"บีโอไอ" ช่วยสนับสนุนเอสเอ็มอีอย่างไร

หัวข้อ : มาตราการบีไอโอ ทางออก SMEsไทย ปีที่ 3 ฉบับที่ 5
อ่านเพิ่มเติม : https://www.boi.go.th/upload/ejournal/2020/05/files/extfile/DownloadURL.pdf

 

 

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ให้การสนับสนุนธุรกิจทุกขนาด หากผ่านหลักเกณฑ์ตามที่กำหนด โดยให้การส่งเสริมด้านการลงทุนทั้งในประเทศ และช่วยเหลือธุรกิจไทยที่จะไปลงทุนต่างประเทศด้วยเช่นกัน อย่างธุรกิจที่ต้องการย้ายฐานการผลิตไปยังต่างประเทศ บีโอไอจะเข้าไปมีบทบาทในการสนับสนุนช่วยเหลือ ศึกษาเรื่องกฏระเบียบการลงทุนในประเทศต่าง ๆ พร้อมให้คำปรึกษา เข้าเจรจากับภาครัฐของประเทศนั้น ๆ และหลายคนอาจเข้าใจผิดว่าบีโอไอให้การส่งเสริมเฉพาะธุรกิจขนาดใหญ่หรือธุรกิจจากต่างชาติ แต่อันที่จริงแล้วมีธุรกิจเอสเอ็มอีได้รับการสนับสนุนอยู่ถึงร้อยละ 60 – 70 ทีเดียว

การส่งเสริมการลงทุนโดยให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอากร เช่น

  • การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลในเวลาหนึ่ง โดยทั่วไปสูงสุดไม่เกิน 8 ปี
  • การยกเว้นอากรนำเข้าของเครื่องจักรและวัตถุดิบ

การส่งเสริมการลงทุนสิทธิประโยชน์ที่ไม่เกี่ยวกับภาษีอากร เน้นให้สิทธิประโยชน์แก่บริษัทต่างชาติ เช่น

  • สิทธิในการถือครองที่ดิน
  • การอำนวยความสะดวกในเรื่องการนำเข้าแรงงานฝีมือจากต่างประเทศ

 

คุณสมบัติเอสเอ็มอีตามมาตรการของบีโอไอ

  1. เอสเอ็มอีจะต้องอยู่ในประเภทกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล (ประเภทกิจการในกลุ่ม A) และประเภทกิจการบางส่วนที่ไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล (ประเภทกิจการในกลุ่ม B1) ตามประกาศ กกท. ที่ 2/2557
  2. เอสเอ็มอีจะต้องเป็นบุคคลธรรมดาสัญชาติไทย ถือหุ้นไม่น้อยกว่า 51% ของทุนจดทะเบียน
  3. รายได้รวมของเอสเอ็มอีทั้งที่ได้รับการส่งเสริมฯ และไม่ได้รับการส่งเสริมฯ ต้องไม่เกิน 500 ล้านบาทต่อปี ในช่วง 3 ปีแรก
  4. เอสเอ็มอีจะต้องมีเงินลงทุนในโครงการไม่น้อยกว่า 500,000 บาท โดยไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียน (จากปกติที่กำหนดไว้ที่ 1 ล้านบาท)
  5. กำหนดให้มีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนไม่เกิน 4 : 1 (จากปกติที่กำหนดไว้ที่ 3 : 1)

 

สิทธิประโยชน์บีโอไอ เพิ่มศักยภาพเอสเอ็มอีโดยเฉพาะ

แม้ว่าบีโอไอจะครอบคลุมธุรกิจทุกขนาด แต่สำหรับธุรกิจเอสเอ็มอีจะมีหลายมาตรการที่ได้ตั้งข้อกำหนดพิเศษเอาไว้ เพื่อเปิดโอกาสให้เอสเอ็มอีเข้าถึงสิทธิประโยชน์ได้ง่ายขึ้น เช่น

- สิทธิประโยชน์พื้นฐานตามประเภทกิจการ และเพิ่มเติมวงเงินยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็น 200 % ของเงินลงทุน โดยไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียน

- ได้รับยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับเครื่องจักร

- อนุญาตให้นำเครื่องจักรใช้แล้วของโครงการเดิม มาใช้ในโครงการที่ขอรับการส่งเสริมฯได้ โดยมีมูลค่าไม่เกิน 10 ล้านบาท แต่จะต้องลงทุนใหม่ในเครื่องจักรหลักเพิ่มเติมเป็นสัดส่วนไม่น้อยกว่า 50% ของมูลค่าเครื่องจักรทั้งหมดที่ใช้ในโครงการ

- สิทธิประโยชน์เพิ่มเติมเพื่อพัฒนาความสามารถในการแข่งขัน หากเอสเอ็มอีลงทุนหรือมีค่าใช้จ่ายในกิจกรรมที่จะช่วยเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขัน จะสามารถขยายสิทธิประโยชน์ได้มากขึ้น เช่น

  • การวิจัยพัฒนาเพื่อให้เกิดนวัตกรรมใหม่ ๆ
  • การฝึกอบรมบุคคลากรหรือรับนักศึกษาฝึกงานระยะยาว
  • การซื้องานวิจัยในประเทศที่น่าสนใจมาใช้ประโยชน์ในเชิงพานิชย์
  • การอบรมเทคโนโลยีขั้นสูง
  • การออกแบบผลิตภัณฑ์หรือบรรจุภัณฑ์

 

สิทธิและประโยชน์พิเศษเพิ่มเติม 

  • กรณีเอสเอ็มอีตั้งสถานประกอบการในจังหวัดที่มีรายได้ต่อหัวต่ำ 20 จังหวัด ได้แก่ กาฬสินธุ์ ชัยภูมิ นครพนม น่าน บึงกาฬ บุรีรัมย์ แพร่ มหาสารคาม มุกดาหาร แม่ฮ่องสอน ยโสธร ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ สกลนคร สระแก้ว สุโขทัย สุรินทร์ หนองบัวลำภู อุบลราชธานี และอำนาจเจริญ ให้ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติม 3 ปี แต่รวมกันแล้วไม่เกิน 8 ปี ทั้งนี้หากเป็นประเภทกิจการในกลุ่ม A1 และ A2 จะให้ได้รับการลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล 50% เพิ่มเติมอีก 5 ปี นับจากวันที่กำหนดระยะเวลาการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสิ้นสุดลง
  • กรณีเอสเอ็มอีตั้งสถานประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมหรือเขตอุตสาหกรรมที่ได้รับการส่งเสริมฯ ให้ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติมอีก 1 ปี แต่รวมกันแล้วไม่เกิน 8 ปี ยกเว้นประเภทกิจการที่มีเงื่อนไขบังคับว่า จะต้องตั้งในนิคมอุตสาหกรรมหรือเขตอุตสาหกรรมที่ได้รับการส่งเสริมฯและประเภทกิจการในกลุ่ม B
  • กรณีเอสเอ็มอีตั้งสถานประกอบการในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน (SEZ) จะได้รับวงเงินภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติม 200% ของเงินลงทุน โดยไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียนเพิ่มเติมจากสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับพิเศษตามมาตรการส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน

บีโอไอได้เปิดช่องทางเผยแพร่ข้อมูลและคำแนะนำแก่เอสเอ็มอีหลายช่องทางด้วยกัน

  • เว็บไซต์ www.boi.go.th ช่องทางหลักในการสื่อสาร เป็นพื้นที่ที่รวบรวมข้อมูลเอาไว้ทั้งหมด
  • อีเมล head@bot.go.th สามารถส่งคำถามผ่านทางอีเมลได้
  • ติดต่อ ศูนย์บริการลงทุน ที่บีโอไอสำนักงานใหญ่ หรือจามจุรีสแควร์
  • เฟซบุ๊ก BOI News
  • ไลน์แอด @boinews
  • โทรศัพท์ 025538111

 

Published on 27 August 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

บทความแนะนำ

อยากขยายกิจการ ใช้เงินตัวเองหรือกู้แบงค์ดี

หัวข้อ : ลงทุนขยายกิจการ ใช้เงินตัวเองหรือกู้แบงค์ดี
อ่านเพิ่มเติม :https://sme.ktb.co.th/sme/productListAction.action?command=getDetail&cateMenu=KNOWLEDGE&cateId=18&itemId=171

 

หากเราจะลงทุนเงินสักก้อน เราจะใช้เงินตัวเอง หรือ ควรกู้แบงก์ดี ? หลาย ๆ ท่านอาจคิดว่า ใช้เงินตัวเองดีกว่าเพราะไม่ต้องเสียดอกเบี้ยจากเงินกู้ หากคิดในเรื่องของดอกเบี้ยอย่างเดียว ถือเป็นคำตอบที่ถูกต้อง แต่อย่าลืมว่าการลงทุนขยายกิจการ สิ่งที่ตามมานอกเหนือจากตัวเงินนั้น คือความเสี่ยงด้านอื่น ๆ ที่ตามมาด้วย และนี่คือ 4 เหตุผล ว่าหากคุณจะขยายกิจการ คุณควรใช้เงินตัวเอง หรือ กู้แบงค์ดีกว่ากัน ?

 

1. เรื่องเงินทุนในการขยายกิจการ

ใช้เงินตัวเอง การที่จะขยายกิจการนั้น เราต้องมีเป้าหมายที่วางไว้เป็นรูปธรรมอยู่แล้ว ซึ่งการใช้เงินทุนของตนเองในการขยายกิจการนั้น ส่วนใหญ่มักมีงบประมาณที่จำกัด จึงอาจไม่สามารถขยายกิจการได้ตามที่ต้องการ  

ขอสินเชื่อธนาคาร จะตอบโจทย์ได้มากกว่า และการขอสินเชื่อบางธนาคารยังสามารถใช้ บสย. ค้ำประกันในส่วนของวงเกินหลักประกันได้อีกด้วย บางสินเชื่อยังให้วงเงินสูงถึง 2 ถึง 3 เท่าของหลักประกัน

 

2. เรื่องเงินทุนหมุนเวียนในธุรกิจ

ใช้เงินตัวเอง สิ่งที่เกิดตามมาแน่นอนคือ “เงินทุนหมุนเวียนในกิจการลดลง” ในกรณีที่เลวร้ายที่สุดคืออาจทำให้กิจการของคุณขาดสภาพคล่องได้ 

ขอสินเชื่อธนาคาร ทำให้คุณไม่ต้องมากังวลเรื่องเงินทุนหมุนเวียน และธนาคารยังมีบริการสินเชื่อในส่วนของเงินทุนหมุนเวียน เพื่อเพิ่มสภาพคลองให้ธุรกิจคุณอีกด้วย

 

3. เรื่องการจ่ายดอกเบี้ย

ใช้เงินตัวเอง ไม่ต้องกังวลกับปัญหาเรื่องดอกเบี้ย แต่คุณต้องพร้อมเสี่ยงกับปัญหาอย่างที่กล่าวมาข้างต้น

ขอสินเชื่อธนาคาร แน่นอนว่ามีเรื่องของการจ่ายดอกเบี้ยให้กับธนาคาร แต่บางสินเชื่อสามารถให้ชำระเฉพาะดอกเบี้ยเป็นเวลานานถึง 12 เดือน ซึ่งเหมาะในช่วงต้นของการขยายธุรกิจ

 

4. เรื่องการขยายกิจการในอนาคต

ใช้เงินตัวเอง หากคุณเริ่มต้นจากการขยายกิจการด้วยเงินทุนของตัวเองนั้น การขอสินเชื่อใหม่ทั้งหมดจะเป็นเรื่องที่ซับซ้อนและใช้เวลาค่อนข้างมาก

ขอสินเชื่อธนาคาร หากคุณเคยขอสินเชื่อมาก่อนหน้าแล้ว และมีการชำระสินเชื่อได้ตรงเวลา ก็สามารถขอสินเชื่อในการขยายกิจการเพิ่มโดยง่าย เพราะทางธนาคารจะมองว่าเครดิตของคุณดี

 


Published on 26 August 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

บทความแนะนำ

5 เหตุผล ขายของออนไลน์ทำไมต้องมีรีวิว

หัวข้อ : วารสารกรมพัฒนาธุรกิจการค้า (DBD) ฉบับที่ 51 ปีที่ 9 
อ่านเพิ่มเติม :https://www.dbd.go.th/download/article/article_20190902105049.pdf

 

การมี รีวิว” (Review) แสดงประกอบรายละเอียดสินค้าในเว็บไซต์ หรือร้านค้าของคุณบนแพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ นั้นจะช่วยเสริมการพิจารณาของลูกค้าที่กำลังดูร้านค้าอยู่ เพราะสิ่งหนึ่งที่ลูกค้าในยุคนี้มองหาเมื่อสนใจสินค้าหรือบริการก่อนจะตัดสินใจซื้อนั่นก็คือรีวิวจากลูกค้าก่อนหน้านี้นั่นเอง นอกจากนี้ความสำคัญอื่นๆ ที่เราได้รับจากการมีรีวิวสินค้าหรือรีวิวบริการก็คือ

 

ความน่าเชื่อถือ

เพราะก่อนเราจะเสียเงินไปซื้อของอะไรก็ตาม หากดูแล้วร้านค้าที่เรากำลังสนใจมีรายละเอียดสินค้าที่ไม่น่าเชื่อถือ ไม่มีรีวิวจากลูกค้าว่าสั่งซื้อแล้วได้รับของมาสภาพไหน , การจัดส่งไวหรือไม่ , ตอบคำถามลูกค้าดีไม่ดีอย่างไร หากเป็นอย่างนี้ความเชื่อมั่นต่อร้านค้าก็ไม่เกิดขึ้น

 

ได้รับความคิดเห็นโดยตรงจากลูกค้า

บ่อยครั้งมักจะมีความคิดเห็นดี ๆ เพื่อนำไปพัฒนาปรับปรุงสินค้าและบริการ มักมาจากลูกค้าโดยตรง หลังจากที่พวกเขาได้ทดลองใช้สินค้าของเราแล้ว ซึ่งเป็นประสบการณ์จากผู้ใช้งานจริง ๆ ที่มีคุณค่า อาจช่วยให้เราได้พัฒนาสินค้าที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้มากที่สุด

 

ช่วยให้ค้นหาสินค้าเจอได้ง่ายขึ้น

เครื่องมือค้นหาเสิร์ซเอนจิ้นที่เราคุ้นเคยกันดีอย่างกูเกิ้ล (Google) มักดึงเอาสินค้าที่มีคนรีวิวมาแสดงให้นักท่องเว็บฯ เห็นด้วย ยิ่งสินค้าของเราได้รับการรีวิวหรือพูดถึงจากลูกค้ามีจำนวนมาก ยิ่งเป็นตัวชี้วัดถึงความน่าเชื่อถือและความน่าสนใจของสินค้าของเรามากตามไปด้วย จนทำอยากคลิกเข้าไปดูเว็บไซต์เพิ่มขึ้น

 

รีวิวด้านลบบางครั้งส่งผลดี 

ความผิดพลาดเป็นสิ่งที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้เสมอ หากเจ้าของร้านรับมือกับบางรีวิวที่ตำหนิการให้บริการได้ดีและแสดงออกถึงความจริงใจในการขออภัยลูกค้า รับผิดชอบในความผิดพลาดอย่างเหมาะสม ลูกค้าที่เข้ามาอ่านรีวิวจะรู้สึกถึงความน่าเชื่อถือ ช่วยเพิ่มการตัดสินใจในการใช้บริการมากขึ้น เพราะได้เห็นถึงการบริการหลังการขายอีกมุมหนึ่ง หากร้านค้ามีแต่คำชมอย่างเดียว มักทำให้ความรู้สึกน่าสงสัยมากกว่าเกิดความไว้วางใจ

 

สินค้ามีรีวิว คนยิ่งสนใจ

เมื่อลูกค้ารายใหม่ ๆ เข้ามาเห็นรีวิวก่อนหน้านี้ จะเกิดแรงจูงใจและความกล้าที่จะแชร์ความเห็นเพิ่มเติมทิ้งไว้ให้คนอื่น ๆ ได้รับรู้ต่อไป ยิ่งสินค้าชิ้นไหนมีรีวิวใหม่ ๆ เพิ่มเติมสม่ำเสมอ คนมักให้ความสนใจเพิ่มตามไปด้วย

 

Published on 26 August 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

บทความแนะนำ

กระตุ้นยอดขายร้านอาหารด้วยมาตรฐาน Thai SELECT

หัวข้อ : วารสารกรมพัฒนาธุรกิจการค้า (DBD) ฉบับที่ 61 ปีที่ 11 
อ่านเพิ่มเติม :www.dbd.go.th/download/article/article_20200626145341.pdf

เมื่อถึงเวลาที่สถานการณ์โควิดทั่วโลกคลี่คลาย และการท่องเที่ยวของไทยกลับมาคึกคักอีกครั้ง ธุรกิจร้านอาหารไทยต้องเตรียมความพร้อม เพื่อรองรับกลุ่มนักท่องเที่ยวทั้งคนไทยและชาวต่างชาติที่จะหลั่งไหลเข้ามาใช้บริการ และดึงดูดลูกค้าเข้าร้านด้วยตราสัญลักษณ์ที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลกอย่าง Thai SELECT

Thai SELECT เป็นมาตรฐานรับรองสินค้าร้านอาหารไทย ทั้งในเรื่องของคุณภาพและรสชาติความอร่อยแบบไทย ๆ และเป็นที่ยอมรับของชาวต่างชาติมากว่า 20 ปี กรมพัฒนาธุรกิจการค้า จึงเกิดแนวคิดในการนำตราสัญลักษณ์ Thai SELECT มาต่อยอดส่งเสริมให้ร้านอาหารในประเทศไทย โดยคัดสรรร้านอาหารที่มีรสชาติไทยแท้และคุณภาพที่ได้มาตรฐาน เน้นความใส่ใจด้านคุณภาพ รสชาติ และการบริการ 

นอกจากนี้ตราสัญลักษณ์ Thai SELECT ยังช่วยสร้างการจดจำ ได้เป็นอย่างดีเป็นการขยายโอกาสและเพิ่มช่องทางการตลาดให้ร้านอาหารไทยสามารถเข้าถึงกลุ่มนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติได้มากยิ่งขึ้น โดยตราสัญลักษณ์ Thai SELECT ในประเทศไทยมี 3 ประเภท คือ

 

 

สำหรับเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกเพื่อให้ได้รับตราสัญลักษณ์ Thai SELECT ร้านอาหารจะต้องมีคุณสมบัติที่สำคัญดังนี้

1) ต้องมีรายการอาหารไทยไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของรายการอาหารทั้งหมด ตกแต่งบรรยากาศ และใช้วัตถุดิบเครื่องปรุงอาหารแบบไทย

2) ปรุงอาหารได้ตามมาตรฐานกรรมวิธีการปรุงแบบไทยใช้วัตถุดิบและเครื่องปรุงของไทย 

3) เปิดให้บริการมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน 

4) อายุการใช้ตราสัญลักษณ์ Thai SELECT นาน 3 ปี หากร้านประสงค์จะต่ออายุต้องยื่นใบสมัครขอต่อก่อนวันหมดอายุ 3 เดือน 

5) ผู้ที่ได้ตราสัญลักษณ์ Thai SELECT จะได้รับประกาศนียบัตรที่ลงนามโดยอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พร้อมระบุปีที่ได้รับ 

6) ร้านอาหารไทยที่มีมากกว่า 1 สาขา แต่ละสาขาต้องยื่นใบสมัครขอใช้หรือต่ออายุการใช้ตราสัญลักษณ์

Thai SELECT แยกจากสาขาอื่น

7) ผู้สมัครต้องผ่านการตรวจสอบและให้คะแนนโดยกรรมการ หรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า

 

ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://dbd.go.th/images/relation_pic/info%20Thai%20SELECT.pdf

 

 

Published on 26 August 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

 

 

บทความแนะนำ

เทรนด์การตลาดสุดฮิต ที่เอสเอ็มอีต้องตามให้ทัน

หัวข้อ : Day 1 of 365 สวัสดีปีชวด
อ่านเพิ่มเติม : https://www.kasikornbank.com/th/business/sme/KSMEKnowledge/k-sme-inspired/Inspired/Inspired-Jan-2020.aspx

 

ประสบการณ์ยืนหนึ่ง 

“ประสบการณ์ของลูกค้า” คือ คำฮิตที่สุดในแวดวงการตลาด และเป็นอะไรที่มากกว่าเทรนด์ที่เข้ามาแล้วผ่านไป จากการสำรวจพบว่า 73% ของผู้คนกล่าวว่า ประสบการณ์ของลูกค้าเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจซื้อ แต่มีผู้บริโภคในสหรัฐอเมริกาเพียง 49% เท่านั้นที่บอกว่าได้รับประสบการณ์ที่ดีจากแบรนด์

จากนี้ไปจะไม่ใช่การพยายามโน้มน้าวให้ผู้คนหันมาซื้อสินค้าหรือบริการ แต่จะเป็นการให้ความสำคัญไปที่การมอบประสบการณ์อันยอดเยี่ยมให้กับลูกค้าเป็นลำดับแรก  เพื่อที่จะทำให้พวกเขากลับมาซื้อซ้ำหรือใช้บริการอีก นี่คือสิ่งที่จะทำให้เกิดประสบการณ์ที่ยอดเยี่ยมได้

  • ประสิทธิภาพของสินค้าและบริการ
  • ความสะดวกสบายทั้งก่อนและหลังการขาย
  • บริการที่มีความรู้และเป็นมิตร
  • การชำระเงินที่ง่ายและรวดเร็ว
  • มีเทคโนโลยีที่ทันสมัย 
  • การเสนอสินค้าหรือบริการแบบเฉพาะบุคคล
  • ภาพลักษณ์ของแบรนด์และการออกแบบ

 

สร้างความผูกพันของพนักงาน

บริการที่มีประสิทธิภาพและเป็นมิตร คือรากฐานที่สำคัญในการสร้างประสบการณ์ที่ดีของลูกค้า ในเมื่อพนักงานขององค์กรคือ หน้าตาของแบรนด์ ดังนั้น การมุ่งเน้นที่การมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีระหว่างพนักงานและลูกค้าของแบรนด์จึงควรเป็นกลยุทธ์การตลาดที่สำคัญในปี 2020 แบรนด์และพนักงานต้องมีความเข้าใจและเดินไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งต้องสอดคล้องไปกับเป้าหมายที่แบรนด์ได้ตั้งเอาไว้ด้วย

 

การตลาดแบบส่วนตัว

ผู้บริโภคทุกวันนี้ได้รับข้อความทางการตลาดมากมายจากหลากหลายช่องทาง จนอยู่ในจุดที่ต้องเลือกว่าจะรับอันไหนและไม่สนใจอันไหน ที่สำคัญคือการโฆษณาแบบดั้งเดิมกำลังเป็นสิ่งที่ไม่ตอบโจทย์ “การตลาดแบบส่วนตัว” (Personalization) หรือการนำเสนอสิ่งที่ตอบสนองความต้องการเฉพาะบุคคล ได้กลายเป็นคำตอบของการเชื่อมต่อระหว่างแบรนด์และลูกค้าเป้าหมายอย่างแท้จริง

 

ค้นหาด้วยเสียงมาแรง!

การค้นหาด้วยเสียง (Voice Search) มีอิทธิพลเป็นอย่างมากกับแบรนด์ในการสร้างคอนเทนต์และทำการตลาดออนไลน์ การปรับคอนเทนต์ของแบรนด์ให้สามารถรองรับการค้นหาด้วยเสียง จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องให้ความสำคัญ คนจะค้นหาด้วยเสียงที่แตกต่างกัน มีการใช้ข้อความค้นหาที่ยาวขึ้นและมีการสนทนามากขึ้น ดังนั้น การทำให้คอนเทนต์รองรับการค้นหาในรูปแบบดังกล่าวจะช่วยให้ธุรกิจได้รับการมองเห็นมากขึ้น

 

ทำการตลาดด้วยภาพ

คนชอบเนื้อหาที่เป็นภาพมากกว่าข้อความธรรมดา สะท้อนได้จากการเติบโตของแพลตฟอร์มที่เน้นรูปภาพอย่างอินสตาแกรม (Instagram) ภาพนั้นง่ายต่อการจดจำมากกว่าเนื้อหาหรือคอนเทนต์แบบเขียนนั่นเอง การเพิ่มข้อมูลภาพ อินโฟกราฟิก รูปภาพ และวิดีโอในข้อความ ไม่เพียงแต่จะทำให้ดูน่าสนใจและน่าดึงดูดยิ่งขึ้น แต่จะทำให้คนจดจำข้อความนั้นได้มากขึ้นอีกด้วย โดยผลการศึกษาระบุว่า

  • สมองคนเราประมวผลรูปภาพได้เร็วกว่าตัวอักษรถึง 60,000 เท่า
  • 65% ของคนเราเรียนรู้ด้วยสายตา
  • การใช้ภาพสีช่วยเพิ่มความต้องการในการอ่านคอนเทนต์ของคนได้ 80% 
  • 85% ของผู้บริโภคต้องการที่จะซื้อสินค้าหลังจากดูวิดีโอเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการนั้น
  • โพสต์ที่มีรูปภาพช่วยเพิ่มการมีส่วนร่วม (Engagement) ได้มากขึ้น 180%

 

 

Published on 26 August 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

 

บทความแนะนำ