iCurtain จากเปิดท้ายขายผ้าม่าน สู่ Smart Curtain Solution

แม้จะเป็นสายเลือดแท้ๆ ของเจ้าของกิจการ แต่สิริชัย ฤทธิปัญญาวงศ์ ผู้บริหาร iCurtain ก็เริ่มต้นทำงานกับบริษัทของครอบครัวด้วยเงินเดือนเพียง 5,000 บาท เรียกว่าไม่ได้มีอภิสิทธิ์เหนือพนักงานคนอื่น 

สิริชัยค่อยๆ เรียนรู้เก็บเกี่ยวประสบการณ์จากการเป็นเซลส์ในช่วงแรก เพื่อนำมาพัฒนาธุรกิจ และสร้างแบรนด์ iCurtain ผ่านการลองผิดลองถูก จนสามารถนำพาธุรกิจผ้าม่านเล็กๆ ของครอบครัวขึ้นสู่ธุรกิจ 100 ล้านได้ในเวลาเพียงไม่กี่ปี 

หลักคิดและวิธีการบริหารงานของสิริชัย จึงเป็นเหมือนตำราบริหารธุรกิจเล่มใหญ่ที่มหาวิทยาลัยไม่ได้สอน

 

SME One : จุดเริ่มต้นของ iCurtain เกิดขึ้นมาได้อย่างไร

สิริชัย : iCurtain ก่อตั้งโดยคุณพ่อเมื่อปี 2526 เดิมทีบริษัทขายเครื่องกรองน้ำมาก่อน  ส่วนธุรกิจครอบครัวของคุณแม่ คือร้านผ้าม่าน มีช่วงหนึ่งคุณพ่อเอา 2 ธุรกิจมาออกบูธในงานแสดงสินค้าร่วมกัน แล้วก็เริ่มทำธุรกิจควบคู่กัน แต่ยังไม่ได้โฟกัสในเรื่องของผ้าม่านมากนัก  จนกระทั่งผมมีโอกาสได้มาฝึกงาน ตอนนั้นอายุ 16  ปี ช่วงปิดเทอมจะมีเวลาว่าง คุณแม่ก็ชวนมาลองทำงานที่บริษัท ก็เลยชวนเพื่อนมาทำงานด้วยอีก 4 คนแล้วก็เอาตัวอย่างผ้าม่านใส่ท้ายรถไปตระเวนขาย

ผมใช้วิธีขับรถไปหมู่บ้านที่ว่าง ๆ สมัยนั้นหมู่บ้านใหม่จะอยู่แถวโซนสุวินทวงศ์ โซนสุขาภิบาล 3 จำได้ว่าบ้านหลังแรกเจ้าของบ้านกำลังรดน้ำต้นไม้อยู่ก็ลงไปสวัสดีแนะนำตัวว่ามาจากบริษัททำผ้าม่าน มู่ลี่ พรม วอลเปเปอร์และเครื่องกรองน้ำ ลูกค้าก็งง ๆ แล้วก็ชวนเข้ามาคุยในบ้านและให้ลองประเมินราคา ความรู้สึกในวันนั้นได้จุดประกายความชอบบางอย่างที่เกิดขึ้นกับเรา คือ 1) รู้สึกว่าผมชอบงานเซลส์ ชอบงาน Present 2) รู้สึกสนุกกับการที่เราได้ออกแบบ ได้พูดคุยกับลูกค้าในเรื่องของการทำผ้าม่าน ในเรื่องสินค้า แม้ว่าวันแรกจะขายไม่ได้ก็ตาม

ช่วงเริ่มต้นทำธุรกิจตอนม.4 ผมขายไปประมาณแสนกว่าบาท พอขึ้นมาม.5 ผมขายไปประมาณ 4 แสนกว่าบาท เบ็ดเสร็จ 2 ปีขายไป 6 แสนกว่าบาท แล้วจึงหยุดไป Work and Travel Program ที่อเมริกา จนวันหนึ่งคุณแม่บอกว่าให้กลับมาทำงานที่บ้านโดยให้เงินเดือน 5,000 บาท ผมบอกถ้าเงินเดือน 5,000 บาท ผมขอทำงานเซลส์เพราะว่าน้อยมาก ๆ ตอนนั้นเป็นช่วงหลังวิกฤตเศรษฐกิจ สาขาที่เชียงใหม่ถูกปิด สาขาที่พัทยาถูกปิด คุณพ่อต้องวิ่งเคลียร์หนี้ก่อนจะตัดสินใจไปทำงานการเมืองภาคประชาชน 

วันนั้นผมทำงานกับคุณแม่แบบเริ่มต้นจากศูนย์ เพราะว่ายอดขายผ้าม่าน คือ 0 บาท ส่วนยอดขายเครื่องกรองน้ำยังพอมี แต่ต้องตัดสินใจว่าตัวเองจะทำผ้าม่านหรือเครื่องกรองน้ำ ส่วนตัวรู้สึกว่าชอบผ้าม่านมากกว่าจึงเลือกทำผ้าม่าน

ผมเริ่มจากขับรถขายผ้าม่านโดยที่เราแทบจะไม่มีอะไรพิเศษ ไม่ได้มีแต้มต่อคนอื่น ๆ ไม่มีแม้กระทั่งนามบัตรด้วยซ้ำ แบบไปหาลูกค้า เฮ่ย...ไม่มีนามบัตร ตอนเย็นก็แวะ The Mall ทำนามบัตร เฮ่ย...ไม่มีใบเสนอราคากลับมาบ้านก็มานั่งตีเส้นทำใบเสนอราคา

 

SME One : พอมาเป็น SMEs ที่เริ่มต้นจากศูนย์ เรียนรู้วิธีการขาย การบริหารงานจากไหน

สิริชัย : มาจากการทำซ้ำๆ  ผมทำซ้ำจนรู้ว่าอะไรขาด เราก็เติม อะไรที่ทำได้เราทำซ้ำ จุดแรกที่ผมทำซ้ำแล้วรู้สึกได้ผล คือเรื่องของการทำแพ็กเกจราคา ผมสามารถบอกลูกค้าได้ว่าบ้านแต่ละแบบราคาเท่าไหร่  เพราะผมไปหมู่บ้านเดิม ๆ ผมเริ่มรู้ว่าหมู่บ้านนี้มีทั้งหมด 4 แบบ เราสามารถเลือกผ้าประมาณ 3 ประเภท  เราจะทำเป็นราคา A B C ทำเป็นแพ็กเกจราคาให้ลูกค้าเลือก ตอนนั้นคือคนขายยังไม่ค่อยจัดเซ็ตราคาเหมือนปัจจุบัน พอเราทำรายแรกๆ ก็ตอบโจทย์ลูกค้า เราก็มีโอกาสได้คุยสามารถให้ราคาลูกค้าตัดสินใจได้ จนเรามี Reference เราก็ทำ Reference เล็ก ๆ จากการทำหมู่บ้านเดียวก็ขยายไปหมู่บ้านอื่นๆ เริ่มวิ่งหมู่บ้านใกล้ ๆ เริ่มเปิดสาขา พอเริ่มมีลูกค้าเข้ามามากขึ้น เราก็รู้สึกว่าต้องเติมเซลส์ ช่วงแรก ๆ ก็เหมือนจะโตขึ้นมาได้ระดับหนึ่งก็เริ่มคิดการใหญ่ เริ่มขยายสาขาไป ตอนนั้นเพิ่งอายุ 25 เอง แต่เปิดไป 7 สาขา สุดท้ายผมทำงานไม่ทัน คือ Project เยอะ แต่ตัวระบบยังไม่รองรับก็เลยต้องมา Reset ใหม่ เหลือแค่ไม่กี่สาขาที่เป็นรายได้จริง ๆ 

เราก็มาเริ่มคิดใหม่ คือ ผมทำงานตั้งแต่  7 โมงเช้าเลิกเที่ยงคืน คือเราเป็นเจ้าของ เราทำได้ แต่มันทำได้ไม่ยาว ผมเคยขายผ้าม่านถึงตี 3 คือตลกมาก ตอนแรกเราเอาแรงแลกมาอย่างเดียว แต่พอไม่ได้เซ็ตระบบไว้รองรับทุกอย่างก็เลยวุ่นวาย ก็เลยเริ่มหยุดแล้วมานั่งคิด จนในที่สุดก็คิดเรื่องสร้างแบรนด์ iCurtain ขึ้นมาอย่างจริงจัง

วันที่เราสร้างแบรนด์ iCurtain ตัว I ก็มาจาก Imsiam Trading ซึ่งเป็นชื่อบริษัทคุณพ่อ แล้วก็เป็นชื่อบริษัทปัจจุบัน I อันที่ 2 เป็นเรื่องของ Interior คือถ้าเราทำให้ผ้าม่านให้มันสวยงามต้องเกี่ยวข้องกับการตกแต่ง I อันที่ 3 คือตัวฉัน และความเข้าใจลูกค้า คือการเอาความรู้สึกลูกค้ามาเป็นความคิดพื้นฐาน มันคือ Philosophy ของบริษัท 

พอเริ่มวาง Philosophy เริ่มตั้งปรัชญาของบริษัท ก็เริ่มมีวิธีคิดในเรื่องของแบรนด์ แล้วก็เริ่มถ่ายทอดไปยังพนักงาน เริ่มถ่ายทอดไปยังลูกค้า

 

SME One : หลังจากที่ตั้งหลักได้แล้ว วางแผนการขยายธุรกิจไว้อย่างไร

สิริชัย : ผมมีโอกาสได้ไปต่างประเทศ ได้เห็นเทรนด์การตกแต่งบ้านใหม่ๆ โดยเฉพาะม่านม้วน จึงกลับมาเล่าให้คุณแม่ฟัง ปรากฏคุณแม่ไม่เอาด้วย คุณแม่บอกว่าเป็นร้านผ้าม่านก็ดีอยู่แล้ว ผมกลับไปคุยกับภรรยา ภรรยาบอกโอเคจึงเกิดเป็นอีกหนึ่งธุรกิจ คือโรงงานม่านม้วนชื่อ BIW Product เน้นขายม่านม้วนเป็นหลักแยกธุรกิจออกมาจากคุณแม่ แต่ผมไม่ได้ทำงาน BIW Product ยังทำงานกับ iCurtain 

BIW Product วาง Concept ไว้คือ B มาจาก Blue Ocean เรามองว่าต้องทำการตลาดแบบมีความแตกต่างนะครับ ไม่เน้นการตัดราคา ส่วน I ก็เช่นเดิม Interior Concept Interior Product อันที่สาม W ตอนนั้นคือเป็น Window Covering Product ซึ่งตอนนี้กำลังคิดว่า W ตัวนี้อาจจะต้องเปลี่ยนแล้ว

ทำธุรกิจม่านม้วนปีแรกเราเจอตัดราคา พอมาปีที่ 2 เราเจอสินค้าที่ Copy เหมือนกันแล้วตัดราคามาอีก แต่ว่าโชคดีที่ว่าเราเพิ่ม Product Line เข้าไปทำให้มีแบบครบ มีสีครบ ทำให้เรารอดจากการตัดราคามาได้ พอรอดปีที่ 2 มาได้ ปีที่ 3 ยอดขายก็เริ่มเข้ามา

กระทั่งผมมีโอกาสได้ไปดูงานที่ยุโรปในช่วงปี 2015 และมีโอกาสไปเจอแบรนด์ Coulisse ของเนเธอร์แลนด์ ซึ่งเป็นอันดับหนึ่งของโลกในเรื่อง Brand Image ก็รู้สึกว่าสินค้าจากยุโรปในประเทศไทยแทบจะไม่มีการทำตลาดอย่างจริงจัง จึงมองว่าตรงนี้เป็นโอกาสที่จะยกระดับแบรนด์ไปจับตลาดบน จนเป็นที่มาของการทำแบรนด์ใหม่ชื่อว่า Royal Blue BIW by Coulisse ซึ่งเป็น Co-branding โดยมีการออกป็น Product ใหม่ ที่มีดีไซน์เนอร์ของ Christian Dior, Hermes ซึ่ง Coulisse มีจุดแข็งในเรื่องนี้มาออกแบบ ก็ทำให้ BIW มีสินค้าที่โดดเด่นขึ้นมาอีก

ส่วน iCurtain เราก็ Re-branding อีกรอบเป็นรอบที่ 3 รอบนี้เริ่มจากเราเปิดร้านเซ็นทรัล บางนา โดยมีการมองกลุ่มลูกค้าที่มีกำลังซื้อ มีการปรับโลโก้ให้ดูพรีเมียมมากขึ้น มีความทันสมัยด้วยสีดำ ทองผสมกัน มีความเป็นวินเทจนิด ๆ โดยวาง Concept เป็น Smart Curtain Solution

SME One : ทุกวันนี้สินค้าจากประเทศจีนเข้ามาตัดราคาผ่าน Cross Border มองปัญหานี้อย่างไร

สิริชัย : ขึ้นอยู่กับ SMEs จะวาง Positioning ของตัวเองอย่างไร คิดว่าสินค้าของจีนอย่างไรก็กระทบกับตลาดอยู่แล้ว จริง ๆ ผมก็มีสั่งซื้อสินค้าของจีนมาขายแต่เลือกที่คุณภาพดี ๆ จริง ๆ คนจีนอยากขายของกับเรา ถ้ามองว่าเขาขายผ้าเป็นวัสดุ ทำไมเราไม่ลองเปลี่ยนมุมมองว่าเราสามารถมีตัวเลือกลายผ้าที่หลากหลายขึ้น แต่ถ้าเกิดเรามองว่าเป็นอุปสรรค ทุกอย่างก็เป็นอุปสรรคหมด แบรนด์ไหนมาเปิดก็เป็นอุปสรรคหมด 

อย่างไรธุรกิจแบบ Cross Boarder ก็ต้องเกิดแน่นอน ตรงนี้เป็นสิ่งที่ผมห่วงมาก สำหรับวงการผ้าม่าน

ผมพยายามที่จะหาชวนคนที่ทำธุรกิจนี้ให้มาเน้น Present ขายของคุณภาพ เน้น Present ขายของยุโรป เขาจะอยู่รอดเมื่อจีนเข้ามา หรือไม่ก็ต้องใช้รูปแบบไป Plug-in กับจีนเลย ก็อาจจะ Win-Win คือเปลี่ยนจากคู่แข่งไปเป็นคู่ค้า

 

SME One : ปัญหา COVID-19 จากปีที่แล้วต่อเนื่องถึงปีนี้ iCurtain ประคองธุรกิจอย่างไร

สิริชัย : เรายังทำตลาดแบบผสมผสาน Online to Offline แต่หันมาทำ Online Marketing มากขึ้น โดยมีการเช่าตึก 2 ห้องมาทำเป็นสตูดิโอตัดต่อภาพ ทำภาพถ่าย Production In-house ภายใน เริ่มจ้างคนมาทำ IG โดยเฉพาะ เริ่มจ้างคนมาตัดวีดีโอ ตัดคลิป เริ่มโยกทรัพยากรคนจากเดิมที่แบบ 100 คน มีคนทำ Marketing อยู่ 3 คน วันนี้เรามี Marketing เกือบ 20 คนแล้ว เรารู้แล้วว่า COVID-19 มาต้อง Go online เพราะฉะนั้นต้องเติมคนออนไลน์เข้าไปแบบค่อย ๆ เพิ่มทีละนิด ๆ แล้วก็มีการปรับปรุงเว็บไซต์ ปรับปรุง LINE OA ปรับปรุง Promotion มีการปรับ Facebook ให้มีการยิง Ads ที่ Effective ขึ้น มีการทำพวก KPI ทำเรื่องของตัว Data Analytic อะไรต่าง ๆ เป็นรูปแบบการตลาดสมัยใหม่ทำให้ทั้ง 2 ปีนี้ เราก็ยังเติบโตอยู่ 

 

SME One : ทุกวันนี้กลุ่มลูกค้าหลักของ iCurtain มีใครบ้าง

สิริชัย : ถ้าเป็นตลาดบ้านเป็นตลาด iCurtain จะโฟกัสมากกว่า แต่ถ้าเป็นบ้านหรูแบบสร้างแบบหลังใหญ่ ๆ แบบนี้ BIW จะโฟกัส คือ BIW จะมีช่องทางในการเจาะเข้า Interior Designer เข้าหาผู้รับเหมา ร้านผ้าม่านโดยตรง ซึ่งเน้นจับตลาด High-End ส่วน iCurtain ก็จะมีเจาะตลาดโครงการหมู่บ้าน คอนโด บริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นลูกค้าเรา เช่น 70% ของวอลเปเปอร์ในโครงการของพฤกษาเราเป็นคนติด หรือในคู่สัญญาปีนี้บ้านและคฤหาสน์ทั้งหมด 1 ใน 3 ของตัวแบบผ้าม่านที่กลุ่มอนันดา กลุ่มแสนสิริใช้เราเป็นคนทำ 

ส่วนตลาดสำนักงานหรือร้านค้า เราก็ทำเยอะมากหลายบริษัท เราเคยทำร้าน 7-Eleven ครึ่งประเทศ เราทำให้ร้านวัตสันเกือบทุกสาขา อย่างงานพิธีบรมราชาภิเษกในหลวงรัชกาลที่ 10 เราก็ทำในส่วนของพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน อันนั้นก็คือเป็นงานที่แบบสูงสุด

หรือมีงานแบบ Queen Elizabeth นำเรือมาจอดที่ประเทศไทยแล้วผ้าม่านเสีย เราไปซ่อมให้ หรือพระองค์ดาโช นัมเกล วังชุก ที่เป็นเสด็จอาของสมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก มีพระประสงค์จะซื้อผ้าม่านไปติดที่ภูฎาน ก็ติดต่อมาทางเรา

 

SME One : มองแนวโน้มของธุรกิจนี้อย่างไร

สิริชัย : คือบ้านเป็นปัจจัย 4 เพราะฉะนั้นอย่างไรก็ไปได้ เพราะก็ต้องมีคนอยากทำให้บ้านสวย ซึ่ง iCurtain ก็เป็น 1 ในฟังก์ชันที่จะทำให้บ้านสวย เพราะฉะนั้นธุรกิจนี้เป็นเทรนด์ที่เติบโตแน่นอน

 

SME One : คิดว่าอะไรคือ Key Success ของบริษัท

สิริชัย : ผมคิดว่าผมเป็นคนชอบเรียนรู้ ผมรู้สึกสนุกกับการทำชีวิตให้มีคุณค่า แล้วสิ่งที่ทำคือคิดดีกับสังคมและประเทศชาติ คือผมอยากทำสินค้าที่ดี ผมอยากขายเพิ่มขึ้นเพราะอยากจะ Present สินค้าที่ดีให้กับประเทศมากขึ้น นี่คือความฝันของผม 

พอฝันว่าอยากจะช่วยเหลือประเทศ ผมรู้สึกว่าผมต้องเติบโต ต้องเรียนรู้อีก ไม่สามารถจะจบแค่นี้ได้  สุดท้าย คือผมเป็นคนที่รู้สึกว่าไม่กลัวความเหนื่อย ไม่เคยรู้สึกว่าการที่เราต้องทำเยอะมันจะแย่อะไร หรือว่าการที่เราต้องต้องลุยมันแย่อะไร ผมทำงานแบบตรวจเช็กเครื่องจักรก็ทำ หิ้วของเองก็ทำ เหนื่อยนอนพักก็หายเหมือนนักกีฬาซ้อมไม่ดี เราก็แพ้ เพราะฉะนั้นเราทำให้เยอะ ซ้อมให้เยอะ 

 

SME One : เป้าหมายทางธุรกิจของ iCurtain ในระยะยาวคืออะไร

สิริชัย : จริง ๆ ผมตั้งเป้าจะเข้าตลาดหุ้นภายใน 5 ปี และก็ผมคิดคาดหวังว่า iCurtain จะต้องนำเสนอ Smart Curtain Solution ให้ลูกค้าจริง ๆ คือเรื่องของสินค้าตกแต่งภายในมีความหลากหลายของสินค้า เช่น เป็น High Quality เป็น European Innovation 

ส่วนลูกค้ารายเดิมเรายังสามารถที่จะขยายได้อีกเยอะ เพราะยังมีอีกหลายอย่างที่เขาซื้อเราเพิ่มได้ เช่น  กลุ่มอนันดาเขาซื้อของเราเยอะมาก เราก็ต้องมานั่งคิดต่อว่า ขอแต่งบ้านนอกจากขายผ้าม่าน เราขายวอลเปเปอร์เพิ่มได้ไหม เราขายพื้นเพิ่มได้ไหม ซึ่งก็มีความเป็นไปได้ ผมรู้สึกว่าตัวเองยังเล็กอยู่มาก ยังสามารถขยับขยายได้อีกพอสมควร และโอกาสทางตลาดก็ยังเปิดอยู่

 

SME One : ถ้าอยากจะขอคำแนะนำให้กับ SMEs จะให้คำแนะนำอะไร 

สิริชัย : อันดับแรกเลย ผมคิดว่า SMEs เป็นบริษัทที่สามารถเติบโตได้อีกมาก คือถ้าเรามองว่าเราตัวเล็กแล้วเสียเปรียบ บางทีมันก็จะเสียเปรียบจริง ๆ เพราะเราคิดอย่างงั้น แต่ถ้าเรามองว่าการที่ตัวเล็กทำให้เราคล่องตัว เราสามารถที่จะเติบโต ตลาดยังมีพื้นที่สำหรับเราได้อีกเยอะ เรายังหาอะไรให้ทำอีกมากมาย มันจะทำให้ SMEs ความหวัง

ถ้า SMEs มีความหวังที่จะเติบโตมันก็จะเป็นแรงขับเคลื่อนให้ไปต่อ แต่ถ้า SMEs คิดว่าตัวเองเติบโตแล้ว หรือพอแล้ว เมื่อไหร่ที่คิดว่าพอก็จดไม่มีแรงขับเคลื่อนซึ่งก็แล้วแต่คนนะครับ บางคนก็อาจจะพอใจในสิ่งนั้น ก็โอเค ไม่ได้ผิดอะไร

SMEs นี่เป็นอะไรอิสระมาก คือบางคนต้องการแค่เลี้ยงลูก บางคนต้องการเลี้ยงลูกน้อง หรือแบบผมต้องการเป็นเป็นบริษัทมหาชน คือ SMEs มันเป็นอะไรที่ไร้ขีดจำกัด อยากเป็นอะไรก็เป็นได้

 

บทสรุป

ความสำเร็จของ iCurtain มาจากมุมมองของผู้บริหารที่เห็นความสำคัญของการสร้างแบรนด์ เพราะต้องการหลีกเลี่ยงการทำธุรกิจแบบ Red Ocean หรือสงครามราคา iCurtain ค่อยๆ พัฒนาจากธุรกิจจากสินค้าทั่วไป จน iCurtain กลายมาเป็นแบรนด์ที่มีเชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับของลูกค้า ทั้งในส่วนของผู้บริโภคและผู้ประกอบการอสังหาริมทรพัย์ของไทย ไม่เพียงเท่านั้น iCurtain ยังเป็นที่ไว้วางใจจากราชวงค์ในต่างประเทศในการให้คำปรึกษาและบริการด้านวัสดุกันแสงอีกด้วย

บทความแนะนำ

เจาะอินไซต์ “ผู้สูงอายุ” ยุคดิจิทัล เมื่อไทยเข้าสู่ “สังคมสูงวัย” SMEs จะคว้าโอกาสนี้อย่างไร ?

ทุกวันนี้โครงสร้างประชากรทั่วโลกกำลังเปลี่ยนแปลง หลายประเทศเจอกับการเพิ่มขึ้นของประชากรกลุ่มผู้สูงอายุอย่างรวดเร็ว ปัจจัยหลักมาจากคนอายุยืนยาวขึ้น ในขณะที่อัตราการเกิดลดลง 

“สำนักงานกิจการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Department of Economic and Social Affairs : UNDESA) รายงานว่าในปี 2020 ทั่วโลกมีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไป จำนวน 727 ล้านคน และคาดการณ์ว่าในอีก 3 ทศวรรษข้างหน้า จำนวนผู้สูงอายุทั่วโลกจะสูงถึง 1,500 ล้านคนในปี 2050 โดยเป็นการเพิ่มขึ้นทุกทวีป 

สำหรับประเทศไทย สำนักงานสถิติแห่งชาติ เผยแนวโน้มประชากรผู้สูงอายุในประเทศ ตั้งแต่ปี 2548 เวลานั้นไทยยังเป็น “สังคมสูงวัย” (AgingSociety) คือ ประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป มีสัดส่วน 10% ของประชากรทั้งประเทศ แต่ปัจจุบันก้าวสู่การเป็น “สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์”(Aged Society) คือ ประชากรกลุ่มผู้สูงวัยอายุ 60 ปีขึ้นไปมีสัดส่วน 20% ของประชากรทั้งประเทศ และคาดการณ์ว่าในปี 2574 ไทยจะเข้าสู่ “สังคมสูงวัยอย่างเต็มที่” (Super-Aged Society) หมายความว่า ประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไป มีมากกว่า 20% ของประชากรทั้งประเทศ

การเพิ่มขึ้นของประชากรกลุ่มผู้สูงอายุที่เกิดขึ้นทั่วโลก หมายความว่าเวลานี้ทุกประเทศกำลังอยู่ในยุค “Longevity Revolution”คือ ผู้คนมีอายุยืนยาวขึ้น ซึ่งน่าจับตามองว่าต่อไประบบเศรษฐกิจทั่วโลกจะถูกขับเคลื่อนด้วยระบบ “เศรษฐกิจสูงวัย” (SilverEconomy) และ “เศรษฐกิจอายุวัฒน์” (Longevity Economy)นั่นคือ มูลค่าของตลาดสินค้าและบริการที่เกี่ยวกับผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นี่จึงเป็นโอกาสมหาศาลให้กับผู้ประกอบการ SME ในการพัฒนาสินค้าและบริการ เข้าถึงผู้บริโภคกลุ่มนี้ 

 

ทำความรู้จัก “คนสูงวัย” ยุคดิจิทัล 

ที่ผ่านมาภาพจำเดิมของสังคมมักมองผู้สูงอายุว่าเป็นกลุ่มที่ไม่ทันเทคโนโลยี ไม่ชอบใช้เทคโนโลยี ไม่ชอบเรียนรู้สิ่งใหม่ และยังใช้ “ตัวเลขอายุ” มากำหนดตัวตนของคนกลุ่มนี้ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ทุกวันนี้ผู้สูงอายุมีไลฟ์สไตล์แทบไม่แตกต่างจาก GenMillennials เลยด้วยซ้ำ ทั้งการใช้เทคโนโลยี การเรียนรู้สิ่งใหม่ และที่สำคัญเป็นกลุ่มที่มีการใช้จ่ายสูง

ผลวิจัย ”Getting Older – Our Aging World”ของ Ipsosบริษัทวิจัยของฝรั่งเศสเผย ConsumerInsight ของผู้บริโภคกลุ่มสูงอายุ ที่จะทำให้แบรนด์สินค้า และบริการเข้าใจถึงตัวตน และมุมมองของผู้บริโภคกลุ่มนี้ 

  1. ในอดีตคนมองว่าอายุ 60 ปี เข้าสู่ช่วงสูงวัยแล้ว แต่โลกทุกวันนี้คำว่า “สูงวัย” ของแต่ละประเทศนั้นแตกต่างกัน

ค่าเฉลี่ยอายุที่เริ่มเข้าสู่ช่วงสูงวัยในปัจจุบันอยู่ที่อายุ 66 ปี แต่ก็มีบางประเทศ มองว่าผู้สูงวัยเริ่มต้นที่อายุ 70 ปี เช่น สเปน 

  1. เปิดรับเทคโนโลยี - ใช้ออนไลน์ - สมาร์ทโฟน - ซื้อสินค้าผ่านอีคอมเมิร์ซ

ปัจจุบันคนสูงอายุในหลายประเทศ ใช้ออนไลน์กันในชีวิตประจำวัน ไม่ต่างจากคนหนุ่มสาว อย่างในอังกฤษ 43% ของผู้สูงอายุซื้อสินค้าออนไลน์ ขณะที่ในแคนาดา 48% ของคนสูงอายุ ใช้เทคโนโลยีเข้าถึงข้อมูลด้านการแพทย์ และสุขภาพ ส่วนประเทศไทย กว่า 1.2 ล้านคนของผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป เข้าถึงอินเทอร์เน็ต  

  1. ไม่ต้องการอยู่กับบ้าน ต้องการเรียนรู้สิ่งใหม่ เริ่มต้นชีวิตใหม่หลังเกษียณ 

ผู้สูงอายุในปัจจุบันมีไลฟ์สไตล์ที่แอคทีฟ ไม่ได้ต้องการอยุ่บ้าน เพื่อเลี้ยงหลาน แต่ต้องการท่องเที่ยว, เรียนรู้สิ่งใหม่ และต้องการเริ่มต้นชีวิตใหม่หลังวัยเกษียณ เช่น เริ่มต้นทำธุรกิจ 

ในฝรั่งเศส 70% ของผู้สูงอายุชอบลองเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ, ในเปรู 50% ของผู้สูงอายุต้องการออกไปท่องเที่ยว และ 40% ต้องการเริ่มต้นธุรกิจของตัวเอง ในเมืองไทยเองก็เช่นกัน โดย 75% ของผู้สูงอายุในไทยต้องการเรียนรู้สิ่งใหม่ และ 47% บอกว่าต้องการเริ่มต้นชีวิตใหม่ 

4.มีอำนาจทางการเงิน 

มูลค่าตลาดผู้สูงอายุได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว อย่างในอังกฤษ 47% ของมูลค่าตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคมาจากกลุ่มผู้สูงอายุ หรือคิดเป็นเงินมูลค่า 320,000 ล้านปอนด์ ขณะที่ฝรั่งเศส มูลค่าเม็ดเงินที่ผู้สูงอายุเตรียมเงินไว้สำหรับท่องเที่ยว รวมแล้วสูงถึง 22,000 ล้านยูโรและคาดการณ์ว่าปี 2030 เศรษฐกิจอายุวัฒน์ที่สหรัฐฯ จะมีมูลค่าใหญ่กว่าทุกภาคส่วนของตลาดอื่นรวมกัน 

ขณะที่ในประเทศไทย ในรายงาน “ความแตกต่างของช่วงวัย (Generation Gap) ที่ชัดเจน ทำให้ธุรกิจต้องตอบโจทย์ลูกค้าที่เฉพาะเจาะจงขึ้น”โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ประมาณการณ์การใช้จ่ายของกลุ่มผู้สูงอายุไทย มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 5.6 ต่อปี (CAGR 2560-2568) หรือราว 350,000 บาทต่อคนต่อปีในปี 2568 โดยค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ เป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้ผู้สูงอายุมีค่าใช้จ่ายเพิ่มสูงขึ้น 

การใช้จ่ายดังกล่าว สูงกว่าการใช้จ่ายของกลุ่มคน Gen ME ที่คาดว่าค่าใช้จ่ายจะขยายตัวเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 5.2 ต่อปี (CAGR 2560-2568) หรือราว 323,000 บาทต่อคนต่อปีในปี 2568 

  1. ผู้สูงอายุไทยชอบออกกำลังกาย ท่องเที่ยว และใช้จ่ายไปกับอาหารมากสุด 

กิจกรรมยอดฮิตติดอันดับที่ผู้สูงอายุไทยชื่นชอบคือ ออกกำลังกาย, เดินทางท่องเที่ยว, การเพาะปลูก, ชอบสังคมเยี่ยมญาติ/เพื่อน และร่วมกิจกรรมชุมชน  

ขณะที่พฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้สูงอายุชาวไทย พบว่าใช้จ่ายกับอาหารมากสุด ตามมาด้วยออกไปรับประทานอาหารนอกบ้านในโอกาสพิเศษ, ใช้เงินซื้อเครื่องไฟฟ้าในบ้าน, ใช้จ่ายสำหรับเสื้อผ้า, ใช้เงินเพื่อการผ่อนคลาย และใช้เงินเพื่อท่องเที่ยว  

 

จับตาเทรนด์ธุรกิจในยุค “Longevity Revolution” 

จาก Insight ตัวตน และไลฟ์สไตล์ของผู้สูงอายุในยุคดิจิทัลดังกล่าว เป็นข้อมูลสำคัญให้กับผู้ประกอบการธุรกิจ SME นำไปทำความเข้าใจ และวิเคราะห์ เพื่อใช้ต่อยอดการพัฒนาสินค้าและบริการ สำหรับเจาะกลุ่มผู้สูงอายุได้ตรงกับความต้องการที่แท้จริงของผู้บริโภคกลุ่มนี้ เช่น 

  1. ธุรกิจอาหาร และเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ 

สุขภาพที่ดี 80% มาจากอาหาร อีก 20% มาจากการออกกำลังกาย ยิ่งทุกวันนี้การดูแลสุขภาพ ไม่ใช่เป็นเพียงแค่กระแส แต่ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตประจำวันของผู้คนแล้ว ทำให้ในช่วง 10 ปีมานี้ ตลาดอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ เป็นดาวเด่นที่นับวันมีแต่จะเติบโตต่อเนื่อง เห็นได้จากข้อมูลบริษัทยูบีเอ็ม เอเชีย (ประเทศไทย) จำกัด รายงานว่า 

ปี 2561 มูลค่าตลาดอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ 86,648 ล้านบาท

ปี 2562 มูลค่าตลาดอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ 88,731 ล้านบาท

ปี 2563 มูลค่าตลาดอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ กว่า 100,000 ล้านบาท 

หนึ่งในกลุ่มผู้บริโภคที่มีทั้งกำลังซื้อ และฐานผู้บริโภคขนาดใหญ่สำหรับตลาดอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ คือ ผู้สูงอายุเป็นกลุ่มที่ผู้ประกอบการ SME ไม่ควรมองข้าม ในการพัฒนาสินค้าที่ใช้วัตถุดิบ และมีสารอาหารที่ตอบโจทย์สุขภาพ เช่น วัตถุดิบออร์แกนิค, ใส่สารอาหารที่ครบถ้วน และเหมาะกับผู้สูงอายุโดยเฉพาะ, มีรูปแบบอาหารที่เคี้ยวง่าย อ่อนนุ่ม และขนาดพอดีคำ เพื่อให้รับประทานง่าย ป้องกันการสำลักอาหาร  

  1. ธุรกิจดูแลผู้สูงอายุ 

จากแนวโน้มสังคมสูงอายุ บวกกับความเป็นเมืองที่คนอยู่กันเป็นครอบครัวเดี่ยวมากขึ้น และคนสูงอายุอยู่ตามลำพังมากขึ้น ในระหว่างที่ลูกหลานต้องออกไปทำงานนอกบ้าน ทำให้ธุรกิจ Nursing Home และ Day Care (รับดูแลผู้สูงอายุในช่วงกลางวัน) กลายเป็นอีกธุรกิจดาวรุ่งที่มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องตาม Demand ที่เพิ่มขึ้น 

ข้อมูลจาก ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ฉายภาพว่าธุรกิจดูแลผู้สูงอายุในไทย ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอกการขนาดเล็ก และขนาดกลาง ส่วนรายใหญ่มีเพียงไม่กี่ราย หลักๆ เป็นธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนที่ขยายมายังธุรกิจ Nursing Home 

- ผู้ประกอบการขนาดเล็ก ให้บริการแก่กลุ่มผู้มีรายได้ปานกลาง อัตราค่าบริการอยู่ที่ 15,000 20,000 บาทต่อเดือน และถ้าเป็นรายวันอยู่ที่ 700 900 บาทต่อวัน มีกระจายอยู่ทั่วประเทศ 

- ผู้ประกอบการขนาดกลาง ให้บริการกลุ่มผู้มีรายได้ปานกลางระดับสูง ไปจนถึงผู้มีรายได้สูง ค่าบริการอยู่ที่ 20,000 40,000 บาทต่อเดือน และถ้าเป็นรายวันอยู่ที่ 900 1,200 บาทต่อวัน ส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพฯ 

- ผู้ให้บริการขนาดใหญ่ ให้บริการกลุ่มผู้มีรายได้สูง และชาวต่างชาติ ค่าบริการ 40,000 80,000 บาทต่อเดือน และรายวันอยู่ที่ 1,200 3,600 บาทต่อวัน ส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพฯ และเมืองตากอากาศ เช่น หัวหิน เชียงใหม่ พัทยา ภูเก็ต 

  1. ของใช้ในชีวิตประจำวัน 

นอกจากผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพแล้ว ตลาดสินค้าอุปโภคสำหรับผู้สูงอายุ ไม่ว่าจะเป็นของใช้ส่วนบุคคล, ของใช้ภายในบ้าน เป็นตลาดใหญ่ที่ยังมีช่องว่างให้ผู้ประกอบการ SME เข้ามาได้อีกมาก เช่น

- เครื่องใช้ส่วนบุคคล เช่น ผลิตภัณฑ์บำรุงเส้นผม, บำรุงผิวหน้า,บำรุงผิว, ผลิตภัณฑ์ดูแลช่องปาก, ผ้าอ้อมผู้สูงวัย 

- สินค้าแฟชั่นเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายต่างๆ

- อุปกรณ์เทคโนโลยีใช้งานง่าย ตอบโจทย์ด้านสุขภาพ เช่น WearableDeviceมีฟังก์ชั่นแสดงสถานะร่างกายแบบ Real-time เช่น อัตราการเต้นของหัวใจ, การเคลื่อนไหวร่างกาย, ระบบแจ้งเตือนต่างๆ

- อุปกรณ์ทางการแพทย์, เฟอร์นิเจอร์ และสิ่งอำนวยความสะดวกด้านความปลอดภัย เช่น รถเข็น, ไม้เท้า, เตียงไฟฟ้า, โต๊ะ เก้าอี้แบบปรับระดับได้, ราวจับ, วัสดุกันลื่น, อุปกรณ์ Sensor ติดตามจุดต่างๆ ในบ้าน 

 

  1. ธุรกิจ Health &Wellness

เป็นธุรกิจที่เกี่ยวกับสุขภาพ และกิจกรรมสันทนาการผู้สูงอายุ เพื่อสร้างความสุข ทั้งทางกาย และทางใจ โดยในหมวดหมู่นี้มีหลากธุรกิจ เช่น ธุรกิจสปา, ธุรกิจฟิตเนสทำโปรแกรมออกกำลังกายสำหรับผู้สูงอายุโดยเฉพาะ, บริการด้านสุขภาพแบบองค์รวม, บริษัททัวร์จัดโปรแกรมท่องเที่ยวสำหรับผู้สูงอายุ ซึ่งแตกต่างจากการท่องเที่ยวของคนทั่วไป ตรงที่ทริปผู้สูงอายุ ต้องเน้นความปลอดภัย และมีคนดูแลอย่างใกล้ชิด, ทำหลักสูตรพัฒนาทักษะความรู้ด้านต่างๆเพื่อตอบโจทย์ยุค LifelongLearning ที่ไม่ว่าจะอายุเท่าไร เราทุกคนสามารถเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต

บทความแนะนำ

ธุรกิจ Plant-based foods เทรนด์อาหารระดับโลก โอกาสของ SMEไทย

ธุรกิจอาหารจากพืช หรือ Plant-based foods ได้รับความสนใจอย่างกว้างขวาง และมีอัตราการเติบโตในหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงในประเทศไทย นับเป็นโอกาสของผู้ประกอบการในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจอาหาร 

เทรนด์ Plant-based foodsซึ่งผลิตจากพืชตระกูลถั่ว เห็ด สาหร่าย และอื่นๆเกิดขึ้นเพื่อรองรับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญกับสุขภาพเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะผู้บริโภคที่ต้องการลดการทานเนื้อสัตว์ในบางโอกาส (Flexitarians) นอกจากนั้น ผู้บริโภคบางส่วนยังมีความกังวลเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งกระบวนการเลี้ยงปศุสัตว์มีส่วนทำให้เกิดภาวะโลกร้อน ฟาร์มบางแห่งมีประเด็นเรื่องสวัสดิภาพสัตว์ การบริโภคเนื้อจากพืชในมุมมองผู้บริโภคจึงมีส่วนช่วยในประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไม่ต้องฆ่าสัตว์ และเป็นอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ ส่งผลดีต่อสุขภาพ

จากข้อมูลการสำรวจตลาดผลิตภัณฑ์แพลนต์เบสในประเทศไทยยังมีโอกาสการเติบโตอีกมาก โดยข้อมูลจาก Euromonitor และ Allied Market Research ระบุมูลค่าตลาดอาหารแพลนต์เบสในปี 2562 มีมูลค่าอยู่ที่ 2.8 หมื่นล้านบาท และมีการคาดการณ์ว่าในปี 2567 จะมีมูลค่าตลาดเพิ่มขึ้นเป็น 4.5 หมื่นล้านบาท คิดเป็นการเติบโตเฉลี่ยประมาณ 10%  นอกจากนี้ยังระบุว่าเฉพาะตลาดเนื้อสัตว์จากพืช หรือ Plant-based meat เติบโต 20% หรือเท่ากับ 900 ล้านบาท  

การเข้ามาของผู้ประกอบการทั้งรายใหญ่และรายเล็กในช่วงของการแพร่ระบาดไวรัส COVID-19 จะยิ่งเป็นตัวเร่งให้ธุรกิจโปรตีนจากพืชเติบโตมากยิ่งขึ้น

 

สร้างมูลค่าเพิ่มธุรกิจอาหาร

หลังจากฉายภาพรวมของธุรกิจอาหารแพลนต์เบสไปแล้ว ลองมาไล่เรียงโอกาสทางธุรกิจในแต่ละเซ็กเมนต์

ศูนย์วิจัยธนาคารกรุงไทย (Krungthai Compass) วิเคราะห์ว่า Plant-based foodsที่น่าจับตามองในไทยสอดคล้องกับเทรนด์ในต่างประเทศ ได้แก่ Plant-based meat, Plant-based meal และ Plant-based egg โดยผู้ผลิตอาหารที่มีศักยภาพในการต่อยอดผลิตภัณฑ์เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจอาหาร ได้แก่ ธุรกิจแปรรูปเนื้อสัตว์ (Processed meat) และผลิตภัณฑ์จากปศุสัตว์ รวมทั้งธุรกิจผลิตอาหารสำเร็จรูปทั้งแบบพร้อมปรุงและพร้อมทาน 

ในส่วนของผลิตภัณฑ์เนื้อจากพืช เชนร้านอาหารในเครือผู้ประกอบการต่างประเทศที่ทำธุรกิจในไทย ต่างทำการตลาด และนำสนอเมนูที่เจาะกลุ่มลูกค้าที่ไม่รับประเทศเนื้อสัตว์ในไทยมากขึ้น รวมถึงร้านอาหารท้องถิ่นที่เจาะกลุ่มผู้บริโภคที่ใส่ใจสุขภาพมีแนวโน้มเติบโตขึ้น ทำให้ผู้บริโภคคนไทยมีความเข้าใจและรับรู้ถึงผลิตภัณฑ์ในกลุ่ม Plant-based meat มากขึ้นจึงเป็นโอกาสของ SMEs ในการเจาะตลาดในเซ็กเมนต์นี้

สำหรับกลุ่มPlant-based mealกลุ่มนี้ได้รับอานิสงส์จากพฤติกรรมผู้บริโภคที่ต้องการความสะดวกรวดเร็วในการรับประทาน แต่ยังต้องการอาหารที่ดีต่อสุขภาพโดยการพัฒนาเทคโนโลยีด้านการผลิตอาหาร ทำให้อาหารพร้อมทานมีคุณลักษณะไม่แตกต่างจากอาหารปรุงสด นอกจากนี้ผู้ประกอบการมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีความหลากหลายมากขึ้นทั้งในรูปแบบอาหารแช่เย็น อาหารแช่แข็ง รวมถึงอาหารที่เก็บได้ที่อุณหภูมิห้องโดยไม่ต้องแช่เย็นผู้ประกอบการบางรายรังสรรค์เมนูอาหารแพลนต์เบสแบบไทยอย่างผัดไทย แกงเผ็ด และแกงเขียวหวานไก่ ซึ่งใช้เวลาอุ่นในเตาไมโครเวฟเพียง 1 นาทีก็สามารถรับประทานได้ทันที

ทางด้าน Plant-based egg แม้ในต่างประเทศจะมีสัดส่วนตลาดไม่ใหญ่นัก แต่มีอัตราการเติบโตสูง เพราะสามารถตอบโจทย์ผู้บริโภคที่หลากหลาย ทั้งในกลุ่มที่ดูแลสุขภาพ รวมถึงกลุ่มผู้บริโภคที่แพ้ผลิตภัณฑ์จากไข่ โดยเฉพาะผู้บริโภควัยเด็ก โดยในมุมของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมผลิตอาหารที่ใช้ Plant-based egg สำหรับเป็นวัตถุดิบในการผลิตอาหารมองว่า Plant-based egg มีอายุการเก็บรักษาที่นานกว่าผลิตภัณฑ์ไข่ทั่วไป

 

รสชาติยังเป็นปัจจัยสำคัญ

แน่นอนว่า การแข่งขันในสมรภูมิ Plant-based foodsทุกเซ็กเมนต์จะรุนแรงมากขึ้น เพราะผู้ประกอบการรายใหญ่ที่ลงสนามมีแต้มต่อในทุกทาง ไม่ว่าจะเป็นทรัพยากรทางการเงิน การตลาด และเครือข่ายการจัดจำหน่าย

SMEs ที่ต้องการแข่งขันในธุรกิจนี้จึงต้องสร้างจุดแข็งของตัวเอง โดยเฉพาะการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อให้ผลิตภัณฑ์ Plant-based ตอบโจทย์เรื่องรสชาติ เนื้อสัมผัส คุณค่าทางโภชนาการรูปลักษณ์ และกลิ่น 

เรื่องรสชาติยังเป็นสิ่งสำคัญอย่างมากแม้ผู้บริโภคที่ซื้อสินค้าในกลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มที่ใส่ใจสุขภาพเป็นหลัก แต่ขึ้นชื่อว่าอาหารที่เข้าปาก เรื่องรสชาติก็ต้องมาก่อนโดยจากข้อมูลของ Plant Based Foods Association พบว่า ปัจจัยที่ส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อ Plant-based foodsของผู้บริโภคมากที่สุด คือ รสชาติ คิดเป็น 52% รองลงมา คือ เรื่องสุขภาพ 39% จึงนับเป็นความท้าทายของผู้ประกอบการในการพัฒนารสชาติให้ใกล้เคียงกับอาหารในรูปแบบเดิม

นอกจากรสชาติ การเพิ่มสารอาหารที่เป็นประโยชน์ก็นับว่าจำเป็น เพราะโปรตีนจากพืชอาจให้คุณค่าทางโภชนาการน้อยกว่าโปรตีนจากสัตว์ ผู้ประกอบการจึงต้องให้ความสำคัญกับการเพิ่มคุณค่าทางโภชนาการทดแทนโปรตีนจากพืช เช่น การเติมวิตามินและแร่ธาตุที่มักขาดในวัตถุดิบจากพืช เช่น วิตามินบี 12, วิตามินดี, โอเมก้า-3 เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ในสถานการณ์โควิดที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อภาคธุรกิจและการจ้างงาน แม้ผู้บริโภคจะมองหาอาหารที่ส่งผลดีต่อสุขภาพ แต่เรื่องการตั้งราคาก็เป็นปัจจัยที่ไม่อาจมองข้าม ราคาที่จับต้องได้ของผลิตภัณฑ์จะทำให้เข้าถึงคนในกลุ่มที่ใหญ่มากกว่าราคาที่สูงเกินไป

ในต่างประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา ธุรกิจนี้ผ่านวงจรมานานนับ 10 ปี มีผู้เล่นรายใหญ่ที่จับจองตลาด แต่ธุรกิจPlant-based foodsในไทยยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น แม้จะมีการแข่งขันสูง แต่ก็ยังมีพื้นที่ให้ผู้เล่นรายใหม่เข้ามาแข่งขัน โดยปัจจัยเรื่องรสชาติ คุณค่าทางโภชนาการ การตั้งราคา การตลาด และช่องทางการขาย นับเป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการทุกรายต้องให้ความสำคัญ

SMEs แม้จะเป็นผู้ประกอบการรายเล็ก แต่หากมีจุดแข็งและจุดขายที่แตกต่าง หรือมีพันธมิตรในซัพพลายเชนที่ต่อยอดธุรกิจซึ่งกันและกันได้ ก็มีโอกาสในเทรนด์ธุรกิจอาหารระดับโลกเช่นกัน

 


แหล่งข้อมูลอ้างอิง

https://krungthai.com/Download/news/MediaFile_336SlidePlantBaseFood.pdf

บทความแนะนำ

สถาบันพลาสติก – ยกระดับผู้ประกอบการพลาสติกด้วยเทคโนโลยี

สถาบันพลาสติก – ยกระดับผู้ประกอบการพลาสติกด้วยเทคโนโลยี

การเปลี่ยนแปลงระบบใหม่เป็นเรื่องใหญ่สำหรับผู้ประกอบการเสมอ ยิ่งในวงการอุตสาหกรรมพลาสติกด้วยแล้ว ผู้ประกอบการมักจะคิดว่าแค่การเปลี่ยนวัตถุดิบเพียงเล็กน้อย ยังนำไปสู่ผลกระทบตามมาเป็นลูกโซ่ การคิดจะเปลี่ยนระบบจึงเป็นเรื่องใหญ่ที่ยากจะเกิดขึ้น ผู้ประกอบการส่วนใหญ่จึงมักติดกับดักอยู่กับการทำงานในรูปแบบที่คุ้นชิน ในสภาวะความเป็นอยู่ที่คุ้นเคย จนลืมคิดไปว่าทุกช่วงเวลาที่ผ่านไป โลกได้มีการพัฒนาสิ่งใหม่ ๆ ทั้งในแง่ของระบบวิธีทำงาน คุณภาพวัสดุ ช่องทางการตลาดใหม่ ๆ รวมถึงเทคโนโลยีที่ดีขึ้นมากกว่าเก่า เกิดขึ้นมาอยู่เสมอ

.

ก้าวสู่โลกพลาสติกยุคใหม่

เพราะเห็นถึงปัญหาในเรื่องนี้ สถาบันพลาสติกไทย จึงก่อตั้งขึ้นมา เพื่อจะเป็นที่รวบรวมทุกเรื่องเกี่ยวกับพลาสติกไว้ สร้างเป็นฐานข้อมูลด้านอุตสาหกรรมพลาสติก ที่จะนำไปสู่การพัฒนาเทคโนโลยี และการจัดการกระบวนการผลิต สามารถช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางการตลาดให้ผู้ประกอบการพลาสติกในประเทศไทย เสริมสร้างความยั่งยืนให้เกิดขึ้นในระบบอุตสาหกรรมพลาสติก โดยสนองตอบต่อนโยบายในวาระแห่งชาติ BCG ได้แก่ B – Bio Economy (เศรษฐกิจชีวภาพ) / C – Circular Economy (เศรษฐกิจหมุนเวียน) / G – Green Economy (เศรษฐกิจสีเขียว)  นับได้ว่าเป็นก้าวใหม่สู่โลกอนาคตของอุตสาหกรรมพลาสติกไทย

.

ตอบสนองผู้ประกอบการอย่างตอบโจทย์

ทางสถาบันพลาสติกไทยเอง มีแนวทางที่จะช่วยเสริมกำลัง ตอบสนองผู้ประกอบการพลาสติกให้ครอบคลุมทุกภาคส่วน ด้วยแนวคิด 5M คือ Man - บุคลากร / Machine – เครื่องจักร / Material – วัสดุ / Methodology – กระบวนการผลิต / Management – การบริหารจัดการ ด้วยการให้บริการที่ตอบทุกโจทย์ให้กับผู้ประกอบการ ได้แก่

    • ศูนย์ข้อมูลและการวิจัย ทำหน้าที่ให้ฐานข้อมูล รับโจทย์จากทางผู้ประกอบการ ร่วมคิด วิเคราะห์ และ ทำการศึกษาทางด้านการตลาด เพื่อให้ผู้ประกอบการนำไปใช้ปรับปรุงแผนธุรกิจ รวมถึงปรับปรุงแผนการผลิตได้อย่างเหมาะสม รวมทั้ง เป็นแหล่งข้อมูลให้ผู้ประกอบการรายใหม่ ได้เข้ามาศึกษาหาความเป็นไปได้ใหม่ ๆ 
    • การพัฒนาผู้ประกอบการ เสริมสร้างผู้ประกอบการใหม่ ๆ ด้วยการอบรมในรูปแบบคอร์สสาธารณะ และรูปแบบคอร์สออนไลน์ ให้กับทุกคนที่สนใจ และยังมีระบบ HR Solution ที่สามารถเก็บบันทึกข้อมูลผู้ที่เข้าอบรม ว่าได้ผ่านการทดสอบจากหลักสูตรใดไปบ้าง ช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถเข้ามาพิจารณาหาบุคลากรได้โดยสะดวก
    • ศูนย์พัฒนาและให้คำปรึกษา เป็นศูนย์ที่จะช่วยเหลือในด้านของระบบการผลิตต่าง ๆ ทั้งในด้านการให้ความรู้เกี่ยวกับกระบวนการแปรรูปพลาสติกให้เป็นผลิตภัณฑ์, การให้คำแนะนำปรึกษาด้านการปรับปรุงระบบเครื่องจักรให้ทันสมัย, การให้คำแนะนำวางแผนลดค่าใช้จ่ายในกระบวนการผลิตให้กับผู้ประกอบการ เป็นต้น
    •  Factory Check-Up เป็นบริการเสริมให้กับการบริหารจัดการของผู้ประกอบการ โดยสามารถเข้าตรวจสุขภาพการบริหารจัดการระบบการผลิตต่าง ๆ ด้วยตัวเองได้ผ่านช่องทางออนไลน์ และจะออกเป็นผลการทดสอบ พร้อมคำแนะนำในการปรับปรุงกลับมาให้

 

ทางสถาบันพลาสติกไทย มุ่งมั่นที่จะช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการตั้งแต่พื้นฐาน ด้วยข้อมูลความรู้ ให้มีฐานที่มั่นคงที่จะดำเนินธุรกิจ และ พัฒนาธุรกิจ ขณะเดียวกันก็เสริมสร้างทางด้านของการปฏิบัติการ และทางด้านของบุคลากรให้มีประสิทธิภาพที่สูงที่สุด ให้สามารถทำผลิตภัณฑ์ที่ดีที่สุด และสามารถดำเนินการและมีการพัฒนาอย่างยั่งยืนได้

.

ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อได้ที่
อุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิ สถาบันพลาสติก
อาคารกองพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีอุตสาหกรรม
86/6 ซอยตรีมิตร แขวงพระโขนง เขตคลองเตย กรุงเทพฯ 10110
โทร. 02-391 5340-43
website : www.thaiplastics.org
Facebook: PlasticsInstitute
Youtube: สถาบันพลาสติก THAIPLASTICS
Line: Thaiplastics

สำหรับช่องทาง SME ONE เพิ่มเติม
Facebook: SMEONE
Youtube: SMEONE
Line: @smeone

บทความแนะนำ

Insect Protein โปรตีนจากแมลงซูเปอร์ฟู้ดแห่งอนาคต

องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO: Food and Agriculture Organization) ให้ข้อมูลว่า แนวโน้มจำนวนประชากรที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้เกิดความกังวลว่าแหล่งอาหารของโลก เช่น พื้นที่เกษตรกรรมและน้ำ จะสามารถตอบสนองความต้องการอาหารของคนจำนวนมากได้หรือไม่ ความกังวลเรื่องความมั่นคงทางอาหาร (Food security) ทำให้เกิดการแสวงหาแหล่งอาหารทางเลือกสำหรับมนุษย์ โดยแมลงนับเป็นหนึ่งในตัวเลือกที่มีบทความสำคัญ และการผลิตแบบจำนวนมาก (mass production) กำลังได้รับความนิยมทั่วโลก

จากผลการวิจัยของ Research and Marketsคาดการณ์ว่า ในระดับโลก มูลค่าของตลาดแมลงรับประทานได้ (Edible insects) จะเพิ่มสูงขึ้นเป็น 1.18 พันล้านดอลลาร์ในปี 2023 โดยจะมีอัตราเติบโตรายปีอยู่ที่23.8% ในช่วงปี 2018-2023 

การผลิตแมลงเป็นอาหารมนุษย์ ได้รับความนิยมด้วยเหตุผลหลายประการ ทั้งเรื่องสุขภาพ สิ่งแวดล้อม และปัจจัยทางเศรษฐกิจและสังคม

ในประเด็นเรื่องสุขภาพ แมลงคืออาหารที่มีประโยชน์และมีโภชนาการ แมลงหลายชนิดอุดมไปด้วยโปรตีนและไขมันดี มีแคลเซียม ธาตุเหล็กและซิงค์ (Zinc) ในระดับสูง นับเป็นตัวเลือกจากแหล่งอาหารหลัก ไม่ว่าจะเป็นไก่ หมู หรือเนื้อวัว

สำหรับด้านสิ่งแวดล้อม แมลงปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยกว่าปศุสัตว์อื่นๆ การเลี้ยงแมลงใช้พื้นที่น้อยกว่า ไม่จำเป็นต้องทำบนพื้นดิน และไม่ต้องถางที่ดินเพื่อการขยายการผลิต ตรงข้ามกับการเลี้ยงปศุสัตว์ที่ต้องใช้ทรัพยากรธรรมชาติเป็นจำนวนมากทั้งอาหารสัตว์ น้ำพื้นที่เลี้ยงสัตว์โคเนื้อก็ปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมาจำนวนมาก

ในแง่ปัจจัยทางเศรษฐกิจและสังคม การเลี้ยงแมลงทำได้โดยใช้เทคโนโลยีในระดับไม่มาก (low-tech) และใช้เงินลงทุนในระดับที่ไม่สูง ซึ่ง SME ก็สามารถเข้าสู่ธุรกิจนี้ได้ อย่างไรก็ตาม การเลี้ยงแมลงสามารถใช้เทคโนโลยีขั้นสูงที่ซับซ้อน ขึ้นอยู่กับระดับของการลงทุน

นวัตกรรมโปรตีนจากแมลงยังมีความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ ที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็นแมลงแช่เยือกแข็ง, แมลงทอดกรอบ, ผงโปรตีนจากแมลง, ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมโปรตีนจากแมลง, คุ้กกี้แมลง เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีโอกาสทางธุรกิจสูง แต่ธุรกิจโปรตีนจากแมลงก็มีความท้าทายที่ผู้ประกอบการต้องดูแลให้ดี โดยเฉพาะเรื่องความปลอดภัยทางอาหาร (Food safety) ซึ่งก็เหมือนกับอาหารชนิดอื่น โปรตีนจากแมลงอาจถูกปนเปื้อนในขั้นตอนการผลิต ไม่ว่าจะเป็นสารเคมี หรือสารชีวภาพ เช่น แบคทีเรีย ไวรัส หรือเขื้อรา การผลิตแมลงที่ปลอดภัยจึงต้องป้องกัน ตรวจจับ และลดข้อกังวลเรื่องอาหารปลอดภัยต่างๆเหล่านี้ให้ได้

ในฟาร์มเลี้ยงแมลง ต้องมีมาตรการควบคุมสุขอนามัยอย่างเข้มงวด เพื่อลดความเสี่ยงต่างๆ เช่น การปนเปื้อนจากเชื้อจุลินทรีย์ เป็นต้น

 

ส่งออกจิ้งหรีด

ในประเทศไทย กรมปศุสัตว์มีนโยบายสนับสนุนการส่งออกจิ้งหรีด ซึ่งทางกรมมองว่าเป็นตัวเลือกแมลงที่เหมาะสมที่สุด โดยจิ้งหรีดจัดเป็นแมลงเศรษฐกิจตัวใหม่ที่จะสร้างรายได้แก่ประเทศและเกษตรกรของไทย แต่ต้องมีการยกระดับมาตรฐานการผลิตและการแปรรูปตลอดห่วงโซ่ตั้งแต่การเพาะเลี้ยงที่ฟาร์ม การแปรรูปที่โรงงาน จนถึงการส่งออก เพื่อการตรวจสอบและรับรอง กำกับควบคุมคุณภาพมาตรฐานสินค้าให้มีความปลอดภัยอาหารและสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภคและประเทศคู่ค้า 

ขั้นตอนในการส่งออกจิ้งหรีด ประกอบด้วย 3 ขั้นตอน หนึ่งฟาร์มได้รับรองมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) จากกรมปศุสัตว์ โดยการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มจิ้งหรีด มีขอบข่ายในจิ้งหรีดทองดำ จิ้งหรีดทองแดง และจิ้งหรีดทองแดงลายหรือสะดิ้ง ซึ่งต้องผ่านข้อกำหนด 5 ข้อ ประกอบด้วย องค์ประกอบฟาร์ม, การจัดการฟาร์ม ได้แก่ การจัดการจิ้งหรีด การจัดการน้ำและอาหาร บุคลากร การทำความสะอาดและการบำรุงรักษา,สุขภาพสัตว์ ได้แก่ การป้องกันและควบคุมโรค การบำบัดโรคมีการควบคุมการใช้ยาอย่างถูกต้องและเหมาะสม, สิ่งแวดล้อม การกำจัดขยะ สิ่งปฏิกูลและน้ำ และการบันทึกข้อมูล มีการเก็บข้อมูลอย่างน้อย 3 ปี

ขั้นตอนที่ 2 การขึ้นทะเบียนโรงงานเพื่อการส่งออกกับกรมปศุสัตว์ในขอบข่ายแมลงและผลิตภัณฑ์จากแมลง ได้การรับรองการปฏิบัติทางการผลิตที่ดี และมีระบบการวิเคราะห์อันตรายและจุดวิกฤตที่ต้องควบคุม (HACCP) มีการแยกกระบวนการผลิตระหว่างส่วนดิบและส่วนสุกที่ชัดเจน และสอดคล้องตามข้อกำหนดและระเบียบของประเทศคู่ค้า

ขั้นตอนที่ 3 การขอใบรับรองสุขอนามัย (Health certificate) จากกรมปศุสัตว์ มีเอกสารครบถ้วนและผ่านการตรวจสอบจากสัตวแพทย์ประจำโรงงาน เพื่อความปลอดภัยด้านอาหาร

ปัจจุบันประเทศไทยสามารถส่งออกจิ้งหรีดไปประเทศแม็กซิโก ในรูปแบบจิ้งหรีดผง จิ้งหรีดแปรรูป และจิ้งหรีดแช่แข็ง โดยกรมปศุสัตว์ อธิบายว่า การเปิดตลาดขยายการส่งออกไปกลุ่มสหภาพยุโรป สาธารณรัฐประชาชนจีน และญี่ปุ่น อยู่ระหว่างการเจรจาเปิดตลาด คาดการณ์ว่าจะสามารถส่งออกได้ภายในปลายปี 2564

การทำธุรกิจจิ้งหรีดจึงเป็นตัวเลือกหนึ่งสำหรับ SMEs ที่สอดรับเทรนด์อุตสาหกรรมอาหารใหม่โดย SMEs ต้องพัฒนาและเพิ่มศักยภาพในการผลิตและแปรรูปจิ้งหรีดให้มีคุณภาพมาตรฐาน โดยตลาดไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในประเทศ แต่มีโอกาสส่งออกในต่างประเทศอีกด้วย

 

 


แหล่งข้อมูลอ้างอิง

http://www.fao.org/3/cb4094en/cb4094en.pdf

https://library.wur.nl/WebQuery/wurpubs/fulltext/258042

https://www.globenewswire.com/news-release/2018/04/26/1487795/0/en/Global-1-18-Bn-Edible-Insects-Market-Opportunity-Analysis-And-Industry-Forecast-2018-2023.html

บทความแนะนำ