สมอ. สถาบันมาตรฐานแห่งชาติ ยกระดับมาตรฐานเพิ่มศักยภาพธุรกิจ

ในโลกการแข่งขันทางธุรกิจที่มีผู้ประกอบการมากมาย สิ่งสำคัญหนึ่งที่จะทำให้ SME โดดเด่นแตกต่างจากคู่แข่งอื่นก็คือ คุณภาพของสินค้าและบริการ หากสินค้าและบริการมีคุณภาพดีและได้รับการรับรองมาตรฐานย่อมเป็นแต้มต่อในสนามแข่งขัน การมีมาตรฐานจึงเป็นหัวใจสำคัญของธุรกิจ เป็นเรื่องพื้นฐานที่ SME ไม่อาจละเลยไม่ว่าโลกธุรกิจจะเปลี่ยนโฉมหน้าไปอย่างไร

สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ในฐานะสถาบันมาตรฐานแห่งชาติ ให้ความสำคัญต่อการขับเคลื่อนสินค้าและบริการให้เป็นที่ยอมรับและแข่งขันได้ในระดับสากล โดยสมอ. มีภารกิจด้านการส่งเสริมผู้ประกอบการให้มีศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้า โดยใช้มาตรฐานเป็นเครื่องมือสำคัญในการดำเนินธุรกิจ สร้างการยอมรับและสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค ตลอดจนคุ้มครองผู้บริโภคให้ปลอดภัยจากการใช้สินค้า 

มาตรฐานของ สมอ. จึงเป็นเหมือนเครื่องหมายการันตีคุณภาพที่ผู้ประกอบการ SME สามารถนำไปใช้ในทางการตลาด

คุณนฤมล วาณิชย์เจริญ ผู้อำนวยการกองส่งเสริมและพัฒนาด้านการมาตรฐาน สมอ. กล่าวว่า มาตรฐานของสมอ. มีหลายระดับ ตั้งแต่มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน(มผช.), มาตรฐานอุตสาหกรรมเอส(มอก.เอส), มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม(มอก.) เป็นต้น 

มอก.เอส ทำขึ้นมาสำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีโดยเฉพาะโดยมอก.เอส จะอยู่ระหว่าง มผช. กับ มอก. ผู้ประกอบการอาจพัฒนามาจาก มผช. แล้ว แต่ยังไม่ถึง มอก. ก็สามารถขอการรับรองในส่วนของ มอก.เอส ได้ คุณนฤมลกล่าว

มอก.เอส เริ่มประกาศใช้ในปี 2561 ผู้ประกอบการที่เคยได้รับใบรับรองมาตรฐาน มอก.เอส ดำเนินธุรกิจ อาทิ ที่นอนยางพารา, ดอกไม้ประดิษฐ์จากวัสดุแปรรูป, การบริการนวดและสปา, การบริการซักอบรีด, การบริการกำจัดปลวก หนูและแมลง เป็นต้น

คุณนฤมลกล่าวว่า ในส่วนของมอก.เอสเนื่องจากเราเพิ่งดำเนินการมาไม่นาน ก็จะมีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีสนใจขอรับบริการส่วนหนึ่ง ซึ่งยังไม่มากนักและเนื่องจากต้องเสียค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบ SME ก็เหมือนว่ายังไม่ค่อยสนใจเท่าไหร่

สำหรับสถานการณ์ภาพรวมของ SME คุณนฤมล กล่าวว่า SME ควรเน้นเรื่องคุณภาพสินค้าให้เป็นไปตามมาตรฐาน เพราะบางครั้งกระบวนการผลิตของ SME ยังเป็นแบบพื้นๆ ทั่วไป และการรักษาคุณภาพยังไม่สม่ำเสมอ 

“SME ยังไม่มีการควบคุมคุณภาพสินค้าในการผลิต เราก็จะเห็นสินค้าบางรุ่นที่ดี ผู้บริโภคถูกใจ แต่พอมาอีกรุ่นหนึ่ง ปรากฏว่าไม่ได้มาตรฐาน ตกลงมา ทำให้สินค้าไม่เป็นที่ยอมรับ, SME บางรายพอได้มาตรฐานระดับหนึ่งแล้วก็หยุดนิ่ง แต่บางครั้งเทรนด์ของผู้บริโภคเปลี่ยนไป ถ้าหยุดอยู่กับที่ ตอนนี้อาจจะขายได้ดี แต่พอไม่มีการพัฒนาต่อเนื่อง ก็อาจทำให้ตกได้เหมือนกัน 

คุณนฤมล กล่าวและเสริมว่า SME ควรผลิตสินค้าให้ดีสม่ำเสมอโดยตลอดและมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเช่น พัฒนาจาก มผช. ไปสู่ มอก.เอส พัฒนาต่อให้ได้ มอก. และต่อไปถึงมาตรฐานสากล

ในปัจจุบันเทรนด์ของการมาตรฐานให้ความสำคัญกับการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมตามหลักการ BCG Model ได้แก่ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) มุ่งยกระดับไปสู่ระบบการผลิตสมัยใหม่ที่ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า เพื่อรักษาความมั่นคงทางวัตถุดิบและความสมดุลของสิ่งแวดล้อม

คุณนฤมลกล่าวว่า สมอ.ได้กำหนดมาตรฐานเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียนแล้ว โดย SME ควรปรับตัวเรื่องกระบวนการผลิต เน้นกระบวนการนำวัตถุดิบกลับมาเวียนใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อลดปริมาณของเสียให้ได้มากที่สุด รวมถึงเรื่อง Green การผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

“SME อาจหมุนเวียนใช้ผลิตภัณฑ์ เช่น กล่อง หรือสิ่งของอื่นๆ หรืออย่างน้อยๆ SME ช่วยในเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อม ทำกระบวนการให้เป็น Green” คุณนฤมลกล่าว

สำหรับการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 สมอ. กำลังดำเนินการกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับวิถีปกติใหม่ (New Normal) จำนวน 27 มาตรฐานได้แก่หน้ากากผ้า, เฟซชิลด์, แว่นตานิรภัยใช้ทางการแพทย์, เสื้อกาวน์ผ่าตัด, ตู้ความดันลบ, เครื่องช่วยหายใจ, เครื่องฆ่าเชื้อด้วยยูวีซี (UVC), เครื่องวัดอุณหภูมิร่างกายแบบอินฟาเรด, หมวกคลุมผมทางการแพทย์ เป็นต้น เพื่อให้ผู้ผลิตใช้เป็นแนวทางในการผลิตสินค้าให้ได้มาตรฐานและมีความปลอดภัย

ผู้ประกอบการจึงต้องติดตามเทรนด์การมาตรฐานที่เปลี่ยนแปลงไป และพัฒนาไม่หยุดนิ่งเพื่อสร้างการยอมรับแก่ผู้บริโภคและสังคม

นอกจากคุณภาพมาตรฐานแล้ว คุณนฤมลกล่าวว่า อีกเรื่องสำคัญสำหรับ SME คือเรื่องการตลาดดิจิตอลและโซเซียล มีเดีย โดย SME ควรเรียนรู้เรื่องสื่อดิจิตอล เพื่อทำให้สินค้าและบริการเป็นที่รู้จักและยอมรับ 

สมอ. มีโครงการต่างๆ เพื่อให้ความรู้และพัฒนาผู้ประกอบการทั้ง OTOP, SME เกี่ยวกับสื่อดิจิตอล การตลาด การขายออนไลน์ เป็นต้น 

คุณภาพและมาตรฐานสินค้าบริการ บวกกับการตลาดในยุคดิจิตอล จึงเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับผู้ประกอบการ SME ที่ต้องการสร้างความสามารถเชิงแข่งขัน

สำหรับผู้ประกอบการ SME ที่สนใจ สามารถติดต่อได้ที่ https://www.tisi.go.th/ หรือโทร 0-2354-3266 , 0-2202-3304

Published on 18 September 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

บทความแนะนำ

ถึงเวลาเอสเอ็มอี รุกตลาดสมุนไพร

หัวข้อ : ถึงเวลาโกยเงิน SME รุกตลาดสมุนไพร
อ่านเพิ่มเติม : www.kasikornbank.com/Herb_Market.pdf

 

สมุนไพรถือเป็นดาวเด่นในแวดวงธุรกิจเพื่อสุขภาพและความงาม ซึ่งในระยะหลังสามารถพัฒนาไปสู่ผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายมากขึ้น ปัจจุบันการผลิตสมุนไพรในไทยส่วนใหญ่เน้นการผลิตเพื่อบริโภคในประเทศเป็นหลัก โดยมีผู้ผลิตที่สำคัญคือ กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และมีสมุนไพรบางส่วนที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ เช่น จีน อินเดีย เป็นต้น (ส่วนใหญ่จะเป็นวัตถุดิบและสารสกัดสมุนไพรที่ได้รับความนิยมในประเทศนั้น ๆ และไม่สามารถผลิตในไทยได้ เพื่อนำมาใช้เป็นสารตั้งต้นในการทำผลิตภัณฑ์สมุนไพร)

เมื่อพิจารณาถึงห่วงโซ่การผลิต จะพบว่าผู้ประกอบการไทย จะกระจุกตัวอยู่ในผลิตภัณฑ์ต้นน้ำและกลางน้ำมากที่สุด กล่าวคือ เป็นการผลิตสมุนไพรสด หรือหากเป็นสมุนไพรแปรรูป ก็จะมีนวัตกรรมที่ไม่สูงมาก เช่น บด อัดเม็ด/แคปซูล มูลค่าที่เกิดขึ้นจากผลิตภัณฑ์จึงไม่สูงนัก ในขณะที่ผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีความได้เปรียบด้านเงินทุนและเทคโนโลยี จะเน้นทำตลาดผลิตภัณฑ์กลางน้ำขึ้นไป เน้นนวัตกรรมขั้นสูงขึ้นมาอีกระดับ เช่น การผลิตสมุนไพรออร์แกนิคแปรรูป สารสกัดเข้มข้น ซึ่งสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้มากขึ้น

ในระยะข้างหน้าธุรกิจสมุนไพรยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก โดยมีปัจจัยหนุนสำคัญ คือ

  • เทรนด์การบริโภคของคนรุ่นใหม่ที่นิยมใช้สมุนไพรเป็นทางเลือกในการดูแลสุขภาพ โดยมองว่าปลอดภัยและมาจากธรรมชาติ
  • นโยบายของภาครัฐที่ส่งเสริมผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมสมุนไพร ผ่านแผนแม่บทว่าด้วยการพัฒนาสมุนไพรปี 2560-2564 (มีสมุนไพรที่เป็นสินค้าเด่น 4 ชนิด คือ ขมิ้นชัน ใบบัวบก ไพล กระชายดำ)
  • การดำเนินงานของกระทรวงสาธารณสุข ที่ส่งเสริมให้โรงพยาบาลและสถานพยาบาลใช้สมุนไพรทดแทนการนำเข้ายาแผนปัจจุบันมากขึ้น โดยการเพิ่มรายการสมุนไพรเข้าไว้ในบัญชียาหลักแห่งชาติ

 

สำหรับเทรนด์การบริโภคสมุนไพรในระยะต่อไป คาดการณ์ว่าธุรกิจด้านการแพทย์และความงามจะมีความต้องการสินค้าสมุนไพรเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มอาหารเสริมและเวชสำอาง นอกจากนี้อีกกลุ่มตลาดศักยภาพที่น่าจับตาก็คือ

  • กลุ่มนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในไทย เช่น จีน ญี่ปุ่น ที่มีความชื่นชอบผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรไทยที่มีเอกลักษณ์พื้นถิ่น
  • ตลาดส่งออกที่มีอัตราการบริโภคสินค้าสมุนไพรสูง เช่น เยอรมนี ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น เป็นต้น

 

โดยผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรที่คาดว่าจะเป็นที่ต้องการของตลาด ได้แก่

เมื่อวิเคราะห์ถึงกลุ่มสมุนไพรที่ภาครัฐพยายามผลักดันและส่งเสริมให้เกิดการสร้างมูลค่าเพิ่ม ขมิ้นชัน ถูกมองว่าเป็นสมุนไพรไทยที่มีศักยภาพและมีโอกาสทางการตลาดสูง

  • สามารถนำมาปรับใช้ในธุรกิจอาหาร จากการใช้เป็นเครื่องเทศ
  • นำมาเป็นส่วนผสมในเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์สปา
  • ปัจจุบันสารสกัดจากขมิ้นชันยังถูกขึ้นทะเบียน อย. สามารถใช้แทนยาแผนปัจจุบันในการบรรเทาปวดจากโรคข้อเสื่อมได้อีกด้วย
  • ความต้องการขมิ้นชันในเชิงทางแพทย์จะมีเพิ่มมาขึ้น เพื่อการรักษาและสามารถแข่งขันในตลาดกับยาแผนปัจจุบันได้มากขึ้น
  • สามารถนำมาผลิตในรูปแบบออร์แกนิค น้ำมันหอมระเหยหรือสารสกัดจากขมิ้นชันที่ได้มาตรฐานรับรองด้านความปลอดภัยซึ่งมีมูลค่าเพิ่มสูง

แม้ว่าโอกาสทางการตลาดสำหรับผลิตภัณฑ์สมุนไพรจะมีอยู่มาก แต่ความท้าทายของผู้ประกอบการที่สำคัญคือ ความน่าเชื่อถือของผู้บริโภคที่มีต่อผลิตภัณฑ์ในแง่มุมต่าง ๆ

  • การควบคุมการผลิตให้ได้คุณภาพและมาตรฐานเพียงพอ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค/ซัพพลายเออร์ (อาทิ การทราบแหล่งที่มา/กระบวนการผลิตที่ตรวจสอบย้อนหลังได้/การร่วมมือกับสถาบันวิจัยต่าง ๆ ในการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์)
  • การตามให้เท่าทันเทรนด์การบริโภคของตลาด
  • การสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับผู้บริโภค ผ่านการออกแบบบรรจุภัณฑ์
  • การสื่อความไปยังผู้บริโภคเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์และบริโภคสมุนไพรที่ถูกวิธี ปลอดภัยและเห็นผล จะช่วยยกระดับธุรกิจสมุนไพรของไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากลได้

 

Published on 18 September 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

 

 

บทความแนะนำ

สถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ เพิ่มขีดความสามารถเอสเอ็มอีไทยให้ดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน

การดำเนินธุรกิจในปัจจุบัน จำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ประกอบการต้องให้ความสำคัญในการบริหารจัดการ เพื่อให้องค์กรมีความสามารถในการดำเนินการอย่างยั่งยืน สามารถเผชิญกับความท้าทายในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นความไม่แน่นอนของสภาพแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจ การเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วจากปัจจัยภายนอกและปัจจัยภายในองค์กร

โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ในปัจจุบัน ซึ่งส่งผลให้เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอยจากการที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงัก สิ่งที่ผู้ประกอบต้องตระหนักและให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจคือการสร้างมาตรฐานองค์กร และเพิ่มขีดความสามารถในการดำเนินธุรกิจภายใต้ภาวะความไม่แน่นอนให้เกิดขึ้นอย่างยั่งยืน

สถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ อุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิ สถาบันเครือข่ายของกระทรวงอุตสาหกรรม หรือสรอ. ก่อตั้งขึ้นโดยกระทรวงอุตสาหกรรม ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2541 เป็นหนึ่งในองค์กรที่มีบทบาทในการให้บริการรับรองตามมาตรฐานไอเอสโอ และมาตรฐานระบบอื่นๆ เพื่อเสริมสร้างประสิทธิภาพและคุณภาพของอุตสาหกรรม เพิ่มขีดความสามารถด้านการรับรองของประเทศให้ทัดเทียมกับประเทศอื่นๆ 

“องค์กรของเรามีฐานะเป็นสถาบันอิสระภายใต้อุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิ โดยการดำเนินงานของเราเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์และสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้ประกอบการ ซึ่งบทบาทของเราแบ่งออกเป็น 4 เรื่องสำคัญ เรื่องแรกคือการรับรองมาตรฐานไอเอสโอหรือมาตรฐานระบบอื่น เรื่องที่สองคือการสร้างความเข้มแข็ง เพิ่มประสิทธิภาพและคุณภาพให้ภาคอุตสาหกรรม เรื่องที่สามคือการพัฒนาคนที่เกี่ยวข้องกับงานด้านการตรวจสอบรับรองมาตรฐานไอเอสโอทั้งหมดให้มีความสามารถเทียบเท่ากับสากลและสามารถรองรับตลาดในประเทศไทยและตลาดสากลได้ ข้อนี้เราจึงจำเป็นต้องนำมาตรฐานสากลมาเป็นหลักในการพัฒนาบุคลากรของเรา เรื่องสุดท้ายซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมากก็คือการสร้างระบบการตรวจสอบรับรองของประเทศให้เกิดความเชื่อมั่นและเทียบเท่ากับระดับสากล นี่คือบทบาทหลักซึ่งเราต้องดำเนินงานโดยต้องไม่แสวงหาผลกำไรเนื่องจากเราทำงานเราอยู่ภายใต้มูลนิธิ” คุณพรรณี อังศุสิงห์ ผู้อำนวยการสถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ อธิบายถึงบทบาทของสถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอต่อการพัฒนาผู้ประกอบการโดยเฉพาะผู้ประกอบการด้านอุตสาหกรรมซึ่งครอบคลุมทั้งอุตสาหกรรมด้านการผลิต การค้า การเกษตร และภาคบริการ ทั้งขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ขนาดเล็กและรายที่มีขนาดเล็กมากอย่างไมโครเอสเอ็มอี

แม้ว่าข้อได้เปรียบของเอสเอ็มอีไทยคือความหลายหลากที่สามารถรองรับได้ในทุกธุรกิจทำให้สามารถสร้างอาชีพได้จำนวนมากในซัพพลายเชน มีธุรกิจใหม่ๆที่สร้างสรรค์เพิ่มขึ้นอยู่ตลอดเวลา แต่จุดหนึ่งที่สำคัญและเอสเอ็มอีไทยควรได้รับการพัฒนาเพิ่มเติมก็คือเรื่องของการบริหารจัดการที่เป็นระบบซึ่งตรงนี้ คุณพรรณี มองว่าคือหน้าที่ของสถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ ซึ่งต้องเข้าไปช่วยตามพันธกิจขององค์กรในเรื่องของมาตรฐาน คุณภาพ การจัดการ แม้กระทั่งเรื่องของการมองไปข้างหน้าเพื่อให้เอสเอ็มอีไทยสามารถอยู่รอดได้ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว รวมถึงโอกาสในการพัฒนาการทำการตลาดแบบดิจิทัลซึ่งเข้ามามีบทบาทมากในปัจจุบัน

“ถ้ามองถึงสิ่งที่เอสเอ็มอีไทยต้องให้ความสำคัญก็คือเรื่องของการบริหารจัดการกับเรื่องของคุณภาพเพราะฉะนั้นเรื่องของการรับรองมาตรฐานที่เราทำจะเข้าไปช่วยได้ โดยถ้าเอสเอ็มอีไทยนำเรื่องของมาตรฐานมาประยุกต์ใช้เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นกับคู่ค้า เช่น หากผู้ประกอบการต้องค้าขายกับทางภาครัฐ หรือผู้ประกอบการต้องการสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภค แม้กระทั่งการมองเรื่องของสิ่งแวดล้อม ชุมชน เรื่องของมาตรฐานเป็นสิ่งสำคัญที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นกับแบรนด์ทั้งหมด ยิ่งถ้าต้องการจะอยู่ให้ยาวนานในธุรกิจเรื่องของคุณภาพ สิ่งแวดล้อม ชุมชน เป็น 3 เรื่องที่ต้องมีควบคู่กัน มาตรฐานจะทำให้ธุรกิจเป็นระบบ และเป็นตัวกำหนดทิศทางในการดำเนินธุรกิจที่ผู้ประกอบการต้องการมุ่งเน้นไม่ว่าจะเป็นเรื่องของคุณภาพ สิ่งแวดล้อม ชุมชน ความปลอดภัย” 

ปัจจุบันสรอ.ให้บริการที่มีคุณภาพเพื่อสร้างคุณค่าเพิ่มให้แก่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมและองค์กรต่างๆ โดยบริการของสรอ.แบ่งออกเป็น

การรับรอง (Certification) ทำหน้าที่เป็นหน่วยรับรอง หรือ Certification Body ให้บริการด้านการรับรองระบบการบริหารจัดการด้วยความโปร่งใสและมีคุณภาพ มีการพัฒนากระบวนการตรวจประเมิน และการรับรองอย่างสม่ำเสมอ เพื่อรักษาคุณภาพให้สอดคล้องกับมาตรฐานและแนวทางปฏิบัติของสากล อาทิ ระบบบริหารงานคุณภาพ (ISO 9001) ระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม (ISO 14001) ระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย (TIS/OHSAS 18001,ISO 45001) ระบบการจัดการด้านความปลอดภัยของอาหาร (GMP,HACCP,ISO 22000) ระบบการบริหารความมั่นคงปลอดภัย (ISO 22301,ISO 27001,ISO 28001)

การตรวจและการพัฒนามาตรฐานและเกณฑ์ต่างๆ (Inspection and Standards development) ให้บริการการตรวจตามมาตรฐาน เกณฑ์ และข้อกำหนดต่างๆตลอดห่วงโซ่แห่งคุณค่า ทั้งในระดับหน่วยงาน ระดับสมาคม ระดับประเทศ และระดับระหว่างประเทศ อาทิ มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) มาตรฐานตราสัญลักษณ์ Q-Mark มาตรฐานแรงงานไทย (TLS 8001) และให้บริการจัดทำ ทบทวนเกณฑ์และมาตรฐานให้แก่ หน่วยงานและองค์กรต่างๆ

การฝึกอบรม (Training) ให้บริการฝึกอบรมที่หลากหลายสำหรับมาตรฐานระบบ การบริหารจัดการสากล เพื่อรองรับความต้องการในการฝึกอบรมที่แตกต่างกันในแต่ละองค์กรธุรกิจ ด้วยหลักสูตรมาตรฐาน ระบบการบริหารจัดการ หลักสูตรผู้ตรวจประเมิน ที่ขึ้นทะเบียนกับองค์กรสากล และหลักสูตรเครื่องมือ การบริหารจัดการสมัยใหม่ โดยทีมวิทยากรที่มีความรู้ที่ทันสมัย มีความสามารถในทางปฏิบัติและประสบการณ์การทำงานที่เกี่ยวข้องกับหลักสูตรโดยตรง

การพัฒนาระบบงานด้านการตรวจสอบรับรอง (Conformity Assessment System Development)ให้บริการเป็นพี่เลี้ยงในการจัดทำและพัฒนาระบบงานด้านการตรวจสอบรับรองตามมาตรฐานสากล

การบริการ ด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Service) ให้บริการเป็นพี่เลี้ยง การประเมิน และการฝึกอบรมในการพัฒนาองค์กรระดับประเทศและระดับสากล เพื่อให้ผู้ประกอบการ ทั้งภาคการผลิต การค้า การบริการ และการเกษตร มีความรู้ความเข้าใจอย่างแท้จริง และนำไปปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง สามารถพัฒนาได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความได้เปรียบ ในการแข่งขัน อาทิ ความรับผิดชอบต่อสังคม Social Responsibility เศรษฐกิจพอเพียงภาคอุตสาหกรรม Sufficiency Economy for Industries ธรรมาภิบาลองค์กร Corporate Good Governance

การบริการข้อมูลและองค์ความรู้ (Information & Knowledge Service) ให้บริการข้อมูลข่าวสาร องค์ความรู้ และการเตือนภัย Business Intelligent ด้านมาตรฐานระบบการบริหารจัดการ ให้แก่ธุรกิจอุตสาหกรรมและหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมความพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบและ การมาตรฐานทั้งในประเทศและต่างประเทศ บทความในวารสารออนไลน์ MASCI Innoversity  ด้านต่างๆ อาทิ การมาตรฐาน Standardization การบริหารอนาคต Future Management การบริหารเชิงกลยุทธ์ Strategic Management การบริหารความสามารถ ในการดำเนินการอย่างยั่งยืน Sustainability Management เศรษฐกิจพอเพียง Sufficiency Economy 

ที่ผ่านมาหากมองภาพรวมของมาตรฐานทั่วไปที่ใช้กัน เบื้องต้นเอสเอ็มอีไทยจะเน้นเรื่องของคุณภาพเป็นอันดับแรกเพราะเป็นพื้นฐานของการสร้างความเชื่อมันให้กับสินค้าและบริการ หลังจากนั้นเมื่อผู้ประกอบการเติบโตขึ้นก็จะขยายไปสู่เรื่องของมาตรฐานสิ่งแวดล้อมและชุมชนเพิ่มขึ้น เรื่องเหล่านี้ทางสรอ.ได้เห็นพัฒนาการของเอสเอ็มอีไทยที่ให้ความสำคัญกับเรื่องของมาตรฐานต่างๆเพื่อความได้เปรียบเรื่องของการแข่งขันทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งโดยหลักแล้วคุณพรรณีอธิบายว่ามาตรฐานที่เอสเอ็มอีไทยควรมีเป็นพื้นฐานก็คือ 

มาตรฐานระบบบริหารงานคุณภาพ ISO 9001 เป็นมาตรฐานสากลที่องค์กรธุรกิจทั่วโลกให้ความสำคัญ เพื่อความเป็นเลิศทางด้านคุณภาพ และความมีประสิทธิภาพของการดำเนินงานภายในองค์กร โดยแนวคิดสำคัญของ ISO 9001 คือการจัดวางระบบบริหารงานเพื่อการประกันคุณภาพ ซึ่งเป็นระบบที่ทำให้เชื่อมั่นได้ว่ากระบวนการต่างๆ ได้รับการควบคุมและสามารถตรวจสอบได้ โดยผ่านระบบที่ระบุขั้นตอนและวิธีการทำงาน เพื่อให้มั่นใจว่าบุคลากรในองค์กรรู้หน้าที่ความรับผิดชอบและขั้นตอนต่างๆ ในการปฏิบัติงาน โดยต้องมีการฝึกอบรมให้ความรู้และทักษะในการปฏิบัติงาน มีการจดบันทึกข้อมูล รวมทั้งการตรวจสอบการปฏิบัติงานว่าเป็นไปตามที่ระบุไว้ในระบบหรือไม่ และมีการแก้ไขข้อผิดพลาดรวมทั้งมีแนวทางในการป้องกันข้อผิดพลาดเดิม

มาตรฐานระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม ISO 14001 เป็นมาตรฐานสากลสำหรับระบบการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมขององค์กร เพื่อเพิ่มสมรรถนะสิ่งแวดล้อมภายในองค์กร และเพื่อความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม มาตรฐานสากลฉบับนี้ใช้ได้กับทุกองค์กร ทุกขนาด และทุกประเภท โดยพิจารณาจากประเด็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม (environmental aspects) จากกิจกรรม ผลิตภัณฑ์ และบริการ ที่องค์กรพิจารณาแล้วว่าสามารถควบคุม หรือดำเนินการผลักดันอย่างใดอย่างหนึ่งได้ โดยการพิจารณาทั้งวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์และบริการ ( life cycle perspective) ซึ่งสามารถนำไปใช้ได้กับทุกกิจกรรม หรือบางกิจกรรมขององค์กร เพื่อให้เกิดการปรับปรุงระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบ

มาตรฐานระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย (TIS18001 และ BS OHSAS18001) มาตรฐานระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย: มอก.18001 มีเป้าหมายเพื่อลดและควบคุมความเสี่ยงอันตรายของพนักงานและผู้ที่เกี่ยว ข้อง การเพิ่มประสิทธภาพการดำเนินงานของธุรกิจให้เกิดความปลอดภัยและส่งเสริมภาพพจน์ด้านความรับผิดชอบขององค์กรที่มีต่อพนักงานและสังคม มาตรฐาน มอก. 18001 และ BS OHSAS 18001 กำหนดขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดระบบการตรวจประเมินและการรับรองความสอดคล้องของระบบการจัดการ อาชีวอนามัยและความปลอดภัย

อย่างไรตามมาตรฐานอื่นๆที่ไม่ได้กล่าวถึงก็มีความสำคัญไม่ต่างกันขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์และวิสัยทัศน์ของผู้ประกอบการว่าต้องการให้องค์กรเดินไปในทิศทางไหนและประสบความสำเร็จอย่างไร

“เรามองว่าความสำเร็จของผู้ประกอบการในวันนี้อยู่ที่ต้องมีวิสัยทัศน์ชัดเจน มองเห็นว่าองค์กรของตนกำลังจะเดินไปในทิศทางใดเพื่อให้ถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ ซึ่งเมื่อผู้ประกอบการมีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนการเข้าไปช่วยเหลือ เสริมประสิทธิภาพและศักยภาพตามบทบาทของเราก็จะเข้าไปได้อย่างตรงความต้องการและทำให้ผู้ประกอบการบรรลุตามเป้าหมายได้”

ยุคที่ความเปลี่ยนแปลงสามารถเกิดขึ้นในโลกธุรกิจได้ตลอดเวลาไม่ว่าจะเป็นปัจจัยจากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีหรือแม้กระทั่งเกิดจากวิกฤตโรคระบาดอย่างโควิด-19 ทำให้ความท้าทายของเอสเอ็มอีไทยในวันนี้อยู่ที่ความสามารถในการปรับตัวให้สอดรับกับสถานการณ์ต่างๆที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

“ช่วงโควิด-19 ปัญหาของเอสเอ็มอีไทยที่สำคัญคือเรื่องของสภาพคล่องทางการเงิน เรื่องที่สองคือเรื่องของการปรับตัว หลายธุรกิจอาจจะไม่ได้มีแผนรองรับวิกฤตที่จะเกิดขึ้นในระยะยาวมากก่อน นอกจากนี้ความท้าทายของผู้ประกอบการยุคนี้คือการต้องวิเคราะห์ตัวเองให้ได้ว่าสินค้าและบริการของเราเป็นเป็นกลุ่มไหน ต้องการขายให้กับใคร เป็นที่สนใจของตลาดหรือไม่ สินค้าหรือบริการที่ทำสู้คู่แข่งได้ไหม หากเกิดความผิดพลาดขึ้นจะมีแผนสอง แผนสามในการจัดการอย่างไร

และเนื่องจากยุคนี้เป็นยุคดิจิทัล เรื่องของเทคโนโลยีจึงเป็นความท้าทายซึ่งผู้ประกอบการจะต้องปรับตัวเพื่อสอดรับพฤติกรรมของผู้บริโภคในยุคดิจิทัล ซึ่งแน่นอนว่าอาจจะมีเรื่องของค่าใช้จ่ายในการลงทุนที่เพิ่มมากขึ้น สำคัญที่สุดคือเรื่องของมาตรฐานต่างๆซึ่งจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในอนาคต เนื่องจากพฤติกรรมผู้บริโภคน่าจะเปลี่ยนมาซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์เพิ่มซึ่ง การที่ลูกค้าไม่ได้เห็นสินค้าก่อนซื้อทำให้มาตรฐานเป็นสิ่งที่สำคัญมากในการสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นกับสินค้าและบริการ”

การมีมาตรฐานไอเอสโอ และมาตรฐานระบบอื่นๆ จึงเป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการต้องให้ความสำคัญ ยิ่งยุคต่อจากนี้สินค้าและบริการที่มีมาตรฐานการันตีจะยิ่งช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาด และถือเป็นใบเบิกทางให้ลูกค้าตัดสินใจเลือกหรือไม่เลือกสินค้าของเรา รวมถึงเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีแก่แบรนด์เพื่อให้ลูกค้าเกิดความมั่นใจ เชื่อใจอีกด้วย

ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://www.masci.or.th/

หรือโทร 0-2617-1727-36

Published on 18 September 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

 

บทความแนะนำ

ความท้าทายจากการเลิกกิจการของธุรกิจเอสเอ็มอี

หัวข้อ : ความท้าทายจากการเลิกกิจการของธุรกิจเอสเอ็มอี
อ่านเพิ่มเติม : www.kasikornbank.com/th/Challenges-SME-Businesses-21.pdf

 

ในแต่ละปีมีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีรายใหม่ถึงกว่า 6 หมื่นรายที่สนใจเข้าสู่ธุรกิจ ขณะเดียวกัน จากปัญหาและข้อจำกัดต่างๆ ส่งผลให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีประมาณ 2 หมื่นรายต้องปิดหรือเลิกกิจการเช่นเดียวกัน การปิดตัวลงของธุรกิจภายใต้ภาวะเศรษกิจที่ชะลอตัวเริ่มเห็นภาพมากขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจเอสเอ็มอีที่ต้องเผชิญการแข่งขันที่สูง ซึ่งส่วนใหญ่จะกระจุกตัวอยู่ใน 5 กลุ่มธุรกิจหลักได้แก่ ค้าปลีก ค้าส่ง ก่อสร้าง อสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่ม ที่ส่วนใหญ่จะพึ่งพากำลังซื้อในประเทศค่อนข้างสูง

 

สาเหตุหรือปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการปิดกิจการของผู้ประกอบการพบว่า นอกจากเหตุผลทางด้านภาวะเศรษฐกิจที่ทำให้คนชะลอการใช้จ่ายแล้ว ยังเกิดจากปัจจัยภายในของแต่ละธุรกิจ เช่น ต้นทุนการผลิตที่อยู่ในระดับสูงจนไม่สามารถแข่งขันได้ รวมถึงอุปสรรคการเข้าถึงแหล่งเงินทุนจากสถาบันการเงิน โดยเฉพาะในช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัว นอกจากนี้ สาเหตุของการปิดกิจการยังเกิดจากสภาพแวดล้อมของธุรกิจเองที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งมีดังนี้

  • การแข่งขันที่รุนแรง จากการเข้ามาของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีรายใหม่ ๆ รวมถึงธุรกิจรายใหญ่ทั้งจากในประเทศ ที่สนใจลงมาทำตลาดเดียวกับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เช่น
    • ธุรกิจค้าส่งที่ลงมาทำตลาดขายปลีกมากขึ้นเพื่อสร้างรายได้
    • ธุรกิจร้านอาหารรายใหญ่ที่ควบรวมกับรายย่อย เพื่อเพิ่มอำนาจต่อรอง
    • ขณะที่ผู้ประกอบการจากต่างประเทศเอง ก็สนใจเข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มขึ้น อาทิ ผู้รวบรวมสินค้าเกษตร รวมถึงเชนร้านอาหารจากต่างประเทศ ที่เข้ามาแสวงหาโอกาสจากตลาดในไทย เป็นต้น
  • การเปลี่ยนแปลงทางด้านพฤติกรรมผู้บริโภค ซึ่งเป็นไปตามการพัฒนาเทคโนโลยี เช่น
    • ความนิยมในการสั่งซื้อสินค้าผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ที่มีความหลากหลาย ทั้งการสั่งซื้อสินค้าหรือบริการ ส่งผลกระทบต่อธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง
    • ร้านอาหารที่มีหน้าร้าน และไม่มีบริการด้านออนไลน์

แนวทางการปรับตัวในเบื้องต้นของธุรกิจเอสเอ็มอี เพื่อเพิ่มความเข้มแข็งต่อธุรกิจ ดังนี้

ค้าส่งค้าปลีก / ร้านอาหาร

  • หลีกเลี่ยงการแข่งขันด้านราคา เน้นนำเสนอสินค้าและบริการที่แตกต่างจากคู่แข่ง
  • ขยายช่องทางเพื่อเข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมายทั้งหน้าร้านและออนไลน์ หรือแอพพลิเคชั่นที่ช่วยอำนวยความสะดวกผู้บริโภค และเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการธุรกิจ

ก่อสร้าง / อสังหาริมทรัพย์

  • ดูแลสภาพคล่องธุรกิจ ลงทุนในสินทรัพย์ เช่น ที่ดิน ให้เหมาะสม
  • พัฒนาสินค้าที่ตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าที่ยังคงพอมีกำลังซื้อ
  • ใช้นวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อลดต้นทุนด้านแรงงาน หรือแอปพลิเคชันที่ใช้คุมสต็อกสินค้า หรือบริหารการเงิน

เกษตร

  • เร่งหาแหล่งวัตถุดิบทดแทนจากประเทศเพื่อนบ้านที่สามารถนำเข้าได้ เช่น มันสำปะหลัง ผัก/ผลไม้
  • สนับสนุนให้เกษตรกรที่มีพันธะสัญญา ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เพาะปลูก โดยใช้น้ำน้อยลงเพื่อรับมือกับภัยแล้งที่อาจเกิดขึ้นต่อไป หรือกระจายพื้นที่เพาะปลูกไปในพื้นที่ที่มีแหล่งน้ำเพียงพอ รวมถึงการเลือกปลูกพืช/พันธุ์ที่ตรงกับความต้องการของตลาดมากขึ้น

 

ขณะเดียวกัน เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับธุรกิจ และช่วยเพิ่มศักยภาพการแข่งขันได้มากขึ้น จำเป็นต้องปรับโครงสร้างภายในของธุรกิจ ซึ่งอาจพิจารณาดำเนินการ ดังนี้

  • การปรับลดต้นทุน โดยใช้ช่วงที่เงินบาทแข็งค่า ประกอบกับภาครัฐสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ปรับเปลี่ยนเครื่องจักร เทคโนโลยีการผลิตที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดการสูญเสียวัตถุดิบในกระบวนการผลิต หรือลดต้นทุนการใช้พลังงาน และต้นทุนด้านแรงงานลง
  • การผลิตสินค้าหรือบริการให้ตรงกลุ่มเป้าหมาย สอดคล้องกับความต้องการแต่ละกลุ่ม เช่น
    • กลุ่มคนเจนวายและกลุ่มเจนแซต ที่ค่อนข้างให้ความสนใจสินค้าที่ใส่ใจด้านสิ่งแวดล้อมตลอดห่วงโซ่การผลิต
    • กลุ่มคนโสด ต้องการสินค้าไซส์เล็ก หรือร้านอาหารที่จัดพื้นที่เพื่อความเป็นส่วนตัว
    • กลุ่มแม่และเด็ก, กลุ่มคนสูงอายุ เน้นสินค้าสุขภาพและความปลอดภัย เป็นต้น
  • การแสวงหาโอกาสในตลาดใหม่ ที่เฉพาะและมีศักยภาพสูง อาจจำเป็นต้องศึกษาและเรียนรู้ความต้องการผู้บริโภค ก่อนนำเสนอสินค้าและบริการที่ตรงกับความต้องการ เช่น
    • ตลาดสินค้าและอาหารฮาลาล อาหารที่มีโซเดียมหรือน้ำตาลต่ำ สินค้าออแกนิกส์ เครื่องสำอางสำหรับเด็ก ผู้ชายและผู้สูงอายุ เป็นต้น
    • การขยายตลาดไปต่างประเทศ โดยเฉพาะที่มีข้อตกลง FTAs กับไทย ที่ปัจจุบันมี 13 ความตกลง รวม 19 คู่ค้า ซึ่งอาจใช้ช่องทางแพลตฟอร์มออนไลน์ เพื่อให้เข้าถึงตลาดได้สะดวก โดยมีต้นทุนไม่สูงมาก

 

นอกเหนือจากการปรับตัวจากภายในแล้ว ธุรกิจเอสเอ็มอีควรต้องไม่หยุดนิ่งที่จะเรียนรู้ และเท่าทันการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมภายนอกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ตามพฤติกรรมผู้บริโภคของคนรุ่นใหม่ที่มีความภักดีต่อผลิตภัณฑ์หรือตราสินค้าน้อย ส่งผลให้วงจรธุรกิจในปัจจุบันสั้นลงเมื่อเทียบกับอดีตที่ต้องใช้เวลานาน  อาจจำเป็นต้องปรับธุรกิจทั้งทางด้านรูปแบบ คุณสมบัติของสินค้าช่องทางการจัดจำหน่าย กลยุทธ์การตลาดให้สอดคล้องกับเทรนด์หรือกระแสการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวด้วย

 

Published on 18 September 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

 

บทความแนะนำ

หอการค้าไทย ขับเคลื่อน SME ด้วยพลังเครือข่าย

SME นับเป็นหนึ่งในรากฐานสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจไทย ไม่ว่าจะเป็นมิติการจ้างงาน การลงทุน การผลิต รวมทั้งการส่งเสริมการเป็นผู้ประกอบการ SME ไทยเข้มแข็ง เศรษฐกิจไทยก็แข็งแกร่ง แต่หาก SME ไทยอ่อนแอเปราะบาง เศรษฐกิจไทยย่อมอ่อนแรง ไร้พลังขับเคลื่อน ยิ่งสภาพแวดล้อมทางธุรกิจผันผวนท้าทายจากหลากหลายปัจจัย การทำให้ SME แข็งแรงและพัฒนา จึงเป็นความสำคัญลำดับต้นๆ ของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย 

หอการค้าไทย นับเป็นหนึ่งในสถาบันหลักระดับประเทศ ซึ่งทำหน้าที่เสริมสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันให้ภาคธุรกิจไทย และเป็นเครือข่ายสำคัญขององค์กรธุรกิจและ SME

ดร.กฤษณะ วจีไกรลาศ กรรมการเลขาธิการ หอการค้าไทย กล่าวว่า เครือข่ายของหอการค้า มีสมาชิกประมาณ 1 แสนราย โดย 98% เป็นผู้ประกอบการ SME ที่กระจายตัวอยู่ทั่วประเทศ ผ่านหอการค้าไทย (กรุงเทพ) และหอการค้าจังหวัด, สมาคมการค้าขึ้นอยู่กับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย โดยสมาชิกของสมาคมการค้ามีประมาณ 3-4 หมื่นราย ส่วนใหญ่เป็น SME และยังมีสภาธุรกิจต่างประเทศ ซึ่งเครือข่ายสมาชิกก็เป็น SME เช่นกัน

ดร.กฤษณะ อธิบายว่า บทบาทของหอการค้าไทย ช่วยพัฒนา SME ผ่านการให้ความรู้ ให้แนวทางการประกอบธุรกิจ พัฒนาธุรกิจให้เข้มแข็ง รวมถึงช่วยให้ SME เป็นซัพพลายเชนของบริษัทขนาดใหญ่ที่เป็นสมาชิกหอการค้าด้วยกัน

หอการค้าไทยให้ความรู้ทุกด้านแก่ SME อาทิ เรื่องมาร์เก็ตติ้ง, เทคโนโลยี และเรื่องอื่นๆ โดยมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยได้ทำหน้าที่เป็นตัวแทนพัฒนาอีคอมเมิร์ซ โดยร่วมกับอาลีบาบาจัดคอร์สเทรนนิ่งเรื่องอีคอมเมิร์ซ นอกจากนี้ หอการค้าไทยยังช่วยรณรงค์เรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน (circular economy) การทำให้มีของเสีย (waste) ให้น้อยที่สุดในกระบวนการผลิต และเป็นการลดต้นทุนของผู้ประกอบการ

ทว่า SME ไทยก็มีจุดอ่อน และเผชิญความท้าทายหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องผลิตภัณฑ์, การเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุน และอื่นๆ

“บางครั้ง SME ไม่ได้มองเรื่องผลิตภัณฑ์ของตัวเอง ถ้าไม่ทำ differentiate สร้างความแตกต่างจากคนอื่น เห็นเขาขายดีหรือดัง ก็พยายามทำให้เหมือนหรือเลียนแบบ ผมว่าสุดท้าย โปรดักต์ก็ไปได้ไม่ไกล, เรื่องพวกนี้มีความสำคัญ เรื่องโปรดักต์ ทั้งดีไซน์ แบรนด์ดิ้ง รสชาติ SME ต้องมีนวัตกรรมมากกว่านี้ และให้มีความแตกต่างจากสินค้าอื่น เมื่อสินค้าคุณมีความแตกต่าง การเติบโตยอดขายเพิ่มขึ้น การเข้าถึงแหล่งเงินทุนก็เป็นอีกปัญหาหนึ่งของ SME” ดร.กฤษณะ กล่าว

ในบางกรณี แม้ SME จะขายสินค้าได้ พร้อมขยายธุรกิจ ก็ต้องแสวงหาปัจจัยในการขยายกำลังการผลิต เช่น ที่ดิน, โรงงาน, เครื่องจักร แต่เวลาไปขอสินเชื่อ ก็เจอคำถามว่ามีหลักประกันหรือไม่ ดร.กฤษณะ กล่าวว่า ผู้ประกอบการขนาดเล็กมีหลักประกันไม่เยอะ ทำให้เข้าถึงวงเงินที่เพียงพอต่อการขยายกำลังการผลิตได้อย่างล่าช้า ดังนั้น ธุรกิจจึงตามไม่ทันกับตลาดที่พัฒนาไป 

“บางครั้งคุณสร้างความแตกต่าง แต่ไม่เกิน 3 เดือน คนอื่นก็ทำเหมือนคุณแล้ว ถ้าคุณไม่พัฒนาต่อก็อยู่กับที่แล้ว”

หากมองในภาพรวมของผู้ประกอบการ SME ไทย ส่วนใหญ่ไม่ได้ทำธุรกิจเกี่ยวกับเทคโนโลยี แพล็ตฟอร์มอีคอมเมิร์ซและการท่องเที่ยวก็เป็นของต่างชาติ แต่หอการค้าก็มีส่วนในการขับเคลื่อนและสร้างแอปพลิเคชัน TAGTHAi (ทักทาย) แพล็ตฟอร์มการท่องเที่ยวแห่งชาติ โดยร่วมกับพันธมิตรจำนวนมาก อาทิ สมาคมโรงแรม, สายการบิน, ร้านอาหาร, กรมศุลกากร, ท่าอากาศยานไทย, ธนาคารกสิกรไทย เป็นต้น ดร.กฤษณะ กล่าวว่า ”ทักทาย” ทำระบบการจองที่ให้ค่าคอมมิชชั่นน้อยกว่าแพล็ตฟอร์มต่างชาติ ทำให้โรงแรมเหลือส่วนต่างมากขึ้น “ให้คนไทยใช้กันเอง อย่างน้อยเงินอยู่ในเมืองไทย แต่ถ้าเราไป Booking, Agoda เงินก็ไปยุโรปหมด”  

ในอีกด้านหนึ่ง หอการค้าไทยก็สร้าง TCC Connect แพล็ตฟอร์มการเข้าถึงสิทธิประโยชน์ในเครือข่ายของสมาชิกหอการค้า เป็นสังคมของสมาชิกแสนกว่าราย “สำหรับขาของสิทธิประโยชน์ เราไม่ได้ปิดกั้นว่าต้องเป็นเฉพาะสมาชิก จึงเป็นโอกาสให้ SME ต่างๆ หรือสมาชิกของสสว. สามารถมาโพสต์ขายในแอปพลิเคชันของเราได้ แต่ต้องเป็นร้านค้าที่มีหลักแหล่ง

ทั้งนี้ ในบางอุตสาหกรรม SME ไทยก็มีจุดแข็งและมีศักยภาพทางธุรกิจ ดร.กฤษณะ มองว่า ในด้านอาหาร ประเทศไทยมีความเข้มแข็ง เพราะไทยเป็นแหล่งผลิตอาหารของโลก และมีอีเว้นท์สำคัญอย่างงาน THAIFEX ที่หอการค้าไทยเป็นเจ้าภาพร่วมกับกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ และโคโลญ - เมสเซ่ ประเทศเยอรมนี โดยทุกปีในงาน THAIFEX จะมี SME รายใหม่ (เข้างานปีแรก) ประมาณ 100 บริษัทเข้าร่วมงานจากทั้งหมด 500 กว่าบริษัท คิดเป็นเกือบ 20%

“จาก SME 100 กว่าบริษัท ครึ่งหนึ่งเดินไปต่อได้และขยายธุรกิจ ส่วนอีกครึ่งหนึ่งก็ล้มหายตายจาก ทดลองตลาดแล้วไปไม่ได้” ดร.กฤษณะ กล่าวถึงแนวโน้มความสำเร็จของ SME รายใหม่ในงาน THAIFEX 

สำหรับคำแนะนำต่อผู้ประกอบการ ดร.กฤษณะ กล่าวว่า SME ต้องแสวงหาความรู้ ควรไปเดินงานอีเว้นท์สำคัญระดับประเทศ เพื่อศึกษาสินค้าที่ส่งออกตลาดต่างประเทศได้ เรียนรู้ทั้งในแง่สินค้าและแพคเกจจิ้งเพื่อนำไปพัฒนาต่อ ไม่ใช่เลียนแบบ รวมถึงศึกษาประเภทสินค้าที่มียอดจำหน่ายสูงในอีคอมเมิร์ซ เพื่อดูเทรนด์ของตลาดว่าเป็นอย่างไร และรู้จักวิธีใช้ประโยชน์จากอีคอมเมิร์ซ และช่องทางการตลาดดิจิตอล-โชเซียลมีเดีย

“คอร์สที่จัดของสสว. ร่วมกับหอการค้าหรืออะไรต่างๆ SME ก็ควรเข้ามาอบรม เข้ามาพัฒนา”

นอกจากนั้น SME ควรแสวงหาช่องทางการตลาดต่างๆ หาก SME มีสินค้าในระดับเบสิก ก็ต้องไปทดลองตลาดชุมชนและอีเว้นท์ใหญ่ระดับจังหวัด ดังเช่นที่สสว. ร่วมจัดกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย, ผู้ประกอบการ SME จะได้ทดลองว่าสินค้าที่ขายในระดับพื้นที่ ขายได้หรือไม่อย่างไร หากขายได้ ก็พัฒนาต่อไปในระดับภาค เช่นงานหอการค้าแฟร์ และในลำดับถัดไป SME ก็ต่อยอดเพื่อไปสู่ระดับประเทศและส่งออก

SME ที่พัฒนาตัวเองอย่างไม่หยุดนิ่งเท่านั้น ที่จะอยู่รอดและเติบโตท่ามกลางกระแสการแข่งขันที่เชี่ยวกราก…

 

สำหรับผู้ประกอบการ SME ที่สนใจอยากเป็นสมาชิกหอการค้า สามารถติดต่อได้ที่ 

เว็บไซต์ https://mr.thaichamber.org/

Published on 18 September 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย









บทความแนะนำ