จับเทรนด์อาหารยุคใหม่ ทางเลือกเพื่อเพิ่มรายได้

หัวข้อ : SME จับเทรนด์อาหารอนาคตสร้างรายได้
อ่านเพิ่มเติม : https://kasikornbank.com/th/business/sme/SME_Analysis_FutureFood.pdf

 

อุตสาหกรรมอาหารทั่วโลกกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงที่กระทบกับการดำเนินธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตความมั่นคงด้านอาหาร การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรโลก ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและพฤติกรรมของผู้บริโภค ที่ส่งผลต่อเทรนด์การบริโภคในระยะข้างหน้า ซึ่งเป็นหนึ่งในความท้าทายของผู้ประกอบการที่จะพัฒนาอาหารเพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคในอนาคตมากขึ้น

 

 

เทรนด์อาหารในอนาคตที่น่าจะเป็นโอกาสทางธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการไทย ได้แก่

1. อาหารพืชแบบธรรมชาติ (Plant-Based Food)

เป็นอาหารที่มีส่วนประกอบจากพืชในรูปแบบที่ใกล้เคียงกับธรรมชาติ โดยไม่ผ่านการขัดสีหรือกระบวนการเก็บถนอมอาหารใดๆ ทั้งผักผลไม้ รวมไปถึงวัถุดิบอื่นๆ คาดว่าจะได้รับความนิยมมากขึ้น โดยเฉพาะกับกลุ่มคนรุ่นใหม่ ผู้สูงอายุ กลุ่มผู้บริโภคที่ไม่บริโภคเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ (Vegan) รวมไปถึงกลุ่มผู้ป่วยที่มีข้อจำกัดในการบริโภคอาหารบางกลุ่ม เช่น ไขมัน น้ำตาล เป็นต้น

โอกาสของผู้ประกอบการที่สนใจอาหารพืชแบบธรรมชาติ

– ควรมุ่งเน้นไปที่การผลิตสินค้าพืชเกษตรในรูปแบบออร์แกนิค (ที่มีการรับรองมาตรฐานการผลิต) ธัญพืชกลุ่มที่มีประโยชน์สูงต่อสุขภาพ หรือ Super Food

– ต้องมีการพัฒนาและมองหาวิธีการนำเมล็ดพันธุ์พืชมาต่อยอดผลิตภัณฑ์ในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การสกัดเป็นน้ำมัน/ผง ตลอดจนนำมาแปรรูปเพื่อทดแทนอาหารแบบเดิม ซึ่งนอกจากจะสามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในประเทศแล้ว ยังสามารถขยายกิจการสู่การส่งออกได้อีกด้วย

– กลุ่มลูกค้าเป้าหมายของ คือ กลุ่มผู้บริโภค Vegan และกลุ่มร้านอาหารเพื่อสุขภาพ

 

2. อาหารจากแมลง (Insect Food)

ปัจจุบันองค์การสหประชาชาติ (UN) ประกาศให้แมลงเป็น Super Food ที่มีประโยชน์และสารอาหารสูง โดยในหลายประเทศเริ่มยอมรับการใช้แมลงเป็นอาหารโปรตีนสำรอง และมีประชากรโลกราว 2,000 ล้านคนที่รับประทานแมลงเป็นอาหาร แมลงจึงเป็นอีกหนึ่งกลุ่มสินค้าในกลุ่มอาหารศักยภาพที่น่าสนใจในการเจาะตลาดผู้บริโภค การส่งออกแมลงไปจำหน่ายทั่วโลก สามารถผลิตได้ง่ายในท้องถิ่น อีกทั้งยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ ยังสามารถแปรรูปเป็นวัตถุดิบที่มีคุณภาพสูงได้อีกด้วย

โอกาสของผู้ประกอบการที่สนใจอาหารจากแมลง

– นักลงทุนต่างชาติให้ความสนใจเข้ามาทำฟาร์มเพาะเลี้ยงในไทยมากขึ้น โดยเฉพาะในแถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพราะมีอากาศที่เหมาะสม

– แมลงที่ตลาดมีความต้องการสูง ได้แก่ จิ้งหรีด รถด่วน ตั๊กแตน ดักแด้ ฯลฯ

– ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความนิยม คือ กลุ่มแมลงทอดหรืออบ แมลงแช่แข็ง

– ช่องทางการจำหน่ายที่มีศักยภาพในระยะต่อไป คือ ตลาดส่งออก โดยตลาดที่มีความต้องการสินค้ากลุ่มนี้สูงได้แก่ สหรัฐฯ และสหภาพยุโรป

 

3. อาหารจากท้องถิ่น (Localisation)

คืออาหารที่มาจากท้องถิ่น หรืออาหารที่มีความสดใหม่จากธรรมชาติ ส่งจากผู้ผลิตถึงผู้บริโภคโดยตรง ใช้กำลังการผลิตในปริมาณไม่มาก และมีเรื่องราวที่น่าสนใจและสร้างสรรค์ โดยอาหารกลุ่มนี้เริ่มมีความต้องการจากตลาดผู้บริโภคเพิ่มมากขึ้นในต่างประเทศ ผู้ประกอบการธุรกิจอาหารรายใหญ่เริ่มหันมานำเสนอสินค้าที่มีความเป็นท้องถิ่นพิเศษ ซึ่งจะเลือกผลิตหรือจำหน่ายในช่วงเวลาและปริมาณที่จำกัด เพื่อนำเสนอให้ผู้บริโภคเห็นถึงความพิเศษและมีคุณภาพสูงของสินค้า

โอกาสของผู้ประกอบการที่สนใจอาหารท้องถิ่น

– วัตถุดิบอาหารและอาหารในไทยค่อนข้างได้เปรียบ เพราะประเทศไทยมีเอกลักษณ์และความเป็นพื้นถิ่นสูง ช่วยในการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารออกมาในรูปแบบต่าง ๆ ได้มากขึ้น

– กลุ่มสินค้าที่ตลาดต้องการ คือ ผลิตภัณฑ์อาหารของไทยได้ขึ้นทะเบียนตราสัญลักษณ์ GI เช่น ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ ทุเรียนนนท์ สับปะรดภูแล มะขามหวานเพชรบูรณ์ ลำไยอบแห้งเนื้อสีทองลำพูน ฯลฯ

– ผลิตภัณฑ์จากผลไม้และสมุนไพรที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของไทย ที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก เช่น ผลิตภัณฑ์จากมะพร้าวน้ำหอม ทุเรียน/ขนุนแปรรูป (ทอดกรอบ) น้ำผึ้งดอกลำไย รวมถึงเครื่องแกงหรือเครื่องปรุงรสไทย

– การเพิ่มนวัตกรรมอาหารเข้าไปในผลิตภัณฑ์ หรือสร้างเรื่องราวของสินค้าให้น่าดึงดูดหรือให้แบรนด์ดูมีคุณค่ามากขึ้นด้วย

 

 

จากเทรนด์อาหารในอนาคตและโอกาสทางการตลาด ที่ได้กล่าวไป ผู้ประกอบการควรหันมาให้ความสำคัญกับการนำนวัตกรรมอาหารมาปรับใช้ในการผลิตให้มากขึ้น เพื่อสร้างความแตกต่างและสร้างความน่าสนใจให้กับผลิตภัณฑ์ ควบคู่กับการรักษาคุณภาพด้านการผลิต และที่สำคัญสำหรับผู้บริโภคยุคใหม่ก็คือ การแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมผ่านการผลิตสินค้าที่ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบย้อนหลังได้ (Traceability) เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้กับผู้บริโภค

 

การปรับธุรกิจให้ทันเทรนด์อาหารยุคใหม่นี้อาจไม่ใช้เรื่องง่าย เพราะเป็นการผลิตอาหารที่มีมูลค่าเพิ่มสูง มีความสลับซับซ้อน ผู้ประกอบการจึงควรศึกษาหาข้อมูลและมองหาลู่ทางในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ หรือหาแนวร่วมจากองค์กรภาครัฐที่สนับสนุน เช่น

– เมืองนวัตกรรมอาหาร (Food Innopolis) ที่ส่งเสริมหรือเชื่อมโยงความช่วยเหลือเกี่ยวกับเครือข่ายผู้ประกอบการ ตลอดจนการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ เว็บไซต์ http://foodinnopolis.or.th/

– สถาบันอาหาร (National Food Institute) บริการด้านการตรวจ วิเคราะห์การทดสอบ และการรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์อาหาร ให้คำปรึกษาและแนะนำทางวิชาการ

– อาศัยความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการในธุรกิจ-ต่างธุรกิจ สถาบันวิจัยหรือสถาบันการศึกษาเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาผลิตภัณฑ์

 

 

Published on 24 September 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

 

บทความแนะนำ

C-commerce ทางเลือกสำหรับการเริ่มต้นธุรกิจออนไลน์

หัวข้อ : C-commerce ทางเลือกใหม่ของธุรกิจออนไลน์
อ่านเพิ่มเติม : https://www.bangkokbanksme.com/en/c-commerce-online-business-options

 

 

C – Commerce เป็นการซื้อขายผ่านช่องทางแชทเป็นหลัก ย่อมาจาก Conversational Commerce ซึ่งก็คือ การแชทคุยกันเพื่อซื้อขายนั่นเอง โดยเริ่มตั้งแต่กระบวนการซื้อขาย การปิดการขาย ไปจนถึงบริการหลังการขาย

 

เหตุผลที่ผู้ประกอบการชื่นชอบ C – Commerce ?

  • เป็นรูปแบบการขายแบบใหม่ที่เน้นความง่าย สะดวก รวดเร็ว และตอบโจทย์ผู้ซื้อในทุกเรื่องราวที่ต้องการ
  • ลูกค้ารู้สึกมั่นใจในการตัดสินใจซื้อเพิ่มขึ้น หากได้พูดคุยกับผู้ขายโดยตรง เพราะได้ความใกล้ชิด ความเป็นกันเอง ทำให้รู้สึกได้ใกล้ชิดแบรนด์มากขึ้น
  • ลูกค้าเกิดความเชื่อใจ และรู้สึกดีต่อแบรนด์ เพราะสามารถเห็นภาพ สินค้าจริงๆ ว่ามีลักษณะเป็นอย่างไร
  • ผู้ขายปิดการขายได้อย่างรวดเร็ว เพราะสามารถบอกข้อมูลสินค้า รวมถึงกระตุ้นการตัดสินใจซื้อของลูกค้าได้ด้วยตัวเอง

 

ทำไม C-commerce ถึงน่าสนใจในประเทศไทย ?

จากผลสำรวจ คนไทยใช้งานร้านค้าออนไลน์มากที่สุด (ใน 9 ประเทศ) ซึ่งคนไทยใช้งานอินเทอร์เน็ตสูงถึงวันละ 9 ชั่วโมง คนไทยนิยมใช้งานแอปพลิเคชันเกี่ยวกับการแชทในการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นไลน์ (Line) หรือ แมสเซ็นเจอร์ (Messenger) ส่งผลให้ติดพฤติกรรมการแชท และกลายเป็นปัจจัยพื้นฐานในการทำสิ่งต่าง ๆ ไปจนถึงการตัดสินใจซื้อสินค้า

 

การติดต่อแบบสองช่องทาง (Two way communication)

ทำให้คนไทยกล้าที่จะเปิดใจใช้บริการต่างๆ ง่ายขึ้น เพราะเรื่องของอีคอมเมิร์ช  ( E-Commerce) ในประเทศไทยนับเป็นเรื่องที่ใหม่ เพราะคนไทยพร้อมที่จะเรียนรู้ใช้งานสิ่งใหม่ ๆ ขอแค่มีคนให้คำแนะนำ การแชทจึงทำให้เชื่อมั่นในระบบได้มากขึ้นกว่าเดิม และเกิดการซื้อสินค้าอย่างง่ายดาย

 

สำหรับผู้ประกอบการที่ต้องใช้กลยุทธ์การซื้อขายผ่านช่องทางแชท (C – Commerce) ให้ได้ประสิทธิภาพ สามารถทำได้ง่าย ๆ ดังนี้

– กำหนดบุคลิกแบรนด์ว่าต้องการให้แบรนด์ของเรามีลักษณะอย่างไร เช่น สุภาพทางการ หรือ สนุกสนานเป็นกันเอง เป็นต้น

– คิดชุดคำตอบสำรองไว้สำหรับคำถามทั่วไป ที่ลูกค้ามักถามเข้ามาบ่อย เช่น หากลูกค้าถามเกี่ยวกับราคา ผู้ประกอบการควรมีชุดคำตอบสำหรับราคาเตรียมไว้ เพื่อการตอบได้อย่างรวดเร็ว และถูกต้องแม่นยำ

– ตอบแชทให้เร็วที่สุด จะทำให้ลูกค้าชื่นชอบ และผู้ประกอบการสามารถที่จะปิดการขายได้รวดเร็วยิ่งขึ้นหากไม่สามารถตอบแชทได้ตลอด 24 ชั่วโมง ควรตั้งค่าการตอบแบบอัตโนมัติ ระบุเวลาทำการของร้าน ให้ลูกค้าได้ทราบไว้ล่วงหน้า

– ตอบคำถามให้ละเอียด เพื่อสร้างความมั่นใจและช่วยกระตุ้นการตัดสินใจซื้อของลูกค้า

– สุดท้ายการซื้อขายผ่านช่องทางแชท (C – Commerce) จะอยู่คู่กับชาวออนไลน์ไปอีกนาน โดยเฉพาะกับคนยุคใหม่ที่เกิดมาพร้อมกับเทคโนโลยี เพราะเขาเกิดมาพร้อมกับสมาร์ทโฟนและการแชท

ดังนั้น ผู้ประกอบการและนักการตลาดควรเน้นการซื้อขายผ่านช่องทางแชท (C – Commerce) ในธุรกิจตนเอง เพราะข้อดีมีมากทีเดียว ทั้งการเข้าไปอยู่ในใจลูกค้าและเพิ่มยอดขายได้โดยไม่รู้ตัว

 

Published on 24 September 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

 

บทความแนะนำ

รู้ให้อยู่รอด กับเทรนด์ช้อปปิ้งของไทยในวิถี “New normal” สู่สังคมไร้เงินสด

หัวข้อ : แผนกลยุทธ์ระบบการชำระเงินฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2562 – พ.ศ.2564)
อ่านฉบับเต็มเพิ่มเติม : https://www.bot.or.th/Thai/PaymentSystems/PolicyPS/Documents/PaymentRoadmap_2564.pdf

 

Covid-19 ทำให้เราเห็นถึงพฤติกรรมการใช้จ่ายของคนทั่วโลก ที่มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น จนเกิดเป็นวิถีชีวิตใหม่ หรือ นิว นอร์มอล (New normal) ได้ชัดเจน จากในช่วงปีที่ผ่านมาธนาคารแห่งประเทศไทยได้เผยถึงข้อมูลการใช้เงินของคนไทย จะพบว่าคนไทยหันมาใช้การชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ digital payment กันเพิ่มมากขึ้นอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นการจ่าย โอนเงิน ผ่านมือถือ ในช่วงสองปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 116 ต่อปีทีเดียว เรียกได้ว่าเราได้ก้าวเข้าสู่สังคมไร้เงินสดกันแล้ว หลังจาก Covid-19 คาดว่าตัวเลขนี้จะยิ่งสูงเพิ่มมากขึ้นไปอีก

บริการชำระเงินอย่าง ระบบพร้อมเพย์ ที่ช่วยเราสามารถโอนเงินด้วยเบอร์มือถือ เลขประจำตัวประชาชน เลขทะเบียนนิติบุคคล หรือหมายเลข e-Wallet ได้สะดวก รวดเร็ว และค่าบริการต่ำ ได้รับความนิยมใช้เพิ่มสูงขึ้นมาก ยอดลงทะเบียนพร้อมเพย์ที่สูงถึง 46.5 ล้านหมายเลข (ข้อมูลเดือนธันวาคม 2561) และมีการใช้งานเฉลี่ยสูงถึง 4.5 ล้านครั้งต่อวัน

ทำไม SME ถึงควรหันมาใช้ digital payment

– พร้อมเพย์ได้มีการพัฒนาต่อยอดให้เกิดบริการใหม่ๆ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการที่หลากหลาย เช่น บริการชำระบิลข้ามธนาคาร (cross-bank bill payment) ซึ่งทำให้เราสามารถจ่ายบิลทุกธนาคารที่รองรับผ่านโทรศัพท์มือถือด้วยมาตรฐาน Thai QR Payment
– Thai QR Payment ที่สะดวก รวดเร็ว ต้นทุนต่ำ ทำให้ digital payment สามารถเข้าถึง SMEs และร้านค้าขนาดเล็ก เช่น ร้านค้าในตลาด หาบเร่ แผงลอย ได้อย่างรวดเร็ว
– สามารถต่อยอดการพัฒนามาตรฐาน Thai QR payment ไปสู่การให้บริการชำระเงินระหว่างประเทศ บริการเตือนเพื่อจ่าย (PayAlert)
– ร้านค้าสามารถรับชำระเงินด้วยบัตรหรือโทรศัพท์มือถือได้ ด้วยต้นทุนที่ต่ำลงและปลอดภัยมากขึ้น
– ช่วยให้ร้านค้าสามารถรับเงินจากลูกค้าได้หลายช่องทาง

 

การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคทั้งในเรื่องของการช้อปปิ้งออนไลน์ และเลือกชำระเงินแบบไร้เงินสดที่เพิ่มมากขึ้น เป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการควรนำมาใช้ปรับแผนการทำธุรกิจให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงนี้ ด้วยการมุ่งทำตลาดออนไลน์ และมีช่องทางชำระเงินออนไลน์ อย่าลืมพิจารณาในเรื่องของราคาสินค้าที่ดึงดูดใจ และโปรโมชั่นสินค้าราคาพิเศษ เพื่อกระตุ้นให้คนอยากซื้อสินค้าได้อีกทางหนึ่ง

 

Published on 24 September 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

 

บทความแนะนำ

ปรับไลฟ์สไตล์ชีวิตใหม่รับ New Normal ให้รอดได้ด้วย Digital Technology

หัวข้อ : ปรับไลฟ์สไตล์ชีวิตใหม่รับ New Normal หลังวิกฤตโควิด-19 รอดได้ด้วย Digital Technology
อ่านฉบับเต็มเพิ่มเติม : https://www.etda.or.th/content/new-normal-after-covid-19.html/

 

ความไม่เหมือนเดิมหลังต้องเผชิญกับวิกฤตโควิด-19 เริ่มต้นจากชีวิตของคนเราที่เปลี่ยนแปลงไป จากเดิมที่เราคิดว่า เรื่องโรคระบาดอาจเป็นเรื่องไกลตัว แต่เราไม่เคยคิดว่ามันจะมาถึงตัว จนกระทั่งโควิด-19 มาถึง ก่อให้เกิดผลกระทบไปทั่วโลก วันนี้ทุกคนจึงตระหนักเพิ่มขึ้นว่า วิกฤตที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องใกล้ตัวที่ทำให้ชีวิตไม่เหมือนเดิม

 

วิกฤตโควิด-19 เปลี่ยนพฤติกรรม แค่ชั่วคราวหรือถาวร

การ Work from Home ได้สร้างเศรษฐกิจคนติดบ้าน (From Home Economy) ทำให้ e-Commerce และการทำธุรกรรมทางออนไลน์เติบโตอย่างก้าวกระโดด จนผู้ประกอบการต่างต้องปรับตัวให้สอดรับกับพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปแล้ว อีกหนึ่งการเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัด ในช่วงวิกฤตโควิด-19 ก็คือ คนให้ความสนใจและมีความรู้เกี่ยวกับเรื่องสุขภาพและสาธารณสุขมากขึ้น เช่น ให้ความสำคัญกับการล้างมือ การสวมหน้ากากอนามัย หรือแม้แต่การนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้การรักษามากยิ่งขึ้น อย่างการรักษาทางไกลเพื่อไม่ให้ผู้ป่วยต้องรับเชื้อเพิ่ม รวมถึงการมี Health Passport ยกระดับเฝ้าระวังการตรวจคัดกรองโควิด-19

 

สำหรับผู้ประกอบการ หลายองค์กรต้องปรับตัว หันหน้าพึ่งเทคโนโลยีดิจิทัลนำมาใช้ในการทำงานมากขึ้น ส่งผลให้เรื่อง Digital Transformations ที่เคยมีการพูดถึงมาอย่างยาวนานและเกิดขึ้นช้ามาก กลับถูกขับเคลื่อนได้เร็วขึ้น นอกจากนี้ การแพร่ระบาดของโควิด-19 ไม่ว่ามากหรือน้อยเพียงใด หรือเกิดขึ้นในพื้นที่ใด เราจะเห็นว่า มันได้ทำหน้าที่ไม่ต่างกัน คือ การกะเทาะแผลของสังคม “ความไม่เสมอภาค (Inequality)” ที่มีอยู่ ให้ลึก กว้างและรุนแรงมากขึ้น จนกลายเป็นประเด็นใหญ่ ที่หลายองค์กรเอกชนต้องกลับมาทบทวนว่า เราจะสามารถช่วยเรื่องนี้ได้อย่างไร

 

ผลกระทบที่ผู้ประกอบการได้รับช่วงวิกฤตโควิด-19 แบ่งเป็น 3 ระยะ คือ

ระยะที่ 1 ต้องอยู่ให้รอด เพราะในระยะนี้เป็นช่วงที่ประเทศให้ความสำคัญกับเรื่องสาธารณสุขและชีวิตของคนมากที่สุด ผู้ประกอบการจึงต้องอยู่ให้รอดกับภาระต้นทุนที่ต้องเปิดรับ ต้องกลั้นหายใจ

ระยะที่ 2 ต้องปรับตัว จากความผิดปกติแบบใหม่ที่ไม่เหมือนเดิม (New Abnormal) นับเป็นช่วงที่เรากำลังเผชิญอยู่ ซึ่งในระยะนี้สถานการณ์เริ่มดีขึ้นบ้าง เริ่มกลับมาหายใจได้บ้าง แต่ก็ไม่เต็มปอดมากนัก

ระยะที่ 3 ต้องอยู่ให้ยืน จากความปกติที่ไม่ปกติหลังโควิด-19 (New Normal) เป็นช่วงที่ผู้ประกอบการต้องตั้งคำถามว่า “โลกหลังโควิดนี้ ยังต้องการเราอยู่หรือไม่” ในการดำเนินกิจการต่าง ๆ มีความจำเป็นหรือไม่ อยู่เพื่ออะไร สร้างคุณค่า (Value) อย่างไรให้กับผู้บริโภค ท่ามกลางวิธีการสื่อสาร การติดต่อที่เปลี่ยนไปนี้

ในวิกฤตโควิดนี้ ไม่เพียงทำให้เกิดการตั้งคำถามถึงความสำคัญและความจำเป็นของการทำหรือไม่ทำอะไรแล้ว ยังสร้างโอกาสใหม่ ๆ ในการทำธุรกิจ ปรับตัวเข้าสู่ตลาด e-Commerce มากขึ้น ติดต่อลูกค้า B2B (Business-to-Business) กันมากขึ้นด้วยออนไลน์ สามารถสั่งของ เช็กสต๊อกผ่านระบบดิจิทัล เพียงแค่ระบบหลังบ้านต้องเชื่อมต่อข้อมูลกันเท่านั้นเอง ทำให้ธุรกิจมีความโปร่งใสมากขึ้น ดังนั้น เครื่องมือสำคัญที่จะนำพาเราออกจากวิกฤตนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ คือ เทคโนโลยีดิจิทัล และ Mindset ของคนในองค์กร

 

ETDA กับบทบาทท่ามกลางวิกฤต

สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หนึ่งในหน่วยงานของรัฐ ที่มีการปรับตัวเช่นเดียวกับเอกชน เพราะใช่ว่าโควิดจะกระทบกับเอกชนและประชาชนเท่านั้น แต่รัฐก็ได้รับผลกระทบไม่ต่างกัน ทำให้รัฐต้องปรับตัวเน้นการเป็นผู้สนับสนุน เพื่อแก้ปัญหาให้อะไรที่ติดขัดในช่วงนี้ สามารถทำต่อไปได้และไม่เป็นภาระของเอกชนหรือประชาชนมากเกินไป

ธุรกิจรอดหรือร่วง ช่วงวิกฤตโควิด-19 และหลังจากนี้

วิกฤตนี้ได้สร้างข้อจำกัดทางกายภาพโดยเฉพาะเรื่องการเดินทาง ดังนั้น ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบหนัก จนอาจไปไม่รอดช่วงนี้ ได้แก่

– ธุรกิจที่ต้องอาศัยคนเข้าไปเกี่ยวข้องกับกระบวนการผลิตจำนวนมาก

– ธุรกิจมีสินค้าหรือบริการที่ต้องเข้าถึงลูกค้าทางกายภาพ เช่น ธุรกิจการบิน

– ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว

 

หนทางที่ทำให้รอดและการถูก Disrupt ลดลง คือ

– ลดกำลังคน ดึงเครื่องมือเทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยในการดำเนินงานเพิ่มขึ้น

– จัดการห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain Management) ที่ดี มี Vender ใน Supply Chain มากกว่า 1 ราย และต้องมีความหลากหลาย ทั้งในพื้นที่ สัญชาติ เพื่อกระจายผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น

– ปรับการส่งสินค้าและบริการถึงลูกค้าในทุกขั้นตอน ต้องทำผ่านออนไลน์ ปรับตัว ใช้เทคโนโลยีให้มากขึ้น

 

Published on 24 September 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

 

บทความแนะนำ

เทคโนธานี Technopolis พื้นที่นวัตกรรมเสริมแกร่ง SME

ในยุคสมัยที่หลายประเทศแข่งขันช่วงชิงความเป็นผู้นำทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การมีพื้นที่และโครงสร้างพื้นฐานที่สนับสนุนความก้าวหน้าของนวัตกรรมและผู้ประกอบการไทย นับได้ว่าเป็นเรื่องที่สำคัญยิ่งยวด หนึ่งในพื้นที่ส่งเสริมนวัตกรรมและ SME ของประเทศไทย คือ เทคโนธานี 


เทคโนธานี (Technopolis) ถูกก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ.2532 เพื่อสนับสนุนให้มีการเร่งรัดสร้างสรรค์งานวิจัยพัฒนา ด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และรองรับการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ 

เทคโนธานี ตั้งอยู่ที่ตำบลคลองห้า อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี มีเนื้อที่รวมประมาณ 574 ไร่ โดยเป็นแหล่งรวมกิจกรรมทั้งทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี, นวัตกรรม, พลังงาน และสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วย 7 หน่วยงาน จาก 3 กระทรวง คือ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กระทรวงพลังงาน และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 

7 หน่วยงานที่อยู่ในพื้นที่ของเทคโนธานี ได้แก่

1) สำนักงานปลัดกระทรวงอว.
2) สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)
3) องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ
4) สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ
5) ศูนย์ฉายรังสี สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ โดยทั้ง 5 หน่วยงานนี้ขึ้นอยู่กับกระทรวงอว.
6) กองพัฒนาทรัพยากรบุคคลด้านพลังงาน กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน 
7) ศูนย์วิจัยและฝึกอบรมด้านสิ่งแวดล้อม กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 

เทคโนธานีมีหลากหลายพันธกิจ อาทิ สนับสนุนให้ประชาชนและผู้ประกอบการเข้าถึงองค์ความรู้และบริการของหน่วยงานภายในเทคโนธานี, พัฒนาศักยภาพด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม สิ่งแวดล้อมและพลังงานเพื่อรองรับการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและกลไกขับเคลื่อนการดำเนินงานของเทคโนธานี ให้พร้อมกับการเปลี่ยนแปลงและการพัฒนาของประเทศ


คุณวิรัช จันทรา รองผู้ว่าการบริการอุตสาหกรรม วว. กล่าวว่า วว. มีงานวิจัยหลายด้าน อาทิ เกษตร, อาหาร, สมุนไพร และช่วยเหลือ SME ในเรื่องผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร รวมถึงมีสถานที่สำหรับบ่มเพาะธุรกิจอาหารอย่างครบวงจร

“หลายที่ผลิตภัณฑ์มีปัญหา ไม่รู้จะทำอย่างไร ก็มาให้วว. ช่วยในการทำวิจัยผลิตภัณฑ์ใหม่ขึ้นมา ส่วนใหญ่ตอนนี้จะไปเรื่องเครื่องสำอางค์ บางทีก็เป็นเรื่องอาหาร ซึ่งส่วนใหญ่จะมองเรื่องความปลอดภัย การเพิ่มมูลค่า และการยืดอายุ บางทีเขาอยากจะส่งออกต่างประเทศ แต่ติดปัญหาเรื่องอายุการใช้งาน Shelf Life ต่ำ เราจะมีเทคโนโลยีในการช่วยพัฒนา ทำอย่างไรให้อาหารเก็บได้ยาวขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี อีกส่วนหนึ่งเป็นเทคโนโลยีทางด้านบรรจุภัณฑ์ เรามีศูนย์บรรจุภัณฑ์ที่ช่วยทำแพคเกจจิ้งที่ปลอดภัยและยืดอายุ” 

คุณวิรัช กล่าวว่า วว. ให้บริการที่เป็น Total Solution เบ็ดเสร็จครบวงจร เริ่มตั้งแต่งานวิจัย, ทดสอบ, สอบเทียบเครื่องมือ, การรับรอง และมี Scale-up Plant ในชื่อว่าโรงงานบริการนวัตกรรมอาหาร (FISP) ให้ผู้ประกอบการ SME มาทดลองผลิตอาหารและเครื่องดื่ม โรงงานนี้ขอ GMP (Good Manufacturing Practice) พอผลิตเครื่องดื่มแล้วก็ได้ตราอย. มีบรรจุภัณฑ์และวางขายได้เลย “SME ไม่ต้องไปลงทุนสร้างโรงงาน มาใช้บริการได้เลย หากขายดีก็ค่อยไปสร้างโรงงานเองได้ แต่หากขายไม่ดีก็อาจมาปรับสูตร หรือวิจัยใหม่” 


ในโรงงานของวว. กำลังสร้างไลน์ผลิตเครื่องสำอาง คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนธันวาคม 2563 โดยต่อไปผู้ประกอบการ SME สามารถมาทดลองผลิตเครื่องสำอางค์ได้ 

หน่วยงานอีกแห่งที่ตั้งอยู่ในเทคโนธานี คือ ศูนย์ฉายรังสี อยู่ภายใต้สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (สทน.) โดยสทน. เป็นหน่วยงานที่เชี่ยวชาญเรื่องการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีนิวเคลียร์ มีงานบริการและการฝึกอบรม ประยุกต์ใช้ในด้านต่างๆ คือ อุตสาหกรรม, การแพทย์, อาหาร, อัญมณี, ความปลอดภัยและเครื่องวัดปริมาณรังสี และด้านสิ่งแวดล้อม 

สทน. มีเครื่องฉายรังสีภายใต้การควบคุมและดูแลของศูนย์ฉายรังสี ให้บริการฉายรังสีด้วยรังสีแกมมาให้แก่บุคคลทั่วไปโดยผลิตภัณฑ์ที่นำมาฉายรังสีนั้นมีหลากหลายชนิด เช่น อาหารสัตว์, สมุนไพร, ผลไม้ส่งออกไปสหรัฐอเมริกา, หลอดยาจุกยางฉีดยา เป็นต้น “ศูนย์ฉายรังสีดีลกับ SME ได้คือ ฉายรังสีเพื่อยืดอายุการเก็บผลิตภัณฑ์ เช่น แหนม, ผลไม้, สมุนไพร, อาหาร, เครื่องเทศ” คุณวิรัช กล่าว 

สทน. ได้จัดตั้ง “โครงการคูปองนวัตกรรมด้านรังสี” เพื่อให้ผู้ประกอบการ SME และ OTOP สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีนิวเคลียร์ได้ง่ายขึ้น โดยให้ผู้ประกอบการที่ประสบปัญหาในการผลิต หรือต้องการพัฒนาผลิตภัณฑ์ได้เข้ามารับการแนะนำหรือวิจัยกับสถาบัน ซึ่งพร้อมร่วมมือกับผู้ประกอบการในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้วยเทคโนโลยีนิวเคลียร์ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย 

สำหรับสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ (มว.) จัดเป็นองค์กรหลักในการพัฒนาระบบมาตรวิทยาของชาติให้สอดคล้องกับระบบมาตรวิทยาสากล และให้การส่งเสริมสนับสนุนระบบมาตรฐาน เพื่อให้เกิดการยอมรับว่าประเทศไทยสามารถผลิตสินค้าอุตสาหกรรม เกษตรกรรมที่มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับในระดับสากล รวมทั้งเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้าระหว่างประเทศ การคุ้มครองผู้บริโภคในประเทศ และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม


มว. ให้บริการแก่ผู้ประกอบการหลักๆ  2 เรื่อง

1) ให้บริการสอบเทียบ สำหรับเครื่องมือเกือบทุกประเภทที่ภาคอุตสาหกรรมใช้อยู่ โดยเฉพาะเครื่องมือที่มีความแม่นยำสูง ซึ่งห้องปฏิบัติการสอบเทียบทั่วไปไม่สามารถดำเนินการได้
2) ให้บริการด้านฝึกอบรม เช่น เทคโนโลยีการวัดใหม่ๆ เทคโนโลยีการวัดที่ต้องการความแม่นยำสูง และยังมีบริการให้คำปรึกษาให้แก่ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะ SME เพื่อให้มีความสามารถในการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีสูงขึ้น หรือมีประสิทธิภาพในการผลิตที่ดีขึ้น เพิ่มคุณภาพให้กับสินค้า และลดการเกิดของเสีย 

คุณวิรัช กล่าวว่า สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ เป็นหน่วยงานที่คอยปรับเทียบให้เกณฑ์ของประเทศไทยลิงก์กับต่างประเทศและอยู่ในมาตรฐานเดียวกัน รวมถึงการปรับจูนทุกเรื่องที่เกี่ยวกับมาตรวิทยา เช่น ความแม่นยำของเครื่องมือ, เวลา, น้ำหนัก, เสียง, แสง, เคมี, อุณหภูมิ เป็นต้น 

“มว. ทำเรื่องโครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพของประเทศ (National Quality Infrastructure: NQI) ทำในระดับไพรมารี่ (Primary) ไม่ได้ไดเร็กส์โดยตรงกับ SME อาจมีบ้าง แต่น้อย ยกเว้นว่าเป็นรายการที่แปลกแล้วหาใครทำไม่ได้ ก็จะเข้ามาที่มว. แต่โดยส่วนใหญ่ถ้ามีคนอื่นสอบเทียบให้แล้ว เขาจะไม่มา เพราะมว. ทำระดับไพรมารี่ แต่หน่วยงานอื่น วว. และหน่วยงานแล็บเอกชนทั้งหลาย จะทำ Secondary Standard”

สำหรับศูนย์วิจัยและฝึกอบรมด้านสิ่งแวดล้อม ทำหน้าที่ส่งเสริมการพัฒนาทักษะ ความสามารถของนักวิจัยและบุคลากรที่เกี่ยวข้องขององค์กร และพัฒนาระบบและกลไกการถ่ายทอดองค์ความรู้ ด้านงานวิจัยพัฒนา นวัตกรรม เทคโนโลยี สิ่งแวดล้อม รวมถึงพัฒนาหลักสูตร ฝึกอบรม และสัมมนาทางวิชาการเกี่ยวกับเทคโนโลยีและการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมแก่บุคคลที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ และเอกชน 

กองพัฒนาทรัพยากรบุคคลด้านพลังงาน ทำหน้าที่ฝึกอบรม พัฒนา ถ่ายทอดความรู้และทักษะด้านการบริหารจัดการพลังงาน โดยอบรมพัฒนาทรัพยากรบุคคลให้มีคุณภาพในการผลิตและใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและประหยัด เพื่อให้การพัฒนาพลังงาน และการอนุรักษ์พลังงานของประเทศเป็นไปอย่างมีประสิทธิผล

คุณวิรัช กล่าวว่า เป้าหมายของเทคโนธานี คือ หน่วยงานในพื้นที่แห่งนี้มีบทบาทหลักในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศตามเป้าหมาย SDG (การพัฒนาที่ยั่งยืน) เพื่อให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงต้องการให้ประชาชนและผู้ประกอบการเข้าถึงองค์ความรู้และบริการของหน่วยงานภายในเทคโนธานี

จากเป้าหมายและบทบาทข้างต้น ทำให้เทคโนธานีเป็น  One Stop Solution ทางด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี, นวัตกรรม, พลังงาน และสิ่งแวดล้อม 

 

ท่านสามารถติดต่อรับบริการหรือดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ของหน่วยงาน....

  1. สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)
    https://www.tistr.or.th/tistrnew/main/index.php
  1. สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ(มว.) http://www.nimt.or.th/main/
  2. ศูนย์วิจัยและฝึกอบรมด้านสิ่งแวดล้อม(ศวฝ.)-กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม http://www.ertc.deqp.go.th/
  3. ศูนย์ฉายรังสี- สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (สทน.)   https://www.tint.or.th/main/index.php/th/
  4. องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ  http://www.nsm.or.th/
  5. กองพัฒนาทรัพยากรบุคคลด้านพลังงาน กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน http://www2.dede.go.th/bhrd/

Published on 23 September 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย




บทความแนะนำ