Taevika Jewelry จิวเวลรีที่แปลกใหม่ เอกลักษณ์ในแบบที่ไม่มีใครทำ
พลอยที่ขึ้นชื่อ คงเป็นที่ไหนไปไม่ได้ นอกจากพลอยเมืองจันท์ และเมื่อนึกถึงพลอยก็ต้องนึกถึงการนำมาใส่ในเครื่องประดับ จังหวัดจันทบุรีจึงเต็มไปด้วยธุรกิจพลอย และร้านเครื่องประดับจำนวนมาก แล้วจะทำอย่างไรให้แบรนด์เครื่องประดับนั้นโดดเด่นและแตกต่างจากร้านอื่น ๆ ที่อยู่ในวงการเดียวกัน
Taevika Jewelry นั้น แต่เดิมเป็นที่รู้จักในกลุ่มชาวต่างชาติ จากธุรกิจส่งออกพลอยในชื่อว่า K&N Gems ก่อนจะรีแบรนด์ใหม่ในชื่อว่า Taevika Jewelry เพื่อให้ปรับภาพลักษณ์ของแบรนด์ให้ทันสมัย จดจำง่ายและเพื่อขยายตลาดในประเทศ
Taevika Jewelry นั้นเป็นการทำกิจการต่อจากคุณพ่อคุณแม่ ซึ่งเป็นการรับช่วงต่อเป็นรุ่นที่ 2 ของคุณ เพนกวิน - ณัฐชยา มณีเวศย์วโรดม แต่นั่นก็ไม่ใช่เส้นทางที่ราบรื่น คุณเพนกวินได้เข้ามาดูแลกิจการตั้งแต่ยังเรียนอยู่ในมหาวิทยาลัย เมื่อเรียนจบและเตรียมตัวที่จะเข้ามาดูแลกิจการเต็มตัว ก็ต้องเจอกับเรื่องท้าทายในทันที นั่นก็คือสถานการณ์โควิด-19 ที่แช่แข็งเกือบทุกธุรกิจให้หยุดชะงัก ยิ่งเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ที่ต้องดูแลพนักงานกว่า 200 ชีวิตนั้น ก็เป็นโจทย์ใหญ่ที่เด็กจบใหม่ตัวเล็ก ๆ ต้องแก้ปัญหาผ่านไปให้ได้
ทุ่มทั้งหัวใจทำธุรกิจ
จุดแข็งหนึ่งของ Taevika Jewelry ที่มีมาตลอดคือ รูปแบบของเครื่องประดับ ที่แปลกใหม่มีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร จนลูกค้าสามารถจดจำหน้าตาได้ทันทีที่เห็น โดยไม่ต้องพลิกดูชื่อแบรนด์
ในช่วงโควิด-19 ที่ธุรกิจประสบปัญหาไม่สามารถไปออกงานได้ และลูกค้าต่างประเทศพากันยกเลิกออเดอร์นั้น ธุรกิจขาดรายได้จนคุณแม่ของคุณเพนกวินคิดว่า อาจจะต้องเลือกเลย์ออฟพนักงาน ที่มีอยู่กว่า 200 ชีวิต คุณเพนกวินที่เพิ่งเรียนจบกลับมาดูแลกิจการเต็มตัว เชื่อว่ามันน่าจะมีวิธีที่ไม่ต้องเสียสละใครออกไป
ท่ามกลางความกดดัน และพยายามคิดหาทางแก้ปัญหา วันหนึ่งที่คุณเพนกวินกำลังเล่นโซเชียลมีเดีย ก็พบกับวิธีการขายของธุรกิจอื่นๆ ที่ปรับรูปแบบมาขายในช่องทางออนไลน์ รวมถึงการขายผ่านการไลฟ์สด เมื่อเห็นดังนั้นจึงไม่รอช้า ทดลองทำเพจ และไลฟ์ขายทันทีด้วยตัวเอง ซึ่งในวันแรกมีผู้ชมเพียง 100 รายเท่านั้น และไม่สามารถขายของได้ พร้อมกับแจกแหวนให้กับผู้มาเข้าชมไปฟรีๆ สิ่งนี้กลับกลายเป็นสิ่งที่เรียกแขกให้เข้ามาติดตามเพจและ ชมไลฟ์ในวันถัดๆ ไป ในเวลาเพียงไม่ถึงเดือน สามารถสร้างผู้ติดตามเพิ่มขึ้นได้หลายเท่าตัว และสร้างรายได้จากการขาย ให้สามารถพยุงธุรกิจฝ่าฟันช่วงเวลาล็อกดาวน์นั้นไปได้
จากที่เคยไลฟ์ขายเอง ก็พัฒนาสู่การปั้นทีมงานนักขาย โดยการส่งไปฝึกอบรมให้พนักงานที่มีหน้าทีในการขายทุกคน ต้องมีความรู้ความเชี่ยวชาญและมีหัวใจในการทำธุรกิจเทียบเท่ากับเจ้าของแบรนด์ เพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับสินค้า และให้บริการลูกค้าทุกคนทุกกลุ่ม ได้อย่างดีที่สุด
เพื่อให้บริการลูกค้าอย่างใกล้ชิด Taevika Jewelry ยังพัฒนาต่อยอดจากร้านจิวเวลรี ให้เป็นสถานที่พักผ่อนด้วยการเปิด Taevika Café ขึ้น เพื่อให้ลูกค้าสามารถเข้ามาท่องเที่ยวถ่ายรูป และทดลองสินค้าจริงได้ สร้างความประทับใจให้แบรนด์เข้าไปอยู่ในไลฟ์สไตล์ของลูกค้า
ด้วยคุณภาพสินค้าที่ดี รวมกับการบริการที่ดี ทำให้ Taevika Jewelry นั้น เป็นธุรกิจที่ทั้งชนะใจลูกค้า และชนะรางวัลในการประกวดแผนธุรกิจมากมายในปีที่ผ่านมา
ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อได้ที่
Taevika Jewelry
ที่อยู่: 66 หมู่ 5 ถ.สุขุมวิท ต.เขาวัว อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี 22120
โทร: 085-396-9696
อีเมล: taevika.finejewelry@gmail.com
เว็บไซต์: www.taevikajewelry.co.th
Facebook: taevika
Jutatip แบรนด์ผ้าฝ้ายสายคราฟต์ โทนพาสเทลย้อมธรรมชาติ
การย้อมผ้าด้วยสีธรรมชาตินั้น อยู่คู่กับภูมิปัญญาของไทยมาอย่างยาวนาน แต่นับวันความรู้เหล่านี้ กลับหาผู้คนที่จะสานต่อได้ยากยิ่ง ความรู้ ทักษะ เทคนิคและภูมิปัญญาอันมีคุณค่าจำนวนมากที่ไม่มีผู้สืบทอด ได้สูญหายไปตามกาลเวลาพร้อมกับคนรุ่นเก่า และหลงเหลือผู้คนที่ยังคงเก็บรักษาคลังความรู้เหล่านั้นไว้กับตัวเองเพียงจำนวนหยิบมือเท่านั้น
คุณจุฑาทิพ ไชยสุระ ผู้ก่อตั้งแบรนด์ Jutatip ทำผ้าฝ้ายทอมือย้อมสีธรรมชาติ มองเห็นถึงความสำคัญของภูมิปัญญาเหล่านี้ และต้องการที่จะสานต่อความรู้ โดยการชุบชีวิตภูมิปัญญาจากที่ต่างๆ นำมาปรับปรุงรูปแบบให้เข้ากับยุคสมัยใหม่ในปัจจุบัน เพื่อจูงใจให้คนสมัยใหม่สามารถสวมใส่ผ้าทอมือได้โดยไม่รู้สึกตกยุค
ด้วยความมุ่งมั่น ตั้งใจ ใฝ่รู้ และมีจิตวิญญาณที่รักในงานคราฟต์ แบรนด์ Jutatip จึงสามารถสร้างสรรค์รูปแบบของงานผ้าฝ้ายทอมือย้อมสีธรรมชาติ แม้ยังคงวิถีแบบโบราณดั้งเดิมแต่ออกแบบให้มีความทันสมัย มีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใครได้ สามารถเข้าถึงได้ง่าย ใช้งานได้จริง จนเป็นที่ถูกใจผู้คนในวงกว้าง และเป็นที่ยอมรับในหลายๆ ประเทศทั่วโลก
ต่ออายุผ้าทอมือด้วยไอเดีย
เอกลักษณ์ของแบรนด์ Jutatip นั้น เป็นเทคนิคที่ถูกผสมผสานขึ้น จากการสืบสานภูมิปัญญาต้นตำรับในหลากหลายท้องถิ่นเข้าด้วยกัน มาจากความใฝ่รู้ กล้าวิ่งเข้าหาแหล่งภูมิปัญญาต้นตำรับ ทั้งการทำฝ้ายเข็นมือ 18 ขั้นตอนจากจังหวัดสกลนคร เรียนรู้การเลี้ยงคราม ย้อมครามตามสูตรดั้งเดิม เรียนรู้การย้อมสีชมพูจากจังหวัดร้อยเอ็ด การย้อมสียูคาลิปตัสจากขอนแก่น เป็นต้น
หลังจากได้กลับมาที่ขอนแก่นจึงมีความคิดอยากต่อยอดภูมิปัญญาเหล่านี้ ให้กลายเป็นอาชีพ จึงมีการติดต่อร่วมงานกับนักศึกษาในมหาวิทยาลัยขอนแก่นที่เพิ่งเรียนจบ ให้เข้ามาช่วยกันพัฒนาทิศทางของแบรนด์ให้เป็นรูปเป็นร่าง มีแนวทางในการตลาดกำหนดกลุ่มเป้าหมายให้ชัดเจน
นอกจากความรู้ภายในประเทศแล้ว วิถีงานคราฟต์ ทำมือทุกขั้นตอนในแบบ Jutatip นั้น ยังมีความคล้ายคลึงกับภูมิปัญญาของฝั่งงานญี่ปุ่น คุณ จุฑาทิพ จึงได้ลองศึกษาเทคนิคการทำฝ้ายญี่ปุ่นเพิ่มเติมและนำมาประยุกต์ใช้กับการย้อมลวดลายฝ้ายไทย
JUTATIP เป็นที่ยอมรับในวงกว้างในด้านคุณภาพ ความสร้างสรรค์ และความยั่งยืน จนได้รับรางวัลในด้านต่างๆ เช่น มาตรฐาน Green Production ระดับดีเยี่ยม (ทอง) จากกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม รางวัลการออกแบบ G-mark (Good Design Award) โดยสถาบันการออกแบบของญี่ปุ่น
ผลิตภัณฑ์ของ JUTATIP ครองใจผู้คนทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะในตลาดญี่ปุ่นและไต้หวัน ซึ่งชื่นชอบในงานคราฟต์ จุดเด่นที่ชนะใจกลุ่มลูกค้าคือเรื่อง เฉดสี การย้อมจากธรรมชาติ รวมทั้งลูกเล่นและลวดลายผ้า จนครั้งหนี่งสินค้าของ Jutatip เคยได้รับคัดเลือกไปวางจำหน่ายในร้านมูจิที่ประเทศญี่ปุ่น
บ้าน Jutatip ที่ขอนแก่นนั้น เปิดเป็นศูนย์การเรียนรู้ ให้เข้ามาทดลองและลงมือทำ เป็นความตั้งใจที่ต้องการส่งต่อความรู้ที่ Jutatip สั่งสมมาให้กับคนรุ่นใหม่ เพื่อรักษาภูมิปัญญาเหล่านี้ไม่ให้สูญหายไป
ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อได้ที่
Jutatip
ที่อยู่: 1/43 หมู่14 ต.เมืองเก่า อ.เมืองขอนแก่น จ.ขอนแก่น 40000
โทร: 099-056-4199
อีเมล: jutatiponline@gmail.com
เว็บไซต์: jutatip.com
Facebook: Jutatip Online
Greenville Farm Café ฟาร์มผักสดที่มีประโยชน์ต่อร่างกายและชุมชน
จุดเริ่มต้นจากไลฟ์สไตล์เล็ก ๆ ภายในครอบครัว ขยายตัวสู่ฟาร์มคาเฟ่ที่ช่วยดูแลเกษตรกรทั้งชุมชน
ในช่วงที่ผ่านมาเราทุกคนต่างได้รับอิทธิพลจากเทรนด์สุขภาพ ที่ทำให้เราต่างมีความใส่ใจในเรื่องสุขภาพร่างกาย สุขภาพจิตใจ สุขอนามัย ไปจนถึงอาหารการกินกันมากขึ้น
คุณริส - วาริส แก้วภักดี หนึ่งในผู้ก่อตั้งกรีนวิลล์ ฟาร์มคาเฟ่ ก็เป็นคนหนึ่งที่ได้รับแรงบันดาลใจโดยตรงจากเทรนด์นี้ และเริ่มปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ของตัวเองและครอบครัว ให้หันมาใส่ใจดูแลสุขภาพอย่างรอบด้าน จึงเกิดเป็นการปลูกผักหลังโรงรถที่บ้าน เพื่อเก็บผักมาทานกันเองในครอบครัว โดยเลือกปลูกผักด้วยระบบไฮโดรโพนิกส์เพื่อควบคุมคุณภาพได้อย่างสะดวก การที่มีแปลงผักภายในบ้านนั้น ทุกครั้งที่เดินไปเลือกผักจากแปลงเพื่อจะนำมาทำอาหารทานนั้น คือช่วงเวลาแห่งความสุขของครอบครัว
ผักสดที่เก็บมาจากฟาร์มสด ๆ นั้น เรียกได้ว่าเป็นผักที่ยังมีชีวิต รสสัมผัสจะยังคงความสด มีความกรอบและชุ่มชื้น จุดนี้เองที่ทำให้คุณริสจากคนที่ไม่ทานผัก กลายเป็นคนที่หลงรักในการทานผักสด ๆ และหลงรักวิถีชีวิตเรียบง่ายในการปลูกผัก เก็บผัก ทำอาหาร ในแบบนี้
เมื่อมีความหลงใหลมาก ก็คิดอยากที่จะต่อยอดจากความชอบให้กลายเป็นธุรกิจ หลังจากพัฒนาโมเดลธุรกิจจงลงตัว เกิดขึ้นเป็น กรีนวิลล์ ฟาร์มคาเฟ่ ที่เป็นทั้งฟาร์มผัก ร้านอาหาร แหล่งท่องเที่ยว แหล่งเรียนรู้ และตลาดเกษรตรกรเพื่อช่วยเหลือชุมชน รวมเข้าไว้ด้วยกัน และคิดเมนูที่สามารถสื่อสารเรื่องราวเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพให้กับลูกค้าได้
คิดเพื่อประโยชน์ของชุมชน
กรีนวิลล์ ฟาร์มคาเฟ่ ไม่ได้เป็นเพียงร้านที่ขายอาหารตรงจากฟาร์ม แต่มองว่าเป็นธุรกิจการท่องเที่ยวเชิงอาหาร ที่ลูกค้าจะได้รับประสบการณ์พิเศษแสนประทับใจติดตัวกลับบ้านไปด้วยทุกครั้ง ตั้งแต่การเข้ามาถือตะกร้าเก็บผักในฟาร์ม ส่งเข้าครัวไปทำเมนูที่ต้องการ ก็ยังมีกิจกรรมต่าง ๆ ภายในฟาร์มให้ทำได้แบบครบวงจร
บทบาทที่เป็นทั้งเกษตรกร และเป็นทั้งผู้ประกอบการ ทำให้คุณริส มองเห็นภาพใหญ่ทั้งในโครงสร้างของการทำเกษตรและธุรกิจ จึงเห็นโอกาสที่จะเชื่อมโยงทุกอย่างโดยมีฟาร์มแห่งนี้เป็นศูนย์กลาง จึงได้จัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชนขึ้นมา เปิดพื้นที่ตลาดเพื่อให้เกษตรกรในชุมชน สามารถนำผลผลิตมาวางจำหน่าย และส่งเข้าครัวของกรีนวิลล์ได้ เป็นการสร้างเครือข่ายพันธมิตรจากฟาร์มต่าง ๆ ที่ส่งผลผลิตเข้ามาให้ร้านอาหารสามารถคิดเมนูได้หลากหลายรูปแบบ นำเสนอเมนูที่มีเพียงที่นี่เท่านั้น และมีหลากหลายทางเลือกที่พร้อมตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าที่แตกต่างกันไป
ในปัจจุบันนี้ กรีนวิลล์ ฟาร์มคาเฟ่ มี 2 สาขาด้วยกัน คือที่บางกระเจ็ด และศาลายา ซึ่งแต่ละสาขาจะมีเมนูพิเศษที่บอกเล่าเรื่องราวผ่านการเลือกใช้เฉพาะวัตถุดิบที่มาจากเกษรกรในชุมชนเท่านั้น
เบื้องหลังความสำเร็จของ กรีนวิลล์ ฟาร์มคาเฟ่ จึงนับได้ว่ามาจากกลุ่มเกษตรกรพันธมิตรทั้งหลาย ที่คอยช่วยเหลือเกื้อกูลสนับสนุนกันอยู่ และพร้อมที่จะจับมือสร้างความเจริญก้าวหน้าต่อไปด้วยกัน
ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อได้ที่
Greenville Farm Cafe
ที่อยู่: ต.บางกระเจ็ด อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา 24110
โทร: 061-828-8880
LINE: @greenvillefarmcafe
Facebook: greenvillefarmcafe
ลุงอเนกขนมหวานเมืองเพ็ชร์ สร้างสรรค์ขนมพื้นบ้านให้ทันสมัย
หากนึกถึงเมืองเพชรบุรี เชื่อว่าสิ่งแรกที่วิ่งเข้ามาในความคิดของใครหลาย ๆ คนก็คือ ขนมหม้อแกง แน่นอนว่าขนมหม้อแกงเป็นขนมขึ้นชื่อที่ไม่ว่าจะหันไปทางไหน ก็สามารถหาซื้อได้แทบทุกที่ในจังหวัด
จุดเริ่มต้นของโรงงานลุงอเนกขนมหวานเมืองเพ็ชร์ ก็มีที่มาจากการทำขนมแบบบ้าน ๆ พวก ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง เม็ดขนุน ขนมหม้อแกง เช่นเดียวกับคนอื่น ๆ โดยย้อนไปตั้งแต่สมัยคุณยายของคุณโจ้ - ประวิทย์ เครือทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โรงงานลุงอเนกขนมหวานเมืองเพ็ชร์ นับเป็นรุ่นที่ 3 ที่สืบทอดสูตรขนมหวานต้นตำรับที่ส่งต่อผ่านคุณยาย มาถึงคุณพ่อ และส่งต่อจนมาถึงตน
สมัยคุณโจ้ยังเด็กนั้น ได้คลุกคลี ผูกพันกับการทำขนม เนื่องจากคุณย่าเป็นแม่ครัวงานวัด ซึ่งจะมีการทำขนมไปตามงานบุญ งานบวช อยู่เสมอ จึงมีความรักความชื่นชอบในขนมเพชรบุรีอยู่ในใจมานับตั้งแต่นั้น
สิ่งสำคัญที่ทำให้ขนมเมืองเพชร สร้างความประทับใจให้ใครต่อใครนั้น อยู่ที่วัตถุดิบ ที่ทำให้ขนมมีรสชาติดี
เมื่อใช้ชีวิตเติบโตขึ้นมากับขนมไทย จึงเกิดความคิดที่อยากจะสืบทอดและต่อยอดขนมไทยที่ดีอยู่แล้ว ให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นไปอีก อยากเห็นวงการขนมไทยเมืองเพชรออกไปโลดแล่นอยู่ทั่วประเทศไทย จึงพัฒนารูปแบบการทำขนมไทยจากทำมือ ให้เป็นรูปแบบโรงงาน เพื่อควบคุมคุณภาพวัตถุดิบและรสชาติให้มีมาตรฐาน ในแบบที่ไม่ว่าหยิบชิ้นไหนก็อร่อยเหมือนกันทั้งหมด
สืบสานขนมไทยให้ทันเทรนด์โลก
เมื่อสร้างคุณภาพได้แล้ว ก็ต้องสร้างการจดจำให้เกิดขึ้น ถึงแม้จะสืบทอดสูตรขนมมา แต่จะให้ทำขนมเหมือนคุณย่า ก็คงไม่มีเอกลักษณ์ให้ใครจดจำได้ และคงไม่ต่างจากขนมที่พบเห็นได้ทั่วไป สิ่งที่คุณโจ้ต้องการให้ผู้คนจดจำ ลุงอเนกขนมหวานเมืองเพ็ชร์ นั้น คือขนมหวานที่มีความคิดสร้างสรรค์และแตกต่าง
ลุงอเนกขนมหวานเมืองเพ็ชร์ จึงต้องการที่จะยกระดับขนมเพชรบุรี ให้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่บ่งบอกถึงความเป็นเพชรบุรี อย่างหนึ่งที่คุณโจ้เลือกเข้ามาใช้สร้างเอกลักษณ์ให้กับขนมเพชรบุรี ก็คือเรื่องของความเป็นสกุลช่างฝีมือ ซึ่งสกุลช่างเมืองเพชรก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องขึ้นชื่อของเพชรบุรี ที่มีความวิจิตร ละเอียดอ่อน นำเรื่องนี้เข้ามามาอยู่บนบรรจุภัณฑ์ของฝาก เป็นกิฟต์เซ็ตขนมมงคลพรีเมียม ตัวขนมเองก็มีขั้นตอนที่ใช้งานฝีมือตกแต่งขนม ประกอบด้วย ขนมดาราทอง ทองเอก เสน่ห์จันทร์ และอาลัว
ลุงอเนกขนมหวานเมืองเพ็ชร์ยังสร้างสรรค์ขนมขึ้นชื่ออีกอย่างหนึ่ง โดยการพัฒนารูปแบบของขนมหม้อแกงรูปแบบเดิม ๆ ปรับสูตร ปรับรูปแบบให้เข้ากับยุคสมัย และเข้าใจเทรนด์การรักสุขภาพมากยิ่งขึ้น ด้วยการลดความหวาน และขนาดให้อรอ่ยได้อย่างพอเหมาะ เปลี่ยนจากถาด มาเป็นรูปแบบกระปุกที่ทานง่าย เก็บได้นานมากยิ่งขึ้น และสร้างสรรค์รสชาติต่างๆ ให้กับขนมหม้อแกง 6 รสชาติ เช่น รสกล้วยหอมทอง รสฟักทอง รสทุเรียน รสมัทฉะ เป็นต้น
ไม่หยุดแค่นั้น ยังได้ทำขนมหม้อแกงให้เป็น ขนมหม้อแกงชีสเค้ก ที่ทั้งคนรุ่นใหม่และคนต่างชาติมาเห็นเป็นร้อง ว้าว ว่าขนมไทยสามารถไปได้ไกลขนาดนี้ และมีรสสัมผัสดี เนื้อนุ่ม อร่อยติดใจ
สิ่งสำคัญที่โรงงานลุงอเนกขนมหวานเมืองเพ็ชร์ ใช้ในการสร้างสรรค์สินค้าชนิดใหม่ คือข้อมูลความต้องการของลูกค้า ที่แตกต่างกัน ทำให้ขนมหวานต้องมีหลากหลายรูปแบบ หลากหลายสูตรที่แตกต่างกัน เพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าเป็นหลัก และพร้อมเรียนรู้ปรับปรุงพัฒนารูปแบบได้ตลอด
เบื้องหลังยังมีความร่วมมือจากหน่วยงานต่าง ๆ อีกหลายภาคส่วนที่ช่วยสนับสนุน และยกระดับมาตรฐานของขนมหวานลุงอเนก ให้มีความแปลกใหม่แต่ยังคงรักษาไว้ซึ่งคุณภาพและรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะเมืองเพชร ที่ทั้งถูกปากถูกใจคนไทยและคนต่างชาติ เมื่อได้แวะเวียนมา เป็นต้องหอบขนมยกลังกลับไปฝากคนทางบ้านเสมอ
ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อได้ที่
โรงงานลุงอเนกขนมหวานเมืองเพ็ชร์
ที่อยู่: เลขที่9 หมู่5 ต.สำมะโรง อ.เมือง จ.เพชรบุรี 76000
โทร: 089-796-5052
เว็บไซต์: kanommuangphet.com
Facebook: lunganake
แรบบิทจันท์ สร้างธุรกิจจากมะปี๊ดหลังบ้าน
ใครจะไปคิดว่า ต้นส้มมะปี๊ด พืชสวนครัวที่พบเห็นได้ทั่วไป ปลูกอยู่ในทุกบ้านของจังหวัดจันทบุรีมาตั้งแต่สมัยรุ่นปู่ย่าตายาย จากพืชที่เกษตรกรมองไม่เห็นค่า จนสามารถกลายเป็นหนึ่งในพืชเศรษฐกิจดาวรุ่ง ที่สร้างรายได้ให้กับจังหวัดได้
ด้วยมุมมองที่เปิดกว้างและไอเดียที่พลิกวิธีคิดของคุณนุ่ม - วรพชร วงษ์เจริญ ผู้บริหารและผู้ก่อตั้ง บริษัท แรบบิทจันท์ จำกัด อดีตวิศวกรซอฟต์แวร์ ที่ตั้งคำถามและมองเห็นโอกาสที่จะพัฒนาสินค้าจากเจ้าส้มหลังบ้านที่คุ้นหน้าคุ้นตานี้ แต่ด้วยจุดเด่นเฉพาะตัวของส้มมะปี๊ด ที่มีรสชาติเปรี้ยวอมหวาน คล้ายกับลูกครึ่งของส้มและมะนาว มีกลิ่นหอมที่เป็นเอกลักษณ์ จนถูกหยิบจับมาใช้ทำอาหารและเครื่องดื่มตั้งแต่รุ่นปู่รุ่นย่าตามงานวัด งานบุญ ตลอดมา
อีกประเด็นสำคัญหนึ่งคือ การคิดเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร จากเดิมที่เกษตรกรในจังหวัดจันทบุรีนั้นนิยมทำสวนผลไม้ปลูกทุเรียน มังคุด ซึ่งเก็บรายได้ได้เพียงปีละหนึ่งครั้ง แล้วฝากชีวิตไว้กับรายได้ก้อนนี้ตลอดทั้งปี ซึ่งมีความไม่แน่นอน จะทำอย่างไรให้เกษตรกรในจังหวัดสามารถมีรายได้เลี้ยงชีพตลอดทั้งปี คุณนุ่มมองเห็นว่า ส้มมะปี๊ดนั้น สามารถปลูกและเก็บเกี่ยวได้ตลอดทั้งปี จึงน่าจะเป็นทางออกหนึ่งที่น่าสนใจ แต่ยังมีโจทย์อยู่ว่าจะทำอย่างไร ถึงจะเพิ่มมูลค่าของส้มมะปี๊ด ให้สามารถสร้างรายได้ที่เพียงพอเลี้ยงดูเกษตรกรได้
คิดต่อยอดจากส้มที่ปลูกทุกบ้าน
ในช่วงแรกเริ่ม แนวความคิดของคุณนุ่มที่จะนำส้มมะปี๊ดมาสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรนั้น กลับไม่เป็นที่ยอมรับในกลุ่มเกษตรกร เพราะพวกเขาไม่เชื่อว่าส้มมะปี๊ด จะมีราคาและขายได้อย่างไร ในเมื่อเป็นผลไม้ที่มีอยู่ทั่วไปและมีปลูกอยู่ทุกบ้าน
คุณนุ่มมองอีกด้านหนึ่งว่า ถ้าหากนำส้มมะปี๊ดมาทำเป็นเครื่องดื่ม ก็น่าจะเป็นช่องทางใหม่ๆ ที่จะเพิ่มมูลค่าให้กับมันได้ เพราะรสชาติที่หอมหวานอมเปรี้ยวเอกลักษณ์ที่ไม่เหมือนใครนี้เอง ที่จะสร้างความแปลกใหม่ทำให้คนติดใจและจดจำ จึงได้ทำการทดลองทำเป็นเมนูเครื่องดื่มขึ้นในร้าน “สภากาแฟ” ของคุณพ่อ นอกจากเครื่องดื่มมะปี๊ดคั้นชงสดแล้ว คุณนุ่มยังได้มีการใส่ไอเดียให้เป็น กาแฟมะปี๊ด เนื่องจากส้มมะปี๊ดก็เป็นพืชตระกูลซิตรัส เช่นเดียวกับ ส้ม ยูซุ มะนาว จึงไม่แปลกอะไรที่จะมาเป็นส่วนผสมคู่กับกาแฟ และยังต่อยอดเป็น ชามะปี๊ด อิตาเลียนโซดา รูปแบบต่าง ๆ อีกหลากหลายเมนู
พอสามารถสร้างเมนูที่ทำให้คนติดใจได้แล้ว ต้องสร้างการรับรู้และการจดจำด้วย จึงได้มีการขึ้นป้ายหน้าร้านกาแฟว่า “มาจันทบุรีต้องห้ามพลาด น้ำมะปี๊ดผสมน้ำผึ้ง เอกลักษณ์เฉพาะจันทบุรี” พร้อมกันนั้นก็ใช้ความรู้ในการทำ SEO ย้ำคำนี้ลงไปในออนไลน์ ทำให้เวลาค้นหาจังหวัดจันทบุรี จะพบน้ำมะปี๊ดแรบบิทจันท์ไปด้วย จนทำให้กลายเป็นจุดเช็คอินที่นักท่องเที่ยวต้องเข้ามาแวะเวียนไม่ขาดสาย
เมื่อมีนักท่องเที่ยว ก็ต้องมีของฝาก จากเมนูเครื่องดื่มขายเป็นแก้ว ก็พัฒนาใส่ขวดสเตอริไลซ์เก็บได้นาน ให้ซื้อกลับไปฝากได้ เก็บไว้ดื่มได้ หรือ นำไปประกอบอาหารต่อได้ เกิดช่องทางพัฒนาสินค้าได้อีกหลากหลายรูปแบบ
อีกจุดหนึ่งทดลองนำน้ำมะปี๊ดไปชงกับกาแฟ โดยมีบาริสต้ามือรางวัล ที่จะเลือกเมล็ดกาแฟให้ส่งเสริมกับรสชาติของมะปี๊ด ซึ่งเมื่อทานแล้วจะได้รสชาติเบอร์รีของกาแฟตามด้วยซิตรัสของมะปี๊ด เข้ากันได้ดีมาก จากจุดเริ่มต้นนี้ จึงกลายเป็นคอนเทนต์ที่ทำให้ร้านกาแฟต่าง ๆ เข้ามาสั่งน้ำมะปี๊ดไปผสมในกาแฟของร้านบ้าง คุณนุ่มต่อยอดด้วยการร่วมมือกับร้านกาแฟ ด้วยการยิงโฆษณาให้กับนักท่องเที่ยว ว่าถ้าไปจังหวัดนั้นนี้ จะมีร้านไหนบ้างที่สามารถไปแวะทานกาแฟมะปี๊ดได้ เรียกได้ว่าเป็นการขายสินค้าและช่วยทำการตลาดให้ลูกค้าที่เป็นร้านกาแฟได้ประโยชน์ไปด้วยอีกต่อหนึ่ง
วิธีคิดในการทำธุรกิจของคุณนุ่ม คือเราต้องมองว่าสิ่งที่เราอยากสำเร็จคืออะไร แล้วอะไรที่จะเป็นกุญแจสู่ความสำเร็จได้ แล้ววางกลยุทธ์ภายในของเราให้ดี มันก็จะสามารถไปได้ ด้วยวิธีคิดนี้ทำให้คุณนุ่มสามารถสร้างตัวจากเครื่องดื่มเพียงประเภทเดียว ต่อยอดจนสร้างยอดขายที่ทั้งเลี้ยงตัวเอง และสร้างอาชีพให้เกษตรกรในจังหวัดมีรายได้ตลอดทั้งปี
ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อได้ที่
แรบบิทจันท์
ที่อยู่: 58 หมู่ที่ 3 ต.พลับพลา อ.เมืองจันทบุรี จ.จันทบุรี 22000
โทร: 089-092-7999
อีเมล: RbChanFarm@gmail.com
เว็บไซต์: www.rabbitchan.com
Facebook: RabbitOrganicChan