ASAVA แบรนด์ Passion สะท้อนตัวตน ผ่านงานดีไซน์ที่มีเอกลักษน์อย่างแท้จริง

จะว่าไปแล้ว ASAVA Group เปรียบเสมือนห้องทดลองขนาดใหญ่ของพลพัฒน์ อัศวะประภา เพราะนับตั้งแต่เปิดตัวเสื้อผ้าแฟชั่นมาในปี 2008 จากวันนั้นถึงวันนี้ ASAVA Group มีการแตกแขนงธุรกิจออกไปถึง 7 แบรนด์แล้ว คือ ASAVA, ASV, White ASAVA, Uniform by ASAVA, MOO ในกลุ่มธุรกิจแฟชั่น แบรนด์ SAVA Dining และ Co Limited ในกลุ่มธุรกิจร้านอาหาร

ทุกวันนี้คุณพลพัฒน์ หรือที่หลายคนเรียกติดปากว่า “หมู อาซาว่า” ก็ยังคงสนุกกับการได้คิดและทดลองอะไรใหม่ ๆ ผ่าน 7 แบรนด์ในเครือ ด้วยความที่คุณพลพัฒน์วางโครงสร้างขององค์กรไว้อย่างละเอียด ตามขั้นตอนการสร้างแบรนด์ไว้ตั้งแต่วันแรก จึงทำให้แบรนด์ ASAVA มีจุดยืนที่สะท้อนความเป็นตัวตนของคุณพลพัฒน์ที่ชัดเจนที่สุด

 

ไปที่ จุดเริ่มต้น แนวคิด และไอเดียของธุรกิจ

ไปที่ ปัญหาที่เจอ หรืออุปสรรค ที่พบระหว่างทางของการทำธุรกิจ

ไปที่ Key Success ของธุรกิจ

ไปที่ คำแนะนำที่มีต่อ SME หรือผู้ประกอบการที่สนใจอยากทำธุรกิจด้านนี้

 


 

จุดเริ่มต้น แนวคิด และไอเดียของธุรกิจ

 

SME ONE : แบรนด์ ASAVA มีจุดเริ่มต้นอย่างไร

คุณพลพัฒน์ : จริง ๆ จุดเริ่มต้นของแบรนด์น่าจะมาจากความอยากทำมากที่สุด ไม่ได้คิดเยอะ  คิดว่าตัวเองทำอะไรได้ อยากทำอะไร ณ เวลานั้น ก็มองว่าอยากจะทำในสิ่งที่ตัวเองตั้งใจใฝ่ฝัน แต่ว่าส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่าด้วยพื้นฐาน ด้วยความที่บ้านเป็นนักธุรกิจ ทำธุรกรรมกันทั้งบ้าน แล้วอาจจะเรียนสาขานิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ก็เป็น Marketing และ PR แล้วไปต่อ MBA ด้าน Strategic Management ตอนที่ทำงานอยู่ที่อเมริกาเองก็ได้ทำงานกับดีไซเนอร์ที่เป็นบริษัทที่สเกลค่อนข้างใหญ่ เพราะฉะนั้นในเรื่องของระบบการทำงาน เราอาจจะซึมซับไว้ทั้งหมด เรื่องวิธีค้าขาย เรื่องการโฆษณาประชาสัมพันธ์ เรื่องของระบบการทำงานต่าง ๆ มันอาจจะถูก Form อยู่ในหัวโดยที่เราไม่รู้ตัว

ณ วันที่เราเริ่มต้นทำงานมันเริ่มจากความอยาก แต่ความอยากของเรามันเริ่มอย่างมีขั้นตอน โชคดีว่า ASAVA ตั้งแต่วันแรกที่ Set Up ขึ้นมาด้วยคน 3-4 คน ไม่ได้ Set Up เป็นห้องเสื้อเพียงอย่างเดียว มันก็ถูก Set Up เป็นแนวทางของการสร้างแบรนด์ ทุกอย่างมันถูก Set Up มาเพื่อให้เอื้อต่อการเจริญเติบโตในอนาคต

 

SME ONE : คุณพลพัฒน์มีงานที่มั่นคงแล้ว ตัดสินใจอย่างไรถึงกล้าออกจาก Comfort Zone ของตัวเอง

คุณพลพัฒน์ ตลอดระยะเวลาสิบกว่าปี ตั้งแต่เด็ก ๆ ตั้งแต่เริ่มใฝ่ฝันว่าอยากจะทำอาชีพที่เกี่ยวข้องกับแฟชั่น จนได้ไปเรียนต่อ จนได้ทำงานอยู่ที่อเมริกาก็เริ่มรู้จักตัวเองพอสมควร เพราะฉะนั้นสิ่งที่รู้คือ รู้ว่าอะไรที่ทำได้ไม่ดี อะไรที่เราทำได้ดี เพราะฉะนั้นเราก็มีความรู้สึกว่า หน้าที่ของเรา ณ เวลานั้น คือก้าวไปหาสิ่งที่เรามีความคิดว่าเราทำได้ดีและมีความตั้งใจที่อยากจะทำ ไม่ได้มองเรื่องธุรกิจเป็นเรื่องใหญ่ มองเรื่องของ Passion

เรื่องของการมองตัวเอง ว่าจะใช้ชีวิตอย่างไรในอนาคต จะดำเนินชีวิตต่อไปในโลกนี้ยังไงให้มีความสุขและเป็นตัวของตัวเองให้มากที่สุด

ตอนนั้นก็ไม่ได้เด็กแล้วนะ 30 ต้น ๆ แล้ว แต่ว่าอาจจะด้วยประสบการณ์ ด้วยระบบการศึกษา ด้วย Background ของครอบครัว ทุกสิ่งทุกอย่างพอผสมรวมกันก็เลยทำให้การตั้งต้นธุรกิจใหม่ค่อนข้างที่จะมีระบบ ระเบียบอย่างที่ควรจะเป็น

 

SME ONE : วันที่ตัดสินใจมองเห็นโอกาสด้วยไหม หรือว่ามาเพราะใจรักอย่างเดียว

คุณพลพัฒน์ : โอกาสคือด้วยความที่เราตั้งต้นแบรนด์ เราก็ทำ Research แต่คำว่า Research ในที่นี้ เราไม่ได้ทำ Research ที่ลึกลับซับซ้อน เราทำจากตัวเราเอง เหมือนกับเราเริ่มเก็บข้อมูลว่าตลาดเสื้อผ้าไทยเป็นอย่างไร ราคาขายอยู่ที่เท่าไหร่ Landscape ของ Industry นี้มีอะไรบ้าง แบรนด์ที่อยู่ ณ เวลานี้มีช่องทางจำหน่ายอย่างไร มี Range ราคาเท่าไหร่ Positioning เป็นอย่างไร ทำ Landscape ทำ List ประมาณนี้ ถามว่ามองเห็นช่องทางไหมก็มองเห็น เพราะตอน ณ เวลาที่เราเริ่มต้นแบรนด์ประมาณปี 2000 ต้น ๆ เป็นช่วงที่ตลาดสินค้า Added สินค้า Design ในเมืองไทย สินค้า Lifestyle ในเมืองไทยกำลังเจริญเติบโต ตอนนั้นเศรษฐกิจไทยอยู่ในยุคที่กำลังเติบโต ก็เลยเห็นโอกาสของสินค้าในหมวดหมู่ Lifestyle ที่มีช่องทาง มี Size ของธุรกิจที่ทำได้

 

SME ONE : จากวันนั้นถึงวันนี้ คนไทยเปิดรับ Fashion Design ของไทยมาก-น้อยแค่ไหน

คุณพลพัฒน์ : ตลาดเปลี่ยนไปตลอดเวลา ต้องบอกว่ายุคทองของ Thai Designer คือช่วงปี 2000 ต้น ๆ ยุคทองของดีไซเนอร์ไทยแบ่งเป็น 2 ยุคที่ชัดเจน คือยุคช่วงปี 80 ไปปลาย ๆ ถึง 90 อันนั้นเป็น Wave แรกของดีไซเนอร์ไทย จะเป็นแบรนด์พวก Soda, Greyhound เป็นยุคแรกของพี่ ๆ ที่จบมาจากเมืองนอกแล้วมาทำกัน จะมีการรวมตัวกันที่ Siam Center อย่างคุณภาณุ ที่ทำลีโอ เบอร์เนทท์ แล้วมาเปิดร้านเสื้อผ้า อันนั้นเป็น Wave แรก

Wave ที่ 2 คือช่วงปี 2000 กว่า ๆ จะเป็นแก๊งค์ที่ 2 ที่กลับมา เป็นยุคที่เรียกว่าเป็นยุคเฟื่องของ Thai Designer เช่น Disaya, Sretsis แถว ๆ นั้น ASAVA เข้ามาตอนปลาย ๆ ของ Wave นั้น นี่เป็นยุคที่ Thai Designer ค่อนข้างเติบโตเพราะว่าเศรษฐกิจเติบโต การขยายตัวของกลุ่ม Population ของชนชั้นกลางที่มีกำลังการซื้อค่อนข้างชัดเจนที่เป็นกลุ่ม B-Plus หรือ B Something ที่อาจจะยังไม่ลงทุนใส่เสื้อผ้านอก แต่ว่ามีความต้องการที่จะสร้าง Lifestyle ของตัวเอง มีความโดดเด่นเป็นเรื่องของ Psychographic  ช่วงนั้นเป็นช่วงที่ต้องบอกว่าดีไซเนอร์ไทยเราติดตลาด สังเกตได้ง่าย ๆ ว่า พื้นที่ของห้างที่เป็น Major ไม่ว่าจะเป็น เซ็นทรัล ชิดลม, สยาม พารากอน, สยาม เซ็นเตอร์, เซน, เซ็นทรัล เวิลด์ ฯลฯ ก็จะถูกครอบครองด้วย Thai Designer คือทุกคนก็มองเห็นความสำคัญ ณ เวลานั้น ตลอดระยะเวลา 10 กว่าปีเกือบ 20 ปี Landscape ก็เปลี่ยนไปเรื่อย ๆ ยุคนั้นเป็นยุคก่อน Fast Fashion และยังไม่ได้เป็นยุค Social Media

 

SME ONE : แต่พอมาในปัจจุบันมี Fast Fashion เข้ามา ดีไซเนอร์ไทยต้องปรับตัวอย่างไร

คุณพลพัฒน์ : ก็ทำงานยากขึ้น คือไม่ใช่เรื่องของ Fast Fashion อย่างเดียว Fast Fashion เนี่ยเขาเข้ามาเปลี่ยน Retail Landscape ของ Retail อยู่แล้ว มาเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภค มาเขย่าพฤติกรรมผู้บริโภคในเชิงของงานดีไซน์อยู่แล้วแน่นอน แล้วก็เหมือนตำแหน่งทางการตลาดมันขยับ คือพวกที่ High - End เลย ก็เลยลงมาเล่น Lower Price High-End เป็น Lower Case ของเขา Fast Fashion เองก็มี Upper Case นะ เพราะฉะนั้นตำแหน่งทางการตลาดมันโดนบีบตำแหน่งเข้ามามากยิ่งขึ้น ผนวกกับพอ Social Media มา คนก็มอง Fashion เปลี่ยนไป Cycle ของ Fashion ก็เปลี่ยน ทุกอย่างหมุนเร็ว คนอาจจะต้องการกระแส Fast Fashion ผนวกกับ Social Media ทำให้คนอยากได้เสื้อผ้าเยอะขึ้น บ่อยขึ้น เร็วขึ้น

ฉะนั้น Price Point มันอาจจะถูกลดลงไปอย่างเห็นได้ชัด คือตำแหน่งการตลาดเริ่มเป็นดาวกระจายมากขึ้น ทำให้ทุกคนต้องเปลี่ยนกลยุทธ์ในการสร้างแบรนด์ เปลี่ยน Channel ในการขาย ทุกคนต้องหาจุด Differentiation ของ Product ตัวเองให้ชัดเจน คำว่า Thai Designer มันเริ่มไม่ขลัง เริ่มไม่ได้เป็น Brand Asset เหมือนสมัยหนึ่งที่เคยมี

 

SME ONE : คนไทยชอบมองว่าสินค้าแฟชั่นของไทยมีราคาแพง มองเรื่องนี้อย่างไร

คุณพลพัฒน์ : เรื่องนี้ก็ต้องยอมรับว่าแฟชั่นของไทยไม่ถูก แต่ว่าเป็น Perception ของคนไทยที่ไม่ยอมจ่ายราคาให้กับดีไซเนอร์ไทย จริง ๆ คุณภาพของสินค้าไทยไม่แพ้เลย วิธีคิดทุกสิ่งทุกอย่าง ใกล้เคียงกันหมด แต่เพียงแต่ว่ามุมมองของคนไทย คือของนอกแพงได้ ของไทยห้ามแพง แม้กระทั่งอาหารไทย ถ้าคนไทยทำ ไม่ควรแพง แต่ถ้าเป็นเชฟฝรั่งทำอาหารไทยขายแพงได้ อันนั้นมันเป็นค่านิยมของคนไทยด้วยกันเองที่เรามีความรู้สึก ถ้าเป็นของเรา เราต้องถูก ซึ่งเป็นอีกค่านิยมที่ทำให้งานดีไซน์ของประเทศไทยไปไหนยาก เพราะว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดในการที่จะสร้างความเข้มแข็งของตลาด Added Value สู่งานระดับประเทศ คนในชาติต้องมองเห็นความสำคัญของมันเสียก่อน เหมือนสวีเดน เหมือนประเทศแถบยุโรปที่เขาบูชางานดีไซน์ Exotic ของประเทศ ในที่สุด Exotic ของประเทศก็กลายเป็น Exotic ที่คนยุโรปต้องยอมรับ คนอเมริกาก็ต้องยอมรับ คือคนไทยมีนิสัยชื่นชมชาวตะวันตกเป็นทุนอยู่แล้ว ทำไมเกาหลีหรือญี่ปุ่นสามารถสร้างค่านิยมที่เป็นสากลได้ คนไทยก็ไป Adopt อันนี้เป็นอีกเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับทางช่องทางตลาด แต่เป็นเรื่องของวัฒนธรรมของคนไทย

 อีกสิ่งหนึ่ง ถ้าพูดถึงเรื่องของคุณภาพต้องยอมรับจริง ๆ ว่าเรื่องต้นทุน ถ้าพูดถึง Cost Efficiency ของแบรนด์ที่เป็นระดับใหญ่ ๆ Cost Efficiency จะดีกว่าอยู่แล้ว เสื้อยืดผลิต Thai Designer ผลิต 300 ตัว 500 ตัว ต้นทุนมันสูงกว่า ราคา Retail ก็ย่อมสูงกว่า ในขณะที่เสื้อของฝรั่งตัวหนึ่งอาจจะผลิต 1,000 ตัว 5,000 ตัว มาขายทั่วโลก Cost Efficiency การทำต้นทุนเขาดีกว่าเรา

 

SME ONE : คุณพลพัฒน์สวมหมวกหลายใบเป็นทั้งดีไซเนอร์ และเจ้าของธุรกิจที่มีลูกน้องกว่า 100 คน อยากทราบว่ามีวิธีรักษาสมดุลย์ระหว่าง Pure Art หรือ Passion กับการทำธุรกิจอย่างไร

คุณพลพัฒน์ : คงหาไม่ได้ว่า Balance ยังไง แต่ว่าสุดท้าย เราเชื่อว่าคนที่ทำงานด้านดีไซน์มันมีลายเซ็นต์ของตัวเอง แบรนด์มันคือชื่อเรา เพราะฉะนั้นเราก็ต้องแน่ใจว่าสิ่งที่เรานำเสนอ มันมีศักดิ์ศรีในตัวของเราเอง ถ้ามีอะไรที่เราไม่ชอบเลย เราคงปล่อยออกไปไม่ได้ แต่บางครั้งมันต้องมีการ Compromise ว่าอะไรที่เราอาจจะไม่ชอบ 100% แต่ Consumer ชอบอะไรอย่างนี้ แต่สุดท้ายเชื่อว่า Product ที่จะยั่งยืนได้มันต้องมีจิตวิญญาณที่ชัดเจน ส่วนการตลาด ฝ่าย Marketing ก็ต้องทำไป ฝ่าย Creative ก็ต้องทำหน้าที่ใส่วิญญาณของแบรนด์ให้มันเข้มข้น

เพราะฉะนั้นเราต้องคอยทำการบ้าน คือ ทำงานกับทั้ง 2 ฝั่ง บางครั้งมันก็ผิดบ้าง ถูกบ้าง บางครั้งก็ตามใจตัวเองบ้าง บางครั้งรู้ว่าเสื้อตัวนี้ทำไปแล้วขายไม่ได้ก็ทำ เพราะว่าเรารู้สึกว่ามันเป็นวิญญาณของห้องเสื้อเรา มันเป็นวิญญาณของแบรนด์เรา แล้วเดี๋ยวขายไม่ได้ค่อยไป Sale วันหลังก็ยังได้ แต่ว่ามันไม่มีเสื้อตัวนี้ไม่ได้ สุดท้ายมันก็เป็นเรื่องของรสนิยม เรื่องของความชอบ ยอมรับว่าเราไม่ใช่นักธุรกิจ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่เราก็ไม่ใช่ศิลปิน 100 เปอร์เซ็นต์ ทุกวันนี้ของทุกชิ้นที่จะออกตลาดก็ยังต้องดูเองทุกชิ้น

 

SME ONE : จากแฟชั่นสู่ร้านอาหาร แนวคิดนี้ทีที่มาที่ไปอย่างไร

คุณพลพัฒน์ : มาจากการที่เรา Collaboration กับคนเยอะ ส่วนใหญ่การทำ Collaboration ของ ASAVA เริ่มต้นจากสิ่งที่เราคิดว่าเราทำได้ บริษัทนี้ต้องยอมรับว่ามันเริ่มจากแนวความคิด เสื้อผ้า ASAVA ก็คือแนวความคิด มันไม่ใช่แค่การนำเสนอเสื้อตัวหรือกระโปรงตัวหนึ่ง แต่เป็นการขายความคิด ขายความเชื่อ ขาย Lifestyle ยอมรับว่า Lifestyle ของตัวเองเกี่ยวข้องกับอะไรที่ข้องแวะกับการกิน การอยู่ การนอน การอ่านหนังสือ เราพยายามคิดว่าสิ่งไหนที่เป็นตัวตนของเราแล้วเราสามารถเอามาถ่ายทอดแล้ว Collaboration กับคนอื่นได้ ส่วนใหญ่ธุรกิจที่เริ่มต้นของ ASAVA เป็นธุรกิจที่เกิดจากความบังเอิญทั้งสิ้น คือเราไม่ใช่นักลงทุนที่เอา PNL เป็นหลัก ไม่ได้เป็นนักลงทุนที่ดูกระแสเงินสดเป็นหลัก หรือดู Return on Investment เป็นหลัก เราดูจากสิ่งที่คิดว่าทำได้แล้วมีความสุข เพราะฉะนั้นธุรกิจบางตัวมันก็กำไรดี บางตัวอาจจะแค่พอเลี้ยงตัวได้

ณ วันนี้ไม่เคยเสียใจที่ตัวเองเริ่มต้นธุรกิจอาหารเลย เพราะมันเป็นอีกโรงเรียนที่สอนให้เรารู้จักตัวเองมากยิ่งขึ้น ให้เราได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ในอีกร่องสมองนึงที่เราไม่เคยใช้มาก่อน ส่วนตัวเป็นอะไรที่ท้าทาย แต่ถ้าถามว่าเหนื่อยไหมก็เหนื่อยมาก ณ วันนี้ยิ่งเหนื่อยยากใหญ่เลย ภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ แต่เราบอกทุกคนว่าไม่เคยเสียใจที่เริ่มต้นมัน เพราะมันทำให้เราได้รู้จักว่าเรามีร่องสมองอีกร่องนึงที่เราไม่เคยพัฒนา คือบางทีเราอยู่กับเสื้อผ้าเยอะ ๆ ถ้าเราได้ไปทำอย่างอื่นบ้าง มันก็กลับมาช่วยให้ทำงานเสื้อผ้าของเราดีขึ้น เพราะมันสอนให้เราพัฒนาตัวเอง สอนให้เรารู้ว่า บางสิ่งที่เรารู้สึกว่าเรามีอยู่ในหัว อยู่ในตัวอาจจะยังไม่พอ อาจจะต้องไปเรียนรู้สิ่งอื่น หานู่นหานี่มาทำ มันคือการเติมเชื้อชีวิต เติมความคิดสร้างสรรค์ มันทำให้เราเจออีกโลกหนึ่ง

 


 

ปัญหาที่เจอ หรืออุปสรรค ที่พบระหว่างทางของการทำธุรกิจ

 

SME ONE : ตั้งแต่ทำธุรกิจมาเคยเจอปัญหาอะไรใหญ่ ๆ บ้างหรือไม่แล้วแก้ไขอย่างไร

คุณพลพัฒน์ : อยากให้ทุกคนมอง SME มอง แบบนี้ ธุรกิจที่ตัวเจ้าของเองเป็นจิตวิญญาณ เป็นคนผู้ริเริ่ม เป็น Founder ต้อง มอง 2 ส่วน มองในส่วนของตัวเราเองในฐานะของ Founder อันแรก คือ เป็น Private Investor เป็น Private Investment ทุกอย่างมาจากตัวเรา การเริ่มจากธุรกิจที่เป็นสเกล S แล้วขึ้นมาเป็น S ใหญ่หน่อย พอจะ M เป็น M เล็ก ๆ จะขึ้นมาเป็น M ใหญ่ ๆ ทุกช่วงมันจะติดคอขวดเรื่อย ๆ หน้าที่ของเราคือการระเบิดคอขวด ทุกครั้งที่เป็นการระเบิดคอขวดมันต้องมีการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน ในวิธีคิด ในวิธีการทำงาน นี่คือปัญหาเรื่องแรกของคนที่เป็นผู้ก่อตั้งแบรนด์หรือผู้ก่อตั้งธุรกิจ เมื่อธุรกิจขยายสเกลก็ต้องเปลี่ยนวิธีการทำงาน ต้องเปลี่ยนวิธีคิดที่เคยเป็นตัวตนเรา 100% เราก็ต้องเริ่ม Delicate งานมากขึ้น

ตรงนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่เราจะยอม Compromise กับ Growth ที่กำลังจะ Factor In เข้ามามากเท่าไหร่ โดยเฉพาะกับคนที่เริ่มต้นจากจิตวิญญาณหรือความเป็นศิลปินของตัวเอง อันนี้ก็เป็นเรื่องที่ทุกคนจะต้องตอบตัวเองว่าเท่าไหนเราถึงมีความสุข เท่าไหนมันถึงจะ Fulfill ตัวตนของเราในฐานะที่เราเริ่มต้นธุรกิจมา 1,000 ล้าน 2,000 พัน หรือ 10,000 ล้าน แน่นอนว่าวิธีคิดทุกอย่างมันต้องเปลี่ยนแปลงไป อันนี้พูดถึงในเชิงของตัวตนจิตวิญญาณของคนทำงาน

พอพูดถึงในเชิงของธุรกิจ พอธุรกิจเริ่มเติบโต บริษัทเริ่มใหญ่ขึ้น เมื่อก่อนเราเริ่มเป็นห้องเสื้อ ตอนนี้เราเริ่มมาแข่งกับบริษัทที่มันใหญ่ขึ้น เงินลงทุนมันก็ต้องใหญ่ขึ้น การที่เราจะระดมเงินทุนเข้ามาให้บริษัทมันเติบโตขึ้น อาจจะมีคนอยากลงทุนหรือถ้าที่เราเป็น Funding ของตัวเอง เราจะหาเงินมาจากไหน พอเราเริ่มหาเงินเข้ามาลงทุนมากยิ่งขึ้น Pressure ก็ยิ่งมากยิ่งขึ้น ROI ที่เราเคย เมื่อก่อนเราเคยดูบ้างไม่ดูบ้างก็จะต้องให้ความสำคัญ โดยเฉพาะถ้าเรามีเรียกเงินทุนมาจากที่อื่น มีคนเข้ามาถือหุ้นบริษัทเรามากขึ้น เพื่อการเจริญเติบโต แน่นอนมันจะมีเรื่องของผลประกอบการที่เราจะต้องให้ความสำคัญยิ่งขึ้น ดังนั้น 2 อย่างนี้มันก็จะอยู่ในหัวเราตลอดว่า เราจะไปยังไง ไปที่ไหน ไปอย่างไร นี่เป็นปัญหาที่ทุกคนต้องเจอ ถ้าอยากจะเติบโต

อีกปัญหาที่ต้องเจอในการทำธุรกิจคือ กระแสเงินสด อย่างตอนนี้มีโควิค-19 จะเห็นได้ชัดเลยว่าบริษัทที่เติบโตเร็วมากโดยที่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับกระแสเงินสดเท่าไหร่ก็จะจุกหนัก อาจจะต้องปิดกิจการเลยก็ได้ อันนี้เป็นเรื่องที่เราเคยผ่านวิกฤตนี้มา 1 หน ตอนช่วงวิกฤตการเมือง บริษัทเราค่อนข้างโตเป็น 100% มันเหมือนเราไม่ได้มีกันชนเยอะ เพราะบริษัทโตเร็วเงินที่ได้กลับมาก็เอากลับมาลงทุนให้บริษัทเติบโต เราไม่คิดเผื่อว่าจะมีสิ่งที่ไม่คาดฝันเกิดขึ้น พอเกิดวิกฤตก็ทำให้ Cash Flow เราสะดุด ครั้งนั้นเป็นเรื่องใหญ่ที่สอนตัวเองว่าสุดท้ายแล้ว จะโตเท่าไหร่ก็แล้วแต่มันต้องมีกันชนให้กับตัวเอง

ณ วันนี้เราโชคดีมาก วิกฤตโควิด-19 ทุกคนจุกเหมือนกัน เราก็จุก ยอดขายตกเป็นเดือน ๆ ถ้าเราไม่มีกันชนให้ตัวเองก็จุกเหมือนกัน เพราะฉะนั้นเมื่อบริษัทเติบโตขึ้นการ Manage บริษัทอย่างระแวดระวัง อะไรที่เป็น Growth ต้องทำให้เป็น Healthy Growth เป็นการเจริญเติบโตที่แข็งแรง

 


 

Key Success ของธุรกิจ

 

SME ONE : อะไรคือ Key Success ของแบรนด์ ASAVA

คุณพลพัฒน์ : ข้อแรกคือ ความเป็นตัวตนที่ชัดเจนของแบรนด์ คือ ลูกค้าสามารถสัมผัสได้ทันทีว่า ASAVA คืออะไร Brand Positioning เป็นอย่างไร งานดีไซต์มีลายเซ็นต์ของตัวเอง เรื่องต่อมาคือ Brand Values มีความ Authentic และมีความชัดเจนด้วย อีกอย่างนึงที่ชัดเจนคือ คำว่า Alive แบรนด์ ASAVA จะเห็นได้ว่ามันมีพื้นที่ของมันอยู่เสมอ คนเปิดข่าวไปจะต้องเห็นแบรนด์ ASAVA ตามหน้าสื่อ เดี๋ยวทำชุดประกวดนางงาม เดี๋ยวทำโน่น เดี๋ยวทำนี่ คือมันมีความ Active ของมันอยู่ตลอดเวลา ผู้บริโภคที่จะจ่ายเงินให้อะไรสักอย่าง เขาต้องการมีประสบการณ์ มี Brand Journey ที่เชื่อมโยงกับชีวิตเขา เพราะฉะนั้น ASAVA เป็นแบรนด์ที่มีความสด มีความ Active

อย่างเวลา แบรนด์ Louis Vuitton, Gucci เวลาเขาทำ Landscape ของประเทศไทย เวลาวัด Awareness กับ Visibility ของแบรนด์ออกมา แบรนด์ ASAVA เราติดที่ 1 ตลอดจาก Research ต่างประเทศ อาจจะเป็นด้วยตัวเองมีความสนใจหลากหลาย เลยขยายใยแมงมุมของแบรนด์ออกไปในทุก ๆ มิติ ทำให้ผู้บริโภคมีความเชื่อมโยงกับแบรนด์เรา

 

SME ONE : อยากให้คุณพลพัฒน์ช่วยให้คำแนะนำ สำหรับคนที่อยากจะเข้ามาอยู่อุตสาหกรรมนี้

คุณพลพัฒน์ : หนึ่ง Passion ไม่ต้องพูดถึง เพราะเป็นพื้นฐานที่คุณต้องมีอยู่แล้ว ที่อยากแนะนำคือ ต้องวางระบบหลังบ้านให้ดี ยอดขาย Domestic ต้องได้ อย่าคิดจะส่งออกอย่างเดียว ณ วันนี้มันทำให้เห็นแล้วว่า ถ้ามุ่งส่งออกอย่างเดียว เวลาถูก Interrupt หรือ Disrupt เมื่อไหร่ คุณก็ตายอย่างเดียว คำต่อมาคือ ต้อง Diversify บริษัทของคุณให้มีหลายกระเป๋า หลายวิธีหาเงิน เวลาถึงทางตัน มันจะได้ไม่พัง มันจะได้มีทางเลี้ยว

ส่วนเรื่องการสร้าง Product สุดท้ายมันจะต้องมีความ Authentic จะด้วยคุณสมบัติของแบรนด์ จะด้วย Functional จะด้วย Emotion แบรนด์จะต้องมีสิ่งที่หาอะไรมาทดแทนยาก แบรนด์ต้องมีความคมชัดที่โดนใจผู้บริโภค มีสิ่งที่ผู้บริโภคมองเห็นคุณค่า ข้อนี้คือสิ่งที่สำคัญที่สุด และสิ่งนี้ไม่ได้เป็นสิ่งที่ดำรงอยู่ตลอดไป สิ่งนี้ต้องปรับเปลี่ยนวิวัฒนาการอยู่เสมอ แต่แน่นอนมันต้องมีรากฐานจากสิ่งที่มันถูกสร้างขึ้นมา เพราะฉะนั้นเรื่องนี้ก็เป็นสิ่งที่นักสร้างแบรนด์ต้องรู้

 


 

คำแนะนำที่มีต่อ SME หรือผู้ประกอบการที่สนใจอยากทำธุรกิจด้านนี้

 

SME ONE : คำแนะนำ สำหรับคนที่อยากจะเริ่มต้น อาจจะเป็นคนทำงานแล้วอยากไปเปิดร้านเล็ก ๆ มีคำแนะนำสำหรับคนกลุ่มนี้ไหม

คุณพลพัฒน์ : หนึ่ง ต้องอย่าใจร้อน คือเวลามองธุรกิจอยากจะเริ่มจากอะไรก็แล้วแต่ ให้เริ่มจาก Product ที่เรามีความอยาก เราทำได้ เรามีความรู้ความชำนาญ อย่ายืมจมูกคนอื่นหายใจ ต้องเริ่มจากสิ่งที่เราแน่ใจว่าเรารู้ เรามีความชำนาญ แล้วเราทำได้ สอง เมื่อเราทำได้ อย่าตะกละ คำว่าตะกละในที่นี้ คือการวางระบบของการทำงานให้รัดกุม คุณต้องรู้ว่าต้นทุนเท่าไหร่ มองไปแล้วรู้ว่ากำไรเท่าไหร่ แล้วทั้งหมดถ้าหักลบกลบหนี้แล้ว คุณเติบโต คุณต้องคิดว่าจะแบ่งสรรปันส่วนเงินก้อนนี้อย่างไร  วิธีคิดอย่างเป็นระบบเนี่ย ใช้ได้กับทุกคน ไม่ว่าจะเล็กจะใหญ่ ไม่ว่าคุณจะขายน้ำเต้าหู้ ถ้าคุณเริ่มคิดอย่างมีระบบ วันหนึ่ง น้ำเต้าหู้ของคุณก็ขึ้นห้างได้ ถ้าคุณรู้จักจัดสรรปันส่วนการใช้ทรัพยากรตัวเองให้ดี การใช้ความคิดสร้างสรรค์ ใช้ความสามารถ การจัดแจงเรื่องเวลา ทุกสิ่งทุกอย่าง การจัดการเรื่องรสชาติ

พอเข้ามาโซนของรายได้ ถ้าคุณมีการจัดสรรปันส่วนรายได้ที่ชัดเจน ต้นทุนที่ชัดเจน เซฟเงินที่ชัดเจนเพื่อการเจริญเติบโตที่ชัดเจน แล้วก็เติบโตแบบที่ไม่ได้เร็วจนเกินไป ไม่เช่นนั้นวันหนึ่งมันจะกลับมาเป็นหลุมพรางของตัวเอง เวลาทำธุรกิจปัญหาของคนทุกวันนี้คือทุกคนอยากกิน แต่ตักอาหารยัดเข้าปากตัวเองมากกว่าที่ตัวเองเคี้ยวได้ สุดท้ายก็สำรอกออกมา เพราะว่าโลกทุกวันนี้สอนให้ทุกคนกอบโกยเกินไป คนที่มีความสำเร็จประเดี๋ยวประด๋าว มันไม่ได้วัดประสิทธิภาพจริงๆ แต่ว่าความสำเร็จในระยะยาวต่างหาก ที่จะเป็นมาตรวัดประสิทธิภาพของตัวเรา เพราะฉะนั้นการทำธุรกิจต้องวัดกันในระยะยาว

 

SME ONE : ช่วงนี้หลายคนขายของเป็นอาชีพเสริม พอถึงจุดที่รายได้เพิ่มขึ้นจนเท่างานประจำ บางคนเลือกไม่ถูกว่าจะไปทางไหน พอจะมีคำแนะนำไหม

คุณพลพัฒน์ : ทุกการตัดสินใจมันต้องมีความเสี่ยง มันขึ้นกับ Risk Factor ของแต่ละคน คุณต้องคิดให้รอบคอบว่าถ้าคุณเป็นพนักงานชั้นดี เชื่อว่าคนที่เป็นพนักงานชั้นดีมีประสิทธิภาพเกรด A ออกไปเปิดธุรกิจของตัวเองก็รอด แต่คนที่เป็นพนักงานเกรด B, C ไม่ค่อยมีความรับผิดชอบ ไม่ค่อยมีตรรกะในการใช้ชีวิต ไปเปิดบริษัทตัวเอง ถ้าโชคไม่ดีจริง ๆ ก็มักจะเจ๊ง เพราะสุดท้ายการเปิดธุรกิจของตัวเองต้องใช้ความรับผิดชอบมากกว่าการเป็นพนักงานประจำ ต้องมีวินัย มีความเพียร มีวิธีคิดที่เป็นกระบวนการ มีตรรกะที่ชัดเจน

เพราะฉะนั้น การที่คุณจะเปลี่ยนตัวเองจากมนุษย์เงินเดือนไปเป็นเจ้าของธุรกิจ คุณก็ต้องมองว่าสิ่งที่คุณกำลังก้าวไป ตลาดที่รออยู่ข้างหน้าเป็นตลาดที่มีศักยภาพไหม มี Risk Factor อะไรบ้างในตลาดนั้น ไม่ใช่เป็นตลาดที่ Demand เกิดมาชั่วคราวแล้วหาย คุณก็ต้องคิดว่าระยะยาว ถ้าคุณออกจากงานประจำไป ศักยภาพของตลาดที่คุณกำลังมุ่งหน้า มี Commitment แค่ไหน ตรงนี้เป็นเรื่องสำคัญ ณ วันนี้หลาย ๆ คนก็ซื้อมาขายไป ซื้อของเมืองจีนมาขาย ถามว่า Make Money ไหม Make Money คุณอาจจะได้กำไรมากกว่า ASAVA ก็ได้ แต่ถ้าคุณไม่เก็บหอมรอมริบ หรือว่าคุณไม่พยายามเปลี่ยนจากพ่อค้าคนกลาง คุณก็ไม่มีแบรนด์ คุณก็ไม่มี Asset แล้วถ้าคุณซื้อมาขายไปโดยที่ไม่ได้สร้างแบรนด์ ไม่ได้มีคุณภาพที่ดีกว่า ไม่มีระบบ Logistic ที่ดีกว่า คุณไม่ได้มี Loyalty อะไรกับลูกค้าเลย เพราะฉะนั้นวันนึงถ้าคนอื่นเข้ามาทำเหมือนคุณ แล้วเขาสามารถกดราคาได้ต่ำกว่าคุณ เลือกของได้สวยกว่าคุณ คุณก็หายไปในที่สุด ดังนั้นคุณต้องคิดว่าตัวคุณเอง เป็น Asset แบบไหน คุณต้องตอบคำถามตัวเองให้ได้

 


 

บทสรุป

          การเริ่มต้นธุรกิจทุกประเภทควรเริ่มต้นจากสิ่งที่ตัวเองมีความรู้และความชำนาญ พยายามอย่าไปยืมจมูกคนอื่นหายใจ นอกจากนี้ในช่ววงเริ่มต้นผู้ประกอบการต้องคิดและวางระบบงานหลังบ้านให้ดีทั้งในเรื่องของระบบบัญชี การจัดสรรปันส่วนรายได้ที่ชัดเจน ต้นทุนที่ชัดเจน ในส่วนของรายรับก็ควรการกระจายรายได้ให้มาจากหลายช่องทาง ถ้าเป็นธุรกิจเสื้อผ้าแฟชั่น การสร้าง Product จะต้องมีความ Authentic ด้วยคุณสมบัติของแบรนด์ไม่ว่าจะเป็น Functional จะด้วย Emotion หรืออะไรก็แล้วแต่ จะต้องเป็นสิ่งที่หาอะไรมาทดแทนได้ยาก

 

 

Published on 21 September 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

 

บทความแนะนำ

ITAP เบื้องหลังผู้สร้างเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพิ่มความสามารถการแข่งขันเอสเอ็มอีในยุค New Normal

ปัญหาแหล่งเงินทุนไม่ได้เป็นเพียงปัญหาเดียวที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีต้องเผชิญ แต่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังขาดเทคโนโลยีและนวัตกรรมซึ่งเป็นปัจจัยที่สำคัญมากต่อการทำธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคดิจิตัลดิสรัปชั่น

แน่นอนว่าผู้ประกอบการจำนวนหนึ่งเริ่มมองเห็นความเสี่ยงว่าหากไม่ปรับตัวก็จะถูกดิสรัปในอีกไม่นาน แต่ส่วนใหญ่มักติดปัญหาที่ว่า ไม่รู้จะเริ่มต้นเปลี่ยนอะไร เปลี่ยนอย่างไร ควรทำอะไรก่อนหลัง หรือต้องใช้เทคโนโลยีอะไรมาสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน 

ปัญหาต่างๆ เหล่านี้สามารถคลี่คลายได้ หากผู้ประกอบการเข้ามาขอคำปรึกษากับ ITAP (Innovation and technology assistance program) หรือ โปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ที่เกิดขึ้นมาเพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมสามารถสร้างนวัตกรรมทางเทคโนโลยีเพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน ดร.นันทิยา วิริยบัณฑร ผู้อำนวยการโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ITAP) กล่าวว่า สาเหตุที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยเติบโตช้า เพราะไม่มีความพร้อมในการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้อย่างตรงจุด ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนากระบวนการผลิต การลดต้นทุน และการพัฒนามาตรฐาน ดังนั้นหากนำเทคโนโลยีต่าง ๆ ไปช่วยแก้ปัญหาพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ที่ตอบโจทย์ตลาด จะช่วยเร่งการเติบโตของผู้ประกอบการได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

การที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีส่วนใหญ่ไม่มีหน่วยวิจัยพัฒนาหาเทคโนโลยีอยู่ในบริษัทนี้เอง ITAP จึงมีทำหน้าที่สร้างกลไกเชื่อมโยงผู้ให้บริการเทคโนโลยี (Technology Service Providers) เข้ากับผู้ใช้เทคโนโลยี (Technology Users) โดยทำงานผ่านเครือข่ายที่ปรึกษาทางเทคโนโลยีอยู่ทั่วประเทศถึง 20 แห่งครอบคลุมทั่วภูมิภาคของไทย แต่ละแห่งจะมีเจ้าหน้าที่ Industrial Technology Advisor (ITA) ที่มีความรู้ทางด้านวิศวกรรม และวิทยาศาสตร์ ประจำอยู่ตามพื้นที่ต่างๆ คอยรับโจทย์ความต้องการเบื้องต้นจากผู้ประกอบการ และสรรหาผู้เชี่ยวชาญด้านที่ตรงกับโจทย์ความต้องการของผู้ประกอบการ เข้าไปให้คำปรึกษาเชิงลึกถึงสถานที่ของผู้ประกอบการโดยตรง

 “ผู้ประกอบการบางรายที่ติดต่อเข้ามา ITAP อาจแก้ปัญหาให้เขาได้ภายในวันนั้นเลย เช่น เราจะแนะนำให้ฝ่ายเทคนิคเข้าไปช่วยสอนในโรงงาน หรือถ้าผู้ประกอบการต้องการให้ผู้เชี่ยวชาญเข้าไปช่วยดำเนินโครงการ กรณีนี้เราจะมี ITA ช่วยดูแลบริหารจัดการโครงการเพื่อให้สามารถตอบโจทย์ให้กับผู้ประกอบการแต่ละรายได้อย่างเหมาะสม”

ทั้งนี้ ITA  จะดูแลตั้งแต่ให้คำปรึกษา เชื่อมโยงการทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญ ตลอดจนนำเสนอขออนุมัติเรื่องงบประมาณ และระบุระยะเวลาโครงการซึ่งแล้วแต่โจทย์ของบริษัท โดยทั่วไปอยู่ในระหว่าง 3-8 เดือน โดยรูปการสนับสนุนของ ITAP จะให้ผู้ประกอบการออกงบไปก่อน 100% เมื่อจบโครงการแล้ว จะมีผู้ประเมินผลโครงการ จากนั้นจึงสามารถเบิกเงินสนับสนุนคืนย้อนหลังได้ 50% แต่ไม่เกิน 4 แสนบาท

และในยุคดิจิตัลทรานส์ฟอร์เมชั่น ITAP ยังมีบทบาทในการเข้าไปช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถปรับตัวให้ทันต่อการแข่งขันยุคใหม่ ด้วยการนำเครื่องมือต่างๆ เข้าไปช่วยองค์กรสามารถทรานส์ฟอร์มตัวเองได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น อาทิ ระบบ Design thinking เข้าไปอยู่ในกระบวนการทำงานเพื่อออกแบบสินค้าหรือบริการ และเครื่องมือ Business Model Canvas มาช่วยออกแบบโมเดลธุรกิจ จากนั้นยังพาผู้ประกอบการไป Matching กับผู้เชี่ยวชาญด้านช่องทางการทำตลาด หรือเจ้าของเทคโนโลยีโซลูชั่น

ล่าสุดกับสถานการณ์ COVID-19 ซึ่งกระทบต่อผู้ประกอบการเป็นจำนวนมาก ITAP ได้มีการทำงานเชิงรุกซึ่งแบ่งออกเป็นแผนระยะสั้น และแผนระยะยาว

แผนระยะสั้นมุ่งเน้นการนำผู้เชี่ยวชาญเข้าไปช่วยเหลือผู้ประกอบการให้สามารถปรับตัวให้อยู่รอดในสถานการณ์เช่นนี้ อาทิ โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุน ลดของเสีย ลดพลังงาน และโครงการที่นำเทคโนโลยีดิจิตัลไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับธุรกิจในยุค New Normal ยกตัวอย่างที่ผ่านมา ITAP เข้าไปช่วยเหลือธุรกิจท่องเที่ยวและโรงแรม ในการพัฒนาดิจิตัลคอนเทนต์ และนำไป Plug-in กับแพลตฟอร์มต่างๆ เพื่อเจาะนักท่องเที่ยวได้ตรงกลุ่มเป้าหมาย

นอกจากนี้ ITAP ยังของบประมาณเสริมจากทางภาครัฐเพื่อเข้าไปช่วยเหลือในโครงการขนาดใหญ่เพื่อให้ผู้ประกอบการปรับตัวได้ อย่างโครงการกลุ่มช่วยทดสอบเครื่องมืออุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับ COVID-19 โดยสนับสนุนวงเงินเพิ่มในงบ 70% (จากปกติ 50%) เพราะต้องการกระตุ้นให้ผู้ประกอบการไทยสามารถพัฒนาอุปกรณ์ดังกล่าวได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น

สำหรับแผนระยาวนั้น ITAP มองว่าเมื่อผู้ประกอบการสามารถปรับตัวจากสถานการณ์ COVID-19 ได้แล้ว กลุ่มนี้จะต้องเร่งหานวัตกรรมเพื่อต่อยอดธุรกิจให้เข้มแข็ง โดยส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้ประกอบการยกระดับเป็นผู้ประกอบการฐานนวัตกรรม หรือ Innovation Driven Enterprise (IDE) สร้างนวัตกรรมในสินค้าและบริการให้มีความโดดเด่น สามารถขายในราคาที่สูงขึ้น และมีกำไรต่อหน่วยสูงขึ้น

แต่การยกระดับให้ผู้ประกอบการเป็น IDE ดังกล่าวนั้น ถือเป็นเป้าหมายในระยะยาว ITAP จึงบูรณาการทำงานร่วมกับหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเชื่อมโยงการทำงานให้ครบวงจร  อาทิ โครงการส่งเสริมผู้ประกอบการธุรกิจอาหารในการผลิตอาหารฟังก์ชั่น ITAP ทำงานร่วมกับศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ TCELS และกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เป็นต้น

 โปรแกรม ITAP เปิดบริการให้แก่ผู้ประกอบการทุกวันทำการ พร้อมช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยในการปรับตัวสู่ยุค New Normal สำหรับผู้ประกอบการที่เป็นร้านค้า ฟาร์ม กลุ่มสหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน ห้างหุ้นส่วน และบริษัทในภาคผลิตที่มีรายได้ต่อปีไม่เกิน 500 ล้านบาท และบริษัทในภาคบริการมีรายได้ต่อปีไม่เกิน 200 ล้านบาท ที่ต้องการการสนับสนุนทางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม สามารถติดต่อเข้ามาใช้บริการโปรแกรม ITAP สวทช. ได้ทุกเครือข่ายทั่วประเทศไทย

สำหรับผู้ประกอบการ SME ที่สนใจอยากเป็นสมาชิกหอการค้า สามารถติดต่อได้ที่ 

เว็บไซต์ https://itap.nstda.or.th/

Published on 21 September 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย






บทความแนะนำ

สมอ. สถาบันมาตรฐานแห่งชาติ ยกระดับมาตรฐานเพิ่มศักยภาพธุรกิจ

ในโลกการแข่งขันทางธุรกิจที่มีผู้ประกอบการมากมาย สิ่งสำคัญหนึ่งที่จะทำให้ SME โดดเด่นแตกต่างจากคู่แข่งอื่นก็คือ คุณภาพของสินค้าและบริการ หากสินค้าและบริการมีคุณภาพดีและได้รับการรับรองมาตรฐานย่อมเป็นแต้มต่อในสนามแข่งขัน การมีมาตรฐานจึงเป็นหัวใจสำคัญของธุรกิจ เป็นเรื่องพื้นฐานที่ SME ไม่อาจละเลยไม่ว่าโลกธุรกิจจะเปลี่ยนโฉมหน้าไปอย่างไร

สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ในฐานะสถาบันมาตรฐานแห่งชาติ ให้ความสำคัญต่อการขับเคลื่อนสินค้าและบริการให้เป็นที่ยอมรับและแข่งขันได้ในระดับสากล โดยสมอ. มีภารกิจด้านการส่งเสริมผู้ประกอบการให้มีศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้า โดยใช้มาตรฐานเป็นเครื่องมือสำคัญในการดำเนินธุรกิจ สร้างการยอมรับและสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค ตลอดจนคุ้มครองผู้บริโภคให้ปลอดภัยจากการใช้สินค้า 

มาตรฐานของ สมอ. จึงเป็นเหมือนเครื่องหมายการันตีคุณภาพที่ผู้ประกอบการ SME สามารถนำไปใช้ในทางการตลาด

คุณนฤมล วาณิชย์เจริญ ผู้อำนวยการกองส่งเสริมและพัฒนาด้านการมาตรฐาน สมอ. กล่าวว่า มาตรฐานของสมอ. มีหลายระดับ ตั้งแต่มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน(มผช.), มาตรฐานอุตสาหกรรมเอส(มอก.เอส), มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม(มอก.) เป็นต้น 

มอก.เอส ทำขึ้นมาสำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีโดยเฉพาะโดยมอก.เอส จะอยู่ระหว่าง มผช. กับ มอก. ผู้ประกอบการอาจพัฒนามาจาก มผช. แล้ว แต่ยังไม่ถึง มอก. ก็สามารถขอการรับรองในส่วนของ มอก.เอส ได้ คุณนฤมลกล่าว

มอก.เอส เริ่มประกาศใช้ในปี 2561 ผู้ประกอบการที่เคยได้รับใบรับรองมาตรฐาน มอก.เอส ดำเนินธุรกิจ อาทิ ที่นอนยางพารา, ดอกไม้ประดิษฐ์จากวัสดุแปรรูป, การบริการนวดและสปา, การบริการซักอบรีด, การบริการกำจัดปลวก หนูและแมลง เป็นต้น

คุณนฤมลกล่าวว่า ในส่วนของมอก.เอสเนื่องจากเราเพิ่งดำเนินการมาไม่นาน ก็จะมีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีสนใจขอรับบริการส่วนหนึ่ง ซึ่งยังไม่มากนักและเนื่องจากต้องเสียค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบ SME ก็เหมือนว่ายังไม่ค่อยสนใจเท่าไหร่

สำหรับสถานการณ์ภาพรวมของ SME คุณนฤมล กล่าวว่า SME ควรเน้นเรื่องคุณภาพสินค้าให้เป็นไปตามมาตรฐาน เพราะบางครั้งกระบวนการผลิตของ SME ยังเป็นแบบพื้นๆ ทั่วไป และการรักษาคุณภาพยังไม่สม่ำเสมอ 

“SME ยังไม่มีการควบคุมคุณภาพสินค้าในการผลิต เราก็จะเห็นสินค้าบางรุ่นที่ดี ผู้บริโภคถูกใจ แต่พอมาอีกรุ่นหนึ่ง ปรากฏว่าไม่ได้มาตรฐาน ตกลงมา ทำให้สินค้าไม่เป็นที่ยอมรับ, SME บางรายพอได้มาตรฐานระดับหนึ่งแล้วก็หยุดนิ่ง แต่บางครั้งเทรนด์ของผู้บริโภคเปลี่ยนไป ถ้าหยุดอยู่กับที่ ตอนนี้อาจจะขายได้ดี แต่พอไม่มีการพัฒนาต่อเนื่อง ก็อาจทำให้ตกได้เหมือนกัน 

คุณนฤมล กล่าวและเสริมว่า SME ควรผลิตสินค้าให้ดีสม่ำเสมอโดยตลอดและมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเช่น พัฒนาจาก มผช. ไปสู่ มอก.เอส พัฒนาต่อให้ได้ มอก. และต่อไปถึงมาตรฐานสากล

ในปัจจุบันเทรนด์ของการมาตรฐานให้ความสำคัญกับการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมตามหลักการ BCG Model ได้แก่ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) มุ่งยกระดับไปสู่ระบบการผลิตสมัยใหม่ที่ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า เพื่อรักษาความมั่นคงทางวัตถุดิบและความสมดุลของสิ่งแวดล้อม

คุณนฤมลกล่าวว่า สมอ.ได้กำหนดมาตรฐานเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียนแล้ว โดย SME ควรปรับตัวเรื่องกระบวนการผลิต เน้นกระบวนการนำวัตถุดิบกลับมาเวียนใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อลดปริมาณของเสียให้ได้มากที่สุด รวมถึงเรื่อง Green การผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

“SME อาจหมุนเวียนใช้ผลิตภัณฑ์ เช่น กล่อง หรือสิ่งของอื่นๆ หรืออย่างน้อยๆ SME ช่วยในเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อม ทำกระบวนการให้เป็น Green” คุณนฤมลกล่าว

สำหรับการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 สมอ. กำลังดำเนินการกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับวิถีปกติใหม่ (New Normal) จำนวน 27 มาตรฐานได้แก่หน้ากากผ้า, เฟซชิลด์, แว่นตานิรภัยใช้ทางการแพทย์, เสื้อกาวน์ผ่าตัด, ตู้ความดันลบ, เครื่องช่วยหายใจ, เครื่องฆ่าเชื้อด้วยยูวีซี (UVC), เครื่องวัดอุณหภูมิร่างกายแบบอินฟาเรด, หมวกคลุมผมทางการแพทย์ เป็นต้น เพื่อให้ผู้ผลิตใช้เป็นแนวทางในการผลิตสินค้าให้ได้มาตรฐานและมีความปลอดภัย

ผู้ประกอบการจึงต้องติดตามเทรนด์การมาตรฐานที่เปลี่ยนแปลงไป และพัฒนาไม่หยุดนิ่งเพื่อสร้างการยอมรับแก่ผู้บริโภคและสังคม

นอกจากคุณภาพมาตรฐานแล้ว คุณนฤมลกล่าวว่า อีกเรื่องสำคัญสำหรับ SME คือเรื่องการตลาดดิจิตอลและโซเซียล มีเดีย โดย SME ควรเรียนรู้เรื่องสื่อดิจิตอล เพื่อทำให้สินค้าและบริการเป็นที่รู้จักและยอมรับ 

สมอ. มีโครงการต่างๆ เพื่อให้ความรู้และพัฒนาผู้ประกอบการทั้ง OTOP, SME เกี่ยวกับสื่อดิจิตอล การตลาด การขายออนไลน์ เป็นต้น 

คุณภาพและมาตรฐานสินค้าบริการ บวกกับการตลาดในยุคดิจิตอล จึงเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับผู้ประกอบการ SME ที่ต้องการสร้างความสามารถเชิงแข่งขัน

สำหรับผู้ประกอบการ SME ที่สนใจ สามารถติดต่อได้ที่ https://www.tisi.go.th/ หรือโทร 0-2354-3266 , 0-2202-3304

Published on 18 September 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

บทความแนะนำ

ถึงเวลาเอสเอ็มอี รุกตลาดสมุนไพร

หัวข้อ : ถึงเวลาโกยเงิน SME รุกตลาดสมุนไพร
อ่านเพิ่มเติม : www.kasikornbank.com/Herb_Market.pdf

 

สมุนไพรถือเป็นดาวเด่นในแวดวงธุรกิจเพื่อสุขภาพและความงาม ซึ่งในระยะหลังสามารถพัฒนาไปสู่ผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายมากขึ้น ปัจจุบันการผลิตสมุนไพรในไทยส่วนใหญ่เน้นการผลิตเพื่อบริโภคในประเทศเป็นหลัก โดยมีผู้ผลิตที่สำคัญคือ กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และมีสมุนไพรบางส่วนที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ เช่น จีน อินเดีย เป็นต้น (ส่วนใหญ่จะเป็นวัตถุดิบและสารสกัดสมุนไพรที่ได้รับความนิยมในประเทศนั้น ๆ และไม่สามารถผลิตในไทยได้ เพื่อนำมาใช้เป็นสารตั้งต้นในการทำผลิตภัณฑ์สมุนไพร)

เมื่อพิจารณาถึงห่วงโซ่การผลิต จะพบว่าผู้ประกอบการไทย จะกระจุกตัวอยู่ในผลิตภัณฑ์ต้นน้ำและกลางน้ำมากที่สุด กล่าวคือ เป็นการผลิตสมุนไพรสด หรือหากเป็นสมุนไพรแปรรูป ก็จะมีนวัตกรรมที่ไม่สูงมาก เช่น บด อัดเม็ด/แคปซูล มูลค่าที่เกิดขึ้นจากผลิตภัณฑ์จึงไม่สูงนัก ในขณะที่ผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีความได้เปรียบด้านเงินทุนและเทคโนโลยี จะเน้นทำตลาดผลิตภัณฑ์กลางน้ำขึ้นไป เน้นนวัตกรรมขั้นสูงขึ้นมาอีกระดับ เช่น การผลิตสมุนไพรออร์แกนิคแปรรูป สารสกัดเข้มข้น ซึ่งสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้มากขึ้น

ในระยะข้างหน้าธุรกิจสมุนไพรยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก โดยมีปัจจัยหนุนสำคัญ คือ

  • เทรนด์การบริโภคของคนรุ่นใหม่ที่นิยมใช้สมุนไพรเป็นทางเลือกในการดูแลสุขภาพ โดยมองว่าปลอดภัยและมาจากธรรมชาติ
  • นโยบายของภาครัฐที่ส่งเสริมผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมสมุนไพร ผ่านแผนแม่บทว่าด้วยการพัฒนาสมุนไพรปี 2560-2564 (มีสมุนไพรที่เป็นสินค้าเด่น 4 ชนิด คือ ขมิ้นชัน ใบบัวบก ไพล กระชายดำ)
  • การดำเนินงานของกระทรวงสาธารณสุข ที่ส่งเสริมให้โรงพยาบาลและสถานพยาบาลใช้สมุนไพรทดแทนการนำเข้ายาแผนปัจจุบันมากขึ้น โดยการเพิ่มรายการสมุนไพรเข้าไว้ในบัญชียาหลักแห่งชาติ

 

สำหรับเทรนด์การบริโภคสมุนไพรในระยะต่อไป คาดการณ์ว่าธุรกิจด้านการแพทย์และความงามจะมีความต้องการสินค้าสมุนไพรเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มอาหารเสริมและเวชสำอาง นอกจากนี้อีกกลุ่มตลาดศักยภาพที่น่าจับตาก็คือ

  • กลุ่มนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในไทย เช่น จีน ญี่ปุ่น ที่มีความชื่นชอบผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรไทยที่มีเอกลักษณ์พื้นถิ่น
  • ตลาดส่งออกที่มีอัตราการบริโภคสินค้าสมุนไพรสูง เช่น เยอรมนี ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น เป็นต้น

 

โดยผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรที่คาดว่าจะเป็นที่ต้องการของตลาด ได้แก่

เมื่อวิเคราะห์ถึงกลุ่มสมุนไพรที่ภาครัฐพยายามผลักดันและส่งเสริมให้เกิดการสร้างมูลค่าเพิ่ม ขมิ้นชัน ถูกมองว่าเป็นสมุนไพรไทยที่มีศักยภาพและมีโอกาสทางการตลาดสูง

  • สามารถนำมาปรับใช้ในธุรกิจอาหาร จากการใช้เป็นเครื่องเทศ
  • นำมาเป็นส่วนผสมในเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์สปา
  • ปัจจุบันสารสกัดจากขมิ้นชันยังถูกขึ้นทะเบียน อย. สามารถใช้แทนยาแผนปัจจุบันในการบรรเทาปวดจากโรคข้อเสื่อมได้อีกด้วย
  • ความต้องการขมิ้นชันในเชิงทางแพทย์จะมีเพิ่มมาขึ้น เพื่อการรักษาและสามารถแข่งขันในตลาดกับยาแผนปัจจุบันได้มากขึ้น
  • สามารถนำมาผลิตในรูปแบบออร์แกนิค น้ำมันหอมระเหยหรือสารสกัดจากขมิ้นชันที่ได้มาตรฐานรับรองด้านความปลอดภัยซึ่งมีมูลค่าเพิ่มสูง

แม้ว่าโอกาสทางการตลาดสำหรับผลิตภัณฑ์สมุนไพรจะมีอยู่มาก แต่ความท้าทายของผู้ประกอบการที่สำคัญคือ ความน่าเชื่อถือของผู้บริโภคที่มีต่อผลิตภัณฑ์ในแง่มุมต่าง ๆ

  • การควบคุมการผลิตให้ได้คุณภาพและมาตรฐานเพียงพอ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค/ซัพพลายเออร์ (อาทิ การทราบแหล่งที่มา/กระบวนการผลิตที่ตรวจสอบย้อนหลังได้/การร่วมมือกับสถาบันวิจัยต่าง ๆ ในการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์)
  • การตามให้เท่าทันเทรนด์การบริโภคของตลาด
  • การสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับผู้บริโภค ผ่านการออกแบบบรรจุภัณฑ์
  • การสื่อความไปยังผู้บริโภคเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์และบริโภคสมุนไพรที่ถูกวิธี ปลอดภัยและเห็นผล จะช่วยยกระดับธุรกิจสมุนไพรของไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากลได้

 

Published on 18 September 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

 

 

บทความแนะนำ

สถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ เพิ่มขีดความสามารถเอสเอ็มอีไทยให้ดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน

การดำเนินธุรกิจในปัจจุบัน จำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ประกอบการต้องให้ความสำคัญในการบริหารจัดการ เพื่อให้องค์กรมีความสามารถในการดำเนินการอย่างยั่งยืน สามารถเผชิญกับความท้าทายในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นความไม่แน่นอนของสภาพแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจ การเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วจากปัจจัยภายนอกและปัจจัยภายในองค์กร

โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ในปัจจุบัน ซึ่งส่งผลให้เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอยจากการที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงัก สิ่งที่ผู้ประกอบต้องตระหนักและให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจคือการสร้างมาตรฐานองค์กร และเพิ่มขีดความสามารถในการดำเนินธุรกิจภายใต้ภาวะความไม่แน่นอนให้เกิดขึ้นอย่างยั่งยืน

สถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ อุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิ สถาบันเครือข่ายของกระทรวงอุตสาหกรรม หรือสรอ. ก่อตั้งขึ้นโดยกระทรวงอุตสาหกรรม ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2541 เป็นหนึ่งในองค์กรที่มีบทบาทในการให้บริการรับรองตามมาตรฐานไอเอสโอ และมาตรฐานระบบอื่นๆ เพื่อเสริมสร้างประสิทธิภาพและคุณภาพของอุตสาหกรรม เพิ่มขีดความสามารถด้านการรับรองของประเทศให้ทัดเทียมกับประเทศอื่นๆ 

“องค์กรของเรามีฐานะเป็นสถาบันอิสระภายใต้อุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิ โดยการดำเนินงานของเราเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์และสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้ประกอบการ ซึ่งบทบาทของเราแบ่งออกเป็น 4 เรื่องสำคัญ เรื่องแรกคือการรับรองมาตรฐานไอเอสโอหรือมาตรฐานระบบอื่น เรื่องที่สองคือการสร้างความเข้มแข็ง เพิ่มประสิทธิภาพและคุณภาพให้ภาคอุตสาหกรรม เรื่องที่สามคือการพัฒนาคนที่เกี่ยวข้องกับงานด้านการตรวจสอบรับรองมาตรฐานไอเอสโอทั้งหมดให้มีความสามารถเทียบเท่ากับสากลและสามารถรองรับตลาดในประเทศไทยและตลาดสากลได้ ข้อนี้เราจึงจำเป็นต้องนำมาตรฐานสากลมาเป็นหลักในการพัฒนาบุคลากรของเรา เรื่องสุดท้ายซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมากก็คือการสร้างระบบการตรวจสอบรับรองของประเทศให้เกิดความเชื่อมั่นและเทียบเท่ากับระดับสากล นี่คือบทบาทหลักซึ่งเราต้องดำเนินงานโดยต้องไม่แสวงหาผลกำไรเนื่องจากเราทำงานเราอยู่ภายใต้มูลนิธิ” คุณพรรณี อังศุสิงห์ ผู้อำนวยการสถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ อธิบายถึงบทบาทของสถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอต่อการพัฒนาผู้ประกอบการโดยเฉพาะผู้ประกอบการด้านอุตสาหกรรมซึ่งครอบคลุมทั้งอุตสาหกรรมด้านการผลิต การค้า การเกษตร และภาคบริการ ทั้งขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ขนาดเล็กและรายที่มีขนาดเล็กมากอย่างไมโครเอสเอ็มอี

แม้ว่าข้อได้เปรียบของเอสเอ็มอีไทยคือความหลายหลากที่สามารถรองรับได้ในทุกธุรกิจทำให้สามารถสร้างอาชีพได้จำนวนมากในซัพพลายเชน มีธุรกิจใหม่ๆที่สร้างสรรค์เพิ่มขึ้นอยู่ตลอดเวลา แต่จุดหนึ่งที่สำคัญและเอสเอ็มอีไทยควรได้รับการพัฒนาเพิ่มเติมก็คือเรื่องของการบริหารจัดการที่เป็นระบบซึ่งตรงนี้ คุณพรรณี มองว่าคือหน้าที่ของสถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ ซึ่งต้องเข้าไปช่วยตามพันธกิจขององค์กรในเรื่องของมาตรฐาน คุณภาพ การจัดการ แม้กระทั่งเรื่องของการมองไปข้างหน้าเพื่อให้เอสเอ็มอีไทยสามารถอยู่รอดได้ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว รวมถึงโอกาสในการพัฒนาการทำการตลาดแบบดิจิทัลซึ่งเข้ามามีบทบาทมากในปัจจุบัน

“ถ้ามองถึงสิ่งที่เอสเอ็มอีไทยต้องให้ความสำคัญก็คือเรื่องของการบริหารจัดการกับเรื่องของคุณภาพเพราะฉะนั้นเรื่องของการรับรองมาตรฐานที่เราทำจะเข้าไปช่วยได้ โดยถ้าเอสเอ็มอีไทยนำเรื่องของมาตรฐานมาประยุกต์ใช้เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นกับคู่ค้า เช่น หากผู้ประกอบการต้องค้าขายกับทางภาครัฐ หรือผู้ประกอบการต้องการสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภค แม้กระทั่งการมองเรื่องของสิ่งแวดล้อม ชุมชน เรื่องของมาตรฐานเป็นสิ่งสำคัญที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นกับแบรนด์ทั้งหมด ยิ่งถ้าต้องการจะอยู่ให้ยาวนานในธุรกิจเรื่องของคุณภาพ สิ่งแวดล้อม ชุมชน เป็น 3 เรื่องที่ต้องมีควบคู่กัน มาตรฐานจะทำให้ธุรกิจเป็นระบบ และเป็นตัวกำหนดทิศทางในการดำเนินธุรกิจที่ผู้ประกอบการต้องการมุ่งเน้นไม่ว่าจะเป็นเรื่องของคุณภาพ สิ่งแวดล้อม ชุมชน ความปลอดภัย” 

ปัจจุบันสรอ.ให้บริการที่มีคุณภาพเพื่อสร้างคุณค่าเพิ่มให้แก่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมและองค์กรต่างๆ โดยบริการของสรอ.แบ่งออกเป็น

การรับรอง (Certification) ทำหน้าที่เป็นหน่วยรับรอง หรือ Certification Body ให้บริการด้านการรับรองระบบการบริหารจัดการด้วยความโปร่งใสและมีคุณภาพ มีการพัฒนากระบวนการตรวจประเมิน และการรับรองอย่างสม่ำเสมอ เพื่อรักษาคุณภาพให้สอดคล้องกับมาตรฐานและแนวทางปฏิบัติของสากล อาทิ ระบบบริหารงานคุณภาพ (ISO 9001) ระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม (ISO 14001) ระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย (TIS/OHSAS 18001,ISO 45001) ระบบการจัดการด้านความปลอดภัยของอาหาร (GMP,HACCP,ISO 22000) ระบบการบริหารความมั่นคงปลอดภัย (ISO 22301,ISO 27001,ISO 28001)

การตรวจและการพัฒนามาตรฐานและเกณฑ์ต่างๆ (Inspection and Standards development) ให้บริการการตรวจตามมาตรฐาน เกณฑ์ และข้อกำหนดต่างๆตลอดห่วงโซ่แห่งคุณค่า ทั้งในระดับหน่วยงาน ระดับสมาคม ระดับประเทศ และระดับระหว่างประเทศ อาทิ มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) มาตรฐานตราสัญลักษณ์ Q-Mark มาตรฐานแรงงานไทย (TLS 8001) และให้บริการจัดทำ ทบทวนเกณฑ์และมาตรฐานให้แก่ หน่วยงานและองค์กรต่างๆ

การฝึกอบรม (Training) ให้บริการฝึกอบรมที่หลากหลายสำหรับมาตรฐานระบบ การบริหารจัดการสากล เพื่อรองรับความต้องการในการฝึกอบรมที่แตกต่างกันในแต่ละองค์กรธุรกิจ ด้วยหลักสูตรมาตรฐาน ระบบการบริหารจัดการ หลักสูตรผู้ตรวจประเมิน ที่ขึ้นทะเบียนกับองค์กรสากล และหลักสูตรเครื่องมือ การบริหารจัดการสมัยใหม่ โดยทีมวิทยากรที่มีความรู้ที่ทันสมัย มีความสามารถในทางปฏิบัติและประสบการณ์การทำงานที่เกี่ยวข้องกับหลักสูตรโดยตรง

การพัฒนาระบบงานด้านการตรวจสอบรับรอง (Conformity Assessment System Development)ให้บริการเป็นพี่เลี้ยงในการจัดทำและพัฒนาระบบงานด้านการตรวจสอบรับรองตามมาตรฐานสากล

การบริการ ด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Service) ให้บริการเป็นพี่เลี้ยง การประเมิน และการฝึกอบรมในการพัฒนาองค์กรระดับประเทศและระดับสากล เพื่อให้ผู้ประกอบการ ทั้งภาคการผลิต การค้า การบริการ และการเกษตร มีความรู้ความเข้าใจอย่างแท้จริง และนำไปปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง สามารถพัฒนาได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความได้เปรียบ ในการแข่งขัน อาทิ ความรับผิดชอบต่อสังคม Social Responsibility เศรษฐกิจพอเพียงภาคอุตสาหกรรม Sufficiency Economy for Industries ธรรมาภิบาลองค์กร Corporate Good Governance

การบริการข้อมูลและองค์ความรู้ (Information & Knowledge Service) ให้บริการข้อมูลข่าวสาร องค์ความรู้ และการเตือนภัย Business Intelligent ด้านมาตรฐานระบบการบริหารจัดการ ให้แก่ธุรกิจอุตสาหกรรมและหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมความพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบและ การมาตรฐานทั้งในประเทศและต่างประเทศ บทความในวารสารออนไลน์ MASCI Innoversity  ด้านต่างๆ อาทิ การมาตรฐาน Standardization การบริหารอนาคต Future Management การบริหารเชิงกลยุทธ์ Strategic Management การบริหารความสามารถ ในการดำเนินการอย่างยั่งยืน Sustainability Management เศรษฐกิจพอเพียง Sufficiency Economy 

ที่ผ่านมาหากมองภาพรวมของมาตรฐานทั่วไปที่ใช้กัน เบื้องต้นเอสเอ็มอีไทยจะเน้นเรื่องของคุณภาพเป็นอันดับแรกเพราะเป็นพื้นฐานของการสร้างความเชื่อมันให้กับสินค้าและบริการ หลังจากนั้นเมื่อผู้ประกอบการเติบโตขึ้นก็จะขยายไปสู่เรื่องของมาตรฐานสิ่งแวดล้อมและชุมชนเพิ่มขึ้น เรื่องเหล่านี้ทางสรอ.ได้เห็นพัฒนาการของเอสเอ็มอีไทยที่ให้ความสำคัญกับเรื่องของมาตรฐานต่างๆเพื่อความได้เปรียบเรื่องของการแข่งขันทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งโดยหลักแล้วคุณพรรณีอธิบายว่ามาตรฐานที่เอสเอ็มอีไทยควรมีเป็นพื้นฐานก็คือ 

มาตรฐานระบบบริหารงานคุณภาพ ISO 9001 เป็นมาตรฐานสากลที่องค์กรธุรกิจทั่วโลกให้ความสำคัญ เพื่อความเป็นเลิศทางด้านคุณภาพ และความมีประสิทธิภาพของการดำเนินงานภายในองค์กร โดยแนวคิดสำคัญของ ISO 9001 คือการจัดวางระบบบริหารงานเพื่อการประกันคุณภาพ ซึ่งเป็นระบบที่ทำให้เชื่อมั่นได้ว่ากระบวนการต่างๆ ได้รับการควบคุมและสามารถตรวจสอบได้ โดยผ่านระบบที่ระบุขั้นตอนและวิธีการทำงาน เพื่อให้มั่นใจว่าบุคลากรในองค์กรรู้หน้าที่ความรับผิดชอบและขั้นตอนต่างๆ ในการปฏิบัติงาน โดยต้องมีการฝึกอบรมให้ความรู้และทักษะในการปฏิบัติงาน มีการจดบันทึกข้อมูล รวมทั้งการตรวจสอบการปฏิบัติงานว่าเป็นไปตามที่ระบุไว้ในระบบหรือไม่ และมีการแก้ไขข้อผิดพลาดรวมทั้งมีแนวทางในการป้องกันข้อผิดพลาดเดิม

มาตรฐานระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม ISO 14001 เป็นมาตรฐานสากลสำหรับระบบการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมขององค์กร เพื่อเพิ่มสมรรถนะสิ่งแวดล้อมภายในองค์กร และเพื่อความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม มาตรฐานสากลฉบับนี้ใช้ได้กับทุกองค์กร ทุกขนาด และทุกประเภท โดยพิจารณาจากประเด็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม (environmental aspects) จากกิจกรรม ผลิตภัณฑ์ และบริการ ที่องค์กรพิจารณาแล้วว่าสามารถควบคุม หรือดำเนินการผลักดันอย่างใดอย่างหนึ่งได้ โดยการพิจารณาทั้งวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์และบริการ ( life cycle perspective) ซึ่งสามารถนำไปใช้ได้กับทุกกิจกรรม หรือบางกิจกรรมขององค์กร เพื่อให้เกิดการปรับปรุงระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบ

มาตรฐานระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย (TIS18001 และ BS OHSAS18001) มาตรฐานระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย: มอก.18001 มีเป้าหมายเพื่อลดและควบคุมความเสี่ยงอันตรายของพนักงานและผู้ที่เกี่ยว ข้อง การเพิ่มประสิทธภาพการดำเนินงานของธุรกิจให้เกิดความปลอดภัยและส่งเสริมภาพพจน์ด้านความรับผิดชอบขององค์กรที่มีต่อพนักงานและสังคม มาตรฐาน มอก. 18001 และ BS OHSAS 18001 กำหนดขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดระบบการตรวจประเมินและการรับรองความสอดคล้องของระบบการจัดการ อาชีวอนามัยและความปลอดภัย

อย่างไรตามมาตรฐานอื่นๆที่ไม่ได้กล่าวถึงก็มีความสำคัญไม่ต่างกันขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์และวิสัยทัศน์ของผู้ประกอบการว่าต้องการให้องค์กรเดินไปในทิศทางไหนและประสบความสำเร็จอย่างไร

“เรามองว่าความสำเร็จของผู้ประกอบการในวันนี้อยู่ที่ต้องมีวิสัยทัศน์ชัดเจน มองเห็นว่าองค์กรของตนกำลังจะเดินไปในทิศทางใดเพื่อให้ถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ ซึ่งเมื่อผู้ประกอบการมีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนการเข้าไปช่วยเหลือ เสริมประสิทธิภาพและศักยภาพตามบทบาทของเราก็จะเข้าไปได้อย่างตรงความต้องการและทำให้ผู้ประกอบการบรรลุตามเป้าหมายได้”

ยุคที่ความเปลี่ยนแปลงสามารถเกิดขึ้นในโลกธุรกิจได้ตลอดเวลาไม่ว่าจะเป็นปัจจัยจากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีหรือแม้กระทั่งเกิดจากวิกฤตโรคระบาดอย่างโควิด-19 ทำให้ความท้าทายของเอสเอ็มอีไทยในวันนี้อยู่ที่ความสามารถในการปรับตัวให้สอดรับกับสถานการณ์ต่างๆที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

“ช่วงโควิด-19 ปัญหาของเอสเอ็มอีไทยที่สำคัญคือเรื่องของสภาพคล่องทางการเงิน เรื่องที่สองคือเรื่องของการปรับตัว หลายธุรกิจอาจจะไม่ได้มีแผนรองรับวิกฤตที่จะเกิดขึ้นในระยะยาวมากก่อน นอกจากนี้ความท้าทายของผู้ประกอบการยุคนี้คือการต้องวิเคราะห์ตัวเองให้ได้ว่าสินค้าและบริการของเราเป็นเป็นกลุ่มไหน ต้องการขายให้กับใคร เป็นที่สนใจของตลาดหรือไม่ สินค้าหรือบริการที่ทำสู้คู่แข่งได้ไหม หากเกิดความผิดพลาดขึ้นจะมีแผนสอง แผนสามในการจัดการอย่างไร

และเนื่องจากยุคนี้เป็นยุคดิจิทัล เรื่องของเทคโนโลยีจึงเป็นความท้าทายซึ่งผู้ประกอบการจะต้องปรับตัวเพื่อสอดรับพฤติกรรมของผู้บริโภคในยุคดิจิทัล ซึ่งแน่นอนว่าอาจจะมีเรื่องของค่าใช้จ่ายในการลงทุนที่เพิ่มมากขึ้น สำคัญที่สุดคือเรื่องของมาตรฐานต่างๆซึ่งจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในอนาคต เนื่องจากพฤติกรรมผู้บริโภคน่าจะเปลี่ยนมาซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์เพิ่มซึ่ง การที่ลูกค้าไม่ได้เห็นสินค้าก่อนซื้อทำให้มาตรฐานเป็นสิ่งที่สำคัญมากในการสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นกับสินค้าและบริการ”

การมีมาตรฐานไอเอสโอ และมาตรฐานระบบอื่นๆ จึงเป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการต้องให้ความสำคัญ ยิ่งยุคต่อจากนี้สินค้าและบริการที่มีมาตรฐานการันตีจะยิ่งช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาด และถือเป็นใบเบิกทางให้ลูกค้าตัดสินใจเลือกหรือไม่เลือกสินค้าของเรา รวมถึงเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีแก่แบรนด์เพื่อให้ลูกค้าเกิดความมั่นใจ เชื่อใจอีกด้วย

ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://www.masci.or.th/

หรือโทร 0-2617-1727-36

Published on 18 September 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

 

บทความแนะนำ