในสิ่งที่เราทำ และมันทำเป็นธุรกิจได้ มันช่วยให้ทุกคนเติบโตในธุรกิจได้ ผมว่านี่มัน Success แล้ว ผมไม่ได้มองว่า อีก 3 ปี 5 ปี เราต้องเข้าตลาดให้ได้ไม่เคยมี targetนั้น แต่ก็อาจจะตั้งเป้าไว้ก็ไม่แน่ พอมีนักลงทุนมาลงทุนปีที่แล้ว เป็นธนาคาร เริ่มมีว่า แล้วอยากให้ ดิจิโอ เป็นบริษัทที่อยู่ในตลาด นี่จะเป็นอีกหนึ่งเป้าของผม ผมไม่รู้นะ มันอาจจะเรียกว่า Success” นพพร กล่าว

สำหรับแผนการขยายธุรกิจไปต่างประเทศนั้น ปัจจุบันมีการทดลองให้บริการการรับชำระเงินบนรถไฟฟ้าและใช้บัตรเครดิตบนรถประจำทางที่ประเทศญี่ปุ่น (Transit payment) หลังจากโควิด-19 บริษัทจะร่วมกับพันธมิตรในการขยายธุรกิจไปยังประเทศภูฐาน กัมพูชา เวียตนาม และมาเลเซีย ในอนาคต

“ประเทศไทยเป็นประเทศ ที่คนเข้าหาดิจิทัลสูงมากๆ ทั้งความรู้ในการเข้าถึงดิจิทัล (Digital literacy)ทั้งเรื่องของ Adopt ใช้ไอทีเป็นประเทศที่ ใช้เฟสบุคเป็นอันดับ 1 ของโลก เราเป็นประเทศที่มีการใช้ ระบบพร้อมเพย์เป็นประเทศแรกในเอเชีย มี Infrastructure  ในการทำPayment คนก็ใช้เยอะ มีตัวเลขเติบโตก็ดีมากๆ เราจะเป็นตัวอย่ างถ้าเราสามารถใช้ประโยชน์จากสิ่งนี้ได้เราก็เอาสิ่งที่ได้เรียนรู้จากประเทศเราแหล่ะ และเราพยายามสร้าง โปรดักส์ สร้างServices  เพื่อเอาไปขยายต่อในประเทศอื่นวันนี้ตั้งแต่เกิดโควิดจากที่พ่อกับแม่ไม่เคยจ่ายตังค์ด้วยการโอนเงิน เดี๋ยวนี้ทุกคนมีโมบายแบงค์กิ้ง มีการโอนเงินแล้วการมีโควิดทำให้คนเข้าหา e-Payment เยอะขึ้นรวมถึงร้านค้าเมื่อก่อนอาจจะรับแต่เงินสดวันนี้ก็มีการติดตั้งป้ายคิวอาร์มีแสตนดี้และรับ e-payment เยอะขึ้นผมว่า เป็นเรื่องที่ดีมาก” นพพร กล่าว

บทความแนะนำ

บะหมี่หมื่นลี้ สร้างธุรกิจจากคนชอบกินเส้น

“บะหมี่หมื่นลี้” เริ่มต้นจากความต้องการที่จะสร้างธุรกิจของครอบครัวคุณลาวัลย์ ศรีรุ่งเรืองจิต สมัยที่ยังทำงานประจำเป็นนักบัญชี ด้วยความที่คุณลาวัลย์เป็นคนชอบทำอาหารและชอบกินเส้นบะหมี่ จึงค่อยๆ สะสมความรู้ด้านงานวิจัยอาหารอยู่นานหลายปี จนในที่สุดคุณลาวัลย์ก็สามารถสานฝันของตัวเองสำเร็จด้วยการเริ่มต้นทำเส้นบะหมี่และผลิตภัณฑ์แปรรูปจากแป้งสาลีต่างๆ  โดยจำหน่ายในรูปแบบอุตสาหกรรม และค่อยๆ พัฒนามาอย่างต่อเนื่องนานกว่า 16 ปี จนกลายมาเป็นสินค้าที่มีวางจำหน่ายในห้างสรรพสินค้าทั่วประเทศ โดยมีจุดขายคือ ไม่ใส่วัตถุกันเสีย และไม่ใส่สีสังเคราะห์

วันนี้ น้องแพม - ภิญญาพัชญ์ ศรีรุ่งเรืองจิต ทายาทของคุณลาวัลย์ได้เข้ามาเป็นกำลังเสริมที่จะช่วยนำพาธุรกิจครอบครัวให้แตกกิ่งใบขึ้นกว่าเดิม

SME One : บะหมี่หมื่นลี้เริ่มต้นมาได้อย่างไร

ภิญญาพัชญ์ : บะหมี่หมื่นลี้เริ่มต้นมาตั้งแต่สมัยคุณแม่ของแพม ตั้งแต่ปี 2545 เดิมคุณแม่เปิดสำนักงานบัญชีเล็กๆที่บ้าน และมีอยู่ช่วงหนึ่งที่คุณแม่กังวลว่าตัวเองจะไม่มีเงินมากพอที่จะส่งเสียลูกเรียนได้ในระยะยาว ก็เลยมองหาธุรกิจอื่นๆเพิ่มเติม  โดยส่วนตัวคุณแม่ชอบกินเส้นบะหมี่ ในเวลานั้นก็มองว่าน่าจะนำมาต่อยอดเป็นธุรกิจเริ่มต้นที่ดีได้ ประกอบกับมีเพื่อนๆ เป็นอาจารย์อยู่วงการด้าน Food science หลากหลายคน และโดยส่วนตัวก็มีความสนใจที่จะเรียนรู้ด้านงานวิจัยเพิ่มเติมอยู่แล้ว  จนปี 2545 คุณแม่ได้จดจัดตั้งบริษัท เป็นครั้งแรก และเริ่มผลิตสินค้าในเชิงอุตสาหกรรมในอีก 2 ปีต่อมา โดยสินค้าที่ผลิตออกมาตัวแรกนั้นคือเส้นบะหมี่ ภายใต้แบรนด์หมื่นลี้และมัมปูกุ โดยในช่วงแรกแบรนด์อาจจะยังไม่เป็นที่รู้จักมากนัก จึงต้องหากลยุทธ์และวิธีการที่จะสร้างแบรนด์ออกมาอย่างไรให้ลูกค้าจดจำและเกิดการซื้อซ้ำ เนื่องด้วยธุรกิจในวงการนี้ เรียกได้ว่ามีคู่แข่งที่เป็นเจ้าถิ่นที่น่าเกรงขาม ทั้งอายุ และความเชี่ยวชาญในการทำเส้นมาตั้งแต่บรรพบุรุษทั้งนั้น ส่วนธุรกิจของครอบครัวเราคือน้องใหม่ในวงการมากๆ เริ่มต้นจากคุณแม่เป็นคนแรก 

ในช่วงเริ่มต้น คุณแม่เป็นคนบริหารจัดการ การทำระบบมาตรฐานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น GMP Halal HalQ เชลล์ชวนชิม เรียกได้ว่าทุกมาตรฐานที่ SME อย่างเราจะสามารถทำได้ พร้อมทั้งต่อยอดการทำระบบมาตรฐาน HACCP เพิ่มเติมในเวลาถัดมา ความพยายามในการสร้างระบบมาตรฐานต่างๆนี้ นอกเหนือจากเป็นการสร้างแบรนด์และสร้างความน่าเชื่อถือแล้ว คุณแม่อยากให้บริษัทมีระบบมาตรฐานในการผลิต ที่จะช่วยการผลิตสินค้าให้ออกมามีความปลอดภัยสูงสุด เหมือนกับเป็นสินค้าที่    ”แม่ทำให้ลูกกิน” แพมและน้องชายจึงเป็นหนูทดลองคนแรกๆ ของคุณแม่ และอาจจะเรียกได้ว่า เราเป็นบะหมี่เจ้าแรกๆ ที่มีเครื่องหมายรับรองที่เป็นมาตรฐานสากล รวมถึงมีเครื่องหมายการันตีอย่างเชลล์ชวนชิมของหม่อมราชวงศ์ถนัดศรีที่สุดภูมิใจ  



SME One : คุณแม่มาจากสายบัญชี แล้วไปได้ Know How การผลิตบะหมี่มาจากไหน ไปได้สูตรต้นตำรับมาจากใคร

ภิญญาพัชญ์ : คุณแม่เรียกได้ว่าเป็นหนอนหนังสือเลย เป็นคนที่อ่านหนังสือตลอด จนถึงปัจจุบันก็ยังอ่านหนังสืออยู่ เป็นคนที่วิจัยค้นคว้าด้วยตัวเองและได้ความรู้เพิ่มเติมจากเพื่อนๆ สาย Food science ในช่วงเริ่มก่อตั้ง 

เดิมทีคุณแม่ทำธุรกิจร่วมกันกับคุณป้า คือการเข้าประมูลเพื่อส่งผักให้กับลูกค้าเอกชนรายหนึ่ง และทุกครั้งที่มีการคัดแยกตัดแต่งผัก และจัดส่งผักดังกล่าว จะเหลือเศษผักจำนวนมาก ซึ่งจริงๆแล้วไม่ได้เน่าเสีย แต่อาจจะไม่ได้สวยถึง SPEC ที่ลูกค้ากำหนดไว้ ในช่วงเวลานั้นคุณแม่มองเห็นว่า แทนที่จะนำเศษผักเหล่านี้ไปทิ้งโดยไม่เกิดประโยชน์ใดๆ สู้นำไปให้มหาวิทยาลัย เพื่อทำงานวิจัยไฟเบอร์ดีกว่า มหาวิทยาลัยมหิดล จึงเป็นมหาวิทยาลัยที่ทำงานวิจัยไฟเบอร์จากเศษผักนี้สำเร็จ จึงอยากตอบแทนคุณแม่ด้วยงานวิจัยของมหาวิทยาลัยเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ซึ่งหนึ่งในเรื่องที่คุณแม่เลือกงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยนั้น ก็คืองานวิจัยเรื่องเส้นบะหมี่  จุดนี้จึงถือเป็นจุดเริ่มต้น ที่หลังจากนั้น คุณแม่ก็อาศัยการค้นคว้า ศึกษาหาข้อมูล รวมถึงการเป็นคนช่างสังเกต มาต่อยอดและเริ่มสร้างธุรกิจด้วยตนเองจากศูนย์ และด้วยความเชี่ยวชาญทางด้านบัญชีและการเงิน จากการสั่งสมประสบการณ์ในการทำงาน ทำให้ได้นำความรู้มาวางโครงสร้างให้กับบริษัทได้เป็นอย่างดี ที่ผ่านมา ต้องเรียกได้ว่าคุณแม่เป็นคนที่มีความพยายามและมีเป้าหมายชัดเจน เลยทำให้ผ่านช่วงแรกๆมาได้ เพราะสมัยก่อนต้องยอมรับเลยว่ามันยากมากกับธุรกิจสายนี้ 

SME One : ปัจจุบันมีสินค้าทั้งหมดกี่แบรนด์

ภิญญาพัชญ์ : ปัจจุบันเรามีสินค้าทั้งหมด 4 แบรนด์ คือ มัมปูกุ หมื่นลี้ เส้นเงิน และเส้นไหม ช่วงต้นปีหน้าจะมีแบรนด์ที่ 5 ที่เป็นสินค้าเพื่อสุขภาพอีกประเภทหนึ่ง โดยคงรูปแบบการเป็นสินค้าปลอดภัย ไม่มีวัตถุกันเสีย และเน้นการแปรรูปจากธัญพืช ให้อยู่ในรูปแบบต่างๆที่ไม่ได้จำกัดเพียงแค่เป็นเส้นหรือแผ่น ตอบโจทย์คนรักสุขภาพและสายวีแกนได้เป็นอย่างดี บวกกับความตั้งใจของคุณแม่และแพม ที่หลังจากนี้ก็อยากจะพัฒนาและผลิตสินค้าที่ไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อสัตว์ มาทางสายธัญพืชแบบเต็มตัวมากกว่า

 

SME One : ชื่อแบรนด์ที่มีแบ่งตามบุคลิกของสินค้าหรือตามราคา หรือมาจากอะไร

ภิญญาพัชญ์ : ทุกๆแบรนด์ เราจะแบ่งตามสถานที่จัดจำหน่าย และแบ่งตามรูปแบบในการขายส่งหรือขายปลีก โดยเส้นเงินและเส้นไหมจะเป็นแบรนด์ที่วางจำหน่ายที่แมคโครเป็นหลัก ส่วนแบรนด์อื่นๆ จะวางจำหน่ายที่ห้างอื่นๆ รวมถึงท้องตลาดโดยทั่วไป ทั้งนี้ เราถือเป็นโรงงานบะหมี่เจ้าแรกๆ ที่ให้ลูกค้าจดจำชนิดของสินค้าจากสีถุงบรรจุภัณฑ์ เช่น หมื่นลี้บะหมี่ไข่เส้นกลม จะมีสีถุงบรรจุภัณฑ์สีแดง เป็นต้น ซึ่ง ณ ปัจจุบัน เรามีสีถุงที่แบ่งชนิดของสินค้า ให้ลูกค้าจดจำมากกว่า 10 สี เรียกได้ว่าครบทุกแม่สี ที่ช่วยเพิ่มการจดจำให้กับลูกค้า และช่วยให้การสั่งซื้อสินค้าทำได้ง่ายมากยิ่งขึ้น  นอกเหนือจากสีถุงบรรจุภัณฑ์ เราได้วางโลโก้บริษัท UN ไว้บนถุงบรรจุภัณฑ์ในทุกๆชนิดสินค้า เพราะไม่ว่าเราจะเพิ่มแบรนด์สินค้าอีกกี่แบรนด์ ลูกค้าก็สามารถจะจดจำได้ทันที ว่าแบรนด์นี้เป็นแบรนด์ที่ผลิตมาจากโรงงาน หรือบริษัทเดียวกัน 

SME One : หมื่นลี้เริ่มต้นจากตลาดสดแล้วถึงมาเข้าโมเดิร์นเทรด ปัจจุบันยอดขายจากร้านค้าที่เป็นตลาดสดกับโมเดิร์นเทรดเป็นอย่างไร

ภิญญาพัชญ์ : เนื่องด้วยสินค้าของโรงงาน ได้ชูจุดเด่นทางด้านคุณภาพของสินค้า เรื่องการไม่ใช้วัตถุกันเสียและสีสังเคราะห์ ซึ่งเป็นจุดเด่นที่ได้สร้างโอกาสให้เราสามารถเข้าโมเดิร์นเทรดในช่วงเริ่มต้นได้ ประกอบกับการขนส่งสินค้าในสมัยก่อน ยังไม่สะดวกและรวดเร็วเท่ากับปัจจุบัน การจะขยายช่องทางในการจัดจำหน่ายสินค้า โมเดิร์นเทรดจึงเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่น่าสนใจ ปัจจุบันเราจัดจำหน่ายในทุกๆ ช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นออฟไลน์ หรือออนไลน์ อาทิเช่น การรับจ้างผลิตสินค้าให้กับโรงงานอุตสาหกรรมเพื่อไปทำเป็น Ready to eat และ Ready to cook การจัดจำหน่ายให้กับตลาด หรือ ห้างสรรพสินค้า เป็นต้น ซึ่งตัวเลขและสัดส่วนของยอดขาย อาจบวกลบตามสถานการณ์ตามยุคไป แต่พยายามกระจาย ไม่เน้นหนักช่องทางใดช่องทางหนึ่ง 

 

SME One : ช่วงวิกฤติ COVID-19 ได้รับผลกระทบเยอะหรือไม่

ภิญญาพัชญ์ : ในช่วงวิกฤติ COVID-19 แพมเชื่อว่าในทุกๆกลุ่มสินค้า ต้องได้รับผลกระทบไม่ทางตรงก็ทางอ้อม แต่ก็ถือได้ว่าอาหารยังคงโชคดีที่อยู่ในกลุ่มพื้นฐานความต้องการด้านปัจจัย 4 ที่ลูกค้าประจำหรือขาจร ยังจำเป็นที่จะต้องซื้อเพื่อรับประทาน หรือซื้อเพื่อจำหน่ายในการประกอบเลี้ยงชีพ เพราะไม่ว่าเศรษฐกิจจะดีหรือไม่ดี ความต้องการของสินค้าอยู่ในอัตราคงที่ ไม่ได้เพิ่มหรือลดแบบหวือหวามากนัก  

แม้ว่าด้านความต้องการสินค้าของลูกค้าอาจจะกระทบไม่มากนัก แต่ในแง่ของการบริหารการจัดการเรื่องของต้นทุนวัตถุดิบที่เพิ่มสูงขึ้นมากๆ เนื่องจากสถานการณ์ COVID-19 รวมถึง ต้นทุนการจัดการเพื่อป้องกันการติดเชื้อ ตามมาตรการที่เราต้องควบคุมอย่างเข้มงวดในทุกวัน เป็นสิ่งที่ทำให้เราได้รับผลกระทบไม่มากก็น้อย ด้วยความที่เราต้องปกป้องและป้องกันพนักงานของเราด้วยมาตรการ ที่เสมือน Bubble and seal และ การขอความร่วมมือจากซัพพลายเออร์ในมาตรการการป้องกันต่างๆ ที่นำมาซึ่งต้นทุนที่สูงขึ้น แต่ไม่ว่าจะได้รับผลกระทบมากขึ้นเท่าใด สิ่งที่เราทำได้ คือความพยายามที่จะไม่เพิ่มราคาสินค้ากับลูกค้า รวมถึงจะไม่ลดคุณภาพของวัตถุดิบลง เพราะตรงนี้ถือเป็นหัวใจที่สำคัญที่สุดของเรา ดังนั้น เราจึงต้องพยายามใช้การบริหารการจัดการด้วยการ LEAN โดยเริ่มต้นจากสำรวจตัวเองให้มากที่สุด สิ่งใดไม่จำเป็น เราสามารถลดการใช้ให้น้อยลงได้หรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นการควบคุมให้มีปริมาณของเสียให้ลดลงให้มากที่สุด เพื่อให้ได้ของดีมากขึ้น เป็นต้น 

สำหรับการดูแลและการขับเคลื่อนองค์กรของเราในขณะนี้ เราพยายามดูแลสุขภาพของพนักงานทุกคนในทุกๆวัน ไม่ว่าจะเป็นการต้มน้ำสมุนไพรให้กินเช้า-บ่าย การแจกหน้ากาก การแจกน้ำยาฆ่าเชื้อเพื่อไปทำความสะอาดที่บ้าน แอลกอฮอล์ หรือเจลแอลกอฮอล์ หากหมดก็สามารถมาเติมที่บริษัทได้ตลอด รวมถึงการจัดเตรียมชุด CPE ถุงมือ หมวก ให้กับพี่ๆขนส่ง เพื่อสวมใส่ขณะส่งสินค้าตามสถานที่ต่างๆ และที่ขาดไม่ได้เลย คือการตรวจ Antigen Test Kit เป็นประจำทุกสัปดาห์  เราพยายามรณรงค์ให้พนักงานดูแลตนเองให้มากที่สุด ทั้งการงดการเดินทางด้วยรถขนส่งสาธารณะ 100 % ให้หลีกเลี่ยงการไปซื้อของที่สุ่มเสี่ยง โดยให้เน้นการซื้อออนไลน์แทน หากพนักงานท่านใดไม่สะดวก ทางโรงงานก็จะมีบริการสั่งซื้อและให้รับสินค้าที่โรงงานแบบ One stop service ได้เลย  

SME One : การเข้ามารับช่วงธุรกิจเป็นรุ่นที่ 2 อะไรที่ต้องเก็บรักษาไว้ อะไรที่อยากจะสร้างเพิ่ม

ภิญญาพัชญ์ : แพมมองว่าความยากของการเข้ามารับช่วงธุรกิจ คือการทำให้ธุรกิจอยู่ได้อย่างยั่งยืน ถ้าเรามองแต่เพียงจำหน่ายสินค้าเพื่อให้ได้กำไรสูงๆ เพียงอย่างเดียว ก็อาจจะได้แค่ช่วงสั้นๆ และจะถ้านับว่า รุ่นคุณแม่ คือรุ่นบุกเบิก รุ่นของแพม ก็คือรุ่นที่ต้องปรับเปลี่ยน และยิ่งต้องใช้ความรวดเร็วในการเปลี่ยนแปลง อย่างขนส่งสมัยก่อนเราค่อยๆ อัพเดท 3 เดือน 6 เดือนครั้งนึงได้ แต่ทุกวันนี้ต้องอัพเดทสถานการณ์ในทุกวัน เพื่อให้ลูกค้าได้รับของเร็วที่สุดเท่าที่เราทำได้ 

สิ่งที่ต้องเก็บรักษาไว้ คือ การทำธุรกิจด้วยหัวใจ เราต้องอ่านใจลูกค้าให้ออกว่าสิ่งที่เขาต้องการคืออะไร มีสิ่งใดที่เราสามารถช่วยลูกค้าของเราได้หรือไม่ เพื่อให้เค้ารู้สึกแฮปปี้ที่ยังอยากจะซื้อขายสินค้ากับเราอย่างต่อเนื่อง แพมคิดว่าตรงนี้เป็นอะไรที่เราจะต้องนำมาต่อยอดในเรื่องของ CRM การดูแลและการสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้า รวมถึงการสร้างองค์ความรู้ในด้านการใช้เทคโนโลยี และนวัตกรรมในรูปแบบ Automation ให้มากที่สุด เพราะยุคนี้ปลาเร็วจะได้เปรียบกว่าปลาใดๆ  สำหรับความท้าทายต่อไป ก็คงจะเป็นการดำรงธุรกิจอย่างไรให้อยู่ได้อีกเป็นร้อยๆปี เพราะธุรกิจนี้คือธุรกิจที่คุณแม่สร้างขึ้นมา แพมเองก็เห็นคุณแม่ทำงานหนักมาตลอดตั้งแต่ตัวเองอยู่ม.4 จนถึงปัจจุบันที่เราได้เข้ามาช่วยคุณแม่อย่างจริงจังขึ้นปีที่ 7 ตอนนี้ก็เลยได้เข้าใจคุณแม่มากขึ้นมากๆ 

 

SME One : สิ่งที่เราพยายามจะรักษาไว้เพื่อส่งต่อให้รุ่นถัดไปก็คือ Mindset ในการทำธุรกิจใช่หรือไม่

ภิญญาพัชญ์ : ใช่ค่ะ เราพยายามทำสินค้าที่มีคุณภาพ เพราะเราให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากๆ เราใช้บุคลากรที่จบโดยตรงทางด้าน Food science เป็น 10 คน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการควบคุมการผลิตให้สินค้าออกมามีคุณภาพที่ดีและเหมือนเดิมตลอด ซึ่งความเป็นจริงมันยากมาก เพราะการผลิตอาหาร ที่มีวัตถุดิบเป็นสินค้าเกษตร ประเภทแป้ง ที่มีความไม่คงที่ของคุณภาพและผลผลิตอยู่ตลอดเวลา เราต้องหาวิธีบริหารจัดการเพื่อให้ได้มาซึ่งผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพคงที่เหมือนเดิมโดยลูกค้าไม่รู้สึกว่ามีการเปลี่ยนแปลงใดๆ 

 

SME One : ตลาดเส้นบะหมี่มีสินค้าที่ไม่มีแบรนด์ แต่ใช้สารเคมีมากน้อยเพียงใด

ภิญญาพัชญ์ : แพมก็ไม่รู้ว่าตัวเลขมันมีมากน้อยแค่ไหน แต่ช่วงหลังก็น่าจะลดน้อยลง เพราะแพมรู้สึกว่าผู้บริโภคเขาดูสินค้าเยอะกว่าที่เราคาดคิดเอาไว้ด้วยซ้ำ เมื่อก่อน แพมอาจจะต้องอธิบายเยอะมากๆ ว่าการไม่ใส่วัตถุกันเสียนั้นดีอย่างไร แต่ปัจจุบันลูกค้าถามแพมก่อนเลยว่ามีสารเคมีอะไรไหม ก่อนที่ลูกค้าจะตัดสินใจซื้อ ลูกค้ารุ่นใหม่ๆ จะมีความรู้เฉพาะด้านมากขึ้น รู้วิธีสังเกต ว่าสินค้าแบรนด์ใดใส่สีสังเคราะห์ แบรนด์ใดไม่ใส่สีสังเคราะห์ โดย เขาจะมาถามข้อมูลตรงนี้กับแพมเพิ่มมากขึ้น เหมือนลูกค้าไม่ได้รอให้แพมอธิบายแล้ว ผู้บริโภคเป็นผู้คัดเลือกหรือคัดแยกสินค้าที่ไม่ดีให้ออกไปจากตลาดโดยอัตโนมัติ 

ยิ่งช่วง COVID-19 เส้นบะหมี่ประเภทที่รัดหนังสติ๊กแล้วมีอากาศผ่านเข้าออกได้ ลูกค้าจะไม่เลือกซื้อเลย ความต้องการของลูกค้า คือความต้องการในการเลือกซื้อสินค้าที่ปลอดภัย มีแพคเกจจิ้งที่ปิดสนิท และผลิตมาจากโรงงานที่ลูกค้ามั่นใจได้ในระดับนึงว่ากินแล้วปลอดภัย ทำให้โรงงานในวงการนี้ช่วงหลังๆ ก็พยายามพัฒนาสินค้าตัวเองให้ปลอดภัยมากยิ่งขึ้นตามไปด้วย ทั้งที่ในสมัยก่อนการจะไปเปลี่ยนรูปแบบการผลิตและแพคเกจจิ้งแบบนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย 

 

SME One : คนไทยกินข้าวเป็นอาหารหลัก พอมีตัวเลขหรือไม่ว่าการกินเส้นหรือบะหมี่เพิ่มขึ้นหรือลดลงในปัจจุบัน

ภิญญาพัชญ์ : โชคดีที่เมืองไทยมีคนจีนอยู่เยอะ เรื่องของการกินเส้นกับการกินข้าวเหมือนแยกออกจากกันไม่ได้ แล้วอาหารประเภทเส้น ไม่ว่าเด็ก ผู้ใหญ่ วัยรุ่นก็ชื่นชอบในการกินหมด ไม่มีระบุว่าเฉพาะกลุ่มนี้เท่านั้นที่กิน อย่างก๋วยเตี๋ยวก็สามารถกินแทนข้าวได้ ชนิดของเส้นก็มีหลากหลาย อย่างวุ้นเส้นก็จะมีโรงงานทำวุ้นเส้น อย่างแพมก็เป็นโรงงานแปรรูปสินค้าจากแป้งสาลี ตัวเลขตรงนี้ก็น่าจะมีแนวโน้มที่มากขึ้น ด้วยความที่บ้านเรามีพื้นเพเป็นคนจีนเยอะ แต่เพิ่มขึ้นเท่าไหร่ไม่ทราบจริงๆ 

 

SME One : ทุกวันนี้สินค้าของเรามีวางขายต่างประเทศบ้างหรือไม่

ภิญญาพัชญ์ : ก่อน COVID-19 แพมก็มีจำหน่ายในต่างประเทศเหมือนกัน แต่ไม่ได้ขายโดยตรง ทางโรงงานจะมีตัวแทนจำหน่ายที่เป็นคนกลาง ส่งออกสินค้าไปยังต่างประเทศอีกที ไม่ว่าจะเป็น เกาหลี ภูฏาน กัมพูชา มาเลเซีย ยุโรป เป็นต้น ซึ่งเราเป็นโรงงานผลิตให้ ส่วนคนกลางก็จะเอาไปจำหน่ายต่ออีกทีหนึ่ง ซึ่งลูกค้าส่วนใหญ่ก็จะเป็นคนไทยที่อยู่ต่างประเทศ

พอ COVID-19 ระบาดรอบล่าสุด แพมก็เพิ่มช่องทางการขายสินค้าภายในประเทศแบบออนไลน์มากยิ่งขึ้น เน้นคนไทยเป็นหลัก ซึ่งเป็นหัวใจในการขายของเราอยู่แล้ว ยิ่งคนอยู่กับบ้านมากขึ้น การสร้างสรรค์เมนูใหม่ๆที่ทำจากเส้นจากแผ่นก็มากยิ่งขึ้นไปด้วย 

 

SME One : เราเคยไปขอคำปรึกษาจากทางภาครัฐอะไรบ้างไหม

ภิญญาพัชญ์ : หน่วยงานที่เราขอคำปรึกษามากที่สุดคือ ITAP (Innovation and technology assistance program) ของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ตั้งแต่การขอมาตรฐานการผลิตในช่วงเริ่มก่อตั้ง การขอทุนสนับสนุน ทั้งงานวิจัย และการได้ไปศึกษาดูงานในหลายๆประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาดูงานที่ประเทศญี่ปุ่น และเยอรมนี ก็ล้วนเป็นหน่วยงานนี้ที่คอยสนับสนุน โดยเราได้ความรู้ที่ได้จากการศึกษาดูงาน นำกลับมาเพื่อพัฒนาและปรับปรุงเปลี่ยนแปลงโรงงานและสินค้าของเรา อย่างต่อเนื่องมาตลอดจนถึงปัจจุบัน 

SME One : Key Success ของธุรกิจเราคืออะไร 

ภิญญาพัชญ์ : อย่างแรกก็คือความมุ่งมั่นและความมีเป้าหมาย ทุกขั้นตอนที่คุณแม่ทำล้วนมีเป้าหมายหมดเลย อย่างที่ 2 คือเรื่องของความซื่อสัตย์ ข้อนี้สำคัญมาก ถ้าเราไม่ซื่อสัตย์ต่อลูกค้า ไปลดคุณภาพสินค้าลง ลูกค้าที่เชื่อใจเราเขาก็จะไม่ซื้อของเราอีกต่อไป และข้อที่ 3 เราจะมาถึงตรงนี้ไม่ได้เลยถ้าไม่มีทีมเวิร์คที่ดี ของแพมจะเป็นรุ่น 2 ก็จะมีพี่ๆ รุ่นคุณแม่ส่วนหนึ่ง แล้วก็มีน้องใหม่ที่ทำงานกับแพมส่วนหนึ่ง แพมต้องทำยังไงก็ได้เพื่อให้ทุกคนทำงานร่วมกันเป็นทีมเวิร์คให้ได้มากที่สุดเพื่อให้มันไร้รอยต่อ 

แล้วธุรกิจเราทำตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เราไม่ใช่โรงงานผลิตที่มีคนมารับต่อ แต่เราเป็นโรงงานผลิตที่ทำส่งไปถึงห้าง ไปถึงลูกค้าเอง ไม่ว่าลูกค้าจะอยู่ที่ไหนก็สามารถส่งได้ทั่วประเทศ ดังนั้น เราต้องทำงานแข่งกับเวลา เพราะสินค้าเป็นของสด เราจะไม่ทำสินค้าเป็นสต๊อก ลูกค้าออเดอร์มาแล้วถึงจะทำ เพื่อให้ลูกค้ามั่นใจว่าสินค้าที่ลูกค้าได้รับเป็นสินค้าที่ทำใหม่สดเสมอ 

 

SME One : อยากให้ฝากคำแนะนำสำหรับ SMEs ในการทำธุรกิจ

ภิญญาพัชญ์ : แพมขอยกคำสอนของคุณแม่มา คุณแม่บอกว่าไม่มีอะไรที่เราทำไม่ได้ ถ้าเราอดทนและตั้งใจ สุดท้ายแล้วเราต้องรู้จักตัวเองให้มากที่สุดว่ารูรั่วของเราอยู่ที่ตรงไหน เราจะแก้ตรงไหน เพราะปัญหาของเราอาจจะมากขึ้นหรือน้อยลงในแต่ละวัน แต่เราต้องหาวิธีจัดการและผ่านมันไปให้ได้ เพราะสุดท้ายสิ่งที่เราทำในแต่ละวัน วันนี้จะต้องดีกว่าเมื่อวานแน่นอน ไม่มีเวลามาให้ท้อถอย มีแต่เวลาที่เดินหน้า เราต้องสู้และผ่านอุปสรรคไปให้ได้

 

บทสรุป

ความสำเร็จของบริษัท ยูไนเต็ดอุตสาหกรรมอาหาร จำกัด มาจากความตั้งใจที่จะทำธุรกิจจากความชอบและความใส่ใจในคุณภาพของสินค้า โดยใช้แนวคิดการผลิตเหมือนกับทำอาหารให้คนที่บ้านกิน โดยไม่ใส่วัตถุกันเสียและสีสังเคราะห์ ผู้บริโภค จึงมั่นใจได้ว่า ผลิตภัณฑ์ทุกชนิดของบริษัทฯ เป็นผลิตภัณฑ์อาหารปลอดภัยที่ได้รับเครื่องหมายรับรองมาตรฐานการผลิตสากล โดยเน้นการผลิตตามออเดอร์ เพื่อคงความสดใหม่ ตลอดจนการจัดส่งสินค้าที่รวดเร็ว ตอบโจทย์พ่อค้าแม่ค้าทั่วประเทศ 

บทความแนะนำ