SME One Bake by Feel
Bake by Feel ปฏิวัติการขายพิซซ่า
จาก “หน้าร้าน” สู่ “รถเคลื่อนที่”
Bake by Feel เป็นร้านอาหารเคลื่อนที่ในรูปแบบ Food Truck ที่ได้รับความนิยมอย่างมากในต่างประเทศ และเริ่มมีคนมาเปิดบริการในประเทศไทยมากขึ้นตามลำดับ โดย Bake by Feel เกิดจากความคิดของสองสามี-ภรรยา โอ๊ต-วิทวัส เจริญจิระภักดี และเมย์-ผอบพร เจริญจิระภักดี ที่เริ่มต้นธุรกิจจากการทำร้านคาเฟ่เล็ก ๆ ในจังหวัดอุบลราชธานี ก่อนจะมาปิ๊งไอเดียนำรถบัสมือสองมาดัดแปลงเป็นครัวเคลื่อนที่เพื่อตระเวนอบพิซซ่าและขนมปังขายทั่วภาคอีสาน
และก็เป็นไปตามที่สองสามี-ภรรยาคาดหวัง Bake by Feel รถบัสขายพิซซ่าและขนมปังสามารถสร้างยอดขายได้อย่างถล่มทลายตั้งแต่ครั้งแรกที่เริ่มสัญจร
แนวคิดการปฏิวัติการขายจาก “หน้าร้าน” มาสู่ “รถเคลื่อนที่” ของคุณโอ๊ตและคุณเมย์นั้นมีเบืองหลังที่น่าติดตามและถอดรหัสความรู้มากมาย เพราะถึงแม้ว่าจะขายอาหารชนิดเดียวกัน แต่ทั้งคู่ก็ยอมรับว่าวิธีการบริหารงานนั้นแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ซึ่งผู้อ่านสามารถศึกษาเคล็ดลับความสำเร็จของ Bake by Feel ได้นับตั้งแต่บรรทัดนี้เป็นต้นไป...
SME ONE : จุดเริ่มต้นของ Bake by Feel เกิดขึ้นมาได้อย่างไร
ผอบพร : กำเนิดของ Bake by Feel เริ่มมาจากเราได้รถบัสคันนี้มาแบบไม่ได้ตั้งใจเท่าไหร่ ทีแรกตั้งใจจะซื้อมาขาย เสร็จแล้วก็มาจอดที่บ้านนานมากเป็นเดือน ๆ แต่ก็ยังไม่อยากทำอะไรกับรถสักที ทีนี้เมย์ทำขนม ทำพิซซ่ามีร้านอยู่แล้ว วันหนึ่งก็เลยรู้สึกว่าไหน ๆ เราก็ไม่ได้อยากขายรถคันนี้อยู่แล้วก็เลยลองถอดเบาะออก เปลี่ยนพื้น แล้วก็ยกเตาขึ้นมาบนรถแบบทำกันเอง 2 คน
ร้านของเมย์อยู่ที่อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี แต่จริงๆ เมย์เป็นคนศรีสะเกษ ครั้งแรกที่รถบัสออกเดินทางก็คือ กลับไปบ้านเพื่อนที่ศรีสะเกษ คือกลับไปบ้านเก่าไปขายที่ลานจอดรถหน้าบ้านเพื่อน อันนั้นจะเป็นครั้งแรกที่ออกเดินทางกันไปจากบ้าน วันนั้นมีคนเยอะมาก มีเพื่อน ๆ มีอะไรมากินกัน คือขายพิซซ่าถึงประมาณตี 1 ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ออร์เดอร์เยอะขนาดนั้น ก็เลยคิดว่าน่าจะเป็นทำเป็นธุรกิจได้ จากนั้นมาก็เริ่มมีการวางแผนจัดการอย่างจริงจัง ก่อนหน้านี้เรามีธุรกิจเป็นร้านคาเฟ่เล็ก ๆ ขายอยู่ที่ข้างบ้านตัวเองอยู่แล้ว
SME ONE : มีความคิดที่จะขยายสาขามาก่อนหรือไม่ ก่อนถึงวันที่ตัดสินใจเอารถมาทำร้าอาหาร
ผอบพร : โครงการรถบัสนี่ต่อยอดมาเอง ตอนนั้นยังไม่มีความคิดที่จะขยายสาขาอะไร แค่มีความรู้สึกว่าเราทำขนมอยู่บ้าน แล้วแบบว่าเราขายขนมให้คนเดิม ๆ ขายพิซซ่าให้คนเดิม ๆ เมย์อยากทำขนมให้มันเยอะขึ้น จุดเริ่มต้นของความรู้สึกที่มีอยู่ในใจตอนนั้นคือ จะทำอย่างไรให้เราทำอาหารได้เยอะขึ้น เพราะเราชอบทำอาหาร แล้วจะทำอย่างไรให้ขายเยอะขึ้น ซึ่งคำตอบก็คือ เราต้องเปลี่ยนที่ขายไปได้ทุกที่โดยที่เราไม่ต้องไปเช่าร้าน เพราะว่าการไปเช่าร้านที่ใหม่ มันก็จะวนลูปกลับมาที่ปัญหาเดิมคือ มันก็ยังขายให้คนเดิม ๆ อยู่ดี
SME ONE : ตอนนั้นมองเห็นโอกาสทางธุรกิจอย่างไร
ผอบพร : ถ้าเป็นตอนนั้นก็ประมาณปีเกือบ 2 ปีแล้วที่เราเริ่มเดินทางก็เห็นโอกาส เพราะพิซซ่าหรือว่าขนมปังมันเป็นอะไรที่ไม่ได้กินได้ทุกวัน ด้วยความที่เป็นคนไทยไม่ใช่ฝรั่ง มันไม่ใช่อาหารที่กินทุกวัน ถ้าเราอยู่กับที่มันก็จะมีวันที่ขายดีและขายไม่ดี แต่ถ้าเรา 1-2 เดือนไปครั้ง คิดว่าอย่างไรก็ต้องขายได้ คือเขาต้องมากินกันอยู่แล้ว เพราะว่ามันมีแค่ 1-2 เดือนครั้ง หรือมีแค่ 4 วันที่เราจะมาขายตรงนี้
SME ONE : การออกร้านวันแรก ใช้วิธีการโปรโมทร้านอย่างไร
ผอบพร : โปรโมทผ่านโซเชียลมีเดีย เราก็จะมีโพสต์หน้าเพจ หน้าเฟซบุ๊ก แล้วก็โพสต์ในกลุ่มของกินของจังหวัด แต่ละจังหวัดเขาจะมีกลุ่มของกิน มีกลุ่มแลกเปลี่ยนข่าวสารอยู่ เราก็โพสต์ตามกลุ่มนั้น แล้วก็เหมือนกับว่าลูกค้าก็บอกต่อด้วย ส่วนหนึ่งก็คงมาจากคุณภาพหรือว่าอะไรที่เราใส่ใจทำ ซึ่งเป็นสารตั้งต้นที่ทำให้ลูกค้าส่วนใหญ่มีการบอกต่อกัน ไปวันแรกเราจะใช้วิธีโปรโมททางเพจของเรา แล้วก็ในกลุ่มข่าวสาร แต่พอวันที่ 2 ลูกค้าที่กินวันแรก เขาจะไปบอกต่อกันเอง
SME ONE : มีวิธีการกำหนดเส้นทาง หรือเลือกทำเลว่าจะไปขายที่ไหน เมื่อไหร่ อย่างไร
ผอบพร : ตอนแรก ๆ เราก็ยังไม่รู้ แต่ว่าส่วนใหญ่เราจะเลือกสถานที่ที่เป็นร้านอาหาร คือเราจะไม่ขายตาม Event หรือว่าไปขายตามตลาด เราสองคนมีความรู้สึกตั้งแต่แรกว่าเราอยากขายให้คนในพื้นที่ คือเราอยากไปที่ตรงนั้นแล้วอยากให้คนในพื้นที่มาทานของเรา ไม่ใช่แค่นักท่องเที่ยวที่มาแล้วไป แล้วก็ไม่ได้มีการบอกต่อ
ข้อดีตรงนี้ก็คือ พอเราเป็นที่รู้จักร้านต่าง ๆ ที่เขามีอยู่แล้วในพื้นที่จังหวัดนั้น ๆ เขาก็อยากจะ x กับเราก็จะมีทั้งแบบเสนอร้านมาเอง มาชวนเราไป กับเราโพสต์ตามหาหน้าเพจเราหรือว่าหน้ากลุ่มว่าเราจะไปจังหวัดนี้ สินค้าเราเป็นแบบนี้ เราต้องการหาร้านร่วม x ด้วย แต่ต้องเป็นร้านที่มีที่นั่งและมีเครื่องดื่มขาย เพราะว่าเราไม่มีเครื่องดื่มขาย คือลูกค้ามานั่งทานพิซซ่า เขาก็อยากทานกับเครื่องดื่ม อยากมีที่นั่งทาน อะไรประมาณนี้ ร้านไหนสะดวกมีที่จอดให้เราจะไป เราจะใช้วิธีอย่างนี้
พอได้ทำเลร้านแล้ว เราก็ค่อยโพสต์ว่าเราจะไปที่นี่ วันนี้ มันก็จะกลายเป็นการช่วยบอกต่ออีกทางหนึ่ง แทนที่จะเป็นเราบอกคนเดียวก็กลายเป็นร้านที่อยู่ในพื้นที่ที่มีฐานลูกค้าของเขาก็บอกต่อร่วมกัน เป็นการบอกต่อทั้ง 2 ฝ่าย ฐานลูกค้าชนฐานลูกค้ามันก็เลยยิ่งมีการพูดถึงมากขึ้น
SME ONE : เคยลองคำนวณค่าใช้จ่ายระหว่างเปิดร้านกับขับรถตระเวนขาย ว่ารูปแบบไหนถูกหรือแพงกว่ากันหรือไม่
ผอบพร : การเดินทางแพงกว่า แต่ว่าที่มันได้มากกว่าก็คือ เราไม่ต้องเจอวันที่เงียบ หรือวันที่นั่งรอลูกค้า ต่อให้มันแพงกว่าจริง แต่ว่าถ้าเทียบกับจำนวนลูกค้าที่เยอะกว่า แบบเราไป 4 วัน เราได้ลูกค้าแน่ ๆ ตามจำนวนที่เราคิดไว้หรือถ้าไม่ได้ เราก็แค่ลดวันลงแล้วย้ายไปที่อื่น มันก็หยวน ๆ กันมากกว่า
ถามว่าต้นทุนแพงกว่าไหม ขับรถนี่แพงกว่าอยู่แล้ว เพราะว่าเราเดินทางเราใช้รถ 2 คัน มีค่าที่พัก แล้วก็มีการจ่ายค่าไฟช่วยร้านที่เราไป x ด้วย พอมีการเดินทางหลายอย่างมันต้องเสียมากกว่า แต่ว่าข้อดีที่ได้ก็คือ เราไม่ต้องมานั่งรอลูกค้า แบบถ้าเราเปิดร้ายอยู่ที่เดิมมันก็อาจจะมีหน้าฝน อาจจะมีช่วงที่ขายไม่ได้แบบเปิดเทอมอะไรอย่างนี้ หรือว่าเจอ Low Season อาจจะเงียบ แต่อันนี้คือเราสามารถเลือกได้ว่าตัวเราเองอยากไปอยู่ตรงไหน ขายตรงไหน น่าจะได้เท่าไหร่ ถ้าถามว่าหยวนกันไหมก็คิดว่ามันหยวนกัน แต่ถ้าถามว่าเช่าร้านถูกกว่าไหม ก็ถูกกว่า
SME ONE : ปัจจุบัน Bake by Feel ขายอยู่กี่จังหวัด
ผอบพร : เยอะมากค่ะ ถ้าอีสานก็เกือบครบทุกจังหวัด แล้วมันมีพวกอำเภอด้วย มันไม่ใช่มีแค่จังหวัด มันจะมีแบบอำเภอรองของแต่ละจังหวัดนั้น ๆ หมายความว่าใช้เวลาอย่างต่ำประมาณ 2 เดือน ถึงจะวนกลับมาขายที่เดิม ส่วนเรื่องวัตถุดิบตามจังหวัดหลัก ๆ จะมีแม็คโครให้เราซื้อ แล้วก็มีของบางอย่างที่เราสั่งตรงจากโรงงาน เราก็จะมีการคำนวนวันได้ว่าของใกล้จะหมด ต้องสั่งไปลงที่ไหนของก็จะไปลงรอไว้ที่ร้านที่เราจะไปอยู่แล้ว
SME ONE : : ช่วงแรกๆ ที่เริ่มสัญจร เราเจอปัญหาอะไรบ้าง แล้วแก้ปัญหาอย่างไร
ผอบพร : เจอค่ะ ตอนนี้ก็ยังเจออยู่ มันเป็นปัญหาที่ถามว่าแก้ได้ 100% ไหมก็ไม่ได้ เพราะว่ายังไงมันก็ยังเป็นรถเคลื่อนที่ของบางอย่างมันก็ยังไม่เหมือนกับการทำครัวถาวร อย่างรถเราตอนนี้เจอปัญหาแน่ ๆ หน้าฝนก็คือ รถรั่ว ต่อให้ซ่อมแล้วก็ยังรั่ว หรือว่าบางครั้งแบบเราไปจอดแล้วแบบมีปัญหาเรื่องไฟกระชากหรือว่าไฟตกก็ยังมี ซึ่งเราก็จะบอกลูกค้าตั้งแต่ต้นว่าปัญหาพวกนี้จะยังมีอยู่ แล้วก็เราไม่รู้เหมือนกันว่ามันจะเกิดขึ้นตอนไหน ซึ่งบางครั้งมันอาจจะไปทำให้คิวของอาหารที่เขาสั่งไว้ออกช้า ซึ่งก็อยากให้ลูกค้าเข้าใจตรงนั้น เพราะปัญหาแบบยิบย่อยพวกนี้มีอยู่แล้ว
SME ONE : เคยเก็บตัวเลขหรือไม่ว่าจังหวัดไหนขายดีที่สุด จังหวัดไหนขายไม่ดี และเป็นเพราะอะไร
ผอบพร : มันค่อนข้างจะเฉลี่ยเท่า ๆ กัน แต่ตามประสบการณ์การขายดีมันเป็นช่วงเวลาของแต่ละจังหวัดมากกว่า เช่น เราเคยไปนครพนมหน้าหนาวแล้วเราขายดี พอเราไปนครพนมอีกทีในหน้าร้อนหรือหน้าฝน เราขายไม่ดีแล้ว อันนี้เป็นปัญหาที่ว่าพื้นที่นั้น ๆ ส่วนใหญ่เขาพึ่งนักท่องเที่ยว พอมันเป็นหน้าฝนนักท่องเที่ยวน้อยต่อให้ลูกค้าของเราเป็นคนในพื้นที่ แต่ว่ารายได้หลักของเขาคือนักท่องเที่ยวกำลังซื้อมันก็จะลดลงตาม แต่อันนี้เป็นสิ่งที่เราต้องมาตกตะกอนกันว่าหน้าฝนกลายเป็นว่าจังหวัดหรืออำเภอที่เขาทำเกษตรกรรมยอดขายสูงกว่า
สมมติว่าตอนนี้เมย์กับโอ๊ตอยู่กันที่ร้อยเอ็ด หรือว่าอำเภอเล็ก ๆ ของร้อยเอ็ด แต่ยอดกลับดีกว่าอุดรธานีที่อยู่ในเมือง คือกลายเป็นว่าตอนนี้ตั้งแต่ต้นปีมา เรามีการคุยกับร้านต่าง ๆ ที่เราไป x ด้วยว่า ถ้าเป็นเมืองใหญ่ เขาโดนผลกระทบตั้งแต่มิถุนายนเป็นต้นมา แต่ว่าถ้าเมืองเล็ก เมืองรอง เช่น สกลนคร นครพนมจะมีเศรษฐกิจที่ซบเซาตั้งแต่ต้นปีมาเลยซบเซามาตลอด แล้วเขาก็ประคองร้านมาตลอด เพราะว่าเวลาเราไป x กับร้าน เราจะกลายเป็นเพื่อนกัน และจะมีการคุยกันตลอดว่าช่วงนี้ร้านเป็นอย่างไร
อย่างรอบนี้ที่เราวนไปอุดรฯ ซึ่งแปลกใจมาก เพราะว่าอุดรฯ รอบที่แล้วเราขายดีมาก แต่รอบนี้อุดรฯ ค่อนข้างเงียบ เราก็ไปถามลูกค้าเก่า ๆ ซึ่งเขาทำธุรกิจในพื้นที่ก็เงียบมาตั้งแต่เดือน 5 เดือน 6 เหมือนกัน มันเหมือนกับไม่ได้เป็นปัญหาที่สินค้าเรา แต่เป็นปัญหาที่เศรษฐกิจของเมืองนั้น ๆ
SME ONE : แบบนี้วิธีการกำหนดเส้นทางขายต่อไปอาจจะกำหนดพื้นที่ตามช่วง High Season หรือ Low Season
ผอบพร : ไม่เชิงค่ะ เราจะกำหนดเป็นเส้นทางเป็นวงกลมเป็นเส้นทางต่อเส้นทาง คือเราทำกันมาจะ 2 ปี มันก็อารมณ์เหมือนเพิ่งวนมาเจอ Season แบบว่าเหมือนเพิ่งเรียนรู้เรื่อง Season ใหม่ก็เลยยังอธิบายไม่ถูกเหมือนกัน ประมาณว่ามันไม่ได้รู้แต่แรกว่าจังหวัดนี้จะ Low Season ตอนนี้ มันเหมือนกับเราตกตะกอนกันมาเรื่อย ๆ เพราะว่าเราเพิ่งทบมาได้แค่ปีเดียวเองที่เราเดินทางมันก็เลยเหมือนวนมาเพิ่งเจอ เพิ่งเรียนรู้แล้ว แต่ว่าการกำหนดเส้นทางมันจะไม่กระโดดไปกระโดดมาอยู่แล้ว เพราะว่ามันเดินทางยาก เราจะเดินทางต่อจังหวัดไปมากกว่า แต่ถ้ามันไปตรงกับช่วงที่ Low Season จริง ๆ เราก็แค่ไม่อยู่นาน เราก็แค่อยู่แค่ 3 วัน ประมาณนี้
และต่อให้ Low Season ขนาดไหน มันก็ไม่ได้ถึงขั้นขายไม่ได้ แต่แค่แบบยอดมันตกซะมากกว่า ก็เลยไม่จำเป็นต้องข้ามไป ไม่จำเป็นต้องกระโดดข้าม ก็คือก็แค่ผ่านไปแล้วก็ไปแวะเพื่อไม่ให้มันนานไป เพราะว่าการที่เราทิ้งลูกค้านานไปมันก็เป็นข้อเสียเหมือนกัน
SME ONE : ลูกค้าเรามาจากกลุ่มที่ตามโซเชียลมีเดีย Bake by Feel กี่เปอร์เซ็นต์ และเป็นกลุ่มที่บังเอิญมาเจอกี่เปอร์เซ็นต์
ผอบพร : มาจากโซเชียลมีเดียแทบจะ 99% เลย เพราะว่าถ้าใครบังเอิญมาเจอปุ๊บ เขาก็ต้องกลับไปสั่งในโซเชียลอยู่ดี เพราะเราจะรันคิวตามออร์เดอร์ที่ลูกค้าสั่งมาก่อน เราจะไม่ค่อยรับ Walk-in จะไม่ค่อยมีคิวแทรก เพราะฉะนั้นลูกค้าเขาจะรู้อยู่แล้วว่าเขาต้องตามเราผ่านโซเชียล หรือถ้าบังเอิญมาเจอเขามาสั่ง เขาก็ต้องไปลงคิว ต่อจากคนที่ลงคิวไว้แล้วเหมือนเดิม ส่วนใหญ่มันก็เลยจะกลายเป็นเขาก็จะเริ่มเรียนรู้กันแล้วว่าอย่างไรก็ต้องสั่งผ่านเพจไว้ก่อน
SME ONE : ทุกวันนี้เมนูพิซซ่า หรือขนมปังขายดีกว่ากัน
ผอบพร : ขายดีพอ ๆ กัน ปกติแล้วถ้าทำก็ขายหมดทุกวันอยู่แล้ว ลูกค้าที่มาซื้อพิซซ่าก็จะซื้อขนมติดมือกลับไปด้วย ส่วนคนที่มาซื้อส่วนใหญ่ก็เป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ แต่ลูกค้าประจำที่อายุ 50-60 ก็มี แบบสั่งทีละ 4 ถาดก็มี เขารู้สึกว่ารสชาติของเรามันเป็นรสชาติที่เข้าถึงง่าย
เคยมีคนถามเมย์ว่า ทำไมเราถึงคิดจะขายพิซซ่าให้คนอีสาน เพราะว่าตอนนี้ลูกค้าเราคือคนอีสาน เรายังไม่ได้ข้ามภาค เมย์ก็ตอบว่าไม่รู้เหมือนกัน และไม่เคยคิดว่ามันต้องเป็นพิซซ่าหรืออะไร ทั้งหมดมันตั้งต้นที่เราชอบกินพิซซ่า ชอบกินขนม แล้วเราก็ทำออกมาในรสที่เราชอบกินซึ่งเราก็เป็นคนอีสานเหมือนกัน เราก็เลยรู้สึกว่ามันอาจจะเป็นรสชาติที่เข้าถึงง่าย
แต่ก่อนคิดว่าไปร้านพิซซ่ามันจะต้องเป็นพิซซ่าอิตาลีหรือว่าพิซซ่าอะไรก็ตาม แต่เอาจริง ๆ เราเป็นคนที่กินพิซซ่าเยอะ จนบางครั้งเราเข้าไปในร้านพิซซ่าอิตาลี เราก็ยังไม่เก็ทกับรสชาติ ซึ่งอันนั้นมันเป็นรสชาติของเขา เราก็แค่ทำให้พิซซ่ามันเข้าถึงง่ายแต่ไม่ได้มักง่าย แบบทุกอย่างมันถูกออกแบบถูกคิดมาแล้ว แต่ว่ามันกลายเป็นอะไรที่เข้าถึงง่าย คือคุณสามารถเดินมาซื้อพิซซ่าได้ที่รถบัสที่จอดอยู่ข้างทาง หมายถึงว่ามันไม่จำเป็นต้องไปเข้าร้านหรู ๆ เพื่อนั่งสั่งพิซซ่าแถมสั่งพิซซ่าอย่างเดียวก็ไม่ได้ ต้องสั่งสปาเก็ตตี้ ต้องสั่งสลัดด้วย แต่อันนี้มันเป็นเหมือนร้านรถขายลูกชิ้นที่แบบแค่จองไว้แล้วเดินเข้ามารับ แล้วจะเป็นพิซซ่ากล่องเดียวก็ได้ แล้วก็ถือกลับไปกินที่บ้านเป็นมื้อเย็นอะไรอย่างนี้ มันเข้าถึงง่าย
ส่วนขนมปังที่ร้านต่อให้มันเป็นขนมปังที่เป็นอิตาลี ขนมปังของที่ร้านเมย์ก็จะทำเป็นขนมปังอิตาลี หรือขนมปัง Sourdough ซึ่งเป็นขนมปังที่เข้าถึงยาก เราทำให้มันเข้าถึงง่ายขึ้น
SME ONE : พิซซ่า 3 หน้าที่ขายดีที่สุดคืออะไร
ผอบพร : ที่ขายดีก็จะมีพิซซ่าหน้ารวม หน้ารวมนี่จะมี 3 หน้าในถาดเดียว แล้วก็หน้าสับปะรด เบคอน ทรัฟเฟิล แล้วก็หน้าผักโขม เบคอน เห็ด ลูกค้าจะชอบกินผักโขมอบชีสของที่ร้าน ชอบกินแป้ง อะไรประมาณนี้ ที่เขาบอกว่ามันโอเคที่สุด คือแบบมันจะไม่ใช่แป้งบางกรอบที่กัดปุ๊บแล้วมันจะกรอบ แต่มันจะมีความนุ่ม เหนียว แต่ขอบมันจะมีความกรอบประมาณนี้ แล้วก็ไม่ใช่แป้งหนานุ่มที่แบบแป้งหนาเตอะ แล้วหน้าน้อย ส่วนใหญ่ลูกค้าก็จะชมว่าพิซซ่าที่ร้านเราหน้าล้น แล้วแป้งบาง
SME ONE : คุณเมย์เรียนทำพิซซ่า หรือเบเกอรี่มาจากไหน
ผอบพร : ไม่เคยเรียนเลย อาศัยก็ชอบกินแล้วเวลาไปที่ไหนก็จะกินพิซซ่า แต่ก็ยังไม่เคยเจอรสที่ตัวเองชอบเลย แล้วตอนช่วง COVID-19 ปีแรก เมย์เริ่มเรียนทำขนมปังจาก Youtube ด้วยหม้ออบลมร้อนตัวเดียว 400 บาท ตอนนั้นแบบหนักมาก เราโดน COVID-19 หนักแบบแม้กระทั่งหม้ออบลมร้อน 400 ยังไม่มีเงินซื้อ เราต้องแบบเอามาก่อน แล้วค่อย ๆ ผ่อนจ่าย เสร็จแล้วก็เริ่มเรียนจาก Youtube แล้วก็เริ่มทำขายในกลุ่ม Silpakorn Market แล้วมันขายดี ตอนนั้นขายพวกขนมปังคลีน เรียกได้ว่าเมย์เก่งเรื่องลักจำมากกว่า ดูเยอะ ดูปุ๊บ ตรงนี้เรายังทำไม่ได้ เราก็ไปนั่งดู แล้วก็เป็นแบบมันต้องแก้ตรงนี้ ตรงนั้น จนแบบออกมาเป็น Bake by Feel ใช้เวลาประมาณ 5 ปี ตั้งแต่วันที่เริ่มต้น ส่วนพิซซ่านี่ก็ดัดแปลงมาจากขนมปังอีกทีนึง เพราะว่าเราทำขนมปังมาก่อน เราอยากได้กินเนื้อแบบไหน เราก็ลองมาทำดูนู่นนี่นั่น และค่อย ๆ ปรับมาจนได้
SME ONE : กลับมาที่ชื่อร้าน เริ่มใช้ชื่อ Bake by Feel ตอนไหน
ผอบพร : เมย์เริ่มต้นมาจากชื่อบ้านหอมขนมปัง แล้วเราก็ยังรู้สึกว่ามันไม่ใช่ ทีนี้พอเราเริ่มทำขนมปัง คือขนมปังมันจะมีความเป็นทฤษฎี ความเป็นวิทยาศาสตร์เยอะมาก ยอมรับว่าพอเราเริ่มทำมาพักนึง เราอยากเรียนก็เริ่มไปศึกษาความเป็นทฤษฎีแบบว่าหลักการของมัน อุณหภูมินู่นนี่นั่นมันเยอะจนแบบพอทำตามแล้วออกมาเละ ทั้งที่เราก็ขายขนมมาพักใหญ่แล้วนะ ทำไมเราไปทำตามทฤษฎีของเขาที่มันมีความเป๊ะ แต่ออกมาเละ ก็เลยไม่ทำตามทฤษฎีแต่ใช้ความรู้สึก ใช้มือ ใช้สัมผัสที่เรามีนี่แหละ ชัวร์สุด ก็เลยออกมาเป็น Bake by Feel
SME ONE : ทุกวันนี้ถือว่าธุรกิจมั่นคงหรือยัง จากการที่ขับรถตระเวนขายมา 2 ปี
ผอบพร : ถ้ามี 3 ระดับ เมย์ว่ามันมั่นคงในระดับ 1 ครึ่ง มั่นคงในที่นี้ก็คือ ตราบใดที่เรา 2 คนยังมีแรงทำอยู่ไม่เป็นอะไรไปมันยังคงมั่นคง เพราะว่าเราไป x กับร้านต่าง ๆ ที่เขามั่นคงอยู่แล้วในแต่ละพื้นที่ เขาลงทุนเปิดร้าน เขาคงไม่ได้ปิดภายใน 1-2 เดือนอยู่แล้ว บางครั้งก็เปิดมาเป็นสิบ ๆ ปีแล้ว แล้วเขาก็ยังคงรอที่จะให้เรากลับไป เพราะว่าทุกครั้งที่เราไปมันไปช่วยเพิ่มยอดขาย มันแบบว่าไปทำให้ร้านเขาได้ยอดเพิ่มขึ้น 3-4 เท่า
แต่ว่าความไม่มั่นคงมันอยู่ตรงที่ว่าตราบใดที่เรายังหาตัวแทนมาแทนเราไม่ได้ หรือว่าจัดการระบบที่แบบเราเองเป็นคนทำ 100% ไม่ได้ อันนี้ยังไม่มีความมั่นคงถึงขั้น 100% ก็ยังพยายามคิดและพัฒนากันอยู่ว่าวันหนึ่งที่เราจะต้องหยุดเดินทางด้วยตัวเองจะทำอย่างไร ในเมื่อเราเองก็ยังอยากไปเจอเพื่อน ๆ ในแต่ละที่ คือพอมันไปมันก็เกิดความผูกพันแบบเป็นเพื่อน หรือเป็นพี่เป็นน้องกัน เหมือนกลับไปเยี่ยมญาติ เหมือนกลับไปเยี่ยมเพื่อน เราก็ยัง
อยากทำอย่างงั้น แต่ว่าวันหนึ่งมันก็ต้องหยุด มันไม่มีทางเดินทางได้ขนาดนี้เราก็ต้องหาวิธีให้ได้
SME ONE : มีแนวคิดที่จะต่อยอดธุรกิจอย่างไร
ผอบพร : ถ้าคร่าว ๆ เลย ตอนนี้เรายึดหลักอยู่ที่ภาคอีสานใช่ไหม ก็คงคิดเริ่มต้นง่าย ๆ ก่อนว่ามันคงจะต้องมีหน้าร้านที่เป็นระบบครัวอยู่ที่ใจกลางอีสานสักที่หนึ่งอาจจะเป็นจังหวัดขอนแก่น เสร็จแล้วใช้วิธีกระจายรถออกไป กระจายสินค้าจากที่เดียวโดยที่สินค้ายังสดใหม่ อาจจะทำได้หรือทำไม่ได้ก็ยังไม่เคยลอง อันนี้ยังเป็นแค่ความคิดคร่าว ๆ ที่เราคิดกัน เพราะว่าเรื่องคุณภาพ ถ้าปล่อยออกจากที่เดียวกันจะมีคุณภาพ แต่ทีนี้เราแค่ส่งคนไปขาย เพื่อให้ร้านต่าง ๆ ที่เขารออยู่ และลูกค้าเราตามที่ต่าง ๆ เขาได้กินเหมือนเดิม
แต่เราหยุดเดินทางก็เหมือนทิ้งลูกค้าไปเลย เพราะลูกค้าบางคนเราไปอยู่ 7 วัน เขาก็กิน 7 วัน หรือบางคนแบบก่อนที่เราจะกลับ เขาก็สั่งไว้เลย 10 ถาดเพื่อแช่ฟรีซไว้ คือเราทิ้งไม่ลงจริง ๆ ถ้าจะให้เราหยุดอะไรอย่างงี้ เราก็เลยคิดว่าแบบมันจะเป็นไปได้ไหมแต่เราก็คงต้องใช้เงินเยอะ อันนี้ก็คือเป็นความคิดที่แบบอนาคต
SME ONE : อะไรคือความท้าทายของ Bake by Feel นับจากนี้ไป
ผอบพร : เรื่องท้าทายตอนนี้ที่ใกล้ ๆ เลยก็คือตั้งใจจะขับรถข้ามภาคกัน เราอยู่ในอีสานมาจะ 2 ปีแล้ว แล้วเราตอนนี้มันมีร้านที่เราคุย ๆ กันไว้ในกรุงเทพ 2 ที่แล้วก็มีที่จังหวัดชุมพร แล้วก็ภูเก็ต กับสุราษฎร์ เราเลยตั้งใจกันว่าประมาณเดือนกันยายน เราจะเริ่มเข้ากรุงเทพฯ เสร็จแล้วก็จะต่อลงใต้ไปซึ่งอันนี้ท้าทายสุดแล้ว เพราะว่าในอีสาน เราค่อนข้างเป็นที่รู้จักแล้วแต่ภาคอื่นยัง เราเป็นอะไรที่ใหม่มาก ๆ ทั้งผู้คน ทั้งอะไรก็ตาม เราเป็นคนอีสาน ยังไงเราอยู่ในอีสาน เราก็อุ่นใจอยู่แล้ว แต่อันนี้คือไปไกลเลยไม่มีใครรู้จักเลยก็ค่อนข้างจะท้าทาย และแอบหวั่น ๆ เราจะใช้วิธีเหมือนเดิม ก็คือเราไปที่ไหนแล้วเราก็จะหาที่ใกล้ ๆ ไปต่อ
SME ONE : อยากให้คุณเมย์ให้คำแนะนำคนที่อยากจะเริ่มทำธุรกิจแบบ SMEs
ผอบพร : จากประสบการณ์ เมย์ว่าอันดับแรกมันต้องเริ่มต้นที่คุณภาพสินค้า เมย์เชื่อมาก ๆ ว่าไม่ว่าจะทำอะไรมันก็ขายได้ แต่ขอแค่ให้ทำสิ่งนั้นจริง ๆ เพราะของของเมย์ต่อให้เมย์เดินทาง หรือว่ามีความเป็นรูปแบบที่แปลกใหม่คืออยู่บนรถบัส แต่ถ้าอาหารของเมย์ไม่ดี และไม่อร่อยมันก็จะไม่ถูกบอกต่อ มันก็จะไม่ได้ไปต่อ เมย์อาจจะจบตั้งแต่เดือนแรกที่เมย์เดินทางก็ได้ แต่ว่าสินค้าของเมย์อย่างที่บอกเราขายอย่างจริงใจ ชีสก็คือชีส แบบว่าเมนูนี้มันราคาเพิ่มก็ต้องเพิ่มราคา ก็คือคุยกันตรง ๆ ลูกค้ารับได้ก็ซื้อรับไม่ได้ก็ไม่ต้องซื้อ อันนี้คือรู้เลย เหมือนมันแทบจะไม่มีลูกเล่นอะไรเลยในสินค้าเรา
เมย์คิดว่าตรงนี้เป็นสิ่งที่ลูกค้าเขารู้สึกสบายใจที่เขาจะจ่ายเงินซื้อแล้วพอเขาสบายใจ เรากลับไปอีกรอบเขาก็ยังกิน เขาก็ยังบอกต่อ อันดับแรกน่าจะเริ่มต้นจากสินค้าไม่ว่าจะเป็นอะไร จะเป็นลูกชิ้นทอดก็ได้แต่ทอดให้มันไม่มีน้ำมันอมได้ไหม คือแบบสร้าง Signature ของสินค้าออกมา แล้วก็ทำให้มันสุด ประมาณนั้นเลย แล้วจะขายอยู่แค่อย่างเดียวก็ได้ ไม่ต้องแปลกใหม่ก็ได้
บทสรุป
ความสำเร็จของ Bake by Feel มาจากประสาทสัมผัสทางธุรกิจที่ไวจนมองเห็นโอกาสทางการตลาดตั้งแต่ทดลองขับรถขายในครั้งแรกของคุณโอ๊ตและเมย์ เมื่อมารวมกับความจริงใจในการทำธุรกิจที่ไม่เอาเปรียบคู่ค้า แต่มองเป็นพันธมิตรในการช่วยกันสร้างธุรกิจและยอดขาย จึงทำให้ Bake by Feel ได้รับการตอบรับทั้งจากพาร์ทเนอร์ในส่วนของร้านอาหารในทุกพื้นที่ รวมถึง Bake by Feel ยังมีแฟนคลับที่เหนียวแน่นคอยติดตามข่าวสารผ่านโซเชียลมีเดียอยู่ทั่วภาคอีสาน จึงทำให้มีลูกค้าประจำที่เฝ้ารอสั่งพิซซ่าและขนมปังเป็นจำนวนมาก
SME One บุญธิดาฟาร์ม
บุญธิดาฟาร์ม กับภารกิจ
สร้างนวัตกรรมผ่าน “สาหร่ายพวงองุ่น”
“สาหร่ายพวงองุ่น” เป็นพืชน้ำที่อยู่ทั่วไปในประเทศเขตร้อน เช่น ในภูมิภาคอาเซียนไปจนถึงจีนตอนใต้ และบางพื้นที่ของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งสาหร่ายพวงองุ่นถูกขนาดนามว่าเป็น “Super Food” เพราะมีคุณสมบัติพิเศษเรื่องของกรดอะมิโน และมีโปรตีนสูง ที่สำคัญคือ เป็นแพลนต์เบส โปรตีน ซึ่งกำลังเป็นเทรนด์อาหารของโลก
ประเทศไทยก็เริ่มมีกลุ่มเกษตรกรในหลายจังหวัดที่ติดทะเลที่หันมาเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่น ทั้งแบบที่ทำเป็นอาชีพเสริมจากการทำนาเกลือ นากุ้ง และทำเป็นอาชีพหลัก
SME One มีโอกาสได้สัมภาษณ์ คุณวนัสพงษ์ ทรหด ผู้จัดการทั่วไป บุญธิดาฟาร์ม ซึ่งเป็นอีกหนึ่งบริษัทที่เพาะเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่น และมีการวิจัยพัฒนาสินค้าอย่างจริงจัง เพื่อหวังที่จะสร้างมูลค่า และปั้นให้สาหร่ายพวงองุ่นเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ของประเทศไทยผ่านคำว่า “นวัตกรรม”
SME ONE : จุดเริ่มต้นของ บุญธิดาฟาร์ม เกิดขึ้นมาได้อย่างไร
วนัสพงษ์ : จริง ๆ ผมเป็นผู้จัดการ และตัวฟาร์มเป็นลักษณะของบริษัท ด้วยความบังเอิญเจ้าของบริษัทเขาทำธุรกิจเกี่ยวกับขายฝากที่ดิน แล้วก็มีคนเอาที่ดินแปลงนี้มาขายฝาก พอเจ้าของบริษัทเขาได้ที่ดินตรงนี้มาก็คิดว่าจะทำอะไรดี บวกกับเมื่อประมาณ 7 ปีที่แล้ว น่าจะประมาณปี 2007 สาหร่ายพวงองุ่นกำลังเป็นที่นิยม เป็นกระแสที่มาแรงมากสำหรับจังหวัดเพชรบุรี เหมาะกับพื้นที่แถว ๆ นี้ และด้วยความที่พื้นที่เป็นบ่อทะเลอยู่แล้ว ได้โลเคชั่นที่เข้าเกณฑ์ที่เหมาะสมกับการทำในส่วนนี้ เขาก็เลยลองดูว่าทำแล้วจะเวิร์คไหม ก็เลยลองทำตลาดสาหร่ายพวงองุ่นกันดู
SME ONE : เรียกว่าเป็นการเริ่มต้นธุรกิจโดยไม่มีความรู้มาก่อนเลยใช่หรือไม่
วนัสพงษ์ : ใช่ครับ ด้วยความที่เจ้าของที่ดินก็ไม่ได้ทำด้านการเกษตรมา ตัวผมเองก็ไม่ได้จบเกษตรด้วย ตัวผมจบด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์ แต่ด้วยความบังเอิญที่ผมมีเพื่อนจบด้านประมงมา เพื่อนก็เลยสามารถให้คำปรึกษาแนะนำได้ แต่เราก็เข้าหาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วย ในส่วนของประมงอะไรพวกนี้ หานักวิชาการที่มีความรู้เกี่ยวกับด้านนี้ แล้วก็หาข้อมูลในอินเทอร์เน็ตประกอบกัน เพราะฉะนั้นต้องถือว่าเริ่มจากศูนย์เลย ไม่รู้อะไรเลยแม้กระทั่งระบบเกี่ยวกับทะเล เราก็ไม่รู้เรื่องเลย ต้องหาเอาเอง ตอนนั้นเรื่องสาหร่ายพวงองุ่นไม่ได้ใหม่แค่เรา แต่ใหม่สำหรับประเทศไทยด้วยเหมือนกัน ซึ่งทางคนที่นำมาเผยแพร่เขาไปดูงานจากญี่ปุ่นมา
SME ONE : ตอนที่คิดว่าจะสร้างมูลค่าเพิ่มจากที่ดินมีสินค้าทางเลือกอื่นหรือไม่ แล้วทำไมถึงตัดสินใจเลือกสาหร่ายพวงองุ่น
วนัสพงษ์ : สาเหตุที่เลือกตัวนี้เพราะว่ากำลังเป็นเทรนด์ที่กำลังค่อนข้างได้รับความนิยม และโลเคชั่นทุกอย่างเหมาะสม เราก็คิดว่าสาหร่ายพวงองุ่นนี้น่าจะเหมาะกับการทำที่นี่มากที่สุด ที่นี้ในระยะแรก ๆ ในการทำสาหร่ายพวงองุ่นมันมีปัญหาค่อนข้างเยอะ ทั้งในเรื่องของการเลี้ยง การปลูก การดูแล โดยเฉพาะเรื่องของการขนส่งที่มีปัญหาค่อนข้างเยอะกับประเทศไทย เพราะว่าบ้านเราเป็นเมืองร้อน สาหร่ายพวงองุ่นค่อนข้างมีปัญหาเวลาขนส่งในอากาศที่ร้อน ๆ ห้ามแช่ตู้เย็น ห้ามเปิดฝาทิ้งไว้ ห้ามตากแดด ชอบอุณหภูมิปกติประมาณ 25-30 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นอุณหภูมิที่เหมาะสม จึงมีปัญหาเวลาหน้าร้อนขนส่งจากเพชรบุรีไปเชียงใหม่ สินค้าเสียหาย เก็บได้ไม่ถึง 2 วันก็เสีย ส่งไปไกล ๆ ต่างจังหวัดมากไม่ได้ แม้กระทั่งที่นี่เองเก็บข้ามวันก็มีปัญหาค่อนข้างบ่อยในช่วงหน้าร้อน สาหร่ายพวงองุ่นจึงไม่สามารถทำได้ทั้งปี ถึงแม้ว่ามันจะอยู่ในน้ำทะเลก็ตาม มันอยู่ได้ดีในช่วงปลายฝนต้นหนาว ช่วงหน้าหนาวช่วงต้นปี
เมื่อก่อนจะมีที่เกษตรกรเขาแพ็คขายที่ใส่กล่องใส ๆ ตามท้องตลาด ขายคู่กับน้ำจิ้มซีฟู้ด มีแบบนั้นค่อนข้างเยอะ ทีนี้เรามองแล้วว่าการขายสดมันไม่ตอบโจทย์ในด้านความยั่งยืน อย่างแรกคือปัญหาเรื่องการขนส่ง การเก็บรักษาไม่สามารถทำได้ทั้งปี เราก็เลยมองว่ามันต้องมีนวัตกรรมอะไรบางอย่างที่ทำให้สาหร่ายอยู่ได้ทั้งปี เพื่อที่จะทำให้ธุรกิจอยู่รอด ถ้าเรามีสินค้าขายได้ทั้งปี มันก็ทำให้เราอยู่ได้ เราก็เลยหันมาพัฒนาสินค้าที่เป็นลักษณะของการบรรจุใส่กระปุกสามารถเก็บได้ประมาณ 2 ปี
SME ONE : สาหร่ายพวงองุ่นมันมีคุณสมบัติพิเศษอะไรถึงเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีมูลค่า
วนัสพงษ์ : จากข้อมูลหลายๆ แหล่งนะครับ คุณสมบัติพิเศษส่วนมากจะเป็นในเรื่องของกรดอะมิโน มีโปรตีนค่อนข้างสูง เป็นแพลนต์เบส โปรตีนซึ่งเป็นทางเลือกที่ดี สารอาหารสำคัญค่อนข้างเยอะ เรียกว่าเป็น Super Food ก็ว่าได้ เพราะมีธาตุอาหารค่อนข้างเยอะ ปกติสาหร่ายจะมีธาตุอาหารค่อนข้างมากอยู่แล้ว ยิ่งเป็นสาหร่ายพวงองุ่น สาหร่ายทะเลแล้วด้วย ก็ยิ่งมีข้อดีหลาย ๆ อย่าง แต่ที่เด่นก็คือมีกรดอะมิโน แล้วก็มีไฟเบอร์ค่อนข้างสูง
SME ONE : ต้นกำเนิดของสาหร่ายพวงองุ่นมาจากประเทศอะไร
วนัสพงษ์ : ที่เด่นๆ คือเริ่มจากญี่ปุ่น เมืองโอกินาวาที่เขามีการพัฒนาทำในเชิงพาณิชย์ที่แรกในโลก น่าจะหลาย 10 ปีแล้ว แต่สาหร่ายพวงองุ่นเป็นสาหร่ายที่อยู่ในเขตร้อนในธรรมชาติอยู่แล้ว ตามหมู่เกาะฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย เพียงแต่ว่าไม่ได้เป็นที่นิยมเหมือนประเทศญี่ปุ่น และไม่ได้ถูกนำมาใช้ในเชิงพาณิชย์ ซึ่งบ้านเราเหมือนจะไปดูงานที่โอกินาวา ทางกรมประมงก็ไปศึกษาดูงานว่าเอามาใช้ในเชิงพาณิชย์อย่างไร เพื่อจะนำมาประยุกต์ใช้กับชาวบ้านที่ทำนาเกลือ เพื่อมาเป็นอาชีพเสริมให้กับเกษตรกรจะได้มีรายได้เสริมจากทางอื่นนอกจากการทำนาเกลือ เขาก็เลยเอามาผนวกกับการทำนาเกลือทำบ่อกุ้งอะไรพวกนี้ ทางภาคใต้ก็พอจะมี แต่ต้องไปหาตามแหล่งธรรมชาติ น่าจะประมาณ 10 ปีที่ไทยนำมาพัฒนาในเชิงพาณิชย์อย่างจริงจัง
ส่วนในเมืองไทย ผมไม่แน่ใจว่าต้นกำเนิดที่กรมประมงเอามาเพาะพันธุ์ให้ที่นี่จริง ๆ เอามาจากญี่ปุ่นเลย หรือเอามาจากในพื้นที่ของเรา เพราะมันค่อนข้างจะขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมมากกว่า ว่าจะโตออกมาดีหรือไม่ดี ไม่ได้ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์สักเท่าไหร่
SME ONE : การเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่น บริษัททำคนเดียวเลยหรือเป็นกลุ่มสหกรณ์ในพื้นที่
วนัสพงษ์ : จริง ๆ จุดเริ่มต้นของบุญธิดาฟาร์ม เราตั้งใจอยากให้เกิดการรวมกลุ่มสหกรณ์ของผู้เลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่น เพื่อให้มีอำนาจต่อรองในการตลาด เรื่องของการควบคุมคุณภาพ การแบ่งปันข้อมูล เราพยายามตั้งแต่ปีแรกแล้ว แต่มันค่อนข้างเป็นอะไรที่ค่อนข้างยาก เราก็เลยค่อนข้างทำคนเดียวอยู่ ที่ฟาร์มเราเป็นฟาร์มอินทรีย์ เราก็พยายามเอาฟาร์มเอาระบบของเราเข้ามาตรฐานให้มันอยู่ในมาตรฐานให้ได้มากที่สุด ซึ่งเราก็ได้มาหมดแล้ว ทั้ง อย. ฮาลาล และฟาร์มอินทรีย์อะไรพวกนี้
แต่เราก็ยังมีเครือข่ายที่เป็นชาวบ้าน เป็นลูกฟาร์ม เราก็ติดต่อกันอยู่ ในอนาคตเราก็มองว่าน่าจะมีการช่วยเหลือซึ่งกันและกันได้ คือถ้าฟาร์มเราไปได้ เราก็สามารถขยายเพิ่มรายได้ให้กับกลุ่มเกษตรกรผู้ที่เลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่นด้วยกันได้ด้วยเหมือนกัน แต่อาจจะจะต้องดูนิดนึงว่าเขาทำฟาร์มเข้าเงื่อนไขหรือเปล่า คือจะต้องได้มาตรฐานตามที่เรารับได้ด้วย
SME ONE : ช่วงเริ่มต้นทำธุรกิจกับปัจจุบันแตกต่างกันมากไหม
วนัสพงษ์ : แตกต่างค่อนข้างเยอะมาก ๆ อย่างแรกคือเรื่องราคา ในปีแรกที่เริ่มต้น ราคาสาหร่ายพวงองุ่นไปถึงราคากิโลกรัมละ 1,000 กว่าบาท เรียกว่าเป็นสินค้าพรีเมียมเลย ช่วงแรกเป็นช่วงตลาดค่อนข้างบูม อาจจะเป็นของแปลกใหม่ด้วย กระแสค่อนข้างดี ราคาก็เลยสูง แล้วก็หลังจากนั้นลดลงมาเรื่อย ๆ จนปัจจุบันตีว่าไม่เกิน 10 ปี ราคากิโลกรัมตอนนี้อยู่ที่ 100-120 บาท เหตุผล คือ 1. ได้รับความนิยมน้อยลง 2. มีคนทำขายเยอะขึ้นจน Over Supply ด้วยส่วนหนึ่ง และกลุ่มลูกค้าไม่ได้เติบโตไปตามกระแส คือตอนแรกเหมือนอารมณ์ของใหม่แล้วคนอยากลอง
สาหร่ายมันมีข้อเสียอยู่อย่างหนึ่งที่ว่า เหมือนบ้านเราก็ไม่ได้ทานสาหร่ายกันเป็นปกติใช่ไหมครับ เพราะมีของกินค่อนข้างหลากหลาย สาหร่ายไม่ได้อยู่ในเมนูหลักของบ้านเราเยอะ ความรู้ในเรื่องของการรับประทานก็เลยไม่เยอะ แล้วตัวนี้ก็ยังมีเรื่องที่คนไม่ทราบ คือก่อนจะทานสาหร่ายพวงองุ่น จะต้องนำไปแช่น้ำจืดเพื่อลดความเค็มก่อน เพราะว่าสาหร่ายพวงองุ่นเป็นสาหร่ายทะเล ดังนั้นจะมีความเค็มอยู่ ก่อนรับประทานต้องเอาไปแช่น้ำจืดเพื่อจะลดความเค็มลง เพื่อให้อยู่ในความเค็มที่เรากินได้ ซึ่งจากประสบการณ์ที่ผมได้พบกับลูกค้าหรือคนที่รับประทานสาหร่ายพวงองุ่น เกิน 50% ไม่รู้เรื่องนี้ และมีประสบการณ์การทานที่ไม่ดี คือรู้สึกว่าทำไมมันเค็มมาก ทำไมมันมีกลิ่นคาวมาก ทำไมท้องเสีย ประสบการณ์นี้ที่เกิดขึ้นกับผู้บริโภคมีเยอะ ทำให้เขาไม่กินอีกเลย เกิน 50% เจอประสบการณ์ที่ไม่ดีและไม่คิดจะกินอีกเลย อันนี้คือส่วนหนึ่งที่ทำให้ลูกค้าน้อยลง
อีกส่วนหนึ่งพอ Over Supply มันก็เกิดปัญหาเดิม ๆ ของเกษตรกรบ้านเรา ก็คือเรื่องของการตัดราคา แล้วด้วยความที่สาหร่ายพวงองุ่นจัดการกับตัววัตถุดิบค่อนข้างยาก เก็บรักษายาก ขนส่งยาก ทำให้การขยายตลาดก็ยากเข้าไปใหญ่ มันก็เลยมีแค่คนกลุ่มเล็ก ๆ ที่ทานกันอยู่ เล็กมาก ๆ ความต้องการก็เลยไม่ได้เยอะ การรับรู้เรื่องนี้ก็ค่อนข้างน้อย ทุกวันนี้ตลาดก็เลยค่อนข้างซบเซาลงไปเรื่อย ๆ
SME ONE : กลุ่มที่เป็นลูกค้าที่ซื้อไปกินที่บ้าน กับที่ซื้อไปแปรรูป อย่างไหนเยอะกว่ากัน
วนัสพงษ์ : ถ้าเป็นช่วงที่เราทำแรก ๆ จะมีคนรับซื้อเป็นกิโล ๆ ไปแล้วก็ไปแบ่งขายให้กับลูกค้าย่อย ๆ ตามตลาดนัดอะไรพวกนี้ ตามร้านอาหารก็ค่อนข้างเยอะ แต่พอเราแปรรูป มันแก้ปัญหาเรื่องการขนส่งก็จริง แต่มันก็มีปัญหาใหม่ของเราก็คือเราต้องไป Educate ตลาดใหม่กับสินค้าใหม่ของเรา ก็กลายเป็นเรื่องยากแบบที่ 2 อีก
SME ONE : บุญธิดาฟาร์มเคยร่วมมือกับร้านอาหารหรือเชฟดัง ๆ นำสาหร่ายพวงองุ่นไปเป็นวัตถุดิบในร้านอาหารเพื่อให้คนรู้จักเพิ่มขึ้นบ้างหรือไม่
วนัสพงษ์ : เคยครับ ในปีแรก ๆ ที่ฟาร์มเราจัดการแข่งขันเลย ให้เชฟมารังสรรค์เมนูจากสาหร่ายพวงองุ่น แล้วก็เอาเมนูพวกนั้นขึ้นไปในเว็บไซต์ด้วยว่าทำอะไรได้บ้าง มีให้ดูเลยว่าใช้วัตถุดิบอะไรบ้าง เราก็พยายามเข้าร้านอาหารโรงแรมหลาย ๆ ที่ ซึ่งแรก ๆ ก็เป็นที่นิยมในร้านอาหารโรงแรมหลาย ๆ ที่ แต่ด้วยการเก็บรักษาที่ยาก เขาก็เลยเลิกสั่งไปค่อนข้างเยอะ แล้วเขาก็ไม่กลับมาใช้กันอีก เพราะเขารู้สึกว่ายุ่งยากจะเพิ่มไปทำไมประมาณนั้น
SME ONE : คิดว่าทางออกของปัญหานี้คืออะไร
วนัสพงษ์ : ในมุมมองของผมมองว่า ในตอนนี้มี 2 ส่วนที่ต้องทำไปพร้อม ๆ กัน คือเรื่องของการสร้างการรับรู้ให้กับผู้บริโภค การประชาสัมพันธ์ การทำการตลาด ให้ผู้บริโภครู้ว่าสาหร่ายพวงองุ่นที่ดีเป็นอย่างไร อีกด้านหนึ่งคือฝั่งของผู้ผลิตเองจะต้องมีการควบคุมมาตรฐาน ถ้าเราทำสินค้าออกมาไม่ได้คุณภาพ เช่น ไม่สะอาด ผู้บริโภคนำไปบริโภคก็จะเหม็น ท้องเสียอะไรแบบนี้ ก็จะทำให้กลุ่มลูกค้าหายไป
ดังนั้นทางออกต้องทำไปพร้อม ๆ กันทั้งสองด้าน คือผู้ที่เลี้ยงทำฟาร์มสาหร่ายเองก็ต้องรักษาคุณภาพ ทั้งในเรื่องของความสะอาดและมาตรฐานในการเลี้ยง จริง ๆ สาหร่ายพวงองุ่นเป็นพืชบำบัดน้ำ สิ่งที่สำคัญก็คือแหล่งน้ำกับความสะอาดของน้ำที่นำมาใช้เลี้ยง ถ้าเรานำไปเลี้ยงในที่ ๆ ปนเปื้อนเคมี หรือนำน้ำที่มีการปนเปื้อน เช่น น้ำจากบ่อกุ้งที่มีการใส่เคมีลงไปอะไรพวกนี้ อันนี้จะไม่ดีกับผู้บริโภค ซึ่งแหล่งที่มาของสาหร่ายเป็นเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจและต้องให้ความสำคัญ ผู้บริโภคจะต้องดูว่าสาหร่ายที่เราซื้อมารับประทานมาจากแหล่งที่เชื่อถือได้หรือเปล่า หรือต้องตรวจสอบว่ามาจากที่ไหน
เท่าที่ผมทราบมา กลุ่มผู้เลี้ยงหลายกลุ่มก็พยายามปรับปรุงมาตรฐานในการเลี้ยง เพราะเขาก็เข้าใจปัญหา เราก็เริ่มผลักดันให้กลุ่มเกษตรกรเข้ามาในระบบมาตรฐานให้ได้มากที่สุด ในเรื่องของการเลี้ยง ในเรื่องของความสะอาดเพื่อให้ตัวสินค้ามีคุณภาพ
ในส่วนที่ประชาชนเขาเจอประสบการณ์ไม่ดี มันเหมือนพลุที่จุดไปแล้ว แล้วดับไปแล้ว อันนี้อาจจะเป็นงานที่ค่อนข้างยากกว่า ถ้าคุณยังไม่เคยกินแล้วมาลองกิน มันยังง่ายกว่าคนที่เคยกินแล้วเจอประสบการณ์ที่ไม่ดี มันเลยเป็นโจทย์สำคัญเหมือนกันที่จะทำอย่างไรให้คนเข้าใจว่าจริง ๆ แล้วการเลือกทานสาหร่ายพวงองุ่นที่ดีมันจะต้องเลือกแหล่งที่มาด้วย ดังนั้นจะต้องมีการให้ความรู้ประชาสัมพันธ์กันมากเหมือนกัน คิดว่าภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้น่าจะต้องพยายามผลักดันเรื่องนี้มากขึ้น ว่าจะทำอย่างไรให้ผู้บริโภคเขาเข้าใจในตัวสาหร่ายพวงองุ่นมากขึ้น
SME ONE : ช่วง COVID-19 ได้รับผลกระทบมากน้อยเพียงใด
วนัสพงษ์ : ด้วยความที่เราเป็นลักษณะของบริษัท เราก็เลยมีวิชั่นอีกแบบหนึ่งที่อาจจะไม่เหมือนกับกลุ่มชาวบ้าน ที่เขามองว่าเป็นการหารายได้เสริมหรือรายได้หลัก แต่เราจะมองในลักษณะของความคุ้มค่า คือมองหลาย ๆ ด้านมากกว่า Product ที่เรานำมาแก้ปัญหาในตอนแรก ในเรื่องของการเก็บรักษา การขนส่ง ดูเหมือนจะตอบโจทย์แล้ว จากปัญหาที่แช่ตู้เย็นไม่ได้ ผมทำให้แช่ตู้เย็นได้ การขนส่งที่อยู่ในที่ร้อนไม่ได้ เราทำให้มันอยู่ในที่ร้อนได้ ส่งได้เป็นเดือนเลย เราเคยส่งไปเยอรมันนีด้วย สามารถส่งข้ามประเทศได้หลายที่ แต่มันก็ยังไม่เวิร์ค
ด้วยความที่เราใช้เวลาพัฒนามา 2-3 ปี แล้วปีที่เราพร้อมที่จะเปิดตัวออกมาก็เป็นช่วงที่ก่อน COVID-19 เข้ามาในช่วงพักเดียว ในตอนแรกที่เราเปิดตัว Product ขึ้นมา มีหลายชาติเข้ามาพูดคุยสนใจไม่ว่าจะเป็นออสเตรเลีย อินเดีย อาหรับเอมิเรตส์ก็มี มีหลายชาติเข้ามาคุยสนใจเยอะมาก หลังจากนั้นไม่นาน COVID-19 ก็มา ทุกอย่างหยุดชะงักไปหมด เพราะปัญหาการเดินทาง มันก็เลยไม่ได้ไปต่อ เรียกว่าหยุดไปเลยเหมือนกัน ซึ่งเป็นช่วงที่กำลังจะเปิดตลาดพอดี
หลังจาก COVID-19 ซา เราก็ค่อย ๆ ทำตลาด เราก็ต้องไป Educate ตลาดเพิ่มเติม เพราะสินค้าของเราไม่ใช่สินค้าที่คนเคยเห็นแบบซื้อเป็นแพ็คใส ๆ มีสาหร่ายอยู่ในนั้น ของเราจะเป็นลักษณะใส่กระป๋องเล็ก ๆ คล้าย ๆ ปลากระป๋อง มันจะมีวิธีในการทานเพิ่มเติมขึ้นมาอีก มันไม่ได้ Ready to eat มันจะต้องเอามาแช่น้ำเพื่อลดความเค็มอีกนิดนึง ซึ่งมันค่อนข้างขัดกับโลกสมัยนี้ เท่าที่ผมสังเกตโลกสมัยนี้ ต้องการอะไรค่อนข้างง่าย สะดวก เร็ว ประหยัดเวลา มันเลยอาจจะยังไม่ตอบโจทย์กับปัจจุบันนี้
จริง ๆ เรามีเคยส่งไปเยอรมันนี 2 ครั้ง เขาก็พยายามไปทำตลาดที่ยุโรปเหมือนกัน เขาให้ทางพาณิชย์จังหวัดมาดูว่าเรามีตัวตนจริงหรือเปล่า เพราะทางเยอรมันนีค่อนข้างจะเข้มงวดเรื่องมาตรฐาน ทางเขาเองก็ไม่ได้สั่งไปเยอะมาก สั่งไปทดลองตลาด เขาก็อาจจะเจอปัญหาคล้าย ๆ เรา คนอาจจะรู้สึกว่ามันไม่ได้สะดวก มันก็เลยอาจจะนำตัวนี้ไปสู่ลูกค้าค่อนข้างยาก เราก็พยายามผลักดันตัวนี้มาประมาณ 2-3 ปีได้
SME ONE : แบบนี้มีโอกาสที่จะกลับไปขายแบบเดิมหรือไม่
วนัสพงษ์ : เรามองว่า Product ของเราอาจจะมาก่อนกาล อาจจะไม่เหมาะกับเวลานี้ ซึ่งตอนนี้เราก็กำลังพัฒนา Product ใหม่เพิ่มขึ้นมา ก็คือยังคงเป็นสาหร่ายพวงองุ่น แต่เป็น Product ใหม่ที่แตกต่างไปจากของเดิม อันนี้ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ 100% อยู่ในช่วงที่กำลังวิจัยพัฒนาอยู่
แนวคิดในกาพัฒนาสินค้าใหม่นี้ก็คือ จากที่เราลองทานของเดิมเรารู้สึกว่า ของที่มันต้องไป Educate ตลาดเพิ่ม มันยาก การรับรู้ของผู้คนมันต้องใช้เวลา กว่าเขาจะชิน กว่าเขาจะยอมรับ กว่าเขาจะรับรู้ เราก็เลยมองว่าควรจะเป็นของที่ Ready to eat เลย เป็นของที่ทุกคนรู้จักอยู่แล้ว เป็นลักษณะเหมือนขนม เราไม่ต้องสอนว่าอันนี้คือขนม คนแกะกินได้เลย เราไม่ต้องไปสอนว่าต้องกินอย่างไร ถือเป็นวัตกรรมใหม่ มองว่าตัวนี้น่าจะตอบโจทย์กว่า ณ ตอนนี้สินค้าตัวนี้คาดว่าจะพร้อมในการผลิตในปีหน้า
SME ONE : ที่ผ่านมาเราเคยไปขอคำปรึกษาจากหน่วยงานภาครัฐบ้างหรือไม่
วนัสพงษ์ : ที่ปรึกษาบ่อย ๆ ก็จะเป็นกรมประมงในเรื่องของการเลี้ยง แล้วก็ปรึกษาพาณิชย์จังหวัด อุตสาหกรรมจังหวัด เข้าหลายหน่วยงานเหมือนกัน ทั้งเรื่องการตลาด การพัฒนา ส่วนใหญ่ก็ปรึกษาพาณิชย์จังหวัด เพราะตอนนั้นก็หาตลาดหาลูกค้า ไปหลาย ๆ โครงการ ไปแมชชิ่งไปจับคู่ธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ ก็ไปหลายครั้งอยู่ แต่ก็ยังไม่ค่อยตอบโจทย์เท่าไหร่ หลังจากที่เราไปแมชชิ่งบ่อย ๆ ทางผู้ซื้อก็มองอะไรที่มันง่าย เขาต้องการอะไรที่มันขายได้เลย ไม่ต้องสอน เท่าที่เราไปคุยมาเขาต้องการของที่พร้อมกินได้เลย
SME ONE : มองว่าจะต่อยอดธุรกิจอย่างไร
วนัสพงษ์ : ตอนนี้สินค้าเดิมเราก็ยังไม่ได้ทิ้ง แต่อาจจะคงไว้ก่อน วันหนึ่งมันอาจจะมาตอบโจทย์ทีหลังก็ได้ ตอนนี้เราก็ไปโฟกัสที่ Product ใหม่ ที่เราค่อนข้างมั่นใจว่าน่าจะไปได้ดีกับยุคนี้ เท่าที่เราคุยผู้บริโภคยุคนี้ค่อนข้างต้องการอะไรที่สะดวก อร่อย เราก็เลยมองว่าอันนี้น่าจะเป็นทางออกที่ดี ตัวสาหร่ายบรรจุเราก็ไม่ได้เลิกไป ก็ยังมีอยู่ เพราะวันหนึ่งตัวนี้อาจจะกลับมาทีหลังก็ได้
ผมเคยคุยกับอาจารย์ที่อยู่ในส่วนของการพัฒนา Product เขาบอกก็มีเหมือนกันที่มี Product พัฒนามา 4-5 ปี ขายไม่ได้เลย แต่อยู่มาวันนึงก็ขายได้ ของบางอย่างมันอาจจะมาก่อนกาล อาจจะไม่ใช่เวลา เราก็เลยเก็บไว้ก่อน วันหลังอาจจะกลับมาก็ได้
SME ONE : ตอนที่ทุกอย่างเริ่มกลับสู่ปกติ จะกลับไปมองธุรกิจส่งออกอีกหรือไม่
วนัสพงษ์ : เราก็มองว่าสินค้าเราก็เหมาะกับการส่งออกเหมือนกัน แต่เท่าที่ลองแมทชิ่งดู เขาก็ยังต้องการในลักษณะพร้อมทานอยู่ ก็อาจจะไปลุยส่งออกอีกรอบกับสินค้าตัวใหม่เลย
SME ONE : จากนี้ต่อไปอะไรคือความท้าทายของบุญธิดาฟาร์ม
วนัสพงษ์ : ตอนนี้ความท้าทายก็น่าจะเป็นตัว Product ใหม่ มันจะทำออกมาได้ดีอย่างที่เราคิดไว้หรือเปล่า แต่จากการทดสอบกันเองในกลุ่มเล็ก ๆ ค่อนข้างเป็นไปในทางที่ดี ก็เลยมองว่าตัวนี้น่าจะเป็นทางออกที่ดีของเราได้
SME ONE : อยากให้ช่วยแนะนำคนที่อยากจะเริ่มทำธุรกิจแบบ SMEs
วนัสพงษ์ : ผมมองว่าในแต่ละปี แต่ละยุคสมัย ก็มีปัจจัยแวดล้อมที่เราควบคุมไม่ได้ ผมคิดว่าบางอย่างมันไม่ได้สำเร็จง่ายก็อาจจะต้องลุยไปกับมันสักพักนึง หาวิธีที่ดีที่สุดที่จะทำให้มันจะไปได้ บางทีเราอาจจะคิดมาดีแล้ว แต่พอไปลงสู่โลกจริง ๆ มันอาจจะไม่ใช่อย่างที่เราคิด มันอาจจะเป็นคนละอย่างเลยก็ได้
ผมมองว่ามันไม่ได้มีอะไรตายตัวว่าคุณทำแบบนี้แล้วมันจะได้แบบนี้ เราอาจจะต้องคลุกคลีกับมันเพื่อหาโอกาสของเราเองว่า สุดท้ายแล้วเราจะหยิบฉวยโอกาสแบบไหนให้เราได้ แต่ละธุรกิจอาจจะมีทั้งเหมือนกันและไม่เหมือนกัน บางสิ่งบางอย่างก็ขึ้นอยู่กับว่าเราสู้กับมันได้แค่ไหนมากกว่า และทำจนกว่าจะสำเร็จ
บทสรุป
ถ้ามองในเชิงธุรกิจของบุญธิดาฟาร์มก็คงต้องเรียกว่ายังอยู่ในช่วงของการลงทุน และพัฒนาสินค้าให้ออกมาตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลา เนื่องจากสาหร่ายพวงองุ่นเป็นพืชที่ค่อนข้างใหม่ในบ้านเรา หลายคนยังไม่ค่อยรู้จักแพร่หลาย
ทั้งนี้ทางผู้ประกอบการและภาครัฐจำเป็นต้องให้ความรู้เพื่อสร้างสร้างการรับรู้ และสร้างตลาดให้เป็นที่นิยมมากขึ้น เนื่องจากภูมิประเทศในหลายจังหวัดของประเทศไทยก็เหมาะสมที่จะใช้เป็นพื้นที่เพาะเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่น และด้วยคุณสมบัติของสาหร่ายพวงองุ่นที่เรียกว่าเป็น Super Food ก็มีโอกาสที่จะผลักดันให้กลายเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ที่สร้างมูลค่าได้
สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ได้ดำเนินโครงการจัดทำภาพอนาคต
สินค้าเกษตรสำคัญของประเทศไทย กรณีศึกษา สินค้าอาหารจากพืช (Plant-Based Food) ประจำปี
งบประมาณ พ.ศ. ๖๕๖๖ โดยจัดทำเอกสารเผยแพร่ "ภาพอนาคตสินค้าอาหารจากพืช (Plant-Based Food)" ในรูปแบบอินโฟกราฟิก และคลิปวิดีโอการดำเนินโครงการฯ สำหรับเผยแพร่ให้กับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องนำไปใช้ประโยชน์ ตาม QR Code และลิงก์ด้านล่างนี้
เอกสารเผยแพร่
https://drive.google.com/file/d/1hfrVbn6Bj2LxHEQ_4yQGig4YERBHKZap/view
คลิปวิดีโอ
https://drive.google.com/file/d/11NGUd6zydOSnVOLr6rv7p42Lzy9nXqiY/view
อินโฟกราฟิก
https://drive.google.com/file/d/12cVpntKqOPmDBPz4ZNK8E6WeMTv4uP0Y/view
https://drive.google.com/file/d/1iwCR2vG-Nnxs1viYyANkg1JRLXVFVI3H/view
อุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ร่วมผลักดัน MSME ไทย ไต่ระดับสู่ Global Standard
อุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นหน่วยงานภายใต้การสนับสนุนจากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม นับเป็นอีกหนึ่งหน่วยงานสำคัญที่ทำหน้าที่ช่วยเหลือผู้ประกอบการ MSME มีภารกิจหลักเป็นแหล่งบ่มเพาะและพัฒนาศักยภาพของภาคอุตสาหกรรมและเอกชนในภูมิภาค
ดร.อภิรชัย วงษ์ศรีวรพล ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า อุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีหน้าที่หลัก คือ การผลักดัน ช่วยเหลือ และสนับสนุนอุตสาหกรรมหรือผู้ประกอบการ MSME ผ่านการเข้าไปสนับสนุนการประกอบกิจการ โดยใช้องค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมเข้าไปช่วยยกระดับธุรกิจของผู้ประกอบการคนไทยให้มีมาตรฐานสามารถส่งออกไปสู่ระดับ Global Standard
“เราดำเนินการร่วมมือกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน รวมทั้งสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ในการช่วยกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค และยังเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมของประเทศ ทั้งในด้านการพัฒนากำลังคน การสนับสนุนการวิจัยและพัฒนา กระตุ้นให้เกิดนวัตกรรมใหม่ รวมไปถึงการสนับสนุนให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยี และองค์ความรู้สู่ภูมิภาคและระดับท้องถิ่น”
ดังนั้น การดำเนินงานของอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จะมีตั้งแต่การเข้าไปถ่ายทอดความรู้ เช่น องค์ความรู้ในการยืดอายุอาหาร, อบรมเชิงปฏิบัติการ “การจัดการฟาร์มสำหรับการผลิตแมลงโปรตีน BSF เพื่อใช้เป็นอาหารสัตว์และเพิ่มมูลค่า”, การทำตลาดด้วย Tik Tok หรือการสร้างความตระหนักรู้ให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมีเรื่องของการศึกษาทำวิจัยเกี่ยวกับภาคอุตสาหกรรม หาองค์ความรู้ใหม่ เพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงานในอนาคต
ไม่เพียงเท่านั้น ทางหน่วยงานดำเนินงานในส่วนของการร่วมพัฒนาผลิตภัณฑ์กับผู้ประกอบการโดยใช้องค์ความรู้และเทคโนโลยีจากทางอุทยานวิทยาศาสตร์ เพื่อรังสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ โดยมาจากการที่หน่วยงานเข้าไปหาชุมชน ผ่านช่องทางการจัดสัมมนา หรือออกบูธประชาสัมพันธ์ และจากทางผู้ประกอบการเข้ามาปรึกษากับหน่วยงานเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ร่วมกัน รวมไปถึงยังอำนวยความสะดวกในเรื่องของสถานที่ เพื่อสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ร่วมกันกับภาคการศึกษาภาคอุตสาหกรรม และภาครัฐบาล เพื่อส่งออกเชิงพาณิชย์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคเอกชน นำไปสู่การพัฒนาทางเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่และประเทศ
อย่างไรก็ดี ดร.อภิรชัย เผยถึงประเด็นสำคัญที่จะผลักดันให้ MSME ของประเทศไทยก้าวไปได้ไกลมากยิ่งขึ้น คือ “องค์ความรู้” เนื่องจากเล็งเห็นว่าเป็นส่วนสำคัญต่อผู้ประกอบการหรือคนทำธุรกิจเป็นอย่างมาก
โดยองค์ความรู้ที่ว่าสามารถแยกออกเป็นมิติต่าง ๆ เรื่องแรก คือ การบริหารจัดการธุรกิจ เท่าที่สังเกตพบในปัจจุบัน ผู้ประกอบการมักจะดำเนินงานในรูปแบบพ่อค้าหรือเถ้าแก่เป็นส่วนใหญ่ ยังไม่มีการดำเนินงานในลักษณะของการบริหารจัดการธุรกิจ เรื่องถัดมา คือ การบริหารการบัญชี เรื่องของรายรับ รายจ่าย ต้นทุน ภาษี เรื่องเหล่านี้ล้วนส่งผลต่อธุรกิจทั้งสิ้น แต่ MSME ผู้ประกอบการหลายรายยังขาดองค์ความรู้ส่วนนี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรค่าต่อการส่งเสริมเพิ่มเติมแก่ผู้ประกอบการเป็นอย่างยิ่ง
เรื่องสุดท้าย คือ เรื่องของนวัตกรรม เป็นองค์ความรู้อีกระดับหนึ่งที่ต้องอาศัยหน่วยงานทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชนเข้าไปช่วยกันส่งเสริม เนื่องจาก MSME หลาย ๆ แห่งอาจจะยังไม่สามารถริเริ่มเองได้แต่มีแหล่งผลิตสินค้าอยู่แล้ว เมื่อดำเนินกิจการถึงขั้นที่ต้องใช้องค์ความรู้หรือกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ งานวิจัย หรือนวัตกรรม ทางอุทยานวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่นจึงมีบทบาทสำคัญในการเข้าไปสนับสนุนในส่วนตรงนี้ให้แก่ผู้ประกอบการเพิ่มเติม
ดร.อภิรชัย อธิบายถึงการเข้าไปผลักดันกลุ่ม MSME ว่าในแง่องค์ความรู้ด้านวิชาการที่เป็นเรื่องของการบริหารจัดการ จะดำเนินงานลงพื้นที่ไปฝึกฝน ให้คำแนะนำ และคำปรึกษาแก่เหล่าผู้ประกอบการ ในส่วนขององค์ความรู้ด้านนวัตกรรมทางอุทยานวิทยาศาสตร์ฯ มักจะดำเนินการในรูปแบบของการเข้าไปทำงานร่วมกับผู้ประกอบการ เช่น อนุญาตผู้ประกอบการใช้พื้นที่หรือห้องปฏิบัติการของหน่วยงาน เพื่อวิเคราะห์หรือทดสอบตามกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ รวมไปถึงการสนับสนุนพื้นที่โรงงานที่เปรียบเสมือนสถานที่ทดลองผลิตสินค้าให้ผู้ประกอบการสามารถผลิตสินค้าตัวอย่าง เพื่อนำไปทดลองกับตลาดเป้าหมายก่อนดำเนินการจัดจำหน่ายอย่างเป็นทางการ ซึ่งการดำเนินงานในส่วนนี้จะเป็นส่วนสำคัญในการช่วยผู้ประกอบการประหยัดทั้งต้นทุน และระยะเวลา
“เราต้องลงพื้นที่เซ็ตอัพรายการผลิต การจัดการวัตถุดิบ และอื่น ๆ ให้แก่ผู้ประกอบการ จากนั้นจะนำวัตถุดิบดังกล่าวมาทดลองผลิตในพื้นที่ของเรา หลังจากการทดลองผลิตจะมีการนำไปทดลองจำหน่ายว่ามีผลตอบรับเป็นอย่างไร มีจุดบกพร่องตรงไหน เพื่อนำมาปรับปรุงกระทั่งสามารถวางจำหน่ายได้อย่างมีคุณภาพ
เมื่อทุกอย่างอยู่ในจุดที่ลงตัวจนผู้ประกอบการพร้อมลงทุน เราจะถ่ายทอดองค์ความรู้ในส่วนอื่นเพิ่มเติม เช่น การทำตลาด การบริหารจัดการด้านต่าง ๆ เพิ่มเติม เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถดำเนินธุรกิจได้ด้วยตนเอง”
นอกจากนี้ ทางอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีการร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน อาทิ หน่วยงานพาณิชย์จังหวัด อุตสาหกรรมจังหวัด เกษตรจังหวัด ปศุสัตว์จังหวัด หน่วยพัฒนาเศรษฐกิจจังหวัด กรมพัฒนาชุมชน สภาอุตสาหกรรม BOI เป็นต้น ซึ่งเป็นการดำเนินงานร่วมกันเพื่อสนับสนุนกลุ่มผู้ประกอบการ ตั้งแต่การจดทะเบียน การดำเนินงาน ไปจนถึงการส่งเสริมการขาย
ทั้งนี้ในอนาคต อุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีเป้าหมายการดำเนินงาน 2 ส่วนหลัก ได้แก่
1) มุ่งมั่นดำเนินการใน 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ตาม New S-curve โดยมีความตั้งใจยกระดับ SMEs ในเมืองไทย ให้กลายเป็น MSME ที่มี Innovation อยู่ภายใต้การดำเนินงาน สามารถพึ่งพาตนเองได้
2) ส่งเสริม MSME ในประเทศให้เติบโตสู่เวทีระดับโลก กล่าวคือ ยกระดับจาก Local สู่ Global เพื่อให้กลายเป็นต้นแบบผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่จะถือกำเนิดตามมา
“ปัจจุบันผลิตภัณฑ์จากกลุ่ม MSME ของเรามีการส่งออกผลิตภัณฑ์ไปยังต่างประเทศ อาทิ ญี่ปุ่น อเมริกา แคนาดา เม็กซิโก แต่ยังนับเป็นเปอร์เซ็นต์การส่งออกที่น้อยมาก ฉะนั้นเราจึงมีเป้าหมายที่จะผลักดันให้ผลิตภัณฑ์จากกลุ่ม MSME บ้านเราสามารถส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศ ทั้งในประเทศจีนหรือประเทศในแถบตะวันออกกลางให้มีปริมาณเพิ่มมากยิ่งขึ้น เพื่อสร้างแนวโน้มที่ดีต่อ MSME ไทยในอนาคต”
ดร.อภิรชัย กล่าวเสริมว่า ทุก MSME มีความต้องการที่จะส่งออกผลิตภัณฑ์ รวมไปถึงเติบโตในต่างประเทศ แต่ในแง่ของการดำเนินงานยังจำเป็นต้องอาศัยกลไกสนับสนุนอีกหลายด้าน ฉะนั้นถ้าได้รับการผลักดันและส่งเสริมมากขึ้น จะยิ่งทำให้กลุ่ม MSME และประเทศไทยก้าวไปสู่เวทีระดับโลกได้เร็วยิ่งขึ้นตามมา
มากไปกว่านั้น ดร.อภิรชัย ยังชี้ให้เห็นถึงความไม่สมดุลของจำนวนอุทยานวิทยาศาสตร์ทั่วประเทศไทยที่มีจำนวน 16 ศูนย์ ขณะที่จำนวนผู้ประกอบการ MSME ในเมืองไทยมีจำนวนเยอะมาก ฉะนั้นทำให้การรองรับอาจยังไม่เพียงพอ จึงเสนอแนวทางแก้ไขเพิ่มเติมว่า
“อุทยานวิทยาศาสตร์ที่มีอยู่อย่างจำกัดทำให้อาจเกิดปัญหาตามมา ในแง่ของการไม่สามารถดำเนินงานรองรับกลุ่ม MSME ทั่วประเทศได้อย่างเพียงพอ ฉะนั้นแล้วภาครัฐหรือผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ควรหันมามองและตระหนักถึงการสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานในส่วนตรงนี้เพิ่มเติม”
สำหรับผู้ประกอบการ MSME ที่สนใจ สามารถหาข้อมูลเพิ่มเติม หรือจะขอคำปรึกษาสามารถติดต่อได้ที่อีเมล info@kkusp.com หรือ เฟซบุ๊กเพจ KKU Science Park หรือโทร (+66) 8 9172 7126 และ
(+66) 43 048 048
กรมทรัพย์สินทางปัญญา (DIP)
ทุกคนรู้ว่า การจะสร้างธุรกิจให้เกิดขึ้นได้นั้น มีหลายเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญ ทั้งเรื่องแผนธุรกิจ เรื่องเงินทุน เรื่องการตลาด แต่ผู้ประกอบการจำนวนมาก กลับลืมคำนึงถึงอีกหนึ่งเรื่องใกล้ตัวที่สำคัญไม่แพ้เรื่องข้างต้น และเป็นเรื่องใกล้ตัวที่อยู่คู่กับทุกธุรกิจ นั่นก็คือ เรื่องของทรัพย์สินทางปัญญา
การขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องทรัพย์สินทางปัญญานั้น อาจส่งผลให้ผู้ประกอบการเสียสิทธิในความคุ้มครองทางธุรกิจด้านต่างๆ และอาจไปจนถึงการไม่ได้รับสิทธิความเป็นเจ้าของในธุรกิจของตนเองได้
กรมทรัพย์สินทางปัญญา จึงได้พัฒนายกระดับรูปแบบการให้บริการ ที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าใจกลไลและหลักเกณฑ์ในการคุ้มครองด้านต่างๆ และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างถูกต้องสมบูรณ์เต็มประสิทธิภาพมากที่สุด จึงเปิดศูนย์ให้คำปรึกษาด้านทรัพย์สินทางปัญญาขึ้น ในชื่อว่า ศูนย์ IPAC (Intellectual Property+ Advisory Center) ที่จะเป็น One-Stop-Services พร้อมการบริการครบวงจรในจุดเดียว ที่มอบความสะดวกสบายให้กับผู้ประกอบการ
บทบาทของ IPAC นั้นต้องการที่จะสร้างให้ผู้ประกอบการนั้น รู้หลักเกณฑ์ในการสร้างสรรค์ออกแบบธุรกิจ ให้ได้รับสิทธิความคุ้มครองอย่างสมบูรณ์โดยอัตโนมัติ เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถประกอบธุรกิจได้อย่างเกิดประโยชน์สูงสุด และสามารถปกป้องธุรกิจของตัวเองได้
บริการจากทางศูนย์
ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อได้ที่
กรมทรัพย์สินทางปัญญา (DIP)
ที่อยู่: 563 ถนนนนทบุรี ต.บางกระสอ อ.เมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 1368
อีเมล: saraban@ipthailand.go.th
เว็บไซต์ : eservice.ipthailand.go.th
Facebook: ipthailand