สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตผลทางการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

 

 

สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตผลทางการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
(Kasetsart Agricultural and Agro-Industrial Product Improvement Institute - KAPI)

ในปัจจุบัน วิธีการเพิ่มมูลค่าผลผลิตทางการเกษตรให้กับภาคเกษตรกร ทางหนึ่งก็คือการนำผลผลิตมาแปรรูปให้เป็นผลิตภัณฑ์อาหารรูปแบบต่างๆ แต่นั่นก็ช่วยเพิ่มมูลค่าให้ผลผลิตได้แค่ในระดับหนึ่งเท่านั้น หากมองให้ไกลไปถึงเทคโนโลยีการแปรรูปในอนาคต จะเห็นได้ว่ามีแนวโน้มที่จะเป็นการพัฒนาเพื่อรองรับการแปรรูปของเหลือทิ้งจากการเกษตรให้เป็นของใช้ที่ไม่ใช่อาหารเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะสามารถช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มได้มากกว่าการแปรรูปผลผลิตเพื่อเป็นผลิตภัณฑ์อาหาร

สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตผลทางการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (KAPI) ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในเรื่องนี้ จึงได้ทำการค้นคว้า วิจัย จนมีความเชี่ยวชาญ พร้อมรองรับการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่ใช่อาหาร ได้เป็น 3 กลุ่ม ก็คือ

  1. กลุ่มผลิตภัณฑ์พลังงานทดแทน เริ่มตั้งแต่การค้นหาสายพันธุ์พืชพลังงาน ทั้งที่เป็นพืชน้ำมัน และพืชโตเร็วสำหรับนำมาใช้เผาเป็นพลังงานไฟฟ้า หรือผ่านกระบวนการแปรรูปให้อยู่ในรูปแบบเชื้อเพลิงแข็งรูปแบบต่าง ๆ
  2. กลุ่มเส้นใยธรรมชาติและคอมโพสิต เป็นการศึกษาคุณสมบัติและคุณภาพของพืชชนิดต่าง ๆ แล้วนำไปทำการผสมเข้ากับโพลิเมอร์ เพื่อเสริมคุณสมบัติพิเศษต่าง ๆ ให้กับวัสดุ ก่อนจะทำออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ เช่น ภาชนะ บรรจุภัณฑ์ ชิ้นส่วนประกอบภายในรถยนต์ ผนังอาคาร
  3. กลุ่มผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและเครื่องสำอาง ตั้งแต่การคัดสรรวัตถุดิบ สมุนไพรที่เหลือทิ้งจากการเกษตร หรือ อุตสาหกรรมเกษตร เช่น เปลือก หรือเมล็ดต่าง ๆ ซึ่งเป็นส่วนประกอบที่ยังอุดมคุณค่าทางสารอาหารและแร่ธาตุ นำมาผ่านกระบวนการแปรรูปด้วยวิธีการสกัดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ก่อนนำไปวิเคราะห์ฤทธิ์ทางชีวภาพต่าง ๆ เช่น การต้านอนุมูลอิสระ การเสริมภูมิคุ้มกัน เป็นต้น

บริการจากทางศูนย์
สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตผลฯ (KAPI) นั้นมีบริการที่พร้อมรองรับทุกโจทย์ปัญหาของผู้ประกอบการ ที่มีวัตถุดิบทางการเกษตรหรือของเหลือจากการเกษตร และยังไม่รู้ว่าจะจัดการเพิ่มมูลค่าวัตถุดิบเหล่านั้นได้อย่างไรบ้าง 

 

ทางสถาบันมีการให้บริการอย่างครบวงจร ตั้งแต่
บริการให้คำปรึกษา 

ร่วมวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์

บริการพัฒนาสูตร และผลิตภัณฑ์ต้นแบบ

บริการตรวจวิเคราะห์คุณภาพวัตถุดิบ

บริการตรวจวิเคราะห์คุณภาพผลิตภัณฑ์

บริการเครื่องมือและอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์

หลักสูตรฝึกอบรม

 

ในปัจจุบัน ทางสถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตผลฯ (KAPI) นั้นมีความตั้งใจที่จะเปลี่ยนโจทย์ในการค้นคว้า วิจัย จากเดิมที่เป็นการตั้งโจทย์จากทางสถาบันเอง มาเป็นการรับโจทย์ปัญหาจริง จากผู้ประกอบการ ซึ่งจะเป็นการค้นคว้า วิจัย ที่ช่วยแก้ปัญหาให้กับผู้ประกอบการได้โดยตรง ซึ่งผลงานวิจัยที่พัฒนาร่วมกันนั้น จะสามารถนำไปถ่ายทอดได้จริง ทั้งในเชิงพาณิชย์ เชิงสังคม ไปจนถึงเชิงสาธารณะ

สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตผลฯ (KAPI) เองมีความพร้อม และยินดีที่จะช่วยผลักดัน สนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทย มีการเพิ่มขีดความสามารถด้วยการนำนวัตกรรมไปต่อยอดได้ในเชิงพาณิชย์

 

ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อได้ที่

สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตผลทางการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร (KAPI)

ที่อยู่: อาคารปฏิบัติการวิจัยกลาง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
50 ถนนงามวงศ์วาน แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900

โทรศัพท์: 02-942-8600-3 ต่อ 207

อีเมล: KAPI@KU.TH

เว็บไซต์ : kapi.ku.ac.th

Facebook: KAPI

YouTube: KAPI

 

สำหรับช่องทาง SME ONE เพิ่มเติม

Facebook: SME ONE

Line: @SMEONE

Youtube: SME ONE

Website: info@smeone.info

TikTok: smeone.info

บทความแนะนำ

ศูนย์นวัตกรรมวิทยาการอาหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (KU-FIRST)

ศูนย์นวัตกรรมวิทยาการอาหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (KU-FIRST)

ศูนย์นวัตกรรมวิทยาการอาหาร (KU-FIRST) เป็นศูนย์กลางในการประสานงาน เพื่อให้องค์ความรู้ และบริการงานทางด้านวิชาการ แก่ผู้ประกอบการด้านอาหาร เพื่อขยายศักยภาพในการให้บริการด้านนวัตกรรมและการสร้างองค์ความรู้ให้กับอุตสาหกรรมอาหารของประเทศ รวมทั้งการให้คำปรึกษาทางวิชาการ และเป็น technical arm แก่ภาครัฐและเอกชน

โดยทางศูนย์นวัตกรรมวิทยาการอาหาร (KU-FIRST) ได้มุ่งเน้นในเรื่องของคุณภาพ และควารมปลอดภัยของอาหาร เป็นสำคัญ จึงมีการจัดทำซีรี่ส์ สัมมนา เผยแพร่ความรู้ด้านอาหารให้ประโยชน์แก่สาธารณะ เช่น สัมมนาชุดก๋วยเตี๋ยวปลอดภัย, ไส้กรอกปลอดภัย, อาหารทะเลปลอดภัย เป็นต้น โดยมีอาจารย์ นักวิจัย ผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้ดำเนินการสัมมนา

นอกจากนั้นยังมีการจัดทำโครงการทางด้านอาหาร ร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อช่วยผู้ประกอบการในการพัฒนาด้านอาหาร โดยแบ่งเป็นหัวข้อต่าง ๆ ได้แก่ เรื่องการใช้ประโยชน์จากของเหลือทิ้งในอุตสาหกรรมอาหาร, การพัฒนาอาหารเชิงสุขภาพ, และการปรับปรุงกระบวนการผลิตอาหาร

หรือหากผู้ประกอบการมีความสนใจในด้านสิ่งแวดล้อม ทางศูนย์ก็มีการให้บริการ วิจัย ผลิตภัณฑ์อาหารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การวางกระบวนการผลิตที่ไม่ก่อให้เกิด Carbon Footprint เป็นต้น

 

บริการจากทางศูนย์

ศูนย์นวัตกรรมวิทยาการอาหาร (KU-FIRST) ศูนย์พร้อมประสานงาน และให้บริการแก่ผู้ประกอบการด้านอาหารอย่างครอบคลุม ตั้งแต่การให้ข้อมูลเรื่องวัตถุดิบ, การประสานความร่วมมือดูแลเรื่องของการผลิตอาหาร ภาชนะบรรจุ, การวางแผนการตลาด ไปจนถึงการวัดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แบ่งออกเป็นการให้บริการ ดังนี้

- บริการวิจัยและที่ปรึกษา

- บริการสารสนเทศทางอาหาร

- บริการอบรมบุคลากรด้านอุตสาหกรรมอาหาร

- บริการประกันคุณภาพผลิตภัณฑ์อาหาร

- บริการทดสอบตลาดและทดสอบทางประสาทสัมผัสสำหรับผลิตภัณฑ์ใหม่

- งานพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีการผลิตอาหาร

- กลุ่มวิจัยเฉพาะทาง

 

ศูนย์นวัตกรรมวิทยาการอาหาร (KU-FIRST) มีจุดมุ่งหมายที่จะยกระดับคุณภาพอาหารให้เป็นระดับพรีเมียม ทั้งในแง่ของการพัฒนาคุณภาพการผลิตตลอดทั้งกระบวนการไปจนถึงสนับสนุนช่องทางวางจำหน่ายอาหารคุณภาพสูง โดยมีการตั้งร้านค้า The Premium @ KU ที่เปิดรับอาหารจากผู้ประกอบการต่าง ๆ โดยผ่านการคัดสรรคุณภาพเรียบร้อยแล้ว มาวางจำหน่าย 

ศูนย์นวัตกรรมวิทยาการอาหาร (KU-FIRST) นั้นมีความเต็มใจที่จะให้บริการผู้ประกอบการในแวดวงที่เกี่ยวข้องกับอาหารทุกคน โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้เห็นอุตสาหกรรมอาหารของประเทศไทย มีการพัฒนาอย่างก้าวหน้าและยั่งยืน

ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อได้ที่

ศูนย์นวัตกรรมวิทยาการอาหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (KU-FIRST)

ที่อยู่: 322 ชั้น 3 อาคารอมรภูมิรัตน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 50 ถนนงามวงศ์วาน แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพ 10900

โทรศัพท์: 02-942-8629 ต่อ 1307

โทรสาร: 02-942-7991

อีเมล: kufsp@hotmail.com, kufirst.kufsp@gmail.com

เว็บไซต์ : www.kufirst.center.ku.ac.th



สำหรับช่องทาง SME ONE เพิ่มเติม

Facebook: SME ONE

Line: @SMEONE

Youtube: SME ONE

Website: info@smeone.info

TikTok: smeone.info

บทความแนะนำ

beau heartmade เทียนหอมที่ทำด้วยหัวใจ

beau heartmade

เทียนหอมที่ทำด้วยหัวใจ

 

ปกติแล้วการเริ่มต้นธุรกิจของ SMEs ผู้ประกอบการส่วนใหญ่มักจะมีแรงบันดาลใจเข้ามาเป็นฟันเฟืองสำคัญ แต่กรณีการแจ้งเกิดของ beau heartmade ต้องกล่าวว่า “แรงบันดาลใจ” อย่างเดียวไม่เพียงพอ แต่ต้องบวก “แรงบีบคั้นเข้า” ไปด้วย

เชื่อหรือไม่ว่าเทียนหอม beau heartmade ที่กำลังขายดิบขายดีอยู่บนโลกออนไลน์ตอนนี้ เป็นสินค้าที่เริ่มต้นจากศูนย์ และลองผิดลองถูกโดยคุณโบว์ - นิษฐกานต์ ใจอิ่นแก้ว ผู้ก่อตั้ง ซึ่งคุณนิษฐกานต์ ใช้เวลาเรียนรู้และทดลองทำซ้ำแล้วซ้ำเล่ากว่าจะได้สูตรที่ลงตัว 

เบ็ดเสร็จแล้วคุณนิษฐกานต์ ต้องอดทนรอนานกว่า 6 เดือน ถึงจะมีออเดอร์แรกเข้ามา

ระยะเวลา 180 วันสำหรับคนทั่วไปอาจจะดูเหมือนสั้น... 

แต่สำหรับคุณนิษฐกานต์ 180 วันนี้ คือช่วงเวลาที่ยาวนานที่สุดในชีวิต เพราะเงินสำรองที่เก็บสะสมไว้ตั้งแต่สมัยยังเป็นพนักงานประจำกำลังจะหมดลง จนคุณนิษฐกานต์ถึงกับถอดใจกลับไปสมัครงานประจำอีกครั้ง

ออเดอร์เทียนหอมชิ้นแรกที่กดสั่งซื้อเข้ามานั้น จึงเปรียบเสมือนสายน้ำโชลมใจที่ทำให้คุณนิษฐกานต์มีแรงใจสู้ต่อ ไปและทำให้ beau heartmade เดินทางมาถึงจุดนี้ได้

SME ONE : จุดเริ่มต้นของ beau heartmade มีที่มาที่ไปอย่างไร

นิษฐกานต์ : เริ่มต้นจริงๆ คือโบว์ทำงานประจำเข้างาน 8 โมงเช้าออก 5 โมงเย็นอะไรแบบนี้ แต่รู้สึกว่างานออฟฟิศไม่ตอบโจทย์มาก เราไม่ชอบทำงานที่นั่งอยู่บนโต๊ะคอมพิวเตอร์นานๆ ตอนนั้นเครียดจัดก็เลยลาออก ออกมาแบบชนิดที่เงินในบัญชีเหลือไม่กี่หมื่น แต่ตอนนั้นรู้สึกอยากพักเพราะเหนื่อย 

พอออกจากงานมาก็เริ่มเล่น TikTok และไปเจอคอนเทนต์พวกจานหินขัด Terrazzo ก็กดเข้าไปดูเรื่อยๆ จนมีร้านหนึ่งขายเทียนแล้วก็ขายจานก็รู้สึกว่าเป็นไอเดียที่ดี ก็เลยเข้า Shopee ไปซื้ออุปกรณ์มาลองทำเองแล้วก็ล้มไม่เป็นท่า เพราะว่าทำไม่เป็น ตอนนั้นโบว์ไม่รู้จักอะไรเลยเกี่ยวกับเทียนหอม ไม่ได้ชอบอะไรเลย พอมาทำก็เลยเละไปหมด แต่ก็ยังทำอยู่เพราะว่าตกงาน แล้วก็เครียดด้วยก็เลยต้องหาอะไรทำ

ถามว่าแรงบนดาลใจมาจากอะไร ตอนนั้นไม่เชิงว่าไม่มีแรงบันดาลใจ แต่มากกว่าแรงบันดาลใจ คือความครียด โบว์เป็นคนไม่ชอบให้ตัวเองจมอยู่กับอะไรแย่ๆ นานๆ จะต้องหาอะไรทำไม่ให้ตัวเองว่าง เพราะถ้าว่างจะเครียด แล้วโบว์เป็นคนชอบดูบ้านฝรั่งที่ขาวๆ คลีนๆ มันสวย แล้วบ้านแบบนี้มันจะต้องมีเทียน ถ้าเทียนเราไปวางในบ้านแบบนั้นก็คิดว่ามันน่าจะสวย 

โบว์ถามคนนั้นคนนี้ เพราะโบว์เป็นคนไม่ใช้เครื่องหอม ไม่ใช้ก้านหอม  ไม่ฉีดน้ำหอม ไม่รู้เลยว่าการจะทำเทียนหอมต้องมีอะไรบ้าง เรียกว่าเริ่มจากศูนย์เลย โบว์ไล่ถามคนนู้นคนนี้ ถามแม่ค้าใน Shopee ก็มีตอบบ้าง ไม่ตอบบ้าง แล้วก็จับเล็กจับน้อยมารวมๆ กันจนทำออกมาสำเร็จ ก็จับจานกับเทียนมาถ่ายรูปลง โบว์เป็นคนชอบถ่ายรูป ชอบแต่งรูปก็ถ่ายลงไปเรื่อยๆ รวมแล้วเกือบครึ่งปี จนมีออเดอร์เข้ามา โบว์ออกจากงานเดือนมิถุนายน เริ่มเปิดร้านจริงจังคือเดือนกันยายน กว่าจะมีออเดอร์แรกก็ประมาณมีนาคมของอีกปี จริงๆ ตอนนั้นกลับไปสมัครงานใหม่เพราะไม่มีเงินแล้ว แต่ไม่มีบริษัทไหนรับ

SME ONE : ช่วงที่ beau heartmade เริ่มขายสินค้าได้ เจอปัญหาอื่นๆ บ้างหรือไม่

นิษฐกานต์ : ปัญหาส่วนใหญ่ของสินค้าในร้านโบว์เป็นเรื่องแพคเกจจิ้งที่ต้นทุนสูง บวกกับสินค้าที่แตกหักง่าย ตอนนี้เป็นปัญหาหลักๆ โบว์แก้ปัญหาแบบหักดิบนิดนึง คือเมื่อก่อนเราไม่ได้ขายแพง เราก็แพ็คให้ครอบคลุมราคาของ ไม่ให้ขาดทุนเกินไปหรือกำไรไม่ได้น้อยเกินไปก็จะเจอปัญหา คือสินค้าแตกหักตลอด แตกเกือบทุกวัน โบว์เพิ่งจะมาเปลี่ยนราคาเมื่อสิ้นปีที่ผ่านมา อัพราคาให้สูงขึ้นแล้วก็แพ็คอัดแบบสนั่นหวั่นไหวเลย 

ตอนแรกก็คิดว่าลูกค้าจะหายหรือเปล่า เพราะเราเพิ่มราคาเยอะขนาดนี้ คือเขาก็คงตกใจในราคานิดหน่อย แต่เหมือนเขาก็ปรับตัวกันได้ ลูกค้าก็ยังไหลมาเรื่อยๆ ผลตอบรับดีขึ้นกว่าเดิม เพราะว่าเราแพ็คดีมากจนสินค้าไม่เสียหาย เขาก็เลยเหมือนประทับใจที่เราตั้งใจแพ็ค ก็ถือว่าเวิร์คในตรงนี้ 

 

SME ONE : beau heartmade อยู่ในอุตสาหกรรมสินค้าตกแต่งบ้านมาพักใหญ่แล้ว มองแนวโน้มธุรกิจนี้อย่างไร

นิษฐกานต์ : โบว์เคยไปศึกษามา เขาบอกว่าเทรนด์อุตสาหกรรมเครื่องหอมเป็นอุตสาหกรรมเดียวที่ไม่มีวันถดถอยเลย คือเติบโตขึ้นทุกๆ ปี เราก็รู้สึกว่าเรามาถูกทางแล้ว แล้วโบว์ก็รู้สึกว่าร้านของโบว์ยูนีคมากในเมืองไทย เพราะยังไม่ค่อยมีใครทำแบบเรา คืออาจจะมีคนทำบ้าง แต่ร้านของเรามีแม่แบบเยอะที่สุด และก็แปลกที่สุด จุดนี้ทำให้รู้สึกว่าเราเป็นเจ้าเดียวในเมืองไทย ถ้าเรามีตัวผลิตภัณฑ์เพิ่มขึ้น ก็จะทำให้ธุรกิจเครื่องหอมในไทยโตขึ้นด้วย

จริงๆ แล้วสินค้าของโบว์เริ่มขายดีตั้งแต่ช่วง COVID-19 แล้ว เพราะว่าคนอยู่บ้านกันเยอะ พวกของตกแต่งบ้านและสวนอะไรแบบนี้ก็จะขายดีขึ้น โบว์ก็ขายดีเหมือนกัน เพราะส่วนใหญ่สินค้าในร้านโบว์จะเป็นสินค้าตกแต่งบ้าน แล้วคนไทยก็ชอบแต่งบ้านแนวฝรั่งเยอะ บ้านที่เป็นขาวๆ คลีนๆ เดี๋ยวนี้เทรนด์มินิมอลก็มาแรง ดังนั้นการขายเทียนก็เข้ากับคอนเซปต์สมัยนิยมปัจจุบันด้วย นอกจากซื้อไปแต่งบ้านแล้วก็ยังมีร้านกาแฟ คาเฟ่ สปาที่นิยมสั่งซื้อไปวางเป็นพร็อพ แล้วก็เป็นสินค้าในร้านเขาด้วย 

 

SME ONE : ปัจจุบัน beau heartmade ขายสินค้าผ่านช่องทางใดบ้าง  

นิษฐกานต์ : หลักๆ คือขายผ่าน IG อินสตาแกรม แล้วก็มีที่ Shopee ตอนนี้ก็กำลังจะเพิ่มช่องทางขายที่ Lazada แล้วก็กำลังจะวางแผนขยายไปตลาดต่างประเทศ ยอดสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศในปัจจุบันลูกค้าส่วนใหญ่จะทักไลน์ส่วนตัวมาให้เราทำราคาให้ เราแล้วก็ส่งเอง ส่วนช่องทางเว็บไซต์ตอนนี้ยังไม่ได้ทำ เพราะโบว์ทำทุกอย่างเองหมดยังไม่มีคนช่วย ก็ต้องค่อยๆ ทยอยทำไป

SME ONE : ทุกวันนี้อะไรคือสินค้าหลักของ beau heartmade   

นิษฐกานต์ : สินค้าหลักยังคงเป็นเทียน แต่ถาดรองก็เริ่มใกล้จะแซงเทียนแล้ว ถือเป็นความโชคดีของโบว์อย่างหนึ่ง เพราะถาดเป็นงานที่โบว์ไม่ได้ตั้งใจทำ แค่ทำเล่นๆ มาขายคู่กับเทียนเฉยๆ เพื่อขายเป็นเซ็ตง่ายๆ แต่ทำไปทำมาลูกค้ากลับชอบ พอเข้าไปดูใน Shopee ก็ไม่มีร้านไหนทำขาย

ปัจจุบันเรามีเทียนหอมประมาณ 250 แบบ 10 กลิ่น ส่วนใหญ่กลิ่นที่ beau heartmade เลือกใช้ เราเลือกจากความนิยมของท้องตลาดมากกว่า โบว์เห็นเยอะที่เมืองไทยที่เขาจะผสมกลิ่นนั้นกลิ่นนี้ ร้านอื่นเขาจะเป็นชื่อกลิ่นแบบอลังการ แต่โบว์ไม่เก่งด้านนี้ก็เลยเอากลิ่นเบสิกที่ลูกค้ารู้จักง่ายๆ เช่น วานิลลา ลาเวนเดอร์ กุหลาบ โบว์จะไม่เน้นขายกลิ่นพิเศษ จะเน้นขายเทียนก็เลยเอากลิ่นแบบเบสิกลูกค้าเข้าใจง่ายๆ ที่นิยมกัน

 

SME ONE : พอขยายธุรกิจไปจนถึงจุดที่ทำคนเดียวไม่ได้ จะหาทางออกอย่างไร

นิษฐกานต์ : ก็คงต้องหาลูกจ้าง โบว์ก็เคยเทรนคนให้มาทำ แต่ด้วยความที่มันเป็นงานฝีมือ ไม่ใช่ของที่โรงงานผลิตได้ แล้วงานฝีมือแบบนี้คนที่ทำต้องมีใจรักถึงจะอยู่ได้ ถ้าคนที่ไม่ค่อยชอบเขาก็จะไม่ค่อยทน โบว์รู้สึกว่าบางคนก็สอนได้ บางคนก็สอนไม่ได้ พอคนสอนได้เขาก็มีเหตุต้องไปทำงานที่อื่น สุดท้ายมันก็อยู่ที่ตัวเรา หากยังไม่มีคนที่มาอยู่ช่วยเราได้จริงๆ ตอนนี้ก็พยายามหาคนที่ชอบทำมาช่วย แต่มันต้องใช้เวลาสอนด้วย

 

SME ONE : ในเชิงการผลิตสินค้าประเภทนี้ลอกเลียนแบบได้ยากหรือง่ายอย่างไร กังวลเรื่องนี้หรือไม่

นิษฐกานต์ : จริงๆ สูตรเทียนหอมก็ไม่ได้มีเคล็ดลับอะไร มีให้ดูในอินเทอร์เน็ตด้วย แต่ความสามารถในการทำก็อาจจะเป็นเคล็ดลับ โบว์รู้สึกว่าใครจะลอกก็ลอกไปเถอะ เพราะจุดที่จะทำให้ธุรกิจของคุณโตได้มันไม่ใช่เรื่องง่าย  หมายถึงว่าธุรกิจนี้มันไม่สามารถโตขึ้นมาได้ง่ายขนาดนั้น แต่มันประกอบด้วยหลายๆ อย่าง ไม่ใช่ว่าคุณทำเทียนได้แล้วคุณจะขายได้ มันขึ้นอยู่กับว่าคุณทำคอนเทนต์ได้ดีไหม คุณถ่ายรูปสวยไหม คุณส่งออกให้ลูกค้าประมาณไหน คือคุณสื่ออะไรออกไปให้ลูกค้า มันมีปัจจัยหลายๆ อย่างที่ไม่ใช่แค่ว่าคุณทำเทียนได้หรือเปล่า ใครมาถามสูตรโบว์ก็บอกหมด เพราะโบว์รู้สึกว่ามันไม่ใช่ความลับอะไร มันเป็นการแชร์ประสบการณ์เราด้วย

 

SME ONE : อีกหนึ่งแผนการตลาดที่น่าสนใจคือ beau heartmade มีการแบ่งรายได้จากยอดขาย 10% ไปทำบุญตั้งแต่วันแรก

นิษฐกานต์ : ตรงนี้มาจากการที่โบว์เป็นคนชอบทำบุญ ชอบไหว้พระสวดมนต์ เป็นสายมูนิดนึงเหมือนกัน การที่เราทำธุรกิจแล้วเราช่วยเหลือคน มันจะทำให้เรามีกำลังใจในการไปต่อด้วย เหมือนเราได้สร้างคุณค่าให้กับสังคมด้วย ก็คิดว่าถ้าเรามีเงินพันแล้วให้ร้อยมันก็ไม่ได้เสียหายอะไร เพราะถึงอย่างไรเราก็เป็นคนชอบทำบุญอยู่แล้ว ก็เลยหักเงินจากส่วนนี้ไปทำบุญด้วยเลยดีกว่า ให้คุณค่ากับตัวเอง และเพิ่มความสบายใจกับตัวเราด้วย

SME ONE : นอกจากเทียนกับจานรอง beau heartmade มีแผนจะขยายธุรกิจอย่างไร

นิษฐกานต์ : ตอนนี้เทียนหอมกับจานเริ่มอยู่ตัวแล้ว สิ่งที่อยากทำคือ 1. เน้นตลาดต่างประเทศมากขึ้น 2. ตั้งใจจะทำผลิตภัณฑ์อื่น เพราะว่าเทียนหอมประยุกต์ได้หลายแบบ โบว์ก็จะทำเทียนอะไรแปลกๆ มากขึ้น เดี๋ยวนี้จะมีเทียนที่เป็นเม็ดทราย เทเป็นเม็ดทรายแล้วก็ปักด้ายเคลือบเข้าไปก็จุดได้เลย แต่เมืองไทยยังไม่มี โบว์ก็จะไปหาข้อมูลเหมือนกันว่าทำอย่างไร ก็จะมีผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ออกมาเรื่อยๆ หรือไม่ก็อาจจะเพิ่มสินค้าถุงหอม หรือก้านหอม แต่ตอนนี้ขอเน้นพัฒนาเว็บไซต์ให้สมบูรณ์ก่อน

 

SME ONE : คิดว่าอะไรคือ Key success ของ beau heartmade

นิษฐกานต์ : อย่างแรก คือชื่อแบรนด์ เหตุผลที่ตั้งชื่อร้านว่า beau แล้วก็ heartmade เพราะว่าโบว์อยากสื่ออะไรที่ง่ายๆ ออกไปก็เลยเอาชื่อตัวเองบวกกับความตั้งใจจนเป็น beau heartmade ออกมา คอนเซปต์ของเราคือ handmade is heart เป็นงานแฮนด์เมดที่ทำด้วยหัวใจจริงๆ ที่เหลือก็จะเป็นพวกรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เช่น แพคเกจจิ้ง และการแพ็คสินค้า โบว์จะทำอะไรที่นอกเหนือจากที่ลูกค้าคาดหวังไว้ตลอด ตรงนี้ก็เป็น key success ของเรามากๆ ลูกค้าจะได้เซอร์ไพรส์ในทุกๆ กล่องที่เขาได้รับไป อะไรแบบนี้จะสร้างความประทับใจให้กับลูกค้า โบว์จะไม่มองข้ามรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ของสินค้าหรือการทำทุกขั้นตอน ถ้าไม่สวยโบว์ทำใหม่ ซึ่งลูกค้าจะสัมผัสได้จากการที่เราตั้งใจทำ มันทำให้โบว์มีลูกค้าประจำเยอะมาก ทุกวันนี้ยอดขายของ beau heartmade เกินครึ่งเป็นลูกค้าประจำ

ที่โบว์จะได้รับคำชมตลอด คือ กลิ่นหอมทะลุกล่อง ตรงนี้เป็นคอนเซปต์ของเรา ลูกค้าจะได้กลิ่นหอมฟุ้งขึ้นมาเลยตั้งแต่ในกล่อง โบว์จะได้รับคำชมแบบนี้ตลอด ก็เลยเป็นสิ่งที่เราต้องคิดว่าต้องรักษาไว้

SME ONE : อะไรคือความท้าทายของ beau heartmade นับจากนี้ไป

นิษฐกานต์ : โบว์ตั้งใจจะทำร้านเทียน beau heartmade ให้เป็นที่รู้จักทั้งเมืองไทยและเมืองนอก ในเมืองไทยโบว์คิดว่าโบว์ได้อันดับ 1 แล้ว ซึ่งตอนนี้ลูกค้าต่างประเทศให้ความสนใจเยอะมาก ถ้าเราจะตีตลาดเมืองนอกเราทำระบบของเราให้ดี โบว์คิดว่าเราจะต้องหาข้อมูลเพิ่ม เราจะต้องข้ามไปอีกขั้นหนึ่ง คืออยากมีชื่อเสียงในเอเชีย กับอีกหนึ่งความฝันคือ อยากมีร้านที่เป็นคาเฟ่เค้กที่มีเทียนเต็มร้าน เมืองไทยยังไม่ค่อยมีร้านที่มีเทียนใหญ่ๆ แล้วก็มีเค้กด้วย โบว์คิดว่าถ้ามีร้านคอนเซ็ปนี้มันคงน่ารักมากๆ แต่การทำร้านแบบนี้ต้องไปเปิดที่กรุงเทพฯ แล้วมันต้องใช้งบเยอะ 

 

SME ONE : ถ้าอยากจะให้คุณนิษฐกานต์ฝากคำแนะนำสำหรับคนที่อยากจะมาเป็นผู้ประกอบการ SMEs

นิษฐกานต์ : จากประสบการณ์ของโบว์เอง ถ้าใจไม่กล้าพอ หรือเงินไม่หนาพอ อย่าเพิ่งออกจากงานประจำ เพราะโบว์รู้สึกว่ามันเครียดเกินไป ถ้าเรายังรับมือไม่ได้ หรือ Mindset เรายังไม่แข็งแรงพอ มันทำให้เราล้มเหลวได้เลยในจุดนั้น ถ้าจิตใจยังไม่แข็งพออย่าเพิ่งออกจากงาน ให้ค่อยๆ ทำไปเรื่อยๆ ดีกว่า เพราะไม่อย่างนั้นเราจะเครียด ถ้าเราเครียดเราจะคิดอะไรไม่ออก แล้วเราก็จะกดดันตัวเอง อาจจะเป็นโรคซึมเศร้าหรือเบิร์นเอาท์ได้ 

บวกกับยุคนี้เป็นยุคที่อะไรต้องไว เราก็ต้องเปลี่ยนแปลงให้ไว เขามีอะไรเราก็ต้องปรับตัวตามให้ได้ ส่งของไว ทำให้ไว ด้วยความที่ยุคนี้โลกโซเชียลมีอิทธิพลมาก คนเราก็จะโชว์ แล้วก็จะกดดันตัวเอง ถ้าจะทำธุรกิจคุณต้องเตรียมใจไว้เลยว่ามันจะเจอแต่ปัญหา อย่าคิดแต่ว่ามันจะสำเร็จ มันจะมีปัญหาเข้ามาทุกวัน ถ้าคุณชอบในการแก้ปัญหาหรือการพัฒนาเรื่อยๆ มันก็จะดีกับคุณ แล้วเงินมันก็เป็นปัจจัยที่สำคัญในชีวิตด้วย ก็เลยแนะนำว่าอย่าเพิ่งออกจากงานประจำ ถ้าเงินยังไม่แข็งแรงพอและจิตใจยังไม่แข็งแรงพอ 

อีกเรื่องที่อยากแนะนำคือ เรื่องการรักษาคุณภาพ ถ้าเราอยากจะอยู่นานๆ สินค้าจะต้องมีคุณภาพ ซื้อใจลูกค้าให้ได้ ตรงนี้จะเป็นคีย์ความสำเร็จด้วย อยากจะแนะนำว่าอย่าทำธุรกิจเพื่อหวังกำไรอย่างเดียว เราควรมีการบริการลูกค้าด้วยในตัว จะทำให้ธุรกิจของเราอยู่ได้นาน 

 

บทสรุป

ความสำเร็จของ beau heartmade มาจากความตั้งใจที่จะสร้างธุรกิจจากงานคราฟ ซึ่งเป็นที่มาของการออกแบบเทียนหอมและถาดในรูปแบบต่างๆ ให้ออกมาเป็นงานศิลปะชั้นสูง จนสามารถตั้งราคาขายแบบพรีเมียมได้ อีกหนึ่งความน่าสนใจที่ทำให้ beau heartmade เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางคือ การใช้โซเชียลมีเดียอย่างอินสตาแกรมเป็นช่องทางการเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคที่รักการตกแต่งบ้านได้เป็นอย่างดี

 

สำหรับช่องทาง SME ONE เพิ่มเติม
Facebook: SMEONE
Youtube: SMEONE
Line: @smeone

บทความแนะนำ

Chimma Fruit ผลไม้อบแห้ง “ดิปปิ้ง” รายแรกของโลก

Chimma Fruit

ผลไม้อบแห้ง “ดิปปิ้ง” รายแรกของโลก

Chimma Fruit (ชิมมะ)
เป็นแบรนด์ผลไม้อบกรอบของไทยที่สร้างชื่อเสียงไปไกลทั่วโลก ด้วยจุดเด่นที่ไม่เหมือนแบรนด์ผลไม้อบกรอบทั่วไปที่วางจำหน่ายในท้องตลาด เพราะคุณพีท - สิริเชษฐ์ จิรพงษ์วัฒนะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ชิมมะ ฟรุ๊ต จำกัด มีการหยิบเอาผลไม้ยอดนิยมในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นทุเรียน มะม่วง มะพร้าว มาผ่านกระบวนการแปรรูปด้วยการอบแห้งเทคโนโลยี Freeze Dried ที่ยังคงรักษารสชาติของผลไม้ไว้ได้ และยังมีการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าด้วยการขายพร้อมดิปปิ้งกะทิเป็นแบรนด์แรกของโลก อะไรคือเคล็ดลับความสำเร็จของ Chimma Fruit ? บทสัมภาษณ์นี้มีคำตอบ...

SME ONE : จุดเริ่มต้นของ Chimma Fruit มีที่มาที่ไปอย่างไร
สิริเชษฐ์ : 11 ปีที่แล้ว ผมเริ่มต้นธุรกิจด้วยการนำเข้าสินค้าจากประเทศจีน ส่วนตัวก็คิดว่าสักวันหนึ่งเราคงมีโอกาสส่งออกสินค้าจากประเทศไทยกลับไปยังประเทศจีน จนมาถึงวันที่ผมรู้สึกว่าพร้อมแล้วที่จะทำส่งออก ก็เริ่มมองหาว่าส่งสินค้าอะไรดีกลับไปยังประเทศจีนก็เลยมาดูที่ความต้องการของประเทศจีนก่อน คือ ประเทศจีนมีการบริโภคผลไม้จากประเทศไทยเยอะมากก็เลยคิดจะนำพวกผลไม้ส่งออกไปยังประเทศจีน และเกิดเป็น Chimma Fruit จนถึงทุกวันนี้
สินค้าที่เป็นจุดเด่นของเรามีอยู่ 3 ตัว คือ ทุเรียน มะม่วง มะพร้าว แต่ถ้าเราขายของธรรมดาทั่วๆ ไปที่มีคนอื่นทำอยู่แล้วคิดว่าคงลำบากในการส่งออกไปประเทศจีนก็เลยมาคิดความแตกต่างให้กับสินค้า จนได้ไอเดียดิปปิ้งกะทิ เช่น มะม่วงพร้อมดิปปิ้งกะทิ ทุเรียนพร้อมดิปปิ้งกะทิอยู่ในซอง เพื่อสร้างความแตกต่างให้กับสินค้า ผมเริ่มต้นจากติดต่อซัพพลายเออร์ที่นำเข้าสินค้านำเข้าบรรจุภัณฑ์จากประเทศจีนให้เขาช่วยทำตลาดให้ก่อนในเบื้องต้น
ต้องขอบคุณสมัยตอนที่ผมเป็นพนักงานประจำ ผมโชคดีที่อยู่ในวงการสิ่งทอมาเกือบ 20 ปี ถ้าใครเคยอยู่ในธุรกิจแบบนี้มาจะรู้ว่ามันเป็นธุรกิจที่มีรายละเอียดค่อนข้างเยอะ เพราะมันมีดีเทลทุกจุด ฝีเข็ม ฝีด้าย ผมรับผิดชอบลูกค้าต่างประเทศเป็นหลัก ตอนที่ลาออกจากการเป็นพนักงานประจำมาทำธุรกิจส่วนตัว แล้วทำธุรกิจนำเข้าผมก็ใช้องค์ความรู้จากการที่เราเป็นพนักงานประจำมาก่อนนี่แหละนำมาใช้ แล้วตอนที่มาเริ่มทำสินค้าส่งออกผลไม้ไปยังต่างประเทศ เราก็ใช้ความรู้จากตอนที่เป็นพนักงานประจำมาประยุกต์ใช้กับธุรกิจ จริงๆ สินค้าเราไม่มีขายในเมืองไทย ส่งออก 100% หลายคนถามว่าคุณพีทมั่นใจได้อย่างไรว่าจะทำส่งออกได้ ทั้งที่หลายๆ คนเริ่มจากการขายในประเทศก่อน
ผมมีมุมมองว่าบ้านเราประชากร 70 กว่าล้านคน พอมีสถานการณ์อะไรขึ้นมายอดขายก็จะตกลง ผมจึงมองเรื่องการส่งออกว่ามันเป็นตลาดที่กว้างใหญ่ไพศาล มีหลายๆ ประเทศที่เราสามารถส่งออกไปได้ ไม่ใช่แค่ประเทศจีนอย่างเดียว มีประเทศเล็กประเทศน้อยในเอเชีย ในตะวันออกกลางที่สามารถส่งออกสินค้าเราไปได้ และประกอบกับที่เราทำธุรกิจนำเข้ามาก่อน ลองนึกภาพว่าตอนที่เราทำธุรกิจนำเข้าเราเป็นผู้ซื้อ พอเราไปทำส่งออกเราจะเข้าใจ Logic ของคนที่จะซื้อของๆ เราว่าเขาจะคิดหรือคุยกับเราอย่างไร เพราะเราเคยเป็นผู้ซื้อสินค้าจากต่างประเทศมาก่อน

SME ONE : ชื่อ Chimma (ชิมมะ) มีที่มาจากอะไร
สิริเชษฐ์ : ไม่มีที่มาเลย บ้านๆ เลย จริงๆ เป็นเรื่องยากในการคิดชื่อ เพราะตอนนี้มีอยู่ 2-3 แบรนด์ กว่าจะคิดแต่ละแบรนด์ได้ก็เหนื่อยพอสมควร ผมไม่ค่อยมีหัวทางด้านครีเอทีฟกับเรื่องพวกนี้ วันที่จะตั้งชื่อ Chimma เราก็ลิสต์ชื่อออกมาเยอะเหมือนกัน สุดท้ายมันก็มาโดนคำว่า Chimma เวลาคิดชื่อมาผมจะไปเช็คกับชื่อทรัพย์สินทางปัญญาด้วยว่าพอคิดมาแล้วเราจดชื่อนี้ได้ด้วยหรือไม่ หรือมีคนจดอยู่แล้วหรือเปล่า ชื่อนี้เลยไม่มี Logic ของที่มาที่ไป มันเป็นการคิดๆ ขึ้นมาแล้วก็เลือกมา
ประจวบเหมาะตอนที่ผมไปออกบูธที่อินเดีย ผมก็แปลกใจมากที่ลูกค้ามาหาที่บูธเราเยอะมาก ทั้งที่เราเพิ่งไปอินเดียครั้งแรก เราเพิ่งมารู้ว่าคำว่า Chimma มันไปพ้องเสียงกับภาษาอินเดียที่แปลว่าของขวัญของพระเจ้า มันก็ถือว่าเป็นความฟลุ๊คอย่างนึงโดยที่เราไม่ได้ตั้งใจ

SME ONE : แนวคิดของดิปปิ้งกะทิเกิดขึ้นมาได้อย่างไร

สิริเชษฐ์ : จริงๆ ต้องบอกว่าผมไม่ได้จบ Food Science แทบไม่ได้อยู่วงการอาหารมาก่อนเลย ตอนที่เริ่มทำธุรกิจส่งออกก็ตั้งโจทย์ว่าเราจะส่งออกอะไร ผมใช้กระบวนการคิดค่อนข้างเยอะมาก สุดท้ายเราได้โจทย์แรกก่อนว่า เราจะส่งออกอาหาร เพราะคนในโลกนี้ไม่ว่าเกิดสถานการณ์อะไรก็แล้วแต่ สุดท้ายทุกคนจะต้องกิน พอเสร็จเราจะเลือกของกินอะไร อย่างที่บอกไปเราเลือกประเทศก่อนว่าเราจะไปประเทศจีน ก็ดูว่าประเทศจีนเขามีความต้องการอะไร ชอบอะไร ประเทศจีนชอบผลไม้ไทยที่เป็นผลไม้สด ผลไม้แปรรูป ผลไม้สดบอกได้เลยว่าเราไม่ไหว เพราะเรายังไม่มีประสบการณ์ทำผลไม้มาก่อน เราก็เลยเลือกเป็นผลไม้แปรรูป 

ผลไม้แปรรูปหลักๆ ที่คนจีนชอบก็จะมีทุเรียน มะม่วง มะพร้าว ทุกวันนี้เริ่มมีมังคุด มีขนุนเข้ามาแล้ว เราก็คิดต่อว่าถ้าจะส่งออกทุเรียน มะม่วง มะพร้าวที่เป็นอบแห้งอบกรอบ Freeze Dried ไปประเทศจีน เราจะเจอคู่แข่งเต็มไปหมด เพราะมีคนทำมากมายทั้งในเมืองไทยและประเทศเพื่อนบ้าน เราก็เลยคิดเรื่องความแตกต่าง แต่ด้วยเราไม่มีองค์ความรู้ด้านอาหารมาตั้งแต่เริ่มต้น เราคิดแค่ว่าเราต้องแตกต่าง ตอนนั้นผมก็พยายามคิดหลายๆ แบบ ไม่ว่าจะเป็นการหานู่นนี่มามิกซ์กัน หาผลไม้มาใส่วัตถุดิบอื่นๆ ให้เป็นสินค้าใหม่ที่เกิดขึ้นในตลาดได้ 

จนสุดท้ายเราก็มาเจอเรื่องของการใช้ดิปปิ้ง ก็คิดว่าถ้ามีดิปมันน่าจะช่วยเพิ่มสีสันและเพิ่มความอร่อยขึ้นมาได้ ตอนนั้นเราซื้อทุกอย่างมาหมดเพื่อมาลองดิป เช่น น้ำปลาหวาน น้ำพริกเผา กะทิ เราทดลองเยอะมาก ทดลองด้วยการชิมด้วยตัวเอง ในวันนั้นเรายังไม่ได้เป็นโรงงาน เราเป็นแค่คนซื้อมาขายไป ซื้อทุเรียนมาจากโรงงานนี้ ซื้ออีกอย่างมาจากโรงงานนั้นอะไรแบบนี้มาทดลองทำ จนสุดท้ายก็เลยเจอว่า ดิปปิ้งกะทิมันแตกต่าง และมีรสชาติที่มันละมุน การเอามะม่วงอบแห้งไปดิปปิ้งกับกะทิแล้วกินเข้าไป มันจะสัมผัสได้ถึงความละมุนหอมหวานของกะทิมาผสมกับตัวมะม่วงอบแห้ง



SME ONE : จากวันที่ Chimma Fruit เริ่มต้นธุรกิจจนถึงปัจจุบัน มีอะไรพัฒนาการไปบ้าง

สิริเชษฐ์ : ต้องบอกว่ามีพัฒนาการเยอะเพราะเราเจออุปสรรคค่อนข้างเยอะมากๆ ในวันแรกๆ ช่วงที่ทำ Chimma Fruit ผมมีโอกาสได้ไปออกบูธ Thaifex ในวันนั้นยังผมไม่มีสินค้าอะไรเยอะเลย แล้ว Chimma Fruit ก็เพิ่งเกิดด้วย โอกาสที่ได้ไปออกบูธเป็นการจุดประกายให้เราทำผลไม้แปรรูปเพื่อส่งออกไปยังต่างประเทศ พอเราไปออกบูธต่างประเทศและได้เจอคู่ค้าต่างประเทศมาเยี่ยมชมที่บูธ เราจะเห็นว่าลูกค้ามีความต้องการอะไรบ้าง ในวันแรกๆ เราไม่รู้หรอกว่าความต้องการจริงๆ ของลูกค้าคืออะไร 

สิ่งที่เราคิดในวันนั้น ผมว่ามันเกิดจากการมโนคิดว่าลูกค้าต้องการแบบนี้ คิดว่าลูกค้าต้องชอบแบบนี้ อันนี้คือในวันแรก แต่พอเราทำมาเรื่อยๆ วิธีการหาตลาดของผมคือ การออกงานแสดงสินค้าในต่างประเทศเป็นหลัก เราไปเยอะมาก อย่างปี 2019 เราไปประเทศจีนประมาณ 20 ครั้งในหลายๆ มณฑล หลายๆ เมือง มีไปเกาหลีใต้ ฮ่องกง สิงคโปร์ การไปออกบูธหลายๆ ครั้งหรือการไปเจอลูกค้าหลายๆ มันทำให้เราเกิดการเรียนรู้และพัฒนา จากวันแรกที่เราคิดว่าลูกค้าคงชอบแบบนี้ คือ การมโนล้วนๆ เลย 

แต่ในวันนี้เราเข้าใจตลาดมากขึ้น เราเข้าใจลูกค้ามากขึ้น และการจะพัฒนาสินค้าตัวต่อไป เราจะพัฒนาจากตลาดเป็นหลัก ไม่ใช่พัฒนาจากความชอบตัวเองหรือในตลาดประเทศไทยมีอยู่แล้ว แต่เราจะพัฒนาจากตลาดแต่ละตลาดที่ลูกค้าต้องการหรือมีดีมานด์เข้ามา 

 

SME ONE : วันที่ Chimma Fruit ไปออกงาน Thaifex ครั้งแรก มีสินค้าจริงหรือยัง

สิริเชษฐ์ : มีสินค้าแล้วแต่ตอนนั้นสินค้าแรกที่ทำยังไม่เน้นดิปปิ้ง ช่วงแรกๆ ที่ไปออกบูธ Thaifex ผมทำมะขามคลุกบ๊วยใส่ซอง เอาจริงๆ ตอนนั้นพอเราได้บูธ Thaifex มา สินค้ามันยังไม่ตกผลึกดี ตอนนั้นมีสินค้าอยู่แค่ 2 ตัว คือมะขาม กับทุเรียน Freeze Dried มีดิปปิ้งกะทิแล้ว ตอนนั้นผมก็เป็น SMEs คนหนึ่งแล้วก็เห็น Pain point หลายๆ อย่างจากในตลาด ในวันที่ออก Thaifex ครั้งแรกเมื่อ 4 ปีที่แล้ว ซองผลไม้ทุกอย่างยังเป็นซองติดสติ๊กเกอร์ ยกตัวอย่างมะขาม ผมซื้อมะขามจากเพชรบูรณ์ ซื้อซองจากสำเพ็ง ไปจ้างคนออกแบบสติ๊กเกอร์และติดที่หน้าซองเพื่อออกบูธ Thaifex เลย ซึ่งจริงๆ การที่ไปเดินงาน Thaifex มันควรเป็นอะไรที่สกรีนแล้วสวยๆ แต่ผมมีความเชื่ออย่างหนึ่งว่า การที่เรารอความพร้อม ความสมบูรณ์ เราอาจจะไม่ได้เริ่มต้น ในวันนั้นเหมือนกัน 

ถ้าวันนั้นผมมัวแต่มานั่งออกแบบซองหรือพัฒนาสินค้าให้สมบูรณ์ ผมอาจจะไม่กล้าไปออก Thaifex ก็ได้ อย่างที่บอกว่า SMEs ส่วนใหญ่ชอบมโนว่าของเราดีของเราเจ๋ง แพคเกจจิ้งเราสวยอะไรแบบนี้ แต่การที่ผมเป็นพนักงานประจำมาหรือทำธุรกิจนำเข้าเอง มันสอนให้รู้ว่าคนที่จะตอบได้จริงๆ ว่าสินค้าคุณเจ๋งหรือแพคเกจจิ้งคุณสวยคือลูกค้าของคุณ แล้วส่วนใหญ่ทุกคนจะไปลงทุนในเรื่องแพคเกจจิ้ง ไปผลิตและทำออกมาให้มันสวยๆ แต่สุดท้ายแล้วถ้าตลาดมันไม่ใช่มันไม่โดน จะทำอย่างไร แพคเกจจิ้งจะกองอยู่หลังบ้านเต็มไปหมด

ผมเลยเริ่มต้นจากการทำแพคเกจจิ้งแบบซองเปล่าติดสติ๊กเกอร์ จนวันนี้เอาจริงๆ ผมทำมา 3-4 ปีแล้ว การเริ่มต้นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ผมก็ยังเริ่มต้นด้วยวิธีนี้อยู่ ผมรู้สึกว่ามันไม่ใช่เรื่องน่าอายเลย ถ้าจริงๆ เราเตรียมพร้อมหลังบ้านไปให้ดี สุดท้ายแล้วถ้าลูกค้ามีออเดอร์มา เราจะทำอะไรบ้าง 1 2 3 4 เพื่อจะไปพัฒนาสวยๆ เหมือนคนอื่นได้ 

 

SME ONE : คุณสิริเชษฐ์เป็นคนตัดสินใจทางธุรกิจแบบ High Risk High Return หรือไม่ เพราะการออกงานแสดงสินค้ามีค่าใช้จ่ายสูงมาก

สิริเชษฐ์ : ผมไม่ได้ถือว่าเป็นคน High Risk หลายคนอาจจะมองว่าผมกล้าลงทุน กล้าไปออกงาน Thaifex อะไรแบบนี้ ถ้าผมเป็นคน High Risk ผมต้องลงทุนทำแพคเกจจิ้งทั้งหมดเพื่อมาโชว์ หรือว่าผมต้องเปิดโรงงานเองตั้งแต่วันแรกถ้าผมรู้สึกว่ามันสามารถส่งออกได้ 

แต่ถามว่าทำไมผมถึงกล้าลงทุนไป Thaifex จริงๆ แล้วงานอาหารหรือคนที่อยู่ในอุตสาหกรรมอาหาร ผมมองว่าทุกคนต้องไป Thaifex มันมีที่เดียวในเอเชีย และมันดังที่สุดแล้วในเอเชีย ตอนนั้นมีโอกาสจริงๆ ผมกำเงินก้อนใหญ่เหมือนกันในการไปออกบูธ Thaifex เพื่อโชว์ตัวครั้งแรก ทุกวันนี้ก็ยังถือว่าเป็นการลงทุนก้อนใหญ่อยู่ เพราะตั้งแต่ครั้งแรกจนถึงปีนี้ บูธ Thaifex ที่ผมไปออก ทุกคนอาจจะออกแค่บูธมาตรฐาน เป็น System panel แต่วิธีคิดของผมมองว่า ถ้าเราออกบูธขนาดมาตรฐาน 3x3 เมตร แล้วเราเป็น SMEs ผู้ประกอบการรายใหม่ หรือออกสินค้ารายใหม่ เวลาลูกค้าเดินผ่าน มันจะจมไปกับฮอลล์ จะไม่มีใครสนใจเราเลย ทุกครั้งที่ผมออกบูธ Thaifex ผมจะจองพื้นที่เป็น 2 คูหา แล้วก็สร้างบูธขึ้นมาเอง สิ่งที่ผมทำสมัยใหม่ๆ คือผมตีผนัง 3 ด้านแล้วเล่นกราฟิกบนผนังเอา เพื่อที่เวลาลูกค้าเดินผ่านจะได้สะดุดตาและมองเห็นว่ามันคืออะไร 

 

SME ONE : ปัจจุบัน Chimma Fruit มีโรงงานผลิตเป็นของตัวเองแล้วหรือยัง

สิริเชษฐ์ : ตอนนี้เรามีโรงงานผลิตเรียบร้อยแล้ว ปัจจุบันเราก็มีมาตรฐานเบื้องต้นสำหรับการส่งออก GHP, GMP มีเครื่องหมายฮาลาลทุกตัว เราเริ่มต้นทำโรงงานประมาณช่วงก่อน COVID -19 ปี 2019 ผมออกงานแฟร์ต่างประเทศน่าจะเกือบๆ 50 งานในหลายๆ ประเทศทั่วโลก แต่จริงๆ เราก็ใช้หน่วยงานภาครัฐ เราก็เคยไปออกบูธกับ สสว. เหมือนกันในต่างประเทศเวลาที่ สสว. มีโครงการมา เราเป็นผู้ประกอบการก็สมัครไปออกบูธต่างประเทศ ส่วนใหญ่ผมจะเกาะอยู่กับทางภาครัฐเป็นส่วนใหญ่ในการไปออกบูธหรืองานแสดงสินค้าในต่างประเทศ

วันที่เราตัดสินใจเปิดโรงงาน เหตุผลมาจากเราเริ่มมีออเดอร์มากขึ้น ส่วนหนึ่งคือ สินค้าของเราไม่เหมือนกับท้องตลาด การที่เราไปจ้างผลิต ผมรู้สึกว่ามันมีอยู่ 2 ประเด็น คือ 1) เรื่อง Cost ที่ต้นทุนมันจะสูงกว่า เพราะมันอยู่เหนือการควบคุม เพราะเราไม่สามารถผลิตได้ตั้งแต่ต้นทาง 2) เรื่องความลับทางการค้า พอเราเริ่มใหญ่ขึ้น ผมรู้สึกว่ามันเริ่มไม่ค่อยปลอดภัยแล้ว 

ประกอบกับว่าเราก็เริ่มมีออเดอร์จากต่างประเทศ เพราะเราไปออกงานแสดงสินค้าในหลายๆ ประเทศมาเยอะมากจนทำให้มีออเดอร์กลับมา เราก็เลยตัดสินใจเปิดโรงงาน แต่การเปิดโรงงานเราไม่ได้บอกว่าเราต้องเป็นโรงงานไซส์ใหญ่ โรงงานที่มีอยู่ไม่ได้เป็นโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่มาก เราก็มีแค่เครื่องมือที่ใช้ผลิตสินค้าที่เราทำอยู่และสามารถทำมาตรฐานโรงงานได้ และสามารถส่งออกไปต่างประเทศให้ลูกค้าได้

SME ONE : ปัจจุบัน Chimma ส่งออกสินค้าไปประเทศไหนมากที่สุด

สิริเชษฐ์ : Top 3 คงเป็นจีน เกาหลีใต้ และสิงคโปร์กับฮ่องกงที่ใกล้เคียงกัน ส่วนอะไรขายดีสุด เมื่อก่อนจะขายมะม่วงอบแห้งพร้อมดิปปิ้งกะทิดีมากในทุกๆ ประเทศ แต่ตอนนี้บังเอิญมีกระแสของมิลลิขึ้นมาเรื่องข้าวเหนียวมะม่วง ข้าวเหนียวทุเรียน ก็เลยทำให้ขนมข้าวเหนียวมะม่วง ข้าวเหนียวทุเรียนที่เราพัฒนาขึ้นมามันก็กลับมาป๊อปปูล่าตามกระแส ตอนนี้เลยขายดีและส่งออกเยอะมากๆ 

 

SME ONE : ที่ผ่านมาเคยไปขอคำปรึกษาจากหน่วยงานภาครัฐบ้างหรือไม่

สิริเชษฐ์ : ผมปรึกษาเยอะ เพราะตอนแรกที่ทำธุรกิจส่งออก เหมือนหัวเดียวกระเทียมลีบ เพราะว่าเราไม่เคยส่งออก เพียงแต่เราเคยมีประสบการณ์มามากกว่า แต่พอมาทำธุรกิจของตัวเองผมว่ามันไม่ง่ายเลยในการที่จะคิดหรือบุกตลาดต่างประเทศ แล้วผมโฟกัสตลาดต่างประเทศด้วย ไม่ได้โฟกัสตลาดในประเทศเลย เท่ากับว่าผมต้องขอคำปรึกษาจากหน่วยงานภาครัฐ หน่วยงานที่ผมขอคำปรึกษามากที่สุดน่าจะเป็นกระทรวงพาณิชย์ คือ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) ซึ่งมีสำนักงานอยู่ทั่วโลก นอกจากนี้ก็ยังมีหน่วยงานอื่นๆ เช่น สสว. 

ผมได้รับคำแนะนำเหมือนกันในวันแรกๆ ว่าต้องจดเครื่องหมายการค้า ตอนแรกที่เข้าจีนเราก็จดเครื่องหมายการค้าเลยในประเทศจีน นอกจาก Chimma เราก็มีแบรนด์อื่นๆ ด้วยที่ขายเข้าประเทศจีน เราก็จดเครื่องหมายการค้าตั้งแต่วันแรกเลย 

 

SME ONE : คุณสิริเชษฐ์มีแผนจะต่อยอดธุรกิจต่อไปอย่างไร

สิริเชษฐ์ : ตอนนี้ผมต่อยอดในตัวของ Chimma Fruit เราเพิ่งได้ออเดอร์มาจากประเทศจีน เป็นลูกค้ารายใหญ่ เป็นเหมือน 7-อีเลฟเว่นในประเทศจีน เป็นผู้นำเข้ารายใหญ่เลย คือต้องมองเปรียบเทียบกันเลยว่าการทำตลาดส่งออกกับทำตลาดในประเทศแตกต่างกัน ในประเทศคุณเอาของไปวางขายหรือไปออกบูธคุณก็ได้เงินเลย แต่การตลาดต่างประเทศมันต้องใช้เวลาในการบ่มเพาะนิดนึง ต้องทำให้ลูกค้าเชื่อใจเรา รู้จักเรามากขึ้น จะทำให้ออเดอร์กลับมา 

สิ่งที่จะต่อยอดต่อจากนี้ คือการพัฒนาสินค้าใหม่ๆ ผมเชื่อว่าตลอดช่วง COVID -19 2 ปี แบรนด์เราไม่เคยหยุดนิ่ง เรามีสินค้าตัวใหม่ออกมาในช่วง COVID -19 ด้วยซ้ำ เพราะผมรู้สึกว่าการมีสินค้าออกมาใหม่เป็นการกระตุ้นให้ลูกค้าจดจำเรา บางคนอาจจะขายสินค้าเดิมทั้งปีทั้งชาติ แต่ผมมีความคิดว่าออกสินค้าใหม่มาไม่จำเป็นต้องขายได้ก็ได้ แต่ออกมาเพื่อเป็นการย้ำเตือนลูกค้าว่า Chimma มีสินค้าใหม่ออกมา และสุดท้ายมันจะเกิดการซื้อกับสินค้าเดิมที่มีอยู่ 

 

SME ONE : อะไรคือความท้าทายของ Chimma Fruit ในปัจจุบัน

สิริเชษฐ์ : ตอนนี้ผมว่าทุกอย่างเริ่มกลับมาเหมือนเดิม และเริ่มจะดีขึ้นกว่าเดิมเยอะมากๆ แล้ว ตอนที่เจอสถานการณ์ COVID-19 ทุกอย่างเลยเบรกออกไป อะไรที่จะโตแบบ Growth Rate ได้มันก็หยุดโต แต่พอสถานการณ์ COVID-19 คลี่คลาย อย่างที่บอกว่าเราเพิ่งส่งออกไปประเทศจีน ผมว่าความท้าทาย คือเราได้รับออเดอร์มาจากลูกค้าต่างประเทศที่เป็นออเดอร์ใหญ่ แต่เราไม่สามารถปิดดีลได้ เพราะเราไม่ใช่โรงงานใหญ่ การที่ลูกค้าจะมาลง 5 ตู้ 10 ตู้ต่อเดือน ผมว่าอันนี้เป็นความท้าทายสุดๆ ออเดอร์มาแล้วแต่เราไม่สามารถปิดออเดอร์ได้ เพราะมันใหญ่เกินไปมันมากเกินไป ตอนนี้ก็เริ่มหาทางแก้ ผมก็รู้สึกว่าโอกาสมันมาแล้ว แต่เราไม่สามารถทำได้ 

ความท้าทายอีกอย่าง คือเรื่อง Product development ผมว่าตอนนี้มันต้องคิดเรื่องการพัฒนาสินค้าใหม่ๆ ที่ออกมา แล้วออกมามันต้องแตกต่างด้วย แล้วต้องโดนใจลูกค้าด้วยที่เราจะบุกไปในต่างประเทศ 

SME ONE : อยากให้คุณสิริเชษฐ์ช่วยฝากคำแนะนำกับผู้ประกอบการ SMEs

สิริเชษฐ์ : หลายๆ ครั้งผมมีโอกาสได้ไปคุยกับเพื่อนๆ SMEs ในวงการอาหารด้วยกัน ผมเป็นกรรมการอยู่หลายที่ทั้งกรมอุตสาหกรรม ทั้งสภาหอการค้า ผมเห็นผู้ประกอบการสายอาหารและเครื่องดื่มมีค่อนข้างเยอะ ทุกคนอยากส่งออกหมด แต่โจทย์หนึ่ง คือเขาจะติดปัญหาอันดับแรกว่า ฉันยังไม่พร้อมส่งออกหรอก มาตรฐานโรงงานฉันก็ไม่มี ทุกคนจะมีกำแพงป้องกันตัวเองไปหมด แต่พอถามว่าอยากส่งออกไหม ทุกคนตอบอยากส่งออกมาก แต่พอจะให้เริ่มส่งออก ทุกคนจะมีเหตุผลต่างๆ ที่ตัวเองไม่พร้อมในการส่งออก 

ผมเป็นคนหนึ่งที่ไม่ได้พร้อมตั้งแต่วันแรกเหมือนกัน แต่ด้วยความโชคดีดีกว่าที่ผมมีประสบการณ์จากการทำส่งออกมาก่อน แต่ผมไม่ได้มีความพร้อมเหมือนกันในวันแรก แต่ผมรู้สึกว่าการไม่พร้อมแล้วเราเริ่มต้นเลย อย่างที่ผมเล่าสตอรี่มาตั้งแต่แรกว่า การที่คุณเริ่มต้นทำมันก่อน ส่งออกไปก่อน นำเสนอลูกค้าไปก่อน มันจะไปตอบโจทย์ได้เองว่าสิ่งที่คุณคิดสิ่งที่คุณทำออกมานั้น คุณคิดไปเองหรือเปล่า 

คนส่วนใหญ่ทุกวันนี้ถูกสอนว่าต้องรอความสมบูรณ์ เช่น คุณไปคิด Brand Story ดีๆ นะ ทำแพคเกจจิ้งให้สวยๆ พัฒนาสินค้าให้มีนวัตกรรม แต่ถามว่าสิ่งที่คุณคิดมามันขายได้หรือเปล่า บางทีมันได้แค่โล่แต่ขายได้น้อยมากๆ 

ผมอยากจะฝากถึงผู้ประกอบการที่อยากส่งออกว่า สิ่งที่คุณอุตส่าห์นั่งคิดนั้น คุณทดลองทำเลยได้ไหม เพื่อจะได้นำเสนอลูกค้าเลย ไม่ต้องรอความพร้อมความสมบูรณ์ เพราะสุดท้ายตลาดจะเป็นตัวบอกคุณเองว่าสิ่งที่คุณคิดคุณทำมันใช่ มันถูกต้องในตลาดนั้นหรือไม่ และในระหว่างทางมันจะทำให้คุณคิดเองได้ว่า คุณต้องเดินทางไปทางไหน ถ้ามัวแต่คิด อยู่แต่ในกรอบ คุณจะไม่มีวันที่จะส่งออกได้ 

บทสรุป

ความสำเร็จของ Chimma Fruit มาจากกลยุทธ์การบริหารธุรกิจของคุณสิริเชษฐ์ในรูปแบบ Differentiated Marketing ด้วยการสร้างความแตกต่างให้กับสินค้า คือ “ผลไม้อบแห้ง” ที่มีอยู่มากมายในท้องตลาดด้วยการคิดค้นการบริโภคแบบ “ดิปปิ้ง” จนผลไม้อบแห้งกลายเป็น Snack ในที่สุด นอกจากนี้ในส่วนของการหาความต้องการของผู้ริโภค คุณสิริเชษฐ์ใช้สนามรบจริง คืองานแสดงสินค้านานาชาติเป็นเหมือนห้องวิจัยขนาดใหญ่ เพื่อทดสอบว่าสินค้าที่อยากจะส่งออกไปต่างประเทศนั้นมีความน่าสนใจเพียงพอที่เทรดเดอร์จะสั่งซื้อหรือไม่

 

สำหรับช่องทาง SME ONE เพิ่มเติม
Facebook: SMEONE
Youtube: SMEONE
Line: @smeone

บทความแนะนำ