ธุรกิจโรงแรม-ที่พัก เขียนบทความอย่างไรเสริมยอดขายให้พุ่งแรง

หัวข้อ : สร้าง Content อย่างไร เสริมยอดขายให้พุ่งแรง
อ่านเพิ่มเติม : https://scbsme.scb.co.th/sme-inspiration-detail/content-marketing-for-hotels

ธุรกิจโรงแรมที่อยากมียอดคนจองห้องพักอย่างสม่ำเสมอในยุคนี้นั้น นอกจากการสร้างโรงแรมให้สวยงามโดดเด่นมีจุดขาย มอบประสบการณ์การบริการที่ดีเยี่ยมให้กับลูกค้าแล้ว การทำการตลาดออนไลน์ด้วยคอนเทนต์มาร์เก็ตติ้ง (Content Marketing) เพื่อดึงดูดความสนใจของกลุ่มเป้าหมาย เป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมต้องเรียนรู้เช่นกัน

 

ใช้ความรักสร้างสรรค์เนื้อหา

เนื้อหาของบทความต่าง ๆ ที่มาจากความรักความชอบ จะสร้างความแตกต่างจากสิ่งที่คนอื่นทำอยู่ การแชร์ประสบการณ์ผ่านการเล่าเรื่องที่สนุกก็จะทำให้การสร้างเพจประสบความสำเร็จได้ เพจโรงแรมก็เช่นกัน ต้องมีคาแรคเตอร์ที่ชัดเจนว่าโรงแรมเป็นแบบไหน  สื่อสารกับลูกค้ากลุ่มใด แล้วสร้างเนื้อหาจากสิ่งที่คนคนค้นหาก็จะทำให้เพจมีคนติดตามเพิ่มขึ้น

 

รู้เขา - รู้เรา ปล่อยเนื้อหากี่ครั้งก็โดน

หลักการสร้างสรรค์เนื้อหาให้โดนใจ มี 3 ข้อ 

  1. ต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจนว่าจะทำเนื้อหาแนวไหน ทำเพื่ออะไร 
  2. ต้องรู้จักกลุ่มเป้าหมายว่าคือใคร 
  3. นำเสนอเนื้อหาจากปัญหาที่ลูกค้าเคยพบ (อาจจะเป็นปัญหาจากที่อื่น ๆ หรือปัญหาทั่วไป) หรือสิ่งที่กลุ่มเป้าหมายตามหา ที่สำคัญเป้าหมายต้องชัดเจน

 

ไวรัลสร้างได้ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ

การสร้างเนื้อหาให้น่าสนใจจนเกิดเป็นไวรัล  (Viral) นั้นสิ่งที่ต้องคำนึงถึงมีดังนี้

  • ค้นหาให้เจอว่าคนต้องการเห็นอะไร ดูข้อมูลเชิงลึก (Insight) เพื่อหาให้เจอว่าช่วงเวลานั้นคนกำลังสนใจอะไรอยู่ 
  • เวลาคนจะแชร์เนื้อหาเพราะเห็นคุณค่า (Value) ต้องมองให้ออกว่ากลุ่มเป้าหมายให้คุณค่ากับอะไร
  • ต้องระลึกเสมอว่าเป้าหมายที่จะสื่อสารคืออะไร ใครคือลูกค้า ลูกค้าอยากฟังหรือไม่ ถ้าไม่รู้จักลูกค้าอย่างแท้จริง เนื้อหาที่สื่อสารก็จะไม่สื่อถึงแบรนด์ของเรา

 

โปรโมทสถานที่ที่ไม่มีใครรู้จักต้องทำอย่างไร

การสร้างเนื้อหาเกี่ยวกับสถานที่ท่องเที่ยวที่คนไม่รู้จัก นอกจากจะต้องถ่ายภาพให้สวยงามดึงดูดใจ ยังต้องนำเสนอด้วยไอเดียแปลกใหม่ มีวิธีการอย่างไรเพื่อจูงใจให้คนไปเที่ยวตาม

  • ต้องตอบให้ได้ว่าสถานที่นั้นดีอย่างไร หาจุดเด่นให้เจอ ทำไมคนต้องไป
  • ต้องรู้ลึกรู้จริงเข้าใจพื้นที่นั้นมากกว่าคนทั่วไป
  • รูปแบบที่นำเสนอต้องโดนใจผู้บริโภค
  • สถานที่นั้นให้ประสบการณ์อะไรกับคนที่ไป
  • ลองขายสถานที่นั้นทางออฟไลน์ก่อน โดยหาลักษณะร่วมของลูกค้าเป้าหมายให้เจอ (Persona) และลองเสนอขาย ถ้าขายออฟไลน์ไม่ได้อย่าลงออนไลน์

 

เพิ่มยอดขายด้วยเนื้อหาเกี่ยวกับสถานที่ท่องเที่ยว

การสร้างเพจหรือเว็บไซต์โรงแรมนอกจากจะต้องมีข้อมูลพื้นฐานของโรงแรมแล้ว การสร้างเนื้อหาเกี่ยวสถานที่ท่องเที่ยวโดยรอบจะเป็นการช่วยเพิ่มยอดขายให้โรงแรมได้อีกทางหนึ่ง โดยทำดังนี้

  • หาเส้นทางการมาของลูกค้าว่ามาอย่างไร ตัดสินใจเลือกโรงแรมเพราะอะไร
  • มองหาว่าสถานที่ใกล้โรงแรมมีอะไรบ้าง ทั้งสถานที่ยอดนิยมหรือสถานที่ใหม่ ๆ
  • สร้างสรรค์เนื้อหามาเสริม เช่น จุดเด่นของโรงแรมที่คนมาพัก, สถานที่ท่องเที่ยวรอบโรงแรม เป็นต้น

 

เลือกเนื้อหาอย่างไรให้เข้ากับแพลตฟอร์ม

โซเซียลมีเดียมีหลากหลายแพลตฟอร์ม ควรเลือกสร้างเนื้อหาที่เหมาะสม โดยต้องเรียนรู้พฤติกรรมของคนในแต่ละแพลตฟอร์ม เช่น ยูทูบ เน้นนำเสนอวิดีโอ, เฟซบุ๊ก เน้นให้ข้อมูลนำเสนอได้หลายทั้งแบบภาพ อัลบั้มภาพและวิดีโอ, อินสตาแกรม เน้นรูปสวยช่วยสร้างแรงบันดาลใจ

 

วางแผนการสร้างเนื้อหาต่าง ๆ อย่างไร?

เมื่อมีการสร้างเพจหรือเว็บไซต์ของโรงแรมแล้ว หากอยากให้มียอดผู้ติดตามและยอดการมีส่วนร่วม ควรวางแผนการสร้างเนื้อหา ดังนี้

  • วางแผนสร้างเนื้อหาอย่างต่อเนื่อง อาจวางผังตลอดทั้งปีเพื่อให้เห็นภาพรวมว่ามีเนื้ออะไรได้บ้าง เพื่อให้เห็นโพสต์ในแต่ละวัน
  • วางแผนสร้างเนื้อหาในรูปแบบคอลัมน์ประจำซึ่งจะทำให้ง่ายขึ้น เพราะแต่ละคอลัมน์จะมีลักษณะเนื้อหาเฉพาะ คนเขียนจะได้ไม่หลงทาง
  • แทรกด้วยการสร้างเนื้อหาตามกระแส (Real-Time Content) แต่ต้องดูเสมอว่ากระแสนั้นสร้างมาเชื่อมโยงเข้าสู่ธุรกิจโรงแรมได้มั้ย ไม่ใช่ทำทุกเรื่องต้องดูเสมอว่าตอบโจทย์หรือไม่

 

สุดท้ายต้องไม่ลืมเรื่องปิดการขาย เพราะถึงแม้จะสร้างเนื้อหาได้ดีเท่าไหร่ แต่ถ้าไม่สามารถปิดการขายได้ก็เสียเงินเสียเวลาเปล่า รวมถึงต้องสื่อสารกับพนักงานฝั่งออฟไลน์ให้รู้เท่าออนไลน์ เพราะถ้าลูกค้าโทรศัพท์เข้ามาพนักงานไม่สามารถตอบคำถามได้ ก็ไม่เกิดประโยชน์เช่นเดียวกัน



Published on 27 August 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

 

บทความแนะนำ

อาหารเสริมสุขภาพเฉพาะด้าน โอกาสของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี

หัวข้อ : Functionals Foods โอกาสของผู้ประกบการ SMEs
อ่านเพิ่มเติม : https://sme.ktb.co.th/sme/previewPdf.action?fileId=19#book/13

 

อาหารเสริมสุขภาพเฉพาะด้าน หรือ Functional Foods เป็นตลาดหนึ่งที่น่าสนใจ และเป็นโอกาสของผู้ประกอบการในการยกระดับไปสู่ธุรกิจอาหารที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น

 

อาหารเสริมสุขภาพเฉพาะด้าน กับ อาหารทั่วไป แตกต่างกันอย่างไร? 

 

โดยทั่วไปหมายถึง ผลิตภัณฑ์อาหารที่ทำหน้าที่เฉพาะเจาะจงในการส่งเสริมสุขภาพด้านต่าง ๆ เพิ่มเติมจากคุณประโยชน์ทางโภชนาการของอาหารทั่วไป โดยเป็นการเพิ่มสารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย อย่างโปรตีน วิตามิน คอลลาเจน หรืออาจครอบคลุมไปถึงการลดสารอาหารที่เป็นประโยชน์น้อยออกไป เช่น น้ำตาล เกลือ ที่สำคัญคือการยังคงสภาพเป็นอาหาร ไม่ใช่แคปซูลหรือเป็นผงเหมือนยา และไม่มีข้อจำกัดในการบริโภค

สำหรับประเทศไทยมีผู้ประกอบการหลายรายที่เริ่มเข้ามาทำตลาดนี้กันมากขึ้นแล้ว เช่น โทฟุซัง ซึ่งเป็นเจ้าแรก ๆ ของนมถั่วเหลืองแบบพาสเจอไรซ์ และได้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคเฉพาะกลุ่มมากขึ้น อย่าง การเพิ่มงาดำซึ่งมีแคลเซียม การเพิ่มโปรตีน ส่งผลให้ปัจจุบันโทฟุซังมีส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับต้น ๆ ในตลาดนมถั่วเหลืองแบบพาสเจอไรซ์ได้อย่างรวดเร็ว

 

ทำไมตลาดอาหารเสริมสุขภาพเฉพาะด้าน (Functional Foods) จึงน่าสนใจ 

 

1. การให้ความสำคัญกับการมีสุขภาพที่ดีของผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน

แนวคิดที่ว่าการป้องกันโรคดีกว่าการรักษาโรค จากค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคที่สูง เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้บริโภคมองหาอาหารที่ช่วยเสริมสุขภาพเฉพาะด้านมากขึ้น 

โดยยูโรมอนิเตอร์ (Euromonitor) ประเมินว่า ตลาดอาหารเสริมสุขภาพเฉพาะด้านของไทย อยู่ที่ประมาณ 68,000 ล้านบาท และคาดว่าในปี 2018 - 2022 จะเติบโตเฉลี่ยประมาณร้อยละ 4 ต่อปี ซึ่งในต่างประเทศอัตรากำไรของบริษัทที่ทำอาหารเสริมสุขภาพเฉพาะด้านจะสูงกว่าอาหารทั่วไปถึงเกือบ 3 เท่า โดยมีอัตรากำไรเฉลี่ยสูงถึงร้อยละ 7.3 ขณะที่ผู้ประกอบการอาหารทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 2.8

 

2. การเจาะตลาดอาหารเสริมสุขภาพเฉพาะด้านอาจไม่ยากอย่างที่คิด

เนื่องจากยังมีช่องว่างทางการตลาดอีกมากจากการที่ตลาดนี้มีลักษณะเป็นแบบตอบสนองพฤติกรรมผู้บริโภคเฉพาะกลุ่มมาก แตกต่างจากตลาดอาหารทั่วไป จึงเป็นโอกาสของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในการเข้าไปเจาะตลาดซึ่งผู้ประกอบการรายใหญ่ยังเข้าไม่ถึง และยังไม่มีผู้ประกอบการรายใดเป็นผู้นำตลาดอย่างชัดเจน 

ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีสามารถหลีกเลี่ยงการแข่งขันทางด้านราคากับผู้ประกอบการรายใหญ่ได้ อีกทั้งเนื่องจากเป็นสินค้าที่มูลค่าเพิ่มสูงกว่า เมื่อเทียบกับอาหารทั่วไปเพราะผู้บริโภคในกลุ่มนี้มักให้ความสำคัญกับคุณค่าและประโยชน์ของสารอาหารที่ได้รับมากกว่าปัจจัยทางด้านราคา จึงยอมจ่ายในราคาที่แพงกว่า



 

3. การก้าวเข้าสู่ธุรกิจอาหารเสริมสุขภาพเฉพาะด้านยังมีข้อดีจากการได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ

เพราะเป็นหนึ่งในธุรกิจฟิวเจอร์ฟู้ดส์ (Future Foods) ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายในกลุ่ม S-Curve จึงทำให้ได้รับประโยชน์จากการส่งเสริมการลงทุนโดยเฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักที่จะได้รับการสนับสนุนผ่านมาตรการต่าง ๆ โดยเฉพาะการสนับสนุนการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม

 

เทรนด์ตลาดอาหารเสริมสุขภาพเฉพาะด้าน

- ราคาของกลุ่มอาหารเสริมสุขภาพเฉพาะด้านอย่าง นมไขมันต่ำ ขนมปังเติมวิตามิน มีราคาไม่แต่ต่างจากอาหารทั่วไปมากนัก ในขณะที่ โปรตีนบาร์ และนมโปรตีนสูง กลับมีราคาที่สูงกว่าราคาอาหารทั่วไปถึงร้อยละ 200 - 400

- ผู้บริโภคไทยในปัจจุบันมีความเข้าใจมากขึ้นเกี่ยวกับวิธีการดูแลสุขภาพตัวเอง โดยเฉพาะการควบคุมน้ำหนักและการออกกำลังกาย ทำให้อาหารในหมวดกลุ่มที่ให้พลังงาน กลุ่มควบคุมน้ำหนัก มาแรง

-  ขณะที่ไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคที่ต้องเผชิญกับมลพิษ ความเครียดจากการทำงานหนัก แต่ต้องการทางเลือกที่ไม่ใช่ยา จะช่วยผลักดันให้อาหารในหมวดที่ช่วยภูมิคุ้มกันน่าสนใจยิ่งขึ้น

 

หากต้องการยกระดับจากอาหารทั่วไป มาเป็นอาหารเสริมสุขภาพเฉพาะด้านต้องรู้จักใครบ้าง

- เบื้องต้นผู้ประกอบการรายเล็ก ๆ ยังคงต้องศึกษาและทำความเข้าใจการพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการผลิตอาหาร ให้ได้ตามมาตรฐานสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากพบว่าปัญหาสำคัญที่ทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถยกระดับตัวเองมาสู่ธุรกิจอาหารเสริมสุขภาพเฉพาะด้านได้ มาจากการผลิตที่ไม่ได้มาตรฐาน รวมทั้งเกิดส่วนสูญเสียระหว่างกระบวนการผลิตมาก

- การวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์เป็นหัวใจสำคัญที่จะช่วยผู้ประกอบการยกระดับผลิตภัณฑ์จากอาหารทั่วไปเป็นอาหารเสริมสุขภาพเฉพาะด้านได้ ดังนั้น ผู้ประกอบการจึงควรจะรู้จักและเป็นพาร์ทเนอร์กับผู้เชี่ยวชาญ 2 กลุ่ม ที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการทำ R&D ผลิตภัณฑ์ ให้ “อร่อย มีประโยชน์ และได้มาตรฐาน”

  • กลุ่มแรกคือ ผู้ผลิตสารประกอบในอาหาร (Functional Ingredients) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบริษัทแม่จากต่างประเทศ ซึ่งการเลือกที่จะเป็นพาร์ทเนอร์กับรายใดอาจต้องจพิจารณาเบื้องต้นจากชื่อเสียงและความเชี่ยวชาญของประเภทสารอาหาร ซึ่งแตกต่างกันในแต่ละบริษัท รวมถึงผู้ประกอบการยังควรศึกษาคุณประโยชน์ต่อร่างกายในด้านต่าง ๆ ของสารอาหารแต่ละชนิด เพื่อที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตรงกับความต้องการของกลุ่มลูกค้าเป้าหมายได้
  • กลุ่มที่สองคือ หน่วยงานวิจัยจากภาครัฐหรือสถาบันการศึกษาที่เชี่ยวชาญ และสามารถให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการทำ R&D มีหลายแห่ง เช่น 
    • ภาควิชาเทคโนโลยีทางอาหารคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 
    • สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 
    • สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล
    • สถาบันอาหาร 

ซึ่งผู้ประกอบการอาจเลือกพิจารณาเบื้องต้นจากผลงานวิจัยในช่วงที่ผ่านมา จำนวนผลิตภัณฑ์ที่วิจัยและพัฒนาจนออกสู่ตลาดในเชิงพาณิชย์ รวมทั้งเงื่อนไขในการสนับสนุนเงินทุน

 


Published on 27 August 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

 

 

บทความแนะนำ

"บีโอไอ" ช่วยสนับสนุนเอสเอ็มอีอย่างไร

หัวข้อ : มาตราการบีไอโอ ทางออก SMEsไทย ปีที่ 3 ฉบับที่ 5
อ่านเพิ่มเติม : https://www.boi.go.th/upload/ejournal/2020/05/files/extfile/DownloadURL.pdf

 

 

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ให้การสนับสนุนธุรกิจทุกขนาด หากผ่านหลักเกณฑ์ตามที่กำหนด โดยให้การส่งเสริมด้านการลงทุนทั้งในประเทศ และช่วยเหลือธุรกิจไทยที่จะไปลงทุนต่างประเทศด้วยเช่นกัน อย่างธุรกิจที่ต้องการย้ายฐานการผลิตไปยังต่างประเทศ บีโอไอจะเข้าไปมีบทบาทในการสนับสนุนช่วยเหลือ ศึกษาเรื่องกฏระเบียบการลงทุนในประเทศต่าง ๆ พร้อมให้คำปรึกษา เข้าเจรจากับภาครัฐของประเทศนั้น ๆ และหลายคนอาจเข้าใจผิดว่าบีโอไอให้การส่งเสริมเฉพาะธุรกิจขนาดใหญ่หรือธุรกิจจากต่างชาติ แต่อันที่จริงแล้วมีธุรกิจเอสเอ็มอีได้รับการสนับสนุนอยู่ถึงร้อยละ 60 – 70 ทีเดียว

การส่งเสริมการลงทุนโดยให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอากร เช่น

  • การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลในเวลาหนึ่ง โดยทั่วไปสูงสุดไม่เกิน 8 ปี
  • การยกเว้นอากรนำเข้าของเครื่องจักรและวัตถุดิบ

การส่งเสริมการลงทุนสิทธิประโยชน์ที่ไม่เกี่ยวกับภาษีอากร เน้นให้สิทธิประโยชน์แก่บริษัทต่างชาติ เช่น

  • สิทธิในการถือครองที่ดิน
  • การอำนวยความสะดวกในเรื่องการนำเข้าแรงงานฝีมือจากต่างประเทศ

 

คุณสมบัติเอสเอ็มอีตามมาตรการของบีโอไอ

  1. เอสเอ็มอีจะต้องอยู่ในประเภทกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล (ประเภทกิจการในกลุ่ม A) และประเภทกิจการบางส่วนที่ไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล (ประเภทกิจการในกลุ่ม B1) ตามประกาศ กกท. ที่ 2/2557
  2. เอสเอ็มอีจะต้องเป็นบุคคลธรรมดาสัญชาติไทย ถือหุ้นไม่น้อยกว่า 51% ของทุนจดทะเบียน
  3. รายได้รวมของเอสเอ็มอีทั้งที่ได้รับการส่งเสริมฯ และไม่ได้รับการส่งเสริมฯ ต้องไม่เกิน 500 ล้านบาทต่อปี ในช่วง 3 ปีแรก
  4. เอสเอ็มอีจะต้องมีเงินลงทุนในโครงการไม่น้อยกว่า 500,000 บาท โดยไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียน (จากปกติที่กำหนดไว้ที่ 1 ล้านบาท)
  5. กำหนดให้มีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนไม่เกิน 4 : 1 (จากปกติที่กำหนดไว้ที่ 3 : 1)

 

สิทธิประโยชน์บีโอไอ เพิ่มศักยภาพเอสเอ็มอีโดยเฉพาะ

แม้ว่าบีโอไอจะครอบคลุมธุรกิจทุกขนาด แต่สำหรับธุรกิจเอสเอ็มอีจะมีหลายมาตรการที่ได้ตั้งข้อกำหนดพิเศษเอาไว้ เพื่อเปิดโอกาสให้เอสเอ็มอีเข้าถึงสิทธิประโยชน์ได้ง่ายขึ้น เช่น

- สิทธิประโยชน์พื้นฐานตามประเภทกิจการ และเพิ่มเติมวงเงินยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็น 200 % ของเงินลงทุน โดยไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียน

- ได้รับยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับเครื่องจักร

- อนุญาตให้นำเครื่องจักรใช้แล้วของโครงการเดิม มาใช้ในโครงการที่ขอรับการส่งเสริมฯได้ โดยมีมูลค่าไม่เกิน 10 ล้านบาท แต่จะต้องลงทุนใหม่ในเครื่องจักรหลักเพิ่มเติมเป็นสัดส่วนไม่น้อยกว่า 50% ของมูลค่าเครื่องจักรทั้งหมดที่ใช้ในโครงการ

- สิทธิประโยชน์เพิ่มเติมเพื่อพัฒนาความสามารถในการแข่งขัน หากเอสเอ็มอีลงทุนหรือมีค่าใช้จ่ายในกิจกรรมที่จะช่วยเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขัน จะสามารถขยายสิทธิประโยชน์ได้มากขึ้น เช่น

  • การวิจัยพัฒนาเพื่อให้เกิดนวัตกรรมใหม่ ๆ
  • การฝึกอบรมบุคคลากรหรือรับนักศึกษาฝึกงานระยะยาว
  • การซื้องานวิจัยในประเทศที่น่าสนใจมาใช้ประโยชน์ในเชิงพานิชย์
  • การอบรมเทคโนโลยีขั้นสูง
  • การออกแบบผลิตภัณฑ์หรือบรรจุภัณฑ์

 

สิทธิและประโยชน์พิเศษเพิ่มเติม 

  • กรณีเอสเอ็มอีตั้งสถานประกอบการในจังหวัดที่มีรายได้ต่อหัวต่ำ 20 จังหวัด ได้แก่ กาฬสินธุ์ ชัยภูมิ นครพนม น่าน บึงกาฬ บุรีรัมย์ แพร่ มหาสารคาม มุกดาหาร แม่ฮ่องสอน ยโสธร ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ สกลนคร สระแก้ว สุโขทัย สุรินทร์ หนองบัวลำภู อุบลราชธานี และอำนาจเจริญ ให้ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติม 3 ปี แต่รวมกันแล้วไม่เกิน 8 ปี ทั้งนี้หากเป็นประเภทกิจการในกลุ่ม A1 และ A2 จะให้ได้รับการลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล 50% เพิ่มเติมอีก 5 ปี นับจากวันที่กำหนดระยะเวลาการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสิ้นสุดลง
  • กรณีเอสเอ็มอีตั้งสถานประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมหรือเขตอุตสาหกรรมที่ได้รับการส่งเสริมฯ ให้ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติมอีก 1 ปี แต่รวมกันแล้วไม่เกิน 8 ปี ยกเว้นประเภทกิจการที่มีเงื่อนไขบังคับว่า จะต้องตั้งในนิคมอุตสาหกรรมหรือเขตอุตสาหกรรมที่ได้รับการส่งเสริมฯและประเภทกิจการในกลุ่ม B
  • กรณีเอสเอ็มอีตั้งสถานประกอบการในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน (SEZ) จะได้รับวงเงินภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติม 200% ของเงินลงทุน โดยไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียนเพิ่มเติมจากสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับพิเศษตามมาตรการส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน

บีโอไอได้เปิดช่องทางเผยแพร่ข้อมูลและคำแนะนำแก่เอสเอ็มอีหลายช่องทางด้วยกัน

  • เว็บไซต์ www.boi.go.th ช่องทางหลักในการสื่อสาร เป็นพื้นที่ที่รวบรวมข้อมูลเอาไว้ทั้งหมด
  • อีเมล head@bot.go.th สามารถส่งคำถามผ่านทางอีเมลได้
  • ติดต่อ ศูนย์บริการลงทุน ที่บีโอไอสำนักงานใหญ่ หรือจามจุรีสแควร์
  • เฟซบุ๊ก BOI News
  • ไลน์แอด @boinews
  • โทรศัพท์ 025538111

 

Published on 27 August 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

บทความแนะนำ

อยากขยายกิจการ ใช้เงินตัวเองหรือกู้แบงค์ดี

หัวข้อ : ลงทุนขยายกิจการ ใช้เงินตัวเองหรือกู้แบงค์ดี
อ่านเพิ่มเติม :https://sme.ktb.co.th/sme/productListAction.action?command=getDetail&cateMenu=KNOWLEDGE&cateId=18&itemId=171

 

หากเราจะลงทุนเงินสักก้อน เราจะใช้เงินตัวเอง หรือ ควรกู้แบงก์ดี ? หลาย ๆ ท่านอาจคิดว่า ใช้เงินตัวเองดีกว่าเพราะไม่ต้องเสียดอกเบี้ยจากเงินกู้ หากคิดในเรื่องของดอกเบี้ยอย่างเดียว ถือเป็นคำตอบที่ถูกต้อง แต่อย่าลืมว่าการลงทุนขยายกิจการ สิ่งที่ตามมานอกเหนือจากตัวเงินนั้น คือความเสี่ยงด้านอื่น ๆ ที่ตามมาด้วย และนี่คือ 4 เหตุผล ว่าหากคุณจะขยายกิจการ คุณควรใช้เงินตัวเอง หรือ กู้แบงค์ดีกว่ากัน ?

 

1. เรื่องเงินทุนในการขยายกิจการ

ใช้เงินตัวเอง การที่จะขยายกิจการนั้น เราต้องมีเป้าหมายที่วางไว้เป็นรูปธรรมอยู่แล้ว ซึ่งการใช้เงินทุนของตนเองในการขยายกิจการนั้น ส่วนใหญ่มักมีงบประมาณที่จำกัด จึงอาจไม่สามารถขยายกิจการได้ตามที่ต้องการ  

ขอสินเชื่อธนาคาร จะตอบโจทย์ได้มากกว่า และการขอสินเชื่อบางธนาคารยังสามารถใช้ บสย. ค้ำประกันในส่วนของวงเกินหลักประกันได้อีกด้วย บางสินเชื่อยังให้วงเงินสูงถึง 2 ถึง 3 เท่าของหลักประกัน

 

2. เรื่องเงินทุนหมุนเวียนในธุรกิจ

ใช้เงินตัวเอง สิ่งที่เกิดตามมาแน่นอนคือ “เงินทุนหมุนเวียนในกิจการลดลง” ในกรณีที่เลวร้ายที่สุดคืออาจทำให้กิจการของคุณขาดสภาพคล่องได้ 

ขอสินเชื่อธนาคาร ทำให้คุณไม่ต้องมากังวลเรื่องเงินทุนหมุนเวียน และธนาคารยังมีบริการสินเชื่อในส่วนของเงินทุนหมุนเวียน เพื่อเพิ่มสภาพคลองให้ธุรกิจคุณอีกด้วย

 

3. เรื่องการจ่ายดอกเบี้ย

ใช้เงินตัวเอง ไม่ต้องกังวลกับปัญหาเรื่องดอกเบี้ย แต่คุณต้องพร้อมเสี่ยงกับปัญหาอย่างที่กล่าวมาข้างต้น

ขอสินเชื่อธนาคาร แน่นอนว่ามีเรื่องของการจ่ายดอกเบี้ยให้กับธนาคาร แต่บางสินเชื่อสามารถให้ชำระเฉพาะดอกเบี้ยเป็นเวลานานถึง 12 เดือน ซึ่งเหมาะในช่วงต้นของการขยายธุรกิจ

 

4. เรื่องการขยายกิจการในอนาคต

ใช้เงินตัวเอง หากคุณเริ่มต้นจากการขยายกิจการด้วยเงินทุนของตัวเองนั้น การขอสินเชื่อใหม่ทั้งหมดจะเป็นเรื่องที่ซับซ้อนและใช้เวลาค่อนข้างมาก

ขอสินเชื่อธนาคาร หากคุณเคยขอสินเชื่อมาก่อนหน้าแล้ว และมีการชำระสินเชื่อได้ตรงเวลา ก็สามารถขอสินเชื่อในการขยายกิจการเพิ่มโดยง่าย เพราะทางธนาคารจะมองว่าเครดิตของคุณดี

 


Published on 26 August 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

บทความแนะนำ

5 เหตุผล ขายของออนไลน์ทำไมต้องมีรีวิว

หัวข้อ : วารสารกรมพัฒนาธุรกิจการค้า (DBD) ฉบับที่ 51 ปีที่ 9 
อ่านเพิ่มเติม :https://www.dbd.go.th/download/article/article_20190902105049.pdf

 

การมี รีวิว” (Review) แสดงประกอบรายละเอียดสินค้าในเว็บไซต์ หรือร้านค้าของคุณบนแพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ นั้นจะช่วยเสริมการพิจารณาของลูกค้าที่กำลังดูร้านค้าอยู่ เพราะสิ่งหนึ่งที่ลูกค้าในยุคนี้มองหาเมื่อสนใจสินค้าหรือบริการก่อนจะตัดสินใจซื้อนั่นก็คือรีวิวจากลูกค้าก่อนหน้านี้นั่นเอง นอกจากนี้ความสำคัญอื่นๆ ที่เราได้รับจากการมีรีวิวสินค้าหรือรีวิวบริการก็คือ

 

ความน่าเชื่อถือ

เพราะก่อนเราจะเสียเงินไปซื้อของอะไรก็ตาม หากดูแล้วร้านค้าที่เรากำลังสนใจมีรายละเอียดสินค้าที่ไม่น่าเชื่อถือ ไม่มีรีวิวจากลูกค้าว่าสั่งซื้อแล้วได้รับของมาสภาพไหน , การจัดส่งไวหรือไม่ , ตอบคำถามลูกค้าดีไม่ดีอย่างไร หากเป็นอย่างนี้ความเชื่อมั่นต่อร้านค้าก็ไม่เกิดขึ้น

 

ได้รับความคิดเห็นโดยตรงจากลูกค้า

บ่อยครั้งมักจะมีความคิดเห็นดี ๆ เพื่อนำไปพัฒนาปรับปรุงสินค้าและบริการ มักมาจากลูกค้าโดยตรง หลังจากที่พวกเขาได้ทดลองใช้สินค้าของเราแล้ว ซึ่งเป็นประสบการณ์จากผู้ใช้งานจริง ๆ ที่มีคุณค่า อาจช่วยให้เราได้พัฒนาสินค้าที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้มากที่สุด

 

ช่วยให้ค้นหาสินค้าเจอได้ง่ายขึ้น

เครื่องมือค้นหาเสิร์ซเอนจิ้นที่เราคุ้นเคยกันดีอย่างกูเกิ้ล (Google) มักดึงเอาสินค้าที่มีคนรีวิวมาแสดงให้นักท่องเว็บฯ เห็นด้วย ยิ่งสินค้าของเราได้รับการรีวิวหรือพูดถึงจากลูกค้ามีจำนวนมาก ยิ่งเป็นตัวชี้วัดถึงความน่าเชื่อถือและความน่าสนใจของสินค้าของเรามากตามไปด้วย จนทำอยากคลิกเข้าไปดูเว็บไซต์เพิ่มขึ้น

 

รีวิวด้านลบบางครั้งส่งผลดี 

ความผิดพลาดเป็นสิ่งที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้เสมอ หากเจ้าของร้านรับมือกับบางรีวิวที่ตำหนิการให้บริการได้ดีและแสดงออกถึงความจริงใจในการขออภัยลูกค้า รับผิดชอบในความผิดพลาดอย่างเหมาะสม ลูกค้าที่เข้ามาอ่านรีวิวจะรู้สึกถึงความน่าเชื่อถือ ช่วยเพิ่มการตัดสินใจในการใช้บริการมากขึ้น เพราะได้เห็นถึงการบริการหลังการขายอีกมุมหนึ่ง หากร้านค้ามีแต่คำชมอย่างเดียว มักทำให้ความรู้สึกน่าสงสัยมากกว่าเกิดความไว้วางใจ

 

สินค้ามีรีวิว คนยิ่งสนใจ

เมื่อลูกค้ารายใหม่ ๆ เข้ามาเห็นรีวิวก่อนหน้านี้ จะเกิดแรงจูงใจและความกล้าที่จะแชร์ความเห็นเพิ่มเติมทิ้งไว้ให้คนอื่น ๆ ได้รับรู้ต่อไป ยิ่งสินค้าชิ้นไหนมีรีวิวใหม่ ๆ เพิ่มเติมสม่ำเสมอ คนมักให้ความสนใจเพิ่มตามไปด้วย

 

Published on 26 August 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

บทความแนะนำ