ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ SME ประจำเดือน กุมภาพันธ์ 2566

Link อ่านบทความ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ SME ประจำเดือน กุมภาพันธ์ 2566 ที่นี่

บทความแนะนำ

สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)

สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)

สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบในเรื่องของ การนำเอาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เข้ามาช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการทุกระดับ ไปจนถึงวิสาหกิจชุมชน 

ทาง วว. นั้นมีงานบริการที่พร้อมให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการ เช่น งานพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ช่วยเหลือผู้ประกอบการตั้งแต่เริ่มแรกไปจนถึงขั้นจนเสร็จสมบูรณ์ ซึ่งถ้าหากผลิตภัณฑ์ที่พัฒนานั้น ยังไม่เข้าเกณฑ์มาตรฐานสากล ทาง วว. เองก็มีหน่วยงานที่พร้อมให้คำปรึกษา และ ช่วยกันพัฒนาผลิตภัณฑ์ร่วมกันจนสามารถผ่านเกณฑ์มาตรฐานสากลได้

สิ่งหนึ่งที่ทาง วว. สามารถช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าได้ คือ การทดสอบเพื่อออกใบรับรองมาตรฐานให้กับสินค้า เป็นการสร้างความเชื่อถือให้กับผู้บริโภคในตลาด ทำให้ผู้บริโภคมีความมั่นใจในสินค้าได้มากขึ้น

อีกส่วนหนึ่ง คือ การช่วยลดต้นทุน ลดความเสี่ยงในการลงทุนในการผลิตสินค้านวัตกรรม ด้วยการเปิดให้บริการ โรงงานผลิต ที่เรียกว่า Scale Up Plant เป็นโรงงานขนาดไม่ใหญ่จนเกินไป แต่มีอุปกรณ์และเครื่องมือเพียงพอที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการ สามารถติดต่อเข้ามาให้ทาง วว. ช่วยพัฒนาสินค้าและทำการผลิตให้ เพื่อที่จะทำให้ผู้ประกอบการสามารถนำสินค้านวัตกรรมออกวางจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ได้เร็วที่สุด

 

บริการจากทางศูนย์
สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ได้พัฒนาระบบการให้บริการแก่ผู้ประกอบการ ผ่านระบบดิจิทัล ชื่อ “วว. JUMP” ให้บริการแบบ Total Solution ครบจบในที่เดียว ให้ผู้ประกอบการสามารถเข้ารับบริการได้อย่างสะดวกสบายที่สุด เพื่อช่วยแก้ไขโจทย์ปัญหาทางธุรกิจ ในเวลาที่ผู้ประกอบการต่างต้องการความช่วยเหลือ ไม่ว่าจะเป็น การนำเอาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ไปช่วยในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ หรือ ความต้องการที่จะขอใบรับรองคุณภาพต่าง ๆ ทางผู้ประกอบการเองจะสามารถติดต่อเข้ามาใช้บริการผ่านทางระบบนี้ได้ทุกที่ทุกเวลา 

 

จากประสบการณ์ในการวิจัย พัฒนา และสร้างนวัตกรรมมาตลอด 60 ปี ทำให้สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ได้เห็นปัญหาที่ผู้ประกอบการต่างพบเจอ 

ทางสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย จึงมีจุดมุ่งหมายที่จะนำเอาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และ นวัตกรรม เข้ามาช่วยสนับสนุนให้กับผู้ประกอบการสามารถเพิ่มคุณภาพการผลิต ช่วยลดเวลา ลดต้นทุน เพิ่มมูลค่าสินค้าสร้างผลกำไรให้มากขึ้น เพื่อเป็นการขยายขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการให้เพิ่มมากขึ้น และเป็นการยกระดับผลิตภัณฑ์ และ บริการต่าง ๆ ให้สูงขึ้น และจุดมุ่งหมายทั้งหมดนี้ ได้ถูกกำหนดให้เป็นภารกิจหลัก ของสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย

 

 

ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อได้ที่

สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย

ที่อยู่: 35  หมู่  3  เทคโนธานี ตำบลคลองห้า อำเภอคลองหลวง  จังหวัดปทุมธานี 12120

โทรศัพท์: 0-2577-9000

โทรสาร: 0-2577-9009

Call Center: 0-2577 9300

อีเมล: tistr@tistr.or.th

เว็บไซต์ : www.tistr.or.th

วว. JUMP ระบบบริการลูกค้า: https://tistrservices.tistr.or.th/

บทความแนะนำ

Predictive

One Stop Service Transform Solution

 

Predictive ถือเป็นผู้นำตลาดที่มีความชำนาญด้านบริการให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการปรับเปลี่ยนองค์กรสู่ดิจิทัล และการสร้างประสบการณ์ให้กับลูกค้า (Digital analytics & Customer experience consultancy) รายแรกของประเทศไทย

ในวันที่คุณณัฐกรณ์ รัตนชัยสิทธิ์ Founder & Managing Director Predictive ตัดสินใจกลับจากต่างประเทศเพื่อมาเปิดบริษัทที่ปรึกษา คุณณัฐกรณ์เริ่มต้นสร้างองค์กรด้วยคนเพียง 3 คน ผ่านไป 11 ปี ปัจจุบัน Predictive มีคนระดับมันสมอง ไม่ว่าจะเป็น Data analyst, Data scientist, Data engineer, Project management, Business development ฯลฯ รวมแล้วกว่า120 คน

อะไรที่ทำให้บริษัทของคนไทยสามารถแข่งขันกับบริษัทเทคโนโลยีข้ามชาติได้อย่างสมศักดิ์ศรี

บทสนทนากับผู้ก่อตั้งชุดนี้อธิบายวิธีคิดและการทำงานไว้อย่างละเอียดแล้ว...

SME ONE : จุดเริ่มต้นของ Predictive มีที่มาที่ไปอย่างไร

ณัฐกรณ์ : ย้อนไปเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว ผมมีประสบการณ์ในการทำธุรกิจที่ปรึกษาในเรื่องของ Data ที่ประเทศสิงคโปร์มาก่อน และมีโอกาสเห็นเทรนด์ว่า ในโลกนี้การทำเรื่อง Customer data มันมีความจำเป็นมากๆ หลังจากนั้นก็เลยกลับมาตั้งบริษัท Predictive ขึ้นมา เพราะเห็นว่าการใช้ข้อมูล หรือความเข้าใจเกี่ยวกับ Customer experience ว่าลูกค้าของเราเป็นใคร ยังไม่ได้มีการใช้อย่างแพร่หลายมากเท่าไหร่ในประเทศไทย

ถ้าเป็นยุคก่อน การที่เราจะเข้าใจประสบการณ์ของลูกค้า มันคือการใช้ในลักษณะ Traditional method อย่างเช่น การทำ Focus group การทำ Survey ซึ่งถามว่ามันได้ข้อมูลละเอียดเพียงพอไหม หรือข้อมูลนั้นๆ สามารถนำมาใช้วิเคราะห์พฤติกรรมเขาได้ไหม ก็ตอบว่าบางทีก็ยังไม่ตอบโจทย์ 

หลังจากที่ผมมีโอกาสได้ไปทำงานที่สิงคโปร์ ผมมีโอกาสเห็นว่า Global brand ที่เป็นแบรนด์ขนาดใหญ่เขามีการใช้ Data predict เกี่ยวกับอะไร ผมเคยทำ Affiliate marketing มาก่อนก็จะเห็นแล้วว่าการใช้ Data เป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะเราสามารถรู้ได้เลยว่าลูกค้าจะมีโอกาสกลับมาซื้อซ้ำไหม ใครบ้างที่จะมีโอกาสมาซื้อสินค้ากับเรา โอกาสการขายอยู่ตรงไหน

 

SME ONE : ปัญหาเรื่อง Data มีเฉพาะในบริษัทเล็กๆ หรือทุกองค์กรเป็นหมด

ณัฐกรณ์ : เป็นทุกองค์กร อย่างตอนแรกๆ เราก็ได้ลูกค้าที่มาจากองค์กรใหญ่ ณ ตอนนั้นองค์กรใหญ่ก็ยังไม่มีการใช้ข้อมูลในเชิงที่เป็น Customer data ถามว่าในทุกองค์กรมีการเก็บข้อมูลไหม เขาจะมีข้อมูลในเชิงที่เป็น Transaction data เช่น ข้อมูลยอดขาย ค่าใช้จ่าย สินค้าอะไรขายดี พวกนี้ต้องรู้ข้อมูลอยู่แล้ว แต่การที่เขารู้ว่าตัวตนของคนที่มาซื้อสินค้าของเขาคือใคร โปรไฟล์เป็นแบบไหน Customer journey เป็นอย่างไรบ้าง ณ เวลานั้นย้อนไปเมื่อ 11 ปีที่แล้ว แม้แต่บริษัทชั้นนำก็ยังไม่ได้มีการทำพวกนี้ขึ้นมา 

ปีแรกๆ ที่เราเปิดมา เราจึงเน้นเจาะกลุ่มลูกค้าองค์กรขนาดใหญ่ก่อน เพราะเราเห็นแล้วว่ากลุ่มองค์กรขนาดใหญ่ หลายๆ ที่เริ่มมีเว็บไซต์ มีแอปพลิเคชั่น แต่ยังไม่ได้ทำเรื่องของ Data analytics โดยลูกค้ากลุ่มแรกๆ ของเราจะเป็นกลุ่ม Financial ค่อนข้างเยอะ

  นอกจากธุรกิจการเงิน เมื่อ 10 ปีที่แล้วอุตสาหกรรมที่เริ่มใช้ Data ก็คือ ค้าปลีกกับโทรคมนาคม แต่ตอนนี้เกือบทุกอุตสาหกรรมให้ความสำคัญหมดแล้ว เพราะเขาก็เริ่มเข้าใจมากขึ้นว่าลูกค้าของเขาเป็นอย่างไร เพราะมันเป็นกลยุทธ์ที่สำคัญว่าถ้าหากเขาเข้าใจลูกค้า เขาจะรู้เลยว่าจะเอาสินค้าหรือบริการอะไรมาขาย เขาควรจะตั้งราคาอย่างไรบ้าง ลูกค้าของเขาเป็น Segment กลุ่มไหน เขาจะนำเสนอสินค้าและบริการของเขากับเขาอย่างไรได้บ้างในแต่ละ Segment 

 

SME ONE : ช่วงที่เราเริ่มต้นธุรกิจปีแรกๆ กับปัจจุบันแตกต่างกันขนาดไหน

ณัฐกรณ์ : ต้องบอกเลยว่าช่วงแรกๆ เหนื่อยมาก เพราะว่าตลาดยังไม่อยู่ตัว ย้อนไปเมื่อ 10 ปีที่แล้วอีคอมเมิร์ซก็ยังไม่เกิด Digital Player ต่างๆ ก็ยังไปโฟกัสในเชิงของ Business ค่อนข้างเยอะ ยกตัวอย่าง กลุ่มธนาคารก็ยังโฟกัสในการทำ Digitalization จากแมนนวลก็เริ่มมีในส่วนของ Digital channel ต่างๆ แต่ในปัจจุบันทุกธุรกิจเริ่มแตกขยาย ธนาคารเองก็เริ่มมี New Business เพราะทุกคนเริ่มมีข้อมูลที่เป็น Customer data ของตัวเอง ซึ่งตรงนี้มันสอดคล้องกับ Global Trend

เช่น Walmart, Amazon เขาเก็บข้อมูล data มาเป็น 10-20 ปี เขาก็สามารถนำไปสร้างธุรกิจใหม่ๆ ได้ อย่าง Amazon มีธุรกิจแทบจะครบทุก Journey เลย ตั้งแต่ Financial, Product ฯลฯ เพราะเขามี Customer data แล้วตอนนี้ต้องบอกเลยว่าองค์กรไหนที่มี Customer data มากที่สุดเป็นองค์กรที่มีอิทธิพลสูงมาก เช่น Apple, Amazon, Facebook หรือแม้กระทั่ง TikTok ที่ตอนนี้ทางรัฐบาลสหรัฐอเมริกาค่อนข้างกังวลกับข้อมูลที่จะส่งไปที่ประเทศจีน เพราะเขาเห็นว่าอำนาจของข้อมูลตรงนี้มันมีส่วนที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง

 

SME ONE : เปรียบเทียบแบบฟุตบอล 10 ปีที่แล้ว Data คือผู้เล่นตำแหน่งกองหลัง มาในปัจจุบัน Data ยังเป็นกองหลัง หรือย้ายมาเป็นกองกลาง หรือกองหน้าแล้ว

ณัฐกรณ์ : ถ้าผมมอง Data มันคือทุกตำแหน่งเลย กองหน้าก็สำคัญ กองหลังก็สำคัญ เพราะถ้าเกิดเรามองว่าเรามีข้อมูลหน้าบ้านแต่เราไม่เชื่อมข้อมูลหลังบ้าน จะทำอย่างไรถ้าเรามียอดขายเข้ามามากๆ แต่หลังบ้านการทำ Delivery การทำ Operation ของเรายังไม่ดีพอ เราก็โดนยิงอยู่ดี เพราะฉะนั้น Data ต้องเล่นได้ทุกตำแหน่ง

ในอดีตเขาอาจจะไปเน้นที่หลังบ้านเยอะ เมื่อ 10 ปีที่แล้วทุกองค์กรจะต้องมี ERP (Enterprise Resource Planning) ทำเรื่องของ Financial ทำเรื่องของตัวเลข พวกนี้ที่เป็นข้อมูลหลังบ้าน แต่ข้อมูลตรงนั้นมันคือปลายทางแล้ว ซึ่งข้อมูลที่เรากำลังพูดถึงในปัจจุบัน คือข้อมูล Customer data ซึ่งเป็นข้อมูลระหว่างทาง ซึ่งข้อมูลระหว่างทางสำคัญมาก เพราะเราสามารถรู้ได้เลยว่า ลูกค้ากำลังสนใจอะไร มีแนวโน้มที่จะสนใจสินค้าและบริการอะไรบ้างในอนาคต เราควรจะต้อง นำเสนออย่างไร นำเสนอสินค้าอะไร



SME ONE : ที่ทราบมาคือปัญหาของธุรกิจนี้คือ ลูกค้ามี Data เป็นจำนวนมาก แต่วิเคราะห์ไม่ถูก

ณัฐกรณ์ : ต้องบอกว่าช่วงแรกของธุรกิจมันมีหลาย Stage ลูกค้าอาจจะยังไม่เคยเก็บข้อมูลเลย หรือในหน้าเว็บไซต์อาจจะมีการเก็บข้อมูลแต่เก็บไม่ละเอียด เช่น เขาแค่อาจจะเก็บว่าคนเข้ามาดูหน้าไหน แต่พฤติกรรมตรงนั้นไม่สามารถบ่งบอกได้ว่าคนที่เข้ามาดูหน้านั้น เขามีความสนใจในส่วนไหน เขาให้ความสนใจจริงๆ หรือเปล่า อันนี้ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งที่เห็นว่า ถ้าเราไปวิเคราะห์ที่ปัญหาจริงๆ เราจะต้องเข้าไปช่วยลูกค้าในการวางแผนการเก็บข้อมูลใหม่ 

หรือในกลุ่มลูกค้าที่เริ่มเก็บข้อมูลมาได้ระดับหนึ่งแล้ว เก็บมาได้ 1 ปี แต่ไม่ได้เอาข้อมูลมาใช้เลย ก็ให้เอามาแบ่ง Segment หรือเอามาวิเคราะห์กลุ่มลูกค้าว่าแต่ละกลุ่มเป็นอย่างไรบ้าง มาวิเคราะห์ Journey หรือเส้นทางก่อนที่เขาจะมาซื้อ เขามีเส้นทางในการตัดสินใจอย่างไร เราก็เข้าไปช่วยลูกค้าดูว่าตรงนี้เขาต้องใช้อะไรบ้างในการเอาข้อมูลมาใช้ ตั้งแต่ในส่วนของการปรับ Customer experience หรือ UX/UI ปรับหน้าเว็บไซต์ หรือปรับในส่วนของการวาง Product ปรับช่องทางการสื่อสารต่างๆ ก็ต้องแก้ไปทีละจุดแล้วแต่ว่ามีโจทย์อย่างไรบ้าง 

สิ่งสำคัญก็คือ เวลาที่เราคุยกับลูกค้า เราต้องเริ่มจากการที่เข้าใจโจทย์ก่อน แล้วก็ดูว่าในปัจจุบันเขามีปัญหาเรื่องอะไร เช่น เขาอยากได้ลูกค้าใหม่ แต่ปัจจุบันสิ่งที่เขาเผชิญอยู่คือ ค่าใช้จ่ายมันสูง การออกแบบประสบการณ์ทำอย่างไรให้ต้นทุนถูกที่สุด และเป็นต้นทุนที่มีคุณภาพด้วย ตัวอย่างเช่น ลูกค้ากลุ่มอสังหาที่เข้ามาดูเว็บไซต์ แต่สุดท้ายไม่ได้ไปเยี่ยมชมโครงการ ไม่เคยไปดูเลยว่าคอนโดเป็นอย่างไร ไม่ได้ไปดูเลยว่าบ้านเดี่ยวเป็นอย่างไร แบบนี้ต่อให้ได้ข้อมูลมามากๆ ก็ไม่มีคุณภาพ

บ่อยครั้งที่เราเจอลูกค้าที่เดินเข้ามาหาเรา บางทีเขาจะมีเป้าในใจอยู่แล้วว่าเกิดจากปัญหานี้ แต่พอเราไปคุยไปดูแล้วเรารู้สึกว่ามันผิด เพราะปัญหามันเกิดจากอีกจุดหนึ่ง หรือบางทีลูกค้ามาด้วยโจทย์ที่ยังไม่แน่ใจว่าอันนี้คือปัญหาของเขาจริงๆ หรือเปล่า ปกติเราก็จะมีการสัมภาษณ์ หรือนั่งคุยกันว่ามีประเด็นอะไรบ้าง บวกกับตัวเลขที่เขามีหลังบ้านที่บอกว่ายอดขายของเขามันตก หรือค่าเฉลี่ยของยอดซื้อของลูกค้าแต่ละรายมันต่ำ บางทีเราก็ต้องเอาข้อมูลเหล่านี้มาตรวจสอบความถูกต้องก่อนที่เราจะสรุปว่า อันนี้คือปัญหาที่แท้จริง แล้วหลังจากนั้นเราก็ค่อยมาดูว่ามีโซลูชั่นอะไรในการแก้ไขปัญหา

 

SME ONE : ช่วยอธิบายว่ากลุ่ม SMEs จะใช้ประโยชน์จากการใช้ Data หรือเทคโนโลยีได้อย่างไร

ณัฐกรณ์ : ต้องบอกเลยว่าในเชิงของการใช้เทคโนโลยีไม่จำเป็นต้องเป็นลูกค้ากลุ่มองค์กรขนาดใหญ่เท่านั้น ลูกค้ากลุ่มองค์กรขนาดเล็กก็ใช้ได้ แต่ขอให้มองว่า Used case ที่จะใช้ต้องมีความชัดเจน ปัญหาของ SMEs หลายๆ เจ้าคือเขาอยากทำทุกอย่างในเวลาเดียวกัน แล้วเขาอาจจะแก้ปัญหาไม่ตรงจุด ลงตรงนั้นดี ลงตรงนี้ดี แล้วลงเงินตรงไหนดี มันเลยอาจทำให้ผลลัพธ์ที่ออกมาไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่เขาวางไว้ 

เพราะฉะนั้นในมุมของ SMEs การที่เราเอาเครื่องมือมาใช้เพื่อที่จะเข้าใจลูกค้าได้ดีขึ้นมันจะต้องวัดผลได้ ทำแล้วช่วยลดต้นทุนลูกค้าคนหนึ่งลดลงจากกี่บาทเป็นกี่บาท และสามารถหาลูกค้าเพิ่มได้เท่าไหร่ จำนวนตัวเลขรายได้ที่เข้ามาเป็นอย่างไร ก็ต้องเอามาคำนวณต่อว่าการลงทุนไปในเครื่องมือหรือเทคโนโลยีมันมี ROI หรือเปล่า 

แต่ที่ผ่านมา SMEs บ้านเรามักจะให้ความสำคัญกับการตลาดในเชิงที่เป็น End user มากกว่าฝั่ง Data หลายคนชอบคิดว่าทำไมไม่เอาเงินไปซื้อมีเดีย หรือไปซื้อสื่อไปยิงแอดเพื่อให้ได้ลูกค้ากลับมา ตรงนี้คือมายด์เซตที่ผิด เพราะการที่คุณจะไปดึงเขามาที่บ้าน แต่บ้านคุณยังไม่เรียบร้อย บางคนยิงโฆษณาไปแต่ไม่ได้มีการเก็บข้อมูลเลย ยังไม่ได้คิดเลยว่าลูกค้าเข้ามาด้วยแคมเปญนี้จะทำอะไรต่อบ้าง 

SMEs บางเจ้ายิงโฆษณาเป็นล้านต่อเดือน แต่เขาไม่มีการเก็บข้อมูล เหมือนเปิดประตูเข้าบ้านแล้วไม่มีการ Tracking เลยว่าใครเข้ามาในบ้านบ้าง เข้ามาเท่าไหร่ ก็เหมือนเอาเงินไปทิ้ง เพราะได้คนเข้ามาแต่ไม่สามารถวัดได้ว่าคุณภาพของคนเป็นอย่างไร ประสบการณ์ที่เขาเข้ามามันโอเคหรือไม่ คนเข้ามาแล้วไม่ตอบโจทย์ อย่างเช่นให้เข้ามาโหลดแอปฯ แล้วไม่ตอบโจทย์ เขาก็เข้ามาแค่ 1-2 ครั้งแล้วก็ Uninstall

เวลาทำงานเราจะมองเลยว่าเวลา SMEs ใช้เงิน เขาใช้เงินถูกที่หรือเปล่า อันนี้คือสิ่งหนึ่งที่เราต้องเข้าไปช่วยให้คำปรึกษาลูกค้า บางครั้งเวลาที่ลูกค้าบรีฟว่าอยากได้ลูกค้าใหม่ อยากได้ยอดดาวน์โหลด เราจะถามกลับว่าความจริงแล้วคุณต้องการอะไรกันแน่ ยอดดาวน์โหลดหรือยอดคนเข้าเว้บมันตรงกับสิ่งที่คุณต้องการจริงๆ หรือเปล่า มันสามารถเปลี่ยนมาเป็น Business Value ได้ไหม

 

SME ONE : ปัจจุบัน Predictive มีบริการอะไรบ้าง

ณัฐกรณ์ : ตั้งแต่เริ่มต้นเรามีบริการในเรื่องของการเป็นที่ปรึกษา ตั้งแต่การเข้าใจธุรกิจว่าธุรกิจของลูกค้าเป็นอย่างไร นอกจากนี้เราทำกลยุทธ์ในเชิงของการใช้ข้อมูลโดยแบ่งเป็น 2 แกนคือ Data กับ Customer experience พอเรารู้แล้วว่ากลยุทธ์ต้องเป็นแบบไหน การออกแบบประสบการณ์จะต้องทำอะไร ก็จะทำแบบ End to end คือทำตั้งแต่แพลตฟอร์มขึ้นมาเพื่อรองรับการเก็บข้อมูล สร้างเครื่องมือในการเก็บข้อมูล Predictive เราเป็นพาร์ทเนอร์กับ Google และ Saleforce ซึ่งเป็นเครื่องมือในการเก็บข้อมูล เมื่อเก็บข้อมูลเสร็จอาจจะมีการเชื่อมโยงข้อมูล Integration กับข้อมูลหลังบ้าน เพื่อช่วยเราเห็นว่าจากยอดขายมีต้นทุนเท่าไหร่ กำไรขาดทุนเป็นอย่างไร เรียกว่าสามารถดูข้อมูลลูกค้าได้เป็นรายบุคคลเลย

หลังจากนั้นพอเริ่มเอาข้อมูลมาเชื่อมโยงกัน ก็จะมีในส่วนของทีมที่ต้องทำ Machine Learning ในส่วนของ AI ต่างๆ เพราะลูกค้าบางรายมีคนเข้ามาใช้แพลตฟอร์มประมาณ 10 กว่าล้านคน ถ้าเราเอาคนมานั่งวิเคราะห์ มันจะไม่เห็นแพทเทิร์น เราต้องเอา AI เข้ามาช่วยในการดูแพทเทิร์นเพื่อให้ได้ข้อมูลกลุ่มลูกค้าออกมา ก็มาดูต่อว่ากลุ่มลูกค้าไหนตรงตาม Criteria ที่เรากำหนดไว้ แล้วเราก็จะมีการทำ Marketing automation สื่อสารออกไปเป็นรายบุคคล ลูกค้าคนนี้จะต้องสื่อสารกับเขาอย่างไร แล้วหลังจากนั้นก็มีการวัดผล ที่ขาดไม่ได้เลยคือเรื่องของ Data governance คือเรื่องของ PDPA จะต้องมีการออกแบบให้มันถูกต้องตามกฎหมาย เราก็จะมีเครื่องมือของเราที่เป็น Consent management เพื่อทำการขอ Consent จากทางลูกค้ามาเพื่อนำไปใช้งานต่อได้ในอนาคต 

 

SME ONE : มาตรการของภาครัฐที่เข้มงวดเรื่องการปกป้องสิทธิส่วนบุคคลมากขึ้น เป็นอุปสรรคในการทำงานหรือไม่

ณัฐกรณ์ : ตรงนี้เป็น Global Trend ทุกประเทศที่เป็นประเทศพัฒนาแล้ว เขาจะมีกฎหมายส่วนบุคคล ในทุกบริษัทจะต้องมีบริการนี้อยู่แล้ว สังเกตเลยว่าเวลาเข้าเว็บไซต์ทุกวันนี้จะต้องมีการขออนุญาตก่อน ในอนาคตการใช้ข้อมูลจะต้องมีการขออนุญาตจาก End user ด้วย เรามองว่าเป็นธุรกิจที่มีโอกาสมากๆ เพราะทุกคนจะต้องจัดการเรื่องของ Consent ของลูกค้า 

 

SME ONE : Predictive มีแผนจะต่อยอดธุรกิจอย่างไรในอนาคต

ณัฐกรณ์ : จากการที่เราเป็นบริษัทที่ปรึกษามา 11 ปี เราก็ได้เริ่มพัฒนาแพลตฟอร์มโดยมีเครื่องมือของเราเอง เรียกได้ว่าเราเป็น Marketing Technology ของคนไทยที่ผลิตซอฟต์แวร์ด้วยเหมือนกัน เพราะเรามองเห็นแล้วว่า Tools ของต่างประเทศที่ใช้กันมันมีช่องว่างอยู่ เราก็ศึกษาจากช่องว่างนี้เพื่อนำมาพัฒนาต่อยอด ซึ่งเรามองว่าในอนาคตรายได้จากส่วนนี้จะมากกว่ารายได้ที่เป็นงาน Service เพราะเราไม่จำเป็นต้องเพิ่มจำนวนคน แต่เราสามารถขาย Product ได้ทั่วโลก 

เพราะเมื่อเราเปลี่ยนตัวเองมาเป็นแพลตฟอร์ม เรื่องของกำแพงที่จะมาขวางกั้นมันก็จะไม่มีแล้ว ปัจจุบันนี้เรามองไปถึงระดับ Global scale เรามีแผนจะออก New product ในไตรมาสที่ 2 ก็จะเน้นไปในระดับ Global เหมือนกัน แพลตฟอร์มพวกนี้ไม่จำเป็นต้องไปตั้งออฟฟิศ มันสามารถขายจากที่ไหนก็ได้ มันเป็นเหมือน Software as a Services 

 

SME ONE : Predictive เป็นบริษัทท้องถิ่นซึ่งมีบริษัทคู่แข่งจากต่างประเทศมากมาย ทำไมลูกค้าถึงเลือกเรา

ณัฐกรณ์ : ตลอดเวลาของการทำธุรกิจ เรามีบริษัทต่างประเทศที่เป็น Top Big Firm เป็นคู่แข่ง แต่สิ่งที่เขายังขาดอยู่ก็คือ Market understanding อันนี้คือสิ่งที่เขาไม่มี สิ่งที่เป็นท้องถิ่น คนที่เข้าใจพฤติกรรมลูกค้า กรณีการได้รับความนิยมของแอปพลิเคชั่น LINE คือตัวอย่างหนึ่งที่ดี เพราะสิ่งเหล่านี้บริษัทต่างประเทศไม่เข้าใจ รวมถึง Nature ของการให้บริการด้วย ต้องบอกว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่คนไทยชอบบริการอยู่แล้ว เป็น Service industry ดังนั้นการที่มีลูกค้าต่างประเทศมา การตอบผ่านอีเมล์มันอาจจะไม่ทำให้ลูกค้า Engage กับเขามาก เขาก็เลยกลับมาเลือกบริษัทของเรา แต่ด้วยความที่เราเป็นบริษัทไทยที่ก่อตั้งด้วยคนไทย แต่เรา Work with the best หมายความว่าเรา ทำงานด้วยเทคโนโลยีที่ดีที่สุด เพราะฉะนั้นในเชิงของ Knowhow Knowledge การที่เราเข้าใจในเรื่องของบริการและเข้าใจในเรื่องเทคโนโลยี เราไม่แพ้ต่างชาติอยู่แล้ว เพราะเราเห็น Roadmap เหมือนที่ต่างชาติเห็น และต่างชาติก็เป็นพาร์ทเนอร์เหมือนกัน 

เราใช้วิธีการจับมือกับพาร์ทเนอร์ที่เป็น Global technology อย่างของ Google หรือว่าในฝั่งของ Salesforce เขาเป็นพาร์ทเนอร์กับเราตั้งแต่ต้น ผมมีโอกาสได้ใช้เครื่องมือที่เรียกว่า Enterprise tools พวกนั้นมาก่อน เพราะฉะนั้นผมจะรู้ในเชิงของ Capability แต่ทาง Predictive เองก็ต้องเอาเครื่องมือพวกนั้นมาประยุกต์ให้เข้ากับความต้องการ ให้ตอบโจทย์ลูกค้าที่อยู่ในประเทศไทย หรือ South East Asia ด้วยเช่นกัน

 

SME ONE : อะไรคือ Key success ของ Predictive

ณัฐกรณ์ : ถ้าดูในเชิงของการเงินก็จะเห็นการเติบโตของธุรกิจมาตลอด และในส่วนของการขยายทีมงานก็เป็นส่วนที่ซัพพอร์ตในการเติบโตตรงนั้น และได้รับความเชื่อใจหรือ Trust จากกลุ่มลูกค้าของเรา เรามีลูกค้าที่เป็น Enterprise ขนาดใหญ่ องค์กรที่เป็น Top 5 ของแต่ละอุตสาหกรรมก็เป็นลูกค้าของเราทั้งหมด ดังนั้นตรงนี้เป็นหนึ่งในปัจจัยที่สำคัญที่เรามองว่า Predictive ก็ประสบความสำเร็จมาในระดับหนึ่ง 

ถามว่าเรายังมีโอกาสเติบโตในอนาคตอีกหรือไม่ ก็ตอบว่ามีอีกเยอะแยะมากมายเลย เพราะเรามองว่าจากการที่เป็น Consulting เราพัฒนาจนทำแพลตฟอร์มขึ้นมาสำเร็จ ตอนนี้เราเริ่มมองหาโมเดลที่เป็น Joint Venture เข้ามาทำ Revenue sharing ก็เป็นอีกทิศทางหนึ่งในการขยายธุรกิจอีกเหมือนกัน

 

SME ONE : อยากให้ช่วยฝากคำแนะนำกับ SMEs เกี่ยวกับเรื่อง Data

ณัฐกรณ์ :  แนะนำให้เริ่มจากเล็กๆ ก่อน อย่าไปคิดว่าจะต้องลงทุนมหาศาล ยกตัวอย่าง SMEs ที่มีการขายผ่าน Facebook ถ้ามีคนทักแชทมา คุณเริ่มเก็บแชทหรือยัง ถามว่าแค่นี้มีต้นทุนไหม ก็ไม่ได้มี สมมติเรามี Excel ถ้าจะต้องซื้อ License เสียเงิน เราก็ใช้ Google Sheet ก็ไม่มีต้นทุนอะไร จะมีก็แค่ต้นทุนพลังงานของเราเอง แต่ต้องเริ่มจากมายด์เซตที่จะต้องเก็บข้อมูลให้เป็นระเบียบ เช่น คนทักแชทมา เรามีการวางเป็นตารางหรือไม่ว่าชื่ออะไร ติดต่อมาเรื่องอะไร ติดต่อมาเมื่อไหร่ ตัดสินใจเรื่องอะไร ซื้อขายสำเร็จไหม ได้เงินหรือยัง แค่นี้ก็คือจุดเริ่มต้นแล้ว เขาก็จะเริ่มมีมายด์เซตแล้วว่าการจะไปวิเคราะห์ข้อมูลจะต้องมีการเก็บข้อมูลก่อน แล้วความรู้ที่เหลือจะตามมาเอง

พอเริ่มมีข้อมูลมากขึ้นค่อยพัฒนาทำเรื่องอื่นๆ เช่น อาจจะเริ่มลงทุนยิงโฆษณา หลังจากนั้นอาจจะเริ่มมีการใช้ Tools บ้าง ซึ่งต้นทุนตรงนี้มันไม่ได้สูงมากสำหรับ SMEs แต่ที่ SMEs ไม่กล้าคือเขากลัว และบางทีเขาไม่ได้ตั้งโจทย์ที่ชัดเจน ก็คิดแบบลอยๆ จะทำยังไงให้ธุรกิจโต โตอย่างไร อยากได้ลูกค้าเพิ่ม จะเพิ่มจากกลุ่มไหน จากลูกค้ากลุ่มใหม่หรือกลุ่มเก่า เรื่องพวกนี้ต้องชัดเจน

จากนั้นก็เริ่มหัดวิเคราะห์ข้อมูล เช่นข้อมูลที่เป็นยอดขายสามารถวิเคราะห์ได้ไหมว่าสินค้าตัวไหนขายดี และขายดีช่วงไหนเวลาไหน ช่องทางในการขายของคุณเป็นอย่างไรบ้าง เริ่มจาก Transaction data ก่อน หลังจากนั้นก็อาจจะเริ่มมีการใช้ Line OA เริ่มทำมีเว็บไซต์ เราเริ่มมีส่วนของ Facebook เอาพวกนี้มาใช้มากขึ้น แต่อยากให้เริ่มต้นจากสิ่งที่มีก่อน 

 

บทสรุป

ความสำเร็จของ Predictive นั้น มาจาก 2 S’s คือ Service mind หรือ วิธีการทำงานให้บริการลูกค้าด้วยความเอาใจใส่ ไม่ใช่แค่ทำตามหน้าที่ซึ่งเป็นจุดแข็งของคนไทยที่บริษัทต่างชาติไม่มี กับอีกเรื่องคือ Service Intelligent หรือการนำเอาเทคโนโลยีระดับโลกมาประยุกต์ใช้ให้เข้ากับพฤติกรรมของคนไทย ซึ่งมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว มีความแตกต่างในหลายด้านด้วยกัน

 

บทความแนะนำ

Natipong ลูกปัดมโนราห์ ลูกปัดที่ร้อยวัฒนธรรมและความร่วมสมัยไว้ด้วยกัน

Natipong ลูกปัดมโนราห์

ลูกปัดที่ร้อยวัฒนธรรมและความร่วมสมัยไว้ด้วยกัน

 

ก่อนหน้าที่จะกลับบ้านเกิดมาสร้างธุรกิจชุมชนด้วยการพลิกฟื้นชีวิตของวัฒนธรรมพื้นบ้านอย่าง “มโนราห์” ที่กำลังเลือนหายไปตามกาลเวลา เนติพงศ์ ไล่สามที่เกิดและโตมากับครอบครัวมโนราห์ ขึ้นไปตามหาความฝันในเมืองกรุง ด้วยการไปเป็นสถาปนิกออกแบบอยู่พักใหญ่ เวลาผ่านไป เนติพงศ์เริ่มรู้สึกว่าสิ่งที่ตัวเองกำลังตามหานั้นไม่ได้อยู่ ณ ที่แห่งนี้ เขาตัดสินใจกลับบ้านเกิดที่สงขลาเพื่อมาหยิบเอาวัฒนธรรมล้ำค่าของบ้านเกิด ที่แม้แต่ตัวเขาเองก็ยังเคยมองข้ามไปมาพลิกฟื้นใหม่ จนกลายเป็นสินค้าเครื่องประดับและของแต่งบ้านจนเป็นที่มาของลูกปัดมโนราห์

 

ลูกปัดที่ร้อยวัฒนธรรมและความร่วมสมัยไว้ด้วยกัน

SME ONE : จุดเริ่มต้นของ Natipong ลูกปัดมโนราห์มีที่มาที่ไปอย่างไร

เนติพงศ์ : ที่ผมทำอยู่ปัจจุบันเป็นวิสาหกิจชุมชนผลิตภัณฑ์ลูกปัดมโนราห์ เริ่มแรกคือ ด้วยความที่ตัวผมมีปัญหาในการใช้ชีวิตในการทำงานประจำ เหมือนไม่ค่อยพอใจกับการใช้ชีวิตที่โดนตีกรอบตลอดเวลา ก็เลยเป็นแรงผลักดันในการค้นหาที่จะทำธุรกิจส่วนตัว คืออยากทำธุรกิจอะไรก็ได้ที่ออกจากกรอบของงานประจำ ผมเริ่มสำรวจตัวเองก่อน ผมคิดว่าถ้าผมทำงานหรือทำธุรกิจส่วนตัว ผมต้องทำในสิ่งที่ผมถนัด สิ่งที่ผมทำได้ดี ก็คือมีคนชมผมมากๆ ก็เป็นงานที่เกี่ยวกับงานฝีมือ งานศิลปะ หรืองานออกแบบ

ตรงนี้เป็นคีย์เวิร์ดของการเป็นจุดเริ่มต้นค้นหาว่ามีทรัพยากรอะไรที่สามารถซัพพอร์ตความสามารถของเรา ผมเริ่มสำรวจสิ่งรอบข้างว่าอะไรที่พอจะเป็นต้นทุนที่หยิบออกมาเป็นธุรกิจได้ ตัวผมเป็นคนต่างจังหวัดจึงมองมาที่บ้านของผมก่อน ผมมองในแง่ที่ไม่ใช่งานศิลปะในตอนแรก มองว่าบ้านเราทำการเกษตร แต่ถ้าเป็นการเกษตรแล้วจะโยงมาเรื่องการออกแบบ ผมคิดว่ามันยังไม่สามารถไปในทิศทางนั้นได้ เมื่อเทียบกับสิ่งอื่นอย่าง เช่น งานจักสานไม้ไผ่ โดยเฉพาะงานลูกปัดมโนราห์ที่มีอยู่ในชุมชน 

จนในที่สุดก็ตกผลึกว่า การทำชุดมโนราห์ การรำมโนราห์ของเรา ที่คุณป้าของผมทำเองเป็นสิ่งที่ผมคุ้นเคยมาตั้งแต่เด็กทำให้เห็นถึงชุดมโนราห์ที่จะนำมาทำเป็นธุรกิจของตัวเองได้ โดยการนำเอาความรู้ความรักที่ตัวเองทำมาใช้ในการทำธุรกิจตัวนี้

 

SME ONE : ประสบการณ์จากการทำงานสายสถาปัตย์มีส่วนช่วยในการเริ่มต้นธุรกิจมากน้อยเพียงใด

เนติพงศ์ : มีส่วนช่วยเยอะมาก มันทำให้เรารู้สึกว่าการมาทำงานตรงนี้ นอกจากการใช้ฝีมือ หรือใช้ทักษะในงานร้อยลูกปัดแล้ว ความรู้ที่เราเรียนมายังสามารถช่วยให้งานของเราเป็นระบบระเบียบเป็นขั้นเป็นตอน สามารถถ่ายทอดให้ช่างคนอื่นและขยายตัวได้ โดยเราต้องมีการเข้าใจกลไก เราจะต้องดูก่อนว่าวัสดุอุปกรณ์มีเท่าไหร่ ต้องมีการจดบันทึกเป็นข้อมูล ในส่วนของขั้นตอนการออกแบบก็ทำได้อย่างมีกระบวนการ มีคอนเซปต์ มีการพัฒนา มีการทดลองสี พอเราเรียนศิลปะมา เราจะรู้ว่าคู่สีอะไร คือคู่สีที่สามารถถ่ายทอดอารมณ์ไหน มันเป็นสิ่งที่เราสามารถนำมาใช้ได้ ตั้งแต่ระบบการจัดการ ระบบการออกแบบดีไซน์ เรื่องฟังก์ชั่นการใช้งาน คือเราสามารถมองทั้งความสวยงาม และฟังก์ชันไปพร้อมๆ กันได้

 

 

SME ONE : วันที่กลับมาทำลูกปัดมโนราห์ มุมมองเกี่ยวกับมโนราห์ยังเหมือนตอบเป็นเด็กหรือไม่

เนติพงศ์ : ต่างกันมาก ต่างกันในที่นี้เหมือนสถานที่ที่มันอยู่ต่างกัน หมายความว่าพอผมอยู่บ้าน ผมก็ใช้ชีวิตปกติ เช้ามาเห็นทุ่งนา รำมโนราห์ งานประเพณีอะไรต่างๆ เราก็รู้สึกว่ามันสวยนะมันเป็นประเพณีที่ดีอะไรแบบนี้ แต่พอเราย้ายตัวเองออกไปจากสังคมเดิมๆ ที่ไม่ใช่สังคมภาคใต้ ไม่ใช่บริบทที่เป็นชุมชนต่างจังหวัด ผมไปอยู่ในสังคมเมือง ไปอยู่ในต่างภาคอะไรแบบนี้ ซึ่งมโนราห์ก็หาชมได้ยาก มันทำให้เรารู้สึกอีกแบบ จากที่เราเฉยๆ แต่พอไปอยู่ที่อื่นไกลๆ พอเรามองกลับมา มโนราห์มันคือความคิดถึงบ้าน มันคือความอุ่นใจ พอผมมองมโนราห์และได้ยินเสียงมโนราห์ ตอนที่ผมอยู่กรุงเทพฯ น้ำตาของความคิดถึงบ้าน น้ำตาของความภาคภูมิใจ ความรู้สึกตรงนั้นมันออกมาเยอะมาก

ซึ่งตรงนี้ก็เป็นหนึ่งในแรงบันดาลใจที่เรากลับมาทำลูกปัดด้วย ผมรู้สึกว่ามันเป็นการขับเคลื่อนทางใจที่สุดยอดมาก เรารู้สึกว่าเราผูกพันอะไรบางอย่าง เหมือนมันตรงจริตกันมาก

 

SME ONE : วิธีการทำให้ศิลปะพื้นบ้านสามารถประยุกต์ให้เป็นสินค้าร่วมสมัยมีเคล็บลับอะไร

เนติพงศ์ : ผมมองตรงที่ว่าสิ่งที่เราจะรักษาไว้ได้ ก็คืออัตลักษณ์ จริงๆ อัตลักษณ์ในความคิดของผมคือลวดลายและสีสันซึ่งเป็นสิ่งที่ผมชอบ ส่วนเทรนด์แฟชั่นกับสินค้าแฟชั่นเราคงทำตามไม่ได้มาก เพราะการผลิตของเรามันช้า ถ้าเราไปมองเทรนด์หรืออิงกับแฟชั่นมากๆ จะทำให้เราทำงานยาก เพราะเราจะผลิตไม่ทัน ถ้าเราผลิตขึ้นมาแล้วเทรนด์เปลี่ยนไปแล้วอะไรแบบนี้ เพราะฉะนั้นผมจะเลือกมองไปที่เทรนด์การใช้งานมาดีกว่า แต่ยังคงความเป็นลวดลายสีสันที่เป็นอัตลักษณ์ของเรา เทรนด์ที่เลือกดูอาจจะเป็นกลุ่มสินค้าตกแต่งบ้าน เช่น แจกันอะไรแบบนี้ จะมองไปในลักษณะนั้นมากกว่า

 

SME ONE : ปัจจุบันสินค้าสินค้าตกแต่งบ้าน หรือสินค้ากลุ่มแฟชั่นขายดีกว่ากัน

เนติพงศ์ : ที่ขายดี คือสินค้ากลุ่มแฟชั่น ผมว่าผู้หญิงเป็นกลุ่มลูกค้าที่สามารถสร้างมูลค่าให้กับเราได้มาก ผู้หญิงเป็นกลุ่มเป้าหมาย เป็น User ที่น่าสนใจ ที่คิดว่าถ้าเราทำอะไรน่าจะต้องอิงกลุ่มผู้หญิง และต้องเป็นกลุ่มผู้หญิงที่ค่อนข้างมีระดับ อันนี้สำหรับงานหัตถกรรมของผมที่มีระยะในการทำงานที่ค่อนข้างยากและนาน

 

SME ONE : ปัจจุบัน Natipong ลูกปัดมโนราห์ขายสินค้าผ่านช่องทางไหนบ้าง

เนติพงศ์ : หลักๆ ผมมี 2 ช่องทางคือ ผมออกบูธ และขายผ่าน Facebook นอกจากนี้ก็ยังมีหน้าร้านอยู่ในชุมชน ซึ่งเราทำเหมือนเป็นศูนย์เรียนรู้ ตรงนี้ก็เป็นจุดเชื่อมต่อกับลูกค้า ชาวบ้าน กลุ่มนักเรียนนักศึกษา ผมคิดว่าเขาก็เป็นผู้บริโภคคนหนึ่งด้วยเหมือนกันที่จะมาช่วยกระจาย ช่วยสร้างการเชื่อมต่อไปยังลูกค้าอื่นๆ ได้

 

SME ONE : ตอนนี้ Natipong ลูกปัดมโนราห์กลายมาเป็นวิสาหกิจชุมชนแล้ว อยากทราบเหตุผล

เนติพงศ์ : ความเป็นธุรกิจส่วนตัวกับธุรกิจที่มีความเป็นชุมชน ถ้าธุรกิจส่วนตัวเรารู้สึกว่าผลประโยชน์เราได้คนเดียว มันจะมีความอึดอัดอย่างหนึ่ง คือเหมือนเรารวยคนเดียวอะไรประมาณนั้น ซึ่งสิ่งที่เราหยิบมาทำมันเป็นศิลปวัฒนธรรมที่เป็นรากเหง้าของชุมชน ของประเทศ ผมมองว่าสินค้าของเรา ตัวงานของเราที่เป็นลูกปัดมโนราห์มันต้องเป็นสิ่งที่คนในชุมชนได้ประโยชน์ ทุกคนต้องมาร่วมมือกัน เพราะมันไม่ได้เป็นอะไรที่ผมคิดขึ้นมาคนเดียวตอนแรก เพราะผมต้องไปเรียนรู้กับคนอื่น ต้องไปเรียนกับครู กับป้า กับอาจารย์ หรือไปดูช่างคนอื่นที่เขาทำงานมาก่อนหน้านี้ ผมเป็นเหมือนตัวเชื่อม เป็นคีย์แมน ซึ่งตรงนี้ผมมองว่ามันแตกต่างกับธุรกิจส่วนตัว และผมมีความรู้สึกว่ามันจะทำให้ผมเติบโตไปอย่างยั่งยืนจากความเป็นตัวตนของผมข้างในด้วย 

วันที่ผมเริ่มต้นธุรกิจ ผมเริ่มจากคน 4 คน แต่ในปัจจุบันนี้ในการทำงานของเรามีตั้งแต่ทำของแต่งบ้าน ของใช้ในโรงแรม มีสินค้าที่ต้องใช้ฝีมือเยอะ ผมเคยมีการร่วมมือกันถึง 200 กว่าคนในบางช่วงเวลา เพราะส่วนใหญ่ชาวบ้านจะมีงานประจำที่เป็นงานเกษตรหรืองานอื่นๆ แต่ใช้เวลาว่างมาเป็นอาชีพเสริม 

ตอนนี้ผมจะมีช่างหลักๆ ที่มีทักษะชั้นสูง อยู่ประมาณ 12 คน แต่จะมีเครือข่ายที่เป็นชาวบ้านที่เป็นเหมือนลูกหลาน เป็นเหมือนพี่น้องช่างแถวๆ นั้น ในบางงานที่เราสามารถกระจายได้ บางทีก็ 50 คน บางทีก็ 100 คน 200 คน ถ้าเป็นโปรเจกต์ขนาดใหญ่

 

 

SME ONE : ช่วงเริ่มต้นทำธุรกิจเจอปัญหาอะไร และแก้ปัญหาอย่างไร

เนติพงศ์ : ช่วงเริ่มแรกก็เป็นช่วงของเงินทุน ทุกอย่างมันต้องใช้ปัจจัยมาก และสิ่งหนึ่งที่ผมทำงานมาคือ ในเรื่องของกระบวนการในการทดลองในระยะแรกๆ ว่างานมันจะออกมาเป็นแบบไหน ซึ่งช่วงนี้มันยังขายสินค้าไม่ได้ และมันก็ต้องทำสินค้าไว้เยอะมาก สิ่งที่เป็นปัญหาตามมา คือเงินทุนเราจม ทำให้เราไม่ได้ได้กำไรตลอดเวลา ซึ่งการแก้ปัญหาของผมก็คือการใช้ความรู้เดิมที่ผมมี ความรู้ที่ผมเขียนแบบบ้าน ทำกราฟฟิก เพื่อให้มีรายได้อย่างอื่นเสริม ระหว่างนั้นเราก็ทำตลาดผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียไปเรื่อยๆ จนเริ่มขายได้ ผมคิดว่าความเป็นสินค้าหัตถกรรมประเภทนี้ มันต้องไปแบบช้าๆ หน่อย แต่มันจะมั่นคง 

นอกจากนี้เรายังมีรับงานโปรเจกต์บ้าง ปีละ 2-3 โปรเจกต์เป็นอย่างมาก จริงๆ งานมันมีงานโปรเจกต์เข้ามาเเยอะ แต่ด้วยราคามันยังทำไม่ได้ เพราะกำลังการผลิตของเราราคามันค่อนข้างสูง งานคราฟต์มันต้องราคาสูงอยู่แล้ว มันจะได้มีคุณค่า

 

SME ONE : ที่ผ่านมาเราเคยไปขอคำปรึกษาจากทางภาครัฐบ้างหรือไม่

เนติพงศ์ : มีครับ แต่จะเป็นในลักษณะที่ภาครัฐเข้ามาหาเยอะกว่า หน่วยงานที่เข้ามาช่วยเราในช่วงแรกๆ เลย ก็คือกรมพัฒนาชุมชนที่มากับโครงการ OTOP นวัตวิถี อันนั้นเป็นน้ำเป็นเนื้อมากๆ ซึ่งอาจจะแตกต่างจากที่อื่น  ที่นี่พี่ๆ เขาเชื่อใจตัวของผม เชื่อใจในกลุ่มของผม เขาก็จะให้ทั้งความรู้ ให้ทั้งการซัพพอร์ตเรื่องสถานที่เรื่องของการทำการตลาดครบวงจร อีกหนึ่งงานก็คือ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ที่เข้ามาซัพพอร์ตเรื่องของการพัฒนาผลิตภัณฑ์อยู่เรื่อยๆ 

นอกจากนี้ก็ยังมีสถาบันส่งเสริมศิลปะหัตถกรรมไทยที่มาให้รางวัลตัวบุคคลครูช่างศิลป์ ซึ่งความเป็นครูช่างศิลป์มันเป็นใบเบิกทางให้เรา ให้เราได้เป็นที่รู้จักได้เป็นวิทยากร สร้างรายได้เข้ามาอีก 1 ช่องทาง 

 

SME ONE : คุณเนติพงศ์อยากจะต่อยอดธุรกิจอย่างไร

เนติพงศ์ : ตอนนี้ผมทำเกือบหมดทุกอย่างแล้ว แต่ผมต้องเน้นให้มันดียิ่งขึ้น ผมเป็นศูนย์เรียนรู้ของนักท่องเที่ยว Product ในเรื่องของแฟชั่นผมก็ทำ เรื่องของ Deco ของแต่งบ้านผมก็ทำ เรื่องของการเรียนรู้ผมก็เผยแพร่ เพื่อให้ทุกอย่างมีคุณภาพมากขึ้น 

แต่สิ่งสุดท้ายผมรู้สึกว่า สิ่งที่ผมอยากทำมากๆ คือ ผมอยากทำอะไรที่ผมเป็นศิลปินจริงๆ ที่ไม่ได้มีอะไรมาตีกรอบผมมาก จากวันแรกที่ผมอยากใช้อิสระอย่างเต็มที่ในการทำธุรกิจ ซึ่งการทำงานศิลปะที่ไม่ต้องอธิบายอะไรมากแบบ Pure Art คงจะเป็นสิ่งที่ผมอยากฝากไว้กับโลกใบนี้

สิ่งที่ท้าทายในตัวของผมเอง ผมเชื่อว่าคนเราทำได้ทุกอย่าง ยิ่งถ้าเรารู้ว่าเรารักหรือชอบอะไร เราทำอะไรแล้วเราทำได้ดี เราก็ทำได้หมด แต่สิ่งที่ผมมองว่ามันจะมาขัดขวางในการทำงานของเราคือ การหลงในตัวของตัวเอง  เหมือนว่าพออะไรมันเข้ามาเยอะหลายๆ อย่างแล้วเราไม่สามารถจัดการมันได้ 

บางครั้งมันก็เลยกลายเป็นอัตตาไป เช่น ผมเคยมานั่งคิดทบทวนกับตัวเองว่าทำไมเราไม่คุยกับลูกค้าคนนี้ บางคนเขาพยายามตามเรามาหลายช่องทาง แต่เราก็ยังไม่ยอมสื่อสารกับเขาอย่างจริงจัง มาคิดทีหลังก็รู้สึกผิด เหมือนเมื่อวานผมเจอพี่คนหนึ่งเขาตามผมมาจากหลายๆ ช่องทาง แต่พี่เขาไม่ชัดเจนว่าเขาต้องการอะไร ผมก็เลยเลือกที่จะไม่สื่อสาร จนเขาต้องตามมาถึงบ้าน แต่เขาก็ไม่ได้โกรธหรืออะไรเรา เขาก็เข้าใจเรา

 

 

 

SME ONE : อยากให้คุณเนติพงศ์ฝากคำแนะนำกับผู้ประกอบการ SMEs

เนติพงศ์ : ผมอยากแนะนำจากประสบการณ์ส่วนตัวว่า เราต้องทำในสิ่งที่เรารักจริงๆ ทุกคนต้องเรียนรู้ เพื่อที่จะรู้ว่าเราทำสิ่งนี้ได้หรือเปล่า เพราะผมก็มีความมั่นใจในการทำงานมาเรื่อยๆ มีความท้อแท้บ้าง แต่ผมก็สู้มาเรื่อยๆ เพราะผมรู้ว่าสิ่งที่ผมทำมันเกิดจากความรู้สึกดีของเราจริงๆ ถ้ามันเป็นงานที่เราทำแล้วมีคุณค่าได้ประโยชน์มากมายมันก็มีโอกาสสำเร็จสูง แต่ถ้าไม่สำเร็จเราอาจจะต้องปรับเปลี่ยน โดยมีระยะเวลาก็เป็นตัวกำหนด เช่นลองทำมา 3-4 ปีแล้วยังไม่สำเร็จมันอาจจะไม่ใช่ก็ได้ และการที่ทำธุรกิจแล้วไม่ประสบความสำเร็จในตอนนี้มันอาจจะไม่ใช่สิ่งสุดท้ายในชีวิต เราอาจจะต้องปรับไปอย่างอื่นด้วยก็ได้

อีกสิ่งที่อยากฝากไว้คือ เราต้องให้กำลังใจตัวเองเยอะ ในวันที่ผมรู้สึกท้อแท้ ผมให้กำลังใจตัวเองด้วยการคุยกับงาน มันอาจจะฟังดูเป็นศิลปินมากๆ แต่ตอนนั้นผมรู้สึกว่ามันเป็นจุดเปลี่ยนเพราะว่า ผมทำธุรกิจมา 2 ปีจะ 3 ปีแล้ว ความกดดันจากพ่อแม่ หรือสิ่งรอบข้างก็เยอะ เงินก็ไม่มีแล้ว การให้กำลังใจตัวเอง ด้วยการมองงานตัวเองและพิจารณามันว่าเราทำมาเราตั้งใจทำขนาดไหน ผมมีความเชื่อว่าถ้างานมันมีคุณค่า มีประโยชน์ก็ขอให้มันแสดงออกมาเป็นที่รู้จักมากขึ้นครับ กำลังใจก็มาจากตัวเราเอง จากงานของเรา 

 

ความสำเร็จของ Natipong ลูกปัดมโนราห์ นั้นเกิดจากความคิดสร้างสรรค์ และตัวตนของคุณเนติพงศ์เอง สองสิ่งนี้คือฟันเฟืองสำคัญที่ทำให้ธุรกิจสามารถขัยเคลื่อนมาจนถึงวันนี้ได้ เพราะการรักษาสมดุลย์ระหว่างคำว่า “ศิลปะ “กับ “พาณิชย์ศิลป์” ที่ลงตัวนั้น เป็นสิ่งที่ทำได้ยากมากๆ เพราะถ้าชิ้นงานเอียงมาในทางศิลปะมากเกินไป โอกาสที่จะประสบความสำเร็จในทางเชิงธุรกิจก็จะลดลง ในทางกลับกับถ้าชิ้นงานเอนเอียงมาทางพาณิชย์ศิลป์มากเกินไป ก็จะขาดจุดยืนซึ่งจะส่งผลกับการดำเนินธุรกิจในระยะยาว

บทความแนะนำ