สิ่งสำคัญสำหรับผู้บริโภคหรือลูกค้าในการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้า คือความมั่นใจว่าสินค้านั้นมีคุณภาพจริง ๆ และสิ่งที่จะทำให้เกิดความั่นใจได้ นั่นคือการได้รับข้อมูลที่เพียงพอ ด้วยเหตุนี้ ฉลากสินค้าจึงมีความสำคัญกับผู้ประกอบการ ไม่ว่าจะเป็นสินค้าที่ผลิตโดยโรงงาน หรือนำเข้ามาจำหน่าย ถือเป็นสินค้าที่ต้องควบคุมฉลาก
โดย พ.ร.บ. คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 กำหนดว่า “ฉลาก” หมายถึง รูป รอยประดิษฐ์ กระดาษหรือสิ่งอื่นใดที่ทำให้ปรากฏข้อความเกี่ยวกับสินค้า ซึ่งแสดงไว้ที่สินค้า หรือภาชนะบรรจุ หรือหีบห่อบรรจุสินค้า หรือสอดแทรก หรือรวมไว้กับสินค้า และยังรวมถึงเอกสารหรือคู่มือสำหรับใช้ประกอบสินค้า ป้ายที่ติดตั้งหรือแสดงไว้ที่สินค้าหรือภาชนะบรรจุหรือหีบห่อบรรจุสินค้านั้นด้วย
ดังนั้นมาดูกันว่า ฉลากสินค้าที่ดีควรเป็นอย่างไร ซึ่งข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) บอกไว้ว่า ในการจัดทำฉลากสินค้า ผู้ประกอบการต้องบอกรายละเอียดที่สำคัญและจำเป็นต่อการตัดสินใจซื้อและใช้งาน
โดยฉลากสินค้าต้องระบุข้อความดังนี้
นอกจากนี้ สิ่งสำคัญที่ผู้ประกอบการควรรู้เพิ่มเติมสำหรับลักษณะของฉลากสินค้า นั่นคือ
1. ข้อมูลในฉลากต้องตรงกับความเป็นจริง ไม่ทำให้เกิดความเข้าใจผิดเกี่ยวกับสาระสำคัญของสินค้า
2. ต้องเป็นภาษาไทย หรือภาษาไทยกำกับภาษาต่างประเทศ ซึ่งสามารถเห็นและอ่านได้ชัดเจน
3. ต้องแสดงไว้ที่ตัวสินค้า ภาชนะบรรจุ หีบห่อ หรือสอดแทรกรวมไว้กับสินค้า รวมไปถึงคู่มือ เอกสารประกอบสินค้า ป้ายที่ติดตั้งหรือแสดงไว้ที่สินค้า
ที่มา
http://www.ocpb.go.th/images/banner/Info/1544200783703.jpg
http://www.ocpb.go.th/images/banner/Info/1544200781027.jpg
Published on 22 September 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย
ในการดำเนินธุรกิจนั้น นอกเหนือจากการจดทะเบียนบริษัทแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ผู้ประกอบการควรดำเนินการให้ถูกต้อง นั่นก็คือ การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า (Trademark) กับกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์
ถามว่า ทำไมผู้ประกอบการควรจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า นั่นเพราะว่า เครื่องหมายการค้าจะมีประโยชน์ทั้งทางธุรกิจและทางกฎหมาย กล่าวคือ ในแง่ประโยชน์ทางธุรกิจ ผู้ประกอบการสามารถใช้เครื่องหมายการค้านี้ช่วยสร้างการจดจำให้แก่ผู้บริโภคได้ รวมถึงใช้เครื่องหมายการค้าเป็นตัวแยกแยะความแตกต่างของสินค้าที่มีอยู่มากมายในท้องตลาดได้อีกด้วย และสิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งที่ผู้ประกอบการ SME และคนทั่วไปยังไม่ค่อยรู้คือ “เครื่องหมายการค้า” เป็นทรัพย์สินที่สามารถนำไปเป็นหลักประกันสินเชื่อธุรกิจกับสถาบันการเงินได้ ขณะที่ประโยชน์ในทางกฎหมาย ผู้ประกอบการที่จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าแล้ว จะมีสิทธิ์ใช้เครื่องหมายการค้านั้นๆ ได้เพียงผู้เดียว กรณีที่ถูกผู้อื่นละเมิดสิทธิ์ ผู้ประกอบการสามารถฟ้องร้องดำเนินคดีได้
ก่อนที่ผู้ประกอบการจะดำเนินการยื่นจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ควรรู้และเข้าใจถึงขั้นตอนของการจดทะเบียนฯ ทั้งหมด ซึ่งจะมีอยู่ด้วยกัน 8 ขั้นตอน คือ 1. ผู้ประกอบการตรวจค้นเครื่องหมายการค้า เพื่อตรวจสอบว่ามีความเหมือนหรือคล้ายกับของผู้อื่นหรือไม่ด้วยตัวเอง 2. ยื่นคำขอจดทะเบียน 3. เจ้าหน้าที่ตรวจสอบเบื้องต้น 4. นายทะเบียนตรวจสอบเครื่องหมายการค้า 5. การประกาศโฆษณา 6. การคัดค้าน 7. ชำระค่าธรรมเนียม และ 8. กรมทรัพย์สินทางปัญญารับจดทะเบียนเครื่องหมาย ทั้งนี้ โดยภาพรวมจะใช้ระยะเวลาดำเนินการอยู่ที่ประมาณ 16 เดือนด้วยกัน
จากขั้นตอนที่กล่าวมา ผู้ประกอบการจะดำเนินการเพียงแค่ 3 ขั้นตอนเท่านั้น คือ 1. การตรวจค้นด้วยตัวเอง 2. การยื่นคำขอจดทะเบียน และ 3. การชำระค่าธรรมเนียม ซึ่งดำเนินการได้ง่ายๆ ด้วยตัวเอง เริ่มจาก…
1. ตรวจสอบเครื่องหมายการค้า
ในขั้นตอนแรกของการตรวจค้น ผู้ประกอบการจะต้องทำการตรวจสอบเครื่องหมายการค้าที่ยื่นขอจดทะเบียนว่าเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายของผู้อื่นที่จดทะเบียนไปแล้วหรือไม่ หรืออยู่ระหว่างการขอจดทะเบียนหรือไม่ ซึ่งการตรวจค้นด้วยตัวเอง สามารถทำได้ 2 ทาง คือ ตรวจค้นที่กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ชั้น 3 โดยต้องชำระค่าธรรมเนียมในการตรวจค้น 100 บาทต่อชั่วโมง หรือผู้ประกอบการสามารถตรวจค้นผ่านทางอินเทอร์เน็ต โดยเข้าไปที่เว็บไซต์กรมทรัพย์สินทางปัญญา (คลิกตรวจสอบเครื่องหมายการค้า) ซึ่งจะไม่มีค่าใช้จ่าย
ทั้งนี้ การตรวจค้นเครื่องหมายด้วยตนเอง เป็นเพียงการตรวจสอบเบื้องต้นเท่านั้น ซึ่งเครื่องหมายการค้าใดจะได้รับการจดทะเบียนหรือไม่ นายทะเบียนจะต้องพิจารณาตามข้อเท็จจริงและรายละเอียดของเครื่องหมายการค้าที่ยื่นขอจดทะเบียน เปรียบเทียบกับเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนไว้แล้ว โดยการพิจารณาเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า
2. ยื่นคำขอจดทะเบียน
ขั้นตอนต่อมาที่ผู้ประกอบการต้องดำเนินการ คือ การยื่นขอจดทะเบียน โดยผู้ประกอบการจะต้องเตรียมเอกสารตามที่กฎหมายกำหนด พร้อมกับกรอกข้อความให้สมบูรณ์ ซึ่งเอกสารที่จะใช้สำหรับการขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ประกอบไปด้วย
สำหรับการยื่นจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า สามารถดำเนินการได้ที่ชั้น 3 กรมทรัพย์สินทางปัญญา หรือสำนักงานพาณิชย์จังหวัด หรือทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ หรือทางเว็บไซต์กรมทรัพย์สินทางปัญญา (คลิกจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาทางอิเล็กทรอนิกส์)
3. ชำระค่าธรรมเนียม รอรับหนังสือสำคัญ
สำหรับขั้นตอนการชำระค่าธรรมเนียมนั้น จะแบ่งเป็น 2 ช่วง คือ ตอนยื่นจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ผู้ประกอบการจะต้องชำระค่าธรรมเนียมการยื่นคำขอจดทะเบียน รายการสินค้าหรือบริการอย่างละ 500 บาท และกรณีที่รูปเครื่องหมายการค้าเกินกว่าที่กำหนด 5 เซนติเมตร ต้องชำระค่าธรรมเนียมเฉพาะส่วนที่เกิน เซนติเมตรละ 100 บาท
หลังจากยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเรียบร้อยแล้ว เจ้าหน้าที่จะดำเนินการตรวจสอบและพิจารณา หากเครื่องหมายการค้าของท่านได้รับการจดทะเบียน นายทะเบียนจะมีหนังสือแจ้งให้ผู้ประกอบการดำเนินการชำระค่าธรรมเนียมรับจดทะเบียน ภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้ง โดยต้องชำระค่าธรรมเนียมสินค้าหรือบริการ อย่างละ 300 บาท ตามช่องทางเดียวกันกับตอนยื่นขอจดทะเบียนนั่นเอง
จากนั้นผู้ประกอบการจะได้รับหนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียน โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญาจะจัดส่งให้ตามที่อยู่ที่ระบุไว้ในคำขอจดทะเบียนภายใน 2 สัปดาห์ นับตั้งแต่วันที่ได้ชำระค่าธรรมเนียม
เพียงเท่านี้ ผู้ประกอบการจะเป็นผู้มีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวที่จะใช้เครื่องหมายการค้านั้นๆ กับสินค้าที่ได้จดทะเบียนไว้ และกรณีถ้ามีผู้มาละเมิดสิทธิในเครื่องหมายการค้าที่จดทะบียนไว้ ท่านสามารถฟ้องร้องดำเนินคดีและเรียกค่าสินไหมทดแทนความเสียหายจากบุคคลนั้นได้
แต่มีสิ่งหนึ่งที่ผู้ประกอบการต้องรู้ไว้ นั่นคือ เครื่องหมายการค้า จดที่ประเทศไหน คุ้มครองเฉพาะประเทศนั้น หากธุรกิจของท่านมีแผนที่จะขยายไปทำตลาดในประเทศอื่นๆ จำเป็นต้องมีการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า เพื่อคุ้มครองสิทธิด้วยเช่นกัน
Published on 22 September 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย
ในการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทสำหรับผู้ประกอบการหลายๆ คนมองมักว่าเป็นเรื่องที่ยุ่งยากลำบาก เพราะต้องมีขั้นตอนที่ซับซ้อนและต้องเตรียมเอกสารมากมาย แต่ปัจจุบันกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ได้มีการพัฒนาระบบการจดทะเบียนนิติบุคคลทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Registration) ผ่านทาง www.dbd.go.th เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการ สามารถดำเนินการจดทะเบียนนิติบุคคลได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น ดังนั้น มาดูกันว่าหากผู้ประกอบการจะจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทด้วยตนเองต้องทำอย่างไรบ้าง
1. จองชื่อบริษัท
สิ่งแรกที่ผู้ประกอบการต้องดำเนินการ คือ จองชื่อบริษัท ด้วยการเข้าไปยื่นจองชื่อนิติบุคคลผ่านทางระบบอินเทอร์เน็ตที่เว็บไซต์ www.dbd.go.th คลิกที่เมนู จองชื่อนิติบุคคล ซึ่งชื่อที่จะใช้นั้นต้องไม่ซ้ำ หรือใกล้เคียงกับบริษัทที่เคยจดทะเบียนไปแล้ว โดยจะทำการจองได้ครั้งละ 1 ชื่อเท่านั้น จากนั้นให้ดำเนินการจองชื่อและนายทะเบียนจะทำการตรวจสอบ เมื่อจองชื่อได้แล้วจะต้องยื่นจดทะเบียนภายใน 30 วัน ไม่เช่นนั้นต้องทำการจองชื่อใหม่
2. จัดเตรียมข้อมูลให้พร้อม
ในการจดทะเบียนบริษัท ผู้ประกอบการจำเป็นต้องเตรียมข้อมูลสำหรับจดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิและการจดจัดตั้งบริษัท ซึ่งหนังสือบริคณห์สนธิ คือ หนังสือที่แสดงความต้องการในการจัดตั้งบริษัท มีไว้เพื่อระบุขอบเขตต่างๆ ของธุรกิจ โดยผู้ประกอบการสามารถจดทะเบียนบริษัทและจดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิไปในคราวเดียวกันได้ แต่จะต้องมีการเตรียมข้อมูลให้พร้อมเพื่อความถูกต้องและรวดเร็ว
สำหรับข้อมูลที่ต้องเตรียมไว้ให้พร้อมมีดังนี้
3. ยื่นคำขอจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทผ่านระบบออนไลน์
การยื่นขอจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท สามารถดำเนินการผ่าน ระบบจดทะเบียนนิติบุคคลทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Registration) ในเว็บไซต์ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า โดยสามารถยื่นจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ทั้งในรูปแบบของห้างหุ้นส่วน หรือบริษัทจำกัด
เริ่มจากลงทะเบียนเพียงครั้งเดียว เพื่อขอรับ Username และ Password สำหรับใช้งานระบบ e-Registration ได้ที่ส่วนจดทะเบียนธุรกิจกลาง กรมพัฒนาธุรกิจการค้า และสำนักงานพัฒนาธุรกิจการค้าเขต 1-6 หรือ สำนักงานพาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศ โดยผู้ประกอบการต้องไปแสดงตัวตนต่อหน้านายทะเบียน หรือจะมอบอำนาจให้ผู้อื่นดำเนินการแทนก็ได้ เท่านี้ก็จะมีรายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์สำหรับจดทะเบียนนิติบุคคลแล้ว
จากนั้นให้ผู้ประกอบการเข้าสู่ระบบ e-Registration เพื่อยื่นคำขอจดทะเบียน และชำระค่าธรรมเนียม หากผู้ประกอบการชำระค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนบริษัทครบถ้วนแล้ว นายทะเบียนจะทำการรับเรื่องจดทะเบียน และแจ้งผลการจดทะเบียนผ่านอีเมล์ เมื่อท่านได้รับอีเมล์ ถือเป็นที่สิ้นสุดการจดทะเบียนบริษัทออนไลน์ จากนั้นรอรับหนังสือรับรองการจดทะเบียนบริษัท ซึ่งจะถูกจัดส่งให้กับท่านทางไปรษณีย์ตามที่อยู่ ซึ่งได้ระบุไว้ในระบบการลงทะเบียน e-Registration นั่นเอง
Published on 22 September 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย
การจะเข้าสู่วงจรธุรกิจเพื่อเป็นผู้ประกอบการมืออาชีพ ประเด็นแรกๆ ที่ควรให้ความสำคัญ คือจะทำธุรกิจแบบ “บุคคลธรรมดา” หรือ “นิติบุคคล” เพราะ 2 รูปแบบนี้มีความต่างกันทั้งในเรื่องข้อดี ข้อเสีย รวมถึงการจัดทำบัญชี และภาษี ที่ต้องดำเนินการให้ถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งจะตัดสินใจเลือกดำเนินธุรกิจในรูปแบบใด ควรศึกษาข้อมูลเหล่านี้ให้ดีก่อน
รูปแบบนี้ส่วนมากจะเป็นกิจการขนาดเล็ก เจ้าของลงทุนคนเดียว หรือในลักษณะของห้างหุ้นส่วนสามัญ (ไม่ได้จดทะเบียน) ซึ่งมีบุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป ตกลงทำธุรกิจและแบ่งปันผลประโยชน์ร่วมกัน แต่มีสภาพเป็นบุคคลธรรมดา
กิจการรูปแบบนี้แม้ไม่ต้องจัดทำบัญชีตามมาตรฐานบัญชี แต่จะต้องจัดทำรายงานเงินสดรับ จ่าย เพื่อให้ผู้ประกอบการทราบถึงรายได้ รายจ่าย ผลกําไรหรือขาดทุนจากการดำเนินธุรกิจ และใช้เป็นหลักฐานประกอบการยื่นขอสินเชื่อจากสถาบันการเงิน และยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
การดำเนินธุรกิจในรูปแบบนี้จัดตั้งง่าย มีความคล่องตัวสูง แต่ความน่าเชื่อถือจะมีน้อยกว่าเนื่องจากมีความเสี่ยงสูงในแง่ความรับผิดในหนี้สิน เพราะเจ้าของธุรกิจต้องรับผิดชอบหนี้สินที่เกิดขึ้นเองทั้งหมด
ธุรกิจในรูปแบบ “นิติบุคคล” จะมีทั้งห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล ห้างหุ้นส่วนจำกัด และบริษัทจำกัด ซึ่งจดทะเบียนจัดตั้งที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ รูปแบบนี้จะต้องมีการจัดทำบัญชีตามมาตรฐานบัญชี พร้อมทั้งมีผู้ตรวจสอบและรับรองบัญชี แน่นอนว่า ธุรกิจในรูปแบบนี้ย่อมมีความน่าเชื่อถือมากกว่า ส่งผลให้การขยายกิจการ การติดต่อกับลูกค้า หรือแม้แต่การเข้าถึงแหล่งเงินทุน สามารถทำได้ง่ายกว่าเช่นกัน เพราะมีข้อมูลทางบัญชีที่น่าเชื่อถือ ทำให้ธนาคารรู้ฐานะที่แท้จริงของกิจการ ขณะเดียวกัน สามารถนำไป วางแผนบริหารจัดการธุรกิจได้
นอกจากนี้ หากมองความเสี่ยงในแง่ความรับผิดในหนี้สิน ก็จะมีความเสี่ยงน้อยกว่า เพราะธุรกิจจะถูกแยกจากตัวเจ้าของกิจการอย่างชัดเจน หนี้สินของกิจการจะเกี่ยวข้องกับผู้ถือหุ้น จำกัดเฉพาะมูลค่าหุ้นที่เป็นเจ้าของเท่านั้น
เมื่อพิจารณาในด้านภาษีระหว่างผู้ประกอบการในรูปแบบ “บุคคลธรรมดา” กับ “นิติบุคคล” พบว่ามีความแตกต่าง เริ่มจาก…
บุคคลธรรมดา : สำหรับ “ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา” อัตราภาษีสูงสุดอยู่ที่ 35% โดยการคำนวณภาษีมี 2 วิธี
วิธีที่ 1 เงินได้สุทธิ x อัตราภาษีก้าวหน้า (เงินได้สุทธิ = รายได้ – รายจ่าย – ค่าลดหย่อน)
วิธีที่ 2 รายได้นอกเหนือจากเงินเดือน หรือค่าจ้างแรงงานก่อนหักค่าใช้จ่าย x 0.5%
ทั้งนี้ หากคำนวณภาษีตามวิธีที่ 2 แล้วไม่เกิน 5,000 บาท ให้เสียภาษีตามวิธีที่ 1
นิติบุคคล : ผู้ประกอบการจะเสียภาษีจากกำไรสุทธิ (รายได้-รายจ่าย) อัตราภาษี หากเป็นนิติบุคคลทั่วไปอยู่ที่ 20% สำหรับ SME มีการยกเว้น/ลดพหย่อน อัตราภาษีในลักษณะขั้นบันได สูงสุดไม่เกิน 20% ในกรณีขาดทุน ไม่ต้องเสียภาษีและยังสามารถนำผลขาดทุนไปหักกำไรปีต่อไปได้สูงสุดถึง 5 ปีด้วย
(สำหรับ บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีทุนจดทะเบียนชำระแล้วไม่เกิน 5 ล้านบาท และมีรายได้จากการขายสินค้าและบริการไม่เกิน 30 ล้านบาทต่อปี)
จะเห็นได้ว่า ระหว่างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและนิติบุคคล จะแตกต่างกันตามรูปแบบของธุรกิจ ลองย้อนกลับมาดูว่าธุรกิจของท่านอยู่ในรูปแบบใด แล้วทำให้ถูกต้อง เพื่อประโยชน์โดยตรงต่อตัวธุรกิจของท่านเอง
บุคคลธรรมดา : สามารถเลือกหักค่าใช้จ่าย ได้ 2 วิธี คือ 1. หักแบบเหมา ซึ่งไม่ต้องมีหลักฐานพิสูจน์รายจ่าย จึงสะดวกและง่าย แต่ส่วนใหญ่จะหักได้น้อยกว่าหักค่าใช้จ่ายตามจริง และ 2. หักตามจริง ซึ่งต้องมีหลักฐานพิสูจน์รายจ่ายนั้นๆ
สำหรับผู้ประกอบการ SME ที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล สามารถนำรายการค่าใช้จ่ายบางประเภทมากหักได้มากกว่าค่าใช้จ่ายจริง เช่น การจ้างผู้สูงอายุทำงาน หักค่าใช้จ่ายได้ 2 เท่า การจ้างนักศึกษาทำบัญชี หักค่าใช้จ่ายได้ 2 เท่า การทำวิจัยและพัฒนา หักค่าใช้จ่ายได้ 3 เท่า การลงทุนซื้อเครื่องจักร หักค่าใช้จ่ายได้ 1.5 เท่า เป็นต้น
สามารถหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาทรัพย์สินบางประเภทในอัตราเร่งได้ (นับจากวันที่ได้มา) เช่น อาคารชั่วคราว หักได้ 100% เครื่องจักร คอมพิวเตอร์ และโรงงาน หักได้ 40% เป็นต้น (สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีทรัพย์สินถาวรไม่รวมที่ดินไม่เกิน 200 ล้านบาทและจ้างงานไม่เกิน 200 คน)
Published on 22 September 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย
สำหรับแบรนด์ที่อยู่มาอย่างยาวนาน บางครั้งภาพลักษณ์ของแบรนด์อาจถูกมองว่ามีความเก่าแก่ เชย หรือไม่ร่วมสมัย กลายเป็นอุปสรรคหนึ่งต่อการทำการตลาดกับคนรุ่นใหม่ แน่นอนว่า มีผู้ประกอบการหลายคนอยากรู้ถึงวิธีในการจะปรับลุคแบรนด์เก่าอย่างไร ให้สามารถโลดแล่นอยู่ในโลกใบใหม่นี้ได้
แบรนด์ “แม่ประนอม” ถือเป็นตัวอย่างหนึ่งของการลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงตัวเองเพื่อก้าวให้ทันกับโลกยุคใหม่ แบรรนด์ที่เป็นตำนานซึ่งอยู่มากว่า 61 ปี อย่าง แม่ประนอม ได้ลุกขึ้นมาปรับโฉมกลายเป็น “ตัวแม่ยุค 2020” จนเกิดเป็นกระแส Talk of the Town ให้คนพูดถึงแบรนด์นี้ในชั่วข้ามคืน และครั้งนี้อาจเรียกได้ว่า เป็นการพาแม่ประนอมออกจากกรอบแบบที่ไม่เคยทำมาก่อน
ถึงแม้ แม่ประนอม จะยืนหยัดมาอย่างแข็งแกร่ง ด้วยจุดแข็งของผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่หลากหลายภายใต้แบรนด์แม่ประนอม ทั้งน้ำพริกเผา น้ำจิ้มไก่ และอีกสารพัดมากมาย ที่อยู่คู่ครัวคนไทยมายาวนานตลอด 6 ทศวรรษที่ผ่านมา แต่ในอีกมุมของความเป็นแบรนด์ ความยาวนานที่ว่านี้ อาจทำให้ภาพลักษณ์ของแบรนด์ในสายตาคนรุ่นใหม่มองว่า เก่าแก่และมีความเชย อีกทั้งการจดจำแบรนด์ในกลุ่มเจนเนอเรชันใหม่ก็ค่อยๆ จางหายไปจากการรับรู้
ด้วยเหตุนี้ ทีมผู้บริหารเลือดใหม่เจนเนอเรชันที่ 3 ของแม่ประนอมที่เริ่มเข้ามาสานต่อภารกิจนำพาแบรนด์ให้เดินต่อไปข้างหน้า จึงเกิดความคิดที่จะปรับภาพลักษณ์ของแม่ให้ดูเด็กลง เพื่อจะได้ใกล้ชิดกับลูกค้ารุ่นใหม่ได้มากยิ่งขึ้น โดยครั้งนี้ เราได้ตัวแทนของทีมผู้บริหารรุ่นใหม่ อย่าง คุณพงศภัทร์ สุขุมาลจันทร์ Public Relations Manager บริษัท พิบูลย์ชัยน้ำพริกเผาไทยแม่ประนอม จำกัด มาเป็นผู้คลายความสงสัยและบอกถึงเคล็ดลับของการปรับลุคแบรนด์เก่าว่าต้องทำอย่างไรถึงจะปังได้ในยุคนี้
ลดอายุแบรนด์ ด้วยวิธีเปลี่ยนการสื่อสาร
“สิ่งที่เราทำครั้งนี้หลายคนอาจจะเข้าใจว่าเป็นการรีแบรนด์ แต่จริงๆ แล้ว เป็นเพียงแคมเปญสั้นๆ ที่เราต้องการปรับภาพลักษณ์ของแบรนด์แม่ประนอมให้ดูเด็กลง ด้วยการเปลี่ยนวิธีการสื่อสารใหม่ เพื่อทำให้เราสามารถเข้าถึงคนรุ่นใหม่มากขึ้น คนรุ่นใหม่หลายคนอาจจะเคยกินและจำรสชาติได้ แต่ไม่รู้ว่านี่คือ แบรนด์แม่ประนอม ดังนั้นเราจึงต้องมาตอกย้ำว่า สิ่งที่เขากินอยู่นั้น คือแบรนด์แม่ประนอม เพื่อให้เกิดการจดจำแบรนด์ในกลุ่มคนรุ่นใหม่”
แน่นอนว่า การจะสื่อสารไปถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ คงไม่มีอะไรทรงพลังไปกว่า ช่องทางออนไลน์และโซเชียลมีเดีย ทำให้วิธีการสื่อสารใหม่ของแบรนด์แม่ประนอมจึงมุ่งไปที่ช่องทางออนไลน์เป็นหลัก ภายใต้คอนเซปต์ “คู่ครัวตัวแม่” ที่จะมาให้ข้อคิดการใช้ชีวิตและเรื่องในครัวกับทุกคน ซึ่งถ้าสังเกตดีๆ จะเห็นว่า ด้วยโลโก้แม่ประนอมที่อยู่ในกรอบวงรีมาโดยตลอด เป็นการสื่อว่า แม่ประนอมมีกรอบที่เป็นแนวทางของตนเอง แต่ในปี 2020 นี้ แม่ประนอมจะขอออกจากกรอบ พร้อมทั้งชวนให้สร้างกรอบใหม่ที่ผู้หญิงกำหนดเอง ด้วยการให้ 4 ศิลปินหญิงนักวาดภาพประกอบ (Illustrator) รุ่นใหม่มาสร้างสรรค์ภาพของแม่ประนอมที่ถูกออกแบบมาภายใต้คำว่า “กรอบ” ใน 4 คอนเซปต์ด้วยกัน คือ
กรอบ...นอก แต่นุ่มใน ไม่อ่อนข้อเหมือนข้อไก่ แต่ยังนุ่มในกับใครที่รักเรา เป็นการสื่อถึงกรอบของผู้หญิงยุคใหม่ที่มีความเข้มแข็ง แต่คงไว้ซึ่งความอ่อนโยนกับคนที่รักเรา
กรอบ...เด้ง ทั้งเรื่องงานและเรื่องเล่น ให้ลูกกล้าแอดเฟรนด์ สื่อถึงกรอบการเลี้ยงดูลูกของผู้หญิงยุคใหม่ที่สามารถเป็นเพื่อนกับลูกได้
ไม่ลืมกอบโกย...ความสำเร็จ แม้เป็นเวิร์กกิ้งวูแมน...แต่ยังแม่นเรื่องทำอาหาร สื่อถึงกรอบความเก่งรอบด้านของผู้หญิงยุคใหม่ ทั้งเรื่องงานนอกบ้านและงานในครัว
รักษากรอบ...หน้า ไม่ให้ฝ้าขึ้นในวันทอดๆ จนเพื่อนลูกเผลอเรียกว่า “คุณพี่” สื่อถึงกรอบความเป็นผู้หญิงที่แม้จะทำอาหารเก่งอยู่ในครัว แต่ก็ไม่ลืมเรื่องความสวยความงาม ยังต้องดูแลตัวเองให้ดูดีเสมอ
เมื่อภาพวาดทั้ง 4 คอนเซ็ปต์นี้ ถูกสื่อสารออกไปบนโลกโซเชียล ทำให้คนเห็นถึงภาพลักษณ์ใหม่ของแม่ประนอม กลายเป็นคุณแม่ที่มีความเป็นวัยรุ่นขึ้น และเมื่อรวมกับวิธีการสื่อสารแบบใหม่ๆ เช่น การแชร์ข้อคิด คำคมในการใช้ชีวิตต่างๆ รวมไปถึงเคล็ดลับสูตรการทำอาหาร ที่ใช้ภาษาเด็กลง ผ่านทางโซเชียลมีเดียของแม่ประนอม ไม่ว่าจะเป็น Facebook หรือ Instagram ยิ่งทำให้แบรนด์เกิดการรับรู้และสามารถสื่อสารกับคนรุ่นใหม่ได้อย่างใกล้ชิดตามเป้าหมายที่วางไว้
ถอดวิธีคิด แนะเคล็ดลับปรับโฉมแบรนด์เก่า
จะเห็นได้ว่า เพียงแค่แม่ประนอมเปลี่ยนวิธีการสื่อสารใหม่ ด้วยภาษาใหม่ และในช่องทางใหม่อย่างออนไลน์ โดยที่ยังไม่ได้ทำการรีแบรนด์แต่อย่างใด ภาพความเป็นแบรนด์เก่าแก่ในสายตาหลายคนก็ถูกทลายกำแพงลงได้อย่างง่ายดาย ซึ่งตรงกับผลตอบรับที่ คุณพงศภัทร์ บอกว่า เกินกว่าที่คาดไว้มาก ทั้งในด้านของการมีส่วนร่วม Comment ต่างๆ บนออนไลน์ หรือแม้แต่ยอดขายที่เพิ่มขึ้น แต่แม่ประนอมจะไม่หยุดอยู่แค่นี้ เพราะนี่เป็นแค่สเต็ปเริ่มต้นเท่านั้น ยังมีแคมเปญต่อเนื่องที่จะเกิดขึ้นในอนาคตตามมาอีกแน่นอน
ถึงตรงนี้ ผู้บริหารแม่ประนอม บอกว่า การปรับโฉมแบรนด์เก่านั้น หัวใจสำคัญอยู่ที่ “ต้องทำไม่มากไปและไม่น้อยไป” เพราะถ้าทำเยอะ เปลี่ยนแยะ คุณค่าของแบรนด์ที่ถูกสะสมมาหลายสิบปีอาจจะหายไปได้ แต่ในทางกลับกัน ถ้าทำน้อยไป เพราะกลัวว่า คุณค่าของแบรนด์จะหาย จึงไม่กล้าเปลี่ยนแปลงมาก พอเมื่อทำน้อยก็กลายเป็นว่าไม่เห็นผลของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น จึงทำให้การจะปรับโฉมแบรนด์เก่าไม่ประสบความสำเร็จอย่างที่ตั้งใจไว้
ดังนั้น สิ่งที่อยากจะแนะนำสำหรับผู้ประกอบการ SME ที่อยากจะปรับโฉมแบรนด์เก่า มีดังนี้
1.รู้ตัวเองว่ามีอะไรและขาดอะไร อย่าง แม่ประนอม จุดแข็งคือความเชี่ยวชาญในเรื่องผลิตภัณฑ์ แต่สิ่งที่แม่ประนอมอาจจะไม่เก่งคือเรื่องของภาพลักษณ์ หรืออาจจะเป็นตำนานที่อยู่คู่ครัวไทยมาเนิ่นนาน แต่ไม่มีความหวือหวา เมื่อรู้ว่าจุดอ่อนคืออะไร เข้าไปแก้ตรงนั้นให้ได้ ถามว่าจะทำอย่างไรให้แม่ประนอมเผ็ดขึ้น เปรี้ยวขึ้น อาจจะเป็นการใช้ภาษาที่เด็กลง และเข้าไปอยู่ในจุดที่คนรุ่นใหม่ใช้ชีวิต แต่ต้องคงจุดแข็งและความเป็นเอกลักษณ์ของแม่ประนอมไว้
2.ต้องตีกรอบให้ชัดเจน การจะสร้างการเปลี่ยนแปลงใดๆ ผู้ประกอบการต้องรู้ว่า เขาต้องการอะไรจากแคมเปญหรือจากการกระทำนั้นๆ อย่าง แม่ประนอม สิ่งที่ต้องการ คือการเข้าไปใกล้ชิดกับลูกค้ามากขึ้น ซึ่งก่อนหน้านี้เราทำผลิตภัณฑ์ขึ้นมา อาจจะไม่ได้มีโอกาสรับฟังลูกค้าว่าต้องการอะไร หรือคิดอย่างไรกับผลิตภัณฑ์ แต่ตอนนี้เราตีกรอบแคมเปญนี้ไว้อย่างชัดเจนว่า เราต้องการไปอยู่ในที่ที่ลูกค้าเป้าหมายอยู่กัน พร้อมทั้งเปิดรับฟังความคิดเห็นของลูกค้า
3.สามารถวัดผลได้ ในทุกๆ การเปลี่ยนแปลงต้องสามารถวัดผลได้ การมีเป้าหมายแล้ววัดผลได้นั้น จะทำให้รู้ว่าสิ่งที่ทำนั้นประสบความสำเร็จหรือไม่ หรือทำในสิ่งไหนได้ดี แล้วยังมีจุดไหนที่ต้องแก้ไข เพื่อให้การทำในครั้งต่อไป มีเป้าหมาย ไม่หลงทางนั่นอง
จากเรื่องราวของแบรนด์แม่ประนอม เชื่อว่าน่าจะทำให้ผู้ประกอบการ SME เริ่มมองเห็นแนวทางของการพัฒนาแบรนด์ได้มากขึ้น หรือหากต้องการความรู้ในเรื่องของการสร้างแบรนด์เพิ่มเติมยิ่งขึ้น ปัจจุบันมีหน่วยงานภาครัฐหลายแห่งจัดอบรมให้ความรู้ในเรื่องของการสร้างแบรนด์และการพัฒนาแบรนด์ให้มีความโดดเด่นน่าสนใจแก่ผู้ประกอบการ อาทิ สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ISMED) เป็นต้น
Published on 21 September 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย