ความท้าทายจากการเลิกกิจการของธุรกิจเอสเอ็มอี

หัวข้อ : ความท้าทายจากการเลิกกิจการของธุรกิจเอสเอ็มอี
อ่านเพิ่มเติม : www.kasikornbank.com/th/Challenges-SME-Businesses-21.pdf

 

ในแต่ละปีมีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีรายใหม่ถึงกว่า 6 หมื่นรายที่สนใจเข้าสู่ธุรกิจ ขณะเดียวกัน จากปัญหาและข้อจำกัดต่างๆ ส่งผลให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีประมาณ 2 หมื่นรายต้องปิดหรือเลิกกิจการเช่นเดียวกัน การปิดตัวลงของธุรกิจภายใต้ภาวะเศรษกิจที่ชะลอตัวเริ่มเห็นภาพมากขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจเอสเอ็มอีที่ต้องเผชิญการแข่งขันที่สูง ซึ่งส่วนใหญ่จะกระจุกตัวอยู่ใน 5 กลุ่มธุรกิจหลักได้แก่ ค้าปลีก ค้าส่ง ก่อสร้าง อสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่ม ที่ส่วนใหญ่จะพึ่งพากำลังซื้อในประเทศค่อนข้างสูง

 

สาเหตุหรือปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการปิดกิจการของผู้ประกอบการพบว่า นอกจากเหตุผลทางด้านภาวะเศรษฐกิจที่ทำให้คนชะลอการใช้จ่ายแล้ว ยังเกิดจากปัจจัยภายในของแต่ละธุรกิจ เช่น ต้นทุนการผลิตที่อยู่ในระดับสูงจนไม่สามารถแข่งขันได้ รวมถึงอุปสรรคการเข้าถึงแหล่งเงินทุนจากสถาบันการเงิน โดยเฉพาะในช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัว นอกจากนี้ สาเหตุของการปิดกิจการยังเกิดจากสภาพแวดล้อมของธุรกิจเองที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งมีดังนี้

  • การแข่งขันที่รุนแรง จากการเข้ามาของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีรายใหม่ ๆ รวมถึงธุรกิจรายใหญ่ทั้งจากในประเทศ ที่สนใจลงมาทำตลาดเดียวกับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เช่น
    • ธุรกิจค้าส่งที่ลงมาทำตลาดขายปลีกมากขึ้นเพื่อสร้างรายได้
    • ธุรกิจร้านอาหารรายใหญ่ที่ควบรวมกับรายย่อย เพื่อเพิ่มอำนาจต่อรอง
    • ขณะที่ผู้ประกอบการจากต่างประเทศเอง ก็สนใจเข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มขึ้น อาทิ ผู้รวบรวมสินค้าเกษตร รวมถึงเชนร้านอาหารจากต่างประเทศ ที่เข้ามาแสวงหาโอกาสจากตลาดในไทย เป็นต้น
  • การเปลี่ยนแปลงทางด้านพฤติกรรมผู้บริโภค ซึ่งเป็นไปตามการพัฒนาเทคโนโลยี เช่น
    • ความนิยมในการสั่งซื้อสินค้าผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ที่มีความหลากหลาย ทั้งการสั่งซื้อสินค้าหรือบริการ ส่งผลกระทบต่อธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง
    • ร้านอาหารที่มีหน้าร้าน และไม่มีบริการด้านออนไลน์

แนวทางการปรับตัวในเบื้องต้นของธุรกิจเอสเอ็มอี เพื่อเพิ่มความเข้มแข็งต่อธุรกิจ ดังนี้

ค้าส่งค้าปลีก / ร้านอาหาร

  • หลีกเลี่ยงการแข่งขันด้านราคา เน้นนำเสนอสินค้าและบริการที่แตกต่างจากคู่แข่ง
  • ขยายช่องทางเพื่อเข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมายทั้งหน้าร้านและออนไลน์ หรือแอพพลิเคชั่นที่ช่วยอำนวยความสะดวกผู้บริโภค และเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการธุรกิจ

ก่อสร้าง / อสังหาริมทรัพย์

  • ดูแลสภาพคล่องธุรกิจ ลงทุนในสินทรัพย์ เช่น ที่ดิน ให้เหมาะสม
  • พัฒนาสินค้าที่ตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าที่ยังคงพอมีกำลังซื้อ
  • ใช้นวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อลดต้นทุนด้านแรงงาน หรือแอปพลิเคชันที่ใช้คุมสต็อกสินค้า หรือบริหารการเงิน

เกษตร

  • เร่งหาแหล่งวัตถุดิบทดแทนจากประเทศเพื่อนบ้านที่สามารถนำเข้าได้ เช่น มันสำปะหลัง ผัก/ผลไม้
  • สนับสนุนให้เกษตรกรที่มีพันธะสัญญา ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เพาะปลูก โดยใช้น้ำน้อยลงเพื่อรับมือกับภัยแล้งที่อาจเกิดขึ้นต่อไป หรือกระจายพื้นที่เพาะปลูกไปในพื้นที่ที่มีแหล่งน้ำเพียงพอ รวมถึงการเลือกปลูกพืช/พันธุ์ที่ตรงกับความต้องการของตลาดมากขึ้น

 

ขณะเดียวกัน เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับธุรกิจ และช่วยเพิ่มศักยภาพการแข่งขันได้มากขึ้น จำเป็นต้องปรับโครงสร้างภายในของธุรกิจ ซึ่งอาจพิจารณาดำเนินการ ดังนี้

  • การปรับลดต้นทุน โดยใช้ช่วงที่เงินบาทแข็งค่า ประกอบกับภาครัฐสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ปรับเปลี่ยนเครื่องจักร เทคโนโลยีการผลิตที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดการสูญเสียวัตถุดิบในกระบวนการผลิต หรือลดต้นทุนการใช้พลังงาน และต้นทุนด้านแรงงานลง
  • การผลิตสินค้าหรือบริการให้ตรงกลุ่มเป้าหมาย สอดคล้องกับความต้องการแต่ละกลุ่ม เช่น
    • กลุ่มคนเจนวายและกลุ่มเจนแซต ที่ค่อนข้างให้ความสนใจสินค้าที่ใส่ใจด้านสิ่งแวดล้อมตลอดห่วงโซ่การผลิต
    • กลุ่มคนโสด ต้องการสินค้าไซส์เล็ก หรือร้านอาหารที่จัดพื้นที่เพื่อความเป็นส่วนตัว
    • กลุ่มแม่และเด็ก, กลุ่มคนสูงอายุ เน้นสินค้าสุขภาพและความปลอดภัย เป็นต้น
  • การแสวงหาโอกาสในตลาดใหม่ ที่เฉพาะและมีศักยภาพสูง อาจจำเป็นต้องศึกษาและเรียนรู้ความต้องการผู้บริโภค ก่อนนำเสนอสินค้าและบริการที่ตรงกับความต้องการ เช่น
    • ตลาดสินค้าและอาหารฮาลาล อาหารที่มีโซเดียมหรือน้ำตาลต่ำ สินค้าออแกนิกส์ เครื่องสำอางสำหรับเด็ก ผู้ชายและผู้สูงอายุ เป็นต้น
    • การขยายตลาดไปต่างประเทศ โดยเฉพาะที่มีข้อตกลง FTAs กับไทย ที่ปัจจุบันมี 13 ความตกลง รวม 19 คู่ค้า ซึ่งอาจใช้ช่องทางแพลตฟอร์มออนไลน์ เพื่อให้เข้าถึงตลาดได้สะดวก โดยมีต้นทุนไม่สูงมาก

 

นอกเหนือจากการปรับตัวจากภายในแล้ว ธุรกิจเอสเอ็มอีควรต้องไม่หยุดนิ่งที่จะเรียนรู้ และเท่าทันการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมภายนอกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ตามพฤติกรรมผู้บริโภคของคนรุ่นใหม่ที่มีความภักดีต่อผลิตภัณฑ์หรือตราสินค้าน้อย ส่งผลให้วงจรธุรกิจในปัจจุบันสั้นลงเมื่อเทียบกับอดีตที่ต้องใช้เวลานาน  อาจจำเป็นต้องปรับธุรกิจทั้งทางด้านรูปแบบ คุณสมบัติของสินค้าช่องทางการจัดจำหน่าย กลยุทธ์การตลาดให้สอดคล้องกับเทรนด์หรือกระแสการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวด้วย

 

Published on 18 September 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

 

บทความแนะนำ

หอการค้าไทย ขับเคลื่อน SME ด้วยพลังเครือข่าย

SME นับเป็นหนึ่งในรากฐานสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจไทย ไม่ว่าจะเป็นมิติการจ้างงาน การลงทุน การผลิต รวมทั้งการส่งเสริมการเป็นผู้ประกอบการ SME ไทยเข้มแข็ง เศรษฐกิจไทยก็แข็งแกร่ง แต่หาก SME ไทยอ่อนแอเปราะบาง เศรษฐกิจไทยย่อมอ่อนแรง ไร้พลังขับเคลื่อน ยิ่งสภาพแวดล้อมทางธุรกิจผันผวนท้าทายจากหลากหลายปัจจัย การทำให้ SME แข็งแรงและพัฒนา จึงเป็นความสำคัญลำดับต้นๆ ของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย 

หอการค้าไทย นับเป็นหนึ่งในสถาบันหลักระดับประเทศ ซึ่งทำหน้าที่เสริมสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันให้ภาคธุรกิจไทย และเป็นเครือข่ายสำคัญขององค์กรธุรกิจและ SME

ดร.กฤษณะ วจีไกรลาศ กรรมการเลขาธิการ หอการค้าไทย กล่าวว่า เครือข่ายของหอการค้า มีสมาชิกประมาณ 1 แสนราย โดย 98% เป็นผู้ประกอบการ SME ที่กระจายตัวอยู่ทั่วประเทศ ผ่านหอการค้าไทย (กรุงเทพ) และหอการค้าจังหวัด, สมาคมการค้าขึ้นอยู่กับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย โดยสมาชิกของสมาคมการค้ามีประมาณ 3-4 หมื่นราย ส่วนใหญ่เป็น SME และยังมีสภาธุรกิจต่างประเทศ ซึ่งเครือข่ายสมาชิกก็เป็น SME เช่นกัน

ดร.กฤษณะ อธิบายว่า บทบาทของหอการค้าไทย ช่วยพัฒนา SME ผ่านการให้ความรู้ ให้แนวทางการประกอบธุรกิจ พัฒนาธุรกิจให้เข้มแข็ง รวมถึงช่วยให้ SME เป็นซัพพลายเชนของบริษัทขนาดใหญ่ที่เป็นสมาชิกหอการค้าด้วยกัน

หอการค้าไทยให้ความรู้ทุกด้านแก่ SME อาทิ เรื่องมาร์เก็ตติ้ง, เทคโนโลยี และเรื่องอื่นๆ โดยมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยได้ทำหน้าที่เป็นตัวแทนพัฒนาอีคอมเมิร์ซ โดยร่วมกับอาลีบาบาจัดคอร์สเทรนนิ่งเรื่องอีคอมเมิร์ซ นอกจากนี้ หอการค้าไทยยังช่วยรณรงค์เรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน (circular economy) การทำให้มีของเสีย (waste) ให้น้อยที่สุดในกระบวนการผลิต และเป็นการลดต้นทุนของผู้ประกอบการ

ทว่า SME ไทยก็มีจุดอ่อน และเผชิญความท้าทายหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องผลิตภัณฑ์, การเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุน และอื่นๆ

“บางครั้ง SME ไม่ได้มองเรื่องผลิตภัณฑ์ของตัวเอง ถ้าไม่ทำ differentiate สร้างความแตกต่างจากคนอื่น เห็นเขาขายดีหรือดัง ก็พยายามทำให้เหมือนหรือเลียนแบบ ผมว่าสุดท้าย โปรดักต์ก็ไปได้ไม่ไกล, เรื่องพวกนี้มีความสำคัญ เรื่องโปรดักต์ ทั้งดีไซน์ แบรนด์ดิ้ง รสชาติ SME ต้องมีนวัตกรรมมากกว่านี้ และให้มีความแตกต่างจากสินค้าอื่น เมื่อสินค้าคุณมีความแตกต่าง การเติบโตยอดขายเพิ่มขึ้น การเข้าถึงแหล่งเงินทุนก็เป็นอีกปัญหาหนึ่งของ SME” ดร.กฤษณะ กล่าว

ในบางกรณี แม้ SME จะขายสินค้าได้ พร้อมขยายธุรกิจ ก็ต้องแสวงหาปัจจัยในการขยายกำลังการผลิต เช่น ที่ดิน, โรงงาน, เครื่องจักร แต่เวลาไปขอสินเชื่อ ก็เจอคำถามว่ามีหลักประกันหรือไม่ ดร.กฤษณะ กล่าวว่า ผู้ประกอบการขนาดเล็กมีหลักประกันไม่เยอะ ทำให้เข้าถึงวงเงินที่เพียงพอต่อการขยายกำลังการผลิตได้อย่างล่าช้า ดังนั้น ธุรกิจจึงตามไม่ทันกับตลาดที่พัฒนาไป 

“บางครั้งคุณสร้างความแตกต่าง แต่ไม่เกิน 3 เดือน คนอื่นก็ทำเหมือนคุณแล้ว ถ้าคุณไม่พัฒนาต่อก็อยู่กับที่แล้ว”

หากมองในภาพรวมของผู้ประกอบการ SME ไทย ส่วนใหญ่ไม่ได้ทำธุรกิจเกี่ยวกับเทคโนโลยี แพล็ตฟอร์มอีคอมเมิร์ซและการท่องเที่ยวก็เป็นของต่างชาติ แต่หอการค้าก็มีส่วนในการขับเคลื่อนและสร้างแอปพลิเคชัน TAGTHAi (ทักทาย) แพล็ตฟอร์มการท่องเที่ยวแห่งชาติ โดยร่วมกับพันธมิตรจำนวนมาก อาทิ สมาคมโรงแรม, สายการบิน, ร้านอาหาร, กรมศุลกากร, ท่าอากาศยานไทย, ธนาคารกสิกรไทย เป็นต้น ดร.กฤษณะ กล่าวว่า ”ทักทาย” ทำระบบการจองที่ให้ค่าคอมมิชชั่นน้อยกว่าแพล็ตฟอร์มต่างชาติ ทำให้โรงแรมเหลือส่วนต่างมากขึ้น “ให้คนไทยใช้กันเอง อย่างน้อยเงินอยู่ในเมืองไทย แต่ถ้าเราไป Booking, Agoda เงินก็ไปยุโรปหมด”  

ในอีกด้านหนึ่ง หอการค้าไทยก็สร้าง TCC Connect แพล็ตฟอร์มการเข้าถึงสิทธิประโยชน์ในเครือข่ายของสมาชิกหอการค้า เป็นสังคมของสมาชิกแสนกว่าราย “สำหรับขาของสิทธิประโยชน์ เราไม่ได้ปิดกั้นว่าต้องเป็นเฉพาะสมาชิก จึงเป็นโอกาสให้ SME ต่างๆ หรือสมาชิกของสสว. สามารถมาโพสต์ขายในแอปพลิเคชันของเราได้ แต่ต้องเป็นร้านค้าที่มีหลักแหล่ง

ทั้งนี้ ในบางอุตสาหกรรม SME ไทยก็มีจุดแข็งและมีศักยภาพทางธุรกิจ ดร.กฤษณะ มองว่า ในด้านอาหาร ประเทศไทยมีความเข้มแข็ง เพราะไทยเป็นแหล่งผลิตอาหารของโลก และมีอีเว้นท์สำคัญอย่างงาน THAIFEX ที่หอการค้าไทยเป็นเจ้าภาพร่วมกับกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ และโคโลญ - เมสเซ่ ประเทศเยอรมนี โดยทุกปีในงาน THAIFEX จะมี SME รายใหม่ (เข้างานปีแรก) ประมาณ 100 บริษัทเข้าร่วมงานจากทั้งหมด 500 กว่าบริษัท คิดเป็นเกือบ 20%

“จาก SME 100 กว่าบริษัท ครึ่งหนึ่งเดินไปต่อได้และขยายธุรกิจ ส่วนอีกครึ่งหนึ่งก็ล้มหายตายจาก ทดลองตลาดแล้วไปไม่ได้” ดร.กฤษณะ กล่าวถึงแนวโน้มความสำเร็จของ SME รายใหม่ในงาน THAIFEX 

สำหรับคำแนะนำต่อผู้ประกอบการ ดร.กฤษณะ กล่าวว่า SME ต้องแสวงหาความรู้ ควรไปเดินงานอีเว้นท์สำคัญระดับประเทศ เพื่อศึกษาสินค้าที่ส่งออกตลาดต่างประเทศได้ เรียนรู้ทั้งในแง่สินค้าและแพคเกจจิ้งเพื่อนำไปพัฒนาต่อ ไม่ใช่เลียนแบบ รวมถึงศึกษาประเภทสินค้าที่มียอดจำหน่ายสูงในอีคอมเมิร์ซ เพื่อดูเทรนด์ของตลาดว่าเป็นอย่างไร และรู้จักวิธีใช้ประโยชน์จากอีคอมเมิร์ซ และช่องทางการตลาดดิจิตอล-โชเซียลมีเดีย

“คอร์สที่จัดของสสว. ร่วมกับหอการค้าหรืออะไรต่างๆ SME ก็ควรเข้ามาอบรม เข้ามาพัฒนา”

นอกจากนั้น SME ควรแสวงหาช่องทางการตลาดต่างๆ หาก SME มีสินค้าในระดับเบสิก ก็ต้องไปทดลองตลาดชุมชนและอีเว้นท์ใหญ่ระดับจังหวัด ดังเช่นที่สสว. ร่วมจัดกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย, ผู้ประกอบการ SME จะได้ทดลองว่าสินค้าที่ขายในระดับพื้นที่ ขายได้หรือไม่อย่างไร หากขายได้ ก็พัฒนาต่อไปในระดับภาค เช่นงานหอการค้าแฟร์ และในลำดับถัดไป SME ก็ต่อยอดเพื่อไปสู่ระดับประเทศและส่งออก

SME ที่พัฒนาตัวเองอย่างไม่หยุดนิ่งเท่านั้น ที่จะอยู่รอดและเติบโตท่ามกลางกระแสการแข่งขันที่เชี่ยวกราก…

 

สำหรับผู้ประกอบการ SME ที่สนใจอยากเป็นสมาชิกหอการค้า สามารถติดต่อได้ที่ 

เว็บไซต์ https://mr.thaichamber.org/

Published on 18 September 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย









บทความแนะนำ

ธุรกิจจะปังบรรจุภัณฑ์ต้องใช่ 7 เรื่องที่ต้องรู้เกี่ยวกับรรจุภัณฑ์

หัวข้อ : ธุรกิจจะปัง…บรรจุภัณฑ์ต้องใช่ 7 เรื่องที่ SME ต้องรู้เกี่ยวกับรรจุภัณฑ์
อ่านเพิ่มเติม : www.scbsme.scb.co.th/sme-inspiration-detail/next-trend-2020content3

 

เรื่องของบรรจุภัณฑ์เป็นอีกเรื่องสำคัญที่ผู้ประกอบการไม่ควรมองข้าม ด้วยหลากหลายประโยชน์ที่เป็นมากกว่าเพื่อใช้ปกป้องสินค้า แต่บรรจุภัณฑ์ยังมีส่วนช่วยในอีกหลาย ๆ ด้าน เช่น

  • มีผลิตภัณฑ์กว่า 70% ที่ต้องใช้บรรจุภัณฑ์ในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง เพื่อปกป้องดูแลผลิตภัณฑ์ให้คงคุณภาพอยู่ได้นานที่สุด
  • บรรจุภัณฑ์เป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยในการทำตลาด ไปจนถึงดึงดูดใจลูกค้าให้ตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าได้
  • บรรจุภัณฑ์เป็นเสมือนการเลือกที่จะแต่งตัวให้กับสินค้า หากเราอยากสร้างภาพการจดจำแบบใดให้กับผู้บริโภค อยากให้รับรู้ตัวตนของแบรนด์ไปในทิศทางใด สามารถทำได้ผ่านบรรจุภัณฑ์ที่นำมาเลือกใช้

ปัจจุบันการเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ให้มีประสิทธิภาพต่อการทำธุรกิจมีอยู่หลากหลายวิธีด้วยกัน และนี่คือ 7 เทรนด์การทำบรรจุภัณฑ์ที่มาแรงและสามารถช่วยเพิ่มยอดขายได้ ไม่เพียงแต่เป็นแนวทางที่น่าหยิบมาใช้ หากแต่ยังการันตีด้วยการทดลองทำจริงจากประสบการณ์ตรงอีกด้วย

 

1. แมส คอมมูนิเคชั่น เพคเกจจิ้ง (Mass Customization Packaging)

การทำความแตกต่างให้เกิดขึ้นอย่างเป็นระบบอุตสาหกรรม เป็นเทรนด์ที่มีการนำมาใช้นานแล้ว แต่ก็ยังสามารถใช้ได้ดีอยู่ในปัจจุบัน ยกตัวอย่าง เช่น

  • โค้ก ที่ทำแคมเปญพิมพ์ชื่อคนต่าง ๆ ติดอยู่ที่ฉลากกระป๋อง
  • น้ำดื่มสปริงเคิล ได้สร้างปรากฏการณ์ฉีดขวดสี เปลี่ยนจากขวดน้ำใสในตลาดน้ำดื่มธรรมดาทั่วไปมาใช้เป็นชุดสีต่าง ๆ ด้วยการไล่โทนและสร้างธีมขึ้นมาจากเรื่องราวต่าง ๆ สร้างความแตกต่างที่น่าสนใจ แถมขายในราคาเท่ากัน จึงไม่ยากที่จะเป็นตัวเลือกให้ผู้บริโภคสนใจ และหยิบขึ้นมาทดลองได้ จนยอดขายพุ่งกระฉูดขายดี

 

2. เรียบง่าย แต่โดดเด่น (Be Simple, Bold and Clear)

ปัจจุบันสินค้าในตลาดโดยเฉพาะแบรนด์ใหญ่ ๆ มีการใช้เฉดสีฉูดฉาดและภาพประกอบมากมาย เพื่อสร้างความน่าสนใจให้กับสินค้า จนบางครั้งเมื่อนำมาวางเรียงอยู่ด้วยกันอาจสร้างความสับสนผสมปนเปกันไปหมด จนไม่สามารถมองหาจุดเด่นของสินค้าได้ ความเรียบง่าย น้อยแต่มาก สไตล์มินิมอล จึงเป็นอีกวิธีที่ช่วยสร้างความแตกต่างให้กับสินค้าออกจากแบรนด์อื่น ๆ ได้

 

3. บอกเล่าคุณค่าที่มาของตัวสินค้า (Culture Story)

การบอกเล่าคุณค่าที่มาของตัวสินค้า เป็นอีกวิธีที่น่านำมาใช้สำหรับแบรนด์ในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งส่วนใหญ่มักมีเรื่องราวความเป็นมาที่น่าสนใจ ซึ่งนี่เป็นอีกกลยุทธ์ที่จะทำให้เอสเอ็มอีสามารถต่อกรกับยักษ์ใหญ่ได้ แต่สิ่งสำคัญคือ ต้องหาความแตกต่างในกระบวนการผลิตและตัวสินค้าให้ได้ บรรจุภัณฑ์ที่ใช้ควรฉีกออกมาจากตลาด และต้องถ่ายทอดเรื่องราวคุณค่าที่เกิดขึ้นของแบรนด์ออกมาให้ผู้บริโภคได้รับรู้ด้วย บรรจุภัณฑ์ลักษณะนี้มีประโยชน์ต่อธุรกิจ เช่น

  • ช่วยให้ไม่ต้องเข้าไปแข่งขันในตลาดเดียวกับบริษัทใหญ่
  • สามารถแยกออกมาเล่นในตลาดพรีเมียมที่มีขนาดเล็กกว่า แต่อัดแน่นด้วยคุณภาพได้
  • ช่วยทำให้สินค้าขายได้ราคาและสร้างมูลค่าเพิ่มขึ้นมาได้

 

4. บรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม (Packaged Planet)

การเลือกใช้บรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม เป็นเทรนด์ที่แบรนด์ยักษ์ใหญ่ต่างหันมาทำกันมากขึ้น ซึ่งนี่เป็นโอกาสให้เอสเอ็มอีสามารถนำมาใช้ทำตลาด และประยุกต์ใช้กับแบรนด์ของตัวเองได้ด้วย เนื่องจากมีการโหมสร้างกระแสของแบรนด์ใหญ่ เพื่อให้ผู้บริโภคได้ตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้น และเรื่องนี้ยังเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับแบรนด์อีกด้วย อย่างไรก็ตาม แม้เรื่องของบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมจะถูกนำมาเป็นกลยุทธ์ในทางธุรกิจกันมากขึ้น แต่ในแต่ละตลาดก็ยังมีช่องว่างอยู่ ดังนั้น ต้องหาช่องว่างที่ยังไม่มีใครทำให้เจอ ถ้าทำได้ให้ตะโกนออกไปดัง ๆ แบรนด์ของเราจึงจะเป็นแบรนด์แรกที่อยู่ในภาพจำนี้ของลูกค้า

 

5. ประสบการณ์ใหม่ (New Experience)

จากสินค้าธรรมดา หากใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้แตกต่าง สามารถสร้างความประทับใจและประสบการณ์ที่น่าจดจำให้แก่ลูกค้าได้

ตัวอย่างเช่น การออกแบบกล่องในช่วงเทศกาลคริสต์มาสของแบรนด์กราโนล่าสายเฮลตี้ ที่ออกแบบรูปแบบกล่องใส่สินค้า ซึ่งหากลองนำมาพับต่อกันให้กลายเป็นต้นคริสต์มาสใช้ประดับตกแต่งได้ จากตอนแรกที่คิดจะทำออกมาพิเศษเพียง 10,000 ใบ ผลปรากฏสามารถขายผ่านช่องทางออนไลน์ได้หมดภายในวันเดียว ทำให้ต้องมีการพรีออร์เดอร์ และผลิตออกมาเพิ่มถึงกว่า 30,000-40,000 ใบเลยทีเดียว

 

6. การจับมือร่วมกัน (Collaboration)

กลยุทธ์หนึ่งที่ถูกนำมาใช้กันมากขึ้นในปัจจุบัน คือ การจับมือร่วมกันเพื่อสร้างแคมเปญหรือทำกิจกรรมบางอย่างร่วมกันระหว่างแบรนด์

  • ไม่จำเป็นต้องไปจับมือร่วมกับแบรนด์ที่ทำสินค้าประเภทเดียวกันหรืออยู่ในตลาดเดียวกันเท่านั้น
  • สามารถจับคู่ระหว่างแบรนด์ที่อาจไม่เกี่ยวข้องกันเลยได้ เพื่อสร้างความสนุก สร้างสีสันให้เกิดขึ้นในตลาด
  • ช่วยสร้างความตื่นเต้น น่าสนใจให้กับลูกค้าแล้ว ตัวแบรนด์เองจะกลายเป็นที่รู้จักมากขึ้น
  • อาจได้กลุ่มลูกค้าของแบรนด์ที่ทำงานร่วมกันมาเพิ่มอีกด้วย

 

7. บรรจุภัณฑ์อัจฉริยะ (Smart Packaging)

เป็นวิธีที่เริ่มมีการนำมาใช้กันมากสำหรับแบรนด์ในตลาดต่างประเทศ แต่ในเมืองไทยอาจยังไม่ค่อยมีให้เห็นกันมากนัก เนื่องจากความไม่พร้อมของประชากรที่อาจยังไม่มีการใช้เทคโนโลยีอย่างสมาร์ทโฟนได้ทั่วถึงในทุกกลุ่ม เพื่อเชื่อมต่อเข้ากับบรรจุภัณฑ์ได้ จึงอาจยังไม่เหมาะหากจะนำมาใช้สร้างตลาดในตอนนี้ แต่นับเป็นอีกวิธีที่หากทำได้จะสร้างความสนุก สร้างลูกเล่น และดึงดูดความสนใจจากผู้บริโภคได้ ซึ่งในอนาคตข้างหน้าจะเป็นอีกเทรนด์ที่มาแน่นอน เพียงแต่ยังไม่เหมาะที่จะนำมาใช้ในเมืองไทย ณ ตอนนี้เท่านั้นเอง

 

Published on 18 September 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

 

 

บทความแนะนำ

ลดต้นทุนฝ่าวิกฤติ ด้วยการจัดการเศษอาหารเหลือทิ้งในร้านอาหาร

หัวข้อ : EIC ส่องร้านอาหารฝ่า COVID–19 ตอน How to พิชิตขยะในร้านอาหาร
อ่านเพิ่มเติม : www.scbeic.com/th/EIC_Note_How-to-พิชิตขยะในร้านอาหาร_TH.pdf

 

ในช่วงสถานการณ์วิกฤตอย่างโควิด-19 ผู้ประกอบการรายย่อยในหลายอุตสาหกรรมต่างต้องเผชิญกับความท้าทาย โดยเฉพาะธุรกิจร้านอาหารที่มักมีเงินสดสำรองในธุรกิจต่ำ ยิ่งในสถานการณ์ที่รายได้ลดลงเช่นนี้การควบคุมค่าใช้จ่ายจึงจำเป็นอย่างมาก หนึ่งในค่าใช้จ่ายหลักที่ผู้ประกอบการไม่ควรมองข้าม คือ ค่าวัตถุดิบ ซึ่งคิดเป็นกว่า 35% ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด ปัจจุบันมีวัตถุดิบจำนวนมากในร้านอาหารถูกทิ้งกลายเป็น “ขยะอาหาร” บ่งบอกถึงค่าใช้จ่ายที่สูญเสียและการจัดการที่ไม่เป็นระบบของร้านอาหารในปัจจุบัน

  • ร้านอาหารในสหรัฐฯ มีปริมาณเศษอาหารเหลือทิ้ง 10,000 – 35,000 กิโลกรัม/ร้าน/ปี คิดเป็นประมาณ 3% - 9% ของอาหารที่ซื้อมาทั้งหมด
  • ข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษของไทย พบว่าขยะกว่า 45% ของขยะมูลฝอยในพื้นที่กรุงเทพมหานครล้วนเป็นอาหารเหลือทิ้งทั้งสิ้น
  • 45% ของขยะอาหารเกิดขึ้นระหว่างการทำอาหาร
  • 34% จากอาหารที่ผู้บริโภคทานเหลือ
  • 21% จากอาหารเน่าเสียก่อนการบริโภค

จะเห็นว่าโดยส่วนใหญ่ปริมาณเศษอาหารเหลือทิ้งจำนวนมาก เกิดขึ้นก่อนถึงมือผู้บริโภค ซึ่งมักเกิดจากข้อผิดพลาดในการจัดการระบบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ การบริหารจัดการสินค้าคงคลัง การจัดซื้อวัตถุดิบ และการบริหารงานภายในร้านอาหาร ซึ่งสามารถแก้ได้ด้วยวิธีต่าง ๆ ดังนี้

 

1. การบริหารจัดการสินค้าคงคลัง

การจัดการสินค้าคงคลังอย่างเป็นระบบจะช่วยให้ผู้ประกอบการคาดการณ์คำสั่งซื้อวัตถุดิบได้อย่างถูกต้อง หากมีสินค้าคงคลังมากเกินไปจะส่งผลให้พื้นที่จัดเก็บไม่เพียงพอ วัตถุดิบหมดอายุได้ง่าย และนำไปสู่การเน่าเสียของวัตถุดิบต่าง ๆ การบันทึกของเสียในคลังสินค้า การบริหารพื้นที่จัดเก็บวัตถุดิบต่าง ๆ และการบริหารจัดการคลังจึงจำเป็นอย่างยิ่ง อาทิ

  • การบันทึกวัตถุดิบเข้า-ออกในคลังสินค้า
  • การใช้ระบบเข้าก่อนออกก่อน (First-in First-out)
  • การสั่งของจากการคาดการณ์เมนูอาหารที่จะขายได้ในอนาคต ทั้งวัตถุดิบที่ใช้ในเมนูที่ขายดีและไม่ดีในแต่ละช่วงเวลา

 

2. การจัดซื้อวัตถุดิบ

เนื่องจากร้านอาหารจำเป็นต้องใช้วัตถุดิบที่สดใหม่อยู่เสมอ วัตถุดิบหลายอย่างไม่สามารถเก็บไว้ได้นาน และเน่าเสียได้ง่าย ดังนั้นการจัดซื้อวัตถุดิบจึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง

  • เลือกซื้อวัตถุดิบที่คุณภาพดี สดใหม่ จะสามารถช่วยร่นระยะเวลาวัตถุดิบเน่าเสียได้
  • เลือกซื้อวัตถุดิบกับร้านที่สามารถต่อรองการสั่งซื้อขั้นต่ำได้ เพื่อลดต้นทุนการจัดเก็บอาหารและลดปริมาณของเสียที่อาจเหลือทิ้ง
  • เลือกซื้อจากซัพพลายเออร์ที่อยู่ในระแวกเดียวกับร้านอาหาร เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการขนส่ง และค่าใช้จ่ายที่สูญเสียจากอาหารเน่าเสีย

 

3. การบริหารจัดการภายในร้าน

การบริหารจัดการภายในร้านผิดพลาด เช่น การจดออเดอร์ผิด ข้อผิดพลาดขณะทำอาหาร ไม่ว่าจะเกิดจากความเลินเล่อของพนักงาน หรือเกิดจากระบบการจัดการที่ไม่เป็นระบบ เมื่อเกิดข้อผิดพลาดอาหารที่ทำผิดมักถูกทิ้ง (ป้องกันพนักงานนำมารับประทานเอง) นี่เป็นข้อแนะนำเบื้องต้น เพื่อเป็นการป้องกันการเกิดข้อผิดพลาดดังกล่าว

  • พนักงานภายในร้านจำเป็นต้องได้รับการอบรมอย่างสม่ำเสมอ ควบคู่ไปกับระบบการจัดการร้านที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งจะสามารถช่วยลดอัตราการเกิดข้อผิดพลาดได้
  • การลดอัตราการเปลี่ยนงานของพนักงาน มีส่วนช่วยอย่างมากในการลดข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นระหว่างดำเนินงาน เนื่องจากพนักงานที่เข้ามาใหม่มักทำงานผิดพลาดได้ง่าย เทียบกับพนักงานเดิมที่มีประสบการณ์การทำงานมากกว่า
  • นำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อป้องกันความผิดพลาดจากพนักงาน เช่น การใช้ระบบสั่งอาหารจากแท็บเล็ตให้ลูกค้าสามารถสั่งอาหารได้ด้วยตนเอง คำสั่งอาหารจะถูกส่งตรงถึงพ่อครัวในห้องครัวและพนักงานเสิร์ฟทันที โดยปราศจากข้อผิดพลาดใด ๆ จากพนักงาน

 

4. กำหนดเกณฑ์ปริมาณขยะอาหารที่รับได้

ผู้ประกอบการร้านอาหารแต่ละร้านควรกำหนดเกณฑ์ปริมาณขยะอาหารที่รับได้ ซึ่งสามารถเริ่มคำนวนจากเมนูอาหารที่มียอดขายแน่นอนของร้านก่อน ดังนี้

  • ทำให้อาหารเหลือทิ้งต่อวันของเมนูใดเมนูหนึ่งน้อยและคงที่ที่สุด
  • เมื่อได้เกณฑ์ที่เป็นมาตรฐานแล้ว นำเกณฑ์ดังกล่าวมาปรับใช้กับเมนูอื่น ๆ ต่อไป

หากวันใดมีปริมาณขยะอาหารมากกว่าเกณฑ์ที่ร้านกำหนด สามารถบ่งบอกได้ว่าในระบบใดระบบหนึ่งของร้านต้องได้รับการปรับปรุงและแก้ไข เป็นการสร้างแรงจูงใจแก่ผู้ประกอบการร้านอาหารและพนักงานภายในร้านได้เป็นอย่างดี

 

นอกจากนี้ร้านอาหารสามารถสร้างประโยชน์จากขยะที่ไม่สามารถทานได้ เช่น

  • เศษอาหารจำพวกน้ำมันใช้แล้ว เปลือกผลไม้ เศษผักเน่าเสีย วิธีง่าย ๆ ที่มักนิยมมาปรับใช้ เช่น การนำเศษอาหารเหลือทิ้งมาทำปุ๋ยอินทรีย์ น้ำส้มสายชูผลไม้ น้ำหมักผลไม้ เป็นต้น
  • ร้านอาหารบางแห่งที่มีพื้นที่เหลือ สามารถทำระบบผลิตก๊าซชีวภาพหรือ Biogas ที่ได้จากปฏิกิริยาการย่อยสลายสารอินทรีย์ เช่น มูลสัตว์ เศษอาหาร วัตถุดิบเหลือจากผัก ผลไม้ ซึ่งสามารถใช้เป็นเชื้อเพลิงทดแทนแก๊สหุงต้มได้

 

การลดปริมาณอาหารเหลือทิ้งนอกจากร้านอาหารจะสามารถลดค่าใช้จ่าย เพิ่มปริมาณกระแสเงินสดแล้ว ยังนับเป็นโอกาสในการดึงดูดกลุ่มลูกค้ายุคใหม่ อย่างกลุ่มที่ต้องการช่วยลดปริมาณอาหารเหลือทิ้งหรือดำเนินชีวิตแบบขยะเหลือศูนย์ (Zero waste) โดยเฉพาะร้านอาหารที่ทำอาหารจากวัตถุดิบที่กำลังจะถูกทิ้ง หรือร้านอาหารที่ใช้วัตถุดิบไม่กี่อย่างเพื่อลดปริมาณสินค้าคงคลัง ซึ่งร้านอาหารเหล่านี้เผชิญกับความท้าทายอย่างมาก ทั้งต้องคอยรังสรรค์เมนูอาหารใหม่ ๆ จากวัตถุดิบที่คนมักเหลือทิ้งให้สามารถรับประทาน อร่อย ปลอดภัย ต้องคำนึงถึงวิธีการกำจัดขยะอาหารเหลือทิ้งที่เกิดขึ้นทั้งก่อน - หลังถึงมือผู้บริโภค และต้องคอยสร้างความรู้และความเข้าใจแก่ผู้บริโภคไปพร้อม ๆ กันอีกด้วย

 

ถึงเวลาแล้วที่ผู้ประกอบการร้านอาหารควรหันมาใส่ใจและจัดการอาหารเหลือทิ้งอย่างจริงจังเพื่อ ควบคุมค่าใช้จ่ายและเพิ่มกระแสเงินสด นับเป็นส่วนช่วยในการประคับประคองธุรกิจร้านอาหารในช่วงที่ทำรายได้ได้น้อย และเป็นการตอบรับกระแสรักษ์โลก ทั้งยังก่อให้เกิดผลประโยชน์แก่ร้านอาหารในระยะยาวอีกด้วย

 

Published on 18 September 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

 

บทความแนะนำ

เริ่มต้นดี ต้องมีแผนกับ 6 สิ่งควรทำก่อนเริ่มธุรกิจ

หัวข้อ : 6 Step สร้างภูมิคุ้มกันความล้มเหลวในช่วงเริ่มต้นกิจการ
อ่านเพิ่มเติม : www.bangkokbanksme.com/en/step-immunity-to-failure-start-business

 

การเริ่มต้นทำธุรกิจโดยไม่มีแผนการรองรับ ขาดการคิดวิเคราะห์ ศึกษาข้อมูลให้รอบด้าน จะทำให้ต้องเผชิญความเสี่ยงหลายรูปแบบ และอาจไปไม่ถึงเป้าหมายที่วาดฝันไว้ ดังนั้นเราจึงมีคำแนะนำสำหรับคนเริ่มต้นทำธุรกิจส่วนตัว ด้วยขั้นตอนที่ถอดแบบมาจากการดำเนินธุรกิจของผู้ที่ประสบความสำเร็จ ด้วยทุนที่ไม่ได้มีมากจนปัจจุบันมีมูลค่าความสำเร็จเป็นตัวเลขหลักร้อยล้านไปแล้ว ด้วยการเริ่มต้นทำธุรกิจ จาก 6 ขั้นตอน คือ

 

1. มีความพร้อมในสิ่งที่จะทำ

- จะขายอะไร ให้ใคร รูปแบบสินค้าบริการเป็นแบบไหน งบประมาณเท่าไหร่ มีการดำเนินการอย่างไร ที่ทางทำเล ร้านค้า การตกแต่ง แพ็คเกจจิ้ง ฯลฯ ต้องคิดออกแบบวางแผนให้ครบก่อนถึงจะเริ่มต้นเปิดกิจการได้

- ต้องมีการจัดสรรงบประมาณของเรื่องต่าง ๆ ให้สมดุลและมีขอบเขต ก่อนจะเปิดให้บริการ

- หากยังไม่มีความพร้อมในเรื่องของรูปแบบการดำเนินการ ยังไม่ควรเร่งเปิดกิจการ เพราะอาจจะทำให้เกิดภาพจำในด้านที่ไม่พึงปรารถนาได้

- หากยังไม่พร้อมในเรื่องจำเป็นพื้นฐานที่ต้องมี อาจทำให้ธุรกิจสะดุดกลางคัน จากการที่ต้องบริหารเงินทุนที่ได้รับมาแล้วลงทุนหมุนเวียนต่อไป สุดท้ายจะไปสะดุดกับผลกำไรที่หายไปกับเงินที่ลงทุนไม่จบสิ้น

 

2. แบรนด์ชวนจำ ทำตลาดง่าย

- การจะตั้งชื่อแบรนด์หรือชื่อเรียกกิจการร้านค้า ควรสื่อความหมายถึงในสิ่งที่กำลังทำ

- การเล่นคำให้เกิดการจำง่าย เช่น เครปป้าเฉื่อย, ปังเว้ย...เฮ้ย, ตำสะท้านครก ฯลฯ ชื่อแปลกแหวกแนวแบบมีเอกลักษณ์ จะไปสะดุดทำให้คนจำได้ง่ายกว่าคำสามัญทั่วไปที่ใครๆ ใช้กัน

- หากสินค้าบริการปังติดตลาดขึ้นมา ชื่อที่ติดหูก็จะช่วยกระพือให้บินสูงได้ง่ายขึ้นไปด้วย

 

3. สินค้าและบริการโดดเด่นราคาเหมาะสม

เช่น ยำใหญ่ใส่กุ้งไซส์ยักษ์ สด ใหม่, ปังไส้ทะลักบริการขนส่งรวดเร็วภายใน 24 ชม., กาแฟสด No Fat, ขนมปังปิ้งเตาถ่าน (ทำให้หอม หวาน รอนานไปอีก) ล้วนเป็นการสร้างสินค้าให้โดดเด่น ด้วยลูกเล่นที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ที่กลายเป็นจุดขาย ทำให้สินค้าติดตลาดง่าย ชวนจำ ด้วยราคาที่เหมาะสม จะทำตลาดได้ง่ายกว่า

 

4. มีความเชื่อมั่น มุ่งมั่น และมั่นใจในสิ่งที่ทำ

หัวใจของความสำเร็จในการเริ่มต้นกิจการ ต้องเชื่อมั่นก่อนว่าสิ่งที่ทำนั้นเป็นเรื่องที่ดี ทั้งต่อตัวเอง ต่อลูกค้าและสังคม และมุ่งมั่นเดินหน้าทุ่มพลังเพื่อให้สำเร็จตามเป้าหมาย ไม่ว่าจะเกิดอุปสรรคอะไรขึ้นก็ไม่ล้มเลิก

  • หากยังไม่มั่นใจต้องรู้จักพัฒนา อะไรที่ไม่รู้ต้องถามผู้รู้ อะไรที่ไม่เก่งต้องรู้จักฝึกฝน อะไรที่ไม่ถนัดต้องหาผู้ช่วย
  • ต้องมั่นใจว่าสิ่งที่ทำนั้นจะนำไปสู่ความสำเร็จตามภาพที่อยู่ในหัวที่ชัดเจน เพราะคนที่ทำสำเร็จส่วนใหญ่มักเชื่อมั่นในตัวเองและมั่นใจว่าจะเกิดผลลัพธ์ที่ดีแน่นอน

 

5. วางที่ตั้งบนทำเลเหมาะสม

ทำเลเป็นเรื่องใหญ่ที่สำคัญในการทำธุรกิจ โดยเฉพาะประเภทร้านค้าจำเป็นต้องมีที่ตั้งที่เหมาะสมกับธุรกิจที่ทำ ควรเลือกทำเลที่จะทำให้คนเข้าถึงได้ง่าย มองเห็นชัด และวางพิกัดให้สามารถเข้าถึงได้ทุกที่ เช่น

อาจวางร้านสาขาในโซนถนนเส้นเดียวกันไว้ 2-3 ร้าน โดยเว้นช่วงห่างตามสมควร เพื่อให้คนที่ผ่านไปมาสามารถมองเห็นได้ง่ายจนติดตา เพราะการที่เขาไม่รู้จักย่อมเกิดความลังเลเมื่อแรกเห็น หากขับรถผ่านไปสักพักเกิดสนใจก็มีสาขาข้างหน้าคอยดักทางอยู่ โดยที่ไม่ต้องวนรถกลับมา เป็นการทำตลาดที่ให้ผลดี อีกทั้งยังช่วยการันตีด้วยว่า สินค้าและบริการนี้ดีเพราะมีหลายสาขา

 

6. สร้างจุดแข็ง ด้วยจุดอ่อนของคู่แข่ง

การศึกษาคู่แข่งที่มีอยู่ก่อนหน้าในตลาดจะทำให้เห็นถึงจุดอ่อนที่มี และนำมาปรับใช้ในธุรกิจของคุณเองได้

  • สามารถนำมาพัฒนาเป็นจุดแข็งให้กับสินค้าหรือบริการของตัวเอง
  • ในวิกฤติสถานการณ์บางอย่างที่เกิดขึ้น เช่น ต้นทุนวัตถุดิบแพงขึ้นแต่ยังคงให้บริการได้ในราคาเท่าเดิม ไม่ปรับปรุงเพิ่มเติมราคา ทำให้แบรนด์หรือสินค้ามีจุดแข็งที่สามารถเอาชนะคู่แข่งและครองใจผู้บริโภคในท้องตลาดได้

 

Published on 18 September 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

 

บทความแนะนำ