Mr.Leaf Thailand ผลิตภัณฑ์ BCG นำใบไม้มาใช้เป็นวัสดุทดแทนหนังสัตว์

Mr.Leaf วัสดุทดแทนหนังสัตว์

สินค้าตอบโจทย์กระแส BCG Economy ที่กำลังมาแรง “ใบตองตึง” เป็นพืชท้องถิ่นของภาคเหนือที่ชาวบ้านใช้ประโยชน์ในรูปแบบภูมิปัญญาชาวบ้านมานับร้อยปี ไม่ว่าจะเป็นการนำมาใช้ถนอมอาหาร หรือนำมาใช้เป็นวัสดุมุงหลังคา แต่ในความคิดของคุณปรเมศร์ สายอุปราช เขาเห็นคุณค่าที่ซ่อนอยู่มากกว่านั้น… 

คุณปรเมศร์ได้ร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ชาวญี่ปุ่น เพื่อค้นหานวัตกรรมการผลิตสมัยใหม่และนำมาต่อยอดจากภูมิปัญญาดั้งเดิมของชาวบ้านจนกลายเป็น “Mr. Leaf” วัสดุทดแทนหนังสัตว์จากใบไม้ ด้วยการนำใบตองตึงมาเคลือบยางพารานาโน จนกลายเป็นวัสดุธรรมชาติชนิดใหม่ที่มีความทนทานไม่แพ้กัน การแจ้งเกิดของ Mr.Leaf ที่ผสมผสานคุณค่าทั้งเรื่องราวด้านวัฒนธรรม ด้านภูมิปัญญาทางกสิกรรมของไทย รวมถึงด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งเรียกว่าเกิดมาก่อน เทรนด์ธุรกิจสมัยใหม่อย่าง BCG Economy Model จะเป็นที่นิยมจึงถือเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจ ที่ผู้ประกอบการทุกคนสามารถศึกษาและถอดบทเรียนได้

 

SME ONE : จุดเริ่มต้นของ Mr.Leaf มีที่มาที่ไปอย่างไร

ปรเมศร์ : อาชีพเก่าผมคือเป็นครูสอนหนังสือ ผมอยากทำธุรกิจแต่ไม่มีความรู้เกี่ยวกับการทำธุรกิจ จนวันหนึ่งได้ไปเจอเพื่อนชาวญี่ปุ่นที่สอนหนังสือก็คุยว่าเราอยากทำธุรกิจแต่ไม่มีความรู้จะต้องเริ่มต้นอย่างไร ก็พยายามคุยกับหลาย ๆ เรื่องเกี่ยวกับการทำธุรกิจ จนมาจับคีย์เวิร์ดสำคัญที่เพื่อนชาวญี่ปุ่นบอกว่า ประเทศญี่ปุ่นซึ่งเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีของโลก ถ้าสินค้าไหนไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม และมี Value กับทุกคนไม่ใช่แค่คนบางคน จะเป็นสินค้าที่ขายดีในอนาคต 

ในที่สุดก็ตกผลึกว่าวัสดุที่เหลือใช้บ้านเรามีเยอะ ก็เลยเอาพวกวัสดุไฟเบอร์ เส้นใย ไม่ว่าจะเป็นฟางข้าว ใบไม้ ฯลฯ ลองเอาทุกอย่างมาทำเป็นกระดาษ เป็นเส้นใย จากนั้นก็พัฒนามาเรื่อย ๆ ลองผิดลองถูกกัน จนได้วัสดุที่นิ่มขึ้นและทนทานอย่างใบตองตึงที่คนเหนือนิยมใช้ห่อข้าว ห่ออาหาร รวมถึงมุงหลังคามาพัฒนา 

พอทำ ๆ ไปผลตอบรับก็ดี หลังจากนั้นก็เข้าเป็นสมาชิกของ สสว. เขาจะมีโครงการ มีหลักสูตรให้เราเรียนรู้มากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการบริหารจัดการ เรื่องการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ แล้วก็พัฒนามาเรื่อย ๆ ทำไปพัฒนาไปก็รู้สึกว่าผลตอบรับดี

จริง ๆ Mr.Leaf เริ่มต้นจากเป็นบริษัทที่พัฒนาวัสดุเหลือใช้จากกสิกรรมทั้งหมดของประเทศไทยที่สร้างปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมในการเผา หรือทำลาย ซึ่งเราเห็นว่าตรงนี้มันไม่ใช่แค่ปัญหาของเราคนเดียว ไม่ใช่แค่ปัญหาของเกษตรกร แต่เป็นปัญหาของประเทศเลยพยายามหาวิธีสร้างมูลค่าของวัสดุเหลือใช้ตรงนี้ โดยการเอามาทำให้มีเสน่ห์ในเรื่องของรูปลักษณ์ และเป็นการสร้างคุณค่าของวัสดุเดิมผ่านนวัตกรรม

 

SME ONE : จากวันที่เริ่มต้นเป็นแค่ความคิดในอากาศ จนกระทั่งมีสินค้าชิ้นแรกออกมาต้องใช้เวลานานแค่ไหน

ปรเมศร์ : แรกๆ เราคีย์เวิร์ดตัวเองว่าเราไม่ได้เป็น Product Design เราเป็น Material Design เราเน้นพัฒนาวัสดุทดแทน ไม่ว่าจะเป็นทดแทนหนัง ทดแทนผ้า เอาของที่เหลือใช้มาทำอะไรแบบนี้ แต่สินค้าช่วงแรก ๆ ก็แตกกรอบ คนที่ทำงานพวกนี้ก็น่าจะรู้ว่า การทำสินค้าพวกนี้ต่อสู้กับธรรมชาติ และบางอย่างก็เหนือการควบคุม

ตอนแรกเรายังไม่ได้ทำเป็นกระเป๋า เพราะเรารู้ว่าวัสดุที่เราทำมันยังไม่แข็งแรงพอ เราก็ขายเป็นวัสดุก่อน เพื่อเอาไปทำกล่อง ทำโคมไฟ พอเราได้ข้อเสนอแนะจากลูกค้าว่ามันมีปัญหาตรงนั้นตรงนี้ เราก็พยายามไปอุดรอยรั่วของปัญหา ระยะเวลาที่เราทำตั้งแต่ Kickoff จนเป็นสินค้าของเราเองก็ใช้เวลา 3-5 ปี กว่าที่ลูกค้าจะยอมซื้อเราแบบต่อเนื่อง ก่อนหน้านี้ก็ซื้อมาขายไป แต่ก็ยังไม่มีทิศทางเท่าไหร่ 

 

SME ONE : ช่วงที่เปลี่ยนจากทำวัสดุมาเป็นสินค้า ตอนนั้นคิดไปไกลขนาดไหน

ปรเมศร์ : ช่วงรอยต่อตรงนั้นเป็นยุคกลางแล้ว ช่วงที่เราเข้ามายุคนั้นยังไม่มีคำว่า BCG (Bio-Circular-Green) อะไรสักอย่าง เนื่องจากผมทำแล้วส่งไปที่ยุโรป และอเมริกาเยอะ เรียกว่าพื้นที่ไหนมีปัญหาสิ่งแวดล้อม โอกาสของธุรกิจเราก็จะเกิด เพราะจะมีกลุ่มพวกต่อต้านการฆ่าสัตว์ ต่อต้านการใช้หนังจากสัตว์อะไรพวกนี้ที่ทำให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม คนจะมองหาวัสดุทดแทนใหม่ ๆ 

เราพยายามพัฒนาวัสดุที่เรามีอยู่ตามคุณสมบัติที่ลูกค้าอยากได้ เราทำมาทดสอบเรื่องแรงดึง แรงเฉือน เรื่องกันน้ำ เราเอาวัสดุเราไปทดสอบให้มีความใกล้เคียงที่สุดกับวัสดุที่ใช้ทดแทนผ้า ก็เลยทำนวัตกรรมขึ้นมา ทำให้เกิดความแข็งแรง ทนทาน เพราะทำให้พาร์ทเนอร์ซื้อเอาไปใช้ หรือขายเขาต้องรู้สึกมั่นใจที่จะเดินต่อไปกับเรา เราก็เลยใช้นวัตกรรมนำเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ด้วยการพัฒนาการผลิตวัสดุเคลือบด้วยนวัตกรรมน้ำยางพารานาโน จนเป็นวัสดุทดแทนหนังสัตว์ทำให้แก้ปัญหาการใช้หนังสัตว์ได้ จากที่เน้นขายวัสดุอย่างเดียวก็เริ่มพัฒนางานออกแบบจนเป็นสินค้าต้นแบบ (Prototype) ได้ในที่สุด

 

SME ONE : ในส่วนงานดีไซน์คุณปรเมศร์ทำเองทุกอย่างเลยหรือไม่

ปรเมศร์ : เราทำงานร่วมกับญี่ปุ่นก็ต้องทำเป็นทีมอยู่แล้ว ผมเน้นทำงานเป็นทีม เพราะฉะนั้นผมจะมีทีมที่คิดเรื่องการวิจัยวัสดุ ส่วนทีมดีไซน์ตัว Product ก็มีหน่วยงานรัฐไม่ว่าจะเป็นกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์, สสว. มาให้คำปรึกษา หน่วยงานไหนที่เขามีอบรมประชุมเกี่ยวกับเรื่องการออกแบบดีไซน์ เราก็ไปเรียน เราก็จะได้หลายความรู้ที่แต่ละองค์กรให้เรามา 

ส่วนที่ 2 End user คือลูกค้าเราที่เขาจะรู้ดีว่าสินค้าที่เราทำไป มันเหมาะกับกลุ่มไหนของเขา เขาก็จะดีไซน์งานมาให้เรา แต่สินค้าที่เพื่อนญี่ปุ่นแนะนำในช่วงแรก คือ Tote Bag แต่เราก็ให้ความสำคัญเรื่องของวัสดุนำดีไซน์มากกว่า 

 

SME ONE : วันที่ Mr.Leaf ทำกระเป๋าเพื่อสิ่งแวดล้อม ตอนนั้นเทรนด์สินค้าเพื่อสิ่งแวดล้อมเป็นกระแสหรือยัง 

ปรเมศร์ : ถ้าในต่างประเทศเทรนด์สิ่งแวดล้อมมีมาได้ 10-15 ปีแล้ว แต่ตอนนั้นในเมืองไทยยังไม่มา ในต่างประเทศประชาชนสนใจเรื่องปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมเยอะ เพราะเขามองว่าเป็นเรื่องใกล้ตัวของเขา เนื่องจากภูมิอากาศภูมิประเทศเขามันเสี่ยงทำให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม แต่ของเราไทยเราตื่นมายังมีข้าว มีนาสีเชียวอยู่ ยังมีวัตถุดิบเต็มบ้านเต็มเมือง อยากกินอะไรก็ไปตลาด หรืออยากซื้ออะไรก็ซื้อ เลยอาจจะยังไม่ตื่นตัวเท่าไร

แต่พอช่วงหลังมาด้วยกลไกการตลาดที่กดดันให้ผู้ประกอบการต้องช่วยปกป้องธรรมชาติ ต้องให้ความสำคัญ ทีนี้ทางผู้ประกอบการไทยบางคนที่ไหวก็ทำไปก่อน บางผู้ประกอบการยังไม่ได้ปรับตัวก็รอทางภาครัฐ หรือหน่วยงานมาช่วยเหลือ ก็ขึ้นอยู่กับศักยภาพของแต่ละผู้ประกอบการ แต่ Mr.Leaf ของผมทำมาเกือบ 20 ปีแล้ว สินค้าเราปัจจุบันส่งไปขาย 17 ประเทศ จนเราได้รางวัลรางวัลผู้ประกอบธุรกิจส่งออกดีเด่น ประจำปี 2560 Best OTOP

 

SME ONE : ตอนนี้คนไทยเริ่มใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น แต่พอเจอราคาที่แพงกว่าเข้าไปก็ถอย เรื่องนี้มองอย่างไร

ปรเมศร์ : ผมขายกระเป๋า Tote Bag หรืออะไรแบบนี้ที่ญี่ปุ่น ราคาที่เป็น Best Seller ก็คือราคาของกระเป๋าผู้ชายที่ซื้อได้ง่าย ๆ ก็ 2,800-3,500 บาท ถ้า 10,000 เยนก็ประมาณ 3,000 กว่าบาท แต่ส่วนมากคนจะขายประมาณ 8,000 เยน 6,000 เยนก็เป็นราคา Best Seller ราคาก็ถือว่าค่อนข้างสูง แต่ถ้าเทียบเหมือนกะเพราไข่ดาวบ้านเรา 80 บาท ที่นู่น 150 บาท ก็เป็นราคา Standard ตามค่าครองชีพของเขา

ถ้าเป็นคนไทยผมก็พยายามอธิบายว่า สินค้าของผม 95% ส่งไปต่างประเทศ ถ้าเมืองไทยก็ขายตามงานอีเว้นท์ หรือผมมี Shop Studio ของผมที่เชียงใหม่ ลูกค้าที่เคยใช้ของเราก็จะซื้อซ้ำเยอะ แต่ถ้าลูกค้าใหม่ที่เข้ามาร้านก็ต้องดูคาแรคเตอร์ของผู้ซื้อด้วย ลูกค้าบางคนก็อยากจะคุยกับเราเรื่องแนวคิด วิธีทำ หรืออนาคตเรื่อง BCG แต่บางคนที่เขาสายกรีนอยู่แล้ว ก็อยู่ที่เราจะนำเสนอว่า สินค้าเรามีคุณค่าสำหรับเขาหรือไม่ มันไม่เกี่ยวว่าเราจะตั้งราคาถูกหรือแพง 

ถ้าเราทำสินค้าเราให้มี Value Trust กับคนที่จะซื้อ มันง่ายมาก เพียงแต่ว่าเราต้องลดค่าใช้จ่ายให้มากที่สุดในเรื่องของต้นทุน เพราะผู้ประกอบการไทยบางท่านมองว่าทำสินค้าเศษวัสดุแต่ขายแพงจัง ถ้าซื้อกระเป๋าผ้าทั่วไทยใบละ 550 บาท แต่นี่ 1,200 บาท เราก็ต้องอธิบายให้ความรู้ไป

 

SME ONE : ปัจจุบันสัดส่วนการขายระหว่างสินค้า Material กับสินค้าที่เป็น Product เป็นอย่างไร

ปรเมศร์ : ส่วนธุรกิจ Material เราขายเป็น Project ในรูปแบบพาร์ทเนอร์แบรนด์ Mr.Leaf เช่น Mr.Leaf China, Mr.Leaf Korea, Mr.Leaf Japan เราจะขายวัตถุดิบให้บางส่วนที่เขาต้องการไปซัพพอร์ตลูกค้า ส่วนในประเทศไทยเรามีขายให้หน่วยงาน เช่น งานประชุมเอเปค รัฐบาลก็สั่งสินค้าเราให้ผู้นำประเทศ รวมถึงหลายหน่วยงานที่ทำ CSR ด้านสิ่งแวดล้อมก็จะสั่งของสินค้าเราในส่วนของ Product เราทำทั้ง Co-brand และแบรนด์ Mr.Leaf เพราะแบรนด์ในยุโรปหรือในต่างประเทศมันมี Value สำหรับเขา 

 

SME ONE : ช่วงเริ่มต้นธุรกิจ Mr.Leaf เจอปัญหาอะไรบ้างในการทำงาน แล้วแก้ปัญหาอย่างไร

ปรเมศร์ : แรก ๆ เราเจอเรื่องคุณภาพของวัสดุ เช่น ลูกค้าบอกว่าใช้แล้วชอบมาก แต่มันปริมันแตก เสียดายจังวัสดุสวยมาก แต่ตรงนี้มันแตกนิดนึง เราก็อธิบายลูกค้าว่ามันไม่มีจักรสำหรับเย็บใบไม้โดยตรง เราก็ขอบคุณที่ช่วยแสดงความคิดเห็น แล้วเราก็พยายามหาวิธีแก้ไข เราก็พูดตรง ๆ กับลูกค้า ลูกค้าบางคนก็แนะนำว่าเราควรจะทำอะไร มันก็จะเป็นจิ๊กซอว์ต่อให้เราพัฒนาปรับปรุงสินค้าให้คุณภาพสูงขึ้น แต่อันดับแรกสมองเราต้องเปิดรับก่อน ต้องยอมรับสิ่งที่ลูกค้าคอมเพลน ถ้าเขาไม่คอมเพลนเลย คือน่ากลัวมาก เพราะเขาไม่อยากติดต่อกับเรา แล้วเราก็จะไม่รู้ปัญหา

ส่วนการปรับปรุงแก้ไข อันดับแรก เราก็ต้องมาดูว่ามันเกิดจากอะไร เกิดจากฝีเข็ม เราใช้จักรฝีเข็ม เราต้องใส่เข็มเบอร์ใหญ่กว่านี้ วัสดุของ Mr.Leaf มันเป็น Leaf Leather เราก็ต้องมาปรับโรตารีจักร ช่วงแรก ๆ เราต้องปรับปรุงเรื่องวัสดุเป็นหลัก ส่วนเรื่องดีไซน์ถ้าสินค้าตัวไหนมีปัญหาก็หาวัสดุใหม่ ๆ มามิกซ์กับมัน 

 

SME ONE : ที่ผ่านมา Mr.Leaf เคยเข้าไปขอคำปรึกษาจากหน่วยงานภาครัฐบ้างหรือไม่

ปรเมศร์ : เยอะมาก เพราะเรารู้สึกว่าเราเป็นคนสมองเปิดด้วย ช่วงแรก ๆ ปีพ.ศ. 2547 - 2548 เราเข้าโครงการ OTOP ซึ่งมันเป็นช่วง OTOP ตอนต้น ๆ  มีอะไรก็ขายได้หมด พอขยับมาถึง OTOP ยุคกลางก็เป็น OTOP ที่ทุกคนจะต้องพัฒนาในเรื่องของ Packaging เรื่องของงานดีไซน์  ถ้าเทียบโครงการ OTOP ก็ถือเป็นต้นน้ำ แต่ถ้าโครงการที่ผมเข้าแล้วได้ผลที่สุด คือ ช่วงกลางน้ำก็เป็นของกระทรวงอุตสาหกรรมที่ช่วยพัฒนาเรื่องระบบการจัดการ เรื่องของโครงสร้าง แล้วก็มีโครงการของกระทรวงพาณิชย์เพื่อมาหาตลาดใหม่ ๆ ช่วงหลังมาผมก็อยู่กับกระทรวงพาณิชย์เยอะขึ้น เพราะว่าเขาจะเอาการตลาดนำการผลิต ผมก็จะเน้นการตลาดนำ แล้วก็ยังมีโครงการของ สสว. ผมก็เข้าร่วมเยอะผมเข้าไปขอคำปรึกษาเรื่องดีไซน์ แล้วก็การพัฒนาที่เน้นเรื่องของระบบการจัดการ เน้นในเรื่องของการพัฒนาเรื่องงานดีไซน์

 

SME ONE : ยอดขายในปัจจุบันเป็นอย่างไร

ปรเมศร์ : ยอดขายตอนนี้ยังไม่เท่าช่วงก่อน COVID-19 แต่ก็ถือว่ากำลังขึ้นมา แต่ช่วง COVID-19 ก็ยังพอขายได้ เพราะว่าต่างประเทศส่วนใหญ่ก็จะขายออนไลน์กัน พอหลัง COVID-19 ปี 2565 ยอดเราก็เริ่มกลับมา ทุกคนฟื้นตัว ตลาดต่างประเทศต้องใช้เวลาคุยนาน จะขายปีหน้าคุยปีนี้อะไรแบบนี้ มันต้องวางแผนกันข้ามปี เพราะฉะนั้นยอดก็จะขึ้นมาจาก 3% เป็น 5% อย่างปีนี้ก็เพิ่มขึ้นมาเป็น 10% แต่ก็ยังไม่เท่าช่วงก่อนจะเกิด COVID-19  

 

SME ONE : ช่วง COVID-19 Mr.Leaf มีวิธีประคองธุรกิจอย่างไร

ปรเมศร์ : ช่วงนั้นตอนแรกทุกคนก็คงเจอเหมือนกันหมด หลังจากนั้นเราก็เริ่มติดต่อสอบถามลูกค้าว่าเป็นอย่างไร แต่โชคดีที่ต่างประเทศส่วนมากเน้นขายออนไลน์เยอะ และออก Exhibition บ้าง ผมใช้วิธีใช้กลยุทธ์ลดค่าขนส่งให้ลูกค้า 30% สมมติลูกค้าซื้อ 100,000 บาท ผมก็จะช่วยค่าขนส่ง 30% เพราะช่วงนั้น COVID-19 ค่าขนส่งมันแพงมาก แต่เราก็ไม่อยากจะเสียลูกค้าไป เขาก็ไม่อยากจะเสียลูกค้าปลายทางเขา เราก็เลยหากลยุทธ์ หาทางออกร่วมกัน ผมจะนิยมสอบถามลูกค้าเป็นคำถามแบบปลายเปิดว่า มีอะไรให้เราช่วยได้บ้างหรือไม่ ช่วงนั้นพาร์ทเนอร์บางประเทศเราก็ขอโทษด้วยนะเราทำต่อไม่ได้จริง ๆ ช่วงนี้ เอาไว้หลัง COVID-19 เรามาคุยกันใหม่ 

ทางลูกค้าก็เข้าใจและก็ชัดเจน ฉันยังรักและศรัทธาสินค้าคุณอยู่ อะไรประมาณนี้ เขาก็จะพยายามติดต่อกับเรา หลัง COVID-19 ลูกค้าหลายประเทศ เช่น สาธารณรัฐเช็คก็เริ่มกลับมา แล้วก็มีทำโครงการ One Country, One Brand กับแต่ละประเทศด้วย 

แนวคิดของ One Country, One Brand ก็คือ การทำสัญญาเรื่องการบริหารจัดการในแต่ละพื้นที่นั้น ๆ เช่นใช้แบรนด์ Mr.Leaf Canada หรือที่จีนก็ Mr.Leaf China มี 4 สาขาที่จีน ผมก็เอาสินค้าไทยไปขายจีน เอากระเป๋าไปขายด้วย ตลาดที่เมืองจีนจะเป็นลูกค้ากลางกับบนเยอะมาก คนจีนชอบอยู่แล้ว เราก็พยายามเข้าหาลูกค้าที่ชอบธรรมชาติ เพราะสุดท้ายแล้วมนุษย์ก็หนีธรรมชาติไม่พ้น ไม่ว่าจะการกินการใช้การอยู่ เพียงแต่คาแรคเตอร์ของ Product จะต้องชัดเจนกับผู้บริโภคในแต่ละประเทศ

 

SME ONE : มีแผนจะต่อยอดธุรกิจต่อไปอย่างไร

ปรเมศร์ : ตอนนี้ที่เราทำอยู่ที่เชียงใหม่ เราทำโครงการนำร่อง BCG ของกระทรวงพาณิชย์ เราอยากสร้าง Community ที่เกี่ยวข้องกับ BCG จริง ๆ ที่เชียงใหม่ผมก็จะมีห้องประชุม 2 ห้อง มีหน่วยงานราชการเข้ามาดูงานเยอะ เขาก็จะแวะมาดู BCG ของ Mr.Leaf ว่า Key Success คืออะไร แล้วเราสามารถซัพพอร์ตเพื่อนรอบข้าง หรือ ผู้ประกอบการเราด้วยวิธีไหน เพื่อทำให้มันเกิดสินค้าอนาคต 

เขาไม่ได้จู่ ๆ จะเข้ามาซื้อของเราทันที การทำ BCG เราต้องตอบคำถามให้ได้ว่า ใครมีส่วนได้ส่วนเสีย คุณแน่ใจเหรอว่าคุณทำแล้วมันทำให้ชุมชน หรือสังคมที่คุณอยู่มันดีขึ้นจริง ส่วน Next Step ที่มองไปอีก 2-3 ปี เราจะเป็น Supply Chain Material ให้พาร์ทเนอร์เป็นหลัก แต่ต้องมีเรื่องของสิ่งแวดล้อมเป็นตัวตั้ง 

ความท้าทายของเราต่อจากนี้ไปคือ เราอยากให้เกิด Dynamic เกี่ยวกับ BCG ที่เป็นเชิงพาณิชย์จริง ๆ ที่ไม่ใช่ตามกระแส พอมีข่าวทีก็ทำที แต่เราอยากให้มีกลุ่มก้อนที่เป็น Commercial จริงๆ เกี่ยวกับ BCG ที่ปีกซ้ายคือผู้ประกอบการที่ทำเป็น Dynamic แล้วปีกขวาคือ Government ที่ซัพพอร์ต จะได้บินไปได้ไว ๆ

ผมก็พยายามทำให้มันเกิด กับเพื่อน ๆ ผม ให้เขาเอาของมาวาง ๆ กัน เป็น BCG1, BCG2 ทำเป็นแบบ 1 BCG 1 จังหวัด 1 Product ผมก็ทำของผมเอง คุณทำสินค้า BCG ที่อยู่เชียงรายก็เอามาวางขายที่นี่ได้ แต่ทุกคนต้องมีเป้าหมายและโปรไฟล์ที่ชัดเจนว่าสินค้าที่อยู่ตรงนี้เป็นสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสิ่งแวดล้อมจริง ๆ จะเป็นสินค้าที่เกิดจากป้าคนหนึ่ง ลุงคนหนึ่ง พี่คนหนึ่ง น้องคนหนึ่งก็ได้ที่ตั้งใจทำจริง ๆ แต่ผมอยากให้เกิด Matching Business ที่เป็น BCG จริง ๆ

 

SME ONE : อยากให้คุณปรเมศร์ช่วยให้คำแนะนำกับผู้ประกอบการ MSME 

ปรเมศร์ : อยากฝากให้ผู้ประกอบการไทยให้ความสำคัญกับเรื่อง Positioning ที่ชัดเจน ว่าเราจะเป็นอะไร ผู้ประกอบการบางคนยังมองข้ามเรื่องนี้

 

บทสรุป

ความสำเร็จของ Mr.Leaf อยู่ที่ความชัดเจนตั้งแต่วันแรกที่อยากจะพัฒนาสินค้าที่ใช้วัสดุจากธรรมชาติ เพื่อมาทดแทนวัสดุเดิมที่ไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จนกลายเป็นวัสดุทดแทนหนังสัตว์ที่ทำจากใบไม้ ซึ่งถือเป็นสินค้าที่มีนวัตกรรม มีความคิดสร้างสรรค์ และช่วยแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมได้จริง ๆ  มาจนถึงยุคปัจจุบันที่ผู้บริโภคเรียกร้องให้ภาคธุรกิจเพิ่มความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น จนกลายเป็นกระแสธุรกิจ BCG Economy Model ก็ยิ่งทำให้ Mr.Leaf ได้รับการยอมรับมากขึ้น ในฐานะสินค้าต้นแบบของ BCG ที่พัฒนามาจากวัสดุเหลือใช้อย่างเศษใบไม้

บทความแนะนำ

สถาบันอาหาร ความปลอดภัยอาหาร (Food Safety)

NFI หน่วยงานทางด้านอาหารของชาติ ลมใต้ปีก MSME พาอาหารไทยไปตลาดโลก

ด้วยความที่ไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม แถมยังเป็นครัวของโลก ดังนั้นสัดส่วนผู้ประกอบการ  MSME ที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานอาหารจึงเป็นกลุ่มก้อนใหญ่ที่ใหญ่ที่สุดจากผู้ประกอบการ MSME มีอยู่กว่า 3 ล้ายราย “สถาบันอาหาร” จึงเป็นหน่วยงานสำคัญในการขับเคลื่อน MSME ในกลุ่มอาหารให้เติบโต ไม่เฉพาะในประเทศเท่านั้นแต่ยังก้าวไปไกลในตลาดโลกด้วย 

ดร.ศุภวรรณ ตีระรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร หรือ NFI (National Food Institute) กล่าวย้อนไปถึงจุดกำเนิดของ NFI ซึ่งอยู่ภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรมว่า เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2539 ในยุคที่รัฐบาลต้องการผลักดันอาหารไทยให้มีการส่งออก แต่ต้องเผชิญกับความท้าทายในด้านมาตรฐานการส่งออก จึงตั้ง NFI เพื่อดูแลคุณภาพมาตรฐานให้สามารถแข่งขันในเวทีโลกได้ 

  • ดูแลตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ

NFI มีแนวทางการส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอาหารตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ทั้งภาครัฐและเอกชน กล่าวคือ ผ่านการดำเนินโครงการร่วมกับภาคีเครือข่ายพันธมิตรภาครัฐ ทั้งหน่วยงานภายในกระทรวงอุตสาหกรรม รวมถึงหน่วยงานของรัฐภายนอกกระทรวง ซึ่งอยู่ในรูปงบเงินอุดหนุน การทำบันทึกความเข้าใจ (MOU) การยื่นข้อเสนอโครงการรับจ้างหน่วยงานภาครัฐ ภายใต้แผนงาน วัตถุประสงค์และกลุ่มเป้าหมายของโครงการสอดคล้องกับภารกิจและทิศทางการดำเนินงานของสถาบันฯ 

ในขณะที่ภาคเอกชนจะบริการให้คำปรึกษาแนะนำและให้บริการต่างๆ แก่ผู้ประกอบการเกี่ยวกับการจัดทำระบบคุณภาพที่เกี่ยวข้องกับการผลิตอาหาร เช่น การบริการที่ปรึกษาระบบ GMP (GHP), HACCP, HALAL, BRC, ISO 22000, ISO/IEC 17025 รวมถึงยังมีบริการทดสอบและตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ (Testing Laboratory) และการทดสอบความชำนาญทางห้องปฏิบัติการ (Proficiency Testing: PT) ซึ่งบริการดังกล่าวเน้นยกระดับด้านมาตรฐานการผลิต (Standard) และความปลอดภัยอาหาร (Food Safety) เป็นสำคัญ เรียกได้ว่าดูแลมาตรฐานทั้ง Food และ Nonfood

เมื่อได้ยินชื่อสถาบันอาหารหลายคนมักคิดว่าการเป็นสถาบัน น่าจะทำแต่งานวิจัย แต่ความจริงแล้ว เราหน้าที่เป็นหน่วยงานทางด้านอาหารของชาติหรือ National Food Agency ที่ดูแลและให้บริการแก่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ แต่ถ้าเทียบ 2 กลุ่มระหว่างภาครัฐและเอกชน จะพบว่าภาคธุรกิจ MSMEเป็นกลุ่มที่ NFI ให้บริการมากที่สุด ตามภาพรวมของอุตสาหกรรมอาหารกว่า 90% จะเป็น MSMEนั่นเอง

นอกจากให้บริการด้านคำปรึกษาและระบบมาตรฐาน คุณภาพความปลอดภัยด้านอาหารต่างๆ แล้ว NFI ยังเผยแพร่องค์ความรู้ และสนับสนุนขั้นตอนการแปรรูป จากภาคเกษตรกรรม ประมง และปศุสัตว์ โดยใช้นวัตกรรมออกมาเป็นบรรจุภัณฑ์ อำนวยความสะดวกในการขอใบอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ไปจนถึงหาตลาดช่องทางการจัดจำหน่าย 

ตั้งศูนย์นวัตกรรม Innovation Center เป็นโรงงานขนาดย่อมอยู่ในสถาบันอาหารทำหน้าที่เป็นโรงงานต้นแบบ (Pilot plant) ให้บริการกับผู้ประกอบการที่ต้องการผลิตและทดลองตลาด หรือต้องการทำ Product Line สามารถเข้ามาผลิตในปริมาณไม่เกิน 500 ชิ้นเพื่อนำไปทดลองตลาดได้ ให้บริการ Intelligence Cener ผ่านเว็บไซต์ nfi.or.th โดยรวบรวมข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับอาหาร นวัตกรรม การพัฒนาอาหาร การหาตลาด เทรนด์อาหาร รวมถึงกฎหมายและกฎระเบียบในการนำสินค้าเข้าไปจำหน่ายในแต่ละประเทศ ตลอดจนการฝึกอบรมและกิจกรรมWorkshop ผ่าน Academy เพื่อพัฒนาทักษะผู้ประกอบการตามหัวข้อต่างๆ เป็นประจำทุกสัปดาห์ 

ทั้งนี้ในปี 2566 NFI เข้าไปพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารแห่งอนาคตหรือ  Future Food ให้ผู้ประกอบการด้วยนวัตกรรมใหม่ๆ เกือบ 200 ผลิตภัณฑ์ , สร้างมาตรฐานรับรองโรงงาน 1,810 ราย จัด Academy/Workshop ตลอดทั้งปี 3,300 ราย บริการห้องแลปตรวจวิเคราะห์สารปนเปื้อน 57,000 ตัวอย่าง สอบเทียบเครื่องมือในโรงงานต่างๆ 13,700 ตัวอย่าง และสอบเทียบอุปกรณ์ทดลอง 3,900 ปฏิบัติการ 

  • จับมือภาครัฐ-เอกชน ยกระดับอาหาร

ปีที่ผ่านมา NFI ยังจับมือกับหน่วยงานภาครัฐในการยกระดับอุตสาหกรรมอาหาร อาทิ จับมือกับกรมเหมืองแร่ ในสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงอาหาร (Gastronomy Tourism) ในชุมชนรอบๆ เหมืองแร่ และเขื่อนผลิตไฟฟ้า

ปกติการทำเหมืองแร่จะมีการระเบิดภูเขาทำให้เกิดมลพิษ ในขณะที่เขื่อนผลิตไฟฟ้าเกิดการทำลายสิ่งแวดล้อมในบริเวณใกล้เคียง ชุมชนโดยรอบย่อมได้รับผลกระทบ เราจึงเข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนใกล้เคียง ด้วยการสร้างอาชีพ ซึ่งอาชีพที่ง่ายที่สุดและเป็นวิถีชีวิตของเขาอยู่แล้วคือ การทำอาหาร โดยจับมือกับกรมเหมืองแร่ และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เข้าไปยกระดับอาหารท้องถิ่นให้มีมาตรฐานสะอาดปลอดภัย ด้วยนวัตกรรมการยืดอายุสินค้า เช่น การฆ่าเชื้อด้วยระบบความร้อนภายใต้แรงดันสูง (Retort) และ การถนอมอาหารแบบแช่เยือกแข็ง (Freeze Dry) รวมถึงยกระดับเชฟชุมชนคิดค้นเมนูอาหาร Signature เพื่อใช้วัตถุดิบท้องถิ่นต่อยอดเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว หรือ Gastronomy Tourism”

ร่วมกับ สสว. ผ่านระบบ Business Development Service หรือ BDS ในการให้คำปรึกษา แนะนำเพื่อจัดทำระบบมาตรฐาน พร้อมสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการ ซึ่งผู้ประกอบการสามารถของบสนับสนุนได้มากสุดถึง 80% นอกจากนี้ยังร่วมกับสมาคมการค้าอาหารอนาคตไทย เพื่อพัฒนากลุ่มอาหารอนาคต (Future food) อย่าง มังสวิรัส (Vegan) โปรตีนหรือเนื้อสัตว์จากพืช หรือ Plant Based อาหารที่ปราศจากการปรุงแต่ง หรือผ่านการปรุงแต่งน้อย และ New Functional foods หรืออาหารที่มีการเติมสารอาหาร หรือคุณค่าอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพในรูปแบบใหม่ๆ เป็นต้น โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการสร้างสัญลักษณ์มาตรฐานอาหารฟิวเจอร์ฟู้ด คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปีนี้

 

  • เปิดโรดแมปการทำงานปี 2567

ดร.ศุภวรรณ กล่าวถึงแนวทางการช่วยเหลือ SMEs ในปีนี้ว่า NFI ให้ความสำคัญใน 4 แกนหลัก ประกอบด้วย 

  1. การขับเคลื่อนฟิวเจอร์ฟู้ดผ่านนวัตกรรม Innovation Center ที่ร่วมมือกับจังหวัดมิเอะ ประเทศญี่ปุ่น ในการจัดหานักวิจัย และผู้เชี่ยวชาญมาริเริ่มผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ของกลุ่มอาหารอนาคต และทำงานร่วมกับสมาคมการค้าอาหารอนาคตไทย และหอการค้าไทย เพื่อขับเคลื่อนอาหารกลุ่มนี้ ซึ่งคาดว่าจะเป็นอนาคตของประเทศไทยด้วย
  2. การฝึกอบรมเพิ่มทักษะผ่านอะคาเดมี ซึ่งผู้ประกอบการสามารถทำเวิร์คช้อปเพื่อผลิตและแปรรูปในโรงงาน NFI ซึ่ง NFI จะยังคงร่วมมือกับ สสว. ภายใต้โครงการ BDS เพื่อลดต้นทุนในการขอตรามาตรฐานต่าง ๆ
  3. การสร้างมาตรฐานอาหารปลอดภัย (Food Safety) ในกลุ่มครัวผลิตอาหารสำหรับคนหมู่มาก (Mass catering) ตามสถานที่จัดการต่าง ๆ โรงแรม และศูนย์ประชุม เพื่อให้เกิดสุขลักษณะที่ดีตั้งแต่การเตรียม, การเก็บ, การผลิต, การส่ง และการบริการอาหาร สร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค
  4. การขับเคลื่อนด้านความยั่งยืน รองรับเทรนด์การใส่ใจด้านสังคม สิ่งแวดล้อม และธรรมภิบาลที่เกิดขึ้นทั่วโลก โดยมองว่าเรื่องความยั่งยืนทางด้านอาหารถือเป็นเรื่องใหญ่สำหรับผู้ประกอบการ หากไม่ปรับตัวจะไม่สามารถแข่งขันในเวทีโลกได้ 

 

ปีนี้ NFI จึงมีแผนที่จะสร้างความตระหนักรู้ และเปลี่ยนวิธีคิด หรือมายด์เซ็ตให้ผู้ประกอบการให้ความสำคัญ เริ่มจากนำความรู้การจัดการการสูญเสียอาหาร หรือ Food Loss และขยะอาหาร หรือ Food Waste เข้าไปอยู่ในกระบวนการผลิตอาหาร รวมถึงให้ความรู้เกี่ยวกับมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป (CBAM) เป็นการเตรียมความพร้อมไว้แต่เนิ่นๆ ถึงแม้ว่าปัจจุบันจะยังไม่บังคับใช้กับอุตสาหกรรมอาหารก็ตาม

สำหรับเป้าหมายการทำงานนั้น ดร.ศุภวรรณ กล่าวว่า จะเข้าไปพัฒนาอาหารฮาลาลเพื่อขยับอันดับการส่งออกสินค้าฮาลาล ให้ติดอับดับ 1 ใน 10 ของโลก จากปัจจุบันอยู่อันดับที่ 15 ผ่านศูนย์พัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาล จังหวัดสงขลา และโครงการหนึ่งหมู่บ้านหนึ่งเชฟ ผลิตเชฟ 10,000 ราย ผลักดันอาหารไทยเป็นซอฟท์พาวเวอร์ และยกระดับเชฟท้องถิ่น  เป็น Best local chef restaurant 100 รายทั่วประเทศ กระตุ้นการท่องเที่ยวเชิงอาหาร (Gastronomy Tourism)

สุดท้ายนี้ ดร.ศุภวรรณ ย้ำว่า NFI  ทำหน้าที่เสมือนตัวกลางในการประสานงานเชื่อมโยงองค์ความรู้ และเครือข่ายให้ MSME ไทยเติบโตทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ ทั้งนี้ I ของ NFI นอกจากเป็นสถาบันหรือ Institute แล้ว ยังเป็นทั้ง  Innovation นวัตกรรม สร้าง Impact ให้กับธุรกิจ และ Integrate collaboration สร้างเครือข่ายตั้งแต่ MSME ขนาดเล็ก บ่มเพาะดูแลตั้งต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ให้เติบโต แข็งแกร่งและยั่งยืน

 

ติดต่อได้ที่

สถาบันอาหาร

2008 ซอยอรุณอมรินทร์ 36 แขวงบางยี่ขัน เขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร 10700

โทร: 0-2422-8688

เว็บไซต์ : www.nfi.or.th/home.php

 Facebook : NFI SmartClub 

 Line : @nfithailand

บทความแนะนำ

นิ่ม นิ่ม เส้นไข่ขาวพร้อมทาน แรงบรรดาลใจจากกลุ่มเพื่อน 3 คน

เส้นไข่ขาว นิ่มนิ่ม นวัตกรรมอาหาร จาก Pain Point ของผู้ป่วย

นิ่มนิ่ม คือแบรนด์นวัตกรรมอาหารเพื่อสุขภาพ ที่ผลิตโดยใช้ไข่ขาวเป็นวัตถุดิบหลัก อุดมด้วยโปรตีน ไร้แป้ง ไร้ไขมัน ไม่มีวัตถุกันเสีย เหมาะกับผู้ที่ใส่ใจเรื่องสุขภาพ ผู้ที่ต้องการลดน้ำหนัก เด็ก ผู้สูงอายุ หรือแม้แต่ผู้ป่วย สามารถรับประทานได้อย่างไร้กังวล คิดค้นขึ้นโดยนักวิจัยด้านโภชนาการคนไทย และผลิตเป็นครั้งแรกของโลก

จุดเริ่มต้นของนิ่มนิ่ม นั้นมาจากงานวิจัยสมัยเรียนปริญญาเอกด้านโภชนาการของคุณเกรท-อุมาพร บูรณสุขสมบัติ ที่มองหาวัตถุดิบอุดมคุณค่า ที่จะนำมาทำเป็นอาหารสำหรับผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องควบคุมอาหาร เช่น ผู้ป่วยมะเร็ง ที่ต้องการโปรตีนจำนวนมาก เพื่อไปฟื้นฟูร่างกาย ซึ่งโดยมากผู้ป่วยจะถูกหมอสั่งให้ทานไข่ต้มเป็นอาหารหลัก วันละ 3-6 ฟอง หรือ อาจมากถึง 10-20 ฟอง ตามแต่สภาวะของผู้ป่วย

Pain Point ใหญ่ของผู้ป่วยคือ เมื่อต้องทานไข่ต้มในปริมาณมาก ทุกมื้อ ทุกวันติดต่อกัน ก็มีความรู้สึกเบื่ออาหาร ไม่อยากทานไข่ต้มอีกต่อไป อีกจุดหนึ่งคือ อาหารสำหรับผู้ป่วยนั้นนอกจากจะมีข้อจำกัดด้านรสชาติแล้ว ยังขาดความความน่ารับประทาน และขาดทางเลือกที่หลากหลาย

จากโจทย์สำหรับผู้ป่วย ขยับมาเป็นโจทย์ที่ใกล้ตัวมากยิ่งขึ้น เมื่อคุณพ่อของคุณฟิ้ง-ปณัสสา กาญจนวิเศษ เพื่อนสนิท ป่วยเป็นมะเร็งและเบาหวาน คุณเกรทและคุณฟิ้ง จึงจับมือกันพัฒนางานวิจัยนี้ให้เป็นสินค้าออกสู่ท้องตลาด สามารถหาซื้อได้จริง โดยมีคุณตื๋อ-วรวีร์ เชาวน์พิชญ์ชยา เข้ามาดูแลในด้านการผลิต ด้วยความตั้งใจที่จะดูแลผู้ป่วยที่มีความทุกข์ทางกาย ให้ได้มีความสุขทางใจจากอาหารที่อร่อยและยังมีประโยชน์ ให้โปรตีนสูง ตอบโจทย์โภชนาการด้านการแพทย์ ในรูปแบบที่เข้าถึงง่าย สามารถทำอาหารทานร่วมกันได้ทั้งครอบครัว ไม่ต่างจากอาหารปกติทั่วไป

 

ทั้ง 3 คน รวมตัวกันก่อตั้งบริษัทชื่อ แข็งแรงทุกวัน ให้มีความหมายที่เป็นเหมือนกับคำอวยพรให้ลูกค้าทุกคนได้มีสุขภาพแข็งแรงทุกวัน

 

ส่งความใส่ใจถึงผู้บริโภค

นิ่มนิ่ม พัฒนาสินค้าขึ้นจากโจทย์ที่ต้องการให้เป็นอาหารที่ผู้ป่วยทานได้ง่าย ทานได้บ่อย ไม่เบื่อ จึงออกเป็นสินค้าแรกคือ เส้นก๋วยเตี๋ยวจากไข่ขาว เพราะมองว่าก๋วยเตี๋ยวเป็นอาหารที่ปรับเปลี่ยนได้หลากหลายรูปแบบทำให้ผู้ป่วยมีทางเลือกเพิ่มขึ้นในแต่ละมื้อ

หลังจากนั้นได้พัฒนาสินค้าให้ครอบคลุมอาหารหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่เส้นหมี่ไข่ขาว เส้นสปาเกตตีไร้แป้ง ไข่มุกไข่ขาว ข้าวไข่ขาว ไปจนถึงผงปรุงรสคาโบนาร่าแบบไม่มีน้ำตาล และผงปรุงรสต้มยำโซเดียมต่ำ ซึ่งการพัฒนาทุกสินค้านั้นเกิดจากการรับฟังปัญหาจากลูกค้า เมื่อมีปัญหาใหม่ ๆ ก็จะกลายเป็นโจทย์ใหม่ให้พัฒนาขึ้นเป็นสินค้าใหม่ ๆ กลายเป็นนวัตกรรมด้านอาหารใหม่ๆ

ด้วยคุณภาพ และการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทำให้สินค้าของนิ่มนิ่ม ได้รับรางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ  รางวัลจากกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และอีกมากมายหลายรางวัล

นอกจากตัวสินค้าแล้วด้านการสื่อสารและการตลาด ก็ยังเต็มไปด้วยความใส่ใจ เนื่องจากทีมงานในบริษัทนั้นเต็มไปด้วยนักวิทยาศาสตร์และนักโภชนาการ จึงสามารถสื่อสารให้ข้อมูล ความรู้ กับกลุ่มลูกค้าในสื่อโซเชียลได้อย่างลงลึก ข้อมูลแน่น รวมถึงการตอบคำถามที่ลูกค้า ก็สามารถให้คำปรึกษาในด้านโภชนาการได้อย่างละเอียด ลูกค้าจึงสัมผัสได้ถึงความเข้าใจและใส่ใจจากทางแบรนด์ จนเกิดความประทับใจและบอกต่อ

จับมือแข็งแรงทุกวันไปด้วยกัน

การจับมือทำธุรกิจกันระหว่างเพื่อน มักถูกมองว่าวันหนึ่งอาจเกิดปัญหาได้ แต่กับนิ่มนิ่มแล้ว ทั้ง 3 คนมีเป้าหมายเดียวกันที่อยากจะพัฒนาแบรนด์ให้ดีขึ้น ดังนั้นในบางครั้งเมื่อเกิดการทะเลาะโต้เถียงกัน ก็จะวัดกันด้วยน้ำหนักของเหตุผล ข้อดีข้อเสีย หรือปัจจัยแวดล้อมว่าคำตอบใดที่จะเหมาะสมที่สุด 

นิ่มนิ่มมองว่า การทำธุรกิจกับเพื่อนนั้น เป็นเรื่องดีมากกว่า เพราะรู้มือ รู้ใจกันอยู่แล้ว ทำให้สื่อสารกันได้ง่าย หลายครั้งแทบไม่จำเป็นต้องใช้คำพูด แต่ส่วนสำคัญที่จะทำให้เพื่อนอยู่กันรอดคือความชัดเจน ทั้งในเรื่องการแบ่งหน้าที่รับผิดชอบ และความชัดเจนเรื่องการเงิน ต้องไม่มีอะไรปิดบังกัน

นิ่มนิ่ม มีแนวคิดว่า เราไม่ได้เก่งคนเดียว เราไม่ได้เก่งทุกเรื่อง การร่วมมือทำงานเป็นทีมจะช่วยให้เราเข้มแข็งและช่วยอุดจุดบกพร่องของกันและกัน แนวคิดนี้ยังส่งต่อไปถึงการสร้างเครือข่ายจับมือร่วมงานกันระหว่างธุรกิจเพื่อช่วยเสริมความแข็งแกร่งไปด้วยกัน

โดยล่าสุด นิ่มนิ่มได้มีการร่วมงานกับข้าวหงส์ทอง โดยเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้น ช่วยเพิ่มความเข้มแข็งให้กับด้านการผลิตที่มีมาตรฐานมากขึ้น มีการขยายตลาดภายในประเทศให้กว้างขึ้น รวมถึงการส่งออกไปยังต่างประเทศ

นิ่มนิ่ม มองว่า ในยุคปัจจุบัน ถ้าเราโตคนเดียวเราอาจจะโตไม่ได้มาก แต่ถ้าเกิดเรามีคนเก่งหลาย ๆ ด้านมาช่วยกัน น่าจะทำให้โตและไปได้ไกลกว่า

 

ติดต่อได้ที่

เส้นไข่ขาว นิ่มนิ่ม

โทร: 08-2242-2992

อีเมล: sales@nimnimnoodle.com, healthytookwan@gmail.com

เว็บไซต์: www.nimnimnoodle.com

Facebook: Nimnim Noodle เส้นไข่ขาว นิ่มนิ่ม

Instagram: nimnim_noodle

Line: @nimnim

บทความแนะนำ

โรงงานมะพร้าว Tropicana จากมะพร้าวลุ่มน่ำตาปี สู่น้ำมันมะพร้าว สกัดเย็นคุณภาพระดับโลก

Tropicana Oil จากน้ำมันมะพร้าว OTOP สู่แบรนด์ติด TOP ระดับโลก

Tropicana Oil น้ำมันมะพร้าวสกัดเย็นออร์แกนิก ไม่เคยหยุดพัฒนา จนสามารถเจาะตลาดสร้างฐานกลุ่มลูกค้าของคนรักผลิตภัณฑ์จากมะพร้าวไทยไป ได้มากกว่า 20 ประเทศทั่วโลก ด้วยมาตรฐานการรักษาคุณภาพของสินค้าที่ทำให้ลูกค้าเชื่อมั่นและใช้ซ้ำมาตลอด 19 ปี ผลิตภัณฑ์ของ Tropicana Oil ในอดีตนั้น เริ่มต้นอย่างเรียบง่าย ด้วยการย้อนกลับไปใช้ภูมิปัญญาชาวบ้านจังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่มีการทำสวนมะพร้าวอย่างอุดมสมบูรณ์ ด้วยการนำมะพร้าวมาแปรรูป สร้างเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ขึ้น จนวันหนึ่งน้ำมันมะพร้าว Tropicana เริ่มเป็นที่รู้จัก จึงเริ่มมีการนำมะพร้าวมาพัฒนาเป็นสินค้าประเภทเครื่องสำอาง สบู่ ครีม โลชั่น เพื่อเป็นการขยายตลาดกลุ่มลูกค้าให้กว้างขึ้ ผลิตภัณฑ์จากมะพร้าว ของ Tropicana นั้น แต่เดิมวางจำหน่ายในรูปแบบ OTOP ตามสถานที่ท่องเที่ยว แต่พอนักท่องเที่ยวได้มีโอกาสใช้ ก็ติดใจ และกลับไปซื้อฝากให้กับคนในประเทศของเขา กลายเป็นการกระจายสินค้าให้เป็นที่รู้จักในอีกทางหนึ่ง จนชาวต่างชาตินั้นติดแบรนด์ Tropicana และเป็นอันรู้กันว่าถ้ามาถึงประเทศไทยเมื่อไหร่ Tropicana คือสินค้าที่ต้องซื้อติดมือกลับบ้านไปให้ได้ รวมถึงมีการติดต่อเข้ามาสั่งซื้อ เพื่อขอเป็นตัวแทนจำหน่าย รับสินค้าไปวางจำหน่ายในประเทศของเขา

ความใส่ใจ สู่ความยั่งยืน

สินค้าจากมะพร้าวไทยนั้น กลายเป็นที่เลื่องลือในกลุ่มชาวต่างชาติอย่างกว้างขวาง ถึงคุณภาพ คุณประโยชน์ และสรรพคุณต่าง ๆ ที่ทำให้ใครต่อใครต่างประทับใจจนต้องสั่งซื้อซ้ำแล้วซ้ำอีก แต่กลับกัน ในหมู่คนไทยเอง ยังไม่ค่อยได้รับรู้ถึงคุณประโยชน์ของมะพร้าวไทยมากนัก จึงเป็นโจทย์หลักที่ทางคุณณัฐ-ณัฐณัย นิลเอก ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ และทายาทรุ่น 2 ของ Tropicana Oil ต้องเข้ามาเริ่มสร้างรูปแบบใหม่ๆ ในการสื่อสารเรื่องราวดี ๆ ของสินค้าจากมะพร้าวไทย ให้แพร่หลายสู่กลุ่มลูกค้าภายในประเทศได้รู้จักมากขึ้น

แม้ในทุกวันนี้ Tropicana Oil จะมีผลิตภัณฑ์ มากกว่า 200 รูปแบบ และมีการผลิตแบบอุตสาหกรรม แต่ก็ยังคงให้ความสำคัญและสนับสนุนด้านสิ่งแวดล้อมไม่เปลี่ยนแปลง โดยการสนับสนุนเกษตรกรในจังหวัดสุราษฎร์ธานี ชุมพร รวมถึงประจวบคีรีขันธ์ ให้ปลูกมะพร้าวออร์แกนิก ซึ่งทางแบรนด์รับซื้อในราคาที่สูงกว่าท้องตลาด ทำให้เกษตรกรมีรายได้ และมีความยั่งยืนในอาชีพ ส่วนของกาบมะพร้าวที่เหลือหลังจากการใช้งาน จะถูกนำไปทำเป็นวัสดุปลูกให้กับฟาร์มปลูกผักออร์แกนิกของ Tropicana Oil ทำให้ไม่มีเศษวัสดุเหลือทิ้งจากในกระบวนการผลิตสินค้า เรียกว่าสามารถจัดการให้เป็น Zero Waste โดยสมบูรณ์

Tropicana Oil มีแนวคิดในการสร้างเครือข่ายธุรกิจทั้งภายในกลุ่มธุรกิจไปจนถึงหน่วยงานต่าง ๆ ที่จะร่วมมือส่งเสริมซึ่งกันและกัน สิ่งนี้จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ ถ้าเราไม่พาตัวเราเข้าไปหาโอกาส แต่ถ้าเรามีกลุ่มเครือข่ายที่สามารถช่วยเหลือกันได้ มันก็จะทำให้เราสามารถไปได้ไกลมากกว่าเดิม

ติดต่อได้ที่

บริษัท ทรอปิคานา ออยล์จำกัด

ที่อยู่: 165 หมู่ 1 ตำบลขุนแก้ว อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม 73120

โทร: 034-323-888

อีเมล: info@tropicanaoil.com

เว็บไซต์: tropicanaoil.com

Facebook: Tropicana Oil Co., Ltd. 

Instagram: tropicanaoil

Line: @TROPICANAOIL

บทความแนะนำ

ศูนย์การบรรจุภัณฑ์หีบห่อ หน่วนงานที่ดูแลในด้านการพัฒนาบรรจุภัณฑ์มาตรฐาน

ศูนย์การบรรจุหีบห่อไทย

ศูนย์การบรรจุหีบห่อไทยเป็นหน่วยงานกลางของรัฐ ทำหน้าที่ให้บริการเกี่ยวกับด้านบรรจุภัณฑ์ เปิดให้บริการแก่ผู้ประกอบการทุกระดับ ครบวงจรตั้งแต่การทดสอบ ตรวจสอบ ออกแบบและพัฒนาบรรจุภัณฑ์ เพื่อให้ผู้ประกอบการได้ปรับปรุงคุณภาพของบรรจุภัณฑ์ที่เลือกใช้ ให้มีคุณภาพตรงตามมาตรฐาน และมีความเหมาะสมต่อการนำไปใช้งาน เพื่อให้บรรจุภัณฑ์สามารถช่วยรักษาคุณภาพของสินค้าให้สมบูรณ์ที่สุด

บริการจากทางศูนย

1. ห้องปฏิบัติการทดสอบบรรจุภัณฑ์ เป็นบริการที่ช่วยทดสอบวัสดุบรรจุภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ตามมาตรฐานสากล สำหรับการขายและการขนส่งให้ได้มาตรฐานสากล เช่น ทดสอบการกดทับ กันกระแทก และยังมีบริการทดสอบบรรจุภัณฑ์สำหรับสินค้าอันตราย ในด้านความแข็งแรงทนทาน ไปจนถึงความสามารถในการปกป้องสินค้าในระหว่างขนส่งได้ด้วย

2. ห้องปฏิบัติการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ ช่วยพัฒนา ออกแบบ และแก้ปัญหาด้านบรรจุภัณฑ์ให้กับผู้ประกอบการได้มีบรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสมกับผลิตภัณฑ์ ช่วยส่งเสริมการขายและช่วยปกป้องผลิตภัณฑ์เพื่อลดความเสียหายของผักและผลไม้สด ยืดอายุอาหาร และพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

3. บริการข้อมูลงานวิจัย เผยแพร่ข้อมูลองค์ความรู้และถ่ายทอดผลงานวิจัยให้กับผู้ที่สนใจ เช่น คู่มือการใช้บรรจุภัณฑ์  รายงานวิชาการและวารสารการบรรจุภัณฑ์  เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในการใช้งานบรรจุภัณฑ์ ให้เหมาะสม และเพิ่มความรู้เทคโนโลยีใหม่ ๆ  ด้านบรรจุภัณฑ์

4. หลักสูตรอบรม สัมมนา ส่งเสริมให้มีการถ่ายทอดและแลกเปลี่ยนความรู้และเทคโนโลยีด้านบรรจุภัณฑ์ด้วยหลักสูตรการฝึกอบรม การสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เปิดโอกาสให้กับผู้ที่สนใจได้เข้ามาแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์เพื่อยกระดับมาตรฐานด้านการบรรจุหีบห่อของประเทศไทย

 

ศูนย์การบรรจุหีบห่อไทย เรายินดีช่วยคิด ช่วยเลือก ไปจนถึงช่วยออกแบบและพัฒนาบรรจุภัณฑ์ ให้กับผู้ประกอบการ MSME ทุกท่าน

ติดต่อได้ที่

อาคารศูนย์การบรรจุหีบห่อไทย (ศบท.)

ศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย 

ที่อยู่: 196 ถนนพหลโยธิน  เขตจตุจักร  กรุงเทพฯ  10900

โทรศัพท์: 02579 1121 ต่อ 3101, 3208  

อีเมล: tpc-tistr@tistr.or.th

เว็บไซต์ : www.tistr.or.th/Industrials/tpc

 

บทความแนะนำ