SME One บุญธิดาฟาร์ม
บุญธิดาฟาร์ม กับภารกิจ
สร้างนวัตกรรมผ่าน “สาหร่ายพวงองุ่น”
“สาหร่ายพวงองุ่น” เป็นพืชน้ำที่อยู่ทั่วไปในประเทศเขตร้อน เช่น ในภูมิภาคอาเซียนไปจนถึงจีนตอนใต้ และบางพื้นที่ของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งสาหร่ายพวงองุ่นถูกขนาดนามว่าเป็น “Super Food” เพราะมีคุณสมบัติพิเศษเรื่องของกรดอะมิโน และมีโปรตีนสูง ที่สำคัญคือ เป็นแพลนต์เบส โปรตีน ซึ่งกำลังเป็นเทรนด์อาหารของโลก
ประเทศไทยก็เริ่มมีกลุ่มเกษตรกรในหลายจังหวัดที่ติดทะเลที่หันมาเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่น ทั้งแบบที่ทำเป็นอาชีพเสริมจากการทำนาเกลือ นากุ้ง และทำเป็นอาชีพหลัก
SME One มีโอกาสได้สัมภาษณ์ คุณวนัสพงษ์ ทรหด ผู้จัดการทั่วไป บุญธิดาฟาร์ม ซึ่งเป็นอีกหนึ่งบริษัทที่เพาะเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่น และมีการวิจัยพัฒนาสินค้าอย่างจริงจัง เพื่อหวังที่จะสร้างมูลค่า และปั้นให้สาหร่ายพวงองุ่นเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ของประเทศไทยผ่านคำว่า “นวัตกรรม”
SME ONE : จุดเริ่มต้นของ บุญธิดาฟาร์ม เกิดขึ้นมาได้อย่างไร
วนัสพงษ์ : จริง ๆ ผมเป็นผู้จัดการ และตัวฟาร์มเป็นลักษณะของบริษัท ด้วยความบังเอิญเจ้าของบริษัทเขาทำธุรกิจเกี่ยวกับขายฝากที่ดิน แล้วก็มีคนเอาที่ดินแปลงนี้มาขายฝาก พอเจ้าของบริษัทเขาได้ที่ดินตรงนี้มาก็คิดว่าจะทำอะไรดี บวกกับเมื่อประมาณ 7 ปีที่แล้ว น่าจะประมาณปี 2007 สาหร่ายพวงองุ่นกำลังเป็นที่นิยม เป็นกระแสที่มาแรงมากสำหรับจังหวัดเพชรบุรี เหมาะกับพื้นที่แถว ๆ นี้ และด้วยความที่พื้นที่เป็นบ่อทะเลอยู่แล้ว ได้โลเคชั่นที่เข้าเกณฑ์ที่เหมาะสมกับการทำในส่วนนี้ เขาก็เลยลองดูว่าทำแล้วจะเวิร์คไหม ก็เลยลองทำตลาดสาหร่ายพวงองุ่นกันดู
SME ONE : เรียกว่าเป็นการเริ่มต้นธุรกิจโดยไม่มีความรู้มาก่อนเลยใช่หรือไม่
วนัสพงษ์ : ใช่ครับ ด้วยความที่เจ้าของที่ดินก็ไม่ได้ทำด้านการเกษตรมา ตัวผมเองก็ไม่ได้จบเกษตรด้วย ตัวผมจบด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์ แต่ด้วยความบังเอิญที่ผมมีเพื่อนจบด้านประมงมา เพื่อนก็เลยสามารถให้คำปรึกษาแนะนำได้ แต่เราก็เข้าหาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วย ในส่วนของประมงอะไรพวกนี้ หานักวิชาการที่มีความรู้เกี่ยวกับด้านนี้ แล้วก็หาข้อมูลในอินเทอร์เน็ตประกอบกัน เพราะฉะนั้นต้องถือว่าเริ่มจากศูนย์เลย ไม่รู้อะไรเลยแม้กระทั่งระบบเกี่ยวกับทะเล เราก็ไม่รู้เรื่องเลย ต้องหาเอาเอง ตอนนั้นเรื่องสาหร่ายพวงองุ่นไม่ได้ใหม่แค่เรา แต่ใหม่สำหรับประเทศไทยด้วยเหมือนกัน ซึ่งทางคนที่นำมาเผยแพร่เขาไปดูงานจากญี่ปุ่นมา
SME ONE : ตอนที่คิดว่าจะสร้างมูลค่าเพิ่มจากที่ดินมีสินค้าทางเลือกอื่นหรือไม่ แล้วทำไมถึงตัดสินใจเลือกสาหร่ายพวงองุ่น
วนัสพงษ์ : สาเหตุที่เลือกตัวนี้เพราะว่ากำลังเป็นเทรนด์ที่กำลังค่อนข้างได้รับความนิยม และโลเคชั่นทุกอย่างเหมาะสม เราก็คิดว่าสาหร่ายพวงองุ่นนี้น่าจะเหมาะกับการทำที่นี่มากที่สุด ที่นี้ในระยะแรก ๆ ในการทำสาหร่ายพวงองุ่นมันมีปัญหาค่อนข้างเยอะ ทั้งในเรื่องของการเลี้ยง การปลูก การดูแล โดยเฉพาะเรื่องของการขนส่งที่มีปัญหาค่อนข้างเยอะกับประเทศไทย เพราะว่าบ้านเราเป็นเมืองร้อน สาหร่ายพวงองุ่นค่อนข้างมีปัญหาเวลาขนส่งในอากาศที่ร้อน ๆ ห้ามแช่ตู้เย็น ห้ามเปิดฝาทิ้งไว้ ห้ามตากแดด ชอบอุณหภูมิปกติประมาณ 25-30 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นอุณหภูมิที่เหมาะสม จึงมีปัญหาเวลาหน้าร้อนขนส่งจากเพชรบุรีไปเชียงใหม่ สินค้าเสียหาย เก็บได้ไม่ถึง 2 วันก็เสีย ส่งไปไกล ๆ ต่างจังหวัดมากไม่ได้ แม้กระทั่งที่นี่เองเก็บข้ามวันก็มีปัญหาค่อนข้างบ่อยในช่วงหน้าร้อน สาหร่ายพวงองุ่นจึงไม่สามารถทำได้ทั้งปี ถึงแม้ว่ามันจะอยู่ในน้ำทะเลก็ตาม มันอยู่ได้ดีในช่วงปลายฝนต้นหนาว ช่วงหน้าหนาวช่วงต้นปี
เมื่อก่อนจะมีที่เกษตรกรเขาแพ็คขายที่ใส่กล่องใส ๆ ตามท้องตลาด ขายคู่กับน้ำจิ้มซีฟู้ด มีแบบนั้นค่อนข้างเยอะ ทีนี้เรามองแล้วว่าการขายสดมันไม่ตอบโจทย์ในด้านความยั่งยืน อย่างแรกคือปัญหาเรื่องการขนส่ง การเก็บรักษาไม่สามารถทำได้ทั้งปี เราก็เลยมองว่ามันต้องมีนวัตกรรมอะไรบางอย่างที่ทำให้สาหร่ายอยู่ได้ทั้งปี เพื่อที่จะทำให้ธุรกิจอยู่รอด ถ้าเรามีสินค้าขายได้ทั้งปี มันก็ทำให้เราอยู่ได้ เราก็เลยหันมาพัฒนาสินค้าที่เป็นลักษณะของการบรรจุใส่กระปุกสามารถเก็บได้ประมาณ 2 ปี
SME ONE : สาหร่ายพวงองุ่นมันมีคุณสมบัติพิเศษอะไรถึงเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีมูลค่า
วนัสพงษ์ : จากข้อมูลหลายๆ แหล่งนะครับ คุณสมบัติพิเศษส่วนมากจะเป็นในเรื่องของกรดอะมิโน มีโปรตีนค่อนข้างสูง เป็นแพลนต์เบส โปรตีนซึ่งเป็นทางเลือกที่ดี สารอาหารสำคัญค่อนข้างเยอะ เรียกว่าเป็น Super Food ก็ว่าได้ เพราะมีธาตุอาหารค่อนข้างเยอะ ปกติสาหร่ายจะมีธาตุอาหารค่อนข้างมากอยู่แล้ว ยิ่งเป็นสาหร่ายพวงองุ่น สาหร่ายทะเลแล้วด้วย ก็ยิ่งมีข้อดีหลาย ๆ อย่าง แต่ที่เด่นก็คือมีกรดอะมิโน แล้วก็มีไฟเบอร์ค่อนข้างสูง
SME ONE : ต้นกำเนิดของสาหร่ายพวงองุ่นมาจากประเทศอะไร
วนัสพงษ์ : ที่เด่นๆ คือเริ่มจากญี่ปุ่น เมืองโอกินาวาที่เขามีการพัฒนาทำในเชิงพาณิชย์ที่แรกในโลก น่าจะหลาย 10 ปีแล้ว แต่สาหร่ายพวงองุ่นเป็นสาหร่ายที่อยู่ในเขตร้อนในธรรมชาติอยู่แล้ว ตามหมู่เกาะฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย เพียงแต่ว่าไม่ได้เป็นที่นิยมเหมือนประเทศญี่ปุ่น และไม่ได้ถูกนำมาใช้ในเชิงพาณิชย์ ซึ่งบ้านเราเหมือนจะไปดูงานที่โอกินาวา ทางกรมประมงก็ไปศึกษาดูงานว่าเอามาใช้ในเชิงพาณิชย์อย่างไร เพื่อจะนำมาประยุกต์ใช้กับชาวบ้านที่ทำนาเกลือ เพื่อมาเป็นอาชีพเสริมให้กับเกษตรกรจะได้มีรายได้เสริมจากทางอื่นนอกจากการทำนาเกลือ เขาก็เลยเอามาผนวกกับการทำนาเกลือทำบ่อกุ้งอะไรพวกนี้ ทางภาคใต้ก็พอจะมี แต่ต้องไปหาตามแหล่งธรรมชาติ น่าจะประมาณ 10 ปีที่ไทยนำมาพัฒนาในเชิงพาณิชย์อย่างจริงจัง
ส่วนในเมืองไทย ผมไม่แน่ใจว่าต้นกำเนิดที่กรมประมงเอามาเพาะพันธุ์ให้ที่นี่จริง ๆ เอามาจากญี่ปุ่นเลย หรือเอามาจากในพื้นที่ของเรา เพราะมันค่อนข้างจะขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมมากกว่า ว่าจะโตออกมาดีหรือไม่ดี ไม่ได้ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์สักเท่าไหร่
SME ONE : การเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่น บริษัททำคนเดียวเลยหรือเป็นกลุ่มสหกรณ์ในพื้นที่
วนัสพงษ์ : จริง ๆ จุดเริ่มต้นของบุญธิดาฟาร์ม เราตั้งใจอยากให้เกิดการรวมกลุ่มสหกรณ์ของผู้เลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่น เพื่อให้มีอำนาจต่อรองในการตลาด เรื่องของการควบคุมคุณภาพ การแบ่งปันข้อมูล เราพยายามตั้งแต่ปีแรกแล้ว แต่มันค่อนข้างเป็นอะไรที่ค่อนข้างยาก เราก็เลยค่อนข้างทำคนเดียวอยู่ ที่ฟาร์มเราเป็นฟาร์มอินทรีย์ เราก็พยายามเอาฟาร์มเอาระบบของเราเข้ามาตรฐานให้มันอยู่ในมาตรฐานให้ได้มากที่สุด ซึ่งเราก็ได้มาหมดแล้ว ทั้ง อย. ฮาลาล และฟาร์มอินทรีย์อะไรพวกนี้
แต่เราก็ยังมีเครือข่ายที่เป็นชาวบ้าน เป็นลูกฟาร์ม เราก็ติดต่อกันอยู่ ในอนาคตเราก็มองว่าน่าจะมีการช่วยเหลือซึ่งกันและกันได้ คือถ้าฟาร์มเราไปได้ เราก็สามารถขยายเพิ่มรายได้ให้กับกลุ่มเกษตรกรผู้ที่เลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่นด้วยกันได้ด้วยเหมือนกัน แต่อาจจะจะต้องดูนิดนึงว่าเขาทำฟาร์มเข้าเงื่อนไขหรือเปล่า คือจะต้องได้มาตรฐานตามที่เรารับได้ด้วย
SME ONE : ช่วงเริ่มต้นทำธุรกิจกับปัจจุบันแตกต่างกันมากไหม
วนัสพงษ์ : แตกต่างค่อนข้างเยอะมาก ๆ อย่างแรกคือเรื่องราคา ในปีแรกที่เริ่มต้น ราคาสาหร่ายพวงองุ่นไปถึงราคากิโลกรัมละ 1,000 กว่าบาท เรียกว่าเป็นสินค้าพรีเมียมเลย ช่วงแรกเป็นช่วงตลาดค่อนข้างบูม อาจจะเป็นของแปลกใหม่ด้วย กระแสค่อนข้างดี ราคาก็เลยสูง แล้วก็หลังจากนั้นลดลงมาเรื่อย ๆ จนปัจจุบันตีว่าไม่เกิน 10 ปี ราคากิโลกรัมตอนนี้อยู่ที่ 100-120 บาท เหตุผล คือ 1. ได้รับความนิยมน้อยลง 2. มีคนทำขายเยอะขึ้นจน Over Supply ด้วยส่วนหนึ่ง และกลุ่มลูกค้าไม่ได้เติบโตไปตามกระแส คือตอนแรกเหมือนอารมณ์ของใหม่แล้วคนอยากลอง
สาหร่ายมันมีข้อเสียอยู่อย่างหนึ่งที่ว่า เหมือนบ้านเราก็ไม่ได้ทานสาหร่ายกันเป็นปกติใช่ไหมครับ เพราะมีของกินค่อนข้างหลากหลาย สาหร่ายไม่ได้อยู่ในเมนูหลักของบ้านเราเยอะ ความรู้ในเรื่องของการรับประทานก็เลยไม่เยอะ แล้วตัวนี้ก็ยังมีเรื่องที่คนไม่ทราบ คือก่อนจะทานสาหร่ายพวงองุ่น จะต้องนำไปแช่น้ำจืดเพื่อลดความเค็มก่อน เพราะว่าสาหร่ายพวงองุ่นเป็นสาหร่ายทะเล ดังนั้นจะมีความเค็มอยู่ ก่อนรับประทานต้องเอาไปแช่น้ำจืดเพื่อจะลดความเค็มลง เพื่อให้อยู่ในความเค็มที่เรากินได้ ซึ่งจากประสบการณ์ที่ผมได้พบกับลูกค้าหรือคนที่รับประทานสาหร่ายพวงองุ่น เกิน 50% ไม่รู้เรื่องนี้ และมีประสบการณ์การทานที่ไม่ดี คือรู้สึกว่าทำไมมันเค็มมาก ทำไมมันมีกลิ่นคาวมาก ทำไมท้องเสีย ประสบการณ์นี้ที่เกิดขึ้นกับผู้บริโภคมีเยอะ ทำให้เขาไม่กินอีกเลย เกิน 50% เจอประสบการณ์ที่ไม่ดีและไม่คิดจะกินอีกเลย อันนี้คือส่วนหนึ่งที่ทำให้ลูกค้าน้อยลง
อีกส่วนหนึ่งพอ Over Supply มันก็เกิดปัญหาเดิม ๆ ของเกษตรกรบ้านเรา ก็คือเรื่องของการตัดราคา แล้วด้วยความที่สาหร่ายพวงองุ่นจัดการกับตัววัตถุดิบค่อนข้างยาก เก็บรักษายาก ขนส่งยาก ทำให้การขยายตลาดก็ยากเข้าไปใหญ่ มันก็เลยมีแค่คนกลุ่มเล็ก ๆ ที่ทานกันอยู่ เล็กมาก ๆ ความต้องการก็เลยไม่ได้เยอะ การรับรู้เรื่องนี้ก็ค่อนข้างน้อย ทุกวันนี้ตลาดก็เลยค่อนข้างซบเซาลงไปเรื่อย ๆ
SME ONE : กลุ่มที่เป็นลูกค้าที่ซื้อไปกินที่บ้าน กับที่ซื้อไปแปรรูป อย่างไหนเยอะกว่ากัน
วนัสพงษ์ : ถ้าเป็นช่วงที่เราทำแรก ๆ จะมีคนรับซื้อเป็นกิโล ๆ ไปแล้วก็ไปแบ่งขายให้กับลูกค้าย่อย ๆ ตามตลาดนัดอะไรพวกนี้ ตามร้านอาหารก็ค่อนข้างเยอะ แต่พอเราแปรรูป มันแก้ปัญหาเรื่องการขนส่งก็จริง แต่มันก็มีปัญหาใหม่ของเราก็คือเราต้องไป Educate ตลาดใหม่กับสินค้าใหม่ของเรา ก็กลายเป็นเรื่องยากแบบที่ 2 อีก
SME ONE : บุญธิดาฟาร์มเคยร่วมมือกับร้านอาหารหรือเชฟดัง ๆ นำสาหร่ายพวงองุ่นไปเป็นวัตถุดิบในร้านอาหารเพื่อให้คนรู้จักเพิ่มขึ้นบ้างหรือไม่
วนัสพงษ์ : เคยครับ ในปีแรก ๆ ที่ฟาร์มเราจัดการแข่งขันเลย ให้เชฟมารังสรรค์เมนูจากสาหร่ายพวงองุ่น แล้วก็เอาเมนูพวกนั้นขึ้นไปในเว็บไซต์ด้วยว่าทำอะไรได้บ้าง มีให้ดูเลยว่าใช้วัตถุดิบอะไรบ้าง เราก็พยายามเข้าร้านอาหารโรงแรมหลาย ๆ ที่ ซึ่งแรก ๆ ก็เป็นที่นิยมในร้านอาหารโรงแรมหลาย ๆ ที่ แต่ด้วยการเก็บรักษาที่ยาก เขาก็เลยเลิกสั่งไปค่อนข้างเยอะ แล้วเขาก็ไม่กลับมาใช้กันอีก เพราะเขารู้สึกว่ายุ่งยากจะเพิ่มไปทำไมประมาณนั้น
SME ONE : คิดว่าทางออกของปัญหานี้คืออะไร
วนัสพงษ์ : ในมุมมองของผมมองว่า ในตอนนี้มี 2 ส่วนที่ต้องทำไปพร้อม ๆ กัน คือเรื่องของการสร้างการรับรู้ให้กับผู้บริโภค การประชาสัมพันธ์ การทำการตลาด ให้ผู้บริโภครู้ว่าสาหร่ายพวงองุ่นที่ดีเป็นอย่างไร อีกด้านหนึ่งคือฝั่งของผู้ผลิตเองจะต้องมีการควบคุมมาตรฐาน ถ้าเราทำสินค้าออกมาไม่ได้คุณภาพ เช่น ไม่สะอาด ผู้บริโภคนำไปบริโภคก็จะเหม็น ท้องเสียอะไรแบบนี้ ก็จะทำให้กลุ่มลูกค้าหายไป
ดังนั้นทางออกต้องทำไปพร้อม ๆ กันทั้งสองด้าน คือผู้ที่เลี้ยงทำฟาร์มสาหร่ายเองก็ต้องรักษาคุณภาพ ทั้งในเรื่องของความสะอาดและมาตรฐานในการเลี้ยง จริง ๆ สาหร่ายพวงองุ่นเป็นพืชบำบัดน้ำ สิ่งที่สำคัญก็คือแหล่งน้ำกับความสะอาดของน้ำที่นำมาใช้เลี้ยง ถ้าเรานำไปเลี้ยงในที่ ๆ ปนเปื้อนเคมี หรือนำน้ำที่มีการปนเปื้อน เช่น น้ำจากบ่อกุ้งที่มีการใส่เคมีลงไปอะไรพวกนี้ อันนี้จะไม่ดีกับผู้บริโภค ซึ่งแหล่งที่มาของสาหร่ายเป็นเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจและต้องให้ความสำคัญ ผู้บริโภคจะต้องดูว่าสาหร่ายที่เราซื้อมารับประทานมาจากแหล่งที่เชื่อถือได้หรือเปล่า หรือต้องตรวจสอบว่ามาจากที่ไหน
เท่าที่ผมทราบมา กลุ่มผู้เลี้ยงหลายกลุ่มก็พยายามปรับปรุงมาตรฐานในการเลี้ยง เพราะเขาก็เข้าใจปัญหา เราก็เริ่มผลักดันให้กลุ่มเกษตรกรเข้ามาในระบบมาตรฐานให้ได้มากที่สุด ในเรื่องของการเลี้ยง ในเรื่องของความสะอาดเพื่อให้ตัวสินค้ามีคุณภาพ
ในส่วนที่ประชาชนเขาเจอประสบการณ์ไม่ดี มันเหมือนพลุที่จุดไปแล้ว แล้วดับไปแล้ว อันนี้อาจจะเป็นงานที่ค่อนข้างยากกว่า ถ้าคุณยังไม่เคยกินแล้วมาลองกิน มันยังง่ายกว่าคนที่เคยกินแล้วเจอประสบการณ์ที่ไม่ดี มันเลยเป็นโจทย์สำคัญเหมือนกันที่จะทำอย่างไรให้คนเข้าใจว่าจริง ๆ แล้วการเลือกทานสาหร่ายพวงองุ่นที่ดีมันจะต้องเลือกแหล่งที่มาด้วย ดังนั้นจะต้องมีการให้ความรู้ประชาสัมพันธ์กันมากเหมือนกัน คิดว่าภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้น่าจะต้องพยายามผลักดันเรื่องนี้มากขึ้น ว่าจะทำอย่างไรให้ผู้บริโภคเขาเข้าใจในตัวสาหร่ายพวงองุ่นมากขึ้น
SME ONE : ช่วง COVID-19 ได้รับผลกระทบมากน้อยเพียงใด
วนัสพงษ์ : ด้วยความที่เราเป็นลักษณะของบริษัท เราก็เลยมีวิชั่นอีกแบบหนึ่งที่อาจจะไม่เหมือนกับกลุ่มชาวบ้าน ที่เขามองว่าเป็นการหารายได้เสริมหรือรายได้หลัก แต่เราจะมองในลักษณะของความคุ้มค่า คือมองหลาย ๆ ด้านมากกว่า Product ที่เรานำมาแก้ปัญหาในตอนแรก ในเรื่องของการเก็บรักษา การขนส่ง ดูเหมือนจะตอบโจทย์แล้ว จากปัญหาที่แช่ตู้เย็นไม่ได้ ผมทำให้แช่ตู้เย็นได้ การขนส่งที่อยู่ในที่ร้อนไม่ได้ เราทำให้มันอยู่ในที่ร้อนได้ ส่งได้เป็นเดือนเลย เราเคยส่งไปเยอรมันนีด้วย สามารถส่งข้ามประเทศได้หลายที่ แต่มันก็ยังไม่เวิร์ค
ด้วยความที่เราใช้เวลาพัฒนามา 2-3 ปี แล้วปีที่เราพร้อมที่จะเปิดตัวออกมาก็เป็นช่วงที่ก่อน COVID-19 เข้ามาในช่วงพักเดียว ในตอนแรกที่เราเปิดตัว Product ขึ้นมา มีหลายชาติเข้ามาพูดคุยสนใจไม่ว่าจะเป็นออสเตรเลีย อินเดีย อาหรับเอมิเรตส์ก็มี มีหลายชาติเข้ามาคุยสนใจเยอะมาก หลังจากนั้นไม่นาน COVID-19 ก็มา ทุกอย่างหยุดชะงักไปหมด เพราะปัญหาการเดินทาง มันก็เลยไม่ได้ไปต่อ เรียกว่าหยุดไปเลยเหมือนกัน ซึ่งเป็นช่วงที่กำลังจะเปิดตลาดพอดี
หลังจาก COVID-19 ซา เราก็ค่อย ๆ ทำตลาด เราก็ต้องไป Educate ตลาดเพิ่มเติม เพราะสินค้าของเราไม่ใช่สินค้าที่คนเคยเห็นแบบซื้อเป็นแพ็คใส ๆ มีสาหร่ายอยู่ในนั้น ของเราจะเป็นลักษณะใส่กระป๋องเล็ก ๆ คล้าย ๆ ปลากระป๋อง มันจะมีวิธีในการทานเพิ่มเติมขึ้นมาอีก มันไม่ได้ Ready to eat มันจะต้องเอามาแช่น้ำเพื่อลดความเค็มอีกนิดนึง ซึ่งมันค่อนข้างขัดกับโลกสมัยนี้ เท่าที่ผมสังเกตโลกสมัยนี้ ต้องการอะไรค่อนข้างง่าย สะดวก เร็ว ประหยัดเวลา มันเลยอาจจะยังไม่ตอบโจทย์กับปัจจุบันนี้
จริง ๆ เรามีเคยส่งไปเยอรมันนี 2 ครั้ง เขาก็พยายามไปทำตลาดที่ยุโรปเหมือนกัน เขาให้ทางพาณิชย์จังหวัดมาดูว่าเรามีตัวตนจริงหรือเปล่า เพราะทางเยอรมันนีค่อนข้างจะเข้มงวดเรื่องมาตรฐาน ทางเขาเองก็ไม่ได้สั่งไปเยอะมาก สั่งไปทดลองตลาด เขาก็อาจจะเจอปัญหาคล้าย ๆ เรา คนอาจจะรู้สึกว่ามันไม่ได้สะดวก มันก็เลยอาจจะนำตัวนี้ไปสู่ลูกค้าค่อนข้างยาก เราก็พยายามผลักดันตัวนี้มาประมาณ 2-3 ปีได้
SME ONE : แบบนี้มีโอกาสที่จะกลับไปขายแบบเดิมหรือไม่
วนัสพงษ์ : เรามองว่า Product ของเราอาจจะมาก่อนกาล อาจจะไม่เหมาะกับเวลานี้ ซึ่งตอนนี้เราก็กำลังพัฒนา Product ใหม่เพิ่มขึ้นมา ก็คือยังคงเป็นสาหร่ายพวงองุ่น แต่เป็น Product ใหม่ที่แตกต่างไปจากของเดิม อันนี้ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ 100% อยู่ในช่วงที่กำลังวิจัยพัฒนาอยู่
แนวคิดในกาพัฒนาสินค้าใหม่นี้ก็คือ จากที่เราลองทานของเดิมเรารู้สึกว่า ของที่มันต้องไป Educate ตลาดเพิ่ม มันยาก การรับรู้ของผู้คนมันต้องใช้เวลา กว่าเขาจะชิน กว่าเขาจะยอมรับ กว่าเขาจะรับรู้ เราก็เลยมองว่าควรจะเป็นของที่ Ready to eat เลย เป็นของที่ทุกคนรู้จักอยู่แล้ว เป็นลักษณะเหมือนขนม เราไม่ต้องสอนว่าอันนี้คือขนม คนแกะกินได้เลย เราไม่ต้องไปสอนว่าต้องกินอย่างไร ถือเป็นวัตกรรมใหม่ มองว่าตัวนี้น่าจะตอบโจทย์กว่า ณ ตอนนี้สินค้าตัวนี้คาดว่าจะพร้อมในการผลิตในปีหน้า
SME ONE : ที่ผ่านมาเราเคยไปขอคำปรึกษาจากหน่วยงานภาครัฐบ้างหรือไม่
วนัสพงษ์ : ที่ปรึกษาบ่อย ๆ ก็จะเป็นกรมประมงในเรื่องของการเลี้ยง แล้วก็ปรึกษาพาณิชย์จังหวัด อุตสาหกรรมจังหวัด เข้าหลายหน่วยงานเหมือนกัน ทั้งเรื่องการตลาด การพัฒนา ส่วนใหญ่ก็ปรึกษาพาณิชย์จังหวัด เพราะตอนนั้นก็หาตลาดหาลูกค้า ไปหลาย ๆ โครงการ ไปแมชชิ่งไปจับคู่ธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ ก็ไปหลายครั้งอยู่ แต่ก็ยังไม่ค่อยตอบโจทย์เท่าไหร่ หลังจากที่เราไปแมชชิ่งบ่อย ๆ ทางผู้ซื้อก็มองอะไรที่มันง่าย เขาต้องการอะไรที่มันขายได้เลย ไม่ต้องสอน เท่าที่เราไปคุยมาเขาต้องการของที่พร้อมกินได้เลย
SME ONE : มองว่าจะต่อยอดธุรกิจอย่างไร
วนัสพงษ์ : ตอนนี้สินค้าเดิมเราก็ยังไม่ได้ทิ้ง แต่อาจจะคงไว้ก่อน วันหนึ่งมันอาจจะมาตอบโจทย์ทีหลังก็ได้ ตอนนี้เราก็ไปโฟกัสที่ Product ใหม่ ที่เราค่อนข้างมั่นใจว่าน่าจะไปได้ดีกับยุคนี้ เท่าที่เราคุยผู้บริโภคยุคนี้ค่อนข้างต้องการอะไรที่สะดวก อร่อย เราก็เลยมองว่าอันนี้น่าจะเป็นทางออกที่ดี ตัวสาหร่ายบรรจุเราก็ไม่ได้เลิกไป ก็ยังมีอยู่ เพราะวันหนึ่งตัวนี้อาจจะกลับมาทีหลังก็ได้
ผมเคยคุยกับอาจารย์ที่อยู่ในส่วนของการพัฒนา Product เขาบอกก็มีเหมือนกันที่มี Product พัฒนามา 4-5 ปี ขายไม่ได้เลย แต่อยู่มาวันนึงก็ขายได้ ของบางอย่างมันอาจจะมาก่อนกาล อาจจะไม่ใช่เวลา เราก็เลยเก็บไว้ก่อน วันหลังอาจจะกลับมาก็ได้
SME ONE : ตอนที่ทุกอย่างเริ่มกลับสู่ปกติ จะกลับไปมองธุรกิจส่งออกอีกหรือไม่
วนัสพงษ์ : เราก็มองว่าสินค้าเราก็เหมาะกับการส่งออกเหมือนกัน แต่เท่าที่ลองแมทชิ่งดู เขาก็ยังต้องการในลักษณะพร้อมทานอยู่ ก็อาจจะไปลุยส่งออกอีกรอบกับสินค้าตัวใหม่เลย
SME ONE : จากนี้ต่อไปอะไรคือความท้าทายของบุญธิดาฟาร์ม
วนัสพงษ์ : ตอนนี้ความท้าทายก็น่าจะเป็นตัว Product ใหม่ มันจะทำออกมาได้ดีอย่างที่เราคิดไว้หรือเปล่า แต่จากการทดสอบกันเองในกลุ่มเล็ก ๆ ค่อนข้างเป็นไปในทางที่ดี ก็เลยมองว่าตัวนี้น่าจะเป็นทางออกที่ดีของเราได้
SME ONE : อยากให้ช่วยแนะนำคนที่อยากจะเริ่มทำธุรกิจแบบ SMEs
วนัสพงษ์ : ผมมองว่าในแต่ละปี แต่ละยุคสมัย ก็มีปัจจัยแวดล้อมที่เราควบคุมไม่ได้ ผมคิดว่าบางอย่างมันไม่ได้สำเร็จง่ายก็อาจจะต้องลุยไปกับมันสักพักนึง หาวิธีที่ดีที่สุดที่จะทำให้มันจะไปได้ บางทีเราอาจจะคิดมาดีแล้ว แต่พอไปลงสู่โลกจริง ๆ มันอาจจะไม่ใช่อย่างที่เราคิด มันอาจจะเป็นคนละอย่างเลยก็ได้
ผมมองว่ามันไม่ได้มีอะไรตายตัวว่าคุณทำแบบนี้แล้วมันจะได้แบบนี้ เราอาจจะต้องคลุกคลีกับมันเพื่อหาโอกาสของเราเองว่า สุดท้ายแล้วเราจะหยิบฉวยโอกาสแบบไหนให้เราได้ แต่ละธุรกิจอาจจะมีทั้งเหมือนกันและไม่เหมือนกัน บางสิ่งบางอย่างก็ขึ้นอยู่กับว่าเราสู้กับมันได้แค่ไหนมากกว่า และทำจนกว่าจะสำเร็จ
บทสรุป
ถ้ามองในเชิงธุรกิจของบุญธิดาฟาร์มก็คงต้องเรียกว่ายังอยู่ในช่วงของการลงทุน และพัฒนาสินค้าให้ออกมาตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลา เนื่องจากสาหร่ายพวงองุ่นเป็นพืชที่ค่อนข้างใหม่ในบ้านเรา หลายคนยังไม่ค่อยรู้จักแพร่หลาย
ทั้งนี้ทางผู้ประกอบการและภาครัฐจำเป็นต้องให้ความรู้เพื่อสร้างสร้างการรับรู้ และสร้างตลาดให้เป็นที่นิยมมากขึ้น เนื่องจากภูมิประเทศในหลายจังหวัดของประเทศไทยก็เหมาะสมที่จะใช้เป็นพื้นที่เพาะเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่น และด้วยคุณสมบัติของสาหร่ายพวงองุ่นที่เรียกว่าเป็น Super Food ก็มีโอกาสที่จะผลักดันให้กลายเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ที่สร้างมูลค่าได้
สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ได้ดำเนินโครงการจัดทำภาพอนาคต
สินค้าเกษตรสำคัญของประเทศไทย กรณีศึกษา สินค้าอาหารจากพืช (Plant-Based Food) ประจำปี
งบประมาณ พ.ศ. ๖๕๖๖ โดยจัดทำเอกสารเผยแพร่ "ภาพอนาคตสินค้าอาหารจากพืช (Plant-Based Food)" ในรูปแบบอินโฟกราฟิก และคลิปวิดีโอการดำเนินโครงการฯ สำหรับเผยแพร่ให้กับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องนำไปใช้ประโยชน์ ตาม QR Code และลิงก์ด้านล่างนี้
เอกสารเผยแพร่
https://drive.google.com/file/d/1hfrVbn6Bj2LxHEQ_4yQGig4YERBHKZap/view
คลิปวิดีโอ
https://drive.google.com/file/d/11NGUd6zydOSnVOLr6rv7p42Lzy9nXqiY/view
อินโฟกราฟิก
https://drive.google.com/file/d/12cVpntKqOPmDBPz4ZNK8E6WeMTv4uP0Y/view
https://drive.google.com/file/d/1iwCR2vG-Nnxs1viYyANkg1JRLXVFVI3H/view
อุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ร่วมผลักดัน MSME ไทย ไต่ระดับสู่ Global Standard
อุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นหน่วยงานภายใต้การสนับสนุนจากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม นับเป็นอีกหนึ่งหน่วยงานสำคัญที่ทำหน้าที่ช่วยเหลือผู้ประกอบการ MSME มีภารกิจหลักเป็นแหล่งบ่มเพาะและพัฒนาศักยภาพของภาคอุตสาหกรรมและเอกชนในภูมิภาค
ดร.อภิรชัย วงษ์ศรีวรพล ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า อุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีหน้าที่หลัก คือ การผลักดัน ช่วยเหลือ และสนับสนุนอุตสาหกรรมหรือผู้ประกอบการ MSME ผ่านการเข้าไปสนับสนุนการประกอบกิจการ โดยใช้องค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมเข้าไปช่วยยกระดับธุรกิจของผู้ประกอบการคนไทยให้มีมาตรฐานสามารถส่งออกไปสู่ระดับ Global Standard
“เราดำเนินการร่วมมือกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน รวมทั้งสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ในการช่วยกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค และยังเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมของประเทศ ทั้งในด้านการพัฒนากำลังคน การสนับสนุนการวิจัยและพัฒนา กระตุ้นให้เกิดนวัตกรรมใหม่ รวมไปถึงการสนับสนุนให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยี และองค์ความรู้สู่ภูมิภาคและระดับท้องถิ่น”
ดังนั้น การดำเนินงานของอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จะมีตั้งแต่การเข้าไปถ่ายทอดความรู้ เช่น องค์ความรู้ในการยืดอายุอาหาร, อบรมเชิงปฏิบัติการ “การจัดการฟาร์มสำหรับการผลิตแมลงโปรตีน BSF เพื่อใช้เป็นอาหารสัตว์และเพิ่มมูลค่า”, การทำตลาดด้วย Tik Tok หรือการสร้างความตระหนักรู้ให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมีเรื่องของการศึกษาทำวิจัยเกี่ยวกับภาคอุตสาหกรรม หาองค์ความรู้ใหม่ เพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงานในอนาคต
ไม่เพียงเท่านั้น ทางหน่วยงานดำเนินงานในส่วนของการร่วมพัฒนาผลิตภัณฑ์กับผู้ประกอบการโดยใช้องค์ความรู้และเทคโนโลยีจากทางอุทยานวิทยาศาสตร์ เพื่อรังสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ โดยมาจากการที่หน่วยงานเข้าไปหาชุมชน ผ่านช่องทางการจัดสัมมนา หรือออกบูธประชาสัมพันธ์ และจากทางผู้ประกอบการเข้ามาปรึกษากับหน่วยงานเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ร่วมกัน รวมไปถึงยังอำนวยความสะดวกในเรื่องของสถานที่ เพื่อสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ร่วมกันกับภาคการศึกษาภาคอุตสาหกรรม และภาครัฐบาล เพื่อส่งออกเชิงพาณิชย์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคเอกชน นำไปสู่การพัฒนาทางเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่และประเทศ
อย่างไรก็ดี ดร.อภิรชัย เผยถึงประเด็นสำคัญที่จะผลักดันให้ MSME ของประเทศไทยก้าวไปได้ไกลมากยิ่งขึ้น คือ “องค์ความรู้” เนื่องจากเล็งเห็นว่าเป็นส่วนสำคัญต่อผู้ประกอบการหรือคนทำธุรกิจเป็นอย่างมาก
โดยองค์ความรู้ที่ว่าสามารถแยกออกเป็นมิติต่าง ๆ เรื่องแรก คือ การบริหารจัดการธุรกิจ เท่าที่สังเกตพบในปัจจุบัน ผู้ประกอบการมักจะดำเนินงานในรูปแบบพ่อค้าหรือเถ้าแก่เป็นส่วนใหญ่ ยังไม่มีการดำเนินงานในลักษณะของการบริหารจัดการธุรกิจ เรื่องถัดมา คือ การบริหารการบัญชี เรื่องของรายรับ รายจ่าย ต้นทุน ภาษี เรื่องเหล่านี้ล้วนส่งผลต่อธุรกิจทั้งสิ้น แต่ MSME ผู้ประกอบการหลายรายยังขาดองค์ความรู้ส่วนนี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรค่าต่อการส่งเสริมเพิ่มเติมแก่ผู้ประกอบการเป็นอย่างยิ่ง
เรื่องสุดท้าย คือ เรื่องของนวัตกรรม เป็นองค์ความรู้อีกระดับหนึ่งที่ต้องอาศัยหน่วยงานทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชนเข้าไปช่วยกันส่งเสริม เนื่องจาก MSME หลาย ๆ แห่งอาจจะยังไม่สามารถริเริ่มเองได้แต่มีแหล่งผลิตสินค้าอยู่แล้ว เมื่อดำเนินกิจการถึงขั้นที่ต้องใช้องค์ความรู้หรือกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ งานวิจัย หรือนวัตกรรม ทางอุทยานวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่นจึงมีบทบาทสำคัญในการเข้าไปสนับสนุนในส่วนตรงนี้ให้แก่ผู้ประกอบการเพิ่มเติม
ดร.อภิรชัย อธิบายถึงการเข้าไปผลักดันกลุ่ม MSME ว่าในแง่องค์ความรู้ด้านวิชาการที่เป็นเรื่องของการบริหารจัดการ จะดำเนินงานลงพื้นที่ไปฝึกฝน ให้คำแนะนำ และคำปรึกษาแก่เหล่าผู้ประกอบการ ในส่วนขององค์ความรู้ด้านนวัตกรรมทางอุทยานวิทยาศาสตร์ฯ มักจะดำเนินการในรูปแบบของการเข้าไปทำงานร่วมกับผู้ประกอบการ เช่น อนุญาตผู้ประกอบการใช้พื้นที่หรือห้องปฏิบัติการของหน่วยงาน เพื่อวิเคราะห์หรือทดสอบตามกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ รวมไปถึงการสนับสนุนพื้นที่โรงงานที่เปรียบเสมือนสถานที่ทดลองผลิตสินค้าให้ผู้ประกอบการสามารถผลิตสินค้าตัวอย่าง เพื่อนำไปทดลองกับตลาดเป้าหมายก่อนดำเนินการจัดจำหน่ายอย่างเป็นทางการ ซึ่งการดำเนินงานในส่วนนี้จะเป็นส่วนสำคัญในการช่วยผู้ประกอบการประหยัดทั้งต้นทุน และระยะเวลา
“เราต้องลงพื้นที่เซ็ตอัพรายการผลิต การจัดการวัตถุดิบ และอื่น ๆ ให้แก่ผู้ประกอบการ จากนั้นจะนำวัตถุดิบดังกล่าวมาทดลองผลิตในพื้นที่ของเรา หลังจากการทดลองผลิตจะมีการนำไปทดลองจำหน่ายว่ามีผลตอบรับเป็นอย่างไร มีจุดบกพร่องตรงไหน เพื่อนำมาปรับปรุงกระทั่งสามารถวางจำหน่ายได้อย่างมีคุณภาพ
เมื่อทุกอย่างอยู่ในจุดที่ลงตัวจนผู้ประกอบการพร้อมลงทุน เราจะถ่ายทอดองค์ความรู้ในส่วนอื่นเพิ่มเติม เช่น การทำตลาด การบริหารจัดการด้านต่าง ๆ เพิ่มเติม เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถดำเนินธุรกิจได้ด้วยตนเอง”
นอกจากนี้ ทางอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีการร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน อาทิ หน่วยงานพาณิชย์จังหวัด อุตสาหกรรมจังหวัด เกษตรจังหวัด ปศุสัตว์จังหวัด หน่วยพัฒนาเศรษฐกิจจังหวัด กรมพัฒนาชุมชน สภาอุตสาหกรรม BOI เป็นต้น ซึ่งเป็นการดำเนินงานร่วมกันเพื่อสนับสนุนกลุ่มผู้ประกอบการ ตั้งแต่การจดทะเบียน การดำเนินงาน ไปจนถึงการส่งเสริมการขาย
ทั้งนี้ในอนาคต อุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีเป้าหมายการดำเนินงาน 2 ส่วนหลัก ได้แก่
1) มุ่งมั่นดำเนินการใน 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ตาม New S-curve โดยมีความตั้งใจยกระดับ SMEs ในเมืองไทย ให้กลายเป็น MSME ที่มี Innovation อยู่ภายใต้การดำเนินงาน สามารถพึ่งพาตนเองได้
2) ส่งเสริม MSME ในประเทศให้เติบโตสู่เวทีระดับโลก กล่าวคือ ยกระดับจาก Local สู่ Global เพื่อให้กลายเป็นต้นแบบผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่จะถือกำเนิดตามมา
“ปัจจุบันผลิตภัณฑ์จากกลุ่ม MSME ของเรามีการส่งออกผลิตภัณฑ์ไปยังต่างประเทศ อาทิ ญี่ปุ่น อเมริกา แคนาดา เม็กซิโก แต่ยังนับเป็นเปอร์เซ็นต์การส่งออกที่น้อยมาก ฉะนั้นเราจึงมีเป้าหมายที่จะผลักดันให้ผลิตภัณฑ์จากกลุ่ม MSME บ้านเราสามารถส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศ ทั้งในประเทศจีนหรือประเทศในแถบตะวันออกกลางให้มีปริมาณเพิ่มมากยิ่งขึ้น เพื่อสร้างแนวโน้มที่ดีต่อ MSME ไทยในอนาคต”
ดร.อภิรชัย กล่าวเสริมว่า ทุก MSME มีความต้องการที่จะส่งออกผลิตภัณฑ์ รวมไปถึงเติบโตในต่างประเทศ แต่ในแง่ของการดำเนินงานยังจำเป็นต้องอาศัยกลไกสนับสนุนอีกหลายด้าน ฉะนั้นถ้าได้รับการผลักดันและส่งเสริมมากขึ้น จะยิ่งทำให้กลุ่ม MSME และประเทศไทยก้าวไปสู่เวทีระดับโลกได้เร็วยิ่งขึ้นตามมา
มากไปกว่านั้น ดร.อภิรชัย ยังชี้ให้เห็นถึงความไม่สมดุลของจำนวนอุทยานวิทยาศาสตร์ทั่วประเทศไทยที่มีจำนวน 16 ศูนย์ ขณะที่จำนวนผู้ประกอบการ MSME ในเมืองไทยมีจำนวนเยอะมาก ฉะนั้นทำให้การรองรับอาจยังไม่เพียงพอ จึงเสนอแนวทางแก้ไขเพิ่มเติมว่า
“อุทยานวิทยาศาสตร์ที่มีอยู่อย่างจำกัดทำให้อาจเกิดปัญหาตามมา ในแง่ของการไม่สามารถดำเนินงานรองรับกลุ่ม MSME ทั่วประเทศได้อย่างเพียงพอ ฉะนั้นแล้วภาครัฐหรือผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ควรหันมามองและตระหนักถึงการสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานในส่วนตรงนี้เพิ่มเติม”
สำหรับผู้ประกอบการ MSME ที่สนใจ สามารถหาข้อมูลเพิ่มเติม หรือจะขอคำปรึกษาสามารถติดต่อได้ที่อีเมล info@kkusp.com หรือ เฟซบุ๊กเพจ KKU Science Park หรือโทร (+66) 8 9172 7126 และ
(+66) 43 048 048
กรมทรัพย์สินทางปัญญา (DIP)
ทุกคนรู้ว่า การจะสร้างธุรกิจให้เกิดขึ้นได้นั้น มีหลายเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญ ทั้งเรื่องแผนธุรกิจ เรื่องเงินทุน เรื่องการตลาด แต่ผู้ประกอบการจำนวนมาก กลับลืมคำนึงถึงอีกหนึ่งเรื่องใกล้ตัวที่สำคัญไม่แพ้เรื่องข้างต้น และเป็นเรื่องใกล้ตัวที่อยู่คู่กับทุกธุรกิจ นั่นก็คือ เรื่องของทรัพย์สินทางปัญญา
การขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องทรัพย์สินทางปัญญานั้น อาจส่งผลให้ผู้ประกอบการเสียสิทธิในความคุ้มครองทางธุรกิจด้านต่างๆ และอาจไปจนถึงการไม่ได้รับสิทธิความเป็นเจ้าของในธุรกิจของตนเองได้
กรมทรัพย์สินทางปัญญา จึงได้พัฒนายกระดับรูปแบบการให้บริการ ที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าใจกลไลและหลักเกณฑ์ในการคุ้มครองด้านต่างๆ และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างถูกต้องสมบูรณ์เต็มประสิทธิภาพมากที่สุด จึงเปิดศูนย์ให้คำปรึกษาด้านทรัพย์สินทางปัญญาขึ้น ในชื่อว่า ศูนย์ IPAC (Intellectual Property+ Advisory Center) ที่จะเป็น One-Stop-Services พร้อมการบริการครบวงจรในจุดเดียว ที่มอบความสะดวกสบายให้กับผู้ประกอบการ
บทบาทของ IPAC นั้นต้องการที่จะสร้างให้ผู้ประกอบการนั้น รู้หลักเกณฑ์ในการสร้างสรรค์ออกแบบธุรกิจ ให้ได้รับสิทธิความคุ้มครองอย่างสมบูรณ์โดยอัตโนมัติ เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถประกอบธุรกิจได้อย่างเกิดประโยชน์สูงสุด และสามารถปกป้องธุรกิจของตัวเองได้
บริการจากทางศูนย์
ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อได้ที่
กรมทรัพย์สินทางปัญญา (DIP)
ที่อยู่: 563 ถนนนนทบุรี ต.บางกระสอ อ.เมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 1368
อีเมล: saraban@ipthailand.go.th
เว็บไซต์ : eservice.ipthailand.go.th
Facebook: ipthailand
สเปรย์ พลิกฟื้นตำรับยาโบราณ 100 ปี สู่สินค้านวัตกรรม
แม้ว่าในปัจจุบันเทคโนโลยีทางการแพทย์สมัยใหม่จะเจริญรุดหน้าไปมาก แต่ในทางคู่ขนานยาที่สกัดจากพืชสมุนไพรก็ยังคงเป็นทางเลือกที่หลายคนให้การยอมรับ ยิ่งในยุคที่วิทยาศาสตร์สามารถพิสูจน์คุณสมบัติของสมุนไพรได้อย่างแม่นยำ ยาสมุนไพรจึงมีความน่าเชื่อถือเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะ
“สุวรรณ สเปรย์” ถือเป็นสินค้าสมุนไพรพื้นบ้านที่คุณยุ้ย ณฐมน ปิยะพงษ์ CEO บริษัท เบญสุ จำกัด ทายาทรุ่น 3 ที่คุณทวดเป็นหมอยาชุมชนเคยปรุงสูตรยาไว้กว่า 100 ปีมาพัฒนาเมื่อไม่นานมานี้
คุณณฐมนเล่าว่า ตนเองต้องการที่จะนำคุณค่าของสมุนไพรไทยกลับมาให้คนรุ่นใหม่ได้ใช้ในชีวิตประจำวันอย่างปลอดภัย จึงได้มีการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพรจากมะกรูด เพื่อสกัดสาร “เบต้าไพนีน” ที่มีคุณสมบัติช่วยบรรเทาการปวดเมื่อยได้ดีไม่แพ้ยาแผนปัจจุบัน
เส้นทางการแจ้งเกิดของ “สุวรรณ สเปรย์” ถือเป็นอีกหนึ่งกรณีศึกษาที่น่าสนใจ ที่สามารถถอดเป็นบทเรียนทางธุรกิจได้เป็นอย่างดี
SME ONE : จุดเริ่มต้นของสุวรรณ สเปรย์ เกิดขึ้นมาได้อย่างไร
ณฐมน : จุดเริ่มต้นที่มาที่ไปของสุวรรณ สเปรย์ เริ่มมาจากเรื่องราวเมื่อ 100 กว่าปีที่แล้วตามมาจนถึงปัจจุบัน คือ คุณทวดยุ้ยที่เป็นหมอยา หมอยาชุมชน หมอยาเขาจะมีสูตรในการรักษาอาการเจ็บป่วยให้กับคนในชุมชน อันนี้ยุ้ยก็จะได้รับสูตรนี้ตกทอดมาถึงรุ่นเรา ซึ่งมี CEO อีกท่านคือ คุณปฏิภาณเป็นผู้พัฒนาสูตรที่มีมา
เราอยากนำคุณค่าของสมุนไพรไทยส่งกลับมาให้คนรุ่นใหม่ได้ใช้ในชีวิตประจำวัน แล้วก็ได้ใช้อย่างปลอดภัย เพื่อลดปัญหาการปวดเมื่อยที่มีอยู่ไม่ให้ลุกลามจากปวดเมื่อยเล็ก ๆ ลุกลามกลายเป็นปวดเมื่อยเรื้อรัง เพราะฉะนั้น สุวรรณ สเปรย์เกิดมาจากการนำความเชื่อที่เรามีมาสร้าง วิเคราะห์ต่อยอดด้วยกระบวนการสกัดสมุนไพรโบราณด้วยวิทยาศาสตร์ และนำมาทำผลงานวิจัยรองรับ เพื่อนำคุณค่าจากอดีตมาสู่ปัจจุบัน
SME ONE : ที่เล่าว่าเป็นภูมิปัญญา 100 ปีนี่เป็นของครอบครัว หรือเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น
ณฐมน : เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นของบรรพบุรุษ ซึ่งเมื่อ 100 กว่าปีที่แล้ว คุณทวดเป็นหมอยาแล้วก็มีสูตรนี้ตกทอดกันมา จนมาถึงเราที่เป็นลูกหลาน เราก็เลยนำสูตรนี้กลับมาใช้ในปัจจุบัน แต่การที่จะนำกลับมา มันคือความเชื่อของเราว่าสูตรนี้ใช้ได้ผลดีในอดีต แต่จะเอากลับมาให้คนรุ่นใหม่ใช้มันต้องมีผลทางวิทยาศาสตร์เข้ามารองรับ เราจึงเริ่มธุรกิจนี้ด้วยการเปลี่ยนความเชื่อของเราให้กลายเป็นความจริง
ยุ้ยเป็นทายาทรุ่นที่ 3 ของตระกูล คุณทวดเป็นหมอยา คุณพ่อ คุณแม่รับราชการไม่ได้รับช่วงต่อ แต่สูตรนี้ก็ตกทอดมาเรื่อยๆ จนมาถึงรุ่นยุ้ยที่ทำธุรกิจธุรกิจสปา ยุ้ยก็รับทราบมาว่าเรามีสูตรยาที่ช่วยดูแลเรื่องอาการปวดเมื่อย คุณปฏิภาณซึ่งเป็น CEO อีกท่านหนึ่ง ก็นำสูตรของบรรพบุรุษนี้มาพัฒนาเป็นสเปรย์ที่ใช้ในร้าน แล้วเราก็ใช้ให้กับลูกค้าที่เป็นออฟฟิศ ซินโดรมที่มานวดแก้ไขอาการ ทำให้ที่ร้านได้รับการขอบคุณจากลูกค้าที่มาว่าร้านนี้ใช้ผลิตภัณฑ์ดี นวดแล้วผ่อนคลายกล้ามเนื้อ จากเขาที่เคยรักษาที่อื่นเป็นการนวดทั่วไป แต่พอมาหาเรา มันเหมือนการฟื้นฟู อาการที่เขาเจ็บมันถูกผ่อนคลายได้ดีขึ้น
สปา ของยุ้ยชื่อร้าน ณฐมน Massage & Spa เป็นสปาที่ใช้หลักการแพทย์แผนไทย เรามีพนักงานนวดที่จบแล้วก็ได้มาตรฐานจากสาธารณสุข เราทำสปามา 7 ปี Product อันนี้อยู่กับสปามาเรื่อย ๆ แต่มาเริ่มพัฒนาเป็นสินค้าในปีที่ 3 และออกเป็นสินค้าในปีที่ 4 แล้วก็ทำ Product ควบคู่กันมา ตอนนี้ก็มี Product กับสปาควบคู่กันอยู่
SME ONE : วันที่ตัดสินใจทำสเปรย์เห็นโอกาสทางธุรกิจอย่างไร
ณฐมน : ตอนนั้นเจอวิกฤต COVID-19 ร้านเราก็ต้องถูกปิดตามที่สาธารณสุขออกกฎหมาย โดยเฉพาะร้านนวดที่ต้องควบคุมการติดต่อ ลูกค้าก็จะถามแบบเมื่อไหร่เปิด? เราก็แบบเปิดให้บริการไม่ได้ พอเราบริการไม่ได้ ธุรกิจหลักของเราก็หยุดนิ่ง ประกอบกับลูกค้ามีความต้องการ เราก็บอกถ้าบริการไม่ได้ เราขอส่งตัวสเปรย์ที่เราใช้ให้ลูกค้าไปใช้ที่บ้านก่อนได้ไหม ลูกค้าเขาก็แฮปปี้ ก็คือมีการแบบโทรมา เราก็จะส่งสเปรย์ไป
ทีนี้ Feedback ลูกค้าบอกว่าตอนที่นวดกับหมอที่ร้าน แล้วคุณหมอนวดร่วมกับสเปรย์รู้สึกดีมาก ๆ เลย แต่พอกลับไปบ้าน ไม่มีคุณหมอนวดใช้แค่สเปรย์ก็ยังรู้สึกดี ผ่อนคลายได้ก็เลยเป็นจุดเริ่มต้น
สถานการณ์ COVID-19 บังคับให้เราต้องปิดกิจการ ต้องหยุดชั่วคราว ดังนั้นเราจึงมองเห็นโอกาสว่าธุรกิจเสริมของเราอีกตัวหนึ่ง ด้วยการพัฒนาเป็นสินค้าดีกว่า เพราะว่าไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น คนเราก็ยังรักษาสุขภาพอยู่ ความต้องการก็ยังมีอยู่ ก็เลยเกิดธุรกิจของตัวสเปรย์ขึ้นมา จนปัจจุบันสัดส่วนรายได้จากสเปรย์มากกว่าร้านสปาแล้ว
SME ONE : พอเริ่มสร้างแบรนด์ตัวเอง ช่วงแรกๆ เจอปัญหาอะไรบ้างหรือไม่
ณฐมน : ปัญหาที่เจอคือช่วงแรกๆ สูตรดั้งเดิมของบรรพบุรุษที่ทำต่อเนื่องมา มันจะมีความเหนียวหนืดแบบน้ำมัน กลิ่นที่จะมีความเป็นโบราณ แล้วก็ Texture ที่เวลาอยู่กับผิวแล้วจะรู้สึกไม่ค่อยสบายตัว เพราะว่ามันเป็นสูตรที่ใช้ร่วมกับการนวด พอเรานำสูตรนี้มา เราก็ต้องมาศึกษาก่อนว่าสิ่งที่เราจะส่งให้คนรุ่นใหม่โดยที่เขาเอากลับไปใช้เองได้ที่บ้าน ไม่ต้องนวด สินค้าที่จะทำออกมาต้องมีความแตกต่างจากสินค้าที่มีในตลาดทั่วไป แล้วก็ต้องมาคิดกระบวนการว่าเราจะนำส่งคุณค่าอย่างไรให้ลูกค้า ก็เริ่มตั้งแต่กระบวนการเริ่มพัฒนาสารสกัด พัฒนาสูตร แล้วก็พัฒนากลิ่น จนได้มาที่เป็นสูตรแตกต่าง คือสเปรย์ที่ไม่ต้องนวดก็คลายปวดได้ด้วย Texture เป็นน้ำมันที่บางเบา ซึมเข้าผิวเลย ไม่เหนียวเหนอะหนะ ไม่มีสี แล้วก็พัฒนากลิ่น ให้กลิ่นเข้ากับยุคของคนรุ่นใหม่ ให้คนรุ่นใหม่ใช้ได้ แล้วอีกอย่างหนึ่งก็คือ สูตรร้อนและเย็นอยู่ในขวดเดียวกัน อันนี้เราใช้หลักการปฐมพยาบาลเบื้องต้น ที่เหมือนกับมีประคบร้อน แต่ประคบร้อนที่ผ่อนคลาย ไม่ใช่ร้อนจนเกินไป
SME ONE : คุณสมบัติเด่นของสุวรรณ สเปรย์ คืออะไร
ณฐมน : สุวรรณ สเปรย์ เราใช้มะกรูดเป็นส่วนผสมหลัก พอเราเอามาใช้กับงานสปา เราก็รู้ว่าสเปรย์ตัวนี้มีคุณสมบัติที่ช่วยผ่อนคลายลูกค้า นอกจาก Treatment ด้วยการนวดแล้ว ตัวสเปรย์ยังช่วยให้รู้สึกผ่อนคลายมากยิ่งขึ้น พอเราเอามาทำ Product เรารู้แล้วว่าสัดส่วนปริมาณสูตรของเราดีอยู่แล้ว เราก็ต้องทำอย่างไรเพื่อที่จะนำคุณค่าส่งต่อถึงคนรุ่นใหม่ เราต้องใช้วิทยาศาสตร์มารองรับ เขาบอกว่าดี ๆ แต่เราอยากบอกว่าของเราดีด้วยคุณค่า เราก็เลยเข้าไปปรึกษากับทางมหาวิทยาลัยบูรพาว่าเรามีสูตรนี้อยู่ เราต้องการพัฒนา เราควรทำอย่างไรบ้าง
ทางมหาวิทยาลัยบูรพาก็ช่วยเราในการวิเคราะห์ว่าสูตรของเรา สารสกัดของเราคืออะไร แล้วก็มาพัฒนาสารสกัดให้เป็นสารสกัดที่บริสุทธิ์มากยิ่งขึ้น พอเราได้สารสกัดมาเสร็จ เราก็มาทำงานวิจัยว่าสารสกัดเบต้าไพนีนที่เราได้มาจากมะกรูดด้วยนวัตกรรมการสกัดด้วยเทคโนโลยี สารสกัดนี้ช่วยบรรเทาปวด แต่เราต้องการให้คนรุ่นใหม่เขาเชื่อในผลวิจัย เราก็ต้องเอามาเข้า Lab Test เทียบกับยาแก้ปวดไดโคลฟีแนค เพื่อที่เราจะบอกว่าสเปรย์ของเราคลายปวด เราก็ต้องเทียบเคียงกับยาแก้ปวด ใน Lab Test เราก็จะเลือกใช้ไดโคลฟีแนค ซึ่งเป็นยาแก้ปวดที่คุณหมอจะจัดให้กับคนไข้เสมอ ๆ เอามาเข้า Lab Test ปรากฏว่าค่าของเบต้าไพนีนที่เป็นสารสกัดจากธรรมชาติที่เราสกัดออกมา มีคุณสมบัติเทียบเคียงและสูงกว่าไดโคลฟีแนคในการที่ใช้บรรเทาอาการปวด ซึ่งคณะเภสัชศาสตร์ของมหาวิทยาลัยบูรพาก็ยังตกใจ
อันนี้คือผลงานใหม่ที่ก็ไม่มีใครรู้มาก่อนว่ามะกรูดแก้ปวดได้ แต่เราจะบอกว่ามะกรูดเราแก้ปวดได้ เราบอกใคร ใครจะเชื่อใช่ไหม เราก็ต้องมีผลงานทางวิทยาศาสตร์ นวัตกรรม งานวิจัยเข้ามารองรับประสิทธิภาพ
SME ONE : คนรุ่นใหม่เขาเปิดรับยาสมุนไพรมากน้อยเพียงใด
ณฐมน : คนรุ่นใหม่ห่วงใยเรื่องสุขภาพในชีวิตประจำวัน เราอยู่กับเทคโนโลยี อยู่กับความเจริญ อยู่กับ AI มาเยอะ แต่คนรุ่นใหม่ก็ให้ความสนใจเรื่องสุขภาพ วิ่งหาสินค้าออร์แกนิก อะไรที่เป็นธรรมชาติ คนเราเมื่อมีความเจริญเข้ามาแทนที่ธรรมชาติที่มากเกินไป คนจะกลับไปหาธรรมชาติทุกอย่าง เช่นจะหาข้าวออร์แกนิก ผักออร์แกนิก สินค้าออร์แกนิก นมออร์แกนิก เพราะฉะนั้นคนรุ่นใหม่ใส่ใจเรื่องสุขภาพ จึงหันมาดูแลตัวเองด้วยสมุนไพร ส่วนยาสมุนไพร เขาไม่ค่อยมั่นใจหรอกว่าสมุนไพรมันแก้ได้ มันคือความเชื่อเดิม
แต่วันนี้สุวรรณ สเปรย์กำลังจะบอกว่าเรามีคุณค่าและงานวิจัยเข้ามารองรับว่าสมุนไพรตัวนี้สามารถที่จะทดแทนการทานยาแก้ปวดในชีวิตประจำวันที่เราทำงานปวดออฟฟิศซินโดรม คอ บ่า ไหล่ หลัง จากการนั่งทำงานวันละ 8 ชั่วโมงหรือมากกว่านั้น ทุกวันนี้เรากลับบ้าน เราก็ขับรถ เราเล่นมือถือ เราใช้ร่างกายหนักทุกวัน เพราะฉะนั้นคนรุ่นใหม่ก็จะเริ่มไปออกกำลังกาย กินอาหารออร์แกนิกเพื่อรักษาสุขภาพ ดังนั้นมันเป็นเทรนด์ของโลกยุคใหม่ ที่การที่รักษาสุขภาพ ไม่ใช่คนแก่ เริ่มตั้งแต่คนรุ่นใหม่เลย วัยทำงานเริ่มใส่ใจสุขภาพแล้ว
SME ONE : เราเรียกสุวรรณ สเปรย์ ว่าเป็นสินค้านวัตกรรมได้หรือไม่
ณฐมน : ได้ค่ะ เราเป็นนวัตกรรมสกัดสารเบต้าไพนีนออกมาจากมะกรูดด้วยกระบวนการ แล้วนำสารสกัดตัวนี้มาทำงานวิจัย พัฒนาสูตรออกมาให้อยู่ในรูปของสเปรย์ มีการเก็บข้อมูลว่าสิ่งที่จะช่วยให้การบรรเทาปวดง่ายและคนนิยมที่เยอะที่สุด ก็คืออยู่ในรูปของสเปรย์ ดังนั้นเบต้าไพนีนของเราจึงพัฒนามาอยู่ในรูปของสเปรย์ใช้ง่าย แค่ฉีด พกพาก็ปลอดภัย
ตอนนี้สินค้าเรามีทั้งหมด 3 SKU มีเป็นสเปรย์ แล้วก็มีเป็นลูกกลิ้ง ถ้าสเปรย์จะเอาไว้บรรเทาอาการปวด ส่วนลูกกลิ้งพกพา เอาไว้สูดดม ลูกกลิ้งจะเป็นสูตร 2 in 1 มีเบต้าไพนีนอยู่ในนี้ ช่วยลดอาการปวดไมเกรน ปวดหัว เราพัฒนามาให้คนรุ่นใหม่ใช้ได้ พกง่าย เพราะปัจจุบันนี้คนรุ่นใหม่ติดยาดม แต่จะดมอย่างไรให้ปลอดภัย ไม่ทำร้ายโพรงจมูก ก็ต้องดมด้วยสูตรที่อ่อนโยนต่อสุขภาพ เพราะว่ายาดมแรง ๆ คนรุ่นใหม่จะติดแบบดมตลอดเวลา อันนั้นคือการติดยาดม เพราะว่าดมแล้วมันโล่ง แต่ว่าทุกอย่างมันมี Side Effect อะไรที่มันมากเกินไปเกินความพอดี โพรงจมูกเราจะพังโดยไม่รู้ตัว จะสังเกตว่าบางทีเราอาจจะไม่ได้กลิ่นอะไรที่มันอ่อน เพราะจมูกเราชินกับกลิ่นแรง ๆ ไปแล้ว
ส่วนที่บอกว่าตัวลูกกลิ้งช่วยเรื่องไมเกรน ไมเกรน คืออาการปวดช่วงบน คนที่เป็นไมเกรนจะทราบดีว่าจะเริ่มจากคอบ่าไหล่ที่แข็งตึง จนปวดและขึ้นสมอง เพราะฉะนั้นตัวลูกกลิ้ง เขามีคุณสมบัติของสมุนไพร 2 สูตรเอามาผสมกัน สูตรแรกเป็นสูตรคลายปวดที่มีเบต้าไพนีน อีกสูตรนึงเป็นสมุนไพรสูตรผ่อนคลายเกี่ยวกับยาดม ช่วยให้โล่งจมูก ลดอาการอักเสบของโพรงจมูก ลดอาการอักเสบของไซนัส แล้วหัวลูกกลิ้งมันช่วยนวดเส้นไมเกรน แล้วก็สามารถคลึงที่หนังศีรษะลดอาการไมเกรนได้ พอไมเกรนมาปุ๊บ ลูกกลิ้งตัวนี้จะช่วยให้ผ่อนคลาย กลิ่นช่วยให้สบายขึ้น แล้วก็ลูกกลิ้งช่วยนวดคลายเส้น สารสกัดลงไปช่วยผ่อนคลาย ตัวนี้ก็ค่อย ๆ ลดระดับของไมเกรนได้ ถ้าคนที่เป็นไมเกรนในระดับเริ่มต้น แล้วผ่อนคลายด้วยธรรมชาติบำบัดสามารถใช้ได้เลย ปลอดภัย
ส่วนอันที่ 3 จะเป็นบาล์ม บาล์ม คือยาหม่องใช่ไหม คนรุ่นใหม่ไม่ใช้แน่นอน แต่สิ่งที่ยุ้ยทำมาก็คือเป็นเนื้อบาง เบา ไม่เหนียวอยู่ในตลับอะลูมิเนียม พกพาง่าย แล้วก็กลิ่นที่เป็นมิตร เพราะว่าเราทำสปามาก่อน เราจะเข้าใจว่าลูกค้าจะไม่ชอบกลิ่นแบบโบราณ แต่ทุกตัวมีเบต้าไพนีนหมด ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์การใช้ ตัวนี้จะมีความมัน มีน้ำมัน ช่วยบีบ ช่วยนวด ช่วยแบบนวด รีดเส้น อะไรอย่างงี้ได้ แต่สเปรย์เป็นน้ำมันที่มีการพัฒนาสูตรให้บางเบา แค่ฉีดไม่ต้องนวด สำหรับความสะดวกสบาย ก็เลยมี 3 SKU
ปัจจุบันก็กำลังที่จะพัฒนาและแตกยอดอีกประมาณปลายปี น่าจะมี Product เพิ่มขึ้น จะเป็นสเปรย์อีกตัว แต่จะออกแบบมาเพื่อให้นักกีฬาใช้ คือ ความปวดมันมีหลากหลายกับกลุ่มคนและช่วงวัย ทีนี้กลุ่มคนที่เป็นนักกีฬา มี Feedback กลับมาว่า สุวรรณ สเปรย์ช่วยลดตะคริวและคลายกล้ามเนื้อในระหว่างที่เขาวิ่ง เขามีอาการบาดเจ็บ ตะคริวขึ้น ฉีดสุวรรณ สเปรย์แล้วตะคริวมันลง แล้วเขาวิ่งต่อได้ แล้วพอกลับมาบ้าน เขาก็ฟื้นฟูด้วยสเปรย์ นวดฟื้นฟู กล้ามเนื้อเขาดีขึ้น เพราะว่ามันไม่บาดเจ็บ อาการปวดมันไม่เรื้อรังต่อ เหมือนการ Treatment กล้ามเนื้อ พอนักกีฬามี Feedback มาว่าสเปรย์ตัวนี้ที่เขาหยิบของคุณแม่มาใช้ อันนี้แรก ๆ เลยนะคะ พอใช้แล้ว เขาพกไป ทำให้เขาสามารถวิ่งต่อได้ แล้วหลังจากที่เขากลับมา อาการปวดกล้ามเนื้อ ปกติเขาจะต้องพักรักษาตัวประมาณ 15 วัน ครึ่งเดือน อาการที่ตึงมาก ๆ ก็จะค่อย ๆ ลง แต่พอใช้ร่วมกับสุวรรณ สเปรย์แค่ประมาณ 5 วัน อาการที่เขาปวดตึงมาก ๆ มันผ่อนคลายลงมาได้
เราก็เลยแบบว่าโอเค เดี๋ยวเราจะพัฒนาสูตรให้กับนั่งวิ่งโดยเฉพาะ เพราะว่าอาการตะคริว อาจจะต้องเพิ่มหรือลดบางอย่าง การแก้ปวดแต่ละช่วงวัย แต่ละกิจกรรม ใช้ไม่เหมือนกัน เราก็ต้องปรับสินค้าเราให้เข้ากับกลุ่มลูกค้า โดยที่เรียนรู้จากพฤติกรรมการใช้งานของลูกค้า
SME ONE : เคยไปขอคำปรึกษากับหน่วยงายภาครัฐบ้างหรือไม่
ณฐมน : หน่วยงานภาครัฐช่วยเราตั้งแต่แรกเลยค่ะ อันดับแรกคือ เรามีสินค้าที่เป็นสูตรดั้งเดิมของเรามา เราเข้ามาปรึกษากับนักวิจัยของหน่วยงาน UBI กองบริหารงานนวัตกรรมของมหาวิทยาลัยบูรพา เพื่อที่เราจะทำสารสกัดตัวนี้ออกมาจากมะกรูด คือสมัยโบราณ เขาก็จะมีวิธีทำของเขาแบบนึง แต่เราคนรุ่นใหม่ เราจะพัฒนาการสกัดให้เป็นอีกแบบนึง เราก็เข้ามาหาหน่วยงานนี้ UBI ก็ช่วยพัฒนาสกัดสาร ปรับปรุงให้เรา มีวิธีอะไรที่ทำให้สารสกัดดีขึ้น ได้คุณภาพขึ้น สะอาดขึ้น ปลอดภัยขึ้น พอพัฒนาสารสกัดเสร็จ มีงานวิจัยรองรับก็จะเป็นช่วงที่เรา Take off เริ่มทำการตลาด
พอสินค้าเราเริ่มมีจุดแข็ง เราก็เข้ามา Spin off กับอุทยานวิทยาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยบูรพา เขาก็จะมาบ่มเพาะเราในฐานะผู้ประกอบการหาจุดอ่อน - จุดแข็ง หาโอกาสในธุรกิจให้ธุรกิจเรา มั่นคงและยั่งยืนต่อไป แล้วก็จะมีไปปรึกษาสสว. ที่อยู่ในจังหวัดชลบุรีก็จะมีหลักสูตรสอบรม แล้วก็จะมีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ DITP แล้วก็ล่าสุดก็จะเป็น EXIM Bank, สวทช. เพราะว่าสินค้า พอเราเข้าเป็นสินค้าที่ต้องการที่จะขับเคลื่อนอยู่ในเส้นทางสุขภาพ มาตรฐานต่าง ๆ นี่จะต้องสูงตาม เราก็ต้องขอความรู้จากนักวิจัยหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อพัฒนาสินค้าเราไป
SME ONE : ลูกค้าส่วนใหญ่รู้จักเราได้อย่างไร
ณฐมน : ส่วนใหญ่รู้จักผลิตภัณฑ์เรา จากช่องทางที่เราวางจำหน่ายกับกิจกรรมหลากหลาย เช่น แม่บ้านจะไปร้านสินค้าสุขภาพ ร้านขายยา แล้วก็ร้านกีฬาใช่ไหมคะ แล้วก็ใน Gourmet สยามพารากอน จากตรงนี้พอเขาใช้ดี ซื้อซ้ำ แล้วก็บอกต่อ มันคือการกระจายไปเรื่อย ๆ ธุรกิจที่ยั่งยืน จะต้องถูกใจ ใช้ดี ซื้อซ้ำ บอกต่อ คือการขยายตลาดแบบออร์แกนิก ต่อมายุ้ยก็ต้องแบบปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัย ออนไลน์ต้องเข้ามา ยุ้ยก็ต้องทำการตลาดออนไลน์เพิ่ม ก็ช่องทางออนไลน์ก็เป็นการสื่อสาร Education กับกลุ่มลูกค้าต่าง ๆ ก็ทำให้ลูกค้ารู้จักเรามากขึ้น
SME ONE : ปัจจุบันสินค้าทั้ง 3 ตัว วางจำหน่ายที่ไหนบ้าง
ณฐมน : ปัจจุบันมีวางจำหน่ายทั้งออนไลน์และออฟไลน์ ถ้าเป็นออนไลน์ เราขายทุกช่องทาง Shopee, Lazada, Facebok, Line, TikTok ก็เริ่มมีแล้ว ส่วนออฟไลน์ เราก็มีหน้าร้านเรา แล้วก็หน้าร้านของคู่ค้า ร้านสินค้าสุขภาพ, ร้านกีฬา, ร้านขายยา แล้วก็มีที่สยาม พารากอนใน Gourmet Market ที่เป็นโซนแหล่งท่องเที่ยว และล่าสุดก็คือทำ B2B กับ CP ได้เข้าไปอยู่ในร้านขายยาของ CP Extra ที่อยู่ติดกับ 7-Eleven
SME ONE : อยากจะต่อยอดธุรกิจอย่างไร
ณฐมน : สิ่งแรกที่ยุ้ยมอง ยุ้ยก็มองว่าคุณค่าที่ลูกค้าจะได้รับคืออะไรต่อไปหลังจากนี้ ธุรกิจตอนนี้ เรามุ่งเน้นการสร้างคุณค่า คือที่ทำมา 3 ปี ถ้าเป็นสินค้าอื่นไม่น่าจะอดทนทำมานานถึงขนาดนี้ แต่ยุ้ยทำอันนี้มา 3 ปี ที่ยุ้ยบอกว่าเปลี่ยนความเชื่อให้เป็นความจริง มีงานวิจัย มีอะไรพวกนี้ มันใช้เวลา ใช้ความอดทน ฟูมฟักมากว่าจะได้ข้อมูล Data ออกมา หลังจากนี้ Product มันมีคุณภาพแล้ว ใช้ดี ซื้อซ้ำ บอกต่อ อันนี้คือคุณค่าและ Mindset ในธุรกิจของยุ้ย พอบอกต่อไป มันก็เกิดการที่ธุรกิจเล็ก ๆ มันก็เริ่มโต ๆ ขึ้น ด้วยสารสกัดหลักของเบต้าไพนีน ยังมีคุณสมบัติอื่นมากกว่าที่จะคลายปวดลดเมื่อย
Step ต่อไปของเราคือ นำเทคโนโลยีเข้ามาพัฒนาสารสกัดให้สามารถเป็นสินค้าตัวอื่นเกี่ยวกับสุขภาพต่อไป อาจจะเป็นแผ่นแปะลดอาการปวด หรือช่วยเรื่องการนอนหลับ
SME ONE : มองตลาดต่างประเทศบ้างหรือไม่
ณฐมน : มองค่ะ เพราะว่าเราต้องการที่จะยกคุณค่าของสมุนไพรไทย คือต่างประเทศเขา Concern มาว่าถ้าเป็นสมุนไพร เขายอมรับว่าเมืองไทยมีสมุนไพรที่มีคุณค่า แต่มีคุณค่าอย่างไร การจะเติบโตในต่างประเทศได้ต้องมีมาตรฐาน ถ้ายุ้ยอยากจะสร้างมาตรฐานอันนี้ ยุ้ยก็ต้องเริ่มทำตั้งแต่กระบวนการผลิต มาตรฐานงานต่าง ๆ เพื่อที่จะส่งออกได้ ดังนั้นตัวนี้ยุ้ยมองว่าเบต้าไพนีนเป็นเอกลักษณ์ของในประเทศไทยที่มีในมะกรูด ต่างประเทศเขาไม่ได้มีมะกรูด มันเป็น New Herb Innovation ตัวใหม่ ที่เราสามารถนำคุณค่าไปส่งมอบให้กับคนต่างประเทศได้ ตอนนี้เราส่งไปมาเลเซีย แล้วก็กำลังจะขยายไปลาว คู่ค้าก็จะขยายไปเวียดนาม ไปสิงคโปร์ แล้วเราก็มองตลาดอีกอันนึงก็คือแถบ UAE ตะวันออกกลาง
SME ONE : มีความคิดที่จะเอาสูตรสำรับยาโบราณอื่นๆ มาพัฒนาบ้างหรือไม่
ณฐมน : คือ มะกรูดเป็น Unique ของเราที่มีความแตกต่าง ดังนั้นถ้าเรามี Unique แล้ว เราก็ต้องเอา Unique มาสร้าง Opportunity ต่อไป ก็คือยังอยู่ในรูปของเบต้าไพนีน ซึ่งเป็นส่วนผสมหลักของสุวรรณ สเปรย์ค่ะ ยังใช้เบต้าไพนีนต่อ แล้วก็ถ้ามีงานวิจัยตัวอื่นหรือสารสกัดตัวอื่นที่จะพัฒนา ยุ้ยก็เป็น Step ต่อไป
SME ONE : อะไรคือความท้าทายของสุวรรณ สเปรย์
ณฐมน : ความท้าทายคือทำให้คนเชื่อ คนรุ่นใหม่ที่ยังไม่เคยใช้ ที่ยังนิยมใช้ยาแผนปัจจุบัน ทำอย่างไรให้เขาเชื่อ ก็คือต้องใช้ความพยายามในการที่จะเข้าถึงเขา รู้จักพฤติกรรมเขา รู้จักการใช้ มันก็เลยจะต้องมีแบบตัว Product สำหรับคนรุ่นใหม่ที่เป็นยาดมเข้ามาก่อน คือสินค้าหลักของยุ้ยคือสเปรย์ ยุ้ยมีฐานคนใช้คือวัยกลางคน ผู้สูงวัยไป แต่ทำยังไงให้คนรุ่นใหม่ใช้ได้ ก็ต้องเริ่มที่ลูกกลิ้ง เอาลูกกลิ้งออกมาให้เขาใช้ก่อน ให้เขารู้สึกว่าสบาย ผ่อนคลาย พอเขาเชื่อในคุณสมบัติของเบต้าไพนีน เขาก็จะมาถามหาว่ามีอะไรอีกไหม
อันนี้ก็เป็นความท้าทายของเราที่จะต้องทำยังไงให้เขาเชื่อ งานวิจัย Data ข้อมูลการใช้ต่าง ๆ ที่จะต้องนำเสนอเขา เราต้องเปิดใจผู้บริโภคให้ได้ อย่างที่ยุ้ยบอกว่าความเชื่อมันคือความเชื่อ แต่ทำยังไงให้ความเชื่อมันเป็นความจริง แล้วคนรุ่นใหม่นี่ใช้ Data ทุกอย่างประกอบหมด ถ้าบอกว่าดีนะ ของฉันดีนะ เอ้า คนอื่นเขาก็ดีเหมือนกันอย่างนี้ใช่ไหมคะ
SME ONE : อยากให้ฝากคำแนะนำให้กับ SMEs ในการทำธุรกิจ
ณฐมน : หนึ่งต้องมีใจรักและอดทน แล้วก็ไม่หยุดที่จะพัฒนา โลกเปลี่ยน สังคมเปลี่ยน เราผู้ประกอบการก็ต้องเรียนรู้ที่จะเปลี่ยนแปลงให้อยู่กับโลกที่มันกำลังเปลี่ยนได้ ทุกอย่างมันจะต้องอัพเดตข้อมูลอยู่เสมอ อีกอย่างคือ Mindset ของธุรกิจที่ยั่งยืน เหมือยที่ยุ้ยบอกแต่แรกว่ายุ้ยตั้งใจทำธุรกิจเพื่อส่งคุณค่าให้กับผู้ใช้ ไม่ใช่แบบขาย ๆ แล้วก็จบ แต่คุณค่าคือความประทับใจ ใช้ดี ซื้อซ้ำ บอกต่อ คือการทำให้ธุรกิจเราขยายแบบออร์แกนิก อันนี้เราไม่ต้องพึ่งเงินเลย แต่การทำการตลาดแบบออร์แกนิกใช้เวลาและใช้ความอดทน ก็อยากให้ผู้ประกอบการหันมาสร้างความยั่งยืนให้กับตัวเอง ด้วยการสร้างแบรนด์ เอานวัตกรรมเข้ามาใช้ พัฒนาสินค้าให้มีความแตกต่าง ศึกษาผู้บริโภค เข้าให้ถึงเขา ทำสินค้าให้แบบเหมือนส่งจดหมายตรงให้เขา แล้วสินค้านี้ เขาก็จะรับไว้ ถ้ามีคุณค่า เขาจะซื้อซ้ำแล้วก็บอกต่อ
ก็อยากให้ผู้ประกอบการทุกคนสู้ ๆ เพราะเศรษฐกิจที่ตอนนี้ก็เรียกว่าโหดพอสมควร ก็ต้องวางแผนโครงสร้างการเงิน การตลาด และปรับตัวให้เข้ากับเศรษฐกิจด้วย และต้องไม่ลืมเรื่องนวัตกรรม ยุ้ยเชื่อว่านวัตกรรมจะทำให้สินค้ามีคุณภาพและกลายเป็นสินค้าที่ยั่งยืนได้
บทสรุป
ความสำเร็จของสุวรรณ สเปรย์เกิดจากความตั้งใจที่จะรักษาตำรับยาสมุนไพรที่ปรุงขึ้นมากว่า 100 ปีของตระกูล แต่มีการนำเอานวัตกรรมสมัยใหม่เข้ามาประยุกต์ใช้ในกระบวนการพัฒนาสินค้า เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค จนกลายเป็นสินค้านวัตกรรมจากมะกรูด พืชท้องถิ่นที่มีสารเบต้าไพนีน ซึ่งมีคุณสมบัติทางการแพทย์มากมาย
สุวรรณ สเปรย์ทำการตลาดแบบออร์แกนิก อาศัยการบอกต่อจากผู้บริโภคแบบปากต่อปาก จนกลายเป็นที่รู้จักแพร่หลาย รวมถึงยังมีการแตกไลน์สินค้าออกมาตอบสนองความต้องการของกลุ่มคนรุ่นใหม่ได้เป็นอย่างดี