EXIM BANK เร่งภารกิจติดปีก SMEs พร้อมรุกตลาดส่งออกเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย

EXIM BANK เร่งภารกิจติดปีก SMEs

พร้อมรุกตลาดส่งออกเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย

 

สถานการณ์การส่งออกของไทยในขณะนี้เปรียบไปแล้วก็เหมือนสภาพอากาศที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ปัจจุบันสภาพอากาศทั่วไปท้องฟ้ายังสดใส เช่นเดียวกันกับภาพรวมมูลค่าส่งออกของไทยที่ประกาศออกมาล่าสุดเมื่อเดือนมีนาคม 2565 มีมูลค่าการส่งออกสูงสุดเป็นประวัติการณ์อยู่ที่ 28,860 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 19.5% ส่งผลให้มูลค่าส่งออกในไตรมาส 1 ของปี 2565 แตะระดับ 73,601 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 14.9%

ในระยะถัดไป สถานการณ์การส่งออกเริ่มมีปัจจัยเสี่ยงมากขึ้น เปรียบได้กับสภาพอากาศที่เริ่มมีเมฆฝน

ปกคลุม จากสภาพเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ผลกระทบสงครามรัสเซีย-ยูเครน เร่งให้เกิดความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อในหลายประเทศ ผนวกกับเศรษฐกิจจีนชะลอตัวจากนโยบาย Zero-COVID ที่ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจของจีนหยุดชะงัก ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยไปตลาดจีน ซึ่งจีนเป็นตลาดส่งออกเป็นอันดับ 2 ของไทย รวมถึงปัญหา Supply Chain Disruption จากการขาดแคลนชิปและตู้คอนเทนเนอร์ยังมีอยู่

แม้การส่งออกในช่วงที่เหลือของปีจะมีปัจจัยเสี่ยงอยู่บ้าง แต่ถ้าผู้ส่งออกไทยมีการเตรียมตัวที่ดี มีแผนมีเครื่องมือที่ดี ก็ยังมีหลายโอกาสที่ซ่อนอยู่ จะทำให้ฟ้าหลังฝนสดใสมากขึ้น และช่วยสร้างโอกาสให้กับ SMEs ไทยได้อีกมาก

ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) กล่าวว่า ในส่วนของ EXIM BANK เป็นหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญเสมือนเป็นลมใต้ปีกที่คอยผลักดัน SMEs ไทยให้โผบินสู่ตลาดส่งออกได้อย่างเต็มที่ โดย EXIM BANK ได้ตระเตรียมความพร้อมในการเป็นกัปตันนำกองเรือเล็กหรือ SMEs ไทยลุยตลาดส่งออก โดยให้บริการตอบโจทย์ความต้องการตลอดวงจรการค้าในมิติต่าง ๆ คือ

ตกแต่งเรือ เตรียมความพร้อมก่อนออกลุยน่านน้ำ ด้วย Grooming Program ผ่านการ Training บ่มเพาะความรู้/ทักษะการส่งออก เจาะลึกข้อมูลตลาดส่งออก เช่น กฎระเบียบการค้า สิทธิประโยชน์ รวมถึงข้อมูลคู่ค้า พฤติกรรมผู้บริโภค ในแต่ละประเทศ และการจัดทำ SME Export Studio เสมือนเป็นห้องแต่งตัวปั้นสินค้าไทยให้พร้อมส่งออกอย่างครบวงจร โดยพร้อมเป็นที่ปรึกษาและช่วยสนับสนุน/พัฒนาสินค้าไทยในด้านต่างๆ

ติดหางเสือ ให้เรือแล่นถูกทิศ ผ่าน Market & Network Seeking Program โดยใช้ช่องทางหรือหน่วยงานพันธมิตรต่าง ๆ ในการช่วยชี้ตลาดหรือเชื่อมโยงเครือข่ายคู่ค้าในต่างประเทศ เช่น EXIM Thailand Pavilion ร้านค้าออนไลน์ของ EXIM BANK บน Alibaba ที่ให้ SMEs วางขายสินค้าฟรี 1 ปี พร้อมทีมงานให้บริการครบวงจร เพื่อเป็น Shortcut ให้ SMEs เข้าถึงผู้ซื้อทั่วโลกได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว สำนักงานผู้แทนของ EXIM BANK ใน CLMV ช่วยวิเคราะห์และจับคู่คู่ค้าที่มีศักยภาพอย่างถูกฝาถูกตัว เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยเข้าถึงคู่ค้ารายสำคัญ พร้อมกับสามารถหาพันธมิตรธุรกิจท้องถิ่นเพื่อช่วยเข้าถึงตลาดได้มากขึ้น

Team Thailand จะช่วยเข้าถึงตลาดและข้อมูลเชิงลึกต่าง ๆ โดยเฉพาะในประเทศที่ EXIM BANK ยังไม่มีสำนักงานผู้แทน ตลอดจนใช้เครือข่ายที่เข้มแข็งของ Team Thailand พาผู้ประกอบการไทยไปเจาะตลาดผ่านหลายกิจกรรม เช่น Business Matching การไปเยี่ยมชมโรงงานเพื่อสร้างโอกาสในการเชื่อมต่อ Supply Chain การประชุมร่วมกับผู้ซื้อรายใหญ่ของแต่ละประเทศ” ดร.รักษ์ กล่าว

เสริมเครื่องยนต์สุดแรง ไปได้ไกล ไม่สะดุด ด้วย Exclusive Financial Program มี Product Program รองรับทุกวิกฤตและโอกาส สินเชื่อเอ็กซิมเพื่อซัพพลายเออร์ส่งออก วงเงินสูงสุด 5 ล้านบาทต่อราย ดอกเบี้ย Prime Rate (เท่ากับ 5.75% ต่อปี ณ ปัจจุบัน) ตลอดอายุโครงการ 5 ปี สินเชื่อ EXIM Logistics วงเงินสูงสุด 20 ล้านบาทต่อราย ดอกเบี้ยต่ำสุด 5.0% ต่อปีในปีแรก สินเชื่อเอ็กซิม ลุยตลาด RCEP วงเงินสูงสุด 50 ล้านบาทต่อราย ดอกเบี้ยต่ำสุด 2.75% ในปีแรก และสินเชื่อสำหรับผู้ส่งออกหน้าใหม่อย่าง สินเชื่อเพื่อผู้ส่งออกป้ายแดง ที่ผู้ส่งออกหน้าใหม่เข้าถึงเงินทุนได้ง่ายขึ้น วงเงินสูงสุด 5 ล้านบาทต่อราย ดอกเบี้ยต่ำสุด 5% ใน 2 ปีแรก โดยใช้เพียงบุคคลค้ำประกันหรือหนังสือค้ำประกันจากบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.)

นอกจากนี้ ยังมี EXIM Biz Transformation Loan วงเงินสูงสุด 100 ล้านบาท ดอกเบี้ยต่ำสุด 2% ต่อปี ในปีแรก สำหรับอัพเกรดธุรกิจ ด้วยการซื้อเทคโนโลยี เครื่องจักร ซอฟต์แวร์ใหม่ๆ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า

เรือยางพร้อมชูชีพ อุ่นใจ ไร้กังวล ด้วย Risk Protection Program อาทิ บริการประกันการส่งออกและบริการวิเคราะห์ข้อมูลผู้ซื้อ/ธนาคารผู้ซื้อ FX Forward ป้องกันความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน

EXIM BANK ยังมีบริการด้านการลงทุน อาทิ สินเชื่อโครงการลงทุนในต่างประเทศ โดย EXIM BANK สามารถสนับสนุนเงินทุนได้หลายสกุลเงิน ซึ่งขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้ประกอบการและเงื่อนไขในการลงทุน ซึ่งที่ผ่านมา EXIM BANK สนับสนุนโครงการลงทุนในต่างประเทศจำนวนมาก เช่น สปป.ลาว (โรงไฟฟ้าพลังน้ำ) เวียดนาม (โรงไฟฟ้าพลังงานลม) ญี่ปุ่น (โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนใต้พิภพและพลังงานแสงอาทิตย์) และบริการประกันการลงทุน คุ้มครองความเสี่ยงทางการเมืองแก่โครงการลงทุนของผู้ประกอบการไทยในต่างประเทศ

                ปัจจุบัน EXIM BANK เดินหน้าสู่ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย ภายใต้บทบาทใน 3 เรื่องหลัก  

1) รับความเสี่ยงได้มากกว่าธนาคารพาณิชย์ เพื่อช่วยเติมเต็มช่องว่างทางการเงินแก่ธุรกิจไทยในช่วงที่ธนาคารพาณิชย์ไม่สามารถรับความเสี่ยงได้ เช่น โครงการโรงไฟฟ้าที่ญี่ปุ่น ในช่วง Early Stage ที่เป็นการก่อสร้างและพัฒนาโครงการ ถือว่าเป็นช่วงที่มีความเสี่ยงสูงและยังไม่มีรายได้ EXIM BANK ได้เข้าไปสนับสนุนเงินทุนในช่วงแรก เพื่อให้โครงการเดินหน้าต่อได้ จากนั้นเมื่อโครงการเริ่ม COD (Commercial Operation Date) ก็พร้อมส่งต่อให้ธนาคารพาณิชย์ เพื่อให้ลูกค้ามีต้นทุนทางการเงินต่ำลง

2) ให้กำเนิดอุตสาหกรรมใหม่ พัฒนาอุตสาหกรรมสู่อนาคตและสร้างอุตสาหกรรมใหม่ ๆ ที่เป็น Growth Engine ตัวใหม่ในการขับเคลื่อนประเทศ เช่นเดียวกับที่ IFCT เคยทำมาแล้ว

3) หนุนทุนไทยไปต่างแดนทั้งค้าและลงทุน พร้อมพาธุรกิจไทยติดปีกและสร้าง Foothold ไปทั่วโลก ทั้งการค้าและลงทุน เหมือนที่ JBIC, China EXIM และ Development Bank อื่นๆ เป็นแรงส่งสำคัญ หรือมีส่วนในการพาผู้ประกอบการของชาติตัวเองไปยึดหัวหาดในต่างแดน และประสบความสำเร็จมาแล้วนับไม่ถ้วน

อีกเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กัน คือการสานต่อนโยบาย “ซ่อม สร้าง เสริม และสานพลัง” เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการไทยของ EXIM BANK โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้

ซ่อม อุตสาหกรรมที่ป่วยแต่มีอนาคต โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบรุนแรงจาก COVID-19 เช่น สายการบิน ซึ่งมีมาตรการช่วยเหลือทั้งการพักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ย ปรับตารางผ่อนชำระ และสนับสนุนวงเงินสินเชื่อเพิ่มเติม (New Money) รวมถึงพาณิชยนาวี และวิกฤตขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ ซึ่ง EXIM BANK เข้าไปช่วยบรรเทาปัญหาด้วยการสนับสนุนทางการเงิน

สร้าง อุตสาหกรรมใหม่ เพื่อเป็น Growth Engine ขับเคลื่อนประเทศอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มสูงและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น BCG (Bio-Circular-Green) รวมถึง Future Industry อื่นๆ EXIM BANK เดินหน้าสนับสนุนอุตสาหกรรมแห่งอนาคต รวมถึงอุตสาหกรรม S-Curve เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ อุตสาหกรรมดิจิทัลและอุตสาหกรรมในกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับเมกะเทรนด์ GDH ได้แก่ Green เช่น Electric Vehicles, Bio-plastic Product Digital ตั้งแต่ Hardware ไม่ว่าจะเป็นระบบโครงข่าย ไปจนถึง Cloud Service, Telecom Network, Software และ Digital Content ซึ่งมีมูลค่าเพิ่มสูง และ Health เช่น อุปกรณ์ทันตกรรมทดแทน, Plant-based Food (อาหารในกลุ่มเนื้อสัตว์และอื่นๆ ที่ใช้วัตถุดิบจากพืช), Functional Food เป็นต้น

เสริม อาวุธ SMEs ให้ก้าวเป็นนักรบเศรษฐกิจได้อย่างแข็งแกร่งด้วยบริการครบวงจร รวมถึงสร้าง Indirect Exporters ให้ก้าวขึ้นเป็นผู้ส่งออกด้วย EXIM Thailand Pavilion ร้านค้าออนไลน์ของ EXIM BANK บนแพลตฟอร์ม E-Commerce ระดับโลก พร้อมทีมงานช่วยดูแลอย่างครบวงจร SME Export Studio ห้องแต่งตัวสำหรับสินค้าไทยให้มีความพร้อมสำหรับส่งออก ตั้งแต่การ Design & Packaging ออกแบบผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ Photoshoot การถ่ายรูปสินค้า/วิดีโออย่างมืออาชีพ และ Training ตั้งแต่พื้นฐานไปจนถึงขั้นสูง เช่น Export101, Digital Marketing, Risk Management เป็นต้น

สานพลัง กับหน่วยงานพันธมิตร โดย EXIM BANK จะไม่ไปเพียงลำพัง แต่จะไปพร้อมพันธมิตรทั้งในประเทศ เช่น ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการต่างประเทศ และพันธมิตรต่างประเทศ เช่น Team Thailand, Japan Bank for International Cooperation, The Export-Import Bank of China เพื่อพาผู้ประกอบการไทยสู่เวทีโลก

“ทุกครั้งที่เกิดวิกฤต หรือมีโอกาสใหม่ๆ เข้ามา EXIM BANK จะพัฒนา Product Program เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้ประกอบการทุกกลุ่ม ทั้ง EXIM Biz Transformation Loan ยกระดับธุรกิจและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตด้วยดอกเบี้ยต่ำสุด 2% ต่อปี สินเชื่อเอ็กซิมลุยตลาด RCEP สินเชื่อ EXIM Logistics สำหรับผู้ประกอบการในธุรกิจโลจิสติกส์ที่เป็นฟันเฟืองสำคัญของภาคส่งออกไทย และสินเชื่อเอ็กซิมเพื่อซัพพลายเออร์ส่งออก เพื่อให้วงจรการค้าไม่สะดุด”

                อย่างไรก็ตาม ความท้าทายสำคัญของเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมไทย คือ การที่บริบทโลกต้องการการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงเพื่อแก้ปัญหาโลกร้อนและการสร้างสังคมที่ยั่งยืน ไปจนถึงต้องการความร่วมมือและการแบ่งปันความเชี่ยวชาญเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง

CHANGE for the FUTURE จึงเป็นสิ่งที่ EXIM BANK โฟกัสในปัจจุบัน เพื่อเปลี่ยนไปสู่อนาคตที่ดีกว่าทั้งสำหรับอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจไทยไปจนถึงสังคมที่ดี ประกอบด้วย Move On เดินหน้าเพื่อสร้างเศรษฐกิจไทยให้ยั่งยืนเข้มแข็ง และ Move Out เดินออกเพื่อขยายธุรกิจไทยให้ไปได้ไกลกว่าเดิม โดยการขยายการลงทุนใน CLMV

กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK ย้ำว่า EXIM BANK จะเป็นกลไกสำคัญในการสนับสนุนทางการเงินให้กับโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งจะช่วยผลักดันเศรษฐกิจของประเทศเพื่อนบ้านเติบโตได้อย่างแข็งแรง และจะเอื้อให้กับผู้ประกอบการไทยในการทำการค้าและการลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านได้อย่างมั่นคงยิ่งขึ้น โดย EXIM BANK ยังเป็นธนาคารผู้นำด้านสินเชื่อพลังงานหมุนเวียนในกลุ่ม CLMV อีกด้วย

“การให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนของ EXIM BANK ทำให้ SMEs สามารถขยายการค้าและการลงทุนไปยังประเทศต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อการส่งออกและการลงทุน ไปจนถึงการจัดคอร์สอบรมความรู้ด้านการส่งออก และการจัดกิจกรรม Business Matching ให้กับผู้ประกอบการ SMEs ได้พบเจอให้นักธุรกิจในประเทศเพื่อนบ้าน เป็นต้น โดย EXIM BANK มีสำนักงานผู้แทน ใน CLMV ครบทุกประเทศ เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกด้านการค้าและการลงทุนให้แก่ผู้ประกอบการไทยได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ” ดร.รักษ์ กล่าว

 

สำหรับช่องทาง SME ONE เพิ่มเติม
Facebook: SMEONE
Youtube: SMEONE
Line: @smeone

บทความแนะนำ

สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (สฟอ.)

สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (สฟอ.)

อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์มีบทบาทในการสร้างรายได้ให้กับประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่อง เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ประเทศก้าวไปข้างหน้า ซึ่งในระยะเวลาที่ผ่านมา มีการปรับเปลี่ยนกฎระเบียบทางการค้า และเทคโนโลยีได้มีความเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง ผู้ประกอบการต่างมีความจำเป็นที่จะต้องปรับตัวให้ทันต่อเทคโนโลยีนั้น ในการสร้างผลิตภัณฑ์ที่ได้มาตรฐานสามารถแข่งขันกับสินค้าที่นำเข้ามาจากต่างประเทศได้

สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ จัดตั้งขึ้นภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงอุตสาหกรรม มีบทบาทและหน้าที่ในการเป็นหน่วยประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐและผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรม 

ดำเนินการส่งเสริมพัฒนาศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับภาคอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ไม่ว่าจะเป็นด้านการส่งเสริมมาตรฐานไทย ให้เท่าเทียมกับมาตรฐานสากล การส่งเสริมผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพ มีตราสินค้าที่เป็นที่ยอมรับในตลาดสากล รวมถึงพัฒนาศักยภาพของอุตสาหกรรมในภาพรวมให้เติบโตอย่างยั่งยืน

 

บริการของทางสถาบัน

สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ สนับสนุนภาคอุตสาหกรรมในทางปฏิบัติ โดยการดำเนินงานผ่าน 3 ศูนย์ ได้แก่ 

  1. ศูนย์ข้อมูลอุตสาหกรรม เป็นศูนย์ต้นน้ำ ในการศึกษา วิจัย และส่งมอบข้อเสนอแนะเชิงนโยบายให้กับภาครัฐ รวมถึงพัฒนาฐานข้อมูลอุตสาหกรรมเชิงลึก วิเคราะห์ข้อมูลเชิงอุตสาหกรรมทั้งด้านการผลิตและการตลาดและคาดการณ์แนวโน้มผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรม  รวมทั้งเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ให้แก่ภาคเอกชน

  2. ศูนย์ฝึกอบรมและพัฒนาผู้ประกอบการ โดยเป็นศูนย์กลางน้ำ มีการพัฒนาในด้าน 3P ได้แก่
    -People คือ การพัฒนาศักยภาพของบุคลากร ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี
    -Process จะเป็นการมุ่งเน้นที่การยกระดับประสิทธิภาพในกระบวนการผลิต โดยให้มีการใช้ระบบที่มีคุณภาพ รวมถึงการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น รถยนต์ระบบอัตโนมัติ
    -Product คือ การส่งเสริมการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยมีห้องปฏิบัติการทางด้านอิเล็กทรอนิกส์ สำหรับการผลิตแผงวงจรต่าง ๆ ที่พร้อมตอบสนองต่อโจทย์ความต้องการใหม่ ๆ ให้กับผู้ประกอบการ ไปจนถึง Start-up

  3. ศูนย์บริการผู้ประกอบการและภาคอุตสาหกรรม ถือเป็นศูนย์ปลายน้ำ โดยมีการให้บริการรับรองสิทธิประโยชน์ทางภาษี ในการนำเข้าชิ้นส่วนสำหรับการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า เพื่อเป็นการลดต้นทุนให้กับผู้ประกอบการไทย ให้สามารถแข่งขันกับสินค้านำเข้า

นอกจากทั้ง 3 ศูนย์แล้ว ยังมีศูนย์ทดสอบและรับรองมาตรฐาน ครอบคลุมตั้งแต่การทดสอบผลิตภัณฑ์ การสอบเทียบเครื่องมือวัด ไปจนถึงการตรวจโรงงานและรับรองผลิตภัณฑ์ โดยเป็นหน่วยงานแห่งแรก ของประเทศไทยที่ได้รับการรับรองระบบคุณภาพตามมาตรฐานครบทั้ง 3 บริการจากสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมในระดับสากล

สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ยังมีความพร้อมในการสนับสนุนอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ไม่ว่าจะเป็น อุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ อุตสาหกรรมยานยนต์อนาคต ทางสถาบันมีบริการคำปรึกษาคำแนะนำ วิเคราะห์ ให้แก่ผู้ประกอบการที่ต้องการปรับปรุงระบบการผลิตให้ทันสมัยยิ่งขึ้น ไปจนถึงการจับคู่กับหน่วยงานต่างๆ ที่เป็นผู้ผลิตและพัฒนาพัฒนาระบบใหม่ ๆ ในการสร้างผลิตภัณฑ์ร่วมกัน

สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ มีความมุ่งหวังให้ผู้ประกอบการไทยมีผลิตภัณฑ์ที่สามารถแข่งขันได้กับสินค้าที่มาจากต่างประเทศ โดยบริการต่าง ๆ จากทางสถาบันนั้น พร้อมที่จะช่วยรองรับและสนับสนุนผู้ประกอบการไทย ให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันกับสินค้าจากต่างประเทศได้อย่างสมบูรณ์แบบ

ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อได้ที่

ศูนย์ปฏิบัติการและมาตรฐาน สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

ที่อยู่: 975 หมู่ 4 นิคมอุตสาหกรรมบางปู ซอย 8 ถ.สุขุมวิท กม.37
ต.แพรกษา อ.เมืองสมุทรปราการ จ.สมุทรปราการ 10280

โทร: 0 2709 4860

โทรสาร: 0 2324 0917


สำหรับช่องทาง SME ONE เพิ่มเติม
Facebook: SMEONE
Youtube: SMEONE
Line: @smeone

บทความแนะนำ

ศูนย์บริการธุรกิจอุตสาหกรรมดีพร้อม (BSC)

ศูนย์บริการธุรกิจอุตสาหกรรมดีพร้อม (BSC)

 

“เราเป็นศูนย์ให้ความช่วยเหลือกับผู้ประกอบการ เป็นคนกลางที่จะคอยคัดแยกว่า ถ้าธุรกิจของคุณต้องการพบหมอ คุณต้องไปที่ใด นี่คือ  BSC คือเคาท์เตอร์แรกที่จะให้ข้อมูลทั่วไป วิเคราะห์ วินิจฉัย และนี่คือบทบาทของศูนย์นี้”

ศูนย์บริการธุรกิจอุตสาหกรรมดีพร้อม หรือ BSC เป็นหน่วยงานภายใต้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมกระทรวงอุตสาหกรรม จัดตั้งขึ้นเพื่อให้บริการข้อมูลสารสนเทศและบริการแนะนำเบื้องต้น โดยมุ่งเน้นเรื่องข้อมูลทางอุตสาหกรรม โอกาสการลงทุน โอกาสทางธุรกิจ และการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการธุรกิจอุตสาหกรรม วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) วิสาหกิจชุมชน ผู้ต้องการเริ่มต้นธุรกิจ และบุคคลทั่วไปที่สนใจขอรับบริการ 

โดย ศูนย์บริการธุรกิจอุตสาหกรรมดีพร้อม ได้จัดเตรียมเจ้าหน้าที่และที่ปรึกษาที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เพื่อให้บริการกับบุคคล หรือบริษัทอย่างทั่วถึง

 

บริการจากศูนย์บริการธุรกิจอุตสาหกรรมดีพร้อม หรือ BSC 

การวางแผนธุรกิจ 

สำหรับผู้ที่อยากดำเนินธุรกิจ แต่ยังไม่มีแนวคิด ศูนย์บริการ BSC ได้จัดเตรียมข้อมูลให้มีการปรึกษาเบื้องต้น แนวคิดการดำเนินธุรกิจ และฐานข้อมูลสารสนเทศต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนการประเมินความพร้อมในการเป็นผู้ประกอบการ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจในการเริ่มต้นธุรกิจและการลงทุน

การเริ่มต้นธุรกิจ 

สำหรับผู้ที่มีธุรกิจอยู่แล้ว ทางศูนย์บริการธุรกิจอุตสาหกรรมดีพร้อม ก็มีการให้บริการที่เหมาะสมเช่นกัน โดยจัดให้มีทีมที่ปรึกษาที่มีความเชี่ยวชาญในด้านต่างๆ ตั้งแต่เริ่มต้นธุรกิจ ตลอดจนการพัฒนาโอกาสของผู้ประกอบการเอง  ยกตัวอย่างเช่น การบริหาร การผลิต การเงิน การบัญชี โอกาสทางธุรกิจ ฯลฯ โดยสิ่งเหล่านี้ ทางศูนย์บริการให้คำปรึกษาและแนะนำให้ฟรี

อีกทั้ง หากสถานประกอบการใดที่มีปัญหาเชิงลึกและอยากให้ทาง ที่ปรึกษาศูนย์บริการธุรกิจอุตสาหกรรมดีพร้อม เข้าไปจัดการปัญหาในสถานประกอบการก็สามารถทำได้เช่นกัน 

สำหรับการเข้าไปแก้ปัญหา ณ สถานประกอบการนั้นๆ ศูนย์บริการธุรกิจอุตสาหกรรมดีพร้อม ได้จัดให้มีทีมที่ปรึกษาเข้าไปทำงานกับผู้ประกอบการเพื่อแก้ปัญหา รวมระยะเวลาประมาณ 3 วัน เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ในการช่วยเหลือได้อย่างมีประสิทธิภาพ

กิจกรรม Matching Online 

ทางศูนย์บริการธุรกิจอุตสาหกรรมดีพร้อม ยังได้จัดให้มีกิจกรรม Matching Online อันเป็นกิจกรรมที่เป็นความร่วมมือระหว่างไทยและญี่ปุ่น โดยผู้ประกอบการสามารถลงชื่อได้ทางช่องทางแพลตฟอร์มดิจิทัล ซึ่งปัจจุบัน กิจกรรม Matching Online  ได้จัดให้มีขึ้นทุกเดือน โดยไม่จำกัดประเภทอุตสาหกรรม

บริการข้อมูลสารสนเทศ

ทาง ศูนย์บริการธุรกิจอุตสาหกรรมดีพร้อม หรือ BSC ยังมีบริการข้อมูลสารสนเทศ เกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจ การลงทุน โดยได้มีเอกสารให้ทั้งออนไลน์และสิ่งตีพิมพ์ โดยสามารถเข้ารับบริการได้ที่หน่วยงานของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมทุกแห่งทั่วประเทศ ไม่เพียงแต่เท่านั้น สำหรับบุคคลซึ่งต้องการจะดำเนินธุรกิจ แต่ยังไม่รู้จะไปทางไหน ศูนย์บริการฯ มีการให้บริการด้าน Business idea ให้ได้เห็นโมเดลและศึกษาข้อมูลเพื่อเรียนรู้ได้อย่างเข้าใจง่าย 

ห้องสมุดอุตสาหกรรม

เป็นแหล่งการเรียนรู้และการบริการฐานข้อมูลเชิงวิชาการด้านอุตสาหกรรม สถิติ ความเคลื่อนไหวทางธุรกิจอุตสาหกรรม และสารสนเทศที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรม แบบครบวงจรตั้งแต่อุตสาหกรรมต้นน้ำถึงอุตสาหกรรมปลายน้ำ โดยสามารถเข้ารับบริการได้ที่หน่วยงานของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมทุกแห่งทั่วประเทศ หรือผ่านทางเว็บไซต์ http://library.dip.go.th ได้ 24 ชั่วโมง

 

ด้วยพันธกิจที่ต้องการช่วยเหลือผู้ประกอบการ ศูนย์บริการธุรกิจอุตสาหกรรมดีพร้อม จึงได้เปิดและกระจายศูนย์ช่วยเหลือออกไปถึง 14 แห่งทั่วประเทศ โดยตั้งอยู่ที่ศูนย์การส่งเสริมอุตสาหกรรมภาค ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม

ทั้งนี้ เพื่อความสะดวกต่อผู้เข้ารับบริการ สามารถขอรับบริการปรึกษา ได้ผ่านระบบ Call Center หรือทางเว็บไซต์ที่ http://bsc.dip.go.th โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น

 

ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อได้ที่

ศูนย์บริการธุรกิจอุตสาหกรรมดีพร้อม หรือ BSC
75/6 ถ.พระรามที่ 6 แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
โทรศัพท์ 02 430 6860 

Call center : 1358

เว็บไซต์ http://bsc.dip.go.th


สำหรับช่องทาง SME ONE เพิ่มเติม
Facebook: SMEONE
Youtube: SMEONE
Line: @smeone

บทความแนะนำ

ภูวารา กลิ่นบำบัด สกัดจากธรรมชาติ

ภูวารา กลิ่นบำบัด สกัดจากธรรมชาติ

ภูวารา คือผลิตภัณฑ์เครื่องหอมสกัดจากวัตถุดิบธรรมชาติ โดยไม่ใช้สารเคมีอันตราย เพื่อการบำบัดร่างกายและจิตใจด้วยกลิ่นหอมระเหย โดยมีแนวคิดประจำแบรนด์ว่า สุคนธบำบัด สกัดจากธรรมชาติ

จากการตั้งโจทย์ทางธุรกิจโดยคุณแม็ก พรหมพิริยะ หงษ์ยนต์ ที่มองหาธุรกิจที่มีโอกาสในการเติบโตและพัฒนาต่อไปได้ ผสมผสานกับ 3 ความหลงใหลที่คุณแม็กให้ความสนใจเป็นพิเศษ ได้แก่ กลิ่นหอม ธรรมชาติ และครอบครัว จึงได้มาเป็น ภูวารา ผลิตภัณฑ์เครื่องหอมระเหยสกัดจากธรรมชาติ

กว่าภูวาราจะเกิดขึ้นได้นั้น ต้องผ่านการศึกษาวิจัย อย่างหนัก เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์เครื่องหอมที่ตอบโจทย์ ทั้งการไม่ใช้สารเคมี และมีสรรพคุณบำบัดอาการด้วยการหายใจได้ โดยสิ่งแรกที่ทางแบรนด์ได้ทำนั้นคือการทำความเข้าใจตัวเองก่อน ศึกษาพื้นฐานของเครื่องหอมก่อนว่า การจะเป็นเครื่องหอมได้นั้นต้องทำอย่างไร ผลิตอย่างไร และตามหาตัวตนว่า ตัวตนที่จะเป็นจุดแข็งของแบรนด์คืออะไร

เมื่อแนวคิดเริ่มต้นของแบรนด์ชัดเจนแล้วนั้น ขั้นตอนต่อไปคือการปรึกษา และพัฒนาผลิตภัณฑ์ โดยมีความร่วมมือกันจากหลายภาคส่วน เริ่มตั้งแต่การวิจัยและพัฒนาสูตร ในโครงการ UBI จาก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อได้สูตรมาแล้วก็ทำการวางรูปแบบธุรกิจกับโครงการ NEC ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เพื่อให้ได้แนวคิดของการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริหารธุรกิจ หลังจากนั้นได้นำผลิตภัณฑ์ไปทดสอบประสิทธิภาพกับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง โดยเป็นการทดสอบประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อโรค แบคทีเรียและเชื้อราต่าง ๆ และสุดท้ายนำไปผลิตด้วยกระบวนการที่ควบคุม พัฒนา และดูแลมาตรฐานการผลิตโดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีอีกครั้งหนึ่ง 

ภูวารา ใส่ใจในกระบวนการทุกขั้นตอน เพื่อส่งมอบผลิตภัณฑ์ที่ดีที่สุด ที่เต็มไปด้วยความสุข และความสบายใจให้ถึงมือลูกค้า

 

สร้างเอกลักษณ์สินค้า ให้เป็นที่จดจำ

จากประสบการณ์ความเชี่ยวชาญมากว่า 10 ปี ทำให้แบรนด์นั้นเข้าใจในธรรมชาติของกลิ่นหอมเป็นอย่างดี จนสามารถสร้างผลิตภัณฑ์เครื่องหอมที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวได้ อย่างเช่น ยาดมที่สามารถเปลี่ยนกลิ่นไปได้ถึง 8 กลิ่น หรือก้านไม้หอมที่เปลี่ยนกลิ่นได้ถึง 3 กลิ่น นอกจากเรื่องของกลิ่นหอมแล้วยังมีสรรพคุณหลากหลาย มีตั้งแต่ช่วยในการนอนหลับ ช่วยบำบัดความเครียด ไปจนถึงแก้อาการภูมิแพ้ได้อีกด้วย

ผลิตภัณฑ์ของภูวารายังได้มีการพัฒนาภายใต้แนวคิดของ BCG หรือ Bio Circular Green Economy เช่นกัน เป็นการสกัดน้ำหอมจากกลีบกุหลาบพันธุ์ไกลกังวล ซึ่งเป็นสายพันธุ์ประจำจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยทางแบรนด์ได้มีการพัฒนาร่วมกันกับวิสาหกิจชุมชนจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ที่เป็นผู้ปลูกกุหลาบสายพันธุ์ดังกล่าว นอกจากนี้ยังได้เลือกใช้ขวดและอลูมิเนียมที่สามารถรีไซเคิลได้ เป็นการส่งเสริมอาชีพ สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรในชุมชนอีกทางหนึ่ง

และยังมีแผนการที่จะทำผลิตภัณฑ์ก้านหอมรุ่นใหม่ ให้สามารถใช้ประโยชน์หมุนเวียนได้ในทุกส่วน ตั้งแต่กระดาษบรรจุภัณฑ์ที่ทำมาจากดอกไม้ที่เป็นวัตถุดิบหลักในแต่ละกลิ่น โดยสามารถนำกล่องมาม้วนเป็นแท่งใส่ในขวดน้ำหอมใช้แทนก้านหอมในการกระจายกลิ่นได้ ฐานกล่องเป็นกระดาษฝังเมล็ดพันธุ์สามารถนำดินมาใส่แล้วรดน้ำได้ทันที ดอกไม้จะเติบโตขึ้นมาได้ ฉลากสินค้าที่พันรอบขวดจะใส่สารอาหารไว้เป็นปุ๋ยให้กับดอกไม้ สามารถนำมาฝังดินปลูกได้ ดอกไม้โตจะใช้เวลาในการเติบโตเทียบเท่ากับระยะเวลาที่น้ำหอมในขวดหมดลง และเมื่อถึงเวลานั้น สามารถนำขวดน้ำหอมมาใช้เป็นแจกันสำหรับปักดอกไม้ได้ต่ออีกทางหนึ่ง

แนวคิดในการทำธุรกิจของ ภูวารา นั้นมองว่า เราจำเป็นต้องมีความเข้าใจในธุรกิจของเราก่อนว่ากำลังทำอะไร ทำเพื่อใคร หลังจากนั้นต้องมีการสร้างเรื่องราวของแบรนด์ให้น่าจดจำ  เพื่อให้สิ่งที่เราต้องการเล่าเข้าไปอยู่ในใจของลูกค้าได้ และที่สำคัญคือการสร้างการย้ำเตือนถึงคุณภาพ ซึ่งทางแบรนด์ได้ใช้การย้ำเตือนในรูปแบบของเสียงตอบรับจากลูกค้ามาตลอด 10 ปี สิ่งสุดท้ายคือช่องทางในการติดต่อสื่อสาร ที่จะเชื่อมโยงแบรนด์ให้เข้าถึงลูกค้าได้มากที่สุด เป็นการอำนวยความสะดวกให้กับลูกค้า

ในการทำธุรกิจ อยากให้เริ่มต้นจากสิ่งที่รัก มองให้เหมือนกับลูก เพราะเมื่อทำในสิ่งที่รักก็จะสามารถเลี้ยงดูให้เขาเติบโตต่อไปได้ แล้ววันหนึ่งลูกคนนั้นจะกลับมาเลี้ยงดูเราเองในอนาคต

 

ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อได้ที่

บริษัท ภูวารา เทอราปี้ จำกัด

ที่อยู่: 969/8 หมู่ที่ 2 ตำบลวังก์พง อำเภอปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์

โทร: 06 4557 5666

Line: @puvara1

Facebook: Puvara Aroma

Instagram: puvara.thailand


สำหรับช่องทาง SME ONE เพิ่มเติม
Facebook: SMEONE
Youtube: SMEONE
Line: @smeone

 

บทความแนะนำ

Mister Box สร้างธุรกิจกล่องส่งอาหารจาก Pain Point

Mister Box

สร้างธุรกิจกล่องส่งอาหารจาก Pain Point

 

Mister Box เป็นผู้ผลิตและจําหน่ายกล่องส่งอาหารที่มีลูกค้าเป็นผู้ประกอบการร้านค้ามากมาย ทั้ง SMEs และแบรนด์ขนาดใหญ่ แต่หลายคนอาจจะไม่เคยรู้มาก่อนว่าเบื้องหลังความสำเร็จของ Mister Box เกิดมาจาก Pain Point ตอนเป็นแม่ค้าออนไลน์ของคุณออย นริศรา รวีจารุดล

คุณนริศรา พยายามหาทางออกเรื่องการส่งสินค้าให้ถึงมือลูกค้าโดยสินค้าไม่เสียหายให้กับตัวเองอยู่พักใหญ่ และเริ่มมองเห็นโอกาสที่ซ่อนตัวอยู่ในปัญหาดังกล่าว จนเป็นที่มาของการพัฒนากล่องใส่สินค้าสำหรับไรเดอร์ และเกิดเป็นธุรกิจใหม่อย่าง Mister Box ในที่สุด

 

SME ONE : Mister Box เกิดขึ้นมาได้อย่างไร

นริศรา : ช่วงนั้นเป็นวิกฤตปี 2540 เศรษฐกิจเมืองไทยค่อนข้างแย่ บ้านออยก็เป็นหนึ่งในนั้นก็เลยเริ่มทำธุรกิจหลายอย่าง แต่เป็นธุรกิจเล็กๆ ก็มีไปขายของที่ตลาดนัด ขายรองเท้า เครื่องสำอางก็รับเขามาขาย ก็คือทำเล็กๆ น้อยๆ ไป แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ เมื่อก่อนการทำเดลิเวอรี่ด้วยมอเตอร์ไซค์แทบจะไม่มีคนรู้จักเลย แล้วก็จะมีแบรนด์ที่ทำพวกนี้น้อยมาก แล้วออยก็จะมีจุดเด่นว่าจะส่งของให้ลูกค้าเร็วกว่าคู่แข่ง เพราะส่วนใหญ่เขานิยมส่งสินค้าทางไปรษณีย์กัน

ออยใช้วิธีเรียกมอเตอร์ไซค์ไปส่ง แล้วไรเดอร์ที่เรียกไปร้อยละ 90 ไม่มีกล่อง ออยก็เลยถามเขาว่าทำไม เพราะเมื่อก่อนคนเวลาสั่งของจะสั่งจำนวนค่อนข้างเยอะ เราก็เป็นห่วงสินค้าของเราก็เลยอยากจะทำเพื่อแก้ปัญหาตรงนี้ เพราะเวลาที่เราให้ไรเดอร์เอาของไปส่งลูกค้า เราก็กลัวเขาเกิดอันตรายด้วย ตรงนี้ก็เลยเป็นจุดเริ่มต้นของการศึกษาว่าเราอยากจะทำกล่องใส่สินค้า ก็เลยถามไรเดอร์ทุกคนที่มาว่าเขาต้องการกล่องแบบไหน แล้วทำไมเขาถึงหาไม่ได้ มีจุดไหนที่เขามองว่าเป็นปัญหา 

                สิ่งที่เราเห็นก็คือ ถ้าเราสามารถทำกล่องให้เขาให้เขาสามารถซื้อได้ 1) เจ้าของแบรนด์หรือเจ้าของสินค้าก็จะมีความสุขมากเพราะว่าสินค้าไปถึงลูกค้าอย่างปลอดภัย 2) ไรเดอร์ก็จะขับรถได้อย่างปลอดภัย เพราะไม่ต้องแขวนถุง 3) เวลาที่ลูกค้าได้สินค้าของเราไป เขาก็จะแฮปปี้ เรียกว่าเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่มีคนทำ ก็เลยคิดว่าจะทำกล่องใส่สินค้าที่สามารถขายครั้งละ 1 กล่อง โดยไม่ต้องทำวอลุ่มใหญ่ เพื่อที่ไรเดอร์จะสามารถซื้อได้ 

 

SME ONE : ตอนนั้นมองเห็นโอกาสอะไร

นริศรา : อย่างแรก ไรเดอร์เขาต้องการซื้อกล่องจำนวนน้อย คือครั้งละ 1 ใบ อันนี้คือปัญหาของไรเดอร์ที่หาซื้อไม่ได้ อย่างที่สองคือ เขาต้องการสีที่เขาอยากได้ เพราะพวกนี้เป็น Branding ด้วย ซึ่งมันจะต้องสั่งผลิตเยอะ ไม่อย่างนั้นจะไม่ได้สีที่เขาอยากได้

สิ่งแรกที่ออยทำก็คือ ไปดีลกับโรงงานที่รู้จักกันก่อน เราขอเขาเอาของมาสต๊อกไว้ แล้วขายทีละใบ เพราะตอนนั้นไม่มีคนยอมทำจำนวนน้อยอยู่แล้ว จนถึงปัจจุบันนี้ก็ไม่มีคนยอมทำน้อยอยู่ดี เราก็เลยเอามาจำนวนนึงแล้วเอามาลองขายไปก่อน เราลองขายสีที่นิยมที่สุดคือ สีดำ เพราะสีดำสามารถติดโลโก้สีอะไรก็ได้ เป็นสีมาตรฐาน แล้วพอคนเริ่มบอกปากต่อปาก เราก็เริ่มรู้ปัญหาแล้วเราก็เอามาแก้ทีละจุดๆ ทำไปเรื่อยๆ สีของเราก็จะเริ่มเพิ่มขึ้น

ตอนแรกๆ แทบไม่ได้กำไรก็มีคิดจะล้มเลิกหลายรอบ แต่มันมีเสียงกลับมาว่า ขอบคุณที่เราทำขึ้นมา เขาสามารถหาเงินจากกล่องนี้ได้มากขึ้น ช่วยให้เขาประหยัดค่าน้ำมัน มันทำให้เรารู้ว่ามีประโยชน์จริงๆ ก็เลยทำต่อ เพราะเราเห็นว่าถ้าคนรู้จักเราเยอะขึ้นก็น่าจะมีประโยชน์ในวงกว้างมากขึ้น เราก็เริ่มยิงโฆษณาให้คนเห็นเราเยอะขึ้น ด้วยความที่ตอนแรกเราไม่ได้มีทีมงาน เราไม่สามารถหาเซลส์วิ่งไปหาลูกค้าได้ เราก็เลยใช้วิธียิงโฆษณาผ่านออนไลน์เอา

 

SME ONE : กว่าจะมาเป็นกล่อง Mister Box แบบนี้ ผ่านการลองผิดลองถูกมาขนาดไหน 

นริศรา : นานค่ะ เพราะเราเริ่มต้นจากศูนย์เลย เอาตั้งแต่ช่วงที่เรากำลังพัฒนา ช่วง 3 ปีแรกเราโฟกัสที่ไรเดอร์ก่อน เพราะเขาเป็นคนใช้งานจริง เราก็จะรู้แล้วว่าปัญหาของไรเดอร์เวลาใช้งานจริงเวลาติดตั้งคืออะไร พอเราทำไปสักพัก เราก็เริ่มรู้ว่าคนที่ต้องการใช้กล่องจริงๆ คือผู้ประกอบการ ตัวเราเองก็เลยสามารถนำความรู้ที่เรารู้ทั้ง 2 ฝั่งมาประยุกต์ให้ตอบโจทย์ทั้งกับคนใช้งานจริง และคนที่เป็นเจ้าของธุรกิจ 

                ปัจจุบันเรามีโรงงานผลิตของเราเอง และจ้าง Supplier ผลิต เพราะบางอย่างทาง Supplier เขาเก่งกว่า และบางอย่างทางเราชำนาญกว่า เมื่อก่อนเราอาจจะทำแค่ที่ไทย แต่ปัจจุบันนี้เราเอาของเมืองนอกมาด้วย เราก็มีการทำให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน 

 

SME ONE : คุณนริศราค้าขายและทำกล่องด้วย ถึงจุดหนึ่งที่ต้องตัดสินใจเลือกธุรกิจหลัก ในวันนั้นคิดอย่างไร 

นริศรา : เป็นการตัดสินใจที่ใหญ่มาก มันมี 2 สเต็ป สเต็ปการขายจากออฟไลน์มาเป็นออนไลน์แล้วก็สเต็ปออนไลน์ที่เป็นสินค้าตัวอื่นมาเป็นกล่อง Mister Box สเต็ปแรก เมื่อก่อนออยขายของตามตลาดนัด ขายรองเท้า เราเห็นว่าทำไมแม่ค้าแย่งกันขาย แต่ทำไมคนซื้อไม่มีเลย ทุกวันที่เราไป ค่าที่แพงขึ้นเรื่อยๆ แม่ค้าแย่งกันเรื่อยๆ แต่คนน้อยลง เพราะเมื่อก่อนเขาก็จะเปิดหลายที่ คนก็กระจายกัน คนก็เลยน้อยลง เราก็เลยคิดว่าจะไปในออนไลน์ดีกว่า พอเราเอารองเท้าเข้าออนไลน์ สินค้าที่มีสต๊อกเยอะเวลาอยู่ในออนไลน์จะต้องใช้เงินเยอะมาก

พอมาขายออนไลน์เต็มตัว ก็ขายเครื่องสำอางด้วย ตอนแรกเลือกเครื่องสำอางที่เป็นตัวแทน ตอนนั้นเราทำออนไลน์ไม่เป็น ก็เลยคิดว่าเข้าไปเป็นตัวแทนจะได้รู้เคล็ดลับว่าขายอย่างไร จะได้เอามาขายรองเท้า พอเราได้ไปขายครีมจึงรู้ว่าครีม 1 กระปุกสามารถใช้ได้กับลูกค้าหลายช่วงอายุ เป็นผู้ชาย ผู้หญิงก็ได้ ดังนั้นสต็อกก็เลยน้อย แต่พอเราเอารองเท้าไปลองขายบ้าง ด้วยความที่เงินเราน้อย เราไม่มีทางรู้เลยว่าคนจะซื้อรองเท้าไซส์อะไร ชอบสีอะไร ช่วงนั้นที่ขายครีมก็เริ่มมีรายได้เพิ่ม รองเท้าก็ค่อยๆ ลดลงไปเรื่อยๆ จนเรารู้สึกว่าครีมขายได้เยอะกว่ารองเท้า เราก็เลยเปลี่ยนมาขายครีม

เราเข้าออนไลน์แรกๆ ก็เหมือนเด็กใหม่ ช่วงนั้นยังยิงโฆษณากันง่าย แต่ก็มาเจอวิกฤตคือ มีครีมที่มีปัญหาออกข่าวกัน แม้จะไม่ใช่ครีมของเรา แต่ส่งผลให้ลูกค้าตกใจแล้วก็ไม่ซื้อครีมไปเลย ในตอนนั้นเราก็เริ่มคิดแล้วว่าถ้าเป็นแบบนี้ต่อไป ก็ไม่รู้ว่าครีมตัวนี้จะกลับขึ้นมาได้อีกไหม เราไม่รู้ว่าเจ้าของแบรนด์เขาจะสู้ไหม ระหว่างนั้นที่เราเรียกรถมารับสินค้าไปส่งก็เริ่มเห็นปัญหาของกล่อง ตอนนั้นเราทำกล่องควบคู่กับขายครีมแล้ว ในจังหวะที่ครีมกำลังลดลง ถึงจุดหนึ่งก็ตัดสินใจเปลี่ยนมาทำกล่องเต็มตัว

เพราะเราเป็นตัวแทนสินค้า วันหนึ่งเราก็อยากเป็นเจ้าของ แต่ว่าออยไม่ได้อยากเป็นเจ้าของครีม แล้วการสร้างอาชีพของคนเป็นเรื่องที่สร้างแรงบันดาลใจให้ออยมากกว่า บางคนอาจจะชอบความสวยงาม แต่ออยชอบเรื่องการช่วยให้คนมีอาชีพ เราทำอันนี้เราชอบมากกว่า แม้ว่าเงินจะได้น้อยกว่าในตอนแรกๆ เพราะกว่าที่เราจะทำจนมีรายได้จริงๆ ก็เกือบ 2-3 ปี ก่อนหน้านั้นก็แค่รันธุรกิจได้ ยังไม่ได้กำไรอะไรเลย 

 

SME ONE : ช่วงที่เปลี่ยนมาทำ Mister Box เต็มตัว เจอปัญหาอุปสรรคอะไร และแก้ปัญหาอย่างไร 

นริศรา : เจอปัญหาเยอะมาก อย่างแรกคือมันเป็นเรื่องใหม่มาก เราหาความรู้จากอินเตอร์เน็ตไม่ได้เลย เพราะไม่ค่อยมีคนทำ เพราะฉะนั้นเราก็ต้องออกมาหน้างานเองหมดเลย ออกไปคุยกับลูกค้าว่าเขาอยากได้อะไร แล้วเราก็ไปดีไซน์กัน เพราะจริงๆ แล้วเราจบวิศวะมาด้วย เราดีไซน์แล้วกลับไปถามเขาว่าแบบนี้ใช้ได้ไหม

อย่างที่สองคือ โนว์ฮาวเรายังไม่มี ในมุมมองของออยคิดว่ามันเหมือนการออกกำลังกาย ช่วงแรกที่เราออกกำลังกาย ทำอะไรเราก็เหนื่อย เพราะว่าแรงเราไม่มี ประสบการณ์ท่าทางเรายังไม่เป็นก็จะล้มบ้างเจ็บบ้าง การทำธุรกิจก็เหมือนกัน เรายังไม่มีพาร์ทเนอร์ ไม่มีทีมงาน ไม่มีเงินทุน ออยก็แก้ทีละอย่าง เรื่องเงินทุนก็คือค่อยๆ เก็บ ไม่ได้ทำแบบใหญ่โตทีเดียว พอมีเงินก็ค่อยๆ ขยาย เราก็ค่อยๆ เจอพาร์ทเนอร์ที่เขาต้องการทำแบบนี้เหมือนกัน มีคนที่อยากทำเพื่อ SMEs ไทย แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนคิดเห็นเหมือนเรา

เรื่องต่อมาก็คือ การเรียนรู้ เรื่องนี้สำคัญ ตอนแรกที่เรายังไม่มีเงินทุนก็อาศัยเรียนฟรีไปก่อน พอเราเริ่มมีเงินก็เลยเริ่มลงทุนกับการเรียนมากขึ้น พอเราเรียนเยอะขึ้นก็จะเริ่มรู้จักคนเยอะขึ้น มันก็ทำให้โลกของเราเริ่มกว้างขึ้น ได้เห็นว่าอะไรจะมาช่วยให้บริการและสินค้าของเราดีมากขึ้น 

 

SME ONE : พอธุรกิจเริ่มเดินได้ มีวิธีการพัฒนาสินค้าเพื่อเพิ่มมูลค่าเข้าไปในสินค้าอย่างไร 

นริศรา : Mister Box เริ่มต้นด้วยกล่องเก็บอาหารก่อน เพราะว่าทางไรเดอร์เขาคุ้นชินแบบนั้น เขาอยากได้กล่องแบบนั้น เราก็เลยทำขึ้นมา แต่พอเราเริ่มทำไปสักพัก เรารู้ว่ามีธุรกิจที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับอาหารอีกมากมาย เราก็เลยเริ่มทำกล่องส่งสินค้าเฉพาะทางมากขึ้น เมื่อก่อนกล่องที่ไรเดอร์ติดกับมอเตอร์ไซค์ มันจะมีฉนวนเล็กๆ ถามว่ามันเก็บอุณหภูมิได้ไหมก็เก็บได้นิดหน่อย แต่จุดประสงค์ของเราคือ ต้องการทำกล่องที่กันน้ำกันฝน ปลอดภัย สินค้าจากเราไปถึงลูกค้า ลูกค้าแฮปปี้ สินค้าไม่เสียหาย ซึ่งไรเดอร์เมื่อก่อนส่งหลายอย่าง เขาไม่ได้ส่งของเราคนเดียว บางทีเขาส่งอาหารด้วย เราก็เลยทำกล่องที่จะไปส่งอาหารก็ส่งได้ หรือจะส่งของก็ส่งได้ 

                พอ Mister Box เริ่มกระจายจากไรเดอร์ไปสู่ผู้ประกอบการ เพราะไรเดอร์เขาจะเริ่มบอกผู้ประกอบการว่าให้ซื้อร้าน Mister Box ผู้ประกอบการเขาก็เริ่มมีความต้องการที่ต่างออกไป เขาก็เลยเริ่มมาคุยกับเรา แล้วก็เรียกเราไป Visit ช่วงแรกๆ เรายังไม่ได้ไปให้คำปรึกษาเขา แต่ว่าเราไปเป็นทีมงานให้เขา เหมือนไปคุยกันว่าเราทำแบบนี้กันดีไหม พอเราทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ ก็เหมือนเป็นการบ้านให้เราไปทำเป็น Customize

                โดยปกติแล้วไรเดอร์แต่ละที่จะไม่เหมือนกัน แต่ส่วนใหญ่ไรเดอร์เขาจะติดเรื่องค่าใช้จ่ายเป็นอย่างแรก สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ กล่องมันก็จะดีไม่ได้ มันก็จะดีได้แค่ระดับนึงที่ต้นทุนมันได้ แต่ถ้าบริษัทไหนเขาต้องการรักษาสินค้าของเขาจริงๆ กล่องที่เป็น Standard ก็จะใช้ไม่ได้ คราวนี้ทางบริษัทเขาก็ต้องสั่งเอง 

 

SME ONE : ปัญหา COVID-19 ส่งผลกระทบต่อ Mister Box ในเชิงบวกหรือเชิงลบ

นริศรา : ถ้าถามในธุรกิจของ Mister Box บวกอยู่แล้ว เพราะว่าเราเริ่มธุรกิจก่อน COVID-19 ซึ่งตอนนั้นออยก็มีลูกค้าจำนวนหนึ่งอยู่แล้ว แต่ COVID-19 กลายเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาให้คนมาทำเดลิเวอรี่มากขึ้น โดยที่บริษัทก็ไม่ได้ตั้งตัว ซึ่งโอกาสก็มาพร้อมความเสี่ยง COVID-19 ทำให้เรารู้ว่าระบบหลังบ้านมีความสำคัญมาก เรื่องนี้สอนเรามาก ถ้าลูกค้าเข้ามาหาเรา แล้วเราไม่สามารถ Flow standard ได้เหมือนที่เราเคยทำ มันจะทำให้เกิดความเสียหายกับบริษัท ถึงแม้ว่าจะขายดี แต่การบริการเราไม่สามารถทำได้ตามความต้องการลูกค้า รวมถึงความรวดเร็ว ไลน์การผลิตของเราก็จะเกิดปัญหา

ถามว่ารอดมาได้ยังไงตอนนั้น ตอนนั้นถึงขั้นต้องหยุดแล้วก็คุยกับทีมงานเลยว่า เรามีปัญหาอะไรหลังบ้านบ้าง เราก็คุยกันว่าจะผลิตแค่นี้ก่อน ไม่อย่างนั้นปัญหาจะไม่หยุด แล้วก็ลองมาดูว่าอะไรที่เราพลาดไปบ้าง เราก็ไปตามเก็บในสิ่งที่เราผิดพลาดไป ออยคิดว่า COVID-19 ทำให้เราแกร่งขึ้น จากตอนแรกที่เรา Look forward อย่างเดียว SMEs ส่วนใหญ่น่าจะเป็นเหมือนกัน พอขายดีก็ขายอย่างเดียว ออกไปเจอลูกค้าอย่างเดียว แต่เราลืมดูหลังบ้านว่าการบริการของเรายังเป็นมาตรฐานเดิมหรือเปล่า 

                จริงๆ ปัญหามีอยู่แล้วแต่มันอยู่ใต้พรม เราไม่เคยเห็น แต่พอมีปริมาณมากๆ มันเลยเกิดปัญหา เราถึงเห็นปัญหา ทำให้ทีมงานเราตระหนักหลายอย่างเลย เพราะมันเป็นอะไรที่เราไม่เคยเห็น COVID-19 รอบแรกก็ค่อนข้างรุนแรง เพราะว่าทุกคนตกใจ แต่พอมันมีรอบที่ 2 เราก็มีการเตรียมการที่ดีขึ้นแล้ว การตกใจมันก็น้อยลงแล้ว มันก็เลยราบรื่นขึ้น

                อีกด้านบวกของ COVID-19 ก็คือ มีคนมาทำเดลิเวอรี่มากขึ้น และคิดว่าผู้บริโภคคงไม่กลับไปเหมือนเดิมแล้ว เพราะมันสะดวกกว่า คนก็จะทำเดลิเวอรี่กันไปเรื่อยๆ

 

SME ONE : Mister Box เคยปรึกษาหรือขอความร่วมมือจากหน่วยงานรัฐบ้างหรือไม่

นริศรา : เคยเข้าอบรมกับกรมอุตสาหกรรม เกี่ยวกับการตลาดอยู่ครั้งหนึ่ง คือยื่นสมัครไปแล้วเขาคัดเลือกมา 30 ผู้ประกอบการซึ่ง Mister Box ได้รับการคัดเลือก แต่ถ้าเป็นเรื่องขอคำปรึกษา ยอมรับว่าออยไม่ค่อยมีความรู้ว่าต้องไปปรึกษาใครหรือช่องทางไหน ถ้า สสว. อยากให้ออยเป็นกระบอกเสียงประชาสัมพันธ์ ออยช่วยตรงนี้ได้ เพราะออยเชื่อว่าคนที่เป็นกลุ่มลูกค้าของออยเป็น SMEs ทั้งนั้น ก็จะเป็นประโยชน์กับพวกเขาด้วย ออยสามารถบอกข้อมูลพวกนี้ได้ เพราะอย่างน้อยทำให้ SMEs ได้ประโยชน์ 

 

SME ONE : ในเชิงการแข่งขัน กลัวสินค้าจากจีนจะมาแย่งลูกค้าหรือไม่

นริศรา : เราทราบอยู่แล้วว่ามีพวกนี้ ไม่ต้องถึงจีนก็ได้ เวลาเราทำธุรกิจอะไรก็ตามก็จะมีธุรกิจที่มาแย่งลูกค้าเราเป็นเรื่องปกติ แต่ถามว่าเรามีเทคโนโลยีอะไรไหม จริงๆ แล้ว Mister Box ก็จะมีสินค้าที่เป็นเฉพาะทางที่เพิ่งเปิดตัวไปไม่นานเป็นกล่องที่สามารถเก็บอุณหภูมิติดลบได้ แล้วก็มีการจดสิทธิบัตรการดีไซน์ แต่สุดท้ายประเด็นก็คือ ถ้ามีคนทำได้ เลียนแบบเราได้ เราก็ต้องยอมแพ้ไปมันก็ถูกต้องแล้ว คือถ้าออยไม่สามารถเดินหน้านำเขาไปได้ แล้วเขาตามมาตัดราคา แล้วทำทุกอย่างได้เหมือนเราแถมราคาถูกกว่า ทางลูกค้าออยก็สมควรจะไปเลือกสิ่งที่ดีกว่าสำหรับเขา ซึ่งก็โอเค เพราะว่าเราทำได้ไม่ดีจริง 

 

SME ONE : ในอนาคตอยากจะต่อยอดธุรกิจอย่างไร ถ้าสถานการณ์ทุกอย่างกลับมาเป็นปกติ

นริศรา : เราเชื่อว่าสุดท้ายเดลิเวอรี่ไม่หายไป แต่อาจจะเปลี่ยนรูปแบบ เพราะว่าคุณได้ของเร็วแล้ว ให้เขากลับมาได้ของช้า เขาไม่โอเคอยู่แล้ว ตอนนี้เดลิเวอรี่อาจจะเด่นที่อาหารเป็นส่วนใหญ่ เพราะว่าคนออกไปทานอาหารไม่ค่อยได้อยู่แล้ว แต่จริงๆ แล้วยังมีธุรกิจอีกเยอะที่กำลังจะเข้าสู่เดลิเวอรี่ ด้วยความที่เรามีประสบการณ์ตรงนี้มา เราก็จะมาทำธุรกิจที่เฉพาะทางมากขึ้น

อันที่สองคือ เราจะมีธุรกิจที่เป็นกลุ่มลูกค้าเดียวกัน แต่เป็นธุรกิจคนละตัวกัน สมมติร้านอาหาร เขาอาจจะต้องมีกล่องเดลิเวอรี่ แล้วก็มีอุปกรณ์เครื่องครัว เพราะในหนึ่งธุรกิจจะมีการใช้สินค้าหลายอย่าง ตอนนี้เรามีพาร์ทเนอร์ที่เป็นกลุ่มลูกค้าเดียวกัน เพื่อให้มีสินค้าที่หลากหลายขึ้น และตอบโจทย์ลูกค้ากลุ่มเดียวกัน ข้อดีคือเราไม่ต้องลงทุนเองทั้งหมด แล้ว Mister Box จะชอบไปร่วมมือกับแบรนด์อื่นๆ เพราะจะช่วยเรื่องการลดต้นทุน ลูกค้าก็จะได้รับความสะดวกสบายเพิ่มขึ้น อีกส่วนที่เราไม่ลืมก็คือ เราต้องออกไปสัมมนา ไปหาความรู้ต่างๆ เพื่อที่เราจะได้ไปเจอ Connection ในด้านอื่นๆ เพิ่มมากขึ้น เพราะว่าตอนนี้เราทำของเราคนเดียวมันไม่ทันโลกที่วิ่งเร็วมากๆ

                ตอนนี้เรามีการพัฒนาที่วางแก้ว เราดีไซน์เอง เราจดสิทธิบัตรการดีไซน์ คือเราดูปัญหาที่เกิดขึ้น เราคิดว่าคนที่ขายน้ำ ถ้าเกิดเขามีที่วางแก้วที่มั่นคง เวลาเขาส่งน้ำ 6 แก้ว อยู่ๆ ก็ส่งแค่ 3 แก้ว ที่ก็หายไปอีก 3 แก้ว พื้นที่ที่เหลือก็จะใช้ไม่ได้ เราทำที่วางแก้วที่ไรเดอร์ไม่ต้องจับแก้ว ป้องกันเกี่ยวกับเรื่องความสะอาด เพราะไม่อย่างนั้นไรเดอร์ก็ต้องจับแก้วไปให้ลูกค้า อันนี้เราก็ถือไป อย่างที่สองก็คือเรื่องถุงหิ้วที่ไม่ต้องใช้ อย่างที่สามคือถ้าคุณไม่ใช้คุณเก็บคุณพับได้ คุณก็ใส่อย่างอื่นได้ 

 

SME ONE : มองตลาดต่างประเทศไว้บ้างหรือไม่

นริศรา : จริงๆ อยากไปมาก แต่พอ COVID-19 มา เรารู้ว่าหลังบ้านเรายังไม่แน่น เราก็เลยพยายามทำหลังบ้านเราก่อน ก็เป็นความโชคดีที่ COVID-19 เข้ามาก่อน ไม่อย่างนั้นถ้าเราไปต่างประเทศ งานจะเข้าเราทันที ความจริงตอนนี้เราก็มีส่งต่างประเทศบ้างประปราย แต่ยังไม่ได้เน้น ต่อไปก็อาจจะเน้นเป็นจุดๆ เป็นประเทศไป 

 

SME ONE : อะไรคือความท้าทายของ Mister Box นับจากนี้ไป

นริศรา : ความท้าทายก็คือสิ่งที่ถามมาตอนต้นว่าไม่กลัวถูกลอกเลียนแบบหรือ สุดท้ายแล้วเราต้องเปลี่ยนแปลงตลอด เพราะเทคโนโลยีมันไปเร็วมาก รวมถึงช่องทางการขายมันไปเร็วมาก เมื่อก่อนอาจจะมี Facebook Google Shopee Lazada ต่อไปก็ TikTok เรื่องช่องทางการขายเราต้องปรับตัว และในส่วนของลูกค้าเราก็ต้องปรับตัวเพื่อกลุ่มลูกค้าของเขาเหมือนกัน

อีกอย่างก็คือ จะหาพาร์ทเนอร์มาร่วมงานกับเราอย่างไร ที่มองเห็นเหมือนกันมาร่วมมือกัน อันนี้ก็เป็นความยากอย่างหนึ่งของ Mister Box ที่จะต้องตอบโจทย์ทุกอย่างสำหรับระบบ SMEs ของเมืองไทย อย่างเช่น บางโรงงานก็ยังไม่ปรับตัว บางทีเราอยากจะทำน้อย เขาไม่ยอม อนาคตโรงงานเขาก็จะอยู่ยาก เพราะจะโดนจีนแย่งตลาด

 

SME ONE : ถ้าจะให้ฝากถึงคนที่จะมาเป็นผู้ประกอบการ SMEs จะให้คำแนะนำอย่างไร

นริศรา : เบื้องต้นอาจจะต้องลองทำเลย บางทีเราได้แต่คิดแต่เราไม่ทำสักที จริงๆ ถ้าได้ลงมือทำ เราจะค่อยๆ เก่งขึ้นเองเมื่อเราเจอปัญหา แต่ต้องเริ่มต้นจากง่ายๆ ก่อน ทุกธุรกิจยากตอนเริ่มนี่แหละ พอเริ่มแล้วมันจะเดินไปเรื่อยๆ แล้วมันจะไปไกลกว่าที่เราคิด หรืออาจจะไม่เป็นอย่างที่เราคิด แต่ถ้าเราเริ่มแล้วมันไม่ใช่ เราก็จะได้รู้ว่ามันไม่ใช่ ก็ดีกว่าเราไม่เริ่ม แล้วเราก็ไม่รู้อะไรเลย

ถ้าเราทำธุรกิจ อยากจะบอกว่าทุกองค์ประกอบของการทำธุรกิจไม่ใช่แค่การขายแต่มันเป็นทุกอย่าง เลยไม่อยากให้มองข้าม ส่งสินค้าก็มีผล คุยกับลูกค้าก็มีผล เพราะว่าเราคุยกับเขาโดยตรง เวลาเราส่งของ เราส่งแค่กล่องไป ลูกค้าเห็นของก็มีผล การเขียนคอนเทนต์ก็มีผล การบริหารจัดการทุกอย่างมีผลกับธุรกิจทั้งหมด เวลาทำธุรกิจแรกๆ จะมีปัญหาว่าเราเน้นแต่เรื่องการขาย โดยลืมดูอย่างอื่นไป บางทีการขายเราอาจจะดีแล้วก็ได้ แต่ข้างหลังต่างหากที่ยังไม่ดี หรืออะไรรอบข้างที่ไม่ดีมันก็ทำให้เราขายไม่ดี ก็เลยอยากให้มองรอบๆ ด้วย

สุดท้ายอยากให้ SMEs ลองคิดในมุมที่เราเป็นลูกค้า สมมติถ้าออยเป็นไรเดอร์ออยจะทำอย่างไร จะเสิร์ชหาอย่างไร เราจะรู้เลยว่า เวลาที่เราเป็นคนซื้อกับตอนที่เราเป็นคนขายมันต่างกัน เราต้องลองเปลี่ยนบทบาทเราดูบ้าง เราจะได้เข้าใจลูกค้าเราจริงๆ เพราะมันจะมีอะไรที่ลูกค้าติดปัญหาแต่ไม่กล้าพูด เพราะว่าคนไทยเป็นคนขี้เกรงใจ ถ้าถามตรงๆ เขาไม่พูด ดังนั้นเราต้องไปหาเอง 

 

บทสรุป

ความสำเร็จของ Mister Box มาจากการสังเกตความต้องการของไรเดอร์ ซึ่งเป็น Pain Point ใหญ่ของธุรกิจขายสินค้าออนไลน์ ในยุคที่คุณนริศรายังเป็นแม่ค้าขายเครื่องสำอาง โดยคุณนริศรามองเห็นโอกาสที่มาพร้อมกับปัญหาการส่งสินค้า และหยิบเอาปัญหามาพัฒนากล่องใส่สินค้าสำหรับไรเดอร์ที่ตอบโจทย์ความต้องการ 3 ด้าน คือ 1. มีราคาที่ไรเดอร์สามารถซื้อหาไปใช้ได้ 2. สินค้ามีคุณภาพ ติดตั้งง่าย มีหลายสี หลายขนาดให้เลือก 3. การจำหน่ายแบบค้าปลีกในปริมาณน้อย 1 ชิ้นก็ยังขาย จนทำให้ Mister Box เป็นที่ยอมรับและบอกต่อแบบปากต่อปากจากไรเดอร์ด้วยกัน

 

สำหรับช่องทาง SME ONE เพิ่มเติม
Facebook: SMEONE
Youtube: SMEONE
Line: @smeone

บทความแนะนำ