โกโก้ร้านไอ้ต้น ใช้ความสนุกสร้างจุดขาย กระจายสาขาทั่วประเทศ

โกโก้ร้านไอ้ต้น ใช้ความสนุกสร้างจุดขาย กระจายสาขาทั่วประเทศ

โควิด-19 คือวิกฤติการณ์ครั้งใหญ่ ที่ทำให้หลาย ๆ ธุรกิจต้องปิดฉากลง ผู้คนต่างสูญเสียหน้าที่การงาน คุณต้น - ประชานารถ โพธิสาราช ก็เป็นหนึ่งในผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด–19 เช่นเดียวกัน จากอดีตที่เคยมีอาชีพเป็นนักดนตรีเล่นตามร้านอาหาร แต่พอเกิดล็อกดาวน์ทั้งประเทศ ทำให้ร้านอาหารต้องปิด เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส ช่วงนั้นคุณต้นไม่มีงานจ้างเล่นดนตรี ขาดรายได้ จนถึงวันที่เหลือเงินเก็บติดตัวเพียง 3,000 บาท จึงได้คิดหาทางว่าจะทำอย่างไรต่อไปดี 

ด้วยความเป็นคนคิดไวทำไว จึงลองเริ่มต้นทำร้านขายกาแฟ Moka Pot เล็กๆ ด้วยงบเท่าที่มี และใช้สิ่งของใกล้ตัวมาตั้งเป็นร้านกาแฟ ชื่อว่า “ชานชาลากาแฟ” ช่วยต่อลมหายใจให้คุณต้นยังสามารถประคับประคองตัวเองต่อไปได้

ภายในร้านก็จะขายเครื่องดื่มเมนูทำง่าย จำพวก กาแฟ ชาเย็น โกโก้ แต่หนึ่งในเมนูที่ขายดีจนน่าประหลาดใจ คือ โกโก้ ที่มีเสียงชื่นชม ผู้คนกลับมาซื้อซ้ำแล้วซ้ำอีกอยู่เสมอ คุณต้นจึงได้แยกร้านออกมาอีกหนึ่งร้าน เพื่อขายเมนูโกโก้โดยเฉพาะ โดยยังไม่มีแม้แต่ชื่อร้าน ผลตอบรับก็ยิ่งชัดเจนว่า คนให้ความสนใจโกโก้มากเป็นพิเศษ เพียง 1 เดือน  หลังจากแยกร้าน คุณต้นก็ตัดสินใจที่จะหยุดทำร้านชานชาลากาแฟ แล้วมาทุ่มเทให้กับร้านโกโก้เพียงอย่างเดียว

ร้านโกโก้ต้องสงสัย

คุณต้น อยากให้ร้านโกโก้นี้ แสดงออกถึงความเป็นตัวเองที่มีบุคลิกกวน ๆ สนุกสนานมาเป็นจุดขาย หลังจากหาไอเดียในการสร้างแบรนด์ให้กับร้านอยู่หลายแบบ สุดท้ายก็มาตกผลึกได้ว่า ต้องทำร้านให้ชื่อสะกิดใจคนที่ผ่านไปผ่านมา ให้สามารถเก็บไปนั่งคิด นั่งสงสัยกันต่อจนถึงกับนอนไม่หลับได้  

ร้านขายโกโก้เพียงเมนูเดียว แน่นอนว่าเพื่อให้คนเข้าใจได้ง่าย ๆ ก็ต้องมีคำว่าโกโก้ เป็นหลัก แต่ชื่อที่จะทำให้คนสงสัย จดจำได้นั้น หลังจากคิดหาชื่อมากมาย ก็มาลงตัวที่ชื่อ “โกโก้ร้านไอ้ต้น” ที่ใครได้ฟังครั้งแรก เป็นอันต้องสงสัยว่า “ไอ้ต้น” คือใคร

เมื่อได้ชื่อมาแล้วไอเดียต่าง ๆ ก็ตามมา นอกจากชื่อร้านสะกิดใจง่าย ภาพจำของร้านก็ต้องสะกิดใจง่ายเช่นเดียวกัน ด้วยการใช้ภาพถ่ายหน้าไอ้ต้นในชุดนักเรียนสมัยมัธยม เปลี่ยนพื้นหลังให้เป็นสีเหลือง มาเป็นโลโก้ของร้าน เมื่อชื่อร้าน มารวมกับหน้าของเด็กมัธยมซื่อ ๆ ยิ่งเพิ่มความสงสัยให้ลูกค้ามากยิ่งขึ้นจนถึงกับเพียงแค่เห็นป้ายร้านก็ต้องนำไปบอกต่อกันบนโลกออนไลน์

เมื่อมีความสนุกเป็นดีเอ็นเอของร้าน เมนูภายในร้านก็ต้องใส่ลูกเล่นความสนุกลงไปด้วย ด้วยการใช้หน้าไอ้ต้นคนเดิม มาปรับเพิ่มใส่หนวดเครา ตามระดับความเข้มข้นของเมนูโกโก้ ที่มีให้เลือกตั้งแต่ ละอ่อน เข้ม และ โคตรเข้ม

เมื่อส่วนผสมความสนุกทุกอย่างลงตัว ลูกค้าก็ให้การตอบรับอย่างรวดเร็ว เพียงเดือนแรกก็สามารถทำกระแสบนโลกออนไลน์ จนสามารถสร้างยอดขายได้ถึง 400 แก้วต่อวัน ไม่เพียงแต่ลูกค้าที่มาเรียงคิวต่อแถวกันเต็มหน้าร้าน แถวของคนที่ติดต่อเข้ามาขอซื้อแฟรนไชส์ก็ยาวไม่แพ้กัน ตั้งแต่สัปดาห์แรก ๆ ที่คุณต้นยังไม่มีความคิดจะเปิดเป็นแฟรนไชส์

ทุกวันนี้ โกโก้ร้านไอ้ต้น ที่เปิดกิจการได้เพียงแค่ 1 ปี ก็สามารถขยายแฟรนไชส์ออกไปได้มากถึง 220 สาขาทั่วประเทศ และยังมีแผนที่จะกระจายต่อออกไปยังนอกประเทศ อย่างที่ประเทศจีน ในเร็ว ๆ นี้ อีกด้วย

คุณต้น มองอนาคตไว้ว่าอยากให้ ไอ้ต้น ไปต่อได้จนกลายเป็นแบรนด์ สตรีทฟู้ด ที่เต็มไปด้วยความสนุก ความกวน มีสินค้าต่าง ๆ ต่อท้ายชื่อว่าไอ้ต้น อย่างที่ตอนนี้เริ่มทำไปแล้ว คือ บราวโน่นไอ้ต้น ก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ลูกค้าชื่นชอบ อยากให้ลูกค้าติดตามต่อว่า ไอ้ต้น จะนำเสนอความสนุกไปได้ถึงขนาดไหน


ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อได้ที่

โกโก้ ร้านไอ้ต้น 

โทร: 066-153-0153

อีเมล: cocoaiton03@gmail.com

Facebook: cocoaiton

บทความแนะนำ

Chips & Chill พลิกฟื้นผลไม้ไทย แปรรูปให้โกอินเตอร์

Chips & Chill พลิกฟื้นผลไม้ไทย แปรรูปให้โกอินเตอร์

จังหวัดสุโขทัย เป็นจังหวัดที่มีเกษตรกรเพาะปลูกกล้วยน้ำว้าเป็นจำนวนมาก แต่ช่วงปีพ.ศ. 2539 เกิดปัญหาผลผลิตล้นตลาด ส่งผลให้ราคาการรับซื้อกล้วยน้ำว้าจากพ่อค้าแม่ค้า ปรับตัวลดลงอย่างรุนแรง        

คุณพิมพร แจ่มโพธิ์ เจ้าของบริษัท พิมพร บานาน่า อินเตอร์ฟู้ดส์ จำกัด จึงได้คิดหาทางที่จะทำให้ผลผลิตที่ล้นตลาดนี้ ให้สามารถวางขายได้ราคา จึงเกิดเป็นไอเดียเริ่มต้นที่จะแปรรูปสินค้าเกษตรให้กลายเป็นขนมขบเคี้ยว โดยมีสินค้าแรกคือ กล้วยทอดอบเนย ผลปรากฏว่าผู้บริโภคให้การตอบรับเป็นอย่างดี สามารถยกระดับสินค้าให้มีราคาเพิ่มขึ้น และช่วยแก้ปัญหาผลผลิตล้นตลาดได้อีกทางหนึ่ง นอกจากแปรรูปกล้วยแล้ว ยังได้มีการนำผลผลิตทางการเกษตรอื่น ๆ มาแปรรูปด้วยเช่นกัน ได้แก่ เผือก มัน และฟักทอง 

สร้างแบรนด์ ยกระดับธุรกิจสู่สากล

คุณพิมพรได้มีโอกาสเข้าร่วมอบรมกับสำนักงานพาณิชย์จังหวัดสุโขทัย ในเรื่องของการสร้างแบรนด์ให้กับสินค้า เพื่อสร้างเอกลักษณ์ให้สินค้ามีความโดดเด่น แตกต่างจากสินค้าประเภทเดียวกันในท้องตลาด จึงเป็นแรงบันดาลใจให้คุณพิมพร คิดอยากสร้างแบรนด์ของตัวเองขึ้น โดยมีมุมมองถึงเป้าหมายระยะยาวเพื่อพัฒนายกระดับสินค้าให้สามารถส่งออกไปขายยังต่างประเทศได้ เพราะสินค้าเกษตรแปรรูปของไทยนั้น เป็นที่สนใจและเป็นที่ต้องการของตลาดโลกอยู่เสมอ

นับเป็นจุดเริ่มต้นของแบรนด์ Chips & Chill และเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้คุณพิมพรมีการปรับเปลี่ยนกรรมวิธีการผลิตใหม่ทั้งหมด เพื่อให้สินค้ามีคุณภาพและได้มาตรฐานที่ถูกต้องสำหรับส่งออกได้ โดยมีการควบคุมมาตรฐานตั้งแต่แหล่งเพาะปลูกวัตถุดิบ ต้องมีการคัดสรรเฉพาะวัตถุดิบที่ได้คุณภาพ และเพื่อเป็นการดูแลสุขภาพของผู้บริโภคด้วย มีการดูแลในส่วนของกรรมวิธีการทอดให้สะอาดถูกหลักอนามัย การพัฒนาด้าน การเก็บรักษาที่สามารถยืดอายุสินค้าได้ถึง 1 ปี โรงงานผลิตจึงได้รับการรับรองมาตรฐานด้านอาหารต่าง ๆ อย่างครบถ้วน จนสามารถสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าผู้บริโภค

เมื่อเป้าหมายอยู่ที่การนำไปวางจำหน่ายในต่างประเทศ คุณพิมพรจึงได้เข้าร่วมอบรมสัมมนาที่จัดขึ้นโดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เพื่อศึกษาหาความรู้เรื่อง FTA คือการส่งออกโดยไม่เสียภาษี และยังได้เข้าร่วมประกวดธุรกิจ กับทาง สสว. สามารถชนะรางวัลกิจการต้นแบบของจังหวัดสุโขทัยมาได้

แบรนด์พร้อม คุณภาพพร้อม มาตรฐานพร้อม ผู้คนก็เริ่มจดจำได้ และได้รับการติดต่อเข้ามาขอซื้อสินค้าอยู่เป็นประจำ จนบริษัท ไทยพาวิลเลี่ยน คอร์ปอเรท จำกัด ได้ติดต่อเพื่อจะนำสินค้าแบรนด์ Chips & Chill ไปวางจำหน่ายในสนามบินปักกิ่ง-ต้าซิง เป็นการเปิดประตูสู่การส่งออกได้สำเร็จ

คุณพิมพรไม่หยุดเพียงแค่นั้น ยังมีเป้าหมายที่ต้องการให้แบรนด์ Chips & Chill เติบโตมากยิ่งขึ้น เพราะเมื่อตลาดของประเทศจีนมีความต้องการ ตลาดที่ประเทศอื่น ๆ ก็น่าจะมีความต้องการเช่นเดียวกัน ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจเดินไปสู่เป้าหมาย ทุกวันนี้แบรนด์ Chips & Chill ได้มีการวางจำหน่ายในประเทศจีน สหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ ลาว กัมพูชา มาเลเซีย และกำลังศึกษาตลาดในฝั่งยุโรป นอกจากนั้นยังมีแผนที่จะขยายตลาดเข้าไปสู่ทวีปแอฟริกาในอนาคต

ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อได้ที่

บริษัท พิมพร บานาน่า อินเตอร์ฟู้ดส์ จำกัด 

ที่อยู่: 380/1 ตำบลหนองตูม  อำเภอกงไกรลาศ จังหวัดสุโขทัย 64170 

โทร: 095-381-6617

อีเมล: pimporn.j394@gmail.com

Facebook: pimpronbanana

 

บทความแนะนำ

แมวบิน จัดระเบียบความสุข ให้บ้านเป็นบ้าน

แมวบิน จัดระเบียบความสุข ให้บ้านเป็นบ้าน

บ้าน นั้นเป็นพื้นที่รวบรวมความสุขของคนในบ้าน และเมื่อมีการอยู่อาศัยใช้ชีวิตในพื้นที่ก็เป็นธรรมดาที่จะต้องมีข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ เมื่อเวลาผ่านนานวันเข้า ข้าวของก็เพิ่มขึ้นตามไปด้วย ในขณะที่พื้นที่จัดเก็บข้าวของและพื้นที่ใช้สอยนั้น ลดน้อยลงไปทุกที จนหลาย ๆ ครั้ง ก็เกิดเป็นผลกระทบกับผู้อยู่อาศัยภายในบ้าน จากบ้านที่เคยเป็นพื้นที่รวบรวมความสุข กลับกลายมาเป็นพื้นที่รวบรวมสิ่งของ ที่เบียดบังพื้นที่ใช้สอยในชีวิต และส่งผลต่อสุขภาพของผู้อยู่อาศัย จนเริ่มไม่ใช่พื้นที่ความสุขอีกต่อไป

เมื่อบ้านต้องจัดระเบียบแต่คนในบ้านไม่สามารถจัดระเบียบเองได้ จึงเป็นหน้าที่ของ แมวอิม-อิมยาดา เรือนภู่ และ แมววา-ปริยาภา ริ้วทอง นักจัดระเบียบบ้านมืออาชีพ ในนามของ แมวบิน นักจัดระเบียบบ้าน ที่ต้องเข้ามารับทำหน้าที่นี้

จัดบ้าน ขจัดความเศร้า

การจัดระเบียบบ้านของ แมวบิน นั้น ไม่ใช่แค่รับหน้าที่เคลียร์ของออกจากบ้านให้บ้านโล่งแล้วสิ้นสุด แต่ทุกครั้งก่อนที่จะรับงาน ต้องมีการพูดคุยเพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับลักษณะนิสัยของเจ้าของบ้านแต่ละหลัง เพื่อเป็นโจทย์ในการจัดบ้านว่า จะต้องจัดอย่างไร เพราะในหลาย ๆ ครั้ง แมวบิน พบว่าเจ้าของบ้านที่บ้านรกนั้น มีเรื่องของอาการป่วยทางใจเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น อยู่ในภาวะซึกเศร้า หรือ มีภาวะชอบสะสมของ เป็นต้น การทำความรู้จักลักษณะนิสัยของเจ้าของบ้านก่อน จึงจำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อให้การเข้าไปจัดระเบียบบ้าน เป็นการช่วยให้ชีวิตของเขาดีขึ้น ไม่ใช่เข้าไปเพื่อทำร้ายจิตใจเขาจากการพรากสิ่งของมีค่าของเขาไป

สิ่งสำคัญคือ แมวบิน ต้องสร้างความไว้วางใจให้กับเจ้าของบ้าน ซึ่งความไว้ใจนี้ ต้องมาพร้อมกับความเอาใจใส่ ความใจเย็น และความอดทน ที่จะต้องทำให้เจ้าของบ้านทุกคนรู้สึกได้ว่า แมวบิน อยู่ข้างเดียวกับเขา ไม่ใช่ฝ่ายตรงข้าม ไม่ใช่คนที่จะมาเอาทรัพย์สินของเขาไปทิ้ง สิ่งที่แมวบินทำอย่างใส่ใจ คือการประกบอยู่กับเจ้าของบ้าน แล้วค่อย ๆ คัดแยกสิ่งของไปพร้อมกับเขาทีละชิ้น ค่อย ๆ ให้เขาได้พิจารณาสิ่งของเหล่านั้นว่า ยังมีค่ากับเขาอยู่ไหม ของที่เก็บไว้มันเสียแล้วหรือไม่ ให้เขาได้เห็นชัด ๆ ว่าจะเก็บไว้หรือสามารถตัดใจทิ้งไปได้ เพื่อให้บ้านได้มีพื้นที่ชีวิตกลับคืนมา

แมวบิน ใช้ศาสตร์และศิลป์เข้ามาใช้ในการจัดระเบียบบ้าน และต้องทำให้การจัดบ้านทุกครั้งเป็นเรื่องสนุก ท่ามกลางสิ่งของนับพันนับหมื่นชิ้นที่รอการจัดระเบียบและดูเหมือนจะไม่มีวันสิ้นสุดอยู่ตรงหน้า ความสนุกจะเป็นกำลังและเรี่ยวแรงให้ทีมงานค่อย ๆ จัดการสิ่งของแต่ละชิ้นตรงหน้าให้สำเร็จได้

จัดเตรียมสู่ความเป็นไปได้ใหม่

ทุกวันนี้มีการจองคิวใช้บริการ แมวบิน นานมากกว่า 8 เดือน เนื่องจากในปัจจุบันยังมีทีมงานอยู่เพียงแค่ทีมเดียว แมวบินกำลังอยู่ในช่วงของการขยายทีม เพื่อรองรับความต้องการใช้บริการ และยังมีแผนที่จะขยายขอบเขตการให้บริการไปถึงพื้นที่ต่างจังหวัด ไปช่วยให้คนทั่วประเทศได้มีชีวิตที่ดีขึ้น

นอกจากนั้น แมวบิน ยังมีแนวคิดที่อยากจะเปิดเป็นสถาบันสอนจัดระเบียบบ้าน เพื่อปั้นนักจัดระเบียบบ้านมืออาชีพ ให้เป็นอาชีพที่สามารถส่งออกไปสู่ตลาดต่างประเทศได้


ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อได้ที่

แมวบิน นักจัดระเบียบบ้าน

โทร: 080-810-8010

อีเมล: meawbinhome@gmail.com

Facebook: meawbinhome

บทความแนะนำ

สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ สร้างแนวทางการเติบโตอย่างยั่งยืนเพื่อผู้ประกอบการไทย

สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ สร้างแนวทางการเติบโตอย่างยั่งยืนเพื่อผู้ประกอบการไทย

 ถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ (Thailand Textile Institute : THTI) เป็นหนึ่งในองค์กรที่มีบทบาทสำคัญในด้านการส่งเสริมทักษะ และความรู้สหวิชาการที่มุ่งเน้นในเรื่องของนวัตกรรม (Innovation) การออกแบบ (Design) และ การเชื่อมโยง (Connect) ให้กับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในอุตสาหกรรมสิ่งทอ แฟชั่น และไลฟสไตล์ เพื่อเป็นการยกระดับผลิตภาพ (Productivity) และช่วยเสริมสร้างศักยภาพความแข็งแกร่งให้ผู้ประกอบการไทยสามารถแข่งขันได้ท่ามกลางสถานการณ์ตลาดในยุคการค้าเสรี

ปัจจุบัน สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ ดำเนินงานภายใต้ อุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิ และเป็นหน่วยงานนิติบุคคลในเครือข่ายของกระทรวงอุตสาหกรรม มีแนวทางการทำงานในเชิงรุกอย่างใกล้ชิดกับภาคเอกชน ผู้ประกอบการ และกลุ่มวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ส่งผลให้ปัจจุบันสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง และได้รับโอกาสในการเป็นที่ปรึกษา และร่วมสนับสนุนการดำเนินในโครงการต่างๆ ทั้งกับภาครัฐ และเอกชนจำนวนมาก

คุณสุดา ยังให้ผล ผู้อำนวยการ ฝ่ายพัฒนาอุตสาหกรรม สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ กล่าวถึงอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทยโดยภาพรวมยังคงเป็นเรื่องของการส่งออก ซึ่งมีแนวโน้มขยับตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้นตั้งแต่ปีที่ผ่านมา เนื่องจากสถานการณ์ Covid – 19 เริ่มคลี่คลาย แต่สำหรับปี 2566 ภาคการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทยอาจมีแนวโน้มปรับตัวลดลงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจในประเทศที่เป็นคู่ค้ากับประเทศไทย อาทิ สหรัฐอเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่น ส่งผลให้กำลังซื้อของผู้บริโภคลดลงอย่างเห็นได้ชัด ดังนั้นในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาภาคการส่งออกจึงปรับตัวลดลงถึง 16.8% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้านี้

ในมุมของผู้ประกอบการไทย ยังมองเห็นความพยายามที่จะปรับตัว เนื่องจากช่วงที่ผ่านมาไม่สามารถขายสินค้าได้เลยติดต่อกันมา 3-4 ปี ส่งผลให้กระแสเงินสดขาดสภาพคล่อง ดังนั้นเรื่องของการลงทุนเพิ่มจึงไม่ใช่แผนงานหลัก แต่จะมองหาวิธีการที่จะทำให้ทรัพยากรที่มีอยู่สามารถนำมาปรับเปลี่ยนและพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการในอนาคตได้ แต่ทั้งนี้ยังต้องอาศัยการสนับสนุนเงินทุนจากภาครัฐด้วย ในขณะที่งบประมาณโดยรวมจากภาครัฐลดต่ำลง ทำให้เงินทุนที่จะไปสนับสนุนผู้ประกอบการก็ลดน้อยลงไปด้วย

“สำหรับสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ มีการส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้ได้รับโอกาสในการเข้าถึงการบริการสนับสนุนด้านการพัฒนาธุรกิจด้วยงบประมาณรูปแบบใหม่ที่เรียกว่า BDS (Business Development Service) จากสสว. โดยผู้ประกอบการสามารถเลือกรับการบริการ หรือรับการพัฒนากับผู้ให้บริการทางธุรกิจที่ตรงกับความต้องการของธุรกิจของตน เราจึงใช้ตรงนี้มาซัพพอร์ตผู้ประกอบการได้อย่างหลายหลาก เช่น เรื่องการพัฒนามาตรฐาน การพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้เกิดขึ้นตามคอนเซ็ปต์ของ BCG Model หรือการส่งเสริมในเรื่องของกิจกรรมทางการตลาด รวมถึงการให้การสนับสนุนในเรื่องของการพัฒนานวัตกรรมต่างๆ”

“สิ่งสำคัญ คือทางสถาบันมีการขับเคลื่อนด้วยการใช้ต้นทุนของตัวเองในเรื่องของการวิเคราะห์ทดสอบสิ่งทอ โดยมีการขยาย LAB เพื่อรองรับกับการที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่จะเข้ามาใช้บริการ ซึ่งเราไม่ได้ทำเฉพาะแค่เรื่องสิ่งทอ หรือเครื่องนุ่งห่ม แต่เรายังสามารถใช้อุปกรณ์ หรือเครื่องมือที่อยู่ในห้องทดลองมาใช้ทดสอบในเรื่องของวัสดุได้อีกด้วย เช่น การทดสอบพลาสติก การทดสอบของเล่นที่เป็นกระดาษ สิ่งเหล่านี้ เป็นแนวทางสำคัญในการที่จะส่งเสริมให้ภาคอุตสาหกรรมสิ่งทอสามารถนำเรื่องมาตรฐานเข้ามาสร้างความเข้มแข็งให้กับตนเองได้ และเรามีความพร้อมด้านบุคลากร ซึ่งเป็นแนวทางการขับเคลื่อนของทางสถาบัน”

1.คุณสุดา ยังกล่าวเสริมถึง แผนงานในปี 2566 มีการจัดทำโครงการเพื่อการส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่น่าสนใจอยู่หลายเรื่อง ได้แก่

2.มาตรฐาน (Standard) เพื่อการยกระดับการผลิตในอุตสาหกรรมให้ได้มาตรฐาน เป็นเรื่องเกี่ยวกับศูนย์วิเคราะห์ทดสอบสิ่งทอของทางสถาบันฯ และการสร้างมาตรฐานสากล

นวัตกรรม (Innovation) โดยทางสถาบันฯมีแนวคิดที่จะขับเคลื่อนให้ผู้ประกอบการเป็น Innovation Driven Enterprise (IDE) เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถขับเคลื่อนธุรกิจด้วยการใช้นวัตกรรมต่างๆ ไปต่อยอด หรือขยายผลทางการตลาด และสามารถเพิ่มมูลค่าทางธุรกิจมากขึ้น

“โมเดลนี้เป็นโจทย์ที่เรารับมาจาก บพข. หรือหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ปีนี้จะนำร่องด้วย 5 บริษัท ที่เราจะสร้างให้เขาเป็น IDE รวมถึงการให้คำปรึกษาแนะนำเพื่อให้เขาใช้นวัตกรรมต่างๆ มาต่อยอดในภาคการผลิต อีกเรื่องหนึ่งที่อยู่ในแผนงานของสถาบันฯ คือการผลักดันให้กัญชงเป็นพืชเศรษฐกิจของประเทศไทย ปัจจุบันได้มีการพัฒนาศูนย์นำร่องกัญชงขึ้นมาแล้ว และเรายังคงสานต่อโครงการนี้เพื่อที่จะของบต่างๆ จากภาครัฐเข้ามาเพื่อพัฒนาโครงการนี้ต่อไป”

3.การตลาด (Marketing) หลังจากสถานการณ์วิกฤต Covid-19 ผ่านพ้นไป ผู้ประกอบการเริ่มมุ่งเน้นในเรื่องของการตลาดมากขึ้น ทางสถาบันฯจึงได้เร่งพัฒนาแผนงานทั้งด้านออนไลน์และออฟไลน์

Online Market เป็นเรื่องของการพัฒนาแพลตฟอร์ม ปัจจุบันดำเนินการอยู่ 2 แพลตฟอร์ม คือ 1.Textiles Square เปิดตัวในปี 2565 เป็นแพลตฟอร์มสำหรับการค้นหาที่ได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม โดยที่ผู้ประกอบการสามารถเข้าร่วมเป็นสมาชิกเพื่อโปรโมทผลิตภัณฑ์ของตนในแพลตฟอร์มนี้ได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย 2.Textiles Circle เป็นแพลตฟอร์มที่เปรียบเสมือนเป็นแหล่งเรียนรู้ในเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียนของภาคอุตสาหกรรมสิ่งทอ และเป็นตลาดสำหรับผลิตภัณฑ์สิ่งทอเศรษฐกิจหมุนเวียน

“ปัจจุบัน Textiles Circle ยังอยู่ในช่วงของการพัฒนาคาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการภายในปีนี้ โดยเป็นแพลตฟอร์มที่สามารถซื้อขายได้โดยการต่อยอดจาก Textiles Square ที่เน้นในเรื่องของสิ่งแวดล้อม ดังนั้นใครที่ทำในเรื่องของรีไซเคิล หรือเกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมต่างๆ ก็สามารถเข้าสู่แพลตฟอร์มนี้เพื่อโปรโมทพร้อมขาย โดยแพลตฟอร์มยังเชื่อมโยงกับภาคธุรกิจเอกชนเข้ามาด้วย เพื่อให้โมเดลการขายสามารถทำได้จริง ซึ่งทั้ง 2 แพลตฟอร์ม ผู้ประกอบการสามารถสมัครเข้าร่วมเป็นสมาชิกได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด และปัจจุบัน Textiles Square มีผู้ประกอบการเข้าร่วมเป็นสมาชิกแล้วไม่ต่ำกว่า 500 ราย” 

Offline Marketing เป็นเรื่องของการเปิดบูธในงานแสดงสินค้าภายใต้การสนับสนุนงบประมาณจาก สสว. ผ่านโครงการ BDS โดยแผนงานในปีนี้ทางสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอได้ส่งผู้ประกอบการไปเปิดบูธในงานแสดงสินค้าที่ประเทศฮ่องกงเป็นจำนวน 9 ราย รวมถึงการเปิดบูธในงานเอ็กซ์โปต่างๆ อาทิ Manufacturing Expo งาน Care Expo งาน MEGASHOW Bangkok 2023 เป็นต้น โดยมีผู้ประกอบการให้ความสนใจสมัครเข้าร่วมโครงการเป็นจำนวนมาก

4.ความยั่งยืน (Sustainability) เพื่อยกระดับภาคอุตสาหกรรมสู่ความยั่งยืนภายใต้คอนเซ็ปต์ของ BCG Model โดยทางสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอได้เข้าไปส่งเสริมผู้ประกอบการ ในการทำผลิตภัณฑ์ในการพัฒนาองค์ความรู้ต่างๆ เพื่อนำไปต่อยอดการขายบนแพลตฟอร์ม Textile Circle และมีการส่งเสริมในเรื่องของฉลากสิ่งแวดล้อมต่างๆ และเพื่อให้เกิดการทำงานในเชิงบูรณาการในแง่ของ BCG Model ทางสถาบันฯจึงมุ่งเน้นในเรื่องการสร้างเครือข่ายกับหน่วยงานภาครัฐอื่นๆ เช่น อบก. หรือองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) โดยร่วมมือกันในแง่ของการส่งเสริมผู้ประกอบการ หรือเป็นที่ปรึกษาในการขอฉลากรับรองจากอบก.เป็นต้น

“เรายังมีภารกิจอีก 2 เรื่องสำคัญ คือ เรื่อง บุคลากร (Human Resource) ที่ต้องเร่งพัฒนา โดยทางสถาบันฯได้เปิดการให้บริการในเรื่องของ การพัฒนาองค์กร ให้กับผู้ประกอบการ เพราะบางครั้งผู้ประกอบการอาจสับสนได้ว่า ควรทำเรื่องใดก่อนในความต้องการที่หลากหลาย อีกเรื่องคือ การเชื่อมต่อ (Connect) กับหน่วยงานพันธมิตรต่างๆ ที่อยู่นอกสถาบันฯให้มากยิ่งขึ้น เช่น หน่วยงานกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ ไปจนถึงต่างประเทศ เพื่อให้สามารถเซอร์วิสผู้ประกอบการได้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น และเกิดการเชื่อมโยงระหว่างผู้ประกอบการมากขึ้นด้วย”

อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ผ่านมา สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ ได้ให้ความสำคัญกับการลงทุนในเรื่องของ LAB Test ค่อนข้างมาก และปัจจุบันมีผู้ประกอบการมาใช้บริการจำนวนมาก โดย LAB Test ดำเนินการในชื่อของศูนย์วิเคราะห์ทดสอบสิ่งทอ เป็นหน่วยงานหนึ่งภายใต้สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ เป็นห้องปฏิบัติการทดสอบสิ่งทอที่เป็นกลางให้กับผู้ประกอบการด้านสิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม และผู้ส่งออกสิ่งทอของประเทศไทย สามารถมาใช้บริการวิเคราะห์ทดสอบคุณภาพสิ่งทอตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำตามมาตรฐานสากล เช่น ยุโรป อเมริกา ญี่ปุ่น เยอรมัน รวมทั้งมาตรฐานของไทย ได้แก่ มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) และมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.)

สำหรับผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการทดสอบ ผู้ประกอบการสามารถขอรับฉลาก หรือเครื่องหมายรับรองต่างๆ โดยฉลากที่ออกโดยสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ ได้แก่ ฉลาก Smart Fabric เครื่องหมายแสดงคุณภาพของสิ่งทอไทยที่มีมาตรฐานด้านความปลอดภัยต่อผู้บริโภค และมีการใช้เทคโนโลยีชั้นสูงและทันสมัย ฉลาก CoolMode เป็นฉลากที่มอบให้กับเสื้อผ้า หรือผลิตภัณฑ์ที่มีคุณสมบัติพิเศษในการซับเหงื่อและระบายความร้อนได้ดี สวมใส่สบายไม่อึดอัด เมื่อสวมใส่ในอาคาร หรือห้องที่มีอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศ 25 องศาเซลเซียส

นอกจากนี้ ยังมีฉลากที่ได้ร่วมกันพัฒนากับหน่วยงานต่างๆ อาทิ ฉลากเสื้อเบอร์ 5 โดยพัฒนาร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) สำหรับเสื้อที่ใส่สบายและไม่จำเป็นต้องรีด ฉลาก S-MARK โดยพัฒนาร่วมกับสมาคมส่งเสริมความปลอดภัยและอนามัยในการทำงาน (ประเทศไทย) และสหพันธ์อุตสาหกรรมสิ่งทอแห่งประเทศไทย สำหรับอุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคล ในกลุ่มผลิตภัณฑ์สิ่งทอที่มีคุณภาพและมาตรฐาน เป็นต้น

สำหรับความท้าทายในแง่การทำงานในยุค Post Covid คุณสุดา มองว่า จะทำอย่างไรให้ผู้ประกอบการมีรายได้เข้ามาเพื่อต่อยอดธุรกิจจากที่เมื่อ 3 - 4 ปีก่อนไม่สามารถสร้างกระแสเงินสดให้เข้ามาในธุรกิจได้ จึงถือเป็นความท้าทายที่มาพร้อมกับความกังวลใจ

“โดยแผนงานหลักๆ ที่ได้กล่าวไปในเบื้องต้น นอกเหนือจากเรื่องของบุคลากร (Human Resource) และการเชื่อมต่อ (Connect) เรื่องที่เราต้องเร่งดำเนินการเป็นเรื่องแรกๆ คือการส่งเสริมการตลาด (Marketing) ที่ต้องทำควบคู่กับเรื่องการสร้างมาตรฐาน (Standard) และการพัฒนานวัตกรรม (Innovation)  เพราะเป็นเรื่องจำเป็นที่ส่งผลต่อการขับเคลื่อนธุรกิจและอุตสาหกรรมให้ก้าวต่อไป และสามารถแข่งขันได้ในอนาคต” คุณสุดา กล่าว

บทความแนะนำ

สถาบัน NEA พัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ ติดอาวุธความรู้พร้อมสู้ในเวทีการค้ายุคใหม่

สถาบัน NEA พัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการติดอาวุธความรู้พร้อมสู้ในเวทีการค้ายุคใหม่

จากกระแสดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นมาถึงวิกฤตโควิด โลกเปลี่ยนแปลงไปมากมาย และเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว ดังนั้นผู้ประกอบการ SMEs และ Micro SMEs ทั่วประเทศจำนวนมากกว่า 3.1 ล้านราย ที่เป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย จำเป็นต้องสร้างภูมิคุ้มด้วยการพัฒนาศักยภาพ และยกระดับองค์ความรู้ เพื่อต่อยอดโอกาสทางการค้าไปยังเวทีการค้าสากล เท่าทันกับโลกที่ไม่แน่นอนในอนาคต หรือ Uncertainty World

คุณภาวินี รวยรื่น ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า สถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ (NEW ECONOMY ACADEMY) หรือ สถาบัน NEA เป็นหน่วยงานภายใต้กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์มีภารกิจหลักคือการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการไทยอย่างครบวงจร ให้สามารถดำเนินธุรกิจระหว่างประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการเสริมสร้างองค์ความรู้และจัดฝึกอบรม/สัมมนา ให้แก่กลุ่มผู้ประกอบการไทยทุกระดับ โดยมุ่งเน้นที่จะพัฒนาผู้ประกอบการให้สามารถปรับตัวให้ทันกับสถานการณ์เศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไปและมุ่งเน้นการเข้าถึงประชาชนทุกภาคส่วน ทั้งในรูปแบบ Onsite ผ่านกิจกรรมฝึกบรรยาย อบรมสัมมนา และอบรมเชิงปฏิบัติการ และ Online ในระบบ
E-Academy ให้ผู้ประกอบการเข้ามาเรียนได้ทุกที่ทุกเวลาตลอด 24 ชั่วโมง ครอบคลุมทุกสินค้า ทุกอุตสาหกรรม

ทั้งนี้ความสำเร็จของ ปี 2565 ที่ผ่านมา สถาบัน NEA ได้พัฒนาผู้ประกอบการทั้งสิ้นกว่า 61,000 ราย โดยใน 5 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ ปี 2562 ถึงปัจจุบัน สถาบัน NEA ได้พัฒนาผู้ประกอบการทั้งสิ้นกว่า 157,000 ราย ทั้งในรูปแบบอบรมสัมมนา และในระบบ E-Academy นอกจากนี้ ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการกับสถาบัน NEA ได้รับการพัฒนาศักยภาพจนสามารถต่อยอดเข้าสู่กิจกรรมอื่นๆ ของกรม อาทิ งานแสดงสินค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ กิจกรรมเจรจาการค้า โครงการ Thaitrade.com และโครงการอบรมสัมมนาในโครง    การอื่นๆ ของกรม

แต่ละปีสถาบัน NEA กำหนดจัดกิจกรรมพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการมากถึง 116 หลักสูตร 58 กิจกรรม ใน 4 ด้านหลักๆ ได้แก่

  1. หลักสูตรด้านความรู้พื้นฐานด้านการค้าระหว่างประเทศ อาทิ โครงการความรู้เบื้องต้นในการประกอบธุรกิจส่งออก โครงการ Young Exporter from Local to Global (YELG) โครงการเปิดโลกการค้ากับทูตพาณิชย์ (Export Clinic) และเอกสารการส่งออก เหมาะสำหรับผู้ประกอบการที่สนใจส่งออก หรือต้องการสร้างความรู้พื้นฐานก่อนส่งออกต่างประเทศ
  2. หลักสูตรด้านการสร้างช่องทางตลาด อาทิ โครงการครบเครื่องเรื่องการค้าออนไลน์ หลักสูตรการเรียนการสอนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ E-Academy โครงการเจาะลึกตลาดต่างประเทศในยุคการค้าใหม่ พัฒนากลยุทธ์เจาะตลาดต่างประเทศในยุคการค้าใหม่
  3. หลักสูตรการสร้างความเข้มแข็งให้ผู้ส่งออกและเครือข่าย อาทิ โครงการ ผู้ส่งออกอัจฉริยะ Smart Exporter นับเป็นการสนับสนุนผู้ประกอบการที่ศักยภาพด้านการส่งออกต่างประเทศและสร้างเครือข่ายไปพร้อมกัน
  4. หลักสูตรสร้างมูลค่าเพิ่มและธุรกิจกระแสใหม่ อาทิ โครงการยกระดับผู้ประกอบการสู่เศรษฐกิจกระแสใหม่ UpSkill & ReSkill เกี่ยวกับเมกะเทรนด์โดยมุ่งเน้นนวัตกรรม เทคโนโลยีดิจิทัลที่ทันสมัย ประกอบกับการเสริมองค์ความรู้ในการสร้างโอกาสทางการค้าจาก Megatrends การค้าที่สำคัญของโลก เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยพร้อมรับมือและก้าวเข้าสู่โลกในยุคเศรษฐกิจกระแสใหม่อย่างเข้มแข็ง ผ่านหลักสูตรที่อัดแน่นทั้งภาคทฤษฎีด้านเทรนด์การค้าที่สำคัญของโลก อาทิ ทั้งหลักสูตร Green Marketing หลักสูตร Food Technology และหลักสูตรยกระดับการเจรจาธุรกิจออนไลน์สู่ตลาดสากล รวมไปถึงหลักสูตรด้านเทคโนโลยีดิจิทัลสมัยใหม่ที่เน้นให้ผู้ประกอบการทดลองลงมือปฏิบัติจริงผ่านการทำ Workshop อาทิ หลักสูตร Video Content Creator และหลักสูตร No-Code & Low-Code Platform และโครงการกระจายความรู้สู่ผู้ประกอบการยุคใหม่ From Gen Z to be CEO เป็นต้น

ปัจจุบัน สถาบัน NEA ได้ปรับรูปแบบการจัดอบรมสัมมนาให้สามารถดำเนินการได้ทั้งในแบบ Onsite แบบ Online และแบบ Hybrid ที่รองรับผู้เข้าอบรมแบบ Onsite และผู้เข้าอบรมแบบ Online ในเวลาเดียวกัน นอกจากนี้ ยังมีการอบรมและเรียนรู้ในรูปแบบดิจิทัล (E-Academy) เพื่อรองรับผู้ประกอบการที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรมแต่ไม่ค่อยมีเวลาให้สามารถเข้าเรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา ที่เป็นการอบรมผ่านระบบ Online ในรูปแบบห้องเรียน e-learning ที่มีหลักสูตรเด่นๆ เช่น หลักสูตรเพื่อการค้าระหว่างประเทศ หลักสูตร The Guru ปันความรู้ จากกูรู สู่ภูมิภาค หลักสูตรความรู้เบื้องต้นด้านการส่งออก หลักสูตรความรู้ด้าน E-Commerce และการค้ายุคใหม่ และหลักสูตรความรู้ด้านการเจาะตลาดต่างประเทศ

“สถาบัน NEA มีวิธีการออกแบบหลักสูตร โดยมีองค์ประกอบมาจากการพิจารณาผลตอบรับกิจกรรมการฝึกอบรมครั้งที่ผ่านมา ร่วมกับการประชุมหารือสอบถามความคิดเห็นภาคเอกชนทั้งอย่างที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ ว่าต้องการให้เราเสริมความรู้ด้านไหนอย่างไร และนโยบายของกระทรวงพาณิชย์ว่าปีนี้มีทิศทางไปทางไหน ทั้งหมดเหล่านี้จะถูกนำมาวิเคราะห์ออกแบบหลักสูตร”

อย่างไรก็ตาม หลังจากฝึกอบรมแล้ว สถาบัน NEA จะมีการติดตามผลว่าผู้ประกอบการมีพัฒนาการอย่างไร โดยสามารถวัดผลได้จาก 2 ช่องทาง กล่าวคือ จากการร่วมกิจกรรมกับกรมส่งเสริมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศอย่างต่อเนื่อง  เช่น การแสดงสินค้าในต่างประเทศ ซึ่งพบว่ามีสูงถึง 57% และติดตามพัฒนาการของผู้ประกอบการจากขายผ่านช่องทางอีคอมเมิร์ซ

สุดท้ายนี้ คุณภาวินีมองว่า ธุรกิจการค้ายุคใหม่หลังวิกฤตโควิดมีความท้าทายมากขึ้น สถาบัน NEA จึงประสานความร่วมมือจากผู้เชี่ยวชาญแต่ละประเทศ เพื่อเข้ามาให้ความรู้ และแนะนำโอกาสทางธุรกิจหลังโควิด นอกจากนี้พร้อมต่อยอดองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีให้เท่าทันสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปอยู่ตลอดเวลา

“ผู้ประกอบการควรรับมือกับโลกยุคใหม่ ด้วยการหมั่นศึกษาหาความรู้ อันดับแรกต้องมีความรู้พื้นฐานด้านการค้าก่อน ว่าสินค้าหรือบริการของตนมีจุดเด่นอย่างไร พร้อมปรับตัวเสมอ เพิ่มทักษะใหม่ๆ โดยเฉพาะการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วยในการทำธุรกิจ ใช้เมกะเทรนด์ซอฟท์พาวเวอร์ หรือกระแส Internationalization เข้ามาเพิ่มโอกาสให้ตัวเอง”

สำหรับแผนการทำงานในปีนี้ สถาบัน NEA ยังคงจัดหลักสูตรฝึกอบรม และกิจกรรมที่เหมาะกับผู้ประกอบการทุกระดับธุรกิจ ทุกเพศ ทุกวัยอย่างต่อเนื่อง รองรับเมกะเทรนด์โลก โดยตั้งเป้าว่าจะพัฒนาผู้ประกอบการไม่ต่ำกว่า 20,000 รายภายในปีนี้

ทั้งนี้ผู้ประกอบการที่สนใจการฝึกอบรมสัมมนา และร่วมกิจกรรมของสถาบัน NEA สามารถเข้าร่วมทุกโครงการได้ฟรี โดยไม่มีค่าใช้จ่าย โดยสามารถติดตามความเคลื่อนไหว ข่าวสาร และสมัครเข้าร่วมกิจกรรมอบรมต่างๆ

ได้ที่เว็บไซต์ http://nea.ditp.go.th/ หรือ https://facebook.com/nea.ditp/ และ Line@nea.ditp สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทรสายด่วน 1169 กด 1 กด 1

บทความแนะนำ