กติกาสากลของการทำ Cross-Border E-Commerce ที่ SMEs ต้องรับรู้

 

ปัจจุบัน การค้าขายบนโลกออนไลน์ทวีความสำคัญมากยิ่งขึ้น และเติบโตอย่างรวดเร็ว ยิ่งในช่วงสถานการณ์โควิดที่เกิดขึ้น ข้อมูลจากสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย หรือสมาคมอีคอมเมิร์ซ พบว่าในปี 2563 ธุรกิจอีคอมเมิร์ซในประเทศไทยมีมูลค่า 2.2 แสนล้านบาท เติบโต 35% จากปี 2562 คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 4-5% ของมูลค่าค้าปลีกโดยรวม

แน่นอนว่าในจำนวนนี้ ส่วนหนึ่งเป็นการค้าขายในรูปแบบของการสั่งสินค้าจากต่างประเทศเข้ามาจำหน่ายหรือ Cross-Border E-Commerce โดยมีกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ทั้งกฎหมายการค้า การคุ้มครองผู้บริโภคและการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เช่น กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล กฎหมายความปลอดภัยไซเบอร์ การคุ้มครองผู้บริโค ระบบการชำระเงินออนไลน์ มาตรการควบคุมและจำกัดการโฆษณา เป็นต้น

แนวทางการกำกับดูแลธุรกิจอีคอมเมิร์ซที่เติบโตอย่างรวดเร็วให้เป็นไปอย่างเหมาะสม ส่งเสริมสภาพการแข่งขันที่เป็นธรรมกับทุกฝ่าย ขณะที่ต้องไม่ละเมิดความเป็นส่วนตัวของผู้บริโภค รวมถึงการคุ้มครองผู้บริโภคไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ จึงเป็นความท้าทายของแต่ละประเทศในการดูแลคุ้มครองผู้บริโภคในยุคที่ Cross-Border E-Commerce กำลังเป็นที่นิยม

เพื่อเป็นการป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้น สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) ร่วมกับบริษัท โบลลิเกอร์ แอนด์ คอมพานี (ประเทศไทย) จำกัด จัดโครงการศึกษาวิจัยประเด็นปัญหาและผลกระทบที่เกี่ยวข้องกับ Cross-Border E-Commerce โดยมีกรณีศึกษาจากกลุ่มประเทศต่าง ๆ เพื่อนำมาเป็นแนวทางปฏิบัติที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทย

 

โจทย์ใหญ่คือการคุ้มครองผู้บริโภค

ชานนท์ วุฒิจรรยารักษ์ ผู้จัดการอาวุโส บริษัท โบลลิเกอร์ แอนด์ คอมพานี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า เมื่อผู้บริโภคมีการสั่งซื้อสินค้าและบริการข้ามชาติผ่านช่องทางออนไลน์เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ความท้าทายในการคุ้มครองผู้บริโภคเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบการฉ้อโกง การปลอมปนหรือปลอมแปลงเอกสาร การหลอกลวง การโฆษณาไม่ตรงความจริง การชำระเงินและการคืนเงินสินค้าที่มีปัญหา

“ปัญหาต่างๆ เหล่านี้ หากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพิกเฉยต่อการคุ้มครองผู้บริโภค จะทำให้การค้าดิจิทัลมีความน่าเชื่อถือน้อยลง และขาดความสามารถในการก่อให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจได้อย่างเต็มที่” ชานนท์ระบุ

ในเชิงการติดต่อซื้อขาย ถ้าเป็นองค์กรขนาดกลางหรือใหญ่ที่มีฝ่ายกฏหมายคอยตรวจสอบก็อาจจะได้รับผลกระทบจากตรงนี้น้อย แต่ถ้าเป็นบริษัทขนาดเล็กหรือ SMEs ที่ขาดความชำนาญก็มีโอกาสที่จะถูกหลอกลวงได้

 

โครงการศึกษาในประเด็นการคุ้มครองผู้บริโภคภายใต้ระบบเศรษฐกิจดิจิทัลของอังค์ถัด เพื่อวางแนวทางการกำกับดูแลการค้าออนไลน์ข้ามพรมแดน ที่ผู้ประกอบการรายเล็กควรรับรู้ไว้ แบ่งได้เป็น 3 ช่วง ดังนี้

ช่วงก่อนการซื้อ (Pre-Purchase) ผู้ซื้อต้องมีข้อมูลครบถ้วน ทั้งราคา รูปแบบการชำระเงิน การคืนสินค้า รายละเอียดผู้ขาย เพื่อให้ผู้ซื้อสามารถตัดสินใจซื้อได้ด้วยข้อมูลที่ครบถ้วน ต้องมีมาตรการป้องกันการชี้นำให้ทำธุรกรรมอย่างไม่เป็นธรรม

ช่วงการซื้อ (Purchase) ต้องมีการป้องกันสัญญาซื้อขายไม่เป็นธรรม โดยผู้ขายต้องไม่ซ่อน บิดเบือน หรือปกปิดเงื่อนไขในการซื้อขายสินค้าที่อาจส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจของผู้ซื้อ ต้องมีมาตรการป้องกันการชำระเงินออนไลน์ และระบบป้องกันข้อมูลทางการเงิน ต้องมีมาตรการเก็บรักษาข้อมูลและความเป็นส่วนตัว

ช่วงหลังการซื้อ (Post-Purchase) ต้องมีแนวทางป้องกันข้อพิพาท มีมาตรการชดเชย กรณีที่สินค้ามีปัญหา ต้องมีแนวทางส่งเสริมการค้าออนไลน์ข้ามพรมแดน เช่น ความร่วมมือระหว่างหน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภคของแต่ละประเทศการกำกับดูแล การคุ้มครองเด็ก กรณีซื้อสินค้าอย่างรู้เท่าไม่ถึงการณ์

สำหรับประเทศไทย การคุ้มครองผู้บริโภคในช่องทางอีคอมเมิร์ซ มีกฎหมายที่กำกับดูแลในหลายหน่วยงาน เช่น สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ตามพ.ร.บ.ขายตรงและตลาดแบบตรง สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) มีหน้าที่ตรวจสอบโฆษณาและระงับการเผยแพร่โฆษณาที่ผิดกฎหมาย สำนักงานมาตรฐานสินค้าอุตสาหกรรม (สมอ.) ดูแลมาตรฐานสินค้า เป็นต้น

ส่วนกฎระเบียบ ข้อตกลงระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภค จะมีแนวปฏิบัติของ UN General Assembly เน้นที่ธุรกรรมแบบ B2C รวมถึงข้อบังคับสำหรับแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซให้มีการปฏิบัติที่เท่าเทียมระหว่าง ผู้บริโภคออฟไลน์และออนไลน์ ส่วน OECD มี 1991 Recommendation ที่มีการปรับปรุงเนื้อหาใหม่ในปี 2016 เพิ่มเติมในส่วนธุรกรรมที่ไม่ใช่ตัวเงิน ผลิตภัณฑ์ดิจิทัลคอนเทนต์ และโทรศัพท์มือถือ

 

การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลความท้าทายบนโลกดิจิทัล

นิยามคำว่า “ข้อมูลส่วนบุคคล คือ ข้อมูลที่เกี่ยวกับสิ่งเฉพาะตัวของบุคคลที่ทำให้สามารถระบุตัวหรือรู้ตัวของบุคคลนั้นๆ ได้ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลการศึกษาประวัติ สุขภาพ สายพิมพ์นิ้วมือ เป็นต้น” ซึ่งประเทศไทยกำลังเตรียมประกาศใช้กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลโดยเฉพาะ ซึ่งแนวทางการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลในปัจจุบัน ประกอบด้วย 2 ส่วน คือ 1.ต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่าได้ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองส่วนบุคคล และ 2.จัดทำกระบวนการการปกป้องข้อมูลส่วนบุคคล

สำหรับสิทธิของเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล จะมีสิทธิดังนี้ คือสิทธิได้รับการแจ้งให้ทราบ สิทธิขอเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคล สิทธิในการขอให้โอนข้อมูลส่วนบุคคล สิทธิคัดค้านการเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล สิทธิขอให้ลบหรือทำลาย หรือทำให้ข้อมูลส่วนบุคคลไม่สามารถระบุตัวบุคคลได้ สิทธิขอให้ระงับการใช้ข้อมูล และสิทธิในการขอแก้ไขข้อมูลส่วนบุคคล

ในต่างประเทศมีรูปแบบการออกกฎระเบียบด้านการควบคุมการไหลของข้อมูลจากน้อยไปหามาก เช่น กฎหมายว่าด้วยข้อมูลสามารถเคลื่อนย้ายได้อย่างเสรี (Eu’ Regulation on Non-Personal Data) ข้อมูลสามารถเคลื่อนย้ายได้ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด อย่างกฎ GDPR ของยุโรป หรือกำหนดให้มีฐานข้อมูลเฉพาะภายในประเทศอย่าง Vietnam’s 2018 Cybersecurity Law

การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ถือเป็นเรื่องสำคัญมากในการสร้างความเชื่อมั่นให้กับการค้าออนไลน์ เพราะธุรกิจอีคอมเมิร์ซมีการเก็บข้อมูลลูกค้าจำนวนมาก หากมีการรั่วไหล ถูกนำไปใช้ในทางที่ผิด อาจส่งผลเสียหายอย่างมาก ซึ่งอียูมีกฎหมาย GDPR ที่มีบทลงโทษสูง ขณะที่ OECD มีการออกแนวปฎิบัติว่าด้วยการคุ้มครองความเป็นส่วนตัวและเคลื่อนย้ายข้อมูลส่วนบุคคลข้ามพรมแดน ซึ่งประเทศไทยอยู่ระหว่างประกาศใช้กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ที่ต้องเป็นการบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อผลักดันการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลให้มีประสิทธิภาพ

ทั้งหมดนี้ คือ ส่วนหนึ่งของกติการะดับสากลในการค้าขายออนไลน์ที่ SMEs ต้องรับรู้

 


 

Published on 19 July 2021
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

 

บทความแนะนำ

ก.ล.ต. จับมือ สสว. เปิดโครงการส่งเสริมการระดมทุนผ่านตลาดทุน (PP-SME)

ขอเชิญผู้ประกอบการที่สนใจ เข้าร่วมโครงการส่งเสริมการระดมทุนผ่านตลาดทุน (PP-SME) ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)
ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมให้ SME สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในตลาดทุนได้มากขึ้น โดยสามารถขายหุ้นและหุ้นกู้แปลงสภาพได้ต่อบุคคลในวงจำกัด โดยไม่ต้องยื่นคำขออนุญาตกับสำนักงาน ก.ล.ต.

คุณสมบัติของผู้เข้าร่วมโครงการ

เป็นบริษัทจำกัด ซึ่งเข้าข่ายเป็น SME ขนาดกลางและขนาดเล็ก ตามที่กำหนด

เกณฑ์  กิจการ ขนาดย่อย (m)  ขนาดย่อม (S) ขนาดกลาง (M)
รายได้ต่อปี กิจการผลิต ไม่เกิน 1.8 ลบ. ไม่เกิน 100 ลบ. เกิน 100 - 500 ลบ.
  กิจการบริการ ค้าส่ง ค้าปลีก ไม่เกิน 1.8 ลบ. ไม่เกิน 50 ลบ. เกิน 50 - 300 ลบ.
การจ้างงาน กิจการผลิต ไม่เกิน 5 คน ไม่เกิน 50 คน เกิน 50 - 200 คน
  กิจการบริการ ค้าส่ง ค้าปลีก ไม่เกิน 5 คน ไม่เกิน 30 คน เกิน 30 - 100 คน

1. สมัครลงทะเบียนเป็นผู้ประกอบการ MSME ด้วย SME ONE ID ได้ที่ ศูนย์กลางบริการภาครัฐเพื่อภาคธุรกิจ (bizportal.go.th) หรือในแอปพลิเคชัน สสว. SME Connext (ได้ทั้งระบบ iOS และ Android)

2. และสมัครเข้าร่วมโครงการ PP-SME ได้ที่ https://forms.gle/AwX73K5WK5iCP8Bz8

เมื่อดำเนินการตามข้อ 1. และ 2. ข้างต้นแล้ว ทาง สสว. จะตรวจสอบคุณสมบัติการเป็นผู้ประกอบการ SME ต่อไป

โดยผู้ประกอบการที่ผ่านการตรวจสอบและมีคุณสมบัติเป็น SME สามารถตรวจสอบรายชื่อกิจการเข้าร่วมโครงการได้ที่ คลิก!!

 

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมในวันและเวลาทำการ โทร. 02-263-6232, 02-033-9520, 02-298-3171

หรือทางอีเมลที่ : sme@sec.or.th หรือ info@sme.go.th 

ข้อมูลเพิ่มเติม :

https://www.sec.or.th/TH/pages/lawandregulations/sme-pp.aspx 

https://www.sec.or.th/TH/Template3/Articles/2563/100663.pdf

Published on 9 September 2020 (Update 27 July 2023)
SMEONE "ทุกเรื่องครบ...จบในที่เดียว"

บทความแนะนำ

เปิดร้านค้าออนไลน์ ทำอย่างไรให้คนกล้าซื้อ

 

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าปัจจุบันการซื้อขายสินค้าทางออนไลน์เป็นที่นิยมมาก ยิ่งในประเทศไทยมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องทุกปี โดยเฉพาะเมื่อเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไปอย่างเห็นได้ชัด จากผลสำรวจพฤติกรรมผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทย ปี 2563 พบว่า 67.3% ของผู้ตอบแบบสำรวจ เคยสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ แม้ว่าสัดส่วนจะเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมากว่า 10% แต่ยังมีคนจำนวนหนึ่งถึง 32.7% ที่ยังไม่ซื้อสินค้าทางออนไลน์ ผลสำรวจออนไลน์ของ CIGI-Ipsos จากกลุ่มตัวอย่าง 24 ประเทศทั่วโลก พบว่า 22% ของคนทั่วโลกบอกว่าพวกเขาไม่เคยซื้อของออนไลน์ เพราะ ‘ขาดความเชื่อมั่นในการซื้อของออนไลน์’

ความเชื่อมั่นในการซื้อขายสินค้าทางออนไลน์เป็นสิ่งสำคัญมากกว่าการซื้อขายสินค้าทางหน้าร้าน  เพราะผู้บริโภคไม่ได้พบหน้าผู้ขายโดยตรง ไม่ได้เห็นสินค้าและบริการของจริงก่อนชำระเงิน ทำให้ผู้บริโภคต้องประเมินความน่าเชื่อถือของผู้ขายจากข้อมูลที่อาจไม่ครบถ้วน

 

ทำอย่างไรถึงจะสร้างความมั่นใจให้ร้านค้าออนไลน์ของคุณ?

การทำให้ลูกค้าเชื่อมั่นและเชื่อใจในร้านค้าออนไลน์ของคุณนั้น ยังมีความท้าทายมากมายที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นนี้ โดยได้มีการแบ่งความท้าทายตามลำดับของพฤติกรรมผู้ซื้อเป็น 3 ขั้นตอน ได้แก่ “ก่อนการซื้อ” “การซื้อ” และ “หลังการซื้อ” สินค้าและบริการ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการควรศึกษาแล้วนำไปปรับปรุงแก้ไข

ก่อนการซื้อ

  1. การได้รับข้อมูลที่ไม่ครบถ้วน (Information asymmetry) : การที่ผู้ซื้อและผู้ขายมีข้อมูลไม่เท่ากัน เช่น ผู้ซื้ออาจจะไม่ทราบตัวตนและที่อยู่ของผู้ขายทางออนไลน์ เป็นผลทำให้ขาดความเชื่อมั่น หรือการให้รายละเอียดของสินค้าไม่ชัดเจนทำให้ผู้ซื้อเกิดความลังเลใจ
  2. การปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม (Unfair commercial practices) : ผู้ขายมักจะมีการใช้เทคนิคทางการตลาดหลากหลายรูปแบบ ซึ่งบางครั้งมีความกำกวม รวมถึงการให้ข้อมูลไม่ครบถ้วน และการโฆษณาที่อาจจะทำให้เข้าใจผิดได้
  3. การส่งโฆษณาโดยมิได้ร้องขอหรือสแปม (Unsolicited electronic commercial communications [spam]) : การโฆษณาที่บ่อยเกินไปผ่านทางช่องทางต่าง ๆ เช่น อีเมล กล่องข้อความ โซเชียลมีเดีย อาจกระทบต่อความเป็นส่วนตัว ก่อให้เกิดความรำคาญใจ และมีผลต่อความเชื่อมั่นของผู้ซื้อ

 การซื้อ

  1. ความสับสนในตัวผู้ขาย สถานที่ตั้ง และสถานะ (Confusion on seller location and status) : หากผู้ขายไม่แจ้งให้ชัดเจน ในบางกรณีผู้ซื้ออาจสับสนว่าตนเองกำลังซื้อสินค้ากับแพลตฟอร์มโดยตรง หรือกับทางผู้จัดหาสินค้า (Supplier)
  2. การมีช่วงเวลาระหว่างยกเลิก หรือเปลี่ยนแปลงคำสั่งซื้อ (Cooling-off period) : ด้วยพฤติกรรมของผู้ซื้อที่ต้องการเปลี่ยนแปลง ยกเลิกคำสั่งซื้อที่ผิดพลาด จึงควรต้องกำหนดระยะเวลาที่สามารถเปลี่ยนแปลง และยกเลิกคำสั่งซื้อได้
  3. ความปลอดภัยในการชำระเงินออนไลน์ (Online payment security) : ผู้ซื้อส่วนใหญ่มีความกังวลเรื่องความปลอดภัยในการชำระเงิน จึงเป็นสิ่งสำคัญมากในการสร้างความเชื่อมั่นสำหรับเรื่องนี้
  4. การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Personal data protection) : การใช้ข้อมูลส่วนบุคคลผิดวัตถุประสงค์ หรือการขอข้อมูลมากเกินความจำเป็น ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้ซื้อ

หลังการซื้อ

  1. กฎความรับผิด (Liability rules) : หลังการซื้อต้องมีกฎ มาตรการ การรับผิดเมื่อเกิดข้อผิดพลาด เช่น คุณภาพของสินค้าที่ถูกจัดส่งเสียหาย การจัดส่งล่าช้า
  2. การระงับข้อพิพาท (Dispute resolution) : แจ้งให้ทราบว่าเป็นการควบคุมดูแลของภาครัฐ หรือเอกชนสามารถจัดการได้ด้วยตนเอง

 

แนวทางเพิ่มความเชื่อมั่นในการทำการค้าออนไลน์

  1. การสร้างความน่าเชื่อถือให้แก่ร้านค้าออนไลน์ : กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ได้มีการออกเครื่องหมายการค้าทางออนไลน์ เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้แก่ร้านค้าออนไลน์ อย่าง เครื่องหมาย DBD Registered และ เครื่องหมาย DBD Verified สามารถดูรายละเอียดและขอเครื่องหมายได้ที่  https://www.trustmarkthai.com/th
  2. การคุ้มครองผู้บริโภค : ปัจจุบันมีหน่วยงานภาครัฐมากมายที่คอยช่วยเหลือ รับเรื่องร้องเรียนทางออนไลน์สำหรับผู้ซื้อที่มีปัญหาจากการซื้อสินค้าและบริการ รวมถึงการหลอกลวงผู้บริโภคทางออนไลน์
  3. แนวทางการลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Signature Guideline) : ในการทำการค้าออนไลน์หากต้องมีการทำสัญญาทางการค้า การทำธุรกรรมออนไลน์ต่าง ๆ ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ จำเป็นจะต้องมีแนวทางและสามารถเลือกใช้วิธีลงลายมืออิเล็กทรอนิกส์ที่เหมาะสมกับธุรกรรมตามมาตรฐานของ ETDA
  4. การบังคับใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 : การให้ข้อมูลส่วนบุคคลเป็นสิ่งที่ผู้ซื้อส่วนใหญ่มีความกังวล การบังคับใช้กฎหมายจะมีส่วนช่วยให้ผู้ซื้อมีความเชื่อมั่นในการให้ข้อมูลมากยิ่งขึ้น ส่งผลต่อการเพิ่มความเชื่อมั่นในการทำการค้าออนไลน์มากขึ้นเช่นกัน

การสร้างความเชื่อมั่นในการทำการค้าออนไลน์จำเป็นต้องใช้เวลาในการปรับตัวของทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย ในการใช้เทคโนโลยี การปฏิบัติตามกฎหมาย มาตรการ นโยบายต่าง ๆ ที่เข้ามาช่วยส่งเสริมสร้างความเชื่อมั่น รวมถึงวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เข้ามาเป็นตัวช่วยกระตุ้นเร่งให้เกิดการพัฒนาและปรับตัวให้เร็วมากยิ่งขึ้น

 


 

หัวข้อ : สร้างความเชื่อมั่นอย่างไร? ให้คนหันมา ‘ซื้อออนไลน์’ มากขึ้น
อ่านเพิ่มเติม : https://www.bangkokbanksme.com/en/how-to-build-confidence-shop-online

 

Published on 8 July 2021
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

 

 

บทความแนะนำ

"ปรับโครงสร้างหนี้" ทางออกธุรกิจติดลบ ที่ไม่สายเกินแก้

 

ถ้าไม่ไหวอย่าฝืนจะดีกว่า การปรับโครงสร้างหนี้ช่วยให้ธุรกิจไปต่อ และไม่ได้แปลว่าคุณไร้ความสามารถ หรือบริหารงานผิดพลาดจนธุรกิจล้มเหลวเสมอไป บางครั้งด้วยสถานการณ์ เป็นเหตุทำให้ธุรกิจต้องสะดุดลง แน่นอนว่าในวิกฤตย่อมต้องมีคนที่เจ็บหนัก ฉะนั้นในเวลาแบบนี้ ถ้าเจ็บจนไม่ไหวจริง ๆ อย่ารอจนสายกลายเป็นหนี้เสีย จนต้องเสียประวัติทางการเงิน คุณสามารถเลือกใช้วิธีปรับโครงสร้างหนี้เป็นทางออกให้กับธุรกิจในเวลานี้ได้

 

เอสเอ็มอีควรรู้! ก่อนปรับโครงสร้างหนี้

1. ทบทวนอนาคตธุรกิจว่าไปต่อไปหรือไม่

ก่อนจะปรับโครงสร้างหนี้ สิ่งแรกที่ผู้ประกอบการต้องมองให้ออก คือ อนาคตของธุรกิจที่กำลังทำอยู่นั้น ยังมีทางรอดต่อไปได้หรือไม่? ต้องยอมรับว่าปัจจุบันพฤติกรรมของคนเปลี่ยนไปในหลายเรื่อง ถ้ามองแล้วว่าพฤติกรรมผู้บริโภคไม่ซื้อสินค้าชิ้นนี้อีกต่อไป นั่นเรียกว่าไม่มีทางรอดแล้ว อาจถึงเวลาที่ผู้ประกอบการอาจต้องเลิกกิจการแล้วมองหาโอกาสใหม่แทน แต่ถ้าในธุรกิจยังสามารถไปต่อได้ การปรับโครงสร้างหนี้เพื่อรอเวลาให้กระแสเงินสด (Cash Flow) ของธุรกิจกลับมา ถือเป็นทางออกหนึ่งที่จะช่วยให้ธุรกิจสามารถเดินต่อไปได้

 

2. เช็กกระแสเงินสด

กระแสเงินสด (Cash Flow) เป็นตัวชี้ชัดได้เป็นอย่างดีว่า ธุรกิจจำเป็นต้องปรับโครงสร้างหนี้หรือไม่ หากธุรกิจมีเงินหมุนเวียนไม่เพียงพอ ผู้ประกอบการต้องกลับมามองว่าทำไมเงินหมุนเวียนถึงไม่พอ ผู้ประกอบการต้องมอง 2 ด้านนี้ประกอบกัน คือ

  • กระแสเงินสดที่ได้รับเข้ามา (Cash Inflow) รายได้มีเข้ามาน้อยไปหรือไม่ ถ้ารายได้มาน้อยไปควรต้องทำอย่างไรเพื่อเพิ่มรายได้
  • กระแสเงินสดที่ต้องจ่ายออกไป (Cash Outflow) รายจ่ายมากเกินไปหรือเปล่า หรือยังคงมีอยู่เหมือนเดิมไม่ลดลง มีแต่จะมากขึ้น

สองสิ่งนี้เป็นสาเหตุที่ทำให้ธุรกิจขาดสภาพคล่องและไม่สามารถชำระหนี้ได้ จำเป็นที่ผู้ประกอบการต้องเข้ามาพูดคุยเจรจากับทางธนาคาร เพื่อหาทางออกร่วมกัน

 

3. ใช้วิธีการปรับโครงสร้างหนี้ที่เหมาะสม

วิธีการที่หลายคนคุ้นเคย คงหนีไม่พ้นการขยายระยะเวลาการผ่อนชำระหนี้ หรือการปล่อยเงินกู้ใหม่ ซึ่งในแต่ละวิธีการนั้นก็จะมีรายละเอียดปลีกย่อยลงไปอีก ยกตัวอย่าง

- การขยายเทอมแบบที่เป็น Debt Holiday คือ ไม่ต้องจ่ายทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย แต่วิธีการนี้ดอกเบี้ยจะสะสมไปเรื่อย ๆ 

- การขยายเทอมในรูปแบบผ่อนจ่ายเฉพาะดอกเบี้ย เงินต้นจ่ายทีหลัง

- การเปลี่ยนประเภทสินเชื่อ เพื่อให้ได้อัตราดอกเบี้ยที่ถูกลง

วิธีการเหล่านี้เป็นการปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งวัตถุประสงค์ก็เพื่อช่วยทำให้ กระแสเงินสดที่ต้องจ่ายออกไปของธุรกิจลดลง หรือทำให้สอดคล้องกับกระแสเงินสดที่ได้รับเข้ามาในสถานการณ์ปัจจุบันนั่นเอง การปรับโครงสร้างหนี้แบบไหนที่จะเหมาะกับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี อาจจะต้องพิจารณาเป็นราย ๆ ไป เพื่อหารูปแบบของการปรับโครงสร้างที่เหมาะสมกับธุรกิจนั้น ๆ 

 

4. ปรับโครงสร้างหนี้ไม่ได้แปลว่า “เครดิตไม่ดี” 

หลายคนมักคิดว่าหากมีการปรับโครงสร้างหนี้แล้ว อาจทำให้ธุรกิจมีตำหนิหรือเครดิตไม่ดี แต่แท้ที่จริงแล้ว ในมุมของธนาคารจะพิจารณาจากกระแสเงินสดของลูกค้าเป็นหลัก การที่กระแสเงินสดไม่มี ต้องไปดูต่อว่าเกิดจากสาเหตุอะไร ซึ่งในภาวะปัจจุบันคงเป็นไปไม่ได้ที่จะบอกว่าการที่ธุรกิจไม่มีกระแสเงินสด เป็นเพราะผู้ประกอบการบริหารงานไม่ดี ธนาคารจะพิจารณาเรื่องดังกล่าวจากเหตุและผลประกอบกันอย่างหลาย ๆ ธุรกิจในอดีตที่เคยผ่านการปรับโครงสร้างหนี้ในช่วงวิกฤตปี พ.ศ.2540 ก็ยังสามารถเติบโตกลายเป็นบริษัทใหญ่ในทุกวันนี้ได้

 

 


 

หัวข้อ : ไม่ไหวอย่าฝืน “ปรับโครงสร้างหนี้” ช่วยธุรกิจไปต่อ
อ่านเพิ่มเติม : www.kasikornbank.com/th/k-sme-inspired

Published on 8 July 2021
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

 

 

 

 

 

บทความแนะนำ

ผู้ช่วยร้านอาหาร เพิ่มโอกาสการขายในยุคดิจิทัลด้วย LINE MyRestaurant

 

แนะนำตัวช่วยเพิ่มโอกาสทางการขายให้ผู้ประกอบการร้านอาหารที่มี LINE Official Account อยู่แล้ว ด้วย MyRestaurant ผลิตภัณฑ์ใหม่ที่  LINE MAN และ Wongnai ร่วมกันพัฒนาขึ้น ช่วยจัดการหน้าร้านอาหาร บริหารข้อมูลลูกค้า จัดการข้อมูลลูกค้าได้บนแพลตฟอร์มเดียว คือบน LINE Official Account อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

LINE MyRestaurant เป็นเครื่องมือฟรีที่เหมาะสำหรับร้านอาหารทุกขนาดตั้งแต่ขนาดเล็กแบบร้านริมทาง ไปจนถึงร้านขนาดใหญ่ มาดูกันว่ามีฟีเจอร์ใช้งานอะไรได้บ้าง


 

 

3 ฟีเจอร์หลักของ MyRestaurant

 

1. เมนูออนไลน์สั่งง่ายด้วยสมาร์ทเมนู (Smart Menu) : เมนูอิเล็กทรอนิกส์บน LINE เชื่อมต่อกับระบบรับออเดอร์ของร้านอาหารได้โดยตรง ลูกค้าสามารถสแกน QR Code เพื่อดูเมนูพร้อมกดสั่งอาหารแบบกินที่ร้านผ่าน LINE ได้ทันที สั่งง่าย ไม่ต้องวุ่นวายบอกเบอร์โต๊ะ แถมรวดเร็ว ทันใจ ไม่ต้องกลัวออเดอร์ผิดพลาด 

 

2. หน้าร้านออนไลน์ออกแบบเองได้ตามต้องการผ่านริชเมนู (Rich Menu) : เมนูบาร์ที่รวมบริการและโปรโมชั่นต่าง ๆ ของร้านอาหาร นำเสนอให้ลูกค้ากดเลือกดูได้ตามใจใน LINE Official Account โดยร้านสามารถออกแบบคอนเทนต์ นำเสนอบริการ โปรโมชั่นต่าง ๆ แบบปรับแต่งเองได้ตลอดเวลา เช่น ให้ลูกค้ากดดูเมนูอาหารออนไลน์ หรือกดสั่งอาหารเดลิเวอรี่ผ่าน LINE MAN Wongnai ได้ทันที

 

3. สื่อสาร ทำการตลาดได้ดีกว่าเดิมด้วยระบบรีพอร์ท (Report) : รวบข้อมูลสำคัญทั้งรายงานกลุ่มลูกค้า (Customer Report) และรายงานยอดขาย (Sale Report) ช่วยให้ร้านอาหารสามารถดูข้อมูลเชิงลึกมาวิเคราะห์ต่อยอดกลยุทธ์การตลาดได้ดีและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็น

  • ข้อมูลกลุ่มลูกค้าที่สั่งอาหารและกดติดตาม LINE Official Account
  • ข้อมูลยอดขาย รายละเอียดการสั่งซื้อ เมนูที่ลูกค้าสั่ง ความถี่ในการสั่ง 
  • ข้อมูลจะแสดงผลแยกตามประเภทต่าง ๆ ให้ร้านสามารถนำไปพัฒนาต่อยอดธุรกิจได้เต็มที่

 

ผู้ประกอบการร้านอาหารที่สนใจ สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมเพื่อเข้าใช้งานได้แล้ววันนี้ที่ 

https://lineforbusiness.com/myrestaurant

 


 

หัวข้อ : มีอะไรใหม่ใน LINE MyRestaurant ผู้ช่วยร้านอาหาร
อ่านเพิ่มเติม : 

https://www.bangkokbanksme.com/en/line-myrestaurant-assistant

https://lineforbusiness.com/myrestaurant/

 

Published on July 2021
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

 

 

 

 

 

บทความแนะนำ