จุดเริ่มต้นของธุรกิจเสื้อผ้ากีฬาแบรนด์ Warrix คืออะไร
คุณวิศัลย์ : จริง ๆ เห็นตลาดเสื้อผ้ากีฬา มองเป็นโอกาสมาตั้งแต่ตอนที่เริ่มทำธุรกิจใหม่ ๆ แล้ว ก็กล้า ๆ กลัว ๆ แต่พอได้มีโอกาสเข้าไปทำเรื่องของ License ของสโมสรจังหวัดใหญ่ ๆ อย่างโคราชกับเชียงใหม่ ก็ทำให้เข้าใจตลาดฟุตบอลเมืองไทย ว่ายังมีโอกาสอีกมากมาย
ฟุตบอลมีช่องว่างเรื่องเสื้อกีฬาที่ไม่เกี่ยวกับฟุตบอล ระหว่างแบรนด์ไทยกับแบรนด์นอกที่กว้างมาก ทั้งเรื่องราคา เรื่องคุณภาพ ทำการตลาดกับผู้โภค คิดว่าพอเห็นโอกาสก็กระโดดเข้าใส่เลย
Trends เสื้อผ้ากีฬาของแบรนด์ Warrix เป็นอย่างไร
คุณวิศัลย์ : เห็นเป็นหนึ่งใน Global Trends เรื่องของ Health เรื่องของ Sport ก็คือคนเริ่มสนใจสุขภาพมากขึ้น อย่างเรื่องของกินเรื่องอาหาร แต่เรื่องของการออกกำลังกายเป็นหนึ่งใน Global Trends เป็นกระแสของผู้บริโภคที่จะจับจ่ายใช้เงิน ก็คิดว่าเราเกาะไปกับ Global Trends น่าจะไม่พลาด
วิธีการขยายตลาดของแบรนด์ Warrix ในตอนนี้
คุณวิศัลย์ : ฟุตบอล ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นกีฬามหาชน เป็น Mass ที่สุดในการบริโภคเสื้อผ้า อุปกรณ์กีฬา Warrix เริ่มขยายไปตลาดวิ่ง แล้วก็ฟิตเนส แบดมินตัน ค่อยเป็นค่อยไป และกำลังจะเริ่มกอล์ฟ
มีโอกาสร่วมงานกับทีมชาติไทยได้อย่างไร
คุณวิศัลย์ : ตอน Warrix มาจับกับทีมชาติ ถือเป็นโอกาสที่ไม่คาดว่าจะมาเร็วขนาดนั้น ก่อนจะมีการเปลี่ยนแปลงการบริหารงานในสมาคมฟุตบอล คิดว่าสัญญามันยังมีต่อไปอีกหลายปี และ ณ วันนั้นบริษัทถือเป็นไซซ์เล็ก แต่พอโอกาสเปิดให้มีการประมูล คิดว่าถ้าไม่คว้าโอกาสนั้นในการกระโดดเข้าไปประมูล ก็ไม่รู้จะมีโอกาสแบบนี้อีกไหม
เมื่อ 4 ปีที่แล้วจึงกระโดดเข้าไปประมูลด้วยตัวเลขที่ค่อนข้างสูง ณ วันที่ไปประมูลก็ยังบอกกับพี่ที่นั่งข้าง ๆ ว่าผมขอไปเป็นไม้ประดับ ไม่คิดว่าจะได้ แต่พอเราประมูลได้ เราก็ใช้โอกาสนี้สร้างผลงานอย่างเต็มที่ เหมือนนักฟุตบอลรุ่นใหม่ ๆ ได้โอกาสลงสนามปุ๊ป ต้องทำประตูให้ได้
ถ้าจะเปรียบเทียบมาตรฐานและคุณภาพเสื้อผ้ากีฬาของ Warrix กับแบรนด์ระดับโลก
คุณวิศัลย์ : เรียกว่าเราใช้สินค้า เส้นด้ายมาจากโรงงานเดียวกัน ทอผ้าที่เครื่องเดียวกัน เย็บที่จักรเดียวกัน ผมก็คิดว่าเราไม่ได้แพ้เข้านะครับ จริง ๆ บางตัวเราใช้เร็วกว่าแบรนด์ระดับสากลด้วยซ้ำ เพราะว่าระยะเวลาในการทำงานในหนึ่งคอลเลคชั่นที่ออก แบรนด์ระดับโลก เบอร์ 1 เบอร์ 2 เบอร์ 3 เขาใช้เวลาหนึ่งปีเต็ม แต่ Warrix ความเร็วในการทำงาน เนื่องจากบริษัทเราเป็นขนาดกลางเราจึงเร็วกว่า
อยากให้บอกถึงปัญหาในการทำธุรกิจของบริษัท
คุณวิศัลย์ : ปัญหาในการทำธุรกิจอย่างผมยังถือว่าเป็นไซซ์ SME เป็นปัญหาเรื่องคน ปัญหาเรื่องการเข้าหาแหล่งเงินทุน สองอย่างนี้เจอตลอด เจอมาจนถึงวันนี้ นี่ก็เป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้ต้องตั้งเป้าในการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เพื่อที่จะเข้าถึงแหล่งเงินทุนหรือตลาดทุน ที่ต้นทุนไม่สูง และไม่มีปัจจัยที่ถูกมองว่าเป็นสิ่งทอ หรือเป็นอุตสาหกรรมที่ไม่เติบโต ที่ Warrix ทำไม่ใช่สิ่งทอยุคโบราณที่เป็นการรับจ้างผลิตอีกต่อไป Warrix ทำแบรนด์ของตัวเอง มีการตลาดที่มุ่งเน้นออนไลน์ มุ่งเน้นเรื่องของการสร้าง Engagement สร้างแบรนด์
Warrix กับการไปตลาดโลก
คุณวิศัลย์ : เคยมีคนถามตอนที่ได้ทีมชาติไทยว่าฝันผมจะไปต่อไกลขนาดไหน สิ่งที่เราทำเราคงไม่ก้าวกระโดดไปขนาดนั้น แต่เราต้องฝันว่าใน 5 ปี 10 ปี จะไปไหน ถ้าบริษัทมีความแข็งแรง ยอดขายเติบโตขึ้นเป็น 4 - 5 พันล้าน ก็ไม่แปลกที่ Warrix จะกล้าไปเป็นสปอนเซอร์ทีมดัง ๆ หรือสโมสรใหญ่ ๆ ในยุโรปแน่นอน แต่มันคงไม่ใช่แค่เรื่องของการสปอนเซอร์ หรือมีโลโก้บนหน้าอกเชิ้ต ยังเป็นเรื่องของระบบการจัดจำหน่าย เป็นเรื่องของการสร้างแบรนด์ในมิติการตลาด
เคยขอเข้ารับการสนับสนุนจากทางภาครัฐไหม
คุณวิศัลย์ : จริง ๆ ก็มีบ้าง ทั้งเรื่องของการสนับสนุนจาก สวทช บ้าง จาก สสว บ้าง ก็จะมีเข้ามาบ้าง
มีการขยายธุรกิจไปยังด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องบ้างไหม
คุณวิศัลย์ : ปัจจุบัน Warrix ขยายมา Segment ของสุขภาพ ก็เป็นเรื่องของคลินิกกายภาพ, Performance Training, วิทยาศาสตร์การกีฬา
กลยุทธ์ทางการตลาดและปัจจัยความสำเร็จในการทำธุรกิจมีอะไรบ้าง
คุณวิศัลย์ : ผมคิดว่า Key Success ของ Warrix น่าจะเป็นกลยุทธ์ทางการตลาด ผมมองว่าผมเป็นคนที่มองเห็นช่องว่างทางการตลาด แล้วเอากลยุทธ์ในการสร้างความแตกต่างเข้าไปตอบโจทย์ลูกค้า โลกออนไลน์ที่เปลี่ยนไปมหาศาล เมื่อเทียบกับหลาย ๆ ปีที่แล้ว ทำให้แบรนด์เล็ก ๆ อย่างผมไม่ได้เสียเปรียบแบรนด์ใหญ่ ๆ อีกต่อไป
คำแนะนำที่ฝากให้กับผู้ประกอบการ SME ท่านอื่น ๆ
คุณวิศัลย์ : ต้องทำในสิ่งที่เราชำนาญ มีประสบการณ์ มีความคิดเชิงระบบ มันไม่สามารถที่จะทำเองทุกอย่างได้ อีกอันคือต้องมองโอกาส บวกใจถึง ต้องพึงระลึกเสมอว่าการทำธุรกิจ แน่นอนทุกคนต้องการกำไร แต่ความโลภทำให้ธุรกิจพังหรือเจ๊งมานับไม่ถ้วน คนทำธุรกิจฟังดูเหมือนขัดแย้งนะ ต้องมีความพอดี มีความพอ มองมิติอื่น ๆ มากกว่าแค่เงินอย่างเดียว
Published on 16 October 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย
สถาบันรหัสสากล GS1 Thailand เป็นหน่วยงานที่ให้บริการเกี่ยวกับการเป็นนายทะเบียนกำหนดเลขหมายบาร์โค้ดมาตรฐานสากล และรหัสสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ หรือเรียกง่ายๆ ว่า ภาษาสากล ร่วมกับบริษัทนับแสนรายจากทั่วโลก เหมาะสำหรับผู้ประกอบการ SME ที่ต้องการจัดจำหน่ายสินค้าในสมัยใหม่ (Modern Trade) และสำคัญอย่างยิ่งสำหรับการส่งออก ในหลากหลายอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็น การค้าปลีก การค้าส่ง การขนส่งและโลจิสติกส์ , สุขภาพ (Healthcare) และเฉพาะในยุคที่ BIG DATA มีความสำคัญมากขึ้นข้อมูลที่ได้จาก บาร์โค้ด จะเป็นส่วนสำคัญสำหรับผู้ประกอบการในการเก็บข้อมูลที่เป็นประโยชน์เพื่อนำมาใช้ในธุรกิจ
1.IDENTIFY -มาตราฐานสากลสำหรับการระบุสิ่งต่างๆ
เลขหมายบ่งชี้มาตรฐานสากล เพื่อบ่งชี้ถึงข้อมูลรายละเอียดของสินค้า ไม่ว่าจะเป็นขนาด ปริมาณ แบรนด์สินค้า เจ้าของสินค้า รวมไปถึง แหล่งผลิต, เส้นทางการขนส่ง, บริการ และสินทรัพย์
2.CAPTURE – มาตราฐานสากลสำหรับการบันทึกข้อมูล
ทุกครั้งที่มีการสแกนบาร์โค้ดตั้งแต่ที่ออกมาจากแหล่งผลิตจนถึงมือผู้ซื้อนั้น ข้อมูลทั้งหมดจะถูกบันทึกเข้าระบบไว้ ทำให้เรารู้ได้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับสินค้าของเราบ้างไม่ว่าจะเป็นมาตรฐานของการขนส่ง , การจัดการสต๊อก, การเก็บข้อมูลยอดขาย , ไปจนถึงพฤติกรรมของผู้บริโภค
3.SHARE-มาตราฐานสากลสำหรับการแบ่งปันข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์
ข้อมูลทั้งหมดที่เราสามารถเก็บมาได้ตั้งแต่ต้นทางนั้นผู้ประกอบการ SME สามารถแบ่งปันและแลกเปลี่ยนกับคู่ค้าในซัพพลายเชนของตัวเองได้ เพื่อนำมาใช้ในการปรับปรุงการทำงาน ตั้งแต่การผลิตไปการจัดจำหน่ายจนถึงในเรื่องของการทำการตลาดทั้งในและต่างประเทศ
1.การออกหนังสือรับรองการเป็นสมาชิกสถาบันรหัสสากลสำหรับการออก บาร์โค้ด ซึ่งผู้ประกอบการสามารถนำบาร์โค้ดไปใช้ในการทำธุรกิจได้ทั่วโลกโดยจะเป็นรหัสผ่านการรับรองจากสถาบัน GS1 สากล และยังรวมไปถึงหมายเลขประจำตัวสินค้า (GTIN) หรือ หมายเลขประจำตัวบริษัทสากล (GCP) ซึ่งเป็นมาตราฐานที่ผู้ประกอบการทั่วโลกต้องมีในการที่จะทำธุรกิจเรื่องการส่งออกสินค้าไปยังประเทศจีนโดยเฉพาะ
2.การคำนวณหมายเลขและการตรวจสอบคุณภาพ บาร์โค้ด (Barcode Verification) ให้มีความถูกต้องตามมาตรฐานสากล
เพื่อให้มั่นใจได้ว่าบาร์โค้ดที่ผลิตออกมาในแต่ละ Lot ได้คุณภาพ จำเป็นต้องมีการทดสอบและเปรียบเทียบสัญลักษณ์กับมาตรฐานของคุณภาพของการพิมพ์ เพื่อป้องกันความผิดพลาดและความล่าช้าที่อาจจะเกิดขึ้น หากบาร์โค้ดนั้นไม่สามารถสแกนได้หรือใช้เวลาในการสแกนที่นาน การใช้เครื่องมือพิเศษในการตรวจสอบเรียกว่า Barcode Verifier จะทำให้เกิดความมั่นใจว่าบาร์โค้ดพวกนี้จะทำงานตามวัตถุประสงค์ได้เป็นอย่างดี หรือหากไม่ได้มาตรฐานจะได้รับคำแนะนำเพื่อการปรับปรุงคุณภาพของบาร์โค้ดให้ใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพทุกจุดในระบบ Supply Chain
3.การฝึกอบรมเพื่อให้ความรู้เรื่อง บาร์โค้ด และความรู้ทางธุรกิจ
การอบรมเรื่อง บาร์โค้ดนั้นจะเป็นการสร้างความรู้ความเข้าใจด้านการใช้งานมาตรฐานสากล GS1 ให้ถูกต้องที่ผู้ประกอบการสามารถนำไปปรับใช้กับธุรกิจ ในปัจจุบัน แบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ คือการอบรม ที่สถาบันฯ และ การอบรมออนไลน์ โดยแบ่งเป็น 2 หลักสูตรคือ
1.หลักสูตร มากกว่าสัญลักษณ์บาร์โค้ด คือการบริหารจัดการข้อมูลสินค้าที่ดียิ่งขึ้น
2.หลักสูตร Supply Chain ที่มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้นด้วยมาตรฐานสากล GS1
ในส่วนของความรู้ทางธุรกิจนั้น GS 1 Thailand ทำงานร่วมกับสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ (NEW ECONOMY ACADEMY) เพื่อให้ความรู้กับผู้ประกอบการด้านการทำการค้าในยุค 4.0 มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ ด้านดิจิทัล ด้านบริหารจัดการธุรกิจสู่สากล ความรู้เบื้องต้นเพื่อการส่งออก และความรู้เฉพาะทางด้านการตลาดระหว่างประเทศ
4.ระบบฐานข้อมูลสินค้า (GS1 Thailand Member Portal) สำหรับให้สมาชิกใช้บริหารจัดการข้อมูลสินค้าของตนเอง นอกจากนี้ยังมีข้อมูล Customer Feedback ข้อติชมเกี่ยวกับสินค้าจากผู้บริโภคไปยังเจ้าของสินค้า และ E-Learning เรียนรู้การใช้งานมาตรฐาน GS1 โดยระบบนี้สมาชิกสามารถดำเนินการผ่าน Web Application ของสถาบันฯ
ผู้ประกอบการ SME ที่สนใจสามารถสมัครเป็นสมาชิกโดยจะมีค่าลงทะเบียนแรกเข้าและค่าสมาชิกรายปีขึ้นอยู่กับโครงสร้างของหมายเลขบาร์โค้ดและขนาดของธุรกิจของท่าน โดยสามารถกรอกใบสมัครยื่นเอกสารได้ที่สถาบันรหัสสากล สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เลขที่ 2 อาคารปฎิบัติการเทคโนโลยีเชิงสร้างสรรค์ ชั้น 11 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ ถนนนางลิ้นจี่ แขวงทุ่งมหาเมฆ เขตสาทร กรุงเทพมหานคร 10120 ตั้งแต่วันจันทร์ – ศุกร์ เวลา 8:00 – 17:00 น.
ติดต่อทางโทรศัพท์ผ่าน Call Center: 0-2345-1000, 0-2345-1200 หรือ ดาวน์โหลดใบสมัครผ่านเวบไซต์หรือศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมผ่านทาง www.gs1th.org และยื่นเอกสารทางอีเมล์ info@gs1th.org
Published on 16 October 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย
ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจเอสเอ็มอีเติบโตขึ้นเป็นอย่างมาก ดูได้จากจำนวนผู้ประกอบการในปัจจุบันที่อยู่ในระบบกว่า 3 ล้านราย สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากเทรนด์ความต้องการของคนที่อยากมีธุรกิจของตัวเอง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นใหม่ที่เพิ่งจบการศึกษา หรือแม้แต่พนักงานประจำ และคนในวัยเกษียณที่มองเห็นโอกาสทางธุรกิจ
แต่ปัญหาของผู้ประกอบการมือใหม่เหล่านี้ คือยังขาดประสบการณ์การจัดการด้านต่าง ๆ ในเวลาเดียวกัน ถึงแม้ว่าจะเป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ทำธุรกิจมานานแล้วก็ตาม แต่ด้วยการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งกระแสดิจิทัลดิสรัปชั่น หรือสถานการณ์ไม่คาดคิดมากก่อน เช่น การระบาดของไวรัส COVID-19 ได้ส่งผลกระทบเป็นอย่างมากต่อผู้ประกอบการซึ่งอาจจะรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าวไม่ทัน
อุปสรรคต่างๆ เหล่านี้เป็นสิ่งที่ธนาคารไทยพาณิชย์ตระหนักอยู่ตลอดเวลา และมีความต้องการที่จะสนับสนุนให้ผู้ประกอบการรายย่อยไม่เพียงก้าวข้ามปัญหา แต่ยังสามารถตั้งหลัก และนำพาธุรกิจให้เติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง นี่จึงเป็นที่มาในการจัดตั้ง SCB Business Center เมื่อ 3 ปีก่อน เพื่อเป็น Center of Excellence ให้เอสเอ็มอีอย่างครบวงจร
คุณพิทูร สัมพันธารักษ์ ผู้อำนวยการ Sales Planning & Performance Management ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ผู้ประกอบการรายย่อยส่วนใหญ่มักขาดข้อมูลข่าวสารความรู้ในการประกอบธุรกิจ และขาดที่ปรึกษา SCB Business Center จึงเกิดขึ้นเพื่อเป็นผู้ช่วยให้กับเอสเอ็มอี และยังทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการสร้าง Ecosystem เชื่อมต่อระหว่างลูกค้าเอสเอ็มอีให้เกิดเป็นเครือข่าย เพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจซึ่งกันและกัน
“เรามีการจัดสัมมนาเติมความรู้ให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีอยู่ตลอดเวลา โดยจัดเฉลี่ยเดือนละ 3-4 ครั้ง เพื่ออัพเดทเทรนด์ใหม่ๆ ทั้งเทรนด์ธุรกิจที่น่าสนใจ เทรนด์ของตลาดที่มีศักยภาพ รวมถึงให้ความรู้เพื่อเพิ่มทักษะด้านดิจิทัล ซึ่งการจัดงานสัมมนาจะร่วมกับพาร์ทเนอร์ เช่น Wongnai เราเชิญมาให้ความรู้ ด้านการตลาด การบริหารจัดการหน้าร้าน การลดต้นทุนสำหรับผู้ประกอบการร้านอาหาร หรือบางครั้งมีการจัดสัมมนาในหัวข้อด้านการเงิน การจัดการบัญชี และภาษีที่เป็นจุดอ่อนของเอสเอ็มอี โดยมีพาร์ทเนอร์เก่งๆ เช่น AccRevo ที่เข้ามาให้ความรู้ในการจัดการเรื่องบัญชี-ภาษี การวางแผนภาษีที่ถูกต้อง รวมทั้งการใช้เทคโนโลยีมาช่วยลดต้นทุนด้านบัญชี โดยขอโปรโมชั่นพิเศษจากพาร์ทเนอร์ เพื่อเป็นสิทธิพิเศษให้กับลูกค้าที่ต้องการใช้บริการแพลทฟอร์มต่าง ๆ จากพาร์ทเนอร์ นอกจากเชิญพาร์ทเนอร์มาให้ความรู้แล้ว SCB Business Center ยังมีกิจกรรมสัมมนาเพื่ออัพเดทเทรนด์ธุรกิจที่น่าสนใจ กิจกรรมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น หรือมาฟังแนวทางการแก้ปัญหาในการทำธุรกิจ จากผู้เชี่ยวชาญแวดวงต่างๆ เช่น ธุรกิจร้านอาหาร ธุรกิจโรงแรม ธุรกิจโลจิสติกส์ รวมถึงประเด็นอื่น ๆ ที่เอสเอ็มอีต้องการ เช่น การเตรียมความพร้อมก่อนขอสินเชื่อธุรกิจจากธนาคาร โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญของธนาคารเข้ามาให้ข้อมูลความรู้ หรือบางครั้งได้เรียนเชิญผู้บริหารของธนาคารที่ดูสายงานธุรกิจที่ประเทศจีนมาให้ความรู้เรื่องการเปิดตลาดจีน แนวทางการค้า สินค้าที่น่าสนใจ ที่เป็นที่ต้องการของตลาดจีน นอกจากนี้ยังมีพาร์ทเนอร์ที่ช่วยเอสเอ็มอีบุกตลาดอเมริกา คือ Amazon ที่มาให้ความรู้ในการเปิดช่องทางขายบนแพลตฟอร์มออนไลน์ของ Amazon.com เป็นต้น
การสัมมนาทั้งหมดนี้ถือเป็นการสร้างเวทีให้ผู้ประกอบการได้มาทำความรู้จักกัน เพื่อแลกเปลี่ยนแนวคิด สร้างเครือข่ายความร่วมมือ รวมถึงจับคู่ธุรกิจ จุดประกายไอเดียใหม่ ๆ ให้กับเอสเอ็มอี ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญอีกอย่างหนึ่งของ SCB Business Center
“เราเชื่อว่าการทำธุรกิจจำเป็นต้องมีพันธมิตร และเครือข่ายที่ดี ธนาคารไทยพาณิชย์ยินดีเป็นตัวกลางในเชื่อมโยงพันธมิตรใหม่ ๆ เพื่อเป็นทางเลือก และช่วยเพิ่มโอกาสใหม่ ๆ ให้กับผู้ประกอบการ นี่คือหัวใจหลักของการก่อตั้ง SCB Business Center ขึ้นมา เพราะเรามองว่า ถ้าลูกค้ามีเครือข่ายที่แข็งแรง ธุรกิจเขาย่อมแข็งแรง ลูกค้าอยู่ได้ แบงก์ก็อยู่ได้ คอยสนับสนุนกัน และเติบโตไปด้วยกันเรื่อย ๆ”
อย่างไรก็ดี แม้ประเทศไทยต้องเผชิญกับสถานการณ์ COVID-19 ตั้งแต่ต้นปี ส่งผลให้การจัดกิจกรรมสัมมนาต้องระงับไปชั่วคราว แต่ SCB Business Center ก็ไม่หยุดให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี โดยที่ผ่านมาได้มีการให้ความรู้ผ่านเว็บไซต์และเฟซบุ๊ค SCB SME และ SCB Thailand อาทิ การปรับตัวทำธุรกิจในยุค New Normal และแนะนำวิธีการนำสินค้าไปจำหน่ายบนแพลตฟอร์มออนไลน์ การเจาะตลาดประเทศ นอกจากนี้ธนาคารไทยพาณิชย์ยังได้สร้างแพลตฟอร์ม Food Delivery “Robinhood” ตัวช่วยสำหรับธุรกิจร้านอาหาร แพลตฟอร์มสำหรับผู้ประกอบการท่องเที่ยวและโรงแรม “SCB Shop Deal” และแพลตฟอร์ม “มณี Free Solutions” บริหารจัดการธุรกิจแบบมืออาชีพและครบวงจร
คุณพิทูร กล่าวว่า SCB Business Center จะกลับมาให้ความรู้กับ SME ผ่านกิจกรรมต่างๆ อาทิ อบรม สัมมนา จับคู่ธุรกิจ อย่างต่อเนื่องเร็วๆ นี้ ในรูปแบบ Hybrid Seminar ผสมผสานทั้งรูปแบบออฟไลน์ และออนไลน์ เพราะต้องการช่วยเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 และเสริมความแกร่งให้เอสเอ็มอีให้ไปต่อได้อย่างมั่นคง
ไม่เพียงแต่บริการอบรมสัมมนาเท่านั้น SCB Business Center ยังเป็น Co-Working Space แหล่งจุดประกายความคิดสำหรับผู้ประกอบการที่เต็มไปด้วยบริการที่ตอบโจทย์ ไม่ว่าจะเป็นบริการ Financial Advisory ที่ปรึกษาทางการเงินสำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการขยายธุรกิจ หากต้องการคำปรึกษาในการเงินทุนหมุนเวียน เสริมสภาพคล่อง การขยับขยายกิจการ สามารถเดินเข้ามาคุย หรือนัดพบเพื่อรับคำปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญทางการเงินที่ SCB Business Center ได้ตลอดเวลา โดยเราจะช่วยวิเคราะห์งบการเงิน แนะนำแนวทางในการขอสินเชื่อ การเตรียมเอกสาร การเตรียมความพร้อมก่อนการขอสินเชื่อ และบริการทางการเงิน รับ โอน จ่าย ครบวงจร
นอกจากนี้ ยังร่วมมือกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าให้บริการออกหนังสือรับรองนิติบุคคล รับรองสำเนาทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Certificate) ที่สาขาสยามสแควร์ด้วยเช่นกัน
คุณพิทูร สรุปการทำงาน SCB Business Center ว่า ยังคงเน้นการสร้างเครือข่าย (Network) สร้างความรู้ (Knowledge) เป็นอันดับแรก ตามมาด้วยโซลูชั่นทางการเงิน (Financial Solution) แต่ที่สำคัญอยากให้ผู้ประกอบการเปิดใจ รับความรู้ ปรับตัวเร็ว ก็จะรอดในทุกสถานการณ์ เพราะ Financial Solution เป็นแค่เครื่องมือสนับสนุนเท่านั้น
“ข้อดีของเอสเอ็มอีคือ คิดเร็ว ปรับตัวไว ยิ่งถ้ากล้าปรับตัวภายใต้วิกฤติ และมีคอนเนคชั่นที่แข็งแรง ก็จะส่งผลให้ทำธุรกิจได้ดียิ่งขึ้น เมื่อเสริมกับแหล่งเงินทุนที่เติมเข้าไป ยิ่งทำให้เขาเติบโตไปได้อย่างรวดเร็ว”
Published on 16 October 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย
ความชื่นชอบเรื่องของกีฬาเกิดขึ้นตอนไหน
คุณเบล : ถ้าชอบกีฬา น่าจะชอบตั้งแต่จำความได้เลย แต่ถ้าฟุตบอล น่าจะตอนปี 1990 ก็ประมาณ 8-9 ขวบ เพราะว่าผมจำค่ำคืน UEFA Champions League ปี 1999 ได้ วันนั้นเป็นวันที่ผมรู้จักฟุตบอล รู้จักแมนยูฯ
การเตรียมความพร้อมที่จะลงสนาม Content Creator
คุณเบล : สิ่งที่ผมคิดไว้ตั้งแต่ผมเรียนแล้วว่า ผมจะไม่รอมานั่งค้นหาประสบการณ์ตัวเองหลังจากผมได้รับใบปริญญา แต่ก่อนใบปริญญาจะอยู่สู่มือผม ผมต้องมีทุกอย่างครบหมดแล้ว คือพร้อมที่จะออกไปสู้คนอื่น
อะไรคือจุดเริ่มต้นเพจขอบสนาม
คุณเบล : จนผมเรียนจบตอนปีสี่ ผมก็ได้ไปทำงานกับพี่บี้เลยทันที ที่ก่อกำเนิดเป็น เดอะ สกาฟิล์ม พอทำให้พี่ดังติดประเทศไปแล้วตอนนั้น ผมรู้สึกว่าเราควรมีงานของตัวเองบ้าง ผมก็มองแค่ว่า เราทำงานประจำเงินเดือนเท่านี้ ต้องนั่งไปอีกกี่ปีกว่าจะได้รถได้บ้าน ผมก็เลยคิดว่า มีงานเสริมแล้วกัน ก็เลยทำเพจนี่แหล่ะ เพจกีฬา นี่คือจุดเริ่มต้นครับผม
คิดว่าความเปลี่ยนแปลงในอนาคตจะเป็นอย่างไร
คุณเบล : ผมคิดว่ายุคโซเชียลกำลังจะมา มันไม่มีทางที่คนจะนั่งดูทีวีไปเรื่อย ๆ ปีที่ทีวีดิจิทัลกำลังจะประมูลกัน มันเป็นปีที่ YouTube เข้ามาแล้วครับ นี่คือความเปลี่ยนแปลงในวันที่ผมเห็น ผมรู้สึกว่าทางโซเชียล ถ้าคุณมาก่อนแล้วหาทางได้ก่อน คุณจะรู้ช่องทาง คือผมไม่ได้แค่เอาความชอบตัวเองเป็นหลัก แต่เรามองบริบทความเป็นจริงสังคมด้วยว่า ณ วันนี้ เราโตมากับสังคมแบบไหน และรูปแบบงาน ตำแหน่งงานจะเป็นอย่างไรในอนาคต ต้องมองตรงนี้ มองให้ครบ
รายการขอบสนามมีรูปแบบรายการอย่างไร
คุณเบล : สมัยก่อนที่ผมจะทำขอบสนาม ผมไปค้นคว้าข้อมูลนะครับ แล้วก็พัฒนาเนื้อหาของตัวเอง ในมุมของตัวเอง ตกผลึกมามันต้องมีความตลก มันต้องเป็นภาษาที่พูดกันในชีวิตประจำวัน ซึ่งวันนั้นยังไม่มีใครทำ แนวคิดแรกที่ผมเริ่มก็คือเอาข่าวกีฬามาอ่านให้ฟัง ผมเป็นเสียงแรกในโลกออนไลน์ หลังจากวันนั้น เพจรูปแบบนี้ก็เกิดขึ้นเยอะมากมาย ดังนั้นผมเริ่มต้นวันที่ไม่มีคู่แข่งครับ เพราะว่าผมดูมาหมดแล้วว่าเขาทำอะไรกัน แล้วผมจะทำอะไรให้ไม่ซ้ำเขา ให้ไม่เหมือนเขา
ตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงทุกวันนี้ เพจขอบสนามมีความเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง
คุณเบล : ขอบสนามเปลี่ยนแปลงไปตั้งแต่ผมทำอยู่ในห้อง หกเดือนแรกผมไม่ได้ออกไปไหนเลย ออกจากบ้านอีกทีมาหกเดือน ตกใจ ซึ่งมันดังแล้วอะครับ หกเดือนก็ประมาณเกือบสองล้าน (ผู้ติดตาม) ตอนนั้นออกมาจากบ้านมารับงาน คือโฆษณาเริ่มเข้าแล้ว ผมรู้สึกว่าผมพยายามทำเนื้อหาที่คนไทยเข้าถึงได้ง่าย แล้ว 5 ปีที่ผ่านมามันเปลี่ยนแปลงไปได้มาก เพราะจากเริ่มคนเดียว วันนี้มี 40 ชีวิตมานั่งดันมันไปเรื่อยๆ แล้วผมก็ไม่ใช่คนเดียวอีกต่อไปแล้วที่อยู่หน้ากล้อง วันนี้ผมให้โอกาสคนอื่น ผมปั้นคนอื่นได้ อันนี้เป็นสิ่งที่รู้สึกว่ามันเปลี่ยนไปจริงๆ เราเป็นพื้นที่ที่ถ้าใครมีฝันและรักฟุตบอล มาที่นี่ ผมจะเติมให้ในสิ่งที่คุณต้องการครับ
ช่องรายการ Online ของขอบสนาม มีช่องทางใดบ้าง
คุณเบล : ทุกทางเลยครับ ตอนนี้เรามี Facebook ขอบสนาม เรามี YouTube ขอบสนาม เรามี Tik-Tok ขอบสนาม เรามี Twitter ขอบสนาม เรามี Instagram ขอบสนาม นี่คือสิ่งที่ผมมองว่ามันเป็นสิ่งที่เราต้องไปครับ วันนี้เราไม่สามารถยึดโยง แล้วก็อยู่กับแพลตฟอร์มเดียวได้อย่าง Facebook เพราะว่าความสนใจอื่นๆ ก็มี คนที่เขาดูแต่ภาพอย่างเดียวก็มีนะ
อุปสรรคที่ต้องเจอในการเป็น YouTuber
คุณเบล : ผมเข้าใจได้ว่าทำไมคนถึงชอบเสียงเรา คนถึงไม่ชอบเสียงเรา เพราะทุกคนมีความเข้าใจ ความชอบไม่เหมือนกันเลย ดังนั้น สิ่งที่เราจะมาทำเป็น YouTube อุปสรรคที่เราต้องเจอแน่ๆ คือ ถ้าคุณทำคอนเทนต์ไม่ดี ณ วันนี้ คนด่าคุณได้ทันทีเลยทันทีเลยที่เขาไม่ชอบคุณ คุณไม่มีโอกาสได้อธิบายด้วยซ้ำ เขากดหยุดปุ๊ป พิมพ์ด่าคุณได้เลย เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องเจอแน่นอน
มันไม่มีเลยนะครับ ศิลปิน ดารา YouTuber หรือใครก็ตามที่ผลิตผลงานมา ที่คนชอบแบบร้อยเปอรเซ็นต์เต็ม ไม่มีครับ ผมกล้าพูด กล้ายืนยันเพราะว่าผมอยู่ตรงนี้มานานแล้ว จนเห็นทุกอย่างแล้วว่า ไม่มีหรอกทำแล้วคนชอบทุกอย่าง บางคนตัดพ้อ บางคนเจอคำด่าปุ๊ป ความสร้างสรรค์มันหายไปเลย ตรงนี้คือสิ่งที่เราต้องมีภูมิคุ้มกัน ซึ่งส่วนใหญ่จะตายตรงนี้ คือคุณไม่อยากไปต่อแล้ว บางทีเราอาจจะต้องมองมุมเราว่า เราลองแคร์คนที่เขาชอบงานเรา เราลองมองดูหน่อยไหมว่า เราทำงานมาคนดูตั้งเป็นพันเป็นหมื่น ด่าสองคนเองนะ นอกนั้นเก้าร้อยกว่าคนชม
ไม่มีใครไม่โดนด่าหรอกครับ ไม่มีจริง ๆ ถ้าเรามีความแข็งแกร่งตรงนี้ เข้าใจว่าเป็นเรื่องปกติ คุณเอาความสนใจ เอาพลังใจของคุณไปใส่ใจคนที่เขาชม ตรงนั้นทำให้เราอยู่ยาวได้ ผมไม่ได้คิดว่าเรื่องมันจะเป็นตัวหลักในเวลาคุยงาน ผมคิดว่าผมคุยกับใคร โอกาสเหล่านั้นมันจะสร้างโอกาสให้เขาได้ไหม สร้างโอกาสให้เราได้ไหม ซึ่งสิ่งเหล่านี้สำหรับผมนะ ถ้าใครไม่มีมันเป็นอุปสรรคแน่นอนในการทำโซเชียล เพราะว่ามันไม่มีแบบแผนที่ชัดเจน ถ้าคุณรักงานคุณ งานคุณก็จะรักคุณเหมือนกัน มันก็จะตอบแทนคุณด้วยอะไรสักอย่างครับ
คำแนะนำสำหรับคนที่อยากเป็น YouTuber
คุณเบล : ถ้าถามผม ย้อนไปเมื่อแปดปีที่แล้วจะบอกเลยว่า ‘สู้ๆ น้อง’ แต่ถามในปี 2020 ผมต้องพูดความจริงว่า ‘เหนื่อยหน่อยนะน้อง ต้องขยันกว่าคนอื่นเขามาก ๆ เพราะว่าทุกวันนี้ ทุกคนคิดเหมือนน้องนั่นแหล่ะ’ ดังนั้น ถ้าหากว่าน้อง ๆ ยังยืนยันว่าอยากจะเป็น YouTuber อยากจะทำอะไรอย่างนี้ สิ่งแรกคือ ต้องไม่หายไปไหน ต้องทำตลอด ไม่ใช่งานอดิเรก แต่มันคือชีวิต ผมไม่ใช้คำว่างานประจำด้วยนะ ถ้าคุณยอมรับว่าสิ่งนี้คือ ชีวิตได้เลย ตื่นขึ้นมาเพื่อถ่ายคลิป ตัดคลิป พากย์คลิป มาเจอคน แล้ววนไป ถ่ายคลิปใหม่ ๆ เจอคนใหม่ ๆ ถ้าคุณชอบชีวิตเหล่านี้ เต็มที่ได้เลย เพราะว่า YouTube คือทางที่คุณชอบ
ถ้าวันหนึ่งเรามีชื่อเสียง อย่าหยุดที่จะพัฒนาตัวเอง เพราะว่าบางทีมันอาจจะทำให้เราจมหายไปอย่างรวดเร็ว เพราะวันนี้ทุกคนเขาดูคุณจบ อีก 5 นาทีข้างหน้า เขาเอานิ้วโป้งไถไปเจอคนอื่นได้แล้ว ถ้าจะทำ YouTuber หรือจะไปต่อในสายโซเชียล อย่างที่บอก ย้ำอีกครั้ง 3 อย่างเลย หนึ่ง ใจ สอง เวลา สาม Passion 3 อย่างนี้ ใจ เวลา Passion มันตอบทุกอย่างหมด
คำแนะนำสำหรับผู้ประกอบการ SME ในยุค Social ควรคำนึงถึงอะไร
คุณเบล : เช่นกันครับ ผู้ประกอบการ SMEs ต่อให้คุณขายขนมปัง แค่คุณคิดว่าขนมปังของคุณจะอยู่ในโซเชียลอย่างไร สมมติถ้าคุณขายบริการ เป็น Service คุณก็ต้องคิดแล้วว่า คุณจะเอาบริการของคุณเข้าโลกออนไลน์อย่างไรให้คนมาสนใจใช้บริการคุณ คุณไม่ต้องเป็น YouTuber นะ ไม่ต้องมาบ้าพากย์บอลอย่างผมทุกคน แค่จับจุดต่อให้คุณทำธุรกิจอะไรอยู่ก็ตาม นี่คือสิ่งที่เราต้องไปต่อ
Published on 27 October 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย
“เพราะเศรษฐกิจไทย คนไทยต้องช่วยกัน University Connect ถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อนำองค์ความรู้ งานวิจัย และเทคโนโลยีในมหาวิทยาลัย ไปช่วยเพิ่มศักยภาพการแข่งขันให้กับภาคอุตสาหกรรมในไทย เราจะช่วย Connect ให้ผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งความรู้ งานวิจัยและเทคโนโลยีต่างๆของมหาวิทยาลัยได้ง่ายขึ้น” วนัส แต้ไพสิฐพงษ์ Founder of University Connect and Chairman of the Executive Board, Betagro Group
จากแนวคิดที่ต้องการสร้างความร่วมมือระหว่างองค์กรใหญ่อย่างเบทาโกรกับมหาวิทยาลัยชั้นนำเพื่อส่งต่อองค์ความรู้ในภาคอุตสาหกรรมไทยไปสู่ผู้ประกอบการก่อให้เกิด University Connect ยูนิตสำคัญที่เบทาโกรตั้งใจสร้างขึ้นเพื่อช่วยเสริมศักยภาพให้ภาคอุตสาหกรรมได้เติบโตอย่างมีประสิทธิภาพ
โดยวิสัยทัศน์ของ University Connect คือ จะเป็นหนึ่งในกลไกในการพัฒนา Thailand Competitiveness ให้กับผู้ประกอบการ โดยมีหนึ่งในพันธกิจสำคัญคือ พัฒนาศักยภาพในการแข่งขันของอุตสาหกรรม โดยใช้องค์ความรู้และทรัพยากรที่มีคุณภาพของ
มหาวิทยาลัย
“จุดเริ่มต้นเกิดจากการที่เราทำงานกับทางมหาวิทยาลัยค่อนข้างมาก และทางมหาวิทยาลัยก็เข้ามาช่วย Improvement ทางด้านเทคโนโลยีและเรื่องของพื้นฐานการผลิตหลายอย่างซึ่งเรารู้สึกว่าองค์ความรู้เหล่านี้เป็นของดีซี่งมีอยู่ในทุกๆมหาวิทยาลัย องค์ความรู้บางอย่างเป็นในเชิงวิศวะ วิทยาศาสตร์ ซึ่งภาคธุรกิจไม่ได้หยิบเอามาใช้ ซึ่งจริงๆแล้วหากมีการหยิบเอาไปใช้จะสามารถประยุกต์ใช้ในการพัฒนาต้นทุน เพิ่มมูลค่าสินค้า และด้านอื่นอีกหลากหลายซึ่งคุณวนัสมองว่าของดีเหล่านี้น่าจะเอามาให้ภาคเอกชนได้นำไปใช้ แต่ปัญหาคือมหาวิทยาลัยขาดเรื่องของการทำการตลาด ดังนั้นเบทาโกรจึงขอทดสอบสมมุติฐานด้วยการตั้งหน่วยงานหนึ่งขึ้นมาในเบทาโกรที่ใช้ชื่อว่า University Connect เพื่อนำเอาความรู้ งานวิจัย เทคโนโลยีของมหาวิทยาลัย เช่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี พระจอมเกล้าลาดกระบัง มหาวิทยาลัยมหิดล ออกไปช่วยเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันให้กับภาคอุตสาหกรรมของไทยผ่านชื่อโครงการที่สื่อสารตรงถึงความต้องการของอุตสาหกรรมที่เรียกว่า Service menu นั่นเป็นเป้าหมายของ University Connect”
คุณอาณัติ ทรัพย์ทวีกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนัก Academic Contribution เล่าถึงจุดเริ่มต้นของ University Connect
Good Routine operation (Work Effectiveness) เหมาะสำหรับโรงงานที่มาตรฐานไม่ชัด คุณภาพแกว่ง ประสิทธิภาพขั้นพื้นฐานของการผลิตสินค้าคือการมีมาตรฐานในการทำงานที่ดี (Effective work instruction) พร้อมทั้งมีระบบในการควบคุมการผลิตและควบคุมคุณภาพของสินค้า (Monitoring and Control System) หากมีระบบในการทำงานที่ดีแล้วการผลิตสินค้าให้ได้ตามมาตรฐานจะไม่เป็นปัญหาอีกต่อไป Service menuในกลุ่มนี้จึงเหมาะกับบริษัทที่มีมาตรฐานการทำงานยังไม่ชัดเจน คุณภาพของสินค้ายังไม่เป็นไปตามข้อกำหนด ซึ่งหัวข้อสำคัญในกลุ่มนี้จะเป็นเรื่องของ การสอนงานแรงงานให้ทำตาม Work Instruction, Safety,Follow Up & Monitoring System,Problem solving & Root Cause Analysis,Database for Control Operation
Process Improvement (Work Efficient) เหมาะสำหรับโรงงานที่มองหาการพัฒนาเพื่อก้าวนำคู่แข่ง บริษัทที่มีมาตรฐานการทำงานที่ดีแล้ว ย่อมมีความพร้อมในการปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้นเพื่อพัฒนาให้ก้าวนำคู่แข่ง Service menu ในกลุ่มนี้ช่วยเพิ่ม Capacity, Yield, Quality, ประสิทธิภาพการทำงาน ซึ่งนำไปสู่การลดต้นทุน เช่น การเพิ่มทักษะในการทำงานของพนักงานด้วยเทคนิค Feedback,การลดค่าเผื่อในการผลิต (Give Away Loss) ด้วยหลักการทางสถิติและศาสตร์เฉพาะทาง,การบริหารจัดการเพื่อ Max. Cap & Min. Cost ด้วย Optimization technics,การเพิ่มประสิทธิภาพของทั้งองค์กรด้วย Lean, Total Productivity management (TPm), Ideal Management (IM),การออกแบบ / สร้างอุปกรณ์อัตโนมัติต้นทุนต่ำด้วยหลักการ Karakuri Kaizen และการปรับปรุงวิธีการทำงานโดยเน้นเพียง 1 จุดงาน Station Improvement
Transformation (Working Platform) เหมาะสำหรับโรงงานที่พร้อมปฏิรูปองค์กรด้วยเทคโนโลยี ในยุค 4.0 ใครๆ ก็อยากจะเอาเทคโนโลยีมาใช้ในองค์เพื่อให้มีศักยภาพในการแข่งขันมากขึ้น Service menu ในกลุ่มนี้เป็นการ Customize technology ให้ Fit กับความต้องการของบริษัท ออกแบบ / สร้างเครื่องจักรอัตโนมัติเพื่อใช้ทดแทนแรงงาน เช่น การใช้ Manufacturing Execution System (MES) เพื่อบริหารจัดการงานผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ,ใช้ IoT ร่วมกับการวิเคราะห์แบบ Real time เพื่อควบคุมกระบวนการผลิต และเครื่องจักร,Implement ระบบ ERP เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการทั้งองค์กร,ใช้ Machine Learning ในกระบวนการผลิต
“เรามี Service Menu ที่หลากหลายซึ่งเมนูเหล่านี้เราทำงานร่วมกับทางมหาวิทยาลัยโดยพยายามกลั่นองค์ความรู้ต่างๆออกมาเป็นเมนูพร้อมเสิร์ฟให้กับผู้ที่ต้องการเข้ามาเรียนรู้ เป็นเมนูที่พร้อมใช้ พร้อมแก้ปัญหาให้กับภาคเอกชนสามารถนำเอาไปใช้งานได้จริง ซึ่ง Service menu เหล่านี้เรานำมาจากดีมานด์ที่เกิดขึ้นจากภาคเอกชน และเข้าไปคุยกับอาจารย์เพื่อนำเอาองค์ความรู้ต่างๆเข้าไปช่วยแก้ปัญหาเหล่านี้ด้วยความที่เราเป็นธุรกิจอาหารเราก็เริ่มจากเรื่องของอาหารก่อน แต่จริงๆแล้วมี Service menu ที่ไม่เกี่ยวกับอาหารด้วยเช่นเดียวกัน”
แนวทางในการทำงานของ University Connect มีการปรับให้สอดคล้องกับวิถีของอาจารย์ โดยการจัดสัมนาให้ความรู้กับผู้ประกอบการ โดยเชิญทั้งเจ้าของกิจการ ผู้จัดการโรงงาน ผู้จัดการแผนก และผู้ที่สนใจเข้ามาร่วมฟังทุกวันศุกร์ที่สำคัญคือ “ฟรี” ซึ่งนั่นเป็นช่องทางที่ทำให้ผู้ประกอบการรู้จัก University Connect จนปัจจุบันมีองค์กรที่เข้าร่วมกิจกรรมกว่า 100 องค์กร
“เราใช้ช่องทางหลายช่องในการประชาสัมพันธ์ University Connect ไม่ว่าจะเป็นการจัดฟรีสัมมนาทุกวันศุกร์ซึ่งแต่ก่อนเราจัดที่บริษัทแต่ช่วง COVID-19 เราเปลี่ยนมาจัดทางออนไลน์ซึ่งก็ได้การตอบรับที่ดี นอกจากนี้เรายังมีการใช้ช่องทาง Direct Sale คือโทรเข้าไปตามบริษัทต่างๆ และผ่านกลุ่มสมาคม เช่น สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป สมาคมอาหารแช่เยือกแข็ง สมาคมกาแฟ ผ่านแบงค์ คือ TMB เป็นต้น นอกจากนี้เรายังมี LINE@ ซึ่งทำให้ลูกค้ารู้จักเรา เมื่อโรงงานไหนที่ฟังสัมมนาของเราแล้วรู้สึกสนใจ อยากให้เราใช้ข้อมูลเชิงลึกหรือเมนูที่เรามีไปช่วยตอบโจทย์ธุรกิจของเขา หลังจากนี้ก็จะเป็นเรื่องของการ Consult กันส่วนตัว โดยเราจะพาอาจารย์จากมหาวิทยาลัยไปวิเคราะห์ปัญหาที่โรงงานของลูกค้า เป็น Project set up ขึ้นมาเพื่อเข้าสู่กระบวนการช่วยเหลือจริง ซึ่งตรงนี้ลูกค้าต้องทำสัญญาแล้วจ่ายเงินกับมหาวิทยาลัย เพราะการที่มหาวิทยาลัยเข้าไปทำให้มีค่าดำเนินงานถ้าเราไม่เก็บเงินเลยก็จะทำให้เราอยู่ได้ไม่นานและช่วยองค์กรต่างๆได้ไม่มากนัก ซึ่งปัจจุบันเราเริ่มมีลูกค้าให้เรานำองค์ความรู้เข้าไปช่วยแก้ปัญหาเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ”
หลายคนคงอยากตั้งคำถามว่าการที่เบทาโกรเข้ามาทำตรงนี้ ได้อะไร? คุณอาณัติ ตอบอย่างตรงไปตรงมาว่า “จริงๆแล้วเราไม่ได้อะไร สิ่งที่เราต้องการคือต้องการช่วยจริงๆ”
“มีคนที่พอทราบว่าเราเป็นบริษัทเอกชนเขาก็จะตั้งกำแพงเอาไว้ก่อนว่าเราทำแล้วได้อะไรจากตรงนี้ เราก็ต้องบอกเขาว่าจุดเริ่มต้นของเราคือการที่เราต้องการที่จะเข้ามาช่วย ซึ่งพูดตามตรงก็คือเราไม่ได้อะไร แต่มีสิ่งหนึ่งที่ทางเบทาโกรต้องการทำ คือการแยกหน่วยงานนี้ออกมา เป็น Social Enterprise ในอนาคต ซึ่งการเป็น Social Enterprise ต้องมีรายได้เข้ามาเพื่อเลี้ยงตนเองให้อยู่รอดไปได้ เราก็จะแจ้งลูกค้าเลยว่าเวลาที่เราทำโครงการพวกนี้รายได้บางส่วนต้องคืนกลับมาให้กับ Social Enterprise ด้วย เราอยากช่วยบนพื้นฐานที่จะทำให้บริษัทยั่งยืนเพื่อที่จะช่วยเหลือคนอื่นต่อได้”
เป้าหมายของ University Connect ถัดจากนี้ คุณอาณัติ มองว่าคือการช่วยเหลือภาคอุตสาหกรรมในระดับที่ Mass มากขึ้น อาจจะเป็นการช่วย SMEs ลอตใหญ่พร้อมๆกัน เนื่องจากตอนนี้การช่วยเหลือยังเป็นรูปแบบของการช่วยแบบ One by One ในอนาคตมองถึงการช่วยแบบ One to Many โดย Service Menu 1 Menu สามารถช่วยผู้ประกอบการแก้ปัญหาได้ 5-10 รายในครั้งเดียว
“สิ่งที่อยากแนะนำ SMEs ไทยคือเรามองว่าตอนนี้รายย่อยเยอะมาก แล้วธุรกิจตอนนี้วิ่งไวมากทั้งตัวธุรกิจเองและตัวผู้บริโภคพฤติกรรมก็เปลี่ยนการเทิร์นของธุรกิจหมุนเร็วเพราะฉะนั้นความไวในการปรับตัวให้ทันกับสภาพเศรษฐกิจตอนนี้สำคัญ สิ่งหนึ่งที่ SMEs อาจจะยังมองไม่เห็นคือพวกพื้นฐานความรู้ที่ไม่ต้องลงทุนเยอะ ไม่ต้องไปซื้อออโตเมชั่น ความรู้ที่ลงทุนไม่มาก แต่ผลตอบแทนคุ้มค่า พวก Basic Knowledge เป็นเรื่องที่ควรจะยอมลงทุนมากกว่าเพราะมันจะสามารถเก็บไว้ใช้ได้นานและอยู่กับเราตลอดไป”
Published on 2 October 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย