ทำธุรกิจอาหาร อยากรับจัดเลี้ยง เริ่มต้นอย่างไรดี

หัวข้อ : เทคนิคการทำธุรกิจ Catering อย่างมืออาชีพ
อ่านเพิ่มเติม : https://scbsme.scb.co.th/sme-inspiration-detail/catering-technique

 

ธุรกิจรับจัดเลี้ยง หรือ Catering เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่น่าสนใจสำหรับผู้ประกอบการที่อยากเริ่มธุรกิจไปจนถึงผู้ที่อยากต่อยอดธุรกิจอาหารเดิมที่ทำอยู่ แต่การทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จต้องอาศัยปัจจัยหลาย ๆ อย่างมาประกอบเข้าด้วยกัน

 

เรื่องควรรู้ก่อนเริ่มทำธุรกิจรับจัดเลี้ยง

- ธุรกิจรับจัดเลี้ยงถือเป็นงานด้านการบริการจัดเลี้ยงอาหารและเครื่องดื่มตามงานและสถานที่จัดงานต่าง ๆ ที่ลูกค้ากำหนด เพื่อเฉลิมฉลองงานดังกล่าว และเพื่อดูแลให้แขกที่มาร่วมงานเกิดความประทับใจ

- การจัดเลี้ยงที่ดีจะช่วยสร้างคุณค่าให้แก่งาน และเอื้อประโยชน์แก่เจ้าภาพผู้จัดงานต่อไปในอนาคต ดังนั้นนอกเหนือจากอาหารเครื่องดื่มที่สดใหม่ อร่อย และได้คุณภาพแล้ว นักจัดเลี้ยงที่ดีย่อมต้องคำนึงถึงการบริการที่ดีของพนักงาน

- หากยังไม่มีพื้นฐานด้านจัดเลี้ยงมาก่อนไม่ควรทำเป็นธุรกิจใหญ่ ควรเริ่มจากเล็ก ๆ โดยอาศัยฐานลูกค้าในละแวกหมู่บ้านหรือพื้นที่ใกล้เคียงก่อน

- ธุรกิจรับจัดเลี้ยงเป็นธุรกิจที่ทำกำไรและมีการแข่งขันสูง ดังนั้น ผู้ที่จะทำธุรกิจด้านนี้ต้องมีความพร้อมในทุก ๆ ด้าน และนอกจากมีความพร้อมแล้วยังต้องหาจุดแตกต่างของตัวเองให้เจอ เพื่อเป็นการแสดงจุดขายให้กับธุรกิจของคุณเอง

- หลายครั้งที่ลูกค้ามักมีคำถามหรือต้องการความเห็นจากผู้รับจัดเลี้ยงว่าควรทำแบบไหน มีอาหารอย่างไรที่จะทำให้แขกที่มาร่วมงานประทับใจ ผู้ประกอบการที่ดีต้องสามารถตอบคำถามและให้ข้อมูลกับลูกค้าในเบื้องต้นได้ ดังนั้น ควรรวบรวมผลงานและถ่ายเก็บไว้ ให้ลูกค้าที่มาติดต่อได้เห็นและสามารถตัดสินใจเลือกรูปแบบการจัดเลี้ยงได้ง่ายขึ้น

- ธุรกิจรับจัดเลี้ยงเป็นอีกเทรนด์ที่ต้องอิงกับกระแสสังคม จึงต้องรู้ว่าขณะนั้นความต้องการบริโภคของคนเป็นในทิศทางไหน มีอะไรที่คนสนใจ รวมถึงกระแสสังคมที่คนรับจัดเลี้ยงสามารถเอามาเป็นไฮไลต์หนึ่งในการจัดบรรยากาศของงานโดยต้องไม่เลียนแบบใคร

 

ประเภทของการจัดเลี้ยงสามารถแบ่งออกได้ ดังนี้

  • โต๊ะจีน บริการแบบจับจองที่นั่งรอบโต๊ะ แล้วทยอยเสิร์ฟอาหารเมนูต่าง ๆ ทั้งอาหารจีน อาหารไทย
  • บุฟเฟ่ต์ จัดเตรียมอาหารคาวหวานนานาชนิดไว้ให้แขกเลือกตักรับประทานเอง อาหารบุฟเฟ่ต์มีข้าวเป็นองค์ประกอบหลัก และมักใช้ในอาหารมื้อหลัก เช่น มื้อเช้า มื้อเที่ยง หรือมื้อเย็น
  • ค็อกเทล จัดวางอาหารเมนูต่าง ๆ ไว้ให้แขกเลือกตักรับประทานเอง โดยค็อกเทลจะต่างจากบุฟเฟ่ต์ตรงที่ เมนูค็อกเทลจะเป็นอาหารรับประทานเบา ๆ มักใช้กับงานเลี้ยงที่ต้องการบรรยากาศสบาย ๆ         
  • ซุ้มอาหาร การจัดเลี้ยงแบบออกร้านหรือมีซุ้มอาหารกระจายตามจุดต่าง ๆ เหมาะสำหรับพื้นที่จัดเลี้ยงที่มีบริเวณกว้าง หรืองานที่ต้องการบรรยากาศสนุกสนาน เช่น งานเทศกาลต่าง ๆ เพราะแขกจะรู้สึกเหมือนได้เลือกซื้ออาหารด้วยตนเอง
  • คอฟฟี่เบรกและอาหารว่าง นิยมใช้ในงานสัมมนา มักมีชา กาแฟ หรือโอวัลติน รับประทานกับเบเกอรี่หรือขนมชนิดต่าง ๆ
  • อาหารกล่อง มักเป็นอาหารตามสั่งทั่วไปจัดทำใส่กล่อง เช่น ข้าวผัด ข้าวผัดพริกลงเรือ ข้าวผัดกะเพรา ฯลฯ ราคาตั้งแต่กล่องละ 25 บาทขึ้นไปแล้วแค่วัตถุดิบที่ใช้
  • ชุดอาหารว่าง หรือ Snack Box เป็นการจัดชุดอาหารว่าง เช่น พัฟฟ์ พาย เค้ก และเครื่องดื่มใส่ลงในกล่อง เหมาะสำหรับการสัมมนา การจัดเลี้ยงที่ต้องมีการเดินทาง หรืองานที่ต้องการความรวดเร็ว
  • เซตเมนู เป็นบริการที่จัดอาหารตามความต้องการของลูกค้า ส่วนใหญ่มักเป็นการจัดเลี้ยงขนาดเล็ก เช่น เลี้ยงแขก 10 คน จัดเซตเมนูอาหาร 15 รายการ ซึ่งแต่ละเซตเมนูอาจจะเป็นได้ทั้งเซตอาหารไทย หรือเซตอาหารฝรั่ง
  • อาหารพิเศษอื่น ๆ บางครั้งลูกค้าต้องการเมนูอาหารพิเศษนอกเหนือไปจากที่นิยมใช้กัน เช่น ต้องการให้อาหารในงานเป็นอาหารมังสวิรัติทั้งหมด หรือต้องการให้เป็นอาหารนานาชาติ ซึ่งผู้ประกอบการต้องเตรียมตัวสำหรับความต้องการพิเศษเหล่านี้อยู่เสมอ

 

Published on 15 August 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

บทความแนะนำ

เคล็ดลับจัดการภาษีธุรกิจ SME ให้มีประสิทธิภาพ

หัวข้อ : เคล็ดลับจัดการภาษีธุรกิจ SMEs ให้มีประสิทธิภาพที่สุด
อ่านเพิ่มเติม : https://www.krungsri.com/bank/th/plearn-plearn/tax-tips-for-sme-1.html

พูดถึงเรื่องของภาษี ผู้ประกอบการหลาย ๆ คนอาจจะคิดว่ามันแสนจะยุ่งยาก ซับซ้อน และมีรายละเอียดมากมายจนอาจทำให้สับสน ควรวางแผนแบบไหน ต้องเสียภาษีอะไรบ้าง และต้องจ้างผู้เชี่ยวชาญหรือไม่ วันนี้จึงนำเคล็ดลับ5 ข้อ ในการจัดการภาษีให้มีประสิทธิภาพที่สุดมาฝาก

 

1. รู้ก่อนว่า “ธุรกิจ” ไม่ใช่เรื่อง “ส่วนตัว”

ตามหลักของกฎหมาย สถานภาพของ “เจ้าของ” หรือ “ผู้บริหาร” จะถือว่าเป็น “บุคคลธรรมดา” แยกออกจาก “ธุรกิจ” ที่มีสถานภาพเป็น “นิติบุคคล” โดยเด็ดขาด แถมกฎหมายภาษี (ประมวลรัษฎากร) ยังห้ามไว้ด้วยว่า อย่าเอารายจ่ายมารวมกัน เพราะเป็นสิ่งที่ผิดกฏหมาย

ดังนั้นค่าใช้จ่ายส่วนตัว รวมถึงค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ของครอบครัว ไม่ควรเอามารวมกับค่าใช้จ่ายในการดำเนินธุรกิจ ไม่เช่นนั้นอาจเกิดปัญหาในภายหลังได้

 

2. เข้าใจว่าธุรกิจของเราต้องเสียภาษีอะไรบ้าง

ภาษีที่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ต้องเสียให้ถูกต้อง จะแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ภาษีทางตรง และ ภาษีทางอ้อม ซึ่งแต่ละประเภทนั้น มีรายละเอียดดังนี้

ภาษีทางตรง คือ ภาษีที่มีการเรียกเก็บเงินจากเราโดยตรงและไม่สามารถผลักภาระให้กับใครได้เลย ซึ่งก็คือ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีเงินได้นิติบุคคล นั่นเอง

ภาษีทางอ้อม คือ ภาษีที่เราสามารถผลักภาระภาษีทั้งหมดไปให้กับผู้บริโภคได้ โดยประกอบด้วยภาษีหลักๆ 3 ประเภท 

  • ภาษีมูลค่าเพิ่ม คือ ภาษีที่เรียกเก็บจากการบริโภคผ่านการซื้อสินค้าหรือใช้บริการจากธุรกิจต่างๆ
  • ภาษีธุรกิจเฉพาะ คือ ภาษีที่มีการจัดเก็บจากธุรกิจเฉพาะอย่าง เช่น ธนาคาร ประกันชีวิต โรงรับจำนำ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์
  • อากรแสตมป์ คือ ภาษีที่มีการจัดเก็บในรูปแบบของสแตมป์ เมื่อมีการจัดทำสัญญาหรือเอกสารหลักฐาน ด้วยอัตราที่แตกต่างกันออกไปตามประเภทที่กฏหมายได้กำหนดไว้

 

3. มองหาผู้เชี่ยวชาญและที่ปรึกษาดี ๆ

เพราะเรื่องของภาษีอาจมีรายละเอียดที่ซับซ้อน การมองหาที่ปรึกษาที่ปรึกษาทางกฎหมาย หรือผู้เชี่ยวชาญด้านภาษีสักคน อาจจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ทำให้การทำธุรกิจของเราง่ายขึ้นกว่าเก่า

 

4. วางแผนเสียภาษีให้ถูกต้องตามกฎหมาย

การวางแผนภาษีที่ดีที่สุด คือ การใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีต่าง ๆ ให้ถูกต้องตามกฎหมาย โดยเฉพาะเรื่องของภาษีเงินได้นิติบุคคลนั้น เราสามารถเลือกใช้สิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีต่าง ๆ ที่กฎหมายกำหนดไว้ เช่น ค่าใช้จ่ายบางรายการที่สามารถหักได้ 2 เท่า เป็นต้น

 

5. อย่าอายที่จะโทรหาสรรพากร

สำหรับผู้ประกอบการที่ไม่เข้าเรื่องเกี่ยวกับภาษี หรือมีปัญหาที่ต้องการคำตอบที่ชัดเจน สามารถสอบถามจากทางสำนักงานสรรพากรพื้นที่ ในเขตที่กิจการของเราตั้งอยู่ เพื่อป้องกันปัญหาการตีความผิดๆ ทางด้านกฎหมาย ซึ่งอาจจะกลายเป็นปัญหาในอนาคตได้ หรือในเบื้องต้นสามารถติดต่อและดูรายละเอียดต่าง ๆ ได้ก่อนที่เว็บไซต์ของกรมสรรพากร www.rd.go.th หรือโทร 1161

 


Published on 15 August 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

บทความแนะนำ

How to...กลับไปบุกตลาดจีนอย่างไรในยุค New Normal

หลังจากที่จีนเปิดประเทศ ร้าน Hermes (แอร์เมส) ในเกาะไห่หนาน โกยรายได้จากคนจีนกว่า 10 ล้านหยวนในวันเดียว นี่คือพลังการซื้อของหนุ่มสาวชาวจีนที่ทั่วโลกต่างหมายปอง กูรูแนะ SME ไทยเองก็มีโอกาส หากรู้จักวิธีใช้พลังออนไลน์ละลายทรัพย์ชาวจีนในยุคที่มนุษย์ต้องสวมหน้ากาก

ด้วยจำนวนประชากรกว่าพันล้านคน นับว่าจีนเป็นตลาดการค้าใหญ่ของโลกที่หลายประเทศต้องการทำการค้าด้วย แค่มหกรรมชอปปิ้งวันที่ 11. 11 ปี 2019 ที่ Alibaba สร้างสถิติยอดขายใหม่แตะหลัก 10,000 ล้านหยวน (4.3 หมื่นล้านบาท) ได้ไวที่สุดในประวัติศาสตร์ ด้วยเวลาไม่เกิน 2 นาทีหลังเริ่มต้นเทศกาล 

ตัวเลขมหาศาลกลายเป็นสนามแม่เหล็กให้ถนนธุรกิจทุกสายมุ่งไปยังกำแพงเมืองจีน แต่การมาเยือนของ COVID-19 ที่ไม่เพียงทำลายสุขภาพ ยังทำลายระบบการค้าทั่วโลกให้เปลี่ยนไป แม้แต่งานแสดงสินค้าที่ผู้ประกอบการไทยเคยใช้เวทีเหล่านี้เป็นที่จำหน่ายสินค้าในตลาดจีนก็สะดุดหยุดลงและคงต้องหาหนทางใหม่เพื่อให้เข้ากับวิถียุค New Normal

อิทธิชัย อรรถกระวีสุนทร Managing Director, บริษัท เลเวลอัพ โฮลดิ้ง จำกัด ผู้ให้บริการที่ปรึกษาด้านการตลาดจีนออนไลน์ เปิดเผยว่า การนำสินค้าไปแสดงในงานแสดงสินค้าที่ผู้ประกอบการหลายรายของไทยเคยทำอาจเป็นไปได้ยากขึ้น เพราะการจัดแสดงงานสินค้าเหล่านี้คงลดน้อยลง เพราะการเดินทางข้ามประเทศลำบากขึ้น ผู้ประกอบการในจีนเองหันก็มาใช้ช่องทางออนไลน์มากขึ้น 

“อย่างงานกวางโจวแฟร์ที่เพิ่งผ่านไปพบว่าผู้ประกอบการส่วนใหญ่ใช้วิธี live ขายของ ตรงนี้นับเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยเพราะการขายของออนไลน์หรือการ live ทำที่ไหนก็ได้ สำหรับใครที่ยังไม่เคย live ก็ควรศึกษาด้านนี้ไว้”

อิทธิชัย อธิบายเพิ่มว่า อีกหนึ่งเหตุผลที่ผู้ประกอบการไทยควรเน้นช่องทางออนไลน์มากขึ้นคือ ถ้าดูจากประวัติศาสตร์สมัยที่เกิดโรคซาร์ ทำให้อีคอมเมิร์ซในจีนเติบโตและแจ้งเกิดเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซอย่าง Taobao กับอาลีบาบามาแล้ว เช่นเดียวกับการมาของโควิด-19 ทำให้คนจีนหันมาซื้อของออนไลน์กันมากขึ้นยิ่งกว่าเดิม จึงอยากให้ผู้ประกอบการไทยที่ต้องการบุกตลาดจีนเน้นทำตลาดออนไลน์เป็นอันดับแรก นอกจากเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้ง่ายแล้วการทำตลาดออนไลน์ยังสามารถกำหนดกลุ่มเป้าหมายช่วยประหยัดงบการตลาดได้ โดยผู้บริหารหนุ่มได้แนะนำวิธีเจาะตลาดจีนด้วยการตลาดออนไลน์หลักๆ ไว้ดังนี้

  1. ช่องทางการขาย

เบื้องต้นผู้ประกอบการไทยควรเริ่มจากการหาช่องทางการขาย ไม่ว่าจะเป็นการทำตลาดแบบออฟไลน์หรือออนไลน์ ถ้าทำการตลาดแบบออฟไลน์ก็อาจมีช่องทางการขายที่คนจีนชอบมาซื้อของเช่น บิ๊กซีราชดำริ แต่ถ้าเป็นแบบออนไลน์อาจจะนำไปขายใน Taobao เพราะเป็นเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซที่ใหญ่ที่สุดในโลกและเป็นเว็บไซต์ที่มีผู้เข้าชมมากที่สุดแล้วใช้งบประมาณไม่สูงมากนัก แต่สำหรับผู้ประกอบการบางรายที่มีงบประมาณระดับนึงอาจเปิดช่องทางขายของตัวเองได้ใน Wechat 

“ถามว่าทำไมต้องมีช่องทางการขาย เพราะเคยมีผู้ประกอบการบางรายที่ใจร้อนทำการตลาดโดยยิงแอดโฆษณาไปทั้งๆ ที่ยังไม่มีช่องทางการขาย จะทำให้เสียค่าโฆษณาฟรี เพราะไม่มีช่องทางให้ลูกค้าสามารถติดต่อได้”

  1. สร้างฐานข้อมูลในโลกออนไลน์ 

โดยธรรมชาติของคนทั่วไปไม่ว่าจะเป็นคนไทยหรือคนจีนเองมักจะมีการค้นหาข้อมูลสินค้าก่อนที่จะซื้อ โดยเฉพาะคนจีนนั้นมีความหวาดระแวงมากเป็นพิเศษ ฉะนั้นผู้ประกอบการไทยต้องพยายามสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคชาวจีนไม่ว่าจะเป็นการแสดงใบรับรองคุณภาพสินค้า หรือการแชร์รีวิวจากลูกค้าที่เคยมาใช้บริการ ซึ่งการทำสิ่งเหล่านี้ถือเป็นการสร้างฐานข้อมูล ให้ลูกค้าสามารถมาเจอแบรนด์สินค้าได้อีกทางหนึ่งด้วย

“ผมเคยทำการตลาดให้ลูกค้ารายหนึ่งที่ต้องการทำตลาดจีนแบบ B2B แต่ลูกค้ารายนี้ไม่ค่อยเชื่อในการทำการตลาดออนไลน์ สิ่งที่เกิดขึ้นคือ เมื่อบรรดาเอเย่นต์สนใจสินค้าแล้วไปเสิร์ซหาข้อมูลในออนไลน์ ไม่เห็นมีข้อมูลสินค้า ทำให้เกิดความสงสัยว่าเป็นสินค้าที่มีตัวตนจริงไหม ได้รับความนิยมที่ไทยจริงหรือเปล่า ทำให้ปิดการขายไม่ได้”

  1. สร้างการรับรู้ให้กับแบรนด์สินค้า

หลังจากที่สร้างฐานข้อมูลในโลกออนไลน์แล้วสิ่งที่ SME ต้องทำต่อไปคือ สร้างการรับรู้ให้เกิดในวงกว้าง สามารถใช้งบโปรโมตซื้อโฆษณาแบนเนอร์ หรือการใช้ Key Opinion Leader (KOL) โปรโมตสินค้า ไม่ว่าจะเป็นการรีวิว หรือการไลฟ์สดที่กำลังเป็นที่นิยมเพื่อให้เกิดการรับรู้ง่ายขึ้น

Tips การทำตลาดออนไลน์ในจีน

อย่างที่รู้กันดีว่าตลาดจีนเป็นตลาดที่ใหญ่และการแข่งขันสูงมาก ฉะนั้นหากต้องการบุกตลาดจีนให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น อิทธิชัย แนะนำเพิ่มเติมว่า

  1. แพ็กเกจจิ้งต้องใหญ่

บรรจุภัณฑ์ที่มีขนาดใหญ่ ทำให้ดูน่าเชื่อถือ เหมาะกับการซื้อไปเป็นของฝาก แจกเพื่อน แจกญาติ

  1. ใช้ภาษาสากลบนบรรจุภัณฑ์

หลายๆ คนที่คิดว่าการมีภาษาจีนอยู่ในบรรจุภัณฑ์นั้นอาจได้ผลดีในช่วงแรก เพราะปัจจุบันนี้คนจีนรู้สึกว่ามีของปลอมที่คนจีนทำมาหลอกกันเองเยอะขึ้น ภาษาที่ดีที่สุดที่อยู่บนแพ็กเกจจิ้ง คือ ภาษาอังกฤษ

  1. ราคา + ค่าขนส่ง

เนื่องจาก SME ส่วนใหญ่ยังไม่มีทุนมากพอที่จะมีสต็อกสินค้าที่จีน ฉะนั้นควรคำนวณเรื่องต้นทุนค่าขนส่งให้ดี อาจจะรวบรวมส่งในปริมาณที่มากพอ ช่วยทำให้ราคาสินค้าไม่สูงเกินไปสามารถแข่งขันได้

Top 3 สินค้าไทยขายดีในตลาดจีน

จากสถิติของ Taobao พบว่าความนิยมของคนจีนที่มีต่อผลิตภัณฑ์ไทยไม่ค่อยเปลี่ยนไปจากก่อนที่เกิด COVID-19 อันดับหนึ่งยังคงเป็น ผลิตภัณฑ์ยางพารา เช่น หมอนยางพารา ยกทรงยางพารา ที่มียอดขายหลายสิบล้านต่อเดือน สอง ผลไม้อบแห้ง ทั้งมะม่วง ทุเรียน เพียงแต่ว่าช่วงหลังมานี้เริ่มมีคนจีนเริ่มทำตลาดผลไม้อบแห้งแข่งมากขึ้น ส่วนอันดับสามเป็น สินค้าคอสเมติก

“ในเรื่องตัวผลิตภัณฑ์คนจีนก็มีรายชื่อสินค้าไทยที่ชื่นชอบอยู่แล้ว เหมือนเราไปญี่ปุ่นก็ต้องซื้อ Tokyo banana กลับมา ฉะนั้นถ้าหากผู้ประกอบการอยากบุกตลาดจีนก็ต้องเป็นสินค้าที่เกาะกลุ่มที่คนจีนชื่นชอบไว้แล้วทำผลิตภัณฑ์ของเราให้ดี ให้เด่นขึ้น รวมทั้งมีการจดชื่อแบรนด์สินค้าไว้ ก็จะทำให้การขายสินค้าสำหรับคนจีนง่ายขึ้น” อิทธิชัย กล่าวสรุป

การสู้ศึกในตลาดจีนหลังยุค COVID-19 จากนี้ไป คงต้องวัดกันที่สนามออนไลน์เป็นหลัก หากผู้ประกอบการคนไหนยังไม่พร้อม หรือต้องการเสริมศักยภาพในเรื่องนี้ให้กับตัวเอง สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมจาก กิจกรรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศรองรับ COVID-19 ของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เพื่อทำให้ธุรกิจของคุณพร้อมกลับไปบุกตลาดแดนมังกรแห่งนี้ได้อย่างเข้มแข็งอีกครั้ง

โปรย

“โรคซาร์ทำให้อีคอมเมิร์ซในจีนเติบโตและแจ้งเกิดเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซอย่าง Taobao กับอาลีบาบามาแล้ว การมาของโควิด-19 ทำให้คนจีนหันมาซื้อของออนไลน์กันมากขึ้นยิ่งกว่าเดิม ผู้ประกอบการไทยที่ต้องการบุกตลาดจีนควรเน้นทำตลาดออนไลน์เป็นอันดับแรก” 

Published on 15 August 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย


บทความแนะนำ

กลยุทธ์แถมสินค้าของตั้งงี่สุนซูเปอร์สโตร์ สร้างโอกาสการตลาดตอบโจทย์ลูกค้าและซัพพลายเออร์

 

วิธีคิดและมุมมองนับเป็นหัวใจสำคัญในการกำหนดทิศทางเดินธุรกิจเจ้าของหรือผู้บริหาร คิดแบบไหนธุรกิจก็เดินแบบนั้น SME บางรายอาจคิดว่า เสียเปรียบคู่แข่งขันรายใหญ่ทุกทาง เพราะทรัพยากรน้อยกว่า ทำอย่างไรก็ไม่เห็นทางชนะหรืออยู่รอด หากใครคิดเช่นนั้นอยู่ ลองมาศึกษากรณีของตั้งงี่สุนซูเปอร์สโตร์ ในจังหวัดอุดรธานี จากโชห่วยรายเล็กๆ พัฒนาจนเป็นร้านค้าส่งและร้านค้าปลีกชั้นนำของประเทศมีเพียง 2 สาขาแต่ปักหลักสู้กับยักษ์โมเดิร์นเทรดในพื้นที่อย่างสมน้ำสมเนื้อ

หนึ่งในกลยุทธ์หลักของตั้งงี่สุน คือการแถมสินค้า หรือการนำสินค้าของแถมมามัดหนังสติ๊กแถมไปพร้อมกับสินค้าที่จัดโปรโมชั่นวิธีการนี้ดูเหมือนธรรมดา แต่จริงๆเป็นการทำการตลาดที่ยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว ตอบโจทย์ทั้งลูกค้าที่มาซื้อสินค้า และซัพพลายเออร์


คุณมิลินทร์วีระรัตนโรจน์หรือเฮียกบประธานกรรมการบริษัทตั้งงี่สุนซูเปอร์สโตร์จำกัด เล่าย้อนความถึงบริบทเมื่อ15-20 ปีที่แล้วว่า พอโมเดิร์นเทรดรายใหญ่เข้ามา มีสาขาเยอะสั่งซื้อสินค้าในปริมาณมาก ทำให้ดีลที่โมเดิร์นเทรดซื้อสินค้าจากซัพพลายเออร์นั้นถูกกว่าร้านทั่วไป และตั้งงี่สุนซื้อสินค้าในราคาแพงกว่า พอโมเดิร์นเทรดถือตัวเลขมากขึ้น ก็มีอำนาจต่อรองสูง ซัพพลายเออร์จึงคิดว่าหากปล่อยให้โมเดิร์นเทรดโตเกินไป ก็จะเสียเปรียบและมีกำไรน้อยลง ซัพพลายเออร์จึงทำการบาลานซ์ตลาด ทำการสนับสนุนร้านค้าท้องถิ่นอย่างตั้งงี่สุน เพื่อให้เติบโตไปด้วยกันเพราะสิ่งที่ซัพพลายเออร์ต้องการ คือการกระจายสินค้าให้มากที่สุดในทุกไซต์ ยิ่งกระจายได้ไกลและลึก โอกาสที่ลูกค้าจะหยิบซื้อก็มีสูง ตั้งงี่สุนมองโมเดิร์นเทรดเป็นคู่แข่งที่รัก ทำให้ทางร้านได้เรียนรู้และพัฒนาตัวเอง“แต่แข่งเรื่องราคาเราสู้โมเดิร์นเทรดไม่ได้” คุณมิลินทร์ยอมรับ กลยุทธ์การแถมจึงเข้ามาตอบโจทย์

 

“การแถมเกิดขึ้นเพื่อตอบสนองบริษัท (ซัพพลายเออร์) ในเรื่องการกระจายสินค้า บริษัทก็แฮปปี้ในอีกด้านหนึ่ง ลูกค้าก็มองของแถม ไม่ได้มองราคา”

 

คุณมิลินทร์ ยกตัวอย่างให้เห็นภาพว่า ตั้งงี่สุนขายน้ำมันพืช 30 บาทต่อขวด แม็คโครขาย 28 บาท แต่ลูกค้าซื้อน้ำมันพืชที่ตั้งงี่สุน ได้รับแถมบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแบรนด์รอง1 ซอง ลูกค้าจะคิดในหัวว่า บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป 1 ซอง ราคา 4 บาท ทำให้น้ำมันพืชจากราคา 30 บาทเหลือเพียง 26 บาท การซื้อน้ำมันพืชที่ตั้งงี่สุนจึงมีราคาถูกกว่าแม็คโคร

ในบางกรณีบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปหรือสินค้าอื่นๆ ที่นำมาแถม เป็นสิ่งที่ตั้งงี่สุนได้มาฟรีผ่านการจัดซื้อ งบของซัพพลายเออร์ หรือการต่อรอง ในขณะที่ซัพพลายเออร์ก็ต้องการกระจายสินค้าเพื่อให้ลูกค้าได้ทดลอง จากแบรนด์ หรือรสชาติที่ลูกค้าไม่เคยลอง พอได้รับแถม ผ่านลิ้นลูกค้า ก็อาจเปิดใจ เปลี่ยนจากแบรนด์ที่เคยซื้อประจำมาซื้อแบรนด์ใหม่ รสชาติใหม่, ทางด้านร้านค้าที่ซื้อไปขายต่อ เมื่อได้รับของแถมมา ก็มีแรงจูงใจที่จะเชียร์ขายแบรนด์ที่ได้รับแถมมาเพราะไม่มีต้นทุน และพอขายได้ ก็จะกลับมาซื้อไปขายเอง ของแถมจึงไม่ใช่แค่ของฟรี แต่เป็นการสร้างโอกาสทางการตลาด

สำหรับหลักการจับคู่เพื่อแถมสินค้า คุณมิลินทร์จะไม่นำสินค้าคู่แข่งโดยตรงมาจับคู่กัน เช่น ไม่นำไมโลไปจับคู่กับโอวัลติน แต่จะใช้แนวทาง “พี่ใหญ่ลากน้องเล็ก” นำสินค้าแบรนด์ใหญ่มาจัดโปรโมชั่นแล้วแถมสินค้าแบรนด์เล็กหรือสินค้าที่ไม่ได้รับความสนใจ หรือบางที สินค้าตัวแถมอาจเป็นแบรนด์ใหญ่ แล้วสินค้าโปรโมชั่นเป็นแบรนด์เล็กก็ได้ “พี่ใหญ่กับน้องเล็กสลับกันได้หมด อยู่ที่ความเหมาะสม”กลยุทธ์การแถมของตั้งงี่สุนจึงไร้กระบวนท่า ขึ้นอยู่กับการบริหารงบประมาณ

 

“การทำสิ่งพวกนี้ เราจะไม่กำหนดว่าอันไหนถูกหรือผิด พอเราทำประมาณ 2-3 สัปดาห์ เห็นว่าไม่ใช่ เราก็แยกมันออก แล้วก็เปลี่ยนสินค้าใหม่ได้, สินค้าที่จับคู่กันเรียกว่าการแต่งงานถ้าแต่งงานถูกคู่ถูกเวลา คู่สร้างคู่สม ทำอะไรก็เจริญและมีความสุข แต่ถ้าเป็นคู่เวรคู่กรรม ทำยังไงก็ไม่เดิน” คุณมิลินทร์กล่าว

 

นี่จึงเป็นบทเรียนให้กับ SME ที่คิดว่า ถ้าเผชิญกับคู่แข่งรายใหญ่ สู้ตรงๆ ด้วยราคาไม่ได้ จะพลิกแพลงกลยุทธ์อย่างไรให้เกิดคุณค่ากับผู้มีส่วนได้เสีย ไม่ว่าจะเป็นลูกค้าและซัพพลายเออร์หากทดลองทำไปแล้วยังไม่สำเร็จ ก็ต้องปรับเปลี่ยนเรียนรู้ไปตามสถานการณ์ 

คุณมิลินทร์ ให้คำแนะนำกับผู้ประกอบการ SME และโชห่วยว่า

1) เปลี่ยนวิธีคิดตัวเอง ทำเรื่องระบบภาษีให้ถูกต้อง ไม่เช่นนั้นธุรกิจจะไม่เติบโต
2) อย่าลงทุนเกินตัว ทำน้อยๆก่อน อย่าไปเร็ว
3) บางครั้งไม่ต้องหานวัตกรรมใหม่ แต่ปรับเปลี่ยนของเดิมให้ดีขึ้น รีแพคเกจจิ้งใหม่
4) ฟังเสียงตลาด นักธุรกิจที่ดีอย่านั่งวางแผนอยู่แต่ในออฟฟิศ ต้องเดินตลาด ฟังเสียงสะท้อนจากลูกค้าและคู่ค้า เพื่อให้เข้าใจตลาดและทันสมัยอยู่ตลอดเวลา

 

“จงเป็นนักธุรกิจ อย่าเป็นพ่อค้า พ่อค้าคุยแต่เรื่องกำไร ไม่สนใจเรื่องอื่น แต่นักธุรกิจ กำไรน้อยหน่อยไม่เป็นไร แต่อนาคต ตัว Branding ตัวสินค้าต้องดี ต้องทำได้แล้วค่อยๆไป นักธุรกิจกับพ่อค้าแตกต่างกัน นักธุรกิจเวลาทำงานเสร็จแล้วต้องดูว่าเพื่อนรอบข้างเราอยู่ได้ไหม เราอยู่ได้ไม่ลำบาก ให้เพื่อนรอบข้างเราอยู่ดีก่อนดีไหม เดี๋ยวเราก็ดี” คุณมิลินทร์ อธิบายถึงหลักการและวิธีคิดในการดำเนินธุรกิจ

 

วิธีคิดทางธุรกิจเปลี่ยน วิธีการขายก็เปลี่ยน ตั้งงี่สุนเปลี่ยนจากการสู้กับโมเดิร์นเทรดด้วยราคา ซึ่งสู้ไม่ได้ พลิกกลยุทธ์มาแถมสินค้าทำให้ธุรกิจพัฒนาเติบใหญ่มีกระแสเงินสดที่ดี และมีความยืดหยุ่น



โชว์ห่วยกับกลยุทธ์แถมสินค้าสไตล์ตั้งงี่สุน

-หากได้รับสินค้าฟรีผ่านการจัดซื้อ ลองนำมาจัดโปรโมชั่นแถมโดยการจับคู่สินค้า เพื่อสร้างโอกาสการตลาดและหลีกเลี่ยงการแข่งขันด้วยราคา

-หลักการแถมแบบ“พี่ใหญ่ลากน้องเล็ก”นำสินค้าแบรนด์ใหญ่มาจัดโปรโมชั่นแล้วแถมสินค้าแบรนด์เล็ก หรือสินค้าแบรนด์ใหญ่อาจเป็นตัวแถม ที่ช่วยผลักดันสินค้าแบรนด์เล็ก

-ทดลองทำประมาณ 2-3 สัปดาห์ หากสินค้าที่จับคู่กันแล้วไม่ประสบความสำเร็จ ให้แยกออกและปรับเปลี่ยนสินค้าใหม่ 

 

Published on 15 August 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

บทความแนะนำ

วิธีการสร้างลูกค้าประจำของร้านทุเรียน น้องนิดระยอง แค่เปลี่ยนการขายจาก “จ่ายก่อนแกะ” เป็น “แกะก่อนจ่าย”

 

เคยไหมที่เวลาเราซื้อผลไม้มากินที่บ้านทั้งจากตลาดสดหรือบนห้างสรรพสินค้าก็ตาม ทั้งๆที่เราเลือกเองกับมือ ผลไม้ก็ดูสวยงามไม่มีตำหนิ แต่พอกลับมาแกะกินที่บ้านแล้ว กับพบว่ารูปร่างหน้าตาและรสชาติผิดจากที่เราคาดหวังไว้ไปไกลมากๆ จากปัญหาในเรื่องดังกล่าวนี้ จึงมีผู้ประกอบการ SME บางรายที่หยิบเอาความเจ็บช้ำของผู้บริโภคมาสร้างเป็นจุดขายใหม่ แถมทำแล้วได้ผลดีเสียด้วย ตัวอย่างเช่น “ร้านทุเรียน น้องนิดระยอง” ที่ตลาดอ.ต.ก.

 

แรกเริ่มเดิมทีนางพุธชาติ ลาภผล หรือน้องนิด เป็นเกษตรกรปลูกผังผลไม้อยู่ที่จังหวัดระยองมาก่อน ซึ่งปัญหาใหญ่ของเกษตรบ้านเราก็คือ มักจะถูกพ่อค้าคนกลางกดราคา น้องนิดเล่าย้อนความให้ฟังว่า สมัยก่อนครอบครัวถูกพ่อค้าคนกลางที่มารับซื้อทุเรียนกดราคา และหลอกซื้อด้วยการคัดแต่เฉพาะลูกที่ดีๆ ไป ถูกหลอกบ่อยๆ เข้า ก็ทำให้ประสบปัญหาขาดทุนเป็นหนี้ธกส. เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

น้องนิดตัดสินใจเข้ามากรุงเทพเพื่อมาขอคำแนะนำและความรู้ในการทำธุรกิจที่องค์การตลาดเพื่อการเกษตร (อ.ต.ก.) ด้วยตัวเอง เพราะตอนเด็กๆ น้องนิดเคยมีโอกาสติดตามญาติมาขายผลไม้ที่นี่ ด้วยคำแนะนำของคุณเสริมศักดิ์ การุณ สส.จังหวัดระยองและความช่วยเหลือของเจ้าหน้าที่อ.ต.ก. ในที่สุดน้องนิดก็ได้มาเปิดแผงขายทุเรียนเล็กๆ ในตลาดอตก. ด้วยการเอาที่ดินที่มีอยู่จำนวน 6 ไร่ ไปกู้เงินมาเริ่มต้นธุรกิจ ไม่เพียงแต่ให้พื้นที่ขาย เจ้าหน้าที่ของอ.ต.ก. ยังให้คำแนะนำน้องนิดเพิ่มเติมว่า กลุ่มคนที่มาเดินซื้อของในตลาดอ.ต.ก.นั้น ส่วนใหญ่เป็นคนที่มีฐานะ ดังนั้นสินค้าที่นำมาขายจะต้องเป็นสินค้าคุณภาพดีจริงๆ

การได้เข้ามาจำหน่ายสินค้าในตลาดอ.ต.ก. น้องนิดใช้หลักการบริหารความคาดหวังของลูกค้า ด้วยการเปลี่ยนวิธีการขายทุเรียนใหม่ จากการชั่งน้ำหนักเป็นลูกแล้วมีบริการแกะขาย มาเป็นแกะขายเป็นพูราคาตามน้ำหนัก เป็นเจ้าแรกๆ ในตลาดอ.ต.ก. พูดง่ายๆ ก็คือ เปลี่ยนวิธีการขายจาก “จ่ายก่อนแกะ” เป็น “แกะก่อนจ่าย” ลูกค้าได้เห็นสินค้าก่อนจ่ายเงินซื้อ เรียกว่าลูกค้าชอบกินทุเรียนเนื้อแบบไหนร้านทุเรียนน้องนิดระยองสามารถหาทุเรียนตามที่ต้องการมาจำหน่ายได้หมด

จากประสบการณ์ในการคลุกคลีกับตลาดผลไม้มาตั้งแต่ยังเด็ก น้องนิดรู้ดีว่าความคาดหวังของคนที่ซื้อผลไม้สดไปรับประทานทุกคน ล้วนคาดหวังที่จะได้กินผลไม้สด รสชาติดี ซึ่งในความเป็นจริงก็ต้องยอมรับว่าสินค้าเกษตร เป็นอะไรที่ไม่สามารถการันตรีได้ 100% จนกว่าจะแกะเปลือกออกมาดู หลายครั้งที่เราเลือกทุเรียนด้วยตัวเองมาแล้ว กลับต้องผิดหวังเวลาหยิบออกมากิน ทั้งๆที่เราเป็นคนเลือกดูเองกับตา เลือกสัมผัสเนื้อเองกับมือ โดยเฉพาะกับทุเรียนออร์แกนิค

 

เหตุผลเพราะว่าทุเรียนส่วนใหญ่ในปัจจุบันจะใช้วิธีการป้ายน้ำยาเร่งสุกที่ขั้ว เพื่อให้ทุกเรียนสุกเร็วและสุกพร้อมกันทั้งลูก แต่ทุเรียนปลอดสารเคมีจะสุกไม่พร้อมกันทั้งลูก เพราะฉะนั้นโอกาสที่จะได้กินทุเรียนปลอดสารเคมีแบบเนื้อเดียวกันทั้งลูกจึงเป็นไปได้ยากมากๆ ปัจจุบันนี้ราคาเฉลี่ยของทุเรียนพันธุ์หมอนทองแบบชั่งขายทั้งลูกจะตกประมาณ 150-300 บาทต่อกิโลกรัม ถูกหรือแพงตามขนาดของลูกและทำเล แต่ร้านน้องนิดตั้งราคาขายทุเรียนแกะขายเฉพาะเนื้อในราคากิโลกรัมละ 3,000 บาท ถ้าเป็นทุเรียนกก้านยาวหรือหมอนทองคัดพิเศษจะขายกิโลกรัมละ 5,000 บาท

เห็นราคาขายสูงขนาดนี้ ถ้ามีโอกาสไปดูที่ร้านจะเห็นว่าคนซื้อไม่มีใครต่อราคาเลยแม้แต่คนเดียว ทุกคนยอมจ่ายแพงกว่าเพื่อแลกกับคุณภาพ ถูกต้องแล้ว ร้านน้องนิดระยองกำลังทำธุรกิจแบบบริหารความคาดหวังของลูกค้า น้องนิดเล่าให้ฟังว่า มีลูกค้าของร้านจำนวนไม่น้อยที่ซื้อเพื่อไปเป็นของฝากผู้ใหญ่หรือไปรับแขก ซึ่งความคาดหวังของคนกลุ่มนี้ คืออยากเห็นคนที่รับหรือคนที่ได้กินรู้สึกดี จึงไม่เกี่ยงเรื่องราคา

เบื้องหลังความสำเร็จของการตั้งราคาขายได้สูงขนาดนี้ น้องนิดบอกว่า กว่าจะซื้อใจลูกค้าได้ต้องใช้ทั้งเวลาและประสบการณ์ เพราะเทียบกับน้ำหนักทั้งเปลือกทุเรียน 1 กิโลกรัม น้องนิดสามารถแกะเนื้อขายได้เพียง 300 กรัมเท่านั้น ที่เหลือต้องนำไปแปรรูป เพราะคุณภาพไม่ถึง ถ้าเป็นร้านอื่นอาจจะใช้วิธีแอบยัดป่ะปนไป แต่ร้านน้องนิดไม่ทำเด็ดขาด ข้อดีของการปลูกเองและมีหน้าร้านขายเองที่ตลาดอ.ต.ก.นี้ทำให้น้องนิดสามารถควบคุมคุณภาพของทุเรียนได้ 100% 

 

ปัจจุบันนี้ทางอ.ต.ก.เองก็มีการควบคุมดูแลคุณภาพของร้านค้าที่จำหน่ายในตลาด ตามนโยบายที่จะส่งเสริมเกษตรให้พัฒนาคุณภาพของสินค้าเกษตรให้ดีขึ้น โดยแต่ละปีจะมีการเลือกร้านค้าดีเด่นเพื่อมอบรางวัล Best of Ortorkor ซึ่งร้านทุเรียนน้องนิดก็ได้รางวัลมาเช่นกัน รางวัล Best Of Ortorkor นี้ ทางองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร จัดขึ้นมาเพื่อวัตถุประสงค์เพื่อต้องการยกระดับสินค้าเกษตรของไทย และให้เกษตรกรเน้นสร้างแบรนด์ หรือใช้การตลาดนำการผลิต เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ก้าวสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าเกษตรด้วยแบรนด์ โดยคณะกรรมการจะมอบรางวัลให้กับร้านค้าผ่านการคัดสรรสินค้าเกษตรและแปรรูปที่ดีที่สุดตามวิสัยทัศน์ใหม่ของ อ.ต.ก.ที่มีเป้าหมาย การสร้างมูลค่าทางการตลาดสินค้าเกษตร ช่วยให้เกษตรไทยหลุดพ้นจากปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ปรับเปลี่ยนจากผลิตในเชิงปริมาณ มาเป็นผลิตในเชิงคุณภาพ สร้างมูลค่าเพิ่มโดยใช้การตลาดนำการผลิตส่งตรงสินค้าเกษตรคุณภาพคัดสรร เจาะตลาดทั้งในและต่างประเทศ พร้อมเดินหน้าวิสัยทัศน์ใหม่ ชู อ.ต.ก.เป็นตลาดสินค้าเกษตรที่มีมูลค่าไม่น้อยกว่า 20,000 ล้านบาทต่อปี ภายในปี 2564

แม้จะมีรางวัลการันตรีคุณภาพ แต่ทุกวันนี้น้องนิดก็ยังทำตลาดด้วยการบริหารความคาดหวังเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง เริ่มจากลูกค้าทุกคนจะได้ชิมทุเรียนแบบไม่เสียดายของ คือหั่นให้ลองชิมเป็นชิ้นใหญ่ๆ แบบชิ้นนึงครึ่งพูโดยไม่หวงของ เพื่อให้ทราบความต้องการของลูกค้าว่าชอบกินเนื้อแบบไหน เพราะบางคนชอบกินเนื้อนุ่ม บางคนชอบกินเนื้อแข็ง บางคนชอบกินกรอบนอกนุ่มใน แต่การจะสังเกตเนื้อและสีของทุเรียนแต่ละพูให้ออกจำเป็นต้องมีประสบการณ์ในการคัดทุเรียนจริงๆ ถึงจะคัดเกรดทุเรียนให้ได้เนื้อที่พอดี ความหวานที่ต้องการ ไม่ใช่จะทำได้ง่ายๆ

 

ทุกวันนี้ลูกค้าของพี่นิดเป็นลูกค้าประจำและขาจรอย่างละครึ่ง โดยลูกค้าประจำนั้นส่วนใหญ่จะโทรสั่งล่วงหน้าหลัง 2 ทุ่ม 1 วัน เพราะรู้ว่าหลัง 2 ทุ่มจะโทรติดง่าย การที่ร้านทุเรียนน้องนิดระยองเดินทางมาถึงจุดนี้ได้ ส่วนหนึ่งก็มาจากการบริหารความคาดหวังความต้องการของลูกค้าได้เกือบ 100% นับวันการขายทุเรียนแบบแกะเนื้อขายที่ตอบโจทย์การบริหารความคาดหวังจึงเป็นที่นิยมมากขึ้น 

 

ในตลาดนัดออนไลน์ที่กำลังได้รับความนิยมช่วง COVID-19 เราจึงเห็นพ่อค้าแม่ค้าโพสต์ขายทุเรียนแบบแกะขายเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากวิธีนี้สามารถปิดการขายได้ง่ายสำหรับคนที่อยากได้สินค้าคุณภาพ ไม่ต้องมานั่งลุ้น

ลองหลับตานึกภาพดู...

ลูกค้าจะรู้สึกดีแค่ไหน ถ้าเอาโทรศัพท์ไปซ่อมแล้วศูนย์บริการแจ้งระยะเวลา 1 สัปดาห์ แต่วันรุ่งขึ้นได้รับโทรศัพท์จากพนักงานว่า โทรศัพท์ซ่อมเสร็จแล้วไปรับได้เลย

ลูกค้าจะรู้สึกดีแค่ไหน ถ้าไปซื้อของแล้วร้านมอบของขวัญวันเกิดชิ้นเล็กๆ ให้จากเก็บข้อมูลสมาชิกไว้

ลูกค้าจะรู้สึกดีแค่ไหน ถ้าไปรับประทานอาหารแล้วเชฟเดินออกมาทักทายลูกค้าด้วยตัวเอง

เพราะฉะนั้นผู้ประกอบการ SME ทุกคน จึงควรหมั่นสำรวจธุรกิจของตัวเองอย่างสม่ำเสมอ ว่าสินค้าและบริการของเรานั้น สามารถตอบสนองความคาดหวังของลูกค้าหรือยัง

 

Did You Know

ปัจจุบันนี้ อ.ต.ก. ได้เพิ่มช่องทางการขายสินค้าออนไลน์ เพื่อเพิ่มความสะดวกให้กับผู้บริโภคผ่านเว็บไซต์ www.ortorkor.com โดยผู้บริโภคสามารถซื้อสินค้าจากตลาด อ.ต.ก. โดยตรง และมียังมีบริการส่งสินค้าถึงบ้านอีกด้วย

หรือหากเกษตรท่านใดต้องการนำสินค้าเข้าไปจำหน่ายสามารถดาวน์โหลดแบบฟอร์มได้ที่ QR Code นี้ แล้วส่งใบสมัครเข้าจำหน่ายสินค้าไปที่ E-Mail : ortorkor@mof.or.th

 



Published on 15 August 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

บทความแนะนำ