สำรวจสตาร์ทอัพไทย วันนี้ก้าวไปถึงไหน กับดร.พณชิต กิตติปัญญางาม นายกสมาคม Thailand Tech Startup Association

เชื่อว่านาทีนี้คงไม่มีการลงทุนประเภทไหนที่จะหอมเย้ายวนกลุ่มคนรุ่นใหม่เท่ากับสตาร์ทอัพ ดังจะเห็นได้จากกระแสคนรุ่นใหม่ที่ลาออกจากงานมาทำสตาร์ทอัพมากขึ้น ตามหน้าสื่อต่าง ๆ เราจะเห็นข่าวการเติบโตของสตาร์ทอัพที่สามารถขยับขยายจากระดับ Seed Fund ขึ้นไปสู่ Series A, Series B, Series C มาโดยตลอด จนหลายคนตั้งความหวังว่าสักวันหนึ่งจะต้องมีสตาร์ทอัพไทยที่ก้าวไปถึงการเป็น Unicorn หรือ สตาร์ทอัพที่มีมูลค่าบริษัทมากกว่า 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

ในความเป็นจริง เส้นทางของสตาร์ทอัพก็ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ หากแต่เต็มไปด้วยขวากหนามมากมาย

เหตุผลเพราะว่าสตาร์ทอัพนั้นเป็นธุรกิจที่ไม่เหมือนธุรกิจทั่วไป แต่มุ่งเน้นไปที่การเติบโตอย่างรวดเร็วแบบก้าวกระโดด (Growth), ทำซ้ำ ๆ ได้ (Repeatable) และขยายตัวได้อย่างกว้างขวางไร้ข้อจำกัด (Scalable) ดังนั้นหัวใจของสตาร์ทอัพจึงอยู่ที่การวางโมเดลธุรกิจ (Business Model) หรือกระดุมเม็ดแรก

โดยเฉลี่ยแล้วมีสตาร์ทอัพไม่ถึง 10% เท่านั้นที่สามารถดำเนินธุรกิจไปได้อย่างตลอดรอดฝั่ง อีก 90% นั้นไปไม่ถึงฝั่งฝัน

ยิ่งในสภาวะการณ์ที่ไม่แน่นอนเพราะวิกฤต COVID-19 ปัจจัยพื้นฐานหลายอย่างที่ส่งผลกระทบต่อการทำธุรกิจของสตาร์ทอัพมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากมาย 

เป็นโอกาสอันดีที่ ดร.พณชิต กิตติปัญญางาม นายกสมาคม Thailand Tech Startup Association จะมาอัพเดทสถานการณ์ล่าสุดให้ SME ONE ฟัง

 

ไปที่ ภาพรวม สตาร์ตอัพ เมืองไทย

ไปที่ โอกาสทางธุรกิจของสตาร์ตอัพไทย

ไปที่ แนวคิดและกิจกรรมที่เป็นประโยชน์กับสตาร์ทอัพไทย

ไปที่ จุดเริ่มต้น แนวคิด และไอเดียของธุรกิจ ZTRUS

ไปที่ คำแนะนำที่มีต่อ SME หรือผู้ประกอบการที่สนใจอยากทำธุรกิจด้านนี้

ภาพรวม สตาร์ตอัพ เมืองไทย

SME ONE : ภาพรวม สตาร์ตอัพ เมืองไทยตอนนี้เป็นอย่างไร

ดร.พณชิต : ในสภาพการณ์ปกติถือว่าได้รับความสนใจจากเด็กยุคใหม่ คนเริ่มสนใจออกมาทำสตาร์ตอัพเยอะขึ้น พนักงานเงินเดือนที่ลาออกมาจะเริ่มมีอายุขึ้น แต่ข้อเสียคือคนที่อายุมากออกมาทำสตาร์ตอัพจะไม่ได้รับเงินสนับสนุนเท่ากับเด็ก คนที่อยู่ใน Corporate เป็นพนักงานกินเงินเดือนแล้วออกมาทำอย่างผมก็เป็น Salaryman มาตลอดที่เห็นโอกาสแล้วออกมาทำ ถามว่าจำนวนสตาร์ตอัพเติบโตขึ้นไหม ไม่ได้เยอะแบบมีนัยสำคัญ แต่สัดส่วนที่มามาก ๆ จะมาจากรุ่นเด็ก เพราะเงินกับแคมเปญ และนโยบายส่วนใหญ่จะวิ่งเข้าไปที่ฝั่งมหาวิทยาลัย

 

SME ONE : อยากให้มองจุดอ่อน - จุดแข็งของสตาร์ตอัพสัญชาติไทย

ดร.พณชิต : ต้องดูในหลายแง่มุม เริ่มจากแง่มุมของบุคลากร เรื่องคนเราไม่แพ้ใครศักยภาพเราสู้เขาได้ แต่ในแง่มุมของความกล้าเสี่ยงหรือความเข้าใจธุรกิจ เนื่องจากอายุเฉลี่ยของสตาร์ตอัพไทยน้อยกว่า ฉะนั้นการเริ่มต้นความเข้าใจในธุรกิจจะสู้เขาไม่ได้ แต่ถ้าเกิดเอาคนอายุใกล้ ๆ กันมาชนกันน่าจะสู้ได้ แต่พอมองในแง่มุมประสบการณ์ หรือคนที่จะมาถ่ายทอดจากนักลงทุน พอพูดถึงนักลงทุนส่วนใหญ่จะนึกถึงเงิน แต่ในความเป็นจริงแล้วสิ่งที่เราต้องการจากนักลงทุนในฐานะสตาร์ตอัพเราไม่ต้องการแค่เงิน เราต้องการนักลงทุนที่เรียกว่า Smart Money ที่มาพร้อมกับความฉลาด

เพราะฉะนั้น เราต้องการนักลงทุนที่เคยลงทุนกับ Unicorn เขาถึงจะรู้ว่าสร้าง Unicorn สร้างอย่างไร นักลงทุนกลุ่มนี้ยังไม่ค่อยเข้ามา 60% ของทุนในตลาดยังเป็น Corporate Venture Capital หรือเป็นเจ้าของโดยบริษัทใหญ่ ซึ่งบริษัทใหญ่คนที่มาเทรนเราคือพนักงานเงินเดือนที่มีความสามารถแต่มุมมองอาจจะไม่ตรงกัน ผมถึงบอกว่าถ้าเราอยากจะสร้างผู้ประกอบการที่ไป Unicorn เราต้องหาคนที่รู้ว่าจะสร้างผู้ประกอบการ Unicorn อย่างไร

 

SME ONE : ทุกวันนี้สตาร์ตอัพรู้ไหมว่าเปอร์เซ็นต์ที่จะประสบความสำเร็จจริง ๆ มีน้อยมาก 

ดร.พณชิต : รู้ครับ ผมอธิบายแบบนี้ เราอยู่ในสังคมที่ไม่ค่อยกล้ารับความเสี่ยง กล้าเสี่ยงเฉพาะเรื่องหวย แต่ไม่เสี่ยงเรื่องอื่น พอเป็นสังคมที่ไม่ชอบความเสี่ยง แต่นวัตกรรมมันคือสิ่งที่ต้องเสี่ยง เพราะฉะนั้นต้องยอมรับว่าจะมีคนที่ล้มเหลว คำถามคือ ในประเทศนี้มีใครกล้าออกมาว่าทำบริษัทเจ๊ง ไม่มี เพราะคนจะดูถูกคนที่ทำบริษัทเจ๊ง ทุกคนจะดูถูกคนที่มีประสบการณ์ทำบริษัทเจ๊งมาแล้ว 2 รอบว่าไม่โอเค ประเทศนี้ผิดพลาดไม่ได้ พอเป็นวัฒนธรรมของประเทศที่เล่นเกม Discredit มากเข้า Mindset ก็จะเทไปทางหนึ่ง ฉะนั้นโอกาสที่มันจะเกิดอะไรขึ้นมาใหม่ ๆ ก็ยาก 

 

SME ONE : ที่อธิบายมาเป็นเหตุผลทำให้คนส่วนใหญ่ไม่กล้าออกจาก Comfort Zone ของตัวเอง

ดร.พณชิต : ไม่ออกเพราะว่ามันคือความเสี่ยง แล้วเสี่ยงของประเทศนี้คือถ้าเจ๊งแล้วเจ๊งเลย ตายแล้วมันกลับมาเกิดใหม่ยาก คือสมมติว่าคุณเสี่ยงถึงขั้นล้มละลาย คุณกลายเป็นคนทำอะไรไม่ได้อีกเลย ขนาดหายกลับมาแล้วก็ยังกลับมาไม่ได้ ถูกไหมครับ แต่ถึงอย่างไรตอนนี้ก็ยังมีคนกล้าอยู่ แต่คนที่ออกมาต้องแบบมีพลังนิดหนึ่งเพราะว่าเดิมพันสูง แต่ทำให้ได้คนที่อยากจะทำจริง ๆ 

 

SME ONE : มองความเคลื่อนไหวในฝั่งนักลงทุนอย่างไร

ดร.พณชิต : นักลงทุนไทยเคยชินกับของ On the shelf คือซื้อมาสำเร็จรูปของที่ฉันซื้อจะผิดไม่ได้ อันนี้เป็นวิธีคิดแบบยุคก่อน สมัยก่อนเราสามารถซื้อ Software สำเร็จรูปจากพันธุ์ทิพย์ได้ในราคาถูก ปัจจุบันฉันก็คิดว่าถ้าเธอจะขายเธอต้องถูกเท่าพันธุ์ทิพย์และเธอต้องสมบูรณ์เท่าพันธุ์ทิพย์ เลยทำให้ไม่สะท้อนราคาที่แท้จริง เพราะการที่นักลงทุนต้องการ Software ที่สมบูรณ์ในวันแรก ๆ มันเป็นไปไม่ได้ ขนาดหน้าตา Facebook ในวันแรกกับวันนี้ก็คนละแบบกันเลย

ในส่วนของ Corporate บางส่วนก็จะมองอีกด้าน ตลาดฉันอยู่ตรงนี้ เพราะฉะนั้นถ้าสตาร์ทอัพเป็นบริษัทเล็ก ๆ จะมาแย่งตลาดฉัน ฉันลงทุนกับเธอเองเลยก็ได้ แต่สิ่งที่ตามมาคือ สมมติว่าธนาคารสีหนึ่งลงทุนเสร็จ ถามว่าธนาคารสีอื่นจะลงทุนหรือใช้บริการสตาร์ตอัพรายนี้ไหม ก็ตอบว่าไม่ แปลว่าตลาดสตาร์ตอัพหายไปครึ่งหนึ่ง แล้วจะโตได้อย่างไร นี่คือปัญหาของฝั่ง Corporate เพราะทันทีที่ Corporate ลงมาทำให้เกิดการแข่งขันของ Corporate ในเวทีสตาร์ตอัพ ซึ่งทางออกคือ ฝั่ง Corporate ต้องไม่คิดแข่งกันเองในประเทศ แต่ต้องร่วมมือกันเพื่อออกไปแข่งกับต่างประเทศ


โอกาสทางธุรกิจของสตาร์ตอัพไทย

SME ONE : กลับมามองเรื่องโอกาสทางธุรกิจ โอกาสของสตาร์ตอัพไทยเป็นอย่างไร

ดร.พณชิต : โอกาสจาก Pain Point ยังมีอีกเยอะ เพียงแต่ว่าโจทย์ที่เราคิด เราต้องยอมรับว่าตลาดเทคโนโลยี ตลาด New Business ตลาด Innovation ในประเทศไทยล้าหลังกว่าตลาดอื่นในแง่มุมของ Demand ประมาณ 5-10 ปี ตัวอย่างเช่นธุรกิจของผมเอง ก่อนหน้านี้ผมทำโซลูชั่นด้านบัญชี ตอนนี้ผมไม่ได้ทำทางด้านบัญชีแล้ว หลังจากที่ได้เงินลงทุนจาก N-Vest Venture ซึ่งเป็นกองทุนของธนาคารออมสินกับตลาดหลักทรัพย์ ตอนนี้โฟกัสของเราคือเรามองไปที่ต่างประเทศ 

ตลาดเทคโนโลยีทางด้านบัญชีเป็นอย่างไร ถ้าเราทำแบบที่อเมริกา เมืองไทยจะไม่มีคนใช้ เพราะว่าเรายังไม่เห็นปัญหา Pain Point ที่เรามียังไม่ Advance ขนาดที่เขามี แต่ถ้าเราทำตามปัญหาที่เราเจอ เราจะสู้เขาไม่ได้เพราะเขาเห็นปัญหาและแก้ปัญหานี้เมื่อ 6 ปีที่แล้ว เพราะฉะนั้นในวันที่เทคโนโลยีเขามั่นคงพอที่จะแก้ปัญหาเรา ลูกค้าเราก็จะ Compare เรากับคู่แข่ง เมื่อไหร่ที่คู่แข่งเข้ามาตลาดเมืองไทยเราก็จบ เพราะเขาทั้งใหญ่ ทั้งนิ่ง

ผมว่าถ้าเราเริ่มมองตลาด Corporate ตลาดขนาดใหญ่ก่อนหรือตลาดที่ Advance แล้วได้รับการสนับสนุน เราน่าจะสามารถที่จะขยายได้ อย่างน้อยภาคพื้นอาเซียนน่าจะทำได้ กับมองไปให้ลึก พอเรามองไปตลาดต่างประเทศ สิ่งที่เราเห็นคือเทคโนโลยีมันลึกจริง ๆ แล้วคือต้องใช้ Advance Tech คราวนี้เราก็ได้รู้ว่าเราต้องทำอะไร เราจะไม่ใช่แค่แบบ Solution ผ่านไปผ่านมา

 

SME ONE : เมื่อสักครู่ดร.พณชิต พูดเรื่อง Pivot  มีคำแนะนำไหมว่า ถึงจุดหนึ่งควรจะต้องเลือกไปทางเดิมหรือ Pivot 

ดร.พณชิต : ใช้สัญชาติญาณล้วน ๆ เมื่อใดที่ความรู้สึกบอกกว่าไม่ใช่แล้ว ต้องรีบตัดสินใจอย่าฝืน ฝืนได้นิดหน่อยจนรู้สึกว่าไม่ใช่ มันจะมีจุดหนึ่งที่บอกว่าไม่ไหว ถ้าเป็นแบบนี้คือพิสูจน์แล้วว่าไม่ใช่ ก็ต้องปรับ ต้องไม่เสียดาย ต้องกล้าเสี่ยง เพราะสตาร์ตอัพคือความเสี่ยง ใช้หลักการ Fail Fast, Fail Cheap, Fail Forward ล้มได้แต่ต้องลุกเดินต่อ 

อย่างธุรกิจของผมตอนแรกที่ทำเราออกแบบโซลูชั่นการอ่านใบเสร็จ แล้วดึงข้อมูลด้วยการแปรจากภาพเป็นตัวอักษรแล้วตีความ ลงบันทึกบัญชีเดบิต/เครดิตให้ อันนี้คือเทคโนโลยีแรกที่ผมทำ แต่ผู้ประกอบการ SME ไม่ค่อยจ่ายเงินเพื่อให้ได้ข้อมูลนั้น เหมือนไม่อยากจ่ายเงินค่าทำบัญชี เพราะฉะนั้นราคาที่เขาจ่ายให้ผมไม่สูง ในขณะที่คนที่สนใจข้อมูลนี้คือ Corporate ขนาดใหญ่ เพราะมีเอกสารเยอะ และเขาอยากเห็นข้อมูล Real Time หรือกึ่ง Real Time การที่ต้องรอคนคีย์เอกสาร เขารอไม่ได้ เราก็เอาโซลูชั่นนี้ไปขาย ตอนนี้บริการเราทำทุกเอกสาร บัตรประชาชน ใบแจ้งหนี้ ใบเสร็จรับเงิน Pay Slip Bank Statement ทะเบียน เล่มทะเบียนรถยนต์ กรมธรรม์ สัญญาเช่า เหมือนเรารับจ้างคีย์ข้อมูลเข้าระบบให้ เรา Pivot มาทางนี้เลย 


แนวคิดและกิจกรรมที่เป็นประโยชน์กับสตาร์ทอัพไทย

SME ONE : อยากรู้ว่ามีแนวคิดของสตาร์ตอัพอันไหนที่สามารถดึงมาใช้กับกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อยหรือ SME ได้บ้าง

ดร.พณชิต : อย่าคิดไปเอง อย่ารัก Product ตัวเองมากเกินไป อันนี้คือหัวใจสำคัญ คือผมมีโอกาสไปให้คำแนะนำ SME ที่อยู่ต่างจังหวัดตามอุทยานวิทย์ศาสตร์ที่ทำ Product ต่าง ๆ เขาเก่งนะมีความเป็นผู้ประกอบการสูงกว่าผม เพราะเขาผ่านอะไรมาเยอะ แต่สิ่งหนึ่งที่ทำให้เขารู้สึกว่าอยากไปแต่ต่อไปไม่ได้ก็คือ คือเขารัก Product ตัวเองมากเกินไป รักจนไม่กล้าที่จะปล่อย ไม่กล้าวิจารณ์สิ่งที่ตัวเองทำ ไม่เคยตั้งคำถามว่า ฉันทำสิ่งนี้ทำไม แล้วใครต้องการสิ่งนี้ ฉันรู้แต่ว่าฉันทำแล้วต้องมีคนต้องการ บางทีมันเหมือนไปยัดเยียดใส่ แล้วเขาไม่มองว่าสุดท้ายแล้วสินค้าตัวนี้จะไปทางไหน เขามองแต่ว่าวันนี้ขายได้ตรงนี้พอ ซึ่งผมว่าก็ไม่แปลก

นิยาม SME กับ สตาร์ทอัพ ต่างกันคือ SME เห็นโอกาส สตาร์ตอัพเห็นปัญหา เพราะฉะนั้น SME เห็นว่าใครอยากได้อะไร ฉันก็ล็อกไว้ วันนี้ไม่มีใครขายไก่ทอดเลย เดี๋ยวฉันขายไก่ทอด ไก่ทอดฉันน้ำจิ้มรสเด็ด นี่คือสูตรเด็ดของฉัน งั้นเธอกิน จบ นั่นคือโอกาส ถามว่าพี่เขาทำได้ไหม ทำได้ แต่สุดท้ายมันก็กลับไปที่ว่า ฉันทำอย่างงี้ได้ ฉันก็อยากขายไก่ทอด เดี๋ยวฉันจะทำแฟรนไชส์ ถามว่าดีไหม ดี แต่อย่างที่ผมบอก พอเป็น Food ปัญหาถัดมาคือ พอทำแฟรนไชส์เสร็จ ที่เจ๊งส่วนใหญ่เพราะว่า Product ที่สองขึ้นไม่ได้ Business ต้องการ Continuous มากกว่านี้ อันนี้คือสิ่งที่ SME ไม่รู้ แนวคิดสตาร์ตอัพก็ต้องมาแล้ว 

เพราะฉะนั้นคุณก็ต้องเข้าใจ Pain Point ของลูกค้า แล้วต้องตั้งคำถามว่า คุณกำลังจะไปทางไหน แล้วต้องการอะไรในอนาคต จะได้รู้ว่าคุณอย่ารัก Product เลย คุณต้อง Criticize ว่าทำไปเพื่ออะไร ทำไปทำไม ระยะยาวจะอยู่อย่างไร แต่ถ้าในสถานการณ์โควิดชัดเจน เอาเงินสดไว้ก่อน อะไรก็ได้ ให้ได้เงินทำไปก่อน ต่อให้รัก Product ตัวเอง ได้เงินสดก็ทำเถอะ แต่พอเริ่มได้เงินสด เริ่มนิ่ง อยากให้ตั้งสติ อย่ารักมันเกิน Criticize แล้วถามว่าผู้บริโภคคือใคร อยากได้หรือเจอปัญหาอะไร แล้วเขาจะได้รับการส่งต่อคุณค่าที่ดีกว่านี้ได้อย่างไร ผมใช้คำว่าคุณค่านะ ไม่ใช่สินค้า คุณต้องหาให้เจอว่าที่ลูกค้ากินอาหารคุณ อะไรคือคุณค่าที่เค้าเลือกซื้อ แล้วคุณค่านั้นมันยั่งยืนหรือเปล่า แล้วคุณสามารถไปต่อได้ไหม แล้วทำให้มันดีกว่าเดิมได้ไหม

 

SME ONE : บทบาทหรือกิจกรรมของสมาคมที่ส่งเสริมสตาร์ทอัพในปัจจุบันมีอะไรบ้าง

ดร.พณชิต : เรามีทำกิจกรรมกับอุทยานวิทยาศาสตร์แต่ละภาค เพื่อที่จะถ่ายทอดความรู้ไปยังสตาร์ตอัพในแต่ละภูมิภาค แล้วก็พยายามให้ความรู้ตามมหาวิทยาลัย เพื่อใส่แนวคิดแบบสตาร์ตอัพลงไป อย่างที่ผมได้ไปให้คำแนะนำพวกพี่ ๆ อุทยานฯ เรื่องที่ 2 เราก็พยายามที่จะทำงานกับภาครัฐ ล่าสุด ก.ล.ต. ก็ออกกฎหมาย Convertible Debt มา ซึ่งถือว่าเป็นข่าวดี แล้วก็ทำงานกับสรรพากรทำโครงการ Hackatax เพื่อจัดโครงสร้าง รูปแบบนวัตกรรมในการจัดการเรื่องภาษีของประเทศ

เราทำกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้ามีไปจัดอบรมให้ ทำกับ DEPA สุดท้ายเราทำ Matching สตาร์ตอัพ กับ SME กับสภาอุตสาหกรรม กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าจะมีจัดกิจกรรมสตาร์ตอัพกับโชว์ห่วย สตาร์ตอัพกับ Logistic ที่เรียกว่า Total Solution Program คือเราไปสอน Matching ให้

 

SME ONE : ในฐานะผู้ประกอบการสตาร์ทอัพ อยากให้ภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือในด้านไหนบ้าง

ดร.พณชิต : ผมว่า Vision ของภาครัฐ หรือ Goal ของประเทศไทยสำคัญ ต้องบอกว่าจะไปทางไหน ส่วนนี้ผมยังไม่เคยเห็น คือทุกหน่วยงานอยากได้สตาร์ตอัพ แต่ไม่เคยตอบคำถามว่า อยากได้สตาร์ตอัพในประเทศนี้ไปทำไม คือสตาร์ตอัพก็อยากรู้ว่าจะไปทางไหน แต่ประเทศไม่เคยตอบว่าตัวเองอยากได้สตาร์ตอัพไปทำอะไร 

สมมติถ้าเกิดผมเป็นคนวางกลยุทธ์ ผมจะบอกเลยสตาร์ตอัพไทยควรจะติดปีกให้ Corporate ไปกินพื้นที่ Regional ให้ได้ เพราะฉะนั้นภาครัฐคือ ดัน Corporate ให้ไปแข่งกับต่างประเทศ แต่ใช้สตาร์ตอัพมาเชื่อมโยงกับ SME เชื่อมโยงกับ Corporate คือนโยบายต้องชัดว่าสตาร์ตอัพตัวเชื่อม แล้ว Corporate ต้อง Lead ไปต่างประเทศให้ได้ ถ้านโยบายชัดในลักษณะนี้ เราจะรู้ว่าเราโตไปเพื่ออะไร เราโตไปไหน 

 

SME ONE : อยากจะขอเป็นประเด็นว่าภาครัฐควรต้องทำอะไรบ้าง

ดร.พณชิต : ถ้าต้องทำจริง ๆ ผมว่าต้องหาวิธีการในการลดความเสี่ยงของทุกคนที่จะมาเกี่ยวข้องกับนวัตกรรม เช่น ผู้ประกอบการ ลูกค้า ลูกค้าที่จะมาใช้ไม่มีใครอยากเป็นคนแรก ไม่มีใครอยากเป็นหนูทดลอง เพราะฉะนั้นสตาร์ตอัพต้องมีทางลดความเสี่ยง และทำให้ลูกค้าอยากเป็นหนูทดลองคนแรก เพราะว่าเทคโนโลยีหรือ Product จะดีได้ก็ต่อเมื่อมีคนใช้ ใช้แล้ว Feedback ไป ๆ มา ๆ จะดี มันต้องมีช่วงเวลาที่ปล่อยให้มันเสี่ยงแล้วดี อันนี้ต้องมีพื้นที่ 

เสร็จแล้วต้องมีพื้นที่ลดความเสี่ยงให้กับนักลงทุนที่เคยเลี้ยง Unicorn ให้เข้ามาลงทุนในเมืองไทย เพราะตอนนี้เขาไม่อยากเข้ามาลง กลายเป็นว่าอยู่เมืองไทย สตาร์ตอัพมี Handicap เหมือนกับถูกลดราคา สตาร์ตอัพเดียวกัน ไปจดทะเบียนสิงคโปร์ราคาดีกว่า ทุกอย่างเหมือนกัน ตัวเลขเดียวกัน ต่างกันแค่จดทะเบียนไทยกับสิงคโปร์ สิงคโปร์ราคาดีกว่าเยอะ

 แม้กระทั่ง VC (Venture Capital) ผมยังบอกเลย ถ้าผมอยู่อินโดนีเซียราคาจะสูงกว่านี้ 20 เท่า เขาพูดตรง ๆ เลยว่าอยู่เมืองไทย Handicap เยอะมาก แต่ว่าตัวคูณความเสี่ยงในเมืองไทยสูง เพราะเมืองไทยไม่มีวิธี Subsidize ความเสี่ยงให้นักลงทุน อันนี้คือเรื่องที่ผมมองว่า ถ้าเราทำได้ เราน่าจะไปดูว่าอะไรคือความเสี่ยง อะไรคือมาตรวัดที่นักลงทุนคิดถึงเรื่องความเสี่ยง แล้วเราสามารถใช้เงินรัฐใส่ลงไปเพื่อลดความเสี่ยงได้ไหม แต่ก็จะติดปัญหาอีกว่าเงินรัฐจะไปสนับสนุนตรงนั้นไม่ได้ เพระว่า VC พวกนั้น ส่วนใหญ่ก็เป็น VC ต่างชาติอาจจะเกิดข้อสงสัย  

อีกเรื่องก็คือ ถ้าเราอยากเห็น Ookbee อยากเห็น Wongnai มากขึ้นเราต้องให้คนที่อยู่ใน Corporate ใน Level สูง ๆ กล้าที่จะออกมาตั้งบริษัท เพราะเด็กทำไม่ได้หรอกครับ จินตนาการนะครับ เด็กจบปริญญาตรีมา 2 ปี ออกมาทำสตาร์ตอัพ ไอเดียอาจจะพอได้ คำถามคือ เด็กที่ยังไม่เคยทำอะไรเลยอะ แล้วออกมาทำคุณรู้วิธีการตั้งเงินเดือนไหม รู้ไหมว่า BSC คืออะไร KPI ตั้งอย่างไร คุณรู้ไหมว่า Cash Flow มองยังไง คือทุกอย่างมันเชื่อมโยงกันหมด เราถึงก็ต้องการคนที่ Guide แต่ Guide เสร็จ บางครั้งความรู้ถึง ความกดดันสูง ใจรับไหวหรือเปล่า เด็กจบมาอายุ 23-24 สมมุติว่าเราไป Pro เค้านะ ให้กองทุน สตาร์ตอัพ ไป 2 ล้าน จ่ายเงินเดือนออกเดือนละ 3 แสน แต่เงินไม่เข้า 6 เดือน รับไหวไหม แล้วแถมพอรับเงินไปเสร็จ นักลงทุนก็จี้ ทำไมไม่ได้ ความกดดันมันสูง พอจี้สักนิดหนึ่งลูกน้องก็จะบอกพี่ ผมจะลาออกแล้วนะ ผมไม่ได้ว่าเด็กไทยไม่เก่ง แต่มันมีหลาย ๆ เรื่องที่เป็นเรื่องของความพร้อม ในขณะที่คนอายุสัก 30 กว่า อยู่ใน Corporate ไปแล้วเป็นผู้บริหาร ผ่านอะไรบางอย่างมาแล้ว จะรู้ว่าต้องทำอย่างไร

 

สุดท้ายผมว่าต้อง Subsidize ความเสี่ยงของผู้ประกอบการ ถ้าเราย้ายผู้ประกอบการเก่ง ๆ ออกมา เราจะไปได้ เพราะเขาคือผู้ประกอบการ เราไปสนับสนุนแต่เด็ก มันก็จะเกิดสตาร์ตอัพแบบเด็ก แต่ถ้าเราสนับสนุนผู้ประกอบการ ผมไม่ขอเยอะ ขอแค่ 5% ของ Top AVP (Assistant Vice President) ใน Corporate ออกมาทำสตาร์ตอัพ 1% ประเทศไทยจะมีสตาร์ตอัพคุณภาพดีเพิ่มขึ้นอีกมากมาย แต่เขาต้องออกมาเป็นผู้ประกอบการ ไม่ใช่รับเงินเดือน 

ผมว่ามีคนยอมถ้าให้โอกาส แต่เราต้อง Subsidize ความเสี่ยงเขา เช่น ถ้าออกมาเสร็จ เงินเริ่มต้นขอ Corporate สัก 5 แสนได้ไหม สมมติ Corporate อาจจะถือสักเสี้ยวหนึ่ง 1-2% แล้วคุณต้องบริหารจัดการเงินเดือนเอง แต่คุณได้ประกันสุขภาพของคุณ ลูกเมีย พ่อแม่ เหมือนเป็นพนักงาน คือ Subsidize Risk ที่เขายังกังวล ไม่ใช่ทำให้เขาฟุ่มเฟือย แต่ทำให้เขาไม่พะวงหลัง ตอนนี้คนที่ไม่ออกมาเพราะว่าเขาพะวงหลัง เขากลัวว่าถ้าล้มแล้วคนข้างหลังจะตายกันหมด

คนที่ตัดสินใจออกมาทำสตาร์ทอัพส่วนใหญ่ไม่กลัวตัวเองตาย เรื่องไม่ได้รับเงินเดือน เพราะเขารู้อยู่แล้ว ถ้าจะออกมา ก็ทำใจแล้วว่าจะมีเงินเดือน ต้องเอาเงินเก็บมาใช้ แต่พอถึงจังหวะฉุกเฉิน อันนั้นแหละคือสิ่งที่เขาจะเริ่มกังวลแล้ว ตอนนั้นผมก็บ้า ๆ ผมก็ออกมาเลย แต่ถ้าถึงจังหวะฉุกเฉินตายทันทีเหมือนกันนะ จังหวะต้องใช้เงินด่วน จังหวะสุขภาพ จังหวะอุบัติเหตุ ซึ่งถ้า Subsidize Risk ตรงนี้ได้ ผมว่ามีคนออกมาอีกเยอะ


จุดเริ่มต้น แนวคิด และไอเดียของธุรกิจ ZTRUS


SME ONE : กลับมาที่ธุรกิจส่วนตัว อธิบายจุดเริ่มต้นให้ทีว่า ZTRUS มาจากแนวคิดอะไร

ดร.พณชิต : จุดเริ่มต้นจากที่บ้านผมทำบัญชี แล้วผมก็รู้สึกว่าคนทำบัญชีใช้คนเยอะในการคีย์เอกสาร จึงอยากจะลดต้นทุนในการทำตรงนั้น เลยหาเพื่อนที่ทำเทคโนโลยี OCR จาก NECTEC เพื่อนผมเป็น CTO (Chief Technology Officer) ผมเคยทำงานใน NECTEC สวทช. เห็นตัวอย่างเทคโนโลยีของสวทช. Advance ถึง Top ของโลก แต่ทำไมตลอด 10 - 20 ปีไม่มีตัวไหน Spin Off ออกมาเลย ผมต้องการจะพิสูจน์ให้เห็นว่าคนไทยที่อยู่ในงานสายนี้ทำได้ ก็เลยชวนเพื่อนออกมาเริ่มต้น ใช้เวลาพอสมควรจากที่เป็นนักวิจัยจนมาเป็นสตาร์ตอัพ 

ตอนแรกที่เราทำเราคิดว่าเราช่วยลงบันทึกบัญชีให้เร็ว แต่อย่างที่บอกต้นทุนในการบันทึกบัญชี ทุกคนไม่แคร์ เขาไม่แคร์ข้อมูลที่รวดเร็ว ไม่แคร์ข้อมูลที่ถูกต้อง เขาสนแค่ว่าหลบภาษีได้ไหม คือไม่จ่ายเงินให้กับคุณค่าของข้อมูล ทั้งที่รู้ว่าข้อมูลมีความสำคัญ แต่คนที่ให้ราคากับข้อมูลคือฝั่ง Corporate ก็เลย Pivot มาขายข้อมูลให้ Corporate แทน

 

SME ONE : ปัจจัยอะไรครับที่ทำให้อยู่ ๆ เป็นมนุษย์เงินเดือน แล้วออกมาเป็น สตาร์ตอัพ 

ดร.พณชิต : คันใจ ผมจบปริญญาเอกที่อังกฤษ แล้วผมก็ไปทำงานอยู่สิงคโปร์ 6 ปี ทำ A*STAR เหมือน สวทช. เลย ผมอยู่กับ NECTEC มาตั้งแต่เด็ก คือผมได้ทุน NECTEC ตอนปริญญาโท ผมก็จะเห็นว่า Gap ของประเทศนี้มันอยู่ตรงนี้ ผมจะหงุดหงิดใจมากว่าเทคโนโลยีที่เราเห็นมันเทียบเท่ากับ Advance Paper ที่เราอ่าน แต่ทำไมมันออกมาไม่ได้ ที่ออกไม่ได้เพราะว่า Mindset Flow ตั้งแต่ Technology Design ทำจนถึง At the end market  มันเชื่อมไม่ถึงกัน

ในประเทศนี้ของที่อยู่ใน Lab กับของที่จะออกมาใช้งานมันเหมือนว่าใกล้จะใช้งานได้ แต่จริง ๆ แล้วยังไม่ได้ ถ้าที่สิงคโปร์เขาเรียกว่า Gap คือเหมือนจะก้าวถึงแต่ก้าวไม่ถึง กระโดดไปก็ไม่ถึง แต่มันลึก ฉะนั้นถ้าคุณจะถมให้มันเดินได้ต้องลงทุนเยอะ แต่ประเทศไทยชอบคิดว่ามันตื้น เพราะไม่เคยมีใครก้าวข้ามตรงนี้จริง ๆ ก็เลยทำให้ทุกคนคิดว่าง่าย แล้วพอลงทุนไป KPI ต้องมา พอมันไม่ถึงก็ลูบหน้าปะจมูก เลยข้ามไปไม่ได้สักคน นี่คือปัญหา ผมเห็นแล้วหงุดหงิดใจ เราเชื่อว่ามันน่าจะทำได้ เราก็เลยอยากจะพิสูจน์บางอย่าง เรารอจนเราผ่อนรถ ผ่อนบ้านเสร็จ เราก็ตัดสินใจออกมาทำ


คำแนะนำที่มีต่อ SME หรือผู้ประกอบการที่สนใจอยากทำธุรกิจด้านนี้

SME ONE : คำแนะนำสำหรับคนที่อยู่ในวงการ สตาร์ตอัพ 5 Do กับ 5 Don’t สิ่งที่ควรทำและไม่ควรทำ

ดร.พณชิต : Don’t หนึ่งคือ อย่าคิดไปเอง ต้องศึกษาหาข้อมูลให้มาก จากแหล่งอ้างอิงหรือจากผู้เชี่ยวชาญ สองอย่ารักแนวคิดของตัวเองมากไปมันคืออุปสรรค เพราะว่าทุกอย่างปรับเปลี่ยนได้ตลอดเวลา สามคือ อย่ามองคู่แข่งเป็นศัตรู ให้มองเป็นมิตรร่วมอาชีพ เพราะการมีคู่แข่งที่ดีทำให้ตลาดโต Demand โต ทำให้ดีไปด้วยกัน

ส่วน Do เริ่มจาก หนึ่งคือ ธุรกิจต้องมีโฟกัส และต้องมองอนาคตให้ออก คือคุณต้องสร้างภาพอนาคตด้วยข้อมูลในมือ ต้อง Predict อนาคตผ่านข้อมูล สองทำธุรกิจต้องใจกว้าง รู้จักให้ ถ้าเป็นคนให้เสมอเดี๋ยวมันจะได้กลับมาเอง แม้กระทั่งกับ SME ปกติประเด็นเรื่องนี้ผมสังเกตมา คือสิ่งแรกที่ SME เวลาจะทำอะไร เขาจะบอก อันนี้หรอทำไม่ได้นะ อันนี้ขาดทุน ถ้าเป้าหมายของคุณคือต้องทำอาหารให้อร่อย ให้คนกินแล้วติดใจ อย่าคิดประหยัดต้นทุน วันแรกคุณยังไม่ต้องประหยัด วันแรกคือทำให้เต็มที่ก่อน ให้เขารักในสิ่งที่คุณทำ Value ต้องถึง แล้วคุณค่อยดูว่า Value นั้นกับ Price ที่ให้ ไม่ใช่ Cost Consider คุณต้องเต็มที่กับสิ่งที่ให้แล้วค่อยมาดูต้นทุน อย่ามองที่กำไรเพียงอย่างเดียว



บทสรุป

สตาร์ทอัพทุกคนย่อมหวังที่จะได้เงินลงทุนจากนักลงทุน ไม่ว่าจะมาจากฝั่ง Corporate Venture หรือ Angel investor แต่การที่สตาร์ทอัพจะไปได้ตลอดรอดฝั่งนั้น ลำพังเงินลงทุนเพียงอย่างเดียวอาจจะไม่เพียงพอ เพราะฉะนั้น สตาร์ทอัพควรจะเลือกเจราจากับนักลงทุนที่สามารถถ่ายทอดความรู้และมุมมองในการบริหารงาน เพื่อนำไปพัฒนาต่อยอดธุรกิจได้ด้วย



Published on 23 September 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

บทความแนะนำ

สวทช. ชวนดาวน์โหลด e-book เติมเต็มความรู้ “Smart Farming”

 

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ขอเชิญชวนเกษตรกร ประชาชน และผู้สนใจ ดาวน์โหลดหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (e-book) เรื่อง “Smart Farming” (การเกษตรอัจฉริยะ) ที่มีการรวบรวมผลงานการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ของ สวทช. เพื่อสนับสนุนภาคการเกษตร ให้เกิดการเพิ่มมูลค่าของสินค้าและบริการ สนับสนุนให้ภาคเกษตรนำเทคโนโลยีสมาร์ทฟาร์มมาปรับใช้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต พร้อมลดต้นทุนจากการลดใช้ปุ๋ยและยา

เนื้อหาในเล่มอัดแน่นไปด้วยข้อมูลตั้งแต่การพัฒนาเมล็ดพันธุ์ เทคโนโลยีการปลูกและจัดการพืช/สัตว์สมัยใหม่ การเตือนการณ์ การคาดการณ์ผลผลิต การบริหารจัดการกระบวนการผลิต และบริการต่าง ๆ ของ สวทช. เพื่อผู้ประกอบการที่สนใจทำธุรกิจเทคโนโลยี

 

สนใจดาวน์โหลด e-book ได้ที่นี่ คลิก!!

 

 

Published on 23 September 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

 

 

บทความแนะนำ

การขอรับสิทธิ์ส่งเสริมผู้ประกอบการสมุนไพร

 

ขอเชิญวิสาหกิจชุมชน และ SME รับสิทธิ์ส่งเสริมผู้ประกอบการสมุนไพร โดยลงทะเบียน ที่นี่

 

การส่งเสริมผู้ประกอบการ ตามพระราชบัญญัติผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ.2562 ได้แก่

1. เป็นการส่งเสริมและพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพรในการศึกษาวิจัยเทคโนโลยีในด้านต่าง ๆ
2. ส่งเสริมความร่วมมือกันระหว่างผู้ประกอบการ
3. ลดหรือยกเว้นค่าธรรมเนียม
4. ให้คำปรึกษา หรือการเตรียมเอกสารทางวิชาการ เกี่ยวกับการผลิต หรือการขายผลิตภัณฑ์สมุนไพร
5. อบรมพัฒนาศักยภาพในการประกอบการ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย
6. ให้เอกสารคำแนะนำ คู่มือ หนังสือวิชาการ เพื่อเผยแพร่ความรู้ พัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ
7. สิทธิและประโยชน์อื่น ตามที่คณะกรรมการนโยบายกำหนด

 

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
กองสมุนไพรเพื่อเศรษฐกิจ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก
โทร. 02-149-5609

 

Published on 23 September 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

บทความแนะนำ

ไอติมหม้อไฟยศเส แตกต่างอย่างสร้างสรรค์ เพื่อสร้างความเป็นออริจินอล

กรุงเทพมหานคร เมืองแห่งสตรีท ฟู้ดส์ ที่ชาวต่างชาติให้การยกย่อง แหล่งรวมร้านอาหาร ของคาวหวาน ต้นตำรับสูตรดังมากมาย จนครอบครองใจผู้บริโภคในทุกกลุ่มและได้กลายมาเป็นกระแสหลักวัฒนธรรมการกินดื่มของสังคมไทยในปัจจุบัน หากจะเอ่ยถึงร้านขนมหวานโดยเฉพาะในประเภทไอศกรีมโฮมเมดที่โด่งดังในระดับตำนาน หนึ่งในชื่อที่ต้องถูกเอ่ยคงไม่พ้นร้านไอติมหม้อไฟยศเส ที่เปิดมาอย่างยาวนานกว่า 15 ปี โดยมีหัวเรือใหญ่ คือ "โชกุน" สุรชัย ที่คอยปลุกปั้นและนำพาแบรนด์ให้ก้าวขึ้นสู่หนึ่งในแบรนด์ไอศกรีมขวัญใจสายสตรีท ด้วยอุปนิสัยส่วนตัวที่เป็นคนใส่ใจทุกรายละเอียด ถึงกระทั่งว่าลูกค้าหน้าใหม่ที่แวะเวียนเข้ามามองหาร้านไอติมชื่อดังที่ซ่อนตัวอยู่ในย่านยศเส คุณโชกุนสามารถบ่งบอกได้ว่าคนที่เดินมองหาอะไรสักอย่างละแวกนี้ ต้องเป็นลูกค้าที่กำลังมองหาร้านตนอย่างแน่นอนและพร้อมที่จะเข้าไปดูแลตั้งแต่ปากซอย 

“ถ้าเราทำสิ่งที่ใคร ๆ ก็ทำ แม้เราจะทำได้ดีกว่า แต่ก็ไม่พ้นที่จะถูกนำไปเปรียบเทียบกับสิ่งเดิมที่มีคนเคยทำ แล้วทำไมเราไม่สร้างสิ่งใหม่ นำเสนอสิ่งใหม่ ๆ ให้คนชื่นชมและกลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวเราในที่สุด” คือ แนวคิดที่คุณ สรุชัย หรือที่ใคร ๆ เรียก โชกุน ยึดถือเป็นปรัชญาในการดำเนินธุรกิจมาโดยตลอด ทำให้ตลอด 15 ปีที่ผ่านมา ไอติมหม้อไฟยศเส ไม่เคยหยุดคิดที่จะมอบสีสัน ความสดใส ตื่นตาตื่นใจ ประสบการณ์ความแปลกใหม่มาให้ทุกคนสัมผัสลิ้มลองอยู่เสมอ สมดั่งปณิธานแรกเริ่มที่ตั้งชื่อร้านไอกรีมของตนเองว่า Tongue fun 

จากจุดเริ่มต้นที่มีเพื่อนสมัยเรียนชวนมาลงทุนทำธุรกิจร้านไอกรีมเล็ก ๆ ในวันนั้น ไอติมหม้อไฟยศเสได้ผ่านร้อนผ่านหนาวฟันฝ่าอุปสรรคต่าง ๆ นานา มาอย่างโชคโชน เพื่อคงไว้ซึ่งความคุณภาพมาตรฐานที่สร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้าอย่างสูงสุดเสมอมา และกำลังจะก้าวสู่บททดสอบใหม่ ความแปรเปลี่ยนในแวดวงการตลาดและการบริโภค ซึ่งแน่นอนว่าแนวคิดการสร้างความแตกต่างและเอกลักษณ์อันเป็นที่จดจำจะยังคงอยู่เคียงคู่กับแบรนด์ไปโดยตลอด

ไปที่ จุดเริ่มต้น แนวคิด และไอเดียของธุรกิจ

ไปที่ ปัญหาที่เจอ หรืออุปสรรค ที่พบระหว่างทางของการทำธุรกิจ

ไปที่ Key Success ของธุรกิจ

ไปที่ คำแนะนำที่มีต่อ SME หรือผู้ประกอบการที่สนใจอยากทำธุรกิจด้านนี้

จุดเริ่มต้น แนวคิด และไอเดียของธุรกิจ

 

SME ONE : ช่วยเล่าประวัติความเป็นมา กว่าจะมาเป็นไอติมหม้อไฟยศเสทุกวันนี้ 

คุณโชกุน: เมื่อก่อนผมทำงานโฆษณา มีอาชีพที่มั่นคง มีรายได้ค่อนข้างดี จนมีอยู่วันหนึ่งมีเพื่อนสมัยเรียนมาชวนผมให้ร่วมทำธุรกิจไอศกรีมกันซึ่งเป็นอาชีพดั้งเดิมทางบ้านเขา ซึ่งในตอนนั้นผมก็ตกลงทำกันแบบครึ่งตัวคือยังไม่ได้ลาออกจากงานประจำ และรับหน้าที่ดูแลด้านการตลาดการโฆษณาให้กับแบรนด์ ซึ่งตอนเริ่มแรกนั้นก็ได้เลือกเปิดที่บ้านของผมเองซึ่งเป็นทำเลที่ค้าขายอาหารได้ดี มีร้านอาหารเจ้าดัง ๆ ที่ดึงดูดคนมาทานได้มากกว่า 10 ร้าน และทั้งหมดล้วนแต่เป็นร้านอาหารคาวทั้งสิ้น มีขนมหวานน้ำแข็งใสอยู่เพียงรายเดียว ซึ่งทำให้ผมเล็งเห็นโอกาสที่จะนำเสนอสินค้าที่ทานไปควบคู่กับอาหารได้ทุกเพศทุกวัยอย่างไอศกรีม

ในช่วงแรกผมก็คุยกับเพื่อนหุ้นส่วนว่า อยากทำอะไรที่แตกต่าง ไม่อยากทำไอศกรีมที่ใคร ๆ ก็ขายซ้ำรอยคนอื่น เพราะอย่างที่บอก ถึงเราทำรสชาติออกมาได้ดีกว่า หลายคนต่างยกย่อง แต่ก็ไม่พ้นต้องถูกนำไปเปรียบเทียบกับเจ้าตลาดอื่น ๆ ซึ่งคิดสูตรออกมาเป็นคนแรก ๆ เลยคุยกับเพื่อนว่างั้นของเราจะเป็นสูตรเฉพาะของทางร้านที่เรียกว่าพิเศษไม่เคยมีใครทำ แต่ยังต้องเป็นรสชาติที่คนไทยชื่นชอบต้องเป็นรสชาติประหลาดที่คุ้นลิ้นคนไทย อย่างไอติมรสโคตรนมของทางร้าน เรียกว่าเป็นสูตรต้นตำรับเลยก็ว่าได้ เพราะไอศกรีมสายนมที่มีในท้องตลาดตอนนั้นก็มีทั่ว ๆ ไปอย่าง รสกะทิ รสวนิลา รสช็อกโกแลต แต่ของทางร้านเราอยากทำให้มีรสชาติที่เข้มข้นแบบกินแล้วต้องติดใจ ทั้งหอมนมสด ทั้งมีรสมันกลมกล่อม และหวานพอดี ซึ่งแต่แรกเลยยังนึกชื่อไม่ออกไม่ได้คิดว่าต้องตั้งประหลาดอะไรมากมาย จนมีอยู่ครั้งหนึ่งที่ผมเผลอพูดตอนจดออเดอร์ลูกค้าว่า “ไอติมโคตรนม หนึ่งถ้วย” ซึ่งตั้งแต่นั้นมาเราก็เรียก รสโคตรนมมาโดยตลอด และขายดีมาจนถึงทุกวันนี้กลายเป็น ของที่ใคร ๆ มาที่ร้านต้องสั่งไม่สั่งเหมือนมาไม่ถึงร้านเรา

SME ONE : แล้วคำว่าไอติมหม้อไฟ มายังไง เกิดขึ้นจากแนวคิดอะไร

คุณโชกุน: ตอบพร้อม เสียงหัวเราะอย่างอารมณ์ดี จะว่าบังเอิญก็ว่าได้ จะว่าจงใจหรือเราก็ตั้งใจคิด คิดมาอย่างดีแล้วนะ ทดลองผิดทดลองถูกมาหลายอย่างจนมาลงตัวที่หม้อไฟ หลังจากที่เราคิดสูตรเด็ด รสชาติเฉพาะของร้านมา เป็นระยะ ๆ ต่อเนื่องกันมา ตั้งแต่ โคตรนม บานาน่าชีส วาซาบิ ยาคูลท์ปีโป้ เบียร์ จนกระทั่ง กระทิงแดงว๊อดก้า ทุกรสต่างล้วนผ่านการคิดอย่างละเมียดละไมใส่ใจและอาศัยการสังเกต ผมเป็นคนชอบศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมอยู่ตลอดเวลา ใครมาชวนไปเรียนอะไรถ้ามีเวลาผมก็ไป อย่างกระทิงแดงว๊อดก้า นั้นเกิดขึ้นมาตอนที่มีคนมาชวนผมไปลงทุนขายไอติมที่ประเทศเวียดนาม เราก็ศึกษาตลาดว่า ที่โน่นอะไรขายดี แล้วพบว่าคนเวียดนามดื่มเครื่องดื่มชูกำลังกันดุเดือดมาก ราวกับคนอิตาลี่ดื่มกาแฟ เราจึงได้คิดพัฒนาสูตรแบบนี้ขึ้นมา ซึ่งเรียกความฮือฮา ชวนให้คนแวะเวียนมาถามหาอยู่ตลอดเหมือนกัน หรืออย่าง ไอติมเบียร์ เอง ผมก็ได้แนวคิดมาจากการสังเกตคนมาทานอาหารละแวกนี้ ว่าจะมีกลุ่มนักดื่มร้านอาหารตามสั่งอยู่ไม่น้อย หลายคนทานของคาวต้องมีเบียร์แกล้ม เราเลยทดลองพัฒนาสูตรไอติมเบียร์ออกมาขาย ซึ่งก็ได้เสียงตอบรับเป็นอย่างดีเช่นกัน 

โชกุน ยังเล่าต่อว่า ปกติคนมาทานไอติมที่ร้านจะมักไม่ค่อยมาคนเดียว อย่างน้อยก็ต้องทีละสองคน ส่วนมากจะมามากกว่า 3-4 คน ทำให้ลูกค้ามักจะสั่งรสชาติของตนคนละลูกสองลูกแล้วมาทานแบ่งกันในภาชนะใหญ่ทีเดียว แรกเลยเราก็เสิร์ฟในชามใหญ่ปกติ ซึ่งลูกค้าจะสั่งเราว่าขอแบบเอิร์ธเควก ซึ่งเป็นชื่อเมนูของร้านไอศกรีมบนห้างชื่อดังเจ้าหนึ่ง เราฟังแล้วก็รู้สึกขัดต่อแนวทางที่เราเป็น คือเราชอบความแตกต่างความเป็นออริจินอล เลยเกิดความคิดว่าไม่ได้การแล้ว ต้องหาทางเปลี่ยน perception คนตรงนี้ให้จดจำเราในชื่อเรียกสไตล์เรา เลยระดมความคิดกันทั้งบ้าน คนรอบข้างก็มาช่วยกันออกไอเดีย ทั้งภาชนะถาดยาว ๆ เป็นราง ทั้งลองนำเอาจานเปลที่เขาเสิร์ฟปลาแป๊ะซะมาลองจัดวาง แต่ก็ยังไม่ลงตัวทั้งขนาดและน้ำหนัก ทั้งหลายทั้งมวลทำให้ยังไม่ตอบโจทย์กับการขายการเก็บรักษา จนสุดท้ายก็มาเจอเจ้าหม้อไฟ ซึ่งผมครั้งแรกที่เห็นก็ปิ้งเลย แบบว่าเราทำงานวงการครีเอทีฟอยู่แล้วใช่ไหมครับ เรานึกไปถึงคอนเซ็ปท์ใหญ่ ๆ เลยว่า หม้อไฟกับไอติมมันเป็นส่วนผสมที่แตกต่างอย่างลงตัว เรียกว่าตอบโจทย์ทั้งการใช้งาน ความบันเทิง และความคิดสร้างสรรค์กับลูกค้าได้ครบถ้วน

ตอนแรกนั้นก็ไม่ได้คิดว่ามันจะกลายเป็นจุดพลิกผันของธุรกิจขนาดนี้ จากเดิมที่ขายได้วันนึงหลักร้อย หลักพัน จนพอเรามีการเสิร์ฟไอติมด้วยคอนเซ็ปท์ที่ว่านี้ คนก็เริ่มมากขึ้น จากวันละพันกลายเป็นมียอดขายวันละหลาย ๆ พัน เรียกว่าลูกค้าต้องรอคิวเพื่อหาที่นั่งทานกันเป็นชั่วโมง ตอนนั้นเองก็เริ่มมีสื่อให้ความสนใจ มีติดต่อเข้ามาเรื่อย ๆ มาขอถ่ายรายการ ขอนำเรื่องไปลง จนกระทั่งทางรายการตลาดสดสนามเป้าติดต่อเข้ามาให้ไปออกรายการ ซึ่งถือเป็นจุดเปลี่ยนอย่างก้าวกระโดดที่แท้จริงของแบรนด์ สร้างการรับรู้ สร้างความสนใจ สร้างความต้องการในตลาดให้มีสูงขึ้นเพียงชั่วรายการเทปเดียว



ปัญหาที่เจอ หรืออุปสรรค ที่พบระหว่างทางของการทำธุรกิจ

 

SME ONE : อยากให้เล่าถึงอุปสรรค ปัญหาหลัก ๆ ที่พบเจอระหว่างการปลุกปั้นธุรกิจนี้

คุณโชกุน: ฟังดูแล้วเหมือนง่ายเลยใช่ไหมครับ แต่ความเป็นจริงแล้วเราผ่านอะไรมาเยอะ เยอะจนหุ้นส่วนล้มเลิกขอถอนตัวไปก่อนที่จะมาเป็นไอติมหม้อไฟยศเสในวันนี้ เรื่องแรกเลยคือไอศกรีมเป็นสินค้าที่มีโอกาสการรับประทาน คือมันไม่เหมือนอาหารจานหลักที่ทุกคนจะต้องทานทุกวันทุกมื้อ แต่ไอศกรีมไม่ใช่ วันไหนฝนตก นี่เรียกว่าเตรียมเก็บร้านแต่หัววันได้เลย ซึ่งต้องอาศัยความอดทนและความมั่นคงในจิตใจสูง ผมเองก็เคยมีช่วงที่ทำให้ท้อแท้อยู่เหมือนกัน ตอนที่เริ่มทำร้านใหม่ ๆ ยังอาศัยการลองผิดลองถูก การเก็บข้อมูล ราคาก็สำคัญจะทำอย่างไรให้ของเรามีคุณภาพดีในราคาที่แข่งขันกับตลาดได้ ยังไม่รวมถึงปัญหาจิปาถะของการเป็นร้านแบบสตรีทฟูดส์ ที่การควบคุมบรรยากาศแวดล้อมเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก เพราะเราไม่สามารถจะคาดเดาได้เลยว่าวันไหนเราจะเจอบรรยากาศอย่างไร รถจะแออัดจอแจหรือไม่ เสียงจะดังไปหรือเปล่า ฟ้าฝนจะเป็นใจให้เราได้ขายมากน้อยเพียงใด ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่อยู่เหนือการควบคุมจริง ๆ ซึ่งนั่นก็เป็นปัญหาหลักที่เจอในช่วงเริ่มแรก ตอนที่เรายังไม่ได้ดัง ไม่ได้เป็นที่รู้จักมากมาย

จนพอมาถึงยุคที่แบรนด์เราเริ่มเติบโตเริ่มไต่ระดับเพดานสูงขึ้น ๆ มียอดขายเพิ่มขึ้น เราพบกับปัญหาสำคัญต่อมาคือการ โดนลอกเลียนแบบสินค้า ซึ่งเชื่อว่าคนทำธุรกิจหลาย ๆ ท่านคงเคยประสบกับปัญหาอันน่าปวดหัวปวดใจแบบนี้อยู่ไม่น้อย ซึ่งแรก ๆ มันก็ค่อนข้างกระทบจิตใจผมเหมือนกันนะ ในฐานะผู้ปลุกปั้นมันขึ้นมา สิ่งที่ผมกังวลคือการที่คนลอกเลียนไปแล้วเขาทำให้ชื่อเสียงเสียหาย ส่งผลต่อภาพลักษณ์ของการเป็นไอติมหม้อไฟยศเสที่เราเป็นคนคิดค้นขึ้นมา จากเดิมที่ผมไม่คิดจะจัดการอะไร ลองปล่อยให้ผู้บริโภคเป็นคนตัดสินและเลือกในคุณค่าที่แท้จริง ซึ่งแบรนด์เรามีดีทั้งข้างในและข้างนอก เพราะไม่ใช่แค่เสิร์ฟด้วยคอนเซ็ปท์เท่ห์เท่านั้นแต่รสชาติและคุณภาพไอศกรีมต้องถึงต้องตอบโจทย์ลูกค้าได้ด้วย แต่สุดท้ายแล้วผมก็ต้องจดทะเบียนสินค้า ใช้ชื่อว่า ไอติมหม้อไฟยศเส เพื่อเป็นการปกป้องตัวเราเองด้วยไม่ให้โดนฟ้องร้องจากคนที่ไม่หวังดีในภายหลัง และเพื่อเป็นการวางรากฐานมาตรฐานที่ดีกับลูกค้าเรา ว่าภายใต้ชื่อแบรนด์ ไอติมหม้อไฟยศเส ของเรานี้ลูกค้าจะได้รับประสบการณ์ที่ดีที่สุดไปจากเรา รวมถึงการนำไปพัฒนาต่อยอดในธุรกิจอื่น ๆ ในอนาคต

 


Key Success ของธุรกิจ

SME ONE : อยากให้ช่วยถ่ายทอดถอดบทเรียนทางธุรกิจว่าอะไรคือ Key Success ของแบรนด์

คุณโชกุน: สำหรับผมแล้วสิ่งสำคัญเลยคือการที่เราเลือกที่จะแตกต่าง การที่เราไม่พยายามไปเปรียบเทียบกับคู่แข่งหรือใคร ๆ การที่เรามองเห็นคุณค่าที่แท้จริงในตัวเรา และการที่เราใส่ใจเข้าใจความต้องการของลูกค้าอย่างแท้จริง ทั้งสามสิ่งนี้คือกลไกสำคัญที่ขับเคลื่อนให้แบรนด์เรามีพัฒนาการความก้าวหน้าต่อเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้ และยังครองใจนักชิมสายตรีทส์ได้อย่างเหนียวแน่น

 



คำแนะนำที่มีต่อ SME หรือผู้ประกอบการที่สนใจอยากทำธุรกิจด้านนี้

SME ONE : อยากขอคำแนะนำให้กับ SME ที่กำลังเริ่มต้นสนใจธุรกิจร้านอาหาร หรือที่ทำอยู่แล้วเพื่อนำไปใช้พัฒนาสร้างแบรนด์ตนเอง 

คุณโชกุน: สำหรับคนที่กำลังจะเริ่มนะครับผมอยากให้ลองศึกษาข้อมูลให้เพียงพอ เพราะความสำเร็จที่แต่ละแบรนด์สร้างขึ้นมานั้นไม่ได้มาโดยคำว่าบังเอิญอย่างแน่นอน สิ่งแรกเลยคืออยากให้ศึกษาและลงมือทำไปควบคู่กัน อยากให้เรียนรู้จากประสบการณ์ไปพร้อม ๆ กับการเรียนในตำรา เพราะธุรกิจอย่างร้านอาหารนั้นมักจะมีปัญหาที่อยู่นอกตำรา มาทดสอบเราอยู่เสมอ ดังนั้นไม่อยากให้ยึดติดอยู่กับองค์ความรู้ในทางเดียว อย่างผมเองในช่วงแรกเริ่มแม้จะรับหน้าที่ดูแลงานด้านการตลาดเป็นหลักแต่ผมก็ยังต้องเรียนรู้เรื่องการผลิตสูตรต่าง ๆ ซึ่งทั้งหมดช่วยทำให้ผมเข้าใจผลิตภัณฑ์ของตนเองได้เป็นอย่างดี 

อีกเรื่องที่มีคนชอบพูดถึงกันมากเกี่ยวกับการหา passion หรือแรงบันดาลใจ สำหรับผมเองมองว่าไม่ต้องรอให้เจอ passion ก็เริ่มทำได้ หากเรารอจนให้พบ passion ดังที่ว่า เราอาจจะไม่ได้ออกเดินจากจุดสตาร์เลยก็ได้ ดังนั้นอยากให้ศึกษาข้อมูลให้พร้อมแล้วกางแผนที่เริ่มออกลุยกันไปเลย พยายามเก็บเกี่ยวความรู้ระหว่างทางให้ได้มากที่สุด แล้วจะยิ่งทำให้เราเชี่ยวชาญ จนสุดท้ายกลายมาเป็นความหลงใหลในสิ่งที่ได้ทำได้ประคบประหงมฟูมฟักอย่างร้านไอติมหม้อไฟยศเสก็ได้

อีกเรื่องที่สำหรับผมแล้วเป็นบทเรียนอันมีค่าเลยก็ว่าได้คือ การมีความอดทน ความอึด ความมุ่งมั่นและการรู้จักรอคอย เพราะความสำเร็จนั้นไม่ได้สร้างขึ้นได้เพียงวันเดียว ดังนั้นกว่าที่เราจะมาเป็นไอติมหม้อไฟยศเสที่ใคร ๆ รู้จักดังเช่นวันนี้ เราได้ผ่านช่วงเวลาแห่งการทดสอบมาไม่น้อยเหมือนกัน สำคัญที่อยากจะฝากบอกไว้คือ เราไม่มีทางรู้ว่าจุดที่เราเดินอยู่นั้นใกล้กับปากถ้ำที่เต็มไปด้วยแสงสว่างอันงดงามมากน้อยเพียงใด อยากให้ทุกคนอดทนและรอคอยให้ได้ แล้วถ้าทำอย่างตั้งใจ สร้างสรรค์แล้ว ผมเชื่อว่าไม่ช้าเวลาของคุณก็จะมาถึง

อีกประการสำคัญสำหรับผู้ที่ทำธุรกิจในสายนี้อยู่แล้ว ที่อยากฝากคือ การไม่ยึดติดกับดักความสำเร็จเดิม ๆ แม้จะคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ของแบรนด์แต่ก็ควรมีการนำเสนอที่แปลกใหม่ พัฒนาไปตามยุคตามสมัยของผู้บริโภค อย่างผมเองตอนนี้ได้เริ่มพัฒนาธุรกิจร้านอาหารขึ้นมาอีกร้านชื่อว่า เสน่ห์หน้าเนื้อ อยู่ใกล้ ๆ ร้านไอติมนี่เอง ซึ่งเป็นอีกหนึ่งความคิดที่อยากทำร้านอาหารหลักคือร้านที่คนต้องกินอยู่ทุกวัน ไม่ว่าจะฝนตก ต้นเดือน ปลายเดือน ก็ยังต้องกิน ซึ่งผมได้เอาแนวคิดความแตกต่างของสองสิ่งที่ไม่น่าจะไปกันได้อย่างไอติมกับหม้อไฟ ร้อนมาเจอเย็น มาเป็นแกนหลักในการวางคอนเซ็ปต์ร้าน เสน่ห์หน้าเนื้อ ก็เช่นกัน คือใครจะนึกว่าร้านกะเพราเนื้อที่ เนื้อนุ่มลิ้นรสชาติเผ็ดร้อนหอมกระเพราในราคาแบบร้านอาหารสตรีทฟู้ดส์ จะมาอยู่คู่กับบทเพลงบรรเลงเสียงเปียโนคลาสสิคได้อย่างลงตัว  

หรือแม้แต่รูปแบบการทำการตลาดก็ควรต้องปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัยให้ได้อย่างคล่องแคล่วว่องไว อย่างยุคแรกที่ร้านเราเริ่มเข้ามาในธุรกิจนี้ จะเป็นยุคของการตลาดการวาง positioning การนำเสนอ concept ของแบรนด์ แต่มาถึงยุคนี้แล้วเริ่มเห็นทิศทางความเปลี่ยนแปลงสื่อสังคมออนไลน์กลายเป็นสิ่งที่มีอิทธิพลต่อผู้บริโภคในวงกว้าง ซึ่งในจุดนี้แบรนด์เราเองก็ต้องเรียนรู้และปรับกลยุทธ์ตามให้ทัน

และเรื่องสำคัญอีกประการหนึ่งที่ผมยึดมั่นในหลักการทำธุรกิจมาโดยตลอด คือการใส่ใจและเข้าใจผู้บริโภคของเรา ร้านอาหารกับงานบริการเป็นของคู่กัน ผมเองไม่เคยทิ้งร้าน ไม่เคยทิ้งลูกน้องและทีมงาน และมักจะอยู่ดูแลลูกค้าทุกคนด้วยตัวเองมาโดยตลอด ซึ่งตรงนี้ทำให้ผมเห็นพฤติกรรมและความต้องการของคนที่เข้ามาทาน ถือเป็นการเก็บข้อมูลนำไปต่อยอดไปใช้ในการวางแผนธุรกิจอื่น ๆ ได้เป็นอย่างดี อย่างรสชาติแปลก ๆ ที่โดนใจ ทั้งหมดที่กล่าวไปข้างต้นนี้ก็มาจากที่ผมสังเกตเห็นพฤติกรรมคนในร้านมาทั้งนั้น

อีกเรื่องที่สำคัญสำหรับผู้ประกอบการร้านอาหารประเภทสตรีทฟู้ดส์ เหมือนกันคือการสร้างพันธมิตรและการเกื้อกูลชุมชน การเข้าอกเข้าใจคนที่อาศัยอยู่รายรอบธุรกิจของเราพยายามให้เกิดผลกระทบกับพวกเขาให้น้อยที่สุดหรือ ต้องรีบจัดการแก้ไขหากพบปัญหาไม่เพิกเฉย ซึ่งทั้งหมดนี้ร้านเราก็ทำมาโดยตลอดและไม่เคยมีปัญหากับชุมชนในละแวกแถบนี้ 



บทสรุป

ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องราวที่ถูกถ่ายทอดจากประสบการณ์ชีวิตและการคลุกคลีอยู่ในแวดวงธุรกิจร้านไอศกรีมมากว่า 15  ปีของคุณ สรุชัย หรือ เฮียโชกุน ที่ลูกค้าเรียกขานอย่างเป็นกันเอง ชายผู้เลือกที่จะแตกต่าง ไม่พยายามไปเปรียบเทียบกับใครเป้าหมายของเขาคือการเอาชนะตนเองในวันวาน และอดทนเพื่อรอคอยความสำเร็จอย่างเพียรพยายามโดยที่ไม่ละทิ้งความตั้งใจไปก่อน

Published on 23 September 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย



บทความแนะนำ

อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (จ.ขอนแก่น)

อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (จ.ขอนแก่น) เป็นศูนย์กลางการเชื่อมโยงระหว่างมหาวิทยาลัย ภาครัฐและภาคเอกชน และเป็นพื้นที่ให้บริการที่มีความพร้อมทั้งโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจภูมิภาคและประเทศ - ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาร่วมกับภาคเอกชน - การบ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยี - การออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ - การถ่ายทอดและอนุญาตให้ใช้สิทธิเทคโนโลยีและการจดคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา - การให้บริการพัฒนาขีดความสามารถทางเทคโนโลยีและวิจัยของภาคเอกชน - การให้บริการห้องปฏิบัติการและเครื่องมือ - การให้บริการโรงงานต้นแบบ - การให้บริการส่งเสริมและสนับสนุนบุคลากรด้าน วทน. ไปทำงานกับภาคเอกชน - การให้บริการพื้นที่ Research Unit คลิกดูวิดีโอแนะนำ อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (จ.ขอนแก่น) สอบถามข้อมูลการให้บริการเพิ่มเติม โทรศัพท์ : +66 (0) 4304 8048 มือถือ : +66 (0) 8 9712 7126 อีเมล info@kkusp.com   Published on 6 February 2020 SMEONE "ทุกเรื่องครบ...จบในที่เดียว"

บทความแนะนำ