Freshket จากตลาดกลางซื้อขายสินค้าเกษตร สู่ฟู้ดซัพพลายเซนรองรับอุตฯอาหาร

จากความคุ้นเคยในครอบครัวที่คลุกคลีกับชาวสวนและเกษตรกรในการจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ผักสวนครัวทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ สู่การคัด ตัด แต่งผักสดที่ตลาดไทยแล้วนำส่งเข้าร้านอาหาร ในรูปแบบเดิม (Traditional wayซึ่งต้องใช้แรงงานจำนวนมากและขยายธุรกิจค่อนข้างยาก เพื่อรองรับโอกาสและศักยภาพการเติบโตของธุรกิจในปัจจุบันและอนาคต พงษ์ลดา พะเนียงเวช ซีอีโอ บริษัท เฟรซเก็ต จำกัด ได้นำเทคโนโลยีมาช่วยต่อยอดในการทำธุรกิจ และยังก่อตั้งบริษัท เฟรซเก็ต (Freshket) จำกัด เพื่อเป็นตลาดกลางในการซื้อขายวัตถุดิบผัก อาหารแห้งและอาหารสด สำหรับร้านอาหาร ผ่านออนไลน์ หรือตลาดซื้อขายวัตถุดิบออนไลน์ (E-Marketplace) www.freshket.co เมื่อ 4 ปีที่ผ่านมา

พงษ์ลดากล่าวว่า ในการทำธุรกิจของ Freshket ในช่วงแรก บริษัทมุ่งทำธุรกิจในรูปแบบของการเป็นตลาดจำหน่ายวัตถุดิบออนไลน์สำหรับร้านอาหาร เพื่อเป็นตัวกลางในการนำเสนอพืช ผักสวนครัวทุกชนิด อาทิ ผักกาด พริก ผักบุ้ง ผักคะน้า ให้กับร้านอาหารขนาดกลาง เนื่องจากมองว่า ความต้องการผักสวนครัวสดและวัตถุดิบที่มีคุณภาพสำหรับร้านอาหารมีจำนวนมากและเป็นโอกาสในการทำธุรกิจ และเป็นการเชื่อมให้ธุรกิจ 2 กลุ่มคือ ซัพพลายเออร์และร้านอาหารสามารถซื้อขายสินค้าระหว่างกันได้ง่ายขึ้น โดยซัพพลายเออร์และร้านอาหารที่ต้องการซื้อขายสินค้าผ่าน Freshket จะต้องสมัครสมาชิกเพื่อลงทะเบียนกับระบบการซื้อขายออนไลน์ นอกจากนี้ Freshket ยังมีระบบหลังบ้านที่ซัพพลายเออร์สามารถรับออร์เดอร์ ส่งใบเสนอสินค้า และ เช็กสต็อกสินค้า เป็นต้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของซัพพลายเออร์ รวมถึงอำนวยความสะดวกมากยิ่งขึ้น

จากการดำเนินงานมากว่า 4 ปี Freshket ในปัจจุบันไม่ได้เป็นเพียงตลาดซื้อขายวัตถุดิบสำหรับร้านอาหารเท่านั้น บริษัทยังปรับตัวสู่การเป็น ฟู้ดซัพพลายเชนโซลูชั่น ที่รองรับธุรกิจจัดซื้อจัดหาวัตถุดิบสำหรับลูกค้าร้านอาหาร ลูกค้าทั่วไป มีการจัดการกระบวนการแปรรูปและจัดเตรียมวัตถุดิบพร้อมปรุง อาทิ ผักหั่นฝอย ไข่เหลวบรรจุขวด เป็นต้น บริการจัดเก็บและกระจายสินค้า รวมทั้งเป็นตัวแทนนำเข้า-ส่งออกสินค้าเกี่ยวกับอาหารจากทั่วโลก มีการนำเทคโนโลยีปัญหาประดิษฐ์ (Artificial intelligence) หรือ เอไอ มาช่วยในระบบการคาดการณ์ (Forecast) และระบบอื้นๆเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานด้วย

Freshket เข้ามาช่วยแก้ปัญหาของร้านอาหาร ที่ต้องสั่งซื้อวัตถุดิบในการประกอบอาหาร ทางแฟกซ์ อีเมล หรือ ไลน์ ซึ่งต้องระบุขนาด ความสด คุณภาพของผัก ของสด ซึ่งต้องลงรายละเอียดปลีกย่อยมาก ทำให้ร้านอาหารต้องใช้เวลาหลังปิดร้านเตรียมสั่งของในวันรุ่งขึ้น และยังต้องเสียเวลา 3-4 ชั่วโมง กว่าจะเสร็จ เฟรชเก็ตเข้ามาช่วยแก้ปัญหาเดิมๆ โดยสร้างเวิร์คโฟลว์ (Workflow) เชื่อมต่อความต้องการของร้านอาหารไปสู่ซัพพลายเออร์หรือเกษตรกรได้สะดวกง่ายดาย ไม่จำเป็นต้องเสียเวลา และยังรับสั่งสินค้าจากร้านอาหารด้วย โดยเฟรชเก็ตมีโกดังสินค้า (Warehouse) 8 แห่งทั่วกรุงเทพ เพื่อเป็นโกดังเก็บสินค้า รองรับการสั่งสินค้าและกระจายสินค้าไปยังลูกค้าในกรุงเทพและปริมณฑล”พงษ์ลดา กล่าวและว่า 

ระบบฟู้ดซัพพลายเชน โซลูชั่น (Food Supply Chain solution) ในปัจจุบันนอกจากตัวแพลตฟอร์มที่ทำให้ร้านอาหารสามารถสั่งสินค้าวัตถุดิบทางออนไลน์ได้ 100 เปอร์เซ็นต์แล้ว บริษัทยังมีการเชื่อมต่อ (Plug-in) ระบบเข้ากับระบบโกดังสินค้า (Warehouse) และระบบขนส่ง หรือโลจิสติกส์ เพื่อให้บริษัทสามารถสั่งซื้อสินค้าจำนวนมาก (Bulk) และสามารถให้บริการส่งสินค้าให้กับร้านอาหารได้อย่างมีคุณภาพและมีประสิทธิภาพในเวลาที่แน่นอนด้วย ทั้งนี้เพื่อให้สามารถทำงานที่มีความสอดคล้องกันมากยิ่งขึ้นละเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานมากขึ้นด้วย

“ในกระบวนการของ ฟู้ดซัพพลายเชน เรายังมีหน้าที่รวบรวมออร์เดอร์จากร้านอาหารเล็กๆแล้วก็ไปสั่งซื้อวัตถุดิบ กับซัพพลายเออร์เป็น Bulk ซัพพลายเออร์ก็มาส่งที่แวร์เฮ้าส์ ของเรา เพื่อที่เราจะได้ตรวจสอบคุณภาพของสินค้า และการที่เราซื้อเป็น Bulk ก็ได้ราคาดี มันก็ตอบโจทย์ร้านอาหารในการที่ได้สินค้าคุณภาพดีและราคาถูก สามารถส่งสินค้าได้ตรงเวลาและมีบริการหลังการขายที่ดี” พงษ์ลดา กล่าว

ปัจจุบัน Freshket มีสินค้ารองรับความต้องการของลูกค้าร้านอาหารและลูกค้าทั่วไปมากว่า 5,000 รายการ ใน 22 หมวดสินค้าเพื่อเสริ์ฟร้านอาหารและลูกค้าทั่วไป อาทิ อาหารสด อาหารแห้ง เนื้อสัตว์ เป็นต้น มีฐานลูกค้าร้านอาหารประมาณ 4,000 ราย

อย่างไรก็ตามในช่วงสถานการณ์ COVID-19 ปีที่ผ่านมา มีร้านอาหารที่เป็นลูกค้าหลักของบริษัทได้รับผลกระทบและมีการเติบโตที่ชลอตัว บริษัทจึงได้เปิดแพลตฟอร์มของฟู้ดซัพพลายเชน รองรับลูกค้าทั่วไป หรือ กลุ่มคอนซูเมอร์ ทำให้มีฐานลูกค้าเพิ่มขึ้นมากกว่า 10,000 รายนับจากปีที่ผ่านมาโดยรวมมีการสั่งสินค้าอยู่ที่ประมาณ 10,000 ออร์เดอร์ต่อเดือนเมื่อปลายปีที่ผ่านมา ประมาณ 80-85% เป็นลูกค้าร้านอาหาร และในปีนี้มีเมื่อมีลูกค้าทั่วไป ทำให้มีการสั่งสินค้าประมาณ 40,000 ออร์เดอร์ต่อเดือน ประมาณ 60-65% เป็นลูกค้าทั่วไป โดยปัจจัยที่ส่งผลให้มีการเติบโตอย่างมากเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ราคาและคุณภาพของสินค้า รวมถึงบริการหลังการขาย เป็นต้น โดยบริษัทมีซัพพลายเออร์มากกว่า 100 ราย

“เมื่อมีสถาการณ์ COVID-19 ปีที่แล้ว ตลาดร้านอาหารค่อนข้างซบเซาลง ก็เลยเปิดแพลตฟอร์ม ให้กับคอนซูเมอร์ทั่วไปด้วย ก็เลยเสิร์ฟทั้ง 2 เซ็กเม้นท์ แม้ว่าเป้าหมายหลักจะเป็นร้านอาหาร และช่วงโควิด Lock down ลูกค้าบ้านก็เข้ามาเยอะมันเป็นออร์แกนิคที่เข้ามาเองตามสถานการณ์” พงษ์ลดา กล่าว

 สำหรับแผนงานในอนาคต Freshket จะขยายทั้งในส่วนของสินค้าและพื้นที่ให้บริการ โดยในส่วนของรายการสินค้ามีแผนที่จะขยายไลน์สินค้าสำหรับสินค้าที่ความหลากหลายรองรับโรงงานผลิตอาหาร (Food manufacturer) เป็นต้น 

อย่างไรก็ตาม พงษ์ลดา กล่าวว่า สถานการ์ COVID-19 ยังจะอยู่ต่ออย่างต่ำ 6 เดือน และบริษัทจะนำเสนอสินค้าที่หลากหลายให้กับลูกค้ามากขึ้น เพื่อให้ร้านอาหารสามารถคิดค้นเมนูใหม่ๆมากขึ้นเพื่อรองรับกับความต้องการของลูกค้าที่หลากหลาย เนื่องจากยังเป็นตลาดที่มีโอกาสและมีศักยภาพสูง 

นอกจากนี้บริษัทมีแผนที่จะร่วมกับพันธมิตรในการรับออร์เดอร์สินค้าผ่านพันธมิตรและให้พันธมิตรเป็นผู้ส่งสินค้าไปยังลูกค้าปลายทางด้วย คาดว่าจะเริ่มให้บริการภายในสิ้นปีนี้ และภายในสิ้นปีนี้บริษัทคาดว่าจะมีการสั่งสินค้าประมาณ 80,000 ออร์เดอร์ต่อเดือนภายในสิ้นปียังจะมีการระดมทุนเพิ่มจากนักลงทุน(Raise fund)สำหรับสตาร์ทอัพ Series A plus ด้วย นอกจากนี้ยังมีแผนที่จะขยายไปยังหัวเมืองใหญ่เพื่อเพิ่มศักยภาพในการขยายตลาด  และในปี 2024 มีแผนที่จะขยายไปยังตลาดต่างประเทศด้วย

บทความแนะนำ

Cocoa Valley ธุรกิจที่เกิดจากการหาความหมายของชีวิต สู่การสร้างความยั่งยืนให้ชุมชน

เมื่อพูดถึง “โกโก้” เชื่อว่าหลายคนมองว่าเป็นพืชเศรษฐกิจที่ปลูก และแปรรูปในต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ แต่ในความเป็นจริงแล้ว “ประเทศไทย” ก็สามารถปลูก และแปรรูปโกโก้คุณภาพดีไม่แพ้ชาติใดในโลกได้เช่นกัน

Cocoa Valley แบรนด์โกโก้สัญชาติไทย ก่อตั้งโดย “คุณมนูญ ทนะวัง” ชายหนุ่มที่ตัดสินใจลาออกจากงานประจำ ทิ้งเงินเดือนหลักแสน แล้วพาครอบครัวกลับมาเริ่มต้นชีวิตเกษตรปลูกโกโก้ที่บ้านเกิดของตัวเองที่อำเภอปัว จังหวัดน่าน พร้อมทั้งทำโฮมสเตย์ “Cocoa Valley Resort” และคาเฟ่“Cocoa Valley Café” กระทั่งทุกวันนี้เป็นหนึ่งใน Destination ของจังหวัดน่าน และเป็นสวรรค์ของคนรักโกโก้และช็อกโกแลต ขณะเดียวกันได้ส่งต่อความรู้การปลูกโกโก้ให้กับเกษตรกรในชุมชน เพื่อให้คนในท้องถิ่นมีรายได้เพิ่มขึ้น 

 

จากคำถาม “เราเกิดมาทำไม?” สู่การเดินทางหาความหมายชีวิตที่แท้จริง 

หากย้อนกลับไปกว่าจะมาเป็น “Cocoa Valley” เริ่มต้นมาจาก มนูญเมื่อสมัยยังทำงานกับบริษัทน้ำมันของอเมริกาที่เข้ามาลงทุนในไทย ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน และได้เงินเดือนหลักแสนตั้งแต่อายุ 27 ปี แต่หลังจากทำงานไปเรื่อยๆ เขารู้สึกอิ่มตัวกับงานประจำที่ทำมาตลอด 16 ปี แม้งานนั้นจะทำให้เขามีเงิน มีบ้าน มีรถ มีชีวิตครอบครัวที่มั่นคงก็ตาม 

มนูญ มักจะตั้งคำถามกับตัวเองตลอดว่า “เราเกิดมาทำไม ?” ในที่สุดเขาค้นพบว่าวิถีชีวิตแบบ Routine ที่ตื่นเช้ามา ทำงาน หาเงิน ไปทำงานวนลูปอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ไม่ใช่คำตอบของคุณค่าชีวิตที่แท้จริงสำหรับตัวเขาเอง จนนำไปสู่การตัดสินใจลาออกจากงานประจำ และพาครอบครัวกลับบ้านเกิดที่“อำเภอปัว จังหวัดน่าน”

“ตั้งแต่เรียนจบ เราพยายามหาเงิน ทำงานดีๆ เพราะคิดว่าการมีครอบครัวที่ดี มีทุกสิ่งทุกอย่างตามที่คนอื่นประสบความสำเร็จมีกัน จะทำให้เรามีความสุข แต่จริงๆ แล้วมันไม่ใช่สำหรับเรา ผมตั้งคำถามกับตัวเองว่า เราเกิดมาทำไมกันแน่ ? ตอนนั้นก็ยังตอบคำถามของตัวเองไม่ได้ว่าทำไม เพราะชีวิตเราหมุนไปตามภารกิจประจำวัน ไม่ได้มีเป้าหมายในชีวิต สุดท้ายค้นพบว่า ความฝันและความสุขคือ เวลาที่เราได้กลับบ้านเกิด จึงตัดสินใจกับภรรยาพาครอบครัวกลับมาตั้งต้นชีวิตใหม่ที่บ้านเกิด” 

เมื่อกลับมาที่น่านคุณมนูญตัดสินใจทำการเกษตร เนื่องจากคุณพ่อคุณแม่เป็นเกษตรกรอยู่แล้ว จึงมองว่าสามารถนำความรู้ของครอบครัวมาพัฒนาต่อยอดได้ 

ขณะที่การเกษตรในจังหวัดน่าน ส่วนใหญ่ปลูกข้าว และพืชหมุนเวียน แต่คุณมนูญเลือกปลูก “โกโก้” ด้วยเหตุผลว่าชอบเครื่องดื่มโกโก้ และอยากทำการเกษตรรูปแบบใหม่ ที่ไม่ได้ทำเพื่อขายผลผลิต แต่สามารถนำผลผลิตนั้น มาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เพื่อสร้างคุณค่าเพิ่มให้กับผลผลิตทางการเกษตร 

สวนโกโก้จึงเริ่มต้นขึ้นพร้อมกับการพัฒนาปรับปรุงโฮมสเตย์ของครอบครัว โดยในระหว่างรอผลผลิตเติบโต คุณมนูญได้ไปเรียนวิธีการแปรรูปโกโก้ที่ต่างประเทศเพื่อนำความรู้มาปรับใช้ในกระบวนการแปรรูปผลสด เป็นวัตถุดิบโกโก้ และช็อกโกแลตสำหรับทำเครื่องดื่ม, ขนมหวาน และผลิตภัณฑ์ต่างๆ

“ผมเอาความรู้ที่ศึกษามา ทดลอง คิดค้นหาวิธีด้วยตัวเอง เพราะโกโก้แต่ละพื้นที่ มีปัจจัยอุณหภูมิ แร่ธาตุในดิน และภูมิประเทศแตกต่างกัน จะให้รสชาติ และกลิ่นแตกต่างกัน เพราะฉะนั้นผมต้องหาวิธีสร้างผลผลิตโกโก้ ที่มีคาแรคเตอร์ของตัวเองให้ได้”

 

ขยายองค์ความรู้ให้เกษตรกรท้องถิ่น 

หลังจากปลูกโกโก้ และแปรรูปได้สำเร็จ มนูญก็ได้ขยายองค์ความรู้ และคำแนะนำในการปลูกโกโก้แบบอินทรีย์ให้กับเกษตรกรในชุมชนที่สนใจอยากปลูกด้วยเช่นกัน 

“โกโก้ทั้งในแปลงปลูกของตัวเอง และของเกษตรกรเป็นโกโก้อินทรีย์ ไม่ใช้สารเคมี เพราะด้วยความที่เราเป็นลูกเกษตรกร ทำให้รู้ว่าทำไมเกษตรกรไทย ไม่สามารถลืมตาอ้าปากได้ เพราะสุดท้ายติดอยู่ที่ต้นทุน ทั้งต้นทุนยาฆ่าแมลง ปุ๋ย และยาต่างๆ ซึ่งเกษตรกรมองแค่ว่าปีนั้นๆ เขาจะขายได้เท่าไร เขาไม่รู้ด้วยซ้ำว่าทำไมยิ่งทำ ยิ่งขาดทุน เนื่องจากต้นทุนค่อนข้างคงที่ ในขณะที่ราคาพืชผลการเกษตรเปลี่ยนแปลงตลอดเมื่อทำแล้ว ราคาเท่าไรก็ต้องขาย เราเลยตั้งต้นว่าจะปลูกโกโก้อินทรีย์ เพื่อให้ต้นทุนการปลูกน้อยที่สุด จนเราได้มาตรฐาน EarthSafe อินทรีย์วิถีไทย” 

ผลสดโกโก้ที่เกษตกรปลูกนั้น ทาง Cocoa Valleyจะรับซื้อในกิโลกรัมละ 20 บาท สูงกว่าราคาท้องตลาดที่ขายกันกิโลกรัมละ 5 – 10 บาท ซึ่งปัจจุบันปริมาณการปลูกโกโก้ในอำเภอปัว มีประมาณ 50,000 ต้น หรือคิดเป็นผลโกโก้สด10 – 20 ตันต่อเดือน 

เหตุผลที่ Cocoa Valley รับซื้อผลสดโกโก้ในราคาสูงกว่าตลาด มาจาก 2 ปัจจัยหลักคือ 

  1. เพื่อแบ่งปันและสร้างความยั่งยืนให้กับทั้งเกษตรกรได้มีรายเพิ่มขึ้น ในขณะที่ Cocoa Valleyได้ผลผลิตมาแปรรูป ต่อยอดเพิ่มมูลค่าสินค้าทางการเกษตร 
  2. ผลผลิตที่รับซื้อตรงจากเกษตรกร แล้วนำมาแปรรูปที่โรงงานของ Cocoa Valleyทำให้ไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง จึงไม่มีการบวกราคาเพิ่มเป็นทอดๆ และเมื่อผลผลิตส่งตรงจากสวน ก็ทำให้ต้นทุนค่าขนส่งน้อย 

 

พลัง “บอกต่อ” สร้างแบรนด์ Cocoa Valley 

หัวใจสำคัญที่ทำให้ Cocoa Valley เป็นที่รู้จักในกลุ่มนักท่องเที่ยว มาจากพลัง “บอกต่อ”โดยเฉพาะด้านคุณภาพสินค้า ไม่ว่าจะเป็นเครื่องดื่ม, ขนมหวาน และผลิตภัณฑ์รูปแบบต่างๆ เช่น โกโก้ผง, โกโก้นิบส์

“พลังการตลาดที่สำคัญของ Cocoa Valley คือ การบอกต่อจากลูกค้าที่มาใช้บริการ โดยผมดูการตอบรับของลูกค้าจากการ Check-in บนโซเชียล ลูกค้าที่มาใช้บริการคาเฟ่ จะบอกต่อกันว่าเป็นโกโก้ที่แตกต่าง และอร่อย เนื่องจากเราใช้วิธีการแปรรูปโกโก้ที่ไม่ได้ผสมไขมันเทียม และไม่สกัดไขมันโกโก้ หรือสารต่างๆ ที่เป็นข้อดีของโกโก้ออกเพื่อให้ได้โกโก้ และช็อกโกแลตแท้ ทำให้เกิดการบอกต่อในเรื่องคุณภาพ” 

 

ลุยตลาดออนไลน์ รับมือ COVID-19

การเกิดขึ้นของ COVID-19 สร้างผลกระทบเกือบทุกธุรกิจ ไม่เว้นแม้แต่ Cocoa Valleyทั้งโฮมสเตย์ และคาเฟ่ เนื่องจากอิงกับตลาดท่องเที่ยวเป็นหลัก โดย95% ของลูกค้าเป็นกลุ่มท่องเที่ยวในจังหวัดสีแดงเข้ม ทั้งกรุงเทพฯ และปริมณฑล แต่แม้ลูกค้านักท่องเที่ยวจะลดลงทว่า Cocoa Valleyยังคงรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรเหมือนเดิม ขณะเดียวกันได้ปรับตัวมาขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์

“ที่ผ่านมาเราไม่เคยขายออนไลน์ เราขายผ่านหน้าร้านคาเฟ่ของเรา 100% ทำให้เมื่อปรับมาขายออนไลน์ ต้องพัฒนาสินค้าใหม่ ปรับสูตรขนม และแพคเกจจิ้งให้สามารถจัดส่งได้อย่างปลอดภัย รักษาคุณภาพสินค้า และตอบโจทย์ความสะดวกลูกค้า เช่นชุดโกโก้ฟองดูว์พร้อมรับประทาน แถมเตาฟองดูว์มาให้” 

นอกจากนี้ได้ปั้น Sub-brand “โกโก้ปัง” ขายเครื่องดื่ม และขนมปังช็อคโกแลตหลากหลายเมนู เช่น โกโก้มิ้นท์, ขนมปังหน้าช็อคโกแลต โดยทำราคาให้ต่ำกว่า Cocoa Valley เพื่อเจาะกลุ่มลูกค้าท้องถิ่น 

 

ส่งเสริมเกษตรกรบนดอยปลูกโกโก้ เพิ่มพื้นที่สีเขียว -ทดแทนการทำลายป่า 

นอกจากการให้องค์ความรู้กับเกษตรกรในอำเภอปัว ปลูกโกโก้เพื่อสร้างรายได้แล้ว คุณมนูญ ยังเดินหน้าส่งเสริมเกษตรกรบนดอยในจังหวัดน่านหันมาปลูกโกโก้ แทนการปลูกข้าวโพด เพื่อสร้างพื้นที่ป่าให้เพิ่มขึ้น 

“เป้าหมายของผม ไม่ได้ต้องการทำธุรกิจให้เติบโตได้สูงสุด หรือไกลสุด แต่อยากทำให้จังหวัดของเรา บ้านเกิดของเราดีขึ้น อย่างการส่งเสริมเกษตรกรบนดอยหันมาปลูกโกโก้ จากทุกวันนี้ปลูกข้าวโพดเป็นหลัก เนื่องจากพื้นที่บนดอย มีข้อจำกัดด้านน้ำ ทำให้ไม่สามารถปลูกอะไรได้มาก ซึ่งข้าวโพดต้องการแค่ฝนเดียว ปลูกและขายผลผลิตได้เลย และหากจะได้เงินเยอะขึ้น เขาจะขยายพื้นที่ปลูก กลายเป็นการทำลายป่า 

เราอยากเห็นน่านมีภูเขาหัวโล้นน้อยลง และถูกทดแทนด้วยการปลูกต้นไม้ เช่น โกโก้ ซึ่งเป็นพืชยืนต้น ปลูกแล้วอยู่ได้ 50 – 60 ปี เพื่อเพิ่มพื้นที่ป่าในจังหวัดน่านมากขึ้น และสามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรได้จริง ดังนั้นในช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมา เราเข้าไปส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกโกโก้ แต่ด้วยความที่โกโก้เป็นพืชต้องการน้ำ ขณะที่บนดอยไม่มีน้ำตลอดทั้งปี จึงต้องทำระบบน้ำขึ้นมา” 

โดยปีนี้เป็นปีแรกที่ทำสำเร็จที่“หมู่บ้านห้วยลอย” คุณมนูญรับซื้อผลโกโก้สดจากเกษตรกรบนดอยในราคา 25 – 30 บาท เป็นราคาสูงกว่าที่อื่น เนื่องจากการปลูกบนดอย ทำให้เกษตรกรมีต้นทุนค่าขนส่งจึงอยากให้เกษตรกรได้ผลตอบแทนที่พึงพอใจ และแผนจากนี้คุณมนูญจะถอดแบบความสำเร็จดังกล่าว ขยายไปในหลายพื้นที่

“ภาพในอนาคตที่อยากเห็นคือ อยากเห็นการปลูกโกโก้ทดแทนการทำลายป่าให้กับคนบนดอย และเมื่อเกษตรกรมีรายได้ที่เขาอยู่ได้ เขาก็ไม่จำเป็นต้องบุกรุกทำลายป่าส่วนการแปรรูป และการตลาด ด้วยความที่โกโก้ถูกนำไปใช้หลากหลาย และใช้เยอะกันทั่วโลก จึงมี Demand ในตลาดสูง ดังนั้นการส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกโกโก้ ทำให้ได้ทั้งปริมาณผลผลิตเพิ่มขึ้น และสร้างประโยชน์ไปด้วยในเวลาเดียวกัน” มนูญ สรุปทิ้งท้ายถึงเป้าหมายในอนาคต 

บทความแนะนำ

500 TukTuks จากเม็ดเงินลงทุนก้อนแรก 500 ล้านบาท พร้อมสานฝันดันสตาร์ทอัพไทยสู่ยูนิคอร์นในอีก 2 ปี

สตาร์ทอัพ เป็นหนึ่งในธุรกิจที่มีการนำเทคโนโลยีมาช่วยในการดำเนินธุรกิจเพื่อให้สามารถทำธุรกิจมีการเติบโตแบบก้าวกระโดด ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีการลงทุนในสตาร์ทอัพมากเป็นอันดับต้นๆ 

Techsauce รายงานว่า ในปีที่ผ่านมาการลงทุนในสตาร์ทอัพในไทยโดยรวมมีมูลค่ามากกว่า 11,430  ล้านบาท หรือจำนวนเงิน  364.37 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นจำนวนการลงทุนในสตาร์ทอัพ 30 ราย และในปีนี้นับตั้งแต่ต้นปีจนถึงเดือน พฤษภาคม 2021 มีการลงทุนในสตาร์ทอัพประมาณ 13 รายคิดเป็นเงินลงทุนประมาณ 759 ล้านบาท หรือ 24.2 ล้านเหรียญสหรัฐ และหากนับจำนวนการลงทุนในสตาร์ทัพของไทยนับตั้งแต่ปี 2012 เป็นต้นมา มีการลงทุนในสตาร์ทอัพ 269 ราย คิดเป็นจำนวนเงินลงทุนทั้งสิ้น 845.268 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 25,358 ล้านบาท 

“เมืองไทยมีขนาดเศรษฐกิจเป็นอันดับ 2 ของทวีปเอเชีย มีประชากรเยอะ รายได้เฉลี่ยต่อหัวเรียกว่า โอเคร เพราะฉะนั้นสตาร์ทอัพไทยเป็นตลาดที่น่าสนใจ เมืองไทยจะมีความท้าทาย 2-3 อย่างเมื่อเทียบกับเวียดนาม สิงคโปร์ รู้สึกว่า เมืองไทยจะขาดแคลนคนที่เก่งเรื่องทางด้านเทคนิค  โปรแกรมเมอร์ เราจะมีน้อยกว่า” ณัฐวุฒิ พึงเจริญพงศ์ ผู้ร่วมก่อตั้ง 500 ตุ๊กตุ๊ก กล่าวในภาพรวมของสตาร์ทอัพในเมืองไทย และเล่าถึงความเป็นมาของกองทุน 500 TukTuks ว่า 500 ตุ๊กตุ๊ก (500 TukTuks) เป็นหนึ่งในกองทุนที่มีการลงทุนกับสตาร์ทอัพที่เริ่มต้นมากที่สุดในไทยเป็นกองทุนร่วมลงทุนที่ตนเอง และ เรืองโรจน์ พูนผล (กระทิง) โดยได้ ร่วมกันเชิญนักลงทุนจากกองทุนร่วมลงทุน (Venture Capital หรือ VC) จากกองทุน 500 Startups ซึ่งเป็น VC (Venture Capital) ที่ร่วมลงทุนจากสตาร์ทอัพจากทั่วโลกมีการลงทุนในสตาร์ทอัพมากกว่า 2,000 บริษัท มาลงทุนในสตาร์ทอัพไทย ด้วยเม็ดเงินก้อนแรกที่ 10 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 300 ล้านบาท ก่อตั้งเมื่อปี 2015 ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ในการลงทุนของ 500 TukTuks  VC สัญชาติไทยจะลงทุนในสตาร์ทอัพที่เริ่มมีแนวทางธุรกิจที่ชัดเจน มีการลงทุนในรูปแบบของ การสนับสนุนเงินทุนก้อนแรก หรือ Seed Fund ซึ่งเป็นการลงทุนในสตาร์ทอัพที่เริ่มต้นด้วยเงินจำนวน 3 แสนบาทถึง 10 ล้านบาท

“ตอนนั้นผมทำบริษัท อุ๊กบี (Ookbee) และได้รับเงินทุนจากนักลงทุน เป็นสตาร์ทอัพ และรู้สึกว่าจริงๆมันน่าจะมี สตาร์ทอัพเยอะๆ มีวีซีมาลงทุนเป็นเงินลงทุนก้อนแรก (Seed base) สำหรับคนที่อยากทำสตาร์ทอัพ ก็เลยไประดมทุนกับนักลงทุนใน 500 Startups จากอเมริกา และหานักลงทุนในประเทศมาช่วยกันลงทุนในกองทุนนี้เพื่อลงทุนในสตาร์ทอัพไทยเพราะฉะนั้นจุดแข็งของเราก็คือเรามีมีเน็ตเวิร์คที่กว้างขวางทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศและทุกคนก็รู้จักแบรนด์นี้น่าจะเป็นจุดแข็งของ 500 TukTuks” ณัฐวุฒิ กล่าว

ปัจจุบัน 500 TukTuks ได้เปิดกองทุนสำหรับการลงทุนรวม 2 กอง ด้วยจำนวนเงินประมาณ 1,000 ล้านบาท มีการลงทุนในสตาร์ทอัพทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ รวม 85 รายอาทิ Flow Account, Pomelo, Freshket, Omeseและ Fenomenaเป็นต้นโดยกองทุนแรกมีการลงทุนในสตาร์ทอัพจำนวน 50 ราย และกองทุนที่ 2 มีการลงทุนกับสตาร์ทอัพ 35 ราย

“500 TukTuks มีการลงทุนทุกเดือน เดือนละ 1-2 บริษัท เพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ ปรกติกองทุนสตาร์ทอัพ มีอายุ 10 ปี พอเราได้เงินลงทุนมา เราก็จะต้องลงทุนให้หมดส่วนใหญ่ภายใน 3-4 ปีแรก พอใส่เงินเข้าไป เราก็จะต้องให้เวลาเค้าเติบโต ประมาณ 5 ปี อย่างน้อย เราก็ให้สตาร์ทอัพรอบแรกเติบโต ก็จะต้องมีกองทุนใหม่ที่จะให้เราได้ลงุทนต่อเนื่อง โดยทั่วไปทุก 2-3 ปี ก็จะต้องมีกองทุนใหม่ออกมาเพื่อที่จะทำให้ตัวกองทุนมีเงินในการลงทุนต่อไปเรื่อยๆ” ณัฐวัฒิ กล่าว และอธิบายเพิ่มเติมว่า สตาร์ทอัพ ที่ 500 TukTuks สนับสนุนการลงทุนจะเป็นบริษัทเทคโนโลยีและมีโอกาสที่จะเติบโต รวมถึงสามารถทำผลกำไรให้กับนักลงทุนได้ อาทิ สตาร์ทอัพทางด้านการเงินการธนาคาร (FinTech) แฟชั่น อีคอมเมิร์ซ อาหารและท่องเที่ยว เป็นต้น โดยไม่มีการเฉพาะเจาะจงในแต่ละอุตสาหกรรมหรือธุรกิจทางด้านไหนโดยเฉพาะ ทั้งนี้การลงทุนกับสตาร์ทอัพที่ไม่เป็นไปอย่างที่คาดหวังไว้ประมาณ 10-15 เปอร์เซ็นต์

“เราเป็นเหมือนหนึ่งในคนที่ขับเคลื่อนอีโคซิสเต็ม(Ecosystem) ในเรื่องสตาร์ทอัพ ซึ่งมีหลายๆอย่าง ก็คือมีทั้ง คนทำสตาร์ทอัพ กลุ่มของนักลงทุน รัฐบาลที่มาช่วยสนับสนุน นักลงทุนทั้งในไทยและต่างประเทศมีทั้งที่เป็นบริษัทเอกชนในตลาดหลักทรัพย์ ทุกคนก็ต้องร่วมมือกัน รวมถึงมีเดีย สื่อต่างๆด้วย 500 Startups เป็น Global VC ที่ลงทุนมากที่สุดในโลก และ 500 TukTuks เป็นส่วนหนึ่งของ 500 Startups ที่ลงทุนไปประมาณ 2,000 กว่าบริษัททั่วโลก จุดแข็งคือ เรามีบริษัทในเครือเยอะ ในเมืองไทยเรามีบริษัทสตาร์ทอัพที่เราลงทุนเยอะที่สุดในเมืองไทย

สำหรับสัดส่วนการลงทุนของ 500 TukTuks ในปัจจุบัน 90 เปอร์เซ็นต์ เป็นสตาร์ทอัพที่อยู่ในประเทศไทย และอีก 10 เปอร์เซ็นต์ เป็นสตาร์ทอัพที่ลงทุนไปแล้วในประเทศ อินโดนีเซีย พม่า เวียดนาม และอยู่ระหว่างการพิจารณาการลงทุนกับสตาร์ทอัพในประเทศกัมพูชา คาดว่าจะลงทุนได้ภายในปีนี้

อย่างไรก็ตาม 500 TukTuks นับว่าประสบความสำเร็จในการลงทุนกับสตาร์ทอัพ ในประเทศอินโดนีเซีย เป็นอย่างมาก เนื่องจาก 500 TukTuks ได้ลงทุนในบริษัท สตาร์ทอัพ FinAccel ซึ่งเป็นสตาร์ทอัพทางด้าน FinTech ใน อินโดนีเซีย สามารถ เป็นยูนิคอร์น ในตลาดประเทศอินโดนีเซีย มีมูลค่าบริษัทเข้าตลาด NASDAQ ด้วยมูลค่า 80,000 ล้านบาท เมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา

สำหรับแผนงานในอนาคตกับการลงทุนในสตาร์ทอัพทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศนั้น ณัฐวุฒิ กล่าวว่า 500 TukTuks มีแผนที่จะเปิดกองทุนที่ 3 ด้วยเม็ดเงินประมาณ 1,000 ล้านบาทในอีก 2 เดือนข้างหน้า เพื่อลงทุนในสตาร์ทอัพโดยจะให้เงินสนับสนุนกับสตาร์ทอัพในจำนวนเงินที่มากขึ้นจาก 2 กองทุนแรกและในส่วนของมวดหมู่ของสตาร์ทอัพที่กำลังได้รับความนิยมทั้งในปัจจุบันและอนาคตประกอบด้วย สตาร์ทอัพทางด้านสุขภาพ (Health Tech) เพื่อรองรับสังคมสูงอายุ พลังงานสะอาด รวมถึง สตาร์ทอัพทางด้านการเงินการธนาคาร (FinTech) และการศึกษา (EdTech) เพื่อรองรับการเรียนออนไลน์ เป็นต้น

“โดยหลักการเราคิดว่าเราก็จะต้องลงทุนไปเรื่อยๆ ปีละ 20- 30 บริษัทอยู่แล้วอย่างน้อยความตั้งใจของผมก็คือจะให้สตาร์ทอัพให้ได้รับเงินลงทุนทุกเดือนเดือนละเจ้าสองเจ้า ไปเรื่อยๆ ค่อยๆขยายอีโคซิสเต็มไปเพราะเราก็ถือว่าถ้า ถ้าไม่มีนักลงทุนที่เป็น seed state มาลงทุนมันก็ไม่มีนักลงทุนมันก็ไม่มีสตาร์ทอัพที่ได้รับเงินทุนและขยายต่อไปยังสเตทอื่นๆจนเป็นสตาร์ทอัพใหญ่ใหญ่คิดว่าเป็นเงินก้อนแรกของสตาร์ทอัพและเราก็ไม่ได้คิดว่าเราต้องแข่งกับใครเพราะหากมีคนเข้ามาลงทุนเยอะๆในสตาร์ทอัพเราก็จะได้มีบริษัทสตาร์ทอัพให้เราลงทุน” ณัฐวุฒิ กล่าวและว่า 500 TukTuks คาดหวังว่าในปี 2024 สตาร์ทอัพที่อยู่ภายใต้การลงทุนจะมีศักยภาพเป็นยูนิคอร์น (สามารถระดมทุนได้ 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ) ได้ประมาณ 2-3 ราย

“ในกองทุนของเราก็คงจะเริ่มมียูนิคอร์นขึ้นมาอีกซักสองปีจะทยอยๆขึ้นมาอีกสองปีเพราะฉะนั้นตอนนี้ปี 2021 ปี 2023-2024 ก็น่าจะเริ่มมียูนิคอร์นเมืองไทยใน 500 TukTuks แล้ว” ณัฐวุฒิ กล่าวทิ้งท้าย

บทความแนะนำ

Globish สถาบันสอนภาษาอังกฤษออนไลน์ ขานรับการเรียนรู้นอกห้องเรียนยุคดิจิทัล

การเรียนรู้ในยุคดิจิทัลไม่จำกัดในห้องเรียนอีกต่อไป  เช่นเดียวกับสถาบันสอนภาษาอังกฤษออนไลน์ Globish (โกลบิช) ได้เริ่มก่อตัวขึ้นจากนักศึกษาวัยใส ที่อยากเห็นการศึกษาของประเทศไทยพัฒนาขึ้น จึงได้ร่วมกันก่อตั้งสถาบันสอนภาษาออนไลน์ Globish หลังจากที่มีการรวมตัวกันจัดกิจกรรมพานักศึกษาต่างชาติไปสอนภาษาอังกฤษให้กับน้องๆบ้านเด็กกำพร้า เมื่อ 7 ปีที่ผ่านมา

“สมัยที่ผมเป็นนักศึกษาเรามีเพื่อนนักศึกษาจากต่างชาติที่มาเมืองไทย เช่น อเมริกา อียิปต์หรือจากอีกหลายๆประเทศมา แล้วเราพาเขาไปสอนภาษาอังกฤษน้องๆบ้านเด็กกำพร้า พอเขาได้เจอคนต่างชาติ มันไม่ใช่แค่รู้สึกว่ามันเปิดโอกาสทางการเรียนรู้ภาษาอังกฤษ มันเปิดโลกเขา พอได้ฝึกภาษาอังกฤษอย่างสนุก เป็นธรรมชาติจากชาวต่างชาติ เขารู้สึกว่ากล้าพูด กล้าแสดงออก มีความหมายมากขึ้น เขาได้เปิดโลกออกมาว่าโลกมันกว้างใหญ่ รู้สึกว่ามันพิเศษมากๆ” ธีรกร อานันโทไทย ผู้อำนวยการฝ่ายเทคโนโลยี บริษัท โกลบิช อคาเดเมี่ย (ประเทศไทย) จำกัด เล่าย้อนให้ฟัง ก่อนจะเป็นแรงบันดาลใจและมองเห็นโอกาสในการเปิดสถาบันสอนภาษาอังกฤษออนไลน์ Globish 

Globish นับว่าเป็นสตาร์ทอัพทางด้านการศึกษา หรือ Education technology (EdTech) รายแรกของไทยที่เปิดให้บริการการเรียนการสอนออนไลน์ที่นักเรียนสามารถเลือกเรียนภาษาอังกฤษกับคุณครูชาวต่างประเทศหรือโค้ชชาวต่างชาติแบบตัวต่อตัว ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ โดยมีการเรียนการสอนในหลายหลักสูตร 

สำหรับการรับรองมาตรฐานการสอนภาษาอังกฤษนั้น Globish ได้รับการการันตรี รูปแบบการเรียนการสอนจากสถาบันวิเคราะห์ทางด้านการศึกษาที่ได้รับการสนับนุนจากกระทรวงศึกษาธิการโดยรัฐบาลประเทศฟินแลนด์ (Education Alliance Finland) และสามารถวัดผลได้ตามมาตรฐาน CEFR ที่ถูกคิดค้นโดยสภายุโรปและเคมบริดจ์ ซึ่งเป็นมาตรฐานหลักที่ใช้วัด ทักษะการสื่อสาร ให้กับทุกภาษาทั่วโลก 

ธีรกร กล่าวว่า Globish นับว่าเป็นสถาบันสอนภาษาอังกฤษสำหรับวัยทำงาน ที่ผู้เรียนสามารถเรียนภาษาอังกฤษออนไลน์ ผ่านแพลตฟอร์ม Customer Relationship Management (CRM) ภายใต้ชื่อ Globish ซึ่งบริษัทได้พัฒนาขึ้นเอง โดยผู้เรียนที่สนใจจะเรียนภาษาอังกฤษสามารถสมัครผ่านออนไลน์ จากนั้นจะมีทีมที่ปรึกษาในการวัดระดับภาษาของนักเรียนด้วยการทำข้อสอบ ก่อนที่จะมีการให้คำแนะนำและให้ปรึกษาในการเลือกหลักสูตรที่เหมาะสมกับนักเรียนหรือผู้เรียน รวมถึงแนะนำอาจารย์ผู้สอนภาษาอังกฤษแต่ละท่านที่เหมาะสมกับนักเรียนแต่ละคน ปัจจุบันมีอาจารย์ภาษาอังกฤษอยู่ในระบบการเรียนการสอนจากทั่วโลก เช่น อาจารย์จากอเมริกา ฟิลิปปินส์ และยุโรปมากกว่า 500 คน มีหลักสูตรรองรับผู้เรียนมากกว่า หลักสูตร 

“นักเรียนที่มาเรียนภาษาอังกฤษบนแพลตฟอร์ตออนไลน์ของเราประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ เป็นวัยทำงานที่มีอายุ 30-40 ปี ที่รู้สึกว่าอยากใช้ภาษาอังกฤษไปช่วยในการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน และช่วยให้ก้าวหน้าในหน้าที่การงานต่อไปในอนาคต รูปแบบการเรียนของ Globish จะพิเศษและแตกต่างจากที่อื่น เพราะเราเน้นให้ผู้เรียนได้ฝึกพูดจริงๆและมีผู้สอนประกบเพื่อแก้ไขสิ่งที่ผิดให้ถูกต้อง เราเน้นเป็นรูปแบบของการเรียนต่อต่อตัวผ่านช่องทางวีดีโอออนไลน์ บนแพลตฟอร์มของเราเองที่ออกแบบมาเพื่อตอบโจทย์การเรียนภาษาอังกฤษออนไลน์โดยเฉพาะ สำหรับลูกค้าที่เหลืออีก 20 เปอร์เซ็นต์เป็นองค์กรที่ต้องการพัฒนาภาษาอังกฤษให้กับพนักงานซึ่งมีมากว่า 100 องค์กรมีหลักสูตรภาษาอังกฤษรองรับมากกว่า 200 คลาส” ธีรกร กล่าว และอธิบายเพิ่มเติมว่า 

สำหรับการเรียนการสอนภาษาอังกฤษของบริษัท มี 4 รูปแบบประกอบด้วย การเรียน แบบตัวต่อตัว การเรียนที่มีนักเรียน 4 คนต่อครูผู้สอน 1 คน การเรียนกลุ่มย่อยที่มีนักเรียนไม่เกิน 10 คน และการเรียนในรูปแบบของการเรียนการสอนผ่านวิดีโอ หรือ e-Learning (Interactive) ปัจจุบันมีการเรียนการสอนแบบตัวต่อตัวบนแพลตฟอร์มของ Globish ประมาณ 600 คลาสต่อวัน

ธีรกร กล่าวต่อว่า ปัจจุบัน Globish ไม่ได้สอนภาษาอังกฤษออนไลน์สำหรับผู้เรียนกลุ่มเป้ามาย 

วัยทำงานเพียงอย่างเดียว บริษัทได้ขยายการเรียนการสอนออกไปใน รูปแบบของการสอนภาษาอังกฤษสำหรับเด็ก ภายใต้ชื่อ Globish Kid เปิดสอนภาษาอังกฤษสำหรับเด็กที่มีอายุ 8-15 ปี เปิดสอนภาษาจีน Globish Chinese สำหรับผู้เรียนวัยทำงาน มีครูภาษาจีนมากกว่า 10 ท่าน และมีการขยายสาขาโดยการเปิดสอนภาษาอังกฤษออนไลน์ในประเทศเวียดนาม ภายใต้ชื่อ Globish Vietnam ที่เมือง โฮจิมินห์ มีพนักงานมากกว่า 10 คน

Globish ไปตั้งสาขาที่ประเทศเวียดนามเมื่อปีที่ผ่านมา ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 เรามองว่าช่วงโควิด หลายๆคนอยากต่อยอด อยากเรียนรู้เพิ่มทักษะของตัวเอง เราได้รับผลตอบรับดีมาก มีนักเรียนเรียนภาษาอังกฤษออนไลน์หลายพันคลาสต่อเดือน โดยคลาส Business English ได้รับความนิยมมากที่สุด เช่นเดียวกับที่ประเทศไทย ผู้เรียนที่เรียนจบคอร์สจากเราเขาเก่งขึ้น 100 เปอร์เซ็นต์” ธีรกร กล่าวและว่า 

ในการพัฒนาแพลตฟอร์มการให้บริการการเรียนการสอนของ Globish นอกจากจะใช้ระบบ CRM ช่วยในการเรียนการสอน เก็บข้อมูลผู้เรียน ยังมีการพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial intelligence) หรือ เอไอมาช่วยในการเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการการเรียนการสอนในรูปแบบ Interactive หรือการเรียนการสอนผ่านวิดีโอ ซึ่งเป็นการเรียนในรูปแบบของการเล่นเกมส์ ให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาทักษะในจุดที่ต้องการเพิ่มทักษะมากขึ้น และสามารถนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้

สำหรับแผนงานในอนาคต บริษัทคาดว่าในอีก 2 ปีข้างหน้า ตั้งเป้าที่จะมีนักเรียนประมาณ 100,000 คน จากปัจจุบันที่มีนักเรียนประมาณ 50,000 คน นอกจากนี้บริษัทมีแผนที่จะเข้าตลาดหลักทรัพย์ หรือ IPOในอีก 5 ปีข้างหน้า โดยในปัจจุบันบริษัทมีมูลค่ามากกว่า 400 ล้านบาท

“เราอยากให้คนไทย ก้าวทันยุคที่โลกมันเปลี่ยนแปลงไว คนไทยต้องไม่พลาดโอกาสในอนาคต คนไทยวัยทำงาน วัยประถมขาดอะไร เราอยากเข้าเสริมตรงนั้น เราเชื่อว่าคนไทยเก่ง มีบางเรื่องที่เขาขาด เราก็อยากเสริมตรงนั้นให้เขาไปต่อได้ในอนาคต และในวันข้างหน้า บริษัทมีแผนที่จะเพิ่มการสอนภาษาอย่างอื่นนอกเหนือจากภาษาจีน ภาษาอังกฤษ เรายังอยากช่วยผู้เรียนในประเทศเพื่อนบ้านด้วย” ธีรกร กล่าว 

Globish ถือว่าเป็นสตาร์ทอัพทางด้าน EdTech ที่อำนวยความสะดวกสบายในการเรียนการสอน ที่มีประสิทธิภาพที่เห็นผลจากการนำเทคโนโลยีมาประกอบการเรียนการสอนเพื่อให้เกิดผลรับที่ดีที่สุดสำหรับผู้เรียน และยังเป็นพันธมิตรร่วมกับมหาวิทยาลัยในการทำวิจัยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนการสอนด้วย เพื่อรองรับการเรียนที่เหมาะสมเฉพาะสำหรับผู้เรียนแต่ละคน หรือ Tailor-made ซึ่งเป็นการนำเทคโนโลยีและศาสตร์ทางด้านการเรียนการสอนมาประยุกต์ใช้กับการเรียนในรูปแบบสมัยใหม่มีการเรียนในรูปแบบของ Live English Classroom ที่มีการเรียนเฉพาะบุคคล (Personal course) รองรับคนทำงานมากกว่า 50 สายอาชีพ อาทิ นักการตลาด พนักงานออฟฟิด วิศวกร เป็นต้น 

เราอยากช่วยคนไทยในภาวะวิฏฤตโควิด หรือในภาวะที่เศรษฐกิจถดถอย เราอยากช่วยให้คนไทยได้งานทำ ในมุมมองของเราเราไม่ได้ตั้งเป้าจากรายได้ ไม่ได้ตั้งเป้าจากจำนวนผู้เรียน จำนวนผู้สอน แต่เราตั้งเป้าว่า เราอยากช่วยคนไทยหรือแก้ไข Pain point ให้คนไทยให้สามารถไปต่อข้างหน้าได้เพื่อให้เขามีอนาคตที่ดีขึ้นในอนาคตมองว่าเรื่องของการเข้ามามีบทบาทของนวัตกรรมการศึกษาหรือ Ed tech education technology เป็นเรื่องที่น่าสนใจมากๆเพราะมันเป็นเรื่องที่จะเข้ามาแก้ไขไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของคุณภาพความเหลื่อมล้ำและเรื่องของค่าใช้จ่ายทำให้การศึกษาเข้าถึงได้ในราคาที่เรียกว่าย่อมเยา หรือในราคาที่สบายกระเป๋า” ธีรกร กล่าว

 

บทความแนะนำ

เสริมแกร่งธุรกิจ SMEs ให้เติบโตกับ depa และ Partners จาก SCB

ช่วงวิกฤตโควิดที่เกิดขึ้น ผู้ประกอบการจำนวนมากตกอยู่ในภาวะยากลำบาก โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายเล็ก แต่มีจำนวนไม่น้อยที่ปรับตัวได้เร็ว และนำเครื่องมือดิจิทัลเข้ามาช่วยแก้ปัญหา ฝ่าวิกฤตโควิดครั้งนี้ไปให้ได้

ธนาคารไทยพาณิชย์ ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐดิจิทัล หรือ depa บริษัท อี-บิซิเนส พลัส จำกัด จัดเสวนาหัวข้อ “เสริมแกร่งธุรกิจให้เติบโตกับ depa และ Partners จาก SCB” พร้อมยกกรณีศึกษาบริษัท ที.ที.เอช. นิตติ้ง (ไทยแลนด์) จำกัด ที่ยกระดับการบริหารจัดการ ด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยดำเนินกิจการ สร้างโอกาสการขายให้เพิ่มขึ้นสวนกระแสวิกฤตที่เกิดขึ้น

บริษัท ที.ที.เอช. นิตติ้ง (ไทยแลนด์) จำกัด ถือเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจ ในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อช่วยบริหารจัดการธุรกิจให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นเรื่อยๆ และในช่วงวิกฤตโควิด 19ดิจิทัลยิ่งจำเป็นมากขึ้นในการดำเนินกิจการในช่วงที่ยากลำบาก

ใช้แชทบอตเพิ่มโอกาสการขาย

“ธุรกิจหยุดไม่ได้ ไม่ว่าเศรษฐกิจจะเป็นแบบไหน หรือเจอสภาวะการณ์อย่างไร แนะนำให้ปรับปรุงองค์กร ทำให้ธุรกิจยืดหยุ่นมากขึ้นช่วงนี้ทุกท่านค้าขายลำบาก หาลูกค้ายาก ให้หันกลับมาดูในบ้าน จะเอาเทคโนโลยีมาช่วยอย่างไร เพื่อลดงานที่ไม่จำเป็น งานที่เสียเวลา ให้ ERP มาทำแทน” กิตติพงศ์ รวยฟูพันธ์ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท ที.ที.เอช. นิตติ้ง (ไทยแลนด์) จำกัด ให้ข้อคิดก่อนเล่าถึงประสบการณ์ขององค์กรในการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการบริหารจัดการ

กิตติพงศ์ เล่าว่า บริษัทเป็น SMEs ดำเนินธุรกิจผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูป เช่น เสื้อกีฬา เสื้อโปโล ได้นำระบบ ERP (Enterprise Resource Planning) ตั้งแต่10 ปีก่อนหน้านี้ เพื่อช่วยบริหารจัดการธุรกิจ เชื่อมโยงข้อมูลทั้งหมด ตั้งแต่สต็อกสินค้า กระบวนการ ขั้นตอนการผลิต จนส่งถึงมือลูกค้า ช่วยให้การบริหารงานมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น แบบวัน สตอป เซอร์วิสสามารถดูได้แบบเรียลไทม์

หลังจากนั้นได้ขยายธุรกิจไฮบริด สปอร์ต รับจัดงานวิ่งแบบครบวงจร ได้นำระบบ LINE OA มาใช้ เพื่อให้สามารถติดต่อสื่อสารกับลูกค้าได้ง่ายขึ้น ซึ่งในโปรแกรมของของ LINE OA จะมีแดชบอร์ดสำเร็จรูปมาช่วยในการวางแผนการทำงานได้รวดเร็วมากขึ้น

“อย่างตอนนี้บริษัทได้เตรียมวางแผนจัดงานวิ่งหลังสถานการณ์โควิดจบลง ซึ่งมีเวลาอีกครึ่งปีในการวางแผน แดชบอร์ดจะประมวลผลข้อมูลมาเลยว่าตอนนี้จากการรวบรวมข้อมูลสรุปว่าคนเบื่อกทม. ดังนั้นเราอาจจะต้องไปจัดงานที่ภาคตะวันออก เป็นต้น” กิตติพงศ์ ยกตัวอย่าง

หรือในช่วงสถานการณ์โควิดที่เกิดขึ้น บริษัทแดชบอร์ดจะประมวลผลข้อมูล จัดลำดับความสำคัญของลูกค้าแต่ละกลุ่ม กลุ่มไหนที่ยังมีการดำเนินธุรกิจ กลุ่มไหนที่ชะลอ ทำให้พนักงานสามารถโฟกัสลูกค้าได้ถูกกลุ่ม ได้ตรงเป้าหมายมากขึ้น ลดการสูญเสียโอกาสในการดำเนินธุรกิจ และวางแผนการดำเนินธุรกิจได้มีประสิทธิภาพมากขึ้นโดยช่วงที่ผ่านมาบริษัทให้ความสำคัญกับสินค้าในกลุ่มหน้ากากผ้า เสื้อป้องกันแบคทีเรียต่างๆ ทำให้ธุรกิจไม่ได้รับผลกระทบมากนัก

อย่ากลัวการใช้เทคโนโลยี

ประวิทย์ เจริญพัฒนาตระกูล ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท อี-บิซิเนส พลัส จำกัด ในฐานะผู้ให้บริการระบบซอฟต์แวร์สำเร็จรูป ให้คำแนะนำว่า สำหรับผู้ประกอบการ SMEs ที่จะพิจารณาเลือกใช้โปรแกรม ERP เบื้องต้นจะต้องทราบก่อนว่าปัญหาขององค์กรคืออะไร และอยากแก้ไขจุดไหนก่อน ในสถานการณ์โควิดที่เกิดขึ้นนี้ หลายองค์กรอาจจะต้องหยุด หรือชะลอ ซึ่งให้พลิกวิกฤตเป็นโอกาสด้วยการปรับปรุงภายใน และเลือกใช้เทคโนโลยีเข้ามาแก้ปัญหา

“อย่าไปกลัวที่จะใช้เทคโนโลยี เพราะปัจจุบันไม่ยุ่งยากทุกคนสามารถเรียนรู้ได้ และผู้ให้บริการแต่ละราย มีบริการแบบครบวงจร วิเคราะห์ความต้องการ ปัญหาของการทำธุรกิจ เลือกแพลตฟอร์มที่สามารถปรับใช้กับการดำเนินธุรกิจใหม่ๆ ได้ เมื่อต้องขยายกิจการในอนาคต” ประวิทย์ระบุ

บริษัท อี-บิซิเนส พลัส จำกัดเป็นผู้ให้บริการระบบซอฟต์แวร์สำเร็จรูป ที่ได้รับการสนับสนุนจาก depaซึ่งในปี 2563 ที่ผ่านมา ในช่วงวิกฤตโควิด 19 มีลูกค้าหลายรายที่ต้องการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อช่วยในการขายเนื่องจากอยู่ในสภาวะไม่ปกติ

ประวิทย์ เล่าว่า มีกรณีของลูกค้าบริษัท เอกวิทยา (2000) จำกัด ผู้จำหน่ายเครื่องเขียน ในจังหวัดระยอง มีปัญหาการขายหน้าร้าน เนื่องจากมีปริมาณออร์เดอร์มากขึ้น ทั้งระบบออนไลน์และออฟไลน์ เมื่อ FLOW การทำงานมากขึ้น ทำให้เกิดความยุ่งยาก มีปัญหาสต็อกผิดพลาด ด้วยจำนวนมากกว่าหนึ่งหมื่นรายการ ทำให้เกิดผิดพลาดงบบัญชีการเงิน จึงนำระบบ POS มาใช้เชื่อมต่อกับ ERPช่วยลดปัญหาการขายหน้าร้านได้ถึง 100%

นอกจากนี้ ยังแก้ปัญหาการบริหารจัดการสต็อก รวมถึงการช่วยวิเคราะห์สินค้า เพื่อการจัดโปรโมชั่นและส่งเสริมการขาย ช่วยผลักดันยอดขายให้เพิ่มขึ้น ล่าสุดอยู่ระหว่างการพัฒนาระบบการขายผ่าน Shopeeเพิ่มขึ้น

ปัจจุบัน ระบบของอี-บิซิเนส พลัส รองรับธุรกิจได้หลากหลายขนาดทั้งใหญ่ กลางและเล็ก โดยมีราคาเริ่มต้นเพียง 25,000 บาท สามารถใช้คูปองดิจิทัลจาก depaสนับสนุนอีก 10,000 บาท

สำหรับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa)ปัจจุบันมีมาตรการช่วยเหลือ SMEs เพื่อยกระดับการบริหารจัดการด้วยดิจิทัล  2 เครื่องมือได้แก่ 

  1. depa Digital Tranformation Fund คือการร่วมลงทุนกับเอกชนในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ ในสัดส่วนไม่เกิน 60% วงเงินสูงสุดไม่เกิน 250,000 บาท ในกลุ่มDigital Startups ที่พัฒนาระบบทั้งFront End Back End และInfrastructure
  2. Mini Transformation Vocherหรือคูปองส่วนลดในการซื้อซอฟต์แวร์ มูลค่าสูงสุด 1 หมื่นบาท ใช้ได้ทั้งค่าระบบซอฟต์แวร์ ค่าเช่าใช้บริการระบบต่าง ๆ อย่างน้อย 6 เดือน กรณีเป็นค่าอุปกรณ์ หรือฮาร์ดแวร์ จะสนับสนุนในวงเงินไม่เกิน50%ผู้สนใจเข้าไปดูข้อมูลและติดต่อผ่านช่องทางออนไลน์ ผ่าน ecatalog.depa.or.th

“เราต้องการช่วยผู้ประกอบการ SMEs ทำธุรกิจ โดยการนำดิจิทัลไปใช้ช่วยเพิ่มโอกาสธุรกิจ หาลูกค้าใหม่ ๆ ช่วงนี้เป็นจังหวะที่ดีในการเตรียมตัว ปรับปรุงกระบวนการ ลดต้นทุน หาวิธีสร้างรายได้ให้เพิ่มขึ้น โดยใช้ดิจิทัลเข้ามาช่วย ทำให้ผู้ประกอบการวางแผนทำธุรกิจได้ง่ายขึ้น เข้าถึงลูกค้าได้เร็วขึ้น สร้างความแตกต่างให้ลูกค้าได้ มีโอกาสทำธุรกิจได้ดีขึ้น” สุชาดา โคตรสินผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมและธุรกิจ depa กล่าวทิ้งท้าย

 

บทความแนะนำ