CMED พัฒนาวีลแชร์ ปรับยืน อนาคตเครื่องมือแพทย์ไทย ช่วยลดการนำเข้า

จากจุดเริ่มต้นที่ทำโครงงานวิจัยในมหาวิทยาลัยกับโครงการพัฒนาวีลแชร์ยืนได้ (Standing Wheelchair) รถวีลแชร์ปรับยืนที่ใช้สำหรับผู้ป่วยอัมพาตครึ่งท่อน อัมพาตครึ่งซีก (โรคหลอดเลือดสมอง) กล้ามเนื้ออ่อนแรง และอาการทางระบบประสาทอื่นๆ รวมถึง ผู้ป่วยที่ไม่มีแรงขาหรือขาไม่มีความรู้สึก วีลแชร์สามารถช่วยพยุงให้ผู้ป่วยสามารถที่จะยืนได้ โดยไม่ต้องใช้มอเตอร์ไฟฟ้า ธีรพงศ์ สมุทรอัษฎงค์ ผู้ก่อตั้ง บริษัทซีเมด เมดิคอล จำกัด อดีตนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงได้นำงานวิจัยของตนเอง พัฒนามาสู่รถเข็นนั่ง-ยืน หนึ่งในเครื่องมือแพทย์ของไทยและสามารถช่วยลดการนำเข้าจากต่างประเทศ

“จากจุดเริ่มต้นที่ไม่อยากให้โปรเจ็กที่ทำมาสู่จุดเริ่มต้นของบริษัท บริษัทเริ่มต้นมาจากการทำโครงการวิจัย จากนั้นจึงได้พัฒนาสู่สตาร์ทอัพ เป็นสตาร์ทอัพที่เริ่มต้นมาจากสถาบันการศึกษา จุดเริ่มต้นมาจากการที่ผมเองเมื่อสมัยเรียนวิศวกรรม เครื่องกลกับการเรียนทางด้านการออกแบบเครื่องมือแพทย์ ได้พัฒนาโครงการรถเข็นนั่ง-ยืน (วีลแชร์ปรับยืน) สิ่งที่ทำมันจะสูญเปล่า ถ้าเกิดว่าเราจบแล้วไปทำงานบริษัทหรือไปทำอย่างอื่น และสิ่งที่ทำมาจะเป็นงานวิจัยขึ้นหิ้ง เลยคิดว่าอยากจะทำอะไรซักอย่างเพื่อเอาของที่พัฒนาส่งต่อไปให้ใช้ได้ และคนด้อยโอกาสสามารถที่จะเข้าถึงงานนวตกรรมได้ เลยออกมาทำและตั้งบริษัทเมื่อ 4 ปีที่ผ่านมา” ธีรพงศ์ กล่าวและว่า 

บริษัท ซีเมด เมดิคอล นับว่าเป็นสตาร์ทอัพกลุ่มแรกๆของไทยที่เกิดจากรั้วมหาวิทยาลัย เนื่องจากได้รับการบ่มเพาะจากโครงการสนับสนุนสตาร์ทอัพของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ที่สนับสนุนให้มีศูนย์บ่มเพาะในมหาวิทยาลัยและยังได้รับทุน Research Gab Fund มาช่วยในการปรับปรุงการผลิตทั้งหมดของระบบการปรับยืนให้มีประสิทธิภาพและมีมาตรฐาน

“เราได้รับโอกาสค่อนข้างดี ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลในการดำเนินธุรกิจปลอดภาษี 5 รอบปีบัญชี เราทำธุรกิจโดยไม่ต้องเสียภาษี 5 ปี โดยสินค้ารายการแรก คือ รถเข็นนั่ง-ยืนเป็นรถเข็นที่ออกแบบเฉพาะบุคคล โดยบริษัทจะคุยรายละเอียดการใช้งานกับลูกค้าก่อน จากนั้นจะผลิตให้กับลูกค้าตามความต้องการรถเข็นนั่ง-ยืน เป็นรถเข็นที่ใช้สามารถรองรับผู้ใช้งานที่มีน้ำหนักไม่เกิน 90 กิโลกรัม ผู้ใช้งานสามารถปรับรถเข็นให้สามารถยืนได้ ช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถทำกายภาพบำบัดได้สะดวกมากยิ่งขึ้น” ธีรพงศ์

ด้าน ผศ.ดร.บรรยงค์ รุ่งเรืองด้วยบุญ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล  คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อาจารย์ที่ปรึกษาโครงวีลแชร์ปรับยืน กล่าวว่า ปรกติรถเข็นคนพิการที่ปรับยืนได้ จะใช้มอเตอร์ไฟฟ้า ซึ่งมีราคาแพงมากประมาณ 150,000-200,000 บาท ซึ่งผู้ป่วยน้อยรายที่จะหาซื้อมาได้ ดังนั้นเพื่อเพิ่มโอกาสให้แก่ผู้ป่วยได้ใช้ชีวิตที่ง่ายขึ้น นักศึกษาได้ประดิษฐ์รถเข็นปรับยืนซึ่งมีราคาที่สามารถซื้อได้

ธีรพงศ์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังได้พัฒนาเครื่องยก-เคลื่อนย้ายผู้ป่วย ที่สามารถใช้เคลื่อนย้ายผู้ป่วยจากเตียงมานั่งบนรถวีลแชร์ หรือยานพาหนะได้ เป็นต้น 

“ถึงคุณจะทำรถเข็นดีที่สุดในโลก หากคุณไม่สามารถเคลื่อนย้ายผู้ป่วยจากเตียงมานั่งบนวิลแชร์ หรือย้ายผู้ป่วยจากวิลแชร์ไปนั่งในรถหรือพาหนะอื่นๆ ก็ไม่มีประโยชน์ที่จะเป็นรถเข็นที่ดี เราเลยทำอุปกรณ์เชื่อมกับรถเพื่อเคลื่อนย้ายผู้ป่วย หรือเครื่องยก-เคลื่อนย้ายผู้ป่วย” ธีรพงศ์ กล่าว

เพื่อรองรับการใช้งานที่ได้ประโยชน์สูงสุด บริษัทได้พัฒนารถเข็นนั่ง-ยืน และเครื่องยก-เคลื่อนย้ายผู้ป่วยด้วยอุปกรณ์ที่มีคุณภาพและคุณสมบัติเดียวกับสินค้าจากยุโรป เพื่อรองรับการใช้งานทั้งในโรงพยาบาลและลูกค้าผู้ป่วยทั่วไป มีโรงพยาบาลที่มีการใช้วีลแชร์ของบริษัทดูแลผู้ป่วย อาทิ โรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลสวนดอก มากกว่า 20 ตัว วีลแชร์ของบริษัทมีราคาจำหน่ายที่ 37,450 บาท พร้อมรับประกันรถเข็น 2 ปี และเครื่องยก-เคลื่อนย้ายผู้ป่วยมีราคาจำหน่ายที่ 48,150 บาทพร้อมรับประกัน 1 ปี โดยนับตั้งแต่ผลิตสินค้าสู๋ตลาดบริษัทสามารถจำหน่ายรถเข็นได้ประมาณ 700 ตัว และเครื่องยก-เคลื่อนย้ายผู้ป่วยมากกว่า 300 ตัว 

“จนถึงปัจจุบันรถเข็นปรับยืนใช้เวลาในการพัฒนาต่อเนื่องมากกว่า 14 ปี และได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้ใช้งานและผู้ป่วย ก่อนที่ผู้ซื้อจะซื้อของเราไป ผู้ใช้จะต้องมั่นใจว่า เค้าซื้อไปแล้วใช้ได้จริง” ธีรพงศ์ กล่าว และอธิบายเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมาการทำตลาดเครื่องยกเคลื่อนย้ายผู้ป่วยและวีลแชร์ปรับยืน บริษัทจะทำตลาดในรูปแบบลูกค้าติดต่อมาโดยตรงผ่านช่องทางออนไลน์ บริษัทมีแผนที่จะปรับช่องทางการตลาดใหม่โดยเพิ่มจำนวนดีลเลอร์ในการทำตลาด และยังมีแผนที่จะให้บริการเช่ารถเข็นเพื่อไปใช้ตามบ้านด้วย โดยคาดว่าจะสามารถทำธุรกิจในรูแบบเช่าในต้นปีหน้า

นอกจากนี้ในช่วง COVID-19 บริษัทยังได้พัฒนาเครื่องทำกายภาพบำบัดสำหรับผู้ป่วย เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถทำกายภาพบำบัดได้เองที่บ้านโดยไม่ต้องไปทำกายภาพบำบัดที่โรงพยาบาลหรือศูนย์กายภาพบำบัด 

“ผมมองว่า จนถึงปีหน้า ครอบครัวผู้ป่วยก็ยังไม่สามารถที่จะพาผู้ป่วย ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ไปทำกายภาพบำบัดที่ศูนย์กายภาพบำบัดต่างๆได้ เราต้องพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสมากยิ่งขึ้นเราก็ต้องทำอุปกรณ์สำหรับฝึกกายภาพบำบัดที่บ้านในท่ายืน เพื่อที่จะดูแลผู้ป่วยให้ได้มากยิ่งขึ้น โดยคนในครอบครัวสามารถช่วยทำกายภาพบำบัดเองได้ คาดว่าอุปกรณ์กายภาพบำบัดจะออกสู่ตลาดได้ในไตรมาสสี่ปีนี้ และบริษัทมีแผนที่จะต่อยอดการพัฒนาอุปกรณ์กายภาพบำบัดอื่นๆด้วย และผู้ป่วยยังคงต้องการทำกายภาพบำบัดอย่างต่อเนื่อง” ธีรพงศ์ กล่าว

CMED ถือเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้ประเทศไทยดีขึ้น เพราะว่าถ้าไม่มีโควิดประเทศไทยก็กำลังจะเป็น Medical hub เนื่องจากประเทศไทยมีหมอที่เก่ง ปัจจุบันบริษัทเป็นคนไทยที่มีนวัตกรรมของตนเอง เป็นส่วนหนึ่งในความยั่งยืนของอุตสาหกรรม ความยั่งยืนทางการแพทย์ที่นอกเหนือจากการนำเข้า และมีทีมงาน R&D ที่มีศักยภาพมากในการพัฒนาและผลิตให้มากขึ้นนอกจากนี้บริษัทมีแผนที่จะให้บริการเช่า วีลแชร์ สำหรับผู้ป่วยด้วย คาดว่าจะเริ่มทดลองโครงการในไตรมาสสี่ปีนี้ก่อนที่จะให้บริการอย่างเป็นทางการในปีหน้าเพื่อเป็นทางเลือกสำหรับผู้ป่วย

ธีรพงศ์ กล่าวว่านอกจากจำหน่ายอุปกรณ์ทางการแพทย์ให้กับผู้ป่วยในประเทศไทยแล้ว ยังมีลูกค้าจากต่างประเทศที่ซื้อไปใช้ด้วย อาทิ ลูกค้าจากประเทศกัมพูชา มาเลเชีย และบริษัทอยู่ระหว่างการหานักลงทุนและพันธมิตรเพื่อที่จะมาลงทุนและช่วยขยายธุรกิจไปยังตลาดต่างประเทศโดยจะเน้นที่ประเทศ ลาว กัมพูชาและมาเลเชีย

ทั้งนี้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รายงานว่า ข้อมูล ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2563 ที่ผ่านมาประเทศไทยมีประชากรจำนวนทั้งสิ้น 66.18 ล้านคน และเป็นคนพิการที่ได้รับการออกบัตรประจำตัวคนพิการจำนวน 2,076,313 คนคิดเป็นร้อยละ 3.05 ของประชากรทั้งประเทศ โดยความพิการใน 3 อันดับแรกคือ ทางการเคลื่อนไหวหรือทางร่างกายมากที่สุดมากที่สุด จำนวน 1,032,455 คน คิดเป็นร้อยละ 49.73 รองลงมาเป็นความพิการทางการได้ยินหรือสื่อความหมาย จำนวน 391,785 คน หรือ คิดเป็นร้อยละ 18.8 และความพิการทางการเห็นจำนวน 191,020 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 9.20 

โดยผู้พิการส่วนใหญ่กว่า 1.1 ล้านคน เป็นผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป รองลงมาคือวัยทำงาน อายุ 15-59 ปี ซึ่งทั้งสองกลุ่มนี้มีความพิการทางการเคลื่อนไหวหรือทางร่างกายมากที่สุด

 

บทความแนะนำ

ก.ล.ต.เร่งปลดล็อกเพิ่มโอกาส SMEs เข้าถึงแหล่งเงินทุน

ปัญหาสำคัญตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันของผู้ประกอบการ SMEs คือการเข้าถึงแหล่งเงินทุน สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) จึงมีนโยบายส่งเสริมและสนับสนุนให้เอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินทุนในตลาดทุนได้ และในภาวะวิกฤตที่เกิดขึ้น ตลาดทุนเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับเอสเอ็มอีในการหาแหล่งเงินทุนเพื่อเสริมสภาพคล่องให้กิจการ

“ก.ล.ต.ริเริ่มให้การส่งเสริมและสนับสนุนให้เอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินทุนในตลาดทุนได้ตั้งแต่ปี 2562 ตามนโยบายของนางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ ก.ล.ต. ที่ต้องการให้ตลาดทุนเป็นของกิจการทุกประเภท โดยเฉพาะเอสเอ็มอีสามารถใช้ประโยชน์จากตลาดทุนได้เหมือนกิจการขนาดใหญ่” ไพบูลย์ ดำรงวารี ผู้อำนวยการฝ่ายจดทะเบียนหลักทรัพย์ 2 ก.ล.ต. กล่าวถึงนโยบายสนับสนุนเอสเอ็มอีในช่วงที่ผ่านมา

 

3 ช่องทางระดมทุนเอสเอ็มอี-สตาร์ทอัพ

ปัจจุบันก.ล.ต.ได้พัฒนาช่องทางการระดมทุนสำหรับเอสเอ็มอี และสตาร์ทอัพ ใน 3 ช่องด้วยกัน ได้แก่

  1. การระดมทุนจากผู้ลงทุนในวงจำกัด หรือ Private Placement (PP) 
  2. การระดมทุนจากประชาชนผ่าน Crowdfunding (CF) ผ่าน Funding portal ที่ได้รับอนุญาตจาก ก.ล.ต.  
  3. การระดมทุนจากผู้ลงทุนในวงกว้าง โดยมีตลาดรองเพื่อรองรับการซื้อขายหุ้นเอสเอ็มอีโดยเฉพาะ ซึ่งแนวทางที่ 3 อยู่ระหว่างการทำประชาพิจารณ์

ไพบูลย์ กล่าวว่า ที่ผ่านมา ก.ล.ต. พยายามแก้ไขข้อจำกัด กฎเกณฑ์ต่าง ๆ ในแต่ละช่องทาง เพื่อปลดล็อกให้เอสเอ็มอีสามารถระดมทุนผ่านช่องทางต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น อย่างกรณี Crowdfunding ก.ล.ต.เปิดให้เอสเอ็มอีระดมทุนในรูปแบบหุ้นหรือหุ้นกู้ได้ ซึ่งได้รับความสนใจและเติบโตสูงในช่วงที่ผ่านมา และล่าสุดคือตลาดรองการระดมทุนสำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ที่มีการผ่อนคลายกฎเกณฑ์ต่าง ๆ เพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายให้กับเอสเอ็มอี เช่น ไม่ต้องมีที่ปรึกษาทางการเงิน ไม่ต้องรายงานงบการเงินทุก 3 เดือน 6 เดือน แต่ต้องเปิดเผยข้อมูลให้นักลงทุนรับทราบ เป็นต้น

สำหรับเงื่อนไขการระดมทุนในแต่ละช่องทาง มีดังนี้ 

  1. ช่องทาง PP ผู้ระดมทุน เป็นบริษัทจำกัด ที่ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการส่งเสริมการระดมทุนผ่านตลาดทุนกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ผู้ลงทุน เป็นทั้งนักลงทุนสถาบัน ธุรกิจร่วมลงทุน (VC) หรือ นักลงทุนอิสระ (Angel Investor) รวมถึงกรรมการและพนักงานของบริษัท และนักลงทุนรายย่อย ไม่เกิน 10 ราย และมูลค่าไม่เกิน 20 ล้านบาท
  2. การระดมทุนผ่านระบบ Crowdfunding ซึ่งเป็นเทคโนโลยีทางการเงิน ที่เปิดให้ทั้งบริษัทจำกัด และบริษัทมหาชนจำกัด สามารถระดมทุนจากประชาชนได้ผ่าน Funding portal ที่ได้รับอนุญาตจากสำนักงาน ก.ล.ต. ในรูปของหุ้น หรือหุ้นกู้ให้แก่ผู้ลงทุนเป็นสิ่งตอบแทน ซึ่งภายหลังการระดมทุนสำเร็จ ผู้เสนอขายจะต้องรายงานการใช้เงินลงทุนและความคืบหน้าของโครงการธุรกิจอย่างต่อเนื่อง
  3. การระดมทุนจากผู้ลงทุนในวงกว้างผ่าน SME Board โดยผู้ระดมทุนจะต้องเป็นเอสเอ็มอีหรือสตาร์ทอัพที่เป็นบริษัทมหาชนจำกัด ที่มีผลการดำเนินงานมาเป็นระยะเวลาหนึ่ง หรือมีมูลค่ากิจการระดับหนึ่งแล้ว เช่น เอสเอ็มอีขนาดกลางตามคำนิยามของสสว. ส่วนผู้ลงทุน จะต้องมีความรู้และประสบการ์ระดับหนึ่งและสามารถรองรับความเสี่ยงได้ ซึ่งก.ล.ต.จะสรุปขั้นตอนการดำเนินงานของ SME Board ภายในปีนี้ และเริ่มซื้อขายได้ในปี 2565 เป็นต้นไป

 

กระตุ้น SMEs ใช้ช่องทางระดมทุนเสริมสภาพคล่อง

การระดมทุนผ่านช่องทางต่าง ๆ ของตลาดทุน เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ช่วยเอสเอ็มอีลดต้นทุน โดยไม่ต้องเสียดอกเบี้ย ยิ่งในภาวะวิกฤตโควิดที่เกิดขึ้น เอสเอ็มอีมีปัญหาสภาพคล่อง การระดมทุนถือเป็นสิ่งจำเป็น โดยช่องทางแหล่งทุนของก.ล.ต.สามารถเข้าไปเป็นอีกทางเลือกให้กับผู้ประกอบการได้ ขึ้นอยู่กับผู้ประกอบการอยู่ในลักษณะกิจการแบบใด ขนาดกิจการ ที่เหมาะสมกับช่องทางการระดมทุนแบบใด

สำหรับยอดการระดมทุนของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในช่องทางต่าง ๆ ของก.ล.ต. ตั้งแต่ปี 2562 – สิงหาคม 2564 มีดังนี้ การระดมทุนแบบวงแคบ (SME-PP) มีมูลค่ารวม 204.08 ล้านบาท การระดมทุนผ่านระบบคราวด์ฟันดิง มูลค่ารวม 479.97 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นการระดมทุนแบบหุ้นกู้ถึง 421.89 ล้านบาท ถือเป็นช่องทางที่ได้รับความนิยมและเติบโตเพิ่มขึ้นตามลำดับ

“เราพยายามอัพเดทสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ พยายามหาช่องทางใหม่ ๆ ผ่อนคลายกฎเกณฑ์ต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้สะดวก และง่ายมากขึ้น โดยไม่สร้างภาระทางการเงินให้ผู้ประกอบการ อย่างการออกโปรดักส์ใหม่ล่าสุด Real Estate-backed ICO หรือโทเคนดิจิทัล ที่มีอสังหาริมทรัพย์เป็นหลักทรัพย์อ้างอิง” ไพบูลย์กล่าว

Real Estate-backed ICO เป็นการสนับสนุนให้นำเทคโนโลยีมาใช้ในตลาดทุนเพื่อเพิ่มช่องทางในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการ และเพิ่มทางเลือกให้กับผู้ลงทุน Real Estate-backed ICO เป็นการระดมทุนที่มีสินทรัพย์รองรับ โดยผู้ออก Real Estate-backed ICO สามารถนำเงินที่ระดมทุนได้จากการออก ICO ไปลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ ได้ 3 วิธี คือ 

  1. ซื้ออสังหาริมทรัพย์นั้นโดยตรง 
  2. ซื้อหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงไม่น้อยกว่า 75% ของบริษัทที่ถือครองอสังหาริมทรัพย์นั้น
  3. ลงทุนในสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์

นี่เป็นตัวอย่างของนวัตกรรมการลงทุนใหม่ ๆ ที่สำนักงาน ก.ล.ต. พยายามพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ก้าวทันเทคโนโลยีและการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในโลกปัจจุบัน เพื่อเพิ่มโอกาสและทางเลือกใหม่ ๆ ในการระดมทุน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการสนับสนุนกิจการขนาดต่าง ๆ รวมถึง SMEs ให้เติบโต และเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันในอนาคต โดยยังคงให้ความสำคัญกับการคุ้มครองผู้ลงทุนอย่างเพียงพอเหมาะสม ซึ่งถือเป็นพันธกิจสำคัญที่ ก.ล.ต. ยึดมั่นมาโดยตลอด

บทความแนะนำ

อย.เพิ่มช่องทางออนไลน์ ช่วยผู้ประกอบการ SMEs ยุค New Normal

อย.ที่คนทั่วไป เรียกว่า  “อย.=เอายาก” นั้น ต่อไปนี้ จะไม่มีคำนั้นอีกต่อไป หลังเดือน กันยายน 2564 สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา จะปรับระบบการยื่นขอเลขทะเบียนผ่านทางช่องทางออนไลน์100% และสามารถอนุมัติภายในวันเดียวรับใบอนุญาตผ่านระบบอิเลกโทรนิกส์ได้ทันที 

เนาวรัตน์ แตงไทย นักวิชาการอาหารและยาชำนาญการพิเศษ กองอาหาร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา  กล่าวว่า ภายใยเดือนกันยายน 2564 การยื่นขออนุญาตจะเป็นระบบออนไลน์ทั้งหมด และหากรายละเอียดที่ขอไม่ซับซ้อนไม่ยุ่งยาก การพิจารณาจะแล้วเสร็จภายใน 1วัน และสามารถรับใบรับรองผ่านอิเลกโทรนิกส์ได้ทันที 

“รัฐต้องไม่เป็นอุปสรรคกับผู้ประกอบการ รัฐต้องเข้าไปแก้ไขอะไรที่คิดว่าเป็นอุปสรรค อะไรที่เป็นอุปสรรค เราก็จะต้องลดอุปสรรค ตรงนั้นไปเช่น คนมองว่า อย. ว่า “เอายาก”  เราต้องมองว่าทำไมถึงเป็นอย่างนั้น คนมองว่าเอกสารมากระยะเวลาพิจารณานาน ขอไม่ได้สักที ใช้เวลาเป็นปี  

ดังนั้นถ้าเราพัฒนาการยื่น ใช้ระบบการยื่นออนไลน์เราออกแบบเหมือนยื่นภาษีเลย / ถ้าต้องการเพิ่มเอกสารก็ส่งเอกสารตามไฟล์แนบ อัพโหลดไฟล์เข้ามาได้เลย นอกจากนี้ยังมีการแบ่งกลุ่มอาหาร แบ่งประเภทอาหาร เช่นอาหารที่ไม่เสี่ยง/ อาหารที่เสี่ยงปานกลาง  / เสี่ยงต่ำ /เสี่ยงสูง ทำการแยกกลุ่มออกมา หรือ อาหารที่ไม่เสี่ยงเลยก็จะพิจารณาได้รวดเร็วขึ้น พิจารณาอนุญาตโดยระบบออนไลน์ และออกใบอนุญาตเป็น E-Certificate อาจจะ วันเดียวหรือสองวัน / ถ้าจ่ายค่าธรรมเนียมเรียบร้อยก็จะออกเลข อย.ให้ได้เลย และสามารถ พิมพ์ ได้ใน วันเดียว เรามองว่า เราไม่ใช่อุปสรรคอีกต่อไป เนาวรัตน์ กล่าว

สำหรับระบบการยื่นออนไลน์ 100% ระบบจะแล้วเสร็จในเดือนกันยายน 2564 แต่การอนุญาตอาจไม่100% เพราะบางอย่างต้องดึงข้อมูลมาดู เช่น นมทารก มันจะค่อนข้างเสี่ยง เพราะเด็กแรกเกิด ต้องเอาข้อมูลมาดู อย่างไรก็ตามสำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี/วิสาหกิจชุมชน ก็คงไม่มายื่นขอเรื่อง นมสำหรับทารก กลุ่มเอสเอ็มอี น่าจะยื่นขอในกลุ่มแรก คือกลุ่มอาหารที่ไม่เสี่ยง และถ้าอยู่ในต่างจังหวัด และไม่สะดวกในการยื่นออนไลน์ ก็สามารถไป ยื่นได้ที่สาธารณสุขจังหวัดได้ทุก และ ถ้าไม่เข้าใจขั้นตอน การยื่น เราก็จะแขวนคู่มือประชานไว้หน้าเวปไชด์อย.  ขั้นตอนยื่น/ขั้นตอนเตรียมเอกสาร เป็นต้น 

แน่นอนว่าการเพิ่มความสะดวกให้กับ SMEs ในครั้งนี้ ถือเป็นการปรับตัวในส่วนของผู้ให้บริการในยุค New Normal ได้เป็นอย่างดี

บทบาทของอย. นอกจากขจัดสิ่งที่คิดว่าเป็นอุปสรรคแล้ว ก็ยังทำหน้าที่ส่งเสริม วิสาหกิจชุมชนขนาดย่อยเพื่อให้เข้าถึงเทคโนโลยีและการผลิตที่ได้มาตรฐาน  โดยมีโครงการพัฒนาวิสาหกิจ จัดอบรม สัมมนา เช่นปี 2564 ทางกองอาหาร มีนโยบายไปพัฒนาพืชท้องถิ่น เช่นชาจากพืช หลังจากที่เมื่อปี 2563อย.ได้ลงไปสำรวจ รวบรวมพืชท้องถิ่นที่ดื่มได้เหมือนชา และได้ประกาศในราชกิจจาว่ามีพืชท้องถิ่น 200 กว่าชนิด ที่นำมาดื่มเป็นชา เดิม เดิมมีชาสมุนไพรตามประกาศเพียง 18 ชนิด หลังจากเราลงไปสำรวจ ก็พบว่ามีพืชที่ชาวบ้านเอามาชงดื่มแบบชาเยอะมาก และเราได้เปลี่ยนคำว่า พืชท้องถิ่น ที่ชงดื่มดื่มแบบชา พอสำรวจเสร็จก็ออกประกาศ พืชท้องถิ่นที่เอามาชงดื่มได้ 201 ชนิด ในปี 2564

หลังจากนั้นเราก็เข้าไปอบรมวิสาหกิจชุมชน  ให้คำแนะนำ ว่าพืชชนิดนี้เหมาะทำชาแบบใด หมัก/ตากแห้ง หรือบ่ม และควรใช้กรรมวิธีใดถึงจะได้รสชาติที่ดีที่สุดและถูกสุขอนามัย  โดยทำได้ภาคละ 50 แห่ง พอออกประกาศพืชท้องถิ่น ชาวบ้านที่เขาทำ เขาพยายามที่จะเข้าร่วมโครงการ อย. โดย อย. ออกค่าใช้จ่ายให้ทั้งหมด วิสาหกิจชุมชน สามารถพัฒนาสถานที่ผลิต เอาเทคโนโลยี GMP เข้าไป ไปให้วิสาหกิจชุมชน ใช้ ให้เข้ามาตรฐาน เช่น ชาใบหม่อนกรรมวิธีโดยการผลิตเดิม ๆ อาจจะใช้ไม่ได้ พืชชนิดนี้ควรใช้หมัก /ใช้บ่ม /หรือตากแห้งก็พอ รสชาดจะไม่เหมือนกัน ในแต่ละพืช พอไปทำตรงนั้นผู้ประกอบการก็เข้ามา และถ้ารายเล็กเกินไป ทุนรอนไม่ไม่มี ทางอย. ก็จับมือกับ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย หรือ SME D Bank จะมีดอกเบี้ยพิเศษ และมีการให้คำปรึกษา การวางแผนธุรกิจ ด้วย

“เราช่วย SMEs รายเล็กๆ ให้ ได้มาตรฐาน เข้าถึงการขอเลข อย.  มาตรการการผลิต  รู้แหลงเงินทุน รู้วิธีการผลิต  รู้วิธีการจำหน่าย เนาวรัตน์ กล่าว

นอกจากนี้ ทางอย. ยังหาช่องทางจัดจำหน่าย ด้วยการทำความร่วมมือกับ ไปรษณีย์ไทย ที่เขามีตลาด Thailand Post mart เราก็พยายามทำครบวงจรให้ แต่ในปี 2564 อาจจะเจอปัญหา เพราะโควิด เราลงพท.เมื่อมีนาคม แต่ตอนนี้เราไม่สามารถลงไปได้ /วิสาหกิจชุมชนที่เข้าโครงการกับอย. ทางไปรษณีย์ไทยเขาก็ลดค่าขนส่งให้ด้วย

เนาวรัตน์ กล่าวต่อว่า วิสาหกิจชุมชนที่เป็นรายเล็ก เขาจะขาดเทคโนโลยี และการจะเข้าถึงการส่งออกไปต่างประเทศ ก็ค่อนข้างน้อย  แต่ทางอย. ก็พยายามจะเผยแพร่ให้ความรู้ โอกาสที่จะพัฒนาสินค้าไปยังต่างประเทศ 

อย่างไรก็ตาม  มาตรฐาน GMP เราปูพื้นฐานมาตั้งแต่ปี 2543 ผู้ประกอบการก็ไมได้มีปัญหา เพราะต้องทำให้ผ่านเกณฑ์ มันเป็นภาคบังคับอยู่แล้ว พออย.ออกใบอนุญาตให้ เขาก็ต้องรักษาสถานที่ทุกอย่างให้เหมือนเดิม 3 ปีก็มาต่ออายุครั้งหนึ่ง 

สำหรับบ้านเราถ้าใครจะนำเข้าอาหาร อย่างน้อยต้องได้มาตรฐาน เทียบเท่า GMP อย. หรือสูงกว่า ด้วย GMP Codex มาตรฐานสากล 

นอกจากนี้หน้าที่อย. อีกอย่างคือ  การออกใบรับรองให้ผู้ประอบการที่ต้องการส่งสินค้าไปยังต่างประเทศ  เช่น ถ้าจะส่งออกไปหลายๆ ประเทศ  และต้องการมีใบอนุญาตการันตีโดยอย. หรือให้ อย.การรันตีสูตรอาหารที่/ขายที่ประเทศไทย ว่าเหมือนกับที่จะส่งออก และวัตถุดิบส่วนผสไม่มีอะไรที่ผิดกฎหมายของประเทศของเขา  เราก็จะออกใบรับรอง การผลิตผลิตภัณฑ์ หรือ Certificate of Manufacturer, Certificate of Ingredient (หนังสือรับรองสูตรส่วนประกอบ) Certificate of Free Sale าหนังสือรับรองผลิตภัณฑ์ ปีหนึ่งๆ ก็ประมาณ 7-8 พันฉบับ ส่วนใหญ่ไปสนับสนุนการส่งออก 

SMEs ระดับกลางกับการส่งออกไม่ค่อยมีปัญหา เขาไม่มีปัญหาในเรื่องการยื่นอย. หรือการส่งออก แต่สถานการณ์โควิด ทำให้เขามีปัญหา ผู้ประกอบการหลายรายไม่ต่อใบอนุญาต ออฟฟิสปิดกิจการ ผู้ประกอบการเขาไม่ไหว สินค้าส่งออกไมได้ ต้องมาแบกรับค่าจ้างแรงงาน เนาวรัตน์ กล่าว

บทความแนะนำ

NIA ตั้งเป้าพัฒนา 100 สตาร์ทอัพ สู่ New S-Curve ผ่าน Deep Tech

การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อรองรับและขับเครื่องอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ หรืออุตสาหกรรม NewS-Curve เพื่อเป็นกลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอนาคตเป็นสิ่งที่หลายประเทศมุ่งสู่การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างก้าวกระโดด ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มุ่งเน้นการส่งเสริมการเติบโตในอุตสาหกรรมอนาคตใหม่ เพื่อรองรับการเติบโตที่ยั่งยืน สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA เป็นหนึ่งในหน่วยงานภาครัฐที่ทำหน้าที่ เป็นหน่วยงานที่บูรณาการระบบสตาร์ทอัพของไทย (System integrator) ที่สนับสนุนในการสร้างระบบนิเวศน์ของสตาร์ทอัพ (Startup ecosystem) ให้มีการเติบโตทั้งในประเทศและต่างประเทศ กับภารกิจหลักในการพัฒนา สนับสนุน และส่งเสริมให้สตาร์ทอัพ ของไทย ก้าวไปสู่การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ที่สามารถรองรับ อุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ หรืออุตสาหกรรมอนาคต (New S-Curve)

ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กล่าวว่าปัจจุบัน NIA ได้สานรับนโยบายคณะกรรมการนวัตกรรมแห่งชาติ ช่วงก่อนโควิดและระหว่างโควิดในเรื่องของการพัฒนา 300 สตาร์ทอัพที่พัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีเชิงลึก (Deep Technology Startup หรือ Deep Tech Startup) และการขยายโอกาสทางนวัตกรรมออกสู่ภูมิภาค โดยมีแนวทางในการสนับสนุนสตาร์ทอัพในภูมิภาค4 ภาค ประกอบด้วย ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือและภาคใต้ 

สำหรับการสนับสนุนเพื่อกระจายโอกาสให้ผู้ประกอบการหรือสตาร์ทอัพในภูมิภาคนั้น NIA มีการส่งเสริมสนับสนุนการสร้างนวัตกรรม ภายใต้แคมเปญ “เสริมพลังสร้างโอกาสทางระบบนวัตกรรมภูมิภาค (Empowering Regional Innovation System)” เพื่อกระจายโอกาสให้ผู้ประกอบการหรือสตาร์ทอัพในภูมิภาคต่างๆ สามารถเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานทางนวัตกรรมได้อย่างเท่าเทียมทั้งด้านองค์ความรู้ แหล่งเงินทุน และเครือข่าย และสามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมขึ้นภายในพื้นที่ เกิดการจ้างงาน สร้างรายได้ ให้กับคนในพื้นที่ได้อย่างยั่งยืน 

NIA จะเน้นการเสริมพลังและสร้างโอกาสนวัตกรรมท้องถิ่นผ่านความร่วมมือของทุกภาคส่วนทั้งเอกชน รัฐ สถาบันการศึกษา องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคประชาสังคม เพื่อสร้างให้จังหวัดหัวเมืองกลายเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมในระดับภูมิภาค และเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการหรือสตาร์ทอัพในพื้นที่ได้สร้างสรรค์นวัตกรรมด้วยการส่งเสริมให้เข้าถึงการใช้ประโยชน์จากงานวิจัยหรืองค์ความรู้ที่มีอยู่ในห้องถิ่น ให้เกิดการจ้างงานภายในภูมิภาคเพื่อสร้างความเท่าเทียม สร้างโอกาสทางนวัตกรรมในพื้นที่ รวมถึงการสนับสนุนให้เกิดการใช้เทคโนโลยีเชิงลึกในภาคธุรกิจให้มากขึ้น” ดร. พันธุ์อาจ กล่าว

อย่างไรก็ตาม NIA ได้ออกแบบและพัฒนาเครื่องมือต่างๆ เพื่อตอบโจทย์การพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการและสตาร์ทอัพให้ครอบคลุมในทุกมิติ ผ่าน 7 เครื่องมือดังต่อไปนี้

  1. Incubator/Accelerator ประกอบด้วยมหาวิทยาลัยและภาคเอกชน เพื่อให้ความรู้ บ่มเพาะ และเร่งการเติบโตของผู้ประกอบการหรือสตาร์ทอัพ เช่น โครงการ AgGrowth, Space F
  2. Investment โดย NIA จะเป็นสะพานเชื่อมผู้ประกอบการและสตาร์ทอัพให้เข้าถึงแหล่งลงทุนมากขึ้น ผ่านเครือข่ายนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ
  3. Innovation Organization / Digital / Transformation เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้องค์กรมีการใช้ระบบดิจิทัล หรือปรับเปลี่ยนธุรกิจตัวเองให้สอดรับกับกระแสการเปลี่ยนแปลงของสังคม รวมถึงการใช้เครื่องมือในการประเมินองค์กรนวัตกรรม
  4. SID หรือหน่วยขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อสังคม เพื่อบ่มเพาะ ยกระดับและพัฒนาขีดความสามารถด้วยการใช้ประโยชน์จากวิทยาศาสตร์ การวิจัย และนวัตกรรม ให้แก่วิสาหกิจเพื่อสังคมหรือผู้ที่สนใจเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาสังคมจนสามารถพัฒนาแนวคิดสู่ต้นแบบหรือโครงการนำร่องได้ ซึ่งปัจจุบันมี 8 แห่ง กระจายอยู่ในมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ
  5. Grant เงินทุนอุดหนุนให้กับผู้ประกอบการหรือสตาร์ทอัพ ผ่านกลไกการสนับสนุนของ NIA หรือ สถาบันการเงินพันธมิตร ได้แก่ ธนาคารออมสิน ธนาคารกรุงไทย ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) และ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)
  6. Region/Innovation Hub/Innovation District เพื่อสร้างให้เกิดการทำงานร่วมกันในแบบเครือข่ายที่เข้มแข็ง ซึ่งถือเป็นการสร้างศักยภาพให้แก่พื้นที่นั้นๆ โดยการสร้างนวัตกรรมเชิงพื้นที่จำเป็นต้องเลือกพื้นที่ที่สามารถเข้าถึงได้ง่าย 
  7. Entrepreneurial University การส่งเสริมและสนับสนุนความเป็นผู้ประกอบการในระดับมหาวิทยาลัย โดยมุ่งเน้นให้ความรู้และความเข้าใจในการทำธุรกิจนวัตกรรม สามารถสร้างโมเดลการทำธุรกิจใหม่ผ่านเครือข่ายมหาวิทยาลัยหลักๆ ตามหัวเมืองใหญ่ของประเทศ เพื่อกระจายความรู้และโอกาสไปยังท้องถิ่น

ดร.พันธุ์อาจ กล่าวถึง การสนับสนุนสตาร์ทอัพในสถานการณ์โควิด-19 ว่า NIA ให้ความสำคัญในการดูแลสตาร์ทอัพที่มีปัญหา เช่น สตาร์ทอัพทางด้านการท่องเที่ยว มีการให้คำปรึกษาในการปรับแผนธุรกิจ (Business model) ให้สตาร์ทอัพรีแบรนด์ หรือมีการพัฒนานวัตกรรมอีกครั้ง เพื่อรองรับ New normal รวมถึงกลุ่มที่มีโอกาสสูง เนื่องจากเป็นสตาร์ทอัพกลุ่มที่สร้างงานและทำให้เกิดการเติบโตสูง เช่น มีการช่วยหานักลงทุนมาลงทุน เป็นต้น

เราก็ช่วยได้ไม่หมด เราช่วยได้บางรายเท่านั้น ที่มีศักยภาพและมีความยืดหยุ่น (Flexible) ในการปรับตัว และบางกลุ่มมีการเติบโต อาทิ สตาร์ทอัพ ทางด้านเกษตร อาหาร และการแพทย์ เป็นต้นสำหรับการสนับสนุนสตาร์ทอัพในการพัฒนาเทคโนโลยีเชิงลึก หรือ Deep technology มีการนำการวิจัยมาต่อยอดการพัฒนา มีการหาพันธมิตรมาร่วมลงทุนกับสตาร์ทอัพ” ดร. พันธุ์อาจ กล่าวและว่า 

สำหรับแผนในการช่วยสตาร์ทอัพขยายธุรกิจไปยังตลาดต่างประเทศนั้น NIA จะร่วมกับพันธมิตรในต่างประเทศ โดยนำบริษัทสตาร์ทอัพไป ร่วมลงทุน (Joint venture) เพื่อรองรับการทำตลาดต่างประเทศ อาทิ ประเทศฟินแลนด์ สวีเดน และฝรั่งเศส 

“เราทำงานร่วมกับสถานฑูตไทย ทำงานร่วมกับหน่วยงานในประเทศนั้นๆที่เค้าเป็นหน่วยงานนวัตกรรมแห่งชาติเหมือนเรา คือวัน วินวิน  เราก็ต้องเปิดให้เค้าเข้ามาด้วยแล้วเค้าก็ต้องเปิดให้เราเข้าไปด้วย อาทิ ประเทศโปรแลนด์  ที่จะนำนวัตกรรมของไทยไปต่อยอดได้ เรามีเอกลักษณ์และอัตลักษณ์นวัตกรรม ที่คนอื่นเค้าไม่มี เช่น เรามีวิถีชีวิต มีไลสไตล์ของเราเป็นจุดแข็งของคนไทย” ดร.พันธุ์อาจ กล่าวและว่า 

ในส่วนของศักยภาพและการปรับตัวของภาคเอกชนนั้น สตาร์ทอัพมีการปรับตัวค่อนข้างไว เพื่อความอยู่รอดในอนาคต และมีการเรียนรู้กฎเกณฑ์ของตลาดเพราะพัฒนาการของเศรษฐกิจไทยค่อนข้างไว นอกจากนี้ด้วยการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมและสังคม รวมถึงภาวะโลกร้อน จึงเป็นโอกาสในการนำนวัตกรรมไปตอบโจทย์ภัยคลุกครามต่างๆ ซึ่งจะทำให้เกิด Innovation base enterprise เป็นการประกอบการโดยเน้นนวัตกรรม หรือธุรกิจที่ผู้ประกอบการมุ่งเน้นนวัตกรรมมาช่วยในการดำเนินธุรกิจ

“สำหรับทิศทางและแนวโน้มสตาร์ทอัพที่กำลังเข้ามาในอนาคตมีหลายด้าน อาทิ พลังงาน แพทย์ทางไกล (Tele-medicine) เกษตรและอาหาร ที่จะใช้เทคโนโลยีที่มีความเข้มข้นมากขึ้นมาช่วยในการดำเนินธุรกิจ นอกจากนี้ยังจะมีการนำเทคโนโลยีเชิงลึก (Deep technology) และนวัตกรรมใหม่ๆมาช่วยในการพัฒนาธุรกิจให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เช่น เทคโนโลยี ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial intelligence หรือ AI) เทคโนโลยีอวกาศ การทหาร  Augmented reality หรือ AR ระบบคอมพิวเตอร์เรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง (Learning machine)เทคโนโลยีหุ่นยนต์ (Robotic) และ เทคโนโลยีที่สร้างความกลมกลืนระหว่างโลกในความจริงกับโลกจำลองแบบดิจิทัล (Immersive technology)มากขึ้น และสตาร์ทอัพที่ใช้เทคโนโลยีเชิงลึก ต้องใช้เวลานานในการบ่มเพาะ และใช้เงินลงทุนสูงกว่าธุรกิจอื่นๆรวมถึงสามารถที่จะเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมหรือการแข่งขันเดิมในลักษณะหน้ามือเป็นหลังมือและผลกระทบสูงกว่าธุรกิจทั่วไป” ดร.พันธุ์อาจ กล่าว

อย่างไรก็ตาม NIA มีเป้าหมายที่จะสร้างและพัฒนาสตาร์ทอัพทางด้านนวัตกรรมเทคโนโลยีเชิงลึกประมาณ 300 ราย จาก 7 กลุ่มอุตสาหกรรม ซึ่งแบ่งเป็น “นวัตกรรมเทคโนโลยีเชิงลึก” ได้แก่ เกษตร (Agritech) อาหาร (FoodTech) อารีย์ (AI, Robotic, Immersive; ARI) อวกาศ (SpaceTech) สุขภาพ (Healthtech) และ “นวัตกรรมเชิงคอนเท้นท์” ได้แก่ มาร์เทค (MARtech - ดนตรี/ศิลปะ/นันทนาการ) และการท่องเที่ยว/ไมซ์ (Traveltech & MICE)และสร้างสตาร์ทอัพที่อยู่ตามภูมิภาคจำนวน 3,000 รายในอีก 3 ปีข้างหน้าเพื่อรองรับเศรษฐกิจในรูปแบบใหม่หรืออุตสาหกรรมใหม่ (New S-Curve) ได้อย่างยั่งยืน

บทความแนะนำ

ซีเอส ฟาร์ม ฟาร์มปลาเมืองสุพรรณ เพราะยืดหยุ่นจึงรอดในภาวะวิกฤตโควิด

ประสบการณ์การเลี้ยงปลาน้ำจืดที่มีมากว่า 30 ปี ทำให้ บ่อปลาซีเอส ฟาร์ม ในจังหวัดสุพรรณบุรี สามารถประคองตัวให้รอดได้จากวิกฤต COVID-19 ครั้งล่าสุด ซึ่งคุณแชมป์ ธนัชธีธัช อภิญวัฒนานนท์ เจ้าของธุรกิจ บริษัท ซีเอส ฟาร์ม สุพรรณบุรี จำกัด บอกว่าหนักที่สุดตั้งแต่เจอวิกฤติมา

 “บ่อปลาขนาดกลาง ขนาดเล็ก ปิดไปหลายบ่อ เพราะวิกฤติโควิด ตลาดส่งมันปิดเราก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน เพียงแต่เรามีบ่อปลาจำนวนหลายบ่อ มีปลาให้เลือกเยอะ ยังพอที่จะประคองตัวให้รอดไปได้ ธนัชธีธัช กล่าว

ก่อนวิกฤติ โควิด บริษัทซีเอส ฟาร์ม มีบ่อปลามากกว่า 400 ไร่ นอกจากที่ดินของตัวเองแล้ว ก็ยังเช่าที่ดินข้างๆ เพื่อทำบ่อปลาเพิ่มขึ้น แต่หลังจากวิกฤติโควิด บริษัทซีเอส จำเป็นต้องลดขนาดบ่อลงให้เหลือเพียง 100 ไร่ และเหลือเพียง 40-50 บ่อ และก่อหน้านี้ปลาของ ซีเอส ฟาร์ม ส่งออกไปยัประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งพม่าและลาว โดยผ่าน พ่อค้าและแม่ค้า คนไทย แต่ทุกวันนี้ ธุรกิจในส่วนนี้ต้องหยุดชะงักไปก่อน เนื่องจาก สถานการณ์ COVID-19

อย่างไรก็ตาม แม้วิกฤติ COVID-19 ในครั้งนี้จะหนักหนา แต่คุณแชมป์เล่าว่า ประสบการณ์การทำบ่อปลาที่ผ่านมาสามารถทำให้เขายังสามารถเลี้ยงลูกน้อง และยังมีรายได้เข้ามาที่ฟาร์มปลาเกือบทุกวัน แม้รายได้จะหายไปมากกกว่าครึ่งแต่ก็ไม่ทำให้ ต้องปลดคนงานออก

เจ้าของธุรกิจซีเอส ฟาร์ม ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า ธุรกิจเพาะเลี้ยงปลาน้ำจืด อาทิ ปลาดุก และ ปลาสวายซึ่งเป็นสัตว์เศรษฐกิจนี้เป็นธุรกิจครอบครัวที่สืบทอดมาตั้งแต่สมัยคุณพ่อ จากคนหนุ่มบ้านใกล้แม่น้ำที่พัฒนาคุณภาพการเลี้ยงปลาและพื้นที่มาเรื่อยๆ จากจุดเริ่มต้นของฟาร์มเพียง 20 ไร่เมื่อราว 30 ปีที่ผ่านมา ขณะที่ปัจจุบันนี้ขยายไปกว่า 400 ไร่หรือมีบ่อปลานับร้อยบ่อ โดยภายในฟาร์มมีบ่อเลี้ยงปลาดุก ปลาสวายที่โตเร็ว เลี้ยงง่าย จับได้ครั้งละปริมาณมากๆ โดยมีพ่อค้ามารับซื้อหน้าฟาร์ม เนื่องจาก ซีเอส ฟาร์ม เป็นผู้เลี้ยงปลาที่มีบริการเลี้ยง การจับ เพื่อส่งขายทั่วประเทศ

เราเน้นขยายบ่อเลี้ยงปลาให้มีขนาดใหญ่ เพื่อจะได้เลี้ยงปลาครั้งละมากๆ ขายทีละเยอะๆ ขณะเดียวกันก็มีการสร้างมาตรฐานบ่อปลาให้ได้คุณภาพ ลูกค้าเราก็เพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย พ่อค้า แม่ค้า มาจากทั่วประเทศ”

ซีเอส ฟาร์ม เน้นเลี้ยงปลาเป็นขนาดมาตรฐาน มีตลาดขายส่งทั่วประเทศ และผู้ค้าส่งจากต่างประเทศมารับซื้อถึงที่ฟาร์ม โดยเรามีการบริหารจัดการเพื่อไม่ให้ผลผลิตเกิดการล้นตลาด ซึ่งมีการวางแผนกำหนดปริมาณปลาที่ต้องจับ และปริมาณส่งขายล่วงหน้า โดยเป็นการวางแผนร่วมกันกับผู้ซื้อ โดยเฉพาะในช่วงที่ตลาดประสบปัญหา เช่น กรณี COVID-19 ทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงปลาน้ำจืดรายย่อยยังไม่กล้าลงทุนปล่อยปลาลงบ่อ เนื่องจากตลาดปิดและโดนกดราคา

ปัญหาที่เจอในการเลี้ยงปลาคือ ผนังดินรอบบ่อมักเกิดการพังทลาย ทำให้บ่อปลาพัง ถมน้ำในบ่อให้ตื้น เลยต้องใช้หินก้อนใหญ่ๆ อัดเป็นผนังรอบบ่อปลาเพื่อป้องกันตลิ่งพัง 

แม้จะสิ้นเปลืองเงินลงทุนไปมาก แต่ก็ทำให้สามารถเลี้ยงปลาได้ทั้งปี โดยไม่ต้องหยุดพักซ่อมแซมบ่อ และด้วยการที่เป็นฟาร์มใหญ่ มีบ่อปลาหลายบ่อ และมีปลาหลายขนาด ทำให้สามารถบริหารจัดการฟาร์มปลาให้ผลผลิตออกสู่ตลาดได้อย่างต่อเนื่อง โดยมีหลักการคือ ทำบ่อชำ และสต๊อกปลาให้มีจับขายได้ทั้งปีและมีปลาทุกขนาดเพื่อลดการขาดทุน

ธนัชธีธัช บอกว่า ซีเอส ฟาร์มมี บ่อชำ หรือบ่ออนุบาลปลาหลายบ่อ ทำให้สามารถบริหารจัดการปลาในฟาร์มให้มีผลผลิตที่เพียงพอให้จับขายได้ตลอดทั้งปี ขณะที่เกษตรกรรายย่อยจะเป็นลักษณะการปล่อยปลาลงบ่อเลี้ยงแบบเลี้ยงยาวไปเลย ไม่มีบ่อชำ ซึ่งทำหน้าที่คล้ายๆ กับคลังสินค้า หรือการกักตุนลูกปลาเอาไว้เยอะๆ บ่อหนึ่งนับหลายแสนตัว

และแม้จะสูญเสียบ้างในช่วงที่เป็นลูกปลา แต่เมื่อปลาโตขึ้นอัตราสูญเสียก็ลดลง และเมื่อถึงกำหนดก็จับไปปล่อยในบ่อเลี้ยงเพื่อขุนให้โตตามขนาดมาตรฐานต่อไป เป็นการวางแผนการเลี้ยงที่ทำให้ฟาร์มมีปลาขายได้ตลอดปี

“เรามีปลาทุกขนาดให้เลือก และเมื่อมีบ่อปลาจำนวนมาก ก็ทำให้เราสามารถย้ายปลาไปยังบ่อที่ว่างได้ เมื่อลูกค้ามาเลือกซื้อปลา เขาจะได้ปลาตามขนาดที่เขาต้องการ ส่วนปลาไซส์ใหญ่ เราก็ขายราคาถูกลงมาหน่อย ซึ่งก็คละกันไปทำให้เราบริหารจัดการปลา และราคาปลาในบ่อเราได้ ในขณะที่ถ้าเป็นรายเล็ก เขาจะเอาปลาใหม่ลงบ่อไม่ได้ ถ้ายังขายปลาในบ่อเก่าได้ไม่หมดทำให้โดนกดราคา และจำเป็นต้องขายขาดทุน เพราปลาดุกยิ่งตัวโตราคาก็จะยิ่งถูก ซึ่งต่างจากปลาสวาย ที่ยิ่งโต ราคายิ่งแพง ธนัชธีธัช กล่าว

 

เผยเทคนิกเลี้ยงเยอะ คละไซส์ ความเสี่ยงลดลง

ข้อดีของซีเอส ฟาร์ม คือสามารถบริหารจัดการได้ด้วยวิธีการที่หลากหลายรูปแบบ ขึ้นอยู่กับความจำเป็นหรือสถานการณ์ในช่วงนั้นๆ กรณีเช่นการจับปลาแต่ละบ่อ การจับแต่ละครั้งไม่จำเป็นต้องจับทั้งบ่อ และถ้าลูกค้าต้องการปลาขนาดไหน ก็ยังสามารถเลือกได้ด้วยทุกขนาดหรือจะคละไซส์ก็ได้เช่นกัน แล้วแต่ความต้องการของลูกค้าเป็นหลัก แต่กระนั้นการจับปลาไม่ควรเกิน 5 วันเพราะจะทำให้ปลาน้ำหนักลดลง

บ่อนึงไม่ควรเกิน 5 วัน ปลาจะผอม ไม่สวย คุณภาพลดลง ฟาร์มเรามีจับปลาทุกวัน ไม่มีปัญหาเรื่องไซส์เพราะ เรามีบ่อเยอะ ถ้าไซส์ไหนเหลือเราก็เอาไปคละไซส์กันได้หมด ความเสี่ยงก็ลดลงไปเยอะ ราคาก็ไม่ถูกกดลงไปมาก และถ้าตัวที่ไซส์ใหญ่เกิดก็ขายถูกลงมาหน่อย ถั่วเฉลี่ยกันไป”

ทุกวันนี้บ่อปลาของ ซีเอส ฟาร์ม ยังมีพ่อค้า แม่ค้าแวะเวียนมาจับปลาไปขายทุกวัน แม้จะไม่คึกคักเหมือนก่อนโควิด แต่ธนัชธีธัช ก็บอกว่าถือว่าโชคดีที่เรายังรอดในขณะที่หลายบ่อ ต้องปิดกิจการไป และที่เรารอดเพราะ ประสบการณ์การบริหารปลาที่ทำกันมาก่อนหน้านี้  

สำหรับแผนในอนาคต ซีเอส ฟาร์ม ก็จะยังมุ่งมั่นในการทำฟาร์มปลาต่อไปในอนาคต และอาจจะแตกไลน์จากการขายปลาสด อย่างเดียว มาทำปลาชิ้นหรือปลาแห้งเพิ่มเติม  ซึ่งธนัชธีธัช บอกว่า อนาคตผมต้องขยับธูรกิจเพิ่มเติมแน่นอน เพราะการขายปลาสด อย่างเดียวทำให้ต้องง้อ พ่อค้า แม่ค้า แต่ถ้าแตกไลน์ไปขายปลาที่สำเร็จรูปมากขึ้นก็จะเป็นการกระจายความเสี่ยงและกระจายรายได้เพิ่มมากขึ้น แต่ทั้งนี้คงต้องหลังจากที่สถานการณ์ COVID-19 ผ่านพ้นไปก่อน

บทความแนะนำ