BED STATION HOSTEL เปลี่ยนการรู้จักเป็นความรู้ใจของชาว Backpacker

คงไม่แปลกที่หลายคนอยากเข้าสู่ธุรกิจโฮสเทล ในวันที่นักเดินทาง Gen Y และ Z โหยหาประสบการณ์ใหม่ ๆ และวัฒนธรรมที่ไม่เคยสัมผัสมาก่อน โลกดิจิทัลทำให้การหาที่พักและการเดินทางสะดวกขึ้น แค่การคลิกไม่กี่ครั้งก็พร้อมให้นักเดินทางออกท่องโลกสู่จุดหมายใหม่ ๆ ได้ ในวันที่กรุงเทพฯ ร่ำรวยไปด้วยวัฒนธรรม ทั้งสตรีทฟู๊ด แหล่งช้อปปิ้ง สีสันยามค่ำคืน ความเป็นกันเองแบบยิ้มสยามพร้อมต้อนรับผู้คนทั่วโลก คงไม่ง่ายที่จะมีโฮสเทลสักแห่งแทรกตัวออกจากคู่แข่งในวันที่กรุงเทพฯ มีโฮสเทลอยู่เกือบทุกหัวมุมตึก

Bed station hostel แนะนำตัวครั้งแรกปลายปี 2014 และมียอดจองเต็มมาตลอดจนปลายปี 2015 เรียกได้ว่าเป็นโฮสเทลรุ่นบุกเบิกในยุคแรก ๆ โดยคุณเพน จารุภา สุนทรปกาสิต ผู้ก่อตั้งได้บอกว่า “วันหนึ่งขับรถผ่านถนนสีลม สังเกตเห็นทำไมห้องแถวตรงนี้ (หลับดี โฮสเทล) มีฝรั่งนั่งออกมาข้างนอกเยอะจัง” เลยเริ่มสนใจค้นคว้าว่า โฮสเทล คืออะไร “ถ้าเราเป็นนักเดินทาง เราต้องการที่พักที่ใกล้รถไฟฟ้าเท่านั้น เลยปักหมุดว่า ถ้าเราจะเริ่มธุรกิจโฮสเทล เราจะมองหาตึกแถวในโซนสยาม ราชเทวี พญาไท เพื่อเช่าเท่านั้น” แต่โลเคชั่นอย่างเดียวแค่นี้ยังไม่พอกับความสำเร็จทั้งยอดจองและการสร้าง engagement ของ Bed station hostel อะไรเป็นเบื้องหลังที่ทำให้คุณเพน ต้องขยายสาขาและ sister brand ของ Bed station hostel ภายในเวลา 2 ปีจากจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ ของคนช่างสังเกต

 

ไปที่ จุดเริ่มต้น แนวคิด และไอเดียของธุรกิจ

ไปที่ มองเทรนด์อุตสาหกรรมนี้อย่างไร

ไปที่ แนวคิดในการทำธุรกิจช่วงเริ่มต้นกับปัจจุบัน เหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร

ไปที่ วิธีการแก้ปัญหาทำอย่างไร

ไปที่ ที่ผ่านมาเคยขอคำปรึกษาจากหน่วยงานภาครัฐบางหรือไม่ อย่างไร

ไปที่ Key Success ของธุรกิจ

ไปที่ คำแนะนำที่มีต่อ SME หรือผู้ประกอบการที่สนใจอยากทำธุรกิจด้านนี้

 


 

จุดเริ่มต้น แนวคิด และไอเดียของธุรกิจ

 

SME ONE: อะไรคือแรงบันดาลใจที่จุดประกายให้เริ่มต้นธุรกิจโฮสเทล

คุณจารุภา: เมื่อ 5 ปีที่แล้วเรารู้สึกว่าธุรกิจโฮสเทลเป็นอะไรที่ใหม่ เราไม่เคยรู้จักมาก่อน แต่เห็นโอกาสว่ากลุ่มเป้าหมายนี้น่าสนใจ การพักโฮสเทลน่าจะเติมเต็มความต้องการเขาได้ กลุ่ม backpacker จะมีความต้องการต่างจากนักท่องเที่ยวทั่วไป “แต่จุดเริ่มต้นของ Bed station hostel จริง ๆ เริ่มจากการที่เราเอาความคิดที่ว่า ถ้าเราพักโฮสเทลจริง ๆ เราต้องการอะไร และโฮสเทลแห่งนี้จะต้องมีอะไรบ้าง ทั้ง ๆ ที่ตอนนั้นไม่เคยพักโฮสเทลเพราะห้องน้ำรวมไม่ใช่สไตล์เรา พักแต่โฮเทล” กลายเป็นเรื่องดีเพราะทำให้จารุภา ต้องตีโจทย์กลับมาว่า ถ้าทำให้คนอยากมานอนต้องเริ่มจากใส่ใจในจุดเล็ก ๆ

“สมัยก่อนโฮสเทลเตียงไม่มีม่าน ไม่ private แต่ของเราเป็นโฮสเทลแรก ๆ ที่เตียงต้องมีม่าน ต้องสะอาด และสังเกตุว่าเวลาเราเป็นผู้หญิงไปพักโฮสเทล เราไปเป็นกลุ่ม เวลาเข้าห้องน้ำรวมเราก็อยากเม้าท์มอย สนุก ๆ ในห้องน้ำบ้าง เพราะฉะนั้นห้องน้ำต้องใหญ่ ต้องกว้าง มีกระจกเยอะ ๆ ให้แต่งตัวได้ นั่นคือทำไมที่ Bed station เราตีทั้งชั้นเป็นห้องอาบน้ำและห้องน้ำ” หลังจากเปิดมาได้ปีกว่า ๆ ค้นพบว่ากว่า 80% ของลูกค้าเป็นชาวยุโรป อเมริกา มากกว่าเอเชีย ซึ่งมีพฤติกรรมการใช้ชีวิตไม่เหมือนกัน เราสังเกตุว่าคนยุโรปชอบมีกิจกรรม เจอเพื่อนใหม่และคนที่มาพักส่วนใหญ่จะเป็นนักเรียนมาหาประสบการณ์สักปีหนึ่ง ก่อนเริ่มเข้ามหาวิทยาลัย ที่ Bed station เลยมีกิจกรรมตลอดทั้ง cooking class, walking tour โดย staff ของเราจะมีความเป็นกันเอง เหมือนเป็นเพื่อน เป็นคนในครอบครัวที่คอยแนะนำ ไม่ใช่แค่ให้ข้อมูลแต่บางครั้งนำทริปไปด้วยเลย จะเห็นว่าโดยเฉลี่ยเริ่มแรกอาจจองมาก่อน 1-2 วันแล้วมา extend เป็น 4-7 วัน

ที่Bed station เรามองว่าจุดแข็งของเรานอกจาก facility ที่ตอบโจทย์ backpacker แล้ว staff ของเราจะมีบุคลิกที่น่าเข้าหา เป็นอีกปัจจัยหลักที่สำคัญ เพราะทุกวันนี้ลูกค้าเรายังส่ง message คุยกันกับ staff เหมือนเป็นเพื่อนกันจริง ๆ เป็นความอบอุ่นที่เป็นเสน่ห์ (Soft power) ของ Bed station ที่ลูกค้าบอกต่อถึงกันและกัน

 


 

มองเทรนด์อุตสาหกรรมนี้อย่างไร

 

SME ONE: มองเทรนด์ของโฮสเทลเป็นอย่างไร ในช่วงเหตุการณ์ปกติ

คุณจารุภา : หลังจากที่ success มากจาก Bed station ราชเทวี เราสังเกตเห็นว่ามีลูกค้าชาวเอเชียมากขึ้น แต่มีพฤติกรรมต่างกับลูกค้าชาวยุโรป ส่วนใหญ่จะเป็นเวียดนาม ญี่ปุ่น สิงค์โปร์ เราพบว่าลูกค้าเอเชียมักจะลากกระเป๋าเดินทางใบเล็กมาเอง ขณะที่ชาวยุโรปจะเป็น backpack หรือลูกค้าเอเชียมักแพลนการท่องเที่ยวมาเองเลย เราอยู่กับลูกค้าทุกวัน หลัก ๆ ที่เห็นคือ พฤติกรรมต่าง ๆ เช่น ลูกค้าเอเชียชอบความ private พอลูกค้าฝรั่งเสียงดัง เราจะโดน complain หรือพอฝรั่งอยากเข้ามาคุยด้วย  ลูกค้าเอเชียจะไม่อยากคุยด้วย เราก็ถูก complain ว่าไม่ nice แต่กลับเป็นโอกาสให้เรามองเห็นเทรนด์ว่า งั้นเราเปิดอีกแห่งที่เหมาะกับลูกค้าเอเชีย โดยที่เราเอาโจทย์ของลูกค้าเอเชียเป็นตัวตั้งทั้งหมด เช่น ที่ใส่กระเป๋าต้องใหญ่กว่าเพราะเป็นกระเป๋าลาก การแบ่งพื้นที่ส่วนกลางเปลี่ยนไป ปรับให้น้อยลงเพราะลูกค้าเอเชียจะออกแต่เช้าและกลับมาดึก จะมีห้องแค่นอน แต่งตัวเป็นหลัก ต้องมีจุดถ่ายรูปเพื่อแชร์ ส่วนใหญ่จะจองมาเป็นกรุ๊ป ๆ ละ 5-6 คน ทำให้เราออกแบบห้องให้มีพื้นที่ในห้อง มีโซฟาในห้องเลย หรือพื้นที่ female dorm ก็มีพื้นที่แต่งตัวให้ในห้องเลย

 

SME ONE: อันนี้ภายใต้แบรนด์ Bed station เลย

จารุภา: อันนี้จะเป็น sister brand ใช้ชื่อว่า “Bed One Block” เพราะอยากจะโฟกัสคนเอเชีย แตกต่างจาก Bed station ที่เราวาง position ให้ homey, friendly สนุกสนาน วุ่นวาย คือมีกิจกรรมตลอดเวลา ส่วน Bed one block by Bed station ทำคอนเซ็ปต์ใหม่ เปลี่ยนชื่อใหม่ ให้มีความ private เหมาะกับคนเอเชีย จริง ๆ อยากใส่ลิฟต์ให้เพื่อตอบพฤติกรรมลากกระเป๋ามาพัก แต่ติดเรื่องโครงสร้างก็โดน complain บ้างแต่ก็แก้ปัญหาด้วยการให้พ่อบ้านเอาขึ้นไปให้ตอนเช็คอิน เช็คเอาท์

 

SME ONE: หลังจากมี Bed one block ราชทวี แล้ว Bed station ที่อยู่ใกล้ ๆ กันเป็นยังไงบ้าง

คุณจารุภา: ประมาณ 1 ปีที่เปิด Bed one block ตัว Bed station เองก็ยังเต็มอยู่ และก็มีโอกาสใหม่ ๆ เข้ามา เช่นที่อื่นอยากให้เราเข้าไปบริหารโดยใช้ชื่อ Bed station แต่เรายังไม่อยากหยุดแค่ 2 ที่ อยากขยายเพิ่มเลยมานั่งดูว่าในตลอดเวลา 2 ปีมีคำถามอะไรที่ลูกค้าถามตลอดเยอะที่สุด เช่น ลูกค้าไปเที่ยวข้าวสารแน่นอนอย่างน้อย 1 ครั้ง  ที่ไหนมี swimming pool ไปยิมได้ที่ไหน เพราะเราได้อยู่กับลูกค้าตลอดเวลา ทำให้ได้ศึกษากลุ่มเป้าหมายไปในตัวโดยอาจไม่รู้ตัว พร้อมกับความเป็นคนชอบสังเกตุ ทำให้เมื่อคิดจะขยายธุรกิจจึงเริ่มจากมารีวิวสิ่งที่เห็นว่าจะตอบสนองความต้องการของลูกค้าให้ตรงจุดไหนได้บ้าง หลังจากหาพื้นที่เช่าใกล้ ๆ บริเวณถนนข้าวสาร ก็ใช้เวลาประมาณ 6 เดือน โดยรีโนเวทใหม่หมดและเริ่มตามโจทย์คือต้องมีสระว่ายน้ำและยิม

 


 

แนวคิดในการทำธุรกิจช่วงเริ่มต้นกับปัจจุบัน เหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร

 

SME ONE: ในแต่ละช่วงของการเริ่มต้นธุรกิจของแต่ละสาขา มีความแตกต่างกันไหม

คุณจารุภา: ต้องบอกว่า อันที่สนุกที่สุดคือ Bed station ราชเทวี ส่วน Bed one block นี้ชิลล์ ชิลล์ คือพอลูกค้ารู้แล้วว่าเรามี Bed one block น่ะใกล้ ๆ กัน private กว่าแต่ราคาอาจต่ำกว่านิดหนึ่ง อาจเพราะเราสร้างแบรนด์ Bed station ไว้แล้วก็ส่งผลมาให้อันนี้ด้วย และตรงตามที่ตั้งใจไว้ในตอนแรกว่าอยากให้เป็นลูกค้าเอเชีย ก็ตรงตามที่คิดค่ะ พออันถนนข้าวสารเราก็คิดว่าน่าจะง่าย เพราะมีฐานลูกค้าจากราชเทวี และมีลูกค้าอีกแค่ 200 กว่าคนเองและ facility ก็ครบ พอเปิดแล้วสิ่งที่ตามมาคือ ลูกค้าเลือกไปพักที่ข้าวสารมากกว่าราชเทวีเพราะ facility ครบกว่า พอมาพัก 3-4 วัน ช่วงอยู่นิ่ง ๆ สระว่ายน้ำกับยิมกลายเป็น advantage ที่เขาได้ ถึงแม้ราราจะสูงกว่าแต่ก็แค่ 50 บาท ปัญหาแรก ๆ ที่เจอเลย เช่น จองมาที่นี่ราชเทวีแต่อยากไปอยู่ที่โน่น (ข้าวสาร) ช่วงแรกเราอยากขยายฐานลูกค้าก็อนุโลมให้ วุ่นวายกันหน่อย ส่วนใหญ่ยังเป็นลูกค้ายุโรปอยู่ค่ะ โดยเฉพาะที่ข้าวสาร

 


 

วิธีการแก้ปัญหาทำอย่างไร

 

SME ONE: แล้วช่วงนั้นได้แก้ปัญหาอย่างไร

คุณจารุภา: พอสาขาราชเทวีจากที่เคยเต็มลูกค้าลดลงเพราะฝรั่งเลือกไปที่ข้าวสาร เรากลับมามองว่า เราต้องปรับให้รับลูกค้าเอเชียกลับมาเหมือนเดิมไหม เพราะดูจาก Bed one block ก็ยังไปได้ดี คืออยู่ตัวแล้ว ต้องบอกว่าลูกค้า Bed one block พอเคยมาพักก็อยากกลับมาที่นี่อีก อาจเป็นเพราะเราสร้างฐานลูกค้าจากลูกค้าเดิมจะให้เปลี่ยนไป Bed station ราชเทวีก็ไม่อยากเปลี่ยน

เพราะฉะนั้น Bed station ราชเทวีจากเป็น target ฝรั่งเราเลยต้องเจาะกลุ่มใหม่ให้เป็นเอเชียเหมือนเดิม ปรับตัวกลยุทธ์มาร์เก็ตติ้งใหม่ ปรับแม้กระทั้งการลงรูป social ปรับทุกอย่างโดยตอนนี้ใช้ IG กับ FB เป็นหลัก อย่างที่เคยบอกพอลูกค้าติด staff เขาก็น่ารัก คือจะรีวิวให้โดยไม่ต้องร้องขอเลยด้วยซ้ำ ช่วงแรก ๆ เรานั่งดูว่าฝรั่งเขา search อะไรกัน เช่น ลูกค้า backpacker จะเสิร์ชเว็บ hostel world แบบนี้เลย จะเป็นของ backpack เท่านั้นจะไม่ใช่จองผ่านพวก agoda, booking.com จริง ๆ ต้องบอกว่าตอนเปิดใหม่ ๆ Bed station ได้รีวิวดีจองเต็มตลอดก็มีผลดีส่งต่อให้ สำหรับที่นี่พฤติกรรมคนเอเชียจะต่างกัน คือจะจองผ่าน booking.com หรือไม่ก็ agoda  โดยรวมถ้าเป็นคนต่างชาติ ส่วนใหญ่จะเข้าดูรีวิวจาก hostel world ก่อนแล้วค่อยเข้ามาดูกิจกรรมต่าง ๆ ที่ FB, IG  แม้ว่าจริง ๆ เราอยากให้เขาจองผ่าน agent นะคะเพราะจะได้รีวิวให้เราได้

ต้องบอกว่าเราลงทุนกับ staff คือเพนจะสัมภาษณ์เองหมดทุกคน เพราะฉะนั้นบุคลิกน้องจะคล้ายอย่างนี้คือ soft ดู friendly ส่วนใหญ่ staff ที่นี่อยู่กันยาวมากประมาณ 2 ปีขึ้นไป turn over จะต่ำมาก อย่างตอนนี้จะเป็น Generation นี้ (Gen Y) แล้วก็เป็นน้อง ๆ ที่จบใหม่กำลังรอไปเรียนต่อโท เพราะฉะนั้นพอลูกค้ารู้สึกดีกับ staff ของเรา การรีวิว การบอกต่อกับเพื่อนก็ช่วยได้มาก

ปัญหาที่ 2 ที่เจอคือลูกค้าที่ข้าวสารเป็นกลุ่มเดิม คือยุโรป พฤติกรรมเหมือนเดิม แต่ความดื้อ ความซนในการจัดการหนักกว่าเดิมซึ่งเราไม่เคยเจอ ลูกค้าที่ราชเทวีเป็นยุโรปเหมือนกัน พอเมาแล้วบอกให้เข้าบ้านก็พูดรู้เรื่อง แต่ที่ข้าวสารพูดเท่าไหร่ก็ไม่ฟัง เป็นความรู้ใหม่ที่เราลืมคิด ตอนหลังเราเข้าใจว่าเพราะที่ราชเทวี เวลาผับปิดตี 2 ก็มีแก๊ปเวลากว่าจะถึงที่นี่ก็ตี 4 เริ่มสร่างขึ้น ส่วนที่ข้าวสารคือเดินนิดเดียวก็ถึง อาจยังไม่ทันมีสติและพูดเท่าไหร่ก็ไม่ฟัง แต่ยังดีที่ข้าวสารมีพื้นที่ใหญ่กว่าเลยไม่โดน complain จากเพื่อนบ้าน แต่ที่ราชเทวีตอนเปิดใหม่ ๆ ในตอนที่ยังจัดการไม่ได้ก็โดนบ่นบ้างนิดหน่อยเพราะลูกค้าชอบออกมานั่งข้างนอก ก็ใช้วิธียกเก้าอี้เก็บ ฉีดน้ำทำความสะอาด ค่อย ๆ เรียนรู้ไปค่ะ

พอเราปรับให้ที่ราชเทวีรับลูกค้าที่เป็นเอเชียมากขึ้น Bed one block เองเราก็ปรับนิดหนึ่ง เพื่อให้มีคนไทยเข้ามาพักมากขึ้น มาจากต่างจังหวัดบ้าง จะมีคนไทยมาเสมออยู่แล้วค่ะเป็นลูกค้าประจำ เพราะคนไทยชอบเงียบ ๆ สงบ ส่วนใหญ่จะมาศุกร์ เสาร์จะเป็นน้องนักศึกษา เราปรับการสื่อสารจากเมื่อก่อนเป็นภาษาอังกฤษ ใกล้รถไฟฟ้า ตอนนี้เริ่มยิง ad ตามมหาลัย ตามโรงเรียนม.ปลายมากขึ้น เปลี่ยนเป็นภาษาไทยโดยยังเป็น IG กับ FB เหมือนเดิมและโพสต์เอง ทำเองหมด ยังไม่ได้ให้น้อง ๆ staff มาช่วยตรงจุดนี้ค่ะ

 


 

ที่ผ่านมาเคยขอคำปรึกษาจากหน่วยงานภาครัฐบางหรือไม่ อย่างไร

 

SME ONE: ที่ผ่านมาเคยขอคำปรึกษาจากหน่วยงานภาครัฐบ้างหรือไม่

คุณจารุภา: มีค่ะ แต่จะเป็นด้านกฎหมายตัวโฮสเทล ที่เกี่ยวกับพวกผังเมือง เพราะโฮสเทลไม่มีกฎหมายรับรอง

แต่ในด้านการลงทุนต้องบอกว่า สาขาราชเทวี และ Bed one block เราไม่ได้กู้แบงค์ แต่พอเราทำที่ข้าวสาร สเกลจะใหญ่ไปเลยจาก 80 เตียงเป็น 200 เตียงก็เลยกู้แบงค์ค่ะ และที่ปรึกษาหน่วยงานรัฐก็จะเป็นการขอใบอนุญาติ

 

SME ONE: ทำไมถึงคิดจะรีโนเวทก่อน

คุณจารุภา: เพราะที่สาขาข้าวสาร เรามีห้องเดี่ยวแค่ห้องเดียว เราคิดว่าถ้าหลังโควิดแล้ว ลูกค้าที่มาพักน่าจะอยู่แบบ dorm ห้องรวมน้อยลง น่าจะ concern เกี่ยวกับความเป็นส่วนตัวมากขึ้น ก็เลยปรับเพิ่มห้องเดี่ยวจากเดิม1 ห้องเป็น 15 ห้อง เรายอมเสียพื้นที่ส่วนกลางแต่ยังคงมีสระว่ายน้ำอยู่ ในช่วงโควิดเราก็ให้น้อง ๆ staff หยุดงาน ลดเงินเดือนซึ่งน้อง ๆ เข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้น

ตอนนี้รีโนเวทที่ข้าวสารยังไม่เสร็จค่ะ และในส่วนของ Bed station ราชเทวียังไม่ได้เปิด แต่ตอนนี้เริ่มเปิดที่ Bed one block แล้ว มีลูกค้าทยอยเข้าพักบ้าง เพราะมีลูกค้าคนไทย message เข้ามาใน FB เยอะ เลยเริ่มเปิดเมื่อตอนปลาย มิ.ย. แต่ยังคงเรื่อง hygiene และ social distancing จากเดิมที่เคยมี 8 เตียงก็ให้นอนแค่ 4 เตียง ช่วงนี้จะเป็นลูกค้าคนไทยที่มาพัก ส่วนใหญ่จะมาจากภาคเหนือ อีสาน ภาคใต้นิดหน่อยแบบมาประชุมที่กรุงเทพฯ

สำหรับ Bed one block เราคิดว่าอยู่ตัวแล้วในตอนนี้ ส่วน Bed station สาขาราชเทวีเราจะรีโนเวทส่วนกลางข้างล่างปรับใหม่เป็นคอนเซ็ปต์ คาเฟ่ บวกกับ study space ให้น้อง ๆ นักศึกษาที่มานั่งอ่านหนังสือแล้วอยากจะนอนก็ขึ้นมานอนข้างบนได้ อันนี้คือปรับ target สำหรับคนในประเทศมากขึ้นเพราะเราคิดว่าอย่างน้อยน่าจะปลายปีหน้า ยอดนักท่องเที่ยวต่างชาติถึงกลับมา

เราคิดว่าแนวทางนี้เพิ่งจะคิดเมื่อเห็นนักท่องเที่ยวไทยเริ่มเดินทางมากขึ้น เที่ยวมากขึ้น เป็นการปรับตัวอย่างน้อยเป็นการหารายได้รายวันเพราะค่าเช่า ค่าใช้จ่ายบางอย่างไม่ได้ลด และน้อง ๆ staff จะมีอะไรทำ เราส่งผู้จัดการไปเรียนชงกาแฟ แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่รับกลุ่มเป้าหมายอื่นนะคะยังรับเหมือนเดิม แต่ปรับพื้นที่ให้เป็นคาเฟ่ ให้ welcome มากขึ้น เช่น ช่วงสอบน้อง ๆ อยากติวหนังสือก็เหมาห้องไปเลย 4, 6, หรือ 8 เตียง พอเลยช่วงโควิดไปแล้ว ยังคิดว่ารูปแบบคาเฟ่ของสาขาราชเทวีนี้ยังตอบโจทย์นักท่องเที่ยวเอเชียนะ คิดว่าพฤติกรรมใกล้เคียงกัน แต่ความ privacy ของคนพักข้างบนก็ยังรักษาไว้อยู่ คือจะเข้าโซนห้องพักได้เฉพาะคนที่พักเท่านั้น ไม่ได้เป็น open space แต่โซนคาเฟ่รองรับสำหรับคนทั่วไปได้ ส่วนที่สาขาข้าวสาร เราตัดสินใจว่ายังไม่เปิด เพราะเป็นสเกลใหญ่อยากเปิดแล้วให้ดีจริง ๆ ไม่อยากให้ก้ำ ๆ กึ่ง ๆ

 


 

Key Success ของธุรกิจ

 

SME ONE: ที่ผ่านมาคิดว่าอะไรคือปัจจัยความสำเร็จของ Bed station hostel

คุณจารุภา: จะบอกว่าธุรกิจโฮสเทลคนอาจมองว่าเป็นธุรกิจที่ง่าย แค่มีตึก รีโนเวท แล้วก็ขาย ช่วง 2-3 ปีก่อนมีคนเข้ามาศึกษาที่ Bed station เราเยอะมาก เข้ามาพัก มาดูแม้กระทั่ง sizing ของเตียง แต่จะบอกว่าจริง ๆ แล้ว facility การตกแต่งทำเหมือนกันได้ แต่การที่จะสร้างให้มันอยู่ได้ยาวมันเป็นโจทย์ที่แต่ละที่มันต่างกัน

เราคิดว่ามันอยู่ที่ mindset อยู่ที่ staff ทำไงให้ลูกค้ารู้สึกว่ามาพักแล้วที่นี่คือบ้านของเขา พอเราสนิทกับลูกค้า staff เราก็จะเรียนรู้ไปกับเขา ลูกค้าอยากมีกิจกรรมนี้ เล่นเกมส์นี้ได้ไหม staff เราสนุกไปกับเขา พอคนหนึ่งเล่นก็เหมือนกับสามารถ bonding ให้อีกคนหนึ่งเล่นด้วยได้ไหม เรารู้สึกว่ากลายเป็น community ของเขา จากที่เคยมีกิจกรรมตอน festive event เช่น สงกรานต์ ลอยกระทง เราเลยเริ่มจัดกันเดือนละครั้ง ประมาณว่า เดือนนี้ black light party ก็เริ่มมีผลตอบรับดี กลายเป็นทุกอาทิตย์ พอทุกอาทิตย์ดีกว่าเดิมอีก ทีนี้เราเซ็ทเป็นวันเลยว่า วันจันทร์ cooking class วันพุธ movie night น้อง ๆ staff ก็ได้เวียนกันมาสนุกกับลูกค้าและมีโอกาสที่จะจำชื่อลูกค้าได้ทุกคน

 

SME ONE: แล้วคิดว่าความท้าทายหลังจากนี้จะเป็นอย่างไร

คุณจารุภา: (ถอนหายใจยาว ๆ) คือในภาวะปกติ ถ้าเปิดประเทศ เรามองว่ายังไงลูกค้าก็กลับมา แต่ปัญหาเลยคือเราจะสู้ไปไหวไหม ไปจนถึงจุดที่จะเปิดค่ะ เพราะเรายังต้องจ่ายค่าเช่าที่ราคาเต็ม แม้เรามี income แต่ก็ยังไม่เต็มที่ มาตรการภาครัฐช่วยในแง่ค่าน้ำประปา ไฟฟ้า ประกันสังคมสำหรับน้อง ๆ staff รวม ๆ ก็ถือว่ายังไม่ได้ช่วยอะไรได้มาก แต่ที่แพลนกิจกรรมไว้คือเดือนหน้าจะเป็น private pool party แต่ก็จะเป็น event by event ไป

 


 

คำแนะนำที่มีต่อ SME หรือผู้ประกอบการที่สนใจอยากทำธุรกิจด้านนี้

 

SME ONE: อยากให้ฝากคำแนะนำถึงผู้ประกอบการ SME

คุณจารุภา: อยากบอกว่าไม่ว่าจะทำธุรกิจอะไร อยากให้อยู่กับธุรกิจที่เริ่มจากความชอบก่อน คิดว่าจะอยู่กับสิ่งนั้น 24 ช.ม. อย่างน้อย 5 ปี 10 ปีได้ไหม คือถ้าใจรักก็จะไปได้เกินครึ่งอยู่แล้วค่ะ แต่ถ้าทำตามกระแส ไม่ได้อิน อาจต้องคิดดี ๆ อีกนิดหนึ่ง

 

SME ONE: แล้วคุณสมบัติที่ควรจะมีของผู้ประกอบการโฮสเทล ควรเป็นอย่างไร

คุณจารุภา: อันนี้พูดจริง ๆ นะคะ อย่างแรก คือ อดทน เพราะลูกค้าเราคือคน พนักงานเราคือคน ธุรกิจโฮสเทลเราไม่มีเครื่องจักร เราต้องรับมือกับจิตใจ ทั้งฝั่งที่เป็นต้นทุนและลูกค้า เพราะฉะนั้นเราเป็นตัวกลางที่ต้อง manage ทั้ง 2 ฝั่งให้ได้ เราต้องมี mindset positive ตลอดเวลา ถึงลูกค้าจะยังไง เราต้องบอกน้อง ๆ เราว่า ลูกค้าถูก

 

SME ONE: ตรงนี้ Staff สำคัญแล้วเรา training staff อย่างไร

คุณจารุภา: เอาจริง ๆ เราไม่เคย training staff ว่าต้องทำอย่างนี้ อย่างนั้น เราไม่เคยนะ แต่เราอยู่กับเขาตลอด 24 ชม. น้อง ๆ staff จะเห็นว่าเราทำอะไรยังไงกับลูกค้าเขาก็จะทำตาม สมัยที่ราชเทวีเราเห็นลูกค้ามา เราวิ่งไปเปิดประตู หยิบกระเป๋าให้ลูกค้า น้อง ๆ จะเห็นว่าคุณเพนยังทำเลย ก็เป็นการ training ไปในตัว

 

SME ONE: หากมีผู้สนใจอยากเริ่มธุรกิจโฮสเทล คิดว่ามีอะไรที่จะแนะนำบ้าง

คุณจารุภา: จริง ๆ อยากจะบอกว่าตอนนี้มีคนทำธุรกิจโฮสเทลเยอะมาก เพราะฉะนั้นเราต้องหาจุดเด่นจริง ๆ ของเราให้เจอ อย่าง Bed station hostel มีจุดเด่นที่บุคลากร ทุกที่จะบอกว่าเราก็มีจุดเด่นบุคลากรเหมือนกัน แต่คือเราต้องรู้ว่าความน่ารักของบุคลากรเราดีดขึ้นมาจากคนอื่นแค่ไหน อย่างไร 

 

SME ONE: Bed station เคย Benchmark ตัวเองกับคู่แข่งไหม

คุณจารุภา: Benchmark อาจไม่มีนะ แต่พอเราไปเห็น แบรนด์หลาย ๆ แบรนด์ เช่น แมริออท แล้วพอดีกับมีหลายที่มาติดต่อให้เราไปบริหารแบรนด์ให้ ถ้าไม่มีโควิดนะคะ เรามีความคิดว่าสิ้นปีนี้เราจะขยายไปบริหารแบรนด์ให้ ภายใต้ชื่อ Bed station hostel แต่ไม่ลงทุนเอง ไปทำให้ บริหารให้ และขยายไปต่างจังหวัดบ้าง เข่น สมุย ภูเก็ต เชียงใหม่ ในโควิดก็ยังมีโอกาสใหม่ ๆ เพราะมีนักลงทุนเริ่ม shop ธุรกิจแล้วติดต่อมาว่าอยากให้เราไปบริหารให้ แต่เราอยากให้ set standard ของ bed station เราเองให้นิ่งก่อนคือรอเปิด สาขาข้าวสารให้เป็นปกติแล้วค่อยว่ากันอีกทีค่ะ

 


 

บทสรุป

การสังเกตมักเป็นจุดเริ่มต้นให้มองเห็นโอกาสในสิ่งที่คนอื่นมองข้าม เช่นเดียวกับ Bed station hostel ที่คุณจารุภาเริ่มสังเกตเห็นการเปลี่ยนไปของพฤติกรรมนักท่องเที่ยว ทำให้ตั้งโจทย์จากการทำยังไงให้ได้ใจลูกค้าเวลามาพักที่ Bed station แห่งนี้ เพราะแค่การรู้จักว่าใครคือกลุ่มเป้ามายคงไม่เพียงพอ แต่ต้องมองให้ทะลุผ่านความต้องการ ให้รู้ใจและสามารถเข้าไปนั่งในใจลูกค้าให้ได้ เปลี่ยนจากงานบริการเป็นการมอบประสบการณ์แบบเฉพาะที่ห่อหุ้มความเป็นแบรนด์ Bed station เพื่อสร้างความรู้สึกพิเศษ เป็นเหมือนเพื่อน เป็นเหมือนคนกันเองที่คอยต้อนรับเพื่อนเก่าที่แวะมาเยี่ยมเยียน และพร้อมสนุกกับเพื่อนใหม่เมื่อแวะมาทักทาย การสังเกตและการเรียนรู้ที่จะปรับตัวตามพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวต่างวัฒนธรรมย่อมต่อยอด และสร้างโอกาสใหม่ ๆ ให้ Bed station hostel เข้าไปนั่งในใจของชาว backpacker ทั่วโลกได้อย่างแน่นอน

 

Published on 21 September 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

 

 

 

 

บทความแนะนำ

ASAVA แบรนด์ Passion สะท้อนตัวตน ผ่านงานดีไซน์ที่มีเอกลักษน์อย่างแท้จริง

จะว่าไปแล้ว ASAVA Group เปรียบเสมือนห้องทดลองขนาดใหญ่ของพลพัฒน์ อัศวะประภา เพราะนับตั้งแต่เปิดตัวเสื้อผ้าแฟชั่นมาในปี 2008 จากวันนั้นถึงวันนี้ ASAVA Group มีการแตกแขนงธุรกิจออกไปถึง 7 แบรนด์แล้ว คือ ASAVA, ASV, White ASAVA, Uniform by ASAVA, MOO ในกลุ่มธุรกิจแฟชั่น แบรนด์ SAVA Dining และ Co Limited ในกลุ่มธุรกิจร้านอาหาร

ทุกวันนี้คุณพลพัฒน์ หรือที่หลายคนเรียกติดปากว่า “หมู อาซาว่า” ก็ยังคงสนุกกับการได้คิดและทดลองอะไรใหม่ ๆ ผ่าน 7 แบรนด์ในเครือ ด้วยความที่คุณพลพัฒน์วางโครงสร้างขององค์กรไว้อย่างละเอียด ตามขั้นตอนการสร้างแบรนด์ไว้ตั้งแต่วันแรก จึงทำให้แบรนด์ ASAVA มีจุดยืนที่สะท้อนความเป็นตัวตนของคุณพลพัฒน์ที่ชัดเจนที่สุด

 

ไปที่ จุดเริ่มต้น แนวคิด และไอเดียของธุรกิจ

ไปที่ ปัญหาที่เจอ หรืออุปสรรค ที่พบระหว่างทางของการทำธุรกิจ

ไปที่ Key Success ของธุรกิจ

ไปที่ คำแนะนำที่มีต่อ SME หรือผู้ประกอบการที่สนใจอยากทำธุรกิจด้านนี้

 


 

จุดเริ่มต้น แนวคิด และไอเดียของธุรกิจ

 

SME ONE : แบรนด์ ASAVA มีจุดเริ่มต้นอย่างไร

คุณพลพัฒน์ : จริง ๆ จุดเริ่มต้นของแบรนด์น่าจะมาจากความอยากทำมากที่สุด ไม่ได้คิดเยอะ  คิดว่าตัวเองทำอะไรได้ อยากทำอะไร ณ เวลานั้น ก็มองว่าอยากจะทำในสิ่งที่ตัวเองตั้งใจใฝ่ฝัน แต่ว่าส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่าด้วยพื้นฐาน ด้วยความที่บ้านเป็นนักธุรกิจ ทำธุรกรรมกันทั้งบ้าน แล้วอาจจะเรียนสาขานิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ก็เป็น Marketing และ PR แล้วไปต่อ MBA ด้าน Strategic Management ตอนที่ทำงานอยู่ที่อเมริกาเองก็ได้ทำงานกับดีไซเนอร์ที่เป็นบริษัทที่สเกลค่อนข้างใหญ่ เพราะฉะนั้นในเรื่องของระบบการทำงาน เราอาจจะซึมซับไว้ทั้งหมด เรื่องวิธีค้าขาย เรื่องการโฆษณาประชาสัมพันธ์ เรื่องของระบบการทำงานต่าง ๆ มันอาจจะถูก Form อยู่ในหัวโดยที่เราไม่รู้ตัว

ณ วันที่เราเริ่มต้นทำงานมันเริ่มจากความอยาก แต่ความอยากของเรามันเริ่มอย่างมีขั้นตอน โชคดีว่า ASAVA ตั้งแต่วันแรกที่ Set Up ขึ้นมาด้วยคน 3-4 คน ไม่ได้ Set Up เป็นห้องเสื้อเพียงอย่างเดียว มันก็ถูก Set Up เป็นแนวทางของการสร้างแบรนด์ ทุกอย่างมันถูก Set Up มาเพื่อให้เอื้อต่อการเจริญเติบโตในอนาคต

 

SME ONE : คุณพลพัฒน์มีงานที่มั่นคงแล้ว ตัดสินใจอย่างไรถึงกล้าออกจาก Comfort Zone ของตัวเอง

คุณพลพัฒน์ ตลอดระยะเวลาสิบกว่าปี ตั้งแต่เด็ก ๆ ตั้งแต่เริ่มใฝ่ฝันว่าอยากจะทำอาชีพที่เกี่ยวข้องกับแฟชั่น จนได้ไปเรียนต่อ จนได้ทำงานอยู่ที่อเมริกาก็เริ่มรู้จักตัวเองพอสมควร เพราะฉะนั้นสิ่งที่รู้คือ รู้ว่าอะไรที่ทำได้ไม่ดี อะไรที่เราทำได้ดี เพราะฉะนั้นเราก็มีความรู้สึกว่า หน้าที่ของเรา ณ เวลานั้น คือก้าวไปหาสิ่งที่เรามีความคิดว่าเราทำได้ดีและมีความตั้งใจที่อยากจะทำ ไม่ได้มองเรื่องธุรกิจเป็นเรื่องใหญ่ มองเรื่องของ Passion

เรื่องของการมองตัวเอง ว่าจะใช้ชีวิตอย่างไรในอนาคต จะดำเนินชีวิตต่อไปในโลกนี้ยังไงให้มีความสุขและเป็นตัวของตัวเองให้มากที่สุด

ตอนนั้นก็ไม่ได้เด็กแล้วนะ 30 ต้น ๆ แล้ว แต่ว่าอาจจะด้วยประสบการณ์ ด้วยระบบการศึกษา ด้วย Background ของครอบครัว ทุกสิ่งทุกอย่างพอผสมรวมกันก็เลยทำให้การตั้งต้นธุรกิจใหม่ค่อนข้างที่จะมีระบบ ระเบียบอย่างที่ควรจะเป็น

 

SME ONE : วันที่ตัดสินใจมองเห็นโอกาสด้วยไหม หรือว่ามาเพราะใจรักอย่างเดียว

คุณพลพัฒน์ : โอกาสคือด้วยความที่เราตั้งต้นแบรนด์ เราก็ทำ Research แต่คำว่า Research ในที่นี้ เราไม่ได้ทำ Research ที่ลึกลับซับซ้อน เราทำจากตัวเราเอง เหมือนกับเราเริ่มเก็บข้อมูลว่าตลาดเสื้อผ้าไทยเป็นอย่างไร ราคาขายอยู่ที่เท่าไหร่ Landscape ของ Industry นี้มีอะไรบ้าง แบรนด์ที่อยู่ ณ เวลานี้มีช่องทางจำหน่ายอย่างไร มี Range ราคาเท่าไหร่ Positioning เป็นอย่างไร ทำ Landscape ทำ List ประมาณนี้ ถามว่ามองเห็นช่องทางไหมก็มองเห็น เพราะตอน ณ เวลาที่เราเริ่มต้นแบรนด์ประมาณปี 2000 ต้น ๆ เป็นช่วงที่ตลาดสินค้า Added สินค้า Design ในเมืองไทย สินค้า Lifestyle ในเมืองไทยกำลังเจริญเติบโต ตอนนั้นเศรษฐกิจไทยอยู่ในยุคที่กำลังเติบโต ก็เลยเห็นโอกาสของสินค้าในหมวดหมู่ Lifestyle ที่มีช่องทาง มี Size ของธุรกิจที่ทำได้

 

SME ONE : จากวันนั้นถึงวันนี้ คนไทยเปิดรับ Fashion Design ของไทยมาก-น้อยแค่ไหน

คุณพลพัฒน์ : ตลาดเปลี่ยนไปตลอดเวลา ต้องบอกว่ายุคทองของ Thai Designer คือช่วงปี 2000 ต้น ๆ ยุคทองของดีไซเนอร์ไทยแบ่งเป็น 2 ยุคที่ชัดเจน คือยุคช่วงปี 80 ไปปลาย ๆ ถึง 90 อันนั้นเป็น Wave แรกของดีไซเนอร์ไทย จะเป็นแบรนด์พวก Soda, Greyhound เป็นยุคแรกของพี่ ๆ ที่จบมาจากเมืองนอกแล้วมาทำกัน จะมีการรวมตัวกันที่ Siam Center อย่างคุณภาณุ ที่ทำลีโอ เบอร์เนทท์ แล้วมาเปิดร้านเสื้อผ้า อันนั้นเป็น Wave แรก

Wave ที่ 2 คือช่วงปี 2000 กว่า ๆ จะเป็นแก๊งค์ที่ 2 ที่กลับมา เป็นยุคที่เรียกว่าเป็นยุคเฟื่องของ Thai Designer เช่น Disaya, Sretsis แถว ๆ นั้น ASAVA เข้ามาตอนปลาย ๆ ของ Wave นั้น นี่เป็นยุคที่ Thai Designer ค่อนข้างเติบโตเพราะว่าเศรษฐกิจเติบโต การขยายตัวของกลุ่ม Population ของชนชั้นกลางที่มีกำลังการซื้อค่อนข้างชัดเจนที่เป็นกลุ่ม B-Plus หรือ B Something ที่อาจจะยังไม่ลงทุนใส่เสื้อผ้านอก แต่ว่ามีความต้องการที่จะสร้าง Lifestyle ของตัวเอง มีความโดดเด่นเป็นเรื่องของ Psychographic  ช่วงนั้นเป็นช่วงที่ต้องบอกว่าดีไซเนอร์ไทยเราติดตลาด สังเกตได้ง่าย ๆ ว่า พื้นที่ของห้างที่เป็น Major ไม่ว่าจะเป็น เซ็นทรัล ชิดลม, สยาม พารากอน, สยาม เซ็นเตอร์, เซน, เซ็นทรัล เวิลด์ ฯลฯ ก็จะถูกครอบครองด้วย Thai Designer คือทุกคนก็มองเห็นความสำคัญ ณ เวลานั้น ตลอดระยะเวลา 10 กว่าปีเกือบ 20 ปี Landscape ก็เปลี่ยนไปเรื่อย ๆ ยุคนั้นเป็นยุคก่อน Fast Fashion และยังไม่ได้เป็นยุค Social Media

 

SME ONE : แต่พอมาในปัจจุบันมี Fast Fashion เข้ามา ดีไซเนอร์ไทยต้องปรับตัวอย่างไร

คุณพลพัฒน์ : ก็ทำงานยากขึ้น คือไม่ใช่เรื่องของ Fast Fashion อย่างเดียว Fast Fashion เนี่ยเขาเข้ามาเปลี่ยน Retail Landscape ของ Retail อยู่แล้ว มาเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภค มาเขย่าพฤติกรรมผู้บริโภคในเชิงของงานดีไซน์อยู่แล้วแน่นอน แล้วก็เหมือนตำแหน่งทางการตลาดมันขยับ คือพวกที่ High - End เลย ก็เลยลงมาเล่น Lower Price High-End เป็น Lower Case ของเขา Fast Fashion เองก็มี Upper Case นะ เพราะฉะนั้นตำแหน่งทางการตลาดมันโดนบีบตำแหน่งเข้ามามากยิ่งขึ้น ผนวกกับพอ Social Media มา คนก็มอง Fashion เปลี่ยนไป Cycle ของ Fashion ก็เปลี่ยน ทุกอย่างหมุนเร็ว คนอาจจะต้องการกระแส Fast Fashion ผนวกกับ Social Media ทำให้คนอยากได้เสื้อผ้าเยอะขึ้น บ่อยขึ้น เร็วขึ้น

ฉะนั้น Price Point มันอาจจะถูกลดลงไปอย่างเห็นได้ชัด คือตำแหน่งการตลาดเริ่มเป็นดาวกระจายมากขึ้น ทำให้ทุกคนต้องเปลี่ยนกลยุทธ์ในการสร้างแบรนด์ เปลี่ยน Channel ในการขาย ทุกคนต้องหาจุด Differentiation ของ Product ตัวเองให้ชัดเจน คำว่า Thai Designer มันเริ่มไม่ขลัง เริ่มไม่ได้เป็น Brand Asset เหมือนสมัยหนึ่งที่เคยมี

 

SME ONE : คนไทยชอบมองว่าสินค้าแฟชั่นของไทยมีราคาแพง มองเรื่องนี้อย่างไร

คุณพลพัฒน์ : เรื่องนี้ก็ต้องยอมรับว่าแฟชั่นของไทยไม่ถูก แต่ว่าเป็น Perception ของคนไทยที่ไม่ยอมจ่ายราคาให้กับดีไซเนอร์ไทย จริง ๆ คุณภาพของสินค้าไทยไม่แพ้เลย วิธีคิดทุกสิ่งทุกอย่าง ใกล้เคียงกันหมด แต่เพียงแต่ว่ามุมมองของคนไทย คือของนอกแพงได้ ของไทยห้ามแพง แม้กระทั่งอาหารไทย ถ้าคนไทยทำ ไม่ควรแพง แต่ถ้าเป็นเชฟฝรั่งทำอาหารไทยขายแพงได้ อันนั้นมันเป็นค่านิยมของคนไทยด้วยกันเองที่เรามีความรู้สึก ถ้าเป็นของเรา เราต้องถูก ซึ่งเป็นอีกค่านิยมที่ทำให้งานดีไซน์ของประเทศไทยไปไหนยาก เพราะว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดในการที่จะสร้างความเข้มแข็งของตลาด Added Value สู่งานระดับประเทศ คนในชาติต้องมองเห็นความสำคัญของมันเสียก่อน เหมือนสวีเดน เหมือนประเทศแถบยุโรปที่เขาบูชางานดีไซน์ Exotic ของประเทศ ในที่สุด Exotic ของประเทศก็กลายเป็น Exotic ที่คนยุโรปต้องยอมรับ คนอเมริกาก็ต้องยอมรับ คือคนไทยมีนิสัยชื่นชมชาวตะวันตกเป็นทุนอยู่แล้ว ทำไมเกาหลีหรือญี่ปุ่นสามารถสร้างค่านิยมที่เป็นสากลได้ คนไทยก็ไป Adopt อันนี้เป็นอีกเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับทางช่องทางตลาด แต่เป็นเรื่องของวัฒนธรรมของคนไทย

 อีกสิ่งหนึ่ง ถ้าพูดถึงเรื่องของคุณภาพต้องยอมรับจริง ๆ ว่าเรื่องต้นทุน ถ้าพูดถึง Cost Efficiency ของแบรนด์ที่เป็นระดับใหญ่ ๆ Cost Efficiency จะดีกว่าอยู่แล้ว เสื้อยืดผลิต Thai Designer ผลิต 300 ตัว 500 ตัว ต้นทุนมันสูงกว่า ราคา Retail ก็ย่อมสูงกว่า ในขณะที่เสื้อของฝรั่งตัวหนึ่งอาจจะผลิต 1,000 ตัว 5,000 ตัว มาขายทั่วโลก Cost Efficiency การทำต้นทุนเขาดีกว่าเรา

 

SME ONE : คุณพลพัฒน์สวมหมวกหลายใบเป็นทั้งดีไซเนอร์ และเจ้าของธุรกิจที่มีลูกน้องกว่า 100 คน อยากทราบว่ามีวิธีรักษาสมดุลย์ระหว่าง Pure Art หรือ Passion กับการทำธุรกิจอย่างไร

คุณพลพัฒน์ : คงหาไม่ได้ว่า Balance ยังไง แต่ว่าสุดท้าย เราเชื่อว่าคนที่ทำงานด้านดีไซน์มันมีลายเซ็นต์ของตัวเอง แบรนด์มันคือชื่อเรา เพราะฉะนั้นเราก็ต้องแน่ใจว่าสิ่งที่เรานำเสนอ มันมีศักดิ์ศรีในตัวของเราเอง ถ้ามีอะไรที่เราไม่ชอบเลย เราคงปล่อยออกไปไม่ได้ แต่บางครั้งมันต้องมีการ Compromise ว่าอะไรที่เราอาจจะไม่ชอบ 100% แต่ Consumer ชอบอะไรอย่างนี้ แต่สุดท้ายเชื่อว่า Product ที่จะยั่งยืนได้มันต้องมีจิตวิญญาณที่ชัดเจน ส่วนการตลาด ฝ่าย Marketing ก็ต้องทำไป ฝ่าย Creative ก็ต้องทำหน้าที่ใส่วิญญาณของแบรนด์ให้มันเข้มข้น

เพราะฉะนั้นเราต้องคอยทำการบ้าน คือ ทำงานกับทั้ง 2 ฝั่ง บางครั้งมันก็ผิดบ้าง ถูกบ้าง บางครั้งก็ตามใจตัวเองบ้าง บางครั้งรู้ว่าเสื้อตัวนี้ทำไปแล้วขายไม่ได้ก็ทำ เพราะว่าเรารู้สึกว่ามันเป็นวิญญาณของห้องเสื้อเรา มันเป็นวิญญาณของแบรนด์เรา แล้วเดี๋ยวขายไม่ได้ค่อยไป Sale วันหลังก็ยังได้ แต่ว่ามันไม่มีเสื้อตัวนี้ไม่ได้ สุดท้ายมันก็เป็นเรื่องของรสนิยม เรื่องของความชอบ ยอมรับว่าเราไม่ใช่นักธุรกิจ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่เราก็ไม่ใช่ศิลปิน 100 เปอร์เซ็นต์ ทุกวันนี้ของทุกชิ้นที่จะออกตลาดก็ยังต้องดูเองทุกชิ้น

 

SME ONE : จากแฟชั่นสู่ร้านอาหาร แนวคิดนี้ทีที่มาที่ไปอย่างไร

คุณพลพัฒน์ : มาจากการที่เรา Collaboration กับคนเยอะ ส่วนใหญ่การทำ Collaboration ของ ASAVA เริ่มต้นจากสิ่งที่เราคิดว่าเราทำได้ บริษัทนี้ต้องยอมรับว่ามันเริ่มจากแนวความคิด เสื้อผ้า ASAVA ก็คือแนวความคิด มันไม่ใช่แค่การนำเสนอเสื้อตัวหรือกระโปรงตัวหนึ่ง แต่เป็นการขายความคิด ขายความเชื่อ ขาย Lifestyle ยอมรับว่า Lifestyle ของตัวเองเกี่ยวข้องกับอะไรที่ข้องแวะกับการกิน การอยู่ การนอน การอ่านหนังสือ เราพยายามคิดว่าสิ่งไหนที่เป็นตัวตนของเราแล้วเราสามารถเอามาถ่ายทอดแล้ว Collaboration กับคนอื่นได้ ส่วนใหญ่ธุรกิจที่เริ่มต้นของ ASAVA เป็นธุรกิจที่เกิดจากความบังเอิญทั้งสิ้น คือเราไม่ใช่นักลงทุนที่เอา PNL เป็นหลัก ไม่ได้เป็นนักลงทุนที่ดูกระแสเงินสดเป็นหลัก หรือดู Return on Investment เป็นหลัก เราดูจากสิ่งที่คิดว่าทำได้แล้วมีความสุข เพราะฉะนั้นธุรกิจบางตัวมันก็กำไรดี บางตัวอาจจะแค่พอเลี้ยงตัวได้

ณ วันนี้ไม่เคยเสียใจที่ตัวเองเริ่มต้นธุรกิจอาหารเลย เพราะมันเป็นอีกโรงเรียนที่สอนให้เรารู้จักตัวเองมากยิ่งขึ้น ให้เราได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ในอีกร่องสมองนึงที่เราไม่เคยใช้มาก่อน ส่วนตัวเป็นอะไรที่ท้าทาย แต่ถ้าถามว่าเหนื่อยไหมก็เหนื่อยมาก ณ วันนี้ยิ่งเหนื่อยยากใหญ่เลย ภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ แต่เราบอกทุกคนว่าไม่เคยเสียใจที่เริ่มต้นมัน เพราะมันทำให้เราได้รู้จักว่าเรามีร่องสมองอีกร่องนึงที่เราไม่เคยพัฒนา คือบางทีเราอยู่กับเสื้อผ้าเยอะ ๆ ถ้าเราได้ไปทำอย่างอื่นบ้าง มันก็กลับมาช่วยให้ทำงานเสื้อผ้าของเราดีขึ้น เพราะมันสอนให้เราพัฒนาตัวเอง สอนให้เรารู้ว่า บางสิ่งที่เรารู้สึกว่าเรามีอยู่ในหัว อยู่ในตัวอาจจะยังไม่พอ อาจจะต้องไปเรียนรู้สิ่งอื่น หานู่นหานี่มาทำ มันคือการเติมเชื้อชีวิต เติมความคิดสร้างสรรค์ มันทำให้เราเจออีกโลกหนึ่ง

 


 

ปัญหาที่เจอ หรืออุปสรรค ที่พบระหว่างทางของการทำธุรกิจ

 

SME ONE : ตั้งแต่ทำธุรกิจมาเคยเจอปัญหาอะไรใหญ่ ๆ บ้างหรือไม่แล้วแก้ไขอย่างไร

คุณพลพัฒน์ : อยากให้ทุกคนมอง SME มอง แบบนี้ ธุรกิจที่ตัวเจ้าของเองเป็นจิตวิญญาณ เป็นคนผู้ริเริ่ม เป็น Founder ต้อง มอง 2 ส่วน มองในส่วนของตัวเราเองในฐานะของ Founder อันแรก คือ เป็น Private Investor เป็น Private Investment ทุกอย่างมาจากตัวเรา การเริ่มจากธุรกิจที่เป็นสเกล S แล้วขึ้นมาเป็น S ใหญ่หน่อย พอจะ M เป็น M เล็ก ๆ จะขึ้นมาเป็น M ใหญ่ ๆ ทุกช่วงมันจะติดคอขวดเรื่อย ๆ หน้าที่ของเราคือการระเบิดคอขวด ทุกครั้งที่เป็นการระเบิดคอขวดมันต้องมีการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน ในวิธีคิด ในวิธีการทำงาน นี่คือปัญหาเรื่องแรกของคนที่เป็นผู้ก่อตั้งแบรนด์หรือผู้ก่อตั้งธุรกิจ เมื่อธุรกิจขยายสเกลก็ต้องเปลี่ยนวิธีการทำงาน ต้องเปลี่ยนวิธีคิดที่เคยเป็นตัวตนเรา 100% เราก็ต้องเริ่ม Delicate งานมากขึ้น

ตรงนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่เราจะยอม Compromise กับ Growth ที่กำลังจะ Factor In เข้ามามากเท่าไหร่ โดยเฉพาะกับคนที่เริ่มต้นจากจิตวิญญาณหรือความเป็นศิลปินของตัวเอง อันนี้ก็เป็นเรื่องที่ทุกคนจะต้องตอบตัวเองว่าเท่าไหนเราถึงมีความสุข เท่าไหนมันถึงจะ Fulfill ตัวตนของเราในฐานะที่เราเริ่มต้นธุรกิจมา 1,000 ล้าน 2,000 พัน หรือ 10,000 ล้าน แน่นอนว่าวิธีคิดทุกอย่างมันต้องเปลี่ยนแปลงไป อันนี้พูดถึงในเชิงของตัวตนจิตวิญญาณของคนทำงาน

พอพูดถึงในเชิงของธุรกิจ พอธุรกิจเริ่มเติบโต บริษัทเริ่มใหญ่ขึ้น เมื่อก่อนเราเริ่มเป็นห้องเสื้อ ตอนนี้เราเริ่มมาแข่งกับบริษัทที่มันใหญ่ขึ้น เงินลงทุนมันก็ต้องใหญ่ขึ้น การที่เราจะระดมเงินทุนเข้ามาให้บริษัทมันเติบโตขึ้น อาจจะมีคนอยากลงทุนหรือถ้าที่เราเป็น Funding ของตัวเอง เราจะหาเงินมาจากไหน พอเราเริ่มหาเงินเข้ามาลงทุนมากยิ่งขึ้น Pressure ก็ยิ่งมากยิ่งขึ้น ROI ที่เราเคย เมื่อก่อนเราเคยดูบ้างไม่ดูบ้างก็จะต้องให้ความสำคัญ โดยเฉพาะถ้าเรามีเรียกเงินทุนมาจากที่อื่น มีคนเข้ามาถือหุ้นบริษัทเรามากขึ้น เพื่อการเจริญเติบโต แน่นอนมันจะมีเรื่องของผลประกอบการที่เราจะต้องให้ความสำคัญยิ่งขึ้น ดังนั้น 2 อย่างนี้มันก็จะอยู่ในหัวเราตลอดว่า เราจะไปยังไง ไปที่ไหน ไปอย่างไร นี่เป็นปัญหาที่ทุกคนต้องเจอ ถ้าอยากจะเติบโต

อีกปัญหาที่ต้องเจอในการทำธุรกิจคือ กระแสเงินสด อย่างตอนนี้มีโควิค-19 จะเห็นได้ชัดเลยว่าบริษัทที่เติบโตเร็วมากโดยที่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับกระแสเงินสดเท่าไหร่ก็จะจุกหนัก อาจจะต้องปิดกิจการเลยก็ได้ อันนี้เป็นเรื่องที่เราเคยผ่านวิกฤตนี้มา 1 หน ตอนช่วงวิกฤตการเมือง บริษัทเราค่อนข้างโตเป็น 100% มันเหมือนเราไม่ได้มีกันชนเยอะ เพราะบริษัทโตเร็วเงินที่ได้กลับมาก็เอากลับมาลงทุนให้บริษัทเติบโต เราไม่คิดเผื่อว่าจะมีสิ่งที่ไม่คาดฝันเกิดขึ้น พอเกิดวิกฤตก็ทำให้ Cash Flow เราสะดุด ครั้งนั้นเป็นเรื่องใหญ่ที่สอนตัวเองว่าสุดท้ายแล้ว จะโตเท่าไหร่ก็แล้วแต่มันต้องมีกันชนให้กับตัวเอง

ณ วันนี้เราโชคดีมาก วิกฤตโควิด-19 ทุกคนจุกเหมือนกัน เราก็จุก ยอดขายตกเป็นเดือน ๆ ถ้าเราไม่มีกันชนให้ตัวเองก็จุกเหมือนกัน เพราะฉะนั้นเมื่อบริษัทเติบโตขึ้นการ Manage บริษัทอย่างระแวดระวัง อะไรที่เป็น Growth ต้องทำให้เป็น Healthy Growth เป็นการเจริญเติบโตที่แข็งแรง

 


 

Key Success ของธุรกิจ

 

SME ONE : อะไรคือ Key Success ของแบรนด์ ASAVA

คุณพลพัฒน์ : ข้อแรกคือ ความเป็นตัวตนที่ชัดเจนของแบรนด์ คือ ลูกค้าสามารถสัมผัสได้ทันทีว่า ASAVA คืออะไร Brand Positioning เป็นอย่างไร งานดีไซต์มีลายเซ็นต์ของตัวเอง เรื่องต่อมาคือ Brand Values มีความ Authentic และมีความชัดเจนด้วย อีกอย่างนึงที่ชัดเจนคือ คำว่า Alive แบรนด์ ASAVA จะเห็นได้ว่ามันมีพื้นที่ของมันอยู่เสมอ คนเปิดข่าวไปจะต้องเห็นแบรนด์ ASAVA ตามหน้าสื่อ เดี๋ยวทำชุดประกวดนางงาม เดี๋ยวทำโน่น เดี๋ยวทำนี่ คือมันมีความ Active ของมันอยู่ตลอดเวลา ผู้บริโภคที่จะจ่ายเงินให้อะไรสักอย่าง เขาต้องการมีประสบการณ์ มี Brand Journey ที่เชื่อมโยงกับชีวิตเขา เพราะฉะนั้น ASAVA เป็นแบรนด์ที่มีความสด มีความ Active

อย่างเวลา แบรนด์ Louis Vuitton, Gucci เวลาเขาทำ Landscape ของประเทศไทย เวลาวัด Awareness กับ Visibility ของแบรนด์ออกมา แบรนด์ ASAVA เราติดที่ 1 ตลอดจาก Research ต่างประเทศ อาจจะเป็นด้วยตัวเองมีความสนใจหลากหลาย เลยขยายใยแมงมุมของแบรนด์ออกไปในทุก ๆ มิติ ทำให้ผู้บริโภคมีความเชื่อมโยงกับแบรนด์เรา

 

SME ONE : อยากให้คุณพลพัฒน์ช่วยให้คำแนะนำ สำหรับคนที่อยากจะเข้ามาอยู่อุตสาหกรรมนี้

คุณพลพัฒน์ : หนึ่ง Passion ไม่ต้องพูดถึง เพราะเป็นพื้นฐานที่คุณต้องมีอยู่แล้ว ที่อยากแนะนำคือ ต้องวางระบบหลังบ้านให้ดี ยอดขาย Domestic ต้องได้ อย่าคิดจะส่งออกอย่างเดียว ณ วันนี้มันทำให้เห็นแล้วว่า ถ้ามุ่งส่งออกอย่างเดียว เวลาถูก Interrupt หรือ Disrupt เมื่อไหร่ คุณก็ตายอย่างเดียว คำต่อมาคือ ต้อง Diversify บริษัทของคุณให้มีหลายกระเป๋า หลายวิธีหาเงิน เวลาถึงทางตัน มันจะได้ไม่พัง มันจะได้มีทางเลี้ยว

ส่วนเรื่องการสร้าง Product สุดท้ายมันจะต้องมีความ Authentic จะด้วยคุณสมบัติของแบรนด์ จะด้วย Functional จะด้วย Emotion แบรนด์จะต้องมีสิ่งที่หาอะไรมาทดแทนยาก แบรนด์ต้องมีความคมชัดที่โดนใจผู้บริโภค มีสิ่งที่ผู้บริโภคมองเห็นคุณค่า ข้อนี้คือสิ่งที่สำคัญที่สุด และสิ่งนี้ไม่ได้เป็นสิ่งที่ดำรงอยู่ตลอดไป สิ่งนี้ต้องปรับเปลี่ยนวิวัฒนาการอยู่เสมอ แต่แน่นอนมันต้องมีรากฐานจากสิ่งที่มันถูกสร้างขึ้นมา เพราะฉะนั้นเรื่องนี้ก็เป็นสิ่งที่นักสร้างแบรนด์ต้องรู้

 


 

คำแนะนำที่มีต่อ SME หรือผู้ประกอบการที่สนใจอยากทำธุรกิจด้านนี้

 

SME ONE : คำแนะนำ สำหรับคนที่อยากจะเริ่มต้น อาจจะเป็นคนทำงานแล้วอยากไปเปิดร้านเล็ก ๆ มีคำแนะนำสำหรับคนกลุ่มนี้ไหม

คุณพลพัฒน์ : หนึ่ง ต้องอย่าใจร้อน คือเวลามองธุรกิจอยากจะเริ่มจากอะไรก็แล้วแต่ ให้เริ่มจาก Product ที่เรามีความอยาก เราทำได้ เรามีความรู้ความชำนาญ อย่ายืมจมูกคนอื่นหายใจ ต้องเริ่มจากสิ่งที่เราแน่ใจว่าเรารู้ เรามีความชำนาญ แล้วเราทำได้ สอง เมื่อเราทำได้ อย่าตะกละ คำว่าตะกละในที่นี้ คือการวางระบบของการทำงานให้รัดกุม คุณต้องรู้ว่าต้นทุนเท่าไหร่ มองไปแล้วรู้ว่ากำไรเท่าไหร่ แล้วทั้งหมดถ้าหักลบกลบหนี้แล้ว คุณเติบโต คุณต้องคิดว่าจะแบ่งสรรปันส่วนเงินก้อนนี้อย่างไร  วิธีคิดอย่างเป็นระบบเนี่ย ใช้ได้กับทุกคน ไม่ว่าจะเล็กจะใหญ่ ไม่ว่าคุณจะขายน้ำเต้าหู้ ถ้าคุณเริ่มคิดอย่างมีระบบ วันหนึ่ง น้ำเต้าหู้ของคุณก็ขึ้นห้างได้ ถ้าคุณรู้จักจัดสรรปันส่วนการใช้ทรัพยากรตัวเองให้ดี การใช้ความคิดสร้างสรรค์ ใช้ความสามารถ การจัดแจงเรื่องเวลา ทุกสิ่งทุกอย่าง การจัดการเรื่องรสชาติ

พอเข้ามาโซนของรายได้ ถ้าคุณมีการจัดสรรปันส่วนรายได้ที่ชัดเจน ต้นทุนที่ชัดเจน เซฟเงินที่ชัดเจนเพื่อการเจริญเติบโตที่ชัดเจน แล้วก็เติบโตแบบที่ไม่ได้เร็วจนเกินไป ไม่เช่นนั้นวันหนึ่งมันจะกลับมาเป็นหลุมพรางของตัวเอง เวลาทำธุรกิจปัญหาของคนทุกวันนี้คือทุกคนอยากกิน แต่ตักอาหารยัดเข้าปากตัวเองมากกว่าที่ตัวเองเคี้ยวได้ สุดท้ายก็สำรอกออกมา เพราะว่าโลกทุกวันนี้สอนให้ทุกคนกอบโกยเกินไป คนที่มีความสำเร็จประเดี๋ยวประด๋าว มันไม่ได้วัดประสิทธิภาพจริงๆ แต่ว่าความสำเร็จในระยะยาวต่างหาก ที่จะเป็นมาตรวัดประสิทธิภาพของตัวเรา เพราะฉะนั้นการทำธุรกิจต้องวัดกันในระยะยาว

 

SME ONE : ช่วงนี้หลายคนขายของเป็นอาชีพเสริม พอถึงจุดที่รายได้เพิ่มขึ้นจนเท่างานประจำ บางคนเลือกไม่ถูกว่าจะไปทางไหน พอจะมีคำแนะนำไหม

คุณพลพัฒน์ : ทุกการตัดสินใจมันต้องมีความเสี่ยง มันขึ้นกับ Risk Factor ของแต่ละคน คุณต้องคิดให้รอบคอบว่าถ้าคุณเป็นพนักงานชั้นดี เชื่อว่าคนที่เป็นพนักงานชั้นดีมีประสิทธิภาพเกรด A ออกไปเปิดธุรกิจของตัวเองก็รอด แต่คนที่เป็นพนักงานเกรด B, C ไม่ค่อยมีความรับผิดชอบ ไม่ค่อยมีตรรกะในการใช้ชีวิต ไปเปิดบริษัทตัวเอง ถ้าโชคไม่ดีจริง ๆ ก็มักจะเจ๊ง เพราะสุดท้ายการเปิดธุรกิจของตัวเองต้องใช้ความรับผิดชอบมากกว่าการเป็นพนักงานประจำ ต้องมีวินัย มีความเพียร มีวิธีคิดที่เป็นกระบวนการ มีตรรกะที่ชัดเจน

เพราะฉะนั้น การที่คุณจะเปลี่ยนตัวเองจากมนุษย์เงินเดือนไปเป็นเจ้าของธุรกิจ คุณก็ต้องมองว่าสิ่งที่คุณกำลังก้าวไป ตลาดที่รออยู่ข้างหน้าเป็นตลาดที่มีศักยภาพไหม มี Risk Factor อะไรบ้างในตลาดนั้น ไม่ใช่เป็นตลาดที่ Demand เกิดมาชั่วคราวแล้วหาย คุณก็ต้องคิดว่าระยะยาว ถ้าคุณออกจากงานประจำไป ศักยภาพของตลาดที่คุณกำลังมุ่งหน้า มี Commitment แค่ไหน ตรงนี้เป็นเรื่องสำคัญ ณ วันนี้หลาย ๆ คนก็ซื้อมาขายไป ซื้อของเมืองจีนมาขาย ถามว่า Make Money ไหม Make Money คุณอาจจะได้กำไรมากกว่า ASAVA ก็ได้ แต่ถ้าคุณไม่เก็บหอมรอมริบ หรือว่าคุณไม่พยายามเปลี่ยนจากพ่อค้าคนกลาง คุณก็ไม่มีแบรนด์ คุณก็ไม่มี Asset แล้วถ้าคุณซื้อมาขายไปโดยที่ไม่ได้สร้างแบรนด์ ไม่ได้มีคุณภาพที่ดีกว่า ไม่มีระบบ Logistic ที่ดีกว่า คุณไม่ได้มี Loyalty อะไรกับลูกค้าเลย เพราะฉะนั้นวันนึงถ้าคนอื่นเข้ามาทำเหมือนคุณ แล้วเขาสามารถกดราคาได้ต่ำกว่าคุณ เลือกของได้สวยกว่าคุณ คุณก็หายไปในที่สุด ดังนั้นคุณต้องคิดว่าตัวคุณเอง เป็น Asset แบบไหน คุณต้องตอบคำถามตัวเองให้ได้

 


 

บทสรุป

          การเริ่มต้นธุรกิจทุกประเภทควรเริ่มต้นจากสิ่งที่ตัวเองมีความรู้และความชำนาญ พยายามอย่าไปยืมจมูกคนอื่นหายใจ นอกจากนี้ในช่ววงเริ่มต้นผู้ประกอบการต้องคิดและวางระบบงานหลังบ้านให้ดีทั้งในเรื่องของระบบบัญชี การจัดสรรปันส่วนรายได้ที่ชัดเจน ต้นทุนที่ชัดเจน ในส่วนของรายรับก็ควรการกระจายรายได้ให้มาจากหลายช่องทาง ถ้าเป็นธุรกิจเสื้อผ้าแฟชั่น การสร้าง Product จะต้องมีความ Authentic ด้วยคุณสมบัติของแบรนด์ไม่ว่าจะเป็น Functional จะด้วย Emotion หรืออะไรก็แล้วแต่ จะต้องเป็นสิ่งที่หาอะไรมาทดแทนได้ยาก

 

 

Published on 21 September 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

 

บทความแนะนำ

ITAP เบื้องหลังผู้สร้างเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพิ่มความสามารถการแข่งขันเอสเอ็มอีในยุค New Normal

ปัญหาแหล่งเงินทุนไม่ได้เป็นเพียงปัญหาเดียวที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีต้องเผชิญ แต่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังขาดเทคโนโลยีและนวัตกรรมซึ่งเป็นปัจจัยที่สำคัญมากต่อการทำธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคดิจิตัลดิสรัปชั่น

แน่นอนว่าผู้ประกอบการจำนวนหนึ่งเริ่มมองเห็นความเสี่ยงว่าหากไม่ปรับตัวก็จะถูกดิสรัปในอีกไม่นาน แต่ส่วนใหญ่มักติดปัญหาที่ว่า ไม่รู้จะเริ่มต้นเปลี่ยนอะไร เปลี่ยนอย่างไร ควรทำอะไรก่อนหลัง หรือต้องใช้เทคโนโลยีอะไรมาสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน 

ปัญหาต่างๆ เหล่านี้สามารถคลี่คลายได้ หากผู้ประกอบการเข้ามาขอคำปรึกษากับ ITAP (Innovation and technology assistance program) หรือ โปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ที่เกิดขึ้นมาเพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมสามารถสร้างนวัตกรรมทางเทคโนโลยีเพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน ดร.นันทิยา วิริยบัณฑร ผู้อำนวยการโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ITAP) กล่าวว่า สาเหตุที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยเติบโตช้า เพราะไม่มีความพร้อมในการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้อย่างตรงจุด ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนากระบวนการผลิต การลดต้นทุน และการพัฒนามาตรฐาน ดังนั้นหากนำเทคโนโลยีต่าง ๆ ไปช่วยแก้ปัญหาพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ที่ตอบโจทย์ตลาด จะช่วยเร่งการเติบโตของผู้ประกอบการได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

การที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีส่วนใหญ่ไม่มีหน่วยวิจัยพัฒนาหาเทคโนโลยีอยู่ในบริษัทนี้เอง ITAP จึงมีทำหน้าที่สร้างกลไกเชื่อมโยงผู้ให้บริการเทคโนโลยี (Technology Service Providers) เข้ากับผู้ใช้เทคโนโลยี (Technology Users) โดยทำงานผ่านเครือข่ายที่ปรึกษาทางเทคโนโลยีอยู่ทั่วประเทศถึง 20 แห่งครอบคลุมทั่วภูมิภาคของไทย แต่ละแห่งจะมีเจ้าหน้าที่ Industrial Technology Advisor (ITA) ที่มีความรู้ทางด้านวิศวกรรม และวิทยาศาสตร์ ประจำอยู่ตามพื้นที่ต่างๆ คอยรับโจทย์ความต้องการเบื้องต้นจากผู้ประกอบการ และสรรหาผู้เชี่ยวชาญด้านที่ตรงกับโจทย์ความต้องการของผู้ประกอบการ เข้าไปให้คำปรึกษาเชิงลึกถึงสถานที่ของผู้ประกอบการโดยตรง

 “ผู้ประกอบการบางรายที่ติดต่อเข้ามา ITAP อาจแก้ปัญหาให้เขาได้ภายในวันนั้นเลย เช่น เราจะแนะนำให้ฝ่ายเทคนิคเข้าไปช่วยสอนในโรงงาน หรือถ้าผู้ประกอบการต้องการให้ผู้เชี่ยวชาญเข้าไปช่วยดำเนินโครงการ กรณีนี้เราจะมี ITA ช่วยดูแลบริหารจัดการโครงการเพื่อให้สามารถตอบโจทย์ให้กับผู้ประกอบการแต่ละรายได้อย่างเหมาะสม”

ทั้งนี้ ITA  จะดูแลตั้งแต่ให้คำปรึกษา เชื่อมโยงการทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญ ตลอดจนนำเสนอขออนุมัติเรื่องงบประมาณ และระบุระยะเวลาโครงการซึ่งแล้วแต่โจทย์ของบริษัท โดยทั่วไปอยู่ในระหว่าง 3-8 เดือน โดยรูปการสนับสนุนของ ITAP จะให้ผู้ประกอบการออกงบไปก่อน 100% เมื่อจบโครงการแล้ว จะมีผู้ประเมินผลโครงการ จากนั้นจึงสามารถเบิกเงินสนับสนุนคืนย้อนหลังได้ 50% แต่ไม่เกิน 4 แสนบาท

และในยุคดิจิตัลทรานส์ฟอร์เมชั่น ITAP ยังมีบทบาทในการเข้าไปช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถปรับตัวให้ทันต่อการแข่งขันยุคใหม่ ด้วยการนำเครื่องมือต่างๆ เข้าไปช่วยองค์กรสามารถทรานส์ฟอร์มตัวเองได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น อาทิ ระบบ Design thinking เข้าไปอยู่ในกระบวนการทำงานเพื่อออกแบบสินค้าหรือบริการ และเครื่องมือ Business Model Canvas มาช่วยออกแบบโมเดลธุรกิจ จากนั้นยังพาผู้ประกอบการไป Matching กับผู้เชี่ยวชาญด้านช่องทางการทำตลาด หรือเจ้าของเทคโนโลยีโซลูชั่น

ล่าสุดกับสถานการณ์ COVID-19 ซึ่งกระทบต่อผู้ประกอบการเป็นจำนวนมาก ITAP ได้มีการทำงานเชิงรุกซึ่งแบ่งออกเป็นแผนระยะสั้น และแผนระยะยาว

แผนระยะสั้นมุ่งเน้นการนำผู้เชี่ยวชาญเข้าไปช่วยเหลือผู้ประกอบการให้สามารถปรับตัวให้อยู่รอดในสถานการณ์เช่นนี้ อาทิ โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุน ลดของเสีย ลดพลังงาน และโครงการที่นำเทคโนโลยีดิจิตัลไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับธุรกิจในยุค New Normal ยกตัวอย่างที่ผ่านมา ITAP เข้าไปช่วยเหลือธุรกิจท่องเที่ยวและโรงแรม ในการพัฒนาดิจิตัลคอนเทนต์ และนำไป Plug-in กับแพลตฟอร์มต่างๆ เพื่อเจาะนักท่องเที่ยวได้ตรงกลุ่มเป้าหมาย

นอกจากนี้ ITAP ยังของบประมาณเสริมจากทางภาครัฐเพื่อเข้าไปช่วยเหลือในโครงการขนาดใหญ่เพื่อให้ผู้ประกอบการปรับตัวได้ อย่างโครงการกลุ่มช่วยทดสอบเครื่องมืออุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับ COVID-19 โดยสนับสนุนวงเงินเพิ่มในงบ 70% (จากปกติ 50%) เพราะต้องการกระตุ้นให้ผู้ประกอบการไทยสามารถพัฒนาอุปกรณ์ดังกล่าวได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น

สำหรับแผนระยาวนั้น ITAP มองว่าเมื่อผู้ประกอบการสามารถปรับตัวจากสถานการณ์ COVID-19 ได้แล้ว กลุ่มนี้จะต้องเร่งหานวัตกรรมเพื่อต่อยอดธุรกิจให้เข้มแข็ง โดยส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้ประกอบการยกระดับเป็นผู้ประกอบการฐานนวัตกรรม หรือ Innovation Driven Enterprise (IDE) สร้างนวัตกรรมในสินค้าและบริการให้มีความโดดเด่น สามารถขายในราคาที่สูงขึ้น และมีกำไรต่อหน่วยสูงขึ้น

แต่การยกระดับให้ผู้ประกอบการเป็น IDE ดังกล่าวนั้น ถือเป็นเป้าหมายในระยะยาว ITAP จึงบูรณาการทำงานร่วมกับหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเชื่อมโยงการทำงานให้ครบวงจร  อาทิ โครงการส่งเสริมผู้ประกอบการธุรกิจอาหารในการผลิตอาหารฟังก์ชั่น ITAP ทำงานร่วมกับศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ TCELS และกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เป็นต้น

 โปรแกรม ITAP เปิดบริการให้แก่ผู้ประกอบการทุกวันทำการ พร้อมช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยในการปรับตัวสู่ยุค New Normal สำหรับผู้ประกอบการที่เป็นร้านค้า ฟาร์ม กลุ่มสหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน ห้างหุ้นส่วน และบริษัทในภาคผลิตที่มีรายได้ต่อปีไม่เกิน 500 ล้านบาท และบริษัทในภาคบริการมีรายได้ต่อปีไม่เกิน 200 ล้านบาท ที่ต้องการการสนับสนุนทางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม สามารถติดต่อเข้ามาใช้บริการโปรแกรม ITAP สวทช. ได้ทุกเครือข่ายทั่วประเทศไทย

สำหรับผู้ประกอบการ SME ที่สนใจอยากเป็นสมาชิกหอการค้า สามารถติดต่อได้ที่ 

เว็บไซต์ https://itap.nstda.or.th/

Published on 21 September 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย






บทความแนะนำ

สมอ. สถาบันมาตรฐานแห่งชาติ ยกระดับมาตรฐานเพิ่มศักยภาพธุรกิจ

ในโลกการแข่งขันทางธุรกิจที่มีผู้ประกอบการมากมาย สิ่งสำคัญหนึ่งที่จะทำให้ SME โดดเด่นแตกต่างจากคู่แข่งอื่นก็คือ คุณภาพของสินค้าและบริการ หากสินค้าและบริการมีคุณภาพดีและได้รับการรับรองมาตรฐานย่อมเป็นแต้มต่อในสนามแข่งขัน การมีมาตรฐานจึงเป็นหัวใจสำคัญของธุรกิจ เป็นเรื่องพื้นฐานที่ SME ไม่อาจละเลยไม่ว่าโลกธุรกิจจะเปลี่ยนโฉมหน้าไปอย่างไร

สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ในฐานะสถาบันมาตรฐานแห่งชาติ ให้ความสำคัญต่อการขับเคลื่อนสินค้าและบริการให้เป็นที่ยอมรับและแข่งขันได้ในระดับสากล โดยสมอ. มีภารกิจด้านการส่งเสริมผู้ประกอบการให้มีศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้า โดยใช้มาตรฐานเป็นเครื่องมือสำคัญในการดำเนินธุรกิจ สร้างการยอมรับและสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค ตลอดจนคุ้มครองผู้บริโภคให้ปลอดภัยจากการใช้สินค้า 

มาตรฐานของ สมอ. จึงเป็นเหมือนเครื่องหมายการันตีคุณภาพที่ผู้ประกอบการ SME สามารถนำไปใช้ในทางการตลาด

คุณนฤมล วาณิชย์เจริญ ผู้อำนวยการกองส่งเสริมและพัฒนาด้านการมาตรฐาน สมอ. กล่าวว่า มาตรฐานของสมอ. มีหลายระดับ ตั้งแต่มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน(มผช.), มาตรฐานอุตสาหกรรมเอส(มอก.เอส), มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม(มอก.) เป็นต้น 

มอก.เอส ทำขึ้นมาสำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีโดยเฉพาะโดยมอก.เอส จะอยู่ระหว่าง มผช. กับ มอก. ผู้ประกอบการอาจพัฒนามาจาก มผช. แล้ว แต่ยังไม่ถึง มอก. ก็สามารถขอการรับรองในส่วนของ มอก.เอส ได้ คุณนฤมลกล่าว

มอก.เอส เริ่มประกาศใช้ในปี 2561 ผู้ประกอบการที่เคยได้รับใบรับรองมาตรฐาน มอก.เอส ดำเนินธุรกิจ อาทิ ที่นอนยางพารา, ดอกไม้ประดิษฐ์จากวัสดุแปรรูป, การบริการนวดและสปา, การบริการซักอบรีด, การบริการกำจัดปลวก หนูและแมลง เป็นต้น

คุณนฤมลกล่าวว่า ในส่วนของมอก.เอสเนื่องจากเราเพิ่งดำเนินการมาไม่นาน ก็จะมีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีสนใจขอรับบริการส่วนหนึ่ง ซึ่งยังไม่มากนักและเนื่องจากต้องเสียค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบ SME ก็เหมือนว่ายังไม่ค่อยสนใจเท่าไหร่

สำหรับสถานการณ์ภาพรวมของ SME คุณนฤมล กล่าวว่า SME ควรเน้นเรื่องคุณภาพสินค้าให้เป็นไปตามมาตรฐาน เพราะบางครั้งกระบวนการผลิตของ SME ยังเป็นแบบพื้นๆ ทั่วไป และการรักษาคุณภาพยังไม่สม่ำเสมอ 

“SME ยังไม่มีการควบคุมคุณภาพสินค้าในการผลิต เราก็จะเห็นสินค้าบางรุ่นที่ดี ผู้บริโภคถูกใจ แต่พอมาอีกรุ่นหนึ่ง ปรากฏว่าไม่ได้มาตรฐาน ตกลงมา ทำให้สินค้าไม่เป็นที่ยอมรับ, SME บางรายพอได้มาตรฐานระดับหนึ่งแล้วก็หยุดนิ่ง แต่บางครั้งเทรนด์ของผู้บริโภคเปลี่ยนไป ถ้าหยุดอยู่กับที่ ตอนนี้อาจจะขายได้ดี แต่พอไม่มีการพัฒนาต่อเนื่อง ก็อาจทำให้ตกได้เหมือนกัน 

คุณนฤมล กล่าวและเสริมว่า SME ควรผลิตสินค้าให้ดีสม่ำเสมอโดยตลอดและมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเช่น พัฒนาจาก มผช. ไปสู่ มอก.เอส พัฒนาต่อให้ได้ มอก. และต่อไปถึงมาตรฐานสากล

ในปัจจุบันเทรนด์ของการมาตรฐานให้ความสำคัญกับการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมตามหลักการ BCG Model ได้แก่ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) มุ่งยกระดับไปสู่ระบบการผลิตสมัยใหม่ที่ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า เพื่อรักษาความมั่นคงทางวัตถุดิบและความสมดุลของสิ่งแวดล้อม

คุณนฤมลกล่าวว่า สมอ.ได้กำหนดมาตรฐานเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียนแล้ว โดย SME ควรปรับตัวเรื่องกระบวนการผลิต เน้นกระบวนการนำวัตถุดิบกลับมาเวียนใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อลดปริมาณของเสียให้ได้มากที่สุด รวมถึงเรื่อง Green การผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

“SME อาจหมุนเวียนใช้ผลิตภัณฑ์ เช่น กล่อง หรือสิ่งของอื่นๆ หรืออย่างน้อยๆ SME ช่วยในเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อม ทำกระบวนการให้เป็น Green” คุณนฤมลกล่าว

สำหรับการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 สมอ. กำลังดำเนินการกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับวิถีปกติใหม่ (New Normal) จำนวน 27 มาตรฐานได้แก่หน้ากากผ้า, เฟซชิลด์, แว่นตานิรภัยใช้ทางการแพทย์, เสื้อกาวน์ผ่าตัด, ตู้ความดันลบ, เครื่องช่วยหายใจ, เครื่องฆ่าเชื้อด้วยยูวีซี (UVC), เครื่องวัดอุณหภูมิร่างกายแบบอินฟาเรด, หมวกคลุมผมทางการแพทย์ เป็นต้น เพื่อให้ผู้ผลิตใช้เป็นแนวทางในการผลิตสินค้าให้ได้มาตรฐานและมีความปลอดภัย

ผู้ประกอบการจึงต้องติดตามเทรนด์การมาตรฐานที่เปลี่ยนแปลงไป และพัฒนาไม่หยุดนิ่งเพื่อสร้างการยอมรับแก่ผู้บริโภคและสังคม

นอกจากคุณภาพมาตรฐานแล้ว คุณนฤมลกล่าวว่า อีกเรื่องสำคัญสำหรับ SME คือเรื่องการตลาดดิจิตอลและโซเซียล มีเดีย โดย SME ควรเรียนรู้เรื่องสื่อดิจิตอล เพื่อทำให้สินค้าและบริการเป็นที่รู้จักและยอมรับ 

สมอ. มีโครงการต่างๆ เพื่อให้ความรู้และพัฒนาผู้ประกอบการทั้ง OTOP, SME เกี่ยวกับสื่อดิจิตอล การตลาด การขายออนไลน์ เป็นต้น 

คุณภาพและมาตรฐานสินค้าบริการ บวกกับการตลาดในยุคดิจิตอล จึงเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับผู้ประกอบการ SME ที่ต้องการสร้างความสามารถเชิงแข่งขัน

สำหรับผู้ประกอบการ SME ที่สนใจ สามารถติดต่อได้ที่ https://www.tisi.go.th/ หรือโทร 0-2354-3266 , 0-2202-3304

Published on 18 September 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

บทความแนะนำ

ถึงเวลาเอสเอ็มอี รุกตลาดสมุนไพร

หัวข้อ : ถึงเวลาโกยเงิน SME รุกตลาดสมุนไพร
อ่านเพิ่มเติม : www.kasikornbank.com/Herb_Market.pdf

 

สมุนไพรถือเป็นดาวเด่นในแวดวงธุรกิจเพื่อสุขภาพและความงาม ซึ่งในระยะหลังสามารถพัฒนาไปสู่ผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายมากขึ้น ปัจจุบันการผลิตสมุนไพรในไทยส่วนใหญ่เน้นการผลิตเพื่อบริโภคในประเทศเป็นหลัก โดยมีผู้ผลิตที่สำคัญคือ กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และมีสมุนไพรบางส่วนที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ เช่น จีน อินเดีย เป็นต้น (ส่วนใหญ่จะเป็นวัตถุดิบและสารสกัดสมุนไพรที่ได้รับความนิยมในประเทศนั้น ๆ และไม่สามารถผลิตในไทยได้ เพื่อนำมาใช้เป็นสารตั้งต้นในการทำผลิตภัณฑ์สมุนไพร)

เมื่อพิจารณาถึงห่วงโซ่การผลิต จะพบว่าผู้ประกอบการไทย จะกระจุกตัวอยู่ในผลิตภัณฑ์ต้นน้ำและกลางน้ำมากที่สุด กล่าวคือ เป็นการผลิตสมุนไพรสด หรือหากเป็นสมุนไพรแปรรูป ก็จะมีนวัตกรรมที่ไม่สูงมาก เช่น บด อัดเม็ด/แคปซูล มูลค่าที่เกิดขึ้นจากผลิตภัณฑ์จึงไม่สูงนัก ในขณะที่ผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีความได้เปรียบด้านเงินทุนและเทคโนโลยี จะเน้นทำตลาดผลิตภัณฑ์กลางน้ำขึ้นไป เน้นนวัตกรรมขั้นสูงขึ้นมาอีกระดับ เช่น การผลิตสมุนไพรออร์แกนิคแปรรูป สารสกัดเข้มข้น ซึ่งสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้มากขึ้น

ในระยะข้างหน้าธุรกิจสมุนไพรยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก โดยมีปัจจัยหนุนสำคัญ คือ

  • เทรนด์การบริโภคของคนรุ่นใหม่ที่นิยมใช้สมุนไพรเป็นทางเลือกในการดูแลสุขภาพ โดยมองว่าปลอดภัยและมาจากธรรมชาติ
  • นโยบายของภาครัฐที่ส่งเสริมผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมสมุนไพร ผ่านแผนแม่บทว่าด้วยการพัฒนาสมุนไพรปี 2560-2564 (มีสมุนไพรที่เป็นสินค้าเด่น 4 ชนิด คือ ขมิ้นชัน ใบบัวบก ไพล กระชายดำ)
  • การดำเนินงานของกระทรวงสาธารณสุข ที่ส่งเสริมให้โรงพยาบาลและสถานพยาบาลใช้สมุนไพรทดแทนการนำเข้ายาแผนปัจจุบันมากขึ้น โดยการเพิ่มรายการสมุนไพรเข้าไว้ในบัญชียาหลักแห่งชาติ

 

สำหรับเทรนด์การบริโภคสมุนไพรในระยะต่อไป คาดการณ์ว่าธุรกิจด้านการแพทย์และความงามจะมีความต้องการสินค้าสมุนไพรเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มอาหารเสริมและเวชสำอาง นอกจากนี้อีกกลุ่มตลาดศักยภาพที่น่าจับตาก็คือ

  • กลุ่มนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในไทย เช่น จีน ญี่ปุ่น ที่มีความชื่นชอบผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรไทยที่มีเอกลักษณ์พื้นถิ่น
  • ตลาดส่งออกที่มีอัตราการบริโภคสินค้าสมุนไพรสูง เช่น เยอรมนี ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น เป็นต้น

 

โดยผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรที่คาดว่าจะเป็นที่ต้องการของตลาด ได้แก่

เมื่อวิเคราะห์ถึงกลุ่มสมุนไพรที่ภาครัฐพยายามผลักดันและส่งเสริมให้เกิดการสร้างมูลค่าเพิ่ม ขมิ้นชัน ถูกมองว่าเป็นสมุนไพรไทยที่มีศักยภาพและมีโอกาสทางการตลาดสูง

  • สามารถนำมาปรับใช้ในธุรกิจอาหาร จากการใช้เป็นเครื่องเทศ
  • นำมาเป็นส่วนผสมในเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์สปา
  • ปัจจุบันสารสกัดจากขมิ้นชันยังถูกขึ้นทะเบียน อย. สามารถใช้แทนยาแผนปัจจุบันในการบรรเทาปวดจากโรคข้อเสื่อมได้อีกด้วย
  • ความต้องการขมิ้นชันในเชิงทางแพทย์จะมีเพิ่มมาขึ้น เพื่อการรักษาและสามารถแข่งขันในตลาดกับยาแผนปัจจุบันได้มากขึ้น
  • สามารถนำมาผลิตในรูปแบบออร์แกนิค น้ำมันหอมระเหยหรือสารสกัดจากขมิ้นชันที่ได้มาตรฐานรับรองด้านความปลอดภัยซึ่งมีมูลค่าเพิ่มสูง

แม้ว่าโอกาสทางการตลาดสำหรับผลิตภัณฑ์สมุนไพรจะมีอยู่มาก แต่ความท้าทายของผู้ประกอบการที่สำคัญคือ ความน่าเชื่อถือของผู้บริโภคที่มีต่อผลิตภัณฑ์ในแง่มุมต่าง ๆ

  • การควบคุมการผลิตให้ได้คุณภาพและมาตรฐานเพียงพอ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค/ซัพพลายเออร์ (อาทิ การทราบแหล่งที่มา/กระบวนการผลิตที่ตรวจสอบย้อนหลังได้/การร่วมมือกับสถาบันวิจัยต่าง ๆ ในการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์)
  • การตามให้เท่าทันเทรนด์การบริโภคของตลาด
  • การสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับผู้บริโภค ผ่านการออกแบบบรรจุภัณฑ์
  • การสื่อความไปยังผู้บริโภคเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์และบริโภคสมุนไพรที่ถูกวิธี ปลอดภัยและเห็นผล จะช่วยยกระดับธุรกิจสมุนไพรของไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากลได้

 

Published on 18 September 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

 

 

บทความแนะนำ