กองส่งเสริมและประสานเพื่อประโยชน์ทางวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นหน่วยงานสำคัญอีกหนึ่งหน่วยงานที่ช่วยให้ผู้ประกอบการ SMEs ไทยสามารถพัฒนาศักยภาพของสินค้าและบริการของตนให้โดดเด่น แตกต่าง สามารถแข่งขันกับคู่แข่งไม่ใช่เฉพาะในประเทศแต่หมายถึงการ Scale Up ธุรกิจไปสู่ตลาดต่างประเทศที่ใหญ่กว่าในอนาคต
“ภารกิจของเราหลักๆของเราคือพยายามนำงานวิจัย เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่มีอยู่หลายพันชิ้นในบ้านเรามาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้มากที่สุด โดยเรามีการทำงานร่วมกับทางเครือข่ายมหาวิทยาลัยเพื่อที่จะนำงานวิจัยและเทคโนโลยีไปทำประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการในหลายๆกลุ่ม ทั้ง SME กลุ่มผู้ประกอบการในระดับชุมชน กลุ่มที่ใหญ่กว่า SME รวมถึงกลุ่มที่เป็นผู้ประกอบการแนวใหม่อย่าง startup ผ่านกิจกรรมในรูปแบบของโครงการและเครือข่ายที่เราร่วมทำงานอยู่ ซึ่งภารกิจที่ผมดูแลก็คือการขับเคลื่อนอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค เพื่อช่วยยกระดับผู้ประกอบการในระดับภูมิภาคซึ่งกลุ่ม SME ก็เป็นกลุ่มนึงที่เราโฟกัสที่จะทำประโยชน์ให้กับเขา” ดร.ชาญวิทย์ ตรีเดช นักวิเคราะห์นโยบายและแผน ชำนาญการพิเศษ กองส่งเสริมและประสานเพื่อประโยชน์ทางวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ปฎิบัติหน้าที่ผู้จัดการกองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พูดถึงบทบาทของกองส่งเสริมและประสานเพื่อประโยชน์ทางวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
ซึ่งอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคมีงานวิจัยที่พร้อมถ่ายทอดจำนวนมาก อยู่ภายในมหาวิทยาลัยที่อยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ปัจจุบันอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคในมหาวิทยาลัยมีรวมทั้งสิ้น 44 มหาวิทยาลัยทั้งเหนือ อีสาน กลาง ใต้ โดยงานวิจัยที่มีอยู่ในระบบฐานข้อมูลที่เรียกว่าฐานข้อมูลโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งฐานข้อมูลส่วนนี้เป็น Database ที่ทำขึ้นมาเพื่อรวบรวมทั้งผลการวิจัยที่พร้อมถ่ายทอด นักวิจัยที่พร้อมให้บริการแก่ภาคเอกชน รวมถึงห้องแลปเพื่อที่จะเป็น Infrastructure ทางงานวิจัย ให้เอกชนได้เข้ามาใช้บริการซึ่งดร.ชาญวิทย์เสริมว่าแต่ละปีภาคเอกชนมีการดึงงานวิจัยเหล่านี้ไปใช้ในอัตราส่วน 20-30 เปอร์เซ็นต์ซึ่งยังไม่มากนัก
ดร.ชาญวิทย์ มองว่าจุดเด่นของ SMEs ไทยบางกลุ่มคือมีความกระตือรือร้น มีหัวคิดที่ทันสมัย และความตั้งใจที่จะพัฒนาธุรกิจของตัวเองให้เติบโตขึ้น ด้วยการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม
“หลายคนไม่ใช่แค่ว่าจะมารอพึ่งทางเราหรือทางมหาวิทยาลัยอย่างเดียว แต่มีการพัฒนาในระดับของตัวเองได้พอสมควร ต่างคนต่างมีพัฒนาการแล้วก็มีงานวิจัยมีสิ่งที่สนใจในมือของตัวเองอยู่ แต่ระดับอาจจะแตกต่างกันไปบางคนมีความคิดที่อยากจะทำโปรดักต์ให้มีความหลากหลายเพราะฉะนั้นโดยรวมในมุมบวกผมมองว่าเขามีก็มีความกระตือรือร้นแล้วก็มีความตั้งใจที่อยากจะยกระดับธุรกิจแล้วก็บริการของตัวเองด้วยงานวิจัยมากยิ่งขึ้น ส่วนจุดด้อยที่มองเห็นคือ SMEs หลายรายยังมองตลาดไม่ออกอาจจะเป็นเพราะว่า Project ที่มาทำกับเราส่วนใหญ่เป็นแนว Supply push คือมีงานวิจัยอะไรก็อยากใช้ตัวเองมีแนวคิดมี ไอเดียดีๆ ก็อยากทำและก็เชื่อว่าของที่ทำมันจะขายได้เพราะเป็นของที่ใหม่ เรื่องการทำพวก Market Survey การดูตลาดอาจจะยังมองไม่ลึกบางคนยังตั้งเป้าไว้แค่ว่าฉันอยากจะขายในจังหวัด ฉันอยากจะขายในภาคของฉันซึ่งก็เข้าใจว่าหลายท่านอาจจะมีข้อจำกัดเรื่องของ Connection ที่จะส่งไปทั่วประเทศ ดังนั้นน้อยคนที่จะเข้ามาหาเราแล้ว Day One จะพูดถึงการทำสินค้าขายทั่วประเทศ”
ดังนั้นกองส่งเสริมและประสานเพื่อประโยชน์ทางวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จึงพัฒนาแพลตฟอร์มต่างๆเพื่อช่วยเหลือให้ SMEs สามารถที่จะเติบโตไปได้ในทุกเลเวลของการพัฒนาของผู้ประกอบการ
เรามีการ Groom งานวิจัยให้พร้อมมากขึ้น ในฝั่งหนึ่งเราดึงงานวิจัยให้ SMEs เข้ามาสู่การ Commercialize มากขึ้น แต่ในสเตปของการ Commercialize ของเขา เรามีการดึงภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมด้วย เพราะเราเข้าใจดีว่า SME มองว่ามีความเสี่ยงที่จะต้องมาช้อปปิ้งงานวิจัยไปเพื่อไปพัฒนาต่อ เราจึงมองว่าแบบนั้นควรจะมาร่วมกันพัฒนาตั้งแต่สเตจแรก เพื่อให้รู้ว่าหากจะใช้งานวิจัยเพื่อ Scale Up ไปในเชิงพาณิชย์ได้ต้องทำอย่างไรบ้าง
โดยแพลตฟอร์มหลักที่ดีไซน์ขึ้นมาหลักๆมี 2 ตัวที่สำคัญคือแผนงานบ่มเพาะผู้ประกอบการธูรกิจวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (Science Technology and Innovation STI Business Incubation) และ แผนงานพัฒนาขีดความสามารถทางเทคโนโลยีและวิจัยของภาคเอกชนในพื้นที่ (Industrial Research and Technology Capacity development program : IRTC)
“เรามีตัว R&D Facility Booth up ที่เอาไว้ใช้ช่วย SME ในมุมของ Infrastructure และ Facility เรื่องการวิจัย และสนับสนุนด้วยแพลตฟอร์มที่กระทรวงอว.สนับสนุนค่าใช้จ่ายบางส่วนให้กับผู้ประกอบการ โดยถ้าผู้ประกอบการจะเข้ามาใช้ Facility เราสนับสนุนให้ 90% ซึ่งเลเวลของการใช้งานมีหลายรูปแบบมีทั้งที่เข้ามาใช้ Pilot Plant ซึ่งเรามี Pilot Plant ที่ SME สามารถเข้ามาทดลองใช้ในการผลิตสินค้หลายส่วนแต่ส่วนใหญ่จะเป็นอุตสาหกรรมอาหาร ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ นอกจากนี้เรายังมีห้องแลปที่ใช้วิเคราะห์ทดสอบเพื่อได้ค่าต่างๆไปขอมาตรฐานซึ่งช่วยให้ SME ลดค่าใช้จ่ายในการใช้เครื่องมือและการผลิตสินค้าตัวอย่าง”
ช่องทางในการติดต่อขอใช้บริการหรือแพลตฟอร์มเหล่านี้ผู้ประกอบการสามารถติดต่อไปที่เครือข่ายของอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคทั้ง 44 แห่ง นอกจากนี้ดร.ชาญวิทย์เสริมว่ามีการทำงานในเชิงรุกซึ่งถ้าเป็นภาวะปกติทางอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคจะมีโรดโชว์ไปตามพื้นที่ต่างๆเพื่อให้ผู้ประกอบการที่สนใจเข้ามาสมัคร
“เคสตัวอย่างที่มาใช้ประโยชน์จากแพลตฟอร์มเราแล้วสเกลอัพธุรกิจได้ ก็คือ HILLKOFF เป็นแบรนด์กาแฟที่เข้ามาใช้บริการที่อุทธยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือของเรา ส่วนหนึ่งก็ต้องยอมรับว่าผู้ประกอบการมี Passion ในการใช้งานวิจัยและเทคโนโลยีใหม่ๆเข้ามาพัฒนาธุรกิจของตนเองอยู่แล้ว เขาไม่ได้มีสินค้าตัวเดียวแล้วทำยอดขายได้เปรี้ยงปร้าง แต่เขามีผลิตภัณฑ์ที่แตกหน่อออกไปในหลายกลุ่ม เดิมทีเขาขายกาแฟผง กาแฟเม็ด แต่พอเข้ามาทำกับ Sci-Park ที่ภาคเหนือก็มีการแตกไลน์ผลิตภัณฑ์ออกไปมากยิ่งขึ้น มีการทำชาจากกาแฟ หรือในส่วนของกระบวนการคั่วจะมีเม็ดหรือส่วนประกอบบางอย่างที่เหลืออยู่เขาก็สามารถเอาตรงนั้นมาแตกไลน์เป็นอีกผลิตภัณฑ์หนึ่ง ขายทั้งกาแฟทั้งชาโดยที่มีวัตถุดิบต้นทางแบบเดียวกัน หลังจากนั้นเขาก็เริ่มแตกไปที่พืชชนิดอื่นมีการนำวัตถุดิบเหลือใช้มาทำเป็นวัสดุถักทอเป็นเส้นใยศิลปะ ที่เราภูมิใจคือเขาสามารถที่จะตั้งศูนย์วิจัยขึ้นมาเพื่อทำ Product Development ในบริษัท ซึ่งในมุมของเราเรามองว่าการจะพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างยั่งยืนได้ผู้ประกอบการต้องเป็นนักวิจัยเองด้วย”
ซึ่งแพลตฟอร์มที่ HILLKOFF ใช้คือ แพลตฟอร์มการบ่มเพาะผู้ประกอบการธุรกิจเทคโนโลยีและนวัตกรรมซึ่งเป็นโปรแกรมเริ่มต้น นอกจากนั้นยังมีแพลตฟอร์ม Industrial Research and Technology Capacity development program หรือ IRTC ด้วย
ส่วนของคำแนะนำสำหรับ SMEs ที่ต้องการ Scale Up ตัวเองดร.ชาญวิทย์มองว่าต้องเป็น SMEs ที่มีสินค้าหรือบริการซึ่งมีจุดเด่นและเข้าถึงได้
“โดยส่วนมาก SMEs ที่เราช่วยเหลืออยู่จะอยู่ในกลุ่มของ Food และผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ ซึ่งจะเห็นได้ว่าถ้าเป็นสินค้าที่มีความโดดเด่นยอดขายจะไม่ได้ตกมากแม้ในช่วงโควิด-19 เพราะอาหารเป็นปัจจัย 4 และสามารถซื้อหาได้ง่ายโดยเฉพาะในช่องทางออนไลน์ สินค้าของเราควรเป็นสินค้าที่มีเทคโนโลยี มีความโดดเด่น มีคุณค่าและส่งต่อคุณค่าไปสู่ผู้บริโภคได้ สามารถทำให้ลูกค้ากลับมาซื้อเราได้อีก นี่เป็นปัจจัยที่จำเป็นและสำคัญไม่ว่าจะก่อนหรือหลังโควิด ซึ่งสิ่งที่จะทำให้มีจุดเด่นได้ก็คือการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมมายกระดับสินค้าของเรา ดึงดูดลูกค้าเข้ามาได้ และขายสินค้าได้อย่างยั่งยืน อีกส่วนที่สำคัญก็คือการปรับตัว เพราะอย่างไรก็ตามผู้บริโภคเปลี่ยนตลอดเวลาอยู่แล้วดังนั้นผู้ประกอบการจึงควรเปลี่ยนแปลงเพื่อสอดรับความต้องการของผู้บริโภคด้วย ใครปรับตัวได้เร็วก็จะอยู่ได้อย่างยั่งยืน” ดร.ชาญวิทย์ กล่าวปิดท้าย
ผู้ประกอบการที่สนใจแพลตฟอร์มต่างๆรวมถึงกิจกรรมที่น่าสนใจสำหรับการพัฒนาธุรกิจด้วยนวัตกรรมของกองส่งเสริมและประสานเพื่อประโยชน์ทางวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สามารถเข้าไปดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://www.ttc.ops.go.th/ หรือติดตามได้ที่เฟสบุกแฟนเพจ https://www.facebook.com/officepromotetransfer
ในระดับโลก ดีมาน์ของเทคโนโลยีการจดจำใบหน้า (Facial recognition technology) เติบโตอย่างก้าวกระโดดในหลายประเทศ โดย Market Insight Reports คาดการณ์ว่า มูลค่าแต่ละปีของธุรกิจนี้จะสูงเกิน 1.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2569
หลายบริษัทได้ทำการระดมเงินทุนจำนวนมากในช่วง 4ปีที่ผ่านมา โดยประเทศจีนจัดเป็นผู้นำในเทคโนโลยีนี้ ตามด้วยสหรัฐอเมริกา จีนได้ลงทุนมหาศาลในปัญญาประดิษฐ์ (AI-artificial intelligence) รวมถึงเทคโนโลยีการจดจำใบหน้าและได้ออกแอพพลิเคชั่นการใช้งานทั้งในเชิงพาณิชย์ และในด้านกิจการความมั่นคง
ในธุรกิจค้าปลีก รีเทลเลอร์ได้หันมาใช้เทคโนโลยีการจดจำใบหน้ากันมากขึ้น เพื่อให้ได้ข้อมูลผู้บริโภคเชิงลึกและตอบสนองดีมานด์ลูกค้าและเพิ่มกำไร โดยเทคโนโลยีนี้จะตรวจสอบและจำแนกข้อมูลประชากรศาสตร์ หรือข้อมูลพื้นฐานของลูกค้าแบบเรียลไทม์ และนำเสนอโฆษณาที่เกี่ยวข้องเจาะจง ตรงความสนใจกลุ่มเป้าหมายอย่างรวดเร็ว
นอกจากโฆษณาแล้ว บริษัทยังสามารถนำเสนอโปรโมชั่นที่น่าดึงดูดให้กับลูกค้าที่มีศักยภาพได้อีกด้วย อาทิ สำหรับลูกค้าประจำที่เป็นสมาชิก หากลูกค้ากลุ่มนี้เดินเข้าร้านมา ก็สามารถส่งข้อความเกี่ยวกับดีลพิเศษหรือสินค้าที่อาจสนใจแบบทันที
ร้านค้าปลีกยังสามารถรู้ว่าลูกค้าแต่ละรายเข้ามาใช้บริการในร้านนานเท่าใด เพื่อว่าในอนาคตจะได้ปรับปรุงการบริการในร้านได้ดียิ่งขึ้นในฝั่งของพนักงาน เทคโนโลยีการระบุตัวตนสามารถบันทึกข้อมูลการเข้าออกของพนักงาน และติดตามการทำงานของพนักงานและวัดผลิตภาพการทำงานได้อีกด้วย
นอกจากธุรกิจค้าปลีกแล้ว เซ็กเตอร์สาธารณสุขก็มีการใช้งานเทคโนโลยีจดจำใบหน้าและปัญญาประดิษฐ์กันอย่างกว้างขวาง รวมถึงการติดตามผู้ป่วยผ่านการวิเคราะห์การแสดงออกทางใบหน้า ความสามารถของ AI ยังช่วยติดตามระดับความเจ็บปวด และเร่งการตรวจวิเคราะห์ และการรักษา
เทคโนโลยี AI และการจดจำใบหน้ายังถูกใช้ในโรงพยาบาลเพื่อจำแนกพนักงาน หมอ ผู้ป่วย รวมถึงแยกแยะผู้ป่วยรายใหม่อีกด้วย
ความกังวลเรื่องความเป็นส่วนตัว
ในประเทศจีน บริษัท Alipay ภายใต้ Ant Group ได้ทำการติดตั้งอุปกรณ์การจดจำใบหน้าไว้ที่ร้านค้าปลีก โดยลูกค้าสามารถทำการจ่ายเงินด้วยการโชว์ใบหน้าและยิ้ม โดยไม่ต้องใช้มือถือ ซึ่งเป็นการจ่ายเงินที่รวดเร็วและประหยัดเวลา อย่างไรก็ตาม ลูกค้าบางส่วนยังไม่เปิดรับกับเทคโนโลยีนี้ เพราะมีความกังวลว่าภาพใบหน้าและข้อมูลของตนจะถูกนำไปใช้งานอย่างไร ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความกังวลเรื่องความเป็นส่วนตัวของลูกค้า (Privacy Concerns)
สำหรับความเคลื่อนไหวล่าสุดในจีน มีการออกไกด์ไลน์ใหม่ที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีการจดจำใบหน้า โดยกฏใหม่ระบุว่า โรงแรม ช้อปปิ้งมอลล์ สนามบิน และสถานที่พาณิชย์อื่นๆ ต้องได้รับความยินยอมจากลูกค้าถึงจะใช้ข้อมูลการจดจำใบหน้าได้ และการใช้เทคโนโลยีนี้จะต้องไม่เกินเลยจากความจำเป็น บริษัทต่างๆ ต้องดำเนินมาตรการที่ปกป้องข้อมูล
แม้ไกด์ไลน์นี้จะค่อนข้างกำกวมว่า อะไรคือความจำเป็น แต่การเตือนว่าบริษัทอาจถูกลงโทษทางการเงินจากคดีความที่ตามมา ก็น่าจะทำให้มีการลดการใช้เทคโนโลยีนี้ที่เกินขอบเขต ในเอกสารยังระบุถึงแนวทางที่ผู้บริโภคจะฟ้องร้อง หากรู้สึกว่าได้ถูกละเมิดความเป็นส่วนตัว
เทคโนโลยีชีวมิติในประเทศไทย
ในประเทศไทย ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ออกแนวปฏิบัติการใช้เทคโนโลยีชีวมิติ (Biometric Technology) ในการให้บริการทางการเงินโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกำกับบริษัทที่นำ Biometrics โดยเฉพาะการใช้เทคโนโลยีFacial recognitionมาให้บริการทางการเงินเพื่อให้ผู้ใช้บริการมั่นใจว่าการให้บริการที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีดังกล่าวจะมีความปลอดภัย สอดคล้องกับกฎหมายและมาตรฐานสากล
แนวปฏิบัติครอบคลุมหลักการที่ผู้ให้บริการทางการเงินพึงปฏิบัติ 6 ด้าน ได้แก่ 1) การกำหนดนโยบายและการกำกับดูแลการใช้เทคโนโลยีชีวมิติ 2) การรวบรวมข้อมูลชีวมิติของผู้ใช้บริการอย่างมีคุณภาพ และปลอดภัย 3) การประมวลผลข้อมูลชีวมิติของผู้ใช้บริการอย่างแม่นยำ 4) การรักษาความปลอดภัยข้อมูลของผู้ใช้บริการอย่างเข้มงวดและรัดกุม ตามมาตรฐานสากล 5) การคุ้มครองผู้ใช้บริการและให้ความรู้เกี่ยวกับการทำธุรกรรมด้วยเทคโนโลยีชีวมิติอย่างเหมาะสม และ 6) การควบคุมความเสี่ยงด้านปฏิบัติการและรองรับการให้บริการอย่างต่อเนื่อง
ใบหน้าบุคคลเป็นข้อมูลส่วนตัวที่มีความสำคัญ (Sensitive) เพราะไม่ใช่สิ่งที่ผู้บริโภคจะเปลี่ยนกันได้ง่ายๆ หากข้อมูลมีการรั่วไหลและนำไปใช้ในทางที่ผิด ก็อาจส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยส่วนบุคคลและความปลอดภัยทางทรัพย์สิน
SME ที่ต้องการนำเทคโนโลยีการจดจำใบหน้าไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ จึงต้องศึกษาข้อกฏหมายให้ละเอียดถี่ถ้วน วางมาตรการปกป้องข้อมูลลูกค้าอย่างรัดกุม และศึกษาข้อมูลใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา
เพราะแม้ว่าเทคโนโลยีการจดจำใบหน้าจะมีประโยชน์มากมาย แต่ก็ต้องมีการบริหารจัดการและดูแลความเสี่ยงในเรื่องต่างๆ อย่างรอบคอบ
โอกาสทางธุรกิจในยุคดิจิทัล
ปัจจุบันเทคโนโลยีตรวจสอบและจดจำใบหน้าเริ่มถูกนำมาใช้ในเชิงพาณิชย์มากขึ้นเรื่อยๆ เพราะสามารถตรวจสอบ และระบุตัวตนผู้ใช้งานได้อย่างแม่นยำ ซึ่งช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถเพิ่มความสะดวกในการให้บริการ และนำข้อมูลที่ได้ไปปรับใช้งานกับธุรกิจได้อย่างหลากหลาย อาทิ
เทคโนโลยีตรวจสอบและจดจำใบหน้านี้สามารถประยุกต์ใช้กับธุรกิจอื่นๆ ได้หลากหลาย ขึ้นอยู่กับประเภทของธุรกิจและวัตถุประสงค์ในการใช้งาน รวมถึงความคุ้มค่าของการนำระบบดังกล่าวมาเพิ่มความสะดวกสบายให้กับลูกค้า
แหล่งอ้างอิงข้อมูล
ห้องปฏิบัติการทดสอบการสลายตัวทางชีวภาพของวัสดุ – สลายตัวนิดเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
พลาสติก คือวัสดุที่ขึ้นชื่อว่าสลายตัวได้ยาก และยิ่งส่งผลเสียมากขึ้นต่อสิ่งแวดล้อมเมื่ออยู่ในรูปแบบของขยะพลาสติก ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมากทั้งในพื้นดินและในน้ำทะเล สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่ทั่วโลกนั้นให้ความตระหนัก และถือเป็นเรื่องที่สำคัญอันดับต้น ๆ ที่จะต้องคิดหาวิธีการแก้ปัญหาพลาสติกที่มีอยู่กระจัดกระจายเป็นวงกว้างในสิ่งแวดล้อม จนเกิดเป็นมาตรการทางการค้าระหว่างประเทศขึ้นว่า สินค้าหรือผลิตภัณฑ์ใดที่มีส่วนประกอบเป็นพลาสติก เมื่อสิ้นสุดอายุการใช้งานแล้วต้องไม่เป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมต่อประเทศของเขา การทำให้วัสดุพลาสติกสามารถเกิดการสลายตัวทางชีวภาพได้ในธรรมชาติ จึงเป็นหนึ่งในทางแก้ไขปัญหาในด้านสิ่งแวดล้อม
.
สลายตัวอย่างไรให้ตอบโจทย์การใช้งาน
เมื่อทั่วโลกต่างเห็นพ้อง และมองเรื่องนี้เป็นประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญ จึงจำเป็นต้องมี ห้องปฏิบัติการทดสอบการสลายตัวทางชีวภาพของวัสดุ ขึ้นในประเทศไทย เพื่อทำหน้าที่ วิจัย วิเคราะห์ ทดสอบในเรื่องของสมบัติการสลายตัวได้ทางชีวภาพของวัสดุ โดยมีพลาสติกเป็นโจทย์หลัก ที่จะทำอย่างไรให้เกิดการสลายตัวได้ทางชีวภาพ เพื่อยืนยันคุณภาพของผลิตภัณฑ์ หรือสินค้าที่เป็นพลาสติกว่ามีคุณสมบัติที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อันจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมทั้งในประเทศและต่างประเทศ
ในกระบวนการทำงาน ได้ถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วนใหญ่ ๆ คือ
การทดสอบพลาสติกสลายตัวได้ทางชีวภาพ โดยใช้วิธีการทดสอบที่เป็นไปตามมาตรฐานสากล มาทำการทดสอบว่าชิ้นงานพลาสติกต่าง ๆ นั้นไม่ว่าจะเป็นแผ่นฟิล์ม ถุงพลาสติก ถ้วย แก้ว ไปจนถึงหลอดดูดน้ำ เมื่อสิ้นสุดใช้งานแล้วถูกทิ้ง สามารถที่จะสลายตัวได้ตามเกณฑ์ที่กำหนดในมาตรฐานหรือไม่ ถ้าผลิตภัณฑ์ของผู้ประกอบการสามารถผ่านการทดสอบหัวนี้ได้ ก็สามารถที่จะใช้ผลการทดสอบ ส่งไปทำการออกเครื่องหมายรับรองสากล เพื่อใช้ติดลงไปบนผลิตภัณฑ์ เพื่อให้คู่ค้าในต่างประเทศให้การยอมรับที่จะนำสินค้าเข้าไปขาย
การทดสอบการสลายตัวทางชีวภาพเบื้องต้น สำหรับชิ้นงานต้นแบบที่กำลังอยู่ในขั้นตอนของการพัฒนา ทางห้องปฏิบัติการทดสอบการสลายตัวทางชีวภาพของวัสดุ ก็มีให้บริการในด้านการตรวจสอบเบื้องต้นขึ้นมา ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับผู้ประกอบการ ซึ่งกล่าวได้ว่า เป็นวิธีทดสอบที่มียู่เพียงที่เดียวในประเทศไทย โดยวิธีการทดสอบการสลายตัวทางชีวภาพเบื้องต้นนั้นได้รับความเชื่อถือ เชื่อมั่นมากจากนักวิจัยทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน โดยไม่ได้มีการจำกัดว่าจะต้องเป็นผลิตภัณฑ์พลาสติกเพียงเท่านั้น
.
ในอนาคตนั้น ห้องปฏิบัติการทดสอบการสลายตัวทางชีวภาพของวัสดุ ยังได้ทำการวิจัยเพื่อหาวิธีให้วัสดุพลาสติก สามารถสลายตัวในไม่เพียงแต่การฝังกลบในพื้นดิน แต่ต้องสลายตัวได้ทั้งที่ถูกปล่อยทิ้งไว้ในธรรมชาติ รวมไปถึงในท้องทะเลอีกด้วย และมุ่งหวังที่จะส่งเสริมผู้ประกอบการทุกท่าน ให้สามารถที่จะสร้างและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ได้คุณภาพ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในองค์รวมของประเทศ จนสามารถที่จะส่งออกไปต่างประเทศเพื่อให้คู่ค้ามั่นใจในคุณภาพของผลิตภัณฑ์ได้
.
ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อได้ที่
ห้องปฏิบัติการทดสอบการสลายตัวทางชีวภาพของวัสดุ
สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย
35 หมู่ 3 ต.คลองห้า อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี 12120 ประเทศไทย
โทรศัพท์ 0-2577-9057 และ 0-2577-9062
E-mail : anchana@tistr.or.th
Website : www.tistr.or.th/MPAD/
Facebook: MaterialPropertiesAnalysisAndDevelopmentCentre
Youtube: TISTR2506
Line Official: @tistr
สำหรับช่องทาง SME ONE เพิ่มเติม
Facebook: SMEONE
Youtube: SMEONE
Line: @smeone
เครื่องหมายรับนองมาตรฐานที่ใช้แสดงกับสินค้าเกษตร คือเครื่องหมายที่รับรองเกี่ยวกับแหล่งกำเนิด ส่วนประกอบ วิธีการผลิต คุณภาพ หรือคุณลักษณะอื่นใดของสินค้าเกษตร เพื่อให้ผู้บริโภคเกิอความเชื่อมั่น และเชื่อถือต่อสินค้าเกษตร ว่ามีมาตรฐาน คุณภาพ ปลอดภัย และสามาตรตามสอบถึงแหล่งกำเนิดสินค้าได้
เครื่องหมายรับรองมาตรฐานมี 3 แบบ คือ
วิธีการใช้และแสดงเครื่องหมายรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตร
ให้แสดงเครื่องหมาย Q มองเห็นง่ายและชัดเจน ไว้ที่สินค้าเกษตร พร้อมควบคู่กับเลขรหัสการรับรองมาตรฐาน
ให้แสดงสถานประกอบการเอกสารกำกับสินค้า หรือเอกสารโฆษณาประชาสัมพันธ์เท่านั้น ไม่สามารถนำไปแสดงกับสินค้าเกษตรได้
ผู้ได้รับประโยชน์การใช้เครื่องหมายรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตร
เครื่องหมายรับรองมาตรฐานนี้เป็นอีกส่วนสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง สำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการปรับตัวพัฒนาคุณภาพของผลิตภัณฑ์ตามมาตรฐานสากล เพื่อสร้างคุณภาพผลิตภัณฑ์ให้เป็นที่ยอมรับจากผู้บริโภคไม่ว่าจะเป็นตลาดภายในหรือต่างประเทศ และยังช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางด้านการแข่งขัน สร้างความน่าเชื่อถือในตัวผลิตภัณฑ์ และชิงความได้เปรียบทางการตลาดได้
หากลองหันมามองจากมุมของผู้บริโภค เครื่องหมายรับรองมาตรฐานยังสร้างความมั่นใจในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ นอกจากนี้ ได้ช่วยเพิ่มคุณค่าทางด้านจิตใจได้อีกด้วย
ผู้ผลิต
ผู้จำหน่าย
ผู้บริโภค
บทลงโทษสำหรับผู้ที่ปลอมแปลงเครื่องหมายรับรองมาตรฐาน หรือแสดงเครื่องหมายรับรองโดยที่ไม่ได้รับรอง มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มได้ที่ สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.)
เว็บไซต์: www.acfs.go.th
โทร: 02- 561-2277
หรือรายละเอียดเพิ่มเติม https://tascode.acfs.go.th/index.php
อ่านเพิ่มเติม :
จากพนักงานกินเงินเดือนที่หมดไฟในการทำงาน จิรวัฒน์ มหาสารเลือกที่จะกลับบ้านเกิดเพื่อมาพัฒนาสินค้าหัตถกรรมท้องถิ่นของภาคอีสานอย่าง “เสื่อกก” จนเป็นกระเป๋าแฟชั่นจากงานจักสานชั้นนำของเมืองไทยภายใต้ชื่อ CHAKSARN ทุกวันนี้จิรวัฒน์ สามารถฟื้นฟูวัฒนธรรมท้องถิ่นที่หลายคนมองข้ามให้กลับมามีชีวิตชีวา รวมถึงยังทำให้คนในพื้นที่เห็นคุณค่าของภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สืบทอดกันมาเป็นร้อยปี
วันนี้จิรวัฒน์กำลังเริ่มต้น Chapter ใหม่ที่ท้าทายกว่า นั่นคือการสร้างคุณค่าให้กับผ้าไหมไทย
SME One : CHAKSARN เกิดขึ้นมาได้อย่างไร
จิรวัฒน์ : ก่อนหน้าที่จะทำแบรนด์ CHAKSARN ผมทำงานประจำที่กรุงเทพเป็นพนักงานออฟฟิศทั่วไป ทำงานมาสักระยะหนึ่งก็รู้สึกว่าเราไม่อยากทำงานประจำ ถึงทางตัน งานประจำไม่ใช่สิ่งที่เราทำแล้วเรามีความสุข เราไม่ได้ตื่นขึ้นมาแล้วอยากไปทำงานทุกวัน ก็เลยลาออกไปเรียนต่อด้านธุรกิจ ระหว่างที่รอเรียนจบก็ตัดสินใจว่าเราจะทำอะไรดี จะทำธุรกิจหรือกลับไปทำงานประจำเหมือนเดิม ช่วงนั้นก็เป็นช่วงที่ได้กลับไปอยู่ที่บ้านที่ต่างจังหวัดกับพ่อกับแม่ แล้วก็ไปเจอเสื่อกกที่บ้านก็รู้สึกว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ใช่ แล้วก็อยากเอาตัวนี้มาต่อยอดก็เลยเริ่มต้นทำแบรนด์ CHAKSARN
ตอนที่เริ่มทำ CHAKSARN ก็ไม่ได้มีพื้นฐานทางด้านดีไซน์มาก่อน แต่เริ่มต้นจากความชอบส่วนตัว โชคดีก่อนที่คิดจะทำเสื่อกกเคยขายของออนไลน์มาก่อน คือเอาพวกงานหัตถกรรมไทย พวกกระเป๋ากระจูด กระเป๋าผักตบชวาไปลองขายออนไลน์ในต่างประเทศ ก็ขายค่อนข้างดีแล้วก็รู้สึกว่ามีตลาดอยู่ แต่ว่าพอขายไปได้สักพักก็เริ่มมีคนขายเยอะขึ้น แล้วก็มีการตัดราคา ราคาก็จะถูกลงไปเรื่อย ๆ แล้วก็หน้าตาของสินค้าก็จะเหมือนกันทุก ๆ ร้าน เพราะคนที่ขายก็จะแบบรับมาจากแหล่งเดียวกัน ก็เริ่มรู้สึกว่าไม่มีความแตกต่าง ไม่สามารถกำหนดราคา ไม่สามารถกำหนดคุณภาพของสินค้าได้
ตอนนั้นคิดว่าใจจริงก็อยากทำอะไรที่เป็นงานหัตถกรรมไทยอยู่แล้ว เพราะว่าชอบงานฝีมือแล้วก็ชอบงานไทย ๆ แล้วตอนที่คิดว่าจะทำธุรกิจก็มานั่งลิสต์วัสดุว่ามีวัสดุไทยอะไรบ้างที่พอจะพัฒนาต่อยอดได้ นั่งไล่ดูก็มีผักตบชวา กระจูด ไม้ไผ่ หวาย งานผ้าไหม งานผ้าฝ้าย ซึ่งพอนั่งลิสต์มาแล้วสิ่งของเหล่านี้มีในท้องตลาดอยู่แล้ว มีคนที่เขาพัฒนาไว้ค่อนข้างเยอะแล้ว แต่ว่าพอมาเจอเสื่อกกมันเป็นตัวเดียวที่รู้สึกว่าสวย มีเอกลักษณ์ และยังไม่มีใครเอามาทำเป็นอย่างอื่นนอกจากเสื่อปูนั่ง ก็เลยตัดสินใจเลือก
ทีนี้พอที่คิดว่าจะเอาเสื่อกกมาทำ ตอนนั้นก็ยังคิดอยู่เหมือนกันว่าจะทำอะไร จะเอาไปทำเป็นของตกแต่งบ้านดีไหม เพราะว่ามันมาในแนวนี้ เพราะว่าเสื่อก็เป็นของตกแต่งบ้านอยู่แล้ว หรือว่าจะทำอย่างอื่นดี ส่วนตัวคิดว่าอยากแปลงร่าง อยากแปลงโฉมวัสดุตัวนี้ให้มันดูแตกต่าง เราอยากให้มันมีคำว่า Wow เกิดขึ้นในชิ้นงานที่เราจะทำ ก็เลยลองแปรรูปวัสดุตัวนี้ที่ไม่ได้มีความเป็นแฟชั่นให้มาเป็น Fashion Item ดู ตอนที่เริ่มตัดสินใจว่าเราจะเอามาทำเป็น Fashion Item ก็นั่งคิดอยู่ว่า เอ๊ะ จะทำอะไรดี จะทำเป็นเสื้อผ้าก็ไม่ได้เพราะว่า Texture มันค่อนข้างแข็ง ตัดเย็บเป็นเสื้อผ้าไม่ได้แน่นอน ก็มาลงเอยที่กระเป๋า เพราะว่ามันดูน่าจะเป็นไปได้ที่สุด
SME One : ตอนเริ่มธุรกิจไปหาความรู้เพิ่มเติมจากที่ไหน
จิรวัฒน์ : ตอนที่ตัดสินใจว่าจะทำกระเป๋า ปัญหาแรกที่เจอ คือไม่มีพื้นฐานความรู้ด้านการออกแบบกระเป๋า การทำแพทเทิร์นกระเป๋า หรือว่าการตัดเย็บต่าง ๆ นานา คือความรู้เป็นศูนย์ ก็เริ่มจากไปเรียนทอเสื่อก่อน คือเรียนจากที่บ้าน เพราะคุณป้าที่บ้านก็เป็นช่างทอเสื่ออยู่แล้ว แม่ก็ทอเสื่อเป็นก็เลยให้ช่วยสอนทอเสื่อ เพราะต้องการรู้ว่าขั้นตอนในแต่ละขั้นตอนกว่าจะมาเป็นเสื่อทำอะไรบ้าง เพื่อรู้ลึกรู้จริงแล้วเราต้องการที่จะพัฒนาต่อ เราจะได้รู้ว่าเราต้องพัฒนาตรงจุดไหนบ้าง
เรียนอยู่พักนึงก็ทอเสื่อเป็น คิดลายเป็น หลังจากนั้นก็ได้เสื่อมาแล้ว ตอนแรกพยายามเอาเสื่อมาตัดให้เป็นรูปทรงกระเป๋าแต่ก็ทำไม่ได้ เพราะว่าเวลาตัดเสื่อมันแตกไม่สามารถเอามาขึ้นรูปทรงได้ ก็เลยคิดว่าจะต้องเอามาตัดเย็บกันกับวัสดุอย่างอื่น จึงไปเรียนคอร์สการทำกระเป๋าหนังเพิ่มเติมที่กรุงเทพ เป็นคอร์สสั้น ๆ เพื่อที่จะได้ความรู้พื้นฐานว่าการทำกระเป๋าต้องเริ่มต้นยังไง ขึ้นแพทเทิร์นยังไง มีแพทเทิร์นกระเป๋าแบบไหนบ้าง แล้วก็วัสดุที่ใช้หาซื้อที่ไหน อะไหล่ซื้อที่ไหน หนังมีกี่ประเภท ก็ได้ความรู้พื้นฐานพวกนี้แล้วก็เอามาประกอบกับลายเสื่อที่เรามี
เรารู้ว่าสิ่งที่เราอยากทำคือ เอาเสื่อมาประกบกับหนัง เราตั้ง Position ของแบรนด์ไว้ตอนแรกว่าจะทำแบรนด์CHAKSARN เราตั้ง Position ว่าสินค้าของเราจะต้องมีคุณภาพสูง แล้วก็ขายราคาค่อนข้างสูง เราอยากทำให้งานของเราเป็นงานพรีเมียม แต่เรื่องของการตัดเย็บหนังเราทำไม่เป็น เราต้องไปหาโรงงานทำก็เลยไปติดต่อโรงงานมากกว่า 10 โรงงาน แต่โดนปฏิเสธทั้งหมด นี่คือปัญหาแรก
เราพยายามเสาะหาไปเรื่อย ๆ จนก็ได้ Connection มาจากทางโรงเรียนที่ไปเรียนมา พอดีมีช่างคนนึงที่เขาจะเริ่มทำโรงงานเหมือนกัน เราก็จะเริ่มทำแบรนด์ ก็เลยลองชวนมาทำ เราใช้เวลา 4 เดือนกว่าที่จะได้กระเป๋าใบแรกออกมา
SME One : เสื่อที่เอามาใช้งานเป็นลายดั้งเดิมหรือว่าเป็นลายที่พัฒนาแพทเทิร์นขึ้นมาใหม่
จิรวัฒน์ : มีทั้ง 2 แบบ ในการหาเสื่อมาทำกระเป๋าของ CHAKSARN เราไม่ได้ไปหาซื้อเสื่อที่ชาวบ้านมีอยู่แล้ว แต่จะเป็นการไปเสาะหาช่างทอเสื่อที่เขาทอเสื่อเป็น แล้วก็เราไปช่วยพัฒนาคุณภาพของการทอของชาวบ้าน การที่เราไปลงพื้นที่ไปหาชาวบ้านเราจะเห็นลายที่แต่ละชุมชนที่มีอยู่ ซึ่งบางชุมชนเขามีลายขิตโบราณที่สวยงามมากอยู่แล้ว เราก็คิดว่าไม่ควรไปเปลี่ยนแปลง เพราะว่าความงามของมันมีอยู่แล้ว แต่ถ้ากระเป๋าบางรุ่น บางแบบที่คิดว่าอยากตีตลาดกลุ่มวัยรุ่นหรือว่าอยากทำให้ดูโมเดิร์นขึ้นก็จะเปลี่ยนจากลายขิตเป็นลายโมเดิร์น ซึ่งลายโมเดิร์นส่วนใหญ่ที่เราเห็นตามท้องตลาดพวกโทนสี เฉดสีต่าง ๆ ยังไม่โดน เราก็จะเป็นคนออกแบบแล้วก็ผสมสี แล้วก็เลือกลายให้ชาวบ้าน แล้วก็ไปบอกเขาว่าต้องทอประมาณนี้
SME One : ชาวบ้านที่เราไปหา เขาทำเสื่อเป็นอาชีพหลักหรือว่าทำเป็นอาชีพเสริม
จิรวัฒน์ : ส่วนใหญ่จะเป็นแค่งานอดิเรกหรือว่าเป็นอาชีพเสริม หรือทำเพื่อใช้ในครัวเรือนมากกว่า แล้วโอกาสที่เขาจะได้ขายมีน้อยมาก คืออาจจะปีละครั้ง อย่างเช่น มีงาน OTOP ก็จะไปออกงานปีละ 1-2 ครั้ง หรือบางครอบครัวก็แค่ทำไว้ใช้ในครัวเรือนเพราะเขาไม่มีตลาด เวลาที่เราไปหาก็เหมือนกับไปสร้างความมั่นใจให้เขาว่า ถ้าสมมติว่าปรับคุณภาพตามเราได้แล้ว คุณแม่ ๆ ป้า ๆ พร้อมที่จะเป็นช่างให้แบรนด์ CHAKSARN เราจะมีงานส่งให้ตลอดทั้งปี เขาก็ยินดีปรับให้เรา ซึ่งจากที่เป็นงานอดิเรกทอแล้วไม่รู้ว่าจะไปขายเมื่อไหร่ ทอแล้วไม่รู้จะขายที่ไหน หรือทอแล้วขายได้แค่ผืนละ 200-300 บาท แต่พอมาทอให้แบรนด์ CHAKSARN ทอเสร็จขายได้แน่นอน มีรายได้แน่นอน แล้วราคาที่ซื้อกับชาวบ้านนี่ก็คือเป็นราคาที่สูงกว่าที่ชาวบ้านเอาไปขายเองแน่นอน
ตอนนี้ก็มี 2 ครัวเรือนที่อุบลราชธานี ที่เปลี่ยนอาชีพจากทำการเกษตร มาทำสวนกก ปลูกต้นกกไว้รอบบ้าน แล้วก็งานที่เขาเคยรับจ้างทั่วไปก็หยุดทำ แล้วก็มาทอเสื่อทุกวันเพื่อส่งให้ CHAKSARN อย่างเดียว
SME One : CHAKSARN เริ่มต้นจากศูนย์ วันนั้นมีวิธีหาช่องทางขายอย่างไร
จิรวัฒน์ : ช่องทางขายคือเริ่มต้นที่ออนไลน์เลย ก็คือสร้างเพจแล้วก็สร้างเว็บไซต์ขึ้นมา ขายผ่านทางเพจ Facebook ก่อนเลย ช่วงแรกที่เปิดตัวแบรนด์จำได้ว่าผลิตมาแค่ประมาณ 10 ใบ แล้วลองโพสต์ขายทางหน้า Facebook เนื่องจากตอนแรกเรายังไม่ได้มียอด Follower หรือว่าคนรู้จัก เราก็แชร์ไปตาม Facebook ส่วนตัว ให้เพื่อนช่วยแชร์ แต่เนื่องด้วยกระเป๋าที่เราทำออกมา Lot แรกมันเป็นสิ่งที่แปลกใหม่ แล้วเป็นสิ่งที่ยังไม่มีใครคาดคิดว่าจะมีกระเป๋าจากเสื่อกกที่ดูลงตัว ตัวกระเป๋ามันก็เลยขายตัวของมันเอง คือมีคำว่า Wow อยู่ในตัวสินค้า ก็ขายหมดภายในเวลาไม่นาน แล้วก็ลูกค้าก็สั่งจองเข้ามาเรื่อย ๆ เราก็เริ่มรู้แล้วว่าสิ่งที่เราทำมันเป็นสิ่งที่มาถูกทาง
กระเป๋าใบแรกที่เราทำออกมา เราตั้งราคาไว้ 9,900 บาท จากเสื่อกกผืนที่ชาวบ้านขายกันประมาณ 200-300 บาท เราเอามาแปรรูปเป็นกระเป๋ารุ่นแรก ชื่อรุ่น Original ตอนที่เราตั้งราคา 9,900 บาท ที่บ้านไม่มีใครเชื่อว่าจะขายได้ แต่เราตั้ง Position ตอนที่เริ่มสร้างแบรนด์ไว้ว่าจะต้องเป็นสินค้าที่ดูมีราคา เราไม่อยากอยู่ในกลุ่มกระเป๋าสาน เราอยากให้เราไปอยู่ใน Category ที่ยังไม่มีคนทำ ยังไม่มีคู่แข่ง สมมติว่าเราทำให้คุณภาพมันอยู่ในงาน OTOP ที่ชาวบ้านเขาทำ เราก็ต้องกดราคาเพื่อที่จะสู้ได้ แต่เราไม่อยากที่จะไปแข่งกับตลาดที่มีอยู่แล้ว เราพยายามที่จะดันของเราให้ไปอยู่ในจุดอีกจุดนึงที่คู่แข่งยังไม่มี เพื่อที่เราจะได้เป็นเจ้าเดียว อันนั้นคือสิ่งที่คิดไว้ว่าสินค้าต้องคุณภาพสูง แล้วราคาต้องสูงตามคุณภาพด้วย
SME One : ปัจจุบัน CHAKSARN มีขายในต่างประเทศด้วยหรือไม่
จิรวัฒน์ : ลูกค้า CHAKSARN ประมาณ 95% เป็นคนไทย แต่แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มคนไทยที่อยู่เมืองไทยประมาณ 60% แล้วก็กลุ่มคนไทยที่อยู่ต่างประเทศประมาณ 40% ซึ่งถือว่าค่อนข้างเยอะ คือลูกค้าของ CHAKSARN จะอยู่ทั่วทุกมุมโลก แต่เป็นคนไทยที่ไปอาศัยอยู่ต่างประเทศแล้วต้องการที่จะใช้กระเป๋าไทย ๆ
SME One : ช่วง COVID-19 ระบาด ได้รับผลกระทบบ้างหรือไม่ แก้ปัญหาอย่างไร
จิรวัฒน์ : เจอ COVID-19 มาเกือบ 2 ปีแล้ว ก็ค่อนข้างที่จะเติบโตได้ช้า ก่อนหน้านี้กราฟแบรนด์คือพุ่งมาก คือได้ออกทีวีทุกช่องทุกรายการ ลงนิตยสาร ได้คุยกับ Influencer ต่าง ๆ นานา แต่พอมาเจอ COVID-19 จากที่เรามีหน้าร้านที่ ICONSIAM แล้วก็มีการเช่าออฟฟิศที่กรุงเทพ แล้วก็มีเปิดหน้าร้านที่ Terminal 21 ณ ตอนนั้นเราเตรียมที่จะขยายเต็มที่ แต่พอ COVID-19 มา รายจ่ายทุกอย่างที่เราจ่ายไป ทุ่มไปให้กับสิ่งเหล่านี้ พอรายได้เป็นศูนย์แต่รายจ่ายเยอะ ช่วงนั้นก็เกือบเจ๊ง
เราต้องพยายามตัดลดทอนทุกสิ่งทุกอย่างออกให้หมด แล้วการผลิตก็ลดลงด้วย พอเจอกักตัวช่วงนี้ที่ไม่สามารถที่จะออกไปเสาะหาชาวบ้านที่จะเป็นช่างทอประจำให้ทางแบรนด์ได้ เราก็ทำในสิ่งที่เรามีอยู่ ณ ปัจจุบันแบบประคองไปก่อน ถามว่าจะปลดล็อกตรงนี้ได้อย่างไรก็ต้องเพิ่มกำลังการผลิต แต่ปัญหาเดียวที่เจอก็คือ ช่างทอยังไม่เพียงพอ แล้วงานทอมันใช้เวลาค่อนข้างนาน คือเสื่อ 1 ผืนใช้เวลาทอประมาณเกือบ 1 อาทิตย์ แล้วเสื่อ 1 ผืนก็ทำกระเป๋าได้ไม่กี่ใบ
ตอนนี้ร้านในศูนย์การค้าเราก็ไม่ต่อสัญญา แล้วออฟฟิศที่อยู่กรุงเทพก็ไม่ต่อสัญญา เราย้ายออฟฟิศมาอยู่บ้านที่ขอนแก่นเป็นโฮมออฟฟิศ คือพยายามทำทุกสิ่งอย่างให้ลดค่าใช้จ่ายมากที่สุด แล้วก็เน้นออนไลน์ให้ได้เยอะที่สุด
SME One : คิดจะต่อยอดธุรกิจของ CHAKSARN อย่างไร
จิรวัฒน์ : ตอนนี้ก็เริ่มไป Area อื่น เริ่มมีทำเสื้อผ้าด้วยแล้ว แต่ว่ายังคง Concept คือคำว่า จักสาน ก็จะยังเป็นงานหัตถกรรมไทย เป็นงานฝีมือของคนไทยอยู่ เพราะมองว่างาน Handmade หรืองานทำมือเป็นอุตสาหกรรมที่ไม่สามารถแทนที่ได้ด้วยเครื่องจักรกล หรือว่าด้วย AI ด้วยคอมพิวเตอร์ต่าง ๆ คือถ้าคุณอยากได้งาน Handmade มันต้องเป็นงานทำมือจากฝีมือคนเท่านั้น เราคิดว่าสิ่งนี้จะยังไม่ถูกแทนที่ด้วยเครื่องจักร
สิ่งที่ CHAKSARN แตกไลน์ออกมาจะเป็นเสื้อผ้าที่ทำมาจากผ้าไหมมัดหมี่ทอมือที่เป็นงาน Handmade ของชาวบ้าน อันนี้ก็จะเป็นเหมือนกับเป็น Line Product ใหม่ที่แตกขึ้นมา แต่ว่า Product เดิมที่เป็นตัวชูโรงแบรนด์ก็คือ กระเป๋าเสื้อกกก็ยังมีการพัฒนาเรื่อย ๆ
SME One : ผ้าไทยมักถูกตีกรอบให้ใช้ในงานสำคัญ ๆ คนไทยไม่ค่อยนิยมใส่ในวันปกติ มองเรื่องนี้อย่างไร
จิรวัฒน์ : ใช่ครับ อันนี้คือ Challenge แรก ๆ เลยตั้งแต่เริ่มทำแบรนด์ คือต้องพยายามเปลี่ยน Perception ของลูกค้าให้ได้ว่าสินค้าหัตถกรรมไทยหรืองานวัสดุไทย ๆ ทำอย่างไรให้เป็นงานที่ไม่ใช่สำหรับคุณป้าคุณลุง ทำอย่างไรก็ได้ให้เป็นงานที่วัยรุ่นถือได้ ใช้ในชีวิตประจำวันได้ ไม่จำเป็นจะต้องใส่ไปงานราชการ หรือว่าใส่ไปงานบวช งานแต่งงานอย่างเดียว ทำอย่างไรให้คนไทยมองสินค้าไทยให้มีความเป็นโมเดิร์นมากขึ้น เราพยายามใส่ความเป็นโมเดิร์นเข้าไป
ในเรื่องของตัวเสื่อกกคิดว่าค่อนข้างประสบความสำเร็จในการเปลี่ยน Perception ของลูกค้าหลาย ๆ คนที่จากแต่ก่อนคิดว่ากระเป๋าไทย ๆ จะต้องเป็นคนมีอายุเท่านั้น ตอนนี้ลูกค้าของเราก็จะเริ่มเป็นกลุ่มวัยรุ่นมากขึ้น ส่วนในเรื่องของผ้าไทย ผ้าไหมไทย อันนี้มันขึ้นอยู่กับการดีไซน์ด้วย คือเราจะทำยังไงให้ตัวผ้าไหมมัดหมี่ยังคงเป็นผ้าไหมมัดหมี่อยู่ ไม่ได้เอาไปผสมกับอย่างอื่น แต่ดีไซน์ การจับโทนสี การจับคู่สี หรือว่าการออกแบบรูปทรงต่าง ๆ ต้องทำให้ดูไม่ใช่สำหรับออกงานอย่างเดียว แต่ให้สามารถใส่ในชีวิตประจำวันได้
SME One : เสื้อผ้ามีทำออกมากี่ Collection แล้ว
จิรวัฒน์ : Collection แรก เพิ่งเปิดตัวไป เพิ่งจะทำไลฟ์ขายที่หน้าเพจ CHAKSARN ไปเมื่อไม่กี่วันนี้ ถือเป็นการเริ่มต้นจะยังไม่ถึงกับเป็น Collection แต่จะเป็นการเริ่มต้นด้วยการขายอย่างเดียว คือเป็นกางเกงผ้าไหม Ready to wear แต่ Collection แรกจริงๆ ตอนนี้กำลังซุ่มทำอยู่ เรามีไปร่วมมือกันกับกลุ่มชุมชนบัวน้อยที่จังหวัดขอนแก่น เป็นชุมชนทอผ้าไหม เราให้ทางกลุ่มชุมชนทอผ้าไหมให้ตามลาย ตามแบบที่เราต้องการ แล้ว Collection นี้จะไปเปิดตัวแล้วไปเดิน Fashion Show ที่งาน Fashion Week ที่ประเทศมาเลเซียประมาณปลายปีนี้
เราโชคดีที่มีอาจารย์ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น เขาติดตามแบรนด์ CHAKSARN อยู่แล้ว พอเห็นว่าเราเริ่มมาทำผ้าไหม แล้วเขามี Connection กับคนจัดที่มาเลเซียเป็นงานที่เป็นงาน Fashion Week ของผ้าพื้นเมืองในภูมิภาค ที่ติดต่อมายังประเทศไทย ซึ่งทางอาจารย์เห็นว่า CHAKSARN มี Potential ก็เลยให้ลองสมัครไป พอสมัครไปก็ได้รับการคัดเลือก
SME One : จากนี้ต่อไป อะไรคือความท้าทายของ CHAKSARN
จิรวัฒน์ : ความท้าทายของเราคือ ทำอย่างไรให้แบรนด์ไม่จางหายไป คือทุกวันนี้การที่จะขายสินค้าในช่วงวิกฤตแบบนี้มันค่อนข้างที่จะยาก โดยเฉพาะสิ่งที่เป็นงานแฟชั่นหรือสินค้าที่หลายคนมองว่ามันเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยในยุควิกฤตเศรษฐกิจแบบนี้ แล้วคนส่วนใหญ่ก็จะให้ความสำคัญกับสิ่งอื่นที่สำคัญ หรือจำเป็นมากกว่า เพราะฉะนั้นทำอย่างไรแบรนด์ CHAKSARN ถึงจะอยู่รอดในช่วงแบบนี้ได้ และยังขายได้อยู่เรื่อย ๆ แล้วก็ทำยังไงให้ลูกค้าเดิมของเรายังกลับมาซื้อของของเราอยู่ครับ อันนี้เป็นสิ่งที่ท้าทายในช่วงระยะเวลานี้
SME One : อยากจะให้ช่วยฝากคำแนะนำสำหรับคนที่คิดจะออกมาทำธุรกิจ หรืออยากจะพัฒนาสินค้าหัตถกรรม
จิรวัฒน์ : ทำอะไรก็ได้ ขอเพียง 1) ต้องมีความแตกต่าง ต้องไม่ตามใคร ต้องไม่เหมือนใคร ทำอะไรที่จะทำให้เราเป็นผู้นำได้ คือหยิบอะไรก็ตามที่ตัวเองชอบ แล้วจะต้องมีความแตกต่าง ถ้ามีนวัตกรรมเข้าไปร่วมด้วยจะดีมาก 2) ต้องทุ่มเทกับมันมาก ๆ เพราะว่าตอนแรกที่ลาออกมาทำธุรกิจส่วนตัว เราคิดว่าจะมีเวลาพักผ่อนมากขึ้น มีเวลาไปเที่ยวมากขึ้น แต่พอมาทำจริง ๆ การทำงานให้ตัวเองหรือว่าเป็นนายตัวเองเหนื่อยกว่าทำงานออฟฟิศเยอะ แต่ว่ามันเป็นการเหนื่อยที่มีความสุขแล้วก็เราตื่นขึ้นมาแต่ละวัน เรารู้สึกว่าเราอยากทำงาน ไม่รู้สึกว่าเราอยากหยุด มันเป็นการเหนื่อยคนละแบบ ซึ่งถ้าเราทำแล้วเรามีความสุข แล้วเราทุ่มเทให้กับมัน มันก็จะประสบความสำเร็จเอง
บทสรุป
ความสำเร็จของ CHAKSARN อยู่ที่การเห็นคุณค่าของงานหัตถกรรมพื้นบ้านของจิรวัฒน์ แล้วนำมาต่อยอดความคิด และสร้างมูลค่าเพิ่มผ่านงานดีไซน์ บวกกับความตั้งใจที่จะยกระดับสินค้า OTOP ทั่วไปให้เป็นงานแฟชั่นระดับพรีเมียม แม้ว่าช่วงแรกๆ หลายคนจะปฎิเสธความคิดของจิรวัฒน์ ถึงขนาดมีโรงงานนับ 10 แห่งที่ไม่ยอมแม้กระทั่งจะผลิตสินค้าให้เพราะคิดว่าเป็นไปไม่ได้ แต่ท้ายที่สุดจิรวัฒน์ก็พิสูจน์ให้เห็นว่าจากเสื่อผืนละ 300 บาท ก็กลายเป็นกระเป๋าถือราคาเรือนหมื่นได้สำเร็จ เรียกว่าถ้าตั้งใจจริงก็ไม่มีอะไรที่เป็นไปไม่ได้