เตือนภัยหลอกลงทุน อย่าเชื่อ อย่าแชร์ เมื่อเจอโฆษณาชักชวนลงทุนในลักษณะนี้
สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ หรือ CEA (Creative Economy Agency)
เป็นหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ผ่านรูปแบบการพัฒนาผู้ประกอบการและส่งเสริมให้เกิดการนำกระบวนการคิดเชิงสร้างสรรค์ไปใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และสร้างนวัตกรรม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศ พร้อมสร้างนิเวศและสนับสนุนบุคลากรสร้างสรรค์ให้เกิดการเชื่อมโยงไปกับภูมิปัญญา วัฒนธรรม และภาคการผลิตจริงในมุมของการส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ที่เกิดขึ้นภายใต้วิสัยทัศน์ “การเป็นผู้นำในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ประเทศไทยสู่เวทีโลก”
โดยมุ่งเน้นไปที่อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของประเทศไทย ที่สามารถแบ่งรูปแบบธุรกิจได้เป็น 5 กลุ่ม เป็นจำนวนทั้งสิ้น 15 สาขา ประกอบด้วย กลุ่มรากฐานวัฒนธรรมสร้างสรรค์ คือ 1) งานฝีมือและหัตถกรรม 2) ดนตรี 3) ศิลปะการแสดง 4) ทัศนศิลป์ กลุ่มคอนเทนต์และสื่อสร้างสรรค์ คือ 5) ภาพยนตร์ 6) การแพร่ภาพและกระจายเสียง 7) การพิมพ์ 8) ซอฟต์แวร์ กลุ่มบริการสร้างสรรค์ คือ 9) การโฆษณา 10) การออกแบบ 11) การให้บริการด้านสถาปัตยกรรม กลุ่มสินค้าสร้างสรรค์ คือ 12) แฟชั่น และกลุ่มอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง คือ 13) อาหารไทย 14) การแพทย์แผนไทย และ 15) การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม
คุณอาสา ผิวขำ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาธุรกิจและนวัตกรรม สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) กล่าวว่า โดยภาพรวมการทำงานของ CEA กับทั้ง 15 กลุ่มอุตสาหกรรม ทางสำนักงานมีแนวทางการทำงานหลักๆ 2 กลุ่มใหญ่ คือ กลุ่มที่เป็นเป้าหมาย และ กลุ่มที่มีศักยภาพ
สำหรับ กลุ่มที่มีศักยภาพ คือ กลุ่มผู้ประกอบการไทยในกลุ่มที่เป็น Creative Service ได้แก่ งานโฆษณา การออกแบบ และการให้บริการด้านสถาปัตยกรรม ล้วนเป็นงานที่สามารถไปได้ไกลอย่างงานดีไซน์ไทยที่สามารถส่งออกไปได้ทั่วโลก หรืองานโฆษณาที่ผู้ประกอบการไทยได้รับรางวัลระดับโลกในทุกปี กลุ่มนี้จึงเป็นกลุ่มที่มีตลาดอยากร่วมงานอยู่แล้ว หรือแม้กระทั่งกลุ่มที่เป็นงานด้านสถาปัตยกรรม หรือการตกแต่งภายใน ถือว่าเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพสูงอันดับต้นๆ ของเอเชีย ที่ CEA ต้องการจะส่งเสริมและสนับสนุนในรูปแบบการให้คำปรึกษาสำหรับผู้ประกอบการหน้าใหม่
“ในส่วนของผู้ประกอบการไทย กลุ่มที่เป็นเป้าหมาย ที่ CEA มองเห็นโอกาส คือ กลุ่ม Creative Content ได้แก่ ภาพยนตร์ การแพร่ภาพและกระจายเสียง การพิมพ์ และซอฟต์แวร์ (การ์ตูน หรือเกม เป็นต้น) เป็นกลุ่มที่เป็นเทรนด์ของโลก เรามีผู้ประกอบการไทยที่มี Culture Asset ที่ดี มี Creativity ที่สูง แต่ยังขาดเรื่องของความรู้ด้านเทคโนโลยี หรือเงินทุนที่จะช่วยในเรื่องการทำงาน และการหาตลาดรองรับในระดับโลก”
ที่ผ่านมา สำนักธุรกิจและนวัตกรรม จะมีการส่งเสริมและสนับสนุนผ่านโครงการพัฒนาผู้ประกอบการไทยหลายรูปแบบ อาทิ การจัดทำโครงการ CHANGE by CEA ที่ทำมาอย่างต่อเนื่องหลายปี เป็นการทำงานร่วมกับผู้ประกอบการที่มีศักยภาพมีความพร้อม เพื่อยกระดับตัวเองขึ้นไปสู่ตลาดระดับประเทศ หรือระดับโลก โดยการสร้างแนวคิดเพื่อเปลี่ยนวิธีการทำงานของผู้ประกอบการที่ยังขาดความคิดสร้างสรรค์ หรือยังใช้ได้ไม่เต็มศักยภาพทั้งในแง่ผลิตภัณฑ์และบริการ
“เรานำคำว่า CHANGE เข้าไปปรับเปลี่ยนไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ กระบวนการออกแบบ ที่ย้อนไปตั้งแต่การเริ่มคิดเรื่องแบรนด์ อาจมีปัญหาตั้งแต่เรื่องของตัวแบรนด์ หรือเรื่องของส่วนผสมที่นำมาใช้ที่อาจยังไม่ตอบโจทย์ในแง่ของความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งต้องมีการปรับเปลี่ยนวัตถุดิบที่นำมาใช้เพื่อให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ ขึ้นมาได้”
โครงการ CHANGE by CEA มีโครงการที่ได้รับความสนใจและประสบความสำเร็จอยู่หลายโครงการ อาทิ
โครงการ Visual Character Arts เกิดขึ้นในปี 2564 เพื่อเป็นอีกหนึ่งโอกาสในการสร้างและต่อยอดรายได้ให้แก่นักสร้างสรรค์และผู้ประกอบการที่มุ่งสร้างสรรค์คาแรกเตอร์ใหม่ให้โดนใจกลุ่มผู้บริโภค โดยมีผู้เข้าร่วมโครงการ ประกอบด้วย นักสร้างสรรค์คาแรกเตอร์ นักวาดภาพประกอบ/นักวาดการ์ตูน จิตรกร/ศิลปิน ผู้ประกอบการสร้างสรรค์/นักสร้างสรรค์ทั่วไป ที่ผ่านการอบรมเชิงลึก เพื่อพัฒนาและสร้างสรรค์คาแรกเตอร์ใหม่ที่ตอบโจทย์ในเชิงพาณิชย์
สิ่งที่ผู้เข้าร่วมโครงการได้รับ คือ คาแรกเตอร์ใหม่ พร้อมการเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ คำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญเรื่องการสร้างสรรค์คาแรกเตอร์ใหม่ทั้งด้านการออกแบบและด้านธุรกิจ ตัวอย่างกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากคาแรกเตอร์ใหม่ สามารถนำไปผลิตและวางจำหน่ายได้ การเชื่อมโยงธุรกิจซื้อ-ขายลิขสิทธิ์ของคาแรกเตอร์ใหม่ (ทางตรง หรือทางอ้อมแล้วแต่สถานการณ์) รวมทั้งการเข้าร่วมกิจกรรมในโครงการฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย
โครงการนี้ยังได้ต่อยอดสู่สเกลที่ใหญ่ขึ้นในปี 2565 กับ CHANGE 2022: Visual Character Arts for SMEs โครงการพัฒนาแบรนด์ธุรกิจ SMEs ด้วยการสร้างสรรค์คาแรกเตอร์ให้โดนใจกลุ่มผู้บริโภค โดยมุ่งเน้นการนำ Visual Character ไปใช้ในการพัฒนาธุรกิจวิสาหกิจชุมชนขนาดย่อม (SMEs) ทั่วประเทศ เพื่อสร้างภาพลักษณ์ของแบรนด์ให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น (Branding) เพิ่มมูลค่าให้แก่สินค้าและบริการ สร้างรายได้ที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งกระตุ้นเศรษฐกิจภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19
โครงการ CHANGEx2 เป็นโครงการที่ได้ดำเนินการต่อเนื่องมากว่า 3 ปี เช่น โครงการ CHANGE x 2 แพ็กคู่สู่ธุรกิจใหม่ ด้วยความเชื่อว่า การรวมพลังกันระหว่าง “ผู้ประกอบการ” และ “นักสร้างสรรค์” ในพื้นที่ต่างๆ จะสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนร่วมกัน ซึ่ง “CHANGE x2 : แพ็กคู่สู่ธุรกิจใหม่” เป็นกิจกรรมจับคู่เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้ธุรกิจระหว่าง “ผู้ประกอบการ” และ “นักสร้างสรรค์” จาก 15 จังหวัดในภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคใต้ รวม 30 คู่
ความน่าสนใจของโครงการ คือการใช้กระบวนการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) เสริมด้วยหลักการ 3R คือ Rethink (คิดใหม่) Re-purpose (ปรับใหม่) และ Regenerate (รายได้ใหม่) จนก่อเกิดโมเดลธุรกิจ เเละช่องทางรายได้ใหม่ที่เป็นรูปธรรม ผ่านการลงมือสร้างต้นแบบและทดสอบตลาด เพื่อให้เกิดความมั่นใจก่อนการลงทุนจริง โดยร่วมกันค้นหาต้นเเบบธุรกิจใหม่ (New Business Model) เเละความเป็นไปได้ใหม่ๆ ระหว่างธุรกิจต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโรงเเรม ร้านอาหาร คาเฟ่ คราฟต์ ที่จับคู่กับนักสร้างสรรค์ด้านการออกเเบบ ดนตรี ศิลปะเเขนงต่างๆ วิดีโอคอนเทนต์ครีเอเตอร์ โปรเเกรมเมอร์ เเละช่างฝีมือของเเต่ละจังหวัดที่ดึงเอาความโดดเด่นของเเต่ละพื้นที่ เเละใส่ความคิดสร้างสรรค์ต่อยอดเป็นสินค้าเเละบริการในรูปเเบบใหม่ที่ยังไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้ประกอบธุรกิจสร้างสรรค์เห็นถึงโอกาสของความเป็นไปได้ใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้น
คุณอาสา ยังกล่าวถึง Disruption ต่างๆ ที่เกิดขึ้น ในมุมมองของ CEA สิ่งที่ส่งผลกระทบมากที่สุดต่อผู้ประกอบการทั้ง 15 อุตสาหกรรม มี 2 เรื่อง คือ เทคโนโลยี และการยอมรับ โดยเฉพาะในเรื่องการยอมรับในบางผู้ประกอบการอาจมองว่า เป็นอุปสรรคของการทำธุรกิจ แต่ในความจริงไม่ใช่อุปสรรค เนื่องจากการทำงานในยุคนี้ต้องอยู่บนพื้นฐานของ Fail Fast - Learn Fast คือล้มเร็วและเรียนเร็วเพื่อเรียนรู้ในนวัตกรรมใหม่ๆ ต้องกล้าล้มเหลว และผลักดันงานออกสู่ตลาดให้เร็ว ไม่จำเป็นต้องรอชิ้นงานที่ดีที่สุด เพราะการตัดสินใจที่ล่าช้าอาจทำให้คู่แข่งขันนำหน้าไปก่อน เป็นที่รู้จักก่อนแม้ว่างานจะยังไม่สมบูรณ์แบบ เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นประจำถือเป็น Disruption จากการที่คนอื่นไปได้เร็วกว่า
นอกจากนี้ ปัจจุบันมีเทคโนโลยีใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย เช่น AI, Automation หรือ Machine Learning เข้ามาช่วยการทำงานมากขึ้น กลายเป็น Disruption สำหรับกลุ่มคนทำงานครีเอทีฟ และเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องเรียนรู้ เพราะสุดท้ายแล้วแม้ว่าเทคโนโลยีจะเข้ามาช่วยทำงานให้ดีขึ้น แต่สิ่งที่ควบคุมเทคโนโลยีเหล่านี้ก็ยังเป็นคน ดังนั้นจึงต้องเรียนรู้เพื่อใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ให้เป็น เพื่อการทำงานที่ดียิ่งขึ้น พัฒนาสินค้าออกสู่ตลาดได้เร็วมากกว่า
สำหรับแผนการทำงานระยะในช่วง 2 – 3 ปี หลังจากนี้ ทาง CEA วางเป้าหมายจะเร่งผลักดันธุรกิจให้ก้าวต่อไปข้างหน้าให้ได้มากที่สุด เนื่องจากหลายกลุ่มมีความพร้อมอยู่แล้ว และอีกหลายกลุ่มมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในตลาดบ้างแล้ว โดยเฉพาะกลุ่มที่เป็น Creative Content เป็นกลุ่มที่มีศักยภาพที่มีโอกาสสูง ถือเป็นกลุ่มที่เป็นเป้าหมายของ CEA ในการผลักดันให้ผู้ประกอบการไทยในกลุ่มนี้สามารถส่งออกคอนเทนต์ได้มากขึ้น สร้างมูลค่าทางธุรกิจ และขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศได้มากขึ้น
“โดย CEA คาดหวังอยากให้เกิดการส่งออก Soft Power ของประเทศไทยผ่าน Creative Content ซึ่งหลายประเทศอย่างญี่ปุ่น หรือเกาหลีใต้ก็ใช้สูตรนี้และได้ผลตอบรับที่ดี เราเชื่อว่าด้วยแนวทางนี้จะส่งผลดีกับประเทศไทยได้เช่นกัน เพราะประเทศไทยมีวัฒนธรรมที่ดี มีการเล่าเรื่องที่เก่งอยู่แล้ว แต่จะทำอย่างไรให้สามารถก้าวไปสู่ตลาดที่ใหญ่กว่าเดิมได้อีก นั่นคือเป้าหมายการทำงานของเรา” คุณอาสา กล่าว
SME D Bank ผุดสินเชื่อ ‘SME Refinance’ ช่วยเอสเอ็มอีลดต้นทุน ผ่อนหนักเป็นเบา
เงื่อนไขสุดพิเศษ ดอกเบี้ยถูกคงที่ปีแรก 2.99% แถม Cash Back อีก 6 หมื่นบาท
SME D Bank จัดเต็ม ออกสินเชื่อใหม่ “SME Refinance” วงเงิน 5,000 ล้านบาท ช่วยผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ลดต้นทุนการเงิน ผ่อนหนักเป็นเบา หมดห่วงอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น เดินหน้าธุรกิจได้ต่อเนื่อง แจงเงื่อนไขสุดพิเศษ ดอกเบี้ยคงที่ ปีแรกเพียง 2.99% ต่อปี วงเงินกู้ 5 - 50 ล้านบาท ผ่อนนานสูงสุดถึง 15 ปี ปลอดชำระเงินต้น 12 เดือน แถมโปรโมชั่นพิเศษ “Cash Back” ให้อีกมูลค่าสูงสุด 60,000 บาท
นางสาวนารถนารี รัฐปัตย์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank เปิดเผยว่า จากสภาวะการณ์ทางเศรษฐกิจ สังคม ที่มีความผันผวน รวมถึง แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น ส่งผลกระทบให้ต้นทุนการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีปรับเพิ่มขึ้น ดังนั้น SME D Bank ธนาคารเพื่อเอสเอ็มอีไทย ตระหนักดีถึงภาระต้นทุนทางการเงินที่เกิดขึ้น จึงออกผลิตภัณฑ์สินเชื่อใหม่ “SME Refinance” วงเงินรวม 5,000 ล้านบาท เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี สามารถเดินหน้าธุรกิจต่อไปได้ โดยมีภาระทางการเงินที่ลดลง ช่วยให้วางแผนบริหารจัดการธุรกิจได้ล่วงหน้า เพิ่มความคล่องตัวในกิจการได้อย่างเหมาะสม และคว้าโอกาสให้ธุรกิจเติบโตได้เต็มศักยภาพ อีกทั้ง เป็นกลไกช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตในช่วงโค้งสุดท้ายปลายปี 2566
จุดเด่นสินเชื่อ “SME Refinance” คือ ดอกเบี้ยต่ำ และเป็นอัตราคงที่ เมื่อรีไฟแนนซ์มาแล้ว สามารถขอกู้เพิ่มเติมได้ ทั้งเพื่อลงทุน ขยาย ปรับปรุงกิจการ หรือปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินธุรกิจ หรือเป็นเงินทุนหมุนเวียนเสริมสภาพคล่อง โดยอัตราดอกเบี้ยปีแรกคงที่ 2.99% ต่อปี และช่วง 3 ปีแรก เฉลี่ยอยู่ที่ 3.50% ต่อปี วงเงินกู้เริ่มต้น 5 ถึงสูงสุด 50 ล้านบาท ผ่อนนานสูงสุดถึง 15 ปี แถมปลอดชำระเงินต้นสูงสุดถึง 12 เดือน เปิดรับคำขอกู้ตั้งแต่วันนี้ จนถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2566
อีกทั้ง ยังจัดโปรโมชั่นพิเศษ สำหรับผู้ประกอบการที่ยังไม่เคยใช้สินเชื่อจาก SME D Bank มาก่อน เมื่อยื่นกู้และเบิกใช้วงเงิน ตั้งแต่ 1-50 ล้านบาท ภายในสิ้นเดือนพฤศจิกายน 2566 ได้รับ “Cash Back” มูลค่าสูงสุด 60,000 บาท ได้แก่ 1. ค่าประเมินหลักทรัพย์ค้ำประกัน มูลค่าสูงสุด 30,000 บาทต่อราย และ 2. ค่าจดจำนองหลักประกัน มูลค่าสูงสุด 30,000 บาทต่อราย
นอกจากนั้น SME D Bank ยังมีโปรแกรม “พัฒนา” ฟรี! ช่วยเสริมแกร่งผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ยกระดับเพิ่มศักยภาพธุรกิจ สามารถปรับตัวได้ทันสถานการณ์ ผ่านโครงการ “SME D Coach” โดยโค้ชมืออาชีพ บริการให้คำปรึกษาและแนะนำธุรกิจ จากภาครัฐและเอกชน ควบคู่รับสิทธิ์เข้าร่วมกิจกรรมพัฒนาต่าง ๆ เช่น อบรม สัมมนา จับคู่ธุรกิจ เป็นต้น
ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ที่สนใจรับบริการสินเชื่อและงานพัฒนา แจ้งความประสงค์ได้ผ่านช่องทาง เช่น เว็บไซต์ www.smebank.co.th, LINE Official Account : SME Development Bank เป็นต้น รวมถึงสาขา SME D Bank ทั่วประเทศ หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Call Center 1357
ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก่อตั้งขึ้นโดย ดร.วินัย ดะห์ลัน ในรูปแบบของห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ขนาดเล็กในคณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีบทบาทหน้าที่ในการพัฒนางานด้านนิติวิทยาศาสตร์ฮาลาลขึ้นเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคทั้งมุสลิมและมิใช่มุสลิม การสนับสนุนการรับรองเครื่องหมายฮาลาล ไปจนถึงการพัฒนาด้านนวัตกรรม ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาลนั้น มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมี สำนักงานย่อย ในอีก 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดปัตตานี จังหวัดเชียงใหม่ และ จังหวัดนครนายก โดยแต่ละศูนย์มีการหน้าที่ดูแลในแต่ละเรื่องที่แตกต่างกันไป
บริการจากทางศูนย์
การให้บริการของทางศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาลนั้น ครอบคลุมความต้องการหลากหลายรูปแบบ ได้แก่
ทางศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล มีความพร้อมที่จะช่วยเหลือให้คำแนะนำด้านฮาลาลอย่างครบวงจรให้กับผู้ประกอบการ ตั้งแต่ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ไปจนถึงด้านการตลาด ด้วยบุคลากรที่เชี่ยวชาญ เพื่อให้ผู้ประกอบการทุกท่านสามารถพัฒนาสินค้าส่งออกไปสู่ตลาดโลกอย่างถูกต้องตารมมาตรฐานฮาลาล
ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อได้ที่
ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ที่อยู่: 254 อาคารวิจัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชั้น 11-13
ถนนพญาไท แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330
โทรศัพท์: 02-2181053 – 4
โทรสาร: 02-2181105
อีเมล: info.hsc.cu@gmail.com
เว็บไซต์ : https://halalscience.org
ทีเส็บสนับสนุนอีโค่ซิสเต็มรอบด้าน
ส่งไทยเป็นจุดหมายชั้นนำสำหรับการจัดงานไมซ์
ทีเส็บมีเป้าหมายชัดเจนในการสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายชั้นนำสำหรับการจัดงานไมซ์ระหว่างประเทศ ทั้งงานประชุมนานาชาติ งานประชุมองค์กร งานเดินทางเพื่อเป็นรางวัล งานแสดงสินค้า งานเทศกาล เพื่อให้การจัดงานเป็นกลไกในการสร้างงาน สร้างรายได้ สร้างเม็ดเงินภาษีเข้าประเทศ ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภาพรวม
บทบาทของทีเส็บจึงมีหน้าที่เป็นผู้แทนประเทศไทยในการดึงงานจากต่างประเทศให้มาจัดในประเทศไทย หรือเป็น National Bidder ซึ่งการจัดงานที่นำเข้ามาแล้วให้ลงตัวและประสบผลสำเร็จ ต้องอาศัยผู้ประกอบการภาคเอกชนในอุตสาหกรรมไมซ์ เช่น กลุ่มผู้จัดงาน หรือ Organizer ผู้ประกอบการสถานที่จัดงานหรือ Venue Operator ผู้ให้บริการที่พักหรือโรงแรม ผู้สร้างสรรค์ออกแบบและบริหารจัดโปรแกรมงานและการเดินทางหรือ Destination Management Company (DMC) และซัพพลายเออร์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ผู้ให้บริการอาหารและเครื่องดื่ม ผู้ให้บริการขนส่ง ดังนั้นทีเส็บจึงมีภารกิจในการสนับสนุนช่วยเหลือกลุ่มผู้ประกอบการเหล่านี้ให้สามารถให้บริการการจัดงานหรือบริการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องได้อย่างราบรื่น โดยการสนับสนุนในภาพใหญ่มี 2 รูปแบบ คือ
การสนับสนุนในรูปตัวเงิน เพื่อให้ผู้ประกอบการรับจัดงานได้ใช้เป็นทุนสำหรับใช้จัดงาน โดยทีเส็บกำหนดหลักเกณฑ์ให้ผู้ประกอบการปฏิบัติ เพื่อให้ได้รับสิทธิ์เข้าถึงทุนการจัดงาน เช่น จำนวนผู้เข้าประชุมขั้นต่ำ 30-50 คน ใช้สถานที่จัดงานในจังหวัดอื่นที่ไม่ใช่จังหวดที่ตั้งองค์กรเจ้าของงาน จัดงานอย่างน้อย 1 วันเต็ม เป็นต้น
การสนับสนุนที่ไม่ใช่ตัวเงิน คือ ให้คำปรึกษาในการจัดงาน คำปรึกษาช่องทางการเข้าถึงทรัพยากรที่เกี่ยวข้องหรือจำเป็นสำหรับการจัดงาน เช่น แนะนำสถานที่จัดงานที่ได้มาตรฐานให้กับ organizer แนะนำชุมชนที่สามารถจัดกิจกรรมรองรับนักเดินทางไมซ์ให้กับ Destination Management Company (DMC) สนับสนุนอุปกรณ์บริหารจัดการการจัดงาน อาทิ platform การลงทะเบียน ของที่ระลึกเพื่อแจกให้กับผู้เข้าร่วมงาน
ทั้งนี้ทีเส็บยังมีหน้าที่ในการช่วยอำนวยความสะดวกลดขั้นตอนการทำงานให้กับผู้ประกอบการ โดยเฉพาะขั้นตอนที่เกี่ยวข้องกับกฏระเบียบของภาครัฐ เพื่อให้การให้บริการของผู้ประกอบการไร้รอยต่อมากที่สุด ซึ่งที่ผ่านมาถือเป็นอีกหนึ่งปัญหาสำคัญที่ทำให้การดำเนินการของผู้ประกอบการล่าช้าและไม่คล่องตัว เช่น อำนวยความสะดวกช่องทางการเข้าเมืองหรือ Immigration ให้กับแขกสำคัญระดับ VIP จากต่างประเทศ การนำเข้าสิ่งของผ่านศุลกากร หรือ customs เพื่อมาจัดแสดงในงานนิทรรศการ โดยการอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการในลักษณะนี้ ผู้ประกอบการสามารถศึกษาได้ที่ศูนย์ประสานงานเพื่ออำนวยความสะดวกอุตสาหกรรมไมซ์ หรือ https://miceoss.tceb.or.th
การเข้าไปช่วยยกระดับองค์ความรู้การจัดงาน เป็นอีกองค์ประกอบในความสำเร็จ ทีเส็บจึงเข้าไปสนับสนุนในเรื่องการอบรมการจัดงานแบบ Hybrid การอบรมการใช้ความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ ในการออกแบบงาน การอบรมการจัดงานอย่างยั่งยืน รวมทั้งการอบรมทดสอบมาตรฐานการปฏิบัติงาน ความเป็นมืออาชีพในการประกอบการให้กับผู้ประกอบการไทย เพื่อให้ได้การรับรองมาตรฐานการประกอบการ เช่น มาตรฐานสถานที่จัดงาน มาตรฐานการบริหารจัดการงานอย่างยั่งยืน ถือเป็นอีกหนึ่งความช่วยเหลือที่จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถให้กับผู้ประกอบการไทยสามารถแข่งขันระดับนานาชาติได้ เพราะมาตรฐานและความเป็นมืออาชีพของผู้ประกอบการเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ประเทศไทยมีความน่าเชื่อถือสามารถดึงงานมาจัดในประเทศได้
นอกจากนี้ทีเส็บยังสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับผู้ประกอบการ โดยการจัดงานจับคู่ธุรกิจให้กับผู้ประกอบการและลูกค้า เช่น จับคู่ธุรกิจระหว่างผู้จัดงานหรือ Organizer กับผู้ให้บริการเทคโนโลยีสำหรับการจัดงาน จัดกิจกรรมนำ Organizer เยี่ยมชมสถานที่จัดงานเพื่อเป็นตัวเลือกสำหรับใช้ที่เป็นสถานที่จัดงานในอนาคต จัดฝึกอบรมชุมชนท้องถิ่นผลิตสินค้าจากภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อเจาะตลาดไมซ์ การจัดทำแพลตฟอร์มออนไลน์รวบรวมข้อมูลผู้ให้บริการผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมไมซ์ เพื่อให้ลูกค้าที่ต้องการจัดงานหรือใช้บริการสืบค้นเพื่อการติดต่อทางธุรกิจในลำดับถัดไป
ทั้งหมดถือเป็นหน้าที่สำคัญที่ทีเส็บจะต้องเข้าไปช่วยสนับสนุนและเสริมความแข็งแกร่งให้กับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมไมซ์มีโอกาสในการแข่งขันระดับนานาชาติได้ ซึ่งช่วงที่ผ่านมา จิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) สสปน. กล่าวเสริมว่า หากมองถึงโครงการพิเศษ หรือแคมเปญที่ประสบความสำเร็จ ซึ่งทีเส็บเข้าไปช่วยให้ผู้ประกอบการรายย่อย หรือ SME เติบโตอย่างเห็นได้ชัด คือ
โครงการ MICE Winnovation ซึ่งประกอบไปด้วยการจัด MICE Techno Mart เวทีซื้อขายหรือจับคู่ธุรกิจระหว่าง organizer และผู้ให้บริการเทคโนโลยีสำหรับการจัดงานหรือ Tech entrepreneurs ถือเป็นโอกาสเปิดตลาดให้กับผู้ประกอบการสายเทครุ่นใหม่ หรือ Young Entrepreneurs ได้นำเสนอสินค้าและบริการให้กับผู้จัดงานหรือสถานที่จัดงาน เช่น แอพพลิเคชั่นการจองตั๋วเข้างาน เซนเซอร์ตรวจจับความหนาแน่นของผู้ร่วมงานในพื้นที่จัดงาน แพลตฟอร์มการลงทะเบียนออนไลน์ แอพพลิเคชั่นจองโปรแกรมท่องเที่ยวหลังจบงานประชุม เป็นต้น ซึ่งตลอดเวลา 3 ปีที่ดำเนินโครงการจับคู่ธุรกิจมาสามารถจับคู่ธุรกิจได้กว่า 500 คู่
“เพื่อสนับสนุนการซื้อขายระหว่างผู้ประกอบการหน้าใหม่สายเทคและผู้จัดงานและสถานที่จัดงาน ทีเส็บได้จัดทำ Inno-Voucher สนับสนุนเงินทุนเบื้องต้นให้กับผู้จัดงานและสถานที่จัดงานสำหรับใช้จัดซื้อจัดหาสินค้าและบริการของผู้ประกอบการสายเทค ที่สำคัญคือสนับสนุนให้ผู้ประกอบการสายเทคจับมือกับ organizer ทำข้อเสนอโครงการจัดงานที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการจัดงานหรือการบริหารการจัดงาน เพื่อข้อรับทุนสนับสนุน โดย ณ ปัจจุบัน ได้สนับสนุนไปแล้ว 78 งาน มูลค่าการสนับสนุนในภาพรวม 19.5 ล้านบาท”
อีกแคมเปญที่ถือว่าประสบความสำเร็จ คือ โครงการประชุมเมืองไทย เร่งสร้างเศรษฐกิจไทย เพื่อส่งเสริมสนับสนุนให้หน่วยงานภาครัฐ องค์กรเอกชน สมาคมภาคประชาสังคมและการศึกษา จัดประชุมสัมมนา อบรมนอกสถานที่ โดยทีเส็บให้เงินสนับสนุนภายใต้หลักเกณฑ์ที่กำหนด เพื่อกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ เกิดการว่าจ้างงาน เพราะการจัดประชุมต้องมีค่าใช้จ่ายในการจัดงาน สร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการในสายผู้รับจัดงาน สถานที่จัดประชุม สถานที่พัก บริการขนส่ง บริการอาหารและเครื่องดื่ม เป็นต้น
“ตั้งแต่เดือนเมษายนจนถึงวันที่ 18 สิงหาคมที่ผ่านมา เรามีการอนุมัติเงินสนับสนุนให้กับการประชุมทั่วประเทศทั้ง 4 ภาคไปแล้ว 622 งาน มีผู้เดินทางเข้าร่วมงานรวมทั้งหมด 19,004 คน ซึ่งจากการศึกษาเก็บสถิตพบว่า การสนับสนุนภายใต้แคมเปญนี้สร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจเป็นมูลค่า 66 ล้านบาท ซึ่งหมายถึงเม็ดเงินที่กระจายไปในระบบห่วงโช่ผู้ประกอบการในส่วนต่างๆ”
สำหรับปีนี้ทีเส็บเดินหน้าต่อยอดโครงการ MICE Winnovation จัดเวทีซื้อขาย MICE Techno Mart เพื่อส่งเสริมธุรกิจของผู้ประกอบการสายเทคโนโลยีต่อไปเพื่อให้มีโอกาสเจาะตลาดอุตสาหกรรมไมซ์ มีลูกค้าเป็น organizer และหรือสถานที่จัดงาน เพราะจนถึงปัจจุบันนี้ ทีเส็บสามารถรวบรวมผู้ประกอบการสายเทคโนโลยีไว้ในระบบที่เรียกว่า MICE Innovation Catalog https://innocatalog.tceb.or.th/ ทั้งหมด 84 ราย และมีกลุ่มผู้ซื้อหรือผู้สนใจเข้าไปใช้งานสืบค้นสินค้าบริการของผู้ประกอบการสายเทคแล้วกว่า 1 หมื่น 3 พันราย สร้างการรับรู้ได้เกือบ 7 หมื่นเพจวิว จากตัวเลขที่สูงเช่นนี้ ทีเส็บจะดำเนินโครงการนี้ต่อไป
โดยผู้ประกอบการในกลุ่ม organizer ที่รับงานจัดประชุมสามารถติตต่อขอรับการสนับสนุนเงินทุนจากทีเส็บภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด ผ่านระบบออนไลน์บนหน้าเวบไซต์ https://rfs.businesseventsthailand.com/ รวมถึงสามารถขอคำปรึกษาในการวางแผนการจัดงาน การติดต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในภาครัฐ การเข้าถึงข้อมูลแหล่งติดต่อผู้ให้บริการด้านอื่นๆ ที่ผู้จัดงานต้องการเจรจาซื้อขายเพื่อใช้ในการทำงาน และเพื่ออำนวยความสะดวกในการจัดงาน ทีเส็บยังมีตัวช่วยอื่นๆที่เป็นช่องทางในการขอความช่วยเหลือ คือ
Thai MICE Connect ผ่านเว็บไซต์ https://www.thaimiceconnect.com/ เว็บไซต์ของทีเส็บที่รวบรวมฐานข้อมูล สินค้า และบริการในทุกรูปแบบที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมไมซ์อย่างครบครันทั้งหมด 12 หมวดสินค้าของผู้ประกอบการร่วม 1 หมื่นราย พันราย เช่น สถานที่จัดงาน organizer ที่พัก บริการอาหารและเครื่องดื่ม วิทยากร การแสดง โลจิสติกส์ เป็นต้น และพัฒนาเป็น Marketplace ของอุตสาหกรรมไมซ์ครั้งแรกในไทย เชื่อมโยงผู้ซื้อและผู้ขายให้สามารถเข้าถึงข้อมูลและติดต่อธุรกิจได้ตรงตามความต้องการ สะดวกทุกที่ทุกเวลา และยังจัดเก็บข้อมูลสารสนเทศตลอด ทั้งห่วงโซ่อุปสงค์และอุปทานไมซ์เพื่อเป็นฐานข้อมูลไมซ์แห่งชาติ ซึ่งการเข้าใช้งานในพื้นที่ส่วนนี้ ทีเส็บไม่คิดค่าบริการใดๆ
BizConnect บริการ Event Management Platform เป็น application solution สำหรับการบริหารจัดการงาน เช่น การลงทะเบียนออนไลน์ เพื่อให้ organizer นำไปใช้งาน โดยทีเส็บไม่คิดมูลค่า สามารถสมัครใช้และดาวน์โหลดได้ที่ https://intelligence.businesseventsthailand.com/en/page/mice-business
นอกเหนือจากนี้ ทีเส็บมีทุนสนับสนุนการจัดงานที่ใช้เทคโนโลยีหรือนวัตกรรมในการจัดงาน โดยกำหนดให้ผู้ให้บริการสายเทคหรือ Tech Entrepreneur จับคู่กับ Organizer ทำข้อเสนอโครงการจัดงาน และทำรายงานให้เห็นผลของการใช้เทคโนโลยีหรือนวัตกรรมในการจัดงานเพื่อจะได้รับอนุมัติได้รับทุนสนับสนุน รายละเอียดติดตามได้ที่ https://innocatalog.tceb.or.th/
“ประเทศไทยถือเป็นจุดหมายระดับแนวหน้าประเทศหนึ่งในเอเชียสำหรับการจัดงานประชุม งานแสดงสินค้า เทศกาลนานาชาติ ที่ได้รับความไว้วางใจจากตลาดต่างประเทศ รวมถึงได้รับการจัดอันดับเป็นจุดหมายระดับต้นๆ ของวงการเดินทางระหว่างประเทศ ล่าสุด เราได้รับการจัดอันดับจากสื่อไมซ์ต่างประเทศ M&C Asia ให้เป็นจุดหมายอันดับหนึ่งของเอเชียสำหรับการจัดงานประชุมองค์กรและการเดินทางเพื่อเป็นรางวัล และไทยกำลังจะเป็นเจ้าภาพจัดงาน ICCA Annual Congress ซึ่งเป็นการประชุมของบุคลากรมืออาชีพด้านการประชุมนานาชาติจากทั่วโลกในเดือนพฤศจิกายนนี้ ดังนั้นในภาพรวม ถือว่าประเทศไทยมีแบรนด์ที่แข็งแรงน่าเชื่อถือ ผู้ประกอบการไทยสามารถนำมาต่อยอด โดยเฉพาะการใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการจัดงานให้มีเอกลักษณ์ที่สร้างจากพื้นฐานวัฒนธรรมไทยหรือวิถีชีวิตชุมชน เพราะปัจจุบันนักเดินทางไมซ์มักเสาะแสวงหาประสบการณ์เชิงท้องถิ่นหรือ Localised Experience เพื่อให้เข้าถึงประเทศที่ตนมาร่วมงานในเชิงลึกได้มากขึ้นเพราะถือเป็นคุณค่าอย่างหนึ่งของการลงทุนเดินทางมาร่วมงานหรือจัดงาน เรามีต้นทุนวิถีวัฒนธรรมที่เป็น Soft Power ในระดับสากลหลายรายการ เช่น มวยไทย อาหารไทย นวดแผนโบราณของไทย สิ่งเหล่านี้มีศักยภาพนำไปต่อยอดได้อีกมาก”
จิรุตถ์ ให้คำแนะนำถึงทิศทางความต้องการของตลาดหรือลูกค้าในการจัดงานในอนาคตไว้น่าสนใจว่า ต้องคำนึงถึงเรื่องต่างๆดังนี้
ต้องจัดงานอย่างยั่งยืนที่วัดผลได้ เช่น การลดการปล่อยปริมาณคาร์บอนจากการจัดงาน การจัดซื้อวัสดุหรือวัตถุดิบจากผู้ประกอบการในพื้นที่จัดงาน หรือ local sourcing การจัดจ้างงานจากคนในพื้นที่จัดงานหรือชุมชนท้องถิ่น การบริหารจัดการเศษอาหารที่เหลือจากการบริโภคในการร่วมงาน
ต้องใช้เทคโนโลยีหรือนวัตกรรม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลให้กับการจัดงาน เช่น ซอฟท์แวร์หรือแอพพลิเคชั่นต่างๆ สำหรับการจองตั๋ว การคำนวณจำนวนคนเข้าออกจากงานเพื่อบริหารความหนาแน่นของพื้นที่
ต้องก้าวทันพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปของลูกค้า เช่น ลูกค้าต้องการแสวงหาประสบการณ์ใหม่ๆ ในการเดินทางไปร่วมงาน โดยเฉพาะการเข้าถึงวิถีท้องถิ่นของสถานที่จัดงาน การได้เข้าร่วมกิจกรรมที่ออกแบบเชิง exclusive หรือรองรับเฉพาะกลุ่ม การได้ร่วมกิจกรรมที่แสดงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
ความท้าทายของทีเส็บ ในยุค Post Covid คือการผลักดันประเทศไทยเป็น High Value Destination ของวงการอุตสาหกรรมไมซ์ระหว่างประเทศ โดย ป็นประเทศที่สร้างโอกาสและมูลค่าทางธุรกิจให้กับผู้จัดงานและผู้ร่วมงาน โดยเฉพาะในช่วงที่ประเทศไทยกำลังผลักดันให้มีการลงทุนใน 12 อุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ในพื้นที่อีอีซี ทีเส็บจึงต้องพยายามให้การจัดงานประชุม งานแสดงสินค้าเป็นเวทีช่วยดึงการลงทุนในอุตสาหกรรมแขนงนี้ให้กับประเทศไทย ครอบคลุมไปถึงการผลักดันให้การจัดงานในประเทศไทยสามารถวัดผลกระทบเชิงสังคม (social impact) ที่คำนวณเป็นมูลค่าที่จับต้องได้จริง นอกเหนือจากการวัดผลกระทบเชิงเศรษฐกิจ (economic impact) ในแง่รายได้ การสร้างงานแต่เพียงอย่างเดียว