เริ่มต้นธุรกิจร้านอาหารแบบต้นทุนต่ำ ด้วยโมเดล Ghost Kitchen

เริ่มต้นธุรกิจร้านอาหารแบบต้นทุนต่ำ ด้วยโมเดล Ghost Kitchen

การเริ่มต้นทำธุรกิจร้านอาหารในปัจจุบัน กลายเป็นเรื่องง่ายที่ใครๆ ก็สามารถทำได้ เพราะยุคนี้ไม่ต้องลงทุนเช่าสถานที่ แต่ก็สามารถขายอาหารให้ผู้บริโภคได้ เพราะด้วยรูปแบบใหม่ของการทำธุรกิจร้านอาหาร ที่เรียกว่า Ghost Kitchen ซึ่งเป็นการเปรียบเปรยถึงโมเดลของการทำธุรกิจร้านอาหารแบบที่ไม่มีหน้าร้านไว้สำหรับลูกค้ามานั่งรับประทาน จะมีก็เพียงแต่ครัวที่ใช้ประกอบอาหาร และทำการขายแบบเดลิเวอรี่เท่านั้น

เริ่มต้นร้านอาหารง่ายๆ แบบไม่ต้องมีหน้าร้าน

Ghost Kitchen การทำธุรกิจร้านอาหารแบบไม่มีหน้าร้าน มีเพียงแค่ครัวที่ใช้ประกอบอาหาร กลายเป็นทางเลือกในการเริ่มต้นธุรกิจร้านอาหารของคนยุคนี้ โดยเฉพาะในสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ทำให้ผู้คนเลือกที่จะอยู่บ้านและสั่งอาหารให้มาเสิร์ฟถึงหน้าประตูส่งผลให้ธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรี่ (Food Delivery) เติบโตเป็นอย่างมาก ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้มีผู้ประกอบการหน้าใหม่อยากจะเริ่มต้นขายอาหารออนไลน์แบบที่ไม่มีหน้าร้านเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก

ข้อดีของ Ghost Kitchen คือ เป็นโมเดลธุรกิจที่มีต้นทุนต่ำกว่าร้านอาหารทั่วไป เพราะไม่ต้องเช่าสถานที่ขนาดใหญ่ ไม่ต้องมีค่าตกแต่งร้าน แต่อาจจะใช้เป็นสถานที่ภายในบ้านหรือที่พักของตัวเอง ทำเป็นครัวกลางขึ้นมา จากนั้นทำการเชื่อมต่อร้านกับแอปพลิเคชันเดลิเวอรี่ต่างๆ หรือจะทำการรับออเดอร์สั่งซื้อของลูกค้าผ่านโซเชียลมีเดียหรือเว็บไซต์แล้วทำการจัดส่งเองก็ได้ ดังนั้น Ghost Kitchen จึงเป็นโมเดลธุรกิจที่สามารถเริ่มต้นได้ด้วยตัวเอง หรืออาจมีทีมงานเพียงไม่กี่คนก็ออกสตาร์ทธุรกิจได้แล้ว 

ส่วนข้อควรระวังสำหรับคนที่อยากจะชิมลางเปิดครัวในรูปแบบนี้ คือ การไม่มีหน้าร้าน อาจทำให้ลูกค้ามีความกังวลใจในเรื่องต่างๆ เช่น เรื่องความสะอาดและถูกหลักอนามัย ดังนั้น สิ่งที่ผู้ประกอบการควรทำ ก็คือ การปฎิบัติตามข้อกำหนดต่างๆ ที่ทางสำนักสุขาภิบาลอาหารและน้ำ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้กำหนดเอาไว้ เช่น สถานที่เตรียม – ปรุง – ประกอบอาหาร ต้องสะอาดเป็นระเบียบและจัดเป็นสัดส่วน ไม่เตรียมหรือปรุงอาหารบนพื้นและบริเวณหน้าหรือในห้องน้ำ ห้องส้วม และต้องเตรียมปรุงอาหารบนโต๊ะที่สูงจากพื้นอย่างน้อย 60 ซม. และผู้สัมผัสอาหารต้องแต่งกายเรียบร้อย ล้างมือให้สะอาดก่อนเตรียมปรุง ประกอบ และจำหน่ายอาหารทุกครั้ง เป็นต้น 

ทั้งนี้ สามารถศึกษาข้อกำหนดมาตรฐานด้านสุขาภิบาลอาหาร เพิ่มเติมได้ที่ สำนักสุขาภิบาลอาหารและน้ำ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข

นอกจากนี้ เรื่องของความเชื่อมั่น ยังเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการต้องให้ความสำคัญ โดยอาหารที่ลูกค้าจะได้รับนั้นต้อง “ตรงปก” หรือตรงตามภาพเมนูอาหารที่แสดงไว้บนแอปพลิเคชัน โซเชียลมีเดีย หรือเว็บไซต์ เนื่องจากการที่ไม่มีหน้าร้าน ทำให้ลูกค้าไม่สามารถได้เห็นของจริงได้

อีกทั้ง ทางร้านยังต้องหมั่นทำการประชาสัมพันธ์และทำการตลาดออนไลน์ให้ดี ไม่ว่าจะเป็นการถ่ายภาพอาหารให้สวยงามน่ารับประทาน เผยภาพขั้นตอนการปรุงอาหาร ทำคอนเทนต์ที่มาของวัตถุดิบวิธีการคัดสรรและการนำมาใช้  ไปจนถึงการนำคอมเมนต์หรือรีวิวต่างๆ จากปากลูกค้าตัวจริงมาบอกต่อ เพื่อสร้างบรรยากาศของความเชื่อมั่นให้คนที่อยากจะลิ้มลองรสชาติและคนที่ร่วมรับประทานจากครัวเดียวกันให้เกิดขึ้นได้  

ทางเลือกใช้บริการ Ghost Kitchen แบบไม่ต้องลงทุนเอง 

นอกจากผู้ประกอบการจะใช้โมเดล Ghost Kitchen ในการเริ่มต้นธุรกิจด้วยตัวเองแล้ว หากใครที่ยังไม่พร้อมจะลงมือสร้างระบบครัวกลางของตัวเองขึ้นมา อาจจะไปใช้บริการเช่าครัวกลางเพื่อเริ่มต้นทำธุรกิจก็ได้เช่นกัน เนื่องจากปัจจุบันนี้ มีธุรกิจต่างๆ ที่พากันเปิดให้บริการ Ghost Kitchen สำหรับคนที่อยากเริ่มต้นในธุรกิจอาหาร สามารถมาใช้บริการเป็นรายเดือนได้ ยกตัวอย่างเช่น

Grabfood ที่ออกตัวก่อนใครในเรื่องนี้ ด้วยการเปิด GrabKitchen ในพื้นที่ชั้น 2 ของตลาดสามย่าน ทำเป็นครัวกลางเปิดให้ผู้ประกอบการร้านอาหารมาเช่าสำหรับทำอาหาร เพื่อจัดส่งผ่าน GrabFood โดยเฉพาะ เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบร้านอาหารได้มีโอกาสขยายธุรกิจโดยไม่ต้องลงทุนมาก และช่วยลดค่าใช้จ่าย เพราะทาง Grab จะมีผู้ช่วยคอยจัดการรับ-ส่งออเดอร์ให้

กับผู้ขับโดยตรง อีกทั้งยังเพิ่มโอกาสให้กับร้านอาหารที่อยู่ไกลเกินระยะจัดส่งให้มารวมตัวกันในที่เดียวย่านใจกลางเมือง ซึ่งจะทำให้ค่าจัดส่งถูกลงด้วย จึงทำให้ลูกค้ามีโอกาสสั่งได้บ่อยขึ้นนั่นเอง

เช่นเดียวกับ LINE MAN ได้เปิดให้บริการ LINE MAN Kitchen โดยปักหมุดอยู่ในย่านปุณณวิถี เปิดให้บริการทุกวันในรัศมี 25 กม. ตั้งแต่เวลา 10.00 – 20.00 น. เพื่อช่วยผู้ประกอบการร้านอาหารสามารถเข้ามาขยายฐานลูกค้าในเขตกรุงเทพฯ ฝั่งตะวันออก 

นอกจากนี้ ยังมี Food Panda ที่เปิดประตูครัวกลางอย่าง Krua by Foodpanda ณ โครงการ The Curve อ่อนนุช ซอย 17 เพื่อให้บริการและแบ่งปันพื้นที่ทำครัวในลักษณะเดียวกัน เรียกว่าเป็นการเปิดโอกาสให้ร้านต่างๆ ที่ต้องการทำ Ghost Kitchen สามารถจับมือทำครัวร่วมขายอาหารผ่านทางแอปพลิเคชัน เพื่อให้เข้าถึงลูกค้าได้ง่ายขึ้น 

ไม่เพียงแต่แพลตฟอร์มเดลิเวอรี่เท่านั้นที่เปิดให้บริการ Ghost Kitchen แม้แต่โฮสเทลสุดชิคใจกลางเมือง ที่ตั้งอยู่ ณ ตึกนานาสแควร์ สุขุมวิท 3 อย่าง Hom Hostel & Cooking Club ก็ได้เปิดพื้นที่ครัวให้เช่า ในรูปแบบการเช่าครัวรายเดือนพร้อมที่พักพ่อครัว เพื่อเป็นอีกช่องทางให้ร้านอาหารที่อยากมีสาขาในเมือง เน้นขายเดลิเวอรี่ และไม่อยากให้ลูกค้าต้องเสียค่าส่งแพงได้เข้ามาทำธุรกิจ โดยทางโฮสเทลจะจัดให้มีการรวมกลุ่มกันเพื่อทำการตลาดแบบกลุ่ม และทำให้การจัดส่งมีค่าบริการที่ถูกลง และหากลูกค้าทำการสั่งล่วงหน้า ก็จะไม่ต้องเสียค่าส่ง หรือ ค่า GP ให้กับเดลิเวอรี่ต่างๆ ที่มีราคาแพง ดังนั้น การเช่าพื้นที่ครัวกลางจากผู้ให้บริการแบบนี้ จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ดีสำหรับคนที่อยากจะเริ่มต้นทำร้านอาหารแบบไม่มีหน้าร้านที่นับวันจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในวงการธุรกิจอาหาร  

เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว ผู้ประกอบการร้านอาหารหรือคนที่อยากจะหยิบจับธุรกิจด้านนี้ไม่ควรรอช้าที่จะใช้โมเดล Ghost Kitchen เป็นหมากเดินเกมรุก เพื่อลดต้นทุน ลดความเสี่ยง และเพิ่มการเข้าถึงลูกค้าที่วันนี้นิยมและมีความคุ้นชินกับการสั่งอาหารผ่านแอปพลิเคชันหรือออนไลน์ และการจัดส่งแบบเดลิเวอรี่ส่งตรงถึงบ้านมากขึ้น

เรียกว่าเป็นโอกาสทองของเจ้าของร้านอาหารที่ต้องจับทางให้ได้ และอย่าปล่อยให้ช่วงเวลาของการ “ไม่มีหน้าร้านแต่ก็ขายได้” ต้องหลุดลอยไป  

Published on 16 September 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

 

บทความแนะนำ

Eatable แพล็ตฟอร์มสั่งอาหารดิจิตอล ติดอาวุธเทคโนโลยีให้ร้านอาหาร

ร้านอาหารในยุค Covid-19 และหลังจากนี้ ต้องเผชิญกับความท้าทายในหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นมาตรการ Social distancing มาตรการด้านสุขอนามัย และความปลอดภัยต่างๆ

ความท้าทายเหล่านี้บวกเสริมเข้ามาในธุรกิจร้านอาหารขนาดเล็กและขนาดกลาง ที่ต้องเผชิญปัญหาด้านอื่นๆ อยู่ก่อนแล้ว เช่น เรื่องพนักงาน การปรับตัวในยุคดิจิตอล เป็นต้น ผู้ประกอบการ SME ที่ดำเนินธุรกิจร้านอาหาร จึงต้องเร่งปรับตัว เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน เพิ่มโซลูชั่นด้านเทคโนโลยี และตอบสนองพฤติกรรมผู้บริโภคบางส่วนที่เปลี่ยนไป

กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป (KBTG) ได้พัฒนา Eatable (อีทเทเบิล) แพล็ตฟอร์มสั่งอาหารแบบดิจิตอล นับเป็นโซลูชั่นหนึ่งที่จะเข้ามาเป็นตัวช่วยธุรกิจร้านอาหาร โดยขณะนี้อยู่ในช่วงทดสอบ (Public Beta) และเตรียมเปิดตัวในเดือนตุลาคมนี้ 



Eatable เป็นบริการสั่งอาหารออนไลน์ ทั้งสำหรับลูกค้าทานที่ร้าน สั่งล่วงหน้าเพื่อไปรับที่ร้าน และให้จัดส่งเดลิเวอรี่ (Dine-in, Dine-Out & Delivery) โดยอีทเทเบิลจะช่วยร้านอาหารสร้างเมนูดิจิตอลบนเว็บไซต์ของอีทเทเบิล ร้านอาหารสามารถพรินต์ QR Code มาไว้ที่โต๊ะ ลูกค้าที่มาที่ร้านไม่ต้องสัมผัสตัวเมนู ไม่ต้องโหลดแอปพลิเคชั่น เพียงสแกน QR Code ก็สั่งอาหารผ่านเมนูออนไลน์ได้เลย จึงปลอดภัยและไม่ต้องรอให้พนักงานมารับออเดอร์ ทั้งการเลือกทานในร้านทันที หรือสั่งอาหารล่วงหน้า 

  ดร.สุรศักดิ์ จันทศิริโชติ Advanced Partnership Engineer, KBTG กล่าวว่า ร้านอาหารจำนวนมากเจอปัญหาเรื่องพนักงาน โดยยกตัวอย่างร้านอาหารขนาดเล็กที่มีพนักงาน 3 คน พนักงานอาจเป็นนักศึกษาที่รับงานพาร์ทไทม์ หรือชาวต่างชาติจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งบางครั้งพนักงานชาวต่างชาติก็กลับประเทศของตนและไม่กลับมาอีก

ถ้าร้านอาหารมีปัญหาเรื่องพนักงาน มีพนักงานใหม่ ต้องมานั่งเทรนพนักงานต่างๆ แล้วต้องบอกว่า การที่เขาต้องมีพนักงานเยอะ เพราะงานของพนักงานเริ่มต้นตั้งแต่ พาลูกค้าไปที่โต๊ะ เอาเมนูไปให้ คอยจดออเดอร์ จนถึงการเสิร์ฟ และเก็บโต๊ะ เราก็มองว่าในอนาคต มีส่วนที่ดิจิตอลสามารถเข้ามาช่วยได้ แล้วลดภาระของพนักงาน ยกตัวอย่าง ลูกค้ามาที่โต๊ะก็สั่งอาหารเองได้เลย และพนักงานก็ไปโฟกัสในการให้บริการในส่วนอื่น ตรงนี้อาจช่วยในมุมผู้ประกอบการ สมมติวันหนึ่งพนักงานออก แทนที่เขาต้องหาพนักงานมาเสริมโดยเร็ว หรือวันหนึ่ง manpower เขาอาจลดลงได้ดร.สุรศักดิ์ กล่าว

โซลูชั่นของ Eatable จึงมีส่วนช่วยเสริมประสิทธิภาพให้ธุรกิจร้านอาหาร และพัฒนาคุณภาพการบริการ 

ในส่วนของการสั่งอาหารล่วงหน้าหรือให้จัดส่งเดลิเวอรี่ SME หลายรายใช้โซเชียล มีเดีย ในการรับออเดอร์ลูกค้า แต่ก็ยังไม่สะดวกและยังไม่ตอบโจทย์

ดร.เจริญชัย บวรธรรมรัตน์ Senior Principal Visionary Architect, KBTG กล่าวว่า ร้านอาหาร SME ที่ไม่ได้มีทุนหนา และไม่ใช่เป็นเชนใหญ่ มีการใช้ช่องทาง เช่น Line Facebook Messenger ในการรับออเดอร์จากลูกค้า หลายครั้งต้องใช้เวลานานในการรับออเดอร์ และร้านอาหารต้องมารวบรวมเองเราจึงนำอีทเทเบิลเข้าไปตอบโจทย์ โดยมีเมนูออนไลน์ ลูกค้ากดสั่งอาหารจากเมนูออนไลน์ได้เลย” 

สำหรับลูกค้าเดลิเวอรี สามารถกดลิงก์ที่ร้านอาหารลงไว้ในทุก ๆ ช่องทาง แล้วสั่งอาหารผ่านเมนูออนไลน์ พร้อมตัวเลือกในการส่งเดลิเวอรีที่เปิดกว้าง ไม่ว่าจะให้คนของร้านไปส่งเอง หรือให้ร้านอาหารเป็นผู้เลือกผู้ให้บริการจัดส่งเจ้าที่คุ้มค่าที่สุด โดย Eatable จัดทำระบบที่ช่วยแนะนำส่วนลดค่าจัดส่งที่เหมาะสม สำหรับให้ร้านอาหารใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงเพื่อมอบส่วนลดค่าบริการจัดส่งแก่ลูกค้าที่สั่งอาหารโดยตรงกับทางร้าน ดร.เจริญชัย กล่าวว่า เราแนะนำเรื่องส่วนลดให้ แต่ร้านค้าจะเลือกของเดลิเวอรี่เจ้าไหน หรือว่ายังไง ร้านค้าเป็นคนตัดสินใจเอง”

Eatable ไม่คิดค่าธรรมเนียมใดๆ ร้านค้าใช้ได้ฟรี และเป็นระบบที่ทำงานผ่าน QR Code และเว็บแพล็ตฟอร์ม ร้านค้าจึงไม่ต้องซื้ออุปกรณ์ใหม่เพิ่มเติม นอกจากนั้น ผู้ประกอบการยังสามารถจัดการหน้าร้านออนไลน์ สร้างหรือปรับเปลี่ยนข้อมูลต่างๆ ได้เองทันที เช่น เมนูอาหาร ราคา รูปภาพ และข้อมูลของร้าน  

Eatable วางแผนจะเชื่อมเข้าสู่บริการรับชำระเงินแบบออนไลน์ โดยจะเชื่อมกับการชำระเงินในบางช่องทางในเดือนกันยายนนี้ ก่อนที่จะพัฒนาให้ครอบคลุมทุกช่องทางในอนาคต นอกจากนั้น Eatable ยังเล็งเปิดตัวมินิโปรแกรมไคไท่เตี่ยนไช่ (Kai Tai Dian Cai) บริการสั่งอาหารสำหรับนักท่องเที่ยวจีนผ่านแอปวีแชทในช่วงปลายปีนี้

ดร.เจริญชัย เชื่อมั่นว่า สุดท้ายโควิดจะมีวันที่สถานการณ์คลี่คลายขึ้น นักท่องเที่ยวจะกลับมา เพราะเศรษฐกิจเมืองไทย สัดส่วนใหญ่ รายได้มาจากนักท่องเที่ยว ในมุมของเตี่ยนไช่ เราคิดกันว่าฟังก์ชั่นนี้ยังไงก็ต้องมีแน่นอน เพราะรองรับการท่องเที่ยวเป็นหลัก ยังไงต้องเกิด แต่จะเกิดเร็วเกิดช้าขึ้นอยู่กับสถานการณ์ ในมุมของ KBTG และผู้บริหารเคแบงก์ทั้งหมด มองว่า เราอยากเตรียมความพร้อมตรงนี้ไว้”

มีการวิเคราะห์กันว่า ในอนาคต KBTG จะมีการใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่วิ่งบนแพล็ตฟอร์ม Eatable และอาจต่อยอดธุรกิจของธนาคารกสิกรไทย อาทิ การปล่อยสินเชื่อให้กับร้านอาหาร ในประเด็นนี้ ดร.เจริญชัยและดร.สุรศักดิ์ ตอบตรงกันว่า ตอนนี้ไม่ได้คิดไปถึงมุมนั้น เพราะเรื่องสินเชื่อ ขึ้นอยู่กับผู้ประกอบการว่าเห็นโอกาสทางธุรกิจหรือไม่อย่างไร 

ยกตัวอย่าง เจ้าของร้านข้าวมันไก่ อยู่ข้างทาง ทำกันเอง 3-4 คนในครอบครัว อาจไม่มีความจำเป็นที่ต้องการกู้เลยก็ได้ เพราะเขาพอมีของเขาอยู่แล้ว ถ้าเป็นผู้ประกอบการที่ไซต์โตขึ้นมานิดหนึ่ง สร้างแบรนด์ เริ่มมีประมาณ 1-2 สาขา ตรงนี้เขาอาจต้องการข้อมูลที่ชัดเจนมากขึ้น แล้ววันหนึ่งเวลาที่เขาเดินไปหาแบงก์ อาจเดินไปแบงก์ด้วยความภาคภูมิว่า คิดว่าสำเร็จ ขอขยายสาขา 3 สาขา 4 ซึ่งตรงนี้อาจไปตอบโจทย์ได้ แต่ถ้าเป็นเชนใหญ่ไปเลย ต่อให้ไม่มี Eatable เขาก็กู้ได้อยู่แล้ว เราจึงมองว่า Eatable อยากไปช่วยให้ผู้ประกอบการรู้ตัวเองว่า ธุรกิจของเขาดีหรือไม่ดี ดำเนินไปทางไหน พูดในมุมของ Data ตรงนี้สำคัญมากกว่าดร.สุรศักดิ์ กล่าว

นอกจากร้านอาหารแล้ว มีการคาดการณ์ว่า Eatable อาจต่อยอดขยายไปสู่ธุรกิจอื่นๆในอนาคต เช่น มินิมาร์ท เป็นต้น ในเรื่องนี้ ดร.สุรศักดิ์ อธิบายว่า Eatable เหมาะกับผู้ประกอบการร้านอาหาร และผู้ที่เกี่ยวข้องกับอาหาร เพราะระบบถูกออกแบบมาเพื่อร้านอาหาร  

มีหลายเจ้าถามเข้ามาว่า เอา Eatable ไปขายอย่างอื่นได้ไหม ผมจะอธิบายว่า ถ้าสมมติว่ามีโอกาสแบบนั้นเข้ามา และคนที่เข้ามาประสาน สมมติว่าเป็นเป็นองค์กรใหญ่ ดูแล้วบอกว่าแพล็ตฟอร์มหน้าตาประมาณนี้ น่าจะไปตอบโจทย์อุตสาหกรรมอื่นได้ด้วย ผมคิดว่า เราอาจจะมา Co-Work ร่วมกันดีกว่า เพราะตอนนี้ผมอาจจะรู้ในมุมของร้านอาหาร รับออเดอร์ Flow เป็นอย่างไร แต่สำหรับธุรกิจอื่น เราอาจจะต้องเรียนรู้พฤติกรรมผู้บริโภค

สำหรับธุรกิจร้านอาหาร แน่นอนว่าต้องปรับตัวในหลายมิติ เพื่อให้อยู่รอดและเติบโต เทคโนโลยีเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ช่วยบริหารจัดการธุรกิจให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และ Eatable ก็เป็นหนึ่งในโซลูชั่นที่เข้ามาตอบสนองร้านอาหารในยุคดิจิตอล 

Published on 16 September 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

 

บทความแนะนำ

Robinhood แพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรี่ไทย

ท่ามกลางความนิยมสั่งอาหารผ่านแอปพลิเคชั่นของผู้บริโภค ร้านอาหารกลับต้องเจอปัญหาที่หนักหน่วงจากการพึ่งพิงแพลตฟอร์มต่างชาติปัญหาหลักของร้านอาหารที่ให้บริการผ่านแพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรี่ คือค่า GP (Gross Profit) ร้านอาหารต้องจ่ายค่า GP หรือค่าธรรมเนียมให้กับแพลตฟอร์มเดลิเวอรี่ในอัตราที่สูงมาก ประมาณ 30-40% ร้านอาหารขนาดเล็กไม่มีศักยภาพที่จะจ่ายค่า GP ในระดับนี้ได้ไหว หรือจ่ายแล้วเหลือกำไรน้อย หลายร้านก็ผลักภาระให้ผู้บริโภค อีกปัญหาก็คือเรื่องการเคลียร์เงินสั่งอาหาร พอออเดอร์ผ่านแพลตฟอร์ม กว่าจะได้เงินเข้าบัญชีต้องรอนานหลายวัน แต่ร้านอาหารต้องใช้เงินทุนหมุนเวียนเพื่อซื้อวัตถุดิบ ทำให้ร้านขนาดเล็กชักหน้าไม่ถึงหลัง

ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) โดยบริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด จึงเกิดไอเดียสร้างแอปพลิเคชั่นฟู้ดเดลิเวอรี่สัญชาติไทย ชื่อว่า Robinhood (โรบินฮู้ด) โดยไม่มีการเก็บค่าธรรมเนียมใดๆ ไม่มีค่าสมัคร ไม่คิดค่า GP เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการร้านอาหาร นอกจากนั้น ยังสร้างระบบให้เคลียร์เงินจากการสั่งอาหารภายใน 1 ชั่วโมง

คุณสีหนาท ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด กล่าวว่า Robinhood ต้องการช่วยเหลือร้านอาหารขนาดเล็ก-ขนาดกลาง ช่วยลดต้นทุนโดยการไม่ต้องเสียค่า GP ทำให้ร้านอาหารมีกำไรเพิ่มขึ้น ซึ่งโมเดลของ Robinhood แตกต่างจากโมเดลธุรกิจของแพลตฟอร์มต่างชาติรายอื่น 


คนที่มาทำเป็นฟู้ดแพลตฟอร์มวันนี้ส่วนใหญ่จะเป็นฟู้ดแพลตฟอร์มที่มาจากต่างประเทศ ดังนั้นมุมที่เขามองคือ Profit and Loss เขาเข้ามาก็ต้องมาทำกำไรให้เกิดขึ้นบนแพลตฟอร์ม ซึ่งเขาจะไม่สนใจเลยว่าในแง่ร้านค้า ในแง่ไรเดอร์จะเป็นอย่างไร ลูกค้า enjoy อยู่แล้ว เป็นผมเองก็จะเลือกแพลตฟอร์มที่มีค่าส่งที่ถูกที่สุด แต่ Robinhood เราบอกว่า ถ้าค่าส่งแบบนี้เราไม่เข้าไปเล่น เพราะไม่สะท้อนเศรษฐกิจโดยรวมของ 3 ส่วน (ร้านอาหาร ลูกค้า ไรเดอร์) เราจะไม่มีโปรโมชั่น เราจะไม่มีส่วนลด เมื่อร้านค้าไม่ต้องเสีย GP เยอะ เขาก็สามารถอัดโปรโมชั่นกับลูกค้าได้โดยตรงคุณสีหนาท กล่าวและเสริมว่า ค่าขนส่งอาหารวันนี้ถูกบิดเบือนด้วยการอุดหนุน (Subsidy) เช่น ส่วนลดจากแพลตฟอร์ม ซึ่งทำได้เพราะผ่านการระดมเงินทุนมาจากเวนเจอร์แคปปิตอล 

คุณสีหนาท ยกตัวอย่างร้านข้าวมันไก่ ขายข้าวมันไก่หนึ่งจานต้องเสียค่า GP 30% ของมูลค่าอาหารให้กับแพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรี่ แต่หากใช้แพลตฟอร์มของ Robinhood ไม่ต้องเสีย GP 30% ร้านข้าวมันไก่ก็สามารถแถมไก่ทอดหรืออาหารอื่นให้ลูกค้าได้เลย หรือแม้แต่รับผิดชอบค่าขนส่งให้ลูกค้าก็ทำได้

ภาษาของเราไม่เรียก GP เราจะเรียกว่า LS (Logistic Subsidy) คือส่วนลดค่าขนส่งและค่าอาหารโดยตรงจากทางร้านค้าให้กับลูกค้า

Robinhood ได้ทำการคำนวณสถิติพบว่า หากมูลค่าอาหารที่สั่งต่อครั้งต่ำกว่า 300 บาทและระยะทางการส่งไม่เกิน 5 กิโลเมตร Robinhood จะไม่เข้าไปสู่ในแอเรียนี้ เพราะเป็นแอเรียที่แพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรี่ต่างชาติทำการ Subsidy แต่ในกรณีที่มูลค่าอาหารที่สั่งต่อครั้งมากกว่า 300 บาท บวกกับระยะทางการส่งไกล เมื่อร้านอาหารใช้ Robinhood และทำโปรโมชั่นโดยตรงกับลูกค้า ยิ่งยอดการซื้ออาหารจำนวนสูง จำนวนส่วนลดก็ยิ่งสูง จึงไปลดค่าขนส่ง และถ้าเหลือจากค่าขนส่งก็จะลดค่าอาหารอีกด้วย จุดนี้จะเป็นพื้นที่ที่ Robinhood จะทำการแข่งขันกับเจ้าตลาดรายใหญ่ที่เป็นแพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรี่ต่างประเทศ

การดำเนินการโดยไม่คิดค่า GP กับร้านอาหาร เกิดจากโมเดลธุรกิจที่แตกต่างของ Robinhood 

คุณสีหนาท อธิบายว่า Robinhood เป็นแพลตฟอร์ม CSR (Corporate Social Responsibility-ความรับผิดชอบของธุรกิจต่อสังคม) ปกติธนาคารจะมีงบประมาณการทำ CSR ปีละหลายร้อยล้านบาทอยู่แล้ว และธนาคารไทยพาณิชย์ก็มอง Robinhood เป็นดิจิตอล ซีเอสอาร์ แพลตฟอร์ม (Digital CSR Platform) โดย SCB 10X บริษัทลูกของ SCB จัดสรรเงินให้กับ Robinhood เป็นจำนวน 150 ล้านบาทต่อปีผ่านงบ CSR เป็นค่าดำเนินงาน โดยที่ไม่มีกำไร

แม้ Robinhood จะเป็นแพลตฟอร์ม CSR แต่สินทรัพย์สำคัญของแพลตฟอร์ม คือ ดาต้า หรือข้อมูล

แพลตฟอร์ม Robinhood จะทำให้ธนาคารไทยพาณิชย์เรียนรู้ข้อมูล และสามารถวิเคราะห์หารูปแบบและความสัมพันธ์ของข้อมูล (Data Mining) และต่อยอดธุรกิจได้ในอนาคต เช่น การปล่อยสินเชื่อให้ร้านอาหารขนาดเล็กที่ต้องการขยายธุรกิจ รวมถึงการสร้างโมเดลธุรกิจดิจิทัลใหม่ แต่คุณสีหนาทกล่าวว่า ตรงนี้เป็นเรื่องระยะยาว 5-6 ปีข้างหน้า

การที่เราพูดจำนวนลักษณะเป็นปีขนาดนี้ได้ เพราะเราเรียนรู้จากประสบการณ์ที่เราทำสินเชื่อดิจิทัล (Digital Lending) กับทาง Lazada พ่อค้าแม่ค้าที่ขายของออนไลน์บน Lazada วันนี้เราให้สินเชื่อดิจิทัลกับเขา So far, so good ก็ไม่ได้เยอะ จริงๆความต้องการด้านสินเชื่อ เขาอยากได้ ณ จุดที่เขาอยากได้ หรือจุดฉุกเฉินของเขามากกว่า เขาอยากได้สินเชื่อเพราะมีสถานการณ์แบบไหน ไม่ใช่อยู่ดีๆ คนก็อยากมีหนี้นะครับคุณสีหนาท กล่าวและเสริมว่า หาก Robinhood มีดาต้าบนแพลตฟอร์ม ก็จะรู้ความต้องการของร้านค้าว่า ณ โมเมนต์นี้ หรือมีพฤติกรรมลักษณะนี้ แปลว่าต้องการสินเชื่อเพื่อไปพยุง หรือต้องการเงินทุนหมุนเวียนเพื่อธุรกิจ โดยย้ำว่า สิ่งที่พูดคือ 5-6 ปี ไม่ใช่ตอนนี้ และอีก 2-3 ปี

แพลตฟอร์ม Robinhood เป็นตัวเชื่อม 3 ส่วน ได้แก่ ลูกค้า ร้านอาหาร และผู้ขับขี่มอเตอร์ไซด์ที่รับงาน (ไรเดอร์) รูปแบบของดาต้าที่จะได้ก็คือ พฤติกรรมการสั่งอาหารของลูกค้า เช่น ทุกเช้าสั่งอาหารประเภทใดด้วยมูลค่าเท่าไหร่ ทำให้รู้จักโปรไฟล์ลูกค้าและวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ลูกค้าต้องการได้

ส่วนในมุมของร้านค้า Robinhood จะเรียนรู้ว่ายอดออเดอร์สั่งอาหารต่อวันมากน้อยแค่ไหน และทำการวิเคราะห์ข้อมูลได้ คุณสีหนาทยกตัวอย่างร้านอาหารตามสั่งร้านหนึ่ง เจ้าของซื้อหมูทุกวันตอนเช้า 2 กิโลกรัม พอขึ้นออเดอร์ออนไลน์ มีออเดอร์เข้ามาวันละ 100-200 ต่อวัน วันรุ่งขึ้น เขาต้องซื้อหมูเป็น 3 กิโลกรัม แพลตฟอร์มจะคาดการณ์ต่อจากข้อมูลได้ว่า อีกเดือนหนึ่ง ยอดขึ้นไปอีก 50% เขาต้องซื้อวัตถุดิบเพิ่มจาก 2 กิโลกรัมเป็น 5 กิโลกรัม จากปกติเจ้าของร้านพกเงินพันบาทไปซื้อวัตถุดิบสด ธนาคารก็สามารถเสนอให้เงินทุนเพิ่มอีกสามพันบาททุกวัน เป็นการเพิ่มเงินทุนหมุนเวียนในธุรกิจ 

ในมุมนี้ เราสามารถเรียนรู้ได้ว่า ร้านค้ามีความต้องการสินเชื่อเมื่อไหร่อย่างไร ด้วยจำนวนเท่าไหร่จากข้อมูล

Robinhood ซึ่งพาร์ทเนอร์กับ Skootar ในการให้บริการส่งอาหาร เตรียมเปิดตัวในช่วงปลายเดือนกันยายนหรือช่วงต้นเดือนตุลาคม 2563 โดยจะลอนซ์ในกรุงเทพและปริมณฑล 4 จังหวัด ตั้งเป้าร้านอาหารเข้าร่วมแพลตฟอร์มประมาณ 2 หมื่นร้านในช่วงปลายปี 2563

ต้องจับตาว่า Robinhood จะสร้างแรงกระเพื่อมในธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรี่ได้มากน้อยแค่ไหน แต่อย่างน้อย SME ที่ทำธุรกิจร้านอาหารก็มีทางเลือกที่ไม่ต้องเสียค่า GP และเคลียร์เงินเร็ว

Published on 16 September 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย



บทความแนะนำ

“วีระพงศ์ มาลัย” ผู้อำนวยการ สสว. เผยเคล็ด(ไม่)ลับ จะเป็นเจ้าของธุรกิจต้องมี Mindset

เคยสงสัยไหมว่า ใครหลายคนอยากมีธุรกิจเป็นของตัวเอง ซึ่งเหตุผลส่วนใหญ่คือ ได้ทำในสิ่งที่ตัวเองชอบ ถนัด สนใจ หรือมี Passion กับสิ่งนั้น แต่ในโลกความเป็นจริงนั้น ไม่ใช่ทุกคนจะสามารถเป็น เจ้าของธุรกิจ ได้ ทั้งๆ ที่บางคนเป็น เจ้าไอเดีย ขณะที่บางคนสามารถวิเคราะห์สถานการณ์ตลาด หรือบางคนมีข้อมูลด้านธุรกิจอยู่เพียบ !! 

ส่วนบางคนผันตัวเองจากการเป็น มนุษย์เงินเดือนไปสู่สถานะ ผู้ประกอบการได้ในที่สุด หรือบางคนสามารถเริ่มต้นธุรกิจได้เร็ว ถึงแม้ธุรกิจของเขาเหล่านั้น อาจจะยังอยู่ในช่วงตั้งไข่ และต้องพบเจออุปสรรคมากมายบนเส้นทางธุรกิจก็ตาม 

SME ONE จะพาไปหาคำตอบของความสงสัยข้างต้นกับ คุณวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)ได้สะท้อนมุมมอง - แนวคิดของการจะเป็นผู้ประกอบการธุรกิจได้ สำคัญอยู่ที่ “Mindset” มากกว่าการใช้เวลากับไปการวิเคราะห์ SWOT 

ไม่ว่าจะเป็นมองหาโอกาส คิด และรีบลงมือทำ ไม่ปล่อยให้ไอเดียธุรกิจ เป็นแค่โปรเจคที่วาดไว้ในสมุดโน๊ต หรือเป็นไอเดียที่คุยกันในกลุ่มเพื่อนเท่านั้น และเมื่อทำแล้ว หากมีข้อผิดพลาด จะเกิดการเรียนรู้ เพื่อนำไปปรับปรุงแก้ไข พร้อมทั้งจะมาบอกเล่าพันธกิจของ สสว. ที่เป็นทั้งคู่คิด และ Solution ให้กับผู้ประกอบการธุรกิจ SME ทุกรายในไทย 

อย่าเอาแต่วิเคราะห์ “SWOT” จะเริ่มต้นธุรกิจได้จริง ต้องมองหา โอกาส

ในตำราการบริหารธุรกิจ และตำราการตลาด จะมีทฤษฎีต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็น SWOT Analysis, Marketing Mix, Personalized Marketing และศาสตร์ใหม่ๆ อีกเพียบ!

แต่ในโลกของการทำธุรกิจจริงนั้น จุดตั้งต้นของการจะเป็น ผู้ประกอบการธุรกิจ SME" ไม่ได้อยู่ว่าคุณรู้ หรือจดจำทฤษฎี และศาสตร์การบริหารธุรกิจ และการตลาดมากน้อยเพียงใด หากแต่อยู่ที่ “Mindset” และ จิตวิญญาณของการเป็นผู้ประกอบการธุรกิจ” (Entrepreneurial Spirit)  

เวลานึกถึงการเริ่มต้นทำธุรกิจ มักจะคิดว่าต้องวิเคราะห์ SWOT โอกาส - อุปสรรค - จุดอ่อน - จุดแข็ง แต่ในความเป็นจริง โลกของผู้ประกอบการ SME ต้องดูจาก โอกาสไม่ได้ดูจากการวิเคราะห์ SWOT 

เช่น อยากเริ่มต้นธุรกิจสักธุรกิจหนึ่ง ถ้าเริ่มต้นจาก SWOT แล้วมองว่า SME มีจุดอ่อนเต็มไปหมด หากเริ่มต้นด้วยมุมมองแบบนี้ ทำอย่างไรก็ไม่ชนะ ในกรณีเดียวกัน ถ้าเริ่มต้นด้วยการมองเห็น โอกาสและเปลี่ยนจุดอ่อนให้สามารถแข่งขันได้ จะทำให้ใครก็ตามที่อยากมีธุรกิจของตัวเอง สามารถเกิดขึ้นได้จริง 

เพราะฉะนั้น Mindset และจิตวิญญาณ คือสิ่งสำคัญสำหรับผู้ประกอบการ SME จะเริ่มต้นธุรกิจได้ คุณต้องทิ้งเรื่อง SWOT ออกไป และมองเรื่องการใช้ โอกาสบวกกับ ศักยภาพที่คุณมี และการแก้ปัญหา ซึ่งรวมถึงการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยคุณวีระพงศ์ ขยายความ 

ยกตัวอย่างกรณีศึกษาแบรนด์ กล้อง GoPro” Action Cemera ระดับโลก มีจุดกำเนิดมาจาก Passion ของ “Nicholas Woodman” ชายชาวสหรัฐฯ ผู้ชื่นชอบกีฬาโต้คลื่น ได้จุดประกายไอเดียในช่วงที่ Nicholas พร้อมด้วยเพื่อนของเขา อยู่ในทริปโต้คลื่นที่ออสเตรเลีย และอินโดนีเซีย

Nicholas อยากบันทึกภาพในขณะกำลังโต้คลื่น เขาจึงทดลองเอากล้องขนาด 35 มม. มารัดที่ข้อมือ เพื่อให้กล้องสามารถจับภาพในขณะที่เล่นกระดานโต้คลื่น แน่นอนว่ากล้องนั้นไม่สามารถจับภาพ Action คุณภาพสูงได้

หลังจากทริปโต้คลื่น Nicholas ไม่หยุดความคิดที่จะอยากได้ Action Camera ที่สามารถจับภาพระยะใกล้ได้ ในราคาเหมาะสม เขาจึงเร่ิมต้นพัฒนาอย่างจริงจัง 

ในที่สุดกล้อง “GoPro 35mm HERO” เปิดตัวออกสู่ตลาดครั้งแรกในปี 2004 จนกระทั่งทุกวันนี้กลายเป็นแบรนด์ Action Cemera ระดับโลกที่มีขายกว่า 100 ประเทศ 

ถึงแม้วันนี้ “GoPro” จะเจอกับความท้าทายใหญ่ นั่นคือ คู่แข่งที่มากขึ้น ขายในราคาถูกกว่า แต่ทว่าด้วยชื่อชั้นของ “GoPro” ได้กลายเป็น Top of mind brand ที่คนให้ความไว้วางใจในเทคโนโลยี และอยู่ในตัวเลือกแรกๆ ของการตัดสินใจซื้อ Action Cemera สักตัวไปแล้ว

“Thought --> Action --> Learn --> Repeat” Mindset ที่ผู้ประกอบการควรมี

ไม่เพียงแต่แสวงหา โอกาสเท่านั้น คุณวีระพงศ์ ยังบอกอีกว่า ผู้ประกอบการธุรกิจ จะต้องมี Mindset หลักคือ “Thought --> Action --> Learn --> Repeat” 

หมายความว่า เมื่อมองเห็นโอกาสแล้ว เกิดความคิด หรือไอเดียบางอย่างขึ้นมา ต้องลงมือทำทันที และเมื่อได้ทำแล้ว จะเกิดการเรียนรู้ ไม่ว่าผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นนั้น จะประสบความสำเร็จ หรือเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้หรือไม่ก็ตาม หากมีข้อผิดพลาดสิ่งใด ก็ให้ปรับปรุงพัฒนาให้ดีขึ้น 

เวลาเราคุยกับใครสักคน แล้วมีคนพูดว่าคิดเหมือนผมเลย ผมเคยคิด เคยพูด ถ้าคุณคิดแบบนี้ แปลว่าคุณยังไม่ได้ลงมือทำ เพราะฉะนั้นต้องคิด และลงมือทำ พอทำแล้ว มีข้อผิดพลาดตรงไหน ให้เรียนรู้ และปรับตัว

อย่างวันนี้ในสถานการณ์ COVID-19 บังคับให้พวกเราต้อง Action จากเดิมคิดเอาไว้ก่อน ยังไม่ได้ลงมือทำ แต่วันนี้ต้องเปลี่ยน Mindset ลงมือทำทันที จะเห็นว่าบางคนค้นพบว่าตัวเขาเองสามารถทำการค้าได้ 

เพราะฉะนั้นหัวใจสำคัญ คือ การจะเป็นผู้ประกอบการต้องมีจากจิตวิญญาณ เมื่อคิดได้ และต้องออกจาก Comfort Zone เพื่อลงมือทำ เมื่อไรที่ลงมือทำแล้ว ที่เหลือจะเป็นกลไกตามมาเอง และในการทำธุรกิจย่อมต้องมีข้อผิดพลาดขึ้นอยู่แล้ว ผู้ประกอบการทำซ้ำ และเรียนรู้กับสิ่งนั้น” 

ทั้งนี้ คำว่า “Thought” ในที่นี้ หมายความรวมถึง วิธีการคิดที่แตกต่างจากคนอื่นด้วยเช่นกัน เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่าในขณะที่ใครๆ ก็อยากเป็นผู้ประกอบการ แต่มักจะพบว่า พอสินค้า หรือบริการใดที่กำลังได้รับความนิยมจากตลาด จะเกิดการทำตามๆ กันมา 

จนในที่สุดเมื่อการแข่งขันสูงขึ้น ย่อมนำไปสู่การแข่งด้านราคา ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อทั้งผู้ประกอบการรายนั้นๆ และทั้งธุรกิจนั้นๆ 

ผู้อำนวยการ สสว. ขยายความว่า ขึ้นอยู่กับว่าผู้ประกอบการจะมองลึกถึงการทำธุรกิจในระดับไหน และอย่างไร เช่น ข้อมูลสถิติรายงานว่าธุรกิจร้านอาหารมีแนวโน้มดี ทุกคนก็เปิดร้านอาหารกัน 

แต่ถ้าคิดต่อไปอีกสเต็ป การเข้าสู่ธุรกิจร้านอาหาร ไม่จำเป็นต้องเปิดร้านอาหารเท่านั้น แต่ผู้ประกอบการสามารถเข้าไปอยู่ในส่วนต่างๆ ของ Supply Chain ร้านอาหารได้ เช่น เป็นผู้ซัพพลายอุปกรณ์จานชามช้อนส้อมให้กับผู้ประกอบการร้านอาหารอีกที 

หรือธุรกิจโรงแรม ไม่จำเป็นต้องกระโดดลงไปแข่งเปิดโรงแรม แต่เข้าไปอยู่ส่วนต่างๆ ของ Supply Chain ธุรกิจโรงแรม เช่น เป็นผู้ผลิตและส่งชุดเครื่องนอนที่พักแขกให้กับโรงแรมต่างๆ 

ยกตัวอย่างเคสผู้ประกอบการรายหนึ่งที่อุบลราชธานี เดิมทีตั้งใจจะขายของออนไลน์ แต่ปรากฏว่าทุกวันนี้ใครๆ ก็เข้ามาขายของออนไลน์กัน ผู้ประกอบการรายน้ีจึงมองไปอีกสเต็ป ด้วยการเปลี่ยนไปเป็น ผู้ประกอบการขายกล่องพัสดุ และอุปกรณ์แพ็คกล่องให้กับร้านค้าออนไลน์อีกที 

ทำให้ผู้ประกอบการที่อุบลราชธานีรายนี้มีฐานลูกค้าที่แน่นอน เพราะกล่องพัสดุ และเทป, กรรไกร เป็นสิ่งจำเป็นของร้านค้าออนไลน์ ก็ทำให้ไม่ต้องเข้าไปแข่งในธุรกิจที่มีการแข่งขันรุนแรง  

จะเห็นได้ว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ได้เกิดจากการวิเคราะห์ SWOT แต่เกิดจากการเห็นโอกาส แล้วลงมือทำ ถ้าคุณมาวิเคราะห์ ธุรกิจอย่างนี้จะไม่เกิด เพราะฉะนั้น Mindset ของผู้ประกอบการคือ คิด แล้วลงมือทำ เกิดการเรียนรู้ และปรับปรุงพัฒนาให้ดีขึ้น” 

สสว. ซัพพอร์ตผู้ประกอบการ SME ไทยในทุก Stage ธุรกิจให้เติบโตแข็งแกร่ง 

ถึงวันนี้เป็นเวลากว่า 3 เดือนแล้วที่ คุณวีระพงศ์ เข้ามาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ สสว. หนึ่งในความมุ่งมั่นที่ต้องการ

ขับเคลื่อน สสว. คือ การทำให้ สสว.เป็นหน่วยงานที่อยู่ผู้ประกอบการธุรกิจ SME นึกถึง ยามที่ต้องการหา Solution ทางธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องแหล่งเงินทุน, องค์ความรู้, เครือข่ายธุรกิจ 

วันนี้ธุรกิจ SME ประเทศไทย สร้างเศรษฐกิจร้อยละ 35 ของ GDP ประเทศ ถ้าประเทศพัฒนาแล้ว พ้นจากรายได้ปานกลาง ธุรกิจ SME ต้องมีร้อยละ 50 ของ GDP จะเห็นว่ารายได้ครึ่งหนึ่งของประเทศ หรือ GDP มาจากกลุ่มธุรกิจ SME และมีเรื่องของการจ้างงานเป็นองค์ประกอบสำคัญด้วย 

สิ่งสำคัญในวันนี้คือ บางครั้งเวลาที่ SME ประสบปัญหา ผู้ประกอบการธุรกิจไม่รู้ต้องไปหาใคร ไม่รู้ต้องพึ่งใคร ทำให้เขาต้องไปหาแต่ละส่วน เช่น ปัญหาเรื่องเงินทุน ผู้ประกอบการ SME จะนึกถึง SME Bank, ธนาคารออมสิน ซึ่งจริงๆ ส่งเสริมโดย สสว. ผ่านกลไกธนาคาร 

หรือถ้าขาดองค์ความรู้ นึกไม่ออกจะไปไหน SME จะนึกถึงหน่วยร่วม จะไม่มีใครนึกถึงว่าองค์ความรู้ สามารถมาที่ สสว. ได้เช่นกัน 

เพราะฉะนั้น สสว. ในฐานะที่เป็นหน่วยงานที่ส่งเสริม และสนับสนุนผู้ประกอบการ SME โดยตรง เพื่อให้พาผู้ประกอบการเตรียมความพร้อม เพื่อไปสู่เป้าหมายที่เขาวางไว้ได้ เราจึงต้องการสร้างความสะดวกให้ผู้ประกอบการธุรกิจ SME ไม่ว่าธุรกิจนั้นๆ จะเพิ่งเริ่มต้น กำลังเติบโต หรือกำลังอยู่ใน Stage ไหนก็ตาม ให้นึกถึง สสว. มีคำตอบให้กับผู้ประกอบการ SME 

ถ้าคุณอยากทำกิจการ สสว. ช่วยคุณได้ ช่วยหาเครือข่ายธุรกิจ สร้างองค์ความรู้ และช่วยเรื่องเงินทุนให้ได้ และหลังจากเร่ิมต้นธุรกิจแล้ว บางทีทำไป แต่ธุรกิจเริ่มมีข้อจำกัด เช่น ติดเรื่องการเข้าถึงเทคโนโลยีบางอย่างที่มีราคาสูง หรือต้องใช้เครื่องจักร แต่เจอแต่เครื่องจักรนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งมีราคาสูง ในขณะที่ของผลิตในประเทศ คุณสมบัติคล้ายกัน แต่ราคาถูกกว่ากันมาก 

ดังนั้น สสว. จะทำหน้าที่เป็นทั้งผู้ชี้นำ และคนกลางเชื่อมโยงผู้ประกอบการต่างธุรกิจ มาเจอกัน ทำให้สามารถขยายเครือข่ายธุรกิจระหว่างกันออกไปได้ ทำให้ผู้ประกอบการสามารถไปถึงเป้าหมายได้คุณวีระพงศ์ สรุปทิ้งท้าย 

Published on 16 September 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

บทความแนะนำ

8 เหตุผล “SME” สำคัญกับระบบเศรษฐกิจประเทศไทยอย่างไร ?!

ท่ามกลางสถานการณ์ “COVID-19” วิกฤตการณ์รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์โลก เพราะสร้างผลกระทบเป็นลูกโซ่ และขยายวงไปในทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะด้านสาธารณสุข, เศรษฐกิจ, ภาคธุรกิจ, สังคม และภาคประชาชน ที่สร้างการเปลี่ยนแปลงต่อชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน ซึ่งคาดการณ์กันว่าหลายสิ่งหลายอย่างจะเปลี่ยนไปในรูปแบบที่ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

หนึ่งใน Sector ที่ได้รับผลกระทบรุนแรง และโดยตรง คือ “ผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลาง และขนาดย่อม” หรือ “SME” และ “ผู้ประกอบการธุรกิจรายเล็ก” หรือ “Micro SME” (มีรายได้ไม่เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี) ในหลายกลุ่มธุรกิจ เป็นผลสืบเนื่องจาก COVID-19 ทำให้ในช่วง Pandemic ต้องหยุด “กิจกรรมทางธุรกิจ” เกือบทั้งหมด เพื่อลดและควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัส 

เมื่อกิจกรรมทางธุรกิจสะดุด สิ่งที่ตามมาคือ “รายได้” ของผู้ประกอบการ SME – Micro SME ที่บางราย เรียกได้ว่าหายไปทันที! ขณะที่บางรายลดลง อีกทั้งยังต้องเจอกับปัจจัย “กำลังซื้อของผู้บริโภค” ที่หดหายไปด้วยเช่นกัน เนื่องจากคนกังวลต่อสภาวะเศรษฐกิจ และความมั่นคงในชีวิต ทำให้ไม่กล้าจับจ่ายใช้สอยเหมือนเดิม 

ส่งผลให้ SME และ Micro SME หลายราย “ขนาดสภาพคล่องทางการเงิน” ในระดับที่มาก-น้อยแตกต่างกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบการที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งสินเชื่อจาก “สถาบันการเงิน” อาจกล่าวได้ว่าการเกิดขึ้นของ COVID-19 แทบจะปิดประตูธุรกิจของเขาก็ว่าได้!!  

เพราะฉะนั้นในขณะที่เวลานี้สถานการณ์ COVID-19 ในไทยอยู่ในทิศทางที่ดีขึ้น แต่ภาพที่ปรากฏขึ้นตลอดระยะเวลา 5 – 6 เดือนที่ผ่านมา จนถึงวันนี้ ผู้ประกอบการธุรกิจ SME ยังคงอยู่ในสภาวะ “Survival Mode” ในขณะที่บางรายไม่อาจแบกรับต้นทุนไหว จำใจต้องปิดกิจการไปในที่สุด กระทบต่อไปยังภาคแรงงงาน และหนี้เสียพุ่งสูงขึ้น 

เพื่อก้าวผ่านช่วงเวลาแห่งความท้าทายนี้ไปให้ได้ นี่จึงเป็นภารกิจเร่งด่วนของภาครัฐในการออกนโยบาย และมาตรการเยียวยาต่างๆ เพื่อให้การช่วยเหลือ และสนับสนุน “ธุรกิจ SME และ Micro SME” ให้สามารถเดินต่อไปได้ 

โดยหน่วยงานภาครัฐที่เป็นทั้งผู้ให้คำปรึกษา และแนะนำด้านธุรกิจ - องค์ความรู้ให้กับผู้ประกอบการ SME และ Micro SME อย่าง “สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม” (สสว.) ได้วางแนวทางเยียวยาภาคธุรกิจกลุ่มนี้ เพื่อสร้างสภาพคล่องทางธุรกิจ และเร่งฟื้นฟูผู้ประกอบการ

เหตุผลที่ภาครัฐต้องให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ SME และ Micro SME นั่นเพราะธุรกิจ SME ถือเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจ และสังคมไทย 

SME – Micro SME สำคัญกับระบบเศรษฐกิจไทย และคนไทยอย่างไร ?

ยุทธศาสตร์สร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจในหลายประเทศ หนึ่งในนั้นมาจากการส่งเสริม และสนับสนุนให้เกิดผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายเล็ก สำหรับประเทศไทยก็เช่นกัน ภาคธุรกิจ SME และ Micro SME มีบทบาทสำคัญต่อการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจ และคนไทยในประเทศ 

ทำไม “SME” และ “Micro SME” ถึงเป็นฟันเฟืองสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจไทย และประชาชนในประเทศ ?!?  ไปค้นหาคำตอบกัน

  1. SME และ Micro SME สร้างความหลากหลายให้กับระบบเศรษฐกิจ เนื่องจากทำให้เกิดธุรกิจประเภทต่างๆ มากมาย 
  2. ทำให้เกิดการจ้างงาน และกระจายความเจริญทางเศรษฐกิจไปยังภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ 
  3. สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับวัตถุดิบในประเทศ และกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น เช่น ผู้ประกอบการธุรกิจนำวัตถุดิบท้องถิ่นแต่ละจังหวัด แต่ละภูมิภาคมาผลิตเป็นสินค้า ก่อให้เกิดรายได้กลับไปที่ชุมชน หรือท้องถิ่นนั้นๆ 
  4. ธุรกิจ SME และ Micro SME เข้าไปอยู่ตลอดทั้งกระบวนการธุรกิจ ครอบคลุมตั้งแต่ “ต้นน้ำ” คือ วัตถุดิบ และการผลิต “กลางน้ำ” ผลิต และกระจายสินค้า “ปลายน้ำ” คือหน้าร้าน ไม่ว่าจะรูปแบบออนไลน์ หรือออฟไลน์ รวมถึงส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศ ซึ่งผู้ประกอบการแต่ละรายจะเข้าไปอยู่ในแต่ละส่วนของ Business Supply Chain 
  5. เชื่อมโยงกับระบบนิเวศเศรษฐกิจ ทำให้เกิดการส่งเสริมซึ่งกันและกัน ไม่ว่าจะเป็นเชื่อมโยงกับกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ เช่น SME และ Micro SME เป็นผู้ผลิตสินค้าป้อนให้กับธุรกิจใหญ่ หรือเชื่อมโยงกับภาคการผลิตท้องถิ่น หรือชุมชน และเชื่อมโยงในกลุ่มผู้ประกอบการ SME และ Micro SME ด้วยกันเอง 
  6. ทำให้ผู้บริโภคมี “ทางเลือก” สินค้าและบริการมากขึ้น ตอบโจทย์ในยุคที่ผู้บริโภคมีไลฟ์สไตล์หลากหลาย 
  7. ป้องกันการผูกขาดในระบบเศรษฐกิจ 
  8. เพิ่มศักยภาพ และความสามารถทางการแข่งขันให้กับประเทศ

“ปัจจุบัน SME และ Micro SME สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจประมาณร้อยละ 35 ของ GDP รวมประเทศไทย และ SME รวมทั้ง Micro SME ที่อยู่ในระบบ มีการจ้างงานสูงถึงร้อยละ 85 ขณะเดียวกัน สสว. ได้ตั้งเป้าหมายระยะใกล้ต้องการเพิ่มสัดส่วนมูลค่าทางเศรษฐกิจที่มาจากผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายเล็กให้ได้ร้อยละ 50 ของ GDP รวมของประเทศ 

แสดงให้เห็นว่ารายได้ของประเทศไทย และการจ้างงานในตลาดงานของไทยส่วนใหญ่แล้วเกิดจากกลุ่มธุรกิจเหล่านี้  อย่างไรก็ตามจากสถานการณ์ COVID-19 ส่งผลกระทบกับ SME และ Micro SME ไทยโดยตรง โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว เป็นส่วนสำคัญของการสร้างรายได้ให้กับเศรษฐกิจไทย แต่ปัจจุบันกระทบอย่างหนัก ซึ่งมีผลต่อการจ้างงาน และรายได้ของประเทศ ดังนั้นผู้ประกอบการธุรกิจ SME และ Micro SME ควรได้รับความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน และทั่วถึง” คุณวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กล่าวทิ้งท้ายถึงสถานการณ์ SME และ Micro SME ในไทยขณะนี้

Published on 16 September 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

บทความแนะนำ