ก.ล.ต.เปิดประตูสู่ตลาดทุน เพิ่มโอกาสแก่ SMEs และ Start up  

ก.ล.ต.เปิดประตูสู่ตลาดทุน

เพิ่มโอกาสแก่ SMEs และ Start up

 

การเข้าถึงแหล่งเงินทุนถือเป็นปัญหาสำคัญของผู้ประกอบการ SMEs และ Start up มาโดยตลอด สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) มองเห็นปัญหาตรงนี้จึงวางนโยบายส่งเสริมและสนับสนุนให้ SMEs และ Start up ไทยสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในตลาดทุนได้เพื่อขยายการเติบโตและสร้างสภาพคล่องให้กับธุรกิจ

“อุปสรรคที่ SMEs และ Start up ของเราเจอคือการไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในตลาดทุนได้ เราจึงมีการตั้งคณะการทำงานขึ้นมาเพื่อวิเคราะห์กันว่าอุปสรรคที่ทำให้ SMEs และ Start up ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในตลาดทุนได้คืออะไรและมากำหนดเป็นแผนในการทำงานซึ่งเราเจอว่าหลักๆมี 2 เรื่อง หนึ่งคือเรื่องเกี่ยวกับความรู้ความเข้าใจว่าตลาดทุนคืออะไร การระดมทุนทำอย่างไร กับเรื่องที่สองคือเครื่องมือในตลาดทุนไม่รองรับกับการระดมทุนของ SMEs และ Start up มีข้อจำกัดอยู่มากพอสมควร ก.ล.ต.จึงต้องเข้ามาให้ความรู้ ประชาสัมพันธ์ในเรื่องการระดมทุนของ SMEs และ Start up ในตลาดทุนให้มากขึ้นเพื่อให้ SMEs และ Start up ทราบว่ามีเครื่องมือในการระดมทุนนอกเหนือจากการกู้ยืมสถาบันทางการเงิน

นอกจากนี้ยังพยายามปลดล็อกอุปสรรคในเรื่องของกฏเกณฑ์ ไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตามที่เป็นอุปสรรคที่ทำให้ SMEs และ Start up เข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุนในตลาดทุนได้” คุณไพบูลย์ ดำรงวารี ผู้อำนวยการฝ่ายจดทะเบียนหลักทรัพย์ 2 สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต.อธิบายถึงอุปสรรคในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในตลาดทุนของ SMEs และ Start up

โดยตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมาก.ล.ต.สร้างช่องทางระดมทุนให้กับ SMEs และ Start up ขึ้นมา 3 ช่องทางเพื่อช่วยเหลือ SMEs และ Start up ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายมากขึ้น ได้แก่

การระดมทุนจากผู้ลงทุนในวงจำกัด หรือ Private Placement (PP)

การระดมทุนจากประชาชนผ่าน Crowdfunding (CF) ผ่าน Funding portal ที่ได้รับอนุญาตจาก ก.ล.ต. 

การระดมทุนจากผู้ลงทุนในวงกว้าง โดยมีตลาดรองเพื่อรองรับการซื้อขายหุ้น SMEs โดยเฉพาะ มีการร่วมมือกับตลาดหลักทรัพย์ออกตลาดหลักทรัพย์ใหม่ที่ชื่อว่า LiVE Exchange

“แผนตั้งแต่ปีพ.ศ. 2562 จนถึงปัจจุบันจะเป็นการที่เราออกเครื่องมือต่างๆในเรื่องการระดมทุนให้เหมาะกับ SMEs และ Start up รวมถึงประชาสัมพันธ์เรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง หลังจากที่เราพยายามปลอดล็อกในหลายช่องทางแล้วแผนในปีนี้หลังจากที่ออกตัว LiVE Exchange แล้วเราจะมีการเดินสายให้ความรู้และข้อมูลแก่สมาชิกและผู้เกี่ยวข้องว่ามีการระดมทุนอะไรบ้างแล้วผู้ประกอบการต้องเตรียมตัวอย่างไร มีคำแนะนำหรือสามารถดำเนินการอย่างไรเพื่อให้การจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เป็นไปอย่างราบรื่น”

สำหรับเงื่อนไขการระดมทุนของแต่ละช่องทาง คือ  

ในช่องทาง PP ผู้ระดมทุนจะต้องเป็นบริษัทจำกัดที่ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการส่งเสริมการระดมทุนผ่านตลาดทุนกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ผู้ลงทุนเป็นได้ทั้งนักลงทุนสถาบัน ธุรกิจร่วมลงทุน หรือ VC นักลงทุนอิสระ หรือ Angel Investor รวมถึงกรรมการและพนักงานของบริษัทและนักลงทุนรายย่อย ไม่เกิน 10 ราย และมูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาท ซึ่งกิจการที่ต้องการทำตรงนี้สามารถยื่น Fact Sheet หรือข้อมูลสรุปเกี่ยวกับตัวกิจการให้ผู้ลงทุนเพื่อประกอบการตัดสินใจลงทุน ซึ่งปัจจุบันมีผู้ประกอบการมาใช้ช่องทางนี้ 16 บริษัท ระดมทุนได้ 270 ล้านบาท

การระดมทุนผ่านระบบ Crowdfunding เปิดให้ทั้งบริษัทจำกัด และบริษัทมหาชนจำกัด สามารถระดมทุนจากประชาชนได้ผ่าน Funding portal ที่ได้รับอนุญาตจากสำนักงาน ก.ล.ต. ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 7 แห่ง ในรูปของหุ้น หรือหุ้นกู้ให้แก่ผู้ลงทุนเป็นสิ่งตอบแทน ซึ่งภายหลังการระดมทุนสำเร็จ ผู้เสนอขายจะต้องรายงานการใช้เงินลงทุนและความคืบหน้าของโครงการธุรกิจอย่างต่อเนื่อง โดยข้อมูลล่าสุดสิ้นเดือนเมษายน 2565 มีผู้ระดมมทุนได้สำเร็จประมาณ 170 ดีล ระดมทุนได้ประมาณ 2,300 ล้านบาท

การระดมทุนจากผู้ลงทุนในวงกว้าง หรือ SME PO ที่จดทะเบียนใน LiVE Exchange จะต้องเป็น SMEs และ Start up ที่เป็นบริษัทมหาชนจำกัดมีผลการดำเนินงานมาเป็นระยะเวลาหนึ่ง หรือมีมูลค่ากิจการระดับหนึ่งแล้ว เช่น เอสเอ็มอีขนาดกลางตามคำนิยามของสสว. ส่วนผู้ลงทุนจะต้องมีความรู้และประสบการณ์ระดับหนึ่งและสามารถรองรับความเสี่ยงได้

เมื่อระดมทุนสำเร็จแล้ว สามารถนำหุ้นเข้าจดทะเบียนซื้อขายในตลาดรอง หรือ LiVE Exchange ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจ และเป็นก้าวสำคัญในการต่อยอดเข้าสู่การเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ หรือ mai ในอนาคตซึ่งปีนี้ก.ล.ต.จะเน้นที่ช่องทางนี้เป็นหลัก ซึ่ง SMEs และ Start up สามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลการระดมทุนในตลาดทุนได้ผ่านเว็บไซต์ https://starttogrow.sec.or.th/

นอกจากนี้ คุณไพบูลย์ ยังให้คำแนะนำว่าปัจจุบันนักลงทุนให้ความสนใจกับกิจการที่นำแนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาขององค์กรอย่างยั่งยืนหรือ ESG ย่อมาจาก Environment, Social, และ Governance มาใช้ ดังนั้นผู้ประกอบการเองอาจจะต้องหันมาให้ความสนใจกับเรื่องเหล่านี้ด้วยเช่นกัน

“ตอนนี้การลงทุนในเรื่องของ ESG เป็นเรื่องที่นักลงทุนสนใจ ก.ล.ต.เองก็สนับสนุนบริษัทที่ทำเรื่องเหล่านี้พอสมควร จึงมองว่าอันนี้อาจจะเป็นโจทย์ที่ SMEs และ Start up ส่วนใหญ่ต้องมองเรื่องของ ESG มากขึ้น ต้องดูว่ากิจการของเราเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สังคม อย่างไร อันนี้เป็นโจทย์ที่ SMEs และ Start up จะต้องคำนึงถึงและเตรียมพร้อมเพราะเรื่องนี้ในอนาคตจะเป็นกระแสที่อยู่ตลอดไป

ส่วนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนไม่ว่าจะเป็นการจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ตลาดทุนหรือธนาคารการเตรียมตัวของ SMEs และ Start up ที่สำคัญคือการเตรียมตัวในเรื่องของการจัดทำระบบบัญชีและระบบควบคุมภายในคือการบริหารจัดการในบริษัท เช่นการจัดซื้อจัดจ้างมีเอกสารอะไรมาประกอบบ้าง ใครอนุมัติ การกำหนดราคาเป็นอย่างไร เป็นต้น ต้องโฟกัสที่สองเรื่องนี้ให้มากเพราะจะทำให้งบการเงินหรือตัวเลขบัญชีมีความน่าเชื่อถือ ทำให้นักลงทุนเชื่อมั่นและการระดมทุนจะทำได้เร็วและง่ายขึ้น”

สำหรับความท้าทายของ SMEs และ Start up ในปัจจุบัน คุณไพบูลย์ มองว่าเมื่อเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ขึ้นเรื่องของดิจิตัลและเทคโนโลยีเข้ามาเป็นสิ่งจำเป็นดังนั้น SMEs และ Start up ต้องปรับตัวเข้าหาเทคโนโลยีให้ทันด้วยเช่นกัน

 

สำหรับช่องทาง SME ONE เพิ่มเติม
Facebook: SMEONE
Youtube: SMEONE
Line: @smeone

บทความแนะนำ

EXIM BANK เร่งภารกิจติดปีก SMEs พร้อมรุกตลาดส่งออกเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย

EXIM BANK เร่งภารกิจติดปีก SMEs

พร้อมรุกตลาดส่งออกเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย

 

สถานการณ์การส่งออกของไทยในขณะนี้เปรียบไปแล้วก็เหมือนสภาพอากาศที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ปัจจุบันสภาพอากาศทั่วไปท้องฟ้ายังสดใส เช่นเดียวกันกับภาพรวมมูลค่าส่งออกของไทยที่ประกาศออกมาล่าสุดเมื่อเดือนมีนาคม 2565 มีมูลค่าการส่งออกสูงสุดเป็นประวัติการณ์อยู่ที่ 28,860 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 19.5% ส่งผลให้มูลค่าส่งออกในไตรมาส 1 ของปี 2565 แตะระดับ 73,601 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 14.9%

ในระยะถัดไป สถานการณ์การส่งออกเริ่มมีปัจจัยเสี่ยงมากขึ้น เปรียบได้กับสภาพอากาศที่เริ่มมีเมฆฝน

ปกคลุม จากสภาพเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ผลกระทบสงครามรัสเซีย-ยูเครน เร่งให้เกิดความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อในหลายประเทศ ผนวกกับเศรษฐกิจจีนชะลอตัวจากนโยบาย Zero-COVID ที่ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจของจีนหยุดชะงัก ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยไปตลาดจีน ซึ่งจีนเป็นตลาดส่งออกเป็นอันดับ 2 ของไทย รวมถึงปัญหา Supply Chain Disruption จากการขาดแคลนชิปและตู้คอนเทนเนอร์ยังมีอยู่

แม้การส่งออกในช่วงที่เหลือของปีจะมีปัจจัยเสี่ยงอยู่บ้าง แต่ถ้าผู้ส่งออกไทยมีการเตรียมตัวที่ดี มีแผนมีเครื่องมือที่ดี ก็ยังมีหลายโอกาสที่ซ่อนอยู่ จะทำให้ฟ้าหลังฝนสดใสมากขึ้น และช่วยสร้างโอกาสให้กับ SMEs ไทยได้อีกมาก

ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) กล่าวว่า ในส่วนของ EXIM BANK เป็นหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญเสมือนเป็นลมใต้ปีกที่คอยผลักดัน SMEs ไทยให้โผบินสู่ตลาดส่งออกได้อย่างเต็มที่ โดย EXIM BANK ได้ตระเตรียมความพร้อมในการเป็นกัปตันนำกองเรือเล็กหรือ SMEs ไทยลุยตลาดส่งออก โดยให้บริการตอบโจทย์ความต้องการตลอดวงจรการค้าในมิติต่าง ๆ คือ

ตกแต่งเรือ เตรียมความพร้อมก่อนออกลุยน่านน้ำ ด้วย Grooming Program ผ่านการ Training บ่มเพาะความรู้/ทักษะการส่งออก เจาะลึกข้อมูลตลาดส่งออก เช่น กฎระเบียบการค้า สิทธิประโยชน์ รวมถึงข้อมูลคู่ค้า พฤติกรรมผู้บริโภค ในแต่ละประเทศ และการจัดทำ SME Export Studio เสมือนเป็นห้องแต่งตัวปั้นสินค้าไทยให้พร้อมส่งออกอย่างครบวงจร โดยพร้อมเป็นที่ปรึกษาและช่วยสนับสนุน/พัฒนาสินค้าไทยในด้านต่างๆ

ติดหางเสือ ให้เรือแล่นถูกทิศ ผ่าน Market & Network Seeking Program โดยใช้ช่องทางหรือหน่วยงานพันธมิตรต่าง ๆ ในการช่วยชี้ตลาดหรือเชื่อมโยงเครือข่ายคู่ค้าในต่างประเทศ เช่น EXIM Thailand Pavilion ร้านค้าออนไลน์ของ EXIM BANK บน Alibaba ที่ให้ SMEs วางขายสินค้าฟรี 1 ปี พร้อมทีมงานให้บริการครบวงจร เพื่อเป็น Shortcut ให้ SMEs เข้าถึงผู้ซื้อทั่วโลกได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว สำนักงานผู้แทนของ EXIM BANK ใน CLMV ช่วยวิเคราะห์และจับคู่คู่ค้าที่มีศักยภาพอย่างถูกฝาถูกตัว เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยเข้าถึงคู่ค้ารายสำคัญ พร้อมกับสามารถหาพันธมิตรธุรกิจท้องถิ่นเพื่อช่วยเข้าถึงตลาดได้มากขึ้น

Team Thailand จะช่วยเข้าถึงตลาดและข้อมูลเชิงลึกต่าง ๆ โดยเฉพาะในประเทศที่ EXIM BANK ยังไม่มีสำนักงานผู้แทน ตลอดจนใช้เครือข่ายที่เข้มแข็งของ Team Thailand พาผู้ประกอบการไทยไปเจาะตลาดผ่านหลายกิจกรรม เช่น Business Matching การไปเยี่ยมชมโรงงานเพื่อสร้างโอกาสในการเชื่อมต่อ Supply Chain การประชุมร่วมกับผู้ซื้อรายใหญ่ของแต่ละประเทศ” ดร.รักษ์ กล่าว

เสริมเครื่องยนต์สุดแรง ไปได้ไกล ไม่สะดุด ด้วย Exclusive Financial Program มี Product Program รองรับทุกวิกฤตและโอกาส สินเชื่อเอ็กซิมเพื่อซัพพลายเออร์ส่งออก วงเงินสูงสุด 5 ล้านบาทต่อราย ดอกเบี้ย Prime Rate (เท่ากับ 5.75% ต่อปี ณ ปัจจุบัน) ตลอดอายุโครงการ 5 ปี สินเชื่อ EXIM Logistics วงเงินสูงสุด 20 ล้านบาทต่อราย ดอกเบี้ยต่ำสุด 5.0% ต่อปีในปีแรก สินเชื่อเอ็กซิม ลุยตลาด RCEP วงเงินสูงสุด 50 ล้านบาทต่อราย ดอกเบี้ยต่ำสุด 2.75% ในปีแรก และสินเชื่อสำหรับผู้ส่งออกหน้าใหม่อย่าง สินเชื่อเพื่อผู้ส่งออกป้ายแดง ที่ผู้ส่งออกหน้าใหม่เข้าถึงเงินทุนได้ง่ายขึ้น วงเงินสูงสุด 5 ล้านบาทต่อราย ดอกเบี้ยต่ำสุด 5% ใน 2 ปีแรก โดยใช้เพียงบุคคลค้ำประกันหรือหนังสือค้ำประกันจากบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.)

นอกจากนี้ ยังมี EXIM Biz Transformation Loan วงเงินสูงสุด 100 ล้านบาท ดอกเบี้ยต่ำสุด 2% ต่อปี ในปีแรก สำหรับอัพเกรดธุรกิจ ด้วยการซื้อเทคโนโลยี เครื่องจักร ซอฟต์แวร์ใหม่ๆ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า

เรือยางพร้อมชูชีพ อุ่นใจ ไร้กังวล ด้วย Risk Protection Program อาทิ บริการประกันการส่งออกและบริการวิเคราะห์ข้อมูลผู้ซื้อ/ธนาคารผู้ซื้อ FX Forward ป้องกันความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน

EXIM BANK ยังมีบริการด้านการลงทุน อาทิ สินเชื่อโครงการลงทุนในต่างประเทศ โดย EXIM BANK สามารถสนับสนุนเงินทุนได้หลายสกุลเงิน ซึ่งขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้ประกอบการและเงื่อนไขในการลงทุน ซึ่งที่ผ่านมา EXIM BANK สนับสนุนโครงการลงทุนในต่างประเทศจำนวนมาก เช่น สปป.ลาว (โรงไฟฟ้าพลังน้ำ) เวียดนาม (โรงไฟฟ้าพลังงานลม) ญี่ปุ่น (โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนใต้พิภพและพลังงานแสงอาทิตย์) และบริการประกันการลงทุน คุ้มครองความเสี่ยงทางการเมืองแก่โครงการลงทุนของผู้ประกอบการไทยในต่างประเทศ

                ปัจจุบัน EXIM BANK เดินหน้าสู่ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย ภายใต้บทบาทใน 3 เรื่องหลัก  

1) รับความเสี่ยงได้มากกว่าธนาคารพาณิชย์ เพื่อช่วยเติมเต็มช่องว่างทางการเงินแก่ธุรกิจไทยในช่วงที่ธนาคารพาณิชย์ไม่สามารถรับความเสี่ยงได้ เช่น โครงการโรงไฟฟ้าที่ญี่ปุ่น ในช่วง Early Stage ที่เป็นการก่อสร้างและพัฒนาโครงการ ถือว่าเป็นช่วงที่มีความเสี่ยงสูงและยังไม่มีรายได้ EXIM BANK ได้เข้าไปสนับสนุนเงินทุนในช่วงแรก เพื่อให้โครงการเดินหน้าต่อได้ จากนั้นเมื่อโครงการเริ่ม COD (Commercial Operation Date) ก็พร้อมส่งต่อให้ธนาคารพาณิชย์ เพื่อให้ลูกค้ามีต้นทุนทางการเงินต่ำลง

2) ให้กำเนิดอุตสาหกรรมใหม่ พัฒนาอุตสาหกรรมสู่อนาคตและสร้างอุตสาหกรรมใหม่ ๆ ที่เป็น Growth Engine ตัวใหม่ในการขับเคลื่อนประเทศ เช่นเดียวกับที่ IFCT เคยทำมาแล้ว

3) หนุนทุนไทยไปต่างแดนทั้งค้าและลงทุน พร้อมพาธุรกิจไทยติดปีกและสร้าง Foothold ไปทั่วโลก ทั้งการค้าและลงทุน เหมือนที่ JBIC, China EXIM และ Development Bank อื่นๆ เป็นแรงส่งสำคัญ หรือมีส่วนในการพาผู้ประกอบการของชาติตัวเองไปยึดหัวหาดในต่างแดน และประสบความสำเร็จมาแล้วนับไม่ถ้วน

อีกเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กัน คือการสานต่อนโยบาย “ซ่อม สร้าง เสริม และสานพลัง” เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการไทยของ EXIM BANK โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้

ซ่อม อุตสาหกรรมที่ป่วยแต่มีอนาคต โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบรุนแรงจาก COVID-19 เช่น สายการบิน ซึ่งมีมาตรการช่วยเหลือทั้งการพักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ย ปรับตารางผ่อนชำระ และสนับสนุนวงเงินสินเชื่อเพิ่มเติม (New Money) รวมถึงพาณิชยนาวี และวิกฤตขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ ซึ่ง EXIM BANK เข้าไปช่วยบรรเทาปัญหาด้วยการสนับสนุนทางการเงิน

สร้าง อุตสาหกรรมใหม่ เพื่อเป็น Growth Engine ขับเคลื่อนประเทศอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มสูงและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น BCG (Bio-Circular-Green) รวมถึง Future Industry อื่นๆ EXIM BANK เดินหน้าสนับสนุนอุตสาหกรรมแห่งอนาคต รวมถึงอุตสาหกรรม S-Curve เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ อุตสาหกรรมดิจิทัลและอุตสาหกรรมในกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับเมกะเทรนด์ GDH ได้แก่ Green เช่น Electric Vehicles, Bio-plastic Product Digital ตั้งแต่ Hardware ไม่ว่าจะเป็นระบบโครงข่าย ไปจนถึง Cloud Service, Telecom Network, Software และ Digital Content ซึ่งมีมูลค่าเพิ่มสูง และ Health เช่น อุปกรณ์ทันตกรรมทดแทน, Plant-based Food (อาหารในกลุ่มเนื้อสัตว์และอื่นๆ ที่ใช้วัตถุดิบจากพืช), Functional Food เป็นต้น

เสริม อาวุธ SMEs ให้ก้าวเป็นนักรบเศรษฐกิจได้อย่างแข็งแกร่งด้วยบริการครบวงจร รวมถึงสร้าง Indirect Exporters ให้ก้าวขึ้นเป็นผู้ส่งออกด้วย EXIM Thailand Pavilion ร้านค้าออนไลน์ของ EXIM BANK บนแพลตฟอร์ม E-Commerce ระดับโลก พร้อมทีมงานช่วยดูแลอย่างครบวงจร SME Export Studio ห้องแต่งตัวสำหรับสินค้าไทยให้มีความพร้อมสำหรับส่งออก ตั้งแต่การ Design & Packaging ออกแบบผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ Photoshoot การถ่ายรูปสินค้า/วิดีโออย่างมืออาชีพ และ Training ตั้งแต่พื้นฐานไปจนถึงขั้นสูง เช่น Export101, Digital Marketing, Risk Management เป็นต้น

สานพลัง กับหน่วยงานพันธมิตร โดย EXIM BANK จะไม่ไปเพียงลำพัง แต่จะไปพร้อมพันธมิตรทั้งในประเทศ เช่น ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการต่างประเทศ และพันธมิตรต่างประเทศ เช่น Team Thailand, Japan Bank for International Cooperation, The Export-Import Bank of China เพื่อพาผู้ประกอบการไทยสู่เวทีโลก

“ทุกครั้งที่เกิดวิกฤต หรือมีโอกาสใหม่ๆ เข้ามา EXIM BANK จะพัฒนา Product Program เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้ประกอบการทุกกลุ่ม ทั้ง EXIM Biz Transformation Loan ยกระดับธุรกิจและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตด้วยดอกเบี้ยต่ำสุด 2% ต่อปี สินเชื่อเอ็กซิมลุยตลาด RCEP สินเชื่อ EXIM Logistics สำหรับผู้ประกอบการในธุรกิจโลจิสติกส์ที่เป็นฟันเฟืองสำคัญของภาคส่งออกไทย และสินเชื่อเอ็กซิมเพื่อซัพพลายเออร์ส่งออก เพื่อให้วงจรการค้าไม่สะดุด”

                อย่างไรก็ตาม ความท้าทายสำคัญของเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมไทย คือ การที่บริบทโลกต้องการการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงเพื่อแก้ปัญหาโลกร้อนและการสร้างสังคมที่ยั่งยืน ไปจนถึงต้องการความร่วมมือและการแบ่งปันความเชี่ยวชาญเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง

CHANGE for the FUTURE จึงเป็นสิ่งที่ EXIM BANK โฟกัสในปัจจุบัน เพื่อเปลี่ยนไปสู่อนาคตที่ดีกว่าทั้งสำหรับอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจไทยไปจนถึงสังคมที่ดี ประกอบด้วย Move On เดินหน้าเพื่อสร้างเศรษฐกิจไทยให้ยั่งยืนเข้มแข็ง และ Move Out เดินออกเพื่อขยายธุรกิจไทยให้ไปได้ไกลกว่าเดิม โดยการขยายการลงทุนใน CLMV

กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK ย้ำว่า EXIM BANK จะเป็นกลไกสำคัญในการสนับสนุนทางการเงินให้กับโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งจะช่วยผลักดันเศรษฐกิจของประเทศเพื่อนบ้านเติบโตได้อย่างแข็งแรง และจะเอื้อให้กับผู้ประกอบการไทยในการทำการค้าและการลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านได้อย่างมั่นคงยิ่งขึ้น โดย EXIM BANK ยังเป็นธนาคารผู้นำด้านสินเชื่อพลังงานหมุนเวียนในกลุ่ม CLMV อีกด้วย

“การให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนของ EXIM BANK ทำให้ SMEs สามารถขยายการค้าและการลงทุนไปยังประเทศต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อการส่งออกและการลงทุน ไปจนถึงการจัดคอร์สอบรมความรู้ด้านการส่งออก และการจัดกิจกรรม Business Matching ให้กับผู้ประกอบการ SMEs ได้พบเจอให้นักธุรกิจในประเทศเพื่อนบ้าน เป็นต้น โดย EXIM BANK มีสำนักงานผู้แทน ใน CLMV ครบทุกประเทศ เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกด้านการค้าและการลงทุนให้แก่ผู้ประกอบการไทยได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ” ดร.รักษ์ กล่าว

 

สำหรับช่องทาง SME ONE เพิ่มเติม
Facebook: SMEONE
Youtube: SMEONE
Line: @smeone

บทความแนะนำ

สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (สฟอ.)

สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (สฟอ.)

อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์มีบทบาทในการสร้างรายได้ให้กับประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่อง เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ประเทศก้าวไปข้างหน้า ซึ่งในระยะเวลาที่ผ่านมา มีการปรับเปลี่ยนกฎระเบียบทางการค้า และเทคโนโลยีได้มีความเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง ผู้ประกอบการต่างมีความจำเป็นที่จะต้องปรับตัวให้ทันต่อเทคโนโลยีนั้น ในการสร้างผลิตภัณฑ์ที่ได้มาตรฐานสามารถแข่งขันกับสินค้าที่นำเข้ามาจากต่างประเทศได้

สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ จัดตั้งขึ้นภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงอุตสาหกรรม มีบทบาทและหน้าที่ในการเป็นหน่วยประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐและผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรม 

ดำเนินการส่งเสริมพัฒนาศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับภาคอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ไม่ว่าจะเป็นด้านการส่งเสริมมาตรฐานไทย ให้เท่าเทียมกับมาตรฐานสากล การส่งเสริมผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพ มีตราสินค้าที่เป็นที่ยอมรับในตลาดสากล รวมถึงพัฒนาศักยภาพของอุตสาหกรรมในภาพรวมให้เติบโตอย่างยั่งยืน

 

บริการของทางสถาบัน

สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ สนับสนุนภาคอุตสาหกรรมในทางปฏิบัติ โดยการดำเนินงานผ่าน 3 ศูนย์ ได้แก่ 

  1. ศูนย์ข้อมูลอุตสาหกรรม เป็นศูนย์ต้นน้ำ ในการศึกษา วิจัย และส่งมอบข้อเสนอแนะเชิงนโยบายให้กับภาครัฐ รวมถึงพัฒนาฐานข้อมูลอุตสาหกรรมเชิงลึก วิเคราะห์ข้อมูลเชิงอุตสาหกรรมทั้งด้านการผลิตและการตลาดและคาดการณ์แนวโน้มผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรม  รวมทั้งเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ให้แก่ภาคเอกชน

  2. ศูนย์ฝึกอบรมและพัฒนาผู้ประกอบการ โดยเป็นศูนย์กลางน้ำ มีการพัฒนาในด้าน 3P ได้แก่
    -People คือ การพัฒนาศักยภาพของบุคลากร ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี
    -Process จะเป็นการมุ่งเน้นที่การยกระดับประสิทธิภาพในกระบวนการผลิต โดยให้มีการใช้ระบบที่มีคุณภาพ รวมถึงการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น รถยนต์ระบบอัตโนมัติ
    -Product คือ การส่งเสริมการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยมีห้องปฏิบัติการทางด้านอิเล็กทรอนิกส์ สำหรับการผลิตแผงวงจรต่าง ๆ ที่พร้อมตอบสนองต่อโจทย์ความต้องการใหม่ ๆ ให้กับผู้ประกอบการ ไปจนถึง Start-up

  3. ศูนย์บริการผู้ประกอบการและภาคอุตสาหกรรม ถือเป็นศูนย์ปลายน้ำ โดยมีการให้บริการรับรองสิทธิประโยชน์ทางภาษี ในการนำเข้าชิ้นส่วนสำหรับการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า เพื่อเป็นการลดต้นทุนให้กับผู้ประกอบการไทย ให้สามารถแข่งขันกับสินค้านำเข้า

นอกจากทั้ง 3 ศูนย์แล้ว ยังมีศูนย์ทดสอบและรับรองมาตรฐาน ครอบคลุมตั้งแต่การทดสอบผลิตภัณฑ์ การสอบเทียบเครื่องมือวัด ไปจนถึงการตรวจโรงงานและรับรองผลิตภัณฑ์ โดยเป็นหน่วยงานแห่งแรก ของประเทศไทยที่ได้รับการรับรองระบบคุณภาพตามมาตรฐานครบทั้ง 3 บริการจากสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมในระดับสากล

สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ยังมีความพร้อมในการสนับสนุนอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ไม่ว่าจะเป็น อุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ อุตสาหกรรมยานยนต์อนาคต ทางสถาบันมีบริการคำปรึกษาคำแนะนำ วิเคราะห์ ให้แก่ผู้ประกอบการที่ต้องการปรับปรุงระบบการผลิตให้ทันสมัยยิ่งขึ้น ไปจนถึงการจับคู่กับหน่วยงานต่างๆ ที่เป็นผู้ผลิตและพัฒนาพัฒนาระบบใหม่ ๆ ในการสร้างผลิตภัณฑ์ร่วมกัน

สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ มีความมุ่งหวังให้ผู้ประกอบการไทยมีผลิตภัณฑ์ที่สามารถแข่งขันได้กับสินค้าที่มาจากต่างประเทศ โดยบริการต่าง ๆ จากทางสถาบันนั้น พร้อมที่จะช่วยรองรับและสนับสนุนผู้ประกอบการไทย ให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันกับสินค้าจากต่างประเทศได้อย่างสมบูรณ์แบบ

ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อได้ที่

ศูนย์ปฏิบัติการและมาตรฐาน สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

ที่อยู่: 975 หมู่ 4 นิคมอุตสาหกรรมบางปู ซอย 8 ถ.สุขุมวิท กม.37
ต.แพรกษา อ.เมืองสมุทรปราการ จ.สมุทรปราการ 10280

โทร: 0 2709 4860

โทรสาร: 0 2324 0917


สำหรับช่องทาง SME ONE เพิ่มเติม
Facebook: SMEONE
Youtube: SMEONE
Line: @smeone

บทความแนะนำ

ศูนย์บริการธุรกิจอุตสาหกรรมดีพร้อม (BSC)

ศูนย์บริการธุรกิจอุตสาหกรรมดีพร้อม (BSC)

 

“เราเป็นศูนย์ให้ความช่วยเหลือกับผู้ประกอบการ เป็นคนกลางที่จะคอยคัดแยกว่า ถ้าธุรกิจของคุณต้องการพบหมอ คุณต้องไปที่ใด นี่คือ  BSC คือเคาท์เตอร์แรกที่จะให้ข้อมูลทั่วไป วิเคราะห์ วินิจฉัย และนี่คือบทบาทของศูนย์นี้”

ศูนย์บริการธุรกิจอุตสาหกรรมดีพร้อม หรือ BSC เป็นหน่วยงานภายใต้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมกระทรวงอุตสาหกรรม จัดตั้งขึ้นเพื่อให้บริการข้อมูลสารสนเทศและบริการแนะนำเบื้องต้น โดยมุ่งเน้นเรื่องข้อมูลทางอุตสาหกรรม โอกาสการลงทุน โอกาสทางธุรกิจ และการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการธุรกิจอุตสาหกรรม วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) วิสาหกิจชุมชน ผู้ต้องการเริ่มต้นธุรกิจ และบุคคลทั่วไปที่สนใจขอรับบริการ 

โดย ศูนย์บริการธุรกิจอุตสาหกรรมดีพร้อม ได้จัดเตรียมเจ้าหน้าที่และที่ปรึกษาที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เพื่อให้บริการกับบุคคล หรือบริษัทอย่างทั่วถึง

 

บริการจากศูนย์บริการธุรกิจอุตสาหกรรมดีพร้อม หรือ BSC 

การวางแผนธุรกิจ 

สำหรับผู้ที่อยากดำเนินธุรกิจ แต่ยังไม่มีแนวคิด ศูนย์บริการ BSC ได้จัดเตรียมข้อมูลให้มีการปรึกษาเบื้องต้น แนวคิดการดำเนินธุรกิจ และฐานข้อมูลสารสนเทศต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนการประเมินความพร้อมในการเป็นผู้ประกอบการ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจในการเริ่มต้นธุรกิจและการลงทุน

การเริ่มต้นธุรกิจ 

สำหรับผู้ที่มีธุรกิจอยู่แล้ว ทางศูนย์บริการธุรกิจอุตสาหกรรมดีพร้อม ก็มีการให้บริการที่เหมาะสมเช่นกัน โดยจัดให้มีทีมที่ปรึกษาที่มีความเชี่ยวชาญในด้านต่างๆ ตั้งแต่เริ่มต้นธุรกิจ ตลอดจนการพัฒนาโอกาสของผู้ประกอบการเอง  ยกตัวอย่างเช่น การบริหาร การผลิต การเงิน การบัญชี โอกาสทางธุรกิจ ฯลฯ โดยสิ่งเหล่านี้ ทางศูนย์บริการให้คำปรึกษาและแนะนำให้ฟรี

อีกทั้ง หากสถานประกอบการใดที่มีปัญหาเชิงลึกและอยากให้ทาง ที่ปรึกษาศูนย์บริการธุรกิจอุตสาหกรรมดีพร้อม เข้าไปจัดการปัญหาในสถานประกอบการก็สามารถทำได้เช่นกัน 

สำหรับการเข้าไปแก้ปัญหา ณ สถานประกอบการนั้นๆ ศูนย์บริการธุรกิจอุตสาหกรรมดีพร้อม ได้จัดให้มีทีมที่ปรึกษาเข้าไปทำงานกับผู้ประกอบการเพื่อแก้ปัญหา รวมระยะเวลาประมาณ 3 วัน เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ในการช่วยเหลือได้อย่างมีประสิทธิภาพ

กิจกรรม Matching Online 

ทางศูนย์บริการธุรกิจอุตสาหกรรมดีพร้อม ยังได้จัดให้มีกิจกรรม Matching Online อันเป็นกิจกรรมที่เป็นความร่วมมือระหว่างไทยและญี่ปุ่น โดยผู้ประกอบการสามารถลงชื่อได้ทางช่องทางแพลตฟอร์มดิจิทัล ซึ่งปัจจุบัน กิจกรรม Matching Online  ได้จัดให้มีขึ้นทุกเดือน โดยไม่จำกัดประเภทอุตสาหกรรม

บริการข้อมูลสารสนเทศ

ทาง ศูนย์บริการธุรกิจอุตสาหกรรมดีพร้อม หรือ BSC ยังมีบริการข้อมูลสารสนเทศ เกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจ การลงทุน โดยได้มีเอกสารให้ทั้งออนไลน์และสิ่งตีพิมพ์ โดยสามารถเข้ารับบริการได้ที่หน่วยงานของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมทุกแห่งทั่วประเทศ ไม่เพียงแต่เท่านั้น สำหรับบุคคลซึ่งต้องการจะดำเนินธุรกิจ แต่ยังไม่รู้จะไปทางไหน ศูนย์บริการฯ มีการให้บริการด้าน Business idea ให้ได้เห็นโมเดลและศึกษาข้อมูลเพื่อเรียนรู้ได้อย่างเข้าใจง่าย 

ห้องสมุดอุตสาหกรรม

เป็นแหล่งการเรียนรู้และการบริการฐานข้อมูลเชิงวิชาการด้านอุตสาหกรรม สถิติ ความเคลื่อนไหวทางธุรกิจอุตสาหกรรม และสารสนเทศที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรม แบบครบวงจรตั้งแต่อุตสาหกรรมต้นน้ำถึงอุตสาหกรรมปลายน้ำ โดยสามารถเข้ารับบริการได้ที่หน่วยงานของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมทุกแห่งทั่วประเทศ หรือผ่านทางเว็บไซต์ http://library.dip.go.th ได้ 24 ชั่วโมง

 

ด้วยพันธกิจที่ต้องการช่วยเหลือผู้ประกอบการ ศูนย์บริการธุรกิจอุตสาหกรรมดีพร้อม จึงได้เปิดและกระจายศูนย์ช่วยเหลือออกไปถึง 14 แห่งทั่วประเทศ โดยตั้งอยู่ที่ศูนย์การส่งเสริมอุตสาหกรรมภาค ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม

ทั้งนี้ เพื่อความสะดวกต่อผู้เข้ารับบริการ สามารถขอรับบริการปรึกษา ได้ผ่านระบบ Call Center หรือทางเว็บไซต์ที่ http://bsc.dip.go.th โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น

 

ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อได้ที่

ศูนย์บริการธุรกิจอุตสาหกรรมดีพร้อม หรือ BSC
75/6 ถ.พระรามที่ 6 แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
โทรศัพท์ 02 430 6860 

Call center : 1358

เว็บไซต์ http://bsc.dip.go.th


สำหรับช่องทาง SME ONE เพิ่มเติม
Facebook: SMEONE
Youtube: SMEONE
Line: @smeone

บทความแนะนำ

ภูวารา กลิ่นบำบัด สกัดจากธรรมชาติ

ภูวารา กลิ่นบำบัด สกัดจากธรรมชาติ

ภูวารา คือผลิตภัณฑ์เครื่องหอมสกัดจากวัตถุดิบธรรมชาติ โดยไม่ใช้สารเคมีอันตราย เพื่อการบำบัดร่างกายและจิตใจด้วยกลิ่นหอมระเหย โดยมีแนวคิดประจำแบรนด์ว่า สุคนธบำบัด สกัดจากธรรมชาติ

จากการตั้งโจทย์ทางธุรกิจโดยคุณแม็ก พรหมพิริยะ หงษ์ยนต์ ที่มองหาธุรกิจที่มีโอกาสในการเติบโตและพัฒนาต่อไปได้ ผสมผสานกับ 3 ความหลงใหลที่คุณแม็กให้ความสนใจเป็นพิเศษ ได้แก่ กลิ่นหอม ธรรมชาติ และครอบครัว จึงได้มาเป็น ภูวารา ผลิตภัณฑ์เครื่องหอมระเหยสกัดจากธรรมชาติ

กว่าภูวาราจะเกิดขึ้นได้นั้น ต้องผ่านการศึกษาวิจัย อย่างหนัก เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์เครื่องหอมที่ตอบโจทย์ ทั้งการไม่ใช้สารเคมี และมีสรรพคุณบำบัดอาการด้วยการหายใจได้ โดยสิ่งแรกที่ทางแบรนด์ได้ทำนั้นคือการทำความเข้าใจตัวเองก่อน ศึกษาพื้นฐานของเครื่องหอมก่อนว่า การจะเป็นเครื่องหอมได้นั้นต้องทำอย่างไร ผลิตอย่างไร และตามหาตัวตนว่า ตัวตนที่จะเป็นจุดแข็งของแบรนด์คืออะไร

เมื่อแนวคิดเริ่มต้นของแบรนด์ชัดเจนแล้วนั้น ขั้นตอนต่อไปคือการปรึกษา และพัฒนาผลิตภัณฑ์ โดยมีความร่วมมือกันจากหลายภาคส่วน เริ่มตั้งแต่การวิจัยและพัฒนาสูตร ในโครงการ UBI จาก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อได้สูตรมาแล้วก็ทำการวางรูปแบบธุรกิจกับโครงการ NEC ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เพื่อให้ได้แนวคิดของการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริหารธุรกิจ หลังจากนั้นได้นำผลิตภัณฑ์ไปทดสอบประสิทธิภาพกับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง โดยเป็นการทดสอบประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อโรค แบคทีเรียและเชื้อราต่าง ๆ และสุดท้ายนำไปผลิตด้วยกระบวนการที่ควบคุม พัฒนา และดูแลมาตรฐานการผลิตโดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีอีกครั้งหนึ่ง 

ภูวารา ใส่ใจในกระบวนการทุกขั้นตอน เพื่อส่งมอบผลิตภัณฑ์ที่ดีที่สุด ที่เต็มไปด้วยความสุข และความสบายใจให้ถึงมือลูกค้า

 

สร้างเอกลักษณ์สินค้า ให้เป็นที่จดจำ

จากประสบการณ์ความเชี่ยวชาญมากว่า 10 ปี ทำให้แบรนด์นั้นเข้าใจในธรรมชาติของกลิ่นหอมเป็นอย่างดี จนสามารถสร้างผลิตภัณฑ์เครื่องหอมที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวได้ อย่างเช่น ยาดมที่สามารถเปลี่ยนกลิ่นไปได้ถึง 8 กลิ่น หรือก้านไม้หอมที่เปลี่ยนกลิ่นได้ถึง 3 กลิ่น นอกจากเรื่องของกลิ่นหอมแล้วยังมีสรรพคุณหลากหลาย มีตั้งแต่ช่วยในการนอนหลับ ช่วยบำบัดความเครียด ไปจนถึงแก้อาการภูมิแพ้ได้อีกด้วย

ผลิตภัณฑ์ของภูวารายังได้มีการพัฒนาภายใต้แนวคิดของ BCG หรือ Bio Circular Green Economy เช่นกัน เป็นการสกัดน้ำหอมจากกลีบกุหลาบพันธุ์ไกลกังวล ซึ่งเป็นสายพันธุ์ประจำจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยทางแบรนด์ได้มีการพัฒนาร่วมกันกับวิสาหกิจชุมชนจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ที่เป็นผู้ปลูกกุหลาบสายพันธุ์ดังกล่าว นอกจากนี้ยังได้เลือกใช้ขวดและอลูมิเนียมที่สามารถรีไซเคิลได้ เป็นการส่งเสริมอาชีพ สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรในชุมชนอีกทางหนึ่ง

และยังมีแผนการที่จะทำผลิตภัณฑ์ก้านหอมรุ่นใหม่ ให้สามารถใช้ประโยชน์หมุนเวียนได้ในทุกส่วน ตั้งแต่กระดาษบรรจุภัณฑ์ที่ทำมาจากดอกไม้ที่เป็นวัตถุดิบหลักในแต่ละกลิ่น โดยสามารถนำกล่องมาม้วนเป็นแท่งใส่ในขวดน้ำหอมใช้แทนก้านหอมในการกระจายกลิ่นได้ ฐานกล่องเป็นกระดาษฝังเมล็ดพันธุ์สามารถนำดินมาใส่แล้วรดน้ำได้ทันที ดอกไม้จะเติบโตขึ้นมาได้ ฉลากสินค้าที่พันรอบขวดจะใส่สารอาหารไว้เป็นปุ๋ยให้กับดอกไม้ สามารถนำมาฝังดินปลูกได้ ดอกไม้โตจะใช้เวลาในการเติบโตเทียบเท่ากับระยะเวลาที่น้ำหอมในขวดหมดลง และเมื่อถึงเวลานั้น สามารถนำขวดน้ำหอมมาใช้เป็นแจกันสำหรับปักดอกไม้ได้ต่ออีกทางหนึ่ง

แนวคิดในการทำธุรกิจของ ภูวารา นั้นมองว่า เราจำเป็นต้องมีความเข้าใจในธุรกิจของเราก่อนว่ากำลังทำอะไร ทำเพื่อใคร หลังจากนั้นต้องมีการสร้างเรื่องราวของแบรนด์ให้น่าจดจำ  เพื่อให้สิ่งที่เราต้องการเล่าเข้าไปอยู่ในใจของลูกค้าได้ และที่สำคัญคือการสร้างการย้ำเตือนถึงคุณภาพ ซึ่งทางแบรนด์ได้ใช้การย้ำเตือนในรูปแบบของเสียงตอบรับจากลูกค้ามาตลอด 10 ปี สิ่งสุดท้ายคือช่องทางในการติดต่อสื่อสาร ที่จะเชื่อมโยงแบรนด์ให้เข้าถึงลูกค้าได้มากที่สุด เป็นการอำนวยความสะดวกให้กับลูกค้า

ในการทำธุรกิจ อยากให้เริ่มต้นจากสิ่งที่รัก มองให้เหมือนกับลูก เพราะเมื่อทำในสิ่งที่รักก็จะสามารถเลี้ยงดูให้เขาเติบโตต่อไปได้ แล้ววันหนึ่งลูกคนนั้นจะกลับมาเลี้ยงดูเราเองในอนาคต

 

ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อได้ที่

บริษัท ภูวารา เทอราปี้ จำกัด

ที่อยู่: 969/8 หมู่ที่ 2 ตำบลวังก์พง อำเภอปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์

โทร: 06 4557 5666

Line: @puvara1

Facebook: Puvara Aroma

Instagram: puvara.thailand


สำหรับช่องทาง SME ONE เพิ่มเติม
Facebook: SMEONE
Youtube: SMEONE
Line: @smeone

 

บทความแนะนำ