ซินจ่าว เวียดนาม ส่งสินค้าอะไรไปขายดี

ประเทศที่ส่งสินค้าเข้าประเทศเวียดนามในอันดับต้น ๆ ได้แก่ จีน เกาหลีใต้ ไต้หวัน ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และ ไทย โดยสินค้านำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ เครื่องจักร เครื่องมือและอุปกรณ์ เครื่องคอมพิวเตอร์ อิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วน ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม โทรศัพท์มือถือและชิ้นส่วน ผ้าผืน  ก็ตาม แต่เมื่อวิเคราะห์ดูจากสถิติการส่งออกของประเทศไทยและศักยภาพในการผลิตของประเทศเวียดนามแล้วพบว่า

อุตสาหกรรมผลไม้แปรรูป มีโอกาสมากที่สุด เนื่องจากจำนวนโรงงานแปรรูปผลไม้ในเวียดนามยังมีไม่มาก และโรงงานส่วนใหญ่อยู่ระหว่างพัฒนากระบวนการผลิต รวมถึงยังขาดความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ โดยส่วนมากยังเป็นผลไม้กระป๋องและผลไม้อบแห้ง ขณะเดียวกันโรงงานแปรรูปผลไม้ยังขาดแคลนวัตถุดิบที่มีคุณภาพ นักลงทุนไทย จึงสามารถส่งออกผลไม้สดคุณภาพดีจากไทย อาทิ ทุเรียน มังคุด มะม่วง และลำไย เข้าไปแปรรูปในเวียดนามได้ ซึ่งนักลงทุนไทยสามารถใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรีภายใต้ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เคลื่อนย้ายวัตถุดิบเข้าไปยังเวียดนามโดยปราศจากภาษีศุลกากร นอกจากนี้ การขนส่งผลไม้สดจากไทยไปเวียดนามก็มีความสะดวกมากขึ้น โดยใช้เส้นทาง R12 ที่เชื่อมโยงจากกรุงเทพ-นครพนม ประเทศไทย ไปที่แขวงคำม่วน สปป.ลาว และไปยังจังหวัดกว๋างบิ่งห์ เวียดนาม ระยะทาง 1,383 กิโลเมตร ซึ่งเป็นระยะทางที่สั้นกว่าและมีต้นทุนค่าขนส่งที่ถูกกว่าเส้นทางขนส่งทางบกอื่น ๆ

 

10 สินค้าส่งออกติดอันดับ

1.เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์

2.ผลไม้สดแช่เย็น แช่แข็งและแห้ง

3.หม้อแบตเตอรี่และส่วนประกอบ

4.ผลิตภัณฑ์เหล็กและเหล็กกล้า

5.ผ้าผืนและด้าย

6.เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์และส่วนประกอบ

7.วงจรพิมพ์

8.เตาอบไมโครเวฟและเครื่องใช้ไฟฟ้า

9.ผลิตภัณฑ์พลาสติกอื่นๆ

10.เครื่องสืบเชื้อเพลิงของเหลว

 

Published  by  scbsme.scb.co.th  on  19 May 2017

SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

บทความแนะนำ

"พันธ์ภูวดล จารุโชติรัตนสกุล" ถอดกลยุทธ์ปรับตัว สร้างโอกาสโตยุค Digital Disruption

การรับไม้ต่อในฐานะทายาทรุ่นที่ 2 ท่ามกลางโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว นับเป็นความท้าทายของคุณพันธ์ภูวดล จารุโชติรัตนสกุล ผู้จัดการทั่วไป บริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล คอนเน็คเทรด จำกัด ที่ต้องนำพาทั้งธุรกิจเดิมให้อยู่รอดและมองหาโอกาสใหม่ๆ เพื่อทำให้ธุรกิจเติบโตไปข้างหน้าได้มากยิ่งขึ้น

รู้ทัน Disruption ปรับธุรกิจให้ไว

จากธุรกิจดั้งเดิมตั้งแต่ยุคบุกเบิกของบริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล คอนเน็คเทรด จำกัด ที่สร้างแบรนด์ “อิงค์แมน” ขึ้นมา เพื่อดำเนินธุรกิจศูนย์บริการเติมน้ำหมึกแบบครบวงจร ซึ่งในอดีตยามธุรกิจรุ่งเรืองสามารถขยายสาขาได้มากถึง 60 สาขา แต่ปัจจุบันด้วยการเปลี่ยนแปลงหลายสิ่งอย่างทำให้จำนวนสาขาค่อยๆ ลดลงเหลือเพียง 16 สาขาเท่านั้น และนั่นอาจเป็นการส่งสัญญาณเตือนว่า ธุรกิจกำลังได้รับผลกระทบจาก Digital Disruption คุณพันธ์ภูวดล เริ่มเท้าความให้ฟังถึงเส้นทางการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจอิงค์แมน

“ความท้าทายของการเป็นทายาทรุ่นที่ 2 นอกจากเรื่อง Disruption แล้ว ยังต้องเจอกับโจทย์ที่ว่าจะทำอย่างไรให้ธุรกิจครอบครัวเกิดความยั่งยืนอีกด้วย ซึ่งถ้าพูดถึงการ Disruption นั้น ถือเป็นสิ่งที่หลายคนรู้อยู่แล้วว่ามันมาแน่นอน โดยสามารถเปรียบเทียบกับสัตว์ 3 ชนิด ซึ่งจะเป็นภัยคุกคามที่มากับธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็น Elephant in the Room หรือช้างในห้อง เปรียบเสมือนภัยคุกคามที่เห็นได้ชัด มาแน่นอน และธุรกิจมีการปรับตัวทัน ยกตัวอย่างการคมนาคม อย่างการทำรถไฟฟ้า ต่อมาคือ Black Swan หรือหงส์สีดำ เป็นการ Disrupt ที่มองไม่เห็นและเกิดขึ้นแบบจู่โจม เช่น น้ำท่วม เหตุการณ์ 9/11 และสุดท้ายคือ Gray Rhino หรือแรดสีเทา ภัยคุกคามทางธุรกิจที่เราเห็น แต่ไม่ได้ลงมือทำอะไรสักอย่าง เพราะคิดแค่ว่าเดี๋ยวมันก็สูญพันธุ์ไปเอง ดังนั้น การเอาตัวรอดให้ได้ในยุค Digital Disruption จำเป็นที่ SME ต้องรู้จักปรับตัว มองให้ออกว่าอะไรเป็นภัยคุกคามที่จะเข้ามาทำลายธุรกิจของเรา”

คุณพันธ์ภูวดล ยอมรับว่า ธุรกิจในกลุ่มไอซีทีถือเป็นกลุ่มแรกๆ ที่ถูก Disrupt ทำให้การทำงานของนักธุรกิจไอทีรายนี้ต้องทำเพิ่มขึ้น 2-3 เท่าตัว เพื่อให้ผลลัพธ์ทางธุรกิจที่ได้นั้นยังคงเดิม และต้องทำการขายสาขาบางส่วนออกไป เพื่อลดความเสี่ยง ลดต้นทุน ลดการจัดการ และลดคน ซึ่งเป็นวิธีการปรับตัวอย่างหนึ่งที่ธุรกิจเลือกหยิบมาใช้

“จากคำกล่าวของ ชาร์ลส์ ดาร์วิน ที่ว่า ไม่ใช่สัตว์ที่แข็งแรงที่สุดหรือฉลาดที่สุดที่จะอยู่รอดได้ แต่เป็นสัตว์ที่สามารถปรับเปลี่ยนตัวเองกับสภาพแวดล้อมได้เร็วที่สุดต่างหาก ในการทำธุรกิจก็คงไม่ต่างกัน ซึ่งเราทำการปรับตัวโดยหันมาใช้ช่องทางออนไลน์เข้ามาสื่อสารกับลูกค้ามากขึ้น จากเดิมที่มีเพียงหน้าร้าน เราสร้างเว็บไซต์ให้กับทุกหน่วยการขายของเรา รวมถึงใช้ช่องทางออนไลน์อื่นๆ เช่น Facebook, Line@, YouTube และการทำคลิปวิดีโอ ซึ่งอย่างน้อยเจ้าของธุรกิจควรจะรู้ว่า เครื่องมือเหล่านี้มีไว้เพื่ออะไร ใช้อย่างไร และถ้าต้องการลงโฆษณาต้องทำอย่างไร”

ต่อยอดธุรกิจใหม่ คว้าโอกาสที่มากขึ้น

นอกเหนือจากการปรับเปลี่ยนธุรกิจเดิมแล้ว การแตกไลน์ไปสู่ธุรกิจใหม่ๆ เพื่อย้ายสนามแข่งขัน ถือเป็นการเพิ่มโอกาสและการอยู่รอดให้กับธุรกิจ

“เราพยายามปรับตัวธุรกิจไม่ให้อยู่แค่ในการพิมพ์กระดาษเท่านั้น โดยเราไปพิมพ์สิ่งอื่นที่สามารถสร้างมูลค่าให้ได้มากกว่า เป็นการนำเอาความเชี่ยวชาญและแก่นของธุรกิจดั้งเดิมทั้งหมดมาประยุกต์ให้เกิดผลิตภัณฑ์หรือธุรกิจใหม่ๆขึ้นมา การ Diversify หรือการแตกยอดไลน์ธุรกิจ เป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับทุกธุรกิจ ซึ่งผู้บริหารเองอาจจะต้องมองหาโอกาสที่จะขยายไลน์สินค้าไป ถ้าเราหยุดแค่วันเดียวเราก็ตาย เพราะโลกตอนนี้มันแคบลงเรื่อยๆ ทุกคนมีมือถือ เขาสามารถเข้ามาเป็นคู่แข่งของคุณได้เพียงแค่ข้ามคืนเท่านั้นเอง”

โดยไฮไลท์สำคัญของบริษัทในการแตกไลน์ธุรกิจ นั่นคือ การพัฒนาเครื่องพิมพ์สีผสมอาหารลงบนสินค้าเบเกอรี่ (Bakery) ภายใต้แบรนด์ PimCake ถือเป็นหนึ่งในวิธีการที่จะตอบโจทย์ลูกค้าในกลุ่มอื่นๆ ให้มากยิ่งขึ้น และยังเป็นการแสดงจุดยืนในการที่จะเป็นธุรกิจที่ตอบสนองทางด้านงานพิมพ์ได้อย่างครบวงจร ซึ่งปัจจุบันมีแบรนด์ S&P (เอส แอนด์ พี) เป็นหนึ่งในลูกค้ารายสำคัญ

“ตลาดพิมพ์เบเกอรี่จริงๆ แล้วมันใหญ่กว่าตลาดพริ้นเตอร์ที่เราทำอยู่ด้วยซ้ำ ซึ่งมูลค่าตลาดเบเกอรี่เฉพาะแค่เค้กและขนมปังนั้นอยู่ที่ประมาณ 15,000 ล้านบาท ในขณะที่ตลาดเครื่องพิมพ์มีมูลค่าอยู่ที่ 5,000 ล้านบาท แตกต่างกันถึง 3 เท่า เราอยู่ในวงการงานพิมพ์ ซึ่งวันนี้คนพิมพ์กันน้อยลง โดยสิ่งที่เขาจะพิมพ์นั้น จะเป็นสิ่งที่มีมูลค่าทางจิตใจ ทางเวลาและสมควรเก็บ เพราะฉะนั้น งานพิมพ์ของเราจะเป็นอะไรที่ต้องมีความจำเป็นแล้วเท่านั้น แล้วเราก็ดีใจที่ได้เจอตลาดที่อาหารสามารถพิมพ์ได้ นับเป็นการสร้างโอกาสธุรกิจให้มีมากขึ้น”

เปิดเคล็ดลับการปรับตัวแบบ SME

พร้อมกันนี้ คุณพันธ์ภูวดล ยังเผยถึงเคล็ดลับของการปรับตัวว่า สิ่งสำคัญคือ คิดได้ต้องลงมือทำทันที ไม่ต้องรอให้เสร็จและสมบูรณ์แบบทุกอย่างก่อนถึงจะลงมือทำ ซึ่งวิธีคิดเช่นนี้ก็ได้ถูกปลูกฝังให้กับพนักงานด้วย จนกลายเป็นวัฒนธรรมองค์กรไปในที่สุด

“ศิลปะอย่างหนึ่งที่เจ้าของธุรกิจต้องเรียนรู้คือ นิสัยและพฤติกรรมของคนในองค์กร บริษัทของเราอาจจะโชคดีที่ถูกปลูกฝังให้ปรับเปลี่ยนนโยบายใหม่บ่อยมากและลงมือทำเร็วมาก เลยกลายเป็นวัฒนธรรมในองค์กรไปแล้ว ที่พนักงานจะต้องเรียนรู้สินค้าใหม่เดือนถัดไป พนักงานฝ่ายเทรนนิ่งมีหน้าที่เอาองค์ความรู้ใหม่ๆ ที่ได้มาไปแจกจ่ายให้กับหน้าร้าน หน้าร้านจะมีผู้จัดการที่คอยรับเรื่องและจ่ายต่อให้กับพนักงานในร้าน การเทรนนิ่งคน อาจฟังดูง่าย แต่เป็นอะไรที่ปวดหัวมากที่สุด ในฐานะของผู้นำองค์กรเราจะต้องหาวิธีพัฒนาบุคลากรของเราอยู่เสมอ เช่น ทางบริษัทจะทำการอัดคลิปถ่ายอธิบายถึงสินค้าใหม่ๆ ว่าเป็นอย่างไร ราคาเท่าไร และต้องขายอย่างไร ให้พนักงานล็อคอินเข้ามาดูแทนการเข้าประชุม ซึ่งสามารถดูตอนไหนก็ได้ที่พนักงานสะดวก”

“นอกจากนี้ ยังต้องปรับกรอบความคิดหรือ Mindset ให้กับบุคลากรในองค์กร เช่น พนักงานอิงค์แมนเป็นชุดเดียวกับที่ทำ PimCake ก็ต้องมีการปรับ Mindset ให้ใหม่ เพราะคนที่อยู่ในวงการไอที เขาจะคิดในเชิงของขั้นตอนเป็นหลัก พอมาเป็นธุรกิจเบเกอรี่ เขาต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ลูกค้ากลุ่มนี้ไม่ได้เก่งคอมพิวเตอร์ ไม่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคนิค และไม่มีความรู้เรื่อง Photoshop หรือ AI ซึ่งเป็นสิ่งที่ท้าทาย เราจึงพัฒนาซอฟต์แวร์ชื่อว่า Photo Cake Designer Pro ขึ้นมา เพื่อเป็นตัวช่วยให้กับผู้ประกอบการร้านเบเกอรี่หรือร้านกาแฟที่ทำกราฟฟิกไม่เป็น”

ถึงตรงนี้ คงเห็นแล้วว่า การปรับตัวนั้นสำคัญแค่ไหน ยิ่งในยุคที่ทุกธุรกิจสามารถถูก Disruption ได้อย่างง่ายๆ ใครเปลี่ยนก่อน แก้เกมได้ทัน ชัยชนะและโอกาสความสำเร็จย่อมตกเป็นของคนนั้น

 

Published on 3 July 2019
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

บทความแนะนำ

ข้อควรรู้! ในการจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์

 

ทำไมต้องจดทะเบียนพาณิชย์เล็กทรอนิกส์?

ในยุคที่ e-Commerce เติบโตอย่างรวดเร็ว จะเห็นว่ามีธุรกิจออนไลน์เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก และสิ่งหนึ่งที่ธุรกิจเหล่านี้ต้องทำให้ถูกต้อง นั่นคือ การจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ทั้งนี้ เพื่อให้ธุรกิจมีความน่าเชื่อถือจากการมีสถานะตัวตนทางกฎหมายและยังสามารถสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภคได้อีกด้วย อย่างไรก็ดี หลังจากที่ทําเว็บไซต์เสร็จเรียบร้อยพร้อมขายออนไลน์ ผู้ประกอบการจะมีเวลาในการยื่นขอจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน นับแต่วันเริ่มประกอบการ

 

ยื่นจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ได้ที่ไหน?

ผู้ประกอบการสามารถทำการยื่นจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ได้ ณ สถานที่ ดังนี้

– เขตกรุงเทพฯ ให้ยื่นขอจดทะเบียนพาณิชย์ ณ ฝ่ายปกครอง สํานักงานเขต 50 เขต (ตามที่ตั้งของสถานประกอบการ) หรือ สํานักงานเศรษฐกิจการคลัง ศาลาว่าการ กทม. (ครอบคลุมทั้ง 50 เขต)

– จังหวัดอื่นๆ ให้ยื่นขอจดทะเบียนพาณิชย์ ณ เทศบาล องค์การบริหารส่วนตําบล (ตามที่ตั้งของสถานประกอบการ)

 

เอกสารสำหรับใช้จดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์

สิ่งสำคัญที่ผู้ประกอบการต้องเตรียมให้พร้อม อย่าให้ขาดตกบ่งพร่อง นั่นคือ เรื่องของเอกสารต่างๆ ซึ่งในการยื่นจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ต้องใช้เอกสารดังนี้

1.สําเนาบัตรประจําตัวประชาชน และสําเนาทะเบียนบ้านของผู้ประกอบการ

2.แบบคําขอจดทะเบียนพาณิชย์ แบบ ทพ. ดาวน์โหลดแบบ ทพ.

3.รายละเอียดเกี่ยวกับเว็บไซต์ เอกสารประกอบการจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ กรอก 1 ใบ ต่อ 1 เว็บไซต์ (ดาวน์โหลดเอกสารแนบแบบ ทพ.)

4.Print หน้าแรกของร้านค้าออนไลน์ สินค้า/บริการที่ประกอบพาณิชยกิจ และวิธีการสั่งซื้อสินค้า/บริการ วิธีการชําระเงิน วิธีการส่งสินค้า

5.วาดแผนที่ตั้งร้านค้า

6.หนังสือรับรองการจดทะเบียนของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท (กรณีจดในนามนิติบุคคล)

7.หนังสือมอบอํานาจ พร้อมติดอากรแสตมป์ 10 บาท และสําเนาบัตรประชาชนของผู้รับมอบอํานาจ (กรณีมอบอํานาจ) ดาวน์โหลดหนังสือมอบอำนาจ

 

กรณีผู้ประกอบการมิได้เป็นเจ้าบ้าน (เอกสารเพิ่มเติม)

1) หนังสือยินยอมให้ใช้สถานที่หรือสัญญาเช่า

2) สําเนาบัตรประชาชนเจ้าของสถานที่ พร้อมสําเนาทะเบียนบ้าน หรือเอกสารสิทธิ์ที่แสดงว่าเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์

 

 

Published on 15 May 2019
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

 

บทความแนะนำ

มือใหม่อยากทำร้านอาหาร เริ่มต้นอย่างไรดี?

 

ร้านอาหาร เป็นหนึ่งในธุรกิจยอดนิยมของผู้ที่ต้องการจะเริ่มต้นทำธุรกิจ เห็นได้จากตัวเลขการจดทะเบียนธุรกิจจัดตั้งใหม่ ในปี 2562 โดย กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ พบว่า ธุรกิจภัตตาคาร ร้านอาหาร ติดอยู่ในอันดับ 3 ของธุรกิจที่มีการจดทะเบียนจัดตั้งใหม่สูงสุด รองจากธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จึงสะท้อนได้ชัดเจนว่า คนที่คิดจะเริ่มต้นธุรกิจ มักจะให้ความสนใจธุรกิจร้านอาหารเป็นลำดับต้นๆ เพราะเหตุผลสำคัญคือ อาหาร เป็นปัจจัย 4 ที่คนขาดไม่ได้ ยิ่งทุกวันนี้ ร้านอาหารเสมือนเป็นสถานที่แฟชั่นให้คนยุคดิจิทัล ไปอัพสเตตัสเพื่อสะท้อนไลฟ์สไตล์กัน ธุรกิจนี้จึงกลายเป็นที่นิยมมากยิ่งขึ้นโดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ต้องการเป็นนายของตัวเอง เรียกว่า “เก่าไป ใหม่มา” กันไม่ขาดสาย

สำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการจะเริ่มต้นทำธุรกิจร้านอาหารทุกวันนี้ ใช่ว่ามีสูตรอาหารอร่อย มีทำเลดี ๆ แล้วจะสามารถเปิดร้านได้ทันที แต่สิ่งที่ต้องมี ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญ คือ จะต้องศึกษาและรู้ขั้นตอนของการประกอบธุรกิจร้านอาหารอย่างถูกต้อง นอกเหนือจากการศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคของกลุ่มเป้าหมายตัวเองให้ถ่องแท้ มาดูกันว่า ถ้ามือใหม่อยากเริ่มต้นธุรกิจร้านอาหารอย่างถูกต้อง ควรรู้และต้องทำอะไรบ้าง?

 

เลือกรูปแบบร้านอาหารให้เหมาะกับกลุ่มเป้าหมาย

ในการเริ่มต้น ผู้ประกอบการต้องวางแผนเลือกรูปแบบของร้านและอาหารที่ต้องการจะขายให้ชัดเจน โดยต้องศึกษาความต้องการของผู้บริโภคที่เป็นกลุ่มเป้าหมายหลัก ศึกษาคู่แข่งในบริเวณเดียวกัน ขณะเดียวกันก็ต้องสอดคล้องกับทำเลที่ตั้งของธุรกิจ ซึ่งปัจจุบันร้านอาหารมีหลากหลายรูปแบบด้วยกัน จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ ได้แบ่งประเภทร้านอาหารเป็น 4 แบบ โดยใช้หลักเกณฑ์จำแนกตามการออกแบบตกแต่งเป็นหลัก ได้แก่ ร้านอาหารระดับหรู (Fine Dining) ร้านอาหารระดับกลาง (Casual Dining) ร้านอาหารทั่วไป (Fast Dining) และร้านริมบาทวิถี ซึ่งมีทั้งในรูปแบบ Kiosks, Street Food, Food Truck เป็นต้น

 

สร้างเอกลักษณ์ให้ร้านอาหาร

เมื่อพิจารณารูปแบบของร้านอาหารได้แล้ว สิ่งที่ต้องทำต่อมาคือ การสร้างเอกลักษณ์ที่เด่นชัด เนื่องจากร้านอาหาร เป็นธุรกิจที่มีการแข่งขันสูงและมีตัวเลือกสำหรับผู้บริโภคมากมาย ดังนั้น สิ่งที่จะดึงดูดความสนใจจากลูกค้าได้ คือการมีเอกลักษณ์ที่แตกต่างและไม่ซ้ำใคร ซึ่งสามารถทำได้หลากหลายวิธี ไม่ว่าจะเป็น การสร้างเอกลักษณ์ด้วยเมนูอาหาร การให้บริการ หรือบรรยากาศภายในร้าน เป็นต้น

 

ขออนุญาตประกอบธุรกิจร้านอาหารอย่างถูกต้อง

เนื่องจากธุรกิจร้านอาหารมีผลต่อผู้บริโภคและสภาพแวดล้อม รวมถึงผู้อยู่อาศัยข้างเคียงโดยตรง ดังนั้น ในการดำเนินธุรกิจจึงต้องมีการขออนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ  ตัวอย่างเช่น การดำเนินธุรกิจดังกล่าวในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เพื่อประโยชน์ในการควบคุมหรือกำกับดูแลร้านอาหาร ทางกรุงเทพมหานครจึงได้ออกข้อบัญญัติเรื่องสถานที่จำหน่ายและสถานที่สะสมอาหาร พ.ศ. 2545

โดยกำหนดให้ร้านอาหารที่มีพื้นที่ไม่เกิน 200 ตารางเมตร ต้องยื่นคำขอเพื่อขอรับ “หนังสือรับรองการแจ้งจัดตั้งสถานที่จำหน่ายอาหาร” มีค่าธรรมเนียม 1,000 บาท และร้านอาหารที่มีพื้นที่ตั้งแต่ 200 ตารางเมตรขึ้นไป ต้องยื่นคำขอเพื่อขอรับ “ใบอนุญาตจัดตั้งสถานที่จำหน่ายอาหาร” มีค่าธรรมเนียม 3,000 บาท

สำหรับการการยื่นคำขอใบอนุญาต การต่ออายุใบอนุญาต และการขอหนังสือรับรองการแจ้ง ของผู้ประกอบการในพื้นที่ต่างๆ  ให้ยื่นได้ที่ส่วนราชการต่างๆ ดังนี้

– สำนักงานเขตของกรุงเทพมหานคร

– สำนักงานองค์การบริหารส่วนตำบล

– สำนักงานเทศบาลสำหรับร้านอาหารที่ตั้งอยู่ในเขตเทศบาล

– สำนักงานเมืองพัทยา

ส่วนในกรณีของร้านอาหารที่เปิดในพื้นที่สาธารณะ จำเป็นต้องมีการขอใบอนุญาตจำหน่ายสินค้าในที่หรือทางสาธารณะด้วยเช่นกัน

 

นอกจากนี้ หากร้านอาหารมีการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ผู้ประกอบการต้องยื่นคำขอใบอนุญาตขายสุราต่อกรมสรรพสามิต โดยสามารถดำเนินการได้ที่

– กรุงเทพมหานคร: กรมสรรพสามิต กระทรวงการคลัง

– ต่างจังหวัด: สำนักงานสรรพสามิตอำเภอ/กิ่งอำเภอ

หรือในกรณีที่ทางร้านอาหารมีการเปิดเพลง ฉายภาพวีดีทัศน์ หรือฉายภาพถ่ายทอดสดรายการที่มีลิขสิทธิ์  จำเป็นต้องขออนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ด้วย รวมถึงการเปิดจากแผ่นบันทึกเสียงแท้ที่มีลิขสิทธิ์ถูกต้อง หรือเปิดผ่านอินเทอร์เน็ต ผู้ประกอบการก็จะต้องขออนุญาตอย่างถูกต้องเช่นเดียวกัน

 

จัดเตรียมเรื่องอาหาร สถานที่และบุคลกรให้พร้อม

ในส่วนสถานที่ ในการก่อสร้าง / ดัดแปลงอาคาร เพื่อทำร้านอาหารนั้น ผู้ประกอบการต้องมีใบอนุญาตก่อสร้าง/ ดัดแปลงอาคาร เพราะเป็นอาคารประเภทควบคุมการใช้

ส่วนสุขลักษณะของสถานที่จำหน่ายอาหาร ถือเป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการต้องให้ความสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการจัดการด้านสถานที่ เช่น ความสะอาดของสถานที่ อุปกรณ์ล้างมือ การจัดการด้านห้องสุขา ซึ่งจำนวนห้องสุขาจะขึ้นกับจำนวนที่นั่งในร้านอาหาร รวมไปถึงการจัดการน้ำเสีย เช่น การติดตั้งบ่อดักไขมัน น้ำทิ้ง การจัดการขยะมูลฝอย เช่น การแยกเศษอาหาร นอกจากนี้ ยังต้องมีการจัดพื้นที่ปลอดบุหรี่ด้วย เนื่องจากร้านอาหารถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่ที่ต้องมีเขตปลอดบุหรี่

ในส่วนของอาหารที่จำหน่ายก็ต้องถูกสุขลักษณะ ไม่ว่าจะเป็นอาหารสด/ แห้ง/ ปรุงสำเร็จ ต้องสะอาดปลอดภัย น้ำ เช่น น้ำดื่ม/ น้ำแข็ง ต้องได้มาตรฐานตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 รวมถึงกรรมวิธีการปรุงอาหารต้องถูกต้องปลอดภัย เช่น ห้ามใช้ก๊าซกระป๋องปรุงอาหารบนโต๊ะ ตลอดจนสุขลักษณะของอุปกรณ์และภาชนะ เช่น เก็บอุปกรณ์สูงจากพื้น 60 ซม. ป้องกันการปนเปื้อนจากสัตว์หรือแมลงนำโรค การฆ่าเชื้อภาชนะหลังทำความสะอาด

สุดท้ายด้านบุคคลกร ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบ หรือผู้สัมผัสอาหาร ต้องปฏิบัติตามข้อบัญญัติท้องถิ่น คือต้องมีสุขภาพร่างกายแข็งแรง ไม่เป็นโรคติดต่อหรือพาหะนำโรค โรคผิวหนังที่น่ารังเกียจ หรือโรคอื่นๆ ตามที่กำหนดในข้อบัญญัติท้องถิ่น มีการรักษาความสะอาดของร่างกาย สวมใส่เสื้อผ้าและอุปกรณ์ป้องกันที่สะอาดและสามารถป้องกันการปนเปื้อนสู่อาหารได้

 

จัดการเรื่องภาษีอย่างถูกต้อง

เรื่องของภาษีต่างๆ ถือเป็นอีกเรื่องที่ผู้ประกอบการร้านอาหารควรดำเนินการอย่างถูกต้องเมื่อเริ่มต้นธุรกิจ หากผู้ประกอบการจดทะเบียนเป็นบุคคลธรรมดา เงินได้จากการประกอบการธุรกิจร้านอาหาร ถือเป็นเงินได้พึงประเมินประเภทที่ 8 ซึ่งต้องมีการยื่นภาษีปีละ 2 ครั้ง คือ ภ.ง.ด.94 และ ภ.ง.ด.40 และลดหย่อนโดยการหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาที่ 60% กรณีที่เงินได้สุทธิไม่เกิน 150,000 บาทต่อปี ไม่ต้องเสียภาษี แต่ถ้าเกินจะใช้อัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

กรณีจดทะเบียนนิติบุคคล จะต้องยื่นภาษีปีละ 2 ครั้ง คือ ภ.ง.ด.51 และ ภ.ง.ด.50 โดยคำนวณภาษีจากกำไรสุทธิ หากขาดทุนหรือกำไรไม่เกิน 300,000 บาท จะไม่ต้องเสียภาษี แต่หากกำไรเกิน 300,000 บาท แต่ไม่เกิน 3 ล้านบาท เสียภาษีในอัตรา 15% และถ้ากำไรเกิน 3 ล้านบาทขึ้นไป อัตราภาษีอยู่ที่ 20%

พร้อมกันนี้ หากผู้ประกอบการร้านอาหารมีรายได้เกินกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี จะต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) โดยกฎหมายบังคับให้ต้องดำเนินการภายใน 30 วัน นับแต่มีรายได้เกินกว่าที่กำหนด ทั้งนี้ จะต้องมีการจัดทำรายงานภาษีซื้อและภาษีขายทุกเดือน พร้อมทั้งยื่นแบบ ภ.พ.30 ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป

นอกจากนี้ ร้านอาหารที่ต้องการมีป้ายหน้าร้าน จะต้องขออนุญาตติดตั้งป้ายที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เป็นที่ตั้งของร้าน ซึ่งจะมีการเรียกเก็บภาษีป้ายตามอัตราที่กำหนด โดยภาษีป้ายจะเรียกเก็บจากการแสดงป้ายชื่อ ยี่ห้อ หรือโลโก้บนวัตถุใดๆ ด้วยตัวอักษร ภาพ ไม่ว่าจะเป็นบนป้ายทั่วไป ป้ายบิลบอร์ดตามตึก ตามทางด่วน ป้ายผ้าใบ หรือป้ายไฟ ที่ใช้เพื่อหารายได้หรือการโฆษณา รวมถึงป้ายหน้าร้านตามร้านอาหารทั่วไป ล้วนต้องเสียภาษีป้ายทั้งสิ้น ส่วนอัตราภาษีจะขึ้นอยู่กับรูปแบบการใช้ภาษา เช่น ภาษาไทย ภาษาต่างประเทศ หรือใช้ร่วมกันทั้งภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ และขนาดของป้ายตามที่กำหนด

 

หน่วยงานใดเกี่ยวข้องกับธุรกิจร้านอาหารบ้าง?

1. กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ www.dbd.go.th

2. กรมสรรพสามิต กระทรวงการคลัง www.excise.go.th

3. สำนักสุขาภิบาลอาหารและน้ำ foodsan.anamai.moph.go.th

 

ที่มาข้อมูล : กรมพัฒนาธุรกิจการค้า / สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)

 

Published on 13 February 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

 

บทความแนะนำ

อยากเปิดร้านอาหาร คาเฟ่ เริ่มต้นอย่างไร?

หัวข้อ : คู่มือการให้คำปรึกษาธุรกิจ SMEs
อ่านฉบับเต็มเพิ่มเติมwww.dbd.go.th/download/promotion_file/manual_sme600529.pdf

 

ธุรกิจร้านอาหารยังคงเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่หลาย ๆ คนให้ความสนใจ สำหรับคนที่มีไอเดียและความพร้อม แต่ยังไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นเปิดร้านอย่างไรให้ถูกขั้นตอนตามกฏหมาย เริ่มต้นได้ตามขั้นตอนต่อไปนี้

 

สำหรับ “ธุรกิจร้านอาหาร” นั้นหมายถึง

  • การประกอบกิจการให้บริการอาหารและเครื่องดื่มพร้อมรับประทาน โดยอาจจัดเตรียมที่นั่งให้ผู้บริโภคได้รับประทานภายในสถานที่ที่ให้บริการ
  • การให้บริการบรรจุอาหารเพื่อให้ผู้บริโภคนำไปรับประทานที่อื่นได้

 

กระทรวงพาณิชย์ได้แบ่งประเภทร้านอาหารออกเป็น 4 แบบ โดยใช้หลักเกณฑ์จำแนกตามการออกแบบตกแต่งเป็นหลัก ได้แก่

  1. ร้านอาหารระดับหรู (Fine Dining)
  2. ร้านอาหารระดับกลาง (Casual Dining)
  3. ร้านอาหารทั่วไป (Fast Dining)
  4. ร้านริมบาทวิถี (Kiosk)

 

ขั้นตอนในการประกอบธุรกิจร้านอาหาร

1) วางแผนรูปแบบของร้านอาหาร

ธุรกิจร้านอาหารเป็นธุรกิจที่มีคู่แข่งจำนวนมาก สิ่งที่จำเป็นต้องคำนึงถึง คือ ผู้บริโภคอาหารของเราเป็นกลุ่มไหน จะต้องสอดคล้องกับทำเลที่ตั้งของธุรกิจและคู่แข่งในบริเวณนั้นด้วย

  • กลุ่มคนทำงานที่มีกำลังซื้อสูง อาจมีความต้องการในการนัดพบปะเพื่อเข้าสังคมหรือบรรยากาศที่เหมาะสมกับการเจรจาธุรกิจ หรือ
  • หากเจาะกลุ่มครอบครัว หรือทำเลร้านอยู่ใกล้ชุมชนที่อยู่อาศัย อาจเป็นลักษณะร้านที่ขายอาหารที่เน้นคุณภาพ มีเมนูที่หลากหลายเพื่อตอบสนองความต้องการของครอบครัวที่มารับประทาน

 

2) สร้างเอกลักษณ์ของร้านอาหาร หรือสิ่งที่ผู้บริโภคจะนึกถึงเป็นสิ่งแรกเมื่อจะใช้บริการร้านเรา

  • อาจเป็นเมนูอาหารที่โดดเด่น มีการควบคุมคุณภาพและรสชาติให้ดีอยู่เสมอ
  • การบริการที่สร้างความประทับใจ หากราคาสินค้าสูง ลูกค้าจะมีความคาดหวังต่อบริการมาก แต่หากเป็นร้านอาหารทั่วไปอาจคาดหวังต่อบริการแค่ความรวดเร็วเท่านั้น
  • บรรยากาศที่ทำให้ลูกค้าได้สัมผัสประสบการณ์ใหม่ ๆ ที่แตกต่างจากร้านอื่น ๆ หรือ ความสะอาดของสถานที่ ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญของร้านอาหาร เพื่อให้เกิดการบอกต่อปากต่อปาก (Word of Mouth) หรือการประชาสัมพันธ์ทางการตลาดเพื่อให้เกิดการจดจำนำไปสู่การใช้บริการซ้ำในอนาคต

 

3) ขอจดทะเบียนจัดตั้งสถานที่จำหน่ายอาหารหรือสถานที่สะสมอาหาร

  • การเปิดร้านอาหาร หรือร้านขายอาหารเป็นธุรกิจที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพผู้บริโภค หรือก่อให้เกิดความรำคาญแก่ผู้อยู่อาศัยข้างเคียงได้ ทางกรุงเทพมหานครจึงได้ออกข้อบัญญัติ เพื่อควบคุมหรือกำกับดูแลร้านอาหาร
  • ร้านอาหารที่มีพื้นที่ของร้านไม่เกิน 200 ตารางเมตร ต้องยื่นคำขอเพื่อขอรับ “หนังสือรับรองการแจ้ง” มีค่าธรรมเนียม 1,000 บาท
  • ร้านอาหารที่มีพื้นที่ตั้งแต่ 200 ตารางเมตรขึ้นไป ต้องยื่นคำขอเพื่อขอรับ “ใบอนุญาต” มีค่าธรรมเนียม 3,000 บาท
  • การยื่นคำขอใบอนุญาต การต่ออายุใบอนุญาต และการขอหนังสือรับรองการแจ้ง ให้ยื่นได้ที่ส่วนราชการต่าง ๆ ดังนี้
    – สำนักงานเขตของกรุงเทพมหานคร
    – สำนักงานองค์การบริหารส่วนต าบล
    – สำนักงานเทศบาลสำหรับร้านอาหารที่ตั้งอยู่ในเขตเทศบาล
    – สำนักงานเมืองพัทยา

 

4) ขอใบอนุญาตและจดทะเบียนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

• การขออนุญาตจำหน่ายสุราหรือยาสูบ ต้องได้รับอนุญาตจากกรมสรรพสามิต โดยสามารถขออนุญาตได้ที่
– กรุงเทพมหานคร: กรมสรรพสามิต กระทรวงการคลัง
– ต่างจังหวัด: สำนักงานสรรพสามิตอำเภอ/กิ่งอำเภอ

• การขอออนุญาตเผยแพร่ลิขสิทธิ์เพลง
– การเปิดเพลง ภาพวิดีโอ หรือ การถ่ายทอดสด ที่มีเจ้าของลิขสิทธิ์ในการถ่ายทอดอยู่ จำเป็นต้องขออนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ด้วย
– อัตราค่าธรรมเนียมขึ้นอยู่กับแต่ละเจ้าของสิขสิทธิ์เป็นผู้กำหนด
– ผู้ประกอบการจะต้องขออนุญาตไม่ว่าจะเป็นการเปิดจากแผ่นบันทึกเสียงแท้ที่มีลิขสิทธิ์ถูกต้อง หรือเปิดผ่านอินเทอร์เน็ตก็ตาม

• การขอประกอบกิจการสถานบริการ
– ร้านที่จำหน่ายอาหาร สุรา หรือเครื่องดื่ม โดยจัดให้มีการแสดงดนตรีหรือการแสดงอื่นใดเพื่อการบันเทิง ซึ่งปิดทำการหลังเวลา 24.00 น.
– สถานที่เต้นรำหรือมีการเต้นรำ การอนุญาตให้พนักงานหรือนักแสดงนั่งกับลูกค้า มีคาราโอเกะให้ลูกค้าร้องเพลง
ถือว่าเข้าข่ายสถานบันเทิงต้องขออนุญาตตามหน่วยงานที่กำหนด
กรุงเทพมหานคร: สถานีตำรวจท้องที่ หรือ ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
ต่างจังหวัด: ที่อำเภอท้องที่ ที่สถานบริการนั้นตั้งอยู่ (ที่ทำการปกครองอำเภอ)
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
– สำนักงานจังหวัด ซึ่งตั้งอยู่ ณ ศาลากลางจังหวัดทุกจังหวัด
– กองตรวจราชการและเรื่องราวร้องทุกข์ สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย

• จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)
– ผู้ประกอบการหากมีรายรับเกินกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี กฎหมายบังคับให้ต้องจดทะเบียนเป็นผู้ประกอบการภายใน 30 วัน นับแต่มีรายรับเกินกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี
– กรณีใช้เครื่องบันทึกการเก็บ จะต้องขออนุญาตการใช้เพื่อออกใบกำกับภาษีตามประมวลรัษฎากร

• ขออนุญาตติดตั้งป้ายเพื่อเสียภาษีป้าย คือ
– ภาษีที่เก็บจากการแสดงป้ายชื่อ ยี่ห้อ หรือโลโก้บนวัตถุใด ๆ ด้วยตัวอักษร ภาพ
– ไม่ว่าจะเป็นบนป้ายทั่วไป ป้ายบิลบอร์ดตามตึกตามทางด่วน ป้ายผ้าใบ หรือป้ายไฟ ที่ใช้เพื่อหารายได้หรือการโฆษณา
– ผู้ประกอบการเปิดร้านกาแฟที่มีป้ายหน้าร้านก็ต้องเสียภาษี ด้วยอัตราภาษีที่ขึ้นอยู่กับรูปแบบและขนาดที่กำหนด

 

หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจร้านอาหาร

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์

เกี่ยวข้องโดยตรงกับผู้ประกอบธุรกิจทั้งขนาดกลางและขนาดย่อม โดยมีหน้าที่พัฒนาศักยภาพของธุรกิจและเสริมสร้างความรู้ในการทำธุรกิจตลอดจนทำการเชื่อมโยงตลาด (Business Matching)
เว็บไซต์ www.dbd.go.th
ที่อยู่ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ (สนามบินน้ำ) 563 ถ.นนทบุรี ต.บางกระสอ อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
สายด่วน 1570
อีเมล computer@dbd.go.th

 

กรมสรรพสามิต กระทรวงการคลัง

บริหารจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีสินค้าและบริการซึ่งควรรับภาระภาษีสูงกว่าปกติ เช่น บุหรี่ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไนต์คลับ และดิสโก้เธค ผู้ประกอบการที่ต้องการจทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือขอใบอนุญาตจำหน่ายสุราหรือยาสูบ สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
เว็บไซต์ www.excise.go.th
ที่อยู่ 1488 ถ.นครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร 10300
โทรศัพท์ 022415600
อีเมล webmaster@excise.go.th

 

สำนักสุขาภิบาลอาหารและน้ำ

จัดทำเกณฑ์มาตรฐานการสุขาภิบาลอาหารและน้ำบริโภคของประเทศ เช่น มาตรฐานอาหารสะอาด รสชาติอร่อย Clean food Good taste รวมถึงจัดอบรมเพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการร้านอาหารสามารถดำเนินธุรกิจอย่างถูกสุขอนามัย ผู้ประกอบการสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
เว็บไซต์ foodsan.anamai.moph.go.th
ที่อยู่ 88/22 หมู่4 ต.ตลาดขวัญ ถ.ติวานนท์ อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
สายด่วน 025904188
อีเมล webmaster@excise.go.th

 

 

Published on 2 July 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

บทความแนะนำ